Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ชีวิตนี้ไม่มีตัวตน : พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2007, 12:51 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ชีวิตนี้ไม่มีตัวตน
พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรสี)

นมตถุ รตนตตยสส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย


ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมะก็พึงตั้งใจฟังด้วยดี พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมะไว้คือได้บอกกล่าวถึงสัจธรรม ธรรมที่เป็นจริง ว่าที่จริงแล้วในสังขารคือร่างกายและจิตใจของทุกชีวิตนี้ โดยที่แท้แล้วไม่มีตัวตน ทรงแสดงว่าความเป็นตัวตนนี่ไม่มี ปุถุชนก็จะมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ ความรู้สึกว่ายังมีตัวตนอยู่ แต่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตนที่จะเป็นเราเป็นของเรา เป็นของที่เที่ยงแท้และบังคับบัญชาได้ ไม่มี ไม่มีตัวตนแล้วมันมีอะไร มันก็มีธรรมชาติอยู่ มีสิ่งธรรมชาติซึ่งแยกประเภทออกไปเป็นห้าอย่างด้วยกัน มีธรรมชาติรวมกันประชุมกันอยู่ห้าอย่างด้วยกัน แต่ทั้งห้าอย่างนี้ไม่ใช่ตัวตน

ธรรมชาติห้าอย่างนั้นก็มีโดยที่เป็นเพียงธรรมชาติ คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ร่างกายที่ว่าเป็นขาเป็นแขนเป็นศีรษะเป็นตาเป็นหูเป็นจมูกเป็นลิ้นของเรา หรือว่าตัวเรานั้นน่ะ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่มันก็มีธรรมชาติอยู่มีความจริงอยู่ มีสัจจะความจริงอยู่ ได้แก่อะไรบ้าง ก็ได้แก่ รูปต่าง ๆ ธรรมชาติที่เรียกว่ารูป ก็มี ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือส่วนที่เป็นประสาท ประสาทกาย เหล่านี้คือธรรมชาติไม่ใช่ตัวตนเราเขา

ส่วนที่รับการกระทบ รับโผฏฐัพพารมณ์ คือเครื่องกระทบทางกาย อันนั้นก็เรียกว่าประสาทกาย กายปสาท ก็ไม่ใช่ตัวตน ดินน้ำลมไฟ ซึ่งเป็นรูปเล็ก ๆ จากเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเกาะกลุ่มกัน จากหลาย ๆ กลุ่มรวม ๆ กันมาก ๆ ขึ้น ก็จึงออกมาเป็นสัณฐานชิ้นใหญ่ขึ้น เป็นอวัยวะชิ้นต่าง แต่รูปแต่ละรูปนั้นมันเป็นเพียงจุดย่อยนิด ๆ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นปรมาณูเล็ก ๆ แต่มันเกาะรวมกัน ๆ

อุปมาเหมือนกับว่าศาลาหลังนี้ เสาแต่ละต้นความจริงก็เอาเม็ดทรายต่าง ๆ เอาหินเอาทรายเอาน้ำเอามารวม ๆ กัน ทรายแต่ละเม็ด เม็ดเล็กๆๆๆ เอามา แต่ว่ารูปในกายของสัตว์ทั้งหลายมันเล็กกว่านั้นอีก แต่ว่ามันเกาะกลุ่มกันหลาย ๆ กลุ่ม หลาย ๆ กลุ่ม ก็ออกมาเป็นสัณฐานรูปร่าง แต่ละรูปย่อยลงไปนั้นมันเป็นธรรมชาติ เป็นธาตุดินน้ำลมไฟ ดินก็สักแต่ว่าดิน น้ำไฟลมก็สักแต่ว่าน้ำไฟลม มันไม่ใช่ตัวตนเราเขา แต่ว่าปถุชนนั้นก็ไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตนเป็นเราขึ้นมา จึงว่าขาของเรา หรือว่าขานั่นน่ะคือเรา หรือว่าขาคือของเรา แขนศีรษะตาหูจมูกลิ้นกายคือเรา หรือว่าสิ่งนั้นน่ะคือเรา หรือเราคือตาหูจมูกลิ้นกาย หรือว่าตาหูจมูกลิ้นกายนี่อยู่ในเรา

หรือว่าเราน่ะไปอยู่ในตาหูจมูกลิ้นกาย นี้คือความเห็นผิด นี้คืออุปาทานความเห็นผิด ความยึดมั่นถือมั่นในทางที่ผิดอยู่ ก็ต้องรับทราบว่าที่เห็นผิดยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน เป็นเราอยู่นี้ให้รู้ว่าเห็นผิดอยู่ ยึดผิดอยู่ ด้วยความหลงอยู่ มีอวิชชาครอบงำ มีโมหะคืออวิชชาครอบงำ แล้วก็มีทิฏฐิความเห็นผิด มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นอยู่ ที่ติดมาไม่รู้กี่ภพชาติ เกิดมาชาตินี้เป็นเด็กก็ติดมาเรื่อยจนถึงปัจจุบันนี้ แล้วก็จะต้องไปต่อไปในอนาคต ถ้าไม่ได้เจริญวิปัสสนาทำลายความเห็นผิดออกไปก็จะหลงผิดอย่างนี้เรื่อยไป ไม่รู้ความจริง จะไม่ได้เห็นความจริง ไม่ได้เห็นสัจธรรม

อีกส่วนหนึ่งก็เป็นความรู้สึก เป็นความรู้สึกที่เป็นส่วนเข้าไปรู้สึกในอารมณ์ในสัมผัส อย่างเช่น มีเครื่องสัมผัสคือเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึงมาสัมผัสที่กาย มันก็จะมีธรรมชาติที่เป็นความรู้สึกเกิดขึ้น ความรู้สึกนี้ปุถุชนก็ไปยึดเอาอีกว่าคือเราคือตัวตน แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่านั่นไม่ใช่ตัวตนเป็นเพียงธรรมชาติชนิดหนึ่งที่สักแต่ว่าเกิดขึ้นทำหน้าที่รู้สึก เข้าไปรู้สึกในอารมณ์เรียกว่า เวทนา ก็ลองพิจารณาว่า มีไหม รู้สึกอย่างนี้ไหม

รู้สึกว่าเวทนานั้นเป็นเราไหม สบายกายรู้สึกว่าความสบายกายนั้นคือเราไหน เวลาไม่สบายกายก็รู้สึกว่าไม่สบายกายน่ะคือเรา ดีใจเสียใจเฉย ๆ ยึดไหมว่านั่นคือเรา ถ้ามีความรู้สึกว่าเป็นเรานั้นคืออุปาทาน มีความยึดมั่นถือมั่นในทางที่ผิดอยู่ ที่ติดมาอยู่นานแล้วและหลงว่าเป็นจริงอยู่ หลงผิดอยู่นะว่าความรู้ สึกนั่นคือเรา คือหลงผิดอยู่ ยังไง ๆ ก็ยังรู้สึกยังงั้นอยู่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนาให้เข้าไปเห็นแจ้งรู้แจ้ง

เมื่อมีความรู้สึกมีความจำ จำหมาย จำไปได้ในความหมายในสัณฐานในชื่อก็ว่าเป็นเราอีก ตัวที่ว่าจำได้หมายรู้น่ะอุปาทานมันก็ยึดว่าเป็นเราอีกเป็นตัวตนอีก พระพุทธเจ้าก็มาแสดงมาเปิดเผยว่าไม่ใช่ตัวตน ความจำได้หมายรู้ก็เป็นเพียงสัญญา คือธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ปรากฏในลักษณะที่จำอารมณ์ สักแต่ว่าเกิดขึ้นมาทำหน้าที่ในการจำอารมณ์

อีกธรรมชาติหนึ่ง เมื่อมีการจำได้หมายรู้ก็เกิดความรักเกิดความชัง เกิดความชอบเกิดความไม่ชอบ บางทีก็เกิดความกลัว บางทีก็เกิดความตื่นเต้น เหล่านี้ปุถุชนก็ยึดไว้ว่าเป็นเราอีก ยึดว่าเป็นตัวตนอีก ว่าความชอบที่เกิดความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจนั่นนะคือเราล่ะ คือตัวเรา เราชอบใจเราเกลียดเราโกรธ หรือเราพอใจเรารักเราชังอยู่ เราฟุ้งซ่าน เราสงบ เรารำคาญใจ เราเสียใจ

ปุถุชนจะมีอุปาทานยึดไว้เป็นเรา แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงว่า สิ่งเหล่านี้ที่ปรากฏเหล่านี้ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติที่เรียกว่าสังขาร ท่านบัญญัติชื่อเรียกว่าสังขาร คือเป็นธรรมชาติที่เกิดโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ปุถุชนไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนาที่เข้าไปเห็นแจ้งก็จะมีความสำคัญมั่นหมายเป็นตัวตนเป็นเราเขา

ธรรมชาติอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นลักษณะการรู้ การรับรู้ จะมีการน้อมรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ เกิดการคิดเกิดการนึก นึกน้อมคิดไปแล่นไปสู่อารมณ์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ปุถุชนก็ยึดว่าเป็นเราเป็นตัวตน ที่คิดที่นึกที่รับรู้อารมณ์นั่นแหละว่าเป็นเราเป็นตัวเราเป็นตัวตน ก็ต้องรับทราบว่าพระพุทธเจ้าตรัสเปิดเผยว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตนหรอก ตัวรับรู้เป็นเพียงธรรมชาติที่เรียกว่าวิญญาณ เป็นวิณญาณเป็นจิต เป็นวิญญาณหรือจิตที่มีลักษณะการรับรู้อารมณ์ สักแต่ว่าเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ ไม่มีตัวตน

มันก็มีอยู่แค่นี้เองในสังขารในชีวิตอัตภาพของสัตว์ทั้งหลายนี่ มันจะมีอยู่แค่นี้ คือมีรูปมีเวทนามีสัญญามีสังขารมีวิญญาณ แต่รูปมันก็มีรูปต่าง ๆ เวทนาก็มีสุข ทุกข์ เฉย ๆ สัญญาก็จำ สังขารนี่ก็มากหน่อย เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวสงสัย บางทีก็ปรุงแต่งสังขารในส่วนที่ดีเกิดเมตตากรุณาศรัทธาปีติสงบ ก็มีต่าง ๆ กันออกไป แต่ว่าก็คือสิ่งที่ปรุงแต่งอยู่ในจิตเรียกว่าสังขาร ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็วิญญาณก็คือตัวรู้อารมณ์สภาพที่เข้าไปรับรู้อารมณ์ มันมีอยู่อย่างนี้

ทำไมปุถุชนจึงมีการเข้าไปสำคัญมั่นหมายยึดถือไว้ว่าเป็นตัวตนเป็นเราเป็นเขา เพราะอะไร ก็เพราะว่ามีอวิชชาความไม่รู้ผิดบังไว้ คือไม่มีปัญญา ไม่มีวิชาคือปัญญาจะเข้าไปรู้ไปเห็นจริง ๆ ในธรรมชาติเหล่านี้ เพราะอวิชชามันบังไว้ ทำให้หลงไปเอารูปร่างสัณฐานเป็นความจริง เอาความหมายเป็นความจริง เอาชื่อเป็นความจริง หลงในสมมุติหลงในบัญญัติ ความจริงโดยสมมุติ ก็ทำลายอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เพราะไม่เห็นจริงไม่รู้จริง ไม่ได้เห็นสัจธรรม

<<<มีต่อ>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2007, 12:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เพราะฉะนั้นบุคคลที่ต้องการจะทำลายอุปาทานความเห็นผิดความยึดผิดซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกิเลสเกิดกรรม มีกิเลสก็ทำให้เกิดการกระทำบาป หรือว่าเมื่อกิเลสเกิดขึ้นความเร่าร้อนความทุกข์ทรมานเดือดเนื้อร้อนใจก็เกิดขึ้น มีตัณหาก็สร้างภพสร้างชาติต่อไป สร้างขันธ์ห้าต่อไป ที่จะมาเสวยวิบากกรรมทนทุกข์ทรมานอีกไม่จบสิ้น

บุคคลที่หวังจะตัดกระแสแห่งกิเลสแห่งความทุกข์แห่งวัฏฏสงสารแล้วก็ต้องมาปฏิบัติตามหลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ก็คือต้องเจริญวิปัสสนา ต้องเจริญสติปัฏฐานต้องเจริญวิปัสสนา เพื่อให้เกิดปัญญาเข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงที่พระองค์ทรงตรัสว่า ไม่มีตัวตนไม่มีเราไม่เขา เป็นเพียงแต่รูปเวทนาสัญญาสังขารซึ่งเป็นธรรมชาติ

รูปเวทนาสัญญาสังขารนั้นน่ะมันก็ไม่ใช่ชื่อ ที่เอามาพูดนี้ก็เป็นเพียงชื่อ ตัวรูปจริง ๆ มันอีกเรื่องหนึ่ง เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คำพูดเหล่านี้เป็นเพียงภาษา ผู้ปฏิบัติจริง ๆ นั้นต้องเข้าไปสัมผัสไปรู้จริง ๆ กับธรรมชาติเหล่านั้น ไม่ต้องเรียกชื่อแล้ว ที่รู้จริงนั้นน่ะมันไม่ใช่ชื่อ รูปไม่ใช่ชื่อ เวทนาก็ไม่ใช่ชื่อ สัญญาสังขารวิญญาณก็ไม่ใช่ชื่อ ชื่อว่ารูปก็ไม่ใช่ ชื่อว่านามก็ไม่ใช่ ชื่อว่าเวทนาชื่อว่าสัญญาชื่อว่าสังขารชื่อว่าวิญญาณก็ยังไม่ใช่ตัวแท้ของธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวรูปตัวนาม ไม่ใช่ตัวเวทนาสัญญา ไม่ใช่รูปเวทนาสัญญาสังขารจริง ๆ

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าไปเพิก ปฏิบัตินี่เพิกสมมติออกไป ที่เคยติดอยู่กับรูปร่างจากความหมายจากชื่อภาษา ปฏิบัตินี่ต้องเพิกออกไป อย่าติดอย่ายึด อย่าหลงอยู่กับสมมติบัญญัติปฏิบัติวิปัสสนาต้องเข้าไปรับรู้ในปรมัตถ์คือของจริง ๆ สัจธรรม รูปนาม รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณที่มีอยู่จริง ๆ แต่ก็เอาบัญญัติเป็นสื่อไปก่อนก็ได้ เอาสมมุติเป็นสื่อไปก่อนเพื่อให้เกิดสมาธิ แล้วจึงละจึงเลิกจึงเพิกสมมุติออกไป ก็ไปรับรู้ในปรมัตถธรรมจริง ๆ ก็จะสามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้จริง

ตรงไหนที่ยึดมั่นก็รู้ไปตรงนั้นน่ะ เอาสติเข้าไประลึกรู้ตรงไหน ตรงนั้นยึดอะไรไว้ล่ะ ยึดร่างกายนี้เป็นตัวตนก็ปฏิบัติรู้เข้าไปที่ร่างกาย แต่รู้เข้าไปที่ความจริงนะ ความจริงนั้นมันไม่ใช่รูปร่าง ถ้าไปดูที่รูปร่างอยู่มันก็ไปดูสมมุติอยู่ ไปดูสัณฐานรูปร่างแขนขาหน้าตาอวัยวะต่าง ๆ นี่คือสมมุติ จะดูทีแรกเพื่อให้เกิดสมาธินั้นได้ ทำลึกซึ้งลงไปก็เพิกออกไป คือรับรู้ไปที่ความรู้สึกที่ปรมัตถธรรมซึ่งเป็นแกนในอีกทีหนึ่ง รูปร่างสัณฐานนี่มันมาสวมใส่ มันไม่ใช่ความจริง มันเป็นเรื่องที่ถูกหลอก เป็นเรื่องที่จิตมันปรุงแต่งขึ้นมา

นั่งหลับตาแล้วเห็นรูปร่างสัณฐานของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่จิตมันปรุงขึ้นมา อาศัยสัญญาความจำไว้สัณฐานรูปร่างอย่างนี้ หลับตามันก็เลยเห็นร่างกายของตนเองนั่งอยู่ มีขาอยู่อย่างนี้แขนอยู่อย่างนี้ศีรษะหน้าตาอย่างนี้ นี่คือสมมุติแล้วก็บอกได้อีกว่านี่คือนั่ง นี่คือนั่งแบบไหน นี่คือนั่งพับเพียบ นี่คือนั่งขัดสมาธิ นั่นคือความหมาย ความหมายที่ขยายกว้างออกไป นั่งแล้วก็ยังไม่พอ นั่งพับเพียบ เรียกว่า บัญญัติขยายบัญญัติ ความหมายขยายความหมายออกไป เป็นสมมุตินะ

เวลาปฏิบัติจริง ๆ ต้องเพิกออกไป เพิกความหมายเพิกรูปร่างสัณฐาน เพิกชื่อออกไป ในใจมันคอยจะเรียกชื่ออยู่เรื่อย พอรับรู้อะไรมันก็เรียกชื่ออันนั้น มีชื่อแต่ละสิ่งแต่ละอย่างแต่ละชิ้นแต่ละอันนี่ เรียกชื่ออยู่เรื่อยในใจเรา เรียกชื่อจนกระทั้งเป็นประโยค จากคำเป็นประโยค จากประโยคก็เป็นเรื่องเป็นราวอยู่ในใจ ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้ตัว ดูไม่ออกว่าในใจนี้มันมีสมมุติอยู่เรื่อย มันนึกถึงเรื่องสมมุติอยู่เรื่อย ความหมายบ้างรูปร่างบ้าง ซึ่งเรียกชื่ออยู่เรื่อย มีภาษาในใจ หรือว่ามันพูดอยู่ในใจมันพากย์อยู่ในใจอยู่เรื่อย นั้นคือสมมุติทั้งนั้น

ทำอย่างไรที่จะปฏิบัติให้มันเข้าไปสู่ความจริง ไม่ติดไม่ยึดอยู่ที่สมมุติบัญญัติ ถ้าอยู่ที่สมมุติบัญญัติมันก็ยังว่าเป็นตัวเราอยู่นั่นแหละ พอมีสัณฐานมันมีสัณฐานขึ้นมามันก็เป็นกลุ่มเป็นก้อน ความเป็นกลุ่มเป็นก้อน ความจำเป็นกลุ่มเป็นก้อนมันก็บังอนัตถา บังความเป็นไม่ใช่ตัวตนไว้ นี่ท่านจึงกล่าวว่า คณสัญญาคือความจำเป็นกลุ่มเป็นก้อนนั้นจะบังอนัตตาไว้ ดูไปทีไรก็เห็นรูปร่างท่อนแขนท่อนขาสัณฐานร่างกาย มันก็บังไม่เห็นอนัตตาก็เลยยึดเป็นตัวตนอยู่นั่นแหละ

ปฏิบัติวิปัสสนาจริง ๆ ก็ต้องเพิกสมมุติออกไป เข้าไปรับรู้ในสิ่งที่มีอยู่จริง ๆ ในส่วนย่อยต่าง ๆ สิ่งที่เป็นปรมัตถ์สิ่งที่เป็นของจริง ๆ มันไม่ต้องนึกขึ้นมา มันไม่ต้องนึกไม่ต้องไปจำอะไรที่ไหน ไม่ต้องไปจำตำรับตำรา ก็รู้ รู้ทันที รู้ปัจจุบันนั้นทันที คือเข้าไปรับรู้จริง ๆ เพราะว่าปรมัตถ์นั้นก็มีอยู่ปรากฏอยู่จริง ๆ ที่แสดงปรากฏตัวให้รู้ให้เห็นอยู่จริง ๆ เพียงแต่ตั้งสติเพียงแต่มีความสงบหยั่งรู้ลงไปอย่างพอดี ๆ หยั่งรู้ลงไปเกินเลยก็เลยไปเป็นสมมุติอีก เน้นลงไปเพ่งลงไปรูปร่างสัณฐานก็ขึ้นมาอีก

จะพบว่ามีความรู้สึก มีความตึงไหม ความตึงความแข็งมีไหม ก็รู้สึกว่ามีความตึงความแข็ง แข็งมากตึงมากก็รู้สึกเจ็บรู้สึกปวดเมื่อยชา รับรู้แค่ความรู้สึกอย่าให้เห็นเป็นรูปร่างได้ไหม สติระลึกรู้ที่ความรู้สึกแต่อย่าให้เห็นเป็นท่อนแขนท่อนขาหน้าตา อย่าให้เห็นเป็นรูปร่างได้ไหม อันนั้นน่ะคือปรมัตถธรรม นั้นคือสติที่ระลึกรู้ปรมัตถธรรม ตรงต่อปรมัตถธรรม แต่มันคอยจะปรุงเลยไปหมด คอยจะเลยไปรูปร่าง พอเป็นรูปร่างสัณฐานนั้นน่ะสมมุติแล้ว ของปลอมแล้ว เดี๋ยวความหมายมันก็จะเข้ามา บัญญัติที่เป็นความหมาย

ฉะนั้นน้อมรู้เข้าไปที่ความรู้สึกที่ไม่ต้องเห็นรูปร่างสัณฐาน มันก็จะไปรู้ที่เย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึง แล้วก็ไม่ต้องบอกด้วยนะว่าหย่อนตึง ไม่ต้องบอกว่าร้อน ไม่ต้องบอกว่าแข็งว่าอ่อน ไม่ต้องบอกว่านี่คือรูปนี่คือนาม ถ้าไปบอกก็คือสมมุติอีกแล้ว คือชื่อมัน มันจะใส่ชื่อลงไปก็เป็นสมมุติอีกแล้ว ปรมัตถ์จริง ๆ นั่นนะความเย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึงนั่นนะมันเป็นปรมัตถ์อยู่แล้ว ที่เข้าไปรับรู้ ไม่ต้องบอกว่าอะไรเป็นอะไร พอไปบอกว่าอะไรเป็นอะไรขึ้นมามันก็สมมุติเข้ามาอีก

ฉะนั้นผู้ปฏิบัตินี่บางครั้งเข้าใจว่ากลัวว่าจะไม่รู้ ความที่ไม่รู้ก็กลัวว่าจะไม่รู้ เข้าใจว่าการที่จะรู้นั้นจะต้องให้เห็นให้นึกเป็นชิ้นเป็นอันเป็นเรื่องเป็นราว นั่นคือการที่มันเลยไปหมด รับรู้ปรมัตถ์อยู่แค่นิดเดียวก็เข้าใจว่ายังไม่พอจะต้องบอกลงไปว่านี่คืออะไร นั่นคือสมมุติเข้ามาแล้วนี่น่ะปุถุชน ความติดยึดในสมมุติบัญญัติจึงเข้าใจว่ามันเป็นของจริง ก็จะเลยเข้าไปหาความจริงที่เป็นสมมุติอยู่เรื่อย ๆ คือชื่อคือความหมายอยู่เรื่อย รับรู้ปรมัตถ์นิดเดียวแค่ความรู้สึก

หลงเข้าใจว่ามันยังไม่รู้อะไร ก็เลยพยายามที่จะเลยไป คือพยายามที่จะนึก พยายามที่จะเน้นลงไปอีก มันเลยไปหมด ฉะนั้นจะเห็นว่าความรู้สึกที่กาย ที่ตึงที่ไหว ที่แข็งที่อ่อนที่รู้สึกอยู่นั้น พอสติเข้าไปรับรู้ที่จะไม่ให้เห็นเป็นรูปร่างนี้มันยังยากอยู่แล้ว พยายามที่จะไม่นึกถึงรูปร่างมันยังจะไปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าหากปฏิบัติไม่เข้าใจ พยายามที่จะไปนึกในรูปร่างความหมาย มันก็แน่นอน เลยไปหมดเลย

<<<มีต่อ>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2007, 1:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การที่สติรับรู้ในปรมัตถ์ที่กายไม่อยู่แค่ปรมัตถ์ก็เพราะว่ามันมีการเข้าไปเน้นเข้าไปจ้องดู ขาดความเป็นกลางขาดความพอดี มันจึงส่งออกไปที่รูปร่าง ส่งไปที่สมมุติบัญญัติ ฉะนั้นการเจริญสติเจริญวิปัสสนานี้จำเป็นที่จะต้องระลึกรู้ในรูปต่าง ๆ นามต่าง ๆ ถ้าไปเน้นอยู่ที่เดียวแล้วก็บัญญัติจะต้องเข้ามา จะต้องรู้รูปรู้นาม รู้รูปรู้นามต่าง ๆ เรื่อยไปด้วยความเป็นปรกติ ไม่จ้องลงไป

เพราะฉะนั้นในที่สุดแล้ว สติก็จะต้องมารับรู้จิตใจไปด้วยกัน รู้ความรู้สึกที่กายแล้วก็รู้ความรู้สึกที่จิตใจ รู้จิตรู้ความรู้สึกในจิต รู้กายรู้ความรู้สึกในกายอยู่ จึงจะมีความรู้พร้อมทั่วถึง พอรับรู้อารมณ์หนึ่งแล้วก็เปลี่ยน รับรู้อารมณ์หนึ่ง รับรู้อารมณ์ๆๆ ต่าง ๆ รูปต่าง ๆ นามต่าง ๆ มันก็จะไม่เน้นไปสมมติบัญญัติ รับแล้วไป รับแล้วก็ปล่อย รับรู้แล้วก็ปล่อย รับรู้แล้วก็ปล่อยไป อย่าไปติดตามอย่าไปเน้น อย่าไปจ้อง บัญญัติมันจะเข้ามา

นอกจากว่าผู้ปฏิบัติต้องการความสงบ อันนั้นก็เข้าไปจ้องไปเน้นไปเพ่ง เพ่งบัญญัติก็ทำให้เกิดความสงบได้ แต่ถ้าหวังให้เกิดปัญญาแล้วก็จะต้องรู้ตรงต่อปรมัตถธรรม การรู้ตรงต่อปรมัตถธรรมมันจะรู้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับรู้ไปต่าง ๆ เพราะว่าทุกขณะมันมีรูปมีนามปรากฏหมดไป ปรากฏหมดไปต่าง ๆ ในกระแสของจิตรับอารมณ์อยู่เสมอ เปลี่ยนอารมณ์ไปต่าง ๆ มีธรรมชาติปรากฏการณ์ต่าง ๆ ฉะนั้นก็ต้องทำความเข้าใจในการที่จะปฏิบัติ หรือว่าในการที่จะเข้าไปพิสูจน์ธรรมะในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้แล้วให้ผู้ฟังได้ปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น มีข้อสังเกตมีแนวทางมีคำสอนอยู่แล้ว ที่นี้ถ้าหากว่าไม่ได้ยินได้ฟังเลยนี่ มันยากที่สุดที่จะปฏิบัติได้ถูกต้อง เพราะขนาดที่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังโผล่ไปสมมุติบัญญัติอยู่ ไปในทางผิดอยู่ ที่จะมาสู่ในทางที่ตรงนี่มันยากอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็คงยากที่จะปฏิบัติให้ถูกให้ตรง

นอกจากบุคคลนั้นจะบำเพ็ญบารมีมาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือว่าพระพุทธเจ้า ถ้าสองบุคคลนี้แล้วก็ต้องฟังละ ต้องศึกษาต้องทำความเข้าใจจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้เป็นผู้บำเพ็ญบารมีมาเป็นพระพุทธเจ้ามาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วก็ต้องฟังต้องศึกษาต้องทำความเข้าใจอย่างแยบคาย มิฉะนั้นแล้วก็ไม่ถูกหรอก ปฏิบัติไม่ถูก ขนาดฟังแล้วฟังอีกยังยากต่อการที่จะให้เข้าใจ

ความรู้ความเข้าใจจากการฟังที่ว่ายาก ก็ยังง่ายกว่าความรู้ความเข้าใจที่เกิดจากการปฏิบัติ จะให้เห็นจริงรู้จริง ๆ นั้นก็เป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยกัน ต้องมีความเข้าใจในระดับของการฟังก่อน แยกออกเข้าใจออก บัญญัติอย่างนี้ ปรมัตถ์อย่างนี้ รูปร่างสัณฐานความหมายชื่อภาษานี่คือบัญญัติ ปรมัตถ์นั้นมันต่างจากสิ่งเหล่านั้น คือสิ่งที่มีอยู่จริง ๆ ไม่ใช่รูปร่างไม่ใช่ชื่อไม่ใช่ความหมาย อันนี้เข้าใจด้วยการฟัง แต่เวลาปฏิบัตินั้นต้องแยกได้จริง ๆ จิตไปอยู่กับบัญญัติก็รู้ว่า อ้อนี่บัญญัติ ปล่อยจากบัญญัติเข้าสู่ปรมัตถ์ หรือรู้ปรมัตถ์ก็รู้ว่าปรมัตถ์ ปรมัตถ์ต่าง ๆ ที่เป็นรูปต่าง ๆ นามต่าง ๆ สติระลึกรู้ตรงต่อปรมัตถ์ก็รู้ว่านี่คือปรมัตถ์จริง ไปสู่บัญญัติก็รู้ว่านี่คือบัญญัติ อันนี้ก็เป็นความเข้าใจอีกระดับหนึ่ง

อีกระดับหนึ่งก็คือการที่จะฝึกหัดให้สตินั้นอยู่กับปรมัตถ์ได้มากขึ้น เมื่อมันไปสู่บัญญัติก็ปล่อยจากบัญญัติเข้าสู่ปรมัตถ์ได้ชำนาญขึ้น ในระยะการที่ปฏิบัติฝึกหัดอยู่ แม้ว่ารู้ว่านี่คือบัญญัติบางทีก็ปล่อยไม่ออก แม้รู้ว่าปรมัตถ์มันมีลักษณะอย่างไรต่าง ๆ แต่ก็ระลึกตรงต่อปรมัตถ์ได้ต่อเนื่องได้บ่อยไม่ได้ คอยจะพลาดไปบัญญัติทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ แต่ว่าความชำนาญมันไม่พอ ในระดับนี้ก็ต้องฝึกไป ทำความเพียรฝึกสติ ฝึกไปเรื่อย ๆ ฝึกให้มันตรง ฝึกที่จะพยายามระลึกรู้ให้ตรงต่อปรมัตถ์ ปล่อยจากบัญญัติอยู่เรื่อย ๆ ไป นี่มันก็เป็นระดับขั้นไป ความเก่งก็เป็นต่างระดับกันไป

ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติแล้วก็เข้าไปนั่งเฉย...เฉย พยายามที่จะนั่งให้มันสงบนิ่งเท่านั้น อย่างนี้ไม่ได้เกิดปัญญาอะไรขึ้นมา ตัดกิเลสไม่ได้ ละอุปาทานละความเห็นผิดไม่ได้ นั่งได้แต่มุ่งเพื่อจะให้มันนิ่งมันสงบแต่ไม่ใช้การพิจารณาไม่ได้ใช้ความสังเกตในปรมัตถธรรมในสภาพธรรม มันก็ไม่ได้เกิดปัญญา แต่ก็ยังดีสำหรับเปรียบเทียบกับบุคคลที่ไม่ได้ปฏิบัติ บุคคลอื่นที่ไม่ได้ปฏิบัติจิตใจเขาวุ่นวายสับสนเร่าร้อนไป ไม่รู้จะทำจิตให้สงบได้อย่างไร

แต่บุคคลที่มาทำกรรมฐานแม้ว่ายังทำปัญญาไม่ได้ ทำวิปัสสนายังไม่เป็น แต่ว่าทำจิตให้สงบได้ ก็ยังมีที่พึ่ง ยังรู้จักมีที่พึ่งที่พัก ก็ได้รับความสุข ความสุขในระดับสมาธิความสงบแต่เพียงว่ายังละกิเลสอะไรไม่ได้ สงบเฉพาะเวลานั่งกรรมฐาน เวลาไม่ได้นั่งกรรมฐานก็วุ่นวาย ก็ยังโกรธยังโลภยังหลงยังเร่าร้อนไปตามอารมณ์ ก็ยังเป็นปัญหายังทุกข์ยังร้อนต่อไปไม่จบ

แต่ที่ต้องปฏิบัติวิปัสสนาก็คือเพื่อจะให้มันเข้าไปถึงจุดในการทำลายกิเลส เชื้อของกิเลสที่เป็นความโลภโกรธหลงนี่ ที่เป็นตัวอนุสัยตัวที่มันนอนเนื่องอยู่นี่ ถ้าตัดมันออกไปได้มันก็จะไม่เกิดขึ้นอีก จิตใจไม่เกิดความโลภโกรธหลง นั่นถึงจะพ้นทุกข์ ถ้าจะอุปมาแล้วก็เหมือนกับว่าน้ำที่มันมีตะกอน เราจะทำยังไงจะให้น้ำมันสะอาดบริสุทธิ์

บางคนก็อาจจะตั้งวางไว้ นาน ๆ เข้ามันก็ตกตะกอนหรือเอาสารส้มไปแกว่งสิ่งที่เป็นความขุ่นมัวสิ่งที่เป็นปฏิกูลเหล่านั้นมันก็จะตกตะกอนลง น้ำซึ่งธาตุแท้ของมันใสสะอาดอยู่แล้ว มันก็ปรากฏตัวของมัน ปรากฏความใสเพราะว่าสิ่งที่มาทำให้น้ำมันขุ่นมัวมันตกตะกอนลงไป คนนั้นก็ได้รับประโยชน์คือเอาน้ำสะอาดข้างบนเหนือตะกอนไปใช้ได้ แต่ก็ต้องระวังเพราะว่าถ้าไปเขย่าไปกวนมันก็ฟูขึ้นมาได้อีก

ข้อนี้อุปมาเหมือนกับผู้ที่เจริญสมาธินั่นแหละ ทำจิตให้สงบกิเลสก็ตกตะกอนลงไป กิเลสเหมือนกับตะกอนเหมือนกับสิ่งปฏิกูลมันตกตะกอน ใจเราก็รู้สึกว่า เออสบาย แต่ว่าเผลอไม่ได้นะ พอมีอารมณ์อะไรมากระทบตะกอนนั้นฟูขึ้นมาอีกแล้ว ใจก็ขุ่นมัวได้อีก ถ้ามานั่งกรรมฐานเจริญภาวนาเพ่ง ตะกอนสงบตกตะกอน กิเลสมันตกตะกอนลงไป

จิตใจซึ่งสภาพเดิมของมันจะต้องผ่องใส มันก็แสดงความผ่องใสขึ้นมา รู้สึกสบายใจขึ้นมา ที่ว่าจิตเดิมมันผ่องใสไม่ได้หมายถึงว่าจิตครั้งก่อนๆ ดั้งเดิมมันบริสุทธิ์ ไม่ใช่ หมายถึงว่าเฉพาะลักษณะธรรมชาติจิตจริง ๆ มันจะผ่องใสแต่ที่มันขุ่นมัวเศร้าหมองเพราะว่ามันมีกิเลสจรเข้ามา มาทำให้จิตมันเศร้าหมอง

ที่นี้ถ้าหากว่าบุคคลที่จะทำน้ำให้มันสะอาดบริสุทธิ์จริง ๆ มันก็จะต้องหาทางกรองเอาตะกอนนั้นออกไปให้หมด ไม่ใช่เพียงแค่มันตกตะกอนเท่านั้น ทำยังไงถึงจะกรองมันออกไปได้ ต้องหาเครื่องกรอง สมัยนี้เขาก็มีเครื่องกรองน้ำ เช่นว่า เอาน้ำในลำคลองที่ขุ่นมัวขึ้นมาแล้วก็กรองออกไปหรือกลั่นออก น้ำที่ถูกกรองหรือกลั่นออกมาแล้วไม่มีตะกอนหลงเหลืออยู่ ใสสะอาด ถึงแม้ว่าจะถูกเขย่าถูกกวนอย่างไรมันก็ไม่ขุ่นเพราะมันไม่มีสิ่งปฏิกูลอยู่ในน้ำแล้ว

อุปมาเหมือนกับผู้ที่เจริญวิปัสสนาจนถึงขั้นสูงแล้ว ท่านกรองเอากิเลสออกไป วิปัสสนาคือปัญญามันจะกรองเอากิเลสออกไปจากใจ เพราะฉะนั้นจิตที่ถูกกรองกิเลสออกไปแล้ว แม้จะประสบอารมณ์อย่างไรก็จะไม่มีความทุกข์ความเศร้าหมอง ไม่มีกิเลสไม่มีความขุ่นข้องหมองใจ ไม่มีความโลภโกรธหลง เพราะว่าเชื้อของกิเลสมันถูกกรองไปหมดแล้ว จิตก็สะอาดบริสุทธิ์ จิตก็เบาสบายตลอด นี่คือผลของการเจริญวิปัสสนา เมื่อจิตอยู่ในลักษณะอย่างนั้นมันก็พ้นทุกข์ จิตมีปัญญาพัฒนารู้แจ้งตามความเป็นจริง

<<<มีต่อ>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2007, 1:09 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

แต่ว่ามันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่ายที่จะทำให้กรองเอากิเลสออกไปจากใจได้หมดสิ้น ก็ดังที่กล่าวแล้วว่า การปฏิบัติเจริญสติเพื่อจะเพิกสมมุติออกไปเพื่อจะกำหนดให้ตรงปรมัตถ์ยังทำไม่ค่อยเป็น ยังทำไม่ถูก มันจึงยาก รู้อะไรเป็นสมมุติอะไรเป็นปรมัตถ์ แต่ก็เวลาปฏิบัติสติก็ไม่ค่อยระลึกถึงปรมัตถ์คอยจะไปบัญญัติ

คอยจะเผลอคอยจะล่องลอยไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งเป็นบัญญัติทั้งหมด จิตที่คิดไปเรื่องคนนั้นคนนี้เรื่องการงานเรื่องอดีตอนาคต มันเป็นบัญญัติอารมณ์ทั้งหมด มันคอยจะไป มันจึงยาก แต่ว่ามันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำไม่ได้ บุคคลที่ทำสำเร็จไปแล้วก็มากมาย มันมีทางที่จะทำได้ แต่ว่าต้องอาศัยความพากเพียรเท่านั้นแหละ

เมื่อตนเองยังห่างไกลก็จะต้องพากเพียรพยายามให้มากขึ้นไป เหมือนคนเรียนหนังสืออ่านหนังสือเรียนท่องจำอะไร ปัญญาเราไม่ค่อยจะดีจำไม่ค่อยได้ เราก็ท่องให้มาก ๆ เข้า คนอื่นเขาท่องสามครั้งจำได้ เราท่องสามครั้งจำไม่ได้เราก็ต้องเพียรท่องเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง มันก็ต้องจำได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ปฏิบัติคนอื่นเขาอาจจะสะสมเหตุปัจจัยมาดี เขาปฏิบัติเขารู้สึกว่าก้าวหน้าไปได้ไว แต่ว่าบางท่านไม่ก้าวหน้าไม่ไป ก็ต้องพากเพียรต้องทำให้มาก ทำปฏิบัติฝึกหัด ฝึกหัดปฏิบัติ ใช้เวลา ผ่านไปมากขึ้น ๆ ก็จะต้องรู้ต้องเห็นต้องเข้าใจต้องปฏิบัติได้ถึงได้ตรง ได้ประสบความสำเร็จจนได้

พระพุทธเจ้าจึงให้ข้อคิดว่า วิริเยน ทุกข มจเจติ คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร คนจะสำเร็จได้ก็เพราะความเพียร ถ้าขาดความเพียรเสียแล้วก็ประสบความสำเร็จไม่ได้ หรือว่าไม่ว่าเรื่องอื่น ๆ อันใดทางโลกก็ตาม ก็อาศัยความพากเพียร และความเพียรนั้นก็เป็นกิจที่ต้องทำเสียวันนี้ เพราะอะไร เพราะใคร ๆ ก็ไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร ความเพียรเป็นกิจต้องทำเสียวันนี้ ใครจะรู้ความตายที่จะมาถึงเมื่อไรก็ไม่รู้ มาถึงเราได้ทุกลมหายใจ หายใจเข้าแล้วมันไม่ยอมออกมาก็ต้องตาย หายใจออกแล้วมันไม่ยอมเข้าก็ต้องตาย

แล้วก็ระบบของร่างกายที่มันจะต้องหายใจเข้าหายใจออกนี่ ที่จริงมันเปราะบางจะตาย การทำงานของระบบหายใจมันบอบบาง ประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ ที่มันทำงานมันสลับซับซ้อนกว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่มันทำขึ้นมาได้ง่าย ร่างกายนี้มันสามารถที่จะสูดลมเข้า คายลมออก แล้วไปซักฟอกโลหิต สูบฉีดให้ร่างกายหมุน มีเลือดมี .. มันทำงานกันมากมายหลายหน้าที่หลายอย่าง แล้วอวัยวะต่าง ๆ มันก็ประกอบด้วยธาตุดินน้ำลมไฟซึ่งแตกดับอยู่ตลอดเวลา

เป็นของที่ไม่ได้แข็งแรงอะไร ฉะนั้นมันพร้อมที่จะแตกดับ พระพุทธเจ้าจึงอุปมาเหมือนกับเป็นภาชนะดินนะร่างกายนี้ หม้อดินน่ะ สมัยก่อนเขาหุงข้าวเขาใช้หม้อดินบาง ๆ บาตรพระสมัยก่อนเขาก็ต้องใช้บาตรดิน ฉะนั้นจึงมีวินัยในการที่จะให้รักษาบาตรไว้อย่างหลายประการ ก็เพราะว่าหม้อดินนี้มันแตก บาตรดินนี้มันแตกง่าย แตกหักง่าย ร่างกายนี้ก็เช่นเดียวกันมันพร้อมที่จะแตกดับมันพร้อมที่จะตาย

แต่บุคคลก็ยังประมาทยังหลงระเริงเอาร่างกายที่พร้อมจะแตกดับนี้ไปทำความชั่วต่าง ๆ ให้ทุกข์ให้โทษกับตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่น่าสังเวชสลดใจ เป็นสิ่งที่น่าเสียดายชีวิต เสียดายเวลาที่เกิดมา บางทีก็ไปหลงไปยึดในสิ่งที่จะให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ ไปให้ความสำคัญกับเรื่องที่มันไม่ใช่เป็นเรื่องแห่งความดับทุกข์ ไม่ใช่เป็นเรื่องแห่งความสำคัญอะไร แต่ปุถุชนนี่บางทีไปให้ความสำคัญกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องสำหรับผู้มีปัญญา บางที่เราเห็นเป็นเรื่องใหญ่โตมากมายจนบางคนถึงขนาดทนไม่ไหวจะฆ่าตัวตาย ทั้ง ๆ ที่เรื่องเหล่านั้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องอะไรเลยที่จะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้มีปัญญา เรื่องสำคัญจริง ๆ มันคือเรื่องที่ว่ากิเลสในใจเรานี้ต่างหาก

ว่าทำยังไงถึงจะชนะมันได้ละมันได้ มันคือเรื่องสำคัญที่สุด เรื่องที่เรายึดผิดเห็นผิดมีความหลงนี้คือเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เรื่องใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลายแหล่ ความทุกข์อื่น ๆ ที่เราไปยึดไปเสียใจไปเศร้าหมองมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ไม่ใช่เรื่องสำคัญ มันเป็นเรื่องปลีกย่อยไปจากกิเลสต่างหาก เรามาแก้ไขกิเลสให้ได้แล้วเรื่องเหล่านั้นก็หมดปัญหา

ฉะนั้นปุถุชนนั้นที่เศร้าโศกเสียใจในเรื่องบางอย่าง พระพุทธเจ้าหรือปัญญาของพระพุทธเจ้าจึงมองเห็นปุถุชนเป็นเหมือนเด็ก เหมือนผู้ใหญ่มองเห็นเด็กหรือว่าบางทีก็เหมือนกับคนบ้า เหมือนเราเห็นคนบ้า เหมือนเด็กหรือว่าเหมือนกับคนสติไม่ดี อย่างปุถุชนชอบอะไรก็หัวเราะกันสนุกสนานเฮฮา พระอริยเจ้าท่านมองก็เหมือนกับเรามองเห็นคนบ้า เราเห็นคนบ้าเป็นอย่างไร คนบ้าบางครั้งมันจะหัวเราะมันก็หัวเราะ เดี๋ยวหัวเราะสนุกสนาน เดี๋ยวเสียใจ ปัญญาของพระอริยเจ้าท่านมองก็เป็นเช่นนั้น

ยิ่งเป็นสมณะยิ่งเป็นนักบวชด้วยแล้ว ถ้าพระมาเล่นสนุกสนานก็เหมือนกับเด็ก กลายเป็นเหมือนเด็ก หรือว่าจะมาหัวเราะก็จะกลายเป็นคนสติไม่สมบูรณ์ เหมือนกับคนสติไม่สมบูรณ์ นี้สำหรับพระนักบวชท่านตำหนิไว้อย่างนั้น ทำนองอย่างนี้ เพราะว่าความเป็นสมณะจะต้องสงบจะต้องสำรวม จะต้องข่มเป็น จะต้องอดทนอดกลั้น เห็นสิ่งที่ดีงามเห็นสิ่งที่ยั่วยวนก็ข่มใจได้ ไม่ไปตื่นเต้นดีอกดีใจหัวเราะเริงร่า นั่นก็ไม่ใช่วิสัยของสมณะ ถ้าสมณะไปทำอย่างนั้นท่านจึงมองเหมือนกับไม่ใช่ผู้ใหญ่ ไม่ใช่คนสติสมบูรณ์ แต่ความจริงแล้วก็ปุถุชนเราก็มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันไม่ใช่เป็นเรื่องปรกติในปัญญาของพระอริยเจ้า หรือว่าสมณะเที่ยวหยอกล้อกันเล่นกัน ก็จะเป็นที่น่าสังเวชสลดใจ เพราะหน้าที่ก็คือการที่จะฝึกจิตตัวเอง การที่ลดละการที่จะทำจิตให้ตรงให้วาง

http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง