Home
•
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทาน
•
หนังสือ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
•
แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้
ค้นหา
สมัครสมาชิก
รายชื่อสมาชิก
กลุ่มผู้ใช้
ข้อมูลส่วนตัว
เช็คข้อความส่วนตัว
เข้าสู่ระบบ(Log in)
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
ธรรมะสุดยอดของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
:: ลานธรรมจักร ::
»
สนทนาธรรมทั่วไป
ผู้ตั้ง
ข้อความ
พงพันธ์
ผู้เยี่ยมชม
ตอบเมื่อ: 17 พ.ค.2005, 8:03 am
ธรรมะสุดยอดของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
สติปัฏฐาน4 จิตตานุปัสสนา มหาสติปัฏฐาน ต่อจากนี้ไปก็ว่ากันถึงจิตตานุปัสสนา มหาสติปัฏฐาน ข้อนี้มีความสำคัญมากนะ เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐานนี่ ท่านให้เอาจิตไปพิจารณาเวทนานี่ เพื่ออาศัยความคล่องของจิต พวกท่านที่หวังดีในการเจริญสมณธรรม จะเป็นพระก็ดี ฆราวาสก็ดี ทุกคนต้องการความสุข ต้องพยายามควบคุมเวทนา คือความรู้สึกของอารมณ์ด้วยสติสัมปชัญญะอย่างหนัก ต้องใช้ให้มาก เพราะความไวของสติสัมปชัญญะ มันจะได้มีเวทนานุปัสสนานี่เป็นการซ้อม ซ้อมใจเราจริง ๆ จำไว้ให้ดีนะ นักปฏิบัติที่พยายามเข้าถึงความดี เขาควบคุมอารมณ์ตรงนี้ ตรงนี้เอากันหนักหน่อยเพราะอารมณ์ของใจมีสภาพไวยิ่งกว่าลิง ลิงว่าไว มันไวกว่า บางทีนั่งพูดอยู่นี่ บางทีใจย่องไปคิดถึงเรื่องอะไรต่ออะไรแล้ว เยอะแยะนอกรีตนอกรอย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะอารมณ์ใจมันเร็ว มันเร็วมาก ควบคุมยาก ฉะนั้นก่อนที่จะพิจารณาอารมณ์ที่มันจะเกิดกับจิต องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรจึงให้พิจารณาอารมณ์ ใจไว้เสียก่อนว่ากันถึงเรื่องความสุข ความทุกข์ กับความไม่สุข ไม่ทุกข์ ๓ ตัวนี้เท่านั้น ความจริงไม่มีอะไรมามาก เวลาเรารู้สึกตัวขึ้นมานึก เอ้อ เวลานี้เราสุขหรือทุกข์ สุขหรือทุกข์เพราะเรื่องอะไร หรือว่าเราไม่สุขไม่ทุกข์เพราะเรื่องอะไร หาเหตุหาผลเข้าไว้ ถ้ารู้ว่าสุขหรือทุกข์ หรือรู้ว่าไม่สุขไม่ทุกข์ ก็นึกว่าไม่เป็นเรื่อง เราจะไม่สนใจกับมันเพียงใดก็รู้ว่าไม่เป็นเรื่อง เรื่องความสุขความทุกข์หรือความไม่สุขไม่ทุกข์นี่ไม่เป็นเรื่อง ไม่ช้าเราก็ตาย ตายแล้วก็หมดเรื่องกัน อารมณ์ทั้งหลายใด ๆ ที่เราจะเข้าไปยึดถือไม่มีหาความดีอะไรไม่ได้ เป็นอันว่าเลยไม่ยึดถืออารมณ์ใด ๆ ทั้งหมด ต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน ว่าเลยไปนิดละมั้ง ว่าถึงนิพพาน ***ตัวธรรมดาน่ะคือตัวนิพพานจำไว้นะ นี่พระพุทธเจ้าบอกว่าย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือการตั้งขึ้น ความเกิดขึ้นหรือความเสื่อมไปของอารมณ์ ใช่ไหม หมายความว่านี่มันสุขแล้ว พอสุขไปสุขมา ทุกข์เสียอีกแล้ว นี่เราสุขแล้วทุกข์ไปทำไม ***ตัวสุขนี่คือใจมันสบาย ความสุขเสื่อมไป ความทุกข์ก็มาใหม่ ใจมันลงทุกข์นี่เราไม่ชอบ ถือว่ามันต่ำ อันนี้ท่านก็เลยบอกว่าถือเป็นตัว ธรรมดา ทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมลง ตัวธรรมดานี่เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์เขา พระอรหันต์ที่มีความสุขที่ไม่อิงอามิสได้ก็เพราะอาศัยธรรมดา ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ทีนี้กฎของธรรมดาก็เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ อารมณ์ของพระอรหันต์ ก็คืออารมณ์ของพระนิพพานนั่นเอง ถ้าใครเขาพูดกันถึงเรื่องว่า ใช้คำว่าธรรมดานี่ ต้องมีความเข้าใจเลยว่าเราหมายถึงพระนิพพาน นี่เราพูดกันด้านธรรมะนะ อย่านึกว่านี่เรามีลูกเป็นธรรมดา มีเมียเป็นธรรมดา มีผัวเป็นธรรมดา อย่างนี้ไม่ใช่นิพพานแล้ว ไปหัวสะพานแล้ว ดีไม่ดีกลายเป็นอันธพาลขึ้นมา ทะเลาะกับผัว ทะเลาะกับเมีย ตีกับลูก นี่กลายเป็นอันธพาลไปไม่ใช่นิพพาน ทีนี้เรามาว่ากันถึงเรื่องจิตตัวนี้สำคัญนะ ตัวจิตนี่สำคัญมาก จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐานนี่ ท่านให้ฝึกรักษาอารมณ์ ยึดถืออารมณ์ว่าจะเอาจิตเข้ามาควบคุมจิต ตัวนี้สำคัญมาก กรรมฐาน ๒ จุด นี่สำคัญที่สุด คือนักปฏิบัติที่ปฏิบัติได้ดีทุกข์องค์เข้าถึงจุดนี้ไปถามเถอะ ท่านคล่อง ๒ ตัวนี้ คล่องมาก ถือว่าเป็นปกติของอารมณ์เลย เพราะว่าทำจนชิน อย่านึกว่ามันยาก ความจริงถ้าเราทำจนชินมันก็ไม่ยาก ไม่ว่าอะไรทั้งหมดน่ะ ถ้าเราทำทำไป ตอนใหม่ ๆ มันก็ลำบาก แล้วต่อมาถ้าอารมณ์เกิดความชินเข้าแล้ว มันก็หาความยากไม่ได้ ทีนี้เรามาดูถึงพระบาลีกันต่อว่า กถญฺจ ภิกฺข เว ภิกฺขุ จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ เมื่อกี้นี้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา อันนี้เห็นกายในกายมาแล้วนะ แล้วมาล่อเวทนาในเวทนา ทีนี้มาล่อจิตในจิตเข้าอีกแล้ว มันเกิดเป็นจิตซ้อนจิต จิตนี้ก็คือความคิด ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัย จิตมีราคะ ก็รู้อยู่ว่าจิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ ก็รู้อยู่ว่าจิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะก็รู้อยู่ว่าจิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ก็รู้ชัดว่าจิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ชัดว่าจิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะก็รู้ชัดว่าจิตไม่มีโมหะ ว่าแค่นี้ก่อน ว่ายาว ๆ ไปเดี๋ยวไม่รู้ จิตมีราคะ ***รา ๆ มันก็คละกันอยู่ คำว่าราคะแปลว่ารักสวยรักงาม เวลานี้จิตของเรามันมีอุเบกขารมณ์ มีความสบาย หรือว่ารักสิ่งสวย ๆ งาม ๆ อย่างคนชอบสีสวย ขอบผิวสวย แต่หมามันชอบสีสวยใช่ไหม หรือใครว่าไม่ใช่ หมาเห็นก้อนขี้ไม่ได้ แต่ไปเจอะเอาอุตพิตเข้านึกว่าขี้ หยุดกึก เขาเรียกว่า***ดอกหมาหยุด จิตนี่เราชอบสวยชอบงาม รึเปล่า ให้นั่งพิจารณาให้รู้ว่าเวลานี้อารมณ์จิตของเราเป็นอย่างไร ถ้าจิตเราชอบของสวยของงาม อะไรก็ตามถ้าปรารถนาเรื่องสวยเรื่องงาม ไม่ใช่อาการสักการะอย่างเช่นเราเห็นพระพุทธรูป เขาบอกนี่พระพุทธรูป ถ้าจิตเราสบายยกมือไหว้ใช้ได้ทันที ว่าเป็นพระพุทธรูปปฏิมากรเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าแต่บางคนไม่ใช่อย่างนั้น พอดูพระพุทธรูป เอ๊ะ นี่สมัยไหนหว่านี่ สมัยเชียงแสนหรือสุโขทัย หรืออู่ทอง หรืออยุธยา หรือรัตนโกสินทร์ ถ้าเชียงแสน สุโขทัย ยุคต้นนี่ราคาแพง นี่จิตจัญไรมาแล้ว จิตมีราคะ พระนี่ลักษณะถูกต้องไหมนี่ หน้าตักแค่นี้ หน้าอกมันต้องแค่นั้น พระเศียรต้องแค่นี้ เอ๊ะ พระองค์นี้ไม่เป็นเรื่อง ปั้นไม่ถูกลักษณะ อันนี้เรียกว่า จิตประกอบไปด้วยราคะ หรือไม่มีราคะ จิตปรารถนาความสวย ความงามเป็นสำคัญ ถ้าจิตมีอารมณ์อย่างนี้ก็ถือได้ทันทีว่าจิตเลว ถ้าจิตปรารถนาความสวย ความงาม ดูมันเลยว่าเลว เพราะที่มันสวยจริงมีไหมในโลกนี้ มีน่ะสดใสอยู่ชั่วขณะเดียว เดี๋ยวมันก็มัวหมอง ***คนเราเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เดี๋ยวเดียว ความคร่ำคร่ามันก็ตาม อะไร สิ่งอะไรในโลกที่สวยจริง ๆ มันมีที่ไหน ทิ้งมันเสีย ทีนี้จิตไม่มีราคะ ก็รู้อยู่ว่าจิตไม่มีราคะ ก็หมายความว่า ถ้าเห็นพระพุทธรูปจะเป็นสมัยไหนก็ตาม หรือว่าจะเป็นพระพุทธรูปแบบไหนก็ตาม เก่า ใหม่ สีอะไรก็ช่าง ถ้าเป็นรูปพระละฉันไหว้ได้สบาย เพราะนี่เป็นรูปแทนองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เราไหว้รูปนี้ก็เหมือนเราไหว้พระพุทธเจ้า เพราะใจเรานึกถึงพระพุทธเจ้า นี่ถ้าอารมณ์เราเกิดแบบนี้ถือว่าไม่มีราคะ หรือว่าเห็นของสวยของงามก็คิดว่ามันจะสวยมันจะงามไปได้สักแค่ไหน ประเดี๋ยวมันก็เหลาเหย่ ใช้อะไรไม่ได้ ความเก่าแก่ ความคร่ำคร่ามันมีมา ความทรุดโทรมมันก็มา ประเดี๋ยวมันก็สลายตัว ต่อไปที่ว่าจิตมีโทสะก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ก็รู้ชัดอยู่ว่าจิตไม่มีโทสะ ***โทสะนี่เราก็รู้แล้ว อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ถ้ามันเกิดขึ้นมาอย่าปล่อยให้มันเลยไป ถ้ามันเกิดมีโทสะยับยั้งใจ บอกนี่ ๆ ปกติ แกบ้าพอแล้วนะ ไม่ต้องมาสะสมความบ้าขึ้นมาอีกหรอกที่แกต้องมาเกิดนี่แกบ้า ทุกข์พอแล้วนะ ทำไมจะมาเสริมกันต่อไปอีกรึ คนไม่ต้องไปฆ่าเขา สัตว์ไม่ต้องไปฆ่า มันตายทุกคน ความจริงเราก็เป็นคนใหญ่คนโตในโลกมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ใช่ไหม คนในโลกสั่งมันตายหมดทุกคนได้ทันที แต่ไม่ใช่เวลานี้ต่อไปมันตายเอง เราแช่งคนหมดทุกคนในโลก ใครก็ตามที่เกิดมามันต้องตาย ตลอดจนตัวเราด้วย เราก็ตาย เราไม่ได้แช่งตัวเราหรอก เราแช่งเขาหนัก ๆ เข้า ***คำแช่งมันก็ตรงมาที่ตัวเรา เราก็ตาย เพราะอะไร เพราะมันต้องตายอยู่แล้ว ไม่ต้องมาตีมัน ไม่ต้องไปคิดไปฆ่า ไปด่าไปตี ให้อารมณ์เสียเปล่า ๆ ถ้าหากว่าจิตมีโทสะก็ยับยั้งด้วยอำนาจของเมตตารมณ์ ให้รู้ว่านี่จิตมันเลวเสียแล้ว ใช้ไม่ได้ ไม่เป็นเรื่อง ถ้าจิตไม่มีโทสะ จิตมีอารมณ์สบาย มีจิตให้อภัย ช่างมัน ใครทำเท่าไร ก็ช่างมัน อย่างนี้ก็รู้ รู้ทำไม รู้เพื่อเป็นการวัดอารมณ์ว่าใจเราดีหรือใจเราเลว อามรณ์ใจนะ ถ้าได้จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐานเมื่อไหร่ ได้เป็นเอกัคคตารมณ์ละ เอาดินสอพอง หมายหัวไว้ได้เลย นี่เป็นอันว่า เราต้องรู้ใจของเราว่า***ใจของเราถ้ามันเกิดโทสะขึ้นมานี่มันความเลวนี่ มันตัวจัญไร ทำให้เราลงนรก เรายังไม่ทันลงนรกมันก็เผาผลาญความเร่าร้อนให้เกิด คนที่มีโทสะจัดนี่มันแก่เร็ว อารมณ์โทสะถ้ามันเกิดขึ้นเมื่อไรก็มีแต่ความโง่ คุณสังเกตให้ดี อารมณ์ของโทสะมันสร้างความโง่ให้เกิด สร้างความเร่าร้อน ถ้าจะทำอะไรก็มีแต่เสียท่าเขาข้างเดียว ถ้าบังเอิญอารมณ์ของเราไม่มีโทสะเราก็ควรจะภูมิใจ อารมณ์ที่ไม่มีโทสะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย แล้วก็รู้เลยถ้าโทสะมันไม่เกิดเมื่อไร แสดงว่าจิตเราประกอบไปด้วยเมตตา ถ้าจิตมีราคะจิตมีโทสะกำจัดมันทันทีว่าเอ็งเลวแล้ว ถ้าไม่มีราคะ ไม่หลงอยู่ในความสดสวยงดงาม ไม่มีโทสะ ไม่มีความโกรธ ชมมันไว้ว่าเอ็งดี ๆ แล้วพยายามหล่อเลี้ยงอารมณ์เหล่านี้ไว้อย่าให้ราคะกับโทสะเกิด แต่มันอดเกิดไม่ได้ ถ้าเรายังไม่ถึงพระอรหันต์นะ แล้วเราก็ต้องยับยั้งใจของเราไว้ ถ้าอารมณ์มีโมหะ รู้อยู่ว่าอารมณ์มีโมหะ ถ้าอารมณ์ไม่มีโมหะ ก็รู้อยู่ว่าอารมณ์ไม่มีโทหะ ***โมหะนี่แปลว่า ความหลง แต่***โมหะกับอวิชชานี่ผมชอบแปลเหมือนกัน แปลว่าความโง่ คุณอย่าไปแปลอย่างคนอื่นเขา ถ้าคนมันไม่โง่แล้วมันจะหลงได้อย่างไง ถ้าคนไม่โง่มันก็ต้องไม่หลง นี่หลงว่าร่างกายของเรามันจะไม่แก่ ร่างกายของเราจะไม่เจ็บ ร่างกายของเราจะไม่ตาย ของที่รักจะมาอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัย มันจะไม่จากเราไป นี่เป็นความ
xxx
ของจิต คือความโง่ ***ตัวนี้เกิดขึ้นมาแล้วจงตั้งหน้าตั้งตาด่ามันจัดการกับมัน เพราะนี่ความโง่เกิดแล้วเข้าให้พบ ถ้าอารมณ์อย่างนี้ อารมณ์ยึดถืออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก็ดี จงรู้ตัวว่านี่ความ
xxx
ของจิตเกิดขึ้น หาเหตุหาผล ***ของสวยของคงทนถาวรที่เราคิดว่ามันจะอยู่ตลอดกาลมันจริงไหม อย่างเรามีเครื่องบันทึกเสียงสักเครื่อง ซื้อมา แล้วคิดว่ามันจะไม่เสียแล้วก็ไปดูของชาวบ้านที่มันเสียมีไหม มีก็ถือว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาห้ามปรามมันไม่ได้ จิตใจมันสบาย อย่างนี้เรียกว่า ไม่มีโมหะ เครื่องจักรกลต่าง ๆ เกิดเสียขึ้นมา แล้วใจไม่สบาย อย่างนี้เรียกว่าโมหะ เจ้าราคะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ ตัวนี้นะ นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนแบบสุกขวิปัสสโก ถ้าหากเป็นฝ่ายเตวิชโช ฝ่ายวิชชาสาม นี่เขาใช้เจโตปริยญาณ ดูว่าเวลานี้จิตของเรามีอารมณ์เป็นอย่างไร ถ้าจิตมีราคะมีสีแดง ถ้าโทสะสีมันคล้าย ๆ น้ำซาวข้าว ถ้าโมหะสีมันดำ เขาใช้จิตดูจิต เพราะเราเรียนสายของสุกขวิปัสสโก ถ้าสายของฉฬภิญโญ เตวิชโช ปฏิสัมภิทัปปัตโต นี่เขาใช้ญาณเป็นเครื่องดูจิตทุกเวลาตื่นเช้าขึ้นมาก็ดูจิตของเรา ผ่องใสไหม ถ้ามีสีอะไรนิดเดียวเขาก็จะติเลยว่าเราเลวแล้วฝึกจิตทันที เอาสมถะที่เป็นข้าศึกอารมณ์อย่างนั้นเข้าประหัตประหารทันที แล้วใช้วิปัสสนาญาณ ควบตีให้แหลกไป ถ้าอารมณ์จิตไม่ผ่องใสเพียงใด เขาจะไม่ยอมเลิก นี่เขาได้เปรียบเราตรงนี้ พวกเราเป็นฝ่ายสุกขวิปัสสโก ก็นั่งพิจารณาจิตเอา ค่อย ๆ คิดพิจารณาไป ถ้าควบคุมอย่างนี้ทุก ๆ วัน ไม่ช้าหรอกจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน อย่าทิ้งเชียวนะ ถ้าใครเขาบอกว่า เขาได้ดี แต่ไม่มีการควบคุมจิต ไม่มีการควบคุมเวทนาอย่าไปเชื่อมันเลย ***นั่นมันพวกเทวทัต เทวทัตบางทีจะเลวก็เทียบเทวทัต เลวกว่าก็เป็นจิญจมาณวิกา ท่านได้อภิญญา ไม่ได้อะไรเลย ลงอเวจีเหมือนกัน ท่านกล่าวต่อว่า จิตหดหู่ก็รู้ชัดว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน นี่ตัวนี้สำคัญ จิตหดหู่ก็หมายความว่า อารมณ์มันไม่ร่าเริง ไม่ร่าเริงเพราะอะไร เพราะไม่ถูกใจ ไม่สบอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งจึงไม่ร่าเริง พอมีความรู้สึกอย่างนี้ ก็บอกเอ็ง
xxx
แล้ว จะไปสนใจกับมันทำไมสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ แม้แต่เป็นวัตถุก็เหมือนกัน ถ้าอารมณ์ใจมันหดหู่ก็บอกว่านี่เป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปยุ่งกับมันเลย ไม่ช้าเอ็งก็หมดความรู้สึกจะหดหู่หรือดีใจแล้ว ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านอารมณ์ไม่ตั้งอยู่ ก็รู้อยู่ว่านี่ไม่ดีอารมณ์ฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ถ้าอารมณ์ฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็จับอานาปานุสสติกรรมฐาน จับลมหายใจเข้าออกเพื่อทรงจิตอยู่ หรืออย่างองคุลิมาล ฆ่าคนมาแล้วเท่าไหร่ ฟังได้หนเดียวเป็นอรหันตผล ธัมมิกโจรฟังเทศน์จากพระสารีบุตรกัณฑ์เดียว ได้เป็นพระโสดาบัน นี่เอาแน่กันไม่ได้ ดูถูกกันไม่ได้ ทีนี้มาว่ากันว่า จิตหลุดพ้นรึไม่หลุดพ้นก็มานั่งดู ว่าจิตเราเกาะกายเกินไปไหม ความรู้สึกว่าเราจะตายเราจะแก่ เราจะเจ็บ เรามีความรู้สึกหรือเปล่า ***ความรักสวยรักงาม รักดี รักชั่ว รักความมีระเบียบยังมีอยู่ แต่ว่าเรารู้ว่าเราจะตาย เวลาอยู่มันต้องสะอาด มันต้องสวย แต่เวลาตายก็ช่างมัน ความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย ว่าเราตายแน่ แต่ก่อนที่เราจะตายต้องหาทางกันอบายภูมิไว้นั่น คือถือศีล ๕ บริบูรณ์ จิตเราเพิ่มพูนด้วยกฎของธรรมดา นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้เป็นพระโสดาบัน เรียกว่าจิตหลุดพ้นขั้นต้นไม่ยากนะง่ายนิดเดียว ไม่เห็นมันยาก หรือว่าเราจิตเราหลุดพ้นขั้นระยะกลาง เมื่อตัด ๓ ตัว นี่ได้แล้วก็ไปตัดกามราคะ คนเรานี่มันสกปรกทั้งตัว อยากจะไปรักอยากจะไปเป็นผัวเป็นเมียกันเพื่อนประโยชน์อะไร ***ความโกรธความพยาบาทมันไม่มีความหมาย สร้างความทุกข์ใจให้เกิด จิตหลุดพ้นกามราคะ สิ้นไปเหือดแห้งทันที ความรู้สึกทางเพศไม่มี ความโกรธไม่ปรากฏ ความพยาบาทไม่ปรากฏ เลิกโกรธ เลิกพยาบาท เลิกรัก เลิกใคร่ใคร ในฐานะกามารมณ์ ผู้หญิงจับผู้ชาย ผู้ชายจับผู้หญิง มีความรู้สึกเหมือนกับวัตถุธรรมดา อย่างนี้เรียกว่าพระอนาคามี ความรู้สึกทางเพศไม่มี ชนกันเท่าไหร่ก็ตามไม่มีความรู้สึกทางเพศ แล้วต่อไปถ้าจิตหลุดพ้นก็ดีไปกว่านั้น คือไม่เมาในรูปฌาน เราต้องการรูปฌานเป็นแต่เพียงว่าเป็นกำลังสำหรับวิปัสสนาญาณ เราต้องการอรูปฌานมีอาการเหมือนกับรูปฌาน เป็นกำลัง เราไม่ถือตัวถือตนว่าเราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา ถือว่าคนทุกคนเกิดมา มีความแก่ ความเจ็บ ความตายเหมือนกัน ธรรมดาเรื่องการถือตัวไม่มีแม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ไม่รังเกียจ การอารมณ์ฟุ้งซ่านน้อมไปในส่วนของอกุศลก็ไม่มี มีจิตคิดอย่างเดียวในด้านกุศล ต้องการพระนิพพานโดยเฉพาะ มีอารมณ์เยือกเย็น ตัดความโง่คืออวิชชา มีจิตคิดว่าโลกทั้ง ๓ คือ พรหมโลก เทวโลก มนุษยโลกไม่มีความสวยสดงดงามเป็นที่ต้องการของเรา ฉันทะ ความพอใจในมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก ไม่มีสำหรับเรา ตัดฉันทะและราคะในโลกทั้ง ๓ เสียได้ เป็นอรหัตผล การเป็นพระอรหันต์ไม่เห็นยาก คือตัดฉันทะความพอใจในโลกทั้ง ๓ มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก ตัดราคะ ความเห็นว่า มนุษยโลกสวย เทวโลกสวย พรหมโลกสวย โลกทั้ง ๓ ไม่มีความหมายสำหรับเรา เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการคือพระนิพพาน มีความเยือกเย็นเป็นปกติไม่เห็นอะไรเป็นเราเป็นของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่กระทบ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มีขนตกอยู่เป็นปกติ คือว่าไม่มีการสะดุ้งหวาดหวั่นอันใด นี่เป็นอันว่าจิตใจของเราเข้าถึงการหลุดพ้น จบจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐานแต่เพียงเท่านี้. กายานุสติปัฐฐาน ต่อจากนี้ไปก็เป็นโอกาสที่เราจะศึกษามหาสติปัฏฐานสูตร วันนี้เป็นวันเริ่มต้นตรงกับวันเสาร์ บรรดาพระทุกท่านเวลานี้ถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าขาด เพราะการที่เราบวชพระบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาความมุ่งหมายเรามีอย่างเดียวคือ ความดับไม่มีเชื้อ คำว่าดับไม่มีเชื้อก็หมายถึงว่า การสิ้นกิเลส ถ้าเราจะสิ้นกิเลสได้ก็ต้องมีความรู้เป็นพื้นฐานอย่างที่เขาเคยทำกันประเภทที่เรียกว่าจับแพะชนแกะ การสอนกันก็ไม่ได้เป็นไปตามลำดับหากว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทมีอัธยาศัยดี หรือมีการอบรมมาแต่อดีตชาติดี มีอารมณ์แก่กล้า ก็สามารถจะบรรลุมรรคผลได้ ถ้าหากท่านว่าทั้งหลายท่านใดมีบารมีอ่อน ก็จะยากอยู่สักหน่อย การเรียนพระกรรมฐานเฉพาะวันเสาร์ วันอาทิตย์ เราเรียนมหาสติปัฏฐานสูตร แม้ว่าวันนั้นจะตรงกับวันพระ แต่สำหรับพระถ้าตรงกับวันกลางเดือนหรือวันสิ้นเดือนอันนี้ก็ไปรวมกับปาฏิโมกข์ วันธรรมดาก็จะสอนกรรมฐาน ๔๐ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนตามลำดับ ถือว่าไม่ต้องเลือกอารมณ์ สอนเฉพาะสุกขวิปัสสโก สำหรับมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ เราจะสอนกันละเอียดไม่เหมือนกับที่ออกอากาศ ก่อนที่จะสอนถึงสูตรต่าง ๆ ก็จะให้ท่านเข้าใจถึงความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในการที่พระองค์ทรงสอนมหาสติปัฏฐานสูตรขึ้นมาคู่กับกรรมฐาน ๔๐ หรือสูตรอย่างอื่น เป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อมรรคผล ในตอนต้นจะกล่าวถึงความมุ่งหมายที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงกล่าวไว้ตามบาลี เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา กุรูสุ วิหรติ สำหรับพระบาลีว่าเพียงเท่านี้นะ เป็นอันว่าถือใจความตามภาษาไทยว่า ข้าพเจ้าผู้มีนามว่าพระอานนท์ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในหมู่ชนชาวกุรุ นิคมของหมู่ชนชาวกุรุ ชื่อว่ากัมมาสธัมมะในกาลนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นทูลรับว่า พระพุทธเจ้าข้า พระพุทธเจ้าทรงกล่าวเป็นพุทธภาษิตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางถูกเป็นทางของบุคคลผู้เดียว เป็นที่ไปในที่แห่งเดียว เพื่อ สร้างความดีต่อ ความดีเดิมมักจะเสื่อม นี่เรียกว่าความประมาท ปมาโท มจฺจุโน ปทํ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย มันตายเพราะสิ้นลมปราณไม่สำคัญ แต่ว่าตายจากความดีนี่ซิ ตายจากคนแล้วเป็นสัตว์นรกนี่มันซวยเต็มที นี่ เตสํ วูปสโม สุโข จิตเห็นเป็นของธรรมดาอยู่แล้วเป็นของไม่ยาก อารมณ์ของธรรมดาจริง ๆ นี่คนที่ยอกรับนับถือการเกิดขึ้น การเสื่อมไป การดับไปของร่างกายจริง ๆ โดยมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวมากมีอารมณ์มากระทบจิตแต่หวั่นไหวน้อย ไม่ยึดถือมากเกินไป เวลาจะตายจริง ๆ ก็ไม่ได้ว่าอะไร อาการอย่างนี้มันเป็นของพระโสดาบัน คนที่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ว่านี่มันเรื่องไม่แปล ของธรรมดา ฟันมันจะหักก็ธรรมดาไม่ใช่หักแต่เรา ชาวบ้านเขาก็หัก ผมมันหงอกก็ของธรรมดา ชาวบ้านเขาก็หงอกกันตั้งเยอะ เราหัวหงอกคนเดียวเป็นไรไป หัวมันล้านเขาว่า อีตานี่หัวล้าน ก็ธรรมดานี่ นี่เป็นเรื่องธรรมดาเรายอมรับนับถือ ความแก่มันเข้ามา ฟันหัก ตาไม่ดีเข้ามา ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เรารู้ตัวแล้วว่ามันจะเป็นอย่างนั้น อารมณ์ของการยอมรับนับถือธรรมดาด้วยความจริงใจเป็นเรื่องของพระโสดาบันขึ้นไปนะ นี่ท่านทั้งหลายก็ตั้งใจรู้ไว้เลย ว่าใครก็ตามที่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาอารมณ์นี้มันจะรักพระนิพพาน เพราะมันเกลียดตัวเกิด เกิดนี่มันเป็นธรรมดาจริง ๆ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วตัวทุกข์มันตามมา ตัวนี้เราไม่พูด อริยสัจพระพุทธเจ้าสอนตอนท้าย หาตัวธรรมดาเข้ามาแล้วมันแก่ บางทีไม่ทันจะแก่ความปรารถนาไม่สมหวังก็เกิด กินอิ่มแล้วก็หิว อยู่สบาย ๆ มันก็ร้อน ดีไม่ดีมันหนาวอีกแล้ว ดีไม่ดีอาการป่วยไข้ไม่สบายมันก็เกิด ตั้งแต่นี้มาเรายอมรับนับถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเราไม่หนักใจเมื่อมันหิวมีก็กิน ไม่มีก็ทนหิวไป เพราะอยากเกิดมาทำไม เมื่อเราเห็นว่าการเกิดมันไม่ดีอย่างนี้ หาความเที่ยงไม่ได้ เต็มไปด้วยความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไม่ต้องการมันเป็นอย่างนั้น แต่กฎธรรมดามันบังคับว่าต้องเป็น ก็เลยสบายใจเพราะมันต้องเป็นอย่างนี้ อาการเป็นอย่างนี้ปรากฏเราไม่หนักใจ เมื่อความแก่เกิดขึ้น ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเกิดขึ้น ความตายมีมาถึง ไม่หนักใจถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา พอถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาแล้วก็เห็นว่า เกิดนี่มันไม่ดีนะ มันเป็นอย่างนี้ ทางที่ไม่เกิดมีอยู่ก็คือ พระนิพพาน ถ้าเราปลดขันธ์ ๕ เสียได้เมื่อไร คำว่า เตสํ วูปสโม สุโข การเข้าไปสงบกาย นั่นชื่อว่าเป็นสุข หมายความว่า ถ้าเราไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียวอาการอย่างนี้มันไม่ปรากฏ จิตมันก็กำหนดไว้เลยว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดไม่มีสำหรับเรา นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ความเกิดจะไม่มีสำหรับเราอีก ความเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราไม่ต้องการ หรือการที่จะมีอาการพิสมัยว่าโลกมนุษย์สวยสดงดงาม เทวโลกพรหมโลกสวยสดงดงามมันเป็นที่น่าอยู่ไม่มีสำหรับเรา เราต้องการอย่างเดียวอาการความดับไม่มีเชื้อ โลก ๓ ไม่ต้องการทั้งหมด จิตที่เราจะกำหนดไว้ก็คือ ไม่มีกายและก็มีพระนิพพานเป็นที่ไป นี่เรียกว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นธรรมดาแล้ว มีอารมณ์รักพระนิพพานนิดหน่อย รักมากแต่ใจยังหวั่นไหวอยู่ เป็นพระโสดาบัน อาการของพระโสดาบันเราจะเห็นได้ชัด คือ มีความเคารพในพระรัตนตรัยอย่างจริงจัง ไม่ปรามาสพระรัตนตรัย มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขาเขียนรูปพระพุทธเจ้าไว้ในกระดาษก็ดี เอาฟางหรือดินปั้น ผูกฟางเป็นรูปพระก็ดี เอามือไว้ได้อย่างสนิทใจ พระสงฆ์ทั้งหลายที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีความเคารพ แต่ทว่าถ้านักบวชจัญไรนี่พระโสดาบันเขาไม่ไหว้นะ เขาเชื่อพระพุทธเจ้า ว่าเป็นเนื้อนาบุญเป็นของที่ดี นี่เป็นอันว่าถ้าอารมณ์ของท่านผู้ใดเข้าถึงอย่างนี้ คือว่าเคารพพระรัตนตรัยด้วยความจริงใจ เมื่อเคารพพระรัตนตรัยด้วยความจริงใจ ยอมรับนับถือกฎธรรมดาเรียกว่าไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วมีศีล ๕ เป็นปกติ ไม่ต้องระมัดระวังสำหรับฆราวาส สำหรับพระเณรก็รักษาศีลตั้งแต่ปราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ให้ครบถ้วน สำหรับอภิสมาจารนี่ไม่ละเมิดไม่ได้ มันต้องละเมิดแหง ๆ พระอรหันต์ยังโดนเลย แต่ท่านไม่ปรับโทษ เพราะเป็นส่วนเล็กน้อย เป็นส่วนที่ไม่เป็นอาบัติ ส่วนปราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ อันนี้พระอริยเจ้าไม่ละเมิด เว้นไว้แต่ส่วนอภิสมาจาร ถ้าหากว่าท่านใดมีอารมณ์ได้อย่างนี้เป็นพระโสดาบันจำไว้ ฝ่ายสุกขวิปัสสโก ถ้าหากว่ายอมรับนับถือกฎธรรมดาแล้วมีอารมณ์วางดับสนิทจากโลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง เท่านั้น. เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน สำหรับวันนี้ เป็นการศึกษามหาสติปัฏฐานสูตร ในบรรพที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน คำเวทนานี้แปลว่า การเสวยอารมณ์ พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ เสยฺย ปสฺเสยฺย สีวถิกาย ฉฑฺทิตํ วฏฺฐิกานิ นี่มันไม่ใช่นี่ ดันเปิดผิดเข้าไปแล้ว นี่แปลว่า นวสี ๙ นี่ อ่านบาลีแล้วไม่ใช่นี่ ในเวทนาบรรพ ท่านบอกว่า กถญฺจ ภิกฺขเวภิกฺขุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งอื่นยังมีอยู่ เวทฺนาสุ เวทฺนานุปสฺสี วิหรติ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา คำว่าเวทนานี้ ท่านแปลว่าอย่างนั้น ท่านว่าแปลว่า ความเสวยอารมณ์ ถ้าพูดกันแบบไทย ๆ ***คำว่าเสวยนี่ ก็แปลว่ากิน คนก็เลยกินอาหารเข้าไป ไม่ต้องกินข้าวแล้ว คำว่าเสวยอารมณ์ ก็หมายความว่า อารมณ์ที่เกิดกับใจเรา มันมีอยู่เป็นปกติ ท่านบอก บอกว่าย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ คือว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ท่านบอกยังไง ดูตามของท่านไป ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อเสวยสุขเวทนาก็รู้ชัดอยู่ ว่าบัดนี้เราเสวยสุขเวทนา เมื่อเสวยทุกขเวทนาก็รู้ชัดอยู่ ว่าบัดนี้เราเสวยทุกขเวทนา เมื่อเสวย อทุกฺขมสุขํ เวทนํ เวทิยมาโน เพื่อนก็เลยแปลบอกว่า เมื่อเสวย อทุกขมสุขเวทนา เป็นอันว่า เมื่อเราไม่ได้เสวยทุกข์หรือเสวยสุขเวทนา อันเป็นอุเบกขา คืออารมณ์เฉยเราก็รู้ชัดอยู่ว่าเวลานี้อารมณ์ของเราเฉย ๆ ไม่มีสุข หรือมีทุกข์ใด ๆ ต่อไป เมื่อเสวยสุขเวทนา ที่มีอามิส คำว่าอามิสแปลว่าสิ่งของ คือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาเจือ เช่น กามคุณ ก็รู้ชัดว่า เวลานี้เราเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส หรือว่าสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เวลานี้เราเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส หรือว่าเมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดอยู่ว่าเราเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส หรือเมื่อเสวย อทุกขมสุขเวทนาก็หมายความว่า จิตใจมันเฉย ๆ ไม่มีสุขหรือไม่มีทุกข์ เพราะมีอามิสหรือว่าไม่มีอามิส ก็รู้อยู่ว่า เวลานี้เราเสวยความสุข ความสุขที่เจือปนด้วยอามิส ท่านว่าอย่างงั้น ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาทั้งภายในและภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง นี่พอบอกว่าเห็นเวทนาเป็นธรรมดา นี่จัดว่าเป็น จัดเป็นวิปัสสนาญาณ ตอนต้นเป็นสมถะ อันนี้มหาสติปัฏฐาน นี่พระพุทธเจ้าควบวิปัสสนาญาณอยู่ตลอดเวลา ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเสื่อมไปบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปบ้าง ก็หรือว่าสติมีเวทนา มีอยู่ ก็ไปตั้งอยู่ย่อมไม่ยึดถืออะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ นี้แล้ว คือตามใจความตามมหาสติปัฏฐานสูตรในเวทนาปัสสนานี้ พระพุทธเจ้าให้ทรงพิจารณาว่า เวลานี้จิตของเรามีความสุขหรือมีความทุกข์ เวทนาก็คืออารมณ์ ตามบาลีท่านแปลว่า ความเสวยอารมณ์ คำว่าเสวยอารมณ์นี่มันฟังไม่ชัด นี้คำว่าอารมณ์ หมายถึงอะไร คำว่าอารมณ์ นี่ก็หมายถึงว่า ความรู้สึกของใจ คือความรู้สึกของเรานี้ มันมีความสุข หรือมีความทุกข์ ถามว่าเวลานี้ใจของเราหดหู่ประกอบไปด้วยความทุกข์ หมายความว่า มีความปรารถนาไม่สมหวังบ้าง สิ่งที่ตั้งใจไว้ไม่ปรากฏบ้าง สิ่งที่ตั้งใจไว้ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจบ้าง อย่างนี้เป็นอาการของความทุกข์ อย่างนี้เรียกกันว่า ทุกขเวทนา ทีนี้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านบอกชัดไว้ว่ามหาสติปัฏฐาน คือ ให้พยายามเอาจิตของเราเข้าไปตั้งในสติสัมปชัญญะตลอดเวลา นี้เรียกว่า ตามนึกอารมณ์ จงรู้อารมณ์ของเราว่าเวลานี้อารมณ์เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าอารมณ์มีความสุขก็รู้อยู่ว่า อารมณ์เรามีความสุขเพราะมีอามิสเป็นปัจจัย คำว่าอามิส หมายว่าสิ่งของ เราจะเรียกกันว่าวัตถุก็ได้จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตก็ตาม หรือว่าไม่มีชีวิตก็ตาม ถ้ามันมีสิ่งใดปรากฏขึ้น เป็นอะไรก็ตามเป็นเครื่องปรากฏเฉพาะหน้า และเป็นเหตุให้เราได้สุข เราได้ทุกข์ อย่างนี้เราเรียกว่าอามิส อย่างพบคนที่ไม่ชอบใจ ใจมันก็เริ่มไม่สบาย นี้ถือว่าเป็นอามิส เป็นเหตุให้เราเกิดความทุกข์ เพราะไม่สบายแปลว่าทุกข์ ความไม่สบายกายก็ดี ความไม่สบายใจก็ดี จัดเป็นทุกข์ อันนี้เราต้องรู้ตัวทุกข์ด้วยนะ หรือว่าพบสิ่งของสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่เป็นที่ไม่ชอบใจของเรา จิตมันเป็นทุกข์ หรือว่าพบคนที่น่าตา ไม่เกลียด ไม่โกรธ ไม่เป็นศัตรู แต่กลับมาพูดในสิ่งที่เราไม่ปรารถนา เราไม่ต้องการจะฟัง ใจเราไม่ชอบ อย่างนี้ก็ทุกข์ เรียกว่าทุกขเวทนา ทีนี้พระพุทธเจ้าให้พิจารณาจิตของตนว่าเวลานี้จิตของเรามีอารมณ์เป็นอย่างไร มีอารมณ์เป็นสุขหรือทุกข์ มาอีกตอนหนึ่งท่านพูดถึงสุขเวทนา เวลานี้จิตของเราเป็นสุข มันเป็นสุขเพราะว่าอะไร เป็นสุขเพราะว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากระทบ หรือว่าเป็นสุขอยู่เฉย ๆ ไม่มีสิ่งอื่นเข้ามากระทบ คำว่าสิ่งอื่นก็คืออามิส จะเป็นคนหรือว่าเป็นวัตถุก็ตาม หรือว่าหาคนไม่ได้ หาวัตถุไม่ได้ แต่ปรากฏเป็นเสียงหรือแสง ถ้าเป็นแสงก็เป็นวัตถุ ถ้าเป็นเสียงก็เป็นวัตถุเหมือนกัน จัดเป็นกาย แต่ว่าเป็นอนุปาทายรูป ทีนี้เรากระทบกับเสียง กระทบกับแสง กระทบวัตถุ กระทบกับคน ทำให้เราเกิดความสุขหรือว่าความทุกข์ แต่ความสุขหรือความทุกข์นี้ พระพุทธเจ้าท่านขมวดท้ายไว้ว่า เนื่องด้วยกามารมณ์ ***คำว่ากามารมณ์นี่ไม่ใช่ อามรณ์อยากมีผัว มีเมีย เฉย ๆ ตีความแบบนั้นไม่ถูก คือกามารมณ์ กามะแปลว่า ความใคร่ อารมณ์ สระอา ตัวนี้ก็เป็นตัว " อ " เรียกว่า อารมณ์ อารมณ์คือความรู้สึกของเราเกิดความใคร่อยากจะได้สิ่งนั้น อยากจะได้สิ่งนี้ หรือว่าเราไม่อยากได้สิ่งนั้น ไม่อยากได้สิ่งนี้ เพราะเราไม่ชอบใจ สิ่งที่เราอยากได้เป็นอาการของความชอบใจ อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ท่านเรียกว่า กามารมณ์ คืออารมณ์ที่มีความอยากเกิดขึ้น นี้อารมณ์ที่มีความอยากเกิดขึ้นมันเป็นอารมณ์ที่ทำให้เราสุขใจ หรือว่าทุกข์ใจ อันนี้พระพุทธเจ้าให้ใช้สติคิดไว้เสมอ สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่เป็นธรรมดา แต่เรามานั่งคิดดูว่าพระพุทธเจ้านี่มานั่งสอนเราทำไม ***เรื่องนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาของใจ แต่ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเราก็เพราะว่า พวกเราลืมคิด ไม่ได้ใช้สติเข้าไปควบคุมอารมณ์เราปล่อยไปตามเรื่อง มันจะสุขหรือมันจะทุกข์ก็ไม่ได้หาเหตุ ไม่ได้หาผล ไม่ได้ค้นคว้าตามความเป็นจริง ทีนี้การที่พระพุทธเจ้าให้รู้อารมณ์ของเรา ว่าอารมณ์เรานี่มันเป็นสุขหรือว่ามันเป็นทุกข์ เวลาที่มันมีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยหรือเปล่า คือมีอามิส วัตถุ หรือบุคคลเป็นเหตุหรือเปล่า หรือว่าไม่มีอามิส วัตถุ หรือบุคคล เป็นเหตุ จึงเกิดความสุขหรือความทุกข์ ให้ใคร่ครวญ อย่างนี้เรียกว่า พิจารณาเวทนาในเวทนา กำหนดรู้เวทนาในเวทนา หมายความว่า อารมณ์ความสุข หรือความทุกข์น่ะเป็นเวทนา ถ้าตัวสุขเป็นสุขเวทนา ที่เราชอบใจนะ ความทุกข์เป็นทุกขเวทนา เป็นเวทนาตัวนอก ตอนนี้เราก็ไปหาเวทนาในเวทนาอีกทีหนึ่ง คืออารมณ์ในอารมณ์อีกทีหนึ่ง ว่าอะไรนี่มันสร้างความสุขความทุกข์ใจให้เกิดแก่เรา เมื่อเราคิดไปเราก็คิดได้ว่า นี่เราไม่สบายใจ นี่เมื่อสักครู่เจ้าหนี้เขามาทวงสตางค์ นี่แสดงว่าท่านหาเหตุ หาผล มีความสุข และความทุกข์ เพราะอะไร ท่านให้คิดแบบนี้ทำไม จะได้รู้ว่าแม้แต่อารมณ์ใจของเรานี่ที่เราเกิดมานี่ ความจริงความสุขความทุกข์มันก็จากกายก็จริง แต่ทว่า***ทุกข์จริง ๆ ใจเป็นตัวรับ จะว่ากายมันเกิด แล้วมันแก่ มันเจ็บ มันตาย และ***เจ้าใจนี่ล่ะ กายเกิดมาแล้วมันเกิดแก่ลงมา เราไม่ชอบแก่ มันเกิดป่วยไข้ไม่สบาย เราไม่ชอบป่วยไข้ไม่สบาย มันตายเราไม่ปรารถนาให้มันตาย เรานึกว่ากายเป็นทุกข์ แต่ความจริงกายไม่ได้เป็นทุกข์ ใจมันทุกข์ เพราะกายมันมีสภาพเป็นปกติ ถ้ามันทุกข์จริง ๆ มันก็ไม่แก่ อย่างตาเรานี่ถ้ามันรู้ว่ามองอะไรไม่ถนัด ก็จะต้องซื้อแว่นมาใส่ ถ้ามันรู้มันจะต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ มันไม่ฝ้า มันไม่ฟาง นี่ความจริงอาการของตามันไม่รู้เรื่อง มันถือว่ากฎธรรมดาของมัน เมื่ออายุมากเข้าแล้วประสาทมันก็เสื่อมโทรมลงไป ***การต้องการในการมองเห็น การต้องการในการได้ยินจากหู เห็นจากตา รับการสัมผัสจากกาย ได้กลิ่นจากจมูก รู้รสจากกลิ่น อย่างนี้เป็นต้น นี่มันเป็นเรื่องของใจ ***ความสุขความทุกข์นี่มันอยู่ที่ใจ ความจริงมันไม่มีอยู่ในกาย ตามลำพังกายอย่างเดียวตัวนั้นไม่ได้สุข มันไม่ได้ทุกข์ เราจะเห็นว่าคนถ้าตายแล้วนี่ ใครจะเอาไปเผา จะเอามีดไปสับไปฟันก็ไม่เคยโกรธ แต่ทว่าที่ยังไม่ตาย อย่าว่าแต่เอามีดมาฟันเลย เอาแค่เล็บมาสะกิดนิดเดียว บอกว่าเจ็บฉันไม่ชอบใจ ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะใจมันเป็นเครื่องรับรู้ นี้ถ้ากายเราเจ็บเพราะเล็บจิก ***อย่างนี้เรียกว่า ทุกขเวทนา เกิดจากอามิส อามิสคือของ ของคือเล็บที่มาหยิกเรา หรือว่าวัตถุอะไรเข้ามากระทบ ตานี้ความสุขที่เกิดขึ้นมา กำลังใจ อยากได้ขนม อยากกินขนม อยากนี่ได้ขนมแบบนี้เรามีความสุข เราชอบใจ หรือว่าต้องการวัตถุแบบนี้ เราชอบใจ เกิดความสุข อย่างนี้เขาก็เรียกว่าเกิดความสุขเกิดจากอามิสเหมือนกัน นี่พระพุทธเจ้าให้พิจารณาว่า กำลังใจของเรานี่ ความจริงมันไม่ใช่แม้แต่อารมณ์ ไม่ใช่กาย เพราะอารมณ์นี่ก็ไม่มีสภาพคงที่ มันก็เป็นสุขเป็นทุกข์เหมือนกัน ทีนี้มาอีกบทหนึ่งท่านบอกว่า หรือว่ามีความรู้สึกว่าอทุกขมสุข หรือว่าจิตของเราเสวยอารมณ์ที่ไม่มีสุข และไม่มีทุกข์ ***การที่ไม่มีสุขหรือไม่มีทุกข์มันอาศัยอามิสเป็นต้น เหตุ หรือว่าไม่มีอามิส เป็นต้นเหตุ คำว่าอามิสเป็นต้นเหตุ ก็สมมติว่าเราไปนั่งดูพระพุทธรูป เห็นพระพุทธรูปมีความสดสวยงาม ยิ้มอยู่ตลอดเวลา ลักษณะท่าทางของท่านน่าเคารพนับถือ น่าไหว้ น่าบูชา แล้วก็พิจารณาไว้ พระพุทธรูปนี้ ความจริงเป็นรูปเปรียบของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงมีความดีมาก เวลานี้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานไปแล้ว ความจริงองค์สมเด็จพระประทีปแก้วมีพระองค์เดียว แต่เมื่อพระองค์ทรงนิพพานไปแล้ว กลับหล่อรูปขึ้นมามากทั้งนี้เพราะอะไร เพราะความดีของพระองค์ ความดีสูงสุดที่พระองค์ทรงมีก็คืออะไร คือ พระองค์สามารถตัดกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน ในเมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารพระองค์ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงสอนเรา โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อย ความยาก ความลำบากอะไรทั้งสิ้น จะต้องนอนกลางดินกินกลางทราย นอนกลางเขา กลางป่า เปียกปอนไปด้วยฝนและน้ำค้าง ฝ่าอันตรายทุกอย่าง ความจริงพระองค์เป็นลูกของพระมหากษัตริย์ และก็จะทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิภายใน ๗ วัน แต่ถึงกระนั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรมก็ยังทรงสละความสุขมาสอนพวกเรา เมื่อเห็นรูปของพระพุทธเจ้า ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงยิ้มแย้มแจ่มใส ก็คิดในใจ ว่าการทำใจให้มีจิตสงบอย่างนี้เป็นของดี รูปขององค์สมเด็จพระชินสีห์นี่ ใครจะจับไปโยนน้ำ ไปเผาไฟ ไปจมดิน จมทราย สักเท่าใดก็ตาม เมื่อกลับขึ้นมา ก็ปรากฏว่าหน้าของพระองค์นี้ยิ้มอยู่ตลอดเวลา น่าชื่นใจ ทีนี้อารมณ์ใจเห็นพระพุทธเจ้าก็นึกถึงความดีของพระองค์ นึกถึงพระมหากรุณาของพระองค์ ความสุขเกิดขึ้น เหล่านี้เรียกว่าสุขเวทนา เกิดจากอามิส ตอนนี้เราก็คิดต่อไปว่า องค์สมเด็จพระจอมไตร เดิมทีพระองค์มีชีวิตอย่างเรา แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงยึดถือในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ ใครจะนินทา ใครจะด่า จะว่า จะสรรเสริญ เป็นประการใด จะมีลาภสักการมากน้อยเพียงใด ลาภไม่เพียงใดพระองค์ไม่เคยวิตก เรื่องยศบรรดาศักดิ์เพียงใดพระองค์ไม่เคยปรารถนา เป็นอันว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดามีขนตกอยู่เสมอ คำว่าขนตก ถ้าไปอ่านในบาลีจะมี ขนตกอยู่เสมอ เป็นอันว่าไม่มีขนลุก ขนชัน ไปไหนก็มีจิตใจเป็นปกติ ไม่มีอาการหวาดหวั่นหรือยินดียินร้ายอะไร เราก็ชอบทำแบบพระพุทธรูปเสียบ้าง เมื่อมีใจก็ทำเหมือนคนไม่มีใจ มีความรู้สึกก็แกล้งทำเหมือนคนไม่มีความรู้สึก มันจะหนาว มันจะร้อน มันจะหิว มันจะ กระหาย มันจะมีทุกขเวทนา จะมีสุขเวทนา อย่างไรก็ตาม ถือว่าช่างมัน มันไม่ปรารถนา ชื่อว่าร่างกายไม่มีความสำคัญ ร่างกายนี้มีแล้วก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษอย่างเดียว ใจก็เกิดอารมณ์สบาย ไม่ยึดถือวัตถุ หรือว่าอามิส เรียกว่า สี เสียง แสง ใด ๆ ทั้งหมด ทำจิตตกมีอารมณ์ปลอดโปร่ง เพราะว่ามีสุขที่ไม่จริง อามิส หรือว่าไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ คำว่าไม่มีทั้งสุขและก็ไม่มีทั้งทุกข์ คำว่าสุขกายเพราะอาศัยกามคุณ คือว่าวัตถุที่เราพึงปรารถนาหรือว่าอารมณ์ที่เราพึงปรารถนา อย่าคิดว่านี่เป็นพระนี่ได้เปรียบนะ ไม่ต้องทำมาหากินอะไรมาก เช้าก็ถือหม้อออกจากวัดชาวบ้านก็ใส่มาให้ กลับมาแล้วก็สบาย กินแล้วก็นอน นี่คิดอย่างนี้พระนรกนะ ไม่ใช่พระสวรรค์ แต่คิดอย่างนี้ ใจเกิดสบายขึ้นมา อย่างนี้กล่าวว่าจิตตกอยู่มีความสุข เพราะอาศัยกามคุณ คืออารมณ์มีความใคร่ ความทุกข์ใจเพราะอาศัยวัตถุก็เหมือนกัน ทีนี้ความสุขใจที่ไม่ประกอบด้วยวัตถุก็เหมือนกัน ทีนี้ความสุขใจที่ไม่ประกอบด้วยวัตถุหรือไม่ประกอบด้วยอารมณ์อื่นมันเกิดมีความแช่มชื่น มีอารมณ์โปร่งเฉย ๆ อะไรจะไป อะไรจะมาก็มีความรู้สึกอย่างเดียวว่า ช่างมัน ใครเขาจะด่า ใครเขาจะว่าก็ช่างมัน เราดีของเราเอง เราไม่ได้ดี หรือเราไม่ได้ชั่วเพราะวาจาของเขาพูด มันจะมีของใช้มาก มันจะมีของใช้น้อย ก็ช่างมัน มีมากก็ใช้มาก มีน้อยก็ใช้น้อย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเราไม่สนใจกับมัน มันก็ไม่มีประโยชน์ ร่างกายของเรามันจะสวยไม่สวยก็ช่างมัน เสียงจะเพราะหรือไม่เพราะก็ช่างมัน มันจะแก่หรือมันจะป่วยอะไรก็ช่างหัวมัน เพราะธรรมดาของมันเป็นอย่างนั้น ในที่สุดถึงแม้ว่ามันจะตายก็ช่างมัน เรียกว่าไม่ยอมยึดทั้งอารมณ์ซ้ายและอารมณ์ขวา อารมณ์ความสุข หรืออารมณ์ความทุกข์ เราไม่ยึด ปล่อยใจสบาย อย่างนี้ท่านเรียกว่า อทุกขมสุข คือจิตทรงอุเบกขา นี่ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาให้กำหนดไว้อย่างนี้เพื่อให้อารมณ์ของเราเวลานี้มีความสุขหรือมีความทุกข์ ถ้ามีความสุขเราก็รู้อยู่ว่ามีความสุข มีความทุกข์เราก็รู้อยู่ว่ามีความทุกข์ มีความสุขเพราะว่าอาศัยสิ่งอื่นเป็นปัจจัย หรือไม่ได้อาศัยสิ่งอื่นเป็นปัจจัยเราก็รู้อยู่ อาการของความทุกข์ก็เหมือนกัน ตานี้อาการวางเฉยก็เหมือนกัน วางเฉยเพราะว่าเราห้ามสิ่งนั้นเราห้ามสิ่งนี้ไม่ได้ เมื่อห้ามมันไม่ได้ก็เลยไม่ห้าม ปล่อยตามใจมัน อันนี้วางเฉยเพราะมีอามิส หรือว่าวางเฉยเพราะไม่มีอามิส เฉยขึ้นมาเฉย ๆ หรือว่าวางเฉยเพราะจิตตั้งอยู่ในอุเบกขา คือกฎธรรมดาเป็นสำคัญ นี่ องค์สมเด็จพระทรงธรรมให้รู้ตอนนี้เป็นอารมณ์ของสมถภาวนา นี่รู้ไว้ด้วยนะ ว่าตอนนี้เป็นอารมณ์ของสมถภาวนา รู้ทำไม การตั้งสติเข้าไว้ การรู้ตัวเข้าไว้มันจะได้รู้ว่า เวลานี้มีสุขหรือว่ามีทุกข์ จะได้รู้ชัดว่าคนเราเกิดมานี่ไม่ใช่ว่าจะอยู่เฉย ๆ ได้ มันจะต้องมีสุขและจะต้องมีทุกข์ และมีอารมณ์เฉย ๆ ในบางขณะ เป็นอันว่าแม้แต่อารมณ์ก็หาความแน่นอนไม่ได้ ในตอนท้ายองค์สมเด็จพระจอมไตรให้ถือว่า ความสุขหรือความทุกข์นี่เป็นธรรมดา ธรรมดาของคนที่เกิดมา เราจะไม่ยอมยึดถือมันเพื่อประโยชน์อะไร อารมณ์ใจที่มีความสุขก็ดี อารมณ์ใจที่มีความทุกข์ก็ดี มันไม่มีสภาวะที่ทรงความแน่นอนได้เลย เราจะมาสุขจริง ๆ ก็ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็กลับทุกข์ เวลามันทุกข์คิดว่าจะหาความสุขไม่ได้ มันก็ไม่แน่นอนเดี๋ยวมันก็กลับมาหาความสุขใหม่ เป็นอันว่าเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ เหตุฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงเตือนว่า เมื่อเราพิจารณาแล้ว จงพิจารณาสักแต่เพียงว่ารู้ ที่เรารู้แล้ว คำว่ารู้แล้วนี่ สักแต่เพียงว่ารู้ ก็เพียงว่ารู้แล้ว จงอย่ายึดถือว่านี่เป็นความสุข หรือว่านี่เป็นความทุกข์ ที่เราควรจะยึดถือเข้าไว้ แล้วเธอทั้งหลายจงเห็นอาการเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของบุคคลที่เกิดมาแล้วย่อมมีอารมณ์อย่างนี้ เมื่อมันหาสภาวะความแน่นอนไม่ได้อย่างนี้ เราก็ไม่ควรยึดถือมันไวเลย คำว่าไม่ยึดถือมันไว้เลยก็หมายความว่าไม่ควรจะยึดถือว่าเราจะทรงมันไว้ต่อไป และเมื่อไม่ยึดถืออารมณ์ แล้วท่านก็เลยสั่งต่อไปว่า ไม่ว่าอะไรทั้งหมดในโลกจงอย่ายึดถือเอง จงอย่าถือแม้แต่อารมณ์นี้ว่ามันเป็นเราเป็นของเรา เรามีในอารมณ์ อารมณ์มีในเรา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้มันมีแล้วไม่นานเพียงไม่สักกี่วัน มันก็ถึงอาการดับชีพของมัน คือความตายของ ร่างกาย เมื่อร่างกายตายเมื่อไรแล้ว อารมณ์เหล่านี้มันก็สลายตัวไป นี่เป็นอันว่าการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานสูตร องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ใช้สติสัมปชัญญะเข้าคุมอารมณ์ ความจริงมันต้องใช้อารมณ์เอาสติสัมปชัญญะหนักหน่อยนะ ที่หนักก็ไม่เห็นว่าเป็นของแปลก มันเป็นสิ่งที่เราควรจะรู้ ถ้าเราคุมอารมณ์ของเราได้ โดยใช้สติสัมปชัญญะควบคุมอารมณ์ของเราตลอดเวลา เป็นอันว่า ชาตินี้พวกเราทุกองค์ มีหวังได้ ในฐานะความเป็นอรหัตผล เพราะอะไรเพราะพระอริยบุคคลขั้นพระอรหันต์นี่ไม่มีอารมณ์เผลอในเรื่องขันธ์ ๕ เป็นอันว่าการพูดเรื่องเวทนาก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้. ธรรมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน สำหรับวันนี้เราจะเรียนกันในด้าน เรียกว่าธรรมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน สำหรับธรรมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน มีด้วยกันหลายบรรพ เรียกว่าหลายตอน คำว่าบรรพแปลว่าตอนนะ สำหรับธรรมานุปัสสนามหาสติปัฏฐานนี่ พระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้ใช้จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐานควบคุมตลอดเวลา มาตอนนี้ท่านไม่ได้ใช้ สติสัมปชัญญะแล้วเพราะว่าเป็นตอนที่ร่วมด้วยทั้งสมถะและวิปัสสนา ใช้กำลังสูงมาก การเรียนมหาสติปัฏฐานสูตร หรือว่าการเจริญมหาสติปัฏฐานสูตร อันนี้เราจะทำเฉพาะบทหนึ่งบทใดไม่ได้ก็ขอเตือนไว้เพื่อทราบ อันดับแรกสุดก่อนที่เราจะพิจารณาในมหาสติปัฏฐานสูตร ในด้านกายานุปัสสนาก็ดี ในด้านเวทนานุปัสสนาก็ดี หรือว่าธรรมานุปัสสนามหาสติปัฏฐานก็ดี บทต้นที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนคืออานาปานุสสติกรรมฐาน เราทิ้งไม่ได้เด็ดขาดถ้าหากว่าใครทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานเสียแล้ว อารมณ์จิตไม่เป็นสมาธิถือว่าอารมณ์จิตไม่เป็นฌาน ถ้าอารมณ์จิตเข้าไม่ถึงปฐมฌานเป็นอย่างต่ำกำลังจิตที่เราใช้พิจารณาพระกรรมฐานทุกกอง เพราะว่าพระกรรมฐานทุกกองในด้านมหาสติปัฏฐานสูตร แม้แต่อาปานุสสติกรรมฐานก็ดี พระพุทธเจ้าสอนควบกันไว้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ถ้าหากว่าจิตเราเข้าไม่ถึงปฐมฌานเป็นอย่างต่ำ การใช้วิปัสสนาญาณเป็นเครื่องควบคุมจิต หรือพิจารณาจิต จะไม่มีกำลังตัดกิเลส ฉะนั้นสำหรับท่านที่เจริญพระกรรมฐาน ในมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งหมด อย่าคิดว่าจะเลือกเฉพาะบทใด บทหนึ่ง ตอนหนึ่งนี่ไม่ได้ อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับอารมณ์ ส่วนที่สำคัญที่สุดที่เราจะใช้อันแรกที่สุดก็คืออานาปานุสสติกรรมฐาน คำว่าอานาปานุสสติกรรมฐาน การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกนี่ต้องว่ากันตลอดทั้งวัน ผมไม่ได้บอกนะว่าทำเฉพาะเวลาไหน คือว่าท่านบอกแล้วนี่ว่า เราจะต้องใช้สติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์แบบเราจะเป็นคนทรงไว้ซึ่งสติและสัมปชัญญะ สติแปลว่าการนึกได้ สัมปชัญญะแปลว่ารู้ตัว ถ้านึกไว้เสมอ รู้ตัวเสมอ ว่าเราเกิดแล้วต้องตาย ขณะที่ทรงอยู่เต็มไปด้วยความทุกข์ ถ้าเราเกิดใหม่ก็จะมีสภาพแบบนี้ ก็จะเกิดมาทำเกลือทำไม ทำเกลือก็ทำไม่ได้ เวลาตายเขาต้องเอาเกลือมาใส่ถึงจะไม่เน่า ถ้ามันเป็นเกลือได้ก็ยังขายได้ ความจริง***คนนี่มันจัญไร กว่าสัตว์เดรัจฉานนะ หรือไง ควายตายเขาขายหนังก็ได้ ขายเขาก็ได้ ขายเนื้อก็ได้ใช่ไหม ควายตายได้สตางค์ หมูตายได้สตางค์ เอ็ะหมาได้ไม่ได้อะไรเลย ได้ถ้าฝังไว้ใกล้ ๆ ต้นมะม่วง เป็นปุ๋ย คนจัญไร ถ้าตายเราขายคนเป็น ตายเมื่อไรชาวบ้านแหลกเมื่อนั้น เดี๋ยวก็แจกการ์ดดำรอบบ้าน ชาวบ้านเสียสตางค์หมด เป็นอันว่าถ้าเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ก่อนที่จะตายเต็มไปด้วยความทุกข์ นี่เราก็จะมาเกิดกันเพื่อประโยชน์อะไร ความเกิดไม่มีความหมาย คนที่จะเกิดใหม่ได้ต้องเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ คนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จริง ๆ ก็คือ คนที่ทรงฌาน คำว่า ฌาน เป็นภาษาบาลี ถ้าไม่แปลออกมามันยุ่ง ไม่รู้ว่าฌานรูปร่างหน้าตามันอย่างไร ถ้าหากว่าเราแปลออกมาแล้วก็จะเห็นว่าเป็นของไม่ยาก ฌานัง แปลว่าการเพ่ง ก็ได้แก่การทรงอารมณ์สติสัมปชัญญะนั่นเอง แต่หากว่า เราทรงอารมณ์สติสัมปชัญญะได้ดีมาก ก็ชื่อว่าเป็นฌาน ๔ คือทำใจของเราแยกจากกาย จากประสาทของกายเสีย เราทรงสติสัมปชัญญะ รู้อยู่ มีความรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าทางประสาทของร่างกายสัมผัสอะไรก็ตามจิตไม่ยอมรับนับถือ จิตไม่ยอมรับรู้ด้วย แสดงว่าจิตมันแยกออกจากกาย เป็นการฝึกกายเมื่อเวลาจะตาย ฝึกจิตเมื่อเวลาตาย ถึงบอกว่าเวลาจะตายเขาเข้าฌานตายกัน คนที่เข้าฌานตายมันไม่ตายเหมือนชาวบ้านเขา อาการตายเหมือนกัน แต่ความหนักใจของบุคคลผู้ทรงฌานไม่มี ทั้งนี้เพราะจิตทรงฌาน อารมณ์ก็เป็นทิพย์แล้วก็จะสามารถเห็นในสิ่งที่เป็นทิพย์ได้ เห็นรูปเป็นทิพย์ ได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ ในเมื่อเราเห็นรูปที่เป็นทิพย์ได้ ได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ เราก็รู้สภาวะความเป็นทิพย์ของเราได้ นี่คนที่เขาเข้าฌานตายนี่เขาเลือกไปเอาตามอัธยาศัย ว่าเขาจะไปจากร่างกายอันนี้แล้วเขาจะไปอยู่ที่ใหม่ เขาจะไปอยู่ที่ไหนเขาก็รู้ก่อน คนที่ทรงฌานจริง ๆ สถานที่ที่จะพึงอยู่ได้ คือพรหมโลก ถ้าหากว่าเราจะไม่อยากอยู่พรหม อยากจะอยู่สวรรค์ ชั้นใดชั้นหนึ่งที่ต่ำลงมาก็เลือกได้ แต่ว่าเลือกสูงขึ้นไปไม่ได้ นี่ว่าถึงความสำคัญของการทรงอานาปานุสสติกรรมฐาน เพราะในมหาสติปัฏฐานสูตร มีกรรมฐานกองเดียวที่สามารถจะทรงฌานได้ คือ อานาปานุสสติกรรมฐาน นับตั้งแต่จิตตานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา ก็ดี หรือว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี ที่พระพุทธเจ้าสอนด้วยสมถะนี่ก็จบลงด้วยวิปัสสนา ก็หมายความว่าเราเจริญใน มหาสติปัฏฐานสูตร จะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งในความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้พิจารณาครบถ้วนทุกกอง แต่เราก็สามารถเป็นพระอริยเจ้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามีความชำนาญในอานาปานุสสติกรรมฐานให้ยกอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นวิปัสสนาญาณ อานาปาจริง ๆ เป็นสมถะ เอาอานาปานเป็นวิปัสสนาญาณ จิตก็สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นพระอริยเจ้าได้ นี่เป็นอันว่า ถ้าใครเขาถามว่า เราเจริญพระกรรมฐานกองไหน ถ้าเราบอกตามความต้องการของใจของเราที่เราพอใจ แต่เขาว่า***นี่ไม่ดี สู้อย่างนั้นไม่ได้เราต้องไม่เชื่อ เชื่อพระพุทธเจ้าดีกว่า เพราะพระพุทธเจ้าท่านเป็นพระอรหันต์องค์แรก และก็สามารถสอนคนอื่นให้เป็นพระอรหันต์ได้ คนที่บอกว่าธรรมะอย่างนั้นดี อย่างนี้สู้อย่างนั้นไม่ได้ แสดงว่าคนนั้นยังไม่ได้อะไรเลย นี่เรารับฟังไม่ได้ วันนี้ก็มาพูดกันถึงธรรมานุปัสสนาปัฏฐาน พูดตามพระบาลีท่านกล่าวว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ เป็นต้น ความก็มีอยู่ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุย่อมพิจารณา เห็นธรรมในธรรมอยู่เนือง ๆ คำว่า ธรรมในธรรมในที่นี้ เบื้องต้นพระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายเอานิวรณ์ ๕ ประการ การพิจารณานิวรณ์ของพระพุทธเจ้าในบทพระบาลีนี้ สนฺตํ วา อชฺฌตฺตํ กามฉนฺทํ เมื่อกามฉันทะ คือความพอใจในกามารมณ์ มีอยู่ในจิต เราก็รู้ชัดว่าเวลานี้เรามีความพอใจ ในกามารมณ์อยู่ในจิตของเรา นี่เราใช้สติสัมปชัญญะคุมตลอดเวลา หรือว่ากามฉันทะไม่มีภายในจิต เราก็รู้ว่ากามฉันทะไม่มีในจิตของเรา อนึ่ง กามฉันทะอันยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการใดเราก็รู้ด้วยประการนั้น หรือว่ากามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วเสียได้ด้วยประการใด ก็ย่อมรู้ด้วยประการนั้น ถ้ามันยังไม่เกิดเราก็รู้ว่ามันยังไม่เกิด ถ้ามันเกิดด้วยเหตุใด ก็รู้ว่าเกิดด้วยเหตุนั้น ความที่กามฉันทะอันตนละเสียแล้วไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ด้วยประการนั้น ว่าย่อ ๆ นะ อันนี้เรามาพูดถึงกามก่อน คำว่ากามคือความใคร่ ***กามนี่มันจะไปโทษกันไม่ได้ ถ้ามีชาวบ้านเขาบอก ***เจ้านี่บ้ากาม บางทีเราโกรธ ความจริงคำว่ากามนี่ก็แปลว่า ความใคร่ ได้แก่ความชอบใจนั่นเอง ถ้าอยากจะได้อย่าโน้น อยากจะได้อย่างนี้ จะถือว่ากามเป็นสิ่งสกปรก เป็นที่รังเกียจของชาวโลกอย่างนั้นหรือ อันนี้ก็ถือว่าเป็นการ เข้าใจผิด คำว่ากามจริง ๆ เป็นคำกลางเหมือนกับคำว่า ทิฏฐิ คำว่าทิฏฐิเฉย ๆ ก็แปลว่าความเห็น ยังไม่ได้แยกลงไปว่า ความเห็นนี่ดี หรือชั่ว ถ้ามิจฉาทิฏฐิ ก็เป็นความเห็นทางด้านชั่ว ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง ถ้าสัมมาทิฏฐิก็เป็นความเห็นด้านดี คำว่ากามก็เหมือนกัน กามจริง ๆ เฉย ๆ ก็แปลว่าความใคร่ จะถามว่าคนที่มีกามารมณ์ ใคร่อยู่อย่างนี้เป็นอารมณ์ชั่วหรือว่าเป็นอารมณ์ดี หรือว่าชั่วได้ฝ่ายเดียว จะมีความดีบ้างไหม เราก็ต้องตอบว่า ถ้าอารมณ์ที่ประกอบไปด้วยความใคร่ มันก็มีได้ทั้งชั่ว ถ้าหากว่าเรามีความใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันเป็นอารมณ์ของชาวโลกอย่างนี้ชื่อว่ามีอารมณ์ชั่ว เพราะว่าจะต้องเป็นทาสของกิเลสตัณหา อุปทาน อกุศลกรรม ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ มีความทุกข์ หาความสุขจริง ๆ ไม่ได้ ถ้าจะถามว่า คำว่ากามเป็นความดีบ้างหรือเปล่า ต้องดูพระบาลีบทหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเป็นพุทธภาษิตว่า ธมฺมกาโม ภวํ โหติ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ฉะนั้นจึงกล่าวว่า คำว่า กามนี่อย่าพึ่งไปโทษเขาเข้านะ ว่าเจ้าคนนี้มีกาม เราจะหาว่าเขาเลวยังไม่ได้ เป็นคำกลาง ๆ ว่าเป็นความใคร่ ถ้าบังเอิญเขาใคร่ในธรรมขึ้นมาล่ะ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าดี แต่ใคร่ในโลกีย์อันนี้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงติ แต่แนะให้ละ ที่ไม่ติดก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้ว่าพวกเราเกิดมาทุกคน ไม่ใช่คนดีแท้ ถ้ามันดีแท้จริง ๆ ก็ไม่มีใครเขาเกิดกันหรอก เขาไปนิพพานกันหมด ที่เราเกิดมาก็เพราะว่า เรามีกิเลส ตัณหา อุปทาน อกุศลกรรม เป็นเจ้านายบังคับขู่เข็นเราอยู่ มันต้องเกิด เพราะการเกิดมันเกิดมาเพื่อแสวงหาความทุกข์ ถ้าจะกล่าวไปในอีกทีตามพระอริยะสมัยปัจจุบัน ที่พบหน้ากัน ท่านพูดวันนั้น มาที่นี่พูดไปพูดมาถึงเรื่องการเกิด การเกิดไม่ดีอย่างนั้น การเกิดไม่ดีอย่างนี้ เลยถามว่าแล้วก็เสือกเกิดมาทำไมล่ะ ท่านตอบว่ายังไงรู้ไหม ก็มันโง่นะซีมันถึงได้เกิด ไม่โง่มันจะเกิดรึ ตอนนี้ท่านเลิกโง่เสียแล้ว ท่านไม่อยากเกิดต่อไป เป็นอันว่าท่านไม่เกิด ในเมื่อเราเกิดขึ้นมา มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ความแน่นอนของชีวิตไม่มี ก็เพราะว่าอารมณ์ของเราไม่คงที่เดี๋ยวก็มีอารมณ์เป็นสุข เดี๋ยวก็มีอารมณ์เป็นทุกข์ อย่างที่เราเรียนกันมาแล้วในเวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน นี่เพียงแค่อารมณ์มันก็เอาดีไม่ได้ ทีนี้มาทางด้านของกาย มีแต่ความทุกข์ตลอดเวลา แต่ความจริงกายมันไม่ได้ทุกข์มันเป็นไปตามปกติของมัน เราซีทุกข์เอง คำว่าทุกข์ของกาย มันไม่เกี่ยวกับใจ ใจมันวิ่งเข้าไปหากายเอง ไปเกาะกายเอง ถ้ากายมันป่วยไข้ ไม่สบายเราก็เป็นทุกข์ เราคือจิต หรือที่เรียกกันว่า อาทิสมานกายที่สิงอยู่ในกายเนื้อ ทำไมมันจึงทุกข์ เพราะเข้าไปยึดถือว่านี่เป็นเราเป็นของเรา ไม่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาตามความเป็นจริง เพราะว่ากฎธรรมดานี่มีอยู่ว่า กายนี่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็วิ่งเข้าไปหาความเสื่อมทุกวินาทีที่เคลื่อนไป ไม่มีร่างกายของบุคคลใดจะทรงตัวอยู่เป็นปกติ หรือว่าใครจะว่าร่างกายมันทรง บอกมาซิ มีไหม มันจะทรงได้อย่างไร เรื่องของกายนี่มันไม่แน่คือขาน่ะ เคยยันหน้ายันหลังได้โดยสะดวก ***บันไดนี่ขึ้นมาไม่รู้เท่าไหร่ แต่ตอนนั้นทำไมร่างกายขามันไม่อยู่ แสดงว่าตอนนั้นร่างกายขามันไม่มีการทรงตัว ขาเราเคยใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่เกิดขาแพลงขึ้นมาเสีย แสดงว่ามันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ นี่ร่างกายของเราไม่ดี มันเป็นทุกข์ ตัวทุกข์จริง ๆ น่ะกายมันไม่ได้ทุกข์ จิตมันทุกข์ ถือว่าร่างกายมันจะต้องทรงอยู่แบบนั้นแบบนี้ไม่ยอมรับนับถือตามความเป็นจริง สำหรับพระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านไม่มีความทุกข์ เพราะอะไร เพราะท่านรู้ว่าร่างกายนี่มันไม่ทรงตัว เกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเสื่อมไปในระยะกลาง ประกอบด้วยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ คือมันเสื่อมมันโทรมลง และก็สลายตัวในที่สุด นี่ท่านรู้แล้วท่านไม่ลืมตัว ไม่ลืมก็คือตัวที่มีสติสัมปชัญญะ รู้ว่าร่างกายนี่มันพังแน่ มันจะพังเมื่อไหร่นี่ ไม่แน่นอนนักบอกวันบอกเวลาไม่ได้ แต่ความพังมันมีแน่นอน ในเมื่อท่านรู้ว่ามันจะพัง มันเกิดพังขึ้นมา มันเกิดทรุดโทรมขึ้นมา ท่านก็นอนยิ้มสบาย พังก็พังซินายพังเมื่อไหร่ฉันก็สบายเมื่อนั้น ฉันจะไปนิพพาน คำว่านิพพานในที่นี้ ความจริงเขาพูดว่า นิพพานสูญ แต่ไม่เคยเห็นพระอรหันต์องค์ไหนท่านบอกว่าสูญ ***คำว่าสูญนี่มันเรื่องของคนที่ติดในกามสุข และโลกีย์วิสัย แม้แต่ศีล ๕ ยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์เท่านั้นที่จะเห็นพระนิพพานสูญ อารมณ์ของท่านใดเข้าถึงตั้งแต่โคตรภูญาณ หรือว่าโสดาบันเข้าไปแล้ว ไม่มีใครเห็นว่าพระนิพพานสูญ ถ้าว่าจะสูญก็ได้อยู่ส่วนหนึ่ง คือสูญจากวัฏฏะ อำนาจกิเลส ตัณหา อุปทาน และอกุศลกรรม ไม่สามารถจะบีบบังคับจิตของท่านที่เข้าถึงพระนิพพานให้มาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในอำนาจของเขาได้ นี่สูญจริง ๆ สูญจากวัฏฏะ แต่ว่าอยู่ที่นิพพาน คำว่านิพพาน แปลว่า ดับ ไม่ใช่ว่าดับอะไรทั้งหมด ท่านบอกว่ากิเลสดับ กิเลสไม่เหลือ ก็ไปนิพพานนี่ว่ากันส่งเดชไปแล้ว ทีนี้มาธรรมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ผมพูดถึงนิพพานทำไม เพราะว่าจากนิวรณ์ไปแล้ว พระพุทธเจ้าพูดถึงสังโยชน์ นี่เราก็เรียนความเป็นพุทธเจ้ากัน มาถึงนิวรณ์ ๕ ประการที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ๕ อย่าง รู้รึไม่รู้ก็ช่าง เพราะเป็นภาษาบาลี มาว่ากันเป็นภาษาไทย ตัวแรก ท่านบอกว่า จิตของเราข้องอยู่ในกามารมณ์ คือกามฉันทะ ความพอใจในกามแต่กามตัวนี้ไม่ใช่กามตัวกลางเสียแล้ว มันเป็นกามตัวริม คือริม ส่วนตา ถ้าจิตของเรามีความพอใจในกามารมณ์ หมายความว่าอารมณ์เข้าไปข้องอยู่ในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย หรือสัมผัสตามอารมณ์ของ ๕ อย่างนี้เห็นว่า รูปสวย จะเป็นรูปคน รูปสัตว์ รูปวัตถุก็ช่าง ไม่เลือกว่ารูปประเภทไหน เห็นว่ารูปสวยว่ารูปนี่เป็นที่พอใจของเรา เราชอบรูปนี้ ยึดถือความสวยเป็นกำลังอย่างหนึ่ง เสียงเพราะ พอใจในเสียงอย่างหนึ่ง กลิ่นหอม ติดในกลิ่น กลิ่นประเภทนี้เราชอบ แต่กลิ่นประเภทอื่นเราไม่ชอบ รสอร่อย ติดในรส การสัมผัสที่เราพึงประสงค์ กระทบเข้าชอบใจ แหมการสัมผัสนี่ดีจริง แล้วแถมอารมณ์หมกมุ่นอยู่ในเขตของกามอยู่ตลอดเวลา ของวัตถุกามนะ นี่มันก็เป็นทั้งวัตถุกาม และกิเลสกามรวมกัน ***วัตถุเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสกับจิต ความจริงวัตถุมันไม่ได้มาบังคับบัญชาเรา ***ใจเรามันเสือกไปติดกับมันเอง นี่ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะอะไร ภาษามันจะเลวไปหน่อยแล้วมั๊ง แต่อย่าลืมนะว่าพวกเราเป็นคนไทย นี่เราใช้ภาษาไทยกัน ***บทภาษาทฤษฎีน่ะไม่ใช้ ภาษาที่ฟังยากไม่ใช้ คำว่าใจมันเสือก ก็หมายความว่าใจมันวิ่งเข้าไปหาวัตถุ กามเข้าไปติด ไม่ได้ใช้จิตพิจารณาหาความเป็นจริง ในกรรมฐานบทต้นพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เวลานี้จิตของเราใคร่อยู่ในกามารมณ์ เราก็รู้อยู่ว่าจิตของเราใคร่อยู่ในกามารมณ์ คือว่าพยายามพิจารณาจิตของเราควบคุมจิตของเราว่าเวลานี้***จิตของเรานี่มันพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส หรือสัมผัส หรือเปล่า อารมณ์หมกมุ่นครุ่นคิดในความพอใจอยู่หรือเปล่า ความจริงอารมณ์แบบนี้มันมีกับเราตลอดวัน แต่ว่าเราลืม ลืมคิด ลืมเพราะอะไร เพราะว่าสติสัมปชัญญะของเราไม่สมบูรณ์ เราไม่ควบคุมอารมณ์จิต ให้อยู่ในขอบเขต แต่นี่เป็นธรรมมหาสติปัฏฐาน ก็ว่าถึงระดับนิพพาน หรือว่าความเป็นพระอริยะละ ผมก็เห็นจะก้าวไปไม่เร็ว ต่อจากนี้ไปการสอนจะไปแบบช้า ๆ เรามาพูดกันถึง โทษของกามฉันทะ คือว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่พอใจในกามก่อน ที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า รูปเป็นโทษ ถ้าเราพอใจในรูปจะเป็นรูปประเภทไหนก็ช่าง ที่มีชีวิตหรือไม่มีก็ช่าง จะเป็นรูปคนหรือว่ารูปสัตว์ก็ช่าง เป็นรูปเหมือนกัน นี่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าเราเอาจิตเข้าไปติดในรูป มันเป็นความมัวหมองของจิต คือเป็นอารมณ์ของกิเลส ทำจิตให้เศร้าหมอง เป็นอารมณ์ของตัณหา สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้น เพราะว่าตัณหานี่เป็นปัจจัยของความทุกข์ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงกล่าวอย่างนั้น ก็เพราะว่ารูปถ้าเราพอใจขึ้นมาแล้วความปรารถนาอยากได้มันปรากฏขึ้น ความดิ้นรน ความต้องการในรูป ปรารถนาในรูปมันก็มีขึ้น ความดิ้นรนของใจมันก็บังคับกายให้ดิ้นรนไปด้วย ความลำบากยากแค้นมันก็เกิด ความจริงคนเกิดมามีรูป ถ้าเราต้องการสิ่งที่มีรูป พระพุทธเจ้าไม่น่าจะตำหนิ ถ้าจะว่าไปตามพระบาลีแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตำหนิ เป็นแต่เพียงแนะนำว่ามันไม่เป็นปัจจัยของความสุข เพราะความปรารถนาในรูปมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ นี่ว่าแต่รูปอย่างเดียวให้มันชัดเสียก่อน เพราะว่ารูปที่เราต้องการมันมีสภาพคล้ายผี เพราะรูปทุกอย่าง รูปคน รูปสัตว์ รูปวัตถุ มันมีสภาพคล้ายผี ผีนี่เรียกว่าผีหลอกมันหลอกเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไปเห็นรูป สมมติว่าวัตถุเขาทาด้วยสีสวยเราพอใจในสีก็ดี หรือพอใจในทรวดทรงของรูปก็ดี ว่าทรวดทรงของรูปส่วนไหนสวยดี มีลักษณะส่วน***ดีมาก เราพอใจ และเราก็ฉาบทาด้วยสี เป็นที่พอใจของเรา เราพอใจในรูปนั้น ถ้าลองเราเอารูปนั้นมาตั้งวาง เอามาเก็บไว้ มาไว้ในปกครอง ถ่ายภาพเอาไว้ให้ชัด ภาพฟิล์มสีน่ะดีมาก จะได้ลอกสีเอาไว้ให้หมด เอาเก็บไว้สัก ๓ ปี แล้วลองเอารูปนั้นมาดูใหม่ ความเปลี่ยนแปลงมันจะปรากฏ แสดงว่าสภาวะของรูปไม่คงที่ ถ้าเป็นคนจากเล็กก็ค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นมา ถ้ามีร่างกายสมบูรณ์แบบจริง ๆ ถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาว ความเปล่งปลั่งเต็มที่แล้วมันก็โรยลงอีคราวนี้ก็เริ่มเหลาเหย่ลงมาล่ะซี หาความดีไม่ค่อยจะได้ สิ่งใดที่เราเห็นว่าสวยสดงดงามสง่าผ่าเผยมันก็ค่อย ๆ หายไป มันเสื่อมไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดรูปนี้ก็พัง ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า รูปเป็นอนิจจัง มีความไม่เที่ยง มีการสลายตัวไปในที่สุด เฉพาะรูปอย่างเดียว มันมีสภาพ หลอกแต่ความจริงมันไม่หลอก เราหลอกตัวเอง รูปนี้มันเป็นธรรมดาของมัน อย่างหนึ่ง เมื่อมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น ก็มีความเปลี่ยนแปลงตามปกติ เรียกว่าปกติของรูปเป็นอย่างนั้น แล้วในที่สุดมันก็พัง แล้วอารมณ์ที่ยึดถือเข้าใจว่ารูปสวย รูปมั่นคง รูปดีเป็นที่น่าปรารถนา นั่นมันใคร รูปมันแน่นำเราหรือเปล่า เราเอง อารมณ์ใจที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา หรือความทะยานอยาก ตัณหามันสอนให้เราโง่ ตัณหามันบอกรูปนี่สวย รูปนี่ดี ควรจะเอามาไว้เก็บไว้ปกครอง เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ นี่เราผู้มีกิเลสกำลังมันต่ำ จิตมันมัวหมองเศร้าอยู่แล้ว ***คำว่ากิเลส ก็คือว่า ถ้าพูดถึงตาก็ตาบอด ถ้าพูดถึงใจก็ใจบอด เพราะไม่ได้ใช้ปัญญา พิจารณาหาความเป็นจริง ในเมื่อเราโง่แล้วเมื่อเป็นคนตาบอด หรือคนใจบอด เมื่อถูกจูงไปทางไหนมันก็ไปทางนั้น เมื่อกิเลสมันจูงไปเห็นว่ารูปดี จิตพอใจในรูป เราก็ตามใจกิเลส เมื่อเราตามใจกิเลสเราก็ถึงความทุกข์เพราะถูกรูปมันหลอกเอา ความจริงไม่ได้หลอก เพราะใจของเรามันหลอก ใจของเรามันเลวเอง อันนี้เรามาว่ากันถึงรูป ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่านิวรณ์ ถ้าเราไปเกิดมีความพอใจในรูป แสดงว่าจิตของเราทราม ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ก็ต้องเอาใจไปเตือน คอยควบคุมอารมณ์ของใจไว้ ว่าจิตใจของเรานี่สนใจในรูปบ้างหรือเปล่า มีความผูกพันในรูป จนลืมพิจารณาหาความจริงบ้างรึเปล่า เรื่องสิ่งที่เป็นรูปนี่เราต้องใช้ เราต้องหา อย่างเครื่องขยายเสียงที่เราใช้นี่มันก็เป็นรูป เครื่องบันทึกเสียงที่เรากำลังใช้อยู่เวลานี้ บันทึกเสียงเอาไว้มันก็เป็นรูป แต่ว่าขณะเมื่อมันยังดีอยู่ มันมีประโยชน์ มันก็มีความพอใจ แต่ต้องจำไว้ว่า เครื่องจักรเหล่านี้ มันสึกหรอได้ มันชำรุดทรุดโทรมได้ แล้วเมื่อเวลาสึกหรอทรุดโทรม เราอาจจะซ่อมแซมมันได้ ในที่สุดจนเกินวิสัยของช่าง พัง ต้องเข้าใจไว้ด้วยว่า เวลาข้างหน้ามันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าอาการอย่างนี้ปรากฏขึ้นกับเรา เราต้องวางอารมณ์เสียท่านบอกว่าจิตใจเราพอใจในกามฉันทะไหม ถ้าจิตใจพอใจในกามฉันทะ ในกามารมณ์ก็รู้อยู่ว่าจิตใจเราพอใจในกามฉันทะไหม ถ้าจิตใจพอใจในกามฉันทะ ในกามารมณ์ก็รู้อยู่ว่าจิตใจเราพอใจในกามฉันทะ ในกามารมณ์ หรือว่าจิตใจของเราไม่พอใจในกามฉันทะ เราก็รู้อยู่ว่าจิตใจของเราไม่พอใจในกามฉันทะ จิตใจของเราพอใจใน กามฉันทะเพราะอะไรเป็นเหตุ เราก็รู้อยู่ว่าความพอใจในกามฉันทะ เพราะอะไรเป็นเหตุ เราก็รู้อยู่ว่าความพอใจในกามฉันทะ เพราะอะไรเป็นต้นเหตุ ถ้าเราไม่มีความพอใจในกามฉันทะเพราะอะไรเป็นเหตุ เราก็รู้อยู่ว่าการไม่พอใจในกามฉันทะ มีอะไรเป็นเหตุ อันนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ตรัสอย่างนี้ ท่านตรัสให้เราเอาสติเข้าไปควบคุมเพื่อความรู้ไว้ ทีนี้เราก็ว่ากันถึงรูปตัวเดียวก่อน ถ้าได้รูปเสียตัวอย่างอื่นมันก็เจ๊ง พอพังรูปได้อย่างเดียว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณพังหมด หรือเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรืออะไรก็พังหมด การพิจารณากิเลส ทำลายกิเลสเขาตัดตัวใหญ่ตัวเดียวเท่านั้น ตัวรูปตัวนี้เป็นปัจจัยให้เกิดสักกายทิฏฐิที่เราถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เราเป็นเจ้าของ เราเป็นของของเรา อะไรพวกนี้ นี่รูปนี่เป็นตัวสำคัญ นี่เรามานั่งพิจารณาในรูป ว่าอารมณ์ของเราที่พอใจในรูปนี่อะไรมันเป็นเหตุ ทำไมเป็นเหตุให้เราพอใจในรูป เรามานั่งนึกกันดู ที่เราเกิดมาพอใจในรูปขึ้นมาก็เห็นว่ารูปสวย รูปนี่สวยดี จะเป็นรูปคน รูปสัตว์ หรือว่ารูปวัตถุก็ตาม เอากันแค่รูป ไม่เลือกรูป รูปมันสวยดี ทีนี้เรามานั่งนึกต่อไปว่ารูปนี่มันสวยตลอดกาลตลอดสมัยไหม เราก็ใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาหากฎของความเป็นจริง สมมติว่าเราชอบใจคน เอางี้ดีกว่ามันเห็นง่าย และก็รู้สึกว่าจะเป็นเรื่องใหญ่เสียด้วย เรื่องพอใจในรูปคนนี่เป็นเรื่องใหญ่ ฆ่ากันตายก็เรื่องพอใจในรูปนี่แหละ เราพอใจในรูปทรงคนสักคนหนึ่ง พอใจมาก รูปนี้ดีมาก สวยสดงดงามมีทรวดทรงดี เราก็ใช้ปัญญาพิจารณาไปหาภาพเก่า ๆ ไปดูคนเก่า ๆ คนแก่ ๆ ที่เขากำลังถ่ายภาพเมื่อเขากำลังหนุ่มกำลังสาว ว่าสมัยที่กำลังหนุ่ม กำลังสาวท่านพวกนี้มีรูปร่าง หน้าตา ทรวดทรงเป็นอย่างไร มีลักษณะสีสันวรรณะเป็นอย่างไร แล้วเราก็มานั่งพิจารณากันว่า ทรวดทรงของท่านก็สวยดี สวยงามดีมาก แล้วเอามาเทียบกับเมื่อตอนอายุ ๗๐ - ๘๐ ใครมันจะสวยกว่ากัน ถ้าหากว่าชาวบ้านธรรมดา ๆ เขาบอกว่านี่ตอนอายุ ๑๗ ๑๘ ๑๙ ๒๐ เศษ ๆ สวยกว่า ๖๐ หรือ ๘๐ แน่ ทั้งนี้เพราะเราเห็นว่ารูปดี เพราะจิตมีกิเลส กิเลสมันบัง ลืมใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า นี่จิตใจของเราพอใจในรูป รึเปล่า กามฉันทะ ***พอใจนี่หมายใจเห็นว่าสวย แต่นี่มันจะไม่เปลี่ยนแปลง สวยตลอดเวลา ถ้ามั่นคงอยู่แค่นี้มันจะต้องมั่นคงอยู่ตลอดเวลา ทั้งคน ทั้งสัตว์ และวัตถุ ไม่คิดว่ามันจะเก่า ไม่คิดว่าจะแก่ ไม่คิดว่าจะพัง ไม่คิดว่าจะทรุดโทรม ถ้าอย่างอารมณ์จิตของเราคิดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่า รู้ว่าจิตของเราตกอยู่ในกามฉันทะ คือรูปเป็นต้น เมื่อจิตตกอยู่ ในกามฉันทะแล้ว ก็ต้องหาทางลัดทันที ไม่ต้องไปนั่งไล่แบบ ไปมัวนั่งไล่แบบรู้ว่าจิตพอใจในกามฉันทะ ก็รู้อยู่ว่าจิตพอใจในกามฉันทะ จิตไม่พอใจในกามฉันทะก็รู้ว่าจิตไม่พอใจในกามฉันทะ จิตพอใจในกามฉันทะ เพราะอะไรเป็นเหตุ ก็รู้อยู่ว่าจิตพอใจในกามฉันทะเพราะอะไรเป็นเหตุ ถ้านั่งท่องอย่างนี้อีกหลายแสนอสงไขยกัป ก็ยังไม่ได้ขึ้นสวรรค์ อย่าว่าแต่นิพพานเลย นี่เราใช้ปัญญา พบจุดไหนตีจุดนั้นเลย คือว่าทันกันนะ เอาสติสัมปชัญญะควบคุมจิต เรารู้ นี่จิตเราไปติดในรูป เสียแล้วนี่ แล้วก็พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรื่องรูปว่าอย่างไร คำว่ารูปนี่เป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ เคลื่อนไปอยู่ตลอดเวลา รูปคนหรือว่ารูปสัตว์นี่จะเห็นว่า เกิดแล้วมันใหญ่ขึ้นหรือแก่ลง เห็นว่ามันเคลื่อนง่าย ทีนี้รูปของวัตถุเราคิดว่ารูปของวัตถุมันจะไม่เคลื่อน ก็ไม่จริง มันเก่าลงไปทุกวัน มีความเศร้าหมองลงไปทุกวัน มีความทรุดโทรมลงไปทุกวันไม่มีคงที่ เราชอบใจไปดูในตลาด แหมของอย่างนี้ชอบใจมาก เสื้อตัวนี้ดีมาก กางเกงตัวนี้ดีมาก สร้อยหรือแหวนอันนี้ดีมาก ชอบใจ พอใจมาก ขนาดไม่มีสตางค์ซื้อ ไป***้เขามาซื้อก็มีเพราะถือว่าพอใจที่สุด แต่ว่าเอามาทิ้งไว้ไม่นานเท่าไรอารมณ์ใจมันก็เริ่มเบื่อ อยากจะได้ชุดใหม่เพราะอะไร เพราะชุดเก่ามันเริ่มทรุดโทรม จืดตาลงไป อาการที่จิตเกิดพอใจในรูปกามฉันทะตัวนี้นะ ก็ใช้ปัญญาพิจารณา ว่านี่ทำไมเราพอใจในรูป ถ้าเป็นรูปวัตถุ เราก็มานั่งขัดสีฉวีวรรณให้ดี ทาสีสัน น้ำมันให้สวย ถ้าเราคิดว่ารูปนี่สวย มันสวยจริงหรือไม่จริง ถ้ามันสวยจริง ๆ มันต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันต้องทรงสภาพเป็นนิจจัง นี่ลองมาตั้งไว้กลางแจ้ง ฝุ่นละอองปลิวเข้ามาไม่ต้องไปปัดมัน ฝนตกแดดออกเท่าไร ไม่ต้องระวังรักษาเอาทิ้งไว้สัก ๔ - ๕ วัน แล้วมาดูใหม่ รูปนั้นมันจะสวยสดงดงามเหมือนเดิมไหม นี่ว่ากันถึงวัตถุระยะสั้น เราก็จะเห็นได้ทันทีว่ารูปนี้ไม่ทรงสภาพเดิม มันเริ่มเปลี่ยนแปลงลงไป มีความมัวหมองลงไป อันนี้ว่ากันถึงรูปคนและสัตว์ จะเป็นคนผู้หญิง หรือผู้ชาย สัตว์ตัวผู้หรือตัวเมียมีสภาพเหมือนกัน นี่เป็นรูปที่สามารถดึงดูดกำลังใจให้เกิดอันตรายกับบุคคลมาก ความรักในรูป พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ปิยโต ชายเต ภยํ ปิโต ชายเต โสโก ความเศร้าโศกเสียใจ เกิดจากความรัก ภัยอันตรายเกิดจากความรัก นี่ถ้าเราไม่รักไม่พอใจเสียอย่างเดียวความเศร้าโศกเสียใจสำหรับรูปนั้นมันไม่มีสำหรับเรา ตัวอย่างที่จะเห็นได้ ง่าย ๆ ชาวบ้านชาวเมืองเขาตายให้พระบังสุกุลมานับไม่ถ้วนแล้ว อยากจะถามพระทุกองค์ที่ไปบังสุกุลนั้น มีความสลดใจ เสียใจว่าตาคนนี้แกตายบ้างไหม ถ้าหากว่าคนที่เรารักเป็นสามี ภรรยา บุตร ธิดา ญาติพี่น้อง บิดา มารดา เกิดตายขึ้นมานี่ความรู้สึกมันเป็นอย่างไร ศพคนอื่นที่เราไม่เคยสัมพันธ์กันตาย กับศพของเราตายลงไปเป็นยังไง มีความรู้สึกเหมือนกันไหม ของที่เรามีอยู่ถ้าไม่ใช่คนที่เหมือนกัน เป็นวัตถุ แก้วแหวนเงินทอง ของมีค่าที่เราพอใจมาก ของของชาวบ้านเขาสูญหายเท่าไรเราไม่หนักใจ ของของเราหายบ้างใจไม่สบายเดือดร้อน มีอารมณ์กลับ มีอารมณ์ไม่สบาย เสียดาย นี่ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ปิยโต ชายเต โสโก ความเศร้าโศกเสียใจเกิดจากความรัก นี่ถ้าเรามีความรักในรูปจะเป็นรูปของใครก็ช่าง ***รูปตัวนี้มันไม่มีอาการทรงตัวนี่ มันมีการเสื่อมไปในที่สุด เสื่อมไปตามกฎธรรมดา มันเสื่อมไปเสื่อมมาก็เกิดพัง มันไม่มีที่จะเสื่อม หมดอายุแห่งการเสื่อม หาที่เสื่อมไม่ได้พอพังลงแล้ว ถ้าเป็นวัตถุเครื่องใช้เราก็ต้องเสียสตางค์ไปซื้อใหม่ บางทีก็นึกเสียดาย ***เครื่องนี่ถ้ามันไม่เสียมันดีจริง ๆ มันดีใช้ดี ดันมาเสียได้ ไม่ชอบใจเสียสตางค์ ความเร่าร้อนมันเกิด ภัยมันเกิดในจิตแล้ว ความเสียใจในคนมีกำลังใจอ่อน พอวัตถุเครื่องใช้ที่เราหามาได้ ต้องใช้ราคาแพง กว่าจะหามาได้แต่ละใบก็แสนยาก แต่ว่าวัตถุเครื่องใช้อย่างนี้มันพังลงไปแล้วแหมไม่น่าเลย หาสตางค์ใหม่ มาซื้อใหม่ง่ายเมื่อไหร่ นี่ความไม่สบายใจมันก็ปรากฏจัดเป็นภัยในจิต จิตมีความต้องการอยู่อย่างเดียว คือ ความเยือกเย็น นี่ว่ากันถึงวัตถุนะ ทีนี้มาว่ากันถึงสิ่งมีชีวิต ที่จิตของเราเข้าไปรักในสิ่งมีชีวิต รูปในสิ่งที่มีชีวิตที่เราเห็นว่าสวยสดงดงามน่ะ เรามีความฉลาดดีแล้วรึ ถามใจมัน ถามซิว่า***แกต้องการรูปแบบนี้ ที่เห็นว่าสวยสดงดงาม รูปมันสวยจริง ๆ หรือไง ดีจริง ๆ รึยังไง ถามมันดู แต่ว่าอย่าไปถามเวลามันเมานะ ตอบว่าดีแน่ ใครว่าไม่ดีโกรธเสียด้วย เวลาที่จะถามก็ถามเวลาที่จิตสบาย จิตทรงอุเบกขารมณ์ คือจิตไม่แตะซ้าย และไม่แตะขวา จิตสบาย ใช้ปัญญาพิจารณาหาทางดูรูป ว่ารูปที่เราว่าสวยมั่นคง ที่เรามีความพอใจ ว่าดีจริง ๆ ไหม สวยจริง ๆ ไหม เอามาว่ากันถึงรูปคนและสัตว์ คนเราที่เขาว่าสวยสดที่สุดในโลก สิ่งที่เราเห็นว่าสวยน่ะ จิตมันหลอกจิตเอง รูปคนและสัตว์ที่เราเห็นว่าสวยแค่ผิวหนัง ที่เราเรียกกันผิวกำพร้า หนังกำพร้า บาง ๆ นิดเดียว ความจริงบางไม่ถึงครึ่งเซ็นต์ มันบางมาก อยู่นิดเดียวที่เราเห็นว่าสวย เป็นส่วนปกปิดความสกปรกภายในเข้าไว้ อาการสวยของผิวหนังนี่มันก็ไม่คงที่ ต้องเจ้าของเขาพยายามอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณอยู่เสมอ ป้องกันเหงื่อไคลที่มันไหลออกมา ซึมมาจากภายใน ก่อนที่จะมาเปื้อนภายนอก มันจึงจะเกลี้ยงเกลา ถ้าจะเอากันจริง ๆ ปล่อยไว้เฉย ๆ ๓ - ๔ วันเท่านั้น ก็คลายความสวยเพราะสิ่งสกปรกที่ปรากฏอยู่ข้างในก็หลั่งไหลออกมา เมื่อมันซึมออกมา อาการที่ปรากฏเกลี้ยงเกลาอีกไม่มีแล้ว ในผมเผ้าที่หวีอย่างสลวย ๆ นี่ ไม่ไปปรุงไปแต่งสัก ๔ - ๕ วัน ไม่สระไม่สาง ไม่ล้าง ไม่ฟอก หรือไม่หวีไม่ปรับปรุงใหม่ก็ดูอะไรไม่ได้ นี่เป็นอันว่าที่เราหลงใหลใฝ่ฝันในรูปก็ความโง่ เราไม่หาความจริง เพราะรูปทุกรูปเต็มไปด้วยความสกปรก หาความสะอาดไม่ได้ ***ความสวย ความทรงสภาพของรูป มันก็ไม่ทรงอยู่ตลอดกาล ตลอดสมัย มันก็หาทางทรุดโทรมต่อไป นี่เอากันเฉพาะสภาพภายนอก การพิจารณารูปของพระเราต้องวิ่งกลับไปหากายคตานุสสติกรรมฐาน เพราะว่าการเจริญพระกรรมฐานครั้งหนึ่ง จะทำกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง โดยเฉพาะท่านที่เป็นพระอริยเจ้าทั้งหมด ไม่มีพระอริยเจ้าองค์ใดเจริญพระกรรมฐานครั้งเดียว กองเดียวครั้งหนึ่งที่เราเจริญพระกรรมฐานต้องใช้กรรมฐานหลาย ๆ อย่างเข้าควบคุมกัน สมมติว่าเราเห็นว่ารูปสวย เราต้องการในรูป ความต้องการสิ่งที่สะอาดสะอ้าน สวยสดงดงาม เราก็วิ่งเข้าไปหากายคตานุสสติกรรมฐาน นี่ว่ากันในวิสุทธิมรรคนะ ถ้าในมหาสติปัฏฐานสูตรนี่เรียกว่า ปฏิ***ลบรรพ ที่ให้พิจารณาอาการ ๓๒ ที่เรียนมาแล้ว การพิจารณาพระกรรมฐาน จะดำน้ำส่งไปเฉพาะกองเดียวนี่ไม่ได้ เมื่อเวลาความรักในรูป รักในรูปสวยเกิดขึ้นมา ดูกายคตานุสสติกรรมฐาน ปฏิ***ลบรรพ อันเดียวกัน แต่เรียกคนละอย่าง ในวิสุทธิมรรคเรียกว่า กายคตานุสสติกรรมฐาน ในมหาสติปัฏฐาน เรียกว่า ปฏิ***ลบรรพ แต่การศึกษาเหมือนกันหมดทุกอย่าง พระพุทธเจ้าไม่เทศน์อะไรคัดค้านกัน เราดูอาการ ๓๒ ของคน เล็บ ฟัน ตับ ไต หนัง ไส้ ปอด อาหารใหม่ อาหารเก่า อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำเหลือง นี่มันสวยไหม นี่มาดูกันอย่างนี้ ว่าอะไรมันสวยแน่ นี่พอลอกหนังเท้าไปแล้วหมดราคาเลย ***สิ่งที่เราจะสวยก็คือหนังกำพร้านิดเดียวของร่างกาย เมื่อไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ไม่ถึงหนึ่งในแสนของน้ำหนักร่างกาย หนังกำพร้ามันบางจริง ๆ นี่ที่เราเห็นว่าสวย เมื่อไม่ลอกหนังกำพร้าเราดูไปไม่ช้าก็พบกับความทรุดโทรม ***ผมดำ ๆ ไม่ช้า ก็เริ่มขาว สายตายาวก็เริ่มสั้น ฟันที่ดี ๆ ก็เริ่มโยก ผิวพรรณที่ดี ๆ ที่เปล่งปลั่ง ก็เริ่มย่น ๆ ยู่ ๆ ยู่ ๆ ยี่ ๆ ทรวดทรงที่เคยดีก็เปลี่ยนแปลงเข้าไปหาความทรุดโทรม นี่เราดูข้างนอกก็เห็นชัด แต่ทว่ามันอาศัยความผูกพัน ที่มีอยู่ในใจ เราไม่พยายามมอง ที่เราไม่พยายามพิจารณาเพราะอะไร เพราะเราฉลาดเกินไป ***ความจริงคำว่าเกินไป หรือไม่ถึงเขาไม่ใช้ มันต้องให้พอดี ที่เราฉลาดเกินไปเพราะกิเลส ความเศร้าหมองของจิตทำให้ใจบอด ตัณหาความทะยานอยากมันสั่งสอนใจว่าดีแน่ ๆ แกอย่าปล่อยอุปาทานบอกต้องดึงเอาไว้ อย่าปล่อยเชียวนะมันของดี ***อกุศลกรรม ก็สนับสนุนเอาทำเลย ลงมือ *** ๔ คนนี่มันเป็นเจ้านายของเรา นี่เราเกิดมาเพราะเจ้านาย ๔ คนมันบังคับให้เกิดกิเลส ความเศร้าหมองของใจคือมีอารมณ์ชั่ว ตัณหาความทะยานอยากไม่ใช้ปัญญาพิจารณา อุปาทานยึดถือว่าการเกิดเป็นของดี ***โน่นก็ของ*** ***นี่ก็ของ*** ของ***มันส่งเดช ทั้ง ๆ ที่รู้มันจะพังก็ของ***อยู่นั่นแหละ อกุศลกรรมเมื่อจิตมันชั่วอย่างนี้ มันโง่แบบนี้ ก็ทำในสิ่งที่โง่ ๆ อกุศลแปลว่าโง่ กุศลเขาแปลว่าฉลาด คนโง่ทำไปก็สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตัวเอง คนฉลาดทำเขาไม่สร้างความเดือดร้อนให้ สร้างความสบายใจให้ เจ้านายมันบังคับเรา เราจึงมีใจบอด ไม่เรียกว่าตาบอด ตาเห็นแล้ว ถ้าใจฉลาดเสียอย่างเดียว ตาไม่มีอำนาจบังคับใจ นี่เราตาบอดก็เพราะอาศัยกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม มันทำให้บอด สร้างความยึดถือให้เกิดขึ้น เราจึงไม่เห็นตามความเป็นจริง แต่ความจริงทั้งหลายเหล่านี้มันปรากฏอยู่ทุกวัน ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ความสกปรกของร่างกาย ไม่ใช่แค่สิ่งภายนอกแค่ผมนะ ไม่สระ ไม่สาง ไม่ชำระมัน ไม่หวี ไม่ทำอะไร ๒ - ๓ วัน ร่างกายทนไม่ไหวดูไม่ได้ ***คนที่เราเห็นว่าสวยมันก็หายไป ทีนี้เรามาว่ากันถึงกายคตานุสสติ หรือปฏิ***ลบรรพ ก็ต้องนับว่าเดินเข้าไปถึงภายในกาย ว่าชิ้นส่วนของกายมีอะไรบ้าง ตับ ไต ไส้ ปอด อาหารใหม่ อาหารเก่า อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง อย่างนี้เป็นต้น มันสะอาดหรือว่ามันสกปรก มาว่ากันถึง กายคตานุสสติหรือปฏิ***ลบรรพแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วหันเข้าไปว่ากันถึงพิจารณานวสี ๙ นวสีแปลว่า ป่าช้า ป่าช้า ๙ อย่าง คือพิจารณาคนเกิดมาแล้วตาย ๑ วัน ตาย ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน ๖ วัน เน่าอืดขึ้นมาแล้วก็โทรมลงไป เหลือแต่กระดูกเ***ยวแห้ง ร่างกายหมดไปมีแต่กระดูก ต่อมาก็กระดูกเรี่ยราย มานั่งพิจารณาดูว่ารูปกาย ที่เราเห็นว่าสวยนี่มันสวยจริงไหม เอารูปกายของคนที่ยังไม่ตายมาวัดกันกับคนตายว่า ***รูปกายของคนที่มันตายแล้วนี่ พอตายไปวันเดียวรักกันเกือบตายยังไม่กล้าเข้าใกล้ เห็นไหม อีตอนอยู่ด้วยกันจากกันไม่ได้ กลับบ้านผิดเวลาหน้างอ แต่พอตายไปวันเดียวพวกไม่กล้าเข้าใกล้ ถอยห่าง วันเดียวนะ นี่เพราะตายแล้ว ความสวยไม่มีแล้ว ความทรงสภาพไม่มี เมื่อเห็นว่ารูปสวยนะ เราก็พิจารณาว่าเราหลงในรูปเพราะอะไร เราก็สร้างความเข้าใจว่า เราหลงในรูปเพราะความโง่ คือกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม ๔ อย่าง องค์สมเด็จพระชินวรซึ่งเป็นสัพพัญญูวิสัย เป็นอรหันต์ เข้าถึงนิพพาน มีความสุข ท่านสอนว่าอย่างไง เราก็ล้วงหาความจริงมาว่า พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าเห็นรูปที่ไหนสวยละก้อให้พิจารณาปฏิ***ลบรรพ เฉพาะในมหาสติปัฏฐานสูตร ถ้าหากเป็นกรรมฐาน ๔๐ ก็เรียกว่า กายคตานุสสติกรรมฐาเหมือนกัน พิจารณาอาการ ๓๒ ของรูป ว่าส่วนไหนสะอาดบ้าง น้ำลายที่เรากลืนอยู่ในปาก อมได้ กลืนได้ พอบ้วนออกมาแล้วไม่กล้าแตะต้อง เพราะเห็นว่ามันสกปรก เพราะฉะนั้น ส่วนของร่างกายทั้งหมดมีอะไรสะอาด ไม่มีอะไรน่ารัก พอไปพิจารณาป่าช้า ๙ เข้า การพิจารณาคนตาย ตั้งแต่เริ่มตายใหม่ ๆ จนค่อยไปถึงขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล แล้วก็โทรมลง จนกระทั่งแห้งหนังหุ้มกระดูก เหลือแต่กระดูกและกระดูกเรี่ยรายไป เราก็จะมองไม่เห็นความสวยของร่างกายแม้แต่สักนิดเดียว ไม่เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา ถ้าเราพิจารณากายคตานุสสติกรรมฐานก็ตาม หรือป่าช้า ๙ ก็ตาม มันเป็นการตัดความพอใจในรูป อย่างนี้ชื่อว่าเป็นปัจจัยให้เราระงับ เราว่ากันในนิวรณ์ ๕ ประการ ความจริงแค่อย่างเดียว นิวรณ์ ๕ นี่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ข้อเดียว ๖ อย่าง หมายความว่า ในข้อต้นมี ๖ จุด ถึงแค่จุดแรก เราก็ไม่อยากจบเสียแล้ว เป็นอันว่า วันนี้ก็ฝากท่านทั้งหลายให้ไว้มาพิจารณาเฉพาะรูปข้อเดียว เอาจิตใจพิจารณาหาความเป็นจริง ถ้าไปเจอรูปผู้ชาย รูปผู้หญิง สัตว์ตัวผู้ สัตว์ตัวเมีย หรือว่าวัตถุก็ตาม ที่เราเห็นว่าสวย เห็นว่าพอใจ ก็ตั้งใจพิจารณาหาความจริง ด้วยอำนาจของปัญญา ว่ารูปที่เราเห็นนี่สวยจริงไหม สวยตรงไหน ความสวยทรงอยู่ไหม ที่เราเห็นว่าความสวยภายนอก ข้างในมันสกปรกหรือสะอาด แล้วก็พิจารณากระแสพระสัจจ-ธรรมขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถในด้านกายคตานุสสติ หรือปฏิ***ลบรรพ คือนวสี ๙ เท่านี้ก็จะทำให้ใจของทุกท่านคลายต่อความพอใจในรูป ถ้าพยายามทำมาก ๆ ก็เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอารมณ์ของฌาน แล้วก็สามารถใช้อำนาจของวิปัสสนาญาณว่ามันทรงแบบนี้เป็นธรรมดา เราจะไม่ควรยึดถือมันเพียงแค่นี้ จิตใจของท่านก็เข้าถึงพระอนาคามีได้อย่างสบาย นี่เป็นปัจจัยของพระอนาคามีนะ ก็จบมันเพียงแค่นี้ อย่าลืมว่าเรื่องของรูปนี่น่ะพิจารณากายคตานุสสติกรรมฐานนี่เป็นปัจจัยของพระอรหันต์ ถ้าพิจารณาด้านอสุภกรรมฐาน คือป่าช้า ๙ เป็นปัจจัยของพระอนาคามี นี่การสำเร็จมรรคผลไม่จำเป็นว่าจะต้องไปนั่งไล่เบี้ยโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ บางคนจิตเข้าสู่โคตรภูญาณของพระโสดาบันมันก็วิ่งปรี๊ดไปกระทบพระโสดา สกิทาคา อนาคา เมื่อไหร่ไม่รู้ตัว รู้ตัวเอาทีเดียวเป็นพระอรหันต์ชั่วชั่วขณะจิตเดียว อันนี้ไม่แน่นัก สำหรับวันนี้ก็จะพูดเรื่องนิวรณ์ ๕ ต่อจากวานนี้ นิวรณ์ ๕ นี่มีความสำคัญ ถ้าหากว่าเราไม่พยายามระงับนิวรณ์ ๕ ประการแล้ว อารมณ์จิตของเราก็เข้าถึงฌานไม่ได้ ที่การพูดวันนี้ก็เป็นเรื่อง ธรรมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน เราจะสังเกตด้วยว่า มหาสติปัฏฐานสูตรพระพุทธเจ้าจะค่อย ๆ สอนขึ้นมาตามลำดับ ตั้งแต่เบาถึงหนักที่สุด คือว่า หนักที่สุดก็เข้าถึงนิพพานนั่นเอง เป็นอารมณ์ของพระนิพพาน มาตอนนี้แล้วเข้าถึงจุดหนัก เราต้องรักษาอารมณ์หนัก ในตอนต้นเราจะเห็นว่า พระองค์สอนเบา ๆ อันดับแรกก็ได้แก่ การพิจารณาอานาปานุสสติกรรมฐาน กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก แบบนี้ถ้าเราพิจารณากันจริง ๆ ก็รู่สึกว่า เป็นเรื่องธรรมดา แต่พระองค์ต้องการให้ทรงสติสัมปชัญญะให้มากจนเป็นฌาน ต่อมาอีกทีก็เป็นอิริยาบทการเดินไปเดินมา สติสัมปชัญญะการรู้ตัว นี่ก็เริ่มสูงขึ้นทีละหน่อย ต่อมาจากนั้นก็ปฏิ***ลสัญญา พิจารณาเห็นร่างกาย ว่าเป็นของสกปรกในอาการ ๓๒ มาจากจตุธาตุฐาน ๔ พิจารณาร่างกาย มีแต่เพียงธาตุ ๔ ประชุมกัน ต่อมาก็นวสี ๙ พวกนี้รู้สึกทำแบบเบา ๆ ไม่หนักนัก ต่อมาก็เริ่มหนักตอนพิจารณาเวทนา นี่เริ่มดูเวทนาในเวทนา ก็คือดูอารมณ์ของจิตนั่นเอง ต่อมาก็ดูจิตในจิต ว่าจิตมีกิเลสหรือไม่มีกิเลส แต่ว่าในมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งหมดเป็นสมถะและวิปัสสนาทุกข้อ นี่หากว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้ฉลาดในการเจริญมหาสติปัฏฐานสูตร ก็จะมีผลพิเศษคืออริยมรรค อริยผล ไม่ยากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นี่หลวงพ่อปานท่านพูด ท่านบอกว่าท่านผู้ใดที่มีการคล่องในมหาสติปัฏฐานสูตร คำว่าคล่องในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราดูหนังสือคล่อง คล่องในการปฏิบัติทุกบรรพ ทุกบท ท่านผู้นี้รู้กำหนดเวลาตาย ว่าจะตายเมื่อไหร่ ***การที่เราจะตายจะตายแบบไหน เมื่อรู้เสียแล้วก็สบาย เพราะเรารู้ว่ามันจะตาย เราก็เตรียมตัวไว้ก่อน ยิ่งไปกว่านั้นคนที่คล่องในมหาสติปัฏฐานสูตร คือปฏิบัติคล่องจิตก็ถึงทุกระดับ ตายแล้วไม่เหม็น นี่คนอื่นผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครคล่องหรือไม่คล่อง แต่หลวงพ่อปานน่ะผมรู้ว่าคล่องเพราะว่าทั้งหมดในกรรมฐาน ๔๐ ก็ดี ในมหาสติปัฏฐานก็ดีไปถามท่าน ท่านไม่เคยนั่งนึกเลย คือไม่เคยหยุดคิด เรียกว่าพอถามจบคำ ท่านก็ติอบทันที นี่แสดงว่าท่านคล่อง ทีนี้เวลาตายท่านตายแล้วเอาศพไปไว้ เพื่อรอลูกศิษย์จนเขาเข้าไปครบจนถึง ๘ วัน ๘ หรือ ๙ วัน นับกันดูนะ ท่านตาย ๖ โมงเย็น แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ แล้วเขาก็เข้าไปเอาศพกันวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ เลย ๘ ไปนิด ๆ รู้สึกว่าตัวท่านเองมีสภาพเหมือนคนนอนหลับกลิ่นสาปแม้สักนิดก็ไม่มี มีคนไปรดน้ำศพทุกวัน ให้รดแต่ที่เท้า มีสภาพเหมือนคนที่นอนหลับ นี่อำนาจของมหาสติปัฏฐานสูตร นี่สำหรับต่อไปนี้ เมื่อวานนี้เราพูดถึงนิวรณ์ ๕ เรื่องรูป เฉพาะนิวรณ์ที่หนึ่งนะ ท่านบอกว่าอย่าหลงใหลใฝ่ฝันในกามฉันทะ เมื่อจิตเรามีกามฉันทะเราก็รู้อยู่ว่าจิตตกอยู่ในกามฉันทะ หรือว่าเมื่อจิตไม่มีกามฉันทะก็รู้อยู่ว่าจิตไม่มีกามฉันทะ เมื่อกามฉันทะมันเกิดขึ้นกับจิตของเรา มีอะไรเป็นปัจจัย เราก็รู้และมันดับไปจากจิตเราเพราะมีอะไรเป็นปัจจัยเราก็รู้ หรือว่า จิตของเราไม่มีฉันทะ ความพอใจใด ๆ ทั้งหมด เพราะอะไรเป็นปัจจัย เราก็รู้นี่เรียกว่าเรารู้ เมื่อรู้แล้วท่านบอกว่าให้เป็นเพียงสักแต่ว่ารู้ เพียงสักแต่ว่ากำหนดไว้ เธอทั้งหลายจงเห็นว่าการเกิดขึ้น แล้วก็การเสื่อมไป เป็นของธรรมดา พวกเธอทั้งหลายจงอย่ายึดถืออะไรทั้งหมดในโลก ในเมื่อเรารู้ตัวเราจะตายเสียอย่างเดียว เราจะไปยึดถืออะไรทั้งหมดในโลก มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเราไม่มีโอกาสจะทรงอยู่ในโลกได้ตลอดกาลตลอดสมัย นี่เราท้าวเรื่องจากวานมาอย่างนี้ เมื่อวานเห็นว่าพูดถึงรูปอย่างเดียว ในนิวรณ์ตัวแรกก็เห็นจะพอสมควร ต่อไปเรามาพูดถึงเรื่องเสียง เสียงนี้ก็เป็นนิวรณ์เหมือนกัน กามฉันทะ เรามีความพอใจและใคร่ในเสียงเพราะ เสียงที่เพราะนี่ไม่ใช่เสียง เสียงเป็นระฆังเงินเสมอไป มันอาจเป็นประเภทเสียงระฆังแตกก็ได้ แต่ทว่าคนพูดพูดให้เราชอบใจในวาทะที่เขากล่าวถ้าเรามีความพอใจในเสียง ถ้าเสียงนั้นเป็นเสียงธรรมะมันก็มีคุณ ถ้าเสียงธรรมะนี่พระพุทธเจ้าท่านไม่เรียกว่ากามฉันทะ ท่านเรียกว่า ธรรมฉันทะว่ามีความพอใจในธรรม ถ้าหากว่าเขาถามว่า คนเรามุ่งพระนิพพานนี่เป็นตัณหาไหม ก็มีนักเทศน์หลายองค์เคยมาถาม เทศน์ด้วยกันอยากได้***นั่นก็ตัณหา อยากได้***นี่ก็ตัณหา อยากมีผัวก็ตัณหา อยากมีเมียก็ตัณหา อยากมีลูกเต้า อยากรวย อยากสวย เป็นอาการของตัณหาทั้งหมด คำว่า ตัณหานี่แปลว่าความทะยานอยากลงเบื้องต่ำ เกาะโลก มีอุปาทานเป็นเชื้อนำหรือเป็นผู้บังคับบัญชาการ และมีอวิชชาความโง่เป็นผู้สนับสนุน นี่ถ้าถามว่า ถ้าคนเราอยากไปนิพพานเป็นตัณหาไหม ก็เห็นจะ ๙๙ % ที่ตอบว่า คำว่าอยากแปลว่าตัณหา ในเมื่ออยากไปนิพพานก็แสดงว่าเป็นตัณหาเหมือนกัน ก็เลยตอบว่า นี่แกเทศน์แล้วแกก็เดินลงนรกไปเลยนะ แกเทศน์แบบนี้แกเลิกเทศน์แล้วก็เดินย่องไปนรกเลยสบาย ไปเสียคนเดียวก่อนดีกว่า มาขวนขาวบ้านเขาไปอีก ถามเป็นอย่างไร บอกว่าต้องการไปนิพพานเขาเรียกว่าธรรมฉันทะ ไม่ใช่กามฉันทะ เรียกว่ามีความพอใจในธรรม เป็นอาการซึ่งทรงไว้ซึ่งความดี นี่พวกเราฟังแล้วก็จำไว้ด้วยนะ ถ้าใครเขามาถามจะได้ตอบถูก ทีนี้มาว่ากันถึงเสียง ว่าใจเราเข้าไปพบเสียงเรารักหรือพอใจในเสียงนั้น จะเป็นเสียงร้องส่งร้องเพลง เสียงพูด เสียงประจบสอพลอก็ตาม เราก็มานั่งพิจารณา ถ้าหากว่าเราติดในเสียง อารมณ์มันติดอยู่ เวลาที่เรานั่งทำสมาธิหรือภาวนาวิปัสสนาญาณ อันนี้ถ้าจิตเราเข้าไปข้องในเสียง ว่าเอยายคนนั้น พูดเพราะจริง คนนี้พูดสนุกจริง จิตมันก็กระสับกระส
สายลม
บัวเงิน
เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245
ตอบเมื่อ: 17 พ.ค.2005, 11:30 pm
สาธุ ๆ ๆ ครับ
ชาติชาย วิศวชิต
ผู้เยี่ยมชม
ตอบเมื่อ: 24 พ.ค.2005, 1:15 pm
ถ้าเสียงธรรมะนี่พระพุทธเจ้าท่านไม่เรียกว่ากามฉันทะ ท่านเรียกว่า ธรรมฉันทะว่ามีความพอใจในธรรม
ถ้าหากว่าเขาถามว่า คนเรามุ่งพระนิพพานนี่เป็นตัณหาไหม ก็มีนักเทศน์หลายองค์เคยมาถาม เทศน์ด้วยกันอยากได้***นั่นก็ตัณหา อยากได้***นี่ก็ตัณหา อยากมีผัวก็ตัณหา อยากมีเมียก็ตัณหา อยากมีลูกเต้า อยากรวย อยากสวย เป็นอาการของตัณหาทั้งหมด คำว่า ตัณหานี่แปลว่าความทะยานอยากลงเบื้องต่ำ เกาะโลก มีอุปาทานเป็นเชื้อนำหรือเป็นผู้บังคับบัญชาการ และมีอวิชชาความโง่เป็นผู้สนับสนุน
นี่ถ้าถามว่า ถ้าคนเราอยากไปนิพพานเป็นตัณหาไหม ก็เห็นจะ ๙๙ % ที่ตอบว่า คำว่าอยากแปลว่าตัณหา ในเมื่ออยากไปนิพพานก็แสดงว่าเป็นตัณหาเหมือนกัน
ก็เลยตอบว่า นี่แกเทศน์แล้วแกก็เดินลงนรกไปเลยนะ แกเทศน์แบบนี้แกเลิกเทศน์แล้วก็เดินย่องไปนรกเลยสบาย ไปเสียคนเดียวก่อนดีกว่า มาชวนขาวบ้านเขาไปอีก
ถามเป็นอย่างไร บอกว่า "ต้องการไปนิพพานเขาเรียกว่าธรรมฉันทะ ไม่ใช่กามฉันทะ เรียกว่ามีความพอใจในธรรม เป็นอาการซึ่งทรงไว้ซึ่งความดี" นี่พวกเราฟังแล้วก็จำไว้ด้วยนะ ถ้าใครเขามาถามจะได้ตอบถูก
..อันนี้ตอบปัญหาคาใจได้เลยครับ..
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:
แสดงทั้งหมด
1 วัน
7 วัน
2 สัปดาห์
1 เดือน
3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
เรียงจากเก่า-ใหม่
เรียงจากใหม่-เก่า
:: ลานธรรมจักร ::
»
สนทนาธรรมทั่วไป
ไปที่:
เลือกกลุ่ม บอร์ด
กลุ่มสนทนา
----------------
สนทนาธรรมทั่วไป
แนะนำตัว
กฎแห่งกรรม
สมาธิ
ฝึกสติ
การสวดมนต์
การรักษาศีล-การบวช
ความรัก-ผูกพัน-พลัดพลาก
กลุ่มข่าวสาร-ติดต่อ
----------------
ข่าวประชาสัมพันธ์
ธรรมทาน
รูปภาพ-ประมวลภาพกิจกรรมต่างๆ
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ขอความรู้ทำรายงาน
แจ้งปัญหา
รูปภาพในบอร์ด
กลุ่มสาระธรรม
----------------
หนังสือธรรมะ
บทความธรรมะ
นิทาน-การ์ตูน
กวีธรรม
นานาสาระ
ต้นไม้ในพุทธประวัติ
วิทยุธรรมะ
ศาสนสถานและศาสนพิธี
----------------
สถานที่ปฏิบัติธรรม
วัดและศาสนสถาน
พิธีกรรมทางศาสนา
พุทธศาสนบุคคล
----------------
พระพุทธเจ้า
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ประวัติเอตทัคคะ (ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา)
สมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติและปฏิปทาของครูบาอาจารย์
ในหลวงกับพระสุปฏิปันโน
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณ
ไม่สามารถ
สร้างหัวข้อใหม่
คุณ
ไม่สามารถ
พิมพ์ตอบ
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลบข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลงคะแนน
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ
ไม่สามารถ
ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
เลือกบอร์ด •
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทานธรรมะ
•
หนังสือธรรมะ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
สถานที่ปฏิบัติธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ
•
วิทยุธรรมะ
•
เสียงธรรม
•
เสียงสวดมนต์
•
ประวัติพระพุทธเจ้า
•
ประวัติมหาสาวก
•
ประวัติเอตทัคคะ
•
ประวัติพระสงฆ์
•
ธรรมทาน
•
แจ้งปัญหา
จัดทำโดย กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ
webmaster@dhammajak.net
Powered by
phpBB
© 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
www.Stats.in.th