Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ลำธารริมลานธรรม (พระไพศาล วิสาโล) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2005, 5:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ลำธารริมลานธรรม
เกร็ดชีวิตและปฏิปทาของพระดีพระแท้
พระไพศาล วิสาโล รวบรวมและเรียบเรียง


.................................................................

สารบัญ

1. หลวงพ่อกับโจร
2. ตำนานที่วัดสมอราย
3. สมเด็จฯ วัดสระเกศ
4. อยู่เป็นสุข จากไปไม่ก่อทุกข์
5. จริยาของนักปกครอง
6. เอาป่าไว้
7. ตัวโกรธ
8. สุนัขโพธิสัตว์
9. สังฆราชไก่เถื่อน
10. คุณธรรมของโหรเอก
11. จงอางหางกุดที่วัดหนองป่าพง
12. ขรัวโตกับหัวโขน
13. ของดีจากสวนโมกข์
14. ข้างรับศีล
15. เมตตาของหลวงพ่อ
16. หลวงพ่อชากับรถยนต์
17. ปี๊บของหลวงพ่อวัดบ้านกร่าง
18. กระต่ายน้อยนั่งภาวนา
19. ในหลวงกับหลวงตา
20. ทุนที่ไม่มีวันหมด
21. รู้ธรรมจากความประหยัด
22. เผชิญเสือโคล่ง
23. จิตงดงาม ดอกไม้งาม
24. มีแต่ไม่เอา
25. เสียงเก๊ยะ
26. ต่ออายุพ่อแม่
27. คำเฉลย

.................................................................

ยิ้ม คัดลอกจาก http://www.budnet.info/

เทียน รวมคำสอน “พระไพศาล วิสาโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=42477
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"

แก้ไขล่าสุดโดย สายลม เมื่อ 06 ก.ย. 2008, 9:15 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2005, 5:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

1. หลวงพ่อกับโจร

หลวงพ่อโต หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก แม้ท่านจะไม่เคยเข้าสอบแปลหนังสือเป็นเปรียญ แต่ชาวบ้านก็เรียกท่านว่าพระมหาโตมาตั้งแต่บวช ใช่แต่เท่านั้น ท่านยังได้รับคำชมจาก สมเด็จพระสังฆราช (สุก) แห่งวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นสำนักที่หลวงพ่อโตเคยไปเข้าเรียนครั้งยังเป็นพระหนุ่มว่า “ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก”

อย่างไรก็ตามท่านมิใช่พระที่แม่นยำเฉพาะตัวหนังสือหรือเคร่งคัมภีร์ หากท่านน้อมนำธรรมะจนกลายเป็นเนื้อเป็นตัวของท่าน ทำให้ชีวิตของท่านเป็นไปอย่างโปร่งเบาและอิสระ ไม่ติดกับกฎเกณฑ์ประเพณี ทั้งไม่ถือความนิยมของผู้อื่นเป็นใหญ่

คราวหนึ่งพระในวัดของท่าน (วัดระฆัง) โต้เถียงกันถึงขั้นด่าท้าทายกัน พอท่านเห็นเหตุการณ์ ท่านก็เข้าไปในกุฏิ จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พาน แล้วเดินเข้าไปในระหว่างคู่วิวาท แล้วลงนั่งคุกเข่าถวายดอกไม้ธูปเทียนให้พระทั้งคู่ แล้วกล่าวว่า “พ่อเจ้าพระคุณ พ่อจงคุ้มฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่าพ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้ๆ พ่อเจ้าประคุณ ลูกฝากตัวด้วย”

ผลคือพระทั้งคู่เลิกทะเลาะกัน หันมาคุกเข่ากราบท่าน ท่านก็กราบตอบพระ ทั้งหมอบกราบและหมอบกันอยู่นาน

นอกจากท่านจะไม่ถือตัวหรือติดในยศศักดิ์แล้ว ท่านยังไม่ยึดในทรัพย์ด้วย ความมักน้อยสันโดษของท่านเป็นที่เลื่องลือ ลาภสักการะใดๆ ที่ท่านได้มาจากการเทศน์หรือกิจนิมนต์ ท่านมิได้เก็บสะสมไว้ มักเอาไปสร้างวัตถุสถาน (เช่นพระพุทธรูป) อยู่เนืองๆ แม้ใครขอก็ยินดีบริจาคให้ กระทั่งมีโจรมาลัก ท่านก็ยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่โจร

เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งท่านกำลังนอนอยู่ในกุฏิ มีโจรขึ้นมาขโมยของ หมายจะหยิบตะเกียงลานในกุฏิ แต่บังเอิญหยิบไม่ถึง ท่านก็ช่วยเอาเท้าเขี่ยส่งให้โจร แล้วบอกให้โจรรีบหนีไป

อีกเรื่องหนึ่งมีว่า ท่านไปเทศน์ต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้กัณฑ์เทศน์มาหลายอย่าง รวมทั้งเสื่อและหมอน ขากลับท่านต้องพักแรมกลางทาง คืนนั้นเองมีโจรพายเรือเข้ามาเทียบกับเรือของท่าน ขณะที่โจรล้วงหยิบเสื่อนั้นเอง ท่านก็ตื่นขึ้นมาเห็น จึงร้องบอกว่า “เอาหมอนไปด้วยซิจ๊ะ” โจรได้ยินก็ตกใจกลัวรีบพายเรือหนี ท่านจึงเอาหมอนโยนไปทางโจร โจรเห็นว่าท่านยินดีให้ จึงพายเรือกลับมาเก็บเอาหมอนไปด้วย

บางครั้งลูกศิษย์ของท่านก็มาเป็นเหตุเสียเอง กล่าวคือเมื่อท่านกลับจากการเทศน์พร้อมกับกัณฑ์เทศน์มากมาย ศิษย์ ๒ คนที่พายเรือหัวท้ายก็ตั้งหน้าตั้งตาแบ่งสมบัติกัน แต่ตกลงกันไม่ได้ คนหนึ่งว่ากองนี้ของข้า อีกคนก็ว่ากองนั้นของข้า ท่านจึงถามว่า “ของฉันกองไหนล่ะจ๊ะ” เมื่อกลับถึงวัด ศิษย์ทั้งสองเอากัณฑ์เทศน์ไปหมด ท่านก็มิได้ว่ากล่าวอย่างใด


........

ยิ้ม
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2005, 5:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

2. ตำนานที่วัดสมอราย

วัดแต่โบราณนั้นมีสภาพเป็นอาราม คือมีความสงบร่มครึ้มด้วยแมกไม้ ก่อให้เกิดความสงบเย็นทั้งใจและกาย โดยเฉพาะวัดที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ท่านจะปล่อยให้ต้นไม้เติบโตตามธรรมชาติ ไม่ยอมตัดเพราะเป็นอาบัติ แต่เหตุผลที่ท่านประสงค์จะรักษาสภาพธรรมชาติภายในวัดเอาไว้ ที่สำคัญยังมีอีกประการหนึ่ง นั้นคือเพื่อให้เกิดความวิเวก อันเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญสมาธิภาวนา อันเป็นสิ่งที่พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญ

พระแต่ก่อนนอกจากท่านจะไม่ตัดต้นไม้เองแล้ว ยังไม่ยินดีหากผู้อื่นกระทำในเขตอารามของท่านแม้จะเป็นคฤหัสถ์ ประเพณีดังกล่าวสืบต่อกันเรื่อยมาจนผันแปรในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตามสำหรับคนใกล้วัด ก็ยังมีตำนานต่างๆ เล่าขานกันอยู่ ตำนานเรื่องหนึ่งที่รู้จักกันดีก็คือตำนานที่วัดสมอราย ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดราชาธิวาส”

วัดสมอรายเป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าคงสร้างมาแต่ครั้งกรุงละโว้ หรือสมัยอโยธยา ตกมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังเป็นวัดฝ่ายสมถะ ซึ่งเป็นที่นับถือของคนทั่วไปว่า เป็นวัดซึ่งประพฤติมั่นคงในสมณวัตร และเชี่ยวชาญในการวิปัสสนาธุระ จนสมัยหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อทรงอุปสมบทแล้วได้มาประทับที่วัดนี้

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงดำริจะเสด็จมาพระราชทานพระกฐินที่วัดสมอราย เจ้าพนักงานจึงล่วงหน้ามาตรวจดูที่วัด โดยที่วัดนี้เป็นวัดที่รักษาประเพณีสมถะอย่างกวดขัน จึงไม่ตัดโค่นต้นไม้ ปล่อยให้พุ่มชิดกัน เบียดแน่น แต่ลานวัดนั้นกวาดให้เตียนสะอาดอยู่เสมอ เจ้าพนักงานเห็นว่ากิ่งไม้ตามทางเสด็จพระราชดำเนินนั้นเกะกะกีดขวางพระกลด จึงจะตัดกิ่งไม้เหล่านั้นเสีย แต่เจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระราชาคณะหายอมไม่ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “จะเสด็จมาก็ตามมิเสด็จมาก็ตามเถิด”

ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผลก็คือพระองค์เสด็จวัดสมอรายโดยกิ่งไม้อยู่ในสภาพครบถ้วนสมบูรณ์


........

ยิ้ม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2005, 5:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
..............................................................



3. สมเด็จฯ วัดสระเกศ

สมเด็จพระสังฆราช ที่ครองวัดสระเกศนั้นมีเพียงองค์เดียวในประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือ สมเด็จอยู่ (ญาโณทโย) ใช่แต่เท่านั้นเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดียวในยุครัตนโกสินทร์ ที่ขึ้นชื่ออย่างยิ่งในด้านโหราศาสตร์ และยังได้รับการยกย่องในด้านนี้แม้กระทั่งปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ท่านสิ้นไป ๓๘ ปีแล้ว

ที่จริงความสามารถอีกประการหนึ่งของท่าน ซึ่งมักไม่เป็นที่รู้จักก็คือ ความปราดเปรื่องด้านปริยัติธรรมเมื่อครั้งยังป็นพระมหาอยู่นั้น ไม่ว่าจะเข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมครั้งใด ไม่เคยแปลกตกเลย ตั้งแต่ประโยคต้นจนประโยคสุดท้าย และที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ยุครัตนโกสินทร์ก็คือ พระมหาอยู่สอบได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยคองค์แรกในรัชกาลที่ ๕ จนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษ ให้นำรถยนต์หลวงมาส่งจนถึงวัดสระเกศ นับแต่นั้นก็เป็นพระราชประเพณีว่า ถ้าพระเปรียญรูปใดสอบประโยค ๙ ได้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำรถยนต์หลวง ส่งพระเปรียญรูปนั้นจนถึงสำนัก

ท่านเป็นที่เลื่องลืออย่างยิ่งในด้านความเมตตา ใบหน้าของท่านจะมีรอยยิ้มแฝงอยู่ด้วยเสมอ ผู้ใดที่เข้าหาก็จะประทับใจกับใบหน้าอันอิ่มเอิบและอัธยาศัยของท่าน และทั้งๆ ที่ท่านเจริญในสมณศักดิ์เรื่อยมา ก็ยังเป็น “หลวงพ่อ” ของชาวจีนรอบวัดไม่ว่าเด็กหรือผู้เฒ่า โดยที่เจ้าประคุณสมเด็จไม่เคยถือยศศักดิ์

ความไม่ถือยศศักดิ์ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ นั้นเป็นที่กล่าวขานกันมาก ปกติแล้วเวลามีผู้มานิมนต์มักจะเอารถเก๋งมารับเพื่อให้สมฐานะสมเด็จฯ แต่คราวหนึ่งชาวจีนยากจนผู้หนึ่งมานิมนต์ท่านไปฉันที่บ้านเพื่อทำบุญให้แก่บุตรที่ตาย เมื่อท่านกับพระอีก ๔ รูปเดินออกจากประตูวัดสระเกศ ก็ถามจีนผู้นั้นว่าจะไปอย่างไร จีนผู้นั้นก็ตอบว่า “สามล้อครับ” แทนที่จะแสดงอาการไม่พอใจ กลับยิ้ม ท่านว่านั่งสามล้อเย็นสบายดี เห็นความเจริญของบ้านเมืองถนัดดี

เมื่อไปถึงบ้านจีนผู้นั้น ต้องขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์ชั้นบน เนื่องจากบ้านเล็กและแคบ มีของเก่าวางขายเต็มไปหมด ตอนนั้นท่านอายุกว่า ๘๐ แล้ว บันไดก็ชันมาก ขึ้นลำบาก แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ขึ้นไปจนได้วันรุ่งขึ้นก็ต้องขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์อีก ครั้นถึงเวลาฉันต้องลงมาฉันอาหารในห้องครัวข้างล่าง โต๊ะไม่มีผ้าปู กับข้าวก็มีเพียง ๓ อย่าง คือ แกงเผ็ด แกงจืด และผัดหมี่ ของหวานก็มีผลไม้คือละมุดเพียงอย่างเดียว แถมยังค่อนข้างช้ำและเน่าเสียด้วย แต่ท่านฉันอย่างสบายๆ ไม่ได้มีความรังเกียจอะไรเลย

ฉันเสร็จ เจ้าภาพก็ถวายปัจจัยแก่ท่านและพระลูกวัด องค์ละ ๓ บาท ใบชาห่อจิ๋วองค์ละ ๑ ห่อ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยิ้มอย่างสบายอีก ท่านพูดว่า คนจน เขาจน เขาอยากจะทำบุญ เขาตั้งใจทำบุญจริงๆ เขามีน้อย เขาทำน้อยดีแล้ว

บางครั้งไปถึงบ้านผู้นิมนต์ บ้านนั้นยังไม่ได้จัดอาสนะสำหรับพระ เพิ่งจะเริ่มจัดเมื่อท่านไปถึง แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ไม่เคยดุหรือบ่น ยิ้มรอจนเขาจัดที่เสร็จ บางแห่งเจ้าของงานจัดที่ให้ท่านเป็นการพิเศษ เจ้าประคุณสมเด็จฯ บอกว่าอย่ายุ่งยากนักเลย ทำที่สบายๆ เถิด ท่านพูดเสมอว่า “เราแก่แล้ว ทำอะไรไม่สะดวก แต่อย่าทำให้เขาหนักใจ”

ด้วยความเมตตาของท่าน จึงมีอาคันตุกะมาเยือนทุกวัน การเข้าพบท่านไม่ต้องมีใครพาเข้าพบเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะออกต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เต็มด้วยไมตรีจิตกับคนทุกชั้นที่ไปพบ แม้แต่กรรมกรสามล้อผู้ยากจนกระทั่งขอทาน ท่านพูดเสมอว่าเขามีทุกข์เขาจึงมาพบ ถ้าท่านช่วยเหลือเขาได้ ก็จะสบายใจมาก


........

ยิ้ม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2005, 5:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

4. อยู่เป็นสุข จากไปไม่ก่อทุกข์

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นวิปัสสนาจารย์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรูปหนึ่งของเมืองไทยยุคปัจจุบัน ท่านเป็นคนต้นรัชกาลที่ ๕ (เกิด พ.ศ. ๒๔๑๓) แต่กิตติศัพท์และแบบอย่างชีวิตของท่าน ยังมีอิทธิพลอย่างยิ่งในทุกวันนี้

ชีวิตของท่านนับแต่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นชีวิตที่แนบเนื่องกับการหลีกเร้นบำเพ็ญธรรมในป่าเขา สมัยที่ยังเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์นานาชนิด ท่านเป็นแบบอย่างของผู้สูงส่งด้วยภูมิปัญญา หากเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่เบียดเบียน เต็มเปี่ยมด้วยเมตตาต่อสรรพชีวิต แม้ในยามที่ท่านใกล้จะมรณภาพ ก็ยังคำนึงถึงสัตว์น้อยใหญ่ที่อาจเดือดร้อนเพราะการดับขันธ์ของท่าน ท่านจึงเร่งรัดให้ลูกศิษย์ท่านออกจากหมู่บ้านหนองผือ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งใน จ.สกลนคร จุดหมายปลายทางคือ ตัวเมืองสกลนคร อันเป็นสถานที่ที่สามารถรับการหลั่งไหลของผู้คนที่จะมาเคารพศพท่านได้

ในการกล่าวเตือนลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ท่านได้พูดตอนหนึ่งว่า “ผมน่ะต้องตายแน่นอนในคราวนี้ ดังที่เคยพูดไว้แล้วหลายครั้ง แต่การตายของผมเป็นเรื่องใหญ่ของสัตว์และประชาชนทั่วๆ ไปอยู่มาก ด้วยเหตุนี้ผมจึงเผดียงให้ท่านทั้งหลายให้ทราบว่า ผมไม่อยากตายอยู่ที่นี่ ถ้าตายที่นี่จะเป็นการกระเทือนและทำลายชีวิตสัตว์ไม่น้อยเลย สำหรับผมตายเพียงคนเดียว แต่สัตว์ที่พลอยตายเพราะผมเป็นเหตุนั้นมีจำนวนมากมาย เพราะคนจะมามาก ทั้งที่นี่ไม่มีตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน นับแต่บวชมาไม่เคยคิดให้สัตว์ได้รับความลำบาก โดยไม่ต้องพูดถึงการฆ่าเขาเลย มีแต่ความสงสารเป็นพื้นฐานของใจตลอดมา ทุกเวลาได้แผ่เมตตา จิตอุทิศส่วนกุศลแก่สัตว์ไม่เลือกหน้าโดยไม่มีประมาณตลอดมา เวลาตายแล้วจะกลายเป็นศัตรูคู่เวรแก่สัตว์ ให้เขาล้มตายลงจากชีวิตที่แสนรักสงวนของแต่ละตัว เพราะผมเป็นเหตุเพียงคนเดียวนั้น ผมทำไม่ลง อย่างไรขอให้นำผมออกไปตายที่สกลนคร เพราะที่นั้นเขามีตลาดอยู่แล้ว คงไม่กระเทือนชีวิตของสัตว์มากเหมือนที่นี่”


........

ยิ้ม
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2005, 5:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)

..............................................................



5. จริยาของนักปกครอง

ในบรรดาสมเด็จพระสังฆราชสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระองค์เดียวเท่านั้นที่เคยลาสิกขาไปอยู่ในเพศฆราวาส ทั้งๆ ที่เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่แล้ว ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ผู้แต่งปฐมสมโพธิ ที่นักเรียนชั้นนักธรรมตรีทั้งหลายคุ้นเคยอย่างดี

แต่ยังมีอีกพระองค์หนึ่งที่เกือบจะลาสิกขา โดยได้ทูลลาออกจากตำแหน่งพระราชาคณะแล้ว หากแต่รั้งรออยู่พักใหญ่จนเปลี่ยนพระทัย ภายหลังจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์กลับคืนตามเดิม พระองค์นั้นก็คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งต่อมาได้ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ (อุปัชฌาย์) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ที่ใส่ใจในการคณะสงฆ์ แต่แม้จะทรงสมณศักดิ์ชั้นสูง ก็ไม่ทรงถือพระองค์ เรื่องหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระจริยาดังกล่าวก็คือ ตอนที่พระองค์ได้รับการทูลฟ้องว่า มีพระป่านิกายธรรมยุตรูปหนึ่งประพฤติตนไม่ถูกต้องตามพระวินัย พระรูปนั้นก็คือ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และภายหลังเป็นผู้ก่อตั้งวัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร

Image
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
..............................................................



ตอนนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ยังเป็นที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต จึงมีหน้าที่รับผิดชอบกับเรื่องราวดังกล่าวโดยตรง แต่แทนที่จะทรงบัญชาการให้พระในตำแหน่งรองๆ ลงไป หรือพระสังฆาธิการในพื้นที่ ดูแลเรื่องนี้ พระองค์กลับเสด็จไปสืบสวนหาข้อเท็จจริงด้วยพระองค์เอง โดยทรงไปพำนักอยู่กับพระอาจารย์กงมารวม ๒ ครั้ง ๒ ครา ที่วัดทรายงาม จังหวัดจันทบุรีในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ และ ๒๔๘๒ ทั้งนี้โดยที่พระอาจารย์กงมาไม่ทราบวัตถุประสงค์การมาเยือนของพระองค์เลย

ในระหว่างที่พระองค์อยู่วัดทรายงามนั้น ทรงกระทำวัตรเช่นเดียวกับหมู่คณะ เช่นฉันหนเดียวแม้พระอาจารย์กงมาจะให้บรรดาญาติโยมนำภัตตาหารเพลมาถวาย พระองค์ก็ปฏิเสธ ตรัสว่า

“เราอยู่ที่ไหน ก็ต้องทำตามระเบียบเขาที่นั่น”

ข้อหาแรกที่พระอาจารย์กงมาถูกร้องเรียนก็คือ สะพายบาตรเหมือนพระมหานิกาย เมื่อพระองค์ได้เห็นการบิณฑบาตของพระวัดทรายงาม ก็ไม่ทรงเห็นเป็นเรื่องเสียหาย เพราะเป็นการสะพายบาตรไว้ข้างหน้าดูรัดกุม ตรัสว่า “สะพายบาตรอย่างนี้มันก็เหมือนกับอุ้มนั่นเอง ไม่ผิดหรอกเรียบร้อยดี”

ข้อหาที่สองก็คือ พระอาจารย์กงมาเทศน์ผิดแปลกจากคำสอนของพระพุทธองค์ วิธีการของพระองค์ในการสอบสวนเรื่องดังกล่าว เป็นที่กล่าวขานสืบมาดังนี้

วันหนึ่งพระอาจารย์กงมา ได้ประกาศให้ญาติโยมมาฟังเทศน์ โดยสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์จะเป็นองค์แสดง ประชาชนจึงแห่กันไปฟังกันล้มหลาม แต่เมื่อพระอาจารย์กงมาทูลอาราธนาที่กุฏิ พระองค์ก็ปฏิเสธว่า “เราไม่สบาย เธอจงแสดงธรรมแทนเราเถอะ” เมื่อเป็นเช่นนี้พระอาจารย์กงมาจึงกลับขึ้นไปศาลา และแสดงธรรมแทนพระองค์

เมื่อแสดงธรรมไปได้ประมาณ ๑๐ นาที สามเณรผู้หนึ่งก็ลงมาจากศาลาเพื่อถ่ายปัสสาวะ ก็ได้พบพระองค์ทรงนั่งอยู่กับพื้นดินข้างศาลานั่นเอง สามเณรตกใจรีบกลับขึ้นศาลา แต่ก็สุดวิสัยจะบอกพระอาจารย์กงมาได้ รุ่งเช้าพระองค์ได้กล่าวชมเชยพระอาจารย์กงมาว่า “กงมานี่เทศนาเก่งกว่าเปรียญ ๙ ประโยคเสียอีก”

ข้อกล่าวหาที่ ๓ คือ พระอาจารย์กงมาเที่ยวตั้งตัวเป็นผู้วิเศษแจกของขลังให้ประชาชนหลงผิด

วิธีการสอบสวนของพระองค์ก็คือ ชวนพระอาจารย์กงมาไปธุดงค์ด้วยกันแบบ ๒ ต่อ ๒ ในการธุดงค์ครั้งนี้ทรงแบกกลดสะพายบาตรเอง เพราะไม่มีผู้ติดตาม ครั้นพระอาจารย์กงมาจะขอช่วยสักเท่าไร พระองค์ก็ไม่ยอม โดยทรงเดินตามหลังพระอาจารย์กงมา

หลังจากธุดงค์หนึ่งอาทิตย์เศษ พระองค์ก็ตรัสว่า “การธุดงค์ของท่านกงมาและพระปฏิบัติกรรมฐานนี้ได้ประโยชน์เหลือหลาย อย่างนี้ธุดงค์มากๆ ก็จะทำให้พระศาสนาเจริญยิ่ง” นับแต่นั้นมา พระองค์ทรงให้ความสนับสนุนคุ้มครอง และสรรเสริญพระอาจารย์กงมาโดยตลอด

Image
พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ


........

ยิ้ม
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2005, 5:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

6. เอาป่าไว้

พระโพธิญาณเถร หรือ หลวงพ่อชา สุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพง เป็นคนรักป่า รักต้นไม้ เมื่อตอนท่านออกบำเพ็ญเพียรภาวนา ท่านชอบพูดว่าพระพุทธเจ้าประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า ท่านจึงให้ความสำคัญกับป่ามาก เพราะเป็นสถานที่ๆ เกื้อกูลต่อการเจริญสมณธรรมอย่างยิ่ง ในสมัยที่พระเณรและแม่ชีวัดหนองป่าพงป่วยเป็นไข้มาเลเรียกันหลายรูปนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้มาแนะนำให้ถางป่า ตัดกิ่งไม้ออกให้โล่งเตียน เมื่อป่าโปร่งลมจะได้พัดสะดวก

หลวงพ่อตอบว่า “ตายซะคน เอาป่าไว้ก็พอ”

พูดสั้นเพียงๆ เท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามอธิบาย โน้มน้าวให้เหตุผลหว่านล้อมต่างๆ แต่ท่านก็ยืนยันคำเดิมว่า

“พระหรือชีก็ตาม อาตมาเองก็ตาม ตายแล้วก็ไปแล้ว เอาป่าไว้เสียดีกว่า”

วัดหนองป่าพงจึงมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ดังเดิม จวบจนทุกวันนี้.


........

ยิ้ม
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2005, 5:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

7. ตัวโกรธ

หลวงปู่บุดดา ถาวโร จัดว่าเป็น “รัตตัญญู” (ผู้เก่าแก่และมีประสบการณ์มาก) รูปหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย ด้วยท่านมีอายุยืนนานถึง ๑๐๑ ปีก่อนที่จะมรณภาพเมื่อปี ๒๕๓๗

สมัยที่ยังหนุ่ม ท่านมีโอกาสพบปะครูบาอาจารย์ที่สำคัญหลายรูป เช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) และครูบาศรีวิชัย ท่านหลังนี้เคยทักหลวงปู่บุดดาเนื่องจากเห็นท่านไม่พาดสังฆาฏิว่า “เฮาเป็นนายฮ้อย ก็ต้องให้เขาฮู้ว่าเป็นนายฮ้อย ไม่ใช่นายสิบ” นับแต่นั้นมาหลวงปู่จึงพาดสังฆาฏิติดตัวตลอดเวลา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท่าน

หลวงปู่บุดดา เป็นพระป่า ชอบธุดงค์ ไม่มีวัดเป็นหลักแหล่ง จนเมื่ออายุ ๘๗ ปีจึงได้มาประจำที่วัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี กระทั่งมรณภาพ

แม้หลวงปู่บุดดาจะไม่ได้เล่าเรียนในทางปริยัติมาก แต่ความที่ท่านเชี่ยวชาญในการปฏิบัติ จึงมีความสามารถในการสอนธรรมชนิดที่สื่อตรงถึงใจ มีคราวหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์คู่กับท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งซึ่งเป็นเปรียญธรรม ๘ ประโยค ท่านเจ้าคุณรูปนั้นคงเห็นหลวงปู่เป็นพระบ้านนอกจึงอยากลองภูมิหลวงปู่ ได้ถามหลวงปู่ว่า “จะเทศน์เรื่องอะไร”

หลวงปู่ตอบว่า “เรื่องตัวโกรธ กิเลสตัณหา”

ท่านเจ้าคุณซักต่อว่า “ตัวโกรธเป็นอย่างไร”

หลวงปู่ตอบสั้นๆ ว่า “ส้นตีน ไงล่ะ”

เท่านั้นเองท่านเจ้าคุณก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง ไม่ยอมเทศน์กับหลวงปู่ วันนั้นหลวงปู่จึงต้องขึ้นเทศน์องค์เดียว เมื่อเทศน์จบแล้ว ท่านก็ไปขอขมาท่านเจ้าคุณองค์นั้น พร้อมกับอธิบายว่า “ตัวโกรธมันเป็นอย่างนี้เองนะ มันหน้าแดงๆ นี้แหละ มันเทศน์ไม่ได้ คอแข็ง ตัวโกรธสู้เขาไม่ได้ ขึ้นธรรมาสน์ก็แพ้เขา ใครจะเป็นนักเทศน์ต่อไปจดจำเอาไว้นะ ตัวโกรธน่ะ นักเทศน์ไปขัดคอกันเอง มันจะเอาคอไปให้เขาขัด”

หลวงปู่บุดดารู้จักตัวโกรธดี ท่านรู้ว่าตัวโกรธกลัวคนกราบ ท่านเล่าว่าตั้งแต่เริ่มบวช ท่านพยายามเอาชนะความโกรธด้วยการกราบ เวลาโกรธท่านจะลุกขึ้นกราบพระ ๓ ครั้ง โกรธ ๒ ครั้งก็กราบพระ ๖ ครั้ง โกรธ ๑๐๐ ครั้ง ก็กราบ ๓๐๐ ครั้ง ทำเช่นนี้หลายครั้ง ความโกรธก็ครอบงำท่านไม่ได้

เมื่อความโกรธเป็นใหญ่เหนือใจไม่ได้ ความเมตตาและอ่อนน้อมถ่อมตนก็ตามมา หลวงปู่บุดดาขึ้นชื่อในเรื่องนี้มาก คราวหนึ่งท่านกำลังจะเดินข้ามสะพาน ก็เห็นสุนัขตัวหนึ่งนอนขวางทางอยู่บนสะพาน แทนที่ท่านจะเดินข้ามสุนัขตัวนั้น หรือไล่มันให้พ้นทาง กลับเดินลงไปลุยโคลนข้างล่าง

ท่านว่าไม่อยากให้ผู้อื่นได้รับความขุ่นเคือง เพียงเพื่อเห็นแก่ความสะดวกของตนเอง แม้เป็นเพียงสัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ไม่ปรารถนาจะเบียดเบียน.


........

ยิ้ม
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2005, 5:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

8. สุนัขโพธิสัตว์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นผู้มีกิริยาวาจาอ่อนละไมเป็นปกติ ท่านจะพูดจาปราศรัยกับใครทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเด็ก ก็ใช้คำรับคำขานว่า จ๋า จ๊ะ ที่สุดสัตว์เดรัจฉานท่านก็ประพฤติเช่นนั้น ดังเล่ากันว่า ท่านไปพบสุนัขนอนขวางทางอยู่ ท่านพูดกับสุนัขนั้นว่า “โยมจ๋า ขอฉันไปทีเถิดจ้ะ” แล้วก็ก้มกายหลีกทางไป

มีผู้ถามท่านว่า ทำไมท่านจึงทำเช่นนั้น

ท่านตอบว่า “ฉันรู้ไม่ได้ว่าสุนัขนี้จะเคยเป็นพระโพธิสัตว์หรือมิใช่”


........

ยิ้ม
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2005, 5:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
..............................................................



9. สังฆราชไก่เถื่อน

ไก่เป็นสัตว์ขี้ระแวง เวลาจิกกินอาหาร จะผงกหัวขึ้นมองรอบตัวอยู่ไม่ขาด หากมีเสียงผิดปกติ จะกระโตกกระตากหรือส่งเสียงดังลั่น ยิ่งไก่ป่าด้วยแล้ว ระวังภัยรอบทิศไม่ยอมเฉียดกรายเข้าใกล้บ้านคนเลย ไก่ป่าที่จะประพฤติตนเป็นไก่บ้านจึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะเป็นไปได้ แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็กลับเป็นไปได้แล้ว ที่วัดราชสิทธาราม ฝั่งธนบุรี เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ทรงเป็นพระสังฆราชองค์ที่ ๔ ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านเป็นพระมหาเถระที่ทรงคุณในทางวิปัสสนาญาณ แต่แทนที่ท่านจะมีชื่อเสียงในทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หรือการเป็นเกจิอาจารย์ดังสมเด็จพระพุฒาจารย์ (หลวงพ่อโต) ซึ่งเป็นพระรุ่นหลัง ท่านกลับเป็นที่รู้จักโดยพระนามฉายาว่า “สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน”

ทั้งนี้เพราะทรงมีเมตตามหานิยมสูงมาก แม้กระทั่งไก่ป่าที่อยู่รอบวัดก็ยังสัมผัสได้ถึงเมตตาบารมีดังกล่าว จนกลายเป็นสัตว์เชื่อง พากันมาหากินอยู่รอบๆ พระตำหนักและในบริเวณวัดของท่านเป็นฝูงๆ กล่าวกันว่าใครที่มาเห็นก็มักเข้าใจว่าเป็นไก่บ้านที่ถูกปล่อยวัด.


........

ยิ้ม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ค.2005, 5:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ
..............................................................



10. คุณธรรมของโหรเอก

เมื่อ ๔๐ ปีก่อนพระในกรุงเทพฯ ที่ขึ้นชื่อว่าเอกอุในทางโหราศาสตร์เห็นจะมีแค่ ๒ องค์หนึ่งคือ สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ อีกองค์หนึ่งคือ พระภัทรมุนี (อิ๋น ภทฺรมุนี) ทั้ง ๒ รูปเป็นเปรียญประโยค ๙ และที่เหมือนกันอีกอย่างคือเป็นพระสมถะทั้งคู่

เป็นธรรมดาของพระที่ขึ้นชื่อในด้านโหราศาสตร์ ย่อมต้องมีคนมาขึ้นมาก พระภัทรมุนีก็เช่นกัน คนที่มาขอพึ่งบารมีท่านมีทั้งคนที่เดือดเนื้อร้อนใจ และคนที่อยากประสบโชค ไหนจะมาให้ท่านผูกดวง ตั้งชื่อลูก ชื่อร้าน ชื่อสกุล ให้ฤกษ์ จับยาม ฯลฯ

กระนั้นท่านก็พอใจจะอยู่อย่างเรียบง่าย กุฏิของท่านที่วัดทองนพคุณนอกจากจะเก่าคร่ำคร่าแล้ว ยังไม่มีเครื่องประดับ ส่วนเครื่องอุปโภคก็ไม่มาก ทั้งๆ ที่มีคนถวายของให้แก่ท่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมอนอิง ปิ่นโต ไตรจีวร เครื่องลายคราม ตะลุ่ม กาน้ำ แต่ท่านก็ซุกเอาไว้ วันดีคืนดีก็ทยอยเอาออกมาแจกเป็นการทำบุญ

ในเรื่องของอาจาระ โดยเฉพาะความสุภาพและอ่อนน้อม ท่านก็ขึ้นชื่อนัก กับพระในวัดท่านก็เจรจาด้วยความสุภาพเหมือนกันหมด กับพระที่มีพรรษามากกว่า แม้จะสมณศักดิ์ต่ำกว่าท่านท่านก็ลงกราบอย่างนอบน้อม ท่านมิได้แสดงออกเฉพาะต่อหน้าเท่านั้น ศิษย์ที่ใกล้ชิดเล่าว่าแม้จะลับหลัง ท่านก็ไม่เคยว่าร้ายใครให้ได้ยิน ตรงกันข้ามกลับพยายามให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกนินทาลับหลัง

ว่าจำเพาะความสามารถในทางโหราศาสตร์ของท่าน มีเกร็ดเล่าว่าคราวหนึ่งท่านดูตัวท่านเองว่า เลือดจะตกยางจะออก ท่านจึงระวังตัวมาก แต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไร เผอิญวันสุดท้ายแห่งเกณฑ์นั้น ขณะที่ท่านเดินลงบันได ไม้ผุที่ประตูเกิดหล่นลงโดนหน้าผากท่าน เลือดไหลซิบๆ ออกมา คนก็ยิ่งลือว่าท่าน “แม่น” ใช่แต่คนทั่วไปเท่านั้น แม้สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ ก็ยกย่องท่านมาก ดังเคยมีพระดำรัสว่า

“แต่ก่อนนี้มีกันอยู่ ๒ คน ก็ช่วยแบ่งเบากันไป เขาไปที่นั่น (วัดทองนพคุณ) กันบ้าง มาที่นี่กันบ้าง ตั้งแต่สิ้นเจ้าคุณภัทร ที่นี่ก็เลยหนัก ใครๆ มาที่นี่กันทั้งนั้น”

ที่ควรกล่าวก็คือปฏิปทาของท่านในการพยากรณ์และให้ฤกษ์ ท่านถือมากที่จะไม่ยอมพยากรณ์ในเรื่องที่ทำให้ครอบครัวแตกสามัคคี เช่น ใครจะมาให้พยากรณ์คู่สมรสว่าจะอยู่กันยืดไหม ท่านจะไม่ยอมพยากรณ์เลย ท่านให้เหตุผลว่าจะทำให้คู่สามีภรรยาเขาแตกกัน หรือกรณีคนที่หมั้นกันไว้แล้วมาให้ท่านพยากรณ์ว่าจะอยู่กันต่อไปยืดหรือไม่ ท่านก็ไม่พยากรณ์เช่นกัน เพราะเขาหมั้นกันแล้ว หากไปพยากรณ์ให้เขาต้องกินแหนงแคลงใจจนถอนหมั้น ก็จะเป็นการเสียหาย ไม่สมควรที่ท่านจะทำ

นอกจากนั้นท่านยังเคร่งครัดในเรื่องปัจจัยลาภ มีบางคนมาให้ดูแล้วถวายปัจจัยท่าน ท่านจะไม่รับเลยเพราะถือว่าไม่ใช่เป็นการรับจ้าง ทั้งไม่มีการตั้งกล่องเรี่ยไร ต่อเมื่อนำเครื่องสักการะมาถวายอย่างธรรมดา ท่านจึงจะรับ


Image
พระประธานในพระอุโบสถวัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ


........

ยิ้ม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.ค.2005, 3:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

11. จงอางหางกุดที่วัดหนองป่าพง

วัดหนองป่าพงช่วงแรกๆ มีงูจงอางหางกุดอยู่ตัวหนึ่ง หลวงพ่อชา สุภทฺโท เรียกมันว่าไอ้หางกุด ตอนเช้าเมื่อหลวงพ่อออกไปบิณฑบาต มันก็เลื้อยตามหลังทับรอยเท้าของหลวงพ่อไปด้วย เช้าวันหนึ่งขณะที่หลวงพ่อกำลังเดินเข้าหมู่บ้าน คนหาปลาผู้หนึ่งสังเกตเห็นรอยงูใหญ่เลื้อยตามหลัง จึงวิ่งเข้าไปในหมู่บ้านบอกเพื่อนบ้านว่า “อาจารย์ชาเอางูมาบิณฑบาตด้วย”

ชาวบ้านกลัวมาก ขากลับจึงสะกดรอยตามหลวงพ่อ ก็เห็นงูใหญ่เลื้อยตามหลวงพ่อเข้าไปในวัดด้วย รุ่งเช้าชาวบ้านจึงพากันมาพูดกับท่าน

“ท่านอาจารย์ทำไมเอางูไปบิณฑบาตด้วย ทีนี้จะไม่ใส่บาตรแล้วนะ กลัว”

“อาตมาไม่ทราบ อาตมาไม่ได้เอาไป” หลวงพ่อตอบ

“ไม่ได้เอาไปยังไง ตอนออกมาทุ่งนา ยังเห็นรอยงูมันเลื้อยทับรอยเท้าท่านอาจารย์อยู่นี่นา” ชาวบ้านช่วยกันต่อว่า

แต่หลวงพ่อก็ยังยืนยันว่าท่านไม่รู้อยู่นั่นเอง ชาวบ้านก็เลยพากันมาสังเกต ก็พบว่างูตัวนี้ตามท่านไปจากวัด พอถึงศาลพระภูมิทางเข้าหมู่บ้าน มันก็แยกเข้าไปคอยอยู่ที่นั่น จนหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาต มันก็เลื้อยตามท่านกลับวัดอีก หลวงพ่อเองก็ไม่ได้เห็นงู แต่ได้สังเกตว่ามีรอยอย่างที่ชาวบ้านพูดกัน หลังจากนั้นเวลาที่ท่านจะออกจากวัดไปบิณฑบาต เมื่อจะพ้นเขตวัดหนองป่าพง ท่านพูดขึ้นว่า

“ไอ้หางกุดอย่าไปบิณฑบาตกับอาตมานะ คนเขากลัว”

ต่อมาท่านก็ได้บอกด้วยว่า “ให้หลบหนีเข้าไปหาที่อยู่ในป่ารกทึบเสียเถอะ อย่าออกมาให้คนเห็นอีก เพราะวัดนี้จะมีคนมามากขึ้น เขาจะกลัว”

กาลต่อมา ก็ไม่ปรากฏเห็นงูจงอางใหญ่ตัวนี้อีก


........

ยิ้ม
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.ค.2005, 3:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

12. ขรัวโตกับหัวโขน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นพระลือชื่อที่สุดรูปหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ กิตติศัพท์ของท่านมีหลายด้าน แม้ท่านจะไม่เคยสอบเป็นเปรียญ แต่ก็ได้รับการยกย่องว่ารอบรู้พระปริยัติธรรม แตกฉานในพระไตรปิฎก ขณะเดียวกันกันก็เชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระ จนเชื่อกันว่าท่านทรงคุณวิเศษทางวิทยาคม

คุณวิเศษของเจ้าประคุณสมเด็จฯ มักถูกกล่าวถึงในแง่อภินิหาร แต่อภินิหารนั้นยังเป็นเรื่องโลกียะ ที่สูงขึ้นไปกว่านั้นคือโลกุตตระ ได้แก่การอยู่เหนือโลก อันโลกธรรมทั้งหลายไม่อาจฉาบย้อมใด องค์คุณประการหลังนี้ท่านได้บำเพ็ญและแสดงให้เห็นตลอดชีวิต ตัวอย่างหนึ่งได้แก่การไม่ใส่ใจกับสมณศักดิ์พัดยศ ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นแค่ “หัวโขน” เท่านั้นเอง

ตามธรรมเนียม พระที่ทรงสมณศักดิ์อย่างท่าน ย่อมมีศิษย์วัดแจวเรือให้เวลาเดินทาง แต่เนื่องจากท่านชอบประพฤติตนอย่างพระอนุจรหรือพระลูกวัด ดังนั้นเมื่อใดที่เห็นศิษย์แจวเรือเหนื่อย ท่านก็จะให้นั่งพักเสีย แล้วท่านก็แจวแทน

มีคราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปในงานที่จังหวัดนนทบุรี ขากลับเจ้าภาพได้ให้บ่าว ๒ คนผัวเมียแจวเรือมาส่ง ระหว่างทางผัวเมียคู่นี้เกิดทะเลาะกันอย่างรุนแรง ท่านเห็นเช่นนั้นจึงขอให้ทั้งสองเลิกวิวาทกัน และให้เข้ามานั่งพักในประทุน แล้วท่านก็แจวเรือมาเองจนถึงวัดระฆัง

แต่ที่กล่าวขานกันมากก็คือตอนทีท่านไปสวดมนต์ในสวนแห่งหนึ่ง เขตราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรีสวนแห่งนี้ต้องเข้าทางคลองเล็ก ท่านไปด้วยเรือสำปั้นกับศิษย์ โดยเอาพัดยศไปด้วย บังเอิญเวลานั้นน้ำแห้ง เข้าคลองไม่ได้ ท่านจึงลงเข็นเรือกับศิษย์ท่าน ชาวบ้านเห็นก็ร้องบอกกันว่า “สมเด็จเข็นเรือโว้ย” ท่านได้ยินก็ตอบไปว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จดอกจ้ะ ฉันชื่อขรัวโตจ้ะ สมเด็จท่านอยู่ในเรือน่ะจ้ะ” ว่าแล้วก็ชี้มือไปที่พัดยศ สักพักชาวบ้านก็ลงมาช่วยกันเข็นเรือไปจนถึงบ้านงาน

นิทานเรื่องนี้สอนว่า หัวโขนนั้นพึงถอดวางเมื่อลงจากเวทีฉันใด สมณศักดิ์ก็มิใช่สิ่งซึ่งพึงยึดถือเป็น “ตัวกูของกู” ฉันนั้น


........

ยิ้ม
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.ค.2005, 3:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

13. ของดีจากสวนโมกข์

สวนโมกขพลาราม เมื่อครั้งที่พระธรรมโกศาจารย์ หรือ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ยังมีชีวิตอยู่นั้น เนืองแน่นด้วยผู้คนเสมอโดยเฉพาะในวันหยุด ยิ่งเมื่อมีถนนซูเปอร์ไฮเวย์ตัดผ่านหน้าวัดราว ๒๐ ปีมาแล้ว สวนโมกข์ก็กลายเป็นจุดแวะพักอีกแห่งหนึ่งของบรรดานักท่องเที่ยว ที่เดินทางลงใต้ จึงมีสภาพไม่ต่างจากสถานที่ท่องเที่ยวในสายตาของผู้คนเป็นอันมาก

เป็นธรรมดาอยู่เองที่นักท่องเที่ยวทั้งหลาย เมื่อรถหยุดแวะที่สวนโมกข์แล้ว ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะเข้าไปกราบนมัสการท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งมักจะมานั่งอยู่ที่ม้าหินหน้ากุฏิเกือบตลอดวันเป็นประจำ หลายคนแม้จะได้ยินกิตติศัพท์ท่านมานาน แต่ก็หาได้ศึกษาหรือติดตามผลงานของท่านไม่ จึงมักจะเข้าใจว่าท่านเป็น “เกจิอาจารย์” รูปสำคัญรูปหนึ่ง

“ผมอยากจะมาขอเลขเด็ดจากท่านอาจารย์ เอาไปแทงหวยสักงวด จะได้ร่ำรวยกับเขาเสียทีครับ” ประโยคเช่นนี้ ท่านมักจะได้ยินเป็นประจำ บางครั้งท่านก็ตอบว่า

“ถ้าขอหวยก็ต้องไปขอกับสมพาล”

ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของคนวัดทั้งพระและโยมในสวนโมกข์ ที่จะต้องคอยตอบคำถามเวลามีคนมาถามว่า

“คุณครับผมมาหาท่านสมภารครับ”

ถ้าคนในวัดรู้ว่าผู้นั้นต้องการหวย ก็จะชี้ไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งคนละทางกับกุฏิของอาจารย์โพธิ์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสแน่นอนว่าผู้นั้นมองหาเท่าไรก็ไม่เห็น “สมภาร” เสียที แต่ไม่ใช่ว่าเขาถูกหลอก

ที่จริงผู้ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวถึงก็อยู่แถวนั้นเอง ต่อเมื่อคนวัดที่เดินผ่านชี้ให้ดู เขาจึงเห็นถนัดถนี่เพราะ “สมพาล” นอนเล่นอยู่ข้างหน้าเขานั้นเอง

สมพาลเป็นสุนัขที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเลี้ยงไว้ เนื่องจากสมพาลมีนิสัยเกเร ชอบเอาแต่ใจตัว ท่านอาจารย์จึงตั้งชื่อว่า “สมพาล” แปลว่า “โง่แท้” หากใครหลงงมงายมาขอหวย ก็ต่างเจอกับสมพาลตัวนี้เป็นประจำ


........

ยิ้ม
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.ค.2005, 3:41 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

14. ช้างรับศีล

หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู เป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ แม้ท่านจะล่วงลับดับขันธ์ไปแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๖ แต่ท่านก็ยังเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ผู้ใฝ่ธรรมอย่างไม่เสื่อมคลาย ท่านเป็นพระปฏิบัติที่ใฝ่ในธุดงควัตรมาตั้งแต่ยังหนุ่ม เมื่อท่านได้ยินกิตติศัพท์พระอาจารย์มั่นก็บุกป่าฝ่าดงตามหาท่าน และเที่ยวติดตามท่านจนภายหลังได้รับเมตตาเข้าไปจำพรรษากับท่านอาจารย์ใหญ่

คืนหนึ่งในพรรษา ขณะที่ท่านกำลังนั่งภาวนาอยู่ในกุฏิ ช้างบ้านใหญ่เชือกหนึ่งได้พลัดตรงเข้ามายังกุฏิท่าน แต่เผอิญกุฏิด้านหลังมีม้าหินใหญ่ก้อนหนึ่งบังอยู่ ช้างจึงไม่สามารถเข้ามาถึงตัวท่านได้ แต่กระนั้นก็เอางวงสอดเข้ามาในกุฏิจนถึงกลดและมุ้ง เสียงสูดลมหายใจดมกลิ่นท่านดังฟูดฟาดๆ จนกลดและมุ้งไหวไปมา แต่ท่านเองไม่ไหวติง นั่งภาวนาบริกรรมพุทโธๆ ตลอด ๒ ชั่วโมง ช้างใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมหนีไปไหนราวกับจะคอยทำร้ายท่าน ต่อมาก็เคลื่อนไปทางตะวันตกของกุฏิ แล้วล้วงเอามะขามมากิน

ท่านเห็นว่าหากนิ่งเฉยคงไม่ได้การ จึงตัดสินใจออกไปพูดกับมันให้รู้เรื่อง เพราะเชื่อว่าช้างนั้นรู้ภาษาคน หากพูดกับช้างดีๆ มันคงจะไม่พุ่งมาทำร้ายเป็นแน่

เมื่อตกลงใจแล้ว ท่านก็ออกจากกุฏิมายืนแอบโคนต้นไม้หน้ากุฏิ แล้วพูดกับช้างว่า “พี่ชาย น้องขอพูดด้วยสักคำสองคำ ขอพี่ชายจงฟังคำของน้องจะพูดเวลานี้” ท่านว่าพอช้างได้ยินเสียงท่านก็หยุดนิ่งเงียบ แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า

“พี่ชายเป็นสัตว์ของมนุษย์นำมาเลี้ยงไว้ในบ้านเป็นเวลานานจนเป็นสัตว์บ้าน ความรู้สึกทุกอย่างตลอดจนภาษามนุษย์ที่เขาพูดกันและพร่ำสอนพี่ชายตลอดมานั้น พี่ชายรู้ได้ดีทุกอย่างยิ่งกว่ามนุษย์บางคนเสียอีก ดังนั้นพี่ชายควรจะรู้ขนบธรรมเนียมและข้อบังคับของมนุษย์ ไม่ควรทำอะไรตามใจชอบ เพราะการกระทำบางอย่างแม้จะถูกใจเรา แต่เป็นการขัดใจมนุษย์ก็ไม่ใช่ของดี เมื่อขัดใจมนุษย์แล้วเขาอาจทำอันตรายเราได้ ดีไม่ดีอาจถึงตายก็ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ฉลาดแหลมคมกว่าบรรดาสัตว์ที่อยู่ร่วมโลกกัน สัตว์ทั้งหลายจึงกลัวมนุษย์มากกว่าสัตว์ด้วยกัน ตัวพี่ชายเองก็อยู่ในบังคับของมนุษย์ จึงควรเคารพมนุษย์ผู้ฉลาดกว่าเรา ถ้าดื้อดึงต่อเขาอย่างน้อยเขาก็ดี เขาเอาขอสับลงที่ศรีษะพี่ชายให้ได้รับความเจ็บปวด มากกว่านั้นเขาฆ่าให้ตาย พี่ชายจงจำไว้อย่าได้ลืมคำที่น้องสั่งสอนด้วยความเมตตาอย่างยิ่งนี้”

แล้วท่านก็ขอให้ช้างรับศีลห้า และกำชับให้รักษาให้ดี เมื่อตายไปจะได้สู่ความสุข มีชาติที่สูงขึ้น จากนั้นท่านก็สรุปว่า “เอาละน้องสั่งสอนเพียงเท่านี้ หวังว่าพี่ชายจะยินดีทำตาม ต่อไปนี้ขอให้พี่ชายจงไปเที่ยวหาอยู่หากินตามสบาย เป็นสุขกายสุขใจเถิด น้องก็จะได้เริ่มบำเพ็ญภาวนาต่อไป และอุทิศส่วนกุศลแผ่เมตตาให้พี่ชายเป็นสุขทุกๆ วัน และไม่ลดละเมตตา เอ้าพี่ชายไปได้แล้วจากที่นี่”

ท่านว่าขณะที่ท่านกำลังให้โอวาทสั่งสอน ช้างยืนนิ่งราวก้อนหินไม่กระดุกกระดิกหรือเคลื่อนอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งแม้แต่น้อย ต่อเมื่อท่านให้ศีลให้พรเสร็จและบอกให้ไปได้ มันจึงเริ่มหันหลังกลับออกไปจากที่นั้น

เมตตาและปิยวาจานั้นไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แม้ช้างก็ซาบซึ้งและสัมผัสได้ด้วยใจ


........

ยิ้ม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.ค.2005, 3:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ประดิษฐาน ณ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ต.วังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี
..............................................................



15. เมตตาของหลวงพ่อ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า หลวงพ่อโต วัดระฆัง นั้น ท่านเป็นคนสมัยรัชกาลที่ ๑ หากแต่มีกิตติศัพท์เลื่องลือจนถึงปัจจุบัน แต่ส่วนมากเวลานึกถึงท่าน ผู้คนมักมองไปในแง่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือพระเครื่อง ทั้งๆ ที่คุณธรรมของพระองค์ท่านมีอยู่เอนกประการ ที่สมควรน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ คุณธรรมของท่านประการหนึ่ง ได้แก่ความเมตตา ไม่เฉพาะต่อผู้คน หากยังเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์เล็กสัตว์น้อย

มีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่งเขานิมนต์ท่านไปในงานบ้านแห่งหนึ่งที่ จ.สุพรรณบุรี ท่านได้ไปโดยทางเรือ ครั้นเรือจะเข้าทางอ้อม ท่านได้ขึ้นบกลัดทุ่งนาไป ด้วยหมายจะให้ถึงเร็ว ปล่อยให้ศิษย์แจวเรือไปตามลำพัง ระหว่างทางท่านได้พบนกกระสาตัวหนึ่งติดแร้วอยู่ จึงแก้บ่วงปล่อยนกนั้นไป แล้วท่านเอาเท้าของท่านสอดเข้าไปในบ่วงแทน เมื่อศิษย์แจวเรือถึงบ้านงาน ไต่ถามได้ความว่า ท่านขึ้นยกเดินมาก่อนนานแล้ว เจ้าภาพจึงได้ให้คนออกติดตามสืบหา ไปพบท่านติดแร้วอยู่ พอจะเข้าไปแก้บ่วง

ท่านร้องห้ามว่า “อย่า อย่าเพิ่งแก้ เพราะขรัวโตยังมีโทษอยู่ ต้องให้เจ้าของแร้วเขาอนุญาตให้ก่อนจ้ะ” ครั้นท่านได้รับอนุญาตแล้วจึงบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ แล้วท่านได้กล่าวคำอนุโมทนา ยถา สพพี เสร็จแล้วท่านจึงได้เดินทางต่อไปยังบ้านงาน


........

ยิ้ม
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.ค.2005, 3:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

16. หลวงพ่อชากับรถยนต์

ทุกวันนี้รถยนต์กลายเป็นปัจจัยที่ ๕ สำหรับคนมีเงินไปแล้ว เป็นธรรมดาอยู่เองที่ฆราวาสเห็นอะไรดีก็อยากถวายให้พระได้ใช้บ้าง เพราะเชื่อว่าจะได้บุญมาก ดังนั้นการถวายรถยนต์แก่พระจึงเป็นที่นิยมในหมู่คนมีเงิน จนกระทั่งรถกลายเป็นเครื่องแสดงสถานภาพของพระ ว่าเป็นที่ศรัทธานับถือของญาติโยม ผลก็คือพระที่มีสมณศักดิ์ท่านใดที่ไม่มีใครถวายรถให้ ก็ต้องถือเป็นกิจที่จะขวนขวายหารถมาประดับบารมี

สำหรับหลวงพ่อชา สุภทฺโท นั้น ท่านไม่ต้องขวนขวายหารถ เพราะมีคนอยากถวายรถยนต์ให้ท่านแต่แทนที่ท่านจะตอบรับ ท่านได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสงฆ์วัดหนองป่าพงหลังสวดปาฏิโมกข์ เพื่อฟังความเห็น พระสงฆ์ทุกรูปต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะรับ ด้วยเหตุผลว่าสะดวกแก่หลวงพ่อเวลาไปเยี่ยมสำนักสาขาต่างๆ ซึ่งมีมากมายกว่า ๔๐ สาขาในเวลานั้น อีกทั้งเวลาพระเณรอาพาธ ก็จะได้นำส่งหมอได้ทันท่วงที

หลังจากที่หลวงพ่อชารับฟังความคิดเห็นของที่ประชุมแล้ว ท่านก็แสดงทัศนะของท่านว่า

“สำหรับผม มีความเห็นไม่เหมือนกับพวกท่าน ผมเห็นว่าเราเป็นพระ เป็นสมณะ คือผู้สงบระงับ เราต้องเป็นคนมักน้อยสันโดษ เวลาเช้าเราอุ้มบาตรออกไปเที่ยวบิณฑบาต รับอาหารจากชาวบ้านมาเลี้ยงชีวิตเพื่อยังอัตภาพนี้ให้เป็นไป ชาวบ้านส่วนมากเขาเป็นคนยากจน เรารับอาหารมาจากเขา เรามีรถยนต์แต่เขาไม่มี นี่ลองคิดดูซิว่า มันจะเป็นอย่างไร เราอยู่ในฐานะอย่างไร เราต้องรู้จักตัวเอง เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่มีรถ เราก็อย่ามีเลยดีกว่า ถ้ามี สักวันหนึ่งก็จะมีข่าวว่ารถวัดนั้นคว่ำที่นั่น รถวัดนี้ไปชนคนที่นี่... อะไรวุ่นวาย เป็นภาระยุ่งยากในการรักษา”

“เมื่อก่อนนี้จะไปไหนแต่ละทีมีแต่เดินไปทั้งนั้น ไปธุดงค์สมัยก่อนไม่ได้นั่งรถไปเหมือนทุกวันนี้ ถ้าไปธุดงค์ก็ธุดงค์กันจริงๆ ขึ้นเขาลงห้วยมีแต่เดินทั้งนั้น เดินกันจนเท้าพองทีเดียว แต่ทุกวันนี้พระเณรเขาไปธุดงค์มีแต่นั่งรถกันทั้งนั้น เขาไปเที่ยวดูบ้านนั้นเมืองนี้กัน ผมเรียกว่า ทะลุดง ไม่ใช่ธุดงค์ เพราะดงที่ไหนมีทะลุกันไปหมด นั่งรถทะลุมันเลย ไม่มีรถก็ช่างมันเถอะ ขอแต่ให้เราประพฤติปฏิบัติให้ดีเข้าไว้ก็แล้วกัน เทวดาเห็นเข้าก็เลื่อมใสศรัทธาเองหรอก”

“ผมไม่รับรถยนต์ที่เขาจะเอามาถวายก็เพราะเหตุนี้ ยิ่งสบายเสียอีก ไม่ต้องเช็ดไม่ต้องล้างให้เหนื่อย ขอให้ท่านทั้งลายจงจำไว้ อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายกันนักเลย”



........

ยิ้ม


= รถยนต์... ก็ยังนับว่าไม่เหมาะ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=52037
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.ค.2005, 3:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ทางเข้าวัดบ้านกร่าง จังหวัดสุพรรณบุรี
..............................................................



17. ปี๊บของหลวงพ่อวัดบ้านกร่าง

พระเมธีธรรมสาร (ไสว ธมฺมสาโร) อดีตเจ้าคณะอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี หรือที่ชาวบ้านแถบนั้นรู้จักในนาม หลวงพ่อวัดบ้านกร่าง ตามชื่อวัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสนั้น ได้ชื่อว่าเป็น “พระขลัง” แม้เครื่องรางของขลังและวัตถุมงคลที่ท่านสร้างจะมีอยู่ไม่มากก็ตาม

แต่สาเหตุที่ชาวบ้านเคารพนับถือท่านกระทั่งทุกวันนี้ แม้ท่านจะมรณภาพไป ๒๐ ปีแล้ว ไม่ได้อยู่ที่ความขลังของท่านอย่างเดียว ที่สำคัญกว่านั้นก็คือศีลาจารวัตรอันงดงาม และปฏิปทาที่ท่านประพฤติเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะความเรียบง่าย มักน้อย และเสียสละ

มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งยังความศรัทธาซาบซึ้งแก่ญาติโยมอย่างมากก็คือ ตอนที่มีการระดมเงินสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนหลังใหม่ของวัดบ้านกร่าง เนื่องจากทางการมีงบประมาณให้ไม่ถึงครึ่งของทุนทีจะใช้ก่อสร้าง จำเป็นต้องอาศัยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ท่านเห็นว่าพระจะต้องเป็นผู้นำในการเสียสละ

วันหนึ่งท่านได้นัดหมายให้กรรมการวัดมาประชุมพร้อมกันที่กุฏิท่าน แล้วท่านก็ให้คนไปยกปี๊บๆ หนึ่งในห้องพระของท่านลงมา ปรากฏว่าปี๊บนั้นมีซองใส่เงินอัดแน่นอยู่เต็ม ท่านบอกว่าตั้งแต่ท่านมาอยู่วัดบ้านกร่างเงินที่มีผู้ถวายแก่ท่าน ส่วนหนึ่งใช้ไปตามควรแก่สมณวิสัย อีกส่วนก็ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ เช่นสร้างเมรุเผาศพ และวิหาร ส่วนที่เหลือทั้งหมดอยู่ในปี๊บนี้ ท่านขอให้กรรมการวัดเอาออกมานับรวมกัน ได้เท่าไรบริจาคสร้างโรงเรียนทั้งหมด

เมื่อกรรมการวัดเอาซองเงินออกมา ก็พบว่าซองยิ่งอยู่ลึก ก็ยิ่งเก่าจนกระดาษเหลือง แสดงว่าปัจจัยที่ญาติโยมถวายท่านในโอกาสต่างๆ นั้น ท่านไม่ได้เปิดดู และไม่สนใจว่าเป็นเงินมากน้อยเท่าใด ได้มาก็ใส่ปี๊บเอาไว้ เมื่อจำเป็นก็ใช้ไป ส่วนที่เหลือก็อยู่อย่างนั้น ญาติโยมจึงศรัทธาท่านขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยประจักษ์แก่สายตาว่าท่านไม่ติดในปัจจัยที่ได้รับ

นอกจากท่านจะไม่ติดยึดในลาภแล้ว กับผู้มีเงินท่านก็ไม่ได้มีฉันทาคติด้วย ตอนที่มีการสร้างห้องแถวในตลาดนั้น ทางวัดให้เจ้าของแต่ละคนลงทุนและดำเนินการก่อสร้างกันเอง วัดเพียงให้เช่าที่ดินในราคาถูก (คูหาละ ๖๐ บาทต่อปี ปัจจุบันเพิ่มเป็นปีละ ๑๐๐ บาท) แต่มีปัญหาคือคนส่วนมากอยากได้ห้องหัวมุม เพราะอยู่ใกล้ท่ารถท่าเรือ เป็นทำเลดีเหมาะแก่การค้าขาย

Image
พระอุโบสถ (หลังใหม่) วัดบ้านกร่าง
..............................................................



มีคหบดีบางคนเสนอท่านว่า พวกเขาขอสิทธิ์พิเศษเลือกเอาห้องหัวมุมดังกล่าว โดยจะสร้างถวายวัดคนละห้องเป็นสิ่งตอบแทน เพื่อให้วัดเก็บค่าเช่าบำรุงวัด หลวงพ่อไม่ยอม เพราะเห็นว่าไม่ยุติธรรมต่อผู้อื่น ยิ่งกว่านั้นก็คือ วัดจะกลายเป็นผู้รับสินบน เห็นแก่ผลประโยชน์ แม้จะมิใช่ผลประโยชน์ส่วนตัวก็ตาม

วิธีของท่านคือให้ทุกคนจับฉลาก ใครได้พื้นที่ตรงไหน ก็สร้างห้องของตนตรงนั้น ทีแรกคหบดีเหล่านั้นไม่พอใจ ถึงกับจะยกเลิกการสร้างห้องของพวกตน โดยคิดว่าถ้ารวมหัวถอนตัวกันไปหลายคน โครงการสร้างห้องแถวก็อาจต้องล้มเลิก แต่หลวงพ่อไม่ได้วิตกอะไร ใครจะสร้างหรือไม่ท่านไม่ว่า ในที่สุดตลาดก็สร้างสำเร็จ ส่วนพวกคหบดีเหล่านั้นต้องยอมแพ้ ยอมจับสลากห้องแถวของตนเหมือนคนอื่นๆ


........

ยิ้ม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.ค.2005, 3:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

18. กระต่ายน้อยนั่งภาวนา

ก่อนที่พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ จะมาบุกเบิกสร้างวัดเจติยาคิริวิหาร ที่ภูทอก อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคายนั้น ท่านใช้ชีวิตเยี่ยงพระธุดงค์กรรมฐานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เจริญรอยตามพระอาจารย์ใหญ่คือหลวงปู่มั่นภูริทัตตเถระ จะอยู่ประจำที่ใดที่หนึ่งก็จำเพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น ออกพรรษาเมื่อใดก็ออกเที่ยววิเวก ถือเอาป่าเขาและเพิงถ้ำเป็นที่พักพิง กระนั้นก็มีอยู่หลายปีที่ท่านได้อาศัยป่าเป็นที่จำพรรษา

เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อน อีสานทั้งภาคเต็มไปด้วยป่าทึบ เป็นที่สิงอาศัยของสัตว์นานาชนิด จึงเป็นธรรมดาที่พระธุดงค์อย่างท่านจะต้องพานพบสัตว์ร้านน้อยใหญ่ บางครั้งช้างและเสือก็มาแวะเวียนให้เห็นใกล้ๆ กุฏิที่พัก มีพรรษาหนึ่งท่านและหมู่มิตรได้ร่วมกันบำเพ็ญเพียรที่ดงหม้อทองในจังหวัดสกลนคร ท่านเล่าว่าคราวหนึ่งอาหารเกิดผิดสำแดงทั้งพระและเณรเกิดท้องเสียกลางดึก แต่ส้วมมีไม่พอ พระบางรูปจึงต้องเลี่ยงเข้าป่า แต่ไม่ทันจะได้ถ่ายทุกข์ เสือตัวหนึ่งก็เกิดผลุนผลันโผล่มา แล้วกระโดดข้ามหัวท่าน ไปยังทางส้วมที่เณรกำลังอยู่ พอรู้ว่าเสือมาเท่านั้น เณรก็กระโจนออกจากมา วิ่งป่าราบเลยทีเดียว

บางวันช้างก็มาเดินเล่น พอมาถึงกระต็อบของผ้าขาวผู้หนึ่ง ก็ยืนงวงเข้าไปหยิบรองเท้าออกมาเล่น แล้วโยนเข้าป่าไป เท่านั้นไม่พอ ยังรื้อบันไดกุฏิออกมาอีกด้วย พอควานหาของเล่นพักใหญ่ก็เตรียมกลับ แต่ก่อนจะกลับก็เอางวงดุนฝาจนกุฏิโยก ตอนนั้นผ้าขาวอยู่กุฏิพอดี แต่ตอนที่ช้างหยิบรองเท้า ถอนบันไดนั้น แกคงไม่รู้สึกผิดปกติด้วยเป็นคนหูตึง แต่ครั้นรู้สึกว่ากุฏิโยกก็เลยออกมาดู พอเห็นช้างป่าเต็มตาเท่านั้นแหละ ก็กระโจนหนีออกจากกุฏิ

แต่ชีวิตในป่ามิได้มีแต่เรื่องน่ากลัวตัวสั่นเท่านั้น สิ่งอภิรมย์น่าชื่นชมก็มีให้เห็นอยู่เนืองๆ ในระหว่างจำพรรษาที่ถ้ำพวง จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์จวนเล่าว่า ทุกวันที่ท่านออกเดินจงกรมเวลาบ่ายสามหรือสี่โมง จะมีกระต่ายน้อยน่ารักตัวหนึ่งมานั่งหลับตานิ่งอยู่ห่างจากทางจงกรมเพียง ๑ ศอกเท่านั้น ทำเช่นนี้เป็นประจำ โดยไม่มีอาการตื่นกลัวท่านเลย อาการนั่งหลับตาพริ้มเช่นนี้ ดูราวกับว่ามันจะขอมานั่งภาวนากับท่านด้วย พอท่านเลิกจงกรม กลับไปที่พักซึ่งเป็นร้านที่ยกแคร่อย่างง่ายๆ กระต่ายน้อยก็ตามเข้าไปนั่งอยู่ใต้แคร่ด้วย แต่ถ้าได้ยินเสียงคนเดินมา กระต่ายก็จะวิ่งเข้าไปทันที

ท่านเองก็ไม่แน่ใจว่า จริงๆ แล้วกระต่ายต้องการจะภาวนากับท่านหรือไม่ แต่ท่านเชื่อว่า มันเคยมี “นิสัยวาสนา” ทางนี้มาแล้ว

กระต่ายมานั่งหลับตาพริ้มยามท่านเดินจงกรมอยู่หลายวัน ก่อนที่ต่างจะแยกย้ายไปตามวิถีทางของตน


........

ยิ้ม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.ค.2005, 3:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

19. ในหลวงกับหลวงตา

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) หรือที่ชาวบ้านที่นิยมเรียกว่า หลวงพ่อโต นั้น ท่านเป็นผู้ไม่ปรารถนายศศักดิ์ แม้จะเชี่ยวชาญทางพระปริยัติธรรม แต่ก็ไม่ยอมเข้าสอบเพื่อเป็นเปรียญ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จะทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ ท่านก็ทูลขอตัว ว่ากันว่าท่านเกรงว่าจะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ จึงมักธุดงค์หลีกเร้นไปยังจังหวัดห่างไกลเนืองๆ

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ อาจเป็นเพราะหลวงพ่อโตมีอายุมากแล้ว จึงไม่ขัดข้องที่จะรับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในชั่วเวลาไม่ถึง ๑๕ ปีท่านได้รับเลื่อนเป็นถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งเป็นพระราชาคณะชั้นสูง แต่แม้กระนั้นท่านก็ยังดำรงตนเป็นพระธรรมดาสามัญ

ลักษณะพิเศษของท่าน นอกเหนือจากความสันโดษและไม่ถือยศถืออย่าง ก็คือความกล้าหาญ ท่านไม่เพียงสอนธรรมแก่ชาวบ้านเท่านั้น หากยังกล้าตักเตือนพระมหากษัตริย์ โดยไม่กลัวว่าจะทรงกริ้วหรือไม่โปรดปราน

คราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จงานลอยกระทงหลวง ขณะที่ทรงประทับที่ตำหนักแพ พร้อมด้วยฝ่ายในเป็นอันมาก ก็ทอดพระเนตรเห็นสมเด็จโตแจวเรือข้ามฟากมา เจ้ากรมเรือต้องไปขวางเอาไว้ ครั้นพระเจ้าอยู่หัวรู้ว่าเป็นเรือของสมเด็จโต ก็รับสั่งถามว่าจะไปไหน สมเด็จฯ ตอบว่าตั้งใจมาเฝ้า

“ทำไมเป็นถึงสมเด็จเจ้าแล้ว ต้องแจวเรือเอง เสียเกียรติยศแผ่นดิน”

สมเด็จโตตอบว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพทราบว่าเจ้าชีวิตเสวยน้ำเหล้า สมเด็จก็ต้องแจวเรือ”

พระองค์พอได้ฟังเช่นนั้น ก็ได้สติ ตรัสว่า “อ้อ จริง จริง การกินเหล้าเป็นโทษ เป็นมูลเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติยศแผ่นดินใหญ่โตทีเดียว ตั้งแต่วันนี้ไป โยมจะถวายพระคุณเจ้า จักไม่กินเหล้าอีกแล้ว”

อีกคราวหนึ่งท่านจุดไต้เข้าไปในพระราชวังเวลากลางวันแสกๆ แล้วเอาไต้นั้นทิ่มกำแพงวังจนดับก่อนกลับวัด พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็น ตรัสว่า “ขรัวโตเขารู้แล้วๆๆ” เรื่องของเรื่องก็คือสมเด็จโตวิตกว่า พระเจ้าอยู่หัวจะทรงหมกมุ่นมัวเมาในกามคุณมากเกินไป จึงทำอุบายถือไต้เข้าไปในพระราชวังกลางวัน ประหนึ่งว่าในพระราชฐานนั้นกำลังมืดมิดดังกลางคืน

มีอีกหลายครั้งที่สมเด็จโตกล้าขัดพระราชหฤทัย คราวหนึ่งสมเด็จโตได้ถวายเทศน์ในพระราชฐาน ๓ วันติดต่อกัน บังเอิญวันที่ ๒ นั้นพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทรงสดับแต่พอสังเขป ด้วยมีพระราชกิจอย่างอื่น (นัยว่าเจ้าจอมจะประสูติ) แต่หาได้ตรัสอย่างใดไม่ ปรากฏว่าสมเด็จโตถวายพระธรรมเทศนาอย่างยืดยาว

ครั้นวันต่อมา พอสมเด็จโตตั้งนโมเสร็จ ท่านก็กล่าวสั้นๆ ว่า พระธรรมเทศนาหมวดใดๆ มหาบพิตรก็ทราบหมดแล้ว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ แล้วก็ลงธรรมาสน์ พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสถามว่าเหตุใดวันก่อนจึงถวายเทศน์มาก วันนี้กลับถวายน้อย สมเด็จโตถวายพระพรว่า “เมื่อวานนี้มหาบพิตรมีพระราชหฤทัยขุ่นมัว จะทำให้หายขุ่นมัวได้ด้วยทรงสดับพระธรรมเทศนาให้มาก วันนี้มีพระราชหฤทัยผ่องใส จะไม่ทรงสดับก็ได้”

มีครั้งหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วสมเด็จโตมาก เพราะสมเด็จโตถวายเทศน์เกี่ยวกับเมืองกบิลพัสดุ์ว่า พี่เสกน้อง น้องเอาพี่ เอากันเรื่อยมาไม่ว่ากัน เพราะถือว่าบริสุทธิ์ไม่เจือไพร่ จนถึงประเทศสยามก็เอาอย่าง เอาพี่เอาน้อง ขึ้นราชาภิเษกแล้วก็สมรสกันเป็นธรรมเนียมมา

พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ไล่ลงธรรมาสน์ ตรัสว่า “ไป ไป ไป ไปให้พ้นพระราชอาณาจักร ไม่ให้อยู่ในดินแดนของฟ้า ไปให้พ้น” สมเด็จโตออกจากวังแล้วกลับวัดระฆัง เข้าไปนอนในโบสถ์ ไม่ออกมา บิณฑบาตในโบสถ์ ไม่ลงดิน

ครันพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถวายพระกฐินวัดระฆัง พบสมเด็จโต ก็รับสั่งว่า “อ้าวไล่แล้ว ไม่ให้อยู่ในราชอาณาจักร ทำไมยังขืนอยู่”

“ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่ได้อยู่ในพระราชอาณาจักร อาศัยอยู่ในพุทธจักร ตั้งแต่วันมีพระราชโองการ ไม่ได้ลงดินของมหาบพิตรเลย”

“ก็กินข้าวที่ไหน ไปถานที่ไหน”

“ขอถวายพระพร บิณฑบาตบนโบสถ์นี้ ถานในกระโถน เทวดาเป็นคนนำไปลอยน้ำ"

“โบสถ์นี้ไม่ใช่อาณาจักรสยามหรือ"

“โบสถ์เป็นวิสุงคาม เป็นส่วนหนึ่งจากพระราชอาณาจักร กษัตริย์ไม่มีอำนาจขับไล่ได้ ขอถวายพระพร”

“ขอโทษๆ”
แล้วทรงถวายกฐิน รับสั่งใหม่ว่าให้สมเด็จโตอยู่ในสยามประเทศได้

โบสถ์เป็นของพระพุทธเจ้าฉันใด สมเด็จโตก็ถือว่าท่านเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าฉันนั้น หาใช่พระของในหลวงไม่ แม้ท่านจะเป็นพระราชาคณะก็ตาม ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล้าเตือนพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างไม่หวั่นเกรงภัยใดๆ ทั้งนี้ด้วยกรุณาและปัญญาของท่านเป็นสำคัญ


........

ยิ้ม
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง