|
|
|
 |
ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่

เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773
|
ตอบเมื่อ:
26 ก.ค.2006, 1:44 pm |
  |
จาก พระสูตรกุตุหลสาลสูตร (จากพระไตรปิฏกเล่มที่ 18 ข้อ 799 และ 800)
มีข้อที่น่าสนใจอยู่2ประเด็นคือ
1.ประเด็น
..พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
เราย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น
หาบัญญัติแก่ คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่ และ
2.ประเด็น
"ความเคลือบแคลงสงสัยของวัจฉโคตร"จากพระสูตรนี้
[๗๙๙] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป
แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อวันก่อนๆ โน้น พวกสมณพราหมณ์และปริพาชกผู้ถือลัทธิ
อื่นมากด้วยกัน นั่งประชุมกันในศาลาวุ่นวาย ได้เกิดมีการสนทนาขึ้นในระหว่างว่า ปูรณกัสสปนี้แลเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี
ปูรณกัสสปนั้นย่อมพยากรณ์สาวกผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้
แม้สาวกคนใดของท่านปูรณกัสสปนั้นเป็นบุรุษสูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม บรรลุความปฏิบัติยอดเยี่ยมแล้ว ท่านปูรณกัสสปก็ย่อมพยากรณ์สาวกแม้นั้นผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้
แม้มักขลิโคสาล... แม้นิครณฐนาฏบุตร... แม้สญชัยเวลัฏฐบุตร... แม้ปกุธกัจจานะ
... แม้อชิตเกสกัมพลก็เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ
เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี
แม้ท่านอชิตเกสกัมพลนั้นก็ย่อมพยากรณ์สาวกผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้
แม้สาวกใดของท่านอชิตเกสกัมพลนั้นเป็นบุรุษ สูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม ได้บรรลุความปฏิบัติอันยอดเยี่ยมแล้ว ท่านอชิตเกสกัมพลก็ย่อมพยากรณ์สาวกผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วแม้นั้นในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้เหมือนกัน
แม้พระสมณโคดมนี้ก็เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็น
เจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี
แม้พระสมณโคดมนั้น ก็ทรงพยากรณ์สาวกผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้
และสาวกของพระสมณโคดมนั้น รูปใดเป็นบุรุษสูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม ได้บรรลุความปฏิบัติอันยอดเยี่ยมแล้ว พระสมณโคดมก็ทรงพยากรณ์สาวกรูปนั้น ผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้เหมือนกัน
ยิ่งกว่านั้น.........
พระสมณโคดมนั้นยังทรงพยากรณ์สาวกรูปนั้นอย่างนี้ว่า รูปโน้นตัดตัณหาขาดแล้ว
ถอนสังโยชน์ทิ้งเสียแล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์แล้วเพราะได้บรรลุเหตุที่ละมานะได้
โดยชอบ ดังนี้
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้านั้น มีความเคลือบแคลงสงสัย
แท้ว่า อย่างไรๆ พระสมณโคดมก็ต้องทรงรู้ธรรมอันบุคคลพึงรู้ยิ่ง ฯ
[๘๐๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรวัจฉะ จริงทีเดียว ควรที่ท่านจะ
สงสัยเคลือบแคลงใจ ความเคลือบแคลงเกิดขึ้นแล้วแก่ท่านในฐานะที่ควรสงสัย
ดูกรวัจฉะ เราย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น หาบัญญัติแก่คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่
ดูกรวัจฉะ ไฟมีเชื้อจึงลุกโพลง ไม่มีเชื้อหาลุกโพลงไม่แม้ฉันใด
ดูกรวัจฉะ เราก็ย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทานหาบัญญัติแก่คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่ ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ
ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยใด เปลวไฟถูกลมพัด ย่อมไปไกลได้
ก็พระโคดมผู้เจริญจะทรงบัญญัติอะไรแก่เปลวไฟนี้ ในเพราะเชื้อเล่า ฯ
พ. ดูกรวัจฉะ สมัยใด เปลวไฟถูกลมพัด ย่อมไปไกลได้ เราย่อม
บัญญัติเชื้อ คือ ลมนั้น ดูกรวัจฉะ เพราะว่าสมัยนั้น ลมย่อมเป็นเชื้อของ
เปลวไฟนั้น ฯ
ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยใด สัตว์ย่อมทอดทิ้งกายนี้ด้วย ไม่
เข้าถึงกายอันใดอันหนึ่งด้วย ก็พระโคดมผู้เจริญ จะทรงบัญญัติอะไรแก่สัตว์นี้ใน
เพราะอุปาทานเล่า ฯ
พ. ดูกรวัจฉะ สมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้ด้วย ไม่เข้าถึงกายอันใดอันหนึ่งด้วย เราย่อมบัญญัติอุปาทาน คือ ตัณหานั่นแล ดูกรวัจฉะ เพราะว่าสมัยนั้น ตัณหาย่อมเป็นเชื้อของสัตว์นั้น ฯ
===========================================
กระทู้นี้เป็นกระทู้ต่อเนื่องจาก
ปรินิพพาน คืออะไร
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6091&start=0&postdays=0&postorder=asc&highlight= |
|
แก้ไขล่าสุดโดย ตรงประเด็น เมื่อ 26 ก.ค.2006, 2:00 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง |
|
  |
 |
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่

เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773
|
ตอบเมื่อ:
26 ก.ค.2006, 1:50 pm |
  |
.พระพุทธองค์ทรงบัญญัติการเกิดเฉพาะกับผู้มีอุปาทาน เท่านั้น
.พระพุทธองค์ไม่ทรงบัญญัติการเกิดกับผู้หมดอุปาทาน
อุปาทานเป็นปัจจัยของภพ
ภพเป็นปัจจัยของชาติ
เมื่อหมดอุปาทานก็หมดเกิดนั่นเอง......จากปฏิจจสมุปบาท
ที่ต้องให้ความสนใจคือการเกิดในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์กล่าวถึงการเกิดของอะไรระหว่าง
1.การเกิดจริงๆแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ หรือ
2.เป็นการกล่าวว่าการเกิดนี้เป็นการเกิดขึ้นของความรู้สึกว่าเป็นตัวกู-ของกู(อหังการ-มมังการ)
ลองพิจารณาถึง การตาย ที่ตรัสในพระสูตรนี้ให้ละเอียดน่ะครับ
..
มีพระพุทธวจนะที่ตรัสถึง
. การตายแล้วไปเกิดในภพใหม่ ที่บรรยายด้วยคำว่าผู้นั้นกระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลาย
.. คำว่ากระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วนี้หมายถึงตายจริงๆน่ะครับ คือ คนตายนี่ล่ะครับ
มันจะเป็นไปได้ไหมครับ ที่การเกิดหรืออุปบัติที่พระพุทธองค์ทรงกำลังตรัสอยู่นี้ จะกลายเป็นการเกิดขึ้นของความรู้สึกว่าเป็นตัวกู-ของกู(อหังการ-มมังการ)
ในเมื่อการตายที่พระองค์ทรงกำลังตรัสอยู่นี้คือ การตายจริงๆ ......ก็ฝากไว้พิจารณาอีกพระสูตรหนึ่ง
ประเด็นต่อไป ลองดูตรงความสงสัยของวัจฉโคตรน่ะครับ
.จากพระสูตรที่ว่า
..แม้พระสมณโคดมนั้น ก็ทรงพยากรณ์สาวกผู้ กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่าน โน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้ และสาวกของพระสมณโคดมนั้น รูปใดเป็นบุรุษ สูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม ได้บรรลุความปฏิบัติอันยอดเยี่ยมแล้ว พระสมณโคดม ก็ทรงพยากรณ์สาวกรูปนั้น ผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่าน โน่นเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้เหมือนกัน
..ยิ่งกว่านั้น พระสมณโคดมนั้นยังทรงพยากรณ์สาวกรูปนั้นอย่างนี้ว่า รูปโน้นตัดตัณหาขาดแล้ว ถอนสังโยชน์ทิ้งเสียแล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์แล้วเพราะได้บรรลุเหตุที่ละมานะได้ โดยชอบ ดังนี้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้านั้น มีความเคลือบแคลงสงสัย แท้ว่า อย่างไรๆ พระสมณโคดมก็ต้องทรงรู้ธรรมอันบุคคลพึงรู้ยิ่ง ฯ
ก็คือ วัจฉโคตรในพระสูตรนี้กำลังสงสัยตรงที่ว่าพระพุทธองค์เองก็ทรงพยากรณ์ว่าสาวกรูปนั้นๆ ว่าไปเกิดในภพโน้นๆ เหมือนกันกับเจ้าลัทธิอื่นๆเหมือนกัน
..
แต่พระพุทธองค์แตกต่างจากเจ้าลัทธิอื่น ตรงที่ทรงพยากรณ์ยิ่งกว่านั้น ว่ามีสาวกบางองค์ของพระองค์ที่ตัดตัณหาขาดแล้ว ถอนสังโยชน์ทิ้งเสียแล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว
พระพุทธองค์ไม่ได้พยากรณ์ว่า สาวกที่เป็นพระอรหันต์ไปเกิดในภพไหน
วัจฉโคตรเหมือนกับกำลังสงสัยว่า แล้ว พระอรหันต์เหล่านี้เล่า ไปเกิดในภพไหนๆ
โปรดอย่าลืมว่า วัจฉโคตรในขณะนั้นกำลังเป็นสัสตทิฏฐิอยู่
. กล่าวคือ เชื่อว่ามีอัตตาที่เที่ยงแท้ถาวรเป็นตัวยืนโรง ไปคอยท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสตอบว่า
.ดูกรวัจฉะ จริงทีเดียว ควรที่ท่านจะ สงสัยเคลือบแคลงใจ ความเคลือบแคลงเกิดขึ้นแล้วแก่ท่านในฐานะที่ควรสงสัย
. ดูกรวัจฉะ เราย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น หาบัญญัติแก่ คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่
.ดูกรวัจฉะ ไฟมีเชื้อจึงลุกโพลง ไม่มีเชื้อหาลุกโพลงไม่ แม้ฉันใด ดูกรวัจฉะ เราก็ย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทาน หาบัญญัติแก่คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่ ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ
.
เพราะอะไร พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า วัจฉโคตรจะสงสัยเคลือบแคลงใจในเรื่องนี้ ในฐานะที่ควรสงสัย
.. ก็เพราะว่า วัจฉโคตรเชื่อว่ามีอัตตาที่เที่ยงแท้ถาวรเป็นตัวยืนโรงไปคอยเวียนว่ายตายเกิดนั้นเอง วัจฉโคตรจึงเคลือบแคลงสงสัยหรือ ไม่เข้าใจว่าพระอรหันต์ดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แล้วทำไมพระพุทธองค์จึงไม่ทรงตรัสว่าท่านไปเกิดใหม่ในภพใดๆ
.. และพระพุทธองค์ก็ทรงอธิบายการที่พระอรหันต์ดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแล้วไม่เกิดใหม่ในภพใดๆอีก ด้วยการอุปมาเปรียบเทียบไฟที่หมดเชื้อให้เข้าใจว่า ไฟที่หมดเชื้อย่อมดับสนิทลงฉันใด คล้ายๆกับการที่พระอรหันต์ไม่เกิดใหม่ในภพใดๆเพราะหมดเชื้อของการเกิดฉันนั้น ๆลๆ
พระพุทธองค์ทรงกำลังอธิบายปฏิจจสมุปบาท ว่าการเกิดนั้นเป็นผลจากอุปาทาน(และภพ).... เมื่อหมดอุปาทานย่อมไม่บัญญัติการเกิดอีก...... การเกิดนั้นมีปัจจัย เมื่อปัจจัยดับไป การเกิดก็ยุติลง...... หาได้มีอัตตาที่เที่ยงแท้ถาวรใดๆเป็นตัวยืนโรงไปคอยเวียนว่ายตายเกิดแบบแนวคิดของสัสตทิฏฐิไม่
###อุปาทานนี้จึงเป็นจุดสำคัญ...... เพราะนอกจากจะทำให้เรา-ท่านเป็นทุกข์ใจในปัจจุบัน ด้วยขันธ์๕ที่จิตเข้าไปสำคัญมั่นหมายนั้น แปรไปเป็นอื่นไป(ตามนัยยะของอัตตทีปสูตร)แล้ว......อุปาทานนี้ยังเป็นแรงผลักดันให้สัตว์เกิดใหม่ในภพต่างๆด้วย เช่นที่แสดงไว้ในพระสูตรกุตุหลสาลาสูตรนี้ |
|
|
|
  |
 |
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่

เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773
|
ตอบเมื่อ:
26 ก.ค.2006, 5:51 pm |
  |
มาต่อกันเรื่อง"อุปาทาน" กับ"การเกิด"กันต่อน่ะครับ.....
มันเกี่ยวข้องกับเรื่องปฏิจจสมุปบาทอย่างเลี่ยงไม่ได้.....
ขออนุญาตนำบทความที่เกี่ยวเนื่องกับ"การเกิด"ในปฏิจจสมุปบาทมาลง จากนานาสาระของผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่าน
============================================
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
เกิด แก่ ตาย
เพราะฉะนั้นในทางจิตใจที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อดูเพียงง่ายๆ ก็จะเห็นว่าเมื่อมีเกิด ก็มีแก่ มีตาย มีทุกข์มีโศกต่างๆ ดังที่เห็นกันอยู่ ว่าทุกคนเกิดมาก็ต้องแก่ต้องตาย และในระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็ต้องมีทุกข์ต่างๆ มีโสกะปริเทวะเป็นต้น และคนโดยมากนั้น ก็ไม่ค่อยคำนึงถึงเกิด คำนึงแต่แค่แก่ พร้อมทั้งเจ็บและตาย และพยายามที่จะไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย โดยไม่ได้นึกถึงว่าจะต้องมีเกิดเป็นเหตุ ทั้งที่ปราฏอยู่อย่างชัดเจน ว่ามาจากเกิดเป็นเบื้องต้น
แต่ว่าโดยมากก็ไม่นึกถึงว่าตัวชาติคือความเกิดนั้นเป็นเหตุ จับเอาแค่จะแก้แก่ แก้เจ็บ แก้ตาย และแก้ทุกข์โศกต่างๆ
ต้องการที่จะไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ไม่ให้ทุกข์ต่างๆ คือหมายความว่าให้เกิดมานี่แหละ ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์เห็นว่าจะไม่สามารถจะแก้ ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ไม่ให้ทุกข์ต่างๆ ได้ ก็คิดเอาว่าจะต้องมีภพหน้า ชาติหน้า ต้องไปเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหมเป็นต้น ซึ่งจะดำรงอยู่ตลอดไป ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะฉะนั้นจึงมีคำเรียกเทวดาว่าอมร ที่แปลว่าผู้ไม่ตาย คนโดยมากก็คิดแก้กันอยู่เพียงเท่านี้ แต่ก็ไม่สามารถจะแก้ให้สำเร็จได้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ เมื่อพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ยังมิได้ทรงคิดจะเสด็จออกทรงผนวช ในพุทธประวัติก็แสดงว่าพระราชกุมารพระโพธิสัตว์ ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตรเห็นเทวทูต คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ก็ทรงน้อมเข้ามาว่าพระองค์ก็จะต้องเป็นเช่นนั้น จึงทำให้ทรงหน่ายในทุกข์คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ยังไม่ไปถึงชาติ และได้ทรงพอพระทัยในความเป็นสมณะ ทรงเห็นว่าความเป็นสมณะนั้นมีโอกาสมีช่องว่าง ที่จะปฏิบัติเพื่อไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ไม่ให้ทุกข์ต่างๆ ได้ จึงมีพระหฤทัยน้อมไปในการบวช จนถึงได้เสด็จออกทรงผนวช และทรงเข้าศึกษาในสำนักของคณาจารย์เจ้าลัทธิทั้งสอง
แม้ท่านคณาจารย์นั้นก็คิดแก้ในแค่นั้นอีกเหมือนกัน คือไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย โดยที่จะต้องปฏิบัติทางฌานสมาบัติให้ไปเกิดเป็นพรหม ก็จะอยู่เป็นพรหมตลอดไป ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ซึ่งพระโพธิสัตว์เมื่อทรงพิจารณาแล้ว โดยที่ทรงปฏิบัติในฌานสมาบัติ เพื่อที่จะไปเกิดเป็นพรหมนั้น ได้เหมือนอย่างท่านอาจารย์ทั้งสองแล้ว ก็ได้ทรงเห็นว่ายังไม่พ้นทุกข์
ในตอนนี้ก็แสดงว่า ได้ทรงพิจารณาเห็นเข้าไปถึงชาติคือความเกิด ว่าเมื่อยังมีชาติคือความเกิดอยู่ ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร ไม่ว่าจะเกิดเป็นพรหม ก็จะต้องมีจุติคือความเคลื่อน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นความตาย เพราะฉะนั้น จึงได้เสด็จหลีกออกไปทรงค้นคว้าด้วยพระองค์เอง
จนได้ตรัสรู้ในปฏิจจสมุปบาทนี้ ที่ทรงแสดงสั่งสอน คือทรงพิจารณาจับทุกข์ต่างๆ มีโสกะปริเทวะเป็นต้นสืบขึ้นไป ก็ทรงจับมรณะ คือความตาย จับชรา จับชาติ คือความเกิด จับภพ คือความเป็น จับอุปาทาน จับตัณหา จับเวทนา จับผัสสะ จับอายตนะ จับนามรูป จับวิญญาณ จับสังขาร จนถึงจับอวิชชาได้ จับอาสวะได้ วิชชาคือความรู้จึงบังเกิดแจ่มแจ้งขึ้น เป็นความตรัสรู้
เมื่อวิชชาบังเกิดขึ้น อวิชชาก็ดับ เหมือนอย่างเมื่อความสว่างบังเกิดขึ้นความมืดก็ดับ เมื่ออวิชชาดับ ก็ดับไปโดยลำดับ คือ สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะเป็นต้น ทุกข์ทั้งสิ้นก็ดับไป
เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงพิจารณาธรรมะที่ได้ตรัสรู้ คือสัจจะความจริงที่ได้ตรัสรู้ สายเกิด สายดับ และทั้งสายเกิดสายดับ จึงได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นในราตรี ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ดังที่ได้ยกมาแปลไว้แล้ว ซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า
เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป
พราหมณ์นั้นกำจัดมารและเสนา สถิตย์อยู่
เหมือนอย่างดวงอาทิตย์สถิตย์ส่องสว่างอยู่ในนภากาศ ดั่งนี้
======================================
ผมอ่านเจอความเห็นของ ท่าน อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก ในคอลั่มน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์ ตอน 31
อ.ท่าน มองว่าชาติในปฏิจจสมุปบาทนี้ มีได้กี่ความหมาย......ลองอ่านแล้ว พิจารณาดูเอาเองน่ะครับ ผมคัดลอกมาลงไว้
(2) นิทานวรรค
2.12 อภิสมยสังยุตต์ ประมวลเรื่องเกี่ยวกับการตรัสรู้ เป็นสังยุตต์แรกของวรรคที่สองคือนิทานวรรค ขอประมวลมาเฉพาะสูตรที่น่าสนใจ
(1) วิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนกปฏิจจสมุปบาท
ในสูตรนี้ต่างจากมหานิทานสูตรมัชฌิมนิกาย ฑีฆนิกาย (เล่มที่ 10) ในมหานิทานสูตรแจกปฏิจจสมุปบาทถอยหลัง สาวไปไม่ถึงสังขารและอวิชชา พอพูดถึงวิญญาณแล้วก็วกกลับ และกลับไปกลับมาระหว่างวิญญาณและนามรูปดังนี้
วิญญาณ - นามรูป - นามรูป - วิญญาณ - ผัสสะ ฯลฯ (ไม่มีสฬายตนะ)
แต่ในวิภังคสูตรนี้แจกครบเครื่อง ทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ ดังนี้
อวิชชา - สังขาร - วิญญาณ - นามรูป - สฬายตนะ - ผัสสะ - เวทนา - ตัณหา - อุปาทาน - ภพชาติ - ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส = ทุกข์เกิด
ดับอวิชชา - ดับสังขาร -... ดับชรามรณะ โสกะ ปริเทว ทุกข์ โทมนัส อุปายาส = ทุกข์ดับ
คำจำกัดความเป็นสิ่งที่นักศึกษาควรสนใจ "ชรามรณะ" หมายถึงแก่ตายจริงๆ ในความหมายที่เราทราบกัน
"เกิด" หมายถึงเกิดเป็นรูปเป็นร่างกาย การได้ขันธ์ครบถ้วน
"ตาย" หมายถึงการตายจริงๆ การแตกดับแห่งขันธ์หรือกาลกริยา
ไม่ต้องตีความเป็นอย่างอื่น (โปรดดูข้อสังเกตข้างท้าย)
============================================
จากหนังสือ หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด ของ อ. วศิน อินทสระ
เรื่องหลักกรรมและสังสารวัฏเป็นซีกหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือเป็นเป็นซีกโลกียะ เมื่อนำเอาหลักอริยสัจมาพิจารณาเรื่องตาย - เกิด ก็เป็นเรื่องของอริยสัจ ๒ ข้อต้น คือ ทุกข์กับสมุทัย กล่าวคือตัณหาอันเป็นเหตุให้คนและสัตว์ยังต้องเกิดต่อไป เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องทุกข์ต่อไป
ในราตรีที่ตรัสรู้นั้น พระพุทธเจ้าทรงได้ญาณ ๓ ,ญาณ ๒ ข้อต้นก็เป็นพระญาณอันเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย และของพระองค์เอง ส่วนญาณที่ ๓ ( อาสวักขยญาณ) เป็นพระญาณอันเป็นไปเพื่อความสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดถ้าการเวียนว่ายตายเกิดไม่มี คนเราเกิดมาเพียงชาติเดียวแล้ว การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจะมีความหมายอะไร นิโรธและมรรคจะเป็นธรรมอันประเสริฐได้อย่างไร แต่เพราะมีกรรมมีการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง อริยสัจ ๔ จึงเป็นพระญาณอันล้ำลึกของพระบรมศาสดา
บางคนกล่าวว่าที่ว่าความเกิดเป็นทุกข์นั้นหมายถึง ความเกิดขึ้นของกิเลสตัณหาในใจ ความเกิดของขึ้นของอหังการ มมังการ(ความยึดมั่นว่า ตัวกุ ของกุ) ไม่ใช่การเกิดจากท้องแม่ ความเห็นนี้มีส่วนถูกเหมือนกันแต่แคบไป เพราะการเกิดจากท้องแม่ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน อย่างที่เห็นๆกันอยู่แล้ว อนึ่ง ถ้าถือว่าความเกิดที่ตรัสในนิเทศแห่งอริยสัจ หมายถึงความเกิดของอหังการ มมังการแล้ว ความแก่และความตายก็ควรจะหมายถึงความแก่และความตายของอหังการ มมังการด้วยเหมือนกัน ความตายของอหังการ มมังการเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ด้วยหรือ ? ควรจะเป็นสุขอย่างยิ่งดังพระพุทธพจน์ว่า " อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ - การถอนอัสสมิมานะเสียได้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง"
อีกอย่างหนึ่งในนิเทศแห่ง "ชาติ" ในมหาสติปัฏฐานสูตร ก็ระบุชัดหมายถึงการเกิดจากท้องแม่ มีพระพุทธพจน์ดังนี้
" ภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ..... ที่ว่าความเกิดนั้น เป็นไฉน ? หมายถึงความเกิดขึ้น การหยั่งลง การบังเกิดขึ้นใหม่ของสัตว์ทั้งหลาย ในพวกสัตว์นั้นๆ คือการปรากฏขึ้นแห่งขันธ์ การมีอายตนะ(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) "
พระพุทธภาษิตนี้ บ่งชัดทีเดียวว่า หมายถึงการเกิดเป็นตัวตนจากท้องมารดา นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานอื่นอีกมาก อันแสดงว่าความเกิดที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้น หมายถึงการเกิดเป็นตัวตน เป็นบุคคล มีขันธ์และอายตนะ
การเวียนว่ายตายเกิดจะสิ้นสุดลง ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นได้พัฒนาจิตถึงที่สุดแล้ว(ตามแนวทางในมหาสติปัฏฐาน) ละกิเลสตัณหาได้สิ้นเชิง สิ้นกรรมอันเป็นเหตุให้เกิดอีก เรื่องกิเลส กรรมและการเวียนว่ายตายเกิด จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและอย่างจำเป็น คือแยกกันไม่ได้
================================================== |
|
|
|
  |
 |
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่

เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773
|
ตอบเมื่อ:
26 ก.ค.2006, 6:09 pm |
  |
ตรงประเด็น พิมพ์ว่า: |
.
###อุปาทานนี้จึงเป็นจุดสำคัญ...... เพราะนอกจากจะทำให้เรา-ท่านเป็นทุกข์ใจในปัจจุบัน ด้วยขันธ์๕ที่จิตเข้าไปสำคัญมั่นหมายนั้น แปรไปเป็นอื่นไป(ตามนัยยะของอัตตทีปสูตร)แล้ว......อุปาทานนี้ยังเป็นแรงผลักดันให้สัตว์เกิดใหม่ในภพต่างๆด้วย เช่นที่แสดงไว้ในพระสูตรกุตุหลสาลาสูตรนี้ |
เพราะมี"ข้า" จึงมี ที่"ทุกข์"ขัง
ด้วยคาดหวัง ผิดไป ให้หม่นหมอง
เพราะมี"ข้า" น้ำตา จึงไหลนอง
ทุกข์ก่ายกอง ท่วมใจ ไม่เบิกบาน
เมื่อหมด"ข้า" จึงหมด ซึ่ง"ทุกข์"ขัง
หมดรัก-ชัง สิ้นเหตุให้ ใจเศร้าหมอง
ไม่มี"ข้า" น้ำตา ก็ไม่นอง
จิตผุดผ่อง เบิกบาน นิพพานเอย ๆลๆ
ตรงประเด็น 23 ธ.ค. 2548
ครับ......ต่อกันเรื่องอุปาทานกันน่ะครับ ว่าอุปาทานนี้ทำให้เรา-ท่านเป็นทุกข์ใจในปัจจุบันกันอย่างไร
อุปาทานนี้ ก็คืออุปาทาน4ในปฏิจจสมุปบาทนั้นล่ะครับ
อุปาทาน ความยึดมั่น, ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี ๔ คือ
๑. กามุปาทาน ความถือมั่นในกาม
๒. ทิฏฐุปาทาน ความถือมั่นในทิฏฐิ
๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต
๔. อัตตวาทุปาทาน ความถือมั่นวาทะว่าตน
อัตตวาทุปทาน คือ ความยึดถือสำคัญมั่นหมายว่า นั่นนี่เป็นตัวตน
เช่น มองเห็นเบญจขันธ์เป็นอัตตา,
อย่างหยาบขึ้นมา เช่น ยึดถือมั่นหมายว่า นี่เรา นั่นของเรา จนเป็นเหตุแบ่งแยกเป็นพวกเรา พวกเขา และเกิดความถือพวก
(ข้อ ๔ ในอุปาทาน ๔)
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุปาทาน&detail=on
จาก อัตตทีปสูตร
http://202.44.204.76/cgi-bin/stshow.pl?book=17&lstart=949&lend=980
".......จะต้องพิจารณาโดยแยบคายว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม
ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมเห็นรูปในตน ๑
ย่อมเห็นตนในรูป ๑
รูปนั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่าง อื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา เพราะรูปแปรไปและเป็นอื่นไป. ......" (ส่วน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เช่นเดียวกัน)
ครับ...... เพราะมี"ข้า" และ "ของข้า" หรือ ก็คือ เห็นขันธ์5โดยความเป็นตน เห็นตนมีขันธ์5 เห็นขันธ์5ในตน เห็นตนในขันธ์5 ตามพระสูตรนี้ล่ะครับ...... เมื่อขันธ์5 ย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่าง อื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้น....... น้ำตาก็เลยไหลนอง  |
|
|
|
  |
 |
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่

เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773
|
ตอบเมื่อ:
26 ก.ค.2006, 9:13 pm |
  |
มาต่อเรื่องอุปาทาน กับปฏิจจสมุปบาทกันน่ะครับ
ปฏิจจสมุปบาทสายสมุทัยวารเป็นวงจรของการเกิดทุกข์
ทุกข์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนนี้ครอบคลุมทั้ง ทุกข์ทางใจในปัจจุบัน และถ้าไม่หมดสิ้นเหตุปัจจัยในปัจจุบันนี้ วงจรนี้ก็สามารถเกิดต่อได้อีก แม้นชีวิตนี้จะยุติลง( ตรงกับพระพุทธวจนะที่ตรัสว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก) ซึ่งก็คือว่าหมายถึงจะทำให้หมู่สัตว์ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีก(เกิดจริงๆแบบที่ตรัสในพระสูตร กุตุหลสาลาสูตร หรือในวิชาสามประการ)
อุปาทานนี้ล่ะครับ เป็นจุดสำคัญ
เพราะนอกจากอุปาทานขันธ์๕นั้น จะทำให้เราเป็นทุกข์ใจในปัจจุบันนี้แล้ว(ตามนัยยะของอัตตทีปสูตร)
.. อุปาทานนี้ก็ยังเป็นปัจจัยของภพ และภพก็จะไปเป็นปัจจัยของชาติ กล่าวคือ อุปาทานนี้เป็นตัวผลักดันให้หมู่สัตว์ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด
###ลองพิจารณาดูน่ะครับ
คำกล่าวที่ว่า ปฏิจจสมุปบาทไม่จำเป็นต้องคร่อมภพชาติ ถูกต้องไหม
อวิชา ในปัจจุบันนี้มีไหม
..คำตอบคือว่า มี
.เพราะตราบใดที่ยังวิชาที่ชื่อว่าอาสวักขยญาณยังไม่บังเกิดขึ้น หรือเห็นแจ้งแทงตลอดในอริยสัจสี่ ตราบนั้นอวิชาก็ยังไม่ดับน่ะครับ
สังขารสามที่มีอวิชาเป็นปัจจัย ในปัจจุบันมีไหม
คำตอบคือว่า มี
วิญญาณหกหมวดที่มีสังขารสามเป็นปัจจัย ในปัจจุบันมีไหม
.. คำตอบคือว่า มี
นามรูปที่มีวิญญาณหกหมวดเป็นปัจจัย ในปัจจุบันมีไหม
.. คำตอบคือว่า มี
ไล่ไปเรื่อยๆๆ จนถึง อุปาทานที่มีตัณหาเป็นปัจจัย ก็มีอยู่ในปัจจุบันเหมือนกัน
ทีนี้ ทุกข์ทางใจในปัจจุบัน เพราะจิตเข้าไปอุปาทานมั่นหมายในขันธ์๕นั้นมีไหม
..คำตอบคือว่า มี เช่นกัน
..และเห็นอย่างชัดเจนเสียด้วย
จึงกล่าวได้ว่า ปฏิจจสมุปบาทไม่จำเป็นต้องคร่อมภพชาตินั้นก็ถูกต้องแล้ว
.. เพราะปฏิจจสมุปาทสายสมุทัยวารนั้นสามารถให้ผลเป็นทุกข์ทางใจในปัจจุบันได้เลย ไม่ต้องไปรอชาติหน้า!!!
และที่สำคัญโปรดอย่าลืมว่า พระอรหันต์สุกขวิปัสโกนั้นท่านก็สามารถดับทุกข์ได้ ในปัจจุบันนี้เลย ถึงแม้นท่านจะไม่มีบุพเพนิวาสสานุสติญาณ และ จุตูปปาตญาณก็ตาม
ทั้งๆที่ท่าน ไม่สามารถระลึกเรื่องราวของชาติในอดีตหรือ เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของหมู่สัตว์ ก็สามารถพ้นทุกข์ในปัจจุบันได้เลย. โดยถ้าอวิชาดับ สังขารจึงดับ
..สังขารดับ วิญญาณจึงดับ
.วิญญาณดับ นาม-รูปจึงดับ
.ดับมาเรื่อยๆจนถึง เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
..
ซึ่งตรงนี้ถ้าย้อนกลับไปอ่านกระทู้เก่าเรื่องนิพพานธาตุสองประการของพระอรหันต์(ธาตุสูตร )ที่ตรัสว่า สิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ(สิ้นตัณหาและ อุปาทาน) อันมีในปัจจุบัน เป็นความสิ้นไปแห่งราคะโทสะโมหะ ก็คือ ถึงซึ่ง สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เรียกได้ว่า บรรลุอรหัตตผล และทุกข์ทางใจทั้งหมดดับสิ้นลงในทันที. ถึงแม้นภพจะยังไม่ดับสนิทโดยประการทั้งปวงในขณะนั้นก็ตาม(เพราะยังมีเบญจขันธ์อยู่) และทุกข์ประจำร่างกายธาตุขันธ์ของพระอรหันต์ก็ยังคงมีอยู่(เปรียบดุจผู้ถูกลูกศรดอกเดียว)
.
ส่วน การดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ซึ่งเป็นที่ดับสนิทของภพทั้งหลายโดยประการทั้งปวง และมีในเบื้องหน้านั้น จะเป็นของตามมาเอง โดยอัตโนมัติ
จึงอาจจะกล่าวได้ว่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้ดับทุกข์ในปัจจุบันนี้เลย ไม่ต้องไปรอดับทุกข์เอาตอนจะตายเน่าเข้าโลง เพราะเมื่ออวิชาดับ ทุกข์ทางใจในปัจจุบันนี้จะดับหมดลงในทันทีเลย ส่วนการยุติเด็ดขาดของวงจรปฏิจจสมุปบาทนั้นจะเป็นของตามมาเองอยู่แล้ว
จึงกล่าวได้ว่าปฏิจจสมุปบาทไม่จำเป็นต้องคร่อมภพชาติ
..
แต่ต้องให้ความสำคัญตรงจุดนี้ดีๆน่ะครับ ว่า
ถ้าหากเรา-ท่านไปกล่าวเปลี่ยนประโยคเก่าที่ว่า ปฏิจจสมุปบาทไม่จำเป็นต้องคร่อมภพชาติขึ้นมาใหม่
และแปลงให้กลายเป็นคำกล่าวที่ว่า.ปฏิจจสมุปบาทต้องไม่คร่อมภพชาติ นี้จะให้ไปอีกความหมายหนึ่งเลย
จะให้ความหมายเหมือนกับกำหนดว่า ปฏิจจสมุปบาทสายสมุทัยวารนั้นห้ามให้ผลภพข้ามภพชาติ!!!
. หรืออาจะเลยเถิดไปถึงขั้นปฏิเสธขาดในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพชาติแบบเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ หรือปฏิเสธขาดเรื่องการให้ผลของกรรมข้ามภพ-ชาติไปเลยก็ได้
.. ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นคลาดเคลื่อนจากความจริงไปทันที
ทำไมถึงคลาดเคลื่อนจากความจริง
.. ที่คลาดเคลื่อนไปก็เพราะว่า สายสมุทัยวารของปฏิจจสมุปบาท นั้น นอกจากจะให้ผลในปัจจุบัน คือทุกข์ทางใจในปัจจุบันที่เกิดจากอุปาทานในขันธ์๕ แล้ว สายสมุทัยวารนี้ยังให้ผลสืบต่อไปยังอนาคตได้ด้วย
..โดยถ้าอวิชานี้ยังไม่ดับลง ปฏิจจสมุปบาทสายสมุทัยวารนี้ก็จะเป็นแรงผลักดันให้หมู่สัตว์ไปเวียนว่ายตายเกิดด้วย(การเกิดนี้หมายเอา ชาติหรือการเกิดจริงๆที่พระพุทธองค์ท่านทรงแสดงไว้ในวิชาสามประการ ที่มีการกล่าวถึง ชื่อ โคตร ผิวพรรณ อาหาร ๆลๆ)
.. ถ้าหากวงจรปฏิจจสมุปบาทสายสมุทัยวารนี้ยังไม่ยุติลง
.. |
|
|
|
  |
 |
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่

เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773
|
ตอบเมื่อ:
26 ก.ค.2006, 9:19 pm |
  |
ขอเพิ่มอีกหนึ่งความเห็นของ ท่าน อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก น่ะครับ
ในคอลั่มน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์ ตอน 31...... ถัดจากบทความก่อนหน้านั้นอีกช่วงสั้นๆ
========================================
(3) ผัคคุนสูตร มีพระโมลิยะผัคคุนะ ทูลถามว่า "ใครเป็นผู้สัมผัส ใครเป็นผู้เสพอารมณ์ ใครเป็นผู้ทะเยอทะยาน"
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "ตั้งคำถามไม่ถูกไม่ควรถามว่า "ใคร" แต่ควรถามว่า "เพราะอะไร" เป็นปัจจัย จึงมีสัมผัส (ผัสสะ) เพราะอะไรเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เป็นต้น (เพราะการยึดในตัวตน เรา เขา ไม่เข้าใจตามสภาวะที่เป็นจริง)" พระองค์จึงแสดงปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ เริ่มตั้งแต่ผัสสะเป็นต้นไป ดังนี้
ผัสสะดับ - เวทนาดับ - ตัณหาดับ - อุปาทานดับ - ภพดับ - ชาติดับ - ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส ดับ = ทุกข์ดับ
สูตรนี้ (และอีกหลายสูตร) มีทางให้คิดว่า
ทรงอธิบายการดับวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยรวบยอดในปัจจุบันชาติไม่ข้ามภพข้ามชาติ (ดูข้างท้าย)
==================================
ครับ.......จากบทความในคห.นี้ และจาก คห.ที่123
อ.เสฐียรพงษ์ ท่านกล่าวชัดเจนครับ ว่า"ชาติในปฏิจจสมุปบาท"มีความหมายเดียว ไม่ต้องไปตีความให้กลายเป็นการใช้ภาษาซ้อนภาษา......แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็กล่าวว่าการดับทุกข์ในวงจรปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องในปัจจุบันชาติ ไม่จำเป็นต้องไปข้ามภพชาติด้วย!!
ผมถึงมองว่า...... ปฏิจจสมุปบาทนี้ ถ้ากล่าวเต็มพระสูตรแล้ว สามารถอธิบายครอบคลุมทั้งทุกข์ใจในปัจจุบัน และทุกข์ที่เกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดด้วย.โดยการเกิดของทุกข์ทั้งหลายนั้นมีเส้นทางเดิน มาในสายสมุทัยวารของปฏิจจสมุปบาทด้วยกันนั้นล่ะครับ.
ส่วนการดับของทุกข์ตามสายนิโรธวารของปฏิจจสมุปบาทนี้ ......
ถ้าดับอวิชาในปัจจุบันได้(โดยไม่จำเป็นต้องไปรู้เรื่องราวของอดีตชาติ)ก็จะดับเรื่อยๆมาจนอุปาทานดับและทุกข์ทางใจในปัจจุบันนี้ก็จะดับสนิท ณ วินาทีนั้นเลย(ถึงซึ่งสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ)......
ส่วนการยุติอย่างเด็ดขาดของการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเป็นการดับสนิทของภพทั้งหลายโดยประการทั้งปวง(ดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ)นั้นจะเป็นของตามมาเองโดยอัตโนมัติ(อันมีในเบื้องหน้า)
ผมถึงเสนอในความเห็นก่อนว่า.....
ปฏิจจสมุปบาทไม่จำเป็นต้องข้ามภพ-ชาติ
(ต้องระวังไม่กลายเป็นว่า ปฏิจจสมุปบาทนั้น ต้องห้ามไม่ให้ผลข้ามภพ-ชาติ ซึ่งจะกลายเป็นคนล่ะความหมายไปเลย) |
|
|
|
  |
 |
|
|
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่ คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลงคะแนน คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้ คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
|
| | |