Home
•
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทาน
•
หนังสือ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
•
แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้
ค้นหา
สมัครสมาชิก
รายชื่อสมาชิก
กลุ่มผู้ใช้
ข้อมูลส่วนตัว
เช็คข้อความส่วนตัว
เข้าสู่ระบบ(Log in)
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
พระพุทธประทานธรรมมาให้(ข่าวล่าสุด)
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
:: ลานธรรมจักร ::
»
สนทนาธรรมทั่วไป
ผู้ตั้ง
ข้อความ
พุทธภูมิ
ผู้เยี่ยมชม
ตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2006, 8:52 am
พระพุทธประทานธรรม เกษร สุทธจิต จันทร์ประภาพ (เรียบเรียง)
ทุกคนพึงทำจิตให้มั่นคงในความดีทั้งหมด มีศีล สัจจะ มีวิริยะ ความเพียร เอาชนะความโกรธ ความโลภ ความหลงใหลในโลกสมบัติซึ่งเป็นของไม่จริง ของจริงคือพระนิพพาน เป็นของมีความสุข ไม่สูญสลายดังที่คนคิดกัน ขันธมาร คือ กายกับประสาท อารมณ์ติดทางโลกทั้งหลาย คอยดึงจิตเราที่อาศัยกายชั่วคราวนี้ให้คิดผิด ทำผิด พูดผิด มัวเมากับลาภ ยศ สรรเสริญ อยู่เสมอ โลก คือ กาย(รูป) รส กลิ่น เสียง(นาม) อย่าเอาไปรวมกับจิต เป็นคนละส่วนกัน ถ้าเอามารวมกันก็มีเหตุวุ่นวาย
อย่าคิด อย่ามองคนอื่นในแง่ไม่ดีเด็ดขาด เขาจะดีจะชั่วก็เป็นเรื่องของเขา ต่างก็มีกรรมเวรเป็นของตน ไม่ต้องสนใจใคร หากสนใจความไม่ดีของคนอื่น ระวังตัวเราเองอาจจะต้องลงอเวจี ปฏิบัติมาถึงป่านนี้แล้วใครทำไม่ดีกฎของกรรมลงโทษเอง
ระวังจิตของเราให้ดีที่สุด ทำจิตให้สะอาด เอาจิตที่ดียกไปไว้บนพระนิพพาน มีพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในใจตลอดเวลาที่มีลมหายใจเข้าออก
สิ่งที่ดีที่ควรคิดควรเก็บเอาไว้ในใจมีดังนี้
1. ป้องกันความฟุ้งซ่านของจิต โดยเอาจิตจับลมหายใจเข้าออกพร้อมกับนึกถึงพระพุทธพิชิตมารบรมศาสดา เป็นพุทธานุสติกรรมฐาน ร่วมกับ อานาปานสติกรรมฐาน มีคุณประโยชน์มหาศาล มีปัญญาดี เห็นความทุกข์ และบรรเทาทุกขเวทนาของร่างกาย
2. ให้เอาจิตดูร่างกายให้ชัดแจ้งตามความเป็นจริงว่า ร่างกายสะอาดหรือ สกปรก มีกลิ่นหอมหรือเหม็น จิตเราบังคับร่างกายให้เปล่งปลั่งสดชื่นได้หรือไม่ ถ้าจิตบังคับไม่ให้ร่างกายหิว เหนื่อย เจ็บ แก่ ตาย ไม่ได้ ก็แสดงว่าร่างกาย ไม่ใช่ของจิต ไม่ใช่ของเราจริง เป็นของธรรมชาติ เสื่อมสลายผุพังตามกฎของโลกนี้ คือ เกิดขึ้น แก่ลง แล้วแตกสลายเหมือนกันหมด
3. ให้เอาจิตดูกายว่า ทุกลมหายใจเข้าออก ร่างกายใกล้ความตายทุกวินาที จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ แล้วตาย ถูกเผากลายเป็นเถ้าถ่าน ร่างกายเป็นเพียงบ้านชั่วคราว จิตเป็นของจริงไม่ตายตามร่างกาย จิตมุ่งมั่นตั้งใจไปพระนิพพานเป็นการตัดความหลง ตัดอวิชชาไปในตัว ไม่หวังการเกิดอีก
4. ทำจิตใจสะอาดด้วยคุณธรรม มีเมตตากรุณาต่อคนสัตว์ทั่วโลก เป็นการตัดความโกรธ มีความชื่นชมยินดีกับผู้ที่ได้ดีมีสุข เป็นการตัดความอิจฉาริษยา ทำใจเฉย ๆ ไว้ไม่ซ้ำเติมกับผู้ทำผิด เฉยกับความทุกข์ความผิดหวังสารพัด จิตจะฉลาด ไม่ทุกข์ใจไปตามความเปลี่ยนแปลง ของชีวิตในโลก เงินทองจะเสียหายก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการเปลี่ยนแปลง หนีไม่พ้น จะหนีพ้นก็มีที่เดียวแดนเดียวคือ แดนพระนิพพาน
5. จิตนึกถึงความดีของพระนิพพาน จิตเป็นสุข เย็นสบายเพราะจิตไม่ติดในกายเรากายเขา ไม่ติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จิตที่พระนิพพานเป็นจิตดับ ราคะ(รัก) ตัณหา (ความอยาก) ดับอุปาทาน ยึดขันธ์ 5 (รูป-นาม) ว่าเป็นของเรา แท้จริง รูป- นาม นี้เป็นของธรรมชาติ เราคือ จิต ยืมธรรมชาติมาใช้ชั่วคราว พระนิพพานเป็นแดนทิพย์วิเศษ เป็นสถานที่จริง พระนิพพานไม่ใช่วัตถุ ดิน น้ำ ลม ไฟ แบบ โลกนี้ พระนิพพานเป็นนามธรรม มองได้ด้วยจิตสะอาด ปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง จิตเป็นทิพย์ ที่เห็นพระนิพพาน เป็นรูปร่าง ท่านเรียกกันว่า รูปพระนิพพาน รูปพระนิพพานอยู่ในนามละเอียดยิ่งกว่าลมอากาศ จิตเป็นทิพย์เท่านั้นจึงจะสัมผัสได้ (คนที่ยังไม่ตายก็สัมผัสแดนทิพย์พระนิพพานได้โดยทำสมาธิวิปัสสนา ซึ่งมีหลายแบบ แบบง่าย ๆ คือ มโนมยิทธิ ) มีพระพุทธเจ้าหลายแสนพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าหลายล้านพระองค์ และพระอรหันต์มากมาย พระนิพพานไพศาลกว่าโลกมนุษย์หลายล้านเท่า พระท่านที่นิพพานแล้วก็ยังคงช่วยเหลือเทวดา มนุษย์ที่มีศีลธรรมอยู่
6. จิตให้จับอริยสัจ คือ ความเป็นจริงของโลก ตรวจตราดูให้ทั่วว่าคนในโลกที่เป็นสุขจริงหรือไม่ การที่ร่างกายมีภาวะหิวกระหาย เหนื่อยอ่อน หนาว ปวดโน่นปวดนี่ การวิ่งวุ่นหาเงินเพื่อเลี้ยงชีวิตเป็นสุขจริงหรือ ?
7. ใช้จิตเราตรวจตราดูว่ากิเลสร้อยรัด 10 ตัว นั้นเราตัดตัวใดได้บ้างแล้ว กิเลส 10 ตัวมีดังนี้
(1) เห็นว่าร่างกาย ทรัพย์สมบัติ เป็นของเรา
(2) สงสัยในพระธรรมคำสอน
(3) ไม่มีความมั่นคงในศีล 5
(4) หลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส (กามฉันทะ)
(5) มีความไม่พอใจหงุดหงิด (ปฏิฆะ)
(6) หลงในรูปฌาน
(7) หลงในอรูปฌาน
(8) มีมานะถือว่าเราดีกว่าเขา เสมอเขา ด้อยกว่าเขา
(9) มีจิตคิดฟุ้งซ่านนอกเรื่องพระนิพพาน (อุทธัจจกุกกุจจะ)
(10) มีอวิชชา คิดว่าโลก สวรรค์ พรหม น่าอยู่ น่าสบาย
ให้คิดใคร่ครวญก่อนทำ พิจารณาให้รอบคอบอย่าใจร้อน สติปัญญาที่มีให้เอาออกมาใช้ ระวังจิตให้ดี มารนั้นคอยดึงจิตเราไปในทางชั่ว คนทั่วไปในโลกนี้จิตที่ดี มีประโยชน์จริง ๆ มีเพียง 1 % อีก 99 % เป็นจิตที่ไหลตามอำนาจ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ตามโลก ไหลไปตามภาวะของโลกจึงเดือดร้อน อย่าฟังคนรอบข้าง ต้องเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย ปฏิบัติกาย วาจา ใจ ให้ดี ให้จริงจัง อย่าเกียจคร้าน อย่าสนใจทางโลกมนุษย์ ซึ่งวุ่นวายไม่มีจบสิ้น ได้มโนมยิทธิ แล้วก็ให้ยกจิตไปไว้บนพระนิพพานบ่อย ๆ อายุสังขารเหลือน้อยลงทุกวัน ร่างกายก็เสื่อมโทรมลงใกล้ ความเน่าเปื่อยลงทุกวัน
การปฏิบัติธรรมนั้นจงตั้งมั่นที่ใจ อย่าทำที่วาจา ความดีควรมีที่กิริยา จิตที่เข้มแข็งมีกำลังใจเต็มเป็นบารมี การปฏิบัตินั้น ขอให้มุ่งในเรื่องอย่ายึดในสิ่งที่เป็นสมมุติ คือ ร่างกาย ทรัพย์สมบัติ พยายามทำใจให้นิ่ง นิ่งเฉยมากที่สุด อย่ากลัวพลาด กลัวห่วง กลัวธรรมะ คือ กลัวแก่เจ็บไข้แล้วทรมาน กลัวความตายที่กำลังเดินทางเข้ามาหาทุกลมหายใจเข้าออก จงอยู่กับปัจจุบัน ปล่อยให้ชีวิตทำหน้าที่ของมันไป จิตเราก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของหลอกลวง ของสมมุติ
พวกที่ศึกษาพระธรรมที่มาจากมหาเถรสมาคมก็ดี พุทธศึกษาหรืออื่น ๆ ก็ดี เขามักจะสอนธรรมวินัย ธรรมของโลกเสียมากว่าที่จะสอนให้คนหนีโลก
บางคนบอกว่าพระนิพพานเป็นอนัตตา ซึ่งบิดเบือนไปจากคำสอนที่เป็นจริง พระนิพพานเป็นอมตะ เป็นของจริงไม่เปลี่ยนแปลงเหมือนโลก พระนิพพานไม่ใช่อนัตตา เหนืออนัตตา เหนือทุกขัง เหนืออนิจจัง เหนือโลก สวรรค์ พรหม อย่าเอาไปเทียบกับของต่ำ พระนิพพานเป็นของสูง ของจริง ไม่ใช่ของสมมุติเหมือนโลกนี้
การปฏิบัติธรรมะ ให้ระลึกว่าความตายมีอยู่ทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้าออก เพื่อกันความประมาทพลั้งเผลอ พิจารณาว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ตายเมื่อไรจิตเราแยกจากกายเด็ดขาด มุ่งไปแดนพระนิพพานที่ไม่มีการเกิดแก่เจ็บตาย ไม่หนาวร้อน ไม่ทุกข์ดีกว่า สบายถาวรดี
การประพฤติธรรมจะถูกจะผิดจะตรงจะชอบ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ถอยหน้า ถอยหลัง นั้น เทวดา พรหม มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ท่านทรงทราบทุกอย่างไม่มีอะไรปิดบังได้
เส้นทางชีวิตของแต่ละคนเป็นทางเอก ทางส่วนตัว เราจะต้องดูแลรักษาทางอันนั้นให้สะอาด เดินง่ายเรียบร้อย เราอย่าเป็นคนทำทางของเราให้เป็นอุปสรรค กับชีวิตเราเองด้วยการมีอารมณ์ร้อน เศร้าหมอง วิตกกังวล ต้องรักษาจิตใจให้สดชื่นเย็นสบาย ทางชีวิตก็ถึงจุดหมายคือพระนิพพานได้
โอกาสและเวลาของแต่ละคนมีคุณค่าทางโลกและทางธรรมมากนัก ฉะนั้นควรทำโอกาสและเวลาของเราให้เป็นบุญเป็นประโยชน์มากที่สุด โอกาสนั้นก็ทำแสนง่ายดายคือ ทำที่จิต เห็นว่าจิตมาอาศัยกาย คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ชั่วคราว จิตมีที่ไปที่เดียวคือ พระนิพพาน ทางอื่น นรก สัตว์เดรัจฉาน โลก สวรรค์ พรหม เราไม่ไปเด็ดขาด ตั้งจิตไว้อย่างนี้เป็นแรง อธิษฐานบารมี
อุดมคติ คือ ความปรารถนาในสิ่งที่งดงาม มีอุดมคติอะไรก็พึงทำแต่สิ่งที่อยู่ในอุดมคติเท่านั้น อย่าออกนอกอุดมคติ เรามีชาติ ศาสนา พระประมุข อยู่ 3 สิ่งก็อย่าให้เลยเถิดจาก 3 สิ่ง
จริงอยู่ที่ว่าโลกเราหาความยุติธรรมไม่ได้ในสิ่งที่มองเห็น แต่สิ่งที่เป็นธรรมชาติหรือธรรมะนั้นเป็นกฎของธรรมดาหรือกรรม เป็นของยุติธรรมแน่นนอน เราก่อชีวิตขึ้นมาก็เป็นธรรมชาติที่เราจะต้องหาทางให้ชีวิตนั้นสดใส ด้วยการมีศีล 5 ครบ ศีล 5 ทำให้เป็นคนดี สมาธิทำให้เป็นคนเฉย การรู้เห็นทุกข์ของร่างกายทำให้คนมีปัญญา ระวังอย่าให้อารมณ์พอใจ โกรธ เกลียด รัก ชอบ หลง เป็นเจ้าหัวใจ ความยินดีไม่ได้ทำให้คนประสบความสำเร็จ การบำเพ็ญเพียรภาวนาพิจารณาร่างกายเป็นของน่าเกลียดน่ากลัวน่าเบื่อหน่าย ทำให้คนจำนวนมากสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม จงพยายามและหาช่องทางสำหรับตัวเราเสียก่อนที่จะหมดเวลาคือ ตาย เวลาที่เป็นทุนนั้น จงใช้สร้างคุณอย่าสร้างโทษ จงใช้เวลาและกำลังของสังขารให้เป็นทุนต่อธรรมประจำตนให้มากที่สุด แล้วก็จะได้รับพรที่วิเศษคือ จงหมดภาระจากทุกสิ่ง
บางคนที่มีทิฐิว่า พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้วย่อมไม่ปรากฏอีก โดยอ้าง พระบาลี นิพพานัง ปรมังสุญญัง คำว่า สูญ นั้นหมายถึง สูญจากกิเลส จิตสูญจากกิเลสจึงจะเข้าพระนิพพานได้ จิตมัวหมอง ไม่รู้ตามความเป็นจริง แปลบาลีผิดจากความหมายพระพุทธองค์ จิตก็หลงทางไปสู่อบายภูมิเพราะเป็นจิตไม่ฉลาด
สิ่งที่ไม่มีที่พระนิพพานได้แก่ นรก สัตว์ โลก สวรรค์ พรหม ธาตุ 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ ) ขันธ์ 5 (รูป-นาม) อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ราคะ อุปาทาน บาปกรรม อวิชชา สังโยชน์ (กิเลสร้อยรัด 10 อย่าง ) เกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งเหล่านี้ไม่มีในแดนพระนิพพาน
เราอยู่ในพระพุทธศาสนา จับหลักในคำสอน จับหลักให้จริงก่อน ให้คิด ไตร่ตรองก่อนว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้เป็นจริงไหม แล้วจึงเชื่อจึงปฏิบัติ
ถ้ามัวดูอภินิหาร ดูฤทธิ์ แล้วจึงเชื่อ ต่อไปถ้าพบคำสอนที่วิเศษ แล้วไม่มีอิทธิฤทธิ์ ก็หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่มีประโยชน์นะสิ
จงดูกายของเราว่าเป็นฉันใด กำลังทำอะไร กำลังคิดอะไร ถ้าคิดดีมีประโยชน์ก็เก็บเอาไว้ ถ้าคิดชั่วมัวหมองไร้สาระ วิตกกังวลก็โยนทิ้งไป โดยเฉพาะขันธ์ 5 กายเขากายเราอย่าสนใจ ให้สนใจจิตสะอาดมีธรรมะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ในจิต ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่ช้าก็พังสลายไม่มีอะไรเหลือ เราพิจารณากายจิตเพื่อหนีพ้นกรรมเวร เราต้องการความสุขที่แท้จริงไม่ใช่หรือ ?
ทุก ๆ คนจงทราบไว้ว่า พระโสดาบันยังมีกิเลส ตัณหา ราคะ ยังมีความโกรธอยู่ แต่ไม่มีอาฆาต มีสติ มีการยับยั้ง รู้คิด ยังอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่ไม่หลง มีศีล 5 ครบ ไม่สงสัยในคำสอนพระรัตนตรัย ไม่ลืมตัวกลัวตาย มีความมั่นใจว่าเดินเข้าสู่สายพระนิพพานแน่ ไม่หลงใหลแวะเวียนไปทางอื่น
ธรรมใดที่เจริญรอยตามองค์พระตถาคต จงทำธรรมะนั้นให้รู้แจ้ง รู้จนเป็นครูได้ เพื่อที่จะสอนมวลสัตว์ทั้งหลายให้ถึงธรรมนั้น ๆ จนสิ้นถึงพระนิพพาน และจงทำธรรมนั้นโดยปฏิบัติให้ถ่องแท้ในจิต เพื่อแสงสว่างแห่งมวลมนุษย์ สัตว์ อสูรกาย เปรต และสัตว์นรกทั้งหลาย
ไม่ควรพูดมากไร้สาระประโยชน์ ควรพูดมากอย่างมีสาระ ไม่ควรไปจับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ คือ โลกธรรม 8 มี ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ และร่างกายเราเขา แล้วนำเอามาเป็นเครื่องวุ่นวายแก่ตัว มีเชือกคือ ร่างกาย ก็ให้เอาไว้ใช้งาน อย่าเอามาเล่นจนเชือกพันตัว ความกลัวโน่นกลัวนี่ อย่าไปกลัวจนเกินเหตุ เหตุมีมาจึงค่อยสู้ ถ้ามากเรื่องก็มากความ อย่าเอามาห่วง มองข้างหน้าคือ สิ่งที่ต้องทำ มองข้างหลังคือ สิ่งที่เป็นครู
พระพุทธ เอามาไว้ที่ใจ
พระธรรม เอามาเป็นปัญญา
พระสงฆ์ เอามาเป็นครู
ระลึกไว้เป็นนิตย์ก็จะดี ใจเราอยากตามรอยพระบรมครู จงนำสติมาเป็นสมาธิ เอาธรรมขององค์บรมครูมาเป็นปัญญา หาทางรู้ที่สว่างกระจ่างแจ้ง เห็นจริงในธรรมทั้งปวง เอาพระสงฆ์มาเป็นองค์ขัดใจ ใช้ชี้แจงข้อติดขัด เหมือนกับว่าขัดดวงตา เราที่ยังมืดเสียให้กระจ่าง จะเข้าใจธรรมะได้ ต้องเข้าใจทุกข์เสียก่อน มองเห็นทุกข์แล้วจึงจะหนีทุกข์ได้ ทำไปเถิดไม่หนีความสามารถของเราได้ เพราะเราเป็นคนสร้างขันธ์ 5 (รูป-นาม) ได้ก็หนีขันธ์ 5 ได้ ทำใจให้มั่นคง มีได้ก็มีหมด อย่ายึดว่า ของเรา เพราะจะทำให้เกิดความรัก ความหวงขึ้น จะทุกข์ใจเมื่อของเรามันจากไป
อันพุทธบริษัทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระสมณโคดมบรมอาจารย์นั้นเป็นผู้ที่ได้พบแสงสว่างจากธรรมของพระองค์ นับว่าท่านทั้งหลาย เป็นผู้มีกิเลสน้อย ในบรรดาสัตว์โลกทั้งปวงในยุคกึ่งพุทธกาล นับว่าเป็นของมีค่ามหาศาลอเนกอนันต์อยู่มากในชีวิตของคนที่จะพึงหา ขอให้ใช้แสงแห่งธรรมนี้ให้ถูก ถ้ารู้แล้วขาดการปฏิบัติของนั้นก็เสมอด้วยของไร้ค่า ทำอะไรให้มันจริงจังแน่จริง อย่ามีคำว่าแน่จริงเก็บไว้เฉย ๆ โดยไม่ทำ การทำก็ไม่ต้องแบกหามลงทุนลงรอนอะไร ทำได้ง่าย ๆ ที่จิตใจนี่แหละ
ฌาน คือ เครื่องรู้ด้วยอารมณ์บริสุทธิ์ ฌานจะเกิดขึ้นได้โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออกจนชินเรียกว่า ฌาน
ในพระพุทธศาสนานั้นถือความจริง เอาเหตุผลเป็นประการสำคัญ คือ พระนิพพานเป็นของแท้ของจริงของถาวร โลกนี้มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่ปัญหา พังสลายในที่สุด ไม่เป็นของแท้แน่นอน ไม่มั่นคงถาวร ดังนั้นโลกมนุษย์จึงเป็นของหลอกลวง สูญสลายหมด คนสัตว์สิ่งของจึงเป็นของไม่จริง อันนี้เราพิสูจน์ได้ว่าโลกมีแต่เปลี่ยนไปในทางที่ผุพังไม่ดี ศีลเป็นสิ่งบังคับคนให้อยู่ในกฎเกณฑ์ ของศาสนา บุคคลมีศีลเป็นมารยาท เพิ่มด้วย มีสมาธิภาวนา นี้จะทำให้เราเป็นผู้ชนะทุกอย่าง ชนะกิเลส ตัณหา อุปาทาน ตัวกำเริบมายั่วยุใจ อารมณ์ของเราให้กวัดแกว่งไปในทางอกุศล ผู้มีสมาธิ เป็นคนไม่ประมาทมีสติ ต่อมาก็มีตัวรู้คือปัญญา รู้ทั้งดีทั้งชั่ว รู้หลบของชั่ว รู้ธรรมของดี รู้ในความจริงของโลกว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่น่าอยู่ไม่น่าลุ่มหลง
ทุกคนควรตั้งใจแน่วแน่ว่าจะ สละละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ทิ้งทางใจเท่านั้น ร่างกายยังเป็นของโลก ก็ต้องทำหน้าที่ พ่อบ้าน แม่บ้าน ลูกบ้าน คนงาน ให้ครบ แต่จิตใจนั้นคิดละให้เด็ดขาด ของอะไรที่เป็นสมบัติของโลก ต้องรู้จักมันให้แจ้ง เช่น ความสุขกาย สุขเพราะอิ่มเพราะเสพกาม เพราะถูกกาย สงบเพราะนอนหลับ สงบเพราะอยู่คนเดียว ต้องทิ้งใจไม่ติดในมันเพราะเป็นความสุขของโลก รักเพราะสวย เพราะงาม เพราะหน้าที่ เพราะเป็นของที่เราหามาได้ยาก ความคิดนี้ให้ทิ้งไปเสีย เพราะเป็นของโลกเป็นของสมมุติ
หลง ตรงกันข้ามกับ โกรธ เกลียด หึง อิจฉา เสียใจ ทุกข์ใจ ร้อนใจ เจ็บใจ หลงเป็นแม่บทของรัก เป็นต้นตอ คิดว่าตนเองดี หลงตัวเราว่าทุกอย่างต้องเป็นของเรา โธ่ เรา น่ะ ตัวของเรายังบังคับไม่ได้เลย จะไปเอาอะไรกับของสับปะรังเคของโลกเล่า
อยู่ในโลก ทำกิจกรรมของโลก เล่นละครของโลก แต่เราจะไม่ให้เป็นจริงตามที่โลกกำกับ ให้รู้เพียงแค่รู้ เขาด่าอย่าโกรธเขา นิ่งเสีย ทิ้งไปเสีย คิดว่าเป็นกรรมของสัตว์ ถ้าเขาด่าเราตามความเป็นจริงก็รับ นิ่งใช้ปัญญามาก ๆ ใช้สมาธิข่มจิต ใช้ศีลข่มกิริยา
การเวียนว่ายตายเกิดเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เหตุของทุกข์คือ จิตไปยึดติดกายว่าเป็นตัวตนของเรา กายเป็นตัวทุกข์ ทุกข์หิวร้อนหนาวกิจการงานต่าง ๆ เป็นภาระหนัก ไม่ใช่เป็นสุข ความสุขอยู่ที่ใจ เมื่อไม่ติดกายใจก็เป็นสุข กายเป็นทุกข์ก็ตามเรื่องของกาย ใจก็ทำหน้าที่ดูแลกายไม่ให้ทุกขเวทนามากเกินไป
อุเบกขา คือ นำมาพิจารณาเข้ากับเหตุการณ์ เห็นแล้วว่าโลกเต็มไปด้วยความวุ่นวายเป็นทุกข์ กลัวการเกิดอีก อยากไปนิพพานก็ต้องวางเฉย ไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวที่จะทุกข์จะเดือดร้อน ไม่กลัวว่าจะสลายสูญเสียหมดไป เราละแล้วร่างกายนี้เราทิ้งแล้ว เราไม่ต้องการแล้ว สังขารร่างกาย ตัวปลอมนี้แหละตัวดีที่น่ากลัว น่ากลัวในความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน เจ็บทรมาน ถ้าเราเอาจิตเราไปติดขันธ์ 5 รูป-นาม ก็น่ากลัวจะทำให้เราไม่ถึงนิพพาน น่ากลัวจะทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดอีก
การพ้นทุกข์เข้าสู่พระนิพพานนั้นจะว่าง่ายก็ง่าย สำหรับคนที่เพียรทำ เพียรระงับใจฝึกใจ จะว่ายากก็ยากสำหรับคนคนไม่เพียรทำ ไม่เพียรฝึกใจ เร่งเข้าเถิดเวลาของทุกคนเหลือน้อยที่จะอยู่ทำความดี อายุเวลากำหนดไม่ได้ ตายแน่นอน
การปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาไม่ใช่นั่งตัวแข็งตรง หลับตา ไม่ต้องหัดยืนหัดเดิน ไม่ต้องนั่งฟังหลับตาฟังพระเทศน์ ต้องเพียรฝึกที่ใจ จะทำงานอะไรในบ้านนอกบ้าน เดินซื้อของ ขับรถ นั่ง ยืน นอน เดิน วิ่ง นั่งถ่ายทุกข์ เราใช้จิตพิจารณาร่างกายเป็นทุกข์เป็นโทษเป็นของเหม็นสาบสางทั้ง ๆ ที่อาบน้ำชำระล้างทุกวัน พิจารณาถ้าไม่กิน ก็ไม่ต้องลำบากหาเงินซื้ออาหาร ไม่ต้องนั่งปวดท้องถ่ายอาหารเก่า ที่เรียกว่า อุจจาระ ออกมา สำคัญที่ใจ ทำใจจิตเราให้เป็นอิสระไม่เกาะกาย ไม่เกาะสิ่งประกอบกาย คือ ลาภยศสรรเสริญสุข ติดใจตรงไหน ร่างกายนะตัวดีนะ อย่าไปข้องแวะกับมันมากนัก มารยาเก่ง บางทียังไม่ทันไรก็ส่งเสียง
คาถาสำหรับตัดความโกรธ เวลาโกรธให้ภาวนาว่า ไม่ถือ ๆ ถือมากมันหนัก ถ้าภาวนาเวลาโกรธบ่อย ๆ จะยิ้มได้เอง
มโนมยิทธิ ที่หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง อุทัยธานี สอนให้ฝึกให้เป็นการเร่งให้พวกเราได้อบรมใจให้ยึดมั่นต่อองค์สมเด็จพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระนิพพานเป็นอารมณ์ จงใช้วิชาที่ได้มานี้มาโดยตรง เพื่อประโยชน์แห่งการฝึกจิตให้พ้นทุกข์ สู่พระนิพพานเท่านั้น เมื่อนั้นจะประสบผลดังได้ปรารถนาไว้ อย่าได้เสียเวลาเปล่าประโยชน์
ควรฝึกเป็นประจำ และเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างน้อยวันละ 10 ครั้ง จงมุ่งมั่นที่จะพิจารณากายในกาย จิตที่รับอกุศล อารมณ์ที่เศร้าหมองเอาออกไป ล้างจิตให้สะอาด ไม่ว่าวันนั้นจะทำได้มากน้อยเท่าใด ก็จงอย่าได้ท้อถอยเลย
อันมนุษย์ปุถุชนนั้น ยังไม่พ้นกิเลสนานัปการ จงอย่าประมาทในตัวของเราว่าเราพ้นแล้วดีแล้ว จงอยู่กับปัจจุบันโดยการรู้ฐานะตำแหน่งหน้าที่ว่ามันเป็นแค่เครื่องประดับกาย ประดับชื่อ อย่าโลภ อย่ามัวเมา จงอย่าหลงใหลในวัยวุฒิว่าเราเป็นผู้มีอาวุโส เราเป็นผู้มีความดีความงาม จงอย่าคิดว่าเราเป็นผู้มากด้วยความสามารถ เหล่านี้จะทำให้ขาดสติ ตกอยู่ในความลืมตน ขาดปัญญาที่จะไตร่ตรอง แม้แต่การเผลอชั่วลมหายใจเข้าออกครั้งหนึ่ง จงคิดว่าตนนั้นได้ตกอยู่ในความประมาท
ขอให้รู้ความเป็นปกติแห่งโลก รู้ว่าคนทุกคนนั้นมีกรรมทั้งกุศลและอกุศล รู้สภาพของกรรมสนอง รู้สภาพการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกนาที ไม่ว่าเวลาใดทำอะไรจงรู้ว่า เดี๋ยวเราอาจจะเจ็บจะตาย จงเห็นทุกข์จากตัวเราจากคนข้างเคียง จงรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ทั้งตัวเราและผู้อื่น เมื่อประสบกับโลกธรรม 8 ประการ จงรู้ให้กระจ่างชัดแจ้งแทงตลอด นำมาคิดให้เป็นอารมณ์ปกติ ตั้งใจไว้เสมอว่าการสูญเสียสิ่งของ บุคคลที่รักนั้นมันจะต้องเป็นปกติวิสัยที่จะต้องพลัดพรากไม่ประสบพบสิ่งปรารถนานั้นเป็นปกติ จงพยายามใช้สติพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายที่อยู่รอบข้างตัวเราและตัวของเราเองให้รู้เป็น สังขารุเบกขาญาณ จงใช้พรหมวิหาร 4 เป็นพื้นฐานของอารมณ์ เมื่อพุทธบริษัทกระทำได้อย่างนี้แล้ว เมื่อนั้นใจจะรู้เห็นและกระทบสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นปกติ สติ สมาธิ จะทรงอยู่ได้นานที่สุด แล้วความสุขใจจะเกิดขึ้น ในไม่ช้าก็จะพบกับพระนิพพานโดยตรง
การปฏิบัติต้องทำจริงจัง อย่าได้มาปฏิบัติประเดี๋ยวเดียวแล้วก็เลิก ผู้ที่มุ่งหวังพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้น ปรารถนาแค่ใจและวาจานั้นไม่ได้ จะต้องมีการทำปฏิบัติธรรมอย่างแน่วแน่ด้วย อย่าทำกันอย่างเล่น ๆ จะต้องเอาจริงเอาจัง ในสมัยพุทธกาลท่านทั้งหลายที่ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานกันไปนั้น ท่านฟังเทศน์พระธรรมของพระตถาคตเพียงไม่กี่ครั้งก็สามารถหลุดพ้น อันที่จริงบางคนก็ยังได้เกิดในสมัยพระศาสนาขององค์พระตถาคต แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหนเลยเพราะมัวแต่เหลวไหลสนุกอยู่
จงตั้งใจปฏิบัติอย่างมั่นคง ขอให้ยึดพระนิพพาน พระพุทธเจ้าเท่านั้น ให้ทรงอารมณ์พิจารณาตัวเองให้มากบ่อย ๆ แล้วในที่สุดจะถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบัน ต่อไปพวกเราทั้งปวงจะต้องมีภาระช่วยพระพุทธศาสนาให้เป็นไปตามพระพุทธพยากรณ์จะมีผู้คนเข้ามาให้ได้สงเคราะห์เป็นจำนวนหมื่น เตรียมตัวกันไว้นะ ถ้าได้พาบุคคลต่าง ๆ ให้ยึดมั่นในพระศาสนา แลเห็นทุกข์ หวังพระนิพพานเป็นที่หมายแล้ว เธอจะได้อานิสงส์มาก พยายามฝึกฝนเอาความมั่นคงของจิต มั่นคงในสมาธิเป็นหลัก ยึดคำสอนของพระพุทธองค์เป็นอารมณ์ จิตเกาะที่พระพุทธองค์และแดนนิพพานตลอดเวลาก็มั่นใจว่าสมปรารถนา
ขอให้รู้ทุกข์ว่าเป็นปกติ และรับรู้ถึงผลกรรมเป็นธรรมดา จงตั้งใจที่จะตัดสละละกิเลส ขันธ์ 5 ธาตุ 4 จริง ๆ ขอให้ตั้งใจทำ อย่าได้เข้าข้างตนเอง ผัดผ่อนไปตามใจ
จงรักษาเรื่องกาละเทศะให้มาก ๆ เพราะพุทธบริษัทนั้นมีจำนวนมากมาย และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนต่างจิตต่างใจ และทุกคนเข้ามาหาพระธรรมเพื่อความหลุดพ้น ทุกคนที่เข้ามานี้ล้วนแต่เป็นผู้แบกกองทุกข์กองอวิชชาเข้ามาคนละกองโต ๆ ขอให้ถือความสำรวมเป็นสำคัญ
การฝึกสมาธิวิปัสสนานั้น สำคัญที่สุดคือ การทรงอารมณ์ อารมณ์มีทั้งกุศลและอกุศล อารมณ์เป็นอาการของจิตที่แสดงออกมาเป็นวาจาและใจ เจตสิก คือ อารมณ์ออกไปสัมผัสภายนอกจิต
วิธีขจัดล้าง ทิฐิ มานะ ความรัก หลง ในกิเลสขันธ์ 5 องค์พระตถาคตทรงสอนรวมวิธีปฏิบัติไว้ คือ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นบันไดให้เราหลุดพ้นทุกข์ จะแยกจากกันไม่ได้ ต้องทำพร้อมกันเวลาเดียวกัน
ศีล บังคับกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในกรอบกุศลธรรม
สมาธิ บังคับ จิตใจให้สงบนิ่ง บริสุทธิ์เป็นกลาง มีสติรู้ตัว รู้อยู่ในภาวะความเป็นจริงในปัจจุบันทุกลมหายใจ
ปัญญา เป็นแสงทางเหตุผล ทำให้เรารู้ชัด เห็นชัด เข้าใจชัดแจ้งแทงตลอด ในสิ่งสมมุติในโลกทั้งปวง ไม่มีความสงสัย
สมมุติมี 3 อย่างดังนี้
1. รูปสมมุติ เรากำหนดว่าเราคือ ผู้หญิง ผู้ชาย ผู้ใหญ่โต ผู้วิเศษ ผู้หล่อ ผู้แข็งแรง ผู้น้อย คนไทย คนจีน คนยุโรป
2.นามสมมุติ กำหนดว่าเรามีชื่อ มียศ มีเกียรติ มีตระกูล เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นสามี เป็นภรรยา
3.กรรมสมมุติ สมมุติกำหนดเอาว่าต้องเรียกฉันว่า อาจารย์ ว่าคุณ เป็นแม่ เป็นสามี เป็นภรรยา
สมมุติพอตัดได้ก็เป็นวิมุตติ แปลว่า ตัดทางโลก ไม่ยึด ไม่โกรธ ไม่เกาะ ไม่ยึด ไม่ถือตัวเราตัวเขา ไม่หลงในลาภ ยศ สรรเสริญ เจริญสุขใด ๆในโลกที่ไม่จริง เพราะมีมามีสลายไปเป็นสมมุติ ไม่เอาจิตไปวิตกทุกข์ร้อนในของสมมุติ เมื่อนั้นเราจะอิ่มในวิมุตติสุข นี่แหละเรียกว่า แยกจิตซึ่งเป็นของจริง ออกจากกายซึ่งเป็นของปลอมของสมมุติได้เด็ดขาด
คนที่ฝึก มโนมยิทธิได้แล้วควรใช้ประโยชน์ นำคำที่ได้สอนผู้อื่นขึ้นดูตัวเอง ไม่ใช่ว่าสอนคนอื่นได้แล้วคิดว่าตนดีแล้ว เอาธรรมะไว้ที่ใจ การปฏิบัติไม่ได้หมายความว่านั่งหลับตาเสมอไป ให้จิตใจใช้ปัญญาความรู้พิจารณายอมรับนับถือสภาพความเป็นจริงของร่างกาย ต้องรู้จักบังคับจิตใจไม่ให้เกาะร่างกาย ทรัพย์สมบัติ บ้านเรือน คนรัก ครอบครัว เป็นสมมุติสมบัติทั้งนั้น การดื้อรั้นไม่ปฏิบัติเพื่อล้างสักกายทิฏฐิ (จิตติดกับกายเขากายเรา) เป็นสิ่งทำลายตัวเราเอง การผัดผ่อนเป็นสิ่งหลอกตัวเราเอง พระท่านมีหน้าที่ชี้บอก จะปฏิบัติตามหรือไม่อยู่ที่ตัวเรา
พระแปลว่าประเสริฐ เทวดา หมายถึง ผู้ทำความดี สิ่งที่เป็นความดีท่านจะบอก สิ่งใดเป็นภัย เวทนา นำมาซึ่งทุกข์ท่าจะเตือน
รัก โลภ โกรธ หลง กิเลส 4 ตัวนี้ ล้างออกไปให้ได้ ขอให้ทุกคนมีกำลังใจแข็งแกร่ง แน่วแน่ที่จะประหารกิเลส ในจิตของเราเด็ดขาด ศัตรูภายนอกนั้นถ้าเราไม่สู้ไม่รบ เราสามารถหนีไม่ให้มารังควานได้ แต่ศัตรูภายในจิตคือกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม อวิชชา (ความรู้ไม่ครบไม่จริง) นี่เราจะหนีไปแห่งใดไม่พ้น ตามติดตัวติดใจเราทุกขณะ จงตั้งใจตั้งมั่นที่จะสู้ศัตรูในใจให้สำเร็จ
คนไม่กลัวตาย คือ คนที่ทำจิตแยกจากกายจากสมบัติ เมื่อนั้นก็จะเป็น อรหัตตมรรคไปในตัว ถ้ายังสงสัยกังวลแสดงว่าจิตยังจับกาย จิตกับกายนั้น จิต-1 กาย-1 แยกกันได้เด็ดขาด กายประกอบด้วยธาตุ 4 เป็น รูป ประกอบด้วย นาม 4 คือ เวทนา สัญญา(ความจำ) สังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) วิญญาณ (ระบบประสาททุกส่วนในร่างกาย) นามมีอยู่ในกายแต่เรามองไม่เห็น ตายไปพร้อมกับกาย การจะแยกจิตจากกายก็ฝึกทำสมาธิดูลมหายใจเข้าออกให้มั่นคง จิตเป็นสมาธิจะมีปัญญาว่าอะไรควรวาง อะไรจริง อะไรเป็นของสมมุติ (จิต ไม่ใช่นามในขันธ์ 5 ชาวพุทธควรเข้าใจให้ถูกต้อง จิตคือ กายใน ที่อาศัยอยู่ในขันธ์ 5 ชั่วคราว)
สมาธิเกิดได้ทุกอิริยาบถ ตลอดเวลา สมาธิมี 2 อย่างคือ
1) สัมมาสมาธิ ความตั้งใจทำความดีในด้านบุญบารมี กุศล ทำให้เกิดความสุขกายใจ เป็นทางพ้นทุกข์ ทางพระนิพพาน
2) มิจฉาสมาธิ ความตั้งใจในด้านบาปผิดศีล 5 เป็นความชั่วนำมาซึ่งปัญหา ความทุกข์เดือดร้อนทั้งโลกนี้ ทั้งโลกหน้า เป็นทางไป นรก เปรต สัตว์เดรัจฉาน
คนส่วนมากในโลกจะมีจิตหลงใหลไปกับธรรมชาติ คือ ร่างกายที่เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ติดใจกับทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ ซึ่งเป็นของชั่วคราว ของหลอกลวง สูญสลาย แต่คนที่มีจิตดี ปัญญาดี รู้จักพลิกจิต (เปลี่ยนจิต) คือหันหลังให้กับร่างกาย วัตถุธาตุใด ๆ ในโลก เอาจิตไปสนใจมุ่งมั่นในพระนิพพาน ซึ่งเป็นของจริงแท้ไม่สูญสลาย ไม่หลอกลวง เป็นสุขจริง ไม่ใช่สุขปลอมเหมือนธรรมชาติในโลกซึ่งมีแต่ภัยอันตราย พลิกจิตเสียใหม่ คือ เอาจิตไปตั้งมั่นไว้ที่พระนิพพาน จิตเกาะพระนิพพาน ไม่ต้องการทรัพย์สมบัติความสุขใด ๆ ในโลกก็เป็นพระอรหัตตผล ได้ไม่ยากเลย แต่จิตของคนทั่วไปที่ดีมีประโยชน์จริงนั้นมีเพียง 1 % อีก 99% จิตคนก็หมกมุ่นกับลาภยศสรรเสริญเจริญสุขชั่วคราวที่ทำให้หลงวนเวียนในการเกิด ๆ ตาย ๆ ไม่มีวันจบสิ้น
ฆราวาสมีกิจการงานมาก ต้องข้องแวะกับโลกเป็นประจำ แสดงปฏิบัติให้เป็น โลกียธรรม คือ ธรรมของชาวโลกมีศีล 5 มีทาน มีเมตตารักใคร่ซึ่งกันและกัน แต่ควรจะทำใจให้เหนือโลก ไม่ติดในโลก เรียกว่า โลกุตตรธรรม การที่จะไม่ติดใจในโลก หรือ โลกุตตรธรรม นั้น ทำได้โดยให้รู้ความจริงของโลกว่า มีแต่การเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลายแตกพังทลาย เป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่เสมอ ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาความทุกข์ยากในโลก ซึ่งเป็นของจริง เมื่อรู้จริงแท้จิตจะไม่หลงใหลในโลก ในร่างกายต่อไป บุคคลผู้รู้แท้รู้จริง คือ ผู้ได้เข้าถึงทุกข์
บุคคลใดเห็นทุกข์ บุคคลนั้นเห็นธรรม
บุคคลใดเห็นธรรม บุคคลนั้นเห็นตถาคต
บุคคลใดเห็นตถาคต บุคคลนั้นย่อมถึงนิพพาน
พิจารณากันดูให้ดีน้อมรำลึกว่า เรามาปฏิบัตินั้นความดีความไม่ดีไปได้ถึงไหน พิจารณาให้เห็นแท้ว่ากายเป็นอย่างไร กายในที่นี้ขอรวมถึงวัตถุธาตุต่าง ๆ ที่มีเกิดแก่เจ็บชำรุด ตายพังสลายเป็นกายภายนอกคือ ขันธ์ 5 จิตคือ ดวงแก้วหรือกายภายในหรือ เรียกว่า อทิสมานกาย หรือนามกาย คือ กายที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะเห็นได้ด้วยจิตที่เป็นทิพย์ฝึกสมาธิวิปัสสนากรรมฐานจึงจะเห็นเข้าใจได้ จิตมักจะรวบยอดเป็นเจ้าของของกาย คิดว่าเป็นอันเดียว อันนี้ผิด หลงผิดอย่างมาก ทำให้เกิดทุกข์กาย ทุกข์ใจ พึงสำนึกให้จิตเป็นพระเป็นธรรมะของเหนือโลก โลกุตตระตลอดเวลา จะได้มรใจไว้สอนอบรมกายให้สำเหนียกในความจริง
จิตที่เราเอามาเป็นครูสอนกายนั้น จะต้องขัดล้างให้สะอาดก่อนด้วยธรรม พิจารณาหาความรู้ว่ากายกำลังคิด กำลังหายใจเข้าออกอยู่ จนอารมณ์นิ่งทรงตัวกับลมหายใจเข้าออก หรือพิจารณากายเป็นซากศพสกปรกเหม็น อย่างใดอย่างหนึ่ง จนเป็น เอกัตคตารมณ์ อารมณ์เป็นหนึ่งแน่วแน่ แล้วจะเห็นเข้าใจดีว่า จิตกับกายคือคนละส่วนกันไม่ใช่อันเดียวกัน จิตจะเป็นสุขสดชื่นสงบเยือกเย็นไม่ทุกข์ร้อนรนไม่วุ่นวาย ไม่มีโทสะ พร้อมกันนี้ก็มีพื้นฐานคือ พรหมวิหาร 4 และกำจัดโลกธรรม 8 ประการ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ เจริญสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์เดือดร้อน ให้เห็นว่าเป็นธรรมดาของชาวโลกหนีไม่พ้นไม่ควรสนใจ เอาแค่รู้เฉย ๆ ให้บรรเทาโทสะ โมหะ ความหลงกาย ทรัพย์สินชื่อเสียง บรรเทาความโลภด้วยการให้ทาน มีความพอใจในสิ่งที่ตนมี
อันธรรมะขององค์ตถาคตนั้น เป็นธรรมะอันละเอียดรอบคอบลึกซึ้ง อ่อนหวานและอ่อนไหว ฉะนั้นเมื่อเหล่าศิษย์ทั้งปวงมุ่งหวังปฏิบัติธรรมะให้แตกฉาน จิตจะต้องอ่อนหวานอ่อนไหวรอบคอบละเอียดลึกซึ้งตามพระธรรมนั้นด้วย ยิ่งทำให้จิตละเอียดในการพิจารณาธรรมพิจารณาขันธ์ 5 ร่างกายมากเท่าใด การปฏิบัติก็จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นตามธรรมที่อยู่ในจิต เพราะจิตรับธรรมเข้าไปแล้ว จะมีกำลังที่จะปฏิบัติธรรมได้ กำลังนั้นคือ กำลังใจ กำลังจิต ซึ่งทางภาษาธรรมเรียกว่า บารมี นั่นเอง เมื่อทุกคนมีกำลังใจมาก กำลังกายก็จะไม่ท้อถอย จงสร้างไว้ให้มั่นคงเถอะกำลังใจ เมื่อศิษยานุศิษย์ทั้งปวงมีกำลัง พลังใจมาเท่าที่จะต่อสู้กับความชั่วอาสวกิเลสทั้งปวงได้เมื่อใด เมื่อนั้นเธอจะเป็นผู้ชนะด้วย ชิตังเม นุสสตัง คือ ผู้ชนะด้วยสติ
บารมี นั้นเป็นกำลังใจส่งให้มีความมั่นคง ที่จะตัดสินใจในกรรมฐาน และให้เสร็จเด็ดขาด ฉะนั้น บารมีไม่ต้องคอยการทำบุญ การอยู่ในความดี หรือ การบูชาพระ ถือว่าเป็นการทำบารมี อยู่นั่นเอง
ทานบารมี คือ มีใจเต็มเปี่ยมด้วยการเสียสละละสมบัติวัตถุกายภายนอกละร่างกายให้เป็นทานไปเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ดังเดิม ตัดใจเอาว่าร่างกายไม่ใช่ของเราจริง เราสละ คือ การฝึกใจให้เคยชินต่อกิเลส ความอยากได้ ความต้องการ การยึดถือ ยึดเป็นการตัดความโลภ ทานทางใจก็คือ มี อภัยทาน ไม่โกรธ มีพรหมวิหาร 4 เป็นหลักบารมีทาน ทำให้เต็มก็ไปพระนิพพานได้อย่างสบายโดยไม่มีพันธะผูกพันกับร่างกาย สมบัติใด ๆในโลก
กำลังจิตกำลังใจนี้สำคัญ ในเมื่ออยากได้สิ่งหนึ่งที่จะต้องยอมทิ้ง สิ่งที่สู้อีกสิ่งหนึ่งไม่ได้ คือยอมทิ้งกายทรัพย์สมบัติใด ๆ ในโลก เพื่อความสุขที่แท้จริงถาวร คือ พระนิพพาน จิตจะต้องมั่นใจที่จะทำความเพียรพยายาม จิตจะต้องต่อสู้อุปสรรค นี่คือ ขันติ คิดให้ได้ในความตายเป็น มรณัสสติ ว่าทุกลมหายใจเข้าออกย่อมจะหยุดได้เสมอ เราจะต้องเร่งรัดตัวเอง ใช้เวลาที่ยังเหลือน้อยนิดให้ได้ประโยชน์มากที่สุด เวลาสำหรับคน 100 ปีเป็นเพียงแค่ 1 วันในกามาวจรสวรรค์ ไม่นานเลยสำหรับการปฏิบัติให้ได้ซึ่งการพ้นทุกข์ ยอมอดยอมทน ฝึกหัดตนให้มีความรู้ตัว
ความรู้ตัวว่าทำอะไรคิดอะไรอยู่ ดีหรือชั่ว คือ สติ สมาธิ คือสติที่รู้อย่างเดียวไม่วอกแวก เช่นรู้ลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว เป็นเอกกัคคตารมณ์
ศีลและพรหมวิหาร 4 เป็นกฎเกณฑ์ที่เอามาบังคับจิตให้ปฏิบัติดี มีสติ มีอารมณ์ดี ศีลทำให้มีสัจจะจริงใจ วิธีพิจารณาควรดูจากภายนอกเข้ามาหาตัว ให้รู้สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ สภาพธรรมอะไรที่เป็นเหตุปัจจัย ดูแล้วพิจารณาเข้าหาตนเอง ก่อนพิจารณาต้องมีศีล 5 ครบ พิจารณาให้รู้อยู่ว่าสภาพของร่างสังขารนั้นมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นพื้นฐาน ให้รู้สภาพอารมณ์ของคนในกิเลสทั้งปวงอันมี ราคะ โทสะ โมหะ เป็นพื้นฐาน นี่เป็นอารมณ์ของขันธ์ 5 ไม่ใช่อารมณ์ของจิต อย่าเอาไปปะปนกันจะเกิดความทุกข์เดือดร้อน
ยอมอดยอมทนที่จะพ้นทุกข์ คือยอมอดในกิเลส ยอมอดในความต้องการ ยอมอดในของสมมุติ ยอมทนในภาวะของร่างกาย ยอมทนในหน้าที่ ที่เป็นคน เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นต่าง ๆ ที่กรรมทำมา ยอมทนในสมบัติภัยของโลก ไม่ช้าไม่นานเราก็จะได้หมดเวทนา (ความรู้สึกสุข ๆ ทุกข์ๆ ) หมดทุกข์ทรมาน อีกไม่นานทุกคนก็จะต้องตาย อีกไม่นานทุกคนจะต้องเจ็บ เหล่านี้เป็นของปกติ คิดไว้เสมอและยอมรับสภาพเหล่านี้ อย่าไปเสียใจน้อยใจเศร้าโศกกับปัญหาเหล่านี้เลย จงแยกกายหรือขันธ์ 5 ซึ่งเป็นของปลอมออกจากจิตซึ่งเป็นของจริงเสีย
ธรรมะที่องค์พระตถาคตทรงสั่งสอน คือ ธรรมชาติที่แท้ ความลำบากจะทำให้คนฉลาดรู้จักธรรมะ สภาพสภาวะได้รับทุกข์ยากลำบากใจนี้ เป็นของแท้แน่นอนเป็นของจริงอย่าไปฝืนธรรมชาติ อารมณ์ทุกข์นั้นเสีย อารมณ์โลกเป็นความร้อน เพราะยึดถือของที่คิดว่าเป็นของ ๆ ตัวเอง การยึดถือว่าใช่เราใช่ของเรานั้น จะทำให้เกิดโลภหวงห่วง เมื่อมีการยึดถือแล้วสิ่งที่ไม่ตรงใจปรารถนามากระทบ โดยที่เราเอาตัวเราเข้าป้องกันเกิดเป็น โทสะ เมื่อเกิดโทสะแล้ว ความหลงจะครองสติ ทำให้ใจยึดมั่นในตัวเราของเรามากขึ้นจึงเป็น โมหะ นี่เปรียบดังเธอทั้งมวลพยายามยึดยื้อสิ่งของร่างกายเราทั้งหลายให้เป็นไปตามใจตัว ตามใจของตน เป็นการฝืนธรรมชาติที่ควรจะเป็น เพราะธรรมชาติของโลกเปลี่ยนแปลงเสื่อมสูญสลายไปตามกฎของโลกนี้ จงตั้งจิตตั้งใจดำรงตนอยู่ในทางสายกลาง คือทำใจวางเฉยไม่ยินดียินร้าย ให้สภาวะสภาพทุกอย่าง เป็นไปตามภาวะในทางที่ควร อย่าเอาใจไปฝืนให้เป็นตามใจเรา เมื่อสิ่งที่ไม่ถูกใจมากระทบ อย่าเอาความหลงเฝ้าทะนงตนเพื่อปกป้องตนเองจากการตำหนิตนเอง อย่าเอาความโกรธเป็นเครื่องตัดสินใจ อย่าเอาความโลภเข้าป้องกันตัวเอง จงระลึกอยู่ว่าเราตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าชาตินี้จะขอเป็นชาติสุดท้าย ไม่มีชาติหน้าหรือชาติต่อไปอีก ถ้ามั่นใจเช่นนี้ ก็ขออย่าได้วิตกกังวลในเรื่องที่พบที่ประสบอยู่
ทุกข์ที่แต่ละคนได้รับล้วนมากมาย อยู่ที่ว่าใจของแต่ละคนนั้นรับภาระของทุกข์มากน้อยเพียงใด ให้ทุกข์เป็นเรื่องของกาย เรื่องของจิตใจก็แก้ไขพิจารณา แก้ไม่ได้ก็วางเฉย ช่างเถิด ปล่อยเถิด อดทน ไม่กี่วันก็ต้องจากร่างกายที่เน่าเปื่อยนี้ไป ขอให้ทรงสติสัมปชัญญะไว้เถิด เมื่อท่านทั้งหลายยอมตายถวายชีวิตต่อองค์พระพุทธเจ้าแล้ว จงเชื่อมั่นเถิดว่าพระองค์จะทรงอนุเคราะห์ท่านจนถึงที่สุดเยี่ยงบุตร ถ้ามั่นใจในพระองค์ ทุกข์จะนำทางให้ถึงพระนิพพาน
ที่ใช้คำว่าทุกข์นำทาง นั้นเพราะว่าในโลกนี้หาความสุขจริง ๆ ไม่ได้ คนเห็นทุกข์คือ ผู้เห็นธรรม คนรักทุกข์คือผู้รู้ธรรม จริงไหม
ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง อุปสรรคทางเดินแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขอย้ำว่า อย่าเอาตัวเราไปเทียบกับคนอื่น
จิตของเราผสมด้วยหลายสิ่ง นานมาแล้วหลายชาติหลายกำเนิด ฉะนั้นผู้หวังจะชำระจิต ก็ต้องมีความเพียรไม่เบื่อหน่าย ทำใจให้สบาย ตั้งใจ และมั่นใจให้แน่วแน่ เอาเรื่องไม่เป็นมงคลออกจากใจ อกุศล อคติ คิดวุ่นวายไร้สาระในเรื่องครอบครัวเงินทองคิดถึงคนโน้นคนนี้ เอาออกไปให้พ้นจากจิต จงตรวจดูจิตเราทุก ๆวันว่าจิตเรานั้นยังมีสิ่งไรที่สกปรกอยู่ เช่น โทสะ ความไม่พอใจไม่ถูกใจมีไหม? โมหะ จิตเรายึดร่างกายเราเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือไม่ ? โลภะ โทสะ โมหะ ทำให้จิตเป็นทุกข์ จะแก้ได้ด้วยพรหมวิหาร 4 ซึ่งได้แก่
1. เมตตา ความสงเคราะห์เห็นอกเห็นใจกัน
2. กรุณา ความช่วยเหลือเจือจุนที่หวังผลน้อยที่สุด
3. มุทิตา ไม่เห็นว่าคนนั้นเขาดีกว่า เลิศกว่า ยิ่งใหญ่กว่า แล้วบันดาลความชัง
4. อุเบกขา คืออารมณ์ปกติที่ทุกคนควรจะทำได้ เมื่อเขาต่ำกว่าก็ไม่ไปกด เมื่อเขาสูงกว่าก็ไม่ไปดื้อดึง ทำจิตให้วางเฉยกับทุกข์สุขใด ๆในโลก
อันนี้เป็นคุณธรรมของอารมณ์ที่พุทธศาสนิกชนที่มุ่งอริยสัจ หวังพระนิพพานเป็นแดนอมตะควรจะพึงกระทำต่อไป เพราะ พรหมวิหาร ดับทุกข์ของโมหะ โทสะ โลภะ แล้วเราก็พ้นทุกข์ พรหมวิหาร เป็นข้อวัตรของพรหม คนที่มีพรหมวิหารได้ก็คือพวกอริยะ
ศาสนาคริสต์ อิสลามมีความงดงามไม่แพ้กัน เพราะยังยึดถือสิ่งเดียวกันคือ ความดี ถึงขั้นสวรรค์เทวโลก ศาสนาพราหมณ์ถือว่าพรหมสูงสุดถึงขั้นพรหมโลก มีพรหมวิหาร 4 มีสมาธิ ฌาน 1 -ฌาน 4 ถึงอนาคามี ศาสนาพุทธมีศีล สมาธิ ปัญญา รู้ว่า โลก เทวโลก พรหมโลก ยังเป็นแดนที่ไม่จบทุกข์ต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่หวังโลกทั้งสาม ต้องการนิพพานดินแดนหมดกิเลส หมดสังโยชน์ 10 หมดภาระที่จะต้องทำ คือ เป็นพระขีณาสพหรือพระอรหันต์ พระนิพพานเป็นแดนวิมุตติสุข คือ สุขตลอดกาล
วิมุตติมี 4 อย่าง (วิมุตติ แปลว่า การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด)ดังนี้
1.สมาธิวิมุตติ หลุดพ้นจากกิเลสตัณหาอุปาทานด้วยการทำสมาธิ ฌาน1-ฌาน 4 มีปัญญาแก่กล้า เห็นร่างกายเป็นของปลอม เป็นของกิเลสตัณหา จิตหลุดพ้นจากการเกาะร่างกายด้วยแรงสมาธิ
2.ปัญญาวิมุตติ จิตหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาอุปาทานด้วยการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม จนจิตเป็นสมาธิ ปัญญาแก่กล้าเข้าใจขันธ์ 5 เป็นของปลอมเป็นของโลก อทิสมานกาย (กายใน) เป็นของจริงไม่ตาย จิตไม่ควรผูกพันในขันธ์ 5 ที่ไม่ใช่ตัวเราจริงต่อไป
3.ศรัทธาวิมุตติ จิตมีศรัทธา เคารพรักบูชาเชื่อในพระเมตตา พระปัญญา พระบริสุทธิ์คุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระองค์ ไม่สงสัย ตั้งใจปฏิบัติจริงก็พ้นทุกข์จากกิเลสตัณหาอุปาทานอวิชชาได้อย่างง่ายดาย เหมือนลูกที่เชื่อฟังพ่อแม่ เป็นคนดีที่มีความสุขความเจริญทั้งโลกนี้โลกหน้าเป็นต้น
คนดื้อก็ปฏิบัติได้ยากหน่อยเพราะไม่เชื่อว่าพระธรรมเป็นของจริง
4.วิริยวิมุตติ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หมดสิ้นจาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน อวิชชาความไม่รู้จริง ด้วยจิตใจที่มีความขยันหมั่นเพียร ปฏิบัติด้วยศีล สมาธิ เพียรพิจารณาขันธ์ 5 ว่าเป็นของน่าเกลียดน่ากลัว เป็นของทุกข์เป็นภัยอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ มีวิริยบารมี จิตก็หลุดพ้นจากการยึดมั่นในกายเขากายเรา หมด สักกายทิฏฐิ หมด สังโยชน์ 10 จิตวิมุตติเป็นจิตโปร่งโล่งเบาสบาย เป็นจิตอิสระจากกฎของกรรม จากขันธ์ 5 ถึงแม้กายจะเจ็บจะป่วยจะแตกสลาย จิตพระอรหันต์ซึ่งเป็นจิตวิมุตติก็มีแต่ความสุข เหนือสุขใด ๆ ในโลกนี้ จะมีใครให้เงินพันล้าน จิตก็ไม่เป็นสุขเท่าจิตพระอรหันต์
พระที่ท่านเข้านิโรธสมาบัติ นั้น คือพระท่านทำสมาธิ เรื่องของสมาบัติเป็นอานิสงส์ความเพียรของท่าน อานิสงค์ของสมาบัติมีดังนี้
1. เพื่อโปรดสรรพสัตว์ทั้งปวงให้พ้นจากทุกขเวทนาต่าง ๆ
2. เพื่อเป็นการเจริญศรัทธาของสาธุชนคนดี
3. เพื่อเป็นอานิสงค์ส่งเสริมให้คนระลึกถึงธรรม
4. สาธุชนที่ร่วมทำบุญอนุโมทนาบุญ กับพระที่เข้านิโรธสมาบัติ ก็ได้รับบุญบารมีจากอานิสงส์ ที่พระท่านสงเคราะห์นั่นเอง (คนที่ไปทำบุญการกุศลก็ต่างจิตต่างใจ ต่างวาระกรรม ต่างบุญบารมี จะได้บุญเสมอกันไปก็ไม่ได้ ดูง่าย ๆ ว่าคนเกิดมาก็ต่างกันด้วยฐานะ รูปร่าง ความคิดความฉลาด จิตใจต่างกัน )
การถึงธรรมนั้นไม่ใช่หนีเรื่องโลก การถึงธรรมนั้นต้องทำตนให้เข้ากับโลกแต่จิตใจไม่ผูกพันกับโลก ดูสังโยชน์เป็นตัวที่จะต้องละทิ้งหมด 10 อย่าง พระอรหันต์ท่านก็ยังรับนิมนต์ไปงานของโลก ไฉนปุถุชนจะหนีโลกโดยการทำตนให้พ้นโลกด้วยวิธีอัตตะ คือ ตัดตนให้พ้นจากโลก ทั้ง ๆ ที่ยังอาศัยโลกพึ่งโลก พระที่ท่านเข้าป่าไม่ใช่ว่าท่านหนี แต่ท่านทำเพื่อให้คนได้บาปน้อยลงเพราะท่านทรงอภิญญา แต่คนที่ฝึกธรรมเพื่อให้ถึงธรรมนั้นต้องเป็นผู้ขยันพบ ขยันเจอทุกข์ เสมือนคนจะเก่งในวิชาการได้ต้องเข้าใจตำราโดยการอ่านมาก ๆ ขยันมาก ๆ ไม่ท้อถอย ไม่เกลียดอุปสรรค ถึงแม้ว่าเวลาดูตำรา ฝึกตำราจะง่วงแสนง่วง ยุง เรือด ริน ไร กัดตอม ก็ต้องทนเพื่อหวังหลักชัย คือสอบได้ ก่อนจะสอบก็ต้องทำแบบฝึกหัดซ้อมไว้ให้มาก ๆพลิกแพลงให้คล่องแคล่วจนแตกฉาน เข้าสมอง ก็เหมือนบุคคลที่หมั่นจะฝึกธรรมก็เช่นเดียวกัน หมั่นเอาพระธรรมคำสอนเป็นตำรา ทุกอย่างต้องประกอบกัน มีสุขมีทุกข์ มีผิดหวัง มีสมหวัง มีเจ็บป่วย มีเงิน ขาดเงิน มีคนด่าว่านินทา มีแพ้ ชนะ เสียใจ ลูกไม่ดี ภรรยาไม่ดี พ่อแม่ตาย มีภาระงานต้องทำมากมาย เหล่านี้คนที่หวังปฏิบัติก็ต้องอดทน มีหิริโอตัปปะละอายเกรงกลัวบาปกรรม อย่าท้อถอยเบื่อหน่าย อย่าสุมไฟให้ตัวเรารุ่มร้อนใจ รักคือ ควัน โลภโกรธหลงคือ ความร้อน ความชั่วความเลวคือไฟเผาจิตใจ
วงกลมวัฏสงสาร คือ จานกลมหมุนอย่าเร็ว มีลูกหินหมุนอยู่ในจาน ลูกหินคือสัตว์ทุกผู้ทุกนาม ทำอย่างไรจะให้ลูกหินหลุดออกจากจาน ทำอย่างไรจิตของคนสัตว์จะหลุดจากวงกลมเวียนเกิดเวียนตาย? ก็ต้องให้ลูกหินมีแรงเหวี่ยงหมุนเร็วกว่าแรงหมุนของจานจึงจะกระเด็นออกจากจาน คนสัตว์ก็เหมือนกันก็ต้องใช้แรงเหวี่ยงออกจากกระแสการเวียนว่ายตายเกิด แรงเหวี่ยงนั้นคือ คุณงามความดี มีทาน ศีล เมตตา ภาวนา อธิษฐาน ขันติ วิริยะ ปัญญา อุเบกขาบารมี ความตั้งใจที่จะหลุดพ้นทุกข์เพื่อพระนิพพานเป็นแรงเหวี่ยง ยิ่งขยันทำมากบุญบารมีเพิ่มมาก แรงเหวี่ยงมากคนสัตว์ก็หลุดจากภัยวัฏสงสาร พ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดได้ คือ บุญบารมีความดีมีแรงมากกว่าบาป คือ เวียนว่ายตายเกิด เป็นหลักกลศาสตร์ ธรรมะก็เอามาจากธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ทำไปถึงไหนศาสนาพุทธก็ทันวิทยาศาสตร์ แต่ศาสนาพุทธทำไปถึงไหนวิทยาศาสตร์ก็ตามไม่ถึง เพราะวิทยาศาสตร์ต้องใช้ตาเห็น พุทธศาสตร์ใช้จิตที่มองด้วยตาไม่เห็นแต่พิสูจน์ได้ด้วยสมาธิ มีโลกอีกหลายโลก เช่น นรก สวรรค์ พรหม นิพพาน นั้น วิทยาศาสตร์ตามไม่ทัน
อย่าลืมตัวเอง คือ อย่าลืมเรื่องจิตของตนเอง คนลืมจิตก็เหมือนกับลืมพระนิพพาน เพราะลืมปฏิบัติจิตใช่ไหม ? ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการปฏิบัติจิต ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐนั้นต้องปฏิบัติโดยหลักการที่พระพุทธองค์ทรงสอนคือ เห็นว่าร่างกายเป็นรังที่จิตมาอาศัยชั่วคราว สำเร็จด้วยใจของตนเองเป็นใหญ่ แดนที่จิตไปก็คือ พระนิพพาน จงหมั่นหาสัจจะความจริงของธาตุในตัวเราให้ได้ ธาตุในตัวเราคือธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกันแบบเดียวกันกับธรรมชาติของโลก หรือไม่จริง ?
ธรรมะของกรรม เป็นของจริงแท้ หนีไม่พ้น โกงไม่เป็น ติดสินบนก็ไม่เป็น ดีส่วนดี เลวส่วนเลว แยกกัน ความดีบุญบารมีที่ทำจะหนุนเราไปสู่ที่ดี ส่วนความเลวความชั่วบาปที่แล้ว ๆ มาก็ชดใช้ให้พ้นไป กรรมของคนแต่ละคนไม่ใช่เป็นหยิบมือ คนหนึ่งเกิดมาแสนชาติ ทำความชั่วกรรมเลวไว้ตั้งแต่เท่าไหร่ เพียงชาติเดียวจะให้หมดกรรมได้หรือ อย่ามัวหลงดีใจว่าทำบุญเพียงหยิบมือ จะชดใช้กรรมที่ทำไว้เป็นแสน ๆ ชาติ หนีด้วยการปฏิบัติธรรมทุกลมหายใจเข้าออก ให้เห็นทุกข์โทษของร่างกาย ธรรมเท่านั้นทำจิตให้สะอาดได้ ทำให้ได้ ให้เห็นเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างพังสลายหมดไม่มีอะไรเหลือ ใจไม่เกาะกับสิ่งที่เป็นสมมุติในโลก อย่ามัวเถลไถล เวลาเหลือน้อย แฉะไปแฉะมา น้ำตาจะนองหน้า อย่ามัวสนุกเพลิดเพลินกับเทคโนโลยี ของไฮเทคของแปลกประหลาดใหม่ ๆ ให้มากนัก ไม่ช้าเราก็ต้องตาย การพิจารณาธรรมะขององค์พระบรมโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอานิสงค์แรงกว่าการทำบุญทั้งปวง
กรรม ก่อให้มีการเกิด การเกิดก่อให้มีการกระทำ
การกระทำ ก่อให้คนสัตว์เกิดมาแตกต่างกันทั้งชาติศาสนา ตระกูล ความเป็นอยู่ รูปร่างผิวพรรณ มีความประพฤติสันดาน นำไปสู่อารมณ์แตกต่างกัน
อารมณ์มี 2 แบบ คือ
1. อารมณ์มิจฉาทิฏฐิ ก่อให้เกิดทุกข์ยากลำบากกายใจทั้งปัจจุบัน และอนาคต
2. อารมณ์สัมมาทิฏฐิ ก่อให้เกิดความสุขกายสุขใจทั้งโลกนี้ และโลกหน้า
การดับทุกข์ คือ อารมณ์ตัวตัด อารมณ์ตัวตัดอธิบายได้ดังนี้ อารมณ์โลภตัดด้วยการบริจาคทำบุญให้ทาน โลภคือ ไม่พออยากได้ ต้องตัดด้วยการให้เสียสละ อารมณ์โทสะ อารมณ์หงุดหงิดน้อยใจไม่พอใจรำคาญ ต้องตัดด้วยการมีเมตตาให้อภัย เห็นอกเห็นใจ สงสาร กรุณา มุทิตาพลอยยินดี อุเบกขาวางเฉยไม่ซ้ำเติม ตัดไม่สนใจในโลกธรรมแปด คือ ลาภยศสรรเสริญ เจริญสุข เสื่อมลาภเสื่อมยศเสียชื่อเสียง ถูกนินทาว่าร้าย มีปัญหาชีวิต ครอบครัวแตกสาแหรกขาดพลัดพรากจากกัน ต้องหัดทำใจปล่อยวางมีอะไรเกิดขึ้นก็ช่างมัน อารมณ์โมหะ เป็นตัวหลงรักหลงกายเรากายเขา หลงทรัพย์สินเงินทองว่าเป็นของเรา ความจริงเป็นของเรา เราเพียงแต่ยืมมาใช้ชั่วคราว ความหลงนี้เป็นอุปาทาน ความงมงายหลงใหลกับของไม่จริงว่าเป็นของจริง เช่น คิดว่ากายนี้เป็นของเราจริง เป็นกิเลสตัวใหญ่ เป็นสักกายทิฏฐิ (โลภะ โทสะ โมหะ ทั้ง 3 ตัวนี้ถ้ามีในจิตใจเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ )
คำว่า เรา คือ ทุกขัง ตัวภาระหนักต้องดูแลจนตาย
คำว่า ของเรา คือ อนิจจัง นึกว่าร่างกายเป็นของเราทั้ง ๆ ที่ร่างกาย แก่ เจ็บ ตาย ไม่อยู่ในอำนาจของเรา
คำว่า วัฏสงสาร คือ อนัตตา วนเวียนไปมาไม่มีที่สิ้นสุด ไม่อยู่ในอำนาจของใคร เป็นอยู่แบบนี้มาหลายล้านปี ไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครสร้าง เป็นกฎของจักรวาล กฎของกรรม เป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้น จิตเราเองที่ไปแส่เข้ามาอยู่ในกฎโลกภพนี้ เนื่องจากความอยากเกิด เห็นโลกมนุษย์น่าอยู่ น่ากิน น่าเที่ยว คือ ความหลง ทำใจให้หยุดสงบนิ่งคอยดูอารมณ์จิตว่าดีหรือไม่ดี ถ้าดีเก็บไว้ อารมณ์ไม่ดีไล่ออกจากจิต สมาธิมากขึ้นจิตละเอียด อารมณ์ละเอียด จิตเข้มแข็งตัดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ เป็นสมุจเฉทปหาน ต้องทำบ่อย ๆ ยิ่งมากจิตยิ่งคม จิตฉลาดเฉียบแหลม ไม่หลงกายเรากายเขาต่อไป
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ก็ได้กล่าวไว้ถึงแดน ๆ หนึ่งที่ไม่มีความเกิดอันเป็นทุกข์ ไม่มีความแก่ ไม่มีความเจ็บ ไม่มีความตาย คือ แดนทิพย์อมตะนิพพาน ทำอย่างไรจึงจะถึงนิพพานได้ ก็เลิกยึดติด อย่าถืออย่ารั้งจิตอย่างหน่วงเหนี่ยวกับร่างกายเรา ร่างกายคนอื่น ทรัพย์สมบัติใด ๆ ในโลก ไม่ใช่ของเราจริง ถ้าเราไม่ตายจากมัน ๆ ก็สูญสลายจากเรา ร่างกายที่เราดูแลเลี้ยงดูอย่างดีก็แก่เน่า เปื่อยเหม็นทุกวันเป็นศพเดินได้พูดได้ แล้วก็ถูกฝังหรือเผาในที่สุด เมื่อทำใจเลิกคบกับกาย กับทรัพย์สินได้ ก็จะเป็นสุขทั้งโลกนี้โลกหน้า กรรมจะหยุดเมื่อเราถึงแดนนิพพาน ถ้ายังเป็นคนก็ชดใช้กรรม ถ้าไม่ถึงแดนนิพพาน ตายก็ไปรับใช้กับโลกใหม่แดนนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ไปอยู่สวรรค์ก็เป็นสุขชั่วคราว หมดบุญจากพรหมสวรรค์ก็ลงมาชดใช้กรรมอีก
โลกนี้มีบ้านเป็นวิมาน บ้านที่ไม่ใช่ไม้ ไม่ใช่ตึก ร่างกายแต่ละคนเป็นบ้าน เป็นวิมาน จิตเรา คือ ผู้อาศัยในบ้าน บ้านรกทุกวันเหม็นสกปรกทุกวัน ต้องอาบน้ำ ถูฟัน ตัดผม ถ่ายเทขยะด้วยอุจจาระ ปัสสาวะทุกวัน ต้องเติมน้ำเติมอาหารให้เครื่องใช้ในบ้านทำงานทุกอย่างไม่ให้ชำรุด เครื่องใช้ในบ้านได้แก่ ตับ ไต ไส้ พุง ม้าม สมอง มีโทรทัศน์คือตา มีวิทยุก็คือหู มีคอมพิวเตอร์คือ สมอง มีรถยนต์คือ 2 ขา มีเครื่องทำความเย็นความอบอุ่นคือ ปอด ลมหายใจ มีเครื่องปั๊มน้ำหมุนเวียนถ่ายเท คือ เลือด หัวใจ มีโครงของบ้านคือ กระดูก มีหลังคา คือผม มีคนรับใช้ 2 คน คอยทำงานให้จิตเราคือ 2 มือ 2 แขน คนในบ้านได้แก่บริวารของเราต้องตามใจเอาใจไม่ทัน คือ อารมณ์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวรัก เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยววิตกเสียใจ บ้านนี้จะเป็นวิมานหรือนรกก็อยู่ที่จิตคอยดูแลอารมณ์ บริวารในบ้าน ให้เรียบร้อยไม่เป็นพิษเป็นภัยไม่ทะเลาะกันให้เดือดร้อน จะดัดสันดานคนในบ้านได้ก็ต้องฝึกสติให้เป็นสมาธิ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกจนอารมณ์สงบเงียบสมควรแก่การทำงาน ก็ฝึกพิจารณาว่าบ้านนี้น่าอยู่จริงหรือ มีแต่ของสกปรกเป็นภาระต้องดูแลหาอาหารหาเสื้อผ้าหาที่หลับนอนให้ แล้วบ้านนี้ก็แก่ ทรุดโทรมพัง พาเอาเราเจ็บกายเจ็บใจเป็นทุกข์ ลำบากไม่จบสิ้น บ้านนี้ในที่สุดมันก็พัง แตกสลายจึงควรรีบเร่งหาบ้านใหม่ ที่ดีสะอาด ไม่ทรุดโทรม เป็นบ้านที่แท้จริง คือ บ้านทิพย์แดนอมตะนิพพาน พระพุทธองค์ได้ทรงชี้ทางให้พวกเราเดินทางไปสาย ซุปเปอร์ไฮเวย์ถนนใหญ่ไปง่าย รวดเร็ว สายมรรค 8 ประการ มีศีล สมาธิ วิปัสสนาญาณ เอากายเป็นรถยนต์ จิตเป็นผู้ขับ เติมน้ำมันด้วยบารมี 10 มีแผนที่คือสังโยชน์ 10 ที่จะต้องตัดไม่หลงทางวนว่ายเวียนเกิด ๆ ตาย ๆเจอกับบ้านจอมปลอมที่เป็นของสมมุติ
ลูก ภรรยา สามี พ่อ แม่ เป็น ห่วง อย่าเอามาสวมจนติดตัวแน่น ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อะไรจะเกิดเราก็ไม่มีอำนาจห้ามได้ จึงควรทำใจเป็น อุเบกขา ยอมรับความจริงที่หนีไม่พ้น ทำอารมณ์ให้สบาย อย่าแบกอารมณ์คนอื่นมาใส่ ให้เก็บมาคิดจนรู้ว่าไม่มีอะไรดีสำหรับโลกนี้แม้แต่บ้านขันธ์ 5 ที่แสนมายาหลอกลวงนี้ จงอย่าสนใจกาย เมื่อไม่สนใจกายเรากายเขาที่เป็นแดนทุกข์ ก็จะมีอารมณ์ใจที่แจ่มใสสดชื่นเหมือนประหนึ่งว่าไม่มีอะไรเป็นห่วงแล้ว เมื่อนั้นและจะพ้นทุกข์หมดเคราะห์กรรม
สันโดษ เป็นอาการที่เราพึงรู้จักพอ พอใจในสิ่งที่เราเป็น เรามี เราอยู่ พึงจะมี พึงจะอยู่ เช่น เราเกิดเป็นหญิงก็ควรพอใจ เกิดในสกุลธรรมดาไม่มีฐานะมั่งมีก็ควรพอใจ แต่ให้หมั่นขยันขนขวายทั้งทางโลกและทางธรรมเพื่อความอยู่เป็นสุขทั้งกายใจ ไม่เกียจคร้าน ขอให้ทุกคนที่มุ่งหวังการไม่เกิด เข้าสู่อริยมรรคทุกคน จงมีสติ ความรู้ตัว สัมปชัญญะ ระลึกได้ว่าทำอะไรดีหรือชั่ว รู้อยู่ตลอดเวลาไม่ประมาทต่อตนเอง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน จงหมั่นพิจารณาหาธรรมะมาครองใจ ละหลีกหนีต่อความไม่รู้จักพอของกิเลส ควบคุมอารมณ์ตนเองให้อยู่ในศีลธรรม ประเพณี พรหมวิหาร 4 เป็นปัจจัยสำคัญมาก สำหรับตัดทิฐิมานะ 3 ตัว คือ โลภ โกรธ หลง พรหมวิหาร 4 สอนให้รู้จักคิด ไตร่ตรอง อภัยคนด้วยเมตตา ทำใจไม่อิจฉาริษยา หรือหลงตัวเอง ด้วยการมีมุทิตา รู้จักรับกรรม รับอุปสรรค ไม่หวั่นในความดี ความไม่ดี ความทุกข์ยาก ด้วยอุเบกขา
พระท่านทุกองค์ ท่านสอนทางดับทุกข์ ท่านปรามกิเลสของพวกเรา แต่ผลบุญบารมีนั้นต้องบำเพ็ญด้วยตนเองทั้งสิ้น จะให้พระองค์มาคอยควบคุมหรือพาไปยังจุดหมาย โดยที่เราไม่ทำอะไรเลยเช่นนี้เป็นไปไม่ได้ ขอให้รักษาสติสัมปชัญญะไว้ ตลอดทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อนั้นสมาธิจะเกิด วิปัสสนาจะแกล้วกล้าแจ้งชัดทำอะไรก็ฉลาดมีปัญญาดี ขอให้หมั่นฝึกฝนสำรวจใจให้ได้ จงเอาชนะใจตนให้ได้
การทำบุญเพื่ออานิสงส์อันประเสริฐ ต้องมีใจศรัทธาเลื่อมใส มีใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยวมั่นคงในกิริยาวัตถุ แล้วจะเกิดเป็นพลังความคิด บันดาลให้มีพลังใจ มีความเพียร วิริยะอุตสาหะ ที่จะต่อสู้กับความชั่วของจิต คือ การเอาชนะใจตนเอง
พระธรรม 84000 นั้น เฉพาะเจาะจงที่จิตแห่งเดียว กายสังขารจะเป็นอย่างไรก็อย่าได้ตกอกตกใจ ปล่อยมันไป จิตเป็นของไม่ตายร่างกายตายแน่ จิตอย่ายุ่งกับกาย(แต่กายยุ่งกับเรา คือ จิตตลอดเวลา)
การตั้งต้นที่จะขัดจิตให้สะอาด เริ่มด้วยการรวบรวมจิตใจให้เป็นสามัคคี คือ สมาธิ พลังคุมกำลัง คือ ความรู้ตัว รู้ว่าจิตคิดดีคิดชั่ว เมื่อมีกำลังสามัคคีรวมพลังจิตได้แล้ว ก็เอาไว้ต่อสู้กับหมู่มาร ขันธ์ 5 มีลูกสมุนคือ กิเลสความขุ่น ตัณหา ความอยาก อุปาทาน คือ ความลุ่มหลงในของปลอม คือ ร่างกาย คิดว่าเป็นของจิตอันเดียวกัน อย่างนี้ผิดแบบงมงาย มารแตกสาขาเป็น โทสะ โมหะ โลภะ แฝงอยู่ในจิตใจเรา โดยที่เราเข้าใจผิดนึกว่าหมดไปแล้ว แต่เมื่ออารมณ์กิเลส ตัณหา อุปาทาน หรือ อุปสรรคมากวน จิตใจเราให้ขุ่นขึ้น พวกนี้ก็จะหนุนกันขึ้นมา เราจะสู้ได้ก็ต้องรวบรวมพลังจิตด้วยสมาธิ เมื่อมีกำลังคุมอยู่ บางทีก็สู้ได้ บางทีเราก็ต้องถอยเพื่อหาอาวุธ อาวุธก็คือปัญญา
ปัญญา นี้แหละจะช่วยให้เราสู้ได้ เราต้องใช้อาวุธนี้ให้เป็น วิธีใช้คือ พิจารณาไตร่ตรอง สังเกต วิจัยดูว่า กิเลสตัวไหนชนิดไหน มันมาแบบไหนใช้อาวุธแบบไหนตัด เช่น มีจิตโลภ ก็ใช้อาวุธทำบุญให้ทานเสียสละเสียบ้าง มีความโกรธ ก็ใช้อาวุธเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจสงสารว่าเขาก็มีทุกข์เกิดแก่เจ็บตายเหมือนเรา คิดว่าถ้าโกรธเขาก็เหมือนจุดไฟเผาตัวเราเอง อาวุธที่จะตัดความวิตกกังวลลังเลสงสัย ไม่กล้าตัดสินใจก็คือ กำหนดดูลมหายใจเข้าออกตลอดเวลาจนจิตเป็นหนึ่งอยู่กับลมหายใจนั้น แล้วจะเกิดปัญญาแจ่มแจ้งในจิต ได้รับคำตอบว่าควรตัดสินใจกับปัญหานั้นแบบไหนได้ถูกต้อง กิเลสหลงรักผิดหวัง เสียใจ ไม่สมหวังในชีวิตการงาน ครอบครัว คนรัก ลูก ภรรยา สามี ก็มีปัญญาหาอาวุธที่จะสู้กิเลสพวกนี้ ด้วยการไตร่ตรอง ดูร่างกายเราเขามีแต่สิ่งสกปรกโสโครกขังอยู่ มีภาระต้องทำมาหากินเลี้ยงร่างกาย ทุกคนแบกแต่ปัญหาไม่มีจบสิ้น ถึงเราจะรักเขาแค่ไหนร่างกายเราก็ตาย ร่างกายเขาก็ตายไม่มีใครช่วยใครได้ จะช่วยได้ก็เพียงบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ทุก ๆคนมีกรรมเป็นของตน วิถีชีวิตก็เดินไปคนละแบบคนละแนว เราต้องไม่ทำจิตให้วุ่นวายกับชีวิตผู้อื่น จัดแจงปรับปรุงชีวิตจิตใจให้สงบสะอาดด้วยสมาธิภาวนา จิตเยือกเย็นจะช่วยแก้ไขปัญหาเราเขาให้เบาบางลงได้บ้าง ให้ตัดความกังวลไร้สาระ 1 สงสัยไม่มั่นใจ 1 พันธะ 1 ไปจากตน ทำตามหน้าที่ ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น จะได้ไม่มีพันธะความกังวล
บุคคลอย่าอยู่ในความประมาท ทุกคนควรขอขมาพระรัตนตรัยทุกวัน เพราะการขอขมาไม่มีผลเสีย มีแต่ส่งเสริมให้เจริญ อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน
ผู้ที่มีร่างกายสังขาร อุดมไปด้วยธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ย่อมมีความชอบใจในของทั้ง 4 เช่นกันคือ วัตถุธาตุในโลก รวมทั้งรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส อาหารรสอร่อย เป็นต้น แต่ประการหนึ่งจงระลึกไว้ว่า บุคคลนั้นมิใช่ธาตุ 4 อย่างเดียว แต่มีจิตใจ มีปัญญา มีความรู้ สำนึกในสิ่งอันควรไม่ควรอยู่ จึงอยากให้ท่านทั้งหลายเข้าใจในธาตุแท้ของความจริง ความไม่จริง ความเปลี่ยนแปลง ความยากลำบาก ตามกาล วาระ การพังสลายของทุกอย่างในโลก สิทธิพุทธัง สิทธิธัมมัง สิทธิสังฆัง พระพุทธเจ้าทรงเป็นแก้วส่องทางให้บุคคลผู้ประพฤติธรรมให้บรรลุธรรมอันประเสริฐ
ทิฐิ คือ แรงยึดมั่น ถือมั่น
มานะ เป็น ตัวเอาชนะ
ทิฐิมานะ คือ การยึดมั่นถือมั่นเพื่อเอาชนะ
เช่น อยากดี อยากเป็น อยากได้ ไม่รู้จักหยุดจักพอ ทิฐิมานะ เป็นตัวนำให้ถือเขาถือเรา ถือฉันของฉัน ถือแล้วหยิ่ง หยิ่งว่าตัววิเศษ ลืมตัวลืมเงา เลยต้องพบกับโลก วิธีแก้ไข ต้องระลึกรู้ว่าเรามีทิฐิมานะมากน้อยอย่างไร ใช้สมาธิจิตพิจารณาว่า ร่างกายเราเขาไม่มีใครดีกว่ากัน ต่างก็เหม็นเน่าสกปรก ต้องล้าง ต้องถ่าย ต้องเติมอาหารเพราะหิวทุกวัน ไม่มีใครสะอาด และเดินเข้าหาความพังทลายตายเหมือนกัน เราเขาก็อยู่ในสภาพที่เดินเข้าหาความแก่ความเจ็บความตาย เป็นผีเดินได้เช่นกัน แบกทุกข์ แบกภาระ ปัญหาร่างกาย วิ่งวุ่นหาอาหารใส่ปากใส่ท้องเหมือนกัน เรามีมานะถือว่าตนดีกว่าเขาเหนือเขาได้อย่างไร จะยากดีมีจนมียศเสื่อมยศก็ต้องหายใจด้วยกัน อยู่ร่วมโลกเดียวกัน ควรจะมีเมตตากรุณาสงสารเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือกัน ช่วยไม่ได้ก็วางใจเฉย ๆ ไว้ก่อนมีโอกาสก็จะช่วย ถ้าเขาดีกว่าเราก็ควรยินดีด้วย และหาทางทำอย่างไรเราจึงจะดีมีสุขเช่นเขา ไม่อิจฉาริษยา เห็นผู้น้อยด้อยกว่าเราก็เมตตาสงสารจุนเจือ ช่วยเหลือ จิตเราจะเป็นสุข
ไม่ควรหลงอุปาทานในร่างกายที่เป็นสมมุติ ของจริงคือ จิต มาอาศัยกายชั่วคราว ถ้ายังติดร่างกาย มีอุปาทานความหลงในกายก็ต้องเจอทุกข์หนัก เวียนว่ายตายเกิดอีก เพิ่มความทุกข์ให้กับตนเอง
ธรรมะเป็นของง่ายเป็นของธรรมดา การปฏิบัติธรรมคือ การยอมรับนับถือความธรรมดา คือ การสูญสลายไป ว่าเป็นความจริง จิตไม่วุ่นวายเดือดร้อน ติดใจตรงไหนกับของปลอม คำว่า พุทธะ แปลว่า ผู้รู้แจ้ง ท่านมีครูคือครูธรรม คือ ธรรมชาติ ดังนั้นพวกเราทั้งหลายจึงมีครูคนเดียวกับพระพุทธเจ้า คือ ธรรมะที่อยู่รอบกาย แม้แต่ร่างกายเราเองก็คือครูคนสำคัญ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ท่านก็เคยเป็นมนุษย์ปุถุชนคนเดินดินเหมือนเราทุกประการ แต่พระองค์ท่านมีข้อพิเศษคือ มีความเพียร มีขันติความอดทน ท่านทำจริงสู้จริง ท่านมีกำลังใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง ไม่ย่อท้อที่จะเอาชนะกิเลส ท่านเอาชนะโดยไม่ผูกพันในกิจของโลก ไม่ผูกพันในร่างกาย ครอบครัวท่าน ท่านทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างเดียว ไม่สนใจกาย ท่านจึงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า
กำลังใจเต็มหรือบารมีเต็ม จะเกิดได้ ต้องมีสติมั่นในสิ่งที่หวังกระทำ ถ้ามีสิ่งใดมาทำให้กำลังใจตกก็จงใช้ปัญญาให้มาก ว่า เหตุปัจจัยอยู่ที่ใด เมื่อรู้เหตุปัจจัยแล้วพยายามแก้ไขให้แข็งแกร่งขึ้นโดยทำจิตให้ทรงสมาธิในสมถะ แล้วค่อยพิจารณาให้กระจ่างแจ้งจะมีจิตที่รู้ดี รู้จักรุก รู้จักถอย รู้จักพัก นั่นคือทางสายกลาง อะไรเป็นทุกข์ก็ให้รู้ ทำใจให้สบาย ยอมรับผลกรรมให้หมดสิ้น ชาตินี้จะเกิดเป็นชาติสุดท้าย ชาติหน้าไม่ต้องการเกิดมารับทุกข์แบบนี้อีก สุขจริง ๆ ในโลกนี้ไม่มี มีแต่สุขชั่วคราว
พุทธบริษัทที่มีจิตมุ่งมั่นในการทำบุญเพื่อยกระดับจิตขึ้นสูง จะต้องมีสิ่งต่อไปนี้
1) ต้องมีศรัทธา เชื่อเคารพในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าช่วยให้เราพ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดจริง จะมีแรงดลใจให้บุญเพิ่มมากขึ้น
2) ต้องมีขันติ ความอดทนที่จะพยายามเอาชนะโลภ โกรธ หลง ในจิต ให้หมดสิ้น เพื่อเข้าถึงธรรมคือ พระนิพพาน
3) ต้องมีสัจจะความจริงใจในตน ถ้าผิดศีลก็ละอายใจตนเอง ผู้ละเมิดศีลมีกรรมเป็นเครื่องสนองคือ ความไม่สบายใจ เพราะไม่ซื่อตรงไม่มั่นคง สัจจบารมีเป็น ทางเข้าถึงอริยมรรค จิตมั่นคงมีสัจจะความเหลาะแหละของจิตหมดไป นิวรณ์ 5 คือ กิเลสที่ทำให้จิตเศร้าหมองวุ่นวาย ไม่มีสมาธิ ก็หมดไป (นิวรณ์ 5 มี กามฉันทะ พยาบาท วิจิกิจฉา (ความสงสัยในคำสอนของพระพุทธองค์) อุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) และ ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาหาวนอนในระหว่างปฏิบัติสมาธิภาวนา) ) ไม่มีนิวรณ์ สมาธิก็ทรงตัว สมาธิมีในกาย วาจา ใจ จิตมีความบริสุทธิ์ของศีล มีสัจจะ ฌานก็เกิดขึ้น ฌานคือ ความชิน จิตจะเชื่องอยู่ในความดีงาม เป็นสัจจบารมี เมื่อจิตมีฌานเราจะมีอารมณ์วิปัสสนาญาณเมื่อไรก็ย่อมได้ทันที เมื่อถึงอารมณ์วิปัสสนาญาณแล้วพิจารณาทบทวนด้วยกุศลจิต อารมณ์สติจะเกิดคือ ตัวปัญญา เมื่อมีปัญญาไตร่ตรองถ่องแท้ชัดขึ้น จนเรารู้สำนึกมุ่งไปในกมลสันดาลแน่ชัดแล้ว จะตัดจะละจะปล่อยสิ่งเหล่านั้นได้เป็นสมุจเฉทปหานแน่นอน
เมื่อรู้จักวิธีทำในใจตนแล้วย่อมรู้ชัดว่า จิตยังยึดติดใน
1) โลกธรรม
2) ติดในร่างกายทรัพย์สินของสมมุติ
3) ติดในกิเลส โลภ โกรธ หลง
4) ติดในตัณหาความอยาก ความไม่อยากได้
5) อุปาทาน คือ หลงในสิ่งของไม่จริงคือ กายเรากายเขา ทรัพย์ หลงลาภยศสรรเสริญ หลงความสุขชั่วคราว เช่น สมบัติเป็นต้น
ก่อนทำสมาธิต้องล้างใจตนเองโดยวิธีการต่อไปนี้
1. ยึดมั่นในพระคุณความดีของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเราจะเป็นลูกศิษย์ใครเราก็ต้องมีความมั่นใจในพระบรมครูเสียก่อน
2. หาพระบริสุทธิคุณของพระบรมครูศาสดาสัมมาสัมพุทธให้พบ เราจะไปเรียนจากครู เราก็ต้องรู้ว่าครูเป็นอย่างไรควรจะทำตนให้เข้าหลักคำสอนของพระองค์ท่านได้อย่างไร
3. ยึดธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมคือ ทฤษฎี แนวทางหรือหนังสือที่ครูหยิบมาให้เราอ่าน เราคือคนพิสูจน์ เรา
4. ล้างไม่ให้ยึดติดอำนาจฤทธิ์เดชคุณไสย ฤทธิ์เดชคุณไสยนั้นอยู่ยงคงกระพันไม่ตายแต่เราตาย ถ้าเรายึดเราจะหลง ถ้ายึดแล้วจะมานั่งพิจารณากันทำไม ส่วนอำนาจพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพมีจริง อานุภาพทั้ง 3 นี้แม้จักรวาลก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะท่านอยู่เหนืออำนาจธรรมชาติ คือ ทุกข์ อนิจจัง อนัตตาแล้ว ถ้านึกถึงคุณพระรัตนตรัยนี้ ความดีก็สนองผู้ที่ระลึกถึงแล้วโดยไม่ต้องร้องขอพรท่าน แต่ก็ไม่อยากให้ยึดไว้อย่างงมงาย ถ้าเคารพศรัทธาในพระรัตนตรัย ต้องเริ่มปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสอนอย่างจริงจัง ทุกลมหายใจเข้าออก
5. มุ่งมั่นในใจว่า กรรมเป็นของแท้แน่นอน คนเรามีกรรมเป็นของตน มรกรรมเป็นที่มา มีกรรมเป็นที่ไป และมีกรรมเป็นที่อยู่ ใครทำกรรมใดมา คนนั้นใช้กรรมของตน อย่าลงโทษดินฟ้าอากาศเพราะเขาไม่รู้เรื่องหรอก รู้ว่ามีกรรม รู้ว่ามีสวรรค์ รู้ว่ามีพรหม รู้ว่ามีนรกรู้ว่าก่อนเกิดมาจากไหน ตายแล้วไปไหนไปเกิดแดนนรกหรือสวรรค์ รู้ว่าเกิดใหม่มีจริง เก็บไว้อธิบายคนอื่นที่มาถามได้
6. ปรารถนาที่จะล้างอกุศลกรรม และมิจฉาทิฏฐิ เพื่อให้จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นกิเลส
สำหรับคนมุ่งมรรคผลโดยแท้ ศึกษาเท่านี้แล้วท่านทั้งหลาย จะทำใจให้ปลอดโปร่งได้ เห็นมรรคเห็นผล
ในการทำสมาธิ 15 นาที รู้ไหมว่าลมหายใจกระทบจมูกตลอดเวลา สังเกตไหม ใน15 นาที พยายามเอาความรู้สึกไว้ที่ปลายจมูก ถ้าทำได้คือ มีความรู้สึกว่าลมผ่านจมูกตลอด 15 นาที ก็นับว่าต่อไปจะมีสมาธิ มีสติตั้งมั่นได้นาน ความเผลอจะลดถอยไปเอง
โลภะ อยากให้เขารักเรา อยากให้ของรัก เงินทอง บ้าน ของใช้ เป็นของเรา ไม่รู้จักพอควร
โทสะ โกรธที่ไม่ได้ดังต้องการ โทสะมาก ๆ เป็นอาฆาตน้อย ๆ คือจำเคียดแค้น ไม่มีอภัยทาน ไม่มีพรหมวิหาร
โมหะ หลงอุปาทานว่าเราต้องเป็นเอก เป็นใหญ่กว่าคนอื่น เป็นเอกในความสำคัญของตน (ฉันก่อน ฉันดี ของฉัน ฉันรัก ฉันหวง เธอต้องให้ฉัน ขอโทษฉัน)
ตัณหา ความปรารถนาที่จะพึงได้ในภวตัณหา วิภวตัณหา คือ อยากได้สิ่งที่รัก ไม่อยากได้ในสิ่งที่ไม่ชอบ อะไรจะบังคับให้ตามใจตนเองได้ ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่สมควร ต้องตอบสนองเราในบางครั้ง และจะไม่ตอบสนองเราในบางคราว
อุปาทาน เป็น ทิฐิมานะ อย่างหนึ่งที่ทำให้ถือตัวตน ถือเขาถือเรา ฉันทำให้เธอแล้วเธอต้องทำให้ฉันบ้าง เพราะฉันมีบุญคุณ อุปาทานว่าตัวตนดีพร้อม คนอื่นตามไม่ทัน หลงในรูป รส ยศ ศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นของไม่จริง ของสมมุติ ของปลอม มีได้เสื่อมได้ตามเรื่องของโลก ถ้าไปหลงก็งมงาย เกิดเป็นทุกข์ต่อไป
พวกเหล่านี้เป็นไฟ คือ ไฟ โลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา อุปาทาน ทิฐิมานะ ไฟพวกนี้จุดเผาจิตใจในอารมณ์เราว่า เราเป็นเรา นี่คือฉัน ยึดเพราะหลงกรรมตนเองซึ่งเลือกไม่ได้ที่จะเกิด ที่จะเป็น ที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสุขบ้างทุกข์บ้าง ลำบากบ้าง หลงระเริงเข้าไปในอารมณ์ทำไม เผาผลาญใจเราให้รุ่มร้อนกลุ้มใจอยู่ทุกนาที นั่นแหละทรมานตนเองให้หมกไหม้ในกองไฟ ตายแล้วก็ไปโดนเผาในกองไฟนรก ยิ่งร้อนแรงหนักหลายล้านเท่า
ทุกข์ คืออะไร ทุกข์คือร่างกายขันธ์ 5 มีกายจึงมีทุกข์ ทุกข์จากการหิว ร้อน ทำงาน เหน็ดเหนื่อยหาเลี้ยงชีพ เจ็บป่วย ตาย
สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ คือ การเกิดเป็นคนสัตว์ เวียนว่ายตายเกิด ความอยากเกิด อยากดี อยากรักในสมบัติของโลก จึงเป็นเหตุให้เกิด
นิโรธ ทางดับทุกข์ อะไรเป็นยาสำหรับดับกิเลส ตัณหา อุปาทาน ยาที่ดับกิเลส องค์พระศาสดาได้ทรงสอนไว้ชัดแจ้งดีแล้วคือ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา พรหมวิหาร 4 และบารมี 10 ไปค้นหาให้เข้าใจแล้วเอามาใช้กับจิตใจ วาจา การกระทำ
มรรค เป็นวิธีปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ หรือให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ถึงแดนทิพย์นิพพาน ทางไหนทำเอาเอง จะพ้นทุกข์จริง ๆ ต้องเข้าสู่อมตะนิพพาน
นิพพานไม่ใช่อนัตตา ตามที่คนเข้าใจผิดกันมาก จะเข้าใจพระนิพพานถ่องแท้ต้องปฏิบัติอย่างน้อยเข้าอริยมรรค คือ พระโสดาบันปัตติมรรคหรือโคตรภูญาณ จึงจะเข้าใจพระนิพพานถูกต้อง พระท่านต้องการให้ทุกคนไปให้ถึง แค่ภาวนาเฉย ๆ ระลึกถึงนิพพานเฉย ๆ นะยาก ต้องปฏิบัติที่ใจจึงจะไปได้ คือ ใจตัดไม่ติด ไม่ยึดกับลาภยศสรรเสริญเจริญสุข ไม่ยึดกับร่างกายเราร่างกายเขา
นิพพานไม่ได้อยู่ที่ปาก นิพพานอยู่ที่จิตปฏิบัติ
โลภ โกรธ หลง ตัณหา อุปาทาน เหล่านี้เป็นสมบัติของขันธ์ 5 ไม่ใช่สมบัติของจิต อทิสมานกาย อย่าไปติดกับของสกปรกคือ กายขันธ์ 5 ไม่ใช่ของใครเป็นของกรรมของกิเลส ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ที่เราสร้างขึ้นมา เมื่อสร้างขึ้นมาได้ เราก็ละทิ้งขว้างเสียได้ ด้วยการปฏิบัติด้วยทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ทำสติให้รู้ครบ บริบูรณ์ว่าทำดี คิดดี คิดชั่ว ใช้วิปัสสนาญาณเป็นเครื่องพิจารณา คุมด้วยพรหมวิหาร 4 เป็นพื้นฐาน
เอาทุกข์เป็นโจทย์ เป็นข้อคิดข้อแก้ไข ทุกข์มาจากอะไร อะไรเป็นทุกข์จะแก้ทุกข์ให้หายทำอย่างไร เอาไตรลักษณ์ (อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้ ความเปลี่ยนแปรปรวนตลอดเวลา ทุกขัง มีปัญหาเดือดร้อนตลอดเวลา อนัตตา เป็นแบบนี้ไม่สิ้นสุด สูญสลายหายไป ไม่อยู่ในกฎบังคับของใคร เป็นไปตามธรรมชาติที่ปรวนแปร)
ผลสรุป
ดูด้วยบารมี 10 ทัศน์ สังโยชน์ 10 ข้อ กลั่นกรองจิตดูว่ามีอารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว อารมณ์ติดกิเลสตัวไหน เมื่อรู้ก็รีบระงับดับทิ้งไปเสีย ของไม่ดีเก็บไว้ในใจก็เน่าเหม็น ทำให้จิตสกปรกเศร้าหมอง ดูช่องว่าง รูรั่ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงไหนมีรูโหว่ให้กิเลสเข้ามาในใจรีบอุดปิดไว้ด้วยธรรมะ อดไม่ได้ก็เฉยเสีย ทำไมได้ก็พยายามหลีกหนีเสียอย่าคบ ทำไม่ได้ก็ฝึกหัดทำสมาธิไปก่อน พิจารณาร่างกายสะอาดหรือสกปรก ร่างกายเป็นสุขจริงหรือ มีแต่ภาระให้ดูแล อย่าไปแก้เรื่องชาวบ้าน แก้ทีเราดีกว่า ต่างคนต่างแก้ไขของตนเอง ทุกคนจะอยู่ในธรรมเดียวกัน
อย่าปฏิบัติแต่ปาก จงปฏิบัติที่ใจ ปากแม่จะพูดปฏิเสธ แต่ถ้าใจยังคิดอยาก ยังทำอยู่ จงรู้ว่าหลอกคนอื่นได้ แต่หลอกตัวเองไม่ได้ ผลก็คือไม่ใช่คนอื่นโง่ แต่เป็นที่ตัวเราโง่
จงฝึกใจให้เข้าสู่สมาธิ เพื่อวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการฝึกฝนใจที่ชั่วร้ายในตัวตนให้เข็ดหลาบ ลดทิฐิความดื้อดึง ให้ลดน้อยถอยไป กระทำวิธีฝึกเพื่อหาปัญญา มาวิเคราะห์ เหตุผล การฝึกธรรมคือ การฝึกให้ได้ผลแห่งจิตใจ สำหรับผู้ที่ปรารถนาหวังพ้นวัฏสงสารนั้น ขอให้ฝึกอย่างแข็งขันเอาจริงดังนี้
1. ต้องสำรวมในวาจา ไม่พูดยุยงให้ชั่ว ไม่กล่าววาจาที่ไม่เป็นผลแก่ตนแต่เป็นผลแก่ชาวบ้าน จะนำชาวบ้านมานินทาทั้งทีก็ต้องดูตัวเราเองเสียก่อนว่าดีหรือยัง ถ้ายังดีสู้เขาไม่ได้ ก็อย่าไปยุ่งเรื่องของเขา
2. สำรวมใจ อย่าคิดอกุศลให้บังเกิด อย่าคิดในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
3. สำรวมกาย กิริยาของเราเป็นสิ่งก่อให้บังเกิดกิเลส จงสำรวมไว้ว่าสถานที่ใดไม่ควรส่งเสียง สถานที่ใดควรวางตนในเหตุการณ์อย่างไร
การสำรวมทำให้คนมีสติสัมปชัญญะมากขึ้น รู้ว่าเรากำลังทำอะไร ควรทำอย่างไร เป็นเครื่องปกป้อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ อายตนะทั้ง 6 ไม่ให้หลงระเริง ใน ราคะ โทสะ โมหะ กิเลส ตัณหา อุปาทาน ถ้าปิดกั้นประตู 6 อย่างนี้ได้ก็จะเป็นผู้พร้อมในอารมณ์ของมุทิตา อุเบกขา สังวรอินทรีย์ ทุกประการ
เรามุ่งสู่ทางดับทุกข์แล้ว อย่าได้อาลัยในสุขอย่างโลกีย์ นึกเสียว่าชาตินี้เป็นที่สุด เจ้ากรรมนายเวรจะเอาอะไรคืนก็ยกให้เขาไป ของทุกสิ่งในโลกนี้ยุติธรรมเสมอ อย่าได้อาลัยในรูปกายสังขาร อย่าได้อาลัยในสมบัติของโลก อย่าได้อาลัยในของสมมุติ ทุกอย่างล้วนอนิจจังทั้งนั้น ไม่มีอะไรอยู่กับเราเป็นของเราได้ตลอดแม้แต่สมบัติที่หวงแหน เราจะรักษาให้นานที่สุดก็แต่ชั่วชีวิตเราเท่านั้น
มานะทิฐิเป็นตัวลดยากจริงเป็นทางปิดกั้นพระนิพพาน คือ ตัวทิฐิมานะ ตัวนี้จะทำให้ตัดขันธ์ 5 ธาตุ 4 โลกธรรม 8 ไม่ได้
การที่จะรับสัมผัสคำสอน คำพูดได้หรือไม่ได้มโนมยิทธิ ขึ้นอยู่ที่สมาธิว่าแจ่มใสหรือไม่ เช่น ถ้าคิดว่าตัวเองพูดเอง คิดเอง นั่นสมาธิไม่แจ่มใส อย่าว่าแต่จิตรับสัมผัสคำพูดเลย คนที่ยังเป็นคนด้วยกันเอง บางทีพูดคุยกันก็ยังไม่ได้ยินบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แล้วจะนับอะไรกับสัมผัสพระนิพพาน
เมื่อเรารับภาระเป็นครูฝึกมโนมยิทธินั้น เราจะต้องรู้วิชาที่จะสอนเขาจริง ๆไม่ใช่ว่าฝึกก็นาน ๆ ฝึกที ไม่ขยันทำให้ทรงตัว อย่างนี้แล้วจะได้ศิษย์ดีที่ไหน นอกเสียจากศิษย์จะมีปัญญารู้เอง ก่อนอื่นก่อนทำสมาธิ รวบรวมกำลังใจ ดู พรหมวิหาร 4 ของตัวเองเสียก่อน ว่าเราตั้งใจจะช่วยสอนนำพาเขาจริงใจด้วยเมตตาหรือเปล่า สอนด้วยความกรุณาอยากจะช่วยหรือไม่ ? ไม่ใช่สอนด้วยการอยากให้เขาสักการะเรา สอนเขาแล้วเขายังไปไม่ได้ เราเสียใจหรือเปล่า ซึ่งทำให้กำลังสมาธิของครูและศิษย์ตกลงไป สอนแล้วศิษย์เก่งกว่าครู เราอิจฉาหรือมุ่งร้ายในใจเราหรือเปล่า เมื่อสอนแล้วเราต้องใช้อารมณ์อุเบกขาเป็นพื้นฐาน กล่าวได้ว่าอุเบกขาเป็นอารมณ์ของสมาธิ เป็นกำลังฌาน ที่จะทำให้เราได้รู้ได้เห็น ได้รับทราบจากจิตจริงแท้ชัดมั่นคง เมื่อทรงพรหมวิหาร 4 แล้ว ให้พิจารณาสักกายทิฏฐิ ขันธ์ 5 กายเรานี้ จะได้ไม่ขัดแย้งระหว่างครูกับลูกศิษย์หรือคนอื่น ๆ ในเมื่อความเห็นจากการสร้างด้วยจิตไม่ตรงกัน ขอให้สังวรกันว่าเรายังเรียนรู้เรื่องนี้น้อยมาก อย่าไปวิจารณ์ว่าคนนั้นใช่ไม่ใช่ จงทำไปตามอาจารย์ท่านสอน เป็นวิธีลัดที่จะพิสูจน์ให้คนได้รู้เห็นสภาพของทิพย์ที่เป็นจริง การช่วยสอนคนอื่นเป็นความดี อย่าคิดว่าเราจะช่วยคนอื่นไม่ได้ ทำได้เท่าที่เรามีปัญญาความสามารถ จะมากจะน้อยนั่นคือผล
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสอนการปฏิบัติเพื่อให้พุทธบริษัทบรรลุมรรคผล เป็นพระอริยบุคคล และเป็นพระอรหันต์ไว้ 4 สายดังนี้
1. สุขวิปัสสโก บรรลุมรรคผลด้วยการพิจารณาตามมหาสติปัฏฐานสูตร จนจิตเป็นสมาธิเข้าฌาน 1-4 แล้วตัดกิเลส แบบนี้จิตไม่เป็นทิพย์ ไม่เห็นผี เทวดา นรก สวรรค์ ไม่เห็นนิพพาน ไม่เห็นพระพุทธเจ้า แต่ไม่คัดค้านคำสอน ท่านเชื่อว่ามีจริงแต่ท่านสัมผัสไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนไว้สำหรับผู้ชอบเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่ต้องการฤทธิ์เดช
2. เตวิชโช พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับคนอยากรู้ อยากพิสูจน์ อยากเห็นว่ามีนิพพาน สวรรค์ พรหม นรก จริง มีความสามารถระลึกชาติได้มีทิพย์จักขุญาณ ตัดกิเลสได้หมดด้วยพลังสมาธิ
3. ฉฬภิญโญ (อภิญญา 6 ) แสดงฤทธิ์ได้ ตาเป็นทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้อดีต อนาคต ปัจจุบัน ทำอาสวะกิเลสให้หมดไป เป็นพระขีณาสพ เหาะได้ เดินบนอากาศได้เป็นต้น
4. ปฏิสัมภิทัปปัตโต พระอรหันต์นี้ท่านมีทั้งฤทธิ์ ทั้งฉลาดรอบรู้พระไตรปิฎก การมีความเป็นทิพย์ของจิตแบบนี้พระพุทธองค์สอนไว้เพื่อความรอบรู้ ทุกอย่าง มีสมาบัติ 8 (ท่านผู้ใดที่ต้องการทราบรายละเอียดมีอยู่ในหนังสือ กรรมฐาน 40 ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง อุทัยธานี )
การฝึกก็ฝึกใจเป็นสำคัญ มโนมยิทธิ ก็เป็นวิปัสสนากรรมฐานคล้ายคลึงเตวิชโช เป็นกรรมฐานเพื่อเตรียมตัวที่จะปฏิบัติอภิญญาหกต่อไป วิชานี้ใช้กำลังจิต หรือ อทิสมานกายเคลื่อนออกจากขันธ์ 5 ไปสวรรค์ได้ พรหมโลกได้ ไปนมัสการองค์พระบรมโลกนาถศาสดาองค์ใดก็ได้ที่พระนิพพาน ไปเรียนรู้พระธรรมคำสอนโดยตรงจากพระพุทธองค์ท่าได้ เป็นการพิสูจน์ว่าพระนิพพานไม่ใช่อนัตตา ไม่สูญสลายเหมือนขันธ์ 5 นี้
ควรพิจารณาดูให้ถ่องแท้เรื่องกายกับจิต
กาย มีองค์ประกอบคือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ
จิต มีองค์ประกอบคือ อทิสมานกาย คือ กายที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
ธรรมคือสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งคู่กับความประพฤติของมนุษย์โลก ทำจิตให้สงบนิ่ง แล้วจะทำการได้เป็นผลเลิศ ทำให้พอดี ไม่มาก ไม่น้อย ไม่โลภ ไม่หลง ไม่ยินดีในสิ่งต่าง ๆ เช่น การโกรธ เกลียด รักใคร่ อิจฉา ริษยา อาฆาต ไม่ยินดีในกายเรากายเขา ไม่ยินดีในทรัพย์สินในโลกนั้นเป็นสิ่งประเสริฐ
กายเราเหมือนบ้านที่อยู่ เมื่อพุพังก็เป็นธรรมดาต้องซ่อมแซม แต่ถ้าพังมากที่สุดที่จะอาศัยได้ ก็หาที่ดีอยู่ใหม่ การเลือกอยู่ที่ผู้อยู่จะเลือก อย่างไม้ อย่างอิฐ อย่างเงิน อย่างทอง หรืออย่างแก้วมณีเจ็ดสี
จิตคนที่เข้าพระนิพพานนั้น มีรัศมีดั่งดวงประทีปแห่งความดี ฉะนั้นผู้ที่เข้าพระนิพพาน ดวงไฟนั้นยิ่งโชติช่วง มุ่งสิ่งใดประเสริฐสุด คือ มุ่งจิตให้ผ่องใสเป็นพรที่ประเสริฐสุด สำหรับชาวพุทธ จงพร้อม และเตรียมที่จะดับสิ้นซึ่งสิ่ง 3 ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้หมดไปพร้อมขันธ์ 5 ประการ จงดับแล้วซึ่งความเศร้าหมองของจิต ด้วยอริยสัจ 4 ประการ จนถึงพร้อมด้วยการตัดสังโยชน์ กิเลสทั้ง 10 อย่างออกจากจิต ด้วยความตั้งใจเต็มด้วยบารมี 10
กำลังจิต คือ พลังอำนาจที่จะนำให้บรรลุปัญญา ถ้ากำลังจิตอ่อนหรือไม่ทรงกำลัง แสดงว่าจิตเราท้อไม่สู้ พลังผลักดันที่จะทำให้เรามุ่งปฏิบัติจิตในการเอาชนะต่อความต้องการของกิเลสมีไม่พอ จงตั้งใจไว้มั่นคงว่าเราจะต้องทำให้ได้ โดยยึดแรงสัจจะความจริงใจ จะช่วยผลักดันมิให้เราท้อถอยหรือแพ้
อุปาทาน หลงทึกทักว่าเราดี เราเก่งกว่า เราวิเศษกว่า เป็นทิฐิมานะ แล้วตัวเราสะอาดตรงไหน มีแต่ของเหม็นสกปรก หิวเหมือนกัน แก่เจ็บตาย เหมือนกันทุกคน ไม่มีใครดีกว่าใคร เป็นธาตุ 4 ตายกันหมด ไม่มีใครเหลือ
ทิฐิ คือ ความดื้อรั้นไร้เหตุผล จะทำให้ขาดสติ มีอวิชชา(ความไม่รอบรู้จริง ไม่ฉลาด ) เป็นตัวนำ การขาดสติความรู้ตัวว่าดีหรือชั่ว จะขาดปัญญา จงหมั่นพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะใช้ทิฐิเป็นเครื่องตัดสินใจปฏิบัติต่าง ๆ ผู้ที่จะบรรลุธรรมไม่ว่าขั้นต้นถึงขั้นสูงสุดต้องครองสติตัวรู้เป็นปกติให้มากที่สุด นานที่สุด เมื่อดำรงสติจะมีสมาธิ ปัญญาจะกระจ่าง จะรอบรู้ว่าเรามีทิฐิแล้วได้ประโยชน์อย่างไร การให้อภัยเป็นตัวทำให้เราละทิฐิ ทิฐิยึดถือว่า เรา (ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิเป็นคุณ ทำให้ไม่หลงในลาภยศสรรเสริญ สุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นของชั่วคราว ) จงให้อภัยเห็นอกเห็นใจกันและกัน ให้มากแล้วจะมีสติปัญญา รู้ว่าเราเขา แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน ไม่มีใครดีกว่าเหนือกว่า ร่างกายยึดไว้ทำไม มีแต่ทุกข์โทษ เอาจิตยึดศีล 5 สมาธิ พระนิพพาน เคารพพระรัตนตรัยดีกว่า
จิต (soul) หรืออทิสมานกาย (inner seft ) คือสิ่งเดียวกัน จิตหรืออทิสมานกาย มาอาศัยขันธ์ 5 ของคน สัตว์ตามบุญ ตามบาป
1. กายหยาบ หรือกายเนื้อ เรียกว่ารูปกาย กายนี้แปรปรวน ลำบาก มีทุกข์ เป็นอนัตตา และตาย มีดินน้า ลมไฟ อารมณ์ ประสาท เป็นส่วนประกอบ
2. กายทิพย์ หรือ กายละเอียด มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น อาศัยในโลก สวรรค์ พรหม คือ เทพเทวดา เป็นกายชั่วคราว เป็นอนัตตา
3 .กายธรรม กายแก้ว กายนิพพาน หรือ ธรรมกาย ละเอียดกว่ากายทิพย์ คือ กายพระอรหันต์ เป็นกายอมตะ ไม่ตาย ทรงอยู่เป็นสุขตลอดกาล
(เทศน์ที่สวรรค์ คุณแม่เกษร จันทรประภาพ ถอดจิตไปประชุมแล้วจำคัดย่อมา)
http://www.dhammapratarnporn.com/book2.html
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:
แสดงทั้งหมด
1 วัน
7 วัน
2 สัปดาห์
1 เดือน
3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
เรียงจากเก่า-ใหม่
เรียงจากใหม่-เก่า
:: ลานธรรมจักร ::
»
สนทนาธรรมทั่วไป
ไปที่:
เลือกกลุ่ม บอร์ด
กลุ่มสนทนา
----------------
สนทนาธรรมทั่วไป
แนะนำตัว
กฎแห่งกรรม
สมาธิ
ฝึกสติ
การสวดมนต์
การรักษาศีล-การบวช
ความรัก-ผูกพัน-พลัดพลาก
กลุ่มข่าวสาร-ติดต่อ
----------------
ข่าวประชาสัมพันธ์
ธรรมทาน
รูปภาพ-ประมวลภาพกิจกรรมต่างๆ
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ขอความรู้ทำรายงาน
แจ้งปัญหา
รูปภาพในบอร์ด
กลุ่มสาระธรรม
----------------
หนังสือธรรมะ
บทความธรรมะ
นิทาน-การ์ตูน
กวีธรรม
นานาสาระ
ต้นไม้ในพุทธประวัติ
วิทยุธรรมะ
ศาสนสถานและศาสนพิธี
----------------
สถานที่ปฏิบัติธรรม
วัดและศาสนสถาน
พิธีกรรมทางศาสนา
พุทธศาสนบุคคล
----------------
พระพุทธเจ้า
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ประวัติเอตทัคคะ (ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา)
สมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติและปฏิปทาของครูบาอาจารย์
ในหลวงกับพระสุปฏิปันโน
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณ
ไม่สามารถ
สร้างหัวข้อใหม่
คุณ
ไม่สามารถ
พิมพ์ตอบ
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลบข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลงคะแนน
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ
ไม่สามารถ
ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
เลือกบอร์ด •
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทานธรรมะ
•
หนังสือธรรมะ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
สถานที่ปฏิบัติธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ
•
วิทยุธรรมะ
•
เสียงธรรม
•
เสียงสวดมนต์
•
ประวัติพระพุทธเจ้า
•
ประวัติมหาสาวก
•
ประวัติเอตทัคคะ
•
ประวัติพระสงฆ์
•
ธรรมทาน
•
แจ้งปัญหา
จัดทำโดย กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ
webmaster@dhammajak.net
Powered by
phpBB
© 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
www.Stats.in.th