Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ชีวิตตัวอย่าง หมอชีวกโกมารภัจจ์ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ชีวิตตัวอย่าง หมอชีวกโกมารภัจจ์
นายแพทย์ประจำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


คำนำ

ชีวิตตัวอย่าง : หมอชีวกโกมารภัจจ์ นี้
ผมเรียบเรียงขึ้นจากข้อมูลที่กระจัดกระจาย
อยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาทั้งพระไตรปิฎก
และอรรถกถา ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕
และได้นำลงตีพิมพ์ในนิตยสาร “พลังชีวิต” อีกครั้งหนึ่ง
ติดต่อกันจนจบ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ เห็นสมควรตีพิมพ์ซ้ำอีก
เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจ หวังว่าหนังสือเล่มเล็กๆ นี้
คงมีประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อย

เสฐียรพงษ์ วรรณปก
๑๙ เมษายน ๒๕๔๐

สาธุ สาธุ สาธุ

ธรรมสภาได้รับมอบหมายจาก
ท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต
ให้จัดพิมพ์ ‘ชีวิตตัวอย่าง : หมอชีวกโกมารภัจจ์’ ขึ้น
ในปีพระพุทธศักราช ๒๕๔๘

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สารบัญ

๑. ความนำ
๒. แรงอธิฐาน
๓. กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์
๔. ศึกษาวิชาแพทย์ที่กรุงตักกศิลา
๕. รักษาภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกต
๖. รักษาพระโรคพระเจ้าพิมพิสาร
๗. ผ่าตัดใหญ่สองรายซ้อน
๘. ถวายพระโอสถแด่พระผู้มีพระภาค
๙. พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงพระประชวร
๑๐. หมอชีวกถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้า
๑๑. ปัญหาของหมอชีวก
๑๒. เหตุการณ์ระทึกใจในสวนมะม่วง
เชิงอรรถ
ประวัติย่อเสฐียรพงษ์ วรรณปก

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑. ความนำ

หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นนายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล สำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์จากสำนักตักกศิลา ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าพิมพิสาร เจ้าแห่งมคธรัฐให้ดำรงตำแหน่งแพทย์หลวงประจำพระราชสำนัก ต่อมาเขาได้ถวายการรักษาพระโรคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความใกล้ชิดกับพระพุทธองค์นี่เอง เขาจึงเกิดศรัทธาในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์ปรุงพระโอสถถวายทุกคราวที่ทรงพระประชวร นอกจากนี้เขายังได้ถวายสวนมะม่วงอันเป็นสมบัติของเขาให้เป็นอารามที่ประทับประจำของพระพุทธเจ้าอีกด้วย ตลอดชีวิตเขาได้บำเพ็ญแต่คุณงามความดี ช่วยแหลือผู้เจ็บไข้ ไม่เลือกยากดีมีจน จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นเอตทัคคะในทางเป็นที่รักของปวงชน เรื่องราวขีวิตของเขามีกล่าวไว้ในพระวินัยปิฎกและคัมภีร์อรรถกถาเพียงกระท่อนกระแท่น ผู้เขียนขอเก็บรวบรวมมาแต่งเติมเสริมต่อให้เป็นเรื่องเป็นราว เพื่อประกาศเกียรติคุณของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งตลอดชีวิตมุ่งทำแต่ประโยชน์เพื่อคนอื่น ในด้านที่ตนถนัดจนแทบไม่มีเวลาให้กับตนเองคนชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นคนที่น่าสรรเสริญ และเจริญรอยตามเป็นอย่างยิ่ง

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้



มีต่อ >>> ๒. แรงอธิฐาน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:15 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๒. แรงอธิษฐาน

ย้อนหลังจากภัทรกัปนี้ไปแสนกัป สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตระ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ประสูติที่เมืองจัมปา เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอสมะ กับพระนางอสมา ก่อนเสด็จออกทรงผนวช ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางอุตรา มีพระโอรสพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า รัมมะ ภายหลังทรงรู้สึกเบื่อหน่ายในเพศผู้ครองเรือนจึงเสด็จออกทรงผนวชบำเพ็ญพรต จนสำเร็จเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเสด็จไปประกาศพระศาสนา โดยได้แสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกชื่อ ธนัญชุยยานสูตร ไม่นาน มีผู้เลื่อมใสมอบตนเป็นสาวกมากขึ้นตามลำดับ ในจำนวนนี้มีพระภราดาทั้งสองของพระองค์คือ เจ้าชายสาละ กับเจ้าชายอุปสาละ รวมอยู่ด้วยซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาในตำแหน่งเอตทัคะ เป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา และฝ่ายซ้าย ตามลำดับ (๑)

สมัยนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ เกิดทันเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาเห็นชายคนหนึ่งท่าทางภูมิฐาน เดินเข้าเดินออกพระอารามที่ประทับของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ อยากรู้ว่า ชายคนนี้ไปวัดทำไมบ่อยๆ วันหนึ่ง จึงได้ไปดักรออยู่นอกประตูวัด พอชายคนนั้นเดินออกนอกประตูมา เขาจึงกรากเข้าไปถามว่า

“นี่คุณ ผมเห็นคุณเดินเข้าเดินออกวัดทุกวัน ผมอยากทราบว่าคุณไปทำไม”

สุภาพบุรุษคนนั้น มองเขาแวบหนึ่ง แล้วตอบอย่างสุภาพว่า

“ผมเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ผมไปเฝ้าพระองค์ทุกวัน เพื่อรับพระโอวาท และถวายการรักษาในคราวที่ทรงพระประชวร”

“แหมคุณช่างมีตำแหน่งน่าสรรเสริญจริงๆ ทำอย่างไงผมจะได้เป็นอย่างคุณบ้างนะ”

“หน้าที่อย่างนี้ ชั่วพุทธกาลหนึ่งก็มีเพียงคนเดียว ถ้าคุณอยากเป็นอย่างผมก็ตั้งอธิษฐานไว้ชาติหน้าสิ ผมไปละจะรีบไปดูคนไข้ในเมือง”

แล้วหมอก็รีบผละไป ปล่อยให้เขายืนคิดอยู่คนเดียว “ถ้าคุณอยากเป็นอย่างผม ก็ตั้งอธิษฐานไว้ชาติหน้าสิ” คำพูดของหมอยังก้องอยู่ในใจ ชาติหน้ามีจริงหรือ ? อธิษฐานจิตมีผลถึงชาติหน้าจริงหรือ ? ฯลฯ คำถามเหล่านี้เรียงคิวเข้ามาสู่สมองของเขาเป็นทิวแถว แต่ก็ให้คำตอบแก่ตัวเองไม่ได้ พลันนึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้จึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ยังพระอารามกราบทูลถามข้อข้องใจต่างๆ พระองค์ก็ทรงประทานวิสัชนาให้เป็นที่หายสงสัยหมดสิ้น เป็นครั้งแรกที่เขามีโอกาสได้เข้าเฝ้าและสนทนาอย่างใกล้ชิดกับพระผู้เป็นศาสดาเอกในโลก ให้รู้สึกปีติดีใจเหลือพรรณนา หลังจากได้รับรสพระธรรมจากพระองค์เป็นที่ชุ่มชื่นใจแล้ว เขาได้กราบทูลอาราธนาพระองค์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของเขาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ พระองค์ทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

หลังจากถวายภัตตาหาร แด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกแล้ว เขาเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท กล่าวคำอธิษฐาน ต่อพระพักตร์ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายภัตตาหารครั้งนี้ ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าจงเป็นแพทย์ประจำพระพุทธเจ้าในอนาคต เช่นเดียวกับนายแพทย์ผู้อุปัฏฐากพระองค์เถิด”

“เอวํ โหตุ ขอให้สัมฤทธิ์ดังปรารถนาเถิด”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงดำรัสตอบ ทรงประทานอนุโมทนากถา เสร็จแล้วเสด็จกลับไปยังพระอาราม (๒)

ดับขันธ์จากชาตินั้นแล้ว เขาได้เวียนว่ายตายเกิดในภพต่างๆ ดีบ้าง ชั่วบ้าง ตามแรงกรรมที่ก่อสร้างไว้ กาลผ่านไปเป็นระยะเวลานานนับได้แสนกัป ในที่สุด “แรงอธิษฐาน” ของเขาก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อเขาได้มาถือกำเนิดเป็น ชีวกโกมารภัจจ์ โอรสบุญธรรมของเจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร เจ้าแห่งมคธรัฐ โปรดติดตามเรื่องราวของเขาต่อไปเถิด

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้


มีต่อ >>> ๓. กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๓. กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์

ขอกล่าวถึงเมืองไพศาลีก่อน ในครั้งพุทธกาลเมืองไพศาลีเป็นเมืองมั่งคั่ง มีประชาชนพลเมืองมากมายอุดมสมบรูณ์ด้วยภิกษาธัญญาหารนานาชนิด ในพระวินัยปิฎกท่านพรรณนาถึงความยิ่งใหญ่แห่งเมืองนี้ว่า

“มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ”

ยิ่งกว่านั้นยังมีสิ่งที่แปลกและใหม่ที่เมืองอื่นไม่มี คือ นครโสเภณี หรือหญิงงามเมือง ตำแหน่งนี้ โบราณถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมาก เพราะเป็นตำแหน่งที่พระราชาทรงตั้งโดยคัดเอาสตรีที่มีเรือนร่างสะคราญตาที่สุด และชำนาญฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรีอย่างดีเยี่ยม สตรีผู้มีเกียรติได้ดำรงตำแหน่งนครโสเภณีเป็นคนแรก ชื่ออัมพปาลี นัยว่าเป็นผู้มีรูปร่างผิวพรรณเฉิดฉาย น่าเสน่หายิ่งนัก ราคาตัวคราวละ ๕๐ กหาปณะ (ประมาณ ๒๐๐ บาท) เกียรติศัพท์เมืองไพศาลี มีหญิงนครโสเภณี ผู้เลอโฉมสำหรับบำเรอชาย ได้ยินไปยังแว่นแคว้นแดนไกล เป็นเหตุให้พ่อค้าคฤหบดีจากเมืองต่างๆ ขนเงินขนทองมาทิ้งให้เมืองไพศาลีเป็นจำนวนมาก

คราวหนึ่งนายพณิชจากเมืองราชคฤห์จำนวนหนึ่ง เดินทางไปค้าขายที่เมืองไพศาลี ได้ทราบเรื่องนี้เข้าจึงคิดกันว่าตำแหน่งนครโสเภณี เป็นอุบายดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศได้อย่างหนึ่ง สมควรที่จะกราบบังคมทูลในหลวงให้ทรงแต่งตั้งหญิงนครโสเภณีเหมือนอย่างเมืองไพศาลีบ้าง กลับไปแล้ว พวกเขาได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลความดำริของตนให้พระองค์ทราบ พระองค์ทรงเห็นชอบด้วย จึงรับสั่งให้คัดเลือกสตรีงาม เพื่อดำรงตำแหน่งนี้ในที่สุดได้สตรีวัยรุ่นนางหนึ่งชื่อ สาลวดี โดยได้ตั้งอัตราค่าตัวสำหรับผู้ร่วมภิรมย์ คืนละ ๑๐๐ กหาปณะ

นางสาลวดี ครองตำแหน่งนี้ไม่นานก็ตังครรภ์โดยบังเอิญ มาสำนึกได้ว่า อันธรรมดาหญิงโสเภณีเมื่อตั้งครรภ์ย่อมเป็นที่เบื่อหน่ายของชาย รายได้ที่เคยได้ปะจำก็ย่อมจะหมด จะทำแท้งหรือก็มีมโนธรรมพอที่จะไม่ทำบาปหยาบช้าถึงขั้นฆ่าลูกในไส้จะทำอย่างไรดีล่ะ ในที่สุดก็คิดอุบายได้ แสร้งทำเป็นป่วยบอกงดรับแขกชั่วคราว จนคลอดลูกออกมาเป็นชาย ตกดึกสงัดยามปลอดคน นางได้สั่งให้หญิงรับใช้คนสนิท เอาทารกน้อยผู้น่าสงสารใส่กระด้งไปทิ้งไว้ที่กองขยะนอกเมือง

อกุศลกรรมใด ที่บันดาลให้ทารกน้อยผู้ไร้เดียงสาต้องถูกนำไปทิ้งอย่างน่าอนาถเช่นนี้ ก็สุดที่จะทราบได้ แต่เดชะบุญกุศลที่ทารกน้อยผู้นี้ได้ก่อสร้างไว้ในอดีตชาติ ก็คงมีมากมายมหาศาล จึงบันดาลให้เจ้าฟ้าอภัยพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร มีอันต้องเสด็จออกนอกเมืองแต่เช้า มุ่งพระพักตร์มายังกองขยะที่ทารกน้อยนอนอยู่ฝูงแร้งกาที่มารุมกันอยู่ที่ขยะมูลฝอยกองนั้น เห็นคนเดินมาใกล้มากหน้าหลายตา พากันแตกฮือบินหนีไป เจ้าฟ้าอภัยทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงรับสั่งถามมหาดเล็กที่ตามเสด็จว่า

“นั่นแร้งกามันรุมกินอะไรที่กองขยะนั่น ไปดูซิ”

พวกมหาดเล็กวิ่งไปดู เห็นทารกน้อยนอนแบอยู่ที่กระด้งบนกองขยะ จึงรีบมาทูลว่า

“แร้งกามันรุมจะจิกกินทารกคนหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครเอามาทิ้งไว้ พ่ะย่ะค่ะ”

“ผู้หญิงหรือผู้ชาย”

“ผู้ชาย พ่ะย่ะค่ะ”

“ยังมีชีวิตอยู่ หรือตายแล้ว”

“ยังมีชีวิตอยู่ พ่ะย่ะค่ะ”

ได้ฟังคำกราบทูลของมหาดเล็ก ทรงเกิดความสงสารขึ้นจับพระทัย “ใครหนอช่างใจร้ายเอาลูกในไส้มาทิ้งได้” ทรงรำพึงในพระทัย พลางรีบสาวพระบาทไปยังกองขยะทอดพระเนตรเห็นทารกน้อยดิ้นกระแด่วๆ ยื่นมือไขว่คว้ามายังพระองค์ (๓) จึงทรงรับสั่งให้นำเด็กเข้าวัง สั่งให้พี่เลี้ยงนางนมเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอม ทรงรับไว้เป็นโอรสบุญธรรมต่อมา

เพราะคำกราบทูลของมหาดเล็กว่า “ยังอยู่” (ชีวโก) เจ้าชายจึงทรงขนานนามทารกน้อยว่า “ชีวกโกมารภัจจ์” หรือเรียกตามภาษาไทยว่า “บุญยัง” (หมายความว่า ผู้ยังมีชีวิตรอดมาได้ เพราะบุญที่เจ้าฟ้าอภัยทรงนำมาเลี้ยงดู) (๔) เจ้าบุญยังมีแววส่อว่าเป็นเด็กฉลาดมาแต่น้อย หน่วยก้านจะได้ดีต่อไปภายหน้า ไม่ว่าจะเล่นอะไรกับลูกหลวงอื่นๆ เจ้าบุญยังสามารถเอาชนะได้หมด จนพวกเขาขัดใจที่เอาชนะเจ้าบุญยังไม่ได้ด่าเอาเจ็บๆ ว่า

“เจ้าลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่นี่เก่งจริงโว้ย”

“เจ็บใจนัก เล่นสู้เจ้าเด็กข้างถนนไม่ได้” ฯลฯ

ทำเอาเจ้าหนูน้อยบุญยังสงสัยเป็นกำลัง จึงไปทูลถามเจ้าฟ้าอภัย ว่าใครเป็นพ่อแม่ของตน

เจ้าฟ้าอภัยทรงอึดอัดที่ถูกถามอย่างจังเช่นนั้น จึงทรงชี้ไปที่พี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายว่า

“พวกโน้นแหละแม่เจ้า”

ครั้นเด็กน้อยย้อนถามอีกว่า

“คนอื่นเขามีแม่คนเดียว ทำไมหนูมีแม่หลายคนนัก”

เจ้าชายตอบให้เธอหายสงสัยไม่ได้ ก็ได้แต่บ่ายเบี่ยงไปต่างๆ นานา ครั้นถูกรุกถามหนักเข้า จึงตัดบทว่า “ก็ข้าเลี้ยงเอ็งมาตั้งแต่เล็กๆ ข้านี่แหละเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ของเจ้า”

“พวกเพื่อนๆ เขาว่าหนูเป็นเด็กข้างถนน เป็นความจริงเพียงไร” หนูน้อยบุญยังซัก

“เฮ่ย อย่าไปเอาใจใส่กับคำพูดเหลวไหลอย่างนั้น” เจ้าชายดุ

ยิ่งถามก็ยิ่งงง เสด็จพ่อไม่เคยให้ความกระจ่างอะไรเลย ชักจะแน่ใจแล้วว่า ตนเองไม่มีพ่อแม่ที่แท้จริง หาไม่เสด็จพ่อคงไม่บ่ายเบี่ยงเช่นนั้น และพวกเพื่อนๆ ลูกหลวงอื่นๆ คงไม่ด่าว่าเป็นเด็กข้างถนนหรอก เจ้าหนูน้อยนิ่งคิด

“เจ้าเด็กข้างถนน...อามันช่างเสียวแปลบขั้วหัวใจทุกครั้งที่นึกถึงคำดูถูกเหยียดหยามเช่นนี้”

น้ำตาเจ้ากรรมมันจะไหลซึมออกมาให้ได้ ฉับพลันแรงแห่งมานะก็ฉายวาบขึ้นในใจ

“สักวันหนึ่งเถอะ ไอ้ลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่คนนี้ จะหาวิชาความรู้ใส่ตัว เอาชนะลูกผู้ดีให้ได้”

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้



มีต่อ >>> ๔. ศึกษาวิชาแพทย์ที่กรุงตักกศิลา
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๔. ศึกษาวิชาแพทย์ที่กรุงตักกศิลา

สมัยนั้นสำนักตักกศิลาเป็นที่เลื่องลือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแหล่งผลิตสรรพวิชาทั่วโลก เจ้าบุญยัง หรือชีวกโกมารภัจจ์คอยสืบเสาะหาทางจะไปศึกษาวิชาที่เมืองนี้อยู่เสมอ วันหนึ่งพบปะพวกพาณิชมาจากเมืองตักกศิลา จึงพยายามตีสนิทขออาศัยเดินทางไปกับพวกเขาด้วยโดยมิได้ทูลลาแม้กระทั่งเสด็จพ่อด้วยความเกรงว่า ถ้าทรงทราบความประสงค์ของเขา คงจักไม่ทรงอนุญาตให้เขาไปเป็นแน่ เมื่อไปถึงเมืองตักกศิลา เขาได้เข้าไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์มอบถวายตัวเป็นศิษย์ขอเรียนวิชาแพทยศาสตร์ (๕)

การศึกษาเล่าเรียนในสมัยนั้น มีอยู่สองประเภทคือ ประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นคนยากจน ไม่มีเงินเสียค่าเล่าเรียนต้องอยู่รับใช้อาจารย์ ช่วยทำกิจสารพัด ตั้งแต่ตักน้ำ ผ่าฟืน หุงอาหาร บีบนวด ฯลฯ อีกประเภทหนึ่ง ถ้ามีเงินเสียค่าเล่าเรียน ถึงแม้จะอยู่ในสำนัก ก็ไม่ต้องทำงานให้อาจารย์ นอกจากเรียนหนังสืออย่างเดียว ชีวกโกมารภัจจ์ไม่มีเงินให้อาจารย์ จึงมอบตนเป็นศิษย์ประเภทแรก ช่วยทำงานทำการรับใช้อาจารย์สารพัดอย่างอาศัยเป็นเด็กอ่อนน้อม ถ่อมตน มีความเคารพเชื่อฟังโอวาทอาจารย์เป็นอย่างดีและมีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่เกียจคร้านจึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ วิชาความรู้เท่าไร อาจารย์ก็ถ่ายทอดให้หมด ไม่ปิดบังอำพราง ชีวกเรียนวิชาแพทย์อยู่กับอาจารย์ ๗ ปี มีความรอบรู้ในสาขาวิชานี้เต็มตามที่อาจารย์ถ่ายทอดให้ แต่ไม่มีทีท่าว่าจะเรียนจบสักที ชักคิดถึงบ้าน คิดถึงเสด็จพ่อเต็มที วันหนึ่งจึงเข้าไปหาอาจารย์เรียนถามท่านว่า

“อาจารย์ครับ เมื่อไหร่ผมจะเรียนจบเสียที”

“ทำไมหรือ” อาจารย์ถาม

“ผมคิดถึงบ้านเต็มทีแล้วครับ ผมได้ตั้งใจเรียนตามท่านอาจารย์เมตตาสั่งสอนเป็นเวลา ๗ ปีแล้ว ผมอยากทราบว่าเท่านี้ผมพอจะทำมาหากินได้หรือยัง”

“พอนะพอหรอก ชีวก แต่วิชาแพทย์เป็นวิชาที่กว้างขวางเรียนไม่รู้จบ อาจารย์ตั้งใจจะให้เธอเรียนอีกปีสองปีจึงจะให้กลับแต่ถ้าเธออยากกลับบ้านจริงๆ ก็ตามใจ”

อาจารย์มองหน้าศิษย์รักด้วยปรานี แล้วเอ่ยต่อไปว่า

“ก่อนอื่น อาจารย์ขอสอบความรู้เธอก่อนถ้าเธอสอบผ่านจึงจะอนุญาตให้กลับ เธอจงไปสำรวจดูต้นไม้ ต้นหญ้าทุกชนิด ทั่วทั้งสี่ทิศ ภายในรัศมี ๔๐๐ เส้น ให้ดูว่าหญ้าชนิดไหน ใบไม้เปลือกไม้ชนิดไหน ใช้เป็นยาอะไรได้บ้าง อย่างไหนใช้ทำยาไม่ได้เลย”

ชีวกเดินออกจากมหาวิทยาลัยตักกศิลา ขึ้นเขาเข้าไปสำรวจสมุนไพรทั่วทั้งสี่ทิศ ประมาณเจ็ดวัน จึงกลับมาหาอาจารย์เมื่อถูกถาม เขาได้สาธยายต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่ไปสำรวจมาว่าชนิดนั้นๆ ใช้ผสมทำยาแก้โรคนั้นๆ ตามตำราที่ได้เล่าเรียนมา

สุดท้ายเขาบอกแก่อาจารย์ว่า

“ต้นไม้ใบหญ้าและสมุนไพรใดๆ ในชมพูทวีปนี้ที่ใช้ทำยาไม่ได้ไม่มี ทุกอย่างเป็นยาทั้งนั้น”

อาจารย์เอื้อมมือมาลูบศีรษะเขาด้วยปรานี พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า “เป็นอันว่า เธอเรียนจบหลักสูตวิชาแพทย์แล้ว กลับบ้านได้”

แล้วอาจารย์ได้มอบเงินจำนวนเล็กน้อย พร้อมทั้งกล่าวอวยพรแก่ศิษย์รักด้วยอาลัย เขากราบลาอาจารย์ ลาพวกเพื่อนๆ ออกเดินทางจากเมืองตักกศิลา มุ่งหน้ามายังเมือง ราชคฤห์ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน

ตรงนี้คัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า เหตุที่อาจารย์ให้เงินและเสบียงเดินทางแก่ชีวกโกมารภัจจ์เพียงเล็กน้อย เพราะอาจารย์คิดว่า ชีวกเป็นโอรสเจ้าฟ้า เจริญเติบโตในราชสกุลอันโอ่อ่า พอเรียนศิลปวิทยาจบกลับไปก็ยังได้รับการยกย่องในฐานันดรอันสมเกียรติจากพระบิดา และพระอัยกาเมื่อเป็นเช่นนี้ เขาคงจักไม่รู้จักบุญคุณของครูบาอาจารย์ และไม่รู้คุณค่าแห่งวิชาการที่ได้เรียนมา แต่ถ้าเสบียงเดินทางของเขาหมด ในระหว่างทาง เขาคงจักดิ้นรนใช้วิชาความรู้หาเงินหาทองและเสบียง เดินทางอันจักทำให้เขารู้จักซาบซึ้งในบุญคุณของอาจารย์ และวิชาความรู้ยิ่งขึ้น (๖)

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้



มีต่อ >>> ๕. รักษาภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกต
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๕. รักษาภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกต

พอมาถึงเมืองสาเกต ซึ่งตั้งอยู่ครึ่งทางระหว่างเมืองตักกศิลากับเมืองราชคฤห์ เสบียงเดินทางที่มีติดตัวมาก็หมดเกลี้ยง ชักรู้สึกหิวขึ้นมาตงิดๆ แล้ว จะได้ข้าวที่ไหนกิน ? กำลังคิดหนักใจอยู่พอดี ได้ยินเสียงคนพูดกันถึงเมียเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาเกต เป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี รักษาหมดเงินทองมากมาย ไม่มีหมอคนไหนรักษาให้หายได้ จนหมดอาลัยตายอยากในชีวิต นอนรอความตายไปวันๆ หมอหนุ่มจึงแสดงตัวว่าตนเป็นหมอที่สำเร็จมาจากเมืองตักกศิลา โรคของเมียเศรษฐีเขาสามารถรักษาให้หายได้ ขอให้ช่วยพาเขาไปยังบ้านเศรษฐีเถิดคนฟังเห็นหมอหนุ่มพูดจาเอาจริงเอาจังจึงพาเขาไปยังบ้านเศรษฐี แจ้งว่ามีหมอหนุ่มคนหนึ่งรับอาสาจะรักษาโรคให้เมียเศรษฐี

“หมอแก่ๆ ยังไม่มีปัญญารักษาให้หายได้ เสียเงินเสียทองไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ หมอหนุ่มจะเก่งกาจมาจากไหน บอกเขาเถิดไม่ต้องมายุ่งกะฉัน” เมียเศรษฐีกล่าวด้วยความเบื่อหน่าย

“เขาบอกว่า ถ้ารักษาไม่หายไม่เอาตังค์” เสียงคนใช้รายงาน หลังจากนำความไปแจ้งแก่ชายหนุ่ม และได้รับคำมั่นสัญญาจากเขา

“ถ้างั้น บอกให้เขาเข้ามา” เมียเศรษฐีตัดบท

หมอหนุ่ม เข้าไปตรวจอาการไข้ประเดี๋ยวเดียว ก็รู้ทางแก้จึงสั่งให้หาเนยใสมาประมาณหนึ่งถ้วยตะไล กับเครื่องยาอีกสองสามชนิดมาผสมกัน ให้เมียเศรษฐีนอนหงายแล้วให้นัตถุ์ยาเข้าไป เนยใสไหลเยิ้มออกมาทางปาก นางจึงถ่มลงกระโถนแล้วตะโกนสั่งให้สาวใช้เอาสำลีมาซับเนยใสไว้กิริยาอาการเช่นนั้น ทำให้หมอหนุ่มตะลึง คิดในใจว่า

“เรามาเจอแม่ยอดตังเมเข้าแล้วสิ เนยใสที่ถ่มทิ้งแล้วยังอุตส่าห์เอาสำลีซับเก็บไว้อีกอย่างนี้แกจะให้ค่ารักษาเราสักกี่ตังค์”

เมียเศรษฐี ดูเหมือนจะเข้าใจความคิดของหมอหนุ่มจึงพูดขึ้นว่า

“หมอคงคิดว่าฉันขี้เหนียวแต่หมออย่าลืมว่าฉันป่วยมาตั้ง ๗ ปี เสียค่ารักษาไปแล้วเท่าไหร่ สิ่งใดที่พอจะกระเหม็ดกะแหม่ได้ ก็ไม่ควรให้เสียเปล่า เนยใสที่ซับไว้ใช้ทามือทาเท้าแก้เมื่อยขบ หรือใช้เป็นน้ำมันตามไฟก็ได้ หมอไม่ต้องกลัวว่าฉันจะไม่ให้ค่ารักษาแก่หมอหรอก ขอให้หายจริงเถอะ เท่าไหร่เท่ากัน”

“เปล่าหรอกครับ คุณนาย ผมมิได้คิดในทำนองนั้น ผมเพียงแต่สงสัยว่าคุณนายให้ซับเนยใสไว้ทำไมเท่านั้นแหละครับ” หมอหนุ่มแก้ตัว

ปรากฏว่าพอนัตถุ์ยาที่หมอชีวกประกอบให้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โรคปวดศีรษะของเมียเศรษฐีได้หายไปดังปลิดทิ้งนางรู้สึกปลาบปลื้มที่หมอหนุ่มได้บันดาลชีวิตใหม่ให้อีกครั้งหนึ่งหลังจากทอดอาลัยตายอยากในชีวิตมาแล้วจึงให้รางวัลเขาถึง ๔,๐๐๐ กหาปณะ (ประมาณหนึ่งหมื่นหกพันบาท) ฝ่ายลูกเขยลูกสะใภ้ ลูกสาว ลูกชาย ต่างรู้สึกดีใจที่นางหายจากโรค ให้รางวัลหมออีกคนละหลายพัน ชื่อเสียงของหมอหนุ่มได้แพร่สะพัดไปทั่วเมืองสาเกตอย่างรวดเร็ว บ้างก็มาตามตัวไปรักษาโรคของญาติพี่น้องของตน หมอหนุ่มรวบรวมเงินทองจากการใช้วิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาจากอาจารย์ได้มากเพียงพอแก่ความต้องการแล้ว ก็อำลาครอบครัวเศรษฐี และชาวเมืองสาเกตออกเดินทางไปยังเมืองมาตุภูมิทันที

ไปถึงเมืองราชคฤห์ เขาได้รีบไปเฝ้าเสด็จพ่อ เจ้าฟ้าอภัยตกพระทัยที่จู่ๆ “เจ้าบุญยัง” ก็โผล่พรวดพราดเข้ามา หลังจากหายหน้าไปตั้ง ๗ ปี ครั้งแรกทรงมีพระพักตร์บึ้งตึงที่โอรสบุญธรรมไปไหนมาไหนไม่บอกกล่าว เขาได้กราบทูลสาเหตุที่ต้องหลบหนีออกจากพระราชวัง ไปศึกษาวิชาแพทย์ที่เมืองตักกศิลา จนมีความชำนาญรักษาได้สารพัดโรค แล้วกราบทูลขอขมาโทษที่ทำการครั้งนี้โดยพลการ เสมือนมิรู้บุญคุณข้าวแดงแกงร้อนที่ทรงเมตตาอุปถัมภ์ชุบเลี้ยงมาแล้วนำเงินทองที่เหลือจากที่ใช้จ่ายทั้งหมดมาถวายแด่เสด็จพ่อ

“เงินจำนวนนี้ หม่อมฉันได้จากการรักษาภรรยาเศรษฐีคนหนึ่ง ในเมืองสาเกต ขอทูลถวายเพื่อเป็นเครื่องบูชาพระเดช พระคุณที่ทรงเมตตาชุบเลี้ยงหม่อมฉัน”

ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นทรงแน่พระทัยว่าที่ “เจ้าบุญยัง” กล่าวมาทั้งหมดน่าจะเป็นจริง ทรงชื่นชมในความกตัญญูรู้คุณของโอรสบุญธรรม ไม่ทรงรับเงินจำนวนนั้นหากแต่รับสั่งให้เขาเก็บไว้เป็นสมบัติของตน ตั้งแต่นั้นมาเขาได้กลายเป็นนายแพทย์คนโปรดประจำองค์เสด็จพ่ออีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้



มีต่อ >>> ๖. รักษาพระโรคพระเจ้าพิมพิสาร
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๖. รักษาพระโรคพระเจ้าพิมพิสาร

เวลานั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรเป็นโรค “ภคันทลาพาธ” (๗) มีพระโลหิตไหลออกมาเปื้อนพระภูษาทรง เป็นที่รำคาญพระทัยอยู่เสมอ แพทย์หลวงถวายพระโอสถขนานใดๆ ก็มิได้หายขาด บางคราวต้องระงับพระราชกิจเป็นเวลานานพระราชวโรกาสให้หมอชีวกถวายการรักษาสักครั้ง จึงทรงรับสั่งให้หมอชีวกเข้าเฝ้าตรวจพระอาการ หมอหนุ่มวินิจฉัยโรคอย่างถี่ถ้วนแล้ว ประกอบพระโอสถถวายให้เสวยเพียงสองสามครั้งอาการประชวรก็หายขาดเป็นปลิดทิ้ง จึงทรงโปรดปรานหมอชีวกมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งนายแพทย์ประจำพระราชสำนัก รับพระราชทานเบี้ยหวัดเป็นจำนวนมาก

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้



มีต่อ >>> ๗. ผ่าตัดใหญ่สองรายซ้อน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๗. ผ่าตัดใหญ่สองรายซ้อน

ในเมืองพาราณสี มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในลำไส้ รับประทานอาหารลงไปมีอาการจุกเสียดได้รับทุกขเวทนามาก ผอมแห้งแรงน้อยลงทุกวัน เศรษฐีได้ทราบข่าวว่ามีหมอผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร เมืองราชคฤห์ จึงไปกราบทูลขออนุญาตให้เขาไปรักษาบุตรชายของตนพระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ตามประสงค์ หมอหนุ่มไปถึงบ้านเศรษฐีตรวจดูคนไข้ ก็รู้ทันทีว่าลำไส้เป็นเนื้องอกต้องผ่าตัด แต่การที่จะลงมือผ่าตัดใครๆ ในสมัยที่คนยังไม่รู้จักศัลยกรรมและยังไม่ยอมรับกัน เป็นเรื่องยากลำบาก ดีไม่ดีเขาจะเข้าใจว่าฆ่าลูกเขาก็จะลำบาก หมอชีวกจึงหันมาพูดกับพ่อของคนไข้ว่า

“ใต้เท้าอยากให้ลูกหายไหม ?”

“แล้วกัน ไม่อยากให้หายจะตามหมอมาทำไม ถามพิลึก” เศรษฐีเลิกคิ้วด้วยความสงสัย

“คือผมอยากขอคำมั่นสัญญาจากใต้เท้าก่อน โรคนี้ร้ายแรงมาก ถ้าใต้เท้าไม่ตกลงให้รักษาตามวิธีของผม ลูกชายใต้เท้าต้องตายแน่” หมอหนุ่มไซโค

“เอาเถอะจะรักษาโดยวิธีใดยอมทั้งนั้น ขอชีวิตลูกฉันก็แล้วกัน” เศรษฐีให้คำมั่น

“เห็นจะต้องผ่าเอาไส้ออก” หมอหนุ่มบอกกล่าวเบาๆ

“หา หมอว่าอะไรนะ ?” เศรษฐีตาค้าง

“อย่าลืมว่า ใต้เท้าให้สัญญาไว้แล้ว ผมต้องผ่าตัดลูกชายใต้เท้า ไม่งั้นลูกชายใต้เท้าไม่รอดชีวิตแน่” หมอหนุ่มกล่าวเคร่งขรึม พูดคำว่าตายบ่อยนัก เศรษฐีชักใจไม่ดี จึงหันหน้าไปมองเมีย แม่เด็กก็กลัวลูกชายตายไม่แพ้พ่อ จึงพยักหน้าอนุญาตให้หมอรักษาตามกรรมวิธีของหมอ เพราะไม่มีทางเลือกอย่างอื่น

หมอชีวกลงมือใช้วิชาผ่าตัดที่เรียนมาจากอาจารย์ วางยาสลบเสร็จแล้วผ่าพุงคนไข้ ล้วงสำไส้ออกมาชะล้างอย่างดี ตัดส่วนที่เสียออก เย็บลำไส้ เย็บพุงให้สนิททายาสมาน ชั่วเวลาไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ จากนั้นมาไม่กี่วันคนไข้ก็หายได้รับรางวัลจากพ่อแม่ของคนไข้มากมาย

จากนั้นมาเกียรติคุณของหมอหนุ่มก็แพร่สะพัดไปทั่วเมืองต่างก็โจษจันกันว่า

“หมอหนุ่มจากเมืองราชคฤห์ผ่าท้องคนเอาไส้ออกมาตัดออกแล้วนำกลับเข้าไปใหม่ได้คนที่ถูกผ่าท้องกลับหายป่วยได้น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เขาเห็นจะเป็นหมอเทวดาเป็นแน่แท้”

เกียรติคุณเหล่านี้ ใช่ว่าจะนำความภูมิใจมาให้แก่เขาเท่านั้นก็หาไม่ แม้เจ้าฟ้าอภัยและพระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีหมอวิเศษเช่นเขาประดับพระราชสำนัก

การผ่าตัดใหญ่รายที่สอง กระทำที่เมืองราชคฤห์อันเป็นเมืองมาตุภูมิของเขานั่นเอง คราวนี้เขาผ่าตัดสมองเศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์คนหนึ่ง เศรษฐีผู้นี้เป็นโรคปวดศีรษะมานานหมอไหน ๆ มารักษาก็ไม่หาย จนในที่สุดอาการทรุดหนักเหลือกำลังที่หมอจะรักษาได้ บางคนคาดว่าเขาจะต้องตายภายใน ๗ วัน บางคนก็ว่าเขาจะต้องตายภายใน ๕ วัน ครั้งสุดท้าย พวกญาติพี่น้องเศรษฐีได้มาตามหมอชีวกไปรักษา

หมอชีวกตรวจดูอาการของเศรษฐีอย่างละเอียด แล้วพูดขึ้นว่า

“โรคของใต้เท้าหนักนัก ถ้าอยากหายก็ต้องให้สัญญากันก่อนจะรักษา”

“เอาเถอะครับ หมอ จะเรียกร้องเท่าไรผมยินดีจ่ายให้ทั้งนั้น ไม่ต้องเซ็นสัญยมสัญญาอะไรก็ได้ ผมไม่โกงหรอก” เศรษฐีกล่าวขึ้น

หมอหนุ่มโบกมือ ยิ้มละไม

“ใต้เท้าเข้าใจผิด ผมมิได้หมายถึงสัญญาอย่างนั้น”

“สัญญาว่า ใต้เท้าจะต้องนอนตะแคงข้างขวา ๗ เดือน ข้างซ้าย ๗ เดือน นอนหงายอีก ๗ เดือน หลังจากผ่าตัด”

“ตกลง” เศรษฐียอมรับคำ เพราะอยากหาย

หมอชีวกสั่งให้จัดห้องพิเศษไว้ห้องหนึ่ง ห้ามใครเข้าไปนอกจากเมียเศรษฐีคนเดียว ผสมยาและเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการผ่าตัดเรียบร้อยดีแล้วให้เศรษฐีนอนบนเตียงวางยาสลบถลกหนังศีรษะออก ผ่ารอยประสานกะโหลกศีรษะออก พบพยาธิสองตัว เล็กตัวหนึ่ง ใหญ่ตัวหนึ่ง เอาคีมคีบออก แล้วปิดแนวประสานศีรษะ เย็บหนังศีรษะ แล้วทายาสมานแผล

หลังจากผ่าตัด เขาได้นำตัวพยาธิสองตัวมาแสดงให้บรรดาญาติพี่น้องเศรษฐีดูว่า ที่หมอบางคนคาดว่าเศรษฐีจักตายใน ๕ วัน เพราะเขาตรวจพบพยาธิตัวใหญ่นี้ ส่วนที่อีกคนคาดว่าเศรษฐีจักตายภายใน ๗ วัน เขาตรวจพบพยาธิตัวเล็กนี้

เศรษฐีนอนตะแคงขวาบนเตียงไปได้ประมาณ ๗ วัน ก็รู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งตัว จึงกล่าวแก่หมอชีวกว่าจะขอเปลี่ยนท่านอนได้หรือยัง ถ้าขืนให้นอนตะแคงอยู่อย่างนี้ครบ ๗ เดือน ตามสัญญา ไม่ช้าก็คงตายแน่ หมอเห็นว่าเขานอนมาได้นานพอสมควรแล้ว จึงอนุญาตให้เปลี่ยนมานอนตะแคงซ้าย เศรษฐีทนนอนไปได้ ๗ วัน ก็ร้องว่าทนต่อไปไม่ไหว

“ถ้าเช่นนั้น เชิญใต้เท้าลุกได้ ใต้เท้าหายแล้ว” หมอหนุ่มกล่าวยิ้มๆ

เศรษฐีผุดลุกขึ้น พลางเอามือลูบศีรษะตัวเองด้วยความเคยชิน ปรากฏว่าแผลหายสนิท และความเจ็บปวดปลาสนาการไปหมดสิ้น

“เป็นอันว่า หมอรักษาผมหายภายในสามสัปดาห์เท่านั้นแล้วทำไมหมอให้ผมสัญญาว่าจะนอนถึง ๒๑ เดือน ?” เศรษฐีถามขึ้น

“ถ้าผมไม่บอกจำนวนเกินไว้อย่างนี้ ใต้เท้าคงนอนได้ข้างละไม่ถึงสัปดาห์นะซีครับ” หมอหนุ่มอธิบาย เศรษฐีรู้สึกดีใจเป็นล้นพ้น ที่ตนได้พ้นจากโรคอันทรมานนี้ เขาจึงตกรางวัลแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์อย่างมหาศาล

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้



มีต่อ >>> ๘. ถวายพระโอสถแด่พระผู้มีพระภาค
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๘. ถวายพระโอสถแด่พระผู้มีพระภาค

ในระยะเวลาดังกล่าวนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน วัดแห่งแรกที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย พระเจ้าพิมพิสารนั้น ได้พบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งแรก ตั้งแต่พระองค์เสด็จออกบรรพชาใหม่ๆ ได้ชักชวนพระพุทธองค์ลาพรตมาครองราชย์สมบัติด้วยกัน หากพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ และถวายพระพรว่า พระองค์ทรงมุ่งแสวงโมกขธรรม ทางหลุดพ้นจากสังสารทุกข์ พระเจ้าพิมพิสารทรงเสื่อมใสและขอพรว่า ค้นพบโมกขธรรมทางหลุดพ้น ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไร ก็ขอทรงพระกรุณาเสด็จมาโปรดให้ได้ลิ้มรสอมตธรรมบ้าง ครั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้วทรงรำลึกถึงคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แด่พระเจ้าพิมพิสาร จึงเสด็จมาแสดงธรรมโปรดจนพระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผลภายหลังพระเจ้าพิมพิสารได้มอบถวายสวนไผ่ หรือเวฬุวันถวายเป็นวัดที่ประทับของพระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ดังกล่าวแล้ว

เมื่อพระพุทธองค์ประทับประจำในวัดแห่งนี้ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจต่างๆ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ มิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยาก จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน

พระพุทธกิจนั้นในตำราท่านกล่าวว่ามีอยู่ห้าประการคือ

๑. เวลาเช้ามืด ทรงเล็งญาณดูเวไนยสัตว์ที่ควรโปรด คือพิจารณาว่าวันนี้จะไปโปรดใครบ้าง

๒. เช้าถึงเพล เสด็จออกบิณฑบาต หรือเรียกอย่างสามัญว่า เสด็จออกโปรดสัตว์คือ ไปรับอาหารบิณฑบาตจากชาวบ้าน และถือโอกาสแสดงธรรมไปในตัว

๓. เวลาเย็น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัท

๔. เวลาค่ำ ทรงให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์

๕. เวลาดึก ทรงแก้ปัญหาเทวดา

กล่าวกันว่าพวกเทวดามักมาทูลถามปัญหาเวลาดึกๆ (บางท่านกล่าวว่า พวกข้าราชการผู้ใหญ่ หรือพระราชามหากษัตริย์มักว่างรัฐกิจ และราชกิจตอนดึกๆ จึงหาโอกาสมาเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลานี้)

เมื่อพระพุทธองค์ทรงนำเพ็ญพุทธกิจเหล่านี้ตลอดทั้งวันทรงมีเวลาพักผ่อนน้อย “พระวรกายของพระองค์จึงเกิดหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ” (โทสาภิสนฺโน) (๘) เข้าใจว่าเป็นโรคถ่ายไม่ออก เพราะท้องผูกอย่างแรง เนื่องจากนั่งมาก พระอานนทเถระ พุทธอุปัฏฐาก จึงไปหาหมอชีวก แจ้งพระอาการของพระพุทธองค์ให้ทราบ แล้วขอร้องให้หมอชีวกไปถวายพระโอสถแด่พระพุทธองค์

ได้ฟังดังนั้น หมอหนุ่มรู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นกำลัง ที่จะได้มีโอกาสถวายการบำรุงพระพุทธองค์ ที่เขารอคอยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่สบโอกาสสักที แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเขาต้องการให้พระพุทธองค์ทรงพระประชวร จะได้มีโอกาสไปรักษา

หากแต่จะหาโอกาสอื่นไปเฝ้าพระพุทธองค์ก็ไม่กล้าเพราะยังไม่รู้จักคุ้นเคยกับพระองค์ ครั้นท่านพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก มาเอ่ยปากขอร้องคราวนี้ จึงเป็นโอกาสอันเหมาะยิ่งนักที่จะได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด เขาจึงหาก้านอุบลมาสามก้านแล้วนำมาอบอย่างดีด้วยกรรมวิธีของแพทย์ นำไปถวายให้พระพุทธองค์ทรงสูดก้านละครั้ง เมื่อทรงสูดยาที่หมอชีวกอบก้านอุบลถวายแล้ว ก็ทรงถ่ายพระบังคนหนัก (อุจจาระ) ระบายสิ่งที่เป็นโทษออกจากพระวรกายหมดสิ้น ครบกำหนดแล้วทรง สนานด้วยน้ำอุ่น พระวรกายของพระพุทธองค์ได้กลับเป็นปรกติดังเดิม

ด้วยความใกล้ชิดต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งนี้หมอชีวกรู้สึกเลื่อมใสในพระพุทธองค์เป็นอย่างมาก จึงกราบทูลถวายตัวเป็นคิลานุปัฏฐากของพระองค์เป็นประจำ พระพุทธองค์ก็ทรงเมตตารับไว้ เป็นอันว่าแรงอธิษฐานแต่หนหลังของเขาสัมฤทธิ์ผลดังปรารถนาแล้ว ด้วยประการฉะนี้

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้



มีต่อ >>> ๙. พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงพระประชวร
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๙. พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงพระประชวร

คราวนี้ขอเชิญท่านผู้อ่าน นึกไปถึงเมืองอีกเมืองหนึ่งอยู่ห่างเมืองราชคฤห์ ด้านทิศตะวันตกไปอีกไกลมาก เมืองนี้มีชื่อว่าอุชเชนี หรืออุชเชน มีพระราชาทรงพระนามว่า ปัชโชต ครองราชสมบัติ ปัชโชต เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นกษัตริย์ที่ดุร้ายมาก ใครทำอะไรขัดพระทัยแม้นิดหน่อยก็จับตัดคอทันทีจนได้สมญานามว่า “จัณฑปัชโชต” แปลว่า “ปัชโชตผู้โหดร้าย”

ปัชโชตมีโรคร้ายประจำอยู่อย่างหนึ่งคือ “ปัณฑุโรค” (โรคดีซ่าน) (๙) ได้ทราบว่าที่เมืองราชคฤห์มีหมอวิเศษอยู่คนหนึ่ง จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปยังพระเจ้าพิมพิสาร ขอนายแพทย์มารักษาพระโรค พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงส่งหมอชีวกไปถวายการรักษา พร้อมทั้งรับสั่งให้หมอระมัดระวังตัวให้ดีด้วยเพราะทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ดุนักพลาดท่าพลาดทางอาจโดนตัดหัวก็ได้

หมอชีวกเดินทางไปถึงเมืองอุชเชนี เข้าเฝ้าพระเจ้าจัณฑปัชโชต ก็แจ้งประจักษ์แก่ใจว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ มีพระนิสัยหงุดหงิด ดุร้ายจริงตามคำเล่าลือ เขาลงมือตรวจพระอาการเสร็จแล้ว กราบทูลในหลวงว่าก่อนจะรักษาโรคให้หายได้ต้องขอให้ทรงให้สัญญาก่อน

“สัญญาอะไรวะ ข้าเอาแกมารักษาโรค มิใช่ให้มาสัญญา” ปัชโชตตวาด พระเนตรเขียวปัด

“ขอเดชะฯ พระอาการค่อนข้างน่าวิตก ข้าพระพุทธเจ้าจึงอยากจะกราบทูลพระกรุณา ขอพระราชทานสัญญาว่าจะทรงเสวยพระโอสถที่ข้าพระพุทธเจ้าประกอบถวายพ่ะย่ะค่ะ” หมอหนุ่มกราบทูล พยายามทำเสียงให้เป็นปรกติ

“ยาอะไรแกให้ข้ากินได้ทั้งนั้นแหละ ขออย่างเดียวอย่าให้มีเนยใสไม่ได้ เข้าใจไหม”

หมอหนุ่มสะดุ้ง เพราะยาที่จะผสมให้เสวย จะต้องใช้เนยใสเสียด้วย ถ้าขาดเนยใสมาผสมเป็นกระสายโรคอย่างนี้จะไม่หาย จึงสู้สะกดใจไว้ กราบทูลอีกว่า

“ข้าพระพุทธเข้าขอกราบทูลพระกรุณาพระราชทานของสามสิ่งคือ

๑) ห้องพิเศษสำหรับปรุงยา
๒) ให้เปิดประตูวังให้ตลอดคืน
๓) ขอช้างทรงหรือม้าทรงที่มีฝีเท้าเร็วที่สุดหนึ่งตัว”

“รักษาโรคสวรรค์วิมานอะไรของแกวะ ขอให้เปิดประตูวังตลอดคืน ขอช้างขอม้าฝีเท้าเร็ว ไอ้ข้อแรกก็พอมีเหตุผลอยู่หรอก แต่สองข้อหลังนี่จะเอาไปทำไม” ปัชโชตทรงซักถามด้วยขุ่นพระทัย

“ขอเดชะฯ เวลาต้องการเครื่องยาสมุนไพรที่จำเป็นบางอย่างกะทันหัน ข้าพระพุทธเจ้าจะได้รีบขึ้นช้างหรือม้าไปเอามาพ่ะย่ะค่ะ”

“เออ ตกลง รักษามากี่หมอแล้ว มีแกนี่แหละยุ่งที่สุด” ทรงบ่นอุบอิบ

เมื่อได้ของตามต้องการแล้ว หมอชีวกจึงเข้าห้องพิเศษปรุงยาตามที่เล่าเรียนมา ใส่เนยใสผสมเป็นกระสายก่อไฟตั้งเตาปิดประตูหน้าต่างห้องอย่างมิดชิด ป้องกันกลิ่นเนยระเหยออกไปข้างนอก ใส่สมุนไพร ดับกลิ่นเนยอย่างดี เคี่ยวยาอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ได้ยาสกัดออกมาประมาณถ้วยขนาดใหญ่ ลองดมดูไม่มีกลิ่นเนยหลงเหลืออยู่แม้นิดเดียว เสร็จแล้วนำเข้าถวายในหลวงกราบทูลวิธีเสวยและอาการหลังจากเสวยว่า

“หลังจากเสวยแล้ววันแรกจะมีอาการแน่น ถ้ามีพระอาการอย่างไรก็ขอให้ทรงอดทน พอตกถึงวันที่สองจะทรงเรอออกมาแล้ว อาการของโรคจะค่อยหายไป”

เสร็จแล้ว หมอหนุ่มรีบเข้าไปโรงช้างขึ้นช้างพังชื่อภัททวดีซึ่งมีฝีเท้าเร็ววิ่งได้วันละ ๕๐ โยชน์ ออกไปจากพระนคร สั่งมหาดเล็กให้กราบทูลในหลวงว่าจะรีบไปเก็บสมุนไพรมาเพิ่มเติมออกจากวังไปก็รีบไสช้างวิ่งหนีมุ่งหน้าไปยังเมืองราชคฤห์ ไปได้หลายสิบโยชน์ เห็นว่ามาไกลพ้นเขตอันตรายแล้ว จึงหยุดช้างลงไปนั่งพักเหนื่อยใต้ต้นมะขามป้อมต้นหนึ่ง

กล่าวถึงพระเจ้าจัณฑปัชโชต พอเสวยยาเข้าไปวันแรกก็เกิดอาการแน่น อึดอัด ตามที่หมอบอก แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดอะไรรุนแรงนัก พอรุ่งเช้าขึ้นวันที่สองทรงเรอออกมา เนยใสที่ผสมเป็นกระสายยาระเหยออกมาเตะนาสิก รู้สึกว่าโดนหมอหลอกให้เสวยเนยใสเข้าแล้วเท่านั้น ก็ทรงอาเจียนโอ้กอ้ากทันทีได้พระสติจึงแหวออกมาทั้งๆ ที่เกือบจะไม่มีพระกำลังอยู่แล้วรับสั่งให้ตามมหาดเล็กชื่อกากะ มาทันที

“มึงรีบตามไอ้หมอชีวกมาให้กูให้ได้ ไอ้หมอเจ้าเล่ห์กูจะตัดหัวมันให้สมที่มันโกหกกู” ทรงตะโกนก้องด้วยความพิโรธ

กากะ มหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์ซึ่งได้เร็ววันละ ๖๐ โยชน์ รีบวิ่งออกจากพระราชวังทันที

“เฮ้ย เดี๋ยวก่อน” ทรงรับสั่งไล่หลังมหาดเล็ก

“ไอ้หมอคนนี้มันเล่ห์เหลี่ยมมาก มึงอย่าเสือกกินอะไรที่มันให้เป็นอันขาดนะ”

กากะวิ่งบ้างเดินบ้าง ตามรอยชีวกไปจนทันที่ป่ามะขามป้อม เห็นหมอชีวกผูกช้างไว้ข้างต้นไม้ นั่งกินอาหารอยู่จึงจู่เข้าไปจับแขนจะลากกลับเมืองอุชเชนีทันที

“ตายละซิ นึกว่ามาพ้นแล้ว เจ้าบ้านี่ตามมาจนได้”

หมอชีวกคิด ฉับพลันนั้นไวเท่าคิด เขาจึงพูดขึ้นว่า

“เดี๋ยว ขออนุญาตผมกินข้าวอิ่มก่อนได้ไหม ข้าวยังมีอยู่แยะ เชิญกินข้าวด้วยกันก่อนค่อยกลับไปในหลวง”

“ไม่” เขาสั่นศีรษะ

“ในหลวงรับสั่งว่าคุณมารยามากห้ามกินอะไรที่คุณเอาให้เด็ดขาด”

“ในหลวงคงทรงกลัวผมจะวางยาพิษกระมัง ก็เราไม่ได้เป็นศัตรูอะไรกัน ผมจะวางยาคุณทำไม” หมอรบเร้าให้เขาร่วมวงให้ได้

“เชิญคุณตามสบายเถิด คำสั่งต้องเป็นคำสั่ง ไม่งั้นหัวผมขาด” กากะกล่าวยืนยันความตั้งใจเดิม

เมื่อเห็นว่าจะเข้าตาจน เพราะเจ้าหมอนั่นรักษาคำสั่งของเจ้าเหนือหัวอย่างเคร่งครัด จึงคว้าผลมะขามป้อมที่หล่นอยู่ข้างๆ มาผลหนึ่ง กัดก่อนแล้วดื่มน้ำ พลางหยิบมะขามป้อมที่พึ่งหล่นจากต้นไม้ยื่นให้กากะ ชวนให้กินแก้กระหายน้ำบ้าง กากะเห็นว่ามะขามป้อมพึ่งหล่นจากต้นหยกๆ คงไม่เป็นไร จึงรับมากัดกินบ้างหารู้ไม่ว่า ก่อนส่งให้หมอหนุ่มได้เอาเล็บจิกผิวมะขามป้อมนิดหนึ่ง ปล่อยยาซึ่งซ่อนอยู่ปลายเล็บซึมเข้าไปในผลมะขามป้อม พักเดียวได้เรื่องเจ้าหมอนั่นรู้สึกปวดท้องกะทันหันไม่ทันกล่าวอะไรออกมา อุจจาระก็ไหลออกมาดังสายน้ำพุ่งออกจากท่อ

“โอย ได้โปรดไว้ชีวิตชีวิตผมด้วยเถิด คุณหมอ” มหาดเล็กผู้น่าสงสารอ้อนวอน

“ไม่เป็นไร เพื่อนยาก ขี้ออกหมดแล้วก็จะหายเองแหละไม่ใช่ยาพิษอะไรหรอก” หมอหนุ่มกล่าว พร้อมกับหัวเราะร่าเริง

“ฝากนำช้างไปถวายคืนเจ้านายด้วย ลาก่อนนะ”

เวลาผ่านไปประมาณ ๓๐ นาที มหาดเล็กชื่อกากะจึงค่อยมีกำลังขึ้นบ้าง เดินโผเผไปแก้ช้างออกจากโคนต้นมะขามป้อมขี่ช้างกลับมายังพระราชวัง เข้าไปกราบทูลแด่ในหลวงด้วยตัวสั่นงันงก พระเจ้าจัณฑปัชโชต ทอดพระเนตรเห็นมหาดเล็ก รูปร่างอิดโรยผิดปรกติ ก็ทรงรู้ทันทีว่า คงเสียทีหมอหนุ่มเสียแล้ว จึงรับสั่งด้วยอารมณ์ดีว่า

“กูบอกแล้ว อย่ากินอะไรที่มันให้ มึงก็เสียทีมันจนได้ปล่อยมันเถอะวะ กูหายดีแล้ว ยามันวิเศษจริงๆ”

พอหายประชวรแล้ว พระเจ้าจัณฑปัชโชต ทรงนึกถึงบุญคุณของหมอชีวก คิดจะพระราชทานรางวัลให้สมใจ จึงทรงเลือกได้ผ้าเนื้อสีทองอย่างดีสองผืน ที่ทอที่เทศสีพี ซึ่งเป็นผ้าเนื้อละเอียดมาก คนธรรมดาไม่มีโอกาสได้ใช้ผ้าเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ทรงมอบผ้าสองผืนให้อำมาตย์นำไปให้หมอชีวกถึงกรุงราชคฤห์พร้อมกับมีพระราชสาส์นไปขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสาร ที่ทรงประทานหมอวิเศษไปรักษาโรคให้จนหายสนิท

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้



มีต่อ >>> ๑๐. หมอชีวกถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้า
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑๐. หมอชีวกถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้า

หมอชีวก ได้ผ้าเนื้อสีทองอย่างดีสองผืนแล้ว นึกถึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าขึ้นมาทันที เห็นว่าผ้านี้เป็นผ้าเนื้อดีหาได้ยาก ควรจักนำไปถวายพระพุทธเจ้า จึงนำไปยังเวฬุวนารามตั้งใจจะถวายแด่พระพุทธองค์

แต่สมัยนั้น พระภิกษุสงฆ์ถือผ้าบังสุกุลอย่างเดียวคือ ท่านแสวงหาเศษผ้าที่ชาวบ้านเขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพ (๑๐) มาเย็บทำจีวรเอง และให้สอยเพียงสามผืนเท่านั้น พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้รับผ้าจีวรที่คฤหัสถ์ทำถวาย หมอชีวกจึงขอพรพระพุทธเจ้าให้ทรงรับผ้าเนื้อสีทองที่เขาน้อมถวาย และให้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าหรือจีวรที่ชาวบ้านผู้มีศรัทธาจัดถวายด้วย พระพุทธองค์ทรงรับจีวรของหมอชีวก และอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์รับคฤหบดีจีวรได้ตามคำขอของหมอชีวก แต่บัดนั้นมา

ชาวบ้านได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าหรือจีวรที่ชาวบ้านถวายได้ ต่างก็ดีใจ พากันนำจีวรมาถวายพระเป็นจำนวนมาก เนื้อดีบ้าง เนื้อหยาบบ้าง ทอด้วยวัตถุดิบต่างๆ กัน พระสงฆ์เลยเกิดความสงสัยว่าจีวรชนิดไหนควรจักรับ ชนิดไหนไม่ควรรับ จึงนำความเข้าทูลถามพระพุทธองค์ๆ จึงตรัสอนุญาตไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวร ๖ ชนิด คือ จีวรทำด้วยเปลือกไม้ ๑ ทำด้วยฝ้าย ๑ ทำด้วยไหม ๑ ทำด้วยขนสัตว์ ๑ ทำด้วยป่าน ๑ ทำด้วยของ (ทั้งห้าอย่างนั้น) เจือกัน ๑” (๑๑)

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้



มีต่อ >>> ๑๑. ปัญหาของหมอชีวก
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑๑. ปัญหาของหมอชีวก

หมอชีวกเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามาก มีเวลาว่างจากดูแลคนไข้เมื่อไร เป็นถือโอกาสไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทันทีเขาจึงมักจะเทียวไปเทียวมาระหว่างตัวเมืองกับสวนมะม่วงของเขาเสมอ สวนมะม่วงที่ว่า นี้เป็นสมบัติส่วนตัวของเขาเป็นสถานที่สงบสงัด เหมาะแก่ผู้ใคร่วิเวกเป็นอย่างยิ่ง ภายหลังหมอชีวกได้มอบถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้า เมื่อว่างจากภารกิจเมื่อใด เขาก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามข้อข้องใจในธรรมอยู่เสมอ ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรบันทึกบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับหมอชีวกอยู่หลายแห่ง เป็นเรื่องมีสาระน่ารู้ทั้งสิ้น จึงขอถือโอกาสถ่ายทอดให้ทราบเพียงสองแห่ง ดังต่อไปนี้ (๑๒)

๑. วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของหมอชีวก หมอชีวกเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าตามปกติแล้ว ได้กราบทูลถามปัญหาพระพุทธองค์ ดังต่อไปนี้

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนปฏิบัติตัวได้แค่ไหน ถึงจะเรียกว่าเป็นอุบาสก”

“ผู้ที่นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะจึงจะเรียกว่าเป็นอุบาสก”

“อุบาสกชนิดไหน เรียกว่าอุบาสกมีศีล”

“อุบาสกที่งดเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มสุราเมรัย เรียกว่าอุบาสกมีศีล”

“อุบาสกชนิดไหน เรียกว่าเอาตัวรอดคนเดียว”

“อุบาสกที่มีศรัทธา มีศีล มีจาคะ มีทัศนะ (ความเห็นถูกต้อง) ใคร่เห็นพระสงฆ์ ใคร่สดับธรรม ฟังธรรมแล้วจดจำได้จดจำได้แล้วพิจารณาไตร่ตรอง รู้ข้อธรรมแล้วประพฤติปฏิบัติตามถูกต้อง อุบาสกชนิดนี้เรียกว่าเอาตัวรอดคนเดียว”

“แล้วอย่างไหน ชื่อว่าเอาตัวรอดด้วย ช่วยคนอื่นด้วย”

“คนที่ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวข้างต้น แล้วชักชวนให้คนอื่นทำตาม ชื่อว่าช่วยตัวด้วย ช่วยคนอื่นด้วย”

๒. คราวหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงเช่นเดียวกัน หมอชีวกเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลถามปัญหา ดังนี้

“ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินคนเขาตำหนิพระองค์ว่า พระองค์สอนให้คนอื่นงดฆ่าสัตว์ แต่เสวยอาหารที่เขาฆ่าถวาย เป็นความจริงเพียงไร ?”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ถ้าได้เห็น, ได้ยิน, และสงลัยว่าเขาฆ่าเจาะจงถวาย พระองค์ไม่เสวยเนื้อนั้น แต่ถ้าไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงถวายพระองค์เสวยเนื้อนั้น

พระองค์ตรัสอธิบายต่อไปว่า ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มีจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และแผ่คุณธรรมเหล่านี้ ไปยังสรรพสัตว์ทั่วโลก อยู่ด้วยจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทต่อใครเลี้ยงชีพด้วยอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านเขาถวายเมื่อมีคนเขานิมนต์ไปฉันอาหาร ท่านก็ไป เขาถวายอาหารชนิดใด จะเลว หรือประณีต ท่านก็ฉันพอดำรงอัตภาพ ไม่ติด หรือยึดมั่นในอาหารที่ฉันนั้น

เสร็จแล้วพระองค์ย้อนถามหมอชีวกว่า

“พระภิกษุที่ปฏิบัติเช่นนี้ จะเรียกว่าเบียดเบียนคนอื่นหรือไม่”

“ไม่ พระเจ้าข้า” หมอชีวกกราบทูล

“อาหารอย่างนี้ไม่มีโทษ (คือกินได้ ไม่เรียกว่าเป็นการสนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์) มิใช่หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

พระองค์ตรัสต่อไปว่า ใครก็ตามถ้าฆ่าสัตว์เจาะจงถวายพระตถาคต หรือพระภิกษุสงฆ์สาวก ย่อมก่อลาปกรรมทั้งแก่ตนเองและแก่คนอื่น ด้วยสถานะ ๕ ประการคือ

๑) สั่งให้คนอื่นนำสัตว์ตัวโน้นตัวนี้มา (เท่ากับชักนำเอาคนอื่นมาร่วมทำบาปด้วย)

๒) สัตว์ที่ถูกนำมาฆ่า ถูกลากถูกลู่ถูกังมา ได้รับความเจ็บปวดเป็นอันมาก

๓) ออกคำสั่งให้เขาฆ่าสัตว์นั้น (ตัวเองก็บาป คนฆ่าก็บาป)

๔) สัตว์ที่ถูกฆ่าได้รับทุกขเวทนาจนสิ้นชีพ

๕) ทำให้คนอื่นเขาหาช่องว่าพระตถาคตและพระสงฆ์สาวก ด้วยเรื่องเนื้ออันไม่ควร (จริงอยู่ ถ้าพระไม่รู้ไม่เห็น ไม่สงสัยว่าเขาเจาะจงฆ่าถวาย ไม่ต้องอาบัติ แต่คนภายนอกอาจหาว่าพระรู้แต่แกล้งทำไม่รู้ หรือปากว่าตาขยิบ ก็ได้)

หมอชีวกได้สดับวิสัชนาจากพระพุทธองค์จนแจ่มแจ้งหายสงสัยแล้ว ในที่สุดได้กล่าวขึ้นว่า ตนเคยแต่ได้ยินได้ฟังผู้หลักผู้ใหญ่เล่าว่า “พระพรหม” นั้นมีจิตประกอบด้วย พรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ไม่เคยเห็น “พระพรหม” ตัวจริงสักที ที่แท้ “พระพรหม” ก็คือพระพุทธองค์นั่นเอง เพราะพระองค์ทรงมีคุณธรรมเหล่านี้ในพระทัย เป็นพยานที่เห็นได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“พรหมที่ว่านี้ ถ้าชีวกหมายถึงผู้ที่ไม่มีความพยาบาท ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ตถาคตละกิเลสเหล่านี้ได้เด็ดขาดแล้ว”

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้



มีต่อ >>> ๑๒. เหตุการณ์ระทึกใจในสวนมะม่วง
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑๒. เหตุการณ์ระทึกใจในสวนมะม่วง

คราวหนึ่งเหตุการณ์ที่ใครๆ ไม่คาดฝัน ก็อุบัติขึ้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถูกลอบทำร้าย โดยคนใจบาป เจ้าวายร้าย นั้นปีนขึ้นเขาคิชฌกูฏ กลิ้งก้อนหินลงมา หมายใจจักให้หินทับพระพุทธองค์ ขณะที่กำลังนั่งเข้าฌานสมาบัติอยู่ที่ถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชฌกูฏ แต่เดชะพระบารมีของพระพุทธองค์ ก้อนหินนั้นกลิ้งลงมาปะทะง่อนผา เบื้องบนพระเศียร กระเด็นไปทางอื่น แต่กระนั้น สะเก็ดหินก็กระเด็นไปต้องพระบาททำให้ห้อพระโลหิต ได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก พระสงฆ์สาวกช่วยกันหามพระพุทธองค์หนีออกมายังสวนมะม่วงของหมอชีวก

หมอชีวกกำลังตรวจคนไข้อยู่ในเมือง พอได้ทราบข่าวว่าพระพุทธองค์ถูกลอบทำร้ายอาการสาหัส วิ่งแจ้นไปสวนมะม่วงทันที ได้ถวายการรักษา โดยชะล้าง และพันแผลให้พระพุทธองค์แล้ว ทูลลาไปดูคนไข้ในเมืองต่อ

ขอย้อนกล่าวถึงสาเหตุที่พระพุทธองค์ถูกลอบทำร้ายตัวการผู้ก่อมหันตกรรมครั้งนี้คือ พระเทวทัต

พระเทวทัตคือใคร ?

พระเทวทัต โดยเชื้อสายดั้งเดิมเป็นเจ้าชายในโกลิยวงศ์ลูกพี่ลูกน้อง (บางแห่งว่าเป็นพี่) ของพระนางยโสธราหรือพิมพาเมื่อสิทธัตถราชกุมาร ออกผนวชสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระราชบิดา และพระประยูรญาติที่ กรุงกบิลพัสดุ์ พวกเจ้าชายในตระกูลศากยะเป็นจำนวนมาก ได้ออกผนวชเป็นพุทธสาวก เทวทัตกุมารได้ถือโอกาสออกผนวชตามในคราวนั้นด้วย แรกๆ ก็ คงด้วยเจตนาดีคือหวังทางสิ้นทุกข์จึงปรากฏว่าได้บำเพ็ญสมณธรรมจนได้ฌานขั้นโลกีย์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ครั้นต่อมาเกิดขัดพระทัย เพราะเรื่องลาภสักการะเป็นเหตุ

เรื่องก็มีอยู่ว่า ชาวบ้านนำภัตตาหารบ้าง ของถวายอย่างอื่นบ้าง ไปถวายพระ ต่างก็ถามหาพระองค์อื่นๆ ไม่มีใครถามหาพระเทวทัตเลย จึงเกิดมานะขึ้นในใจว่า พระเหล่านั้นก็เป็นกษัตริย์ออกบวช เราก็เป็นกษัตริย์เหมือนกันทำไมจึงไม่เห็นความสำคัญของเรา พวกนี้มันรู้จักเทวทัตน้อยเสียแล้ว คิดดังนี้จึงวางแผนเข้าไปสนิทชิดเชื้อกับพระเจ้าอชาตศัตรูสมัยยังเป็นพระราชกุมาร แสดงฤทธิ์เดชให้ดู จนเจ้าชายเลื่อมใส มอบตนเป็นศิษย์ก้นกุฏิ แต่นั้นมาลาภสักการะก็ไหลมาเทมาสมเจตนานึกเพราะบารมีของศิษย์ก้นกุฏิ

เมื่อคนขนาดมกุฎราชกุมารยกย่องนับถือเป็นพระอาจารย์ เทวทัตก็ลู่ทางไปสู่ความยิ่งใหญ่ กำเริบเสิบสานถึงขั้นคิดจะกุมอำนาจการปกครองคณะสงฆ์แทนพระบรมศาสดา ทูลขอให้พระองค์มอบอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ให้ตน โดยอ้างว่าตนเองมีความปรารถนาดีต่อพระธรรมวินัย ใคร่จะจัดการให้พระศาสนาเจริญก้าวหน้า พระพุทธองค์ทรงพระชราภาพมากแล้ว ซ้ำยังมีพระภารกิจอย่างอื่นที่จะทรงกระทำเป็นอันมากขอให้ประทานอำนาจการปกครองให้ตนเถิด จะได้ช่วยแบ่งเบาพระภาระ พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นเจตนาอันลามกของพระเทวทัต จึงไม่ประทานอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ให้ ทั้งยังทรงตักเตือนสั่งสอนด้วยคำแรงๆ เพื่อให้สำนึก แต่แทนที่พระเทวทัตจะสำนึก กลับผูกใจเจ็บพระพุทธองค์หนักขึ้น หาว่าพระพุทธองค์ทำให้อับอายต่อหน้าธารกำนัล

ด้วยเจตนาหยาบช้า อยากใหญ่ ของพระเทวทัต ฤทธิ์โลกีย์ที่เคยมีเคยได้ก็เสื่อมหมด เมื่อแผนการขั้นแรกล้มเหลว จึงหันไปเดินวิธีใหม่ โดยยุให้อชาตศัตรูกุมาร หาอุบายกำจัดพระราชบิดาเสีย แล้วตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง ส่วนตนเองก็จะฆ่าพระพุทธเจ้า ตั้งตนเป็นพระพุทธเจ้าแทน อชาตศัตรูกุมารตกหลุมพรางพระเทวทัต เห็นผิดเป็นชอบ จับพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา ขังคุกทรมานได้อดพระกระยาหารจนสิ้นพระชนม์ แล้วได้ตั้งตนเป็นพระราชาสำเร็จ ฝ่ายพระเทวทัตก็พยายามหาทางกำจัดพระพุทธองค์ให้ได้ ครั้งแรกไปขอแรงพระเจ้าอชาตศัตรูให้ส่งนายขมังธนูไปยิงพระศาสดา แต่แผนการณ์ล้มเหลวอีกเป็นครั้งที่สอง

“เมื่อแผนการที่วางไว้อย่างรัดกุมเช่นนี้ ยังล้มเหลวคราวนี้เห็นจะต้องแสดงเอง”

เจ้าใจบาปคิด จึงค่อยด้อมๆ มองๆ หาโอกาสเหมาะพอดีวันหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่ถ้ำมัททกุจฉิเชิงเขาคิชฌกูฏ พระเทวทัตจึงแอบปีนเขาขึ้นไป ผลัก ก้อนหินลงมาเพื่อให้ทับพระศาสดาให้สิ้นพระชนม์ แต่บังเอิญก้อนหินกลิ้งลงมาปะทะง่อนผาเหนือพระเศียร กระเด็นห่างออกไป สะเก็ดหินกระเด็นไปกระทบพระบาท ยังผลให้ห้อพระโลหิต ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

หมอชีวกมัววุ่นอยู่กับการดูแลคนไข้ในเมือง จนถึงเย็นพลันนึกขึ้นมาได้ว่า ถึงเวลาแก้ผ้าพันแผลพระพุทธองค์แล้ว จึงรีบมุ่งหน้าไปยังสวนมะม่วง พอดีได้เวลาประตูเมืองปิดเขาจึงไม่สามารถออกไปเฝ้าพระพุทธองค์

“ตายละซิ ถึงเวลาแก้ผ้าพันแผลที่พระบาทแล้วด้วย ถ้าไม่แก้คืนนี้ทั้งคืน พระองค์จักมีอาการร้อนใน”

เขาคิดเสียใจ ที่ปฏิบัติต่อองค์พระศาสดาเอกแห่งโลกเหมือนกับคนไข้ธรรมดาคนหนึ่ง

ขณะที่หมอชีวกคิดกลุ้มใจอยู่นั้น พระบรมศาสดาทรงทราบกระแสความคิดของเขา จึงตรัสเรียกพระอานนท์มาแก้ผ้าพันแผลออก

ตื่นเช้าขึ้น หมอชีวกได้รีบเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลถามละล่ำละสักว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้พระองค์ทรงมีพระอาการร้อนในหรือเปล่า ?”

ทรงทราบดีว่าเขาหมายถึงอะไร แต่พระพุทธองค์ตรัสยิ้มว่าๆ ว่า

“ตถาคตดับความร้อนทุกชนิดได้สนิทแล้ว ตั้งแต่วันตรัสรู้สัมมาสัมโพธิฌาณ ณ โคนต้นโพธิ์ ผู้ที่เดินมาจนสุดทางแห่งสงสารวัฏ หมดความโศก หลุดพ้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ แล้วไม่มีความร้อนหรอก ชีวก ไม่ว่าร้อนนอกหรือร้อนใน” (๑๓)

ตรัสจบ ก็ทรงยื่นพระบาทข้างที่บาดเจ็บให้หมอชีวกดูพร้อมทั้งตรัสบอกเขาว่า พระองค์ได้รับสั่งให้พระอานนท์แก้ผ้าพันแผลให้ตั้งแต่เย็นวานนี้ ตรงกับเวลาที่เขานั่งคิดกลุ้มใจอยู่ข้างประตูเมืองนั่นแหละ

หมอชีวกมองดูพระบาท เห็นแผลหายสนิทดีแล้ว รู้สึกปลาบปลื้มที่ได้ถวายการรักษาพระบรมศาสดาจนหายประชวร

เรื่องราวหมอชีวกโกมารภัจจ์ เท่าที่เก็บปะติดปะต่อจากพระไตรปิฎก และอรรกถามีเท่านี้ สังเกตดูตามประวัติจะเห็นได้ว่า ตลอดชีวิตเขายุ่งอยู่แต่กับการรักษาโรคคนทั้งเมืองจนแทบหาเวลาปฏิบัติธรรมไม่ได้ อาจเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้ที่เขาไม่ได้ออกบวช หรือบรรลุคุณธรรมแม้เพียงขั้นโสดาปัตติผล แต่เขาได้ใช้วิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา บำเพ็ญประโยชน์แก่ชนหมู่มาก นับว่าเป็น “อุบาสกผู้ช่วยตัวเองด้วยช่วยผู้อื่นด้วย” ต้องตามพระพุทธพจน์ทุกประการ คนเช่นนี้ชื่อว่าไม่เสียชาติเกิดโดยแท้ และคนเช่นนี้เราควรเอาเยี่ยงอย่างเป็นอย่างยิ่ง มิใช่หรือ ?



>>>>> จบบริบรูณ์ >>>>>

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เชิงอรรถ

๑. ดู Dictionary of Pali Proper Names เล่ม ๒ หน้า ๑๓๑

๒. ดู สมันตาปาสทิกา อรรถกถาวินัย ภาค ๓ หน้า ๒๒๓

๓. มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกายกล่าวว่า “ชีวกโกมารภัจจ์” เป็นโอรสลับของอภัยราชกุมาร เพราะเจ้าชายเป็น “แขกพิเศษ” ของนางสาลวดี

๔. ชื่อนี้ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “เกามารภฤตฺย” ในคัมภีร์ทิพยาวทานเรียกเพี้ยนเป็น “กุมารภูต” ดร. มาลาลาเซเกร่า กุมารศาสตร์ (ดู Dictionary of Pali Prope Names เล่ม ๑ ฟุตโน้ตหน้า ๕๙๗)

๕. สมันตปาสาทิกา กล่าวว่า เหตุที่ชีวกโกมารภัจจ์ ตัดสินใจเรียนวิชาแพทย์เพราะ “แรงอธิษฐาน” แต่ชาติปางก่อนบันดาลใจ (สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๒๑)

๖. ดู สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๒๓

๗. “ภคันทล” ภาษาไทยแปลว่า โรคริดสีดวงทวาร แต่ฉบับภาษาฝรั่งแปลว่า fistula (Book of the Discipline Part 4 PTS Ed. หน้า ๓๘๕) พิสทูล่า ได้แก่ โรคที่เกิดเป็นโพรงระหว่างช่องอุจจาระกับผิวหนังที่ก้น คนละชนิดกับโรคริดสีดวงทวาร และรักษายากกว่าโรคริดสีดวงทวาร

๘. ข้อความในเครื่องหมาย อัญประกาศ เป็นคำแปลจากวินัยปิฎก (แปลฉบับภาษาไทย เล่ม ๘ หน้า ๖๓) ฉบับภาษาฝรั่งก็ฟังดูไม่ได้ใจความเช่นกันว่า The Lord came to have a disturbance of the humours of his body. ผู้เขียนเดาเอาเองว่าคงได้แก่ โรคท้องผูกอย่างแรง ไม่เช่นนั้นหมอชีวกคงไม่ถวายยาถ่าย

๙. “ปัณฑุโรค” ฉบับภาษาไทยแปลว่า โรคผอมเหลืองฉบับภาษาฝรั่งว่า jaundice แต่อาการผอมเหลือง หรือ จอนดิซ มีสาเหตุมาจากโรคต่างๆ เพราะฉะนั้นยาที่แก้จึงไม่เหมือนกันในวินัยปิฎกตอน เภสัชชขันธกะ มีกล่าวถึงพระรูปหนึ่งป่วยมีอาการผอมเหลือง พระพุทธเจ้าบอกวิธีแก้ โดยให้ฉันสมอดองกับน้ำมูตโค (Vinayapitaka เล่ม ๑ หน้า ๒๐๖)

๑๐. คนส่วนมากคิดว่า ผ้าห่อศพสกปรก เปื้อนเลือดและหนอง ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระเอามาทำจีวรความจริงแล้วชาวอินเดียเขาเอาผ้าอย่างดี ยาวเป็นหูกๆ พันศพหลายๆ ชั้นนำไปทิ้งป่าช้าผีดิบ (อามกสุสาน) ผ้าเหล่านี้ชั้นนอกๆ ไม่เปื้อนอะไรเลย จึงตัดเอามาทำจีวรได้

๑๑. ดู วินัยปิฎกแปล เล่ม ๘ หน้า ๗๐

๑๒. ดู พระสุตตันปิฎก ฉบับภาษาไทย เล่มที่ ๑๙ หน้า ๖๔ อังคุตตรนิกาย คหปติวรรค และชีวกสูตร มัชฌิมนิกาย

๑๓. ดู ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ หน้า ๕๗

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ค.2006, 2:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติย่อเสฐียรพงษ์ วรรณปก

- เปรียญธรรม ๙ ประโยค (ขณะเป็นสามเณร) อุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์ ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) และปริญญาโท สาขาภาษาตะวันออกโบราณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

- เคยรับราชการเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ ๙ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

- ปัจจุบันเป็นราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน

- เป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน และเป็นอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และจริยธรรมตามสถาบันต่างๆ

- กรรมการร่างหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

- เป็นผู้แต่งตำราเรียน วิชาพระพุทธศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

- เป็นประธานกรรมการจัดทำคู่มือการสอนพระพุทธศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

- เป็นประธานกรรมการผลิตตำราระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน

- เป็นคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือนหลายฉบับ

- เป็นนักเขียน มีงานเขียนทั้งทางวิชาการและกึ่งวิชาการพิมพ์เผยแพร่ไม่ต่ำกว่า ๖๐ เล่ม อาทิ พุทธวจนะในธรรมบท, พุทธศาสนาทัศนะและวิจารณ์, พุทธจริยาวัตรพากย์ไทย - อังกฤษ, บทเพลงแห่งพระอรหันต์, เพลงรักจากพระไตรปิฎก, พระไตรปิฎกวิเคราะห์, สองทศวรรษในดงขมิ้น, สูตรสำเร็จแห่งชีวิต, สู่แดนพุทธภูมิ, ไปไหว้พระบาทพระพุทธองค์, เนื้อติดกระดูก, นิทานปรัชญาเต๋า, พุทธวิธีแก้ทุกข์, สัมผัสพระพุทธเจ้าด้วยใจ, ยุทธจักรดงขมิ้น, ใต้ร่มใบบุญ, สวนทางนิพพาน, พุทธศาสนสุภาษิต, พจนานุกรมไทย - อังกฤษ ฯลฯ

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้



คัดลอกจาก...คุณ Alexalek
http://larndham.net/index.php?showtopic=20070
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง