ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
ชนิกานต์
บัวใต้ดิน

เข้าร่วม: 18 พ.ค. 2006
ตอบ: 37
|
ตอบเมื่อ:
28 ก.ย. 2006, 3:58 pm |
  |
ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่าน มาร่วมทำบุญทอดกฐิน ณ วัดโคกสมบูรณ์ ต. จำปาขัน อ.สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ด ในวันที่ 21-23 ตุลาคม 2549 เพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเองและครอบครัว มีได้รับอานิสงส์พร้อมเพรียงกัน
และหากญาติโยม ต้องการจะทำโรงทาน ก็ขอเชิญติดต่อไปที่ พระอาจารย์ทวีโชต สัจจวโร เจ้าอาวาสวัดโคกสมบูรณ์ เพราะตอนนี้ยังคงต้องการผู้ใจบุญ เพราะยังมีเจ้าภาพติดต่อเข้ามาน้อย และทางวัดเกรงว่า ญาติโยมจะมากันมาก เลยขอประกาศให้ผู้ที่ต้องการทำทาน ได้แจ้งความประสงค์จะทำทาน ซึ่งการทำโรงทานในครั้งนี้ อานิสงส์ก็จะได้เท่ากับการให้ทานแก่ผู้ด้อยกว่า และการให้ทานกับผู้ถือศีลก็ถือได้ว่า มีอานิสงส์มากเช่นกัน ซึ่งกำหนดการมีดังรายละเอียดต่อไปนี้
ขอเชิญร่วมงานฉลองศาลาการเปรียญ ฉลองสัญญาบัตรพัดยศ
“พระครูสุวรรณโชติวัฒน์” (ทวีโชค สจฺจวโร) เจ้าคณะตำบลจำปาขัน (ธ)
และทอดถวายกฐินสามัคคี บวชชีพราหมณ์
ณ วัดโคกสมบูรณ์ ตำบลจำปาขัน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ในวันเสาร์ที่ ๒๑ – วันจันทร์ ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๙
ด้วยคณะกรรมการ ทายกทายิกา ศิษยานุศิษย์ ชาวบ้านโคกสมบูรณ์ ได้จัดงานฉลองศาลาการเปรียญ และฉลองสัญญาบัตรพัดยศ “พระครูสุวรรณโชติวัฒน์” (ทวีโชค สจฺจวโร) ทอดถวายองค์มหากฐินสามัคคี เพื่อเป็นสิริมงคลและรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม และจรรโลงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่บ้านเมืองสืบไป.
กำหนดการ
วันเสาร์ที่ ๒๑ เดือนตุลาคม ๒๕๔๙ ตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑
เวลา ๐๖.๐๐ น. กำหนดเคลื่อนริ้วขบวนอัญเชิญสัญญาบัตรพัดยศ “พระครูสุวรรณโชติวัฒน์”
(ทวีโชค สจฺจวโร) ณ. บ้านโพนทันและบ้านโคกสมบูรณ์แล้วเข้าบริเวณวัดโคกสมบูรณ์
เวลา ๐๗.๐๐ น. พระภิกษุสามเณรออกรับบิณฑบาต รอบบริเวณวัด และฉันภัตตาหารเช้า
เวลา ๐๘.๐๐ น. ลงทะเบียนบวชชีพราหมณ์
เวลา ๑๑.๐๐ น. ประธานฝ่ายฆราวาส อ่าน ตราตั้งสัญญาบัตร พระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญชัยมงคลคาถา
-ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา
เวลา ๑๓.๐๐ น. พิธีบวชชีพราหมณ์ โดย พระครูวิโรจน์ธรรมวงศ์ เจ้าคณะอำเภอสุวรรณภูมิ (ธ)
เวลา ๑๕.๐๐ น. พิธีสรงน้ำ “พระครูสุวรรณโชติวัฒน์” เจ้าคณะตำบลจำปาขัน (ธ)
-พระครูสุวรรณโชติวัฒน์ กล่าวสัมโมทนียกถา
เวลา ๑๘.๐๐ น. เทศนาอบรมกรรมฐาน โดย พระสุทธิสารโสภณ เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ)
เวลา ๒๐.๐๐ น. ทำวัตรเย็น
เวลา ๒๑.๐๐ น. พักผ่อนตามอัธยาศัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ เดือนตุลาคม ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒
เวลา ๐๔.๓๐ น. ทำวัตรเช้า –เจริญจิตภาวนา
เวลา ๐๗.๐๐ น. พระภิกษุสามเณร ออกรับบิณฑบาต รอบบริเวณวัด และฉันภัตตาหารเช้า
เวลา ๑๐.๐๐ น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา
เวลา ๑๓.๐๐ น. แสดงพระธรรมเทศนา
เวลา ๑๖.๐๐ น. ตั้งกองมหากฐินสามัคคี และรวบรวมบริวารกฐิน
เวลา ๑๘.๐๐ น. พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์สมโภชองค์มหากฐิน
เวลา ๒๐.๐๐ น. ทำวัตรเย็น เจริญจิตภาวนา
เวลา ๒๑.๐๐ น. อบรมกรรมฐาน โดย พระญาณวิศิษฎ์ วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ
เวลา ๒๒.๐๐ น. พักผ่อนตามอัธยาศัย
วันจันทร์ที่ ๒๓ เดือนตุลาคม ๒๕๔๙ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒
เวลา ๐๔.๓๐ น. ทำวัตรเช้า
เวลา ๐๗.๐๐ น. พระภิกษุสามเณร ออกรับบิณฑบาต รอบบริเวณวัด และฉันภัตตาหาร
เวลา ๑๐.๐๐ น. แสดงพระธรรมเทศนา พระเทพสังวรญาณ ( หลวงปู่พวง ) รองเจ้าคณะภาค ๑๐ (ธ)
เวลา ๑๑.๓๐ น. ทอดถวายองค์มหากฐิน ถวายศาลาการเปรียญ -พระสงฆ์อนุโมทนา รับของที่ระลึกฯ
เวลา ๑๓.๐๐ น. ชีพราหมณ์ ลาสิกขา -เป็นเสร็จพิธี.
หมายเหตุ : ๑. กำหนดการนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
๒. ผู้ประสงค์จะบวชชี – พราหมณี หรือมีความประสงค์จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดตั้งโรงทาน ถวายภัตตาหาร เครื่องไทยทาน เครื่องดื่มสำหรับพระที่อาราธนามาร่วมงาน กรุณาติดต่อได้ที่.......พระครูสุวรรณโชติวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดโคกสมบูรณ์ โทร. ๐๙ - ๒๑๑๙๗๗๕ |
|
|
|
  |
 |
ชนิกานต์
บัวใต้ดิน

เข้าร่วม: 18 พ.ค. 2006
ตอบ: 37
|
ตอบเมื่อ:
28 ก.ย. 2006, 4:07 pm |
  |
รูปภาพศาลาและกูฏิ ภายในวัด |
|
|
|
  |
 |
ชนิกานต์
บัวใต้ดิน

เข้าร่วม: 18 พ.ค. 2006
ตอบ: 37
|
ตอบเมื่อ:
28 ก.ย. 2006, 4:22 pm |
  |
|
  |
 |
ชนิกานต์
บัวใต้ดิน

เข้าร่วม: 18 พ.ค. 2006
ตอบ: 37
|
ตอบเมื่อ:
28 ก.ย. 2006, 4:24 pm |
  |
เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์รับผ้ากฐินได้นั้น สืบเนื่องมาจากคราวหนึ่ง พระภิกษุชาวเมืองปาเถยยะ 30 รูป เดินทางจาริกเพื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่เมื่อเดินทางมาถึงเมืองสาเกต ห่างจากเมืองสาวัตถี 6 โยชน์ (1โยชน์ = 16 ก.ม.) พอดีถึงเวลาเข้าพรรษา จึงต้องพักจำพรรษาที่เมืองสาเกต ระหว่างนั้นก็มีจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา เมื่อออกพรรษาแล้ว ฝนยังคงตกชุกอยู่ พื้นดินเต็มไปด้วยโคลนตมและน้ำ แต่พระภิกษุเหล่านั้นก็มิได้รอ พากันรีบเร่งเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงได้รับความลำบากในการเดินทางเป็นอย่างมาก พระพุทธเจ้าจึงอาศัยเหตุนี้ อนุญาตให้ภิกษุกรานกฐินเมื่อออกพรรษาแล้ว
ด้วยทรงมีประสงค์ให้ภิกษุได้พักรอให้ฝนหยุด ผืนแผ่นดินแห้งพอที่จะเดินทางได้ และเพื่อให้ภิกษุได้มีโอกาสเปลี่ยนผ้าครองกันครั้งหนึ่ง
อีกทั้งยังเพื่อให้ภิกษุมีความชำนาญในการ กะ ตัด และเย็บจีวร โดยทรงกำหนดระยะเวลาของการรับกฐินไว้ในช่วงระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ทั้งนี้ภิกษุที่ได้รับกฐินแล้ว จะได้รับอานิสงส์กฐิน คือ ได้รับการลดหย่อนพระวินัยบางข้อ
การถวายกฐินนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ผ้าชิ้นที่จะใช้ตัดเย็บเป็นผ้ากฐิน วัตถุทานอื่นนอกเหนือจากนั้น ถือว่าเป็นบริวารกฐินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผ้าไตรสำเร็จรูป บาตร เข็ม ด้าย หม้อกรองน้ำ รัดประคด มุ้ง หมอน เสื่อ หรือเงินกฐิน เพราะพระพุทธองค์ทรงมีพุทธประสงค์ให้ภิกษุได้รับการถวายผ้าเพื่อเปลี่ยนใหม่เป็นหลัก มิได้มุ่งหมายสิ่งอื่นอย่างเช่น เงินกฐิน ซึ่งผิดจากปัจจุบันที่แต่ละวัดมักจะให้ความสำคัญกับจำนวนเงินกฐิน ทั้งที่มีฐานะเป็นเพียงบริวารกฐินเท่านั้นผ้าที่จะถวายเป็นองค์กฐินนั้น จะเป็นผ้าเก่าหรือผ้าใหม่ ผ้าฝ้าย ไหม ป่านหรือขนสัตว์ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ สำคัญตรงที่ต้องมีผู้ถวาย ซึ่งจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ได้ แต่การถวายนั้นจะต้องเกิดจากศรัทธาของผู้ถวายเอง
มิใช่พระไปพูดแย้มพรายหรือเลียบเคียงให้เขามาถวาย มิใช่ผ้าขอยืมเขามาทอด มิใช่ผ้าเป็นสันนิธิ คือ ผ้าที่มีผู้ศรัทธามาทอดแล้วภิกษุเก็บไว้ค้างคืน และมิใช่ผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ คือ ผ้าที่ภิกษุสละเสียเพราะต้องอาบัติด้วยทำผิดพระวินัย การถวายผ้ากฐินนี้นับเป็นการถวายสังฆทานไปในตัวด้วย เพราะอารามที่จะรับกฐินได้ จะต้องมีภิกษุจำพรรษาร่วมกันไม่น้อยกว่า 5 รูป ครบตลอดพรรษา 3 เดือน โดยพรรษาไม่ขาด และคณะสงฆ์ที่รับกฐินในอารามนั้นจะต้องสวดญัตติทุติยกรรม เพื่อมอบให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่สมควรและสามารถทำกฐินให้สำเร็จได้ด้วยเหตุที่รู้จักบุพกรณ์ 7 อย่าง อันได้แก่ ซักผ้า กะผ้า ตัดผ้า เนาผ้า เย็บผ้า ย้อมผ้า ทำพินทุผ้า ซึ่งจะต้องตัดเย็บย้อมผ้ากฐินให้เสร็จภายในวันที่ได้รับถวายนั้น เพื่อนำมาทำพิธีกรานกฐิน โดยจะทำเป็นผ้าสบง หรือ จีวร หรือสังฆาฏิ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักนิยมตัดเป็นผ้าสบง เพราะมีขนาดเล็กกว่า จึงตัดเย็บได้ง่ายและเร็วกว่าผ้าจีวรและสังฆาฏิ ด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญสังฆทานว่าเป็นทานที่มีอานิสงส์มาก มากกว่าทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้า ฉะนั้นกฐินทานจึงเป็นที่นิยมกระทำของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก
ในครั้งพุทธกาล การตัดเย็บผ้าเป็นงานยุ่งยากและมีความสำคัญ เพราะผ้าเป็นของหายากและต้องเย็บด้วยมือ ครั้งหนึ่ง พระอนุรุทธะได้ผ้าบังสุกุลมา จึงเตรียมตัดผ้าจีวรเพื่อเปลี่ยนผ้าครองของเดิม เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงได้เสด็จมาเป็นประธานในการตัดเย็บผ้า
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์อีก 500 รูป ที่มาช่วยกันตัดเย็บผ้า โดยพระมหากัสสปะนั่งอยู่ต้นผ้า พระสารีบุตรนั่งอยู่ตอนกลางผ้า พระอานนท์นั่งอยู่ตอนปลายผ้า พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายช่วยกันกรอด้าย แม้พระพุทธเจ้ายังทรงช่วยสนเข็ม ส่วนพระโมคคัลลานะเป็นผู้อุดหนุนกิจการทั้งปวง
เมื่อประชาชนทราบข่าว ต่างก็พากันนำสิ่งของไปถวายทานเป็นอันมาก ทำให้การตัดเย็บผ้าครั้งนั้นสำเร็จได้ด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียงกันของหมู่สงฆ์และพุทธศาสนิกชน ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก ชั้นบาลี ระบุไว้ชัดเจนว่า ผ้าที่จะสำเร็จเป็นผ้ากฐินได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ประการ ได้แก่
1. ภิกษุต้องตัดเย็บเอง (โดยตัดและเย็บให้มีรูปแบบเหมือนนาของชาวมคธ อนึ่งภิกษุรูปใดใช้ผ้าที่ไม่ตัด จะต้องอาบัติทุกกฏ)
2. ต้องตัดเย็บให้เสร็จภายในวันที่ได้รับถวาย คือ ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นในวันถัดไป
3. ผ้านั้นต้องทำให้มีขัณฑ์ (คือ ตัดเป็นชิ้นๆแล้วนำมาเย็บติดกัน) ไม่น้อยกว่า 5 ขัณฑ์
แต่ในสมัยหลังได้ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาและชั้นฎีกาซึ่งแต่งโดยพระเถราจารย์กล่าวว่า ผ้ากฐินนั้น ถ้าได้รับถวายมาจากผู้ถวายเป็นผ้าที่ตัดเย็บย้อมสำเร็จแล้ว เช่น ผ้าไตร ก็สามารถใช้กรานกฐินได้ ซึ่งท่านผู้รู้ อาทิ พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ ปธ.6) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้วินิจฉัยว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ควรยึดถือตามหลักฐานชั้นบาลี อันเป็นสิ่งที่บันทึกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าโดยตรง จึงจะเป็นการถูกต้อง สำหรับวัดในคณะสงฆ์ธรรมยุตส่วนใหญ่ โดยเฉพาะวัดป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จะยังคงรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด ด้วยการตัดเย็บย้อมผ้ากฐินเอง ดังนั้น ท่านจึงนิยมรับกฐินตอนก่อนเที่ยง เพื่อจะได้มีเวลาตัดเย็บย้อมและตากผ้าให้แห้งก่อนพระอาทิตย์ตก เมื่อเสร็จแล้วจะนำมาทำพิธีกรานกฐิน คืออธิษฐานใช้ผ้านั้น และประกาศต่อคณะสงฆ์ในวัดเดียวกันให้อนุโมทนา
กฐิน ภิกษุทั้งผู้กรานกฐินและผู้อนุโมทนากฐินจะได้รับอานิสงส์กฐิน คือ สิทธิในการลดหย่อนพระวินัย 5 ข้อ ยืดออกไปอีก 3 เดือน หลังหมดเขตถวายกฐิน คือ ยืดออกไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 รวมทั้งสิ้น 4 เดือน เนื่องจากตามปกติ ภิกษุที่จำพรรษาครบตลอด 3เดือนจะได้รับสิทธินี้เป็นเวลา 1 เดือน หลังจากออกพรรษา คือ ระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 อันได้แก่
1. เดินทางออกจากวัดไปได้โดยไม่ต้องอำลา 4. เก็บอติเรกจีวร (ผ้าผืนอื่นนอกเหนือจากผ้าครอง) ไว้ได้ตามต้องการ
2. เดินทางออกจากวัดไปโดยไม่ต้องเอาผ้าครองไปครบทั้ง 3 ผืน คือ สบง จีวร สังฆาฏิ
3. ฉันคณโภชน์ได้ (คือ ล้อมวงฉัน) 5. มีสิทธิในจีวรลาภอันเกิดขึ้นในอารามนั้น
เรื่องการได้อานิสงส์กฐินโดยลดหย่อนพระวินัย 5 ข้อนี้ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านพิจารณาเห็นว่าจะเป็นเหตุให้พระสงฆ์ย่อหย่อนวินัยจนติดเป็นนิสัย ท่านจึงไม่เคยรับกฐินโดยตลอดชีวิตของท่าน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่สานุศิษย์ แม้ในปัจฉิมวัยท่านก็มิได้ผ่อนผันเลย
ดังนั้นในวัดป่าสายท่านพระอาจารย์มั่นบางวัดจึงยึดถือตามแบบท่านพระอาจารย์มั่น กล่าวคือ บางวัดไม่รับการถวายกฐินเลย หรือบางวัดรับเป็นการถวายผ้าป่าแทน หรือบางวัดรับการถวายกฐินจากโยมแต่หมู่สงฆ์ไม่กรานกฐิน หรือบางวัดรับการถวายกฐินและกรานกฐินแต่ไม่เอาอานิสงส์กฐิน คือ ยังปฏิบัติตามพระวินัยทั้ง 5 ข้ออย่างเคร่งครัดเช่นเดิม
สำหรับผู้ถวายกฐินนั้น ท่านผู้รู้บางท่านได้แสดงอานิสงส์ของผู้ถวายกฐินไว้ 5 ประการ คือ
1. ทำให้มีอายุยืนนาน 2. ทำให้เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ 3. จะไม่ถูกวางยาพิษให้เป็นอันตรายถึงชีวิต
4. ทรัพย์สมบัติจะไม่ประสบกับโจรภัยหรืออัคคีภัย 5. จะได้เป็นเอหิภิกขุในอนาคต
นอกจากนี้หลวงปู่หล้า เขมปัตโต แห่งวัดภูจ้อก้อ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ยังได้กล่าวไว้ในหนังสือถามตอบปัญหาธรรมะของท่านว่า การถวายกฐินมีอานิสงส์ 80 กัปป์
ตัวอย่างครั้งพุทธกาล เรื่องของอนิสงส์การถวายกฐิน ในครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มาอุบัติในโลก มีบุรุษเข็ญใจไร้ญาติพี่น้องทั้งทรัพย์สินเงินทองก็ขาดแคลนอาศัยเลี้ยงชีพอยู่ในเมืองพาราณสี ไปหาสิริธรรมมหาเศรษฐีมีทรัพย์๘๐ โกฏิ แล้ววิงวอนขออยู่เป็นลูกจ้าง ท่านเศรษฐีมีความสงสารจึงถามว่ามีความรู้อะไรบ้าง บุรุษเข็ญใจบอกว่า ข้าพเจ้าไม่มีความรู้อะไรเลย มีแต่กำลังกายเท่านั้นท่านเศรษฐีกล่าวว่าถ้าเช่นนั้นเจ้าจงไปรักษาหญ้าเราจะให้ข้าววันละหม้อ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา บุรุษก็รักษาหญ้าจนมีชื่อว่า ติณณปาละ อยู่มาวันหนึ่ง ติณณปาละมาคิดว่าตัวเรานี้ ในชาติปางก่อนคงจะไม่ได้ทำบุญกุศลอันใดไว้เลย มาถึงชาติ นี้เราจึงได้ลำบากยากแค้น แม้แต่อาหารจะรับประทานไปวันหนึ่งๆ ก็ทั้งยาก แต่นี้ต่อไปเราจะต้องขวนขวายให้ทานทุก ๆ วัน เมื่อมีความตั้งใจอย่างนี้แล้ว ก็แบ่งอาหารออกเป็น ๒ ส่วน ๆ หนึ่ง ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ อีกส่วนหนึ่งไว้บริโภคเองทำอย่างนี้มาตลอดทุกๆ วันมิได้ขาดด้วยอำนาจบุญกุศล ที่ติณณปาละทำนั้น ก็ทราบไปถึงสิริธรรม
เศรษฐีผู้เป็นนายจ้างจึงสั่งให้เพิ่มอาหารขึ้นอีกเป็น ๓ ส่วน ติณณปาละก็แบ่งออกไปอีกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งถวายภิกษุสามเณรอีกส่วนหนึ่งให้แก่ยาจก อีกส่วนตนเก็บไว้บริโภค ทำอยู่อย่างนี้เป็นลำดับมา จนถึงฤดูออกพรรษาประชาชนและท่านสิริธรรมเศรษฐีได้พากันทำกฐินทานเพื่อจะถวายแก่ภิกษุสงส์ ผู้อยู่จำพรรษาด้านไตรมาส สามเดือน ติณณปาละได้ทราบ ข่าวดังนี้แล้วก็เข้าไปหาสิริธรรมเศรษฐีถามถึง อานิสงส์ผลของกฐินทานว่าการถวายทานอย่างนี้ คงจะมี ผลเป็นอันมาก เพราะประชาชนไม่นิ่งนอนใจ ช่วยกันหลายคนเศรษฐีบอกถึงคุณานุภาพ ของกฐินทานโดยละเอียดจนติณณปาละเกิดศรัทธาแก่กล้า ก็ถามว่าอีกเมื่อไรจะถึงกำหนดถวาย เศรษฐีบอกว่าอีก ๗ วัน
ติณณปาละก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตนก็คิดว่าจะนำของไปเห็นวัตถุทานก็ไม่มี เห็นอยู่แต่ผ้านุ่งผืนเดียวเท่านั้นที่จะนำเข้าเป็นส่วนกฐินทานได้ เมื่อจะเปลื้องผ้าออกทาน ตัวกิเลสคือความตระหนี่เหนียวแน่นก็มากั้นไว้ถ้าสละผ้าผืนนั้นแล้วเราจะไหนนุ่ง มีอยู่ผืนเดียวเท่านี้ ผลที่สุดก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่าเราจะต้องถวายแน่ ก็เปลื้องผ้ามาทำการซักฟอกและย้อมด้วยน้ำฝาดตนเองก็เอาใบไม้มานุ่ง ป้องกันความอายเท่านั้น
แล้วรีบนำผ้าไปหาเศรษฐี มอบอนุโมทนาผ้านั้นเข้าเป็นส่วนบริวารของกฐินนั้น เศรษฐีก็รับอนุโมทนานำผืนของติณณปาละเข้าเป็นส่วนผ้าบริวาร ซึ่งยังขาดอยู่ผืนหนึ่งแล้วนำไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์
เสียงโกลาหลก็บังเกิดขึ้นในขณะนั้นด้วยเสียงสาธุการของเทวดาทั่วทั้งอากาศและปฐพี พระมหากษัตริย์ได้ทรงสดับเสียงนั้นแล้ว ก็ตกพระทัยกลัวว่าจะมีมรณภัยมาถึงพระองค์รับสั่งให้หาปุโรหิตแล้วตรัสถามถึงเหตุโกลาหลอื้ออึงนั้น ในครั้งนั้นมีเทวดาองค์หนึ่งที่รักษาอยู่เศวตฉัตรจึงกล่าวว่า ดูกรมหาบพิตรเสียงโกลาหลอื้ออึ้งนั้น มิใช่ว่าจะมีภัยมาถึงพระองค์นั้นเป็นเสียงของเทวดาทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุได้สาธุการส่วนบุญของติณณปาละเป็นคนเข็ญใจ รักษาไร่หญ้าของเศรษฐี ได้เปลื้องผ้านุ่งของออกมาเข้าส่วนกฐินทาน พระองค์อย่าตกพระทัยไปเลย พระราชาทรงทราบเช่นนั้นก็ทรงปีติยินดี รับสั่งให้หาติณณปาละพร้อมทั้งส่งผ้าสาฏกคูหนึ่ง ราคาผืนละหนึ่งแสนกหาปณะไปพระราชทาน นายติณณปาละก็นุ่งสาฎกเข้าเฝ้าพระราชา ครั้นพระราชาทรงขอซื้อส่วนกุศลด้วยทรัพย์มีประมาณพันหนึ่ง จนทวีขึ้นเป็นลำดับจนถึงแสนกหาปณะ ติณณปาละ ก็ไม่ขายให้ตามพระประสงค์ได้จึงกราบทูล จะทรงซื้อด้วยทรัพย์นั้นไม่ได้ พระเจ้าข้าถ้าหากพระองค์จะอนุโมทนาส่วนบุญนี้ได้อยู่พระเจ้าข้า พระราชามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งให้คนดีฆ้องร้องประกาศตลอดทั้งพระนครแล้วพระราชทาน ช้าง ม้า โค กระบือ ข้าทาส ชายหญิงอย่างละหนึ่งร้อย บูชาแก่ติณณปาละเป็นอันมาก แล้วตั้งไว้ในตำแหน่งเศรษฐีส่วนพ่อค้าคฤหบดีเศรษฐี ก็พากันสละทรัพย์เป็นจำนวนมากออกบูชาคุณติณณปาละเป็นสมบัติมากมาย ที่ติณณปาละได้แล้วก็ด้วยบุญกุศลเจตนาอันแรงกล้า จึงเป็นผลสำเร็จให้ผลทันตาเห็นในปัจจุบันชาติ ครั้นติณณปาละทำกิริยาตายแล้ว ก็ไปเกิดในดาวดึงส์สวรรค์
เมื่อสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายที่ทราบรู้เหตุรู้ผลของการถวายผ้ากฐินทานว่ามีอานิสงส์อย่างไรแล้วก็ขออย่าให้ท่านทั้งหลายจงอย่าเป็นผู้ประมาท ในเมื่อถึงคราวกาลสมัยที่จะถวายก็ควรจะถวายก็ควรทำเนื่องด้วยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับเวลาและจำนวนภิกษุที่อยู่จำพรรษาจะเป็นของมากน้อยอย่างไรไม่สำคัญ สำคัญอยู่ว่าให้ทำและทำด้วยศรัทธาอย่างจริงจัง แล้วตั้งความปรารถนาของตนไว้ด้วยดี ทรัพย์ที่เราสละไปก็จะไม่ได้ผลเต็มที่ ถ้าเราทำด้วยความเต็มใจแล้วถึงแม้จะน้อยก็ย่อมมีอานิสงส์มากดังเรื่องติณณปาละ |
|
|
|
  |
 |
กะลา
ผู้เยี่ยมชม
|
ตอบเมื่อ:
28 ก.ย. 2006, 5:13 pm |
  |
อยากไปร่วมงานจัง จะลางานดูก่อนนะครับ ถ้าลาได้เจอกันทุกคนนะครับ อนุโมทนาบุญกับเจ้าภาพโรงทานด้วยนะครับ |
|
|
|
|
 |
ทันตา
ผู้เยี่ยมชม
|
ตอบเมื่อ:
02 ต.ค.2006, 5:28 pm |
  |
สาธุครับ กำลังจะทัวร์ทอดกฐินพอดีคับ |
|
|
|
|
 |
|