Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ความสุดโต่งในการปฏิบัติธรรม อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ทัพหลวง
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 28 มิ.ย. 2008
ตอบ: 161

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ย. 2008, 8:17 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ความสุดโต่งในข้างตามใจกิเลส

เรามาพูดกันถึงเรื่องความสุดโต่งอย่างแรก คือ ความสุดโต่งในด้านการพัวพันด้วยกามสุขเสียก่อน ทางนี้เป็นวิธีหาความสุขหรือหนีความทุกข์ ที่ธรรมดาที่สุด กระทั่งสัตว์ต่างๆ ก็รู้จักหาความสุขด้วยวิธีนี้ ความคิดพื้นฐานของวิธีการนี้ก็คือ หากเราได้รับอารมณ์ที่ดีเราจะมีความสุข แต่หากได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีเราจะมีความทุกข์ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจึงวิ่งหาแต่อารมณ์ที่ดี และพยายามหลีกหนีจากอารมณ์ที่ไม่ดี

อารมณ์ที่ดีได้แก่อารมณ์ที่น่าชอบใจ เช่นรูปที่สวยงามหรือรูปของสิ่งที่เรารัก เสียงที่เพราะหรือ เสียงที่เราพอใจเช่นเสียงของคนที่รักหรือเสียงยกย่องสรรเสริญ กลิ่นที่หอมหรือกลิ่นที่ชอบใจ รส ที่อร่อยหรือรสที่ชอบใจ สัมผัสที่นุ่มนวลหรือถูกอก ถูกใจ ทั้งนี้รวมไปถึงความคิดนึกในเรื่องที่พึงพอใจ ด้วย เช่นคนที่อายุมากได้คิดถึงความหลังแล้วพอใจ ส่วนเด็กวัยรุ่นได้ฝันถึงอนาคตแล้วพอใจเป็นต้น ทั้งนี้ อารมณ์ที่ดีของคนคนหนึ่ง อาจจะเป็นอารมณ์ ที่เลวของอีกคนหนึ่งก็ได้

ถ้าใครได้อารมณ์ที่น่าเพลิดเพลินพอใจก็จะมี ความสุข แต่ถ้าไม่ได้ ก็จะมีความทุกข์ และเมื่อมีความสุข ราคะก็มักจะแทรกตัวเข้ามาคือเกิดความ พึงพอใจในอารมณ์และความสุขนั้น เมื่อมีความทุกข์ โทสะก็จะแทรกตัวเข้ามาคือเกิดความไม่พอใจ ในอารมณ์และความทุกข์นั้น ดังนั้นวิธีหาความสุข หรือหนีความทุกข์ด้วยการเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่ดี และหนีอารมณ์ที่ไม่ดี จึงเป็นความสุดโต่งไปในข้าง การสนองกิเลส การตามใจกิเลส และทำให้เราเดินทางสายกลางไม่ได้

ถึงตรงนี้ขอกล่าวถึงทางสายกลางไว้เสียเลยว่า ทางสายกลางอันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น ได้แก่ การเจริญวิปัสสนา หรือการมีสติตามรู้รูปนามหรือกายใจของ ตนตามความเป็นจริงนั่นเอง

อารมณ์รูปนามเป็นอารมณ์ชนิดที่เรียกว่าอารมณ์ปรมัตถ์ คือเป็นอารมณ์ที่มีอยู่จริงๆ ตรงข้ามกับอารมณ์อีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ อันได้แก่เรื่องที่คิดนึกปรุงแต่งขึ้นเอง ยกตัวอย่างเช่นสีที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ การตีความสีนั้นว่าเป็นรูปผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ คน สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ เป็นสิ่งที่สมมติ บัญญัติกันขึ้นเพื่อสื่อความเข้าใจกันในชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งบัญญัติออกมาแตกต่างกันไปได้ หรือเสียง ที่หูได้ยินเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ การตีความเสียงนั้นว่าเสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เสียงลมพัด เสียงสุนัขเห่า เสียงนกร้อง ถ้อยคำนั้นสุภาพ ถ้อยคำนี้ไม่สุภาพ ฯลฯ เป็นสมมติ-บัญญัติ ความรู้สึกทางใจเช่นความโกรธ ความโลภ ความหดหู่ เป็นอารมณ์ ปรมัตถ์ การเรียกขานว่านี่คือความโกรธ นี่คือความ โลภ นี่คือความหดหู่ เป็นอารมณ์บัญญัติ คือคนแต่ละชาติแต่ละภาษาก็บัญญัติเรียกขานแตกต่างกันออกไป ทั้งที่เป็นความรู้สึกอย่างเดียวกัน เป็นต้น

การเจริญวิปัสสนานั้นต้องมีสติระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ หากเป็นอารมณ์ในฝ่ายรูปธรรมจะต้องรู้ลงอย่างเป็นปัจจุบัน แต่หากเป็นอารมณ์ ในฝ่ายนามธรรมเช่นความรู้สึกต่างๆ จะต้องตามรู้ คืออารมณ์นั้นเกิดขึ้นก่อนจึงค่อยรู้ในภายหลัง แต่เป็นภายหลังที่กระชั้นชิดโดยไม่มีอารมณ์ อย่าง อื่นมาคั่นเสียก่อน เมื่อรู้อารมณ์ปรมัตถ์แล้ว อารมณ์ปรมัตถ์จะแสดงความจริงคือไตรลักษณ์ให้ดู การรู้ความจริงของรูปนามนี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา เมื่อจิตรู้ความจริงแล้วว่ารูปนามไม่เที่ยง หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตาแล้ว จิตจะปล่อยวางความถือมั่นในรูปนาม ซึ่งก็คือการ ปล่อยวางก้อนทุกข์ลงได้นั่นเอง เพราะรูปนามนั่นแหละคือตัวทุกข์ตามนัยของอริยสัจจ์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

เมื่อใดจิตของเราสุดโต่งไปในข้างวิ่งตามกิเลส เสียแล้ว เราจะตามรู้กายหรือตามรู้ใจของตนเองอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ภายในไม่ได้ และแม้แต่อารมณ์ปรมัตถ์อันเป็นอายตนะภายนอกอันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ก็เห็น ไม่ได้ จะเห็นได้ก็เฉพาะอารมณ์บัญญัติเท่านั้น เช่น เราเห็น 'คน' เดินมา เราได้ฟังเสียง 'นก' ร้อง เรา ได้กลิ่น 'ดอกมะลิ' เรารู้รส 'ก๋วยเตี๋ยว' เท้าของเรากระทบ 'ก้อนหิน' และเราคิดถึง 'เพื่อน' เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเมื่อเกิดอยากได้อารมณ์ที่ดีทางตาหรืออยากดู จิตก็จะส่งออกไปดูแล้วลืมรูปนามหรือกายใจของตนเอง เมื่ออยากฟัง จิตก็ส่งไปฟังแล้ว ลืมรูปนามหรือกายใจของตนเอง และเมื่ออยากรู้เรื่องจิตก็กระโจนเข้าไปในโลกของความคิด ไปรู้เรื่องที่คิด แล้วลืมรูปนามหรือกายใจของตนเอง เป็นต้น เมื่อใดลืมกายลืมใจของตนเอง เอาแต่รู้อารมณ์บัญญัติที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อนั้นเราก็ไม่สามารถเจริญวิปัสสนาอันเป็นทางสายกลางได้

อย่างไรก็ตามการรู้อารมณ์ภายนอกนั้น หาก มีสติปัญญารู้ลักษณะของรูปนามภายนอก ไม่ไปหลงอยู่เพียงบัญญัติ ก็เป็นทางเจริญวิปัสสนาได้เช่นกัน เพราะจะเห็นโลกภายนอกเป็นความว่างเปล่า ปราศจากสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แล้วจึงค่อย เห็นรูปนามภายในหรือกายใจของตนเป็นความว่างเปล่าในภายหลัง อย่างนี้ก็สามารถกระทำได้ เพียงแต่อ้อมค้อมมากไปสักหน่อย เพราะสิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตนของเราอย่างเหนียวแน่นนั้น ได้แก่กายใจของตนนี้เอง ไม่ใช่สิ่งภายนอกซึ่งถึงจะยึดถือก็ไม่มากเท่ากับความยึดถือตนเอง

อนึ่งเรื่องวิปัสสนา เรื่องอารมณ์ปรมัตถ์ และอารมณ์บัญญัติที่กล่าวมานี้ หากเพื่อนนักปฏิบัติยังไม่เข้าใจก็ขอให้กลับไปอ่านหนังสือ ประทีปส่องธรรม ที่เคยแจกให้เพื่อนนักปฏิบัติได้อ่านมาก่อนหน้านี้แล้ว
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ทัพหลวง
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 28 มิ.ย. 2008
ตอบ: 161

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ย. 2008, 8:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ความสุดโต่งในข้างการบังคับกดข่มตนเอง
(การทรมานกายและทรมานใจ)


คราวนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องความสุดโต่งอย่าง ที่สอง ได้แก่การทำตนให้ลำบาก วิธีการนี้มีความคิดพื้นฐานอยู่ว่า การเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่ดีและหลีกหนีอารมณ์ที่เลวนั้นไม่สามารถให้ความสุข ที่แท้จริงและถาวรได้ เพราะอารมณ์เป็นของแปรปรวน ย่อมจะมีดีบ้างเลวบ้างเป็นธรรมดา เราจะเลือกรู้แต่อารมณ์ที่ดีๆ ไม่ได้ แต่ถ้าเราควบคุมตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราควบคุมจิตใจ ของตนเองไว้ในอำนาจได้ หรือทำให้จิตใจสงบสุข อยู่ได้ตลอดกาล เราก็จะเกิดความสุขที่ถาวร และลึกล้ำยิ่งกว่าการแสวงหาอารมณ์ที่ดีเป็นไหนๆ

ภายใต้ความคิดพื้นฐานดังกล่าว พวกเรานักปฏิบัติซึ่งมักจะเป็นคนดีหรือคนที่พยายามจะดี จึงเลือกทางที่จะควบคุมจิตใจของตนเองเป็นทางแสวงหาความสุขหรือเป็นทางพ้นทุกข์ แทนการปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลสอย่างที่ชาวโลกเขาทำกัน โดยหวังว่าถ้าเราสามารถควบคุมจิตใจของตนเองได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว เราจะบรรลุมรรคผลนิพพานหรือได้รับบรมสุขอันถาวร เพราะจิตใจจะมีแต่ความสงบ ความสุข และความดีอย่างถาวร

วิธีการควบคุมตนเองที่ทำกันมาตั้งแต่ก่อนครั้งพุทธกาลก็คือการทรมานกาย เช่น การอดอาหาร การอยู่ในอิริยาบถเดียว การกลั้นลมหายใจ การรับประทานอาหารพิเศษพิสดารต่างๆ เช่น อุจจาระ และการประพฤติวัตรปฏิบัติแปลกๆ เช่น การเลียน แบบกิริยาอาการของสัตว์ เป็นต้น แต่สำหรับพวก เรานักปฏิบัติในยุคนี้ เราได้ทราบจากคำสอนของพระพุทธเจ้ากันแล้วว่านั่นไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง เราจึง ไม่ทรมานกายโดยตรงเช่นนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าพวกเรา จะข้ามพ้นการปฏิบัติที่เป็นการทรมานกายและใจไป ได้เสียทีเดียว เพียงแต่เป็นการทรมานที่ละเอียดประณีตมากขึ้นเท่านั้นเอง

การทำตนให้ลำบากนั้นพอจะแบ่งออกได้เป็น สองกลุ่มใหญ่ๆ คือ การทรมานหรือบังคับกาย กับการทรมานหรือบังคับใจ ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างการปฏิบัติที่เป็นการทรมานกายและใจอย่างประณีตจนนึกกันไม่ถึงให้เพื่อนนักปฏิบัติได้รับทราบกันดังนี้

การทรมานกาย

ตัวอย่างของการทรมานหรือการบังคับกายก็เช่น การดัดแปลงจังหวะการหายใจ การดัดแปลงจังหวะการยืนเดินนั่งนอน การทำจังหวะในการเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วน การอยู่ในอิริยาบถเดียว และการมีข้อวัตรที่เป็นการกดข่มต่างๆ เช่น การอดอาหาร และการอดนอน เป็นต้น

ขอให้พวกเราลองสังเกตตนเองดูก็ได้ว่า เมื่อเราคิดที่จะปฏิบัติธรรมนั้น เรามีสติรู้กายอย่างตรงไปตรงมาตามที่กายเป็นอยู่ หรือเรามีการดัดแปลง ควบคุม หรือบังคับกายให้ต่างออกไปจากในยามปกติหรือไม่ เช่น เราเคยหายใจอย่างสบายๆ มาตั้งแต่เกิด พอเราคิดจะปฏิบัติธรรมเรา ก็เริ่มเข้าไปควบคุมจังหวะการหายใจของตนเอง เช่นพยายามหายใจให้ยาวขึ้น พยายามหายใจให้ลึกขึ้น และพยายามตามรู้ลมหายใจอย่างตั้งอกตั้งใจมากเป็นพิเศษ เป็นต้น เราจะเกิดความรู้สึกว่าการหายใจเป็นเรื่องที่น่าเหน็ดเหนื่อย และจิตใจที่เคยปลอดโปร่งโล่งเบาก็เริ่มรู้สึกหนักๆแน่นๆ ถ้ามีอาการอย่างที่ว่านี้ก็พึงทราบเถิดว่า เราไม่ได้มีสติรู้ลมหายใจอย่างถูกต้อง แต่มีโลภะหรือตัณหาหรือความอยากจะปฏิบัติเกิดขึ้น แล้วเกิดการกระทำกรรมคือเกิดความจงใจบังคับเพ่งจ้องลมหายใจด้วยความอยากที่จะมีสติบ้าง อยาก ให้บรรลุคุณธรรมพิเศษต่างๆ บ้าง และผลที่ตามมาก็คือความทุกข์กายและความทุกข์ใจ อันเป็นวิบากจากการพยายามปฏิบัติด้วยอำนาจบงการของตัณหา

ส่วนเพื่อนนักปฏิบัติบางท่านที่หัดตามรู้อิริยาบถ4 หรือพยายามทำจังหวะในการเคลื่อนไหว ต่างๆ หากจิตเกิดความหนักๆ แน่นๆ ดังที่ได้กล่าว แล้วในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดลมหายใจ ก็พึงทราบว่าได้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมขึ้นแล้วเช่นเดียวกัน คือมีตัณหาที่จะปฏิบัติธรรม แล้วลงมือดัดแปลงหรือควบคุมกายของตน ไม่ใช่มีความรู้สึกตัวและมีสติตามรู้กายอย่างถูกต้อง ด้วยจิตที่เป็นมหากุศลจิต ทั้งนี้จิตที่เป็นมหากุศลจิตนั้นจะต้องมีความเบาไม่ใช่ความหนัก มีความอ่อนไม่ใช่ความแข็ง มีความควรแก่การงานไม่ใช่ถูก นิวรณ์ครอบงำ มีความคล่องแคล่วไม่ใช่ซึมทื่อ และมีความซื่อตรงในการรู้อารมณ์ไม่ใช่พยายามเข้าไปควบคุมอารมณ์ จิตจะต้องมีสภาวะแห่งความรู้ตื่น และเบิกบาน มีความสงบ สะอาด และสว่าง ถ้าลงมือปฏิบัติแล้วเกิดสภาวะที่ตรงกันข้ามนี้ก็แสดงว่าเราปฏิบัติผิดพลาดไปแล้ว คือมีตัณหาที่จะปฏิบัติธรรม แล้วเกิดการสร้างภพ คือมีการกระทำกรรมบางอย่างซึ่งก็คือการบังคับกดข่มทำตนเองให้ลำบาก แล้วความทุกข์กายทุกข์ใจก็ติดตามมาในที่สุด

แทรกเรื่องอัตตกิลมถานุโยคกับทุกขาปฏิปทา

ในเรื่องการบังคับกายนี้ท่านผู้อ่านโปรดอ่านด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจจะเข้าใจผิดว่าผู้เขียนปฏิเสธแนวทางปฏิบัติของหลายๆ สำนัก สิ่งที่ผู้เขียนปฏิเสธได้แก่การทำกายให้ลำบากโดยมุ่งหวังว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธแนวทางการปฏิบัติของบางท่านที่ทำตนให้ลำบาก เพราะพบว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้สติสัมปชัญญะเกิดได้ บ่อยๆ และเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติของท่าน

ผู้ปฏิบัติบางท่านจำเป็นต้องใช้ทุกขาปฏิปทา คือปฏิบัติให้เคร่งตึงสักหน่อยก่อนในเบื้องต้น มิฉะนั้นสติสัมปชัญญะจะไม่คล่องตัว เป็นการเลือกหนทางปฏิบัติที่ค่อนข้างเข้มงวดเพราะมีปัญญาพบว่านั่นเป็นทางที่จะทำให้สติสัมปชัญญะ เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ทุกขาปฏิปทาจึงไม่ใช่หนทางของ อัตตกิลมถานุโยคที่เป็นการทำตนให้ลำบากอย่างไร้เดียงสา โดยหวังว่าถ้าลำบากมากๆ แล้วจะพ้นทุกข์ได้ในที่สุด โดยที่การกระทำทั้งหมดนั้นไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

อัตตกิลมถานุโยคกับทุกขาปฏิปทาเป็นคนละเรื่องกัน เพราะอัตตกิลมถานุโยคเป็นทางสุดโต่งอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่ทางสายกลาง ส่วนทุกขาปฏิปทาเป็นการดำเนินทางสายกลางสำหรับท่านที่ยังมีกิเลสแรงกล้า

ตัวอย่างเช่น ท่านที่ปฏิบัติด้วยการทำจังหวะ ในการเดิน ทำจังหวะในการเคลื่อนไหวมือ จงใจตามรู้อิริยาบถ 4 จงใจอดอาหารและอดนอนเป็นครั้งคราว อยู่ในอิริยาบถเดียวนานๆ เช่น เดินจงกรม ทั้งวันทั้งคืน หรือนั่งนานๆ เพื่อพิจารณาเวทนา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์และควรทำทั้งสิ้นหากทำแล้ว สติปัญญาเกิดได้คล่องตัว เช่นบางท่านถ้า รับประทานอาหารแล้วมักจะซึม ท่านก็อาจจะ อดอาหาร บ้างเพราะเจริญสติได้คล่องตัว บางท่าน เดินจงกรม แล้วรู้สึกตัวได้ดี ท่านก็ขยันเดิน บางท่านต้องทำจังหวะหรือต้องจงใจตามรู้อิริยาบถไปก่อนเพื่อหัดเรียนรู้ตัวสภาวธรรมคือรูปนาม อย่างนี้ ก็ทำได้ แต่ถ้าทำไปด้วยความรู้สึกทรมานกายทรมานใจ โดยหวังว่าถ้าทรมานได้ที่แล้วจะละกิเลสและบรรลุ มรรคผลนิพพานได้เองโดยไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง นั่นจึงเป็นการทรมาน กายหรือการปฏิบัติที่สุดโต่งในข้างการทำตนเองให้ลำบาก

ส่วนท่านที่มีสุขาปฏิปทาหากไปพยายามปฏิบัติด้วยวิธีการที่ลำบาก แทนที่สติปัญญาจะคล่องตัวก็อาจจะเกิดผลตรงกันข้าม คือจิตจะมีความฟุ้งซ่านมากยิ่งขึ้น ดังนั้นท่านใดจะดำเนินปฏิปทาใดก็ต้องพิจารณาตนเอง ว่าทำอย่างไรแล้ว สติปัญญาเกิดได้คล่องตัวก็ควรทำอย่างนั้นเนืองๆ แต่ก็พึงทราบว่าสุขาปฏิปทาไม่ได้แปลว่าให้กินๆ นอนๆ แล้วรอเวลาบรรลุมรรคผลนิพพาน สุขาปฏิปทาหมายถึงการปฏิบัติที่สบายเนื่องจากผู้ปฏิบัติมีราคะ โทสะ และโมหะไม่แรงกล้า แค่เลือกใช้อารมณ์กรรมฐานที่สบายๆ หรือทำความสงบบ้างเจริญสติบ้างก็บรรลุธรรมได้แล้ว ส่วนทุกขา ปฏิปทาเหมาะกับผู้ที่ยังมีกิเลสแรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเพราะอำนาจของกิเลสอยู่เนืองๆ จำเป็น ต้องใช้อารมณ์กรรมฐานที่ไม่น่าชื่นใจ เช่น ต้องรู้ทุกขเวทนาหนักๆ จิตจึงจะยอมปล่อยวางความยึดถือในรูปนามหรือกาย ใจ เป็นต้น

อนึ่งผู้ที่มีสุขาปฏิปทาเพราะมีกิเลสไม่แรงกล้า กับผู้มีทุกขาปฏิปทาเพราะมีกิเลสแรงกล้านั้น อาจจะบรรลุธรรมได้ช้าหรือเร็วก็ได้ ไม่ใช่ว่าผู้มีกิเลสเบาบางจะต้องบรรลุธรรมก่อน และไม่ใช่ว่าปฏิบัติลำบากแล้วจะต้องรู้ธรรมก่อน ทั้งนี้เนื่องจากการบรรลุช้าหรือเร็วไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวปฏิปทาหรือความหนาบางของกิเลส แต่ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ว่าแก่อ่อนเพียงใด ถ้ามีอินทรีย์กล้าเช่นมีสติ สมาธิ และปัญญาแก่กล้าก็บรรลุได้เร็ว แต่ถ้า มีอินทรีย์อ่อนก็บรรลุได้ช้า ทั้งนี้บุคคลอาจจะมีกิเลส กล้าพร้อมทั้งมีอินทรีย์กล้าด้วยก็ได้ อันจะทำให้ต้องปฏิบัติด้วยความลำบากแต่บรรลุธรรมเร็ว หรือ อาจจะมีกิเลสเบาบางแต่อินทรีย์ยังอ่อนก็ได้ อันจะทำให้ปฏิบัติได้สบายแต่รู้ธรรมได้ช้า เพราะผลของกุศลและอกุศลนั้นไม่ได้ลบล้างกัน แต่ต่างก็จะให้ผลของตนเมื่อถึงจังหวะเวลาอันสมควร

การทรมานใจ

ได้กล่าวถึงการปฏิบัติที่สุดโต่งในข้างการทรมานกายไปแล้ว ต่อไปนี้จะกล่าวถึงความสุดโต่ง ที่เป็นการทรมานใจหรือการทำจิตใจให้ลำบากบ้าง เท่าที่สังเกตดูผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมมักจะมีความสุดโต่งไปในข้างการหลงตามกิเลส แล้วเที่ยว แสวงหาอารมณ์ที่ดีหรือหลีกหนีอารมณ์ที่เลวเพื่อให้ จิตเกิดความสุข แต่เพื่อนนักปฏิบัติจำนวนมากมักจะมีความสุดโต่งไปในข้างการบังคับกดข่มตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามควบคุมจิตใจของตนเอง โดยหวังว่าจะทำให้จิตเกิดความสุขสงบ หมดความหวั่นไหวเมื่อต้องกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆ สามารถลดละกิเลสลงได้ และจะช่วยให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด เท่าที่สังเกตดูเห็นว่าการพยายามควบคุมหรือบังคับจิตใจนั้นมีอยู่ 4 ลักษณะ ดังนี้คือ

การพยายามปิดกั้นกิเลสไม่ให้เกิดขึ้น

ผู้ปฏิบัติส่วนมากมักเกลียดกิเลส เห็นกิเลสเป็นศัตรูผู้ทำลายความสงบสุขใน 'จิตใจของเรา' จึงพยายามปิดกั้นหรือหาทางป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ นานา เช่น

(1) การพยายามหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ด้วยการพยายามไม่ดูรูป ไม่ฟังเสียง ไม่ดมกลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส และไม่คิดนึก เป็นต้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเราหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ไม่ได้ จริง คือเมื่อมีตาก็ต้องเห็นรูป เมื่อมีหูก็ต้องได้ยินเสียง เมื่อมีจมูกก็ต้องได้กลิ่น เมื่อมีลิ้นก็ต้องกระทบรส เมื่อมีกายก็ต้องกระทบสัมผัสทางกาย และเมื่อมีใจก็ต้องคิดนึกปรุงแต่ง จะหลีกเลี่ยงอารมณ์ไปไม่ได้เลย แต่พวกเราบางคนก็พยายามเลี่ยงอารมณ์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเก็บตัวอยู่แต่ในห้องเพื่อจะได้ไม่ต้องได้เห็นหรือได้ยินสิ่งที่รบกวนจิตใจ การเอาน้ำร้อนล้างอาหารให้จืดชืดเพื่อ ทำลายรสก่อนจะรับประทาน การเพ่งใส่ความคิดเพื่อให้หยุดคิด และการทำสมถกรรมฐานเพื่อให้จิตแนบแน่นสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เป็นต้น

แท้จริงความพยายามที่จะไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ก็เป็นไปด้วยอำนาจของตัณหาและทิฐินั่นเอง คือ เป็นไปตามความอยากที่จะไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น และเป็นไปตามความเห็นผิดที่ว่าเราสามารถบังคับควบคุมจิตใจไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นได้เพราะจิตใจเป็นตัวเราของเรา ดังนั้นวิธีการเช่นนี้จึงไม่ใช่ การปิดกั้นอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น แต่เป็นการกระทำด้วยอำนาจบงการของอกุศลคือตัณหาและทิฐินั่นเอง นอกจากนี้อกุศลจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ไม่ได้เป็นไปตามใจอยาก แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง เช่น โทสะจะเกิดขึ้นได้หากจิตมี ปฏิฆานุสัยหรือความเคยใจที่จะขัดเคืองเป็นทุนเดิม อยู่แล้ว เมื่อเกิดการกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี จิตก็จะปรุงแต่งโทสะขึ้นมาได้ หากจิตไม่มีปฏิฆานุสัย หรือได้รับการกระทบอารมณ์ที่ดี โทสะก็ไม่เกิดขึ้น เป็นต้น

หากการหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์เป็นวิธี การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง บรรดาท่านที่พิการทางสายตาหรือพิการทางหูก็น่าจะบรรลุธรรมได้เร็วกว่า คนปกติ เพราะสามารถลดการกระทบอารมณ์ลงได้ บางทวาร แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็น เช่นนั้นเลย บุคคลผู้บ้าใบ้บอดหนวกมาแต่กำเนิดกลับไม่สามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะหากไม่มีการกระทบอารมณ์ ผู้ปฏิบัติก็ไม่สามารถเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ เนื่องจากวิปัสสนากรรมฐานจะเริ่มต้นขึ้นได้เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติระลึกรู้สภาวะของอารมณ์รูปนามที่ปรากฏทางทวารทั้ง 6 และมีปัญญาเข้าใจลักษณะของรูปนามนั้นได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ดังนั้นการหลีกหนีอารมณ์แม้จะนำความสงบสุขมาให้ได้ก็จริง แต่ก็ปิดกั้นการเจริญปัญญาคือการรู้รูปนามตามความเป็นจริงไปด้วย พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ทรงสอนให้ผู้ปฏิบัติหลีกเลี่ยงอารมณ์ แต่ทรงสอนให้สำรวมอินทรีย์คือให้มีสติรู้เท่าทันจิตของตนเมื่อมีการกระทบอารมณ์

การหลีกหนีอารมณ์กับการสำรวมอินทรีย์เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน เพราะการหลีกหนีอารมณ์คือ การหลีกเลี่ยงการรับรู้อารมณ์ แต่การสำรวมอินทรีย์ หมายถึงการมีสติคุ้มครองจิตเมื่อมีการกระทบอารมณ์ กล่าวคือเมื่อตามองเห็นรูปแล้วเกิดความยินดียินร้ายขึ้นที่ใจ ก็ให้มีสติรู้เท่าทันความยินดียินร้ายนั้น เมื่อหูได้ยินเสียง หรือเมื่อใจกระทบธัมมารมณ์แล้วเกิดความยินดียินร้ายขึ้นที่ใจ ก็ให้ มีสติรู้เท่าทันความยินดียินร้ายนั้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งถ้าอารมณ์นั้นรุนแรงมาก เราจะสู้ไม่ไหวจริงๆ เราจะหลีกหนีอารมณ์นั้นก็ได้ แต่เป็นการหนีเพื่อตั้งหลัก ไม่ใช่หนีเพราะคิดว่า การหนีจะช่วยให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่ายๆ เช่น พระหนุ่มเณรน้อยไปพบสาวแล้วเกิดหลงรัก ถ้าไม่สามารถรักษาจิตใจของตนได้อย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนให้แบกกลดสะพายบาตรหนีเอาตัวรอดไปก่อน เพราะจำเป็นต้องทำอย่างนั้น แล้วค่อยไปฝึกฝนพัฒนาจิตเพื่อให้พ้นจากกามราคะในโอกาสต่อไป

(2) การพยายามควบคุมจิตไม่ให้กระเพื่อมหวั่นไหวเมื่อต้องกระทบอารมณ์ ด้วยการเพ่งอารมณ์อันใดอันหนึ่งอันเป็นวิธีการของสมถกรรมฐาน เช่น (ก) เมื่อตาเห็นรูปก็พยายามเพ่งจิตให้นิ่งให้ว่าง หรือ (ข) คอยเพ่งกายทั้งกายหรือเพ่งบางส่วนของกาย เช่น เพ่งลมหายใจ เพ่งมือ เพ่งเท้า และเพ่งท้องอยู่ตลอดเวลา จนจิตนิ่ง แข็ง หนัก และซึมทื่อ จะได้ไม่เกิดปฏิกิริยาเป็นยินดียินร้ายต่อรูปที่ตามองเห็น หรือ (ค) พยายาม บริกรรมหรือกำหนดลมหายใจเพื่อตัดกระแสความ คิดอันเป็นต้นทางให้เกิดกิเลส โดยพยายามไม่ให้เกิดกามวิตกเพื่อไม่ให้เกิดกามราคะ พยายามไม่ให้เกิดพยาบาทวิตกเพื่อไม่ให้เกิดโทสะ และ (ง) บางท่านพยายามตัดกระบวนการปรุงแต่งของจิตไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ด้วยการใช้ความคิดพิจารณาว่าสิ่งที่ตาเห็นเป็นรูปไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จิตก็จะไม่ปรุงแต่งเป็นความยินดียินร้ายใดๆ ขึ้นมา เป็นต้น

วิธีการเช่นว่านี้แม้จะทำให้อกุศลธรรมหยาบๆ เกิดขึ้นไม่ได้ก็จริง แต่เป็นวิธีการที่ไม่เปิดทางให้เกิดวิปัสสนาปัญญา เพราะยิ่งปฏิบัตินานไปก็จะยิ่งพอกพูนความเห็นผิดว่าจิตเป็นสิ่งที่เราบังคับควบคุมได้ แทนที่จะเห็นความจริงว่า จิตและธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

การพยายามละกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว

เพื่อนนักปฏิบัติมักจะเป็นคนดีหรือคนที่พยายามจะดี ดังนั้นจึงมีธรรมชาติที่เกลียดกิเลส เห็นกิเลสเป็นศัตรูผู้ทำลายคุณงามความดีและความสงบสุขของจิตใจ ดังนั้นเมื่อพบว่าจิตมีกิเลส ก็จะพยายามหาทางละกิเลสนั้นด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการทำสมถกรรมฐานทั้งสิ้น เช่น

(1) การเพ่ง เช่น (ก) เมื่อโทสะเกิดขึ้นก็เพ่งจ้องใส่โทสะ ทำให้โทสะหดตัวและหลบลึกเข้าไปใน จิตใจ เป็นการกดข่มกิเลสไว้ชั่วคราว หรือ (ข) การ เพ่งอารมณ์อื่นๆ เช่น หันไปเพ่งลมหายใจหรือ เพ่งมือเพ่งเท้าและเพ่งท้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการรับรู้อารมณ์ที่ทำให้เกิดกิเลส ทำให้กิเลสดับลงได้เพราะเหตุของกิเลสดับไป เช่น เมื่อจิตเกิดโทสะคือโกรธใครสักคนหนึ่ง ก็หันมาเพ่งลมหายใจเพื่อ ตัดพยาบาท-วิตกทำให้ลืมคิดถึงคนๆ นั้น จิตก็จะหายโกรธได้ เป็นต้น

(2) การบริกรรม เช่น เมื่อเกิดความโกรธก็พยายามบริกรรมพุทโธอย่างถี่ๆ หรือบริกรรมโกรธ หนอๆ แล้วความโกรธก็จะดับไป เพราะขณะที่บริกรรมนั้นจิตลืมอารมณ์อันเป็นต้นตอของความโกรธไปเสียแล้ว

(3) การคิดพิจารณา เมื่อกิเลสเกิดขึ้นบางท่าน ก็ใช้วิธีการคิดพิจารณาเพื่อแก้กิเลส เช่น เมื่อเกิดความรักหรือความใคร่ในใครสักคนหนึ่ง ก็หยิบยก เอาบุคคลนั้นมาคิดพิจารณาว่าเป็นปฏิกูลหรือเป็น อสุภะ หรืออาจจะคิดพิจารณาตนเองลงเป็นธาตุเป็น ขันธ์ก็ได้ และเมื่อเกิดความโกรธใครสักคนหนึ่ง ก็ คิดพิจารณาว่าเขากับเราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์กัน มาพบกันไม่นานต่างก็ต้องตายจากกันแล้วต่างก็ต้องร่อนเร่ไปตามกรรมของตน หรือคิดว่าที่เขาทำ กับเราได้นั้นก็เพราะเรามีกรรมเก่าจึงต้องได้พบกับเขาซึ่งเป็นคนไม่ดี เป็นต้น

(4) การทำสมถกรรมฐานอย่างอื่นๆ เช่น เมื่อจิตเกิดความโกรธก็พยายามเจริญเมตตา พรหมวิหารอันเป็นการเจริญเมตตาแบบเจาะจงตัวบุคคล หรือเมตตาอัปปมัญญาอันเป็นการเจริญเมตตากว้างขวางไม่เจาะจงตัวบุคคล เป็นต้น

แท้จริงพระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ทุกข์ ไม่ใช่ให้ละทุกข์ กิเลสเป็นสังขารขันธ์ซึ่งจัดอยู่ในกองทุกข์ เราจึงต้องรู้กิเลสตามความเป็นจริง เช่น จิตมีราคะก็ให้รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะก็ให้รู้ว่ามีโทสะ จิตมีโมหะก็ให้รู้ว่ามีโมหะ จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ก็ให้รู้ว่าหดหู่ เป็นต้น การรู้กิเลสนั้นหมายความว่าเราไม่คล้อยตามกิเลสเพราะถูกกิเลส ครอบงำ แต่ก็ไม่ควรพยายามต่อต้านกิเลส แต่ให้รู้กิเลสนั้นโดยมีสติรู้อย่างสักว่ารู้ รู้ด้วยใจที่เป็น กลาง แล้วปล่อยให้กิเลสไหลผ่านไปเองอย่างไร้พิษสง ถ้าพยายามฝืนหรือพยายามต่อต้านกิเลส กิเลสจะแสดงความพลังอำนาจและความรุนแรงให้เห็นทันที เราควรทำใจของเราให้เหมือนเรือลำใหญ่ที่จอดทอดสมออยู่ท่ามกลางกระแสน้ำ เรือย่อมไม่ไหลตามน้ำ แต่ก็ไม่ต้านน้ำ น้ำจะไม่สามารถ ทำลายเรือได้ เรื่องการไม่คล้อยตามและไม่ต่อต้านกิเลส เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันมากพอสมควร จึงจะเข้าใจได้

ยกตัวอย่างเช่น พอเราเกิดโกรธใครสักคนหนึ่งอย่างรุนแรง ถ้าเราเอาแต่คิดพยาบาทปองร้าย เขาก็คือการหลงตามกิเลส แต่ถ้าเราพยายามห้ามใจตนเองไม่ให้โกรธ หรือพยายามดับความโกรธด้วยวิธีการต่างๆ โดยเห็นว่าความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็เท่ากับเรามีความโกรธตัวใหม่ไปโกรธความโกรธ ตัวแรก จิตจะไม่เป็นกลาง แต่จะเกิดความดิ้นรนปรุงแต่งเพื่อจะต่อต้านทำลายความโกรธนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความทุกข์ทางใจ แต่ถ้าเราเห็นว่าจิตมีความโกรธ รู้ว่าความโกรธเป็นเพียงนามธรรมบาง อย่างที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ใช่เราโกรธ เพียงเท่านี้ความโกรธก็จะหลุดร่วงไปจากจิตใจได้อย่างอัตโนมัติ แม้กิเลสอื่นๆ ก็ให้ใช้หลักเดียวกันนี้ คือไม่คล้อยตามแต่ก็ไม่ต่อต้าน ทั้งนี้การคล้อยตาม กิเลสเป็นความสุดโต่งอย่างแรก ส่วนการต่อต้านกิเลสก็เป็นความสุดโต่งอย่างที่สอง

อย่างไรก็ตาม หากเกิดสถานการณ์จวนตัว เรา ก็จำเป็นต้องออกกำลังต่อสู้กับกิเลสเพื่อเอาตัวรอด ไปชั่วคราวเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ดังตัวอย่างเดิมคือพระหนุ่มเณรน้อยเมื่อเกิด กามราคะที่รุนแรงไปหลงรักสาวจนอยากจะลาสิกขา หากไม่มีกำลังพอที่จะเจริญสติเจริญปัญญาให้เห็นตนเอง ให้เห็นสาว และให้เห็นกามราคะว่าเป็น เพียงธาตุขันธ์ที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตาได้ ก็จำเป็นต้องใช้สมถกรรมฐานเข้าช่วยด้วยการพิจารณาอสุภกรรมฐาน เป็นต้น หาก ยังสู้ไม่ไหวอีก ก็ให้รีบหนีไปจากที่นั้นเพื่อเอาตัวรอด ไว้ก่อน ไม่ใช่ จะถือดีเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวทั้งที่กิเลสมีกำลังกล้าจนจวนจะพ่ายแพ้อยู่แล้ว
__________________
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ทัพหลวง
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 28 มิ.ย. 2008
ตอบ: 161

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ย. 2008, 8:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การพยายามทำกุศลให้เกิดขึ้น

เพื่อนนักปฏิบัติมีธรรมชาติที่รักกุศล อยากให้กุศลเกิดขึ้น เช่น เมื่อจิตไม่มีสติก็พยายามจะทำให้มีสติ เมื่อจิตไม่สงบหรือไม่ตั้งมั่นก็พยายามทำให้สงบหรือตั้งมั่น และเมื่อจิตไม่มีปัญญารู้รูปนามตรงตามความเป็นจริง ก็พยายามช่วยจิตคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา เป็นต้น เมื่อพูดมาถึงตรงนี้เพื่อนบางท่านอาจจะเกิดความสับสนว่า แล้ว เราไม่ต้องพยายามทำสติ สัมมาสมาธิ และปัญญาให้เกิดขึ้นหรือ ขอตอบว่าสติ สัมมาสมาธิ และปัญญาต่างก็มีลักษณะเป็นอนัตตา ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นได้ตามใจชอบ แต่ถ้าเราทำเหตุใกล้ของ สติ สัมมาสมาธิ และปัญญาให้เกิดขึ้นได้แล้ว สติ สัมมาสมาธิ และปัญญาก็จะเกิดขึ้นได้ตามเหตุนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะเราอยากให้เกิดและทำให้เกิดขึ้นได้โดยตรง

เหตุใกล้ให้เกิดสติคือการที่จิตจดจำสภาว-ธรรมหรือรูปนามได้แม่นยำ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติจึงไม่ใช่การพยายามทำสติให้เกิดขึ้น แต่จะต้องหมั่นตามรู้กายตามรู้ใจของตนเนืองๆซึ่งได้แก่การเจริญสติปัฏฐานที่มีรูปนามเป็นอารมณ์ จนจิตจดจำ สภาวะของรูปนามได้ พอสภาวะที่จิตจำได้แล้วปรากฏขึ้น สติก็จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องชักชวนให้เกิด เช่นเมื่อหมั่นตามรู้จิตเนืองๆ จนรู้จักว่าความเผลอ ความโลภ ความโกรธ ฯลฯ เป็นอย่างไร เมื่อจิตเกิดความเผลอ ความโลภ หรือความโกรธขึ้น สติจะเกิดขึ้นรู้เท่าทันว่าเผลอไปแล้ว โลภไปแล้ว หรือโกรธไปแล้ว ทั้งนี้สติ (ในที่นี้หมายถึงสัมมาสติ) จะ เป็นเครื่องระลึกรู้สภาวะของรูปนาม ที่ปรากฏขึ้น และเมื่อสติเกิดขึ้นนั้น สติจะทำหน้าที่ อารักขาคือคุ้มครองจิตให้เป็นกุศล จิตที่เป็นกุศลจะมีสภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน สงบ สะอาด สว่างอยู่ใน ตัวเอง หรือกล่าวได้ว่าสติเกิดขึ้นเมื่อใด จิตจะมีความสุขด้วยโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขา-เวทนาเมื่อนั้น

เหตุใกล้ของสมาธิคือความสุข หน้าที่ของผู้ปฏิบัติจึงไม่ใช่การพยายามบังคับจิตให้สงบ ถ้าปรารถนาความสงบด้วยการทำสมถกรรมฐาน ก็ต้องหาอารมณ์ที่เมื่อสติไประลึกรู้เข้าแล้วเกิดความสุขมาเป็นเหยื่อล่อจิต เช่นบางท่านกำหนดลมหายใจแล้วเกิดความสุข จิตชอบกำหนดลมหายใจ ก็ให้มีสติระลึกรู้ลมหายใจไปอย่างสบายๆ ไม่นานจิตก็จะเกิดความสงบสุขขึ้นเองโดยไม่ต้องพยายามบังคับ เพราะยิ่งพยายามบังคับกดข่มจิต จิตก็ยิ่งไม่มีความสุข เมื่อไม่มีความสุขสมาธิก็เกิด ขึ้นไม่ได้ ส่วนท่านที่ต้องการสัมมาสมาธิอันเป็นความตั้งมั่นของจิตในการระลึกรู้อารมณ์รูปนามก็ไม่ยากอะไรนัก เพียงมีสัมมาสติหรือสติที่ระลึกรู้รูปนาม จิตจะเกิดเป็นกุศลและมีความสุขที่ได้รู้อารมณ์รูปนามโดยอัตโนมัติ เมื่อจิตมีความสุขเพราะรู้อารมณ์รูปนาม สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นในการรู้อารมณ์รูปนามก็จะเกิดขึ้นมาเองชั่วขณะ

เหตุใกล้ให้เกิดปัญญาคือสัมมาสมาธิ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติจึงไม่ใช่การพยายามศึกษาหาความรู้จากตำรับตำราหรือครูบาอาจารย์ และไม่ใช่การคิด พิจารณารูปนามกายใจแต่อย่างใด ถ้าปรารถนาปัญญาที่เป็นวิปัสสนาปัญญาก็มีทางเดียว คือจะต้องมีสติระลึกรู้รูปนามกายใจ แล้วจิตจะเกิดความ ตั้งมั่นในการรู้รูปนามกายใจ เมื่อรู้แล้วรู้อีกถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนามกายใจ ซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรูปนามกายใจนี้เองคือ วิปัสสนาปัญญา อย่างไรก็ตามเนื่องจากพวกเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราจึงต้องอาศัยการศึกษาตำรับตำราและฟังคำสอนของครูบาอาจารย์ เพื่อให้ทราบวิธีการเจริญสติเจริญปัญญาที่ถูกต้องเสียก่อน จึงจะลงมือเจริญสติปัญญาได้อย่างถูกต้อง

การพยายามรักษาและพัฒนากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อกุศลธรรมเกิดขึ้นแล้ว เพื่อนนักปฏิบัติมักจะปรารถนาให้กุศลธรรมนั้นเกิดเนืองๆ และไม่เสื่อมสลายไป เช่น อยากจะให้สติเกิดขึ้นตลอดเวลา อยากจะให้จิตมีความตั้งมั่นแนบแน่นยิ่งๆ ขึ้นไป อยากให้เกิดวิปัสสนาปัญญาระดับที่สูง ยิ่งๆ ขึ้นไป รวมทั้งอยากให้บรรลุมรรคผลนิพพาน โดยเร็ว แต่สิ่งที่ได้รับก็คือ สติเกิดบ้างไม่เกิดบ้าง จิตตั้งมั่นบ้างไม่ตั้งมั่นบ้าง ปัญญาก็ไม่มีพัฒนาการ ที่เห็นได้ชัดเจน และมักจะเกิดกุกกุจจะ คือความรำคาญใจว่าเมื่อใดจะได้บรรลุมรรคผลเสียที

แท้จริงกุศลธรรมทั้งหลายก็ยังตกอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์ จะปลูกปั้นเอาตาม(ชอบไม่ได้ ยิ่งมีความอยากจะให้กุศลธรรมเกิดขึ้นมากเท่าใด กุศลธรรมก็ยิ่งเกิดได้ยากมากขึ้นเท่านั้น เพราะอกุศลคือความอยากได้เข้ามาครอบครองจิตใจเสียหมดแล้ว ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องอยากรักษากุศลธรรมอันเป็นของไม่เที่ยงและทนได้ยาก และไม่ต้องอยากให้กุศลธรรมอันเป็นของที่ไม่อยู่ใน อำนาจบังคับเจริญขึ้นตามใจชอบ เพียงมีสติตามระลึกรู้รูปนามอย่างถูกต้องเนืองๆ กุศลธรรมย่อม เจริญขึ้นได้เองเพราะเราได้ทำเหตุของกุศลธรรมเหล่านั้นขึ้นมาแล้ว

แทรกเรื่องมิจฉาวายามะกับสัมมาวายามะ

ในเรื่องการบังคับใจนี้เพื่อนนักปฏิบัติโปรดอ่านด้วยความระมัดระวัง เพราะหากไม่ระมัดระวังก็อาจจะเข้าใจผิดว่าผู้เขียนปฏิเสธสัมมาวายามะหรือความเพียรชอบ แท้จริงแล้วการ ทรมานกายทรมานใจเป็นมิจฉาวายามะคือเป็นความเพียรที่ผิด ดังนั้นแม้จะเป็นการเพียรละอกุศล ที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น และเพียรทำกุศลที่เกิดขึ้น แล้วให้มั่นคงและเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเช่นเดียวกับสัมมาวายามะ แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับสัมมาวายามะทีเดียว

มิจฉาวายามะหรือความเพียรที่ผิดนั้นเป็นความเพียรที่เกิดจากอำนาจบงการของตัณหา โดยอยากจะได้ผลหรือสิ่งที่ดีงามต่างๆ เมื่อจิตถูกบงการ ด้วยตัณหา จิตก็เกิดการกระทำกรรมหรือการสร้าง ภพขึ้นในจิต แล้วความทุกข์หรือความเครียดก็เกิดขึ้นในจิตเพราะการทำความเพียรนั้น

ส่วนสัมมาวายามะหรือความเพียรชอบนั้น เกิดจากผู้ปฏิบัติมีฉันทะ คือมีความพึงพอใจที่จะทำเหตุของกุศลธรรมโดยการตามรู้รูปนามกายใจอยู่เนืองๆ เพราะเห็นว่ารูปนามเป็นสิ่งที่น่าสนใจควร ค่าที่จะเรียนให้รู้ความจริง เมื่อมีฉันทะคือความพึงใจที่จะเรียนรู้ ก็เกิดวิริยะคือความหมั่นเพียรในการตามรู้สภาวะของรูปนามกายใจ เมื่อหมั่นตาม รู้ก็จำสภาวะของรูปนามได้มากและแม่นยำ เมื่อจำ สภาวธรรมได้ คราวใดที่สภาวะอันนั้นเกิดขึ้น สติก็จะเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องจงใจทำให้สติเกิดขึ้นด้วยอำนาจของตัณหา และเมื่อมีสติระลึกรู้รูปนาม อยู่นั้น อกุศลธรรมก็เป็นอันถูกละไปแล้ว ทั้ง อกุศลธรรมใหม่ก็เกิดขึ้นไม่ได้ในขณะนั้นเนื่องจากอกุศลธรรมจะเกิดร่วมกับสติไม่ได้ และการมีสติระลึกรู้รูปนามตามความเป็นจริงนี้แหละ เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้บังเกิดขึ้น และกุศลธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสติ สัมมาสมาธิ และวิปัสสนาปัญญาก็จะยิ่งงอกงามไพบูลย์ขึ้นทุกที หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบุพพาจารย์ของพระป่า ท่านจึงได้สอนไว้ว่า "เมื่อมีสติก็มีความเพียร เมื่อขาดสติก็ขาดความเพียร"


http://larndham.net/index.php?showtopic=23688
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
บัวหิมะ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.ย. 2008, 2:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี น้อ สาธุ
 

_________________
ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ฌาณ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 23 ก.ค. 2008
ตอบ: 1145
ที่อยู่ (จังหวัด): หิมพานต์

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2008, 7:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 

_________________
ผมจะพยายามให้ได้ดาวครบ 10 ดวงครับ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง