Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 อรหัตตผล อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
พงพันธ์ โรจนกิจ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 พ.ย.2004, 9:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อรหัตตผล (โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง) โอกาสนี้บรรดาท่านสาธุชนพุทธบริษัท และพระโยคาวจรทั้งหลาย ได้พากันสมาทานศีล พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอท่านทั้งหลาย ได้พากันสมาทานศีล พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอท่านทั้งหลายโปรดตั้งใจสดับคำ การศึกษาซึ่งจะแนะนำในด้าน อรหัตตผล สำหรับภาคนี้เป็นภาคของพระอรหัตผล ท่านทั้งหลายคงจะยังไม่ลืมว่า ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สำหรับพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีเป็นผู้ทรง อธิศีล คือมีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย แต่ทว่าเป็นผู้มีความมั่นคงในศีล สำหรับพระอนาคามีเป็นผู้ทรงอธิจิต นี่หมายความว่าศีลของท่านบริสุทธิ์ถึงศีล 8 และก็มีจิตทรงสมาธิมั่นคงถึงฌาน 4 อย่าลืมว่าจริยา คือ อาการของพระอนาคามี ท่านผู้ทรงความเป็นพระอนาคามีนั้น จะมีศีล 8 เป็นปกติ จะสมาทานหรือไม่สมาทานไม่มีความสำคัญ ผู้มีศีลไม่ได้ถือว่าจะต้องนั่งสมาทานกันทั้งวันทั้งคืน ศีลนี่มีจริง ๆ อยู่ที่ตัวเว้น เราไม่สมาทานเลย แต่เราเว้น ที่เขาเรียกว่า วิรัช คำว่าวิรัชแปลว่า เว้น เว้นจากความชั่ว 5 ประการ ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล 5 เว้นจากความชั่ว 8 ประการ ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล 8

ฉะนั้นท่านที่ทรงความเป็นพระอนาคามี จะมีศีล 8 เป็นปกติ เพราะว่าเป็นศีลพรหมจรรย์ จะเห็นว่าพระอนาคามีหมดกามฉันทะ หมดความโกรธ พยาบาท และปฏิฆะ คือ อารมณ์ ไม่พอใจ อารมณ์ที่สะดุดใจให้ไม่สบายเกิดขึ้น เป็นความขัดข้องไม่มีในพระอนาคามี

สำหรับพระอรหันต์เป็นผู้ทรง อธิปัญญา รวมความว่าพระอรหันต์นี่ทรงครบศีลก็บริสุทธิ์ สมาธิก็ทรงตัวตั้งมั่น ปัญญาก็รอบรู้จริง ๆ สำหรับการปฏิบัติ เท่าที่ผมอธิบายมารู้สึกว่ามันเยิ่นเย้อเกินไป แต่ว่านั่นเป็นแนวทางแห่งคำสอน วิธีปฏิบัติจริง ๆ นี่ไม่มีใครมามุ่งพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ก็ขั้นต้นกันจริง ๆ ก็มุ่งอรหัตตผลกันเลย เพราะว่าการมุ่งอรหัตตผลนี้ เขาถือว่าอย่างเลวที่สุดจิตจะจับไว้เฉพาะพระโสดาบันก่อนเป็นอันดับแรก เพราะว่าเป็นของง่าย

ความจริงการทรงพระโสดาบันไม่มีอะไรจะยาก เพียงทรงศีลบริสุทธิ์ ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์เราก็เป็นมนุษย์ไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าร่างกายเป็นมนุษย์ เขาก็ถือว่า มนุสสเปโต คือ ร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเปรต มนุสสติรัจฉาโน ร่างกายเป็นมนุษย์ทว่าจิตใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน มนุสสนิรโย ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจเป็นสัตว์นรก ตายแล้วก็ไปตามนั้น คำว่า มนุษย์แปลว่าผู้มีใจสูง หมายความหรือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ทรงศีล 5 หรือว่าทรงกรรมบท 10 โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านถือว่า ผู้ใดทรงกรรมบถ 10 ผู้นั้นมีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ เพราะว่ากรรมบถ 10 เป็นธรรมให้บุคคลไปเกิดเป็นมนุษย์

เป็นอันว่าตอนนี้เรามาพูดกันถึงอรหัตตผล ก็ขอย้อนต้นไปถึงปลาย อันดับแรกการที่จะเข้ามาเจริญพระกรรมฐาน ก็ต้องใช้อารมณ์อย่างหนึ่ง ที่เราทิ้งไม่ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เป็นพระพุทธเจ้าท่านยังไม่ละ พระอรหันต์ทุกองค์ที่ทรงความเป็นอรหันต์แล้วไม่ละ นั่นก็คือสมถภาวนา 3 ประการ ได้แก่

1. อานาปานุสสติกรรมฐาน การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เพื่อความอยู่เป็นสุขของเรา เพราะเป็นการระงับทุกขเวทนา

2. กายคตานุสสติ สำหรับสมถะพิจารณาเห็นว่า ร่างกายมันเป็นของสกปรกโสโครกไม่ทรงตัว

3. ขอแถมนิด พระอรหันต์ก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี ไม่ลืมความตาย

ตามที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ตรัสกับพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูกรอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์ทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงความตายวันหนึ่งประมาณ 7 ครั้ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า อานันทะ ดูกรอานนท์ เธอนึกถึงความตายห่างเกินไป สำหรับตถาคตนี้นึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก

ตอนนี้จะกันได้แล้วหรือยังว่า พื้นฐานที่จะทรงให้เราเป็นพระอริยเจ้าได้ ต้องทรงสมถะเป็นประจำ นั่นก็คือ

1. อานาปานุสสติกรรมฐาน การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ

2. กายคตานุสสติ เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ทรงตัว แบ่งเป็นอาการ 32 ควบกับอสุภกรรมฐานมีความสกปรกเป็นปกติ

3. นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ มีความรู้สึกว่าเราจะต้องตายเดี๋ยวนี้อยู่เสมอ ความประมาทมันก็ไม่มี

เป็นอันว่าถ้าบรรดาท่านทั้งหลายทรงอารมณ์ทั้ง 3 ประการนี้ทรงตัว คำว่า ทรงตัวท่านเรียกว่าเป็นฌาน คำว่าฌานผมถือว่าคืออารมณ์ชิน อารมณ์นี้ทรงอยู่เป็นปกติในใจของเรา ถ้าทรงอารมณ์ทั้ง 3 ประการนี้ได้เป็นปกติ ถ้าท่านจะเป็นพระโสดาบัน ท่านก็เป็นได้ภายใน 7 วัน ถ้ามุ่งจะเป็นพระสกิทาคามีผมว่าไม่เกิน 15 วัน ถ้ามุ่งจะเป็นพระอนาคามีผมว่าไม่เกิน 1 เดือน ถ้ามุ่งจะเป็นพระอรหันต์ ผมว่าไม่เกิน 7 เดือน เป็นอย่างมาก เพราะอะไรก็ลองคิดดูว่า คนเราถ้าลองคิดว่า เราจะต้องตาย แล้วก็มานั่งพิจารณาในด้านวิปัสสนาญาณ ว่าการทรงชีวิตอยู่นี่มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ใช้ปัญญา อย่าใช้แต่สมถะนั่งหลับหูหลับตากันวันยังค่ำคืนยันรุ่งโดยไม่ได้ใช้ปัญญา ไม่ใช้อาการสัมผัส ไม่ใช้ตาสัมผัส ไม่ใช้หูสัมผัส ไม่ใช้กายสัมผัส ไปนั่งเงียบอยู่ในเขาลำเนาป่า อยู่แต่ในห้อง โดยเฉพาะถ้าคิดว่าจิตของตนบริสุทธิ์ เพราะว่าไม่กระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่ต่อสู้กับความจริง ในที่สุดก็จะเป็นแบบท่านพระที่ถูกควายเขาอ่อนขวิด เมื่อเข้ามากระทบกับอารมณ์จริง ๆแล้วมันก็จะทนไม่ไหว

ฉะนั้นการปฏิบัติจะด้านสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี หวังเป็นผู้ทรงฌานโลกีย์ก็ดี ฌานโลกุตตระก็ดี เขาต้องสู้กับความจริงไม่ใช่หนีความจริง ฉะนั้นเราจะต้องมีอารมณ์สัมผัสอยู่เสมอ จะต้องไม่ประมาทในชีวิตคิดว่าเราดี ความเป็นอรหันต์มีอยู่ตรงไหน

อันดับแรกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณา สักายทิฎฐิ พิจารณาร่างกายคือ ขันธ์ 5 ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเรา ที่ว่าขันธ์ 5 ไม่มีในเรา ไปลงกับสมถะคำที่ว่า ตาย สมถะเห็นว่ากายตาย วิปัสสนาเห็นว่ากายพัง เราไม่มีอำนาจควบคุมกายให้ทรงตัว กายมันจะแก่เราห้ามแก่ไม่ได้ กายมันจะป่วยเราห้ามป่วยไม่ได้ กายมันจะตายเราห้ามตายไม่ได้ เขาทำกันยังไง วิธีเขาทำเขาใช้ปัญญา นั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ ทำกิจการงานอยู่ มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า คนที่มีอิริยาบถอย่างเรา ๆ ที่ท่านตายไปแล้วนับไม่ถ้วน ในสถานที่ที่เรานั่งอยู่ เรายืนอยู่ เราเดินอยู่หรือเราอาศัยอยู่ ในสถานที่ที่ตรงนี้เคยมีคนตายแล้ว สัตว์ตายแล้วนับไม่ถ้วน

ถ้าหากว่าเราตายแล้วเกิดจะมีผลอะไร ดูผลของการเกิด เกิดอยู่ในท้องแม่ก็ทุกข์ ออกมาจากท้องแม่เป็นเด็กช่วยตัวเองไม่ได้ก็ทุกข์ เป็นเด็กโตขึ้นไปหน่อยทุกสิ่งทุกอย่างต้องอาศัยแม่ อาการที่เราอาศัยท่าน ท่านมีเมตตาก็จริงแหล่ แต่ทว่าสิ่งที่ปรารถนามันไม่ค่อยจะสมหวัง เราก็เป็นทุกข์ โตขึ้นมาแล้วพ้นจากอกพ่ออกแม่ ก็ต้องประกอบกิจการงานหนัก งานทุกอย่างเป็นปัจจัยของความทุกข์ แล้วมีคู่ครอง ไม่ใช่ว่าเราจะเปลื้องความทุกข์ เราก็ไปดึงความทุกข์เข้ามา มีลูกมีหลานมากเท่าไหร่ทุกข์มากเท่านั้น เราก็แก่ลงทุกวัน ถ้าหากว่าเรายังดิ้นรนเพื่อการเกาะ มันก็ต้องเกิด เกิดเมื่อไรทุกข์เมื่อนั้น เกิดเป็นคนเป็นมนุษย์ยังดีกว่าเกิดในอบายภูมิ ถ้าเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ทุกข์ยิ่งกว่าความเป็นคน ถ้าเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็พักทุกข์ชั่วคราว หมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องกลับมาทุกข์ใหม่

เราก็พิจารณาไปว่าร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา โดยนำเอาสักกายทิฏฐิ กายคตานุสสติ และอสุภกรรมฐานมาควบหาความจริง ว่าร่างกายไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่เป็นแท่งทึบ ร่างกายนี้แบ่งเป็นอาการ 32 เต็มไปด้วยความสกปรกโสมม เป็นสิ่งโสโครก ถ้าใจเราปรารถนา การครองคู่มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เราอยู่ตัวคนเดียวเราก็เป็นทุกข์ ถ้าเรามีคู่ครองเราก็เพิ่มทุกข์ และใครบ้างที่จะเป็นที่พึ่งของเราไม่มี ถ้าขืนไปดึงเอากิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาก็มุ่งเอากิเลสใหญ่ หันเข้าไปดูราคะความรักในระหว่างเพศ จุดไหนบ้างเป็นของสวย ระหว่างเพื่อนในเพื่อนระหว่างเพศ ไม่มี และมีใครทรงตัวในความเป็นหนุ่มเป็นสาวบ้าง ไม่มี คนแก่เราอยากจะแต่งงานด้วยไหม อายุสัก 80 หนังก็ย่น หน้าก็ตกกระ ผมหงอก ฟันหัก ตาขาวโหล หลังโก่ง ทำอะไรไม่ไหว อยากจะแต่งงานด้วยไหม ถ้าเราไม่พอใจคนที่มีสภาพอย่างนี้ ก็จงนึกว่าเราดี คนที่เราคิดว่าจะแต่งงานด้วยก็ดี ถ้ามีอายุถึงปานนั้นแล้ว เราจะหลีกเลี่ยงได้หรือเปล่า ใช้ปัญญาพิจารณาดูให้ดี ตอนนี้เป็นตัวปัญญา

แล้วก็มาตอนโลภะความโลภอย่าลืมนะ คนถ้าเป็นพระอริยเจ้าหรือว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติ ตั้งแต่ฌานโลกีย์ขึ้นมา ถ้าอารมณ์จิตเริ่มทรงฌานหรือก้าวเข้าเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ทุกระดับนี้ ฌานโลกีย์ถ้าทรงตัวลาภจะมาก ถ้ายิ่งเป็นพระอริยเจ้าก็มีลาภมากขึ้น พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีจะรวยขึ้นตามลำดับ ถ้าถึงอรหันต์ก็รวยใหญ่ รวยตรงไหน รวยที่มันตัดโลภะความโลภ ทรงฌานโลกีย์จิตระงับความโลภ เป็นพระโสดาบันจิตเริ่มตัดความโลภ ไม่ใช่ระงับเฉย ๆ เริ่มตัด ถึงสกิทาคามีตัดความโลภมากขึ้น ถึงอนาคามีตัดความโลภเกือบหมด ถึงอรหันต์ความโลภไม่มีเหลืออยู่ในใจ เมื่อความโลภมันหมดไปลาภมันก็เกิด

พระอริยเจ้าอยู่ที่ไหน อยู่ในป่าในดงมันก็เป็นวัด และก็คงจะไม่ใช่วัดที่โกรงเกรง จะเป็นวัดที่เต็มไปด้วยความแจ่มใส ดูตัวอย่างหลวงปู่บุญมี ที่ดอยโมคคัลลาน์ ที่นั่นคนเข้าไปหาก็แสนยาก หากขึ้นไปอยู่ใหม่ ๆ 7-8 วันจะมีคนเอาข้าวไปให้กินสักครั้งหนึ่ง คนเต็มไปด้วยความคับแคบของใจแต่ในระยะต้น ระยะหลังนี่กลับมาใหม่ เมื่อจิตดีแล้วเพียงแค่ 2 ปี วัดมีราคาเป็นล้าน คนนั้นก็อยากไปสร้างให้ คนนี้ก็อยากไปสร้างให้ ว่าท่านจะเป็นพระอริยเจ้าหรือไม่นี่ผมไม่ทราบ แต่เวลาคุยกับท่าน ท่านก็จะคุยอยู่ข้อเดียวคือ ตัดสักกายทิฏฐิ

นี่อันนี้ท่านทั้งหลายจะพึงเห็นว่า จิตถ้าบริสุทธิ์มากเพียงใด ลาภสักการะมันก็เกิดมากเพียงนั้น เมื่อลาภสักการะเกิด ก็จงอย่าคิดว่าทุกคนท่านจะติดลาภสักการะ ความจริงเปล่าหัวใจท่านไม่ติดตอนนี้แหละเราจะต้องคิด

อันดับแรก เราก็ไปจำจุดตัดกามราคะเสียก่อน เห็นว่ามันไม่เป็นประโยชน์ นี่ผมพูดตั้งแต่เริ่มปฏิบัติครั้งแรกนะครับ และต่อมาก็มองดูทรัพย์สินทั้งหลายว่า คนที่แบกทรัพย์สินทั้งหลายมากเท่าไรก็ตามที เขาก็ตาย มีทรัพย์มากก็ตาย มีทรัพย์น้อยก็ตาย จนก็ตาย รวยก็ตาย แล้วจิตใจจะไปนั่งมัวเมาอยู่ในทรัพย์เพื่ออะไร ทรัพย์มีดีมีประโยชน์ ได้ทรัพย์มากเท่าไร ทำทรัพย์นั้นให้เป็นสาธารณะประโยชน์ให้มากขึ้น จงอย่าเอาจิตเข้าไปติดในทรัพย์ เป็นแต่เพียงว่ารับมาแล้ว เพื่อทำประโยชน์ใหม่ให้เป็นสาธารณะให้มากขึ้น ใจไม่เกาะ

ต่อมาอำนาจของความโกรธก็มานั่งดูสักกายทิฏฐิ เราโกรธแล้วเราอยากจะฆ่ากายของเรา เราอยากจะประทุษร้ายร่างกายของเรา ไอ้ร่างกายนี่เขาเองเขาก็ทรงตัวไว้ไม่ได้ เขาห้ามความแก่ไม่ได้ เขาห้ามความป่วยไม่ได้ เขาห้ามความตายไม่ได้ แล้วจะไปนั่งโกรธร่างกายของเขาด้วยเรื่องอะไร อยากประทุษร้ายเขามันก็สร้างความชั่วให้แก่เรา เราไม่ต้องทรมานเขา เขาก็ทุกข์ เราไม่ต้องฆ่าเขา เขาก็ตาย ยกล้อมันไปไม่ดีกว่าหรือ เขาชั่วปล่อยเขาชั่วไปแต่ผู้เดียว เขาด่าเรา เราไม่ด่าเขา เขาเลวคนเดียว เขาแกล้งเรา เราไม่แกล้งเขา เขาเลวคนเดียวเราไม่เลว ทำอารมณ์จิตให้เป็นสุข คิดว่านั่นเขาเป็นทาส กิเลส และตัณหา

โมหะ สำหรับโมหะความหลงตัวนี้เป็นตัวสำคัญ อันดับแรกเราก็มาตัดความหลง มานั่งมองร่างกายเรา นั่งมองร่างกายของบุคคลอื่น มองดูความสกปรกของร่างกาย มองดูความเสื่อมไปของร่างกาย มองดูร่างกายที่มันใช้เราคือ จิต ให้แสวงหาอาหารมาให้กินให้มันกิน แล้วมันก็ถ่าย ถ่ายแล้วมันก็กิน แต่ทว่ามันก็ทรุดโทรมลงไปทุกวัน มันดีหรือมันชั่ว แสดงว่าร่างกายนี้มันชั่ว เราควรจะมีร่างกายต่อไปไหม ก็เชื่อว่าเราไม่ควรจะมี

ถ้าเราจะไม่มีร่างกายต่อไปเราจะทำยังไง เราก็ต้องเป็นคนใช้ปัญญา ปัญญาของเราจะเอาอะไรมาใช้ ปัญญามันมีอยู่แล้ว แต่เหตุที่จะต้องใช้ ต้องใช้ตามแนวที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงแนะนำ นั่นก็คือ พิจารณาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ต้นจนอวสาน ในที่สุดองค์สมเด็จพระพิชิตมาร ว่าเราสามารถเข้าใจเสียในอริยสัจด้วยปัญญา เราเป็นอรหันต์อริยสัจมองเห็นทุกข์ของตน ทุกข์ของคนอื่น ทุกข์ของสัตว์โลกทั้งหมด ทุกข์มาจากไหน มาจากตัณหา ตัณหาคืออะไร คือความยาก เราจะตัดตัณหาเราจะตัดตรงไหน ตัดที่ศีล สมาธิ ปัญญา อันนี้เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผมขอกล่าวโดยย่อ ๆ เราก็ทรงศีล สมาธิ ปัญญาให้ครบถ้วน เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาครบถ้วน จิตทรงตัวดีอันดับแรกเป็นฌานโลกีย์ ต่อมาก็มานั่งดูว่าพระโสดาบันทรงอะไร พระโสดาบันทรงอธิศีล และไม่ข้องในกาย เราเป็นพระโสดาบัน อนาคามีมีอะไร สกิทาคามีผมไม่พูด อนาคามีตัดกามฉันทะ โดยกายคตานุสสติ อสุภกรรมฐาน และสักกายทิฏฐิควบกัน กายคตานุสสติ เห็นว่าร่างกายเป็นชิ้นเป็นท่อนเป็นตอน อสุภกรรมฐานเห็นว่าร่างกายสกปรก สักกายทิฏฐิไอ้สิ่งที่มันสกปรกอย่างนี้ มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราอาศัยมัน พอใจมันทำไมสำหรับความสวยงามในร่างกาย เป็นอันว่าไม่สนใจ อย่าลืมนะตรงนี้ก็สู้กับอารมณ์

ถ้าเราตัดกามฉันทะเราก็หาคนสวย ถ้าชนหน้ากันเมื่อไร หรือลับหลังเขา เราเห็นว่าไม่สวยเมื่อไหร่ เมื่อนั้นใช้ได้จิตใจไม่ผูกพัน

มาด้านโทสะความโกรธ พออนาคามีตัดได้ด้วยอาศัยพรหมวิหาร 4 กับสักกายทิฏฐิควบกัน ตามที่อธิบายมาแล้ว นี่ต้องใช้ปัญญานะ จะไปนั่งภาวนาอยู่เฉย ๆ มันไม่ไป มองดูโทษของความโกระ มองดูโทษอารมณ์ที่โกรธ มันไม่ได้เกิดประโยชน์ตามที่กล่าวมา

เมื่อถึงอนาคามีแล้ว ความจริงอรหันต์เก็บเล็ก เก็บน้อยเป็นของสบาย ๆ ใช้ปัญญา ว่า รูปฌาน และอรูปฌาน เป็นบันได สำหรับก้าวเข้าไปสู่พระนิพพาน เราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้

มานะ การถือตัวถือตนไปถืออะไรกันตรงไหน ถือนี่มันถือกาย หรือ ถือความเลว ถือชาติตระxxxล ถือฐานะ ถือวิชชาความรู้ ไอ้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันไม่ทรงตัวจะไปถืออะไรกัน คนกับสัตว์มีสภาวะเท่ากัน ถ้าเราเป็นเพื่อนกับสัตว์ได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้น ชื่อว่าจิตเราปลดมานะได้ ถ้าเรายังเห็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์ขี้เรื้อนเป็นที่น่ารังเกียจ เวลานั้น ชื่อว่า เราตัดมานะไม่ได้ จำให้ดีเท่านี้นะ ทำให้มันลงตัว

และอุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้งซ่านนี่ หมายความว่า อารมณ์เราจับพระนิพพานตรงหรือเปล่า โลภะความโลภมีในจิตหรือเปล่า ราคะความกำหนัด ติดกันยินดี มีในอารมณ์หรือเปล่า โทสะ พยาบาท ความโกรธมีในใจหรือเปล่า จิตเรายังนึกถึงว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นของเราอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีอยู่ ยังตัดไม่ได้ อารมณ์ต้องเบาในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ทั้งหมดจิตกำหนดเฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้ชื่อว่าตัดอุทธัจจะ คือ อารมณ์ฟุ้งซ่านได้

แล้วก็อวิชชา มันไม่มีอะไร อวิชชานี่แปลว่า ไม่รู้ เหลือนิดเดียวอวิชชา ที่อารมณ์จิตคิดว่า การทรงเป็นพระอนาคามียังดี เกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็หมดกัน อย่างนี้เราต้องทิ้งมันไป ตั้งใจเฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์ พอจิตเข้าถึงอรหัตตผล จิตใจของเราจะมีอาการของความเบา ไม่มีความรู้สึกหนักในกรณีทั้งปวง จะมีอารมณ์โปร่ง มีใจเป็นสุข เขาจะมาในด้านไหน กามฉันทะมาก็เหลว โลภะความโลภเขาจะนำมาก็เหลว โทสะความโกรธมายั่วเย้าเข้าก็เหลว โมหะเข้ามายั่วเพียงใดก็เหลวใจเราไม่ติด อารมณ์มันสบาย ๆ คล้ายกับว่า มือไม่เกาะอะไรทั้งหมด จิตมันโปร่งมีอารมณ์เป็นสุข เห็นคนสวยก็เหมือนกับเห็นเปรต เห็นทรัพย์สินทั้งหลายก็เหมือนกับเห็นก้อนดินเหนียว เห็นบุคคลทำให้โกรธเรานึกว่า เขาเป็นคนบ้า เห็นร่างกาย ทรัพย์สินทั้งหลาย เห็นวัตถุเหมือนว่าไร้ค่า จิตใจเป็นสุข อารมณ์โปร่ง

เท่านี้แหละบรรดาท่านทั้งหลาย เป็นอาการที่การปฏิบัติตนให้เข้าถึงอรหัตตผล ผมพูดมาน่ะมันยาวเกินไป แต่ความจริงการปฏิบัติ เขาปฏิบัติกันแบบนี้ เขาลัด ๆ ประเดี๋ยวหนึ่งก็ถึง เอาล่ะท่านทั้งหลายมองดูเวลา แต่ความจริงเรื่องนี้เราย้ำกันมาเป็นปี เห็นว่าเท่านี้ก็พอ เวลาก็หมดเสียแล้ว ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ สำหรับด้านอนุสสติ 5 ประการ ที่เริ่มต้นด้วยพระโสดาบันก็ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้

ขอความสุขสวัสดิ์จงมีแต่ท่านทั้งหลาย ต่อไปนี้ขอให้ทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก อยู่ในอิริยาบถที่ท่านต้องการ จนกว่าจะถึงเวลานั้นที่ท่านเห็นว่าสมควร







 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง