Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ธรรมบรรยาย ตอนที่ 6 ธรรมชาติจริงของชีวิต อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
kit_allwhat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 02 ส.ค. 2006
ตอบ: 25

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2006, 12:05 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ธรรมบรรยาย ตอนที่ 6
ธรรมชาติจริงของชีวิต

โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)


นมัสการพระรัตนตรัย ขอถวายความนอบน้อมแก่พระรัตนตรัย ขอความผาสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่อไปนี้จะได้ปรารถธรรมตามหลักคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาแสดงเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามหลักความเป็นจริงของชีวิต สิ่งที่พระองค์แสดงไว้ก็เป็นเรื่องความจริง เป็นเรื่องธรรมชาติ ยกเอาสิ่งที่เป็นธรรมชาติมาสอน มาแสดง ฉะนั้นก็จะได้กล่าวถึง ธรรมชาติที่พระองค์ได้ทราบและแสดงไว้ การศึกษาด้วยการฟังอย่างนี้เรียกว่าเป็น ปริยัติ คือการศึกษาให้รู้ หรือการฟังด้วยการศึกษาค้นคว้าจากตำหรับตำราก็ตามก็เป็นปริยัติ

และปริยัตินี้ก็ศึกษาให้ลึกซึ้งไปต่างๆ ก็จะทำให้กว้างขวางไปในแง่มุมต่างๆ ในความละเอียดของธรรมชาติ แต่ว่าเวลานำมาประพฤติปฏิบัตินั้นเราก็ต้องหยิบมาใช้กับการปฏิบัติให้ได้ด้วยนะ แล้วเวลาที่เรานำมาประพฤติปฏิบัติไม่ใช่เราจะมีความสามารถได้รู้ได้เห็นตามหลักปริยัติโดยถ้วนถี่ทั้งหมด เพราะนั้นเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์นั้นสามารถจะรู้ได้โดยถี่ถ้วนทั้งหมด ในธรรมชาติทั้งหมดที่มีอยู่ แต่เราไม่สามารถมีปัญญาเข้าไปรู้ได้ ไปทั่วถึงทั้งหมดได้ แต่ความรู้ที่ไม่ทั่วถึงนั่นก็พอเพียงต่อการที่จะคลายจากกิเลสได้ ฉะนั้นการยกหลักปริยัติมาแสดงนี้เราก็ฟังเป็นเครื่องประดับความรู้ บางส่วนเวลาปฏิบัติก็อาจจะไม่ได้นำมาใช้ แต่ก็เป็นหลักความรู้ไว้

สิ่งที่เป็นธรรมชาติ คือสิ่งที่มันมีมันเป็นอยู่ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ เป็นธรรมชาติคือ มันไม่ใช่สัตว์บุคคล ธรรมชาตินี้ที่อยู่ในอัตภาพของมนุษย์ที่ประกอบมาเป็นร่างกาย เป็นชีวิตจิตใจที่เรียกว่ามนุษย์ พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงไว้ว่าแยกแยะออกไปแล้วมันมีอะไรบ้าง หรือธรรมชาติที่มันประกอบขึ้นมาเป็นสัตว์เดียรัจฉานมันมีสภาวะธรรมชาติอะไร อย่างไรบ้าง หรือสัตว์อื่นๆ ก็ตาม พระองค์ก็ทรงแสดงไว้หมด ธรรมชาติที่นอกตัวออกไปนั้นก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน พระองค์ก็ทราบแสดงไว้ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ภูเขา อย่างนี้มันก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน

ทีนี้เราจะมากล่าวถึงในส่วนที่ประกอบมาเป็นร่างกายเป็นชีวิตสิ่งที่มนุษย์ที่มันมีธรรมชาติอะไรบ้างนะ ปกติแล้วการสื่อสัมผัสต่อสิ่งภายนอก เราก็มีช่องทางที่จะเลือกกันอยู่ ๖ ทางด้วยกันคือ ทางหู ทางจมูก ทางตา ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ทีนี้ว่ามันมีธรรมชาติที่เกิดขึ้นทำหน้าที่กันหลายชนิดด้วยกันในทางใดในทางหนึ่ง นับตั้งแต่ทวารทางตานี้ สิ่งที่เป็นธรรมชาตินั้นมันก็มีหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งเราจะจัดออกเป็นธรรมชาติที่ไม่สามารถจะรับรู้อะไรได้ อย่างนี้เราเรียกว่ารูป รูปธรรม พูดสั้นๆ ว่า รูป ส่วนธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ได้เข้าไปรู้อารมณ์ได้นี้ เราก็เรียกว่าเป็น นามธรรม

ฉะนั้นในชีวิตอัตภาพที่ประกอบกันเป็นมนุษย์นี้ แยกออกไปแล้วมันก็มีอยู่สองอย่างสองประเภท คือ ส่วนที่เป็นรูป กับส่วนที่เป็นนาม ธรรมชาติที่เป็นรูป กับธรรมชาติที่เป็นนาม นี่คือของจริง คือธรรมชาติที่มีอยู่จริงๆ เราก็มาดูว่ามันมีอะไรบ้าง ในทางตา มันก็มีประสาทตาเรียกว่า จักษุประสาท เป็นความใส สภาพของจักษุประสาทจะมีลักษณะใส พระพุทธเจ้าแสดงไว้ว่ามันมีลักษณะเป็นความใส ในการที่จะรับสี หรือว่ารูปที่มันผ่านมา (รูปารมณ์) การรับแบบนี้มันก็รับแบบไม่รู้ รับแต่ไม่รู้ สิ่งที่มาสัมผัสมากระทบหรือมาปรากฏทางตา ปรากฏเฉพาะทางตาก็มีสีต่างๆ เราเรียกว่า รูป รูปนั่นแหละที่เป็นธรรมชาติที่มาถูกรู้ เราก็เรียกว่า อารมณ์

รูปบวกกับอารมณ์ก็เป็นคำว่า รูปารมณ์ คำว่ารูปารมณ์ก็คือ คำว่ารูปบวกกับคำว่าอารมณ์ สนธิกันแล้วก็เป็นรูปารมณ์หรืออารมณ์ คือรูปอันนี้ก็ตรงตัว เป็นรูปธรรม เพราะที่มันไม่สามารถจะรู้อารมณ์ได้ สีต่างๆ นั้นไม่สามารถจะรู้อารมณ์ได้ ฉะนั้น ก็เป็นเพียงถูกรู้ ประสาทตาก็เป็นเพียงถูกรู้ สีต่างๆ ก็เป็นเพียงถูกรู้ไม่สามารถจะรู้อารมณ์ได้ ฉะนั้นก็เป็นเพียงอารมณ์ คือเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ สีกับประสาทตามันก็สามารถจะกระทบ ประสาทตาก็รับสีแต่รับโดยที่ไม่รู้ อุปมาเหมือนกับทัพพีที่ตักแกง ทัพพีไปตักแกงมันก็ไม่รู้รสแกง แต่มันก็ไปสัมผัสกับแกงได้ อุปมาเหมือนกับประสาทตา น้ำแกงก็เหมือนกับสีต่างๆ ตาก็ไม่รู้สี สีก็ไม่รู้ตา แต่ก็มาสัมผัสกันได้มากระทบ

ธรรมชาติที่รู้สี หรือไปรับรู้รูป ก็คือ จักษุวิญญาณ เรียกว่าจิตที่เกิดทางตา จิตที่เกิดทางจักษุ จักษุก็คือตา ประสาทตานี้ วิญญาณก็คือ ธรรมชาติรู้ หรือเรียกว่าจิต จิตที่เกิดที่จักษุก็เรียกว่า จักษุวิญญาณ โดยสภาพแล้วก็คือ การเห็นนั้นเอง ที่กล่าวมาแล้วก็มีสามอย่างด้วยกัน มีตา มีสีต่างๆ มีการเห็น จัดเป็นรูปเป็นนามแล้ว สิ่งที่ผ่านมาทางตา กับประสาทตานั้นเป็นรูปธรรม เพราะไม่สามารถจะรับรู้อารมณ์ได้ ส่วนการเห็นนั้น คือจิตเป็นนามธรรม เพราะว่าอะไร เพราะมันรับรู้อารมณ์ได้ มันไปรู้อารมณ์อันใด มันก็ไปรู้รูปารมณ์ คือไปรู้สีนั้นเอง การเห็นนั้น ถามว่าเห็นอะไร ก็เห็นสี เห็นสีต่างๆ การเห็นนั้นนะก็หมายถึงการไปรับรู้

สภาพเห็นนี้มันไปรับรู้สี มันต่างจากตา ตานะมันไปรับสีเฉยๆ แต่จักษุวิญญาณนั้นมันรับรู้ รับแล้วรู้ด้วยคือการเห็น นี่คือลักษณะของวิญญาณ จิตวิญญาณกับรูปมันจึงต่างกัน รูปนั้นมันรับแต่มันไม่รู้เรื่อง มันรับแบบไม่รู้ แต่วิญญาณมันรับรู้ มันรู้นะ จึงจัดเป็นนามธรรม นี่คือธรรมชาติที่เกิดขึ้นที่ตา การเห็นนั้นก็จะเห็นได้เพียงอย่างเดียว ได้เพียงอารมณ์เดียวคือ รูปารมณ์ คือสีต่างๆ เท่านั้น การเห็นนี่ไม่สามารถจะไปเห็นเสียง เห็นไม่ได้ เห็นเสียง เห็นกลิ่น เห็นรส เห็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง เห็นอะไรไม่ได้ทั้งหมด เห็นได้เพียงอย่างเดียวคือ สีเท่านั้นเอง เห็นสีต่างๆ นี้ก็ไม่รู้ว่าสีนั้นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้อะไรนี่ เห็นเฉยๆ เห็นสีเท่านั้นแต่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นั่นคือลักษณะการเห็นที่แท้จริง

สภาพที่เห็นที่แท้จริง ก็คือ เห็นแต่ไม่รู้ว่าอะไร เป็นอะไร สำหรับจักษุวิญญาณซึ่งเกิดที่ประสาทตา จักษุวิญญาณที่จะไปเกิดที่ประสาทตา รับสีเข้าไปสีต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เป็นสีนั้นคืออะไร ไม่รู้ แต่นี่ขณะที่ไปรู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไร มันไม่ใช่การเห็นแล้ว มันไม่ใช่จิตที่เกิดที่ตาแล้ว ไม่ใช่จักษุวิญญาณแล้ว มันกลายมาเป็นมโนวิญญาณ คือเป็นจิตอีกชนิดหนึ่งไม่ใช่จิตที่เกิดที่ตา แต่เป็นจิตที่เกิดที่มโนทวาร เกิดที่ใจไปรู้ถึงรูปร่างสัณฐานของสีนั้น ไปรู้ความหมายของสีนั้น ไปรู้ชื่อของสีนั้น อันนี้เป็นมโนวิญญาณแล้ว

มโนวิญญาณก็คือ จิตที่เกิดทางใจ ทางมโนทวาร เป็นคนละดวงกันแล้ว การเห็นคือจักษุวิญญาณเกิดที่ประสาทตา เกิดที่ประสาทตาเลย ส่วนการเข้าไปรู้ถึงสิ่งที่เห็นนั้นว่าเป็นอะไร เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย ชื่ออย่างนั้น อย่างนี้ซึ่งจะต้องเกิดจากการตรึกนึกถึงสีนั้น ประมวลออกมาเป็นรูปร่าง ตรึกนึกไปสู่ความหมายของสีนั้น เรียกชื่อได้อย่างนี้ อย่างนั้นก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นทางใจ ทางมโนทวาร ซึ่งต้องเกิดขึ้นหลายดวงทำหน้าที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นว่าเป็นอะไร เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย อะไรนี่ เป็นจิตที่เกิดที่หทัยวัตถุ เกิดที่รูปหัวใจ เกิดที่มโนทวาร

การเห็นจริงๆ นั้นไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรนะ แล้วก็มีจิตอีกประเภทหนึ่งที่ไปมีความรู้สึกหรือไปเสพในสิ่งที่เห็นนั้นด้วย ความรู้สึกที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจคือไปรัก ไปชิง ไปชอบ ไปเกลียด อันนี้ก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้เกิดที่ตา แต่มาเกิดที่มโนทวาร เกิดที่หัวใจนี่ ซึ่งก็เป็นจิตเหมือนกัน เป็นธรรมชาติที่มีอยู่จริง ฉะนั้น จะเห็นว่าเมื่อเกิดการเห็นขึ้นทางตา เกิดธรรมชาติปรากฏทางตาขึ้นมา มันก็มีขบวนการทางจิตนะ เชื่อมโยงไปถึงจิตที่เกิดทางมโนทวาร เห็นแล้วก็นำจิตไปตรึกไปสู่รูปร่างของสีที่เห็นนั้น ตีออกมาเป็นรูปร่างสัณฐาน ตีออกมาเป็นความหมาย ตีชื่อใส่ชื่อลงไปได้ด้วย

สัญญาความจำเข้ามาผสมกันในจิตทางมโนทวารก็เลยบอกได้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือคน คือสุนัข คือโต๊ะ เก้าอี้ อะไรต่างๆ ในขณะนั้นอารมณ์ไม่ใช่เป็นของจริงแล้ว อารมณ์ที่เป็นรูปร่างสัณฐานก็ดีเป็นความหมายก็ดี เป็นชื่อต่างๆ ก็ดี นั่นไม่ใช่ธรรมชาติแล้ว ไม่ใช่ของจริงไม่ใช่ปรมัตถ์ เรียกว่าเป็นบัญญัติ หรือสมมุติ เป็นอารมณ์ที่จิตมันสมมุติขึ้นมา จิตมันตรึกนึกปรุงขึ้นมาอาศัยสัญญาความจำที่จำไว้ ก็ตีความหมายของสีที่เห็นนั้น ประมวลออกมาเป็นรูปร่างเป็นความหมายเป็นชื่อต่างๆ ฉะนั้น ถ้าหากเราจะไล่ดูว่าในขณะเห็นนั้น สภาพเห็นนั้นเป็นปรมัตถ์คือรูปธรรม จิตที่ประมวลถึงรูปร่าง ความหมาย ชื่อนั้นก็เป็นปรมัตถ์คือนามธรรมส่วนชื่อรูปร่าง ความหมายนั้นเป็นบัญญัติแล้ว เป็นอารมณ์เหมือนกันแต่ว่าเป็นบัญญัติ

อารมณ์นั้นมีทั้งปรมัตถ์มีทั้งบัญญัติ อารมณ์ที่เป็นธรรมชาติจริงๆ ก็มี อารมณ์ที่เป็นบัญญัติก็มีคือไม่มีสภาวะ ไม่ได้เป็นสภาวะที่มีความเกิดความดับ คือไม่ได้ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยทั้งสี่ ฉะนั้นมันก็จะไม่มีการเกิดการดับอะไร แต่มันก็เป็นอารมณ์คือเป็นสิ่งถูกรู้ของจิตได้ จิตนั้นเข้าไปรู้ ไปรับความหมายรับรูปร่าง รับชื่อ ชื่อก็ดี ความหมายก็ดี รูปร่างสัณฐานอันนั้นเป็นอารมณ์ของจิต เป็นสิ่งที่ถูกรู้ของจิต แต่เป็นอารมณ์ที่ไม่ใช่สภาวะ ไม่ใช่ธรรมชาติที่แท้จริงนะ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความรัก ความชัง อันนี้เป็นของจริง เกิดที่มโนทวาร ไม่ได้เกิดที่ตาแล้ว เกิดที่มโนทวารเป็นนามธรรมเป็นของจริง ความรัก ความชัง ความโกรธ ความเกลียด ความชอบใจ ติดใจ อะไรนี่เป็นของจริง เป็นนามธรรม บางทีก็ความสงสัยต่อสิ่งที่เห็น บางทีก็มีความเกลียด ความโกรธ ความรัก ยินดี ติดใจ อะไรเหล่านี้ก็เป็นของจริงทั้งนั้น เป็นปรมัตถ์ เป็นนามธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ทีนี้การเจริญสติ เจริญวิปัสสนา ตามหลักแล้วก็ให้เจริญสติอยู่ที่ปรมัตถ์อยู่ที่รูปนาม ฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ระลึกเจริญสติระลึกรู้ที่ปรมัตถ์ คือรูปนาม อย่างทางตานี่ก็รู้ที่อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นบัญญัติ สีต่างๆ เป็นปรมัตถ์ การเห็นเป็นปรมัตถ์ ในส่วนของนามธรรม ประสาทตาก็เป็นปรมัตถ์ในส่วนของรูปธรรม แต่เราอาจจะระลึกไม่ออกว่าประสาทตาอยู่ตรงไหน อย่างไร อันนี้ก็ไม่เป็นไร ถ้าเกิดสติปัญญาที่เราจะไปรับรู้ได้ก็แต่ว่าสี การเห็นนี่เป็นสิ่งที่พอจะระลึกรู้ได้ สีกับการเห็นจึงไม่ใช่สิ่งอันเดียวกัน สีต่างๆ มันอยู่ที่วัตถุ สีสรรของวัตถุต่างๆ ส่วนการเห็นมันอยู่ที่ตา มีกระแสไปรับรู้สีเหล่านั้น ความชอบใจไม่ชอบใจเป็นปรมัตถ์เป็นนามธรรม หรือก่อนจะชอบใจนะมันมีการระลึกนึกถึงความหมาย รูปร่างสัณฐาน ถึงชื่อก็เป็น ปรมัตถ์เหมือนกัน ขณะที่ระลึกนึกถึงความหมายเป็นปรมัตถ์ แต่ความหมายรูปร่างสัณฐาน ชื่อนั้นเป็นบัญญัติ ต่อจากการระลึกนึกไปแล้วมันก็เกิดความชอบใจ ไม่ชอบใจ ฉะนั้นการชอบใจไม่ชอบใจมันก็มาจากการที่จิตไปรับถึงบัญญัติ

จิตไปตรึกถึงความหมายของสิ่งเหล่านั้น ถ้าจิตไม่ระลึกไปสู่ความหมายของสิ่งเหล่านั้นแล้ว ความรักความชังมันก็ไม่มี ไม่เกิดขึ้น ความรัก ความชัง ความเกลียด ความชอบใจ มันเกิดจากการที่จิตไปปรุงไปสู่บัญญัติ อย่างเช่นเราเกลียดนี่เราเกลียดอะไร สมมุติว่าเราไม่ชอบใจคนใดคนหนึ่ง พอเราเห็นปุ๊ป จิตมันก็ประมวลให้รู้ว่า อ๋อนี่คนนั้น คนนี้ คนนั้นเคยพูดไม่ดีกับเรา มันก็เกิดความเกลียดขึ้นมา ซึ่งขณะที่นึกขึ้นมาว่านี่คือ คนนั้น มันเป็นบัญญัติแล้ว คือรู้ความหมาย คือไปใส่ความหมายของสิ่งที่เห็นให้รู้ว่านั้นคือคน คนนั้นชื่ออะไร คนนั้นเคยมีคำพูดกับเราอย่างนั้น เคยมีปฏิกิริยากับเรา ซึ่งมันก็ต้องมีเป็นบัญญัติต่างๆ ออกนั้น คือจิตกำลังระลึกนึกไปสู่ความหมายเหล่านั้น ความไม่ชอบใจก็เกิดขึ้น อันนี้เป็นไปตามขบวนการทางธรรมชาติที่มันเป็นไปอย่างนั้น

ฉะนั้น กิเลสต่างๆ นี้ มันเกิดขึ้นมาก็เพราะว่า การที่จิตระลึกนึกไปสู่บัญญัติ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เราเขา เป็นผู้หญิง ผู้ชาย เป็นชื่อนั้น เป็นชื่อนี้ ใส่ความหมายว่าคนนั้น คนนี้ ความรัก ความชังก็เกิดขึ้นได้ แต่นี้ถ้าหากว่า ถ้าเราไม่ล่วงเลยไปสู่บัญญัติ ความโกรธ ความเกลียด มันก็ไม่เกิดขึ้น ความรัก ความชัง เพราะว่าสีก็ดี การเห็นก็ดี มันไม่ใช่สัตว์บุคคล มันเป็นเพียงธรรมชาติ จิตมันจะไปเกลียด ไปรัก ไปชังอะไรมันไม่ได้ อันนี้ตามหลักการมันจะเป็นอย่างนั้น ที่เรารัก เราชัง เราเกลียดก็เพราะว่าไปรัก ไปชัง ในสมมุติบัญญัติ ไปใส่ความหมายใส่ค่าลงไป

ฉะนั้น การปฏิบัติก็ต้องพยายามเจริญสติให้อยู่กับปรมัตถ์ เมื่อเกิดมีการเห็นขึ้นมา ระลึกรู้ได้ขณะหนึ่ง ไม่สามารถจะยับยั้งขบวนการรับรู้ทางตาได้ มันก็จะปรุงแต่งออกไปเป็นรูปร่าง เป็นความหมาย ขณะนั้น ปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นก็คือ จิตที่เกิดขึ้นทางมโนทวาร หรือว่ามันล่วงเลยไปสู่ความรัก ความชัง ก็เป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นทางใจ ถ้าจะเกิดสติขึ้น ในช่วงที่มันมีความรักความชังแล้ว มันก็จะมีสติรู้ที่ความรู้สึกในใจที่กำลังมีความรัก ความชัง ก็ยังระลึกปรมัตถธรรม มันก็ตัดกระแสที่ปรุงออกไป ยาวขึ้นไปอีก ที่จะเกิดความรัก ความชังมากขึ้น นึกถึงสมมุติบัญญัติมากขึ้น คนนั้นอย่างนี้ คนนี้อย่างนั้น นึกถึงอดีต อนาคตไปมาก มันก็ตัดกระแสอยู่แค่นั้น สติที่ระลึกรู้ปรมัตถ์ มันก็ตัดกระแสสมมุติบัญญัติ เมื่อสติมันมาอยู่กับปรมัตถ์ มันก็จะมีความเป็นปกติของจิตขึ้นได้ขณะหนึ่งๆ

แต่ว่าเนื่องจากว่ากำลังของกระแสจิตที่มันไปมีความรู้สึกต่ออารมณ์นั้น เช่น ความเกลียดชัง มันมีกำลังมันก็เกิดต่อๆ ขึ้นได้อีก สติมันรู้ครั้งเดียวไม่ได้ รู้ครั้งเดียวก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะยับยั้ง อาการของการเกลียดชังที่จะเกิดต่อๆ กันนั้น มันย่อมจะเกิดขึ้นได้ต่อๆ กัน ฉะนั้น สติก็ต้องเกิดขึ้น เกิดขึ้นอยู่จนสติมันมีกำลัง ทำให้ความรู้สึกที่เป็นกิเลสนั้นไม่เกิดต่อ หรือ เกิดต่อน้อยลงๆ จนหยุดไป ภาวะในจิตก็กลายเป็นกุศลขึ้นมา เป็นความปกติ คือสติจะเกิดพร้อมกับกุศล สตินี่ถ้าเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยกุศลจิต ฉะนั้นเมื่อสติเกิดมากขึ้นๆ กุศลจิตก็เกิดขึ้นมาแทนที่อกุศลที่เป็นความโกรธเกลียดนั้น เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้น สภาพจิตก็มีความปลอดโปร่งขึ้น จิตใจก็มีความปกติสบายใจ

ฉะนั้นการปฏิบัติเจริญวิปัสสนานั้นจึงไม่ต้องไปคิดอะไร เพียงสติให้ระลึกรู้เท่าทันต่อปรมัตถ์อยู่ ระลึกปรมัตถ์ที่เป็นปัจจุบันอยู่ มันก็ทำลายอกุศลธรรมลงไปได้ด้วยตัวของมันเอง เมื่อกุศลเกิดขึ้นๆ อกุศลก็จางลง กุศลมาแทนที่ในปัจจุบันธรรมเหมือนกับเก้าอี้ตัวเดียวที่สองคนแย่งกันระหว่างกิเลสกับกุศล ถ้ากุศลเข้ามาแทนที่ อกุศลก็ตกไปจากเก้าอี้นั้น แต่การจะนั่งก็นั่งได้แป๊บเดียว ถึงจะเป็นกุศลก็นั่งได้แป๊ปเดียว ถ้าไม่มีการเสริมมาอีก อกุศลก็เข้ามาอีก ฉะนั้นถ้าหากว่า มีสติระลึก มีสติระลึกว่า รู้อยู่ อกุศลก็จะละไปในตัว คือ อกุศลไม่เกิดต่อขึ้นมาอีก

"เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น ก็เท่ากับว่าเพียรละอกุศลไปในตัว" อันนี้ก็เป็นการละในวิธีการของวิปัสสนา แต่ถ้าเราจะละอกุศลในวิธีการที่ไม่ใช่วิปัสสนาก็ละได้ในลักษณะที่ไม่ได้ศึกษาความเป็นจริง ละแบบใช้อุบายวิธี เช่น เราคิดนึกสอนจิตใจของตัวเองว่าไม่ควรจะไปโกรธ ไปเกลียด โดยให้เหตุผลอย่างนั้น อย่างนี้ ก็สามารถจะทำให้กิเลสที่มันเกิดขึ้นขณะนั้นถูกละไปได้เช่นเดียวกัน คือ สงบระงับไปได้ แต่มันไม่ได้เป็นวิธีการของวิปัสสนา เมื่อไม่ใช่วิธีการของวิปัสสนา มันก็ไม่มีแนวทางแห่งการที่จะละโดยเด็ดขาดได้ ไม่มีการสะสมเหตุและปัจจัยเข้าไปสู่การละโดยเด็ดขาดได้ ที่เรียกว่า ประหารอนุสัยกิเลส การที่จะเข้าไปสู่การละโดยเด็ดขาด หรือ ประหารกิเลสโดยเด็ดขาด ก็ต้องสะสมวิธีของวิปัสสนา


สาธุ
 

_________________
ดีชั่วรู้หมด......แต่ใจคนเรามันอดไม่ได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง