Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ธรรมบรรยาย ตอนที่ 9 นำปฏิบัติกรรมฐาน อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
kit_allwhat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 02 ส.ค. 2006
ตอบ: 25

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2006, 12:11 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ธรรมบรรยาย ตอนที่ 9 นำปฏิบัติกรรมฐาน
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)


พึงตั้งใจในการปฏิบัติกรรมฐาน การนั่งสำรวมกายสำรวมจิตใจ ปรับร่างกายให้สบายๆ ปรับจิตใจให้เป็นปกติ ทำความระลึกรู้สึกตัวทั่วพร้อม น้อมมาพิจารณาสังเกตดูกาย ในอิริยาบถที่นั่งอยู่ ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อม หรือระลึกถึงลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าระลึกรู้ หายใจออกระลึกรู้ ปรับผ่อนลมหายใจเข้าออกให้สบาย ระลึกให้ทันทุกขณะลมหายใจเข้าออก ประคองสติให้รู้เท่าทันการหายใจเข้าออก และสังเกตเข้าสู่ความรู้สึก มีความรู้สึกสะเทือน เคลื่อนไหวในกาย หายใจเข้า รู้สึกตึงที่ทรวงอก ที่หน้าท้อง หายใจออกรู้สึกหย่อนคลาย กำหนดรู้ ความตึง ความหย่อน ความเคลื่อนไหวในกาย และขยายความรู้ไปทุกส่วนของกายในส่วนใดที่มีกายประสาท ก็สามารถจะรับโผฏฐพพารมณ์ที่มากระทบ

ปฐวีโผฏฐพพารมณ์ ลักษณะที่แข็งหรืออ่อน วาโยโผฏฐพพารมณ์ลักษณะที่เคร่งตึงหรือหย่อน เตโชโผฏฐพพารมณ์ลักษณะที่ร้อนหรือเย็น สิ่งที่มากระทบกายก็จะมีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม เท่านั้น สรุปแล้วก็จะมีเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง หย่อนบ้าง ตึงบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นรูปธรรมที่มากระทบแล้วก็จะสลายตัวไป รูปนัขนัง รูปจะมีลักษณะเสื่อมสิ้นสลายไป ให้สังเกตดูว่ามันมีความเสื่อมสลายลงมั้ย กำหนดตรงที่มีการผัสสะ มีการกระทบกายสัมผัสรู้สึกเวทนา กระทบสัมผัสทางกายแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา แล้วจึงมีความรู้สึกสบาย ไม่สบาย ทุกข์น้อยก็ดูว่ามันสบาย ทุกข์มากก็ดูว่าไม่สบาย ก็คือมันรู้สึกตึงบ้าง แข็งบ้าง ร้อนบ้าง แล้วถ้ามากเกินไปก็รู้สึกว่าไม่สบาย ร้อนเกินไป แข็งเกินไป ตึงเกินไป เป็นทุกข์ ทุกข์กายเป็นทุกขเวทนา เกิดขึ้นที่กายก็เป็นนามธรรม

เวทนานี้เป็นนามธรรมเป็นตัวเสวยอารมณ์เป็นความรู้สึก ถ้ามันทุกข์น้อย ตึงน้อย แข็งน้อย ร้อนน้อย หรือพอดีๆ ก็รู้สึกว่ามันสบาย แต่ในความสบายมันก็ยังเป็นทุกข์ เพราะมันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ก็ต้องเสื่อมสลายไปเหมือนกัน ให้หยั่งรู้ในความรู้สึก เป็นธรรมชาติเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นจริง มีอายตนะภายใน กายประสาทหรือเรียกว่ากายตนะเป็นสื่อรับ โผฏฐพพารมณ์ที่มากระทบ แล้วกระทบกันแล้วก็เกิดความรู้สึกขึ้น เกิดกายวิญญาณขึ้น ให้เกิดความรู้สึกในขณะที่เย็นมากระทบก็รู้สึกเย็น แข็งมากระทบก็รู้สึกแข็ง ตึงมากระทบก็รู้สึกตึง ร้อนมากระทบก็รู้สึกร้อน เป็นวิญญาณเกิดขึ้นที่กายเรียกว่ากายวิญญาณ

อันนั้นก็มีทั้งส่วนประกอบ มีเวทนาประกอบอยู่ด้วย สิ่งที่มากระทบเป็นรูป สิ่งที่เข้าไปรู้สึกเป็นนาม พิจารณาสังเกตตรงที่รู้สึกกระทบ กำหนดให้ตรงตัว ตรงความรู้สึก แล้วดูเบาๆ สังเกตเบาๆ อย่าเพ่งเกินไป อย่าจ้องเกินไป รู้ให้เป็นปัจจุบัน แล้วก็ให้สังเกตความเปลี่ยนแปลง ความสิ้นไป ความดับไป แล้วมีทุกส่วนของกาย ไม่ว่าจะเป็นที่แขนที่ขาที่ลำตัวที่ผิวกายที่ในเนื้อในหนัง ในภายในกาย ที่ใบหน้า ที่ปาก ที่คอ ที่ลูกตา ที่ในสมอง มีความรู้สึก ความตึง ความหย่อน ความไหว แล้วมีกายประสาท ก็ให้รู้สึก มีโผฏฐพพารมณ์มากระทบ กำหนดรู้ในความรู้สึก โดยไม่ต้องนึกให้เห็นเป็นรูปร่างเป็นสัณฐาน ไม่ต้องให้เห็นเป็นรูปร่างของแขน ของขา ของใบหน้า เพราะถ้าเห็นขึ้นมา

นั่นก็หมายถึงว่า จิตเลยไปสู่อารมณ์ที่เป็นสมมุติ เลยไปสู่อารมณ์ที่เป็นบัญญัติ เรียกว่าอัตถบัญญัติ คือรูปร่าง รูปทรง สัณฐาน เป็นของปลอม ที่เกิดจากจิตปรุงแต่ง โดยอาศัยสัญญาความจำไว้ แล้วก็สร้างเป็นอารมณ์ทางจิตเรียกว่า ธรรมารมณ์ แต่เป็นธรรมารมณ์ในส่วนของบัญญัติ ไม่มีสภาวะ ไม่มีความเกิดดับ จึงป้อนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้เห็นไม่ได้ในการปฏิบัติ วิปัสสนาต้องรู้ตรงตัวปรมัตถ์ จึงจะเห็นสัจธรรม เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความเกิดดับ เห็นความเกิดดับก็จะเห็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา สภาพความเป็นจริง ฉะนั้นกำหนดให้ตรงตัว แต่อย่าให้เลยออกไปสู่สมมุติ ให้รู้ที่ความรู้สึกในความไหว ความกระเพื่อม ความตึง ความหย่อน

พร้อมกันนี้ก็ฝึกการรู้เข้ามาถึงจิตใจ อันเป็นส่วนของนามธรรม กำหนดจิต กำหนดอาการในจิต กำหนดรู้ที่จิต คือสังเกตสภาพรู้จิตหยาบขึ้นก็คิดนึกออกไป ขณะที่เผลอ จิตก็จะคิดนึกไปสู่เรื่องราวต่างๆ อันเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง เรียกว่า จิตคิดไปสู่สมมุติ อารมณ์ที่เป็นอดีต อารมณ์ที่เป็นอนาคต เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ นั้นเป็นสมมุติ แต่ความคิดเป็นปรมัตถ์ เป็นของจริงเป็นนามธรรม ให้มีสติระลึกรู้ เข้ามาที่ความคิด เมื่อคิดไปสู่เรื่องราวต่างๆ แล้วกำหนดรู้ที่ความคิด ถูกต้องตรงตัว เรื่องราวของความคิดก็จะขาดไป จิตจะขาดจากเรื่องที่เป็นอดีต อนาคต เพราะจิตเปลี่ยนจากเรื่องมาเป็นจิต เรียกว่าจิตมารู้จิตแทน ธรรมดาจิตนั้นจะรู้ได้ทีละอารมณ์ รับได้ทีละอารมณ์

เมื่อจิตมารู้จิตก็ต้องหลุดจากเรื่องราวกลับมาสู่ปรมัตถ์ที่เป็นปัจจุบัน จิตก็จะเกิดความเบาตัวขึ้นขณะหนึ่ง ถ้ารู้บ่อยๆ ขึ้น จิตสลัดจากเรื่องราวออกไปได้มากขึ้น จิตทรงตัวอยู่กับปรมัตถ์ อยู่กับปัจจุบันมากขึ้น จิตก็จะมีความเบาใจมากขึ้น ความสงบใจมากขึ้น เราจะเห็นว่าพระธรรมมีคุณ ธรรมเกิดขึ้นในใจมีคุณมีประโยชน์ให้จิตใจ เมื่อจิตใจได้รับการฝึกได้รับการปฏิบัติ จิตใจก็สงบร่มเย็นเป็นสุขปลอดโปร่ง เบา โล่ง ถ้าเผลอจิตคิดไปเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้มีสติกำหนดรู้เท่าทัน จิตคิดไปสู่เรื่องอดีต อนาคตมากๆ จิตก็จะเร่าร้อน กระวนกระวาย กระสับกระส่าย อึดอัดขัดเคือง ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ความไม่สบายเกิดขึ้น ความวิตกกังวลเกิดขึ้น นี่จะเห็นว่าความสุข ความทุกข์ อยู่ที่จิต ถ้าจิตไม่ได้ปฏิบัติ จิตก็จะตกไปสู่ความทุกข์ ถ้าจิตได้รับการปฏิบัติ จิตก็จะมีความสุข สงบ เราจึงเห็นคุณค่าของพระธรรมจำเป็นต่อชีวิต ชีวิตต้องมีพระธรรมประจำจิต คอยดูแล คอยรักษาจิต ธรรมจารีสุขขังเสติ ทรงตรัสว่า ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ธรรมโมอเวสะคติธรรมจารี ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

ถ้ามีสติดูแลรักษาจิตอยู่ จิตก็จะรักษา ธรรมก็จะรักษาจิตไม่ตกไปสู่ที่ชั่ว รักษาจิตให้สงบร่มเย็นอยู่ เจริญสติระลึกรู้เท่าทันจิตใจ ความคิด ความปรุงแต่งในความคิด อาการความรู้สึกในจิต ขณะจิตมีความหงุดหงิดก็รู้ในความหงุดหงิด จิตไม่สบายก็รู้ในความไม่สบาย จิตมีความสงสัยเกิดขึ้น ก็รู้ในความสงสัย จิตมีความท้อถอยเกิดขึ้น ก็รู้ลักษณะความท้อถอย จิตมันมีความโกรธ ความไม่พอใจ ก็รู้ลักษณะความโกรธ ความไม่พอใจ จิตมันมีความเบื่อหน่าย ก็รู้ลักษณะความเบื่อหน่าย จิตมันมีความต้องการติดใจในอารมณ์ก็กำหนดรู้ลักษณะความต้องการติดใจในอารมณ์

มีลักษณะปรากฏการณ์ปฏิกิริยาเกิดขึ้นอย่างไร จิตมันมีลักษณะฟุ้งซ่านก็รู้ รู้ลักษณะอาการที่ฟุ้งซ่าน สิ่งเหล่านี้เป็นอาการในจิต เป็นปฏิกิริยาที่เกิดในจิต เป็นตัวเจตสิกธรรม ที่เข้าไปปรุงแต่งจิต จิตก็เสียไป ถ้าไม่มีสติตามดูรู้เท่าทัน สิ่งเหล่านี้ก็จะประทุษร้ายจิตใจ ให้ทุกข์ ให้ทรมาน และแผ่ขยายมาสู่สรีรร่างกาย จิตอาศัยหัวใจเกิด อาศัยหทัยวัตถุที่อยู่ในหัวใจ เมื่อจิตไม่ดี รูปหัวใจก็พลอยเสียหายไปด้วยทำให้บุคคลผู้นั้นรู้สึกไม่สบาย ที่หัวใจให้ปวด ให้เจ็บ ให้อึดอัด ให้แน่น แล้วถ้าปล่อยให้จิตใจมันเป็นไปในทางที่เสียบ่อยๆ หัวใจก็จะพิการ ทำงานไม่ดี สูบฉีดโลหิตไม่ดี ระบบร่างกายก็พลอยปรวนแปรไป โรคภัยไข้เจ็บติดตามมา เป็นทุกข์ทางร่างกายเกิดขึ้น

เมื่อกายเป็นทุกข์ ผู้ไม่ได้ปฏิบัติธรรมก็จะเกิดความทุกข์ใจตามเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะทนต่อความทุกข์กายไม่ไหว ใจก็กระสับกระส่ายกระวนกระวาย เศร้าโศกเสียใจ รวมความว่าทุกข์กายทุกข์ใจตีกลับไปกลับมา บางคนทนไม่ไหวก็ต้องเสียสติไป ฟุ้งซ่านมากๆ สมองทนไม่ไหว กลายเป็นคนคลุ้มคลั่งเสียสตินั้นเพราะขาดธรรม ไม่มีธรรมดูแลรักษาให้ เมื่อเราประพฤติปฏิบัติฝึกหัดเจริญสติอยู่ ตามดู รู้เท่าทัน รู้เข้ามาที่จิต รู้เข้ามาที่อาการในจิต และก็ปล่อยวางให้เป็น อย่ารู้แบบบังคับ อย่ารู้แบบกดข่ม อย่ารู้แบบเพ่งเล็ง อย่ารู้แบบจะเอาให้ได้ แต่ต้องรู้แบบปล่อยวาง รู้ปล่อยวาง รู้แบบไม่เอาอะไร รู้แบบปกติ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ปล่อยวาง สละวาง ให้อยู่ในสภาพเป็นธรรมดาๆ ก็สามารถจะให้จิตใจเข้าสู่กระแสแห่งความสงบ ความเบา ความเย็นใจ ความปลอดโปร่งใจ เมื่อจิตใจมีความปลอดโปร่ง มีความสงบ มีความสบาย ก็อย่าละสติ สติสัมปชัญญะก็ต้องทำงานต่อไป

กำหนดดูความสบายในจิต กำหนดดูความผ่องใสในจิต กำหนดรู้ความเฉยๆ ในจิต ความปกติในจิต กำหนดสภาพรู้ที่ไม่ได้คิดนึกอะไรออกไป แต่ทรงตัวอยู่ รู้อยู่ในตัว ก็มีสติที่จะรู้สึกตัว ให้จิตรู้ที่จิต สติระลึกรู้ที่สติ ผู้รู้กลับมารู้ที่ผู้รู้ ดูที่ตัวรู้ ดูที่สิ่งที่ถูกรู้แล้วปล่อยวาง ละวาง และปรับผ่อน คลี่คลาย ผ่อนตาม ไม่ฝืนไม่บังคับ แล้วแต่อารมณ์อันใดปรากฏก็รู้อารมณ์อันนั้น ไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นตรงนี้เท่านั้น ตรงนั้นเท่านั้น แล้วแต่ว่าจะรู้สิ่งใด รูปใด นามใดปรากฏก็รู้ วนเวียนอยู่ในสติปัฏฐานทั้งสี่ รู้กายบ้าง รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม แล้วก็ประคับประคองปรับผ่อนให้เข้าสู่ความพอดี สู่ความเป็นกลาง เป็นมัชฌิมา ไม่ตึง ไม่หย่อน ไม่เพ่ง แต่ก็ไม่เผลอ ไม่จ้องแต่ก็รู้อยู่ รู้แต่ก็ไม่ยึดไว้ รู้แต่ไม่เอา ไม่เอาแต่ก็ไม่ผลักไส อยู่กลางๆ ไม่ดึงไม่ดัน ความรู้ ความละให้ผสมผสานกลมกลืนกันไปเป็นความพอดี เป็นความถูกต้องลงตัว

ฉะนั้นต้องมีความสังเกต เพื่อจะได้ปรับผ่อนให้ดี ให้เป็นปกติ ผู้ปฏิบัติต้องมีความสังเกตมีความฉลาด ในการที่จะปรับผ่อน ปล่อยวาง คลี่คลาย เติมบ้างลดบ้าง เหมือนผู้ที่ปรุงอาหารเก่ง จะทำอาหารให้มันกลมกล่อมจะต้องเติมรสนั้นรสนี้ แล้วผู้ปฏิบัติก็จะต้องคอยสังเกต บางครั้งมันตึงเกินไป ก็สังเกตว่ามันมีการไปจ้อง ไปเพ่ง ไปสะกดไว้แล้วก็ปล่อยวางขึ้น เพิ่มความปล่อยวางขึ้น บางครั้งมันเผลอเรอล่องลอย ก็เพิ่มความใส่ใจขึ้นแล้วมีการปรับอยู่เสมอ ให้ได้ปัจจุบัน ชั่วขณะนิดเดียวแวบเดียว ประคองอยู่กับปัจจุบันนั้นมันสั้นนิดเดียว ถ้าเผลอก็ตกไปสู่อดีต ตกไปสู่อนาคต รู้ปัจจุบันได้ชั่วแวบเดียวก็ดับไปแล้ว ดับไปแล้วก็แล้วไป ก็รู้อันใหม่ รู้รูปใหม่ นามใหม่ที่ปรากฏผ่านไป ปรากฏผ่านไป อย่าไปพะวงในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แม้ว่ามันจะไม่ชัดเจน ไม่แจ่มแจ้งแล้วมันก็ผ่านไปแล้ว จะศึกษาพิจารณาในสิ่งที่ต่อเนื่องกันมาใหม่ ที่เกิดสืบต่อกันมาใหม่เหมือนเรายืนอยู่ในตรอกซอกเล็กๆ มองไปปากตรอก เห็นรถวิ่งผ่าน ผ่าน ผ่านแวบ ผ่านแวบไป แวบไป ก็รู้สังเกตเฉพาะที่กำลังผ่าน ที่กำลังปรากฏ

ให้โยมได้ขยับขยายเปลี่ยนอิริยาบถ หลังจากนั่งปฏิบัติมาสักระยะหนึ่ง ขณะที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนกายก็ให้มีสติรู้กายเคลื่อนไป กำหนดความรู้สึกเคลื่อนไหวในกาย เปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งไปเป็นยืน ไปเป็นเดิน เพราะว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ จำเป็นต้องเปลี่ยนอิริยาบถ คลี่คลายความทุกข์กาย แต่ก็ให้เจริญสติต่อเนื่องกันไป และหาที่เดินจงกรมส่วนตัว ระยะที่จะเดินกลับไปกลับมา ประมาณ ๒๕ ก้าว เราเดินที่สั้นเกินไปมันก็อึดอัดคับแคบ เราเดินไกลไปบางทีก็เวิ้งว้างหลุดลอยไปหมด เดินในที่ซ้ำกลับไปกลับมา เพื่อสถานที่เดินชำนาญแล้วก็จะได้ไม่ต้องระมัดระวัง จิตจะได้ไม่ขยายไปสมมุติมาก เดินเป็นเส้นตรงที่จะเดินกลับไปกลับมาส่วนตัวตามลำพัง แล้วเก็บมือไว้ด้านหน้า หรือไขว้หลังเพื่อไม่ให้มือมันแกว่งไปหลายอารมณ์ ให้เกิดความสำรวม ทอดสายตาเฉียงๆ ลงต่ำยืนกำหนดก่อน ยืนกำหนดทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกายที่ยืน ถ้ารู้ทรวดทรงสัณฐานของกาย ท่าทางของกาย ก็เรียกว่ากำหนดกายยืน แต่ว่าก็ให้รู้ว่านี่ยังเป็นสมมุติอยู่แต่ก็เป็นกรรมฐานเอามาเป็นที่ตั้งของสติของจิตได้เป็นไปเพื่อความสงบ แต่ถ้ายืนกำหนดเข้าไปถึงความรู้สึกในความรู้สึกในกาย ก็มีความไหว ความตึง ความแข็ง ความอ่อน เย็น ร้อนได้ก็จะเป็นปรมัตถ์

แล้วเมื่อเดินก็ทำความรู้สึกการเคลื่อนไหวของกาย แต่ใหม่ๆ กำหนดการก้าวไป ซึ่งก็ยังเป็นความหมาย เป็นทรวดทรงสัณฐาน เป็นสมมุติแต่ก็เป็นกรรมฐานที่เห็นเป็นท่อนขาก้าวไป เห็นเป็นลำตัวโน้มไป อันนี้เรียกว่าอารมณ์ยังเป็นสมมุติอยู่ แต่ก็เป็นกรรมฐานเพราะมาอาศัยเกาะของจิตให้เกิดความสงบได้ ใหม่ๆ เราก็ฝึกอย่างนี้ไปให้รู้ในอิริยาบถที่เดิน ตั้งแต่ยก ย่าง เหยียบไป แล้วเมื่อเราฝึกไปมากๆ ขึ้น ก็กำหนดเข้าไปถึงความรู้สึก เวลาเดินก็มีความรู้สึก ความตึง ความหย่อน ความไหว ความแข็ง ความอ่อน ความเย็น ความร้อน ยกขึ้นมันก็มีความไหว เหยียบไปก็มีตึงมีแข็ง ฝ่าเท้ากระทบรู้สึกแข็ง ยกขึ้นไหว ก้าวไปนี่ไหว คือในเนื้อในหนังในผิวในของกายมีความรู้สึกทั้งหมด ใหม่ๆ ก็อาจจะรู้สึกเฉพาะที่ ที่ขา ที่เท้า แล้วฝึกไปมากๆ ขึ้นก็รู้ความรู้สึกได้ทั้งตัว ทุกส่วนของกายมีความรู้สึกเคลื่อนไหวหมด แล้วมาฝึกชำนาญมากขึ้นก็รู้ไปถึงจิตใจ เดินก็รู้จิตได้ รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจที่รับรู้ ไม่ใช่มีแต่กายเดิน การเคลื่อนไหวก็มีใจรับรู้ กำหนดดูทั้ง ๒ ด้าน ด้านกายกับด้านจิตใจ

นอกจากนี้ก็ยังมีสภาวะทางตา ทางหู ตาเห็น มีการเห็น สติระลึกสิ่งที่มีมาปรากฏทางตา เสียงมาปรากฏทางหูได้ยิน สติระลึกหรือบางขณะมีกลิ่นหรือมีรส มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง สติก็ระลึกรู้ไปก็เหมือนกันไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน มีสภาวะมีรูปมีนามเหมือนกัน สังเกตให้เห็นรูปนามที่เกิดขึ้นสลับสับเปลี่ยน เสื่อมสิ้น สลายไป หมดไปสิ้นไป เดินสบายๆ อย่าเกร็งตัว สัมปชัญญะรู้ที่ไปรู้จุดมุ่งหมายว่าเราจะเปลี่ยนอิริยาบถ และรู้จุดมุ่งหมายของการไป แต่ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะจากลุกจากนั่งไปเป็นยืน ยืนไปเป็นเดินมานั่งหรือจะมีอิริยาบถย่อย จะก้ม จะเงย จะเหลียวซ้ายแลขวา จะขยับคู้เหยียดเคลื่อนไหว มีสติรู้ซะก่อน บางทีมันคันมันเป็นทุกข์ มือต้องไป ไปเกา ถ้าไม่รู้ไปทันทีก็เผลอ ตั้งใจว่าจะอยู่เฉยๆ ถ้าจะขยับต้องรู้เหตุรู้ผล ให้หมั่นฝึกให้มีสติเท่าทันทุกขณะไม่เผลอ เวลาไม่มีสติรู้ที่จุดมุ่งหมาย มันก็จะไปพรวดพราดลืมตัว ดีไม่ดีจะเตะอะไรหกหมด

มีโคจรสัมปชัญญะ มีปัญญารู้ที่โคจรไป ที่โคจรของสติสัมปชัญญะว่า สติสัมปชัญญะจะต้องโคจรไปที่ไหน จะต้องระลึกรู้ที่ไหน ถ้าเป็นไปเพื่อความสงบก็รู้ในสมมุติ ถ้าเป็นไปเพื่อวิปัสสนา ก็รู้ให้ตรงต่อปรมัตถ์ ก็ต้องรู้ปรมัตถ์รูปนามต่างๆ มีอย่างไรบ้าง ถ้าไม่รู้จักมันก็ไปไม่ถูก กำหนดไม่ถูก รู้ว่าที่ไปของสติที่กายที่เป็นปรมัตถ์ ก็มีเย็น มีร้อน มีอ่อน มีแข็ง มีหย่อน มีตึง มีความรู้สึกสบายไม่สบาย นี่คือที่ไปของสติ

สติต้องไปที่นี่ ระลึกที่นี่ และที่ใจก็คือตัวรู้ สภาพรู้ รู้อาการในสภาพรู้ที่มีต่างๆ มีชอบ ไม่ชอบ สบาย ไม่สบาย ขุ่นมัว ผ่องใส นี่ที่ไปของสติ ที่โคจรของสติสัมปชัญญะที่จะเป็นวิปัสสนา เสียงได้ยินนี่ปรมัตถ์ถ้าเลยออกไป เป็นคน เป็นสัตว์ ตีความหมายนั้นเป็นสมมุติ ไม่ใช่ที่ไป ไม่ใช่ที่โคจรของสติ สติต้องโคจรระลึกที่ได้ยิน ที่เห็น ที่รู้กลิ่น ที่รู้รส ไม่ไปสู่สมมุติ เป็นความหมาย เป็นชื่อ เป็นภาษา เป็นรูปร่างสัณฐาน สำหรับวิปัสสนา โคจรสัมปชัญญะรู้ที่ไป ที่โคจรของสติสัมปชัญญะ จะต้องมีปัญญาในจุดนี้

สัปปายสัมปชัญญะต้องมีปัญญามีความเข้าใจในการวางท่าทีให้เหมาะสม วางกายอย่างไร วางสติสัมปชัญญะอย่างไรให้มันเหมาะสม ก็คือให้มีเกื้อกูลต่อการที่จะเกิดสติปัญญา ถ้าเราไปนั่งเกร็งเคร่งเครียดก็ไม่เห็นอะไรมีแต่ทุกข์ทรมาน หย่อนยานเกินไป เผลอเรอหลับไหล ก็ไม่ใช่ที่ ต้องพอดี เป็นผู้ยืนสบายๆ เดินสบายๆ นั่งสบายๆ นอนสบายๆ คู้เหยียดเคลื่อนไหวอย่างสบายๆ แต่มีสติตามดูรู้เท่าทัน ไม่เกร็ง ไม่เคร่งเครียด เรียกว่ามีปัญญารู้จักความเหมาะสม สัปปายสัมปชัญญะ

อสัมโมหสัมปชัญญะ มีปัญญามีความเข้าใจ ไม่หลงอารมณ์ ออกจากสมมุติเข้ามาสู่ปรมัตถ์ถูก บางขณะมันไปอยู่ในสมมุติ มันไปอยู่ในความว่าง ไปอยู่ในความหมาย ไปอยู่ในทรวดทรงสัณฐาน ไปอยู่ในชื่อภาษา ก็ออกจากอารมณ์เหล่านั้น เข้ามาสู่ปรมัตถ์ได้ถูกไม่หลงอยู่กับอารมณ์เหล่านั้น ต้องมีปัญญาในวิธีการปฏิบัติ เดินทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม การเดินจงกรมนี้มีประโยชน์ พระพุทธเจ้าแม้พระองค์จะสิ้นกิเลสแล้วก็ยังทรงเดินจงกรมตอนเช้ามืดเป็นประจำ เพราะการเดินจงกรมนั้นช่วยบริหารกายให้กายเป็นสุข อาหารย่อยง่าย โรคเบาบาง โรคบางอย่างก็หาย จะเป็นคนอดทนในการเดินทางไกลเดินได้เก่ง สร้างความเพียรเกิดขึ้น

สมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมก็จะตั้งมั่นอยู่ได้นาน คนที่เดินจงกรมอยู่เสมอๆ ร่างกายจะแข็งแรง ต่อไปก็ค่อยๆ กำหนดเข้าสู่สถานที่นั่ง ทำสติเรื่อยไปอย่าปล่อยสติเดินกำหนดรู้ไปเรื่อยๆ มาถึงที่ๆ เราจะนั่งก็กำหนดยืนก่อนความรู้สึกติดตัวในท่าในกายที่ยืน ย่อตัวลงก็ให้รู้ ย่อตัวลงก็ให้รู้ ให้รู้ไปเรื่อยๆ พอนั่งกระทบขยับเขยื้อนเคลื่อนกายที่จะนั่งให้เข้าที่ แล้วทำความรู้สึกกำหนดรู้ไปเรื่อยๆ แล้วให้สติมันต่อเนื่องกัน สติสมาธิสัมพันธ์นั่งได้ที่ก็เจริญสติต่อเนื่องกันไป กำหนดรู้สึกตัวทั่วพร้อมเรื่อยไปปรับร่างกายให้สบายๆ วางท่าทีของสติสัมปชัญญะให้ดี อย่าเพ่งเกินไป อย่าจ้อง อย่างเพ่ง รู้ปล่อยวาง อย่าให้มีความทะยานอยาก ความอยากในธรรมเรียกว่า ธรรมตัณหา อยากจะสำเร็จ อยากจะสงบ อยากจะเห็นรูปเห็นนามเป็นกิเลสตัณหา อย่างละเอียด รู้ว่าเวลามันสงบขึ้นมาแล้วก็พอใจในความสงบติดใจในความสงบ อย่างนี้เป็นตัณหาๆ อย่างละเอียดมันเข้ามาเชื่อมจิตใจ เกิดความสงบก็ดี เกิดปีติก็ดี เกิดความสุขก็ดี แล้วก็ยินดีพอใจติดใจวิปัสสนาก็เจริญไปไม่ได้คิดอยู่แค่นั้น

ผู้ปฏิบัติต้องรู้สึกซึ่งตรวจสอบจิตใจตัวเอง เพื่อคลี่คลายตัณหา ถ้ารู้ทันมันก็หลบไป ถ้ารู้ไม่ทันมันก็เข้ามา การละก็คือการเข้าไปรู้เท่าทันอย่างขโมย ถ้าเราทันมันก็ลักอะไรไปไม่ได้ ถ้าเราเผลอมันก็ลักของเราไป ก็พยายามเพียรๆ ตั้งสติ เพียรระลึกรู้อยู่เสมอๆ ทำสบายๆ ทำให้เรานั่งพักผ่อน ไม่งั้นจิตมันจะท้อพอท้อถอยมันก็ทำให้ง่วง หลอกจิตว่านั่งพักนั่งสบายๆ การปฏิบัติเป็นเรื่องสบายๆ เป็นเรื่องสงบจิตใจ ถ้าไม่ปฏิบัติจิตใจเป็นทุกข์ จิตนี่มันดื้อ จะให้อย่างนั้นมันมาอย่างงี้จะให้อย่างงี้มันไปอย่างงั้น คนที่นอนไม่หลับนี่ถ้าพยายามจะให้มันหลับ จะให้มันหลับมันก็เลยไม่หลับ

รู้อย่างนี้ละก้อหลอกมันบ้างนะ แล้วเวลาจะหลับเราก็แกล้งจะไม่หลับตื่นเข้าไว้ นั่งกรรมฐานเดี๋ยวมันก็จะหลับแล้วค่อยๆ ปล่อยให้หลับถ้าคิดว่าจะหลับ เหมือนเขาจะจับหมูลงเรือ ถ้าดึงลงเรือไปมันไม่ยอมลง เขาก็ต้องดึงเดินหน้าแล้วปล่อยให้มันถอยหลัง ค่อยๆ ผ่อนไปมันก็ลงไปในเรือเอง งั้นเรื่องการฝึกจิตก็ต้องมีกลวิธี เป็นนักรบที่ต้องมีอาวุธหลายๆ อย่าง ถ้าเรารบด้วยอาวุธอย่างเดียวเราก็อาจจะพ่ายแพ้ต่อข้าศึก บางขณะอาจจะต้องเน้นสมาธิบางครั้งเราทำงานทำการจิตใจวุ่นวายรับอารมณ์ไว้มาก ประสบการณ์การจะนั่งกำหนดทำสติให้ปกติทำไม่ได้ ก็ต้องเน้นในทางสมาธิบางครั้ง และในจำนวนการทำสมาธิก็มีวิธีการแตกต่างกันหลายอย่าง

แม้แต่การกำหนดลมหายใจ ก็มีวิธีการกำหนดหลายแบบหลายนัย ที่จะให้เป็นไปเพื่อความสงบ อนุพันธนานัย นัยตามลม ต้องคนถนัดที่จะตามดูลมหายใจตั้งแต่เริ่มเข้า ผ่านที่โพรงจมูก ปลายจมูก เข้าไปๆ กระทบทรวงอก ไปดันที่หน้าท้องพองขึ้น หายใจออกก็ตามรู้ท้องแฟบลง ผ่านกระทบทรวงอกออกไปทางปลายจมูก ตามลมเข้าไป ตามลมออกมา เรียกว่า อนุพันธนานัย นัยตามลม หรือบางคนก็อาจจะใช้ คณนานัย นับลมหายใจ ในอัตตคถาท่านก็สอนไว้ วิธีการนับ หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๒ หายใจเข้านับ ๓ หายใจออกนับ ๔ หายใจเข้านับ ๕ หายใจออกนับ ๑ หายใจเข้านับ ๒ หายใจออกนับ ๓ หายใจเข้านับ ๔ หายใจออกนับ ๕ หายใจเข้านับ ๖ แล้วก็ไปเริ่ม ๑ ถึง ๗ ๑ ถึง ๘ ๑ ถึง ๙ ๑ ถึง ๑๐ แล้วก็หมุนมา ๑ ถึง ๕ ใหม่ ไม่ให้ผิด นั่นเป็นวิธีการที่จะให้จิตมันระวังตัวมันก็จะตัดกระแสของเรื่องราวต่างๆ ไม่คิดไปเรื่องอดีต อนาคต เพราะจิตต้องคอยระวังอยู่กับการนับลมหายใจ

เมื่อจิตมาอยู่กับลมหายใจนานๆ มันก็เกิดสมาธิ เกิดความสงบหรือจะบริกรรม เช่น พุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พุทโธ พุทโธ นี่ก็อยู่ในประเภทคณนานัย นัยนับ ก็ให้เกิดความสงบได้ แล้วก็มีผุสนานัย นัยดูการกระทบของลมหายใจ หายใจเข้ากระทบ หายใจออกกระทบโพรงจมูก ไม่ได้ตามลมเข้าไปแต่ดูที่กระทบ สลักขณานัย ดูลักษณะของลมหายใจ ลมหายใจมันยาว ลมหายใจมันสั้น ลมหายใจมันหยาบ ลมหายใจมันละเอียด อย่างนี้เรียกว่า สังเกตดูลักษณะของลมหายใจต่างๆ อีกนัยหนึ่งก็คือนัยนิ่ง ดูไปนิ่งๆ อยู่เป็นจุดอย่างนั้น ก็เป็นไปเพื่อความสงบได้ อันนี้เป็นเรื่องของการทำสมาธิ หรือทำสมถะ บางครั้งก็เน้นมาทางสมาธิหรือบางคนบางท่านนั่งหลับตากำหนด กำหนดไม่เท่าไหร่ เพราะยิ่งคิดมากวุ่นวายมาก เพราะว่าไปบีบบังคับ เหมือนเรามีน้ำใส่ถุงไว้แล้วเราไปบีบมันก็ปลิ้นไปปลิ้นมา ต้องปล่อยต้องวางอาจจะลืมตาขึ้นปรับผ่อนคลี่คลายกำหนดให้คลี่คลาย จิตต้องมีทั้งการประคองบางขณะ

การประโลมหรือบางครั้งก็ใช้การข่ม อย่างเด็กเราเลี้ยงเด็กบางทีเด็กมาร้องไห้ บางทีเราตามใจเอาอะไรมาให้เขาก็เงียบ แต่บางทีให้แล้วเขาก็ไม่เงียบ เขาก็ร้องอยู่อย่างนั้น บางทีขู่เงียบ และบางทีก็ไม่เงียบ เอาใจก็แล้ว ขู่ก็แล้ว อะไรก็แล้วเลยปล่อยให้ร้องอยู่อย่างนั้น เด็กนี่ปล่อยให้ร้องเฉยๆ แงไปแงมาไม่มีใครสนใจ เขาก็เงียบเองละ จิตนี่ก็เหมือนกันบางทีมันดื้อปลอบก็แล้ว ขู่ก็แล้ว อะไรก็แล้ว ยังจะคิดวุ่นวายฟุ้งซ่าน ก็ปล่อยมันดูสิอยากฟุ้งก็ฟุ้ง อยากคิดก็คิด แต่ก็ตามดูอยู่ห่างๆ รู้ตามไปเรื่อยๆ ก็สงบเอง เหมือนเด็กน่ะเราปล่อยให้เด็กร้องแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะคลาดสายตาซะทีเดียวดูอยู่ นี่ปัญหาบางคนง่วงนั่งทีไรก็จะง่วง ถ้าจะหลับให้กำหนดดูลงไปที่ความง่วง กำหนดไปสิง่วงมันเป็นอย่างไรอยู่ตรงไหนกัน มันเป็นทุกข์มั้ย ง่วงทุกข์มันอยู่ตรงไหน ง่วงมันมีเวทนาเป็นทุกข์มั้ย มันมึน มันซึม มันล้าอยู่ตรงในสมองก็ดูลงไปตรงนั้น ให้ฝึกปฏิบัติไป

"ที่ใดมีของรัก ที่นั่นมีโศก
ที่ใดมีของรัก ที่นั่นมีภัย
เมื่อไม่มีของรักเสียแล้ว
โศกภัยก็ไม่มี
ที่ใดมีความรัก ที่นั่นมีโศก
ที่ใดมีความร้ก ที่นั่นมีภัย
เมื่อไม่มีความรักเสียแล้ว
โศกภัยก็ไม่มี"


สาธุ
 

_________________
ดีชั่วรู้หมด......แต่ใจคนเรามันอดไม่ได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ต่าย บร.
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 26 มี.ค.2007, 8:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ชอบอ่านคำสอนของพระครูเกษมธรรมทัตมากเลยค่ะ อ่านแล้วเข้าใจและตรงกับตัวเองมากเลยเวลาปฏิบัติ
ขอบคุณค่ะสำหรับบทความดีๆๆ ซึ้ง ซึ้ง ซึ้ง
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง