ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
ลูกโป่ง
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089
|
ตอบเมื่อ:
27 ส.ค. 2005, 9:28 am |
  |
คนเราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ต่างต้องการ “ความรัก” ทั้งสิ้น
ไม่ไปรักเขา ก็อยากให้เขามารักเรา เพราะความรักเป็นความรู้สึกที่งดงาม
อบอุ่นและทำให้ชีวิตมีความหวัง ไม่ว่าจะเป็นความรักของพ่อแม่
ความรักในหมู่ญาติ ความรักระหว่างเพื่อนฝูง
โดยเฉพาะความรักของหนุ่มสาว ที่ทำให้มองโลกสดใสเป็นสีชมพูเมื่อสมหวัง
หรือมืดมนดั่งราตรีกาลเมื่อไม่สมปรารถนา
หลายคนเชื่อว่าการที่คนเราจะมาครองคู่กันได้นั้น
ต้องเคยทำบุญร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อนที่เรียกว่า
มี “บุพเพสันนิวาส”ต่อกันนั่นเอง
ในทางพุทธศาสนาได้กล่าวถึงคู่ครองที่ดีที่จะเป็นคู่ร่วมชีวิตกันได้ว่า
นอกจากเรื่องกามคุณแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติและความประพฤติที่ใกล้เคียงกัน
จึงจะอยู่กันยืดยาวเป็นคู่สร้างคู่สม กล่าวคือต่างต้องมีหลักธรรมหรือ
มีชีวิตที่สอดคล้องกลมกลืนกันเป็นพื้นฐานอันมั่นคง ๔ ประการ
ได้แก่
๑. การมีศรัทธาสมกัน คือ เคารพในลัทธิศาสนา ความเชื่อ
หลักการตลอดจนความสนใจเสมอกันหรือปรับเข้าหากันได้
๒.มีศีลสมกัน คือ มีความประพฤติ ศีลธรรมจรรยา มารยาท
และพื้นฐานการอบรม พอเหมาะพอควรกัน
๓.มีจาคะสมกัน คือ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเสียสละ
ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น โดยไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน
๔.สุดท้ายคือมีปัญญาสมกัน คือ รู้เหตุรู้ผล เข้าใจกัน พูดกันรู้เรื่อง
นอกจากนี้ ท่านยังได้แบ่งผู้หญิงที่เป็นภรรยาว่า มีอยู่ ๗ ประเภทด้วยกัน
๑. วธกาภริยา ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต
คือ ภรรยาที่มิได้อยู่กินกันด้วยความพอใจ ดูหมิ่นและคิดทำลายสามี
๒.โจรีภริยา ภรรยาเยี่ยงโจรคือคอยล้างผลาญทรัพย์สมบัติ
๓.อัยยาภริยา ภรรยาเยี่ยงนาย คือภรรยาที่เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจในงาน
ปากร้าย หยาบคาย ชอบข่มสามี
๔.มาตาภริยา ภรรยาเยี่ยงมารดา คือภรรยาที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใย
สามีหาทรัพย์มาได้ก็เอาใจใส่คอยประหยัดรักษา
๕.ภคินีภริยา ภรรยาเยี่ยงน้องสาวคือเคารพรักสามีดังน้องรักพี่
มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจมักคล้อยตามสามี
๖.สขีภริยา ภรรยาเยี่ยงสหาย คือเป็นเหมือนเพื่อน มีใจภักดี เป็นคู่คิดที่ดี
๗.ทาสีภริยา ภรรยาเยี่ยงทาสี คือภรรยาที่ยอมอยู่ใต้อำนาจสามี
ถูกตะคอกตบตี ก็อดทนไม่โกรธตอบ ส่วนสามีมีประเภทไหนบ้าง
ไม่มีการกล่าวไว้แต่น่าจะอนุโลมเทียบเคียงกับภริยาประเภทต่างๆข้างต้นได้
ในปัจจุบันที่โลกก้าวไกลด้วยเทคโนโลยี ทุกอย่างต้องการความรวดเร็ว
และหลายสิ่งหลายอย่างก็สำเร็จได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส
ทำให้ “ความรัก” ของคนยุคนี้กลายเป็น “รักติดจรวด” ที่ต้องรวดเร็ว
ร้อนรน แต่ก็เลิกกันง่ายไปด้วย
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบันหรืออนาคตข้างหน้า
คนส่วนใหญ่ก็ยังปรารถนา “ความรัก”ที่สมหวัง มั่นคงอยู่เสมอ
ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กระทรวงวัฒนธรรม จึงอยากจะขอเสนอ “
๔ อ. คาถารักษา รัก ให้ยั่งยืน”ซึ่งคาถา ในที่นี้ มิใช่มนต์ที่จะเสกเป่าให้คนมารัก
มาชอบ แต่เป็นเหมือนแนวทางให้คู่รัก หรือแม้แต่คู่สามีภริยาได้นำไป
ประพฤติปฏิบัติเพื่อความสุข ความสดชื่นในชีวิตคู่ต่อไป
อ.แรก คือ เอาใจใส่
ธรรมชาติของคนเราไม่ว่าหญิงหรือชายล้วนพอใจให้มีคนมาเอาใจใส่
ต่อตัวเราทั้งสิ้น ยิ่งเป็นแฟนหรือคนใกล้ชิดทำให้ก็ยิ่งทวีความสุขใจ
การเอาใจใส่ในที่นี้ นับตั้งแต่การให้ความสนใจไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ
ของกันและกัน ให้ความห่วงหาอาทรอย่างสม่ำเสมอ
เอาใจเขามาใส่ใจเรา คอยเอาใจช่วยเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน
ไม่เอาแต่ใจตัวหรือเอาแต่ได้ ที่สำคัญคือ ไม่เอาใจออกห่างจนเกิดปัญหาตามมา
อ.ที่สอง คือเอื้อนเอ่ยวาจาดี
โดยปกติ คนเรามักจะพูดจากับผู้ที่เราไม่รู้จักด้วยถ้อยคำที่ไพเราะสุภาพ
แต่เมื่อสนิทชิดเชื้อกันแล้ว ปรากฏว่าหลายคนมักจะขาดความเกรงใจต่อกัน
และบ่อยครั้งก็พูดจากันด้วยคำไม่เหมาะสม ก้าวร้าว
ซึ่งจริงๆแล้วไม่ว่าจะสนิทกันเพียงไหน ถ้อยคำที่ไพเราะ อ่อนหวาน
สุภาพก็ยังเป็นสิ่งฟังแล้วรื่นหู ให้ความสบายใจ ยิ่งเป็นคำชื่นชมด้วยแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นคู่รักหรือคู่ครอง ย่อมฟังแล้วเกิดความชื่นใจ มีกำลังใจเพิ่มขึ้น
ดังนั้น เราจึงควรพูดดีต่อกัน แม้แต่การตำหนิก็ไม่ควรใช้ถ้อยคำที่รุนแรง
หรือดุด่าให้คนฟังเสียน้ำใจ
อ.ที่สาม คือ อดทน
การที่คนสองคนจะมาเป็นแฟนหรือกลายมาเป็นสามีภริยากันในอนาคตได้นั้น
สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือ ความอดทนซึ่งกันและกัน เพราะการที่มาจากคนละครอบครัว
อันมีความต่างกันไม่มากก็น้อย ย่อมต้องใช้เวลาศึกษาและปรับตัวเข้าหากัน
หากไม่มีความอดทนเพียงพอ ก็อาจจะต้องเลิกรากันไปก่อนที่จะรู้จักกันดีเสียอีก
และเมื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแล้ว ก็ยิ่งต้องมีความอดทนมากขึ้น
เพราะการดำรงชีวิตคู่ยังต้องช่วยกันทำมาหากิน
และช่วยกันฝ่าฟันอุปสรรคข้างหน้าอีกมากมาย
อ.ที่สี่ คือ อภัยแก่กันและกัน
ในชีวิตของคนเรานั้น ย่อมมีผิดพลาดกันเป็นธรรมดา
ดังนั้น การรู้จักให้อภัยทั้งแก่ตัวเอง และคนที่เรารักจึงเป็นสิ่งจำเป็น
มิฉะนั้นแล้ว เราจะอยู่กันด้วยความกินแหนงแคลงใจต่อกัน
หรือโกรธกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่มีความสุขทั้งคู่
เพราะจิตใจเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด ไม่สบายใจ เจ็บใจไม่หาย
หรือบางคนก็หาทางแก้แค้น กลายเป็นเวรเป็นกรรมต่อกันไม่รู้จบสิ้น
การให้อภัยจึงเป็นการสร้างความสงบสุข ร่มเย็นให้แก่จิตใจและชีวิตคู่ของเรา
ทั้ง ๔ อ. นี้ เป็นเพียงแนวทางกว้างๆ ที่เชื่อว่าใครปฏิบัติแล้วจะช่วยให้ชีวิตคู่รัก
และคู่ครองมีความมั่นคง ยืนยาวยิ่งขึ้น และนอกเหนือไปจาก ๔ อ.ข้างต้นแล้ว
สำหรับวัยรุ่น หรือเด็กๆที่ยังอยู่ในวัยเรียน
ควรเพิ่ม อ.อดใจ เข้าไปด้วย คือจะรักจะชอบใคร ก็ควรยับยั้งชั่งใจให้ดี
เพราะวัยนี้ก็ยังรับผิดชอบตัวเองไม่ค่อยได้ อย่าไปมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
เพราะนอกจากจะสร้างปัญหาให้ตัวเอง และครอบครัวแล้ว
ยังจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมอย่างที่เราเห็นๆกันอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งคงไม่มีใครปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น แน่นอน
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม http://talk.sanook.com/knowledge/knowledge_01658.php
 |
|
|
|
   |
 |
ลูกโป่ง
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089
|
ตอบเมื่อ:
27 ส.ค. 2005, 9:44 am |
  |
ช่วยกันดูแลรักษาความรักกันนะคะ
 |
|
|
|
   |
 |
|