Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เที่ยววัดพิชัยญาติ ชมภาพสลักสามก๊ก หนึ่งเดียวในประเทศ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 25 ก.ค.2007, 8:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระอุโบสถวัดพิชยญาติการาม


เที่ยว “วัดพิชัยญาติ”
ชมภาพสลัก “สามก๊ก” หนึ่งเดียวในประเทศ



วัดพิชยญาติการามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นวัดร้าง ครั้นต่อมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุญนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ได้ทำการปฏิสังขรณ์บูรณะขึ้นในปี พ.ศ.2384 แล้วถวายให้เป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ส่วนชื่อ “วัดพิชยญาติการาม” นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดตั้งให้ในภายหลัง แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดพิชัยญาติ”

ส่วน วัดอนงคารามวรวิหาร (วัดอนงค์) วัดนี้เมื่อเดิมได้ชื่อว่า วัดน้อยขำแถม ตามชื่อของผู้สร้างคือ ท่านผู้หญิงน้อย ภริยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นวัดคู่กันกับ วัดพิชยญาติการาม ของสามี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “วัดอนงคาราม”

Image
พระเจดีย์บนฐานสูง ข้างพระอุโบสถ


วัดพิชยญาติการามเป็นวัดที่มีบริเวณสวยงาม เมื่อแรกที่เดินผ่านประตูวัดเข้าไป ก็รู้สึกถึงความเป็นจีนได้ทันทีจากรูปทรงของ หลังคาพระอุโบสถ ซึ่งมีลักษณะเหมือนเก๋งจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันเป็นลายปูนปั้นรูปมังกรประดับกระเบื้องสี และด้านหน้าพระอุโบสถก็ยังมีการประดับเสาแบบจีน มีลวดลายมังกรและลายต้นกัลปพฤกษ์แสดงถึงสิ่งที่เป็นสิริมงคล

และที่ขาดไม่ได้คือ ตุ๊กตาศิลาจีน (อับเฉา) ที่ยืนคุมเชิงอยู่สองข้างประตูทางเข้าพระอุโบสถ ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุญนาค) ได้นำกลับมาภายหลังจากไปค้าขายที่เมืองจีน ซึ่งแต่เดิมมีจำนวนมาก แต่ได้ทรุดโทรมและพังทลายไปตามกาลเวลา คงเหลืออยู่เพียงบางส่วนที่ยังมีสภาพดีอยู่ สองข้างพระอุโบสถเป็น พระเจดีย์บนฐานสูง ได้สัดส่วน โดยที่ฐานของเจดีย์ทั้งหมดทำด้วยซุงหลายต้นไม่ใช้เสาเข็ม

Image
พระพุทธสิทธารถ หรือที่ชาวบ้านเรียก
หลวงพ่อสมปรารถนา พระประธานในพระอุโบสถ



ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานที่มีนามว่า “พระพุทธสิทธารถ” พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยปางมารวิชัยที่มีความงามเป็นเลิศ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยสุโขทัยที่อัญเชิญมาจากเมืองพิษณุโลก ชาวบ้านนิยมเรียกท่านว่า “หลวงพ่อสมปรารถนา” แสดงว่าน่าจะมีคนที่เคยมากราบขอพรจากท่านแล้วสมหวังกลับไปหลายรายทีเดียว

พระอุโบสถวัดพิชยญาติการามมีขนาดไม่ใหญ่นัก เป็นศิลปกรรมแบบพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ผสมผสานศิลปกรรมแบบไทยและจีนได้อย่างกลมกลืนและสวยงามยิ่ง เหมือนกับคนทั้งสองเชื้อชาติที่แตกต่าง แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข

Image
รอบฐานพระอุโบสถวัดพิชยญาติการาม
มีรูปสลักหินเรื่องสามก๊กอยู่ทั้งหมด 22 ตอนด้วยกัน



ตามปกติแล้ว ถ้าพูดถึงจิตรกรรมฝาผนังหรือภาพสลักหินของวัดในศาสนาพุทธ เรื่องราวต่างๆ ที่มักจะวาดหรือแกะสลักกันนั้นก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องราวยอดนิยมอย่างพุทธชาดกหรือรามเกียรติ์ อย่างที่เห็นกันในภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) หรือภาพสลักนูนต่ำที่ระเบียงพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

แต่เมื่อเป็นวัดที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนอย่างวัดพิชยญาติการามนี้ แน่นอนว่าเรื่องราวย่อมต้องแตกต่างไป ซึ่งแทนที่จะเป็นเรื่องของยักษ์กับลิง หรือเรื่องพระเรื่องเจ้าต่างๆ ก็กลับกลายเป็น เรื่องสามก๊ก ไปเสีย โดยเป็นภาพสลักหินอยู่ตรงฐานพระอุโบสถด้านนอก ระหว่างเสาพาไลแต่ละต้น ก็จะมีภาพสลักหินเรื่องสามก๊กนี้อยู่รวมทั้งหมดจำนวน 22 ภาพด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นงานศิลปกรรมชิ้นเอก

Image
ภาพสลักหินเรื่องสามก๊กในตอน “ขงเบ้งดีดพิณลวงสุมาอี้”


ภาพสลักหินทั้ง 22 ภาพที่ว่านั้น ไม่ได้เป็นเรื่องราวที่เกิดต่อเนื่องกัน แต่เป็นการยกเรื่องราวเด่นๆ ในแต่ละตอนมาแกะสลักไว้ อย่างเช่น ตอนขงเบ้งดีดพิณลวงสุมาอี้, ตอนเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สู้รบกับลิโป้, ตอนจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า, ตอนกวนอูปล่อยโจโฉ หรือตอนม้าเฉียวแตกทัพโจโฉ เป็นต้น แต่ภาพบางตอนนั้นก็สึกกร่อนไปตามกาลเวลา ทำให้บอกไม่ได้ว่าเป็นเรื่องราวที่อยู่จากตอนไหนกันแน่

จากข้อมูลมาก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าภาพสลักเหล่านี้สร้างขึ้นมาเมื่อไหร่ แต่ก็มีคนสันนิษฐานไว้ว่าน่าจะทำขึ้นทางตอนใต้ของประเทศจีน เรื่องนี้ยังไม่มีใครชี้ชัดได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือภาพแกะสลักหินเหล่านี้ล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจชวนให้ชมยิ่งนัก โดยเฉพาะใครที่ชอบวรรณกรรมเรื่องสามก๊กอยู่แล้ว คงจะเดินดูรูปสลักเหล่านี้รอบโบสถ์ได้เพลินทีเดียวกับฝีมือของช่างสลักที่สามารถแกะตัวละครแต่ละตัวให้ดูมีชีวิตชีวาได้

Image
พระปรางค์สามยอดสูงใหญ่โดดเด่นเป็นสง่า


นอกจากภาพสลักหินเหล่านี้แล้ว อย่าเพิ่งคิดว่าวัดพิชัยญาติจะมีสิ่งที่น่าสนใจเพียงแค่นั้น เพราะเมื่อเดินไปทางข้างหลังพระอุโบสถ ก็ได้พบกับความอลังการที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง นั่นก็คือ พระปรางค์ 3 ยอด องค์สูงใหญ่ตั้งตระหง่านเป็นสง่าอยู่นั่นเอง ที่บอกว่าเป็นความอลังการที่ซ่อนอยู่นั้น จริงๆ ก็ไม่ถูกเสียทีเดียวนัก เพราะพระปรางค์ที่ว่ามีขนาดใหญ่มากจนไม่น่าจะถูกซ่อนได้ คือมีความสูง 21 วาเศษ หรือประมาณ 40 กว่าเมตรเลยทีเดียว แม้จะมีความสูงไม่เท่ากับพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม แต่ก็ได้เปรียบกว่าตรงที่มีสามยอด

โดยภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ซึ่งอยู่ตรงกลางนั้น ประดิษฐานพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ไว้ คือ พระกกุสันธะพุทธเจ้า, พระโกนาคมนะพุทธเจ้า, พระกัสสปะพุทธเจ้า และพระโคตมะพุทธเจ้า โดยประดิษฐานไว้ในลักษณะที่ทั้งสี่องค์นั่งหันหลังชนกัน หันหน้าออกไปด้านนอกทั้งสี่ทิศ

Image
พระพุทธเจ้า 4 องค์ ประดิษฐานอยู่ในพระปรางค์องค์กลาง


ส่วนพระปรางค์องค์เล็ก 2 องค์ใกล้กัน องค์ทางซ้ายด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธเมตเตยยะพุทธเจ้า หรือพระศรีอาริยเมตไตร ส่วนองค์ทางขวาด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองในตู้กระจกถึง 4 รอยด้วยกัน ซึ่งรอยพระพุทธบาททั้ง 4 รอยนั้น น่าจะแทนพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ข้างต้น โดย พระโคตมะพุทธเจ้า ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ได้ทรงอธิฐานว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว 2,000 ปี พระพุทธบาทสี่รอยนี้จะปรากฏแก่ปวงมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เพื่อปวงมนุษย์และเทวดาทั้งหลายจะได้มากราบไหว้และสักการบูชา จึงกำเนิดเป็นพระพุทธบาทสี่รอยตามตำนานเล่าขาน

อนึ่ง ผู้มีจิตศรัทธาส่วนมากก็มักจะหย่อนเงินลงไปเพื่อร่วมทำบุญกับทางวัด ซึ่งเมื่อขึ้นไปบนองค์พระปรางค์ แล้วได้มากราบพระและสักการะรอยพระพุทธบาทจำลอง ในบรรยากาศเงียบสงบแบบนี้ ก็อาจจะช่วยทำให้พบกับความสงบเย็นทั้งกายทั้งใจได้

Image
พระพุทธบาทจำลอง 4 รอย ประดิษฐานในตู้กระจก

Image
พระอุโบสถวัดพิชยญาติการาม มองเห็นยอดพระปรางค์อยู่ด้านหลัง


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 กรกฎาคม 2548 15:17 น.
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง