พระมหาสุรศักดิ์ สุรเมธี
ผู้เยี่ยมชม
|
ตอบเมื่อ:
11 ก.ย. 2006, 6:49 am |
  |
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้จริงหรือ?
โดย พระมหาสุรศักดิ์ สุรเมธี (ชะมารัมย์)
นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
3 rd Year Student of Dhammakaya Open University, California, USA
....................................................
ครั้งหนึ่ง อัลเบิร์ต ไอสไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า
“Imagination is more important than knowledge.”
(จินตนาการสำคัญกว่าความรู้)
จากคำกล่าวข้างต้นของไอสไตน์ จะเป็นจริงหรือที่ว่าจินตนาการจะสำคัญกว่าความรู้ เป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนกัน ก็ไหนบอกกันนักกันหนาว่าความรู้สำคัญกว่าอื่นใด คนเราสามารถใช้ความรู้ทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ คนที่มีความรู้ท่านเรียกว่า นักปราชญ์ แต่ทำไมไอสไตน์ถึงได้กล่าวในทางที่ตรงกันข้ามเช่นนั้น มีเหตุผลอื่นประการใดแอบแฝงหรือ หรือว่าเป็นการกล่าวขึ้นมาลอยๆ อย่างไม่มีเหตุผลเฉยๆ
แท้จริงแล้วคำกล่าวของ ไอสไตน์ ที่กล่าวไว้นั้นไม่ผิดหรอก หากว่าเราพิจารณาดู ก็จะพบว่า สิ่งทั้งหลายในโลกที่เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบต่างๆ ก็เนื่องมาจากจินตนาการของคนเรานั้นเอง เพราะจินตนาการนี้เองที่ทำให้เราสามารถทำในสิ่งที่เราปรารถนาได้และก็สำเร็จผลได้ในที่สุด แต่ก็ใช่ว่าความรู้นั้นไม่สำคัญเลย เพราะทั้งจินตนาการและความรู้จะต้องไปด้วยกันเสมอ เสมือนกับทางรถไฟที่ยาวทอดขนานกันไปจนสุดสาย ทำให้รถไฟแต่ละขบวนสามารถแล่นไปมาได้ แต่ถ้าหากว่าขาดรางข้างใดข้างหนึ่งไปหรือแม้แต่บิดเบี้ยวทำให้ไม่ขนานกัน ก็จะเป็นผลทำให้รถไฟไม่สามารถแล่นได้เลย หรือหากเล่นก็จะทำให้พลิกคว่ำตกรางไปในที่สุด จินตนาการและความรู้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน จะต้องดำเนินควบคู่กันไป ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ก็จะทำให้สิ่งที่เราทำนั้นไม่บรรลุเป้าหมายหรือประสบความสำเร็จไป
ความรู้นั้นมีมานานแล้ว มีมาพร้อมๆกับคนเรา แต่เพียงเพราะว่าคนเราในสมัยนั้นไม่รู้จักความรู้กัน จึงทำให้ไม่มีใครสนใจศึกษาความรู้กันอย่างจริงจังว่าความรู้นั้นคืออะไร ได้แต่เพียงใช้ชีวิตตามวิถีแบบแผนของคนในรุ่นก่อนๆเท่านั้น แต่ก็หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วนั้นวิถีชีวิตของตนก็ได้มาจากความรู้นั่นเอง จนกระทั่งเมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกทางความรู้หรือที่เรียกกันว่า ยุควิทยาศาสตร์ จึงทำให้คนเราเริ่มรู้จักความรู้กัน จนได้มีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงจัง จนทำให้สามารถคำตอบคำถามได้ว่า ความรู้คืออะไรในที่สุด และผลการจากศึกษานี้เองทำให้เกิดวิชาความรู้นี้ขึ้นเรียกว่า วิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่นำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่โลกเรา และกระทั่งกลายมาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน ส่วนจิตนาการเกิดขึ้นตอนไหนนั้นยังไม่มีใครทราบ ซึ่งคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กันกับความรู้ แต่เป็นเพราะว่าคนเราในยุคสมัยก่อนๆนั้นไม่มีใครล่วงรู้ว่าจินตนาการคืออะไร เช่นเดียวกับความรู้นั้นเอง ซึ่งทั้งจินตนาการและความรู้นั้นจะต้องเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันนั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วจินตนาการจะเกิดขึ้นมาก่อน จากนั้นความรู้จึงจะเกิดขึ้นตามมาทีหลัง
บางคนอาจมีข้อโต้แย้งว่า ก็ความรู้นิหน่าที่ทำให้โลกเราเกิดความเปลี่ยนแปลงไปต่างๆนาๆ เพราะไม่ว่ายุคไหนๆก็เกิดความเปลี่ยนแปลงกัน อันเนื่องมาจากการที่คนในสังคมมีความรู้ต่างหาก ไม่ใช่เป็นเพราะการที่คนมีจินตนาการ ที่กล่าวเช่นนั้นก็ถูกแต่ก็ถูกไม่หมด แม้ว่าความรู้จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางต่างๆในสังคมแต่ละยุคสมัยจนถึงในยุคสมัยปัจจุบัน เราจะอาศัยแต่เพียงความรู้อย่างเดียวก็ไม่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ หากไม่อาศัยจินตนาการด้วยตามที่ได้กล่าวแล้วว่าจินตนาการและความรู้ต้องไปด้วยกันเสมอ ถึงแม้ว่าจินตนาการและความรู้มีความสำคัญพอๆกัน แต่โดยส่วนลึกแล้ว จินตนาการย่อมมีความสำคัญกว่า เพราะคนเราแม้ว่าตนเองจะมีความรู้ ต่อให้รู้มากขนาดไหนแต่ถ้าหากว่าไม่มีจินตนาการก็ไม่มีทางรู้เลยว่าจะเอาความรู้นั้นไปทำอะไร ไปใช้กับอะไร และเมื่อใช้ทำสิ่งนั้นแล้วผลที่ตามมาจะเป็นเช่นไร ก็ไม่สามารถที่จะใช้ความรู้นั้นๆ ให้เกิดผลได้เลย เข้ากับสำนวนไทยที่ว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” มีความรู้มากแต่ก็เอาตัวไม่รอด แต่หากว่ามีจินตนาการรวมอยู่ด้วยก็จะทำให้คนเราล่วงรู้ว่าเป้าหมายของการนำความรู้ไปใช้นั้นเป็นอย่างไร ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหน และก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษมากน้อยขนาดไหน
ลองพิจารณาดู หากว่าเราพูดถึงเรื่อง เครื่องบินในสมัยโรมันกัน ก็คงไม่มีใครเลยที่รู้จัก ต่อให้เราอธิบายเปรียบเทียบเครื่องบินว่าเหมือนกับนกที่สามารถบินได้ มันมีขาดใหญ่มาก สามารถบรรทุกเราได้ ฯลฯ ต่อให้เราอธิบายให้เขาฟังมากขนาดไหนก็ตาม หรือว่าชักแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบาย คนในสมัยนั้นจะนึกได้อย่างมากก็แค่นกที่มีขนาดลำตัวใหญ่เท่านั้นเอง และก็จะมีความคิดโต้แย้งว่า เป็นไปได้อย่างไรที่มันสามารถบรรทุกเราได้ ลำพังแต่มันเองก็บินแทบจะไม่ไหวอยู่แล้ว แล้วจะบรรทุกเราได้เหรอ แถมซ้ำคนในสมัยนั้นก็จะคิดว่าเราเป็นบ้าไป อะไรทองนองนี้ เป็นต้น จะเห็นว่าคนในสมัยนั้นมีความรู้เรื่องการบิน แต่ไม่เคยมีจินตนาการเลยว่าตนเองสามารถบินได้เหมือนนก เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จนกระทั่งสองพี่น้องตระกูลไรท์ คือ วิลเบอร์กับออร์วิล ไรท์ ได้มีจินตนาการเกิดว่าตนเองต้องบินได้เหมือนนกบวกกับฐานความรู้ที่ตนเองมี จึงได้พากันประดิษฐ์เครื่องบินที่ชื่อว่า ฟลายเออร์ และได้ทดลองบินได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเครื่องบินที่อยู่ในการควบคุมบังคับได้เป็นเครื่องบินเครื่องแรกของโลกเมื่อ 17 ธ.ค.1903 จนทำให้เราได้รู้จักเรื่องเครื่องบินในที่สุด แสดงให้เห็นว่าคนเรามีจินตนาการที่จะบินได้เหมือนนกนั่นเอง แต่หากว่าเรามีเพียงความรู้เรื่องนกที่มันสามารถบินอยู่ได้ในอากาศ แต่ไม่มีจินตนาการที่ว่าเราเองก็สามารถบินได้เหมือนกับนกเช่นกัน คนเราในปัจจุบันก็คงไม่มีใครเลยที่รู้จักเครื่องบิน คงไม่ต่างอะไรกันมากนักกับคนในสมัยโรมัน จะเห็นได้ว่า จินตนาการนั้นสำคัญกว่าความรู้ ซึ่งเป็นจริงตามคำกล่าวของ ไอสไตน์ ที่ได้กล่าวเอาไว้นั้น
ถึงแม้ว่าจินตนาการจะสำคัญกว่าความรู้ แต่ทั้งสองก็ต้องอาศัยกันและกัน เป็นเหตุและเป็นผลของกันและกัน จินตนาการจะเป็นเสมือนเป้าหมายปลายทางที่เราตั้งเอาไว้ ในขณะที่ความรู้นั้นจะเป็นเสมือนกับวิธีการที่ทำให้เราเดินไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น การที่โลกเราเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่นี้ก็เพราะว่าคนเรามีจินตนาการนั่นเอง หากว่ามีความรู้เพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่เป็นเพราะว่าอาศัยจินตนาการร่วมอยู่ด้วย จึงเป็นผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากมายมหาศาล ลองคิดดูหากว่าคนเรายังพากันจินตนาการเกี่ยวกับเรื่องต่างๆอย่างไม่มีวันหยุดแล้วละก้อ มันก็จะเป็นผลนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่โลกเราอย่างมากแน่นอน
.................................................... |
|
|
|