Home
•
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทาน
•
หนังสือ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
•
แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้
ค้นหา
สมัครสมาชิก
รายชื่อสมาชิก
กลุ่มผู้ใช้
ข้อมูลส่วนตัว
เช็คข้อความส่วนตัว
เข้าสู่ระบบ(Log in)
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
ถามพระพรหมคุณาภรณ์ ทำอย่างไรดี? เมื่อคนไม่ดีกลับมาเป็นรัฐบาล
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
:: ลานธรรมจักร ::
»
สนทนาธรรมทั่วไป
ผู้ตั้ง
ข้อความ
sithiphong
บัวพ้นดิน
เข้าร่วม: 19 ต.ค. 2007
ตอบ: 87
ตอบเมื่อ: 11 ธ.ค.2007, 10:16 am
ถามพระพรหมคุณาภรณ์ ทำอย่างไรดี ?
เมื่อคนไม่ดีกลับมาเป็นรัฐบาล...จะแย่กันหมด !!!
วันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่จะถึงนี้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย หลังจากผ่านการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ประชาชนส่วนหนึ่งมองการเมืองแล้วมีความรู้สึกไม่สบายใจกับสถานการณ์การเมือง
ซึ่งมีทีท่าว่าจะไม่เป็นความหวังในการสร้างสังคมไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า หากเป็นเรื่องน่าวิตกอย่างยิ่งที่นักการเมืองกลุ่มเดิมๆ หน้าเดิมๆ ที่เคยมีประวัติไม่ดีไม่งามกำลังจะกลับมามีบทบาท ที่น่าหวาดหวั่นว่าจะทำให้พวกเขากลับมามีอำนาจ และจะนำพาบ้านเมืองไปสู่วิกฤตซ้ำรอยเดิม อีกทั้งเมื่อมีการทำโพลในเรื่องการเลือกตั้งครั้งใหม่ดังกล่าว มีโพลระบุว่า มีประชาชนที่ยินดีซื้อเสียง ถ้ามีคนมาซื้อก็จะขายเสียงให้ เปอร์เซ็นต์สูง 60%
ด้วยเหตุนี้คณะบุคคลที่มีความวิตกเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง จึงได้ไปปรึกษา
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ที่วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม ว่าในสภาพบ้านเมืองอย่างนี้ ควรทำใจอย่างไร
จะแก้การเมืองไม่ดี
หนีไม่พ้นต้องทำคนให้พัฒนา
ผู้ถาม -
อย่างนักการเมืองบางคน พอเราเห็นหน้าเขา เราก็ไม่พอใจแล้ว เขาเป็นคนไม่ดี แต่ก็ยังอยู่ในแวดวงการเมือง จะกลับมาอยู่ในการเมืองสมัยหน้าอีก ในเมื่อเขาเป็นคนไม่ดี ทำไมสังคมถึงยอมรับเขา เลือกเขา แล้วอาจมีคนสนับสนุนอยู่ข้างหลัง ผมก็เตรียมรับสถานการณ์ว่า ถ้าเขาได้เป็นรัฐบาล มันก็แย่กันทุกคน แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี
พระ -
อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า เราก็ต้องรู้ทัน แต่ไม่เอาตัวเข้าไปหมกมุ่น อย่างน้อยรู้ทันว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้น แต่รายละเอียดเราไม่ลงลึก และที่ว่า ทันของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่ที่คนนั้นว่ามีความเกี่ยวข้องแค่ไหน คนหนึ่งรู้แค่ภาพรวมหรือสภาพทั่วไปของเรื่องที่เกิดขึ้น แต่อีกคนหนึ่งเขาเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในเรื่อง ก็จะต้องรู้ลึกเข้าไป สองคนรู้เรื่องเดียวกัน สถานการณ์เดียวกัน ความเป็นไปเดียวกัน แต่รู้คนละระดับ
คนหนึ่งต้องลงลึก เช่น รู้ว่านายคนนี้เป็นใคร ภูมิหลังเป็นอย่างไร ตอนนี้เขาทำอันนี้ไปโยงกับใครอีก อย่างนี้เป็นต้น แต่สำหรับเรารู้แค่ว่า อะไรกำลังเกิดขึ้น รู้ระดับนี้ก็พอสำหรับเราแล้ว เมื่อเหตุการณ์เป็นไปอย่างไร เราก็พอมองออกเพราะมีข้อมูลอยู่
แต่คนที่ไม่มีข้อมูลความรู้ เวลาเกิดอะไรขึ้นมาจะมองอะไรไม่ออก เมื่อมองอะไรไม่ออกก็ตั้งท่าทีไม่ถูก แล้วเรื่องบ้านเมืองนี่ต่อไปมันต้องมาเกี่ยวข้องกับเราแน่นอน
บางครั้งเราจะต้องแสดงความคิดเห็นบ้าง ถ้าเราไม่มีข้อมูลไว้พิจารณา ก็จะคิดเห็นไม่ถูกทาง
เมื่อเรามีเรื่องที่เป็นหลักของเราอยู่แล้ว เราก็ให้ใจของเราอุทิศให้แก่เรื่องนั้น อันที่เราเห็นคุณเห็นประโยชน์ว่าจะต้องทำ ส่วนเรื่องอย่างนี้เรารู้เพียงในระดับที่เหมือนเป็นสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ซึ่งไม่ว่าเราจะพอใจหรือไม่มันก็ต้องเกี่ยวข้องอยู่ดี
เราก็ต้องรู้ว่าสภาพแวดล้อมนั้นกำลังเป็นไปอย่างไร
เหมือนอย่างกับว่าเราไปท่องเที่ยวแล้วไปพักในที่แห่งหนึ่ง อย่างที่ว่าไปแล้วเมื่อกี้ เราก็ต้องรู้ว่าที่นั้นเป็นอย่างไร สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ต้องรู้พอสมควรเท่าที่พอมองเห็น เอาแค่ว่าไม่ปิดตาปิดหู คิดว่าแค่นั้นก็พอ ไม่ต้องรู้รายละเอียดลึกซึ้ง นอกจากนั้นประสบการณ์ที่ได้เคยผ่านอะไรต่ออะไรมา จะทำให้เรามองออกเหมือนกันว่า อะไรจะเป็นอย่างไร คือ ความรู้ของเรามิใช่เป็นความรู้ที่ลอยขาดตอนเฉพาะตรงนั้น มันมีความเป็นมาอยู่เบื้องหลังด้วย ประสบการณ์ก็จะเพิ่มขึ้นและมาเสริมกัน เรื่องอะไรเราจะไปตัดมันทิ้งไป
แล้วที่ว่านักการเมืองไม่ดี ทำไมอยู่ในแวดวงการเมืองได้ดี และสังคมก็ยอมรับอยู่ดี นี่ก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่าสังคมนี้ชอบนักการเมืองอย่างนั้น ปัญหาจึงไม่อยู่แค่ที่ตัวนักการเมือง แต่อยู่ที่สังคมทั้งหมด คือคนทั่วไปมีคุณภาพแค่นั้น
เพราะฉะนั้นจะแก้ปัญหาให้ได้ผลจริง ก็หนีไม่พ้นว่าต้องพัฒนาคุณภาพของประชาชน
จริงไหมว่านักการเมืองก็มาจากประชาชน หรือจากประชาชนนั่นแหละ ก็มาเป็นนักการเมือง นี่หมายถึงทั้งสองทาง คือ เมื่อประชาชนเป็นอย่างไร ก็หนึ่ง คนที่เป็นนักการเมืองก็คือ บางคนในประชาชนนั้นแหละมาเป็น แล้วก็สอง คนที่เป็นนักการเมืองก็คือ คนที่ประชาชนแบบนั้นแหละชอบ อย่างนั้นแล้วเลือกเข้ามา
ดังนั้น คุณภาพของประชาธิปไตย จึงอยู่ที่คุณภาพของประชาชน
ผู้ถาม -
ถ้าเรารู้และทำใจได้แล้ว เราจะมีท่าทีอย่างไรในเมื่อมีพุทธวจนะว่า เราควรเสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ยอมเสียชีวิตเพื่อรักษาธรรม ขั้นไหนที่เราควรจะสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ในเมื่อทุกวันนี้ ธรรมะโดนย่ำยีตลอด ลัทธิบางลัทธิอ้างตู่พุทธพจน์ว่า นิพพานเป็นอัตตา อย่างนี้เป็นต้น เราควรจะทำอย่างไรแค่ไหน หรือนักการเมืองที่บางคนบอกว่า เขาเสียสละเพื่อชาติ แต่ความจริงโกงชาติ ผมอยากจะทราบว่า จุดใดที่เราต้องตัดสินใจว่า เราจะเสียสละ เสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะนี่ง่าย เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตก็ยังง่าย
แต่เมื่อไหร่จะสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม
พระ -
อยู่ที่สองอย่าง หนึ่ง เรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับเราแค่ไหน สอง เราจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นแค่ไหน อยู่ที่ตัวเองตัดสินใจด้วยตัวเอง
บางกรณี เรื่องนั้นมาเกี่ยวกับตัวเราโดยตรงเลย มันเจาะจงมาที่เรา ตอนนี้เราต้องตัดสินใจแล้วว่า เราจะเอาอย่างไร ในกรณีข้อสอง หากเราพิจารณาว่าเรื่องนี้สำคัญ เราต้องเกี่ยว เราก็เลยเข้าไปเกี่ยว อันนี้เป็นการตัดสินใจของเราเอง เราเลือกได้
ในกรณีที่หนึ่งเราเลือกไม่ได้ ถ้าเป็นกรณีที่หนึ่งนี้ หากเรามีความรู้อยู่บ้าง ถึงอย่างไรเราก็พอตั้งรับได้ แต่ในกรณีแบบที่สองนั้น เป็นเรื่องพิเศษออกไป อยู่ที่เราจะตัดสินใจว่า แค่ไหนที่เราจะเอา เราก็อาจจะพิจารณาของเราเอง
เพราะเรื่องนั้นไม่ได้เกิดผลโดยตรงต่อชีวิตของเราอย่างชัดเจน แต่มันมีผลเสียต่อสังคม ต่อหลักการ ต่อธรรมะ
เราก็พิจารณาสิว่า เราจะเกี่ยวข้องด้วยแค่ไหน
ในสถานการณ์อย่างนี้ การสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมก็ควรทำได้ และ น่าจะทำ แต่คงไม่ต้องถึงกับเป็นเรื่องล้มตายคือ ควรสละชีวิตในความหมายว่า อุทิศชีวิตหรือยกชีวิตของเรานี้ให้กับงานพัฒนาสังคม ทุ่มเทเรี่ยวแรงกำลังให้แก่งานพัฒนาคุณภาพคน มุ่งมั่นขับเคี่ยวให้ประชาชน ซึ่งก็รวมทั้งนักการเมืองด้วย ให้มีจิตใจและมีปัญญาที่ถึงธรรม
ผู้ถาม -
ในเรื่องการสละชีพนี่ ถ้าเป็นชาวพุทธเราก็น่าจะง่าย เพราะเรามีหลักศีลธรรมเป็นตัวกำกับ เช่นว่า เราจะไม่ทำปาณาติบาต ไม่ฆ่าสัตว์ แต่ในกรณีของผู้ก่อการร้ายวันที่ 11 กันยายน ก็เป็นเหตุผลที่เขาเสียสละเพื่อพระเจ้าของเขา สละชีพเพื่อรักษาธรรมของเขา ผมไม่ได้มาเถียงที่ว่า ทัศนคติของเขาเป็นอย่างไร แต่เขาก็อ้างได้ว่า เขาเป็นนักรบของพระเจ้า สละชีพเพื่อรักษาธรรม
พระ -
กรณีนี้พิจารณาได้นี่ คุณจะสละชีพตัวเองก็สละชีพไป แต่นี่ไปเล่นงานชีพของคนอื่นใช่ไหม คือไปสละชีพตนปลิดชีพคนอื่นที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้อง เอาแต่เรื่องของตัว ไม่คำนึงถึงใคร
ผู้ถาม -
มหายานเขามีความคิดในเรื่องที่ว่า ถ้าหากจำเป็นต้องละเมิดปาณาติบาตเพื่อกำจัดพระยามาร ท่านยอมทำ เพื่อจะไม่ให้พระยามารนี้ ก่อบาป ไปทำร้ายคนดีในสังคมอีกมหาศาล หลวงจีนยอมลงนรกแทน
พระ -
อันนั้นเป็นเหตุผลของท่าน แต่มันก็ทำให้เกิดช่องโหว่ เป็นข้ออ้างสำหรับคนอื่นได้ บางทีคนอื่นยังไม่ถึงสถานการณ์จำเป็นอย่างนั้น ก็จะอ้างแบบเดียวกันได้ว่า ถึงเวลายอมลงนรกแล้ว แทนที่จะพูดอย่างนั้น ท่านให้คิดสวนทางอีกแบบหนึ่ง คือ ทำอย่างไรเราจึงจะมีความสามารถในการแก้สถานการณ์วิกฤตได้โดยไม่ต้องไปทำร้ายใคร มันต้องพัฒนาคนให้ได้ขนาดนั้น ตามหลักการของพระพุทธศาสนาท่านสอนให้พยายามในแง่นี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นการยอม
ในเรื่องนี้ สุดโต่งมี 2 แบบ
แบบที่ 1 คือ ต้องใช้ความรุนแรงจัดการกับมัน
แบบที่ 2 สุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง คือ ยอมสยบ คล้ายกับบอกว่าฉันจะไม่รุนแรง แล้วก็ยอมปล่อยไปเลย อีกฝ่ายหนึ่งที่ร้ายก็เลยทำได้ตามชอบใจ
วิธีของพระพุทธศาสนา คือ ทำอย่างไรจึงจะให้เรื่องนั้นระงับสงบ แก้ปัญหาได้โดยไม่ใช้วิธีรุนแรง ต้องแก้ ไม่ใช่ปล่อย ไม่ใช่ยอม แต่ต้องใช้ความสามารถอย่างสูงที่จะแก้โดยไม่ใช้วิธีรุนแรง อันนี้จึงทำให้มีหลักคำสอน มีตัวอย่างที่ท่านสอนให้มนุษย์ฝึกตน ให้พัฒนาความสามารถที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ คือสยบความรุนแรงด้วยความสามารถที่จะระงับความรุนแรง
ผู้ถาม -
แต่ในแง่ความเป็นจริง คนหนึ่งเกิดมาเขาโกงไปเป็นแสนล้าน ตัวเรามีอยู่ไม่กี่สิบบาท เรารู้เท่าทันเขา เราจะพัฒนาปัญญาอย่างไรไปคัดค้านกับเขา ที่กระผมพูดอย่างนี้ เพราะกระผมมองว่า มันมีสิ่งที่เป็นสุดโต่งในสังคมอยู่แล้ว บางคนเกิดมามีทรัพย์ มีอำนาจ แต่เป็นคนเลว อีกคนหนึ่งเกิดมาเป็นคนดี แต่ไม่มีอะไรเลย
พระ -
อย่างนี้จะไปสู้เขาอย่างไร สู้ไปตัวเองก็ตายเปล่า
ผู้ถาม -
ก็เหมือนอย่างสถานการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้ คนดีก็ไม่อยากไปยุ่ง เพราะรู้สึกว่ามันต้านกระแสไม่ไหว คนมีประวัติด่างพร้อยเข้ามาเต็มไปหมด เราจะอยู่อย่างไร
พระ -
เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระยะยาว คือ ไม่ใช่แค่ว่าคนดีท้อใจ ไม่กล้าเข้าไปยุ่ง แต่อีกชั้นหนึ่งซึ่งกว้างกว่านั้นก็คือ เป็นเพราะสภาพสังคมมีค่านิยมที่เป็นปัญหาด้วย มันจึงไม่เอื้อ คือ ค่านิยมของสังคมไม่ได้เชิดชูคนดี เพราะฉะนั้นคนดีก็ไม่มีกำลัง ถ้าหากว่าตัวสังคม คือประชาชน มีค่านิยมเชิดชูคุณธรรม เชิดชูคนดี ยกย่องคนดี ก็จะยกคนดีให้มีกำลังเองไปสู้ได้ ทีนี้องค์ประกอบด้านกำลังหนุนอันนี้มันไม่มี ตัวเองเข้าไปคนเดียวก็เลยไม่มีกำลังจะสู้ อันนี้เป็นปัจจัยอีกระดับหนึ่งที่เราต้องรู้ทัน
เราอาจจะมองอย่างคนกลัวการเมืองแบบที่ว่า
เมื่อเห็นว่ามีแต่คนไม่ดี ก็เลยไม่กล้าเข้าไป ถ้าอย่างนั้นเราก็อาจจะไปเดินทางด้านอื่น โดยคิดในระยะยาวว่าจะต้องทำอย่างไรในการที่จะแก้ปัญหานี้ แล้วก็อาจจะคิดได้วิธีการที่ออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปเข้าสนามเดียวกับเขา
เรารู้อยู่แล้วว่า สนามนี้มันเล่นโกงเราแน่ เราตายแน่ เราจะไปเข้าสนามนี้ทำไม เราก็ไปหา สนามอื่น มันต้องคิดหาทางออก เอาทางเลือกอื่น เหมือนพระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกรกิริยานักหนาแล้วนานตั้ง 3 ปี ทำอย่างเต็มที่จนไม่มีใครจะทำแบบนี้ได้ ก็ไม่ตรัสรู้ พระองค์เลิกล้มวิธีนั้น แต่พระองค์ไม่ได้คิดเลิกล้มการตรัสรู้ ทรงคิดว่ามันน่าจะมีทางอื่น ทางนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ได้ผล
ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ
อย่างที่ว่าไปใช้วิธีการแห่งปัญญา
ผู้ถาม -
ผมเทียบอย่างสังคมพม่ากับสังคมของไทย สังคมไทยผ่านการต่อต้านเผด็จการช่วง 14 ตุลาเป็นต้น แต่อย่างของพม่าตั้งแต่เขาได้อิสรภาพจากการเป็นเมืองขึ้น จนกระทั่งมีรัฐบาลทหารขึ้นมา ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นรัฐบาลพุทธเหมือนกัน ประชาชนก็เป็นพุทธ แต่ถึงวันนี้สถานการณ์เขาเลวร้ายกว่าเรามาก อย่างนี้มันก็เหมือนกับลักษณะปล่อยปละละเลย
พระ -
ใครปล่อยล่ะ คนที่ทำก็นึกไม่ถึงว่าจะเกิดสถานการณ์อย่างนี้ ฝ่ายที่อยู่ในอำนาจก็กลัว ความกลัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุนแรง เพราะกลัวว่าตัวจะแย่ก็ต้องปกป้องตัวเองไว้ ถึงอย่างไรก็ต้องเอาตัวฉันอยู่ให้ได้ แล้วเพื่อให้ตัวอยู่นี่แหละ ก็เลยทำทุกอย่างที่เลวร้ายได้ ความกลัวนี่แหละเป็นตัวการสำคัญ
เหมือนประเทศมหาอำนาจ ไม่ใช่เขาไม่กลัว เขากลัวว่าจะเสียอำนาจ กลัวว่าจะสูญเสียความ ยิ่งใหญ่ เขาจึงต้องทำอะไรๆ ที่รุนแรง
ถ้าคนเก่งถึงขั้นจริงๆ เขาจึงจะกล้าที่จะแก้ปัญหาโดยไม่ต้องใช้วิธีรุนแรง นี่ก็คือต้องพัฒนาตัวจนสามารถสยบความรุนแรงได้ ซึ่งมนุษย์ยังพัฒนาไปไม่ค่อยถึง หรือยังคิดไม่ถึง จึงได้แค่กลัวว่าตัวจะแย่ แล้วแรงมาก็ต้องแรงไป
ผู้ร่วมสนทนา -
พระพุทธเจ้าท่านทรงเป็นมหาบุรุษของโลก คือท่านมีความสามารถสูงมาก เป็นอัจฉริยะของโลกก็สามารถทำได้
พระ -
อาตมายกตัวอย่างเพื่อให้เห็นแนวทางว่า มันไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดียว แต่เราต้องหาทางออกโดยวิธีอื่นด้วย และที่ท่านสอนไว้อย่างนั้น ก็เพราะท่านเห็นแล้วว่า จะแก้ปัญหาได้จริง ก็ต้องทำได้ถึงขั้นนั้น มิฉะนั้นก็จะวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ และก็แค่นี้
มีต่อ >>>>>
_________________
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1. หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2. หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3. หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร) 4. หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า 5. หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้าhttp://board.palungjit.com/showthread.php?t=22445
sithiphong
บัวพ้นดิน
เข้าร่วม: 19 ต.ค. 2007
ตอบ: 87
ตอบเมื่อ: 11 ธ.ค.2007, 10:16 am
ก่อนกาเบอร์เลือกตั้ง กาหัวใจตัวเรา
ว่าเอา ธนะ หรือเอา ธรรมะ
ผู้ร่วมสนทนา -
คือไม่ทำอย่างอื่น ไม่ต้องเกี่ยวกับการเมืองเลยหรือขอรับ
พระ -
ต้องแยกอีกแหละ คือ หนึ่ง ถ้ามองในแง่ว่าเรามีงานของเราที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาก เราไม่ควรจะมาเสียเวลาในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เรื่องนี้มากระทบทำลายงานของเรา เราก็ไม่ยอมสละเวลาให้กับเรื่องการเมืองนั้น เพื่อจะอุทิศเวลาให้กับงานที่เราเห็นคุณค่า ถ้าอย่างนั้นก็ทำเรื่องของเราไป แต่อย่างที่ว่า นี่ก็คืออยู่ในระดับที่หนึ่ง คือ เอาแค่พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรในสภาพแวดล้อมของสังคมนี้ ต้องรู้ไว้ แต่ไม่ลงลึก นี่อย่างหนึ่ง
ทีนี้ อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ คิดแก้ปัญหาบ้านเมืองที่เป็นอย่างนี้ ก็มาถึงขั้นที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดียวกับเขา เราอาจจะต้องเปลี่ยนไปทำอะไรอย่างอื่น หรือใช้วิธีอื่น แต่ในระยะยาวมันก็หนี ไม่พ้นที่จะต้องแก้ไขทั้งสังคม
เวลานี้เราต้องยอมรับความจริงว่า องค์ประกอบของสังคมแทบทุกส่วนเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อความโดดเด่นของผู้มีบาปธรรม ไม่ใช่เอื้อแก่คุณธรรม มันจึงเป็นโอกาสของเขา ก็ต้องรู้ตัวซิว่า เราได้ปล่อยสังคมของเราให้หมักหมมอยู่ในความประมาทมานาน จนกระทั่งสังคมนี้กลายเป็นสภาพเอื้อแก่คนพวกนี้ แล้วอย่างนี้เราจะมาแก้ปัญหาฉับพลันทันทีได้อย่างไร
อย่างประชาชนทั่วไปก็ไม่ใส่ใจแล้วว่า การเมืองจะทำให้บ้านเมืองส่วนรวมเป็นอย่างไร เอาแค่ให้ตัวฉันอยู่ได้ ก็ยอมรับเงินทองในการเลือกตั้งง่ายๆ ถ้าเราเอาคนดีมา ก็ยากที่จะได้รับการเลือกตั้ง นอกจากว่าจะมีความโดดเด่นประทับใจ จนกระทั่งเป็นสุดรักสุดบูชาของประชาชน
ในแง่หนึ่งคือ ต้องมีมหาบุรุษขนาดนั้น จึงจะสามารถเปลี่ยนสังคมอย่างนี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า องค์ประกอบในสังคมเวลานี้มันเป็นอย่างนั้น และกระแสมันกำลังไหลไปทางนั้นอย่างรุนแรง
มีคณะที่มาคุยก่อนหน้านี้ เขาปรารภเรื่องความเลวร้ายของสังคมไทย อย่างการปกครองทุกวันนี้ ไม่เฉพาะส่วนกลาง ออกไปยังท้องถิ่น อบต. รับเลือกตั้งเข้ามา ก็มักเป็นพวกนักธุรกิจรับเหมาโน่นนี่ รับเลือกตั้งเข้ามาไม่ใช่มีจุดประสงค์ที่จะมาพัฒนาทำความดีงามให้กับท้องถิ่นหรือแก่ประชาชน เขามาเพื่อธุรกิจของเขา เพราะฉะนั้นเวลาเข้ามา เขาก็มาด้วยการหว่านเงินอีก แม้แต่สังคมในระดับท้องถิ่นก็เสียนิสัยไปหมด แย่ตั้งแต่เลือกตั้ง ส.ส. ของประเทศ ลงไปจนถึงเลือกตั้งท้องถิ่น กลายเป็นระบบที่ไม่มีหลักการแล้ว เอาเงินเข้าว่า
นี่ก็หมายความว่า สังคมไทยบี้แบนแหลกเหลวไปหมดแล้ว อย่างนี้ก็หวังอะไรได้ยาก อย่างทางด้านโรงเรียน ครูก็กลัวจะขึ้นกับ อบต. จึงพยายามหลีก แต่ก็ไม่พ้น แล้วก็หวาดว่า ถ้าครูจะทำอะไรเพื่อพัฒนาการศึกษา แต่มาขัดผลประโยชน์ทางธุรกิจของเขา แล้วเขาก็จะเอาอย่างไรกับโรงเรียน ครูจะอยู่ดีได้ไหม นี่คือสภาพของสังคมที่ได้สร้างเหตุปัจจัยกันมาจนกระทั่งเป็นอย่างนี้ ธุรกิจที่โลภผลกำไรกลายเป็นกระแสหลักของสังคม จริงอยู่ ส.ส. ที่ดี อบต. ที่ดี ที่มีหลักการ ก็มี แต่ถ้าฝ่ายดีนี้เป็นกรณียกเว้น นั่นก็คือบอกว่าสังคมนี้ป่วยถึงขั้นอาการหนักแล้ว
เมื่อคนใกล้ก็หวาด คนไกลก็ห่วงอย่างนี้ อบต. ก็เท่ากับมีเครื่องเตือนใจไว้แล้วว่า ตัวเองจะต้องสร้างศรัทธาขึ้นมาให้ได้ ถ้าระดับท้องถิ่นสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาได้ ก็มีทางจะคืบหน้าขึ้นมาแก้ในระดับรัฐขั้น ส.ส. ที่ญาติโยมมาบ่นกันที่นี่ว่าแสนจะเบื่อ
เป็นทางเลือกของสังคมไทยว่า จะเอาธรรมะ หรือจะเอาธนะ ดูเหมือนว่าคนไทยมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ที่จะใช้สิทธิในการเลือกนี้ และคนไทยก็รู้ด้วยว่าที่ถูกนั้นต้องเอาธรรมะ
แต่ถ้าไม่เลือกธรรมะ กลับไปเอาธนะ ก็เพราะใจนี่แหละไม่เป็นไท ใจนั้นจึงไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกเอาสิ่งที่ถูกต้อง หมายความว่า คนไทยที่ใจไม่เสรี ก็ไปใช้เสรีที่จะเลือกเอาธนะ
สำหรับตัวเรา อย่างน้อยเราก็ต้องมีหลักการของเรา แล้วก็ทำตามหลักการนั้นให้ดี แม้แต่ท่านที่ไม่ได้ยุ่งกับการเมือง เมื่อมีงานของตัวเองที่ตนชอบ ซึ่งเป็นเรื่องของความดีงาม ถึงจะไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองเลย แต่ถ้าทำงานที่ดีนั้นได้ผลจริงจังในระดับหนึ่ง ถึงขั้นหนึ่ง ก็จะมีอิทธิพลเหมือนกัน เราสามารถช่วยสังคมได้เป็นระดับๆ เป็นขั้นๆ ตามกำลังอิทธิพลในฝ่ายดีของเรา อย่างน้อยเราก็เป็นตัวหน่วงเหนี่ยวสังคมไว้ไม่ให้เลื่อนไหลไปลงเหวไวเกินไป และถ้าเรามีกำลังมาก เราก็อาจจะมาต้าน มาดึงสังคมไว้ได้บ้าง เรียกว่าช่วยกันทำในรูปแบบต่างๆ พอจะถ่วง จะตรึงไว้ เพราะว่าสภาพทั่วไปมันไม่เอื้อ
ผู้ร่วมสนทนา -
ถ้าจะนิยามคำว่า
ปฏิรูปเทสวาโส
คือ เกิดในดินแดนที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี อย่างเราเกิดในดินแดนพระพุทธศาสนา แต่สังคมนั้นเป็นสังคมที่ศีลธรรมต่ำ อีกอย่างหนึ่งคือเราไปเกิดในดินแดนที่ไม่มีพระพุทธศาสนา แต่เป็นประเทศที่มีศีลธรรม
อย่างไรจึงจะเรียกว่า ปฏิรูปเทสวาโส
พระ -
ต้องดูองค์ประกอบแต่ละอย่าง ส่วนไหนเอื้อมากเอื้อน้อย ให้แยกเป็นด้านๆ ไม่ใช่พูดคลุม เช่น อาจจะพูดว่าที่นี่ดีในแง่จิตใจ ผู้คนมีน้ำใจไม่ค่อยมีความรุนแรง แต่ขาดความรู้ หรือบกพร่องด้านปัญญา อีกแง่หนึ่ง ที่ว่ามีสิ่งแวดล้อมดี เราอาจจะบอกว่า ที่นี่ดินฟ้าอากาศดี แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ คนอดตายได้ยาก ภัยธรรมชาติก็หาไม่ค่อยได้ และสังคมมีภูมิหลังที่รู้จักพระพุทธศาสนา มีทุนเดิมดี แต่คนส่วนใหญ่มักเพลิดเพลินอยู่ในความประมาท ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งที่ตนมีอยู่ และไม่รู้จักใช้ หรือว่าสังคมได้เสื่อมลงไป ก็เรียกว่าดีอย่างหนึ่ง เสียอย่างหนึ่ง หรือมีดี แต่ใช้ไม่เป็น
ที่พูดว่าเป็นดินแดนพุทธศาสนานั้น สังคมไทยเวลานี้รู้จักพระพุทธศาสนาจริงหรือเปล่า และมีพระพุทธศาสนาในความหมายที่ว่า ปฏิบัติตามหรือเอามาใช้ในชีวิต ในสังคมหรือเปล่า มันอาจจะกลายเป็นว่า เราพูดถึงมรดกที่ยังมีซากเหลืออยู่เท่านั้น
เอาละ...ถ้ายังมีพระพุทธศาสนาชนิดที่เป็นซากมรดกเหลืออยู่ เมื่อมองในแง่ดี ก็ยังเป็นโอกาสว่า ใครที่สนใจเอาใจใส่ ก็ยังสามารถได้ประโยชน์จากมรดกนั้น แต่ตัวประเทศ ตัวท้องถิ่นขณะนี้ เป็นปฏิรูปเทสวาโสหรือเปล่า อันนี้ก็ขอให้วิเคราะห์กันดู แล้วอีกอย่างหนึ่ง ถิ่นแดนใดอยู่สบาย ในไม่ช้าคนก็ชักจะเอาอะไรแต่ที่ง่ายๆ และมักเฉื่อยชา ถ้าพูดสั้นๆ ก็เอาแค่ว่า ถิ่นแดนนี้มีสภาพเอื้อดีมาก แต่คนที่อยู่จะรู้ตัวและรู้จักใช้มันหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง
ผู้ถาม -
อย่างกรณีพระผู้ใหญ่ที่ไปเททองหล่อจตุคามรามเทพ อันนี้เป็นกิจของสงฆ์หรือไม่ครับ ไม่ต้องพูดถึงพระที่เอามีดมาปาดคอ หรือเอาดาบมาฟันตัวเอง เพื่อโชว์ความขลัง
พระ -
ในเรื่องจตุคามรามเทพก็ได้เขียนไว้แล้วว่า ระวังให้ดี พระเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ถ้ากลายเป็นว่า พระไปเคารพเทพละ ก็จะหล่นจากพระพุทธศาสนาเลยนะ นี่เป็นเรื่องหลักการของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่แง่ของพระวินัย เพราะตอนนั้นไม่มีเรื่องจตุคามฯ สมัยพุทธกาลไม่มีแม้แต่การเททองหล่อพระ ข้อบัญญัติทางวินัยในเรื่องนี้จึงยังไม่มี
อย่างไรก็ตาม การที่ญาติโยมถามอย่างนี้เป็นเรื่องที่ดี แสดงว่าญาติโยมยังใช้สิทธิในพระพุทธศาสนาของตน แต่ที่จริงญาติโยมก็เป็นพุทธบริษัท มีสิทธิในพระพุทธศาสนาเท่ากับพระนั่นแหละ โดยเฉพาะในแง่ความรู้ จึงวินิจฉัยได้ เอาว่าเป็นกิจของสงฆ์หรือไม่ใช่ พระที่ไปเททองก็ไปตามนิมนต์ของญาติโยมนั่นแหละ ถ้าญาติโยมนั่นรู้จักพระพุทธศาสนา และรู้จักตัวว่าเป็นพุทธบริษัท ก็ไม่นิมนต์พระไปทำอยางนั้น เรื่องก็ไม่มี
แม้สภาพจะไม่เอื้อ กำลังจะไม่พอ
ก็ไม่ท้อ ไม่อับจนหนทาง
ผู้ถาม -
เรื่องที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้วไปทำเรื่องที่ตัวสนใจ อย่าง อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ไปทำเรื่อง Global Warming จนได้รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ อันนี้เป็นทางออกอันหนึ่งได้ไหมครับ
พระ -
เป็นตัวอย่างได้ หมายความว่า เราสามารถทำเรื่องอื่น ในระดับที่มีผลกว้างออกไป ที่มีกำลังมาก มันก็กลับมามีอิทธิพลค้ำยัน หรือบีบในวงการเมืองได้เหมือนกัน เราจะทำอะไรก็ตาม ถ้ามันมีกำลังด้านดีงามที่มีผลต่อสังคมส่วนรวม มีผลต่อโลกในระดับขนาดใหญ่ มันก็กลับมาเป็นพลังในการต่อรองได้
ตอนนี้ต้องยอมรับความจริงว่า การแก้ไขปัญหาในสังคมนี้ยากมากแล้ว เพราะว่าระบบมันไหลไปตามสภาพค่านิยมในจิตใจคน ซึ่งทั้งหมดไม่เอื้อเลยต่อการสร้างสรรค์สังคม คนที่จะมาสู้กับสภาพอย่างนี้ต้องมีกำลังมากพอสมควร
ผู้ถาม -
อย่างพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงเป็นศูนย์กลางของคนไทยทุกระดับ ก็เลยเกิดความหวั่นไหวว่า พระองค์ทรงพระประชวรอย่างนี้ เหตุการณ์บ้านเมืองจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่
พระ -
ความเป็นห่วงในแง่หนึ่งก็ช่วยให้เรามีจุดที่จะตั้งตัวไว้ และยังตั้งตัวอยู่ พร้อมทั้งเป็นการแสดงออกให้เห็นว่า เรามองสิ่งที่คาดหวัง หรือสิ่งที่จะเป็นคุณแก่ประเทศชาติว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่ควรจะหยุดแค่ห่วง เมื่อห่วงแล้ว ควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่จะมา ก็ต้องคิดกัน
ผู้ร่วมสนทนา -
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานก็ตรัสไว้ว่า อย่ายึดตัวพระพุทธองค์เป็นหลัก ให้ยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก
พระ -
ก็เหมือนอย่างกรณีมารนั่นแหละ พระองค์พูดมารมาทวงให้ปรินิพพาน พระองค์ตรัสบอกมารว่า เราจะยังไม่ปรินิพพาน จนกว่าพุทธบริษัทจะเป็นอย่างนี้ๆ หนึ่ง สอง สาม โดยหลักการก็คือ ถ้าพุทธบริษัทสามารถรักษาหลักพระศาสนาไว้ได้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน
อย่างกรณีนี้ก็ต้องให้มีกำลังคนที่มีจิตใจโน้มไปในทางที่รักความดีงาม รักธรรมะ ให้มีพอสมควร ที่จริงคนที่รักธรรมะ รักความดีงาม ก็มีอยู่ แม้แต่ผู้ที่เข้าไปสู่วงการเมืองก็คงจะมี บางคนก็ก้ำกึ่ง แต่ถ้าคนดีมีแค่เป็นกรณียกเว้น ก็ไม่ไหว
ผู้ร่วมสนทนา -
ในมงคลสูตรที่ว่า อเสวนา จ พาลานํ เราไม่ควรจะไปคบคนพาล เลย ใช่หรือไม่
พระ -
ท่านสอนว่า ไม่คบคนเลว เว้นแต่จะช่วยเหลือเขา พุทธพจน์บอกไว้อย่างนั้น ท่านไม่ได้ว่าไม่ให้เกี่ยวข้องเลย แต่อย่าลืมนะว่า การไปเกี่ยวข้องกับคนพาล ถ้าเรามีกำลังสู้เขาไม่ได้ เราอาจถูกเขาดึงไปเลยก็ได้ เราต้องพิจารณาให้ชัดว่า เราแน่จริง เรามีกำลังเหนือเขาแน่นอน เราจึงเข้าไปช่วยเพื่อจะดึงเขาขึ้นหรือดึงออกมา
ผู้ร่วมสนทนา -
พวกเรานับว่าโชคดีกว่าคนอีกหลายคน อย่าง นางออง ซาน ซู จี แกถูกกักขัง ปิดหู ปิดตา ไม่ให้รับรู้ข่าวสารอะไรเลย
พระ -
ออง ซาน ซู จี ถูกขัง ไม่มีอิสรภาพ นั่นแหละ กลายเป็นกำลังที่เป็นแรงกดดันรัฐบาลพม่า ลำบากนะที่ไปกักขังนางออง ซาน ซู จี ทำให้เป็นข้ออ้างสำหรับผู้ที่จะรวมตัวกันสู้กับรัฐบาล
ผู้ร่วมสนทนา -
ในประวัติศาสตร์ มหาบุรุษมีอยู่ อย่างมหาตมะ คานธี หรือนักการเมืองชื่อดังอย่างฟิเดล คาสโตร ก็ประสบความสำเร็จในการท้าทายสหรัฐอยู่จนทุกวันนี้
พระ -
ในแง่หนึ่ง เราต้องยอมรับความจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า วโส อิสฺสริยํ โลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก พวกมีอำนาจมีกำลังมหาศาลที่จะจัดการกับอะไรต่ออะไรได้ต่างๆ
ผู้ร่วมสนทนา -
พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสหรือครับว่า อำนาจต้องคู่กับปัญญา
พระ -
ใช่สิ
ถ้าอำนาจอยู่ใต้ปัญญา หรืออำนาจอยู่ใต้ธรรม ก็จะให้ผลดี
ลองคิดถึงพระเจ้าอโศกก่อนที่จะเข้ามาหาธรรมสิ พระองค์ก็ใช้อำนาจเล่นงานคนอื่นมามากมายนับไม่ถ้วน ในระบบนั้นความเป็นใหญ่หรืออำนาจอยู่ที่บุคคลผู้เดียว อย่างพระเจ้าอโศกนี่ก็เจาะไปที่นั้นเลย สามเณรนิโครธทำให้พระเจ้าอโศกกลับใจองค์เดียว ทุกอย่างก็เปลี่ยนทิศทาง
เหมือนอย่างเมื่อพระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนา ตอนนั้นแคว้นมคธยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าเสด็จไปพาราณสีก่อน พาราณสีอยู่ในแคว้นกาสี ซึ่งขึ้นต่อแคว้นโกศล แต่พระองค์ไม่ทรงประกาศพระศาสนาที่นั่น พอโปรดได้ปัญจวัคคีย์แล้ว ทรงพามามคธ เพราะมคธเป็นศูนย์กลางของอำนาจความยิ่งใหญ่ แล้วก็เจาะตัวที่พระเจ้าแผ่นดินเลย แต่ก่อนจะเข้าเมืองก็ต้องจัดการกับพวกฤษีซึ่งเป็นที่นับถือของชาวมคธก่อน คือ พวกชฎิลสามพี่น้อง จากพวกชฎิลก็เข้าถึงพระเจ้าพิมพิสาร ตั้งหลักประกาศพระศาสนาได้
ผู้ร่วมสนทนา -
พระพุทธเจ้าคงทรงใช้พระญาณหยั่งรู้ว่า พระเจ้าพิมพิสารจะได้เป็นพระโสดาบัน แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ได้
พระ -
คือต้องพิจารณาความพร้อมขององค์ประกอบต่างๆ แม้แต่บุคคลแต่ละคนที่พระพุทธเจ้าจะทรงสอน ก็ต้องพิจารณาดูอินทรีย์ของเขา ยิ่งในระดับสังคมประเทศชาติที่กว้างออกไป ก็ต้องพิจารณามาก เพราะฉะนั้น ความรู้นี่สำคัญ อย่างไรก็ขาดไม่ได้ จะใช้หรือไม่ใช้ก็แล้วแต่ต้องมีไว้ แล้วความรู้นั้นต้องแยกได้จากความรู้สึก ให้เป็นความรู้ เป็นข้อมูล เมื่อถึงคราวจะใช้เราจะได้มีความพร้อม เพราะความรู้นั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ทันที ให้มีไว้ก็แล้วกัน อย่างน้อยให้ทันกับสถานการณ์
เราไปเกี่ยวข้องกับสังคมนี้ ที่มีสภาพอย่างนี้ ที่จุดใดก็ตาม แม้แต่งานของเรา งานที่เรารักเราชอบมีคุณค่า เราอาจเห็นว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่มันมีแง่โยงกันจนได้ บางทีสถานการณ์ของสังคมมันเป็นไปเอง มันมาโยงกับงานของเราจนได้
เมื่อกระแสใหญ่ไหลลง
คนที่แก้ไขต้องจับหลักให้ได้
ผู้ถาม -
ผมได้อ่านบท ไตรลักษณ์ ในหนังสือพุทธธรรม ก็ขีดเส้นใต้เอาไว้ รู้สึกว่าพอช่วยได้ พอเห็นว่าอะไรมันไม่ยั่งยืน เป็นอนิจจัง มันคงไม่เป็นอย่างนี้ตลอดไป
พระ -
นั่นเป็นแง่หนึ่ง แต่อย่าให้อนิจจังเป็นเพียงข้อปลอบใจ หลักอนิจจังท่านสอนเน้นในแง่ว่า ไม่ให้นิ่งนอนใจ คือให้ไม่ประมาท
อีกอย่างหนึ่ง คือการมองกว้างมองไกลว่า สภาพอย่างนี้มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แน่นอนว่ามันไม่คงอยู่ แต่ต้องระวังด้วยว่าทำอย่างไรเราจะไม่กลายเป็นปัจจัยเสริมในฝ่ายที่จะทำให้สภาพแบบนี้มันหนักลงไปอีก
สังคมไม่ให้หยุดแค่นี้ ที่มันเสื่อมอยู่นี้ มันอาจจะเสื่อมลงไปยิ่งกว่านี้ก็ได้ เราก็ต้องรู้ทันถึงความเป็นไปได้นี้ และถ้ามีจุดแก้ไขและเบนทิศทางมันได้ ก็พยายามเบนมันออกไป ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ลงลึก แต่เราก็จะพอรู้ มันเข้าหู ผ่านตาเรา เรามีโอกาสรู้ก็รู้ไป แล้วอันไหนเราสนใจอยากรู้มากขึ้นก็ไปตามดูหน่อย เป็นส่วนประกอบรอบนอกของชีวิตซึ่งเราไม่ได้เอาจริงเอาจัง เพราะเรามีเรื่องที่เราถือว่ามีคุณค่าที่ต้องเอาจริงเอาจังและอุทิศตัวให้มากกว่า
ในด้านความรู้สึก เราก็แค่รู้ตัวว่าเรื่องนี้เราไม่ชอบใจ ไม่พอใจ และเรามีเหตุผลที่จะไม่ชอบเพราะมันไม่ถูกต้อง ไม่ดีอย่างนี้ๆ แต่ไม่ต้องไปครุ่นคิดหรือกลัดกลุ้มกังวลใจว่าทำไมเขาเป็นอย่างนี้ ทำไมเขาไม่ทำอย่างนั้น อย่างนี้ ในขณะที่ตัวเราเองก็ทำอะไรไม่ได้หรือไม่ได้ทำอะไร
ผู้ถาม -
เรียกว่าถืออุเบกขาธรรมใช่หรือไม่ครับ
พระ -
อุเบกขาน่ะต้องมี แต่ต้องมีอุเบกขาแท้ ไม่ใช่อุเบกขาแบบเฉยเมย และไม่ใช่เฉยโง่ ที่กลายเป็นอัญญาณุเบกขา ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง แต่ที่จริงเรารู้ เรามองในระยะยาวด้วย เราไม่ได้มองแค่สถานการณ์ของนายคนนี้ คนนั้น เพราะอันนั้นเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป องค์ประกอบต่างๆ มันไหลเลื่อนไปเรื่อย แต่ข้อสำคัญคือทำอย่างไรเราจะพัฒนาคนในสังคมให้ดีขึ้น อันนี้คือเรื่องในวงกว้างและในระยะยาว ถ้าแก้ไขคุณภาพประชาชนไม่ได้ มันยากนักหนา
อย่างการศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญ คนที่ทำงานในด้านการศึกษา ถึงเขาจะไม่ใส่ใจเรื่องการเมือง แต่ถ้าเขาทันต่อสถานการณ์ และรู้ปัญหาพื้นฐาน แล้วจับที่จุดนั้น นั่นคือเขาก็กำลังช่วยแก้ปัญหาของสังคมในระยะยาว และอย่างเป็นเนื้อหาสาระ เวลานี้การศึกษาก็มาอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อ อาจจะถอยหลังอีกก็ได้ การศึกษาที่ลงมาอยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่นนี้ ไว้ใจได้ไหม คนมั่นใจกันไหม ดูความเคลื่อนไหวแล้วก็น่ากลัวอยู่
ผู้ร่วมสนทนา -
สื่ออย่างหนังสือพิมพ์ที่ลงภาพลงข่าวประเภทยั่วยุกามกิเลส หรืออย่างโทรทัศน์ที่เสนอแต่ละครน้ำเน่า แล้วเขาก็อาจคิดว่า คนชอบบริโภคของอย่างนี้ก็ต้องสนองอย่างนี้ พวกนี้ไม่ใช่เขาไม่ฉลาดนะครับ แต่เขาต้องการขายให้ได้มากๆ
พระ -
ฉลาดทีเดียวแหละ คือฉลาดในการหาผลประโยชน์ (อตฺตตฺถปญฺญา อสุจี มนุสฺสา) มนุษย์ที่ฉลาดหาผลประโยชน์ให้แก่ตน เป็นคนไม่สะอาด ฉลาดในที่นี้ คือฉลาดเอาเพื่อตัวเอง
สื่อมวลชนก็อยู่ในระบบธุรกิจ ในแง่หนึ่งก็ต้องเห็นใจเขา แต่ก็ต้องขอให้เขาเห็นแก่สังคมบ้าง ถึงจะอยู่ในกระแสธุรกิจ ก็อย่าซ้ำเติมสังคมให้หนักนัก หรืออย่าได้แค่ไหลไปตามกระแสอย่างเดียว ถ้าคุณเห็นว่าอันนี้มีโทษไม่ดีต่อสังคม ในขณะที่คุณไปตามกระแสนั้น ก็ขอให้คุณมีหลักว่า ทำอย่างไรจะหาส่วนดีมาใส่ในงานที่จะมาช่วยสังคมนี้บ้าง อย่างน้อยไม่ลืมจิตสำนึกด้านดีเสียทีเดียว ระดับทั่วไปน่าจะได้แค่นี้
ทีนี้ แค่นั้นไม่พอ เราต้องมีคนไว้หลายระดับ เราจะหวังให้อยู่ๆ สังคมจะดีขึ้นมาเอง มันเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องมีคนในระดับที่เข้มแข็งกว่านั้น คือคนที่ไม่ยอมไหลตามกระแสเลย แต่พยายามนำกระแส หรือทวนกระแสขึ้นทางดีไปเลย คนที่เข้มแข็งจริงๆ สู้เต็มที่ ด้านร้ายไม่เอาเลย ก็ต้องมีไว้บ้าง พวกดีนี้ถ้าไม่มีกำลังหนุนก็แย่เหมือนกัน
แต่ต้องยอมรับว่า กระแสเวลานี้ไหลลง ถ้ามันไหลลงมากๆ อย่างนี้ กำลังมันมาก น่ากลัวจะแก้ยากเต็มที เราจะทวนอย่างไรได้ ต้องคิดให้ดี
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ หน้า 48
วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3956 (3156)
_________________
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1. หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2. หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3. หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร) 4. หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า 5. หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้าhttp://board.palungjit.com/showthread.php?t=22445
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:
แสดงทั้งหมด
1 วัน
7 วัน
2 สัปดาห์
1 เดือน
3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
เรียงจากเก่า-ใหม่
เรียงจากใหม่-เก่า
:: ลานธรรมจักร ::
»
สนทนาธรรมทั่วไป
ไปที่:
เลือกกลุ่ม บอร์ด
กลุ่มสนทนา
----------------
สนทนาธรรมทั่วไป
แนะนำตัว
กฎแห่งกรรม
สมาธิ
ฝึกสติ
การสวดมนต์
การรักษาศีล-การบวช
ความรัก-ผูกพัน-พลัดพลาก
กลุ่มข่าวสาร-ติดต่อ
----------------
ข่าวประชาสัมพันธ์
ธรรมทาน
รูปภาพ-ประมวลภาพกิจกรรมต่างๆ
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ขอความรู้ทำรายงาน
แจ้งปัญหา
รูปภาพในบอร์ด
กลุ่มสาระธรรม
----------------
หนังสือธรรมะ
บทความธรรมะ
นิทาน-การ์ตูน
กวีธรรม
นานาสาระ
ต้นไม้ในพุทธประวัติ
วิทยุธรรมะ
ศาสนสถานและศาสนพิธี
----------------
สถานที่ปฏิบัติธรรม
วัดและศาสนสถาน
พิธีกรรมทางศาสนา
พุทธศาสนบุคคล
----------------
พระพุทธเจ้า
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ประวัติเอตทัคคะ (ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา)
สมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติและปฏิปทาของครูบาอาจารย์
ในหลวงกับพระสุปฏิปันโน
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณ
ไม่สามารถ
สร้างหัวข้อใหม่
คุณ
ไม่สามารถ
พิมพ์ตอบ
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลบข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลงคะแนน
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ
ไม่สามารถ
ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
เลือกบอร์ด •
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทานธรรมะ
•
หนังสือธรรมะ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
สถานที่ปฏิบัติธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ
•
วิทยุธรรมะ
•
เสียงธรรม
•
เสียงสวดมนต์
•
ประวัติพระพุทธเจ้า
•
ประวัติมหาสาวก
•
ประวัติเอตทัคคะ
•
ประวัติพระสงฆ์
•
ธรรมทาน
•
แจ้งปัญหา
จัดทำโดย กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ
webmaster@dhammajak.net
Powered by
phpBB
© 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
www.Stats.in.th