Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พลธรรม ๕ ประการ (พระมหาวิบูลย์ พุทฺธญาโณ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
RARM
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 28 ก.ค. 2007
ตอบ: 417

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.พ.2008, 5:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พลธรรม ๕ ประการ

ต่อไปนี้ขอให้ญาติโยมตั้งใจเจริญภาวนาสมาธิ พร้อมทั้งตั้งสติในการฟังธรรมะ ซึ่งอาตมาจะได้นำมาบรรยายในวาระนี้

ธรรมที่อาตมาจะได้นำมาบรรยาย พร้อมกับการปฏิบัติไปในโอกาสนี้คือ พลธรรม ๕ ประการ ซึ่งเป็นหมวดหนึ่งของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้จะเป็นธรรมหมวดใดก็ตาม เมื่อยกขึ้นแสดงแล้วจะกระทบถึงกันทั้ง ๓๗ โดยเฉพาะพลธรรมที่อาตมาจะได้นำมาบรรยายในโอกาสนี้

คำว่า พละ ในที่นี้ก็หมายความถึงกำลังนั่นเอง ถ้าหากว่าคนเราขาดกำลัง จะเป็นกำลังกายก็ดีหรือกำลังใจก็ดี ก็จะทำอะไรไม่สำเร็จ เช่นกำลังกายไม่สมบูรณ์มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน อันนี้ก็เป็นอุปสรรคต่อการงานต่อหน้าที่ และโดยเฉพาะผู้ที่มีกำลังกายดี แต่ถ้าหากขาดกำลังใจ หรือกำลังใจเสีย แม้กำลังกายจะดีก็ไม่สามารถจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวมได้สำเร็จ

พลธรรมทั้ง ๕ ข้อ ข้อ ๑ คือ ศรัทธาพละ เราเคยได้ยินคำว่าศรัทธา และมักจะเข้าใจว่าศรัทธาก็คือการให้ เช่นการให้ทานหรืออะไรทำนองนั้น เมื่อเราเห็นคนทำบุญหรือแจกจ่ายทรัพย์สมบัติแก่คนโน้นคนนี้ เราก็เรียกคนนั้นว่าเป็นคนมีศรัทธา แต่ศรัทธาในความหมายแท้จริงนั้น ก็คือความเชื่อ และความเชื่อนี้พระพุทธเจ้าของเราตรัสเตือนไว้ มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือลักษณะหนึ่งคือเชื่อตามเขา และอีกลักษณะหนึ่งคือเชื่ออย่างมีเหตุผล ศรัทธาที่พระพุทธเจ้าของเราต้องการหรือทรงประสงค์ คือศรัทธาที่มีเหตุผล สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นความจริงอย่างนั้นจึงจะเชื่อ ฉะนั้น ในอภิธรรมจึงมีศรัทธาที่เป็นญาณวิปยุต กับศรัทธาที่เป็นญาณสัมปยุต ศรัทธาญาณวิปยุตนั้น หมายถึงศรัทธาที่ไม่ต้องอาศัยเหตุผลอะไร คือใครเขาพูดว่าดีก็เชื่อ เชื่อไปหมดทุกเรื่องที่เขาบอกว่าดี โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ดีมันมีมาก จนบางครั้งบางโอกาส ดีอยู่ที่ต้นไม้ก็มี ดีไปอยู่ที่จอมปลวกก็มี ดีไปอยู่ที่แม่น้ำลำธารก็มี ดีไปอยู่ที่คนโน้นคนนี้คนนั้นอะไรทำนองนี้ เราก็ไปติดดี ไปติดดีในสิ่งที่มันจะดีจริงหรือไม่ดีจริงก็ไม่รู้ อันนี้พระพุทธเจ้าของเราตรัสไว้ว่า ศรัทธาใดที่ไม่ประกอบด้วยเหตุด้วยผลที่พิสูจน์แล้วว่ามันดีจริงตามนั้น พระองค์ไม่ให้เชื่อ และถ้าหากว่าเราเชื่อตามไปหมด เชื่อโดยไม่ต้องอาศัยเหตุผล ไม่ต้องอาศัยการพิสูจน์เหตุผลให้มันชัดเจนว่า สิ่งที่เชื่อนั้นมีเหตุมีผลมีจริงตามนั้น อันนี้พระองค์ทรงไม่สรรเสริญ แล้วพระองค์ตรัสว่าเป็นโมหศรัทธา และโมหศรัทธานี้เป็นศรัทธาที่ค่อนข้างจะอันตราย

ถ้าหากว่าจิตใดประกอบด้วยโทสะ และเมื่อโทสะมีกำลังทำให้ธาตุขันธ์ คือร่างกายของเราแตกดับลง จิตที่อาศัยกำลังของโทสะ จิตดวงนั้นจะไปอบาย คือจะไปเกิดในนรกทั้ง ๘ ขุม ขุมใดขุมหนึ่ง แต่จิตดวงใดที่เป็นไปในอำนาจของโลภะ คือเชื่อว่าอันนั้นดีอยากได้ อันนี้ดีอยากได้ คืออยากได้โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลว่า มันดีจริงหรือ เป็นประโยชน์หรือไม่ อะไรทำนองนี้ ถ้าหากร่างกายแตกดับในขณะจิตนี้ ก็ไปเกิดในกำเนิดเปรตอสุรกายได้ แล้วจิตใดที่ประกอบด้วยโมหะ คือเชื่อตามโดยไร้เหตุผล อันนี้อาตมาเคยยกตัวอย่างเรื่องจอมปลวกอาตมาเดินทางจากแม่สอดมากรุงเทพฯ สังเกตเห็นจอมปลวกอันหนึ่งแถว ๆ อยุธยา มีคนไปบูชาสักการะ มีเครื่องเซ่นเครื่องสังเวยมากมาย ทั้งๆ ที่เป็นพุทธศาสนิกชน เป็นคนนับถือพระพุทธเจ้า แต่ว่าไปบูชาจอมปลวก ถ้าหากว่าศรัทธาเป็นไปในลักษณะนั้น เป็นโมหศรัทธา คือศรัทธาที่ประกอบด้วยโมหะ ถ้าหากว่าร่างกายแตกดับตายลง จิตก็จะไปที่ตนมีความเชื่อถือ ไปที่จอมปลวกนั้นไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉานได้ และถ้าหากว่าเราเชื่ออย่างนั้น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย แทนที่จะอาศัยหมอ อาศัยยาหรือให้หมอรักษาให้หมอพิจารณา เราก็ไปที่จอมปลวกขอให้จอมปลวกช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ ช่วยให้เราหายโรคหายภัย ผลสุดท้ายร่างกายแตกดับไป กำลังของโมหะที่อยู่ที่จิตของเราก็จะหมุนนำจิตของเราไปกำเนิดในภพที่ไม่น่าปรารถนา คือที่จอมปลวกนั้น

ลักษณะจิตที่มีศรัทธาความเชื่อ ก็คือถ้าเราเชื่อก็จะเกิดความเลื่อมใส คือเชื่อเรื่องใด เราก็จะเลื่อมใสในเรื่องนั้น อันนี้เป็นลักษณะของจิต คือจิตของเราเชื่ออยู่ในที่ใด จิตของเราก็จะแล่นไปในที่นั้นบ่อยๆ จะวิ่งไปในสิ่งที่เราเชื่อ และเมื่อวิ่งไปในสิ่งที่เราเชื่อก็จะรวมลงตรงนั้น จะรวมลงในวัตถุที่เราเชื่อหรือในสิ่งที่เราเชื่อ เอามาเป็นอารมณ์ของจิต เอามาเป็นตัวภพตัวภูมิของจิต เอามาเป็นกำลังของจิต ซึ่งสมัยใหม่เขาเรียกว่า เป็นพลังงานอะไรนั้น แต่ในภาษาพระพุทธศาสนาท่านใช้คำว่า อิทธิ ก็มี ท่านใช้คำว่า จิตชรูป ก็มี คือรูปที่เกิดแต่จิต ถ้าหากว่าเราไปเชื่อในสิ่งไม่ถูกต้อง สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตนั้นก็เป็นรูปไม่ถูกต้อง เช่นไปเชื่อจอมปลวก ภพภูมิของจิตก็เป็นจอมปลวกอยู่ตลอดเวลา ภาษาพระท่านเรียกว่า จิตชรูป ที่เป็นศรัทธาญาณวิปยุต และคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงสอนแม้แต่พระองค์เอง ให้ตั้งอยู่ในสวากขาตธรรม เช่นคำว่า อักขาตาโร ตถาคตา พระตถาคตเป็นผู้บอกเป็นผู้ชี้ คือพระองค์ไม่ให้เชื่อสิ่งที่พระองค์บอก ที่พระองค์ทรงชี้นั้น ผู้ที่ฟังเขาจะต้องหาเหตุผลว่าจริงอย่างที่พระองค์ตรัสหรือไม่ ถ้าไม่จริงก็มีสิทธิไม่ต้องเชื่อพระองค์ก็ได้ ธรรมะคำสอนในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ตรัสแต่ละข้อแต่ละหมวดนั้น สามารถพิสูจน์ได้ หาเหตุผลจากคำสอนของพระองค์ได้ คือเมื่อพระองค์ตรัสแล้วจะไม่นับถือพระองค์ก็ได้ จะไม่ถือพระองค์เป็นที่พึ่งก็ได้ แต่ให้เอาธรรมะที่พระองค์ทรงชี้ทรงแสดงนั้นเอามาพิจารณาหาเหตุผล อันนั้นแหละจะเป็นที่พึ่งของผู้ที่เชื่อในสิ่งที่มีเหตุผล

เหตุการณ์บัจจุบันนี้ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวซึ่งเป็นผลมาจากศรัทธาความเชื่อที่ผิด อาตมาก็อยากจะขอยืมคำพูดของหลวงปู่แหวน ซึ่งท่านเคยเตือนอยู่เสมอว่า ในสมัยพวกท่านจะได้เจอเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะมี ไม่น่าจะเป็นเกิดขึ้นในโลกอย่างสม่ำเสมอ คือเหตุการณ์ตายหมู่ ตายกลุ่ม ตายกันเป็นพวก ตายกันเป็นจำนวนมากๆ ในอายุของพวกท่าน ท่านจะต้องพบต้องเจอกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะความเชื่อผิดเพราะความหลงผิดของบุคคลจะมีมากขึ้น และสิ่งชวนเชื่อในปัจจุบันนี้มีมาก ใครเขาพูดอะไรเราก็เชื่อโดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลอะไรเลย อาตมาสังเกตบางทีมีคนเขาโฆษณาชวนเชื่อเราก็ไปกันเป็นจำนวนมากๆ อย่างเมื่อคราวที่แล้ว ที่นักร้องไมเคิลแจ๊กสันมา คนแห่กันไปจนเวทีแทบแตกแต่พระเทศน์พระแสดงธรรมไม่ค่อยมีคนไปฟังกัน อันนี้แหละที่เขาเรียกว่าสื่อ เราจะต้องพิจารณาสื่อ เพราะบางทีสื่ออาจจะนำให้เกิดเหตุร้ายและภัยพิบัติต่างๆ ได้ และถ้าหากได้หมู่ได้กลุ่มที่มีกรรมร่วมกัน ซึ่งจะต้องมีเหตุให้ตายในลักษณะเป็นหมู่เป็นกลุ่ม มันก็จะเกิดเหตุขึ้น และหลายเรื่องก็เกิดมาแล้วด้วย อันนี้ก็อยากจะฝากไว้

ลักษณะศรัทธาความเชื่อ เราจะต้องเชื่อธรรมะ เราจะต้องเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าของเราทรงสอนว่า ศีลนี้ดี ศีลนี้เป็นที่พึ่ง ศีลนี้เป็นเครื่องกั้นเครื่องห้าม และเป็นเบื้องต้นของความดีทุกอย่าง ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่เป็นเหตุทำให้เกิดปัญหาซึ่งจะทำให้เราตัดสินใจว่า เราจะเชื่ออะไรดี เราก็จะต้องมีเครื่องจับ และเครื่องจับในที่นี้ก็คือศีล สำหรับญาติโยมทั่วไปก็คือศีล ๕ เราจะต้องเอาศีลไปเป็นเครื่องจับไปเป็นเครื่องพิจารณาว่า สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาชวนให้เราเชื่อ สิ่งที่เขาชวนให้เรากระทำ ประกอบด้วยศีล ๕ หรือไม่ มีศีล ๕ ครบหรือไม่ เช่นศีลข้อ ๑ ปาณาติบาต เขาชวนไม่ให้ฆ่าสัตว์ เขาชวนไม่ให้ทะเลาะกัน ชวนไม่ให้เบียดเบียนกันหรือเปล่า อันนี้เราจะต้องเอาศีลเป็นหลัก เอาศีลเป็นข้อพิจารณาในสิ่งที่เราจะเชื่อ และในศีลข้อที่ ๒ อทินนาทาน คือสิ่งที่เขาโฆษณาชวนเชื่อมันทำให้เขาเสียทรัพย์ ทำให้เราเสียทรัพย์ ทำให้เราเสียหาย ทำให้ทรัพย์สมบัติเขาเสียหายหรือไม่ อันนี้เราก็จะต้องเอาศีลข้อที่ ๒ เป็นเครื่องจับ ก่อนที่เราจะเชื่ออะไรลงไป ในศีลข้อที่ ๓ คือกาเมสุมิจฉาจาร คือเป็นสิ่งที่ยั่วยุในเรื่องที่ทำให้เกิดการพลัดพรากจากสามีภรรยากันหรือไม่ เป็นเรื่องสับสนในเรื่องเพศภาวะอะไรต่างๆหรือไม่ ในศีลข้อที่ ๔ ก็คือมุสาวาท คือคำพูดนั้นเป็นการโกหก ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย และเป็นวาจาส่อเสียดทำให้แตกกลุ่มแตกหมู่แตกคณะ ไม่สร้างสรรค์สามัคคีในหมู่ในคณะหรือไม่ และในศีลข้อที่ ๕ ก็คือสุรา อันนี้ไม่ต้องพูดถึง เราทราบกันดี อันนี้เราก็จะต้องอาศัยศีลนี้เป็นตัวจับ
แต่ปัจจุบันนี้เท่าที่เคยได้ยิน ปัญหาที่เกิดขึ้นและทำให้สังคมป่วนปั่น ทำให้โลกวุ่นวายก็เพราะชาวพุทธเราเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน คือไม่ได้สอนให้เชื่อ เป็นศรัทธาญาณวิปยุต เชื่อโดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลอะไร ใครเขาโฆษณาชวนเชื่อ เราก็เชื่อ แล้วก็สร้างปัญหา สร้างความแตกแยก สร้างความวุ่นวายอะไรทำนองนี้ ถ้าหากว่าศรัทธาเชื่อถูกต้อง เป็นศรัทธาญาณสัมปยุต เชื่อประกอบด้วยปัญญา มีเหตุผลพิสูจน์แล้วว่าจริงตามนั้นจึงเชื่อ อย่างนี้พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ แต่สิ่งที่ควรเชื่อนั้นคืออะไร ก็เชื่อกรรมคือการกระทำทางกายก็ดี การกระทำทางวาจาก็ดี การกระทำทางใจก็ดี (กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม) ถ้าหากว่ากรรมทั้งสามนี้เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือคิดอย่างไร ทำอย่างนั้นพูดอย่างนั้น คือถ้าจิตของเรามีกุศลกรรม และก็พูดแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในสิ่งที่เป็นความดีต่อกัน และทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลสนับสนุนความดีของกันและกัน อันนี้ไม่ต้องไปรอชาติหน้าภพหน้า ชาตินี้เราได้ อันนี้เรียกว่าเชื่อกรรม

เชื่อผลของกรรม เราเกิดกันมาในยุคปัจจุบันนี้ เวลามีทุกข์มีความเดือดร้อนเกิดขึ้น เราขี้มักจะโยนไปว่า คนโน้นทำให้ คนนี้ทำให้อะไรทำนองนี้ แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสสอนอย่างนั้น ทรงสอนให้เชื่อวิบาก คือเชื่อผลของกรรม ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรานั้นไม่มีสิ่งบังเอิญ ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดหรือไม่มีใครที่ไหนมาทำให้เรา นอกจากกรรมที่เราเคยสร้างเคยทำไว้ในอดีตซึ่งอาจเป็นอดีตใกล้ๆ คือจะเป็นวันใดวันหนึ่ง เราอาจจะทำกรรมที่เป็นเหตุให้เราได้รับผลความเดือดร้อนก็ได้หรือในปัจจุบันชาตินี้เราไม่ได้ทำไว้ ในอดีตไม่แน่ เราอาจจะทำกรรมร่วมกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ไว้ และบุคคลเหล่านั้นได้มาเกิดร่วมภพร่วมชาติ หรือมาร่วมงานร่วมหน้าที่ เป็นสามีภรรยา เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นมิตรเป็นสหาย เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นเพื่อนร่วมชาติ เป็นเพื่อนร่วมประเทศ หรือเป็นเพื่อนร่วมโลกกันอย่างในปัจจุบันนี้ อันนี้ก็เป็นผลของกรรมอดีตทั้งนั้น เช่นบุคคลบางคน เราเพียงแต่ได้ยินชื่อเท่านั้น บางคนอยู่คนละประเทศด้วยซ้ำไป พอได้ยินชื่อมันเกลียดเอาเฉยๆ ไม่ชอบขี้หน้าเอาเฉยๆอย่างนั้นแหละ ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้มาทำอะไรให้เรา อันนี้ถ้าหากว่าเราเพ่งพิจารณาลงไปในจิตจนทำให้เกิดเป็นฌานเป็นสมาบัติ เกิดความสว่างชัด มีพลังงานของจิตที่สามารถถอยไปหาอดีตได้ไกลๆ จะเห็นว่าในภพหนึ่งชาติหนึ่ง บุคคลนั้นอาจจะเคยทำอะไรกับเราไว้ เขาอาจจะสร้งความเดือดร้อนกับเราไว้แล้วพอได้ยินชื่อของเขาเราจึงเกลียดทันที อันนี้ถ้าหากว่าเราทำจิตของเราให้เป็นอุเบกขาไม่ได้ เวรนั้นมันก็จะต่อเนื่อง วันหนึ่งก็จะต้องเจอกัน เมื่อเจอกันแล้วปัญหามันก็จะเกิด แต่ถ้าเราทำจิตของเราให้เป็นอุเบกขา บุคคลผู้นั้นก็เป็นอันจบกันไป

บุคคลบางคนเมื่อเราได้ยินชื่อได้ยินเสียง เรารู้สึกชอบใจพอใจ อันนี้ก็เป็นอดีตกรรมทั้งนั้น คือถ้าหากว่าเราเชื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ทุกอย่างมีเหตุมีผลคือเราจะต้องเชื่อเหตุเชื่อผล คือผลดีเกิดขึ้นจากกรรมดีผลชั่วเกิดขึ้นจากกรรมชั่ว แม้ว่าบางครั้งผลที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับการกระทำของเรา เช่นเราทำดีแต่เราเดือดร้อน เราก็จะต้องสงบใจลงด้วยพิจารณาข้อแรกคือศรัทธาเชื่อกรรม กำหนดลงในจิตของเรา เพ่งดูในจิตของเราว่า ชาตินี้เราเคยทำความเดือดร้อนให้แก่บุคคลนี้ที่ใดที่ไหนบ้างหรือเปล่า เมื่อไม่เห็นเราก็เพ่งต่อไปอีกถึงอดีตชาติหลายๆชาติ ไม่แน่เราอาจเคยทำกรรมกับเขาไว้ในชาติใดชาติหนึ่งก็ได้ ในชาตินี้เราจึงพบและถูกเขาทำให้เราเดือดร้อน เราก็ควรจะอโหสิกรรมให้เขากรรมมันจะหมดในปัจจุบัน คือความเดือดร้อนมันไม่ต่อปัจจุบันนี้เรามักจะทำกรรมต่างๆ ไม่ตรงกันในสามทวาร ทางกายทวาร วจีทวาร มโนทวาร คือใจคิดอย่างหนึ่งแต่เวลาเราพูดเราพูดเสียอีกอย่างหนึ่ง ผลมันก็เกิดสับสนกัน
เช่นในขณะที่ทุกคนนั่งฟังอยู่นี้ จิตอาจคิดไปต่างๆนานา บางคนก็สงสัยว่าที่ท่านเทศน์นี่จริงหรือเปล่า เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาพูดจริงหรือเปล่า หรือเอาเรื่องของท่านมาพูดเอง มาว่าโยมหรือเปล่า หรืออะไรทำนองนั้น อันนี้มันเป็นเรื่องของความคิด แต่ถ้าหากว่าจิตความคิด วาจาคำพูด กายคือการกระทำทางกายตรงกันทั้งสามทวาร ถ้าหากว่ากุศลกรรมเกิดขึ้นในจิตเราพูดแนะนำกันในทางสร้างสรรค์ หรือเป็นไปในเรื่องของกุศลคุณงามความดี การกระทำทางกายก็ร่วมกันทำแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผลก็จะได้รับในปัจจุบัน อย่างที่ญาติโยมนั่งอยู่นี่เราก็จะเห็นชัด หากว่าจิตมันสงบกายมันก็สงบ นั่งกันสงบเรียบร้อย วาจาก็ไม่ต้องเถียงกันไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่ต้องมีปัญหากันทางวาจา อันนี้เราจะเห็นว่า นี่คือความสงบเกิดขึ้นที่ใจกายก็สงบ วาจาสงบ อันนี้เราเชื่อผลของกรรม

กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมไม่เหมือนกัน คือสัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้ มีกรรมไม่เหมือนกันคือมนุษย์ก็มีกรรมอย่างมนุษย์ เทวดาก็มีกรรมอย่างเทวดา พรหมก็มีกรรมอย่างพรหม สัตว์ดิรัจฉานก็มีกรรมอย่างสัตว์ดิรัจฉาน สัตว์ในอบายก็มีกรรมอย่างสัตว์ในอบาย คือสัตว์ต่างๆ นี้เกิดมาด้วยอำนาจกรรมทั้งนั้น จำแนกให้เป็นไปต่างๆ แต่มนุษย์เราที่เกิดมาก็มีกรรมแตกต่างกัน บางคนรวย บางคนจน บางคนสวย บางคนขี้เหร่ นี้ก็เป็นเรื่องของกรรมจำแนกมาทั้งนั้น ทุกคนก็อยากเป็นคนดี อยากเป็นคนรวย อยากเป็นคนมีวาสนาสูง แต่ทำไมเป็นไม่ได้ ก็เพราะกรรมทั้งนั้นจำแนกให้เป็นไปต่างๆ กัน คือถ้าหากว่าไม่ใช่อำนาจของกรรม ทุกคนมันก็เกิดมาเหมือนกัน เพราะคนทุกคนอยากจะเป็นคนดี อยากจะเป็นคนร่ำรวย อยากจะเป็นคนมีความสุขเหมือนกันหมด แต่ว่าความสุขที่มีความสุขที่ได้ไม่เท่ากัน และอำนาจวาสนาที่มีก็ไม่เท่ากัน อันนี้ถ้าหากว่าไม่เกิดขึ้นแต่กรรม เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เกิดขึ้นจากกรรมทั้งนั้น อันนี้ก็เรียกว่ากัมมัสสกาตาสัทธาเชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน

ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้าก็หมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง เชื่อว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น เป็นธรรมที่จะนำความพ้นทุกข์ให้กับผู้ประพฤติปฏิบัติตามได้อย่างแท้จริง อันนี้ ก็อยากจะเสนอแนะไว้ในเรื่องศรัทธาความเชื่อ ถ้าหากว่ามีกาลังในด้านความเชื่อถูกต้อง จะเป็นพลังทำให้จิตของเราก้าวหน้าไปในกำลังข้อที่ ๒ ต่อไป

ถ้าหากว่าความเชื่อถูกต้อง เชื่อว่ากรรมดีทำแล้วจะได้ผลเป็นความสุข จิตของเราก็จะมุ่งทำแต่ความดี เช่นเชื่อว่าศีลรักษาแล้วสามารถจะทำความสุขให้เกิดกับชีวิตของเราได้ เช่นในศีลแต่ละข้อที่ได้รับไป พระพุทธเจ้าตรัสความหมายของศีลไว้ในหลายๆ ลักษณะ ก็ลองนึกเถียงดูในใจก็ได้ว่า ที่พระองค์ตรัสไว้จริงหรือไม่ ในความหมายที่พระองค์ตรัสว่า ศีลซึ่งแปลว่าปกติ ความหมายของปกติก็คือปกติในจิตของสัตว์โลกนั่นเอง คือสัตว์โลกทุกประเภทจะเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นสัตว์เดรัจฉานตัวเล็กๆ โดยปกติในจิตมีใครบ้างอยากจะให้ใครมาทำลายชีวิตของตัวเอง อยากจะให้ใครมาฆ่าอยากจะให้ใครมาเบียดเบียนชีวิตของตัวเองมีไหม ไม่มีโดยปกติของจิตก็อยากจะให้ทุกคนมีเมตตาปรานีต่อชีวิตของตนทั้งนั้น อันนี้เป็นปกติที่มีในจิตใจของสัตว์โลกแต่ที่จิตผิดปกติก็เพราะความกลัว กลัวว่าสัตว์นั้นจะเป็นอันตรายต่อเรา สัตว์นี้จะเป็นอันตรายต่อเรา จึงเกิดการฆ่าเกิดการทำลายกันขึ้น นี่เรียกว่าผิดปกติ เมื่อผิดปกติจิตมันก็กลัว มีแต่ความกลัว ถ้าหากว่าจิตเราเข้าถึงปกติดังเดิมก็จะมีแต่เมตตาปรานี และในศีลข้อ ๒ ศีลข้อ ๓ โดยปกติก็จะเป็นอย่างนั้น และในความหมายอีกความหมายหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ศีลนี้ท่านอุปมาเหมือนกับศีรษะ คือศีรษะของเรานี้มีของดีๆ อยู่หลายอย่าง เช่น ตาดูโลกเห็นสิ่งต่างๆ ได้ก็อยู่ที่ศีรษะ หูฟังเสียงต่างๆ ได้ก็อยู่ที่ศีรษะ จมูกหายใจให้ชีวิต ปากกินอาหารให้ชีวิตอยู่ได้ก็อยู่ที่ศีรษะ อวัยวะสำคัญของชีวิตทั้งหมดอยู่ที่ศีรษะทั้งนั้น ที่พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบศีลเหมือนกับศีรษะนั้น ก็เพราะพระองค์ตรัสว่า ที่เราเกิดมาในโลกปัจจุบันนี้ สิ่งที่เราปรารถนาอย่างยิ่ง ก็คือความสุข เราแสวงหาความสุขกันในลักษณะต่างๆ แต่ถ้าหากว่าความสุขนั้นไม่ได้มาจากพื้นฐานของศีล ก็อย่าไปหวังว่าความสุขนั้นจะเป็นความสุขที่แท้จริงหรือเป็นความสุขที่แน่นอน หรือเป็นความสุขที่มั่นคง หรือเป็นความสุขที่เราหวังได้ ความสุขนั้นก็จะเป็นความสุขที่เลื่อนลอย เป็นความสุขที่เป็นมายาที่เราต้องวิ่งตามอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าความสุขนั้นมีพื้นฐานมาจากศีลแล้ว ความสุขนั้นเป็นความสุขที่ชัดเจนแน่นอน เมื่อถึงคราวชีวิตของเราต้องแตกดับลงไปจิตของเรามีความมั่นคงในศีลชัดเจน ศีลนั้นก็จะพาไปอุบัติในภพที่มีความเจริญในภพที่มีความสุขมาก

อานิสงส์ของศีลแต่ละข้อ เช่นถ้าใครมีศีลข้อที่ ๑ อยู่ในใจเป็นปกติ จะเกิดที่ใดท่านว่าจะมีอายุยืนนาน โรคภัยไข้เจ็บจะไม่มีเบียดเบียนในชีวิต หรือจะไม่มีโรคประจำตัวนั่นเอง เกิดที่ใดจะมีอายุยืนนาน ผิวพรรณจะดี จะเป็นคนสวยคนงาม ศีลข้อที่ ๒ เกิดที่ใดจะมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ สมบัติจะไม่อันตรธานไปเพราะไฟไหม้ น้ำท่วม โจรปล้น คนมีเวรมาตู่มาโกงหลอกลวงเอาทรัพย์ของเราไม่ได้ อันนี้เป็นอานิสงส์ในศีลข้อที่ ๒ ศีลข้อที่ ๓ ถ้าใครมีศีลข้อนี้เกิดที่ใดก็จะไม่มีศัตรูเกิดขึ้น ไปทีใดก็จะมีคนเป็นมิตรเป็นสหาย ทั้งหญิงทั้งชายก็จะเป็นมิตรเป็นสหายกันอย่างสนิทสนม อันนี้เป็นอานิสงส์ศีลข้อที่ ๓ ศีลข้อที่ ๔ ถ้าใครมีศีลข้อนี้ จะอยู่ที่ใดจะไปที่ใด ก็จะได้ยินแต่คำสัตย์คำจริงคำไพเราะอ่อนหวานคำสมานสามัคคี คำที่มีสาระมีประโยชน์ คือจะไม่ถูกโกหกหลอกลวง ให้เราหลงทิศหลงทางอะไรทำนองนั้น และศีลข้อที่ ๕ ถ้าใครมีศีลข้อนี้ จิตจะตั้งมั่นเป็นสมาธิแก้ปัญหาของชีวิตได้ชัดเจน คือจะไม่เป็นโรคใบ้บ้าเสียสติหรือวิกลจริต หรือจะไม่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทผิดปกติ อันนี้เป็นอานิสงส์ของศีลทั้ง ๕ ข้อที่พระพุทธองค์ตรัสไว้

เมื่อมีศรัทธาเห็นว่าศีลนี้ดีจริง ให้ประโยชน์จริง ก็จะเกิดความเพียรในการที่จะรักษาศีล ซึ่งเป็นพละข้อที่ ๒ มีความกล้าหาญที่จะกระทำความดี กล้าหาญที่จะทิ้งความชั่ว คือความชั่วที่มีในจิตใจของเรา เพราะยังไม่เคยได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราหลงทำความชั่วเราหลงทำสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นเหตุของความทุกข์ เมื่อเราได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เรากล้าทิ้งกล้าสละแล้วก็กล้าที่จะทำความดีอย่างนี้เรียกว่าความเพียร เป็นผู้มีความเพียรทั้ง ๔ ข้อซึ่งก็เป็นโพธิปักขิยธรรมเหมือนกัน คือ สังวรปธาน คือเพียรระวังบาป ไม่ให้เกิดขึ้น ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในจิตของเรา ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น คือทำกุศลให้เกิด พยุงจิตของเราให้เจริญขึ้นให้ก้าวหน้าขึ้น คือให้มีความคิดที่เจริญที่เป็นกุศลที่มีความฉลาด ไม่ให้อกุศลธรรมแปดเปื้อนจิตของเราได้ และอนุรักขนาปธาน คือตามรักษาความดี จะเป็นศีลก็ดี เราก็ตามรักษาความดี จะเป็นศีลก็ดี เราก็ตามรักษา ภาวนาก็คือระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ด้วยการเจริญภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ อยู่ตลอดเวลา อันนี้ก็เป็นอนุรักขนาปธาน รักษากุศลต่างๆ ด้วยอำนาจของสติให้มีอยู่ในจิตของเราสม่ำเสมอ

กำลังข้อที่ ๓ คือ สติพละ สติพละอันนี้จำปรารถนาในที่ทุกสถาน คือเราจะต้องฝึกสติให้มีความชัดเจนในกายในวาจาในจิต เช่นที่เราเรียกว่าจะทำการเจริญภาวนาเราก็เข้าใจว่ามานั่งหลับตาภาวนากันชั่วครั้งชั่วคราวหรือ ชั่วโอกาสอะไรทำนองนี้ เป็นบุญเป็นกุศล เราภาวนากันเพื่อให้เกิดบุญเกิดกุศล ความคิดอย่างนี้ก็เป็นบุญเป็นกุศลเหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าเราจะทำภาวนาให้มีประโยชน์จริงๆ ต่อชีวิตจิตใจในชาติปัจจุบันของเราที่เราได้เกิดมาได้พบพระพุทธศาสนา และให้ได้ธรรมะคำสอนทางศาสนา ใช้กับชีวิตให้ถูกต้องตลอดชีวิต ก็คือเราจะต้องมีสติควบคุมกายวาจาจิตในทุกเหตุการณ์ทุกสถานที่ จะเป็นการยืน การเดิน การนั่ง การนอน การเหยียด การคู้ การทำหน้าที่การงานทุกอย่าง เราจะต้องมีสติคุมจิตของเราให้อยู่ในหน้าที่ที่เราทำ ในทุกเรื่องทุกอย่าง งานที่เราทำเป็นงานตามองค์มรรคหรือไม่คืองานตามองค์มรรคก็คือสัมมากัมมันตะ คือการงานถูกต้อง เป็นคนที่ทิ้งงาน เป็นคนที่ละเลยต่องาน เป็นคนที่ละเลยต่อหน้าที่ที่มีหรือไม่ ถ้าหากว่าจิตของเราละเลยต่อหน้าที่คอยผละงานผละหน้าที่อย่างนี้ เขาเรียกว่าไม่มีสมาธิในงาน คือเผลอหน่อยเราก็เอาเวลาไปใช้อย่างอื่น ที่เขาเรียกว่าจิตขบถต่องานอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่มีสมาธิจิตนั้น ไม่เป็นสัมมากัมมันตะ หรือเราไม่เคารพต่ออาชีพ คืออาชีพที่เรามีแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป็นชาวนาก็มี เป็นชาวไร่ก็มี เป็นข้าราชการก็มี นี้ก็เป็นอาชีพถ้าหากว่า จิตของเรามีองค์มรรคอยู่ในจิตของเรามีองค์มรรคอยู่ในจิตของเรา เป็นทางเดินของจิต คือเรามีอาชีพอะไร เราก็จะต้องมีจิตที่เป็นสัมมาอาชีพ คือมีอาชีพถูกต้อง ก็หมายความถึงว่าจิตของเราต้องเคารพในอาชีพนั้น คือ ทำอาชีพให้ดี ทำอาชีพให้ถูกต้องงดงาม คือไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนบุคคลอื่น อันนี้ก็เรียกว่าเป็นอาชีพในองค์มรรค นี้ก็เรียกว่าเราจะต้องฝึกสติกันอยู่ทุกเวลาให้มีสติในหน้าที่ ให้มีสติในชีวิตอยู่ตลอด จะเดินนั่งนอนเหยียดคู้คิด รู้อะไรต่างๆ เว้นแต่ขณะนอนหลับไป เรายกประโยชน์ให้ คือเมื่อเราหลับ สติมันอาจจะไม่มี ถ้าหากคนหลับอย่างมีสติจะไม่ฝัน คือจะเป็นคนนอนหลับไม่ฝัน หลับพักเพียงชั่วโมงสองชั่วโมงตื่นมาก็สบาย จิตจะแช่มชื่น แต่คนหลับแบบไม่มีสติจะนอนมากชั่วโมงก็ไม่ค่อยมีความหมาย คือตื่นแล้วจิตมันไม่กระปรี้กระเปร่าอะไรทำนองนี้อันนี้ก็เรียกว่าสติเราจะต้องฝึกกันทุกๆ อิริยาบถ คือให้มีกำลังในการที่จะควบคุมกาย ควบคุมวาจา ควบคุมใจของเราให้ได้ทุกๆที่ในทุกๆ ขณะ อันนี้ก็เป็นพละข้อที่ ๓
พละข้อที่ ๔ คือ สมาธิพละ สมาธินี้เราเข้าใจกันว่าคนมีสมาธิ จะต้องมีฤทธิ์มีเดชมีอำนาจแปลกกว่าบุคคลอื่น แต่สมาธิในที่นี้ก็หมายถึงจิตของเราตั้งมั่น คือเมื่อมีความเชื่อถูกต้อง ความเพียรถูกต้อง สติถูกต้อง จิตของเราก็จะรวบรวมเอากุศลความดีไว้อย่างมั่นคง คือใครจะมาผลัก ใครจะมาหลอก ใครจะมาทำลายหรือใครจะมาเสี้ยมสอนในลักษณะใดก็ตาม จิตของเราจะไม่หวั่นไหวจากความดีอันนั้น อันนี้ก็เรียกว่าจิตมีสมาธิ แต่ถ้าหากว่าจิตของเราเป็นลักษณะเชื่อง่าย คนนั้นบอกว่าอันนี้ดี คนโน้นบอกว่าอันนี้ดี ก็จะเชื่อไปหมด เชื่อดีไปหมด อันโน้นก็ดีอันนี้ก็ดี มันหลงดีอย่างนี้ แสดงถึงว่าจิตของเราไม่มีหลัก คือไม่มีสมาธินั้นเอง มันเชื่อดีไปทุกอย่าง ไม่รู้ว่าของนั้นดีจริงหรือไม่ดีจริง แต่ถ้าหากว่ามีกำลังข้อที่ ๑ อย่างชัดเจน คือเชื่อกรรมเชื่อผลของความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อธรรมที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วปฏิบัติตามคำของพระองค์ และมีความเพียรมีสติรักษาจิตให้อยู่ในความดีและจิตก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อันนี้ก็เรียกว่าสมาธิพละคือจิตของเรารวบรวมอารมณ์มั่นคงไม่หวั่นไหว

กำลังข้อที่ ๕ คือ ปัญญาพละ ก็หมายความถึงว่ารู้ตามความเป็นจริง และความจริงที่ควรรู้ก็คือริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ คือทุกขสัจ เราจะต้องรู้จักทุกข์ คือทุกวันนี้เรารู้แต่ความสุข แต่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นประจำชีวิตของเราแต่ละวันนั้นเราไม่ได้ดู ถ้าหากว่าเราถามตัวของเราแต่ละอิริยาบถว่า ทำไมเราจึงเดิน ทำไมเราจึงนั่ง ทำไมเราจึงนอน ทำไมเราจึงรับประทานอาหารจึงถ่ายอยู่ทุกวัน อากาศก็เปลี่ยนอยู่ทุกขณะ เราลองถามซิว่าเราทำอย่างนั้นเพื่ออะไร เวลานั่ง นั่งนานๆ ความทุกข์เกิดขึ้น ความเมื่อยขบเกิดขึ้น ทุกข์เกิดขึ้น เราก็ชักหลอกตัวเอง ต้องไปยืน ยืนมันจึงจะสบาย ไปยืนสักพักหนึ่ง ชั่วโมงหนึ่ง ความทุกข์ในการยืนเกิดขึ้น สิ่งที่หลอกก็ปรากฏในใจ จะต้องไปนอน นอนนานๆ เจ็บข้าง เจ็บหลัง เจ็บเอว จะต้องไปเดิน เราหลอกชีวิตกันอยู่ทั้งวันอย่างนี้ และสิ่งที่ปรากฏกับชีวิตของเราเราดูกันหรือไม่ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรดับไป ทุกข์เท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าหากว่าเราดูในชีวิตของเรา เราก็จะเห็นว่า มันเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบันนี้ สิ่งที่เราแก้กันอยู่ตลอดเวลา แก้อะไร เราก็แก้ตัวทุกข์กัน ถ้าทุกข์มันเบาเราก็เข้าใจว่ามันเป็นความสุข แต่ถ้าเราเข้าใจความหมายของพุทธวจนะ คำว่าสุข คำว่าทุกข์ ตามลักษณะของธาตุ ทุกข์นั้นก็แปลว่าสิ่งที่ทนได้ยาก และสิ่งที่ทนได้ยากนั้นเขาเรียกว่าความทุกข์ สุขนั้นก็คือความสุขกาย สุขใจ คือสิ่งที่ทนง่ายเราเรียกว่าสุข มันทนง่ายหน่อย ทนอิ่มนี่มันทนง่าย ทนหิวนี่มันทนยาก คือถ้านั่งนานๆ มันปวดมันเมื่อยนี้มันทนไม่ได้ ถ้าเดินเสียมันพอทนได้ อย่างนี้วันหนึ่งๆเราต้องอยู่กันด้วยความอดทน อันนี้ก็เพื่อเราจะได้หาเหตุว่าที่เราต้องทุกข์กันอยู่ทั้งวัน และทุกข์ประจำชีวิตของเรานี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ก็เกิดขึ้นมาจากสมุทัยที่เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ เราก็จะต้องดูด้วยปัญญา ซึ่งเป็นพละข้อที่ ๕

สมุทัยนั้นคืออะไร ก็คือตัณหา ตัณหาก็คือความทะยานอยาก ดิ้นรนอยากจะได้มาซึ่งรูป อยากจะได้มาซึ่งเสียง อยากจะได้มาซึ่งกลิ่น อยากจะได้มาซึ่งรส อยากจะได้มาซึ่งผัสสะ เมื่อได้มาแล้ว มันสุขจริงหรือไม่จริง ชีวิตของเรามันก็ไม่สุข รูปอื่นที่เราได้มามันจะสุขอย่างที่เราเข้าใจหรือไม่ เราเข้าใจว่าชีวิตของเราเป็นที่ตั้งของความสุข แต่ทั้งวันเราก็บริหารทุกข์กันอยู่อย่างนี้ ถ้าหากว่าไปได้รูปอื่นมา รูปอื่นก็จะต้องมีทุกข์อย่างกับชีวิตของเรานี่ แต่เราจะได้สุขจริงหรือไม่ อันนี้พิจารณาให้ชัดลงไป เรื่องของรูป จะเป็นรูปคน รูปสัตว์หรือรูปสิ่งของต่างๆ ที่เรียกว่า อุปาทินนกรูป ก็คือรูปสิ่งที่มีวิญญาณครอง มนุษย์สัตว์เทวดามารพรหม อนุปาทินนกรูปคือรูปที่ไม่มีวิญญาณครอง บ้านช่องเลือกสวนไร่นาทรัพย์สมบัติพัสถาน ถ้าหากว่าจิตดวงนี้เข้าไปแตะต้องกับรูปชนิดใดด้วยอำนาจของตัณหาคือความทะยานอยากเพื่อจะได้ เพื่อจะยึดครองสิ่งเหล่านั้น และสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีวิญญาณครอง หรือไม่มีวิญญาณครองก็ตาม ทุกอย่างตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งนั้น คือมีความไม่เที่ยงอยู่ในตัวของมันเองทั้งสิ้น มีการเปลี่ยนอยู่ทุกขณะอย่างญาติโยมที่นั่งอยู่ที่นี่ จะอยู่กับเรื่องการเงินการทอง เงินที่เราปรารถนา เงินที่เราอยากได้ เงินที่พิมพ์ขึ้นมาพิมพ์ใหม่ๆ มันก็น่าใช้น่ามี แต่พอเก็บไว้นานๆ มันก็เก่า เก่าแล้วก็ต้องทำลายทิ้งกัน อันนี้อนิจจลักษณะอย่างนี้เราเห็นกันอยู่ คือเห็นกันอยู่ทุกวัน ถ้าพิจารณามันเป็นอนิจจลักษณะ ถ้าหากว่าเราเข้าไปแตะต้องด้วยอำนาจของตัณหาชนิดใด จะเป็นกามตัณหา ภวตัณหา หรือวิภวตัณหา กามตัณหาคือความดิ้นรนเพื่อจะได้มาตามอำนาจของความใคร่ จะเป็นเสียงกลิ่นรสสัมผัสก็ตาม ภวตัณหาความทะยานอยากดิ้นรนให้ความมีความเป็น คือเราเป็นมนุษย์เราก็ไม่อยากจะจากมนุษย์ไปเราอยู่ในฐานะนี้ เราก็ไม่อยากจะให้มันเปลี่ยนฐานะไปอะไรทำนองนี้ มันเป็นตัณหาทั้งนั้น วิภวตัณหาคือความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น ในความไม่มีไม่เป็นก็เป็นตัณหา คือเรามีโรคภัยไข้เจ็บประจำตัว เราไม่อยากจะมีโรคภัยไข้เจ็บ เราอยากจะให้โรคภัยไข้เจ็บมันหมดไปหายไป มันไม่หมดไปหายไปเดือดร้อนใจอะไรต่างๆ อันนี้เป็นตัณหาทั้งนั้น นี้เป็นตัวเหตุที่ทำให้เราคิดทำให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น อันนี้ปัญญาที่เป็นพละข้อที่ ๕ ก็จะต้องพิจารณาให้เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ

ฉะนั้น ถ้าเราเห็นชัดว่าทุกข์เกิดที่ใด ก็เกิดที่ตัณหา ๓ และการดับทุกข์เราจะดับที่ใด เราก็จะต้องดับตัณหานี้ให้ได้ คือดับความทะยานอยากดิ้นรนที่เกิดมีอยู่ในจิตในใจของเราให้ดับลง ด้วยอำนาจของการเจริญภาวนาสมาธิ จนจิตของเราสงบชัดเจนเราก็จะได้เห็น ในขณะที่จิตของเรายังไม่สงบ ความทุกข์ต่างๆ มีอยู่ตลอดเวลา เมื่อจิตของเราสงบเงียบลง ความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยอะไรอย่างอื่นเป็นเหตุให้ได้รับความสุข ก็จะมีชัดเจนขึ้นในจิตใจของเรา

ต่อไปโยมลองนั่งภาวนากันสักชั่วขณะ ตามพละทั้ง ๕ การเจริญภาวนาก็นั่งหลับตาแล้วมีสติกำหนดอยู่ที่องค์บริกรรม พุท หายใจเข้า
โธ หายใจออก หรือถ้าหากว่าบางท่านไม่สามารถจะกำหนด พุท ตามลมหายใจเข้า โธ ตามลมหายใจออก จิตยังดิ้นรนกวัดแกว่งก็ไม่ต้องไปภาวนาพุทโธ กำหนดดูจิตในจิต คือให้มีสติกำหนดดูจิตในจิต ว่าอะไรเป็นตัวทำให้จิตของเราดิ้นรนให้เห็นตัวนั้นชัดเจนด้วยสติ แล้วจิตของเราก็จะสงบได้ ต่อไปลองภาวนากัน #




อิทานิ ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ปะรินิพพานะโต ปัฏฐายะ จะตุจัตตาฬีสะ เทวสังวัจฉะระสะหัสสานิ อะติกกันตานิ ปัจจุปปันนะกาละวะเสนะ สาวะนะมาสัสสะ ทะวาทะสะมัง ทินัง วาระวะเสนะ ปะนะ ระวิวาโร โหติ เอวัง ตัสสะ ภะคะวะโต ปะรินิพพานา สาสะนายุกาละคะณะนา สัลลักเข ตัพพาติ ฯ
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาล จำเดิมแต่ปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัดนี้ ล่วงแล้ว ๒๕๔๔ พรรษา ปัจจุบันสมัย สิงหาคมมาส สุรทินที่ ๑๒ ระวิวาโร พระพุทธศาสนายุกาลจำเดิมแต่ปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีนัยอันจะพึงพึงกำหนดนับด้วยประการฉะนี้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ฯ
ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บัดนี้อาตมาภาพจักได้แสดงพระธรรมเทศนาเนื่องในโอกาสเป็นวันธรรมมัสสะวะนะ วันพระแรม ๘ ค่ำ,เดือน ๙ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจแก่ท่านสาธุชน
อันพระธรรมเทศนาที่อาตมาภาพจักได้นำมาแสดงในครั้งนี้ มีหัวข้อเรื่องชื่อว่า พระโสดาบัน ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาซึ่งได้รจนาไว้โดย พระอาจารย์มหาพิน หรือท่าน พุทธะวิริโย ภิกขุ ซึ่งท่านอนุเคราะห์แสดงไว้ อาตมาภาพเห็นว่าเป็นพระธรรมเทศนาที่ไพเราะและเหมาะสมกับพุทธบริษัททั้งหลาย จึงจักขอนำมาแสดงไว้ ณ ที่นี้อันพอสมควรแก่เวลา ฯ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง