Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เรื่อง ชำเลืองมองลักษณะพระพุทธรูปไทยสมัยต่างๆ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
PhramahaSurasak Suramedhi
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2006, 3:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บทความพิเศษ
“เรื่อง ชำเลืองมองลักษณะพระพุทธรูปไทยสมัยต่างๆ”


โดย พระมหาสุรศักดิ์ สุรเมธี (ชะมารัมย์)
นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
3rd Year Student of Dhammakaya Open University, California, USA
...................................

เกริ่นนำ

เป็นที่ทราบกันดีว่าพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณสองพันปีมาแล้ว ซึ่งในสมัยนั้นดินแดนแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า สุวรรณภูมิ ซึ่งหมายถึงแผ่นดินทอง หรือ ดินแดนแห่งทอง อันมีพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ในปัจจุบันเป็นศูนย์กลาง พระธรรมทูตที่เป็นหัวคณะ 2 รูป คือ พระอุตตรเถระ กับพระโสณเถระ ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาพระธรรมทูตทั้ง 9 สายที่ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามดินแดนต่างๆ ภายหลังแต่การทำสังคายนาครั้งที่ 3 เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อท่านนำพระพุทธศาสนาเข้ามายังดินแดนแห่งนี้แล้ว จึงเป็นเหตุทำให้ศิลปวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทอย่างมากในดินแดนดังกล่าวนี้ ที่นอกเหนือจากหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการเผยแผ่ของบรรดาพระธรรมทูตอยู่แล้ว

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตนั้น ไม่ว่าท่านจะเดินทางไปเผยแผ่พระศาสนายังสถานที่ใดๆก็ตาม ท่านมักจะหลีกเหลี่ยงการประหารประหัต หรือที่ ฝรั่งเรียกว่า Persecution ดังมีข้อความที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแก่สาวก เมื่อตอนที่ทรงส่งไปประกาศศาสนาว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน ท่านทั้งหลายจงจาริกไปแสดงธรรมอันไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ แก่มวลชนตามสถานที่ต่างๆ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่พวกเขาเหล่านั้นเถิด สัตว์ผู้มีกิเลสน้อยเบาบางยังมีอยู่ แต่เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม จึงเสื่อมจากมรรคผลที่พึงถึง ท่านทั้งหลายจลไปเถิด แต่อย่าไปโดยเส้นทางเดียวกัน ส่วนเราจะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม”1
ghgh


1 คณาจารย์แห่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียง.พุทธประวัติ ฉบับมาตรฐาน.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง,2535.
จากพระดำรัสดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยืนยันในเรื่องดังกล่าวข้างต้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังพบว่าเมื่อพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระศาสนา บรรดาพระธรรมทูตเหล่านั้น ทำการเผยแผ่โดยการชี้แจงแสดงหลักการทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องดีงาม สิ่งที่ดีท่านก็สอนให้ประพฤติปฏิบัติตาม สิ่งที่ไม่ดีท่านก็สอนให้ละ โดยให้กระทบกระทั่งกับความเชื่อเดิมของคนน้อยที่สุด ส่วนคนที่ท่านสอนจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา ท่านจะไม่ใช้วิธีการประหารประหัต หรือ Persecution ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว คนไหนที่มีความศรัทธายอมประพฤติปฏิบัติตาม ท่านก็จะสอนบอกกล่าวแนะนำต่อไป เพื่อประโยชน์และความสุขของเขาเหล่านั้น

ฉะนั้น จึงทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่ยอมรับในหมู่ของคนไทยในสมัยนั้น จนในที่สุดพุทธศาสนาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตของคนไทย ในหลายๆ ด้าน เช่น

ด้านหลักธรรมคำสอน

คนไทยก็ได้นำเอาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้เป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิต เช่น หลักอิทธิบาท 4 ศีล 5 อริยสัจ 4 เป็นต้น

ด้านศิลปกรรม

เช่น งานจิตรกรรม มีการนำเอาเรื่องราวทางพระพุทธศาสนามาวาดตามฝาผนังพระอุโบสถบ้าง พระวิหารบ้าง ศาลาการเปรียญบ้าง เป็นต้น

ด้านภาษา

ได้มีการนำเอาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในทางพระพุทธศาสนานำมาใช้ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก เกินครึ่งของภาษาไทยเช่น อัคคีภัย วาตภัย อาราม วิทยาศาสตร์ มนุษย์ ปรัชญา สังคมศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น


นอกจากนั้นแล้วพระพุทธศาสนายังเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทยอีกมากมายหลายด้าน ซึ่งที่ได้กล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในที่นี้ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดตรงส่วนนี้มากนัก แต่ก็จะกล่าวถึงเรื่องศิลปกรรม เพียงส่วนเดียว โดยเฉพาะศิลปะการสร้างพระพุทธรูปที่พบในประเทศไทยตามยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

ความหมายของศิลปะ

ก่อนที่จะได้กล่าวถึงรายละเอียดของลักษณะการสร้างพระพุทธรูปนั้น จะขอกล่าวถึงความหมายของศิลปะ พอสังเขปเป็นเบื้องต้นก่อน เพื่อจะได้ทราบความหมายของศิลปะได้อย่างถูกต้อง

ศิลปะ หมายถึง ฝีมือ ฝีมือทางการช่าง การทำให้วิจิตรพิสดาร การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่างๆ อย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น2

ท่านได้แบ่งศิลปะออกเป็น 2 แขนงใหญ่ๆ ดังนี้คือ

1. วิจิตรศิลป์ หรือศิลปะบริสุทธิ์ เป็นศิลปะที่เน้นในเรื่องความงาม ความล้ำค่าของผลงานมากกว่าจะเน้นประโยชน์ใช้สอย ท่านได้แบ่งวิจิตรศิลป์ หรือศิลปะบริสุทธิ์ ออกเป็น 5 แขนงอีก หนังสือบางเล่มแบ่งเป็น 6 แขนง เนื่องจากเอาเรื่องของคีตกรรมและนาฏศิลป์แยกกันเป็นคนละข้อ ดังนี้คือ

1.1. จิตรกรรม ได้แก่ ภาพวาดทุกชนิด เช่น ภาพพุทธประวัติ ภาพนิทานชาดก เป็นต้น

1.2. ประติมากรรม ได้แก่ งานปั้นรวมถึงงานแกะสลักด้วย เช่น พระพุทธรูป งานแกะสลักบนไม้ เป็นต้น

1.3. สถาปัตยกรรม ได้แก่ งานก่อสร้าง เช่น พระวิหาร พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ โบราณสถาน เป็นต้น

1.4. วรรณกรรม ได้แก่ งานเขียนทุกชนิด เช่น หนังสือพุทธประวัติ หนังสือเรียน เป็นต้น

1.5. คีตกรรมและนาฏศิลป์ ได้แก่ การละเล่นดนตรี และการฟ้อนรำ เช่น การเล่นดนตรีไทย การฟ้อนรำไทย เป็นต้น
2 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2540.
2. ศิลปะประยุกต์ เป็นศิลปะที่เกิดจากการนำเอาทฤษฎีและหลักทางศิลปะไปใช้ในทางปฏิบัติ เพื่อพัฒนาศิลปะให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น การออกแบบเสื้อผ้า การออกแบบอาคารบ้านเรือน เป็นต้น

ที่มาของการสร้างเครื่องเคารพในพระพุทธศาสนา

ก่อนที่จะมีการสร้างเครื่องเคารพกันอย่างแพร่หลายนั้น ย้อนไปในสมัยหลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เพื่อเป็นเครื่องรำลึกนึกถึงและสักการบูชาพระองค์ท่านนั้น ตามพุทธประวัติท่านได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ ซึ่งก็จะขอนำมากล่าวในที่นี้ ซึ่งท่านเรียกว่า สัมมาสัมพุทธเจดีย์ หมายถึง เจดีย์เป็นเครื่องรำลึกนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มี 4 อย่างคือ

1. ธาตุเจดีย์ ได้แก่ พระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามพุทธประวัติได้กล่าวว่า หลังจากการถวายพระเพลิงพระสรีระขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้มีกษัตริย์เดินทางมาจากเมืองต่างๆเพื่อมาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ในพระนครของตน จึงได้มีการสร้างเป็นสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อสักการะตามพระนครต่างๆ 8 แห่งคือ

- เมืองราชคฤห์
- เมืองไพศาลี
-เมืองกบิลพัสดุ์
-เมืองรามคาม
-เมืองปาวา
-เมืองกุสินารา
-เมืองอัลลากัปปะ
-เมืองเวฎฐทีปกะ

2. บริโภคเจดีย์ ได้แก่พระสถูปที่บรรจุเครื่องบริขารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น บาตร จีวร สังฆาฏิ เป็นต้น รวมถึงสถานที่ๆทรงเคยประทับอยู่ด้วย เช่น พระวิหาร กุฏิ เป็นต้น
3. ธรรมเจดีย์ ได้แก่พระสถูปที่บรรจุวัตถุที่จารึกหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น หอไตร ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น

4. อุทเทสิกเจดีย์ ได้แก่ องค์พระพุทธรูป เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปอย่างแพร่หลายในสมัยต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ดังจะได้กล่าวต่อไป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูป

การสร้างปูชนียสถานตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นนั้น แสดงว่ามีมาช้านานแล้วภายหลังแต่การปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธนิยมสร้างปูชนียวัตถุขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้รำลึกนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเอาพระองค์มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เจริญรอยตามพระองค์

การสร้างพระพุทธรูปเริ่มมีครั้งแรกราวตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 3 คือประมาณ พ.ศ. 370 ที่แคว้นคันธารราฐซึ่งเป็นดินแดนทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ ซึ่งเป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีก แต่ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก โดยเฉพาะพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้ทรงริเริ่มการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อแสดงความศรัทธาด้วยอุดมคติทางจิตวิญญาณที่แท้จริง การสร้างพระพุทธรูปในสมัยนี้ ส่วนใหญ่จะมีพระพักตร์เป็นแบบคนกรีกอันเนื่องมาจากคนกรีกส่วนใหญ่นิยมสร้างรูปเคารพเป็นเทพเจ้าต่างๆจนกระทั่งได้มีการดัดแปลงมาสร้างเป็นพระพุทธรูปในที่สุด

ลักษณะของพระพุทธรูปในสมัยนี้เรียกว่า พุทธรูปแบบคันธารราฐ ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญที่ปรากฏพอประมวลได้คือ พระพักตร์มีลักษณะคล้ายคลึงกับเทวรูปของคนกรีก พระเกศาเป็นเส้นยาวคดเคี้ยว กระหมวดมุ่นเป็นพระเมาฬีเป็นวนอย่างทักษิณาวัตร มีรัศมีเป็นรูปประภามณฑลเป็นวงกลมอยู่เบื้องหลังพระเศียร มีพระอุณณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว



พระพุทธรูปสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 – 16)

สมัยอาณาจักรทวารวดี อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 อาณาจักรทวารวดี เป็นอาณาจักรที่อยู่แถบภาคกลางของประเทศไทย สันนิษฐานว่าอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงต้นอาณาจักรนั้นการสร้างพระพุทธรูปส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียมาก เนื่องจากในช่วงนี้มีการรับเอาพระพุทธศาสนามาจากอินเดียโดยตรง จึงทำให้รับเอาศิลปะอินเดียมาด้วย ในช่วงปลายอาณาจักรอิทธิพลของขอมได้แผ่กระจายไปทั่ว และได้แผ่อิทธิพลเข้าไปในอาณาจักรทวารวดีด้วย จนในที่สุดทำให้ศิลปะในสมัยทวารวดีในช่วงนี้ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะขอม ก่อนที่ในเวลาต่อมาอาณาจักรทวารวดีก็ได้ถูกผนวกมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม

การสร้างพระพุทธรูปในสมัยนี้ส่วนใหญ่นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืนมากกว่าพระอิริยาบถนั่ง เป็นพระพุทธรูปที่แกะด้วยศิลา หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ก็มีแต่มักมีขนาดเล็กพระพุทธรูปในสมัยนี้มีลักษณะที่สำคัญที่ปรากฏพอประมวลได้คือ พระพักตร์แบนและกว้าง พระเกตุมาลาเป็นต่อมกลม รูปร่างสะโอดสะอง มีพระขมวดพระเกศาใหญ่ พระอังสาใหญ่ ปั้นพระองค์เล็ก พระเนตรโปน พระขนงโค้งติดกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์หนา จีวรบางแนบติดองค์พระ

พระพุทธรูปสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13 – 18)

สมัยอาณาจักรศรีวิชัย อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 18 อาณาศรีวิชัยเป็นอาณาจักรทางภาคใต้ของประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่แถบอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน แต่ก่อนนั้นคนในดินแดนแถบนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพราหมณ์ทำให้อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ในช่วงนี้เจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาพระพุทธศาสนานิกายมหายานได้แผ่อิทธิพลเข้ามา จึงทำให้หมดยุคความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ไปในที่สุด พระพุทธศาสนานิกายมหายานก็ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ต่อมาได้มีการสร้างศิลปกรรม มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะชวา ซึ่งอยู่แถบภาคกลางของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน กับศิลปะอินเดียสมัยต่างๆ อาทิ ศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ สมัยหลังคุปตะ สมัยปาละ เป็นต้น จึงทำให้เกิดความงามในลักษณะของความผสมกลมกลืนกัน

ต่อมาในช่วงปลายอาณาจักร ราวพุธศตวรรษที่ 18 พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ก็ได้แพร่เข้ามาภายในอาณาจักร จนในที่สุดศิลปะซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นของพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความเชื่อในเรื่องพระโพธิสัตว์ ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นศิลปะตามแบบพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทตามแบบลังกาวงศ์ จากนั้นศิลปะลังกาก็ได้แพร่เข้ามา แต่ถ้าว่าก็ไม่มีผลอะไรมากนัก เนื่องจากว่าอยู่ในช่วงปลายอาณาจักร

การสร้างพระพุทธรูปในสมัยนี้มีลักษณะที่ไม่แน่นอนไม่สามารถระบุลักษณะเด่นที่ปรากฏบนพระพุทธรูปได้โดยทั่วไปเหมือนในสมัยอื่นๆได้ เนื่องจากว่ามีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะอินเดียสมัยต่างๆกับศิลปะชวา รูปแบบที่ออกมาจึงมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วในสมัยนี้นิยมสร้างพระพุทธรูปตามคติความเชื่อของพระพุทธศาสนานิกายมหายานนั่นคือ พระโพธิสัตว์ มีการสร้างพระโพธิสัตว์ปรากฏอยู่ทั่วไปในสมัยนี้

พระพุทธรูปสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 17 – 19)

สมัยอาณาจักรลพบุรี อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 อาณาจักรลพบุรีเป็นอาณาจักรของขอม อยู่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน หลังจากที่อาณาจักรทวารวดีเสื่อมสลายลงแล้ว อาณาจักรขอมก็ได้ผิอิทธิพลเข้ามาแทนที่ และได้อิทธิพลทางด้านศิลปกรรมเข้ามาครอบงำศิลปะทวารวดีในภาคกลางของไทย จนทำให้บริเวณดั่งกล่าวรับเอาศิลปะของขอมเข้ามาประยุกต์กับท้องถิ่นของตน

ในด้านศาสนานั้น มีความเชื่อทั้งพระพุทธศาสนานิกายมหายานและศาสนาพราหมณ์ดังเห็นได้จากการสร้างโบราณสถานที่มีการสร้างตามคติความเชื่อของทั้งพระพุทธศาสนานิกายมหายานและศาสนาพราหมณ์ เช่น ปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทหินเขาพระวิหาร อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น ได้มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะของพระพุทธศาสนานิกายมหายานกับศิลปะของศาสนาพราหมณ์ดังกล่าว จนกลายมาเป็นศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของขอมในเวลาต่อมา

การสร้างพระพุทธรูปในสมัยนี้ ส่วนใหญ่มักนิยมสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกสลักจากหินทรายพระพุทธรูปที่เป็นแบบหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ก็มีแต่มีน้อย พระพุทธรูปในสมัยนี้มีลักษณะที่สำคัญที่ปรากฏพอประมวลได้คือ พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยมและค่อนข้างถมึงทึง พระโอษฐ์แบะและหนา พระหนุป้าน พระขนงเกือบเป็นเส้นตรง มีไร้พระศกเป็นขอบแบนเล็กๆอยู่เหนือพระนลาฏ เครื่องอาภรณ์ที่ทรงมักประดิษฐ์ตามแบบศิลปะขอม มักมีพระอุษณีย์ทำเป็นรูปกลีบบัวซ้อน ครองจีวรห่มเฉวียงบ่า พระเนตรโปน ในส่วนพระพุทธรูปยืนได้รับอิทธิพลมาจากสมัยทวารวดี เนื่องจากในสมัยทวารวดีนิยมสร้างพระพุทธรูปยืน มีพระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้น นิยมทั้งการแกะสลักและหล่อแบบสำริด

พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนหรือสมัยล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 16 – 23)

สมัยอาณาจักรเชียงแสน อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-23 อาณาจักรเชียงแสนเริ่มต้นในพุทธศตวรรษที่16เป็นอาณาจักรทางภาคเหนือของประเทศไทยโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน ก่อนที่ต่อมาจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาใน พ.ศ. 1839 โดยพระเจ้ามังรายหรือพระเจ้าเม็งราย กษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรล้านนาในสมัยนั้น จนทำให้ในปัจจุบันเป็นที่สับสนว่าจะเรียกศิลปะเชียงแสนหรือล้านนาดี ตำราหลายเล่มได้อธิบายว่า ศิลปะเชียงแสนก็คือ ศิลปะล้านนานั่นเอง แต่ในปัจจุบันคนเข้าใจว่า ศิลปะล้านนาก็แยกต่างหาก ศิลปะเชียงแสนก็แยกอีกต่างหาก ขอทำความเข้าใจตรงจุดนี้ว่า ศิลปะล้านนาก็มาจากศิลปะเชียงแสน เนื่องจากว่า ก่อนหน้าที่อาณาจักรเชียงแสนจะถูกผนวกเข้ามาเป็นของอาณาจักรล้านนาศิลปะดังกล่าวเกิดในบริเวณอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน จึงมีชื่อเรียกว่าศิลปะเชียงแสน แต่ภายหลังจากถูกผนวกมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาแล้ว ท่านจึงเรียกว่า ศิลปะล้านนาแทน แต่จะเรียกว่าศิลปะเชียงแสน ก็ไม่ถือว่าผิด เราสามารถใช้แทนกันได้

ศิลปะเชียงแสนหรือที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่าศิลปะล้านนานั้น ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของศิลปะไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากศิลปะในสมัยนี้ มีอิทธิพลมาถึงศิลปะในสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ตามลำดับอีกด้วย

การสร้างพระพุทธรูปสมัยนี้ท่านได้แบ่งออกเป็น2 รุ่นมีลักษณะที่สำคัญที่ปรากฏพอประมวลได้คือ คือ

1. พระพุทธรูปรุ่นแรก เป็นศิลปะเชียงแสนแท้ มีลักษณะที่สำคัญคือ พระพักตร์มีลักษณะกลมสั้น และอมยิ้ม พระเกตุมาลา เป็นรูปดอกบัวตูม ขมวดพระเกสาใหญ่ ไม่มีไรพระศก พระขนงโก่ง พระหนุเป็นปม พระองค์อวบ พระอุระนูน พระโอษฐ์เล็ก พระนาสิกงุ้ม ชายจีวรอยู่เหนือพระถัน ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ พระพุทธรูปรุ่นแรกนี้ส่วนใหญ่ เป็นพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร


2. พระพุทธรูปรุ่นหลัง เป็นศิลปะเชียงแสนผสมกับศิลปะสุโขทัย มีลักษณะที่สำคัญที่ปรากฏดังนี้คือ พระพักตร์กลมหรือรูปไข่มีเกตุมาลาเป็นรูปดอกบัวตูมสูงขึ้นหรือเป็นเปลวรัศมี มีไรพระศก ชายจีวรยาวลงมาถึงพระนาภี พระพุทธรูปรุ่นหลังนี้ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิ

พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19-20 )

สมัยสุโขทัย อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรที่อยู่ทางภาคกลางตอนบน หรือภาคเหนือตอนล่าง มีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองสุโขทัย หากพิจารณาดูประวัติศาสตร์ของอาณาจักรสุโขทัยโดยภาพรวมแล้วจะพบว่าอาณาจักรสุโขทัย เป็นอาณาจักรที่สงบร่มเย็น ประชาชนกินดีอยู่ดี มีฐานะทางเศรษฐกิจดี อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ถึงแม้ว่าในช่วงต้นสมัย ซึ่งเป็นช่วงที่กอบกู้เอกราชจากข้าศึก เป็นช่วงหัวเรี่ยวหัวต่อ จะมีการสงครามมาเกี่ยวข้องอยู่บ่อยครั้ง แต่พอมาถึงสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้วบ้านเมืองอยู่ในภาวะสันติสุข เนื่องจากพระองค์ทรงดื่มน้ำร่วมสาบานเป็นพระสหายกันกับพระเจ้าเม็งรายกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา พระยางำเมือง กษัตริย์แห่งอาณาจักรพะเยา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ จนมาถึง สมัยของพระธรรมราชาที่ 1หรือที่รู้จักกันดีว่า พระเจ้าลิไท ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ถึงกับทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทรงเล่าเรียนศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนแตกฉาน และได้ทรงนิพนธ์หนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นวิทยานิพนธ์เล่มแรกในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า เตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วงนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงทำการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี และบ้านเมืองไม่ค่อยมีการสงครามมากนักบ้านเมืองสงบร่มเย็นเป็นสุข จึงทำให้สกุลช่างสุโขทัยมีเวลาถ่ายทอดอุดมคติ ผ่านทางการสร้างพระพุทธรูปได้อย่างเต็มที่ สร้างสรรค์งานด้วยจิตวิญญาณ ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าจึงทำให้พระพุทธรูปสมัยนี้มีลักษณะเฉพาะตัวมีความวิจิตรงดงามมาก พระพุทธรูปในสมัยนี้เป็นที่ยกย่องทั่วไปว่า เป็นพระพุทธรูปที่สวยสดงดงามมากที่ในประเทศไทย เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น

นักโบราณคดีได้ทำการแบ่งแยกพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยออกเป็น 5 หมวด ตามลักษณะที่ค้นพบ ดังนี้คือ

1. หมวดใหญ่ มีลักษณะที่สำคัญที่ปรากฏพอประมวลได้คือ พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระรัศมีเป็นแบบเปลวเพลิง ขมวดพระเกสาเล็กแหลม พระขนงโก่ง บางครั้งเป็นจุดแหลมกลางพระนลาฏ พระนาสิกงุ้ม ไม่มีไรพระศก พระโอษฐ์บางเล็ก มีปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ไม่เสมอกัน พระหนุเป็นปมมีเปลวชายจีวรยาวถึงพระนาภีทำเป็นลายเขี้ยวตะขาบ มีรอยขีดบนพระศอ ไหวง่าย งามสง่า ฐานเป็นหน้ากระดานเรียบไม่มีบัวรองรับ มักนั่งขัดสมาธิราบ

2. หมวดกำแพงเพชร มีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนในหมวดใหญ่ แต่มีลักษณะของวงพระพักตร์ตอนบนจะกว้างกว่าตอนล่างมากอย่างสังเกตเห็นได้ชัด พบที่จังหวัดกำแพงเพชร

3. หมวดพระพุทธชินราช มีลักษณะที่สำคัญที่ปรากฏพอประมวลได้คือ พระพักตร์รูปไข่ มีเปลวบนยอดพระเกตุค่อนข้างสูงกว่าหมวดใหญ่มาก พระพักตร์ค่อนข้างกลม นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน บางครั้งมีฐานบัวรองด้วย
4. หมวดพิษณุโลกชั้นหลัง มีลักษณะทรวดทรงยาว ดูไม่มีชีวิตจิตใจ จีวรมีลักษณะแข็ง ชายจีวรมักทำเป็นรองอ ๆ เหมือนกับขมวดม้วนของชายผ้า ส่วนใหญ่มักทำเป็นพระยืนสร้างขึ้นหลังจากที่สุโขทัยตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาแล้ว

5. หมวดเบ็ดเตล็ดหรือหมวดวัดตะกวน หมวดนี้มีลักษณะเป็นแบบผสมคือ การผสมระหว่างศิลปะแบบเชียงแสน แบบลังกา และแบบสุโขทัยเข้าด้วยกัน มีลักษณะที่สำคัญที่ปรากฏพอประมวลได้คือ พระพักตร์กลม มีรัศมีแบบลังกา บางองค์มีชายผ้าสังฆาฏิสั้น พระนลาฏแคบ

จากลักษณะของพระพุทธรูปดังกล่าวข้างต้นสามารถประมวลสรุปเป็นลักษณะที่สำคัญ โดยภาพรวมดังนี้คือ พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระเกตุมาลาเป็นเปลวรัศมี ขมวดพระเกสาเล็กเป็นวงก้นหอย พระกรรณยาว พระขนงโก่ง พระหนุเป็นปม พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็กและบาง พระโอษฐ์อมยิ้ม พระอังสาใหญ่ ชายจีวรยาวลงมาถึงพระนาภี ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ เปลือกพระเนตรอวบอูมมีลักษณะดุจกลีบบัว ไม่มีไรพระศก ชอบทำปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ และยังพบพระพุทธรูปปางลีลาอีกด้วย

พระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย ถือได้ว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวถึงแม้ว่าจะมีการผสมผสานกันจากศิลปะหลายแหล่ง แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์เป็นศิลปะแบบสุโขทัยอันมีความสวยสดงดงาม อ่อนช้อย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในที่สุด และพระพุทธรูปในสมัยนี้ก็ยังเป็นแม่แบบของการสร้างพระพุทธรูปในสมัยต่อ ๆ มาอีกด้วย

พระพุทธรูปสมัยอยุธยา ( พุทธศตวรรษที่ 20-23 )

การสร้างพระพุทธรูปในสมัยนี้ ส่วนใหญ่ยังรับอิทธิพลมาจากสมัยสุโขทัย แต่มีการนำเอาศิลปะดังกล่าวมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นของอยุธยา จะเห็นได้ว่าลักษณะของพระพุทธรูปสมัยนี้จะเหมือนกับสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าในสมัยอยุธยา บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม รบราฆ่าฟันกันอยู่เป็นนิตย์ กับอาณาจักรเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ญวน ขอม เป็นต้น มี ศัตรูที่จ้องจะเล่นงานอยู่ตลอดเวลาจึงทำให้สกุลช่างสมัยอยุธยาไม่มีโอกาสที่จะสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่จึงทำให้พระพุทธรูปดู แข็งกระด้าง ไม่อ่อนช้อยเหมือนสมัยสุโขทัย และในสมัยนี้ยังพบพระพุทธรูปทรงเครื่องอีกด้วย

สมัยราชธานีของกรุงศรีอยุธยายาวนานถึง 410 ปี ศิลปะอยุธยาจึงอาจแบ่งให้ช่วงสั้นลงเป็น 3 ช่วง คือ

ช่วงต้น ตั้งแต่ พ. ศ. 1893 รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 21 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ช่วงกลาง เริ่มจากรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พ.ศ. 2031-2034 จนถึงราชกาลสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พ.ศ. 2172

และช่วงปลาย เริ่มขึ้น เมื่อรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2172 จนถึงสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 23103

การสร้างพระพุทธรูปในสมัยอยุธยา สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือ

1. พระพุทธรูปศิลปะแบบอู่ทอง ( พุทธศตวรรษที่ 18-20 )

พระพุทธรูปศิลปะแบบอู่ทองนี้ยังแบ่งออกเป็น 3 รุ่นอีก คือ

รุ่นแรก มีลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระนลาฏกว้าง มีไรพระศก ความกว้างของพระนลาฏรับกับแนวพระขนงที่ต่อกันคล้ายรูปปีกกา พระรัศมี เหนืออุษณีษ์รูปคล้ายดอกบัวตูม ทรงครองจีวรเฉียง มีสังฆาฏิใหญ่ปลายตัด ประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์แสดงปางมารวิชัย

รุ่นที่ 2 พระรัศมีเปลี่ยนมาเป็นรูปเปลว บางองค์มีพัฒนาการเด่นชัดของชายสังฆาฏิที่แยกออกคล้ายเขี้ยวตะขาบ ซึ่งมีอยู่ก่อนในพระพุทธรูปแบบสุโขทัย

รุ่นที่ 3 อิทธิพลของศิลปะสุโขทัยเพิ่มมากขึ้น พระพักตร์รูปไข่เกิดจากพระนลาฏแคบ เช่นเดียวกับพระพักตร์รูปไข่ของพระพุทธรูปแบบสุโขทัย พระวรกายเพรียวบางกว่ารุ่นก่อนจึงดูว่าเกี่ยวข้องกับความงามของพระพุทธรูปแบบสุโขทัยยิ่งขึ้น4

3 สันติ เล็กสุขุม , ศ. ดร. ประวัติศาสตร์ไทย (ฉบับย่อ) : การเริ่มต้นและการสืบเนื่อง
งานช่างในศาสนา . กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, 2544.
4 เรื่องเดียวกัน.
2. พระพุทธรูปสมัยอยุธยา ( พุทธศตวรรษที่ 20-23 )


พระพุทธรูปในสมัยนี้ส่วนใหญ่มีพระพักตร์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบอู่ทอง บางองค์พระพักตร์เป็นรูปไข่ตามแบบสมัยสุโขทัยมีเกตุมาลาเป็นรัศมีเปลว ชายจีวรใหญ่และยาวถึงพระนาภีปลายตัดเส้นตรง ส่วนมากมีพระศก และยังพบพระพุทธรูปทรงเครื่องในสมัยนี้อีกด้วย

พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ( พุทธศตวรรษที่ 23-25 )

ลักษณะของการสร้างพุทธรูปในสมัยนี้ส่วนใหญ่รับอิทธิพลมาจากศิลปะสุโขทัย และศิลปะอยุธยา นอกจากนั้นแล้วสมัยนี้ก็มีการรับเอาศิลปะจากต่างชาติเข้ามามาก ช่วงต้นราชสมัย มีการรับเอาศิลปะแบบจีนเข้ามา แต่ก็ไม่มีผลมาสู่การสร้างพระพุทธรูป ส่วนใหญ่เน้นไปที่องค์ประกอบต่าง ๆ ทางด้านอื่นที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น รูปปั้นยักษ์ ก็มีการนำเอาศิลปะของจีนมาตกแต่งประดับประดาผสมกับศิลปะไทยด้วย พระปรางค์ ก็ผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทยกับจีน เป็นต้น

ต่อมาในช่วงปลายสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ได้รับอิทธิพลศิลปะตะวันตกเข้ามา เนื่องจากชาวตะวันตกเข้ามาเมืองไทยมาขึ้น ก็ได้นำเอาศิลปะขาองตนเข้ามาด้วย ส่วนใหญ่แล้วศิลปะตะวันตกมักจะมีอิทธิพลต่อศิลปะไทยในด้านสถาปัตยกรรมเสียส่วนใหญ่ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร เมรุ กุฏิ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น หลังคาเป็นทรงไทย แต่ตัวอาคารเป็นทรงตะวันตก หรือทรงตะวันตกล้วน ๆ เช่น ตึกพาณิชย์ เป็นต้น

ในด้านประติมากรรมนั้นมีอิทธิพลน้อยมาก การสร้างพระพุทธรูปในสมัยนี้ ส่วนใหญ่สกุลช่างผู้สร้างมุ้งเน้นไปที่รายละเอียดของลวดลายบนองค์พระปฏิมา สกุลช่างจะหันไปเอาใจใส่ลายเครื่องประดับมากกว่าที่จะเน้นลักษณะของสีพระพักตร์ขององค์พระปฏิมา จึงเป็นผลทำให้องค์พระปฏิมาในสมัยนี้ประดับตกแต่งด้วยความอลังการ มีลักษณะที่สวยสดงดงามมาก เช่น พระศรีศากยทศพลญาณ พระพุทธรูปปางลีลา องค์พระประธานที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ออกแบบ โดยศาสตราจารย์ ศิลปะ พีระศรี เป็นต้นส่วนลักษณะรายละเอียดที่สามารถบ่งบอกถึงพระพุทธรูปสมัยนี้นั้นมีลักษณะที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับช่างผู้ออกแบบ
บทสรุป

นับแต่มีการสร้างพระพุทธขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะซึ่งเป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีก และทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามากจนทรงริเริ่มให้มีการสร้างพระพุทธรูป เพื่อเป็นเครื่องระลึกนึกถึงเคารพสักการะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรียบเสมือนกับว่า พระองค์ทรงมีชีวิตอยู่ตามคติความเชื่อของฝ่ายมหายาน การสร้างพระพุทธรูปในช่วงเริ่มต้นนี้ จะมีลักษณะพระพักตร์เป็นแบบเทพเจ้าต่าง ๆของกรีกหลังจากนั้นการสร้างพระพุทธรูปก็ได้มีวิวัฒนาการในการสร้างอยู่เรื่อย ๆ ตามแต่ละยุคสมัย

การสร้างพระพุทธรูปจะขึ้นอยู่กับสภาพบ้านเมืองในแต่ละสมัยเป็นสำคัญ จะเห็นได้ว่า สมัยที่ซึ่งมีการทำศึกสงครามหรือทำศึกสงครามน้อย บ้านเมืองอยู่ในสภาวะความสงบ อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรต่างๆ และที่สำคัญประชาชน มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น การสร้างพระพุทธรูปในสมัยนี้ก็จะมีรูปแบบการสร้างที่มีลักษณะองค์พระจะอ่อนช้อย พระพักตร์อิ่มเอิบ ไม่แข็งกระด้าง ดูมีชีวิตชีวา แสดงถึงว่า ช่างผู้สร้างได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่บวกกับความศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงทำให้พระพุทธรูปออกมามีลักษณะตามที่ได้กล่าวมา

แต่สมัยใดที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยศึกสงคราม ไม่สงบสุข ประชาชนหวาดผวากับภัยจากสงครามที่จะเกิดขึ้น การสร้างพระพุทธรูปในสมัยนี้ก็จะมีลักษณะเป็นไปตามสภาพของบ้านเมือง กล่าวคือ องค์พระมีลักษณะแข็งกระด้าง ไม่อ่อนช้อย เคร่งครึม เนื่องจากช่างผู้สร้าง ไม่มีเวลาในการสร้างอย่างเต็มที่นั่นเอง

การสร้างพระพุทธรูปในสมัยต่าง ๆ ของประเทศไทยก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน มีการนำเอาศิลปะจากหลายแหล่งมาผสมผสานกับศิลปะที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง จึงออกมาเป็นลักษณะที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ตามแบบของตนเอง ซึ่งในแต่ละยุคสมัยก็จะมีเอกลักษณ์ในการสร้างต่างกัน จึงทำให้พระพุทธรูปที่ออกมามีลักษณะที่แตกต่างกันด้วย แต่ก็มีบางสมัยที่ยังหาเอกลักษณ์ของตนเองยังไม่เจอ เนื่องจากว่าได้มีการผสมผสานศิลปะต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จนทำให้เกิดความสับสน การสร้างพระพุทธรูปจึงมีลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป ทั้ง ๆ ที่พระพุทธรูปสร้างในสมัยเดียวกัน จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ยากที่จะสามารถระบุรายละเอียดหรือลักษณะในส่วนนี้ได้ ก็ต้องศึกษากันให้ละเอียดต่อไป

การสร้างพระพุทธรูปนั้นมีทั้งการสร้างโดยการสลักจากศิลา การหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หรือการใช้ปูนปั้น ในสมัยแรก ๆ พบว่านิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยการสลักจากหินศิลา และการหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ก็มีแต่มีน้อย พอในสมัยหลัง ๆ พบว่า นิยมสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ และการใช้ปูนปั้น รวมทั้งมีการประดับตกแต่งลวดลายบนองค์พระมากกว่าในสมัยแรก ๆ อีกด้วย จากที่กล่าวมา ถึงแม้ว่าการสร้าง พระพุทธรูปแต่ละยุคแต่ละสมัย จะมีลักษณะรูปแบบการสร้างที่แตกต่างกันออกไป แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญก็คือว่า พระพุทธรูปถือว่าเป็นเครื่องเคารพสักการบูชา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ เพราะพระพุทธรูปเปรียบเสมือนกับตัวแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธจึงควรดำเนินตามทางที่พระองค์ทรงวางเอาไว้ มิใช่เพียงแต่เคารพสักการบูชา ยึดติดอยู่แต่ในพระพุทธรูปโดยไม่มีการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระองค์ เพราะการเคารพสักการบูชากราบไหว้พระพุทธรูปเป็นเพียงการสร้างกำลังใจ เป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางใจเท่านั้น แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นการเคารพสักการบูชาพระองค์อย่างแท้จริง คือ การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระองค์ เพื่อประโยชน์และความสุขจะเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติตามในที่สุด.


แหล่งอ้างอิงประกอบการเรียบเรียง

จิตร บัวบุศย์. สกุลศิลปะพุทธรูปในประเทศไทย, กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์อำพลพิทยา,2512
จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. คู่มือการอบรมมัคคุเทศก์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์-
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542
ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา.ตำนานพุทธเจดีย์.พิมพ์ครั้งที่3.
กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภา,2518
พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ:
อัมรินทร์การพิมพ์,2528
สงวน รอดบุญ. พุทธศิลป์สุโขทัย .พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียน
สโตร์, 2533
สมพร อยู่โพธิ์ . พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภา,2514
สันติ เล็กสุขุม ,ศ.ดร. ประวัติศาสตร์ไทย (ฉบับย่อ) : การเริ่มต้นและการสืบเนื่อง
งานช่างในศาสนา . กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, 2544
สุจิตต์ วงศ์ . ศรีวิชัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร,2531
สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. พุทธศิลป์ในประเทศไทย. พระนคร:โรงพิมพ์พระจันทร์,2503
สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ.. ศิลปะในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10 . กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2538
อัธยา โกมลกาญจน. พระพุทธศาสนาบนแผ่นดินไทย. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์,
2545
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง