PhramahaSurasak Suramedhi
ผู้เยี่ยมชม
|
ตอบเมื่อ:
28 ส.ค. 2006, 5:09 am |
  |
เตรียมตัว...หรือยัง? ก่อนสอบ Admission
……………………..
โดย พระมหาสุรศักดิ์ สุรเมธี (ชะมารัมย์)
นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
3 rd Year Student of Dhammakaya Open University, California, USA
………………………………………..
ช่วงเวลาก่อนการสอบในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการสอบกลางภาค สอบปลายภาค หรือแม้แต่การสอบวัดผลความรู้ความสามารถอื่นๆ ผมเชื่อเลยว่าเพื่อนนักเรียนทุกคน ย่อมตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือกันอย่างใจจดใจจ่อ หรือไม่ก็พากันนั่งทบทวนบทเรียน บางคนทบทวนคนเดียวบ้าง บางคนก็ทบทวนกันเป็นกลุ่มบ้าง ทั้งนี้ เพื่อหวังว่าตนเองจะสอบได้คะแนนดีๆ เพื่อให้มีโอกาสในการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา (ระดับปริญญา) ตามความปรารถนากัน
การสอบ Admission ก็เช่นเดียวกัน จะสอบให้ผ่านนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากกว่านั้นคือว่า เราเตรียมตัวพร้อมแล้วหรือยัง เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า....
………….เรามีความถนัดด้านใดมากที่สุด?
...........เราอยากเรียนอะไรมากที่สุด?
………….เราอยากเรียนคณะไหนมากที่สุด?
...........เราอยากเรียนที่มหาวิทยาลัยไหนมากที่สุด?
...........เราอยากเป็นอะไรมากที่สุด หลังจากที่เรียนจบแล้ว?
ฯลฯ
เมื่อเราตั้งคำถามแล้วก็อยากให้ลองตอบดูว่าตัวเราน่าจะไปทางไหนได้ สาขาอะไรถึงจะเหมาะสมกับตัวเรา หรือมีความเป็นตัวเรามากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เรามีความถนัดด้านการแพทย์ ก็แสดงว่าสาขาทางการแพทย์น่าจะเหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด เป็นต้น
ในทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านได้เสนอหลักการเรียนให้เก่ง ไปให้ถึงดวงดาวหรือจุดหมายปลายทางนั้น และประสบความสำเร็จทุกประการหากปฏิบัติตาม หลักการนี้ เรียกว่า หลักอิทธิบาท 4 ประกอบด้วย
1. ฉันทะ (ความพอใจ) ความพอใจเป็นบันไดก้าวแรกที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จ ในที่นี้ก็คือการทำความพอใจหรือรักในวิชาที่ชื่นชอบ เช่น เรารักวิชาใด เราก็จะมีฉันทะเกิดขึ้นกับวิชานั้นมากที่สุด เราก็จะทำคะแนนในรายวิชานั้นได้มากที่สุด ส่วนวิชาที่เหลือก็จะได้คะแนนลดหลั่งตามกันมา ตามความชอบ
2. วิริยะ (ความเพียร) ก้าวที่สองของกุญแจไขความสำเร็จคือ ความเพียร พูดสั้นๆก็คือขยันนั่นเอง เมื่อใดก็ตามที่เรามีความชอบ ความขยันก็จะตามมา กล่าวคือเมื่อเราชอบวิชาใด เราก็จะมีความขยันอ่าน ขยันทบทวนในรายวิชานั้นเป็นพิเศษ และถ้าหากว่าเราใช้ความเพียรในการอ่านทบทวนวิชาอื่นด้วยละก็ มันก็จะทำให้เรารักวิชานั้นด้วยก็ได้ หรือไม่ก็รักพอๆกันกับวิชาที่ชอบมากที่สุด
3. จิตตะ (ความเอาใจจดจ่อ) ก้าวที่สามนี้ เป็นก้าวที่สำคัญ ที่ว่าสำคัญก็เพราะ ความเอาใจจดจ่อเป็นสิ่งที่จะคอยควบคุมเราเวลาเราอ่านหรือทบทวนตำราเรียน หากว่าเรามีแต่ ฉันทะ และ วิริยะ ก็ไม่สามารถทำให้เราเข้าใจในเนื้อหาได้อย่างละเอียด เพราะบางทีในขณะที่เราอ่านนั้น ใจเราอาจล่องลอยไปอยู่ตามที่ต่างๆ สุดแล้วแต่ใจจะไขว่คว้า ฉะนั้น เราจึงตั้งอาศัยจิตตะ (ความเอาใจจดจ่อ) มากำกับด้วยเสมอ จะสามารถช่วยทำให้เราเข้าใจเนื้อหาที่อ่านหรือทบทวนได้
4. วิมังสา (การตรวจความเข้าใจ) ก้าวนี้เป็นก้าวสุดท้ายและเป็นก้าวที่สำคัญมากๆ เพราะว่าเป็นหลักการสุดท้ายเมื่อเราอ่านหรือทบทวนเนื้อหาจบก็ต้องมานั่งคิดตรวจสอบความเข้าใจของเราว่าเรามีความเข้าใจมากน้อยขนาดไหน ต้องปรับหรือเสริมส่วนใดเข้าไปบ้างจึงจะสมบูรณ์มากขึ้น หรือว่า หลักใดบ้างที่เราควรจำ ก็ควรท่องจำ หลักใดที่ควรทำความเข้าใจก็ควรทำความเข้าใจ พยายามตรวจสอบความเข้าใจของเราหลายรอบ ยิ่งมากยิ่งดี เพราการตรวจสอบความเข้าใจหลายๆรอบจะทำให้ลดความผิดพลาดลงได้ คนที่ฉลาดนั้น เขาจะพยายามตรวจสอบความเข้าใจในเนื้อหาที่ตนได้อ่านทบทวนนั้นหลายๆรอบ
หลักการทั้ง 4 ข้อนี้ ผมอยากจะฝากไว้ให้กับเพื่อนๆนักเรียนทุกคนให้ลองนำไปประยุกต์ใช้ดูกับการเรียน ในช่วงก่อนการสอบ Admission เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนการผจญภัยที่แสนจะสาหัสในอนาคตอันใกล้นี้ และหลักการทั้ง 4 ข้อนี้ยังเป็นเครื่องวัดความสามารถในด้านการเรียนของเราและยิ่งกว่านั้น ยังช่วยให้เราค้นหาตัวเองเจอ และสามารถช่วยเราตัดสินใจว่าเราน่าจะเรียนสาขาวิชาใดจึงจะเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ลดความเสี่ยงภัยในความลังเลใจในการตัดสินใจเลือกสอบเข้าเรียนในสาขาวิชาที่ตนถนัดได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว........เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ และก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้ชนะในที่สุด............. |
|
|
|