Home
•
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทาน
•
หนังสือ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
•
แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้
ค้นหา
สมัครสมาชิก
รายชื่อสมาชิก
กลุ่มผู้ใช้
ข้อมูลส่วนตัว
เช็คข้อความส่วนตัว
เข้าสู่ระบบ(Log in)
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
...สาระจากเรือนธรรม...
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
:: ลานธรรมจักร ::
»
บทความธรรมะ
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089
ตอบเมื่อ: 11 เม.ย.2008, 5:46 pm
สาระจากเรือนธรรม
เป็นเอกสารที่ห้องหนังสือเรือนธรรมจัดทำแจกแก่สมาชิกผู้มาเยือน
โดยคัดสรรจากหนังสือต่างๆ ของครูบาอาจารย์
เพื่อเป็นประโยชน์และเป็น กำลังใจในการศึกษาธรรม
ในวาระที่ห้องหนังสือเรือนธรรมดำเนินงานมาครบ 2 ปี
ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2548 จึงได้รวบรวม สาระจากเรือนธรรม บางส่วน
มาจัดพิมพ์เป็นเล่ม เพื่อเป็นที่ระลึกและแจกจ่ายออกไปในวงกว้างยิ่งขึ้น
อันจะเป็นประโยชน์ แก่ผู้ศึกษาธรรมต่อไป
ขอกราบคารวะครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ได้มอบคำสอนอันเปี่ยมด้วยความเมตตายิ่ง
ห้องหนังสือเรือนธรรม
290/1 ถนนพิชัย
เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
จิตดิ้นรน กลับกลอก ป้องกันยาก ห้ามยาก
คนมีปัญญาสามารถทำให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศร
ไม่ควรมองหาความผิดผู้อื่น หรือธุระที่เขาทำแล้วหรือยังไม่ทำ
ควรตรวจดูเฉพาะสิ่งที่ตนทำ หรือยังไม่ทำเท่านั้น
เมื่อเกิดมาแล้วจะต้องตาย ก็ควรสร้างบุญกุศลไว้ให้มาก
เหมือนนายมาลาการร้อยพวงมาลัย เป็นจำนวนมากจากกองดอกไม้ฉะนัน
ราตรีนานสำหรับคนนอนไม่หลับ
ระยะทางโยชน์หนึ่งไกล สำหรับผู้ล้าแล้ว
สังสารวัฏยาวนาน สำหรับคนพาลผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม
ถึงจะอยู่ใกล้บัณฑิตตลอดชีวิต
คนโง่ก็หารู้พระธรรมไม่เหมือนจวักไม่รู้รสแกงฉะนั้น
กรรมใดทำแล้ว ทำให้เดือดร้อนภายหลัง กรรมนั้นไม่ดี
ผู้ทำ กรรมเช่นนี้ต้องร้องไห้น้ำตานองหน้า รับสนองผลกรรมนั้น
กรรมใดทำแล้ว ไม่ทำให้เดือดร้อนภายหลัง กรรมนั้นดี
คนทำย่อมเสวยผลกรรมนั้นอย่างเบิกบานสำราญใจ
ตลอดระยะเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง ต่อเมื่อมันให้ผลนั้นแหละ เขาย่อมได้รับทุกข์
กรรมชั่วที่ทำแล้ว ยังไม่ให้ผลทันทีทันใด เหมือนนมที่รีดใหม่ๆ
ไม่กลายเป็นนมเปรี้ยวในทันที แต่มันจะค่อยๆ เผาผลาญผู้กระทำในภายหลัง
เหมือนไฟไหม้แกลบฉะนั้น...
ขุนเขาไม่สะเทือนเพราะแรงลมฉันใด
บัณฑิตย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาหรือสรรเสริญ ฉันนั้น
ห้วงน้ำลึก ใสสะอาดสงบฉันใด
บัณฑิตฟังธรรมแล้ว ย่อมมีจิตใจสงบฉันนั้น
ถ้าหากคนเราจะทำความดีไซร้ ก็ควรทำบ่อยๆ
ควรพอใจในการทำความดีนั้น เพราะการสะสมความดีนำสุขมาให้
อย่าดูถูกบุญว่าเล็กน้อยจักไม่สนองผล
น้ำตกจากเวหาทีละหยาดๆ ยังเต็มตุ่มได้
นักปราชญ์สะสมบุญทีละเล็กละน้อย ย่อมเต็มด้วยบุญได้เช่นกัน
ถ้าเธอทำตนให้เงียบเสียงได้เหมือนฆ้องปากแตก
ก็นับว่าเธอเข้าถึงนิพพานแล้ว เธอก็จะไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกับใครอีก
สอนคนอื่นอย่างใด ควรทำตนอย่างนั้น
ฝึกตนเองได้แล้ว จึงควรฝึกคนอื่น เพราะตัวเราเองฝึกยากยิ่งนัก
เราต้องพึ่งตัวเราเอง คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้แสนยาก
ถึงจะทำประโยชน์แก่คนอื่นมากมาย
ก็ไม่ควรจะทิ้งจุดมุ่งหมายปลายทางของตน
เมื่อรู้ว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายปลายทางของตนแล้ว ก็ควรใฝ่ใจขวนขวาย
ผู้ใดทำบาปไว้แล้ว ละได้ด้วยการทำดี
ผู้นั้นย่อมส่องโลกนี้ให้สว่าง เหมือนพระจันทร์ที่พ้นจากเมฆฉะนั้น
ไม่มีไฟใดเสมอด้วยราคะ ไม่มีโทษใดเสมอด้วยโทสะ
ไม่มีทุกข์ใดเสมอด้วยเบญจขันธ์ ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบ
ควรละความโกรธ ละมานะ เอาชนะกิเลส เครื่องผูกมัด ทุกอย่าง
ผู้ที่ไม่ติดอยู่ในรูปนาม หมดกิเลสแล้ว ทุกข์ก็ครอบงำเขาไม่ได้
ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน อนาคต คนที่ถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียว
หรือถูกนินทาโดยส่วนเดียว ไม่มี
คนมีปัญญา ควรขจัดมลทินของตน ทีละน้อยๆ ทุกๆ ขณะ โดยลำดับ เหมือนนายช่างทองปัดเป่าสนิมแร่
"พวกเธอจงพยายามทำความเพียรเถิด พระตถาคต เป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น
ชนทั้งหลายผู้เดินทางสายนี้ โดยปฏิบัติภาวนา ก็จะพ้นจากเครื่องผูกของพญามาร"
สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เมื่อใดบุคคลเห็นแจ้งด้วยปัญญา ดังนี้
เมื่อนั้น เขาย่อมหน่ายในทุกข์ นี่เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
จงปล่อยวางทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน และไปให้ถึงที่สุดแห่งภพ
เมื่อใดหลุดพ้นจากทุกอย่างแล้ว พวกเธอจะไม่มาเกิด ไม่แก่อีกต่อไป
ผู้ไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวงว่า กู ของกู ไม่ว่าในรูปหรือนาม
เมื่อไม่มี ก็ไม่เศร้าโศก เขาผู้นั้นแหละ เรียกว่า ภิกษุ
ภิกษุ เธอจงวิดน้ำออกจากเรือนี้ เมื่อวิดน้ำออกจนหมดแล้ว เรือจักแล่นเร็ว
ทำลายราคะ โทสะ โมหะเสียแล้ว เธอจักไปถึงพระนิพพาน
ภิกษุผู้มีกายสงบ มีวาจาสงบ มีใจสงบ ตั้งมั่น ละโลกามิสได้ เรียกว่า ผู้สงบจริง
ตนเป็นที่พึ่งของตนเอง ตนเป็นทางเดินของตน
เพราะฉะนั้น ควรควบคุมตน เหมือนพ่อค้าม้า ทะนุถนอมม้าดี
หมั่นประกอบเหตุ แต่ไม่เร่งรัดเอาผล
การปฏิบัติก็เหมือนการเลี้ยงเป็ด
คือ เรามีหน้าที่ให้อาหาร อย่าไปสนใจว่าเป็ดจะโตเร็วช้า
เหมือนการปลูกต้นไม้ เรามีหน้าที่รดน้ำให้อาหารมัน ดูแลแมลงไม้มัน
เช่นเดียวกับเราปฏิบัติ ไม่ต้องไปกังวล ไปดูมันว่ามันจะเป็นอะไร
ขยันเราก็ทำ ขี้เกียจเราก็ทำ ต้องค่อยๆ ไป ฉลาดในการรักษาจิตให้สม่ำเสมอ
อย่างนี้ คือภาวนา
การภาวนา ก็คือการพิจารณาแก้ไขในตัวมันเอง
ให้ดูตัวเองให้มันมากๆ ให้ตามดูจิตของเรา ความรู้สึกของเรา
ความปรุงแต่งของเรา ความเป็นจริงไอ้สิ่งนึกคิดทั้งหลาย
มันคือเรื่องปรุงแต่งทั้งนั้นแหละ พูดง่ายๆ อย่าวิ่งไปตามมัน อย่าไปตามมัน
มันเป็นเรื่องปรุงแต่งจิตสังขาร สังขารมันปรุงแต่ง เดี๋ยวเอาอย่างนี้ เดี๋ยวเอาอย่างนั้น
ให้พยายามทำ กำหนดตามอาการที่มันเกิดขึ้นมา
มันเป็นของอะไรที่ไม่แน่นอนสักอย่างหนึ่ง มันเห็น มันชัด ก็หมดสงสัย
ไอ้ความคิดอะไรที่เกิดขึ้นมา ก็รู้ว่ามันไม่แน่ อย่าไปหมายมั่น
มัน มันก็หมดเท่านั้น มันไม่หมดทำให้มันหมด มันก็หมดเท่านั้น
มันเป็นเรื่องปรุงแต่งสังขาร
ถ้าเราไม่รู้จักก็เข้าใจว่ามันเป็นปัญญา
ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมันเป็นเรื่องปรุงแต่งทั้งนั้น ไม่ใช่ความรู้อันแท้จริง แต่เราเข้าใจว่ามันเป็นความรู้ ความรู้ไม่วาง ถ้าความรู้จริงมันวาง
รู้แล้วละ
จิตสงบตรงนี้คือว่า ให้รู้เรื่องทุกสิ่งสารพัด หูได้ยินมัน มันก็สงบ
ตาเห็นก็สงบ หลับตาอยู่ก็สงบ ลืมตาอยู่ก็สงบ คือ มันรู้เรื่อง มันรู้เรื่องก็เหมือนเรารู้จักอันใดอันหนึ่งซึ่งเราเคยรู้มา
แม้เรานั่งหลับตาอยู่เราก็รู้ ลืมตาอยู่เราก็รู้ เดินไปอยู่เราก็รู้ นั่งอยู่เราก็รู้ นอนอยู่เราก็รู้
นี่ เหมือนเรารู้สิ่งต่างๆ เช่น เรารู้เทปอย่างนี้เป็นต้น
เรามีเทปอันหนึ่งเรารู้มัน เราลืมตาอยู่เรารู้ว่าเทป
เราหลับตาอยู่เราก็รู้ว่าเทป เราเดินอยู่เราก็รู้
เรานั่งอยู่เราก็รู้ เรารู้อยู่อย่างนี้ รู้อย่างนี้เรียกว่ารู้สมบูรณ์
บริบูรณ์ไม่มีทางแก้ไขแล้ว นั่นเรียกว่า ความรู้ตามความเป็นจริง
ทางสายภาวนา
เราเดินในถนนสายเส้นหนึ่ง มันตรงไป มันจะตรงไปสักกิโลฯหนึ่ง
ก็ช่างมันเถอะ เดินตรงไปเรื่อย เมื่อเราไปพบท่อนไม้ท่อนหนึ่ง
หินก้อนหนึ่งขวางทางอยู่ เราก็จับมันเหวี่ยงออกไป เราจะทำจิตให้มันสงบ อารมณ์ซึ่งมันจะเกิดขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันจะมารวมอยู่ที่จิตนี้ จิตมันยุ่งเหมือนก้อนหินที่ขวางทางเรานั่นแหละ
ถ้าเราเดินไปมันขัดข้อง เราก็หยิบมันออกเสีย
อารมณ์ซึ่งมันเกิดขึ้นขณะนั้น เราก็เห็นว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หยิบมันออกเสีย อย่าไปยึดอะไรทั้งนั้นแหละ ปล่อยไป เดินเรื่อยๆความรักมาก็ปล่อย
ความเกลียดมาก็ปล่อยมันเสีย เท่านั้นแหละ
แสวงบุญให้ละบาป บุญอยู่ที่ใจ
อารมณ์ก็เป็นอารมณ์ จิตก็เป็นจิต คนละอย่างกัน
อย่าพูดด้วยความอยาก อย่าคิดด้วยความอยาก อย่าทำด้วยความอยาก ให้รู้มัน ความสงบตามความเป็นจริง คือ เห็นความสงบด้วยปัญญาความเห็นชอบ
จิตดีทำอะไรก็ดีทั้งนั้น ถ้าจิตไม่ดีพูดก็ไม่ดี ทำก็ไม่ดีทุกอย่าง
ทานบารมี
วันหนึ่งๆ เกิดเป็นมนุษย์นั้นให้ได้ทำบุญ
อย่างน้อยๆ ก็เอาเมล็ดข้าวให้มดกิน หรือเอาให้ไก่กินก็ได้
เราทำทุกๆ วันพอถึงวันหนึ่งไม่มีให้เลย อย่างนี้เรานึกจะทำบุญอะไรหนอ อย่างน้อยไม่มีอะไรจะให้ทาน วันนี้เราก็ทำใจให้สบายที่สุดไม่ให้มันโกรธ ใครจะว่าอะไรก็ช่างมันเถอะ เราทำใจให้สบายที่สุด จะทำอย่างนี้ก็ได้
ความจริงความสุขนั้น เราไม่ต้องแสวงหาก็ได้
หน้าที่ของเราเพียงแต่ลดความทุกข์ให้น้อยลง ความสุขก็จะเพิ่มพูนขึ้น
เหมือนความร้อนลดลงมากเท่าใด ความเย็นก็มีมากขึ้นเท่านั้น
พระพุทธศาสนากล่าวโดยปริยายหนึ่ง ก็คือศิลปะในการลดความทุกข์
ความทุกข์มีมูลเป็นเหตุมาจากความอยาก ความอยากทำให้ใจเร่าร้อน
เมื่อลดความอยากลงมากเท่าใด ใจก็จะเย็นมากขึ้นเท่านั้น ความสุขก็เอ่อตามขึ้นมา
ความอยากและความไม่อยากอยู่ที่ใจ เมื่อใดใจอยาก เมื่อนั้นมีความดิ้นรน ยิ่งดิ้นรนมาก
ยิ่งแปดเปื้อนมาก ตรงกันข้าม สงบมาก เยือกเย็นมาก ก็ผ่องใสมาก สุขมาก
ี
ก่อนนอนทุกคืน เราควรตั้งใจให้อภัยทุกสิ่งทุกอย่างและแก่ทุกคน
ทำเสมือนหนึ่งว่า เราจะไม่ตื่นขึ้นมาอีก
ความตั้งใจอย่างนี้ ทำให้ใจของเราสงบและเราจะหลับไปอย่างเป็นสุข ตื่นขึ้นพร้อมด้วยความสดชื่นแจ่มใส
ขอจงท่องจำไว้ว่า เมื่อใดใจของเราผูกเวร เมื่อนั้นมองไปทางใดก็พบแต่ศัตรู แต่เมื่อใดใจของเรามีเมตตา มองไปทางใดก็เจอแต่มิตรไมตรี
กรรมในอดีตสร้างเรามาก็จริง แต่ผู้มีความรู้เรื่องชีวิตดี
ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนให้ดีขึ้นได้ด้วย การสร้างกรรมใหม่ดี
เปรียบเหมือนเราเข้าอยู่ในบ้านซึ่งสร้างไว้แล้ว
ถ้าเรามีความรู้เรื่องการก่อสร้าง
เราย่อมดัดแปลงแก้ไขส่วนบกพร่องให้ดีขึ้นตามความต้องการของเรา
ให้เหมาะสมกับกิจการของเรา แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ในการก่อสร้าง
หรือไม่สามารถให้ช่างมาดัดแปลงได้ ก็ต้องทนอยู่อย่างนั้น เรื่องของชีวิตก็เหมือนกัน
แม้กรรมในอดีตจะสร้างเรามาบ้างแล้ว ก็ยังสามารถแก้ไขได้
ด้วยความรู้ความเข้าใจในเรื่องชีวิต ไม่ควรท้อถอย
วิธีตัดกรรมที่ถูกต้องคือวิธีตัดกิเลส วิธีลดกรรมคือวิธีลดกิเลส
เราควรฝึกให้กลัวกิเลสมากกว่ากลัวกรรม เพราะเป็นการกลัวที่ต้นตอ
เหมือนกับการกลัวความเกิดมากกว่ากลัวความตาย
เพราะความเกิดเป็นเบื้องต้นของความตาย
แต่คนส่วนมาก ชื่นชมยินดีกับความเกิด แต่มีความกลัวตาย
สิ่งที่ควรกลัวกว่าก็คือความเกิด
เพราะมันเป็นเบื้องต้น เมื่อมีเกิดแล้วจะหลีกเลี่ยงความตายได้อย่างไร ลดไม่ได้
ทุกครั้งที่กิเลสลด กรรมลด ผลกรรมก็ลด
วิธีที่ดีที่สุดในการตัดกรรม
ลิดรอนกรรมให้กรรมน้อยลงก็คือ พยายามที่จะลิดรอนกิเลส ควบคุมกิเลสเป็นทางที่ดีที่สุด
ดอกไม้ที่ถูกตัดทอนจากกิ่งแล้ว
จะนำไปเสียบกับต้นให้สดชื่นเหมือนเดิมได้อย่างไร
จงตัดสินใจนำไปใส่แจกันเสียเถิด มันอยู่ได้นานเท่าใดก็เท่านั้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต บางอย่างมันเหมือนดอกไม้ ที่ถูกตัดออกจากกิ่งแล้ว
วิธีหนึ่งที่ทำให้เรามีความหวัง และมีความสุขแบบง่ายๆ
ในชีวิตประจำวันของเราก็คือ คิดว่าทุกวันเป็นชีวิตใหม่ของเรา
ตามที่หลุยส์ สตีเวนสันบอกเอาไว้
EVERYDAY IS A NEW LIFE TO A WISE MAN. ทุกวันเป็นชีวิตใหม่สำหรับคนฉลาด
อะไรที่มันผิดพลาดไปแล้วก็แล้วไป ช่างมัน ตั้งหน้าตั้งตาทำใหม่ ทำสิ่งที่ดีๆ ใหม่
สิ่งใหม่ก็จะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา ก็จะเป็นคุณประโยชน์แก่ชีวิตของเราอย่างมากเลย
ทำให้เรามีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสงบสุข มีความอดทนต่อภาระหน้าที่ที่ต้องทำ
เราสามารถปฏิบัติงานไปได้อย่างมีคุณภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างมีความพากเพียรพยายาม
เหนียวแน่นมั่นคง
การสวดมนต์ก่อนนอน ก็เพื่อให้จิตใจได้ระลึกถึงสิ่งดีๆ
ให้ได้ลงไปสะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีเป็นคุณธรรม เช้าขึ้นมาเมื่อจิตสำนึกเริ่มทำงานแล้ว
รับช่วงเอาสิ่งนั้น ดำเนินต่อไป
เราต้องการสิ่งใด มีอุดมคติมุ่งมั่นในสิ่งใด
ขอให้ระลึกถึงสิ่งนั้นและอธิษฐานจิตก่อนนอน เมื่อเรานอนหลับไป จิตใต้สำนึกจะซึมซับเอาความปรารถนานั้นไว้
และพิจารณาหาทางให้เราประสบความสำเร็จ
เมื่อเราตื่นขึ้นตอนเช้า ขอให้เราคิดว่าเป็นชาติใหม่ของเรา
ขอให้คิดไปในทางที่ดี สร้างจินตภาพในเรื่องความสุข ความสำเร็จ
เราจะได้มีพลังจิตที่เข้มแข็งไปในทางบวก และทำหน้าที่ที่มาถึงให้ดีที่สุด
จิตที่เต็มไปด้วยธรรมะ เป็นจิตที่มีความสร้างสรรค์มาก เพราะไม่มีอะไรบกพร่อง
พร้อมที่จะช่วยคนอื่นได้ โดยไม่หวังอะไรตอบแทน
เขาจะรักหรือไม่รัก เรื่องของเขา แต่เราจะให้
ช่างหัวมัน
จงยืนกราน สลัดทั่ว ช่างหัวมัน
ถ้าเรื่องนั้น นั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์หนา อย่าสำออย ตะบอยจัด ไว้อัตรา
ตัวกูกล้า ขึ้นเรื่อยไป อัดใจตาย
เรื่องนั้นนิด เรื่องนี้หน่อย ลอยมาเอง ไปบวกเบ่ง
ให้เห็นว่า จะฉิบหาย เรื่องเล็กน้อย ตะบอยเห็น เป็นมากมาย
แต่ละราย รีบเขวี้ยงขว้าง ช่างหัวมัน
เมื่อตัวกู ลู่หลุบ ลงเท่าไร จะเย็นเยือก ลงไป ได้เท่านั้น
รอดตัวได้ เพราะรู้ใช้ ช่างหัวมัน จงพากัน หัดใช้ ไว้ทุกคน
อย่าช่างหัวมัน
อย่าบิ่นบ้า มัวแต่อ้าง ช่างหัวมัน ถ้าเรื่องนั้น เกี่ยวกับเพื่อน มนุษย์หนา
ต้องเอื้อเฟื้อ ปฏิบัติ เต็มอัตรา โดยถือว่า เป็นเพื่อนเกิด แก่เจ็บตาย
การช่วยเพื่อน เหมือนช่วย ตัวเราเอง
เมื่อจิตเพ่งเล็งช่วย ทวยสหาย ย่อมลดความ เห็นแก่ตัว ลงมากมาย
ทุกทุกราย อย่าเขวี้ยงขว้าง ช่างหัวมัน
เห็นแก่ตัว บางเบา ลงเท่าไร ยิ่งเข้าใกล้ พระนิพพาน
เห็นปานนั้น รอดตัวได้ เพราะไม่มัว ช่างหัวมัน จงพากัน ใคร่ครวญ ถ้วนทุกคน
หลักสำคัญที่สุดในการอบรมปัญญา มันมีว่า พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่
พิจารณาให้ชัดขึ้นๆ โดยวิธีใดก็ตาม ให้ชัดขึ้นๆ
และเมื่อมันจะละอะไรได้ขั้นหนึ่ง
แล้วพิจารณาอีก ซ้ำที่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะละไปๆ ซ้ำๆ จนกว่าจะหมดทุกข์
คือเห็นความ เป็นเช่นนั้นเองของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสิ่งทั้งปวง
นี่มันอยู่อย่างนี้ มันน่าอัศจรรย์ตรงที่ไม่ต้องเพ่งอันอื่น
นอกจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แต่อาตมาก็บอกว่า ระวังให้ดีๆ
คอยจ้องให้ดีๆ โอกาสมันอาจจะมี
ที่เราจะมีจิตใจว่างไปสักแวบหนึ่ง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในโลกไหนๆ
ได้ชิมรสของความอยู่เหนือโลกบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไปนั่ง ไปยืน ไปเดิน
ไปนอนอยู่ในที่ที่สงบสงัดตามธรรมชาติ เช่นที่อย่างนี้
หรือบนภูเขาหรือริมทะเล ที่ไหนก็ได้ แต่อย่าไปมั่วสุมเรื่องกามารมณ์
เรื่องสนุกสนานเกียรติยศชื่อเสียงอะไร กับเขา
ไปอยู่ในสภาพที่ทำให้จิตเกลี้ยง ให้จิตใจเป็นอิสระ ให้จิตใจสงบ
แล้วก็จะได้ชิมรสของโลกุตระ คือจิตใจที่มันเผอิญขึ้นไปอยู่เหนือโลกได้บ้าง
ในบางลักษณะ ในบางระดับ
แต่ว่าคนเกลียดวัดคงไม่ชอบ ไม่ชอบให้จิตใจเกลี้ยง
ไม่ชอบให้จิตใจอิสระ ไม่ชอบให้จิตใจว่าง เขาว่ามันไม่มีรสชาติ
เขาก็จะไปหมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องกามารมณ์ ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง
อะไรไปตามเรื่องของเขาอย่างเหนียวแน่น คนเกลียดวัด
เลยไม่มีโอกาสพบกับความที่จิตมันเกลี้ยง หรือว่าง หรือสงบ หรือเย็น หรือเป็นอิสระ
คมหิน-คมคำ
หินแหลมคมบนภูเขาก้อนนั้น ถ้ามันกลิ้งลงมาข้างล่าง กระทบกับก้อนนั้นก้อนนี้ ซ้ายทีขวาที ในที่สุดมันจะเป็นก้อนกรวดที่กลมเกลี้ยงขึ้นมาได้
การปฏิบัติของเรานี้ก็เช่นเดียวกัน ต้องกระทบอารมณ์บ่อยๆ มันถึงจะเกิดปัญญา
เมื่อเราดูกิเลส พยายามอย่าไปโกรธตัวเอง อย่าไปดูถูกตัวเอง อย่าไปว่าตัวเอง
แต่ต้องเมตตาตัวเอง อหํ สุขิโต โหมิ
ที่เราเมตตานั้นไม่ได้หมายความถึงว่า
จะต้องปล่อยให้มันเป็นไปในทางที่ไม่ดี หรือว่าปล่อยให้สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อกุศลได้อยู่ตามสบาย
แต่เมตตาแปลว่า ไม่รังเกียจตัวเองว่ามีกิเลส เพราะว่าจิตใจของ ปุถุชน
เปรียบเหมือนกับห้องว่างที่มีประตูที่เปิดไว้ให้ใครเข้าก็ได้ สิ่งที่เป็นกุศลก็เข้าได้ แล้วก็ออกได้
สิ่งที่เป็นอกุศลเข้ามาแล้วก็ออกได้
แล้วทั้งสิ่งเป็นอกุศลและกุศลนั้นก็เข้าออกอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า เราเป็นผู้ที่ไม่แน่นอน
พระโสดาบันมีความแน่นอนตรงที่ว่า จะมียามอยู่ที่ประตู ที่จะคัดเลือกคนที่จะเข้ามาอยู่ในห้อง
คือสิ่งที่จะเกิดความสกปรกโสโครก หมดสิทธิ์ที่จะเข้าแล้ว
เรียกว่าท่านเข้ากระแสแห่งพระนิพพานแล้ว
เป็นผู้ที่มีความแน่นอนว่าจะต้องไปถึงพระนิพพานไม่เกิน 7 ชาติต่อไป
เรื่องปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรม
เคยมีอาจารย์องค์หนึ่ง มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ วันหนึ่งตอนเทศน์อบรมศิษย์ ท่านสอนว่า
การปฏิบัติเหมือนเทน้ำใส่กระชอนให้เต็ม ท่านพูดแค่นั้นแล้วจบการแสดงธรรม
โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ เลย ผู้ฟังก็งงทั้งนั้น ว่าจะเทน้ำใส่กระชอนให้มันเต็มอย่างไร
น้ำที่เทเข้าไปต้องรั่วไหลออกมาตามรู คฤหัสถ์บางคนคิดว่าอาจารย์คงล้อเล่นโยมกระมัง
หาว่าฆราวาสเราปฏิบัติอย่างไม่ค่อยได้ผล พอเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมานิดหน่อย
ก็ปล่อยให้มันไหลออกไปด้วยความประมาท บรรลุธรรมชั้นสูงไม่ได้ บางคนก็ท้อใจ
แต่คนหนึ่งเขาคิดว่า พระพุทธองค์ เคยตรัสสอนว่า ถ้าเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น เราต้องปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
คำพูดของอาจารย์คงไม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรอก เพียงแต่ว่าเรายังไม่เข้าใจความหมายของท่านต่างหาก เดี๋ยวนี้เราไม่มีเวลาที่จะไปปฏิบัติธรรม
ไม่มีเวลาที่จะพักผ่อน ไม่มีเวลาที่จะขี้เกียจ เราทำไปเรื่อยๆ ถือเป็นหน้าที่ของเรา เราจะได้ผลน้อย
ได้ผลมากก็ไม่เป็นไร เราจะไม่คาดหวังอะไร เราจะทำไป จากนั้น เขาเลยลงมือปฏิบัติ
อาจารย์เห็นแล้วชมเชย พาไปชายทะเลอธิบายความหมายของคำสอนของท่าน
ท่านไปยืนอยู่บนหินก้อนใหญ่ที่ยื่นออกไปในน้ำ แล้วเอากระชอนนั้นลงไปในทะเล ยกขึ้นมา
น้ำก็ไหลออก ทำสองสามครั้งให้เห็นว่าทุกครั้งที่ยกกระชอนขึ้นมา น้ำไหลออกไป มันไม่อยู่
ท่านบอกว่า การปฏิบัติของปุถุชนมักจะเป็นอย่างนี้ เอาธรรมะน้อมมาใส่ใจของตน
แล้วมันก็อยู่ไม่นาน มันไหลออกไป แต่ว่าอันนี้ก็เพราะปุถุชนยืนอยู่บนก้อนหินแข็ง คือ อัตตา
การปฏิบัติยึดอัตตาเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติของฉัน ความก้าวหน้าของฉัน
ความสุขของฉัน ความทุกข์ของฉัน การปฏิบัติที่ยืนบนอัตตาเป็นหลักตายตัวแล้ว
ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความลึกซึ้งของพระพุทธธรรมได้
อธิบายจบแล้วท่านโยนกระชอนทิ้งไว้ในทะเล กระชอนนั้นเต็มไปด้วยน้ำ แล้วก็จมไปในน้ำ
เห็นไหมล่ะ? อาจารย์ถาม กระชอนมันเต็มไปด้วยน้ำแล้ว
คือ แทนที่จะเอาธรรมะน้อมเข้าสู่ใจของเรา เราต้องเอาใจของเราน้อมไปหาธรรมะ
เหมือนกับว่าเราเอาความยึดมั่นถือมั่นของเราไปทิ้งในทะเล คือ ความจริงหรือสัจธรรม
ทิ้งความหวงแหนทั้งหลายเอาไว้ในความจริง ยอมรับความจริง
จงปล่อยวางความคิดแล้วจิตใจของเรามันก็จะค่อยเต็มไปด้วยธรรมะ
จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมะ แล้วเราก็เป็นธรรมะ เมื่อเรามีสัมมาทิฐิอย่างเต็มที่แล้ว
เราจะทำอะไรจะพูดอะไร จะคิดอะไร มันก็จะเป็นธรรมะหมด
ชีวิตของเรากับธรรมะจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนกับกระชอนที่เต็มไปด้วยน้ำ
แล้วค่อยจมลงในน้ำ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทะเล
คลื่นกระทบฝั่ง
ตั้งสติไว้กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็คล้ายๆ กับการดูคลื่นที่ชายทะเล มันก็สบาย
ไม่น่ามีอะไรกังวลหรือหนักอกหนักใจ ดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออกตามธรรมชาติ
เรื่องของธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก คลื่นซัดเข้าหาฝั่ง
แล้วก็ออกไป...ความรู้สึกนึกคิดเข้ามาในจิตใจแล้วก็ออกไป...
ความห่วงกังวลเข้ามาในจิตใจแล้วก็ออกไป...เหมือนลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ไม่มีอะไรผิดปกติ มันก็เหมือนๆ กันนั่นแหละ ก็เลยเป็นที่ตั้งแห่งความสบาย
เป็นอุบายที่จะทำให้ใจสงบ
วิปัสสนา คือ ความรู้แจ้ง เกิดในจิตที่สงบแล้ว ถ้าจิตไม่สงบมันอดยุ่งกับอารมณ์ไม่ได้
เมื่อมันยุ่งกับอารมณ์ ไปถือกรรมสิทธิ์ในอารมณ์ ไปหลงใหลหรือปฏิเสธในอารมณ์
จิตไม่สามารถที่จะเห็นอารมณ์ตามความเป็นจริง วิปัสสนาไม่เก
เงื่อนไขของวิปัสสนาจึงอยู่ที่จิตใจที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตที่แน่วแน่เป็นสมาธิเหล่านั้น
จะรู้สึกคล้ายๆ กับขี้เกียจ คือขี้เกียจที่จะไปยินดีกับมัน ขี้เกียจจะไปยินร้ายกับมัน สิ่งต่างๆ
ที่แต่ก่อนเมื่อมีการกระทบ ทำให้จิตสะทกสะท้าน ตอนนี้รู้สึกเหมือนกับเข้าไม่ถึงเนื้อแท้ของจิต
คล้ายกับเราอยู่ในบ้าน ในขณะที่ข้างนอกฝนตกหรือหิมะตก ลมก็พัดแรง
เราอยู่ในบ้านก็อบอุ่น ไม่หนาวไม่เปียก แต่ยังได้ยินเสียงของลมอยู่
ยังเห็นหิมะกระทบหน้าต่างอยู่ มันอยู่นอกบ้านของเรา
เข้ามาไม่ได้ และเมื่อได้ยินเสียงจากลม เห็นหิมะตกนอกบ้าน ก็ยิ่งรู้สึกอบอุ่นมากขึ้น
สำหรับจิตใจที่พอสงบพอสมควรแล้ว แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในห้อง (ในอัปปนาสมาธิ)
การสัมผัสกับโลกภายนอกยังมีอยู่ แต่มันมีเหมือนกับไม่มี มันมี แต่ไม่มีพิษมีภัย
สักแต่ว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เสียงที่เคยกวนใจเรา เราก็ไม่รู้สึกว่ากวนอีกแล้ว
เราก็อยู่เฉยๆ แต่ความอยู่เฉยๆ ของเรานั้น มันเต็มไปด้วยความรู้
ความตื่น ความเบิกบาน และเมื่อจิตสงบแล้ว เราไม่ต้องกำหนดจดจ่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เราสักแต่ว่ารับรู้สิ่งที่มาปรากฏแก่จิต ซึ่งเราไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งที่จะพิจารณา
มันก็เกิดเองของมัน เราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเท่านั้น
คอยดูความเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไปของอารมณ์ ดูแล้วก็ปล่อยวาง
การรู้คือสภาพที่จิตตื่นขึ้นจากโลกของความคิด ความฝัน
ทั้งนี้คนส่วนใหญ่จะตื่นเฉพาะร่างกาย แต่ใจยังหลับฝันอย่างที่เรียกว่าฝันกลางวัน ภาวะรู้คือภาวะที่จิตตื่นจากความฝัน
จิตมีความตื่นตัวพร้อมที่จะรับรู้อารมณ์ทั้งปวงที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เมื่อรู้อารมณ์แล้ว ก็พร้อมที่จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์นั้นตามธรรมชาติ
และยิ่งกว่านั้นก็คือ สามารถรู้เท่าทันปฏิกิริยาตอบสนองเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีด้วย
รู้ชนิดนี้ไม่มีความจงใจว่าจะต้องรู้อารมณ์ใด
แต่อารมณ์ใดปรากฏทางทวารใดก็รู้อารมณ์นั้นอย่างถูกต้อง เป็นปัจจุบัน
โดยไม่หลงไปกับอารมณ์นั้น นี่แหละคือความรู้ตัวทั่วพร้อม
ไม่ใช่รู้ตัวทั้งตัวเพราะนั่นเป็นความรู้สึกไปจับที่กายทั้งกาย
หากจิตมีสัมมาสมาธิ จะช่วยให้สภาวะรู้ถูกต้องง่ายขึ้น
จิตที่มีสัมมาสมาธิคือจิตที่มีลักษณะตั้งมั่น ทรงตัวไม่หวั่นไหวเลื่อนไหล
ไปตามอารมณ์ที่ปรากฏทางทวารทั้งหก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) มีความสงบระงับ
คือไม่ฟูหรือแฟบไปตามอารมณ์ มีความเบาสบาย แต่ไม่ใช่เบาหวิวเหมือนจะลอยไปในอากาศ
มีความอ่อนโยน นุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างแกร่งเกร็ง
มีความพร้อมและความว่องไวที่จะรับรู้อารมณ์ ไม่ถูกกดข่มให้นิ่งเฉยซึมทื่อหรือเคลิบเคลิ้ม
ติดสุขเหมือนคนติดยาเสพติด และมีความซื่อตรงต่อหน้าที่การรู้อารมณ์ ไม่เข้าไปแทรกแซงอารมณ์เหมือนผู้พิพากษาที่ทำงาน โดยไม่ลำเอียงเข้าข้างโจทก์หรือจำเลย
คัดลอกจาก...
หนังสือ สาระจาก เรือนธรรม
(รวบรวมเรื่องสั้นๆ ที่มีประโยชน์ แก่จิตใจ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน
ห้องหนังสือเรือนธรรมจัดพิมพ์
เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘)
http://www.ruendham.com
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:
แสดงทั้งหมด
1 วัน
7 วัน
2 สัปดาห์
1 เดือน
3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
เรียงจากเก่า-ใหม่
เรียงจากใหม่-เก่า
:: ลานธรรมจักร ::
»
บทความธรรมะ
ไปที่:
เลือกกลุ่ม บอร์ด
กลุ่มสนทนา
----------------
สนทนาธรรมทั่วไป
แนะนำตัว
กฎแห่งกรรม
สมาธิ
ฝึกสติ
การสวดมนต์
การรักษาศีล-การบวช
ความรัก-ผูกพัน-พลัดพลาก
กลุ่มข่าวสาร-ติดต่อ
----------------
ข่าวประชาสัมพันธ์
ธรรมทาน
รูปภาพ-ประมวลภาพกิจกรรมต่างๆ
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ขอความรู้ทำรายงาน
แจ้งปัญหา
รูปภาพในบอร์ด
กลุ่มสาระธรรม
----------------
หนังสือธรรมะ
บทความธรรมะ
นิทาน-การ์ตูน
กวีธรรม
นานาสาระ
ต้นไม้ในพุทธประวัติ
วิทยุธรรมะ
ศาสนสถานและศาสนพิธี
----------------
สถานที่ปฏิบัติธรรม
วัดและศาสนสถาน
พิธีกรรมทางศาสนา
พุทธศาสนบุคคล
----------------
พระพุทธเจ้า
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ประวัติเอตทัคคะ (ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา)
สมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติและปฏิปทาของครูบาอาจารย์
ในหลวงกับพระสุปฏิปันโน
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณ
ไม่สามารถ
สร้างหัวข้อใหม่
คุณ
ไม่สามารถ
พิมพ์ตอบ
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลบข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลงคะแนน
คุณ
สามารถ
แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ
สามารถ
ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
เลือกบอร์ด •
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทานธรรมะ
•
หนังสือธรรมะ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
สถานที่ปฏิบัติธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ
•
วิทยุธรรมะ
•
เสียงธรรม
•
เสียงสวดมนต์
•
ประวัติพระพุทธเจ้า
•
ประวัติมหาสาวก
•
ประวัติเอตทัคคะ
•
ประวัติพระสงฆ์
•
ธรรมทาน
•
แจ้งปัญหา
จัดทำโดย กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ
webmaster@dhammajak.net
Powered by
phpBB
© 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
www.Stats.in.th