Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด คือ มิจฉาทิฏฐิ !!! อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 4:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

โลกียสัมมาทิฏฐิ ควรถูกจัดเป็นสัสตทิฏฐิเมื่อเทียบกับโลกุตรสัมมาทิฏฐิ


ขออนุญาตนำ เรื่องคำกล่าวข้างต้นมาเป็นประเด็นของกระทู้..... ยิ้ม

เพราะในปัจจุบันมีบางท่านมีมุมมองว่า โลกียสัมมาทิฏฐิ (สาสวสัมมาทิฏฐิ) ที่ยังไม่หมดสิ้นจากอัตตา-ตัวตนนั้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับโลกุตรสัมมาทิฏฐิแล้ว โลกียสัมมาทิฏฐินั้นต้องถูกรวมจัดเป็นสัสตทิฏฐิ !!! …….

ทั้งนี้เพราะท่านเหล่านั้นมองว่า เพราะโลกียสัมมาทิฏฐิยังมีความเชื่อเรื่อง การเวียนว่ายตายเกิด การให้ผลของกรรมข้ามภพชาติ (รวมทั้งการให้ผลของกรรมทางร่างกายธาตุขันธ์ เช่น กรณีของพระมหาโมคัลลานะที่ท่านเคยทำอนันตริยกรรมไว้ในอดีตกาลนานไกลและกรรมตามมาให้ผลในภพชาติสุดท้าย หรือกรณีที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงกรรมที่ตามมาให้ผลกับพระพุทธองค์ในภพชาติสุดท้าย).... หรือจะกล่าวว่าเพราะเหตุที่โลกียสัมมาทิฏฐิยังมีการกล่าวถึง ตัวตน บุคคล สัตว์อยู่ ท่านเหล่านั้นจึงจัดโลกียสัมมาทิฏฐิให้เป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทสัสตทิฏฐิไปเสียเลย !! ..... ด้วยเหตุว่า แนวคิดของท่านเหล่านี้นั้น ท่านปฏิเสธขาดในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติ การให้ผลของกรรมข้ามภพชาติ รวมทั้งการให้ผลของกรรมทางร่างกายธาตุขันธ์(ท่านจะยอมรับเฉพาะลักษณะที่ การทำความดีแล้วใจเบิกบาน ทำความชั่วแล้วใจเศร้าหมองเท่านั้น..... แต่จะปฏิเสธขาดในเรื่องการที่กรรมจะตอบสนองทางร่างกายธาตุขันธ์ได้ด้วย )
 


แก้ไขล่าสุดโดย ตรงประเด็น เมื่อ 30 ก.ค.2006, 1:58 pm, ทั้งหมด 4 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 4:48 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอนำพระพุทธวจนะที่ตรัสถึงสัมมาทิฏฐิ 2 ประเภท มาลงไว้เผื่อว่ายังมีผู้ไม่เคยอ่านกันครับ

มหาจัตตารีสกสูตร พระสุตตันตปิฎกเล่ม ๖

“.....[๒๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน..... ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิว่ามิจฉาทิฐิ รู้จักสัมมาทิฐิว่าสัมมาทิฐิ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

[๒๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน
คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล
ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล
สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผลผล
วิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
มารดาไม่มีบิดาไม่มี
สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี
สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี..... นี้มิจฉาทิฐิ ฯ


[๒๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมา
ทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑
สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

[๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้วมีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่ นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

[๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค ฯ.....”

ผมขอเสนอมุมมอง จากพระสูตรนี้ เพราะ พระพุทธองค์ทรงตรัส”ข้อบ่งชี้ของมิฉาทิฏฐิ”เอาไว้ชัดเจนมากน่ะครับ.....

จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสเริ่มต้นไว้ว่า”..... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน.....” และมีพระพุทธบรรยายเฉลยความต่อว่า
“.....ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล
สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผลผล
วิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
มารดาไม่มีบิดาไม่มี
สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี
สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี..... นี้มิจฉาทิฐิ ฯ.....”

ขอย้ำ..... พระพุทธองค์ท่านตรัสอย่างชัดเจนว่าความเห็นเหล่านี้คือมิฉาทิฏฐิ..... ซึ่งความเห็นของเรา - ท่านจะต้องพ้นจากมิจฉาทิฏฐิเหล่านี้เสียก่อนน่ะครับ แล้วจึงจะเข้าสู่สัมมาทิฏฐิได้..... แต่ถ้าความเห็นนั้นๆ”ไม่พ้น”จากมิจฉาทิฏฐิเสียก่อนแล้ว ประเด็นจะมาวิเคราะห์ว่าความเห็นนั้นๆเป็นสัมมาทิฏฐิหรือไม่ คงไม่ต้องไปกล่าวถึงให้เสียเวลา (คำว่า ”ไม่พ้น” จากมิจฉาทิฏฐิเป็นเช่นไร ขอให้ถือเอาตามพระพุทธวจนะที่ตรัสไว้นี้โดยเคร่งครัดโดยไม่ต้องดัดแปลงหรือแก้ไขพระพุทธวจนะแต่อย่างใด)..... และถ้าพิจารณาจากพระพุทธวจนะนี้ จะเห็นว่าไม่มีพระพุทธวจนะตรงไหนเลยที่ตรัสว่า ”โลกียสัมมาทิฏฐิต้องถูกจัดเป็นสัสตทิฏฐิ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับโลกุตรสัมมาทิฏฐิ”..... มิหนำซ้ำ พระพุทธองค์ท่านยังตรัสสรรเสริญว่า โลกียสัมมาทิฏฐิเป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์.....
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 4:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรื่องความแตกต่างระหว่างหลักการเวียนว่ายตายเกิด "พราหมณ์ กับ พุทธ" นี้

.....ผมมีความเห็นอย่างนี้น่ะครับ

เรื่อง พราหมณ์ "บางกลุ่ม" อาจจะมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง การเวียนว่ายตายเกิดเหมือนกัน (ที่ผมเน้นคำว่า "บางกลุ่ม" นั้น เพราะมีอีกหลายกลุ่มที่เชื่อว่าตายแล้วขาดสูญในลักษณะต่างๆ) แต่ความเชื่อของพราหมณ์เป็นความเห็นที่ว่ามีอัตตาอันเที่ยงแท้ถาวรไปเวียนว่ายตายเกิดในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากของพุทธเราน่ะครับ.....

อยากเสนอให้ลองอ่านความเห็นของ ท่าน อ.เสถียร โพธินันทะ สาธุ เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง ความเชื่อเรื่องวิญญาณในลัทธิสัสสตทิษฐิ เปรียบเทียบกันกับ คำสอนเรื่องวิญญาณในพระพุทธศาสนา

"....มีปริพาชกคนหนึ่งเป็นคนถือ สัสสตทิฏฐิ ถึอว่าตายแล้วอัตตาของเขานี่ อัตตาตัวนี้แหละหรือเรียกว่าวิญญาณนี่แหละ ไปเวียนว่ายตายเกิด อัตตาตัวนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน มั่นคงดุจเสาระเนียด ชื่อว่า วัชชโคตรปริพาชก วัชชโคตรมีทิฏฐิอย่างนี้ เมื่อตั้งปัญหาถามพระพุทธเจ้าว่าพระสมณโคดม ตายแล้วเอาอะไรไปเกิด พระพุทธเจ้าไม่ตอบ ไม่ตอบปัญหาข้อนี้แก่วัชชโคตร วัชชโคตรก็เสียใจ ก็ตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่า แหม ช่างกระไรเลย เขาเองมีความสงสัยในปัญหาข้อนี้ ผูกใจมานานนักหนาแล้ว นึกว่าได้รับความสว่างในสำนักของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากลับไม่ตอบปัญหา เขาตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็บอกว่าวัชชโคตร ถ้าหากว่าตถาคตจะตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอ เธอเป็นสัสสตทิฉฐิอยู่แล้วนะ ถ้าตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอเมื่อไหร่ละก็ เธอจะเข้าใจผิด ยิ่งจะเป็นสัสสตทิฉฐิยิ่งขั้นไปอีก เป็นทวีตรีคูณทีเดียวละ เพราะฉะนั้นปัญหาข้อนี้เราจึงไม่ตอบเธอ เพราะอะไรถึงทรงแสดงอย่างนั้น

เพราะว่าโดยความจริงแล้วคนที่ยังมีกิเลสอยู่ ตายแล้วก็ต้องเกิด ถ้าพระองค์ตรัสบอกกับวัชชโคตรบอกว่าคนเราตายแล้วเกิด วัชชโคตรซึ่งกำลังหลงผิดยึดถืออยู่แล้ว ว่าอัตตาของตัวนี่แหละมั่นคงดุจจะเสาระเนียด เป็นผู้ไปเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ ก็ยิ่งจะเตลิดเปิดเปิงนึกวาพระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวว่าจริง

เมื่อคนเราตายแล้วต้องเกิด สิ่งที่ไปเกิดเป็นตัวนั่นแหละ คือตัวอัตตาที่ข้ากำลังถืออยู่ ณ บัดนี้นี่แหละ พระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวอย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงไม่ตอบวัชชโคตรก่อน เป็นเหตุให้เขาเกิดความสงสัยยิ่งขึ้น เมื่อตัดพ้อเช่นนี้แล้วพระองค์จึงแสดง “ ปฏิจจสมุปบาท “ ให้เห็นเป็นการทำลายสัสสตทิฏฐิของวัชชโคตรปริพาชก

ถ้าไปตอบอย่างง่ายๆ บอกว่า เออ คนเราตายแล้วก็ต้องไปเกิดซิ วิญญาณนี่แหละไปเกิด ตอบง่าย ๆ อย่างนี้ คนที่เป็นสัสสตทิฏฐิก็จะ หลงผิดเป็นสัสสตทิฏฐิยิ่งขึ้น จึงไม่ทรงตอบในเบื้องแรก แล้วก็แสดง ปฏิจจสมุปบาท ในเบื้องปลายเป็นการทำลายความเข้าใจผิดของวัชชโคตรปริพาชกไปเสีย นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง

คราวนี้ถ้าหากว่าสำหรับคนที่เชื่ออยู่แล้วว่ากฏแห่งกรรมมีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง แล้วสิ่งที่ไปเวียนว่ายตายเกิดนี่ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน เราเขาอะไร แต่ทว่าเป็นสังขารธรรมที่เกิดดับสืบสันตติกันได้ ถ้าคนมีความเชื่อถือเช่นนี้มาตั้งปัญหากับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์ไปตามเหตุคือ พยากรณ์ใช้วิธีวิภัชชพยากรณ์ บอกว่าถ้าคนยังมีกิเลสตัณหาอยู่ก็ต้องทำอะไรที่เป็นกรรม เมื่อมีกรรมแล้วก็มีวิบาก....."


สรุปความ ก็คือ พราหมณ์สัสสตทิษฐินั้นเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด หากแต่มีความเห็นผิดว่าวิญญาณเป็นของเที่ยง..... แต่ในพระพุทธศาสนานั้นถือว่า "วิญญาณ" ไม่ใช่สิ่งเที่ยงแท้แน่นอนอะไร เป็นสิ่งที่มีเหตุ - มีปัจจัย..... เมื่อหมดเหตุ - ปัจจัย วิญญาณก็ดับได้ด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนด้วยสภาวะของมันเอง...... ในปัจจุบันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดว่า พระพุทธองค์ปฏิเสธขาดในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และเชื่ออย่างปักใจว่าความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเป็นของพราหมณ์สัสตทิฏฐิทั้งหมด..... ถ้าใครกล่าวว่า มีการเวียนว่ายตายเกิด (ที่ตนเองไม่เชื่อ) ก็จะยกยอดให้คนนั้นเป็นพราหมณ์สัสตทิฏฐิไปทันที !!!
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 4:59 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอนำเสนอเพิ่ม อีกสักเล็กน้อย ในประเด็นที่ว่า

"ในเมื่อไม่มีสิ่งหรือสภาวะที่เที่ยงแท้ถาวรใดๆ ไปเวียนว่ายตายเกิด..... แล้วการเวียนว่ายตายเกิดนั้นมีได้อย่างไร....."

ปฐมเหตุโลกและชีวิต 2
โดย อ. เสถียร โพธินันทะ



ถามว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า อนัตตา ไม่มีตัวตน ตลอดไปจนถึง วิญญาณ ก็เมื่อคนมีกิเลสตายไปแล้ว เอาอะไรไปเกิด

ตอบ – คือ คำว่า ไม่มีตัวตน ในที่นี้ ไม่ใช่สูญเปล่านะ ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรนะครับ คำว่า ไม่มีตัวตน ในที่นี้ พระพุทธเจ้าไม่บอกว่า นัตถิกะ ถ้านัตถิกะ เป็นคำปฏิเสธเด็ดขาดว่าว่าง เหมือน สุญญากาศ นี่ไม่มีอะไร มันเวิ้งๆ โล่งๆ ไม่ใช่อย่างนั้น อนัตตาแปลเพียงว่า ไม่มีอัตตาที่เที่ยงแท้เท่านั้น อัตตามีอยู่ แต่ความมีอยู่ของ อัตตา ไม่ใช่อัตตาที่แท้จริง เข้าใจไหมครับ ไม่ใช่อัตตาที่แท้จริง คล้ายๆ ฟองน้ำ ฟองน้ำมีไหม ฟองน้ำมีอยู่ แต่ว่าฟองน้ำอยู่ประเดี๋ยวก็ดับใช่ไหม ไม่เที่ยง มีอยู่อย่างไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า อนัตตา ไม่ใช่คำว่า นัตถิตา ไม่ใช่ คำนี้ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเลย เปล่าๆ โล่งๆ เวิ้งๆ เป็นสูญญากาศ ไม่ใช่ ใช้คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา สภาวธรรมอันนั้นอัตตา แปลว่า ยืนหยัดคงที่เป็นหนึ่ง แต่ อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ยืนหยัด ไม่คงที่ และไม่เป็นหนึ่ง แต่มีอยู่ มีอยู่อย่างไม่คงที่ มีอยู่อย่างไม่เที่ยง มีอยู่อย่างเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงเป็นภาวะมีอยู่ จึงสอน อนัตตา ต่างกับ นัตถิตา นะครับ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 5:03 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในกรณีของผู้ที่ระลึกชาติย้อนหลังได้ ("ชาติ" ตามมหาสติปัฏฐานสูตรน่ะครับ..... "ชาติ" แบบอื่น ขออนุญาตไม่คุยด้วยอีกแล้วในกระทู้นี้ เพราะคุยกันมามากมายแล้วในกระทู้อื่น)แล้วเกิด "ความเห็นผิด" ดังที่มีพระพุทธวจนะว่า ".....จึงมีทิฏฐิว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ ปุพเพนิวาสานุสสติ...." นั้น

เพราะอะไรท่านเหล่านั้นจึงยึดมั่นถือมั่นว่าเที่ยง แล้วถูกจัดเป็นสัสสตทิษฐิ ???

เพราะท่านเหล่านั้นไม่รู้กลไก - สาเหตุที่ทำให้หมู่สัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิด...... ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นเห็นประจักษ์แจ้งด้วยญาณของท่านเองว่ามีการเวียนว่ายตายเกิดจริง แต่ไม่รู้ว่าทำไมหมู่สัตว์จึงต้องไปเวียนว่ายตายเกิด จึงทำให้เกิดทิษฐิที่คลาดเคลื่อนว่า ”เที่ยง” ขึ้น..... ต่างกันกับพระพุทธองค์ที่พระองค์ทรงทราบสาเหตุ-กลไกที่ทำให้หมู่สัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุ - ปัจจัย และผล หากแต่เพราะมีเหตุและปัจจัย ผลจึงได้มี..... เมื่อดับเสียซึ่งเหตุและปัจจัย ผลย่อมดับตาม ตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั้นล่ะครับ

ที่นี้ ในกรณีของผู้ที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนกัน..... หากแต่เห็นชัดว่า หาได้มีตัวตนอันเที่ยงแท้ถาวรใดๆไปเวียนว่ายตายเกิดไม่ เป็นเพียงการที่วิญญาณขันธ์ดวงเก่าที่ดับไปเป็นเชื้อให้เกิดวิญญาณขันธ์ในภพใหม่ เป็นเรื่องของสันตตินะครับ เพราะว่ายังมีเชื้อแห่งการเกิดอยู่ การเวียนว่ายตายเกิดจึงได้มี.....

เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดก็เป็นเรื่องที่เกิดจากการที่มีเหตุและปัจจัย ผลจึงมีขึ้น..... เมื่อดับเสียซึ่งเหตุปัจจัยแล้ว ผลย่อมดับไปเอง..... หาใช่เป็นเรื่องของความเที่ยงแท้ถาวรใดๆ ไม่ !!!

คงต้องแยกแยะสองกรณีนี้ออกจากกันให้ดี..... ไม่ใช่ว่าพอเห็นใครพูดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดที่ไหน ก็จะตรงรี่เข้าไปอุปโลกน์เขาให้เขากลายเป็นพราหมณ์สัสสตทิษฐิไปเสียทั้งหมด

ในทางกลับกัน....อุจเฉททิษฐิในลักษณะต่างๆ นั้นก็แตกต่างกันจาก "ความดับไม่เหลือ" ที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้น่ะครับ. พระพุทธองค์ท่านทรงสอนเรื่องความดับไม่เหลือเพราะเหตุว่าดับเสียซึ่งสายสมุทัยวารในปฏิจจสมุปบาท จึงถึงซึ่งความดับไม่เหลือ..... ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็ดับสูญโดยไม่มีเหตุมีผล..... แต่หากเป็นเพราะดับเสียซึ่งเหตุและปัจจัยได้หมด ผลจึงดับลง

มันเป็นเรื่อง ของ เหตุ-ปัจจัย และผลทั้งสิ้น......
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 5:11 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผมไปอ่านพบความเห็นของ คุณดังตฤณ สาธุ

ที่ท่านเคยวิสัชนาประเด็นคล้ายๆ กันนี้ไว้..... เห็นว่าท่านตอบได้ชัดเจนและมีหลักฐานอ้างอิงจากพระสูตร เลยขออนุญาตท่านเจ้าของบทความในกระทู้นี้เลยน่ะครับ ขออนุญาตนำบทความของท่านมาลงไว้ในกระทู้นี้น่ะครับ เผื่อประโยชน์จะเกิดต่อผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน

จากกระทู้ สัมมาทิฏฐิ ที่ชวนสงสัย
http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/008068.htm


..............................................................................


".....สัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นชอบ
ตั้งมุมมองไว้ถูกกับธรรมชาตินั้นมีสองระดับครับ
ระดับแรกสำหรับคนที่ยังต้องติดวนอยู่ในภพ จำเป็นต้องเห็นให้จริง
ว่าเรื่องบุญบาปนั้นมี (อยู่ที่เจตนาและสภาวจิตในปัจจุบัน)
วิบากที่เกิดจากบุญบาปนั้นมี (อยู่ที่สภาวจิตหรือสภาวกายหลังจากทำ)
และถ้าไม่เห็นว่าบิดามารดามี ก็คงไม่ต้องประพฤติเพื่อความกตัญญู
อันนั้นจัดเป็นคนบาป เป็นมิจฉาทิฏฐิในทางโลก
มีอุปาทานครอบงำหนาแน่นเกินกว่าจะได้ดีมีสุข

ระดับที่สองเป็นสัมมาทิฏฐิของผู้ปรารถนาจะหลุดพ้นจากโลก
ต้องมองว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา มีแต่จิตที่ถูกครอบงำด้วยอุปาทาน
และเป็นผู้ที่ได้ทำอุปาทานให้เบาบางลงจากระดับของบาปแล้ว
จิตเป็นกุศล มีความสะอาด สว่างสงบ พร้อมพอจะรู้เรื่องอุปาทานระดับตัวตนแล้ว

ขอให้พิจารณาที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ทั้งหมดอย่างถี่ถ้วนดังนี้ครับ
พระสูตรที่ยกนี้ให้ความกระจ่างทั้งแง่มุมสองระดับของสัมมาทิฏฐิ
ตลอดไปจนกระทั่งสัมมาสมาธิและสัมมาวิมุตติ
หากเข้าใจสูตรนี้เป็นอย่างดีก็จะไม่มีทางหลงผิดไปทางอื่นได้เลย

มหาจัตตารีสกสูตร พระสุตตันตปิฎกเล่ม ๖
[๒๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้........ "


........................................................................................


".....คุณxxx มองอย่างนี้ก็ได้ครับ
ว่าโลกุตตรสัมมาทิฏฐินั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้
หากไม่มีโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบันไดขั้นแรก
คิดง่ายๆ ถ้ากำลังคิดอยากปล้นฆ่าใคร
หรือแสดงความอกตัญญู ทุบตีพ่อแม่
ความมีจิตที่มืดบอดแบบนั้นย่อมไม่เกื้อ
ให้เห็นธรรมะได้ตามจริงแน่นอน
ว่าอะไรๆล้วนอนิจจัง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
เล็งแค่ที่ความพร้อมรู้ของจิต ก็จะเห็นว่ากลมกลืนกันได้สนิทครับ
สรุปคือถ้าจะยังต้องเห็นใครๆเป็นสัตว์บุคคล
ก็ต้องเห็นแบบที่จิตจะเป็นกุศล
เพียงพอที่จะพัฒนาเป็นทิฏฐิที่บริสุทธิ์อีกระดับหนึ่งได้


.....................................................................................


คำถามของคุณxxx
......แต่ประเด็นที่ผมสงสัยหรือถามนั้น อยู่ตรงที่ว่า โลกียสัมมาทิฏฐิตามที่ทรงแสดงนั้น ที่จริงก็ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ใช่ไหมครับ ?? เราจะแก้คำถามนี้ให้ลุล่วงด้วยดีได้อย่างไร ??


คำตอบของคุณดังตฤณ
"......ไม่จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิครับคุณxxx
พระพุทธองค์บัญญัติไว้ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ
และเป็นโลกียสัมมาทิฏฐิ
ไม่ควรที่เราจะคิดสับสนให้เป็นอื่น
เหมือนเราเรียกบันไดขั้นแรกว่าเป็นบันได
จะบอกว่าไม่ใช่บันไดนั้นไม่ควร

แต่ก็ต้องทราบเท่านั้นว่าบันไดมีหลายขั้น
จึงจะพาไปถึงที่หมายสุดท้ายที่ต้องการได้....."
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 2:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ปัญหา ตามเรื่องในพระคัมภีร์ มีปรากฏอยู่เสมอว่า เมื่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรือ อุบาสิกา คนใดคนหนึ่งตายลง พระผู้มีพระภาคมักจะตรัสว่า เขาได้ไปเกิดใหม่ในภพนั้น ๆ การที่พระพุทธองค์ทรงทำนายเช่นนี้ มีพระพุทธประสงค์อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนอนุรุทธะ ตถาคตย่อมพยากรณ์สาวกทั้งหลายผู้ทำกาละไปแล้ว ในภพที่เกิดทั้งหลายว่า สาวกชื่อโน้นเกิดแล้วในภพโน้นสาวกชื่อโน้นเกิดแล้วในภพโน้นดังนี้
เพื่อให้คนพิศวงก็หามิได้
เพื่อเกลี้ยกล่อมคนก็หามิได้
เพื่ออานิสงส์ คือลาภสักการะและความสรรเสริญก็หามิได้
ด้วยความประสงค์ว่าคนจงรู้จักเรานี้ก็หามิได้
ดูก่อนอนุรุทธะ กุลบุตรทั้งหลายผู้มีศรัทธา มีความยินดีมาก มีปราโมทย์มากมีอยู่ กุลบุตรเหล่านั้นได้ฟังคำพยากรณ์นั้นแล้ว จะน้อมจิตไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง ข้อนั้นย่อมมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กุลบุตรเหล่านั้น สิ้นกาลนาน......”

นฬกปานสูตร ม. ม. (๑๙๘)
ตบ. ๑๓ : ๒๐๖-๒๐๗ ตท.๑๓ : ๑๗๘
ตอ. MLS. II : ๑๓๘

http://www.84000.org/true/046.html
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 2:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

จากหนังสือ " หัวใจพระพุทธศาสนา"
โดย อ.วศิน สาธุ เกี่ยวกับเรื่อง ทิฏฐุปาทาน ว่า



--------------------------------------------------------------



ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาบางคน มองพระธรรมของพระพุทธเจ้าเพียงด้านเดียวเหมือนกัน แล้วติดอยู่เฉพาะในส่วนนั้น ปฏิเสธส่วนอื่นๆเสียสิ้น ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นเอนกปริยาย เพื่อประโยชน์แก่บุคคลทุกระดับชั้นตามภูมิปัญญาของเขาเท่าที่พอจะรู้ได้และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนตามสมควรฐานะ
แต่นักการศึกษาสมัยใหม่บางคนสำคัญตนว่าเป็นผู้เข้าใจพระพุทธศาสนาดี ถูกต้อง ตรง เลื่อมใสพระพุทธวจนะสูตรใดสูตรหนึ่งตอนใดตอนหนึ่ง แล้วปฏิเสธส่วนอื่นซึ่งมิใช่ส่วนนั้นทั้งหมดว่ามิใช่พุทธศาสนา
บางคนเลื่อมใสกาลามสูตรหรือเกสปุตตสูตรอันว่าด้วยเรื่องความเชื่อ ว่าไม่ควรรับเชื่อเพราะอย่างนั้นๆ ๑๐ ประการ รวมทั้งไม่ควรเชื่อในฐานะที่ผู้นั้นเป็นครูของเราด้วย ในที่สุดก็ไม่เชื่ออะไรเลย เขามิได้เอื้อเฟื้อต่อคำสอนอื่นๆ ของพระพุทธองค์ที่สอนให้มีศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ บุคคลที่ควรเชื่อ เขามิได้นึกว่ากาลามสูตรนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องเฉพาะคราวเท่านั้น แก่บุคคลกลุ่มนั้นเท่านั้น
บางคนไปติดจูฬมาลุงกโยวาทสูตร ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงแก้ปัญหาเรื่องโลก และเรื่องชีวิตวิญญาณหลังจากตายแล้วเป็นอย่างไร แล้วยืนยันมั่นคงโดยอ้างพระสูตรนี้อยู่สูตรเดียวว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงสนพระทัยเรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด แต่ที่ทรงแสดงไว้ในที่อื่นมากมายเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด เขาไม่สนใจรับฟัง ฝังใจอยู่แต่พระสูตรนี้เท่านั้น ยึดมั่นด้วยทิฏฐิว่า นี้เท่านั้นถูกต้อง อย่างอื่นเหลวไหลทั้งสิ้น ( อิทเมว สจฺจํ โมฆมญฺญํ) อันพระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า สัจจาภินิเวส จัดเป็นคันถะ เครื่องผูกมัดอย่างหนึ่งในบรรดาคันถะ ๔ ประการ เรียกว่า อิทังสัจจาภินิเวส คือความยึดมั่นว่านี้เท่านั้นจริงอย่างอื่นเหลวไหลทั้งสิ้น อันเป็นทัศนะที่แคบ มืดมน ทำให้ร้อนกายร้อนใจเหมือนคนขุดบ่อลึกแต่แคบ ยิ่งลึกยิ่งมืดและร้อนเมื่อลงไปอยู่ในนั้น
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 2:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บทความที่กล่าวถึงเรื่อง” อิทังสัจจาภินิเวส “ (ความยึดมั่นว่านี้เท่านั้นจริงอย่างอื่นเหลวไหลทั้งสิ้น) ของท่าน อ.วศิน ที่นำมาลงนี้ ชี้ให้เห็นที่มาที่ไป ของ เรื่อง ความเห็นที่ว่า “ชาติ คือ การเกิดขึ้นของตัวกู-ของกู “หรือ อหังการ-มมังการ หาใช่การเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ในกระทู้เก่าๆดูน่ะครับ…… ผู้ที่เชื่อแบบนี้ จะลงเอยด้วย

1.การกล่าวว่า การเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ ตามภพต่างๆนั้นไม่มีจริง และพระพุทธองค์ไม่เคยตรัสไว้ ที่มีบันทึกอยู่ในพระสูตรที่สำคัญต่างๆนั้นเป็นเพราะถูกพวกพราหมณ์สัสตทิฏฐิแอบปลอมปนมาในภายหลัง.

2.อาจจะมีบางท่านยอมรับ ว่าพระพุทธองค์ตรัสเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์นี้ไว้จริง……….. แต่”ชาติ”ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าสิ้นแล้วในอาสวักขยญาณ(วิชชาที่สามในวิชชาสามประการ) หรือ ปฏิจจสมุปบาท นั้น เป็นคนล่ะความหมายกับ”ชาติ”ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสระบุถึง ชื่อ โคตร ผิวพรรณ อาหาร ในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ(วิชชาที่หนึ่งในวิชชาสามประการ). ลองอ่านกระทู้เก่า เกี่ยวกับเรื่องชาติในพระสูตรต่างๆ

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6498&start=0&postdays=0&postorder=asc&highlight=

หรือจะกล่าวได้ว่า ท่านเหล่านี้เชื่ออย่างปักใจว่าพระพุทธองค์ตรัสคำว่า”ชาติ”ในลักษณะการใช้ภาษาซ้อนภาษาในการแสดงหลักธรรมที่สำคัญ (ซึ่งปกติในการบรรยายที่ดีนั้น จะหลีกเลี่ยงการกำกวมของการใช้ภาษาในลักษณะนี้ แม้นแต่การบรรยายในเรื่องทางโลกก็ตาม)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
พุทธพจน์
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ค.2006, 2:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดจะเพิ่มทิฏฐิ 62 เป็น 63 ก็ต้องบัญญัติขึ้นเองดังที่ท่านบัญญัติ
 
คนชอบวัดปากน้ำ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 05 ส.ค. 2006, 6:32 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สัมมาทิฏฐิ เรื่องโลกและกรรมตามธรรมชาติ ความเห็นแจ้งโดยชอบตามธรรมชาติ ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่สัสตทิฏฐิ เพราะพระพุทธเจ้าท่านยืนยันว่า ไม่มีอัตตาสัตว์บุคคลที่แท้จริงคงที่ในโลกนี้ โลกหน้าเลย มีแต่การปรุงแต่งของกรรมเท่านั้น แต่สัสตทิฏฐิ แม้เชื่อว่า กรรมและผลกรรมมีจริงก็ ยังเชื่อว่ามีอัตตาบุคคลชีวะ ที่เที่ยงแท้ถาวรพ้นกรรมในโลกนี้โลกหน้าด้วย นี่แหละพระพุทธเจ้าปฏิเสธ พวกสัสตทิฏฐิ พวกสัสตทิฏฐิ บอกย่อย่อคือพวกเหมานั่นเองแบบหนึ่งคือ พวกที่เชื่อว่ามีกรรมและมีอัตตาบุคคลชีวะที่เที่ยงแท้ถาวรในโลกด้วยด้วยอำนาจกรรมในโลกนั่นเอง....... แม้พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกรรม ก้เพื่อมุ่งให้คนเห็นตามธรรมชาติจริงโดยย่อก่อนว่า ไม่มีอัตตาเที่ยงถาวรในโลกนี้โลกหน้าแน่นอน แล้วค่อยตรวจสอบผ่านญาณด้วยตนเองอีกทีในอนาคต เมื่อถึงเวลาเป็นพระอริยเจ้าแล้วเอง////
อีกอย่างพวกสัสตทิฏฐิจะเห็นผิดเรื่องการให้ผลของกรรมและลำดับของภพภูมิ ด้วยในด้านรายละเอียด ซึ่งยากแก่การชี้แจงถ้าเขาไม่รับฟังเพราะติดในสัสตทิฏฐิ นั่นเองก็ยังมีเหตุผลลวง ยากแก้ใขได้ อุจเฉททิฏฐิ นี้ยิ่งแย่กว่านี้หลายเท่า ในเรื่องญาณทัศนะ
ความจริงแล้ว แม้สัมมาทิฏฐิ ระดับ โลกุตตร นั้น ก็ไม่บอกว่า การเวียนว่ายตายเกิดคือมิจฉาทิฏฐิ อย่างเดียว ดังนั้น เราอย่าบอกว่า การเวียนว่ายตายเกิดคือ สัสตทิฏฐิอย่างเดียว มันผิดทางไปด้วย เราต้องดูรายละเอียดให้มากขึ้น ว่า การเวียนว่ายตายเกิดนั้น มีแฝงทิฏฐิอะไรซ่อนเร้นอยู่ด้วย เราจึงจะบอกได้ว่า มันคือทิฏฐิอะไร ไม่ใช่ การใช้เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดแค่นั้นมาสรุป มันสรุปไม่ได้ เพราะมองเห็นทิฏฐิซ่อนเร้นไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้ามองออกว่าพวกสัสตทิฏฐิ มีความคิดเห็นอะไรซ่อนเร้นมาปนกับความจริงเรื่องการตายเกิดบ้าง เราคงต้องระวังให้ดีอย่าเทียบผิด เพียงเพราะพระพุทธเจ้าบอกคร่าวคร่าว
กาลมสุตรนั้น สอนให้คนอย่าพึงเชื่อ สมณะใดที่เป็นครูของเราที่ยังเป็นสมณะผู้ยังรุ้เห็นโดยชอบทั่วไม่ได้จริง แต่สอนให้ เชื่อพระพุทธเจ้าที่รุ้เห็นโดยชอบอย่างแท้จริงไว้สูงสุดแบบอย่างกลามชน ก่อนนี่คือบทสรุปของกาลมชนในการฟังพระพุทธเจ้าที่พระพุทธเจ้าตั้งใจอย่างนั้น ถ้าเราใช้กาลมสุตร เราต้องทำตามกาลมชนในตอนท้ายที่รับเชื่อพระพุทธเจ้าด้วย จึงจะสมบูรณ์ ตามพุทธประสงค์
สัมมาทิฏฐินั้น เหนือกว่า สัสตทิฏฐิมากในรายละเอียด อย่าเอามาเทียบกันเลยเพียงความคิดความฝัน
 
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 05 ส.ค. 2006, 9:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ยิ้ม ขอบคุณคห.เพิ่มเติมน่ะครับ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 05 ส.ค. 2006, 10:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

จาก http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ทิฏฐิ_๒


พระพรหมคุณาภรณ์ท่านกล่าวสรุปเกี่ยวกับเรื่อง มิจฉาทิฏฐิไว้อย่างน่าสนใจ



ความเห็นผิดมี ๒ คือ
๑. สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง
๒. อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ;

อีกหมวดหนึ่ง มี ๓ คือ
๑. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ
๒. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ
๓. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี คือถืออะไรเป็นหลักไม่ได้ เช่น มารดาบิดาไม่มีเป็นต้น;
ในภาษาไทยมักหมายถึง การดื้อดึงในความเห็น
(พจนานุกรมเขียน ทิฐิ);
(ข้อ ๔ ในสังโยชน์ ๑๐ ตามนัยพระอภิธรรม, ข้อ ๓ ในอนุสัย ๗)




สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่า อัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป
เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง;
ตรงข้ามกับ อุจเฉททิฏฐิ
(ข้อ ๑ ในทิฏฐิ ๒)


อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ เช่น เห็นว่าคนและสัตว์จุติจากอัตภาพนี้ แล้วขาดสูญ;
ตรงข้ามกับ สัสสตทิฏฐิ
(ข้อ ๒ ในทิฏฐิ ๒)







======================================================


จากหนังสือ พุทธธรรม



หน้า ๗๐/๒๔

------------ความหลงผิดอีกอย่างหนึ่งที่มักชักพาคนให้เข้าไปติด ก็คือ การแล่นจากสุดโต่งแห่งความคิดเห็นด้านหนึ่งไปยังสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง

กล่าวคือ คนพวกหนึ่งยึดติดถือมั่นในตัวตนว่าเป็นของจริงแท้คงที่ถาวร สัตว์บุคคล เป็นตัวตนอย่างนั้น ซึ่งมีจริง มิใช่สิ่งสมมติ สัตว์ บุคคล มีตัวจริงตัวแท้ที่ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป ไม่ว่าคนจะตาย ชีวิตจะสิ้นสุด ตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวตน ดวงชีวะ อาตมัน หรืออัตตา (soul) นี้ ก็จะคงอยู่อย่างเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สูญสลายไปด้วย บ้างก็ว่าอัตตาตัวนี้ไปเวียนว่ายตายเกิด บ้างก็ว่าอัตตาตัวนี้รออยู่เพื่อไปสู่นรกหรือสวรรค์นิรันดรสุดแต่คำตัดสินของเทพเจ้าสูงสุด ความเห็นของคนพวกนี้เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ หรือ สัสสตวาท แปลว่า ความเห็นว่าเที่ยง คือเห็นว่า สัตว์บุคคลตัวตนหรืออัตตาเที่ยงแท้ยั่งยืนตลอดไป

ส่วนคนอีกพวกหนึ่งก็เห็นว่ามีตัวตนเช่นนั้นอยู่ คือยึดถือสัตว์ บุคคล เป็นตัวแท้ตัวจริง แต่สัตว์ บุคคลนั้น ไม่เที่ยงแท้ถาวร สูญสลายไปได้ เมื่อคนตาย ชีวิตจบสิ้น สัตว์บุคคล ก็ขาดสูญ ตัวตนก็หมดไป ความเห็นของคนพวกนี้ เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ หรือ อุจเฉทวาท แปลว่า ความเห็นว่าขาดสูญ คือเห็นว่าสัตว์บุคคลตัวตนหรืออัตตาไม่เที่ยงแท้ถาวร ดำรงอยู่ชั่วคราวแล้วก็สูญสิ้นไป แม้แต่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจไม่ชัดเจนถ่องแท้ ก็อาจตกไปในทิฏฐิ ๒ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง

โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาหลักกรรมในแง่สังสารวัฏ (เวียนว่ายตายเกิด) ถ้าเข้าใจพลาดก็อาจกลายเป็นสัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าเที่ยง **

ผู้ที่ศึกษาหลักอนัตตา ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่าขาดสูญ


จุดพลาดที่เหมือนกันของทิฏฐิสุดโต่งทั้งสองอย่าง ก็คือ ความเห็นว่า หรือยึดถือว่า มีสัตว์ บุคคลที่เป็นตัวแท้ตัวจริง แต่พวกหนึ่งยึดถือว่าสัตว์ บุคคล ตัวตนนั้นคงตัวอยู่ยั่งยืนตลอดไป ส่วนอีกพวกหนึ่งเห็นไปว่า สัตว์ บุคคล ตัวตนที่มีอยู่นั้นมาถึงจุดหนึ่งตอนหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อกายแตกสลาย ชีวิตนี้สิ้นสุด สัตว์ บุคคล ตัวตน หรืออัตตา ก็ถูกตัดขาดสูญสิ้นไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอีกพวกหนึ่งที่เห็นเลยเถิดไปอีกทางหนึ่งว่า ความไม่มีตัวตนก็คือ ไม่มีอะไรเลย ความไม่มีสัตว์ บุคคล ก็คือไม่มีผู้รับผล เมื่อไม่มีใครรับผล การกระทำใดๆก็ไม่มีผล ทำก็ไม่เป็นอันทำ ไม่มีความรับผิดชอบต่อกรรม หรือพูดง่ายๆว่ากรรมไม่มีนั่นเอง
ความเห็นและความยึดถือแนวนี้ ถ้าแยกละเอียดออกไปก็มี ๓ ทิฏฐิ คือ
พวกหนึ่งเห็นว่าทำก็ไม่เป็นอันทำ หรือว่าการกระทำไม่มีผล เรียกชื่อว่า อกิริยทิฏฐิ หรือ อกิริยวาท
พวกหนึ่งเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างเลื่อนลอย สุดแต่ความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัย พูดง่ายๆ ว่าเห็นว่าไม่มีเหตุ เรียกชื่อว่า อเหตุกทิฏฐิ หรือ อเหตุวาท
และพวกหนึ่งเห็นว่าหรือถือว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักสาระได้ เรียกชื่อว่า นัตถิกทิฏฐิ หรือ นัตถิกวาท

ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นกระบวนธรรม เกิดจากส่วนประกอบต่างๆ ประมวลกันขึ้น และเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ย่อมไม่มีทั้งตัวตนที่จะเที่ยงแท้ยั่งยืน และทั้งตัวตนที่จะดับสิ้นขาดสูญ คือ แม้แต่ในขณะที่เป็นอยู่นี้ ก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอยู่แล้ว จะเอาตัวตนที่ไหนมายั่งยืน จะเอาตัวตนที่ไหนมาขาดสูญ เป็นอันปฏิเสธทั้งสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ ในเมื่อกระบวนธรรมดำเนินไปอยู่ โดยองค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน เป็นไปตามเหตุปัจจัย จะว่าไม่มีอะไรได้อย่างไร และจะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างเลื่อนลอยตามความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัยได้อย่างไร เป็นอันปฏิเสธทั้งนัตถิกทิฏฐิและอเหตุกทิฏฐิ , ในเมื่อกระบวนธรรมดำเนินไปตามเหตุปัจจัย แปรเปลี่ยนไปตามเหตุและผลที่เกิดขึ้นในกระบวนธรรมนั้น การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเหตุในกระบวนธรรมนั้น จึงย่อมจะต้องมีผล ไม่มีทางสูญเปล่า และเป็นการมีผลโดยไม่ต้องมีผู้รับผล คือผลเกิดขึ้นในกระบวนธรรมเอง ซึ่งเป็นการเกิดผลที่แน่นอนยิ่งกว่าการมีตัวตนเป็นผู้รับผลเสียอีก ในเมื่อความเป็นไปตามเหตุปัจจัยมีอยู่ เหตุและผลเกิดขึ้นในกระบวนธรรม กระบวนธรรมก็แปรเปลี่ยนไป จะว่าทำไม่เป็นอันทำหรือการกระทำไม่มีผลได้อย่างไร เป็นอันปฏิเสธ อกิริยทิฏฐิ หรือ อกิริยวาท


==============================================


จากหนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ หน้า ๑๓๔


-------------หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงความจริงของธรรมชาติให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ เป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่มีปัญหาในเรื่องที่ว่า สิ่งทั้งหลายมีหรือไม่มีจริง ยั่งยืนหรือขาดสูญ เป็นต้น แต่ผู้ไม่รู้ความหมายของหลักปฏิจจสมุปบาท มักเข้าใจไตรลักษณ์ผิดพลาด โดยเฉพาะหลักอนัตตานั้น มักได้ยินได้ฟังกันอย่างผิวเผิน แล้วตีความเอาว่า อนัตตาหมายถึงไม่มีอะไร กลายเป็นนัตถิกวาท อันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างร้ายแรงไปเสีย
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 10 ส.ค. 2006, 5:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มหาจัตตารีสกสูตร พระสุตตันตปิฎกเล่ม ๖


[๒๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมา ทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ
สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑
สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

[๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้วมีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่ นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

[๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค ฯ.....”


====================================


ขอเสนอความเห็นเปรียบเทียบ ระหว่าง



โลกุตร(อนาสวะ)สัมมาทิฏฐิ เปรียบเทียบกับ นัตถิกทิฏฐิ

โลกีย(สาสวะ)สัมมาทิฏฐิ เปรียบเทียบกับ สัสตทิฏฐิ




โลกุตร(อนาสวะ)สัมมาทิฏฐินั้น จากพระสูตรนั้นตรัสว่าเป็นสัมมาทิฏฐิของพระอริยะ...... ซึ่งไม่ใช่ของปุถุชนทั่วไป...... บุคคลนั้นจะต้องเจริญวิปัสนาจนเข้าสู่โลกุตรภูมิแล้วจึงจะจัดว่ามีโลกุตร(อนาสวะ)สัมมาทิฏฐิ


ส่วนโลกีย(สาสวะ)สัมมาทิฏฐินั้น ก็คือบุคคลนั้นยังไม่สามารถเจริญวิปัสนาจนก้าวเข้าสู่โลกุตรภูมิได้...... ตนเองนั้นมีโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นพื้นฐานแล้ว...... และทั้งๆที่ตนเองก็เชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่ามีโลกุตร(อนาสวะ)สัมมาทิฏฐิที่สูงกว่านั้น. ซึ่งก็หมายความว่าผู้ที่มีโลกีย(สาสวะ)สัมมาทิฏฐินั้น เห็นด้วยกับหลักคำสอนเรื่องอนัตตาน่ะครับ เพียงแต่ยังไม่ประจักษ์ชัดในหลักอนัตตาจนสามารถล่ะสังโยชน์เบื้องต่ำได้


=====================================


นัตถิกทิฏฐินั้น เชื่อว่า"อะไรๆ ก็ไม่มี" ซึ่งดูเผินๆ จะคล้ายกับหลักคำสอนอนัตตาในโลกุตรสัมมาทิฏฐิเหมือนกัน ......แต่ผู้ที่มีนัตถิกทิฏฐินั้น ไม่มีโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นพื้นฐานมาก่อนตั้งแต่ต้นแล้ว(ต่างกับโลกุตรสัมมาทิฏฐิที่มีโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาค)..... จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่นัตถิกทิฏฐิจะเป็นโลกุตรสัมมาทิฏฐิไปได้.แนวคิดนี้จึงปฏิเสธขาดในเรื่องกรรม และการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์



ส่วนสัสตทิฏฐินั้น ถึงแม้นจะเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดจริง แต่เพราะปักใจมั่นว่า มีอัตตาที่เที่ยงแท้ถาวรยืนโรงไปคอยเวียนว่ายตายเกิดอยู่...... ความเชื่อนี้จึงขัดขวางการเข้าสู่โลกุตรภูมิ เพราะไปขัดกับหลักอนัตตาเข้านั่นเอง
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 14 ส.ค. 2006, 6:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอเสนอการสรุปประมวล เรื่องความแตกต่างระหว่าง

1.สัสตทิฏฐิ กับ โลกีย(อาสวะ)สัมมาทิฏฐิ


2. นัตถิกทิฏฐิ กับ โลกุตร(อนาสวะ)สัมมาทิฏฐิ



สัสตทิฏฐินั้นแตกต่างจากโลกียสัมมาทิฏฐิตรงจุดสำคัญคือ
สัสตทิฏฐินั้นปฏิเสธขาดในหลักคำสอนเรื่องอนัตตา เพราะสัสตทิฏฐิเชื่อมั่นว่าต้องมีอัตตาที่เที่ยงแท้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นตัวคอยยืนโรงเวียนว่ายตายเกิด......ความเชื่อแบบสัสตทิฏฐิจึงขัดขวางการเห็นธรรมในหลักอนัตตาเข้าอย่างเต็มๆ .
แต่โลกียสัมมาทิฏฐินั้น ไม่ได้ปฏิเสธในหลักคำสอนเรื่องอนัตตา ผู้ที่มีโลกียสัมมาทิฏฐินั้นเชื่อพระพุทธโอวาทที่ว่ามีสัมมาทิฏฐิที่สูงกว่าที่ตนมี เพียงแต่ว่าบุคคลที่มีสัมมาทิฏฐิอยู่ในขั้นโลกียสัมมาทิฏฐินั้น ยังไม่สามารถเจริญวิปัสสนาเห็นชัดเจนในหลักอนัตตาจนเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่ำสุดได้เท่านั้น.....ขอให้สังเกตุจากพระพุทธวจนะที่ตรัสว่า โลกุตรสัมมาทิฏฐิเป็นสัมมาทิฏฐิ"ของพระอริยะ".....หรือจะกล่าวง่ายๆก็คือ พุทธสาวกทั้งหลายที่เชื่อในคำสอนของพระพุทธองค์เรื่องสัมมาทิฏฐิทั้งสองระดับ เพียงแต่ยังไม่เป็นบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่ำสุด ก็จัดว่าดำรงตนอยู่ในโลกียสัมมาทิฏฐิแล้วทั้งสิ้น


นัตถิกทิฏฐินั้นแตกต่างจากโลกุตรสัมมาทิฏฐิตรงจุดสำคัญคือนัตถิกทิฏฐิปฏิเสธขาดในหลักคำสอนเรื่องกฏแห่งกรรมที่ให้ผลข้ามภพชาติ และปฏิเสธขาดในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์.นัตถิกทิฏฐินั้น เชื่อว่า อะไรๆก็ไม่มี ซึ่งฟังดูเผินๆแล้วไม่พิจารณาให้ดีจะไปคล้ายกับหลักคำสอนเรื่องอนัตตาในระดับโลกุตรสัมมาทิฏฐิ....... แต่ความจริงแล้วนัตถิกทิฏฐิยังมีความแตกต่างกันอยู่มากจากหลักคำสอนเรื่องอนัตตาในโลกุตรสัมมาทิฏฐิ . และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ นัตถิกทิฏฐิปฏิเสธขาดในหลักคำสอนระดับโลกียสัมมาทิฏฐิ แต่โลกุตรสัมมาทิฏฐินั้นไม่ได้ปฏิเสธขาดในหลักคำสอนระดับโลกียสัมมาทิฏฐิ......จะเห็นได้ชัดเจน จากการที่พระพุทธองค์ทรงแสดงสัมมาทิฏฐิทั้งสองนี้ไว้คู่กันในพระสูตรเดียวกันคือมหาจัตตารีสกสูตร และสรรเสริญโลกียสัมมาทิฏฐิว่า เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ .......ในขณะที่พระพุทธองค์ไม่ทรงเคยตรัสแสดงสัสตทิฏฐิว่าเป็นโลกียสัมมาทิฏฐิเลย ไม่ว่าจะในพระสูตรใดๆ และไม่ทรงเคยตรัสสรรเสริญสัสตทิฏฐิเลย.โลกุตรสัมมาทิฏฐินั้น จึงเป็นการต่อยอดจากโลกียสัมมาทิฏฐิไปอีกขั้นหนึ่ง หรือจะกล่าวว่า "โลกุตรสัมมาทิฏฐินั้น มีโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาค"ก็คงไม่ผิดนัก. ต่างจากนัตถิกทิฏฐิที่ไม่มีโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาค(และปฏิเสธขาดในโลกียสัมมาทิฏฐิ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
คนชอบวัดปากน้ำ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 15 ส.ค. 2006, 1:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เข้าใจว่า คงยังติดอักษรพอควร สัสตทิฏฐิ นั้น เชื่อว่า อัตตา บุคคล ชีวะ ในโลกนี้และโลกหน้าเป็นอัตตา บุคคล ชีวะ นั่นแหละ ตรงนี้หมายถึงอัตตา บุคคล ชีวะที่มีขันธ์5ปน หรืออัตตาที่เกี่ยวเนื่องกับขันธ์5 นั่นเอง หรือสรุปง่ายง่ายว่า พระพุทธเจ้าบอกว่า สัสตทิฏฐิ คือ พวกเชื่อว่าขันธ์5หยาบละเอียด ทั้งปวงเป็นอัตตาแท้ ในโลกนั่นเอง นี่คือมิจฉาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิ ต้องเห็นขันธ์5หยาบและละเอียดเป็นอนัตตา เพราะกรรมทำให้แปรผัน นั่นเอง โปรดอย่าลืม ดูรายละเอียดอื่นอื่นด้วยเพราะ รายละเอียดอื่นอื่น จะเป็นตัวบอกว่าสัสตทิกฐิและอุจเฉททิฏฐิเห็นอย่างอื่นผิดอย่างไรด้วย จากธรรมชาติ ลำพัง การมองแต่อัตตาและอนัตตา อย่างเดียว อาจสรุปผิดได้ ต้องดุแง่อื่นอื่นด้วยให้ครบในธรรมชาติที่มีจริง พระพุทธเจ้าบอกสัมมาทิฏฐิหลายอย่าง แต่ก็ยังไม่หมดที่มีในธรรมชาติจริงนะครับ แต่ต้องไม่ขัดแย้งกันในรายละเอียดอื่นอื่นด้วย ดังนั้น ขอให้อย่าติดแต่คิดเลย เรื่องนี้ต้องทำสัมมาสมาธิและญาณคุ่ด้วยแน่นอนไม่ใช่คิดอย่างเดียว
 
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 19 ส.ค. 2006, 11:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มีประเด็น เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยน่ะครับ ยิ้ม



1.ผู้ที่ตกอยู่ในสัสตทิฏฐิ ก็จะไม่เข้าใจและมองโลกุตร(อนาสวะ)สัมมาทิฏฐิเป็นอุจเฉททิฏฐิ

และ

2.ผู้ที่ตกอยู่ในนัตถิกทิฏฐิ ก็จะไม่เข้าใจและมองโลกีย(สาสวะ)สัมมาทิฏฐิเป็นสัสตทิฏฐิ




คือในปัจจุบันนี้ ในแวดวงชาวพุทธ เราก็มีปัญหาเหมือนในครั้งพุทธกาลเหมือนกัน......แต่แตกต่างในรายละเอียดไปน่ะครับ ผมพอจะสรุปประเด็นได้ดังนี้


ลองดูตรงข้อแรก ที่ว่า
ผู้ที่ตกอยู่ในสัสตทิฏฐิ ก็จะไม่เข้าใจและมองโลกุตรสัมมาทิฏฐิเป็นอุจเฉททิฏฐิ. ที่เป็นดังนี้เพราะสัสตทิฏฐินั้นปฏิเสธขาดในหลักอนัตตาซึ่งเป็นความจริงในขั้นโลกุตรธรรม.เพราะตนเองเชื่อแบบฝังหัวว่า ต้องมีอัตตาที่เที่ยงแท้อะไรสักอย่างยืนโรงคอยเวียนว่ายตายเกิด..... สัสตทิฏฐิในยุคปัจจุบันจึงเข้าใจผิดว่าตนเองนั้นเป็นโลกียสัมมาทิฏฐิ และเข้าใจผิดว่าพระอริยเจ้าที่มีโลกุตรสัมมาทิฏฐินั้นเป็นอุจเฉททิฏฐิ!!!
ส่วนผู้ที่มีโลกียสัมมาทิฏฐินั้น ก็คือพุทธสาวกที่เชื่อพระพุทธเจ้าในเรื่องโลกียสัมมาทิฏฐิ และเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่ามีความจริงอยู่ในระดับสูงกว่าที่ตนเห็น เขาไม่ได้ปฏิเสธหลักอนัตตาเพียงแต่ตนยังไม่บรรลุอริยธรรมขั้นต่ำสุดเป็นพระอริยเจ้าหรือก็คือว่ายังไม่เห็นอนัตตาอย่างชัดเจนในระดับที่จะล่ะสังโยชน์เบื้องต่ำ3ข้อแรกได้(โลกุตรสัมมาทิฏฐิเป็นสัมมาทิฏฐิของพระอริยเจ้า)


ลองดูตรงข้อสอง ที่ว่า
ผู้ที่ตกอยู่ในนัตถิกทิฏฐิในยุคปัจจุบัน ก็จะไม่เข้าใจและมองโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นสัสตทิฏฐิ และเข้าใจผิดว่าตนเองที่เป็นนัตถิกทิฏฐิเป็นโลกุตรสัมมาทิฏฐิไปเสีย. ที่เป็นดังนี้เพราะว่า นัตถิกทิฏฐินั้นปฏิเสธขาดในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ และปฏิเสธขาดในการให้ผลของกรรมข้ามภพชาติ(เพราะตนเองไม่เชื่อว่ามีการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์).นัตถิกทิฏฐินั้น จะเชื่อว่า"อะไรๆก็ไม่มี"(นัตถิตา)ซึ่งฝังดูเผินๆจะคล้ายกับหลักอนัตตาในโลกุตรสัมมาทิฏฐิ..... แต่นัตถิกทิฏฐินั้นมีความแตกต่างจากโลกุตรสัมมาทิฏฐิตรงที่ว่า
1.โลกุตรสัมมาทิฏฐิไม่ได้ปฏิเสธขาดในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ และไม่ได้ปฏิเสธขาดในการให้ผลของกรรมข้ามภพชาติ. ในขณะที่นัตถิกทิฏฐินั้นปฏิเสธขาดในเรื่องเหล่านี้.....
2.โลกุตรสัมมาทิฏฐินั้นมีโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาค .ในขณะที่นัตถิกทิฏฐินั้นปฏิเสธขาดในโลกียสัมมาทิฏฐิ ซึงก็คือ นัตถิกทิฏฐินั้นเป็นความเห็นที่ตรงข้ามกับโลกียสัมมาทิฏฐินั่นเอง
3.อนัตตานั้น ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องของเหตุ-ปัจจัย และผล..... แต่เพราะด้วยสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ เมื่อมีเหตุ-ปัจจัย ผลจึงมี..... เมื่อเหตุ-ปัจจัยดับ ผลจึงดับ.....สิ่งทั้งหลายจึงเป็นอนัตตาคือ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง หากแต่เป็นเพราะกระแสของเหตุ-ปัจจัยและผลต่างหาก.
ในขณะที่นัตถิตานั้น ปฏิเสธในเรื่องเหตุ-ปัจจัยและผล .....ตกไปในลักษณะที่ว่า "อะไรๆ ก็ไม่มี" หรือเลื่อนลอยไปเรื่อยๆ..... จะปฏิเสธการให้ผลของกรรมทางร่างกายธาตุขันธ์(จะยอมรับเพียงทำดี"และ"ฉลาดจิตใจจะสบาย หรือทำชั่ว"หรือ"โง่จิตใจจะไม่สบาย)หรือการให้ผลของกรรมข้ามภพชาติเช่น กรณีของพระมหาโมคคัลลานะ


ทีนี้ มันมีประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือว่า ถ้าเราไปกล่าวว่าผู้ที่ปฏิเสธขาดในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ และปฏิเสธขาดในการให้ผลของกรรมข้ามภพชาติเป็นอุจเฉททิฏฐิตามคำนิยามนั้นคงจะไม่ถูกต้อง เพราะ
1.เขาก็จะบอกว่าเขาไม่เห็นว่ามีอัตตาอะไรอยู่ในปัจจุบันนี้เหมือนกันนี่นา......เขาเข้าใจว่าความเห็นของเขาเป็นอนัตตา แต่แท้จริงแล้วเขาไม่รู้ว่าเขากำลังตกอยู่ในนัตถิตา
2.อุจเฉททิฏฐินั้นมีตัวตนอยู่น่ะครับ แต่เป็นตัวตนที่ขาดสูญเมื่อชีวิตนี้สิ้นลง..... ในขณะที่นัตถิตานั้น เขาะเชื่อว่าอะไรๆ(รวมทั้งขณะที่ชีวิตยังดำรงอยู่ และชีวิตสิ้นไปแล้ว)ก็ไม่มี..... ซึ่งถ้าไม่พิจารณาให้รอบครอบดีแล้ว จะแยกนัตถิตาไม่ออกจากอนัตตา
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 28 ส.ค. 2006, 4:06 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มีประเด็น เพิ่มเติมน่ะครับ...... ในประเด็นที่ว่า


วิทยาศาสตร์จะขัดแย้งกับพุทธศาสตร์ไหม???


ถ้าเป็นผู้ที่มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ จิตใจเปิดกว้าง ไม่ด่วนสรุปอะไรง่ายๆ ผมไม่กังวลว่าจะไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาหรอกครับ.....

ที่น่ากังวล ก็ตรง พวกที่หลงเข้าใจผิดว่าตนเองมีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ และชอบด่าคนอื่น"โง่"เอาไว้ก่อน(ดูเหมือนเขาจะรู้สึกว่าตนเองเท่ห์มากที่กล่าวเช่นนั้น ยิ้มเห็นฟัน ) โดยที่ตนเองก็ไม่ได้พิสูจน์ให้ถ่องแท้..... พวกที่มีแนวคิดนี้ มีอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย แม้นแต่ผู้ที่เรียกตนเองว่า ชาวพุทธ ก็มีไม่น้อยในสังคม.

ที่ผมกล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผมจะเชื่อ100%(และบังคับให้ผู้อื่นเห็นด้วยกับผม)ทุกตัวอักษรที่บันทึกเอาไว้ในพระไตรปิฎก..... ผมไม่เชื่อทุกตัวอักษรที่บันทึกเอาไว้ในพระไตรปิฎกหรอกน่ะครับ..... เพราะพระพุทธองค์ท่านก็ทรงตรัสเตือนเอาไว้ในเกสปุตตสูตรว่า อย่าเพิ่งเชื่อ(ง่ายๆ)เพราะสิ่งนั้นๆมีกล่าวไว้ในพระปิฎก..... เหตุผลก็เพราะว่าสิ่งที่บันทึกสืบต่อกันมา2500กว่าปีนั้น ย่อมเป็นธรรมดาที่ต้องมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง ถ้าไม่คลาดเคลื่อนบ้างเลยย่อมเป็นไปไม่ได้เช่นกัน.......

แต่เท่าที่ผมศึกษาจากพระไตรปิฎก(เน้นจากพระสูตร)
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ และการให้ผลของกรรมข้ามภพชาติไว้จริงไหมนั้น....... ผมมั่นใจเต็มที่ครับว่าพระพุทธองค์ท่านทรงตรัสสอนไว้จริงๆ หาใช่มีพราหมณ์สัสตทิฏฐิที่ไหนมาแอบปลอมปนเอาไว้อย่างมากมาย แนบเนียนและสอดคล้องรับกันระหว่างพระสูตรต่อพระสูตรได้หมดจดถึงขนาดนี้หรอก.
อาจจะมี ในบางประโยค ของบางพระสูตร ของบางสำนวนแปล ที่อาจจะต้องตรวจสอบกันให้ดีๆ.....
แต่ส่วนใหญ่แล้ว น่าจะมากกว่า90%ในพระสูตรที่กล่าวเกี่ยวกับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ และการให้ผลของกรรมข้ามภพชาตินั้น กล่าวไปในทิศทางเดียวกันน่ะครับ

พระสูตรที่ผมกล่าวว่า ต้องตรวจสอบให้ดีนั้น นอกจากพระสูตรที่กล่าวถึงเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ และการให้ผลของกรรมข้ามภพชาติแล้ว...... ก็จะยกตัวอย่างพระสูตรอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น พระสูตรที่กล่าวถึงผู้มีฤิทธิ์ว่าสามารถใช้มือลูบคลำพระอาทิตย์และพระจันทร์ ซึ่งประเด็นเช่นนี้ผมอ่านเจอแล้ว ผมก็วางไปเลยเหมือนกัน..... หรือพระสูตรที่กล่าวถึงสุริยเทพอะไรนั้น ผมก็ไม่เชื่อเหมือนกัน

ผมกำลังจะบอกว่า ......
เราจะไปเอาความเชื่อของคนโบราณบางเรื่องที่เป็นเรื่องเชื่อต่อกันมา เช่นการตีเกาะเคาะกะลาไล่ราหูอมจันทร์ มาเป็นเหตุ......แล้วมาด่วนสรุปว่าเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ และการให้ผลของกรรมข้ามภพชาตินั้น ต้องเป็นเรื่องเหลวไหลแบบเดียวกันกับเรื่องนั้นไม่ได้เด็ดขาด......
ถ้าเป็นแบบนี้อันตรายเลยทีเดียว เพราะจะต้อง"ฉีก"(สำนวนโวหาร หมายถึงไม่ให้ความเชื่อถือ)พระไตรปิฎฏออกมากกว่า60-70%เลยทีเดียว!!!
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773

ตอบตอบเมื่อ: 28 ส.ค. 2006, 4:10 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

"สมาธิ" ทางลัดศึกษากลไกสมอง
http://larndham.net/index.php?showtopic=18882&st=0&hl=สมอง

การทำสมาธิช่วยเพิ่มขนาดสมองได้
http://larndham.net/index.php?showtopic=20204&st=0

"ธรรมะ"เหนือกว่าประสาทอัตโนมัติ ผลการวิจัยจากโครงการGENOME
http://larndham.net/index.php?showtopic=14538&st=0&hl=ระบบประสาท

ผลวิจัยการปฏิบัติธรรม ทำสมาธิต่อสมอง การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ต่อการทำสมาธิ
http://larndham.net/index.php?showtopic=14295&st=0#top

สี่กระทู้นี้ ยืนยันถึง การไปได้ในทิศทางเดียวกันระหว่างวิยาศาสตร์กับพุทธศาสตร์....

ยิ่งวิทยาศาสตร์พัฒนาเท่าไร ยิ่งหันมาสนใจและตกตะลึงกับพุทธศาสตร์มากเท่านั้น....

ศาสนาอื่นๆนั้น ยิ่งวิทยาศาสตร์พัฒนาเท่าไร ยิ่งขัดแย้งปะทะกันมากขึ้นเท่านั้น.....(เช่น กรณีของกาลิเลโอ ดาวินซี)

เมื่อสัก30ปีก่อน ในหมู่ผู้ศึกษาสายวิทย์ในเมืองไทย ผมคาดว่าน่าจะมีไม่ถึง20%ที่ยอมรับว่าพุทธศาสตร์ไปได้กับวิทยาศาสตร์.ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นเรื่องเหลวไหลไปในลักษณะที่ว่าพุทธศาสตร์เป็นความเชื่อของคนโบราณบางเรื่องที่เชื่อต่อกันมา เช่นเดียวกันกับ เรื่องการตีเกาะเคาะกะลาไล่ราหูอมจันทร์ ......

แต่ปัจจุบันนี้ ไม่ใช่!!!....
ผมคาดว่า ไม่ต่ำกว่า40%เริ่มยอมรับถึงเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ และการให้ผลของกรรมข้ามภพชาติ..... และน่าจะไม่ต่ำกว่า70%ที่ยอมรับอย่างสนิทใจว่าการเจริญสมาธิวิปัสสนานั้นช่วยให้ใจพ้นทุกข์ได้จริง(บางท่านยังไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ และการให้ผลของกรรมข้ามภพชาติ แต่ก็ยอมรับอย่างสนิทใจในเรื่องที่ใจว่าการเจริญสมาธิวิปัสสนานั้นช่วยให้ใจพ้นทุกข์ได้จริง)

สายลมกำลังเปลี่ยนทิศ......

ผมคิดเห็นเช่นนี้ครับ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ชยชัย
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 31 ส.ค. 2006, 8:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเป็นสรณะ พร้อมทั้งพระธรรมและพระอริยสงฆ์
เรื่องเกี่ยวกับการตั้งความเห็นของบุคคลในเรื่องต่างๆ นั้นเป็นนานาจิตตัง ไม่ว่าจะเป็นสัมมาทิฐิ หรือมิจฉาทิฐิก็ตาม แต่อยากให้ทุกท่านได้ใช้การพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบหรือโยนิโสมนสิการก่อนที่จะเชื่อในสิ่งใดก็ตาม ใช้หลักกาลามสูตร คือเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ 10 ประการ
ผมสังเกตุดูจากหลายๆ ความคิดเห็นต่างก็มีหลักฐานการอ้างอิงจากพระสูตรนั้น พระสูตรนี้กันทุกคน ก็สงสัยว่าเราพยายามที่จะเอาอดีตหรืออนาคตมาคุยกันอยู่หรือเปล่า อดีตก็คือการนำเอาพระสูตรมาอ้างอิง อนาคตคือการกล่าวถึงการเวียนว่ายตามเกิดในวัฏฏะสงสารที่เราก็ไม่รู้ได้นอกจากพระอริยบุคคลเท่านั้น ก็ขอให้เป็นการตอบ-ถาม กันพอประมาณนะครับ อย่าถึงกับต้องนำไปคิดให้เป็นภาระของสมองเลย ขอให้คิดถึงแต่ปัจจุบันเท่านั้นเป็นพอ ไม่ว่าจะเป็นพุทโธ , สัมมาอรหัง หรือยุบหนอพองหนอ ก็ได้แล้วแต่จริตของแต่ละคน แต่ละท่าน
ขออนุโมทนาสาธุกับทุกๆ ท่านครับ สาธุ สาธุ สาธุ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง