ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623
|
ตอบเมื่อ:
02 ธ.ค.2006, 3:51 pm |
  |
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
วัดประจำสองรัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต ความสำคัญของวัดแห่งนี้คือเป็น วัดประจำรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งถือว่าเป็นวัดแห่งเดียวของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เป็นวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ถึง ๒ พระองค์ ที่มีความวิจิตรงดงามมาก
ตามประวัติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาล เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๑๒ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๑๓ การก่อสร้างพระอารามประจำรัชกาลนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างตามแบบของวัดแต่โบราณ คือ สถาปนาพระมหาเจดีย์เป็นหลักสำคัญของวัด แล้วล้อมด้วยพระระเบียง พระอุโบสถ พระวิหาร และพระวิหารทิศ มีกำแพงกั้นระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส แยกจากกันอย่างชัดเจน
พระมหาเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานทักษิณที่สูงในระดับแนวหลังคาพระระเบียง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ และมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ และพระรูปหล่อของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช รวม ๑๔ ซุ้ม
บริเวณชานเดินประทักษิณและกลางองค์พระเจดีย์ มีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะลพบุรี สลักจากหินทราย ๒ องค์ และพระพุทธรูปอื่นๆ อีกหลายองค์ และตามผนังด้านในองค์พระเจดีย์ มีช่องสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปอีก ๖ ช่อง ส่วนบนยอดของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ส่วนพระอุโบสถ เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขเด็จด้านหน้า หลังคาลด ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเบญจรงค์ ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับปูนปั้นรูปช้างเจ็ดเศียร เทิดพานรองรับพระเกี้ยว ขนาบสองข้างด้วยฉัตร ประคองด้วยราชสีห์ และคชสีห์ หน้าบันมุขเด็จเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่างพระอุโบสถมีรูปอุณาโลม และอักษร “จ” สลับกัน เหนือซุ้มประตูกลางเป็นตราแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕
ประตูและหน้าต่างด้านในประดับมุกลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านนอกประดับมุก เป็นลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ๕ ดวงเรียงกันตามลำดับ คือ นพรัตน์ราชวราภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์มงกุฎไทย
ภายในพระอุโบสถนั้นเป็นศิลปะตะวันตกแบบโกธิค ประดิษฐานพระประธาน คือ พระพุทธอังคีรส เป็นพระพุทธรูปกะไหล่ทองคำ ปางมารวิชัย เนื้อทองคำหนัก ๑๘๐ บาท เป็นทองคำที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์ และภายใต้ฐานพระประธานนั้นเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๕ และพระราชสรีรังคารของรัชกาลที่ ๗ รวมทั้งพระอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์
ทางด้านใต้ของพระเจดีย์นั้นคือ พระวิหาร ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับพระอุโบสถ และทางด้านทิศตะวันตกของวัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างสุสานหลวงและสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อบรรจุพระสรีรังคารของพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น อนุสาวรีย์ “รังษีวัฒนา” นั้น บรรจุพระราชสรีรังคารและพระอัฐิ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระราชโอรส พระราชธิดา พระองค์อื่นๆ รวมถึงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สำหรับนาม ‘ราชบพิธสถิตมหาสีมาราม’ มีความหมาย ๒ ส่วน คือ ‘ราชบพิธ’ หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ส่วน ‘สถิตมหาสีมาราม’ หมายถึง พระอารามซึ่งมีมหาสีมาหรือเสมาขนาดใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากโปรดฯ ให้ประดิษฐานเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร ๘ เสา ตั้งประจำที่กำแพงทั้ง ๘ ทิศ ดังนั้นในการประกอบพิธีสงฆ์ หรือการกระทำสังฆกรรมใดๆ จึงสามารถกระทำได้ทุกแห่งภายในขอบเขตของมหาสีมานี้
ครั้นต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มิได้ทรงสร้างวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธฯ เสมือนหนึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ด้วย
.............................................................
หนังสือวัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยกรมศิลปากร
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 3 ตุลาคม 2548 16:09 น. |
|
|
|
  |
 |
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623
|
ตอบเมื่อ:
04 ก.ย. 2007, 9:40 am |
  |
วัดประจำรัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดประจำรัชกาลที่ ๗
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19364
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * |
|
|
|
  |
 |
|