วีรยุทธ
บัวทอง


เข้าร่วม: 24 มิ.ย. 2005
ตอบ: 1790
ที่อยู่ (จังหวัด): สกลนคร
|
ตอบเมื่อ:
24 ก.พ.2006, 2:28 pm |
  |
ในภาพหลวงปู่แหวน สุจิณโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
***********************************************************
การออกปฏิบัติธรรมในสมัยแรกๆของหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
(ศิษย์รุนแรกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต )
พระอริยะเจ้าแห่งวัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่
ส่วนหนึ่งของการรวบรวมเรียบเรียงโดยพระนาค อตฺถวโร(วัดสัมพันธวงศ์) กทม.
การออกปฏิบัติธรรมในสมัยแรกๆของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ตอนนั้นท่านยังไม่รู้จักวิธีภาวนา ยังไม่มีหลักไม่เกณฑ์ ยังไม่มีครูมีอาจารย์ ยังทำถูกๆ ผิดๆ บ้างพอควร เวลาอยู่ในป่าในเวลากลางคืนมักจะเกิดความระแวงไปในเรื่องที่ไร้สาระต่างๆตามแต่จิตมันจะปรุงขึ้นมา ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องหลอกตัวเองทั้งสิ้น ตามความเคยชินของจิตที่เคยเป็นอิสระมาตลอด โดยไม่มีขอบเขต ไม่มีเครื่องกั้น ไม่มีสิ่งควบคุม ครั้นมาปฏิบัติเข้าในระยะแรกก็รู้สึกดื่มด่ำดี แต่พอเอาเข้าจริงๆจิตกลับฟุ้งปรุงไปเป็นอดีตกับอนาคต ไม่ได้คิดพิจารณาในเรื่องปัจจุบันนัก จึงได้อยู่มอบกายถวายชีวิตแด่ผู้เป็นอาจารย์คือหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระผู้เฉลียวฉลาดในแง่อุบายธรมภาวนา
แต่เพราะอาศัยได้รับคำแนะนำแก้ไข พร้อมทั้งอุบายในการแก้จิตในเวลาฟุ้งซ่าน อุบายการข่มจิตในเวลาเกิดความทะนงตนจากหลวงปู่มั่น ประกอบการได้รับคำสั่งจากพระอาจารย์มั่นให้ไปอยู่บำเพ็ญขัดเกลากิเลสในที่ต่างๆ ได้อาศัยอาจารย์เสือบ้าง อาจารย์ช้างบ้างเป็นผู้ข่มขู่จิต ประกอบกับพยามยามประกอบความเพียรให้เป็นไปติดต่อไม่ขาดวรรคขาดตอน ทั้งกลางวันกลางคืน จิตก็ค่อยรวมตัวอยู่ในความควบคุมของสติรวมเข้าสู่สมาธิ ความเยือกเย็นในด้านจิตใจ เริ่มปรากฏผลให้ประจักษ์ ทำให้เกิดความมั่นใจในข้อปฏิบัติของตนที่ได้ดำเนินมาว่าไม่ผิดทาง
เมื่อความสงบของจิตเริ่มปรากฏเป็นผลของการปฏิบัติความเพียร ซึ่งแต่ก่อนมาเคยฝึกทำมาตลอดนั้น พอจิตสงบลงความเพียรก็เร่งขึ้นตามส่วน เป็นเครื่องบำรุงส่งเสริมสมาธิปัญญาไปในขณะเดียวกัน เมื่อศรัทธามีกำลัง สมาธิมีกำลัง ปัญญาก็มีกำลังต่างก็ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ตั้งแต่สมาธิขั้นต่ำไปถึงปัญญาขั้นสูง ความสุขทางด้านจิตใจเริ่มปรากฏเป็นผลให้ชื่นชม ไม่เสียแรงที่ได้พยามยามตั้งใจปฏิบัติมา
การปฏิบัติทางจิตนั้นเป็นของละเอียดอ่อนมาก สติสัมปชัญญะต้องตื่นอยู่เสมอไม่เช่นนั้นจะตามไม่ทัน จิตซึ่งเป็นธรรมชาติ ชอบคิด ชอบปรุง ชอบแส่ส่ายไปหาอารมณ์ที่ใกล้ที่ไกล ไม่มีขอบเขต ถ้าอยู่ในที่ชุมชนอารมณ์ที่เข้ามานั้นส่วนมากจะเข้ามาทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง เมื่ออารมณ์เข้ามาทางไหน จิตก็รับรู้ต้อนรับทันที การต้อนรับอารมณ์ของจิตมักจะนำมาแบกมาหามมาทับถมตัวเอง การที่จะสลัดตัดวางนั้นไม่ค่อยปรากฏ เพราะเหตุนั้นจึงทำให้เราเป็นทุกข์ไปกับอารมณ์นั้นๆเป็นสุขไปกับอารมณ์นั้นๆ เป็นความเพลิดเพลินไปกับอารมณ์นั้นๆ ทั้งนี้ก็เพราะขาดการพิจารณาของจิตนั่นเอง จิตที่ไม่มีสติไม่มีพี่เลี้ยงคอยควบคุม คอยแนะนำมักจะไปแบกไปหาม ไปหามเอาทุกสิ่งทุกสิ่งทุกอย่างมาทับมาถมตนเองให้เกิดทุกข์ ถึงกับบางคนตีอกชกตนเห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่น่ารื่นรมย์ กลายเป็นพิษเป็นภัยไปก็มาก ส่วนอารมณ์ของนักปฏิบัติผู้อยู่ในป่านั้น มักเกิดขึ้นกับจิตที่ชอบปรุงแต่งเป็นอดีตอนาคต ซึ่งอารมณ์ประเภทนี้ทำลายนักปฏิบัติมามากต่อมากแล้ว เหตุเพราะไม่รู้เท่าทันกลมายาของจิต เหตุเพราะขาดสติปัญญาพิจารณานั่นเอง
ดังนั้นการปฏิบัติจิตภาวนาจำต้องเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ อารมณ์ต่างๆที่ผ่านเข้าออกตามทวารต่างๆนั้น ต้องได้รับการใคร่ครวญพิจารณาจากสติสัมปชัญญะเสียก่อนทุกครั้ง นอกจากความเป็นผู้มีสติประจำอิริยาบถแล้วการบริโภคปัจจัย๔ ก็ต้องพิจารณาโดยอุบายทุกครั้ง การพิจารณาปัจจัย๔ก่อนการบริโภคการใช้สอยนั้นเป็นอุบายข่มความทะเยอทะยานอยากของจิตได้ดี บางครั้งก็เกิดความแยบคาย เป็นอุบายของปัญญาได้ ดังนั้นการภาวนาก็คือการมีสติสัมปชัญญะคอยตักเตือนตนเองอยู่เสมอ ไม่ให้เกิดความประมาท ความมัวเมา มีอินทรีย์สังวรละเว้นบาปอกุศลแม้เพียงน้อย จำต้องอาศัยความหมั่นเพียร ความพยายามทางกาย ทางวาจา ทางใจของตน จึงจะรักษาตนให้รอดปลอดภัย ต้องกระทำให้มากให้เป็นไปติดต่อไม่ขาดวรรคขาดตอน |
|
_________________ ท่านสามารถฟังวิทยุเสียงธรรมหลวงตามหาบัวได้ทั่วประเทศ
และโทรทัศน์ดาวเทียมเสียงธรรมทั้งภาพและเสียงได้แล้วที่
http://www.luangta.com |
|