Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระนิพพานคืออะไร ? อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
รักษิต
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 25 ก.พ. 2007
ตอบ: 3

ตอบตอบเมื่อ: 25 ก.พ.2007, 9:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผมเห็นหลายต่อหลายคนเข้าใจผิดมานาน ผมจึงนำบทความดีๆมาบอกกล่าวกัน
นิพพาน คือ ความดับร้อน เหลือแต่ความเย็น อะไรคือความร้อน ความร้อนก็คือ ความยึดมั่นถือมั่น ในร่างกายเรา ร่างกายเขา ทรัพย์สมบัติในโลกนั่นแหละเป็นความร้อน เป็นความทุกข์ พระนิพพานเป็นธรรมชาติที่แท้จริง นิพพานัง ปรมัง สูญญัง หมายถึงนิพพานเป็นธรรม ว่างอย่างยิ่ง ธรรมหมายถึงธรรมชาติทั้งหมด นิพพาน เป็นธรรมชาติที่ว่างจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน ทุกข์ทั้งหมด นิพพานเป็นสภาวะที่เป็นสุข เพราะไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ คำว่า สูญแปลว่า ว่าง ไม่ใช่สูญโญ สูญสลายอย่างที่เข้าใจผิดกัน
นิพพานัง ปรมัง สุขัง หมายถึง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง มีสภาวะบริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากกิเลส มีลักษณะตามที่ได้สัมผัสทางมโนมยิทธิดังนี้
1. นิพพานมีความแน่นอน (นิจจัง) มีความสุข เป็นอมตะ ไม่มีคำว่าสูญสลาย ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีแต่ปัจจุบัน เพราะไม่มีการเกิดการตายอีก(พ้นวัฏฏสงสาร) จิตที่เสวยสุขพระนิพพานเป็นจิตทิพย์ กายทิพย์ กายเบา จะไปไหนจะคิดอะไรได้รวดเร็วตามความปรารถนา มีหูทิพย์ ตาทิพย์ มีอิสระเสรีแท้จริง ไม่อยู่ในอำนาจของกฎแห่งกรรมหรือกฎธรรมชาติ
2. พระนิพพานเป็นสถานที่กว้างใหญ่ไพศาลไม่มีที่สิ้นสุด ไม่อยู่ในเขตสุริยจักรวาลใด ๆ ไม่มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ มีแสงสว่างไสวสวยงาม ในกายนิพพาน ไม่มีขันธ์ 5 ไม่มีกระดูกหรืออวัยวะภายใน ไม่มีเพศ ไม่มีเด็ก ไม่มีสัตว์
จิตที่สะอาดสดใส หมดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เสวยสุขอย่างยิ่งตลอดกาลที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารท่านค้นคว้า และเมตตาสอนทุก ๆ คนให้ทำความดีเพื่อพระนิพพาน โลกนี้ไม่มีอะไรสุขจริง มีพระพุทธเจ้าหลายแสนพระองค์ที่แดนพระนิพพาน เพราะ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสรู้จากโลกอื่น ๆ ด้วย จิตที่เป็นพระอรหันต์แดนนิพพาน ท่านเรียกว่า พระวิสุทธิเทพ จิตจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะอย่างไรก็ได้ จะเข้าสิ่งสู่อาศัยที่หนึ่งที่ใดก็ได้ ท่องเที่ยวได้รวดเร็วกว่ากระแสไฟฟ้า พระพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้า ที่เข้าสู่พระนิพพานก็ยังคอยช่วยเหลือผู้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จะรับสัมผัสจากพระองค์ท่านได้เมื่อจิตสะอาด มีสมาธิถึงฌาน 4 พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า ท่านจะเมตตามาสั่งสอนแนะนำให้จิตสะอาด เข้าใจในปัญหาธรรมที่ยังติดขัดสงสัย ถ้าจิตเคารพท่านจริง ท่านก็จะมาสอนในจิตจริง ไม่เป็นที่สงสัย พระพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้า ท่านก็ยังช่วยโลกอยู่ทุกวัน
3. พระโอวาทของพระองค์ที่ 10 มีอยู่ว่า
พระนิพพาน ไม่ใช่ภาษาพูด
พระนิพพาน ไม่ใช่ภาษาเขียน
พระนิพพาน เป็นภาษาปฏิบัติ
4. รูปกายทิพย์ที่อยู่ในแดนนิพพานสะอาดสว่างไสว สามารถเปลี่ยนแปลงจาก หนึ่งเป็นแสนหรือล้านรูป เล็กใหญ่ภายในเวลาเดียวกันได้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ได้เผยแพร่วิชามโนมยิทธิ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาสอนนักปฏิบัติธรรมให้มีจิตเป็นทิพย์ สามารถสัมผัสพระนิพพานได้ เมื่อจิตสะอาดไม่เกาะติดขันธ์ 5 ทรัพย์สมบัติในโลกมีศีลครบ มีสมาธิ ตั้งแต่อุปจารสมาธิถึงฌาน 4 ก็พิสูจน์ด้วยจิตตนเองว่า นรก สวรรค์ พรหม นิพพาน มีจริงหรือไม่ เพื่อจะได้หายสงสัย มีความมั่นคงในพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ ผู้ที่พ้นทุกข์ในโลกนี้โลกหน้าคือ ผู้เห็นธรรม ผู้ที่เห็นธรรมคือผู้ที่เห็นองค์พระตถาคต ผู้ที่เห็นพระตถาคต คือผู้ที่เห็นพระนิพพาน ผู้ที่เข้าใจพระนิพพาน คือ ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ได้ง่ายและรวดเร็ว
ถาม : หลวงพ่อพระราชพรหมยาน กราบทูลถามองค์สมเด็จพระพิชิตมาร ที่พระจุฬามณีชั้นดาวดึงส์ว่า คนที่ปฏิบัติเพื่อพระนิพพานจะใคร่ครวญอย่างไรจึงจะง่ายที่สุด สั้นที่สุดพระพุทธเจ้าข้า ?
ตอบ :
เจ้าจงใคร่ครวญอย่างนี้ จงคิดว่าเราเป็นผู้ไม่มีอะไรเลย ทรัพย์สินก็ไม่มี ญาติ เพื่อน ลูกหลาน เหลนก็ไม่มี เพราะทุกอย่างที่กล่าวมามีสภาพพังหมด เราจะทำกิจที่ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อสิ้นภาระ คือ ร่างกายพังแล้ว เราจะไปนิพพาน เมื่อความป่วยไข้ปรากฎ จงดีใจว่าภาวะที่เราจะมีโอกาสเข้าสู่พระนิพพานมาถึงแล้ว เราสิ้นทุกข์แล้ว ร่างกายเป็นเพียงเศษธุลีที่เหม็นเน่า มีความสกปรกโสโครก ทรุดโทรม เดินไปหาความเสื่อม แตกสลายทุกขณะ คิดไว้อย่างนี้ทุกวัน จิตจะชิน จะเห็นเหตุผล เมื่อตาย อารมณ์จะสบาย แล้วจะเข้าสู่พระนิพพานได้ทันที
พระพุทธองค์ทรงสอนต่อไปว่า ให้ลูกหลานของเธอทุกคน หรือ บริษัทของเธอทุกคน เขาตั้งใจอย่างที่ฉันพูดนะ การไปสวรรค์ก็ดี ไปพรหมโลกก็ดี ไปนิพพานก็ดีเป็นของง่าย ไม่ใช่ของยากแบบที่นักปราชญ์ในโลกเขาพูดกันเวลานี้ เวลานี้นักปราชญ์ทั้งหลายนิยมความยาก สิ่งไหนก็ตามที่มันยาก เขาถือว่าดี เป็นแบบฉบับที่ถูกต้อง แต่ว่าฉันเห็นว่านั่นไม่ถูกต้อง ถ้าตามคติของฉัน ฉันว่าไม่ถูก เพราะสอนคนหรือพูดให้คนเข้าใจง่ายที่สุด และได้ผลมากที่สุด อันนี้ดีกว่า ดีกว่าหาวิธีที่ยากที่สุด แล้วได้ผลน้อยที่สุด อย่างนี้ไม่ดี ไม่ใช่ความประสงค์ของฉัน สัมภเกสี(ชื่อของหลวงพ่อพระราชพรหมยานที่พระพุทธองค์ทรงเรียก) เตือนบริษัทและลูกหลานของเธออย่างนี้นะ ว่าให้ทุกคนรู้ตัวแล้วว่ามีวิมานอยู่บนชั้นกามาวจร เมื่อถึงเวลาเขาทำชั่วอะไรมาก็ช่างเถอะ เวลาก่อนนอนให้นึกถึงความดีที่ทำไว้ ขึ้นชื่อว่าความชั่วทั้งหลายปล่อยมันไปนึกถึงแต่ความดี แล้วเอาใจนี้จับไว้ว่านี่เรามีวิมานแก้ว 7 ประการไว้บนสวรรค์ชั้นกามาวจร จากทำบุญ วิหารทาน สังฆทาน และธรรมทาน เมื่อเวลาที่เราตาย เราจะไปอยู่วิมานนั้น ถ้าเวลาป่วยไข้ไม่สบาย ไม่ต้องเอาอะไร นึกถึงคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะนึกถึงพระพุทธก็ได้ พระสงฆ์ก็ได้ สิ่งก่อสร้างก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ในใจ แล้วตั้งใจว่าเราจะไปอยู่วิมานของเราที่มีอยู่แล้ว เพียงเท่านี้นะ ถ้าเขาตาย เขาจะถึงสวรรค์ชั้นกามาวจรทันที
พวกที่จะไปพรหมโลกก็เป็นของไม่ยากนะ สัมภเกสี บอกเขานะคนที่ต้องการไปพรหมโลก คืนหนึ่ง ให้สร้างความดี 10 นาที ตอนกลางวันมันอาจจะเลว จะเอาดีกันตอนกลางคืน นั่งนับลมหายใจเข้าออกก็ตาม นั่งก็ได้ นอนก็ได้ ยืนเดินก็ได้ นับลมหายใจเข้าออกก็ได้ หรือจะนึกถึงกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ได้ เพียง 10 นาที ให้รู้ลมหายใจเข้าออกเท่านี้ก็พอ เวลาตายแล้วก็เป็นพรหมแน่
ทีนี้คนไหนที่ตังใจจะไปนิพพาน ก็เป็นของไม่ยาก สัมภเกสี ให้เขาคิดว่าโลกนี้ทั้งหมดไม่มีอะไรที่เรารักเราชอบ เพราะเต็มไปด้วยความทุกข์ยากทรมาน ใคร่ครวญหาความจริงในโลก จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม มันมีสภาพคงตัวได้ตลอดกาลหรือไม่ ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลงสลายตัว ก็ถือว่าโลกทั้งโลกหาความดีไม่ได้ แล้วก็หันเข้ามาคิดถึงกายของตัวว่า กายของเรามันยังจะตาย ยังจะพัง เรายังปรารถนาอะไรภายนอกอีก เราไม่ต้องการทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เราจะไปพระนิพพานแดนไม่ตาย เป็นสุขตลอดกาล ที่พระพุทธองค์ไปอยู่แดนพระนิพพานนั้น เขาคิดเท่านี้นะ เพียงคืนละ 10 นาทีนะ สัมภเกสีนะ ลูกหลานของเธอจะพ้นนรกหมด พ้นอบายภูมิ อย่างน้อยไปกามาวจรสวรรค์ อย่างกลางก็ไปพรหมโลก อย่างดีก็ไปพระนิพพาน
สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Email
ผู้เยี่ยมชม






ตอบตอบเมื่อ: 26 ก.พ.2007, 9:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เราจะไปพระนิพพานแดนไม่ตาย เป็นสุขตลอดกาล ที่พระพุทธองค์ไปอยู่แดนพระนิพพานนั้น เขาคิดเท่านี้นะ เพียงคืนละ 10 นาทีนะ สัมภเกสีนะ ลูกหลานของเธอจะพ้นนรกหมด พ้นอบายภูมิ อย่างน้อยไปกามาวจรสวรรค์ อย่างกลางก็ไปพรหมโลก อย่างดีก็ไปพระนิพพาน

ยังสงสัย...นิพพานในที่นี้หมายถึงนิพพานแบบไหนของใคร ของพุทธะหรือของผู้ใด
เป็นนิพพานของฝ่ายเถรวาท หรือมหายาน ต้องการความชัดเจนตรงนี้
 
ญาณิศา
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 26 ก.พ.2007, 2:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

จากคิริมานนทสูตรระบุว่า จะให้พบพระนิพพานต้องวางทั้งสุขและทุกข์ ยิ้ม
 
อยากไปเที่ยว
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 26 ก.พ.2007, 3:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระนิพานอยู่ที่ไหนเหรอ อ่านแล้วรู้สึกไปได้ไม่ยาก แค่นึกคิดเอาก็ไปได้แล้ว
ผมอยากจะไปเสียแล้วละซิ อิอิอิ
 
เพื่อนชวนไปเที่ยว
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 04 มี.ค.2007, 11:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอผมไปด้วยคนครับ....ไปไหนไปด้วยช่วยกันไป
 
ผู้เยี่ยมชม






ตอบตอบเมื่อ: 05 มี.ค.2007, 8:45 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นิพพานไม่ใชสถานที่ครับ
 
สมพร
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 05 มี.ค.2007, 9:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระนิพพานเป็นสถานที่อยู่ ของผู้หมดกิเลสแล้ว เป็นดินแดนที่มีแต่ความสุข ปัจจุบันนี้มีผู้คน สามารถเอาจิตไปดูพระนิพพานได้แล้ว ถ้าจะฝึกดูก็ไปที่ซอยสายลมก็ได้ ผู้ที่ยังไม่เคยเห็นก็จะค้านเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่เห็นแล้วก็จะไม่ค้าน ก็เป็นธรรมดาอีก ต้องไปทำดูนะครับจะได้หมดข้อสงสัย
 
เพื่อนนิพพาน
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 05 มี.ค.2007, 10:57 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ที่เห็นกันนี่ ว่านิพพานเปนสถานที่ เห็นพระพุทธเจ้า เหนพระอรหันตเจ้า เป็น นิมิต ที่เกิดจากใจ ทั้งนั้น พอไปติดนิมิตเข้า ก็หลงเชื่อ ว่าพระพุทธเจ้ายังอยู่ ในแดนนิพพาน นิพพานเปนสถานที่

ไอน์ไตรน์ บอกว่าพลังงานทั้งหลายไม่สูญหายไปจากโลก ภาพของพระพุทธเจ้าและ พระอรหันเจ้าทั้งหลาย ก็เป็นพลังงานอยู่ในรูปแสง การทำสมาธิเมื่อไปถึงขั้นหนึ่งจะสามารถย้อนแสงไปเห็นภาพเหล่านั้นได้
 
นักธรรมระวังพังเพราะอยาก
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 06 มี.ค.2007, 8:34 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เห็นคนในศาสนาพุทธปัจจุบัน พยายามรู้จักนิพพานกันมากเสียเหลือเกิน ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม เท่าที่สังเกตมาไม่เคยเห็นว่าพระพุทธเจ้าจะทรงอธิบายเน้นรายละเอียดของนิพพานว่าเป็นอย่างไรมากเท่าไหร่ มีแต่ยุคนี้อธิบายกันได้เสียละเอียดยิ๊บ อย่างกับว่าไปสัมผัสกันมาเรียบร้อยแล้วเสียอย่างนั้นจึงอธิบายได้อย่างง่ายดายยิ่งกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฏกที่เน้นการปฏิบัติธรรมเป็นหลักเสียอีก จากพระไตรปิฏกก็เชื่อว่าไม่มีบันทึกการสอนครั้งใดของพระองค์จะทรงสอนธรรมมะด้วยการทรงอธิบายลักษณะสภาพของนิพพานแล้วผู้ฟังเกิดความเข้าใจจนบรรลุธรรมเลยสักครั้ง เห็นมีแต่ทรงยกเรื่องรอบตัวเรื่องใกล้ตัวที่เจ้าตัวไม่เคยใส่ใจใช้สติสังเกต อย่างเช่น รูป การกระทำ อารมณ์ สิ่งไม่เที่ยงต่างต่างแล้วสุดท้ายผู้นั้นก็บรรลุธรรมตั้งแต่ขั้นต้นจนไปถึงอรหันต์ ทำให้เห็นได้ว่าผู้บรรลุธรรมโดยคำสอนของพระพุทธองค์นั้นไม่มีสักคนที่รู้จักว่านิพพานมีลักษณะเป็นอย่างไรมาก่อน แล้วอย่างนี้พวกเราจะยังอยากรู้จักกันอีกไปทำไม หากรู้แล้วทำให้เข้าถึงธรรมได้ไวหายเป็นทุกข์ก็น่าสนใจค้นคว้าอยู่หรอก แต่นี่ยิ่งรู้ก็ยิ่งมีคนค้าน ยิ่งสร้างความคิดให้ฟุ้งซ่านสับสน สร้างความหม่นหมองให้กับจิตแล้วเราจะไปให้ความสนใจกันทำไมอีกเล่า หากจิตไม่ถึงขั้นที่จะรู้ด้วยตัวเองก็ปล่อยมันไปเถิดอย่าไปข่มเหงรังแกจิตใจตัวเองให้มันปล่อยวางเหมือนเรื่องไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันดีไหม ขนาดพระพุทธเจ้ายังไม่เคยทรงใช้วิธีอธิบายสภาพนิพพานโดยตรงเพื่อให้คนบรรลุธรรมเป็นอรหันต์ได้ แล้วอย่างพวกเราหากมีความรู้เรื่องสภาพนิพพานจนเข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋ดีแล้วจะบรรลุธรรมได้อย่างนั้นหรือ
เราหยุดตั้งนานหลายหลายหลายปีจนแทบจะลืมไปแล้ว ท่านละหยุดได้หรือยังเรื่องอยากรู้จักนิพพาน
 
สมพร
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 06 มี.ค.2007, 8:47 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ด้วยความเคารพนะครับ ถ้าเป็นพลังงานที่ค้างอยู่ พลังงานจะพูดกับเราได้ยังไงครับ พลังงานจะบอกเหตุที่จะเกิดกับเราในวันข้างหน้าอย่างถูกต้องได้อย่างไร แล้วไม่ให้ไปติดพระพุทธเจ้า จะให้ไปติดอะไรครับ ติดความว่างเปล่าก็ไปเป็นอรูปพรหม เหมือนอาจารย์ของพระพุทธองค์ อย่างนี้จึงจะถูกหรือครับ ผมว่ารองไปทำดูให้ได้เห็นเองเสียก่อน ก็จะหมดสงสัยนะครับ ด้วยความเคารพนะครับ
 
บัวน้อยคอยธรรมมะ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 06 มี.ค.2007, 5:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กลับมาอ่านความเห็นตัวเองอีกที นักธรรมระวังพังเพราะอยาก ทำให้รู้สึกว่าจะเป็นความเห็นที่ดูรุนแรงมากเกินไป จึงสงสัยว่าตนจะโดนโมหะเล่นงานเสียอีกแล้วในบางช่วงถึงได้ไม่รู้สึกถึงกาละเทศะในการแสดงออก ความหลงอยากถ่ายทอด อยากชี้จุดอ่อนในการปฏิบัติให้คนอื่นมากเสียจนหลุดจากสติตัวเอง เอาเป็นว่าขอน้อมกราบ ขออโหสิกรรม สาธุ หากคำพูดใดใดต้องระคายเคืองนักธรรมหรือผู้กำลังปฏิบัติท่านใดในทุกทุกระดับ เพราะเจตนาแท้จริงนั้นไซร้เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เท่านั้น ผิดถูกจึงไม่ใช่สาระสำคัญสิ่งสำคัญนั้นมีเพียงใครตั้งใจปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอมิขาดสายผลที่ได้ก็จะตามมาเอง และขออนุโมทนาสาธุกับทุกท่านที่มีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
ธรรมมะอำลา(ชั่วคราวขอตัวกลับไปฝึกวิทยายุทธใหม่ สู้ สู้ )
สาธุ
 
เรอศักดิ์
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 09 มี.ค.2007, 8:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นิพพาน
โดย พระคุณเจ้าหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง อุทัยธานี
นิพพาน คำว่า นิพพานนี้เขาแปลว่า ดับ ท่านจัดให้หลายประเภทด้วยกัน คือ
1. ดับกิเลส มีเบญจขันธ์เหลือบ้าง เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน คือยังไม่ตายแต่จิตเป็นนิพพาน
2. ดับกิเลส โดยไม่มีเบญจขันธ์เหลือบ้าง เรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพาน คือตายแล้วจิตเป็นสุขอยู่แดนทิพย์อมตะนิพพาน
แต่ว่าในวันนี้จะขอพูดถึง นิพพานมาตรฐาน ที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสว่า
“นิพพานัง ปรมัง สุขัง” แปลเป็นใจความว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
แต่ทว่าเรื่องพระนิพพานนี้ มีความเข้าใจเฝือของบรรดาท่านพุทธบริษัทอยู่มากที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้จุดหนึ่งว่า
“นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” ซึ่งแปลเป็นใจความว่า นิพพานเป็นธรรมว่างจากความทุกข์ ว่างจากกิเลส โลภ โกรธ หลง ว่างจากขันธ์ 5 ว่างจากดิน น้ำ ลม ไฟ ว่างอย่างยิ่ง
คำว่า “สุญ” ในที่นี้ส่วนที่แปลศัพท์โดยมากมักจะทับศัพท์ ใช้ศัพท์ว่าสูญ
แต่ความจริงคำว่าสุญนั้นเขาแปลว่าว่าง ก็หมายความว่า บุคคลใดที่จะเข้าถึงนิพพานได้ ต้องว่างด้วยเหตุ 3 ประการ คือ
1. ว่างจาก โลภะ คือ ไม่มีความโลภในจิตใจ
2. ว่างจาก โทสะ คือ ไม่มีความหงุดหงิดโกรธง่ายในจิตใจ
3. ว่างจาก โมหะ คือ ไม่มีความหลงในโลกทั้งสามในจิตใจ
เพราะว่าโลภะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี ทั้ง 3 ประการนี้เป็นรากเหง้าของความชั่ว ที่เรียกว่า รากเหง้าของกิเลส กิเลสก็คือความชั่ว ความมัวหมองของจิตที่เรียกว่า จิตคิดชั่ว กิเลสทั้งหมดที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตตรัสแล้วโดยชื่อแล้วนับปริมาณไม่ได้
แต่องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสว่า กิเลสทั้งหมดถ้ากล่าวโดยย่อแล้วก็เหลือ 3 ประการ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ฉะนั้น สมเด็จพระพุทธองค์จึงตรัสว่า ถ้าจิตของบุคคลใดว่างจากกิเลสทั้ง 3 ประการ คือ โลภะ ความโลภไม่มีในจิต
โทสะ ความโกรธไม่มีในจิต
โมหะ ความหลงไม่มีในจิต
อย่างนี้สมเด็จพระธรรมสามิสรตรัสว่าเป็นผู้มีความว่างจากกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน คือคำว่า “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง”
นิพพานอยู่ที่ไหน ?
นิพพานอยู่ที่ความบริสุทธิ์ของจิต เมื่อไรที่จิตเข้าถึงความบริสุทธิ์ คือ จิตดับจากความชั่ว ความสกปรกของจิตที่มีกิเลส ตัณหา อวิชชา อุปาทานหลงในตัวเรา ตัวเขาขังอยู่สลัดตัดความชั่วที่ขังอยู่ในจิตในใจทิ้งไปเสีย ความชั่วทุกอย่างหมดไปจากจิตจากใจเมื่อไร เมื่อนั้นจิตก็เข้าถึงพระนิพพานทันที กิเลสตัวใหญ่ 3 ประการนี้เป็นสาเหตุให้จิตไม่สะอาด ไม่สามารถเข้าใจพระนิพพานได้ จึงเป็นเหตุให้มีแต่ความทุกข์ยากลำบากกายใจ พระนิพพานปรมังสุญญัง จึงแปลว่า พระนิพพาน คือ จิตที่ว่างจากกิเลส โลภ โกรธ หลง สุญญังในที่นี้คือ หมดสิ้นจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน โลภ โกรธ หลง สูญจากการเวียนว่าย ตาย เกิด นั่นเอง
เมื่อเหตุทั้ง 3 ประการ นี้ว่างไปจากใจ ความสบายใจก็ปรากฏความผ่องใสของใจ ก็ปรากฏ เมื่อความสบายใจ ความผ่องใสปรากฏ องค์สมเด็จพระบรมสุคต จึงตรัสว่า
“นิพพานัง ปรมัง สุขัง” การเข้าถึงพระนิพพานชื่อว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง
ทีนี้ถ้าจะถามกันว่านิพพานมีสภาวะ หรือไม่มีสภาวะ ตอนนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสกับบรรดาพระที่เข้าไปถามองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างพระโมฆราช เป็นต้น
พระโมฆราชเคยถามพระพุทธเจ้าว่า
“ภันเต ภะคะวา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญพระพุทธเจ้าข้า คนที่ถึงพระนิพพานนี้แล้วชื่อว่ามีสภาพสูญใช่ไหม”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ คำว่านิพพานนี้ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีที่อยู่อย่างนั้นใช่ไหม พระเจ้าข้า...?”
สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
“ดูก่อน โมฆราช คำว่านิพพานนี้เป็นสถานที่พิเศษ คือ ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีแก่อีก ไม่มีเจ็บอีก ไม่มีตายอีก ไม่ใช่สภาพสูญ” มีความสุขอย่างยิ่งเป็นอิสระจากกฎของกรรม อิสระจากการเวียนว่าย ตาย เกิด
เดิมทีเดียวพระโมฆราชมีความคิดเห็นแล้วเปรียบเทียบว่า นิพพานเหมือนกับควันไฟที่ลอยขึ้นไปในอากาศแล้วใช่ไหม
พระจอมไตรก็ตอบว่า ไม่ใช่
พระนิพพานนี่มีอะไร ?
องค์สมเด็จพระจอมไตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า พระนิพพานนี้ตัดธาตุทั้งหมดไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีร่างกาย คน สัตว์ ไม่มีอุปาทานรูป ทั้งหมด แต่ว่าอายตนะ 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ มี ยังมีความรู้สึกเป็นสุข อย่างยิ่งในพระนิพพาน กายนิพพานเป็นกายทิพย์พิเศษ ตามี หูมี มือมี เท้ามี แขน ขา จมูก ปาก หัวมี แต่ว่า ขาดอวัยวะภายในเครื่องจักรกลภายใน สำไส้ ตับ ไต ไส้ ปอด หัวใจ กระเพาะอาหาร เส้นประสาท เส้นเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ เลือดไม่มี มีสภาพเบายิ่งกว่าลม ร่างกายทิพย์ของเทวดาพรหม พระนิพพานไม่มีอวัยวะภายใน กายทิพย์นิพพาน สวยสดงดงามละเอียดกว่ากายทิพย์เทวดาพรหม เมื่อไม่มีกายหยาบเหมือนคน สัตว์ กายเทพพรหมจึงไม่รู้สึกทุกข์ เพราะไม่มีขันธ์ 5 แต่เป็นกายทิพย์เบาโปร่งใส กายเทพพรหมก็มีความสุขชั่วคราว เพราะต้องจุติใหม่เมื่อหมดบุญ
กายแก้วพระนิพพานสวยสดงดงามด้วยรัศมีแห่งบุญบารมี ความดีของจิต มีความสุขตลอดกาล จึงไม่มีการเกิดการตาย มีความปรารถนาสมหวังทุกอย่าง อิสระจากบาปกรรม กายนิพพานจะไปทั่วโลกได้ ไปทั่วจักรวาลไปสวรรค์ที่ไหนๆ ได้ทั้งนั้น ไม่ได้สาบสูญหายไปไหนจะทำกายเล็กใหญ่จำนวนมากก็ได้
แล้วต่อมา พระอื่นก็ถามว่า พระนิพพานมีการเกิดไหม พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า
นิพพานจะว่าเกิดก็ไม่ใช่ จะว่าไม่เกิดก็ไม่ใช่ ถ้าใช้คำว่าเกิดก็ต้องมีคำว่า ตายเป็นของคู่กัน ก็ถ้าหากว่าไม่ใช้คำว่าไม่เกิดก็สภาวะมีอยู่
ฉะนั้นองค์สมเด็จพระบรมครูจึงตรัสว่า
พระนิพพานจัดว่าเป็นทิพย์พิเศษ คือ ทิพย์จริงๆ นี้มี 2 อย่างคือ โลกทิพย์ ได้แก่
เทวโลก แล้วก็อีกโลกหนึ่งนี่คือ พรหมโลก ก็เป็นโลกทิพย์เหมือนกัน ทั้ง 2 อย่างนี้เกิดขึ้นจากสภาวะอันเป็นทิพย์ เกิดขึ้นด้วยกำลังของบุญ
สำหรับเทวโลกเกิดขึ้นด้วยกำลังของทานบ้าง ของศีลบ้าง ของอุปจารสมาธิบ้าง
สำหรับพรหมโลกที่ไปเกิดได้นั้น ก็ต้องอาศัยฌานสมาบัติ
แต่ว่าโลกทิพย์ทั้ง 2 ประการนี้มีการเคลื่อน หมายความว่า ถ้าหมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องจากไป จุติไปเกิดเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง แล้วแต่กฎของกรรม
สำหรับพระนิพพานนี้ ถือว่าเป็นทิพย์พิเศษ คือ ไปแล้วไม่มีการเคลื่อน มีความอยู่เป็นปกติ อารมณ์นิดหนึ่งที่เป็นความหนักของพระนิพพานย่อมไม่มี เหตุฉะนั้นองค์สมเด็จ พระชินสีห์ จึงตรัสว่า
“นิพพานัง ปรมัง สุขัง” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ทีนี้ การทำอย่างไรเราจึงจะเข้าถึงพระนิพพานได้ ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า คนทุกคนมีความดีพอที่จะเข้าถึงนิพพานได้ทุกคน ตามที่องค์สมเด็จพระทศพลตรัสไว้ สมัยเมื่อทรงเสด็จลงสู่ประตูเมือง สังกัสสนคร
วันนั้น สมเด็จพระชินวรทรงแสดง พระยมกปาฏิหาริย์พิเศษ บันดาลให้นิพพานก็ดี พรหมก็ดี เทวดาก็ดี มนุษย์ก็ดี สัตว์ก็ดี เปรต อสุรกาย สัตว์นรกก็ตาม ต่างคนต่างเห็นกันหมด บรรดานรกทั้งหลายทั้งหมดเว้นจากการลงโทษชั่วคราว สัตว์นรกก็มีความสุข แล้วก็วันนั้นนั่นเองใครพูดกันที่ไหน ต่างคนต่างก็ได้ยิน ต่างคนต่างก็รู้เรื่อง ต่างคนต่างก็รู้ภาษากัน เป็นเหตุให้สัตว์ นรก ผี สัตว์ คน เทวดา พรหม เห็นความดีงาม ความศักดิ์สิทธิ์ ความมหัศจรรย์ขององค์สมเด็จพระภควันต์เป็นที่ถูกใจของประชาชนทั้งหลาย
ในตอนนั้นมีท่านผู้หนึ่งถามว่า คนที่จะไปนิพพานได้น่ะเฉพาะเทวดาหรือพรหม และมนุษย์ใช่ไหม
สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ตรัสว่า การที่จะนิพพานได้ไปได้หมดคือ พรหมก็ไปนิพพานได้ เทวดาก็ไปนิพพานได้ มนุษย์ก็ไปนิพพานได้ สัตว์ก็ไปนิพพานได้
คำว่าสัตว์ก็ไปนิพพานได้ในที่นี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงหมายความว่า สัตว์ทุกตัวที่เกิดเป็นสัตว์ ตั้งแต่สัตว์ใหญ่ หรือสัตว์เล็กก็ตามที นั่นคือคน คนที่สร้างกรรมที่เป็นอกุศลสร้างความชั่วมีบาปทำให้จิตคนเข้าไปอยู่ในกรงขัง คือร่างกายของสัตว์ จิตเขาก็คือจิตคน เพราะ มาจากคน
ถ้ากำลังของกรรมหนักจริงๆ พาคนลงนรกไปก่อนเป็นสัตว์นรก
เมื่อกรรมเบาขึ้นมาหน่อยหนึ่งผ่านจากนรกก็มาเป็นเปรต จิตใจก็ยังมีความรู้สึกอย่างคน
เมื่อกรรมเบาขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง พ้นจากความเป็นเปรตมาเป็นอสุรกาย ความรู้สึกก็มีความรู้สึกเท่าคน เพราะใจมันใจคน
จากอสุรกายก็มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน จากสัตว์เล็กถึงสัตว์ใหญ่ แต่ความรู้สึกความต้องการของใจก็เท่าคน คือจิตเป็นจิตคน
ที่องค์สมเด็จพระทศพลตรัสว่า แม้แต่เทวดา หรือพรหม คนหรือสัตว์สามารถไปนิพพานได้นั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสตามความเป็นจริง ดังจะเห็นได้ว่าตามที่บรรดาท่านพุทธบริษัทชาย และหญิงอาจจะเคยได้ยินเสมอว่า
ในสมัยครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเกิดเป็น พญาเหี้ย แต่ความจริงจะเรียกว่าเหี้ยเฉยๆ ก็ได้แต่ว่าถ้าเหี้ยพระโพธิสัตว์เขาเรียกพญาเหี้ย ที่เรียกว่าพญาเหี้ยก็เพราะว่า มีความฉลาดกว่าเหี้ยธรรมดา ถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์ก็จะมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในวันหนึ่งเทวทัตในสมัยนั้นบวชเป็นดาบส พระพุทธเจ้าเป็นเหี้ย ก็ไปจำพรรษาเจริญสมณธรรมอยู่ใกล้ๆ กับโพรงไม้ที่พญาเหี้ยอยู่ สมเด็จพระบรมครูในเวลานั้นเป็นเหี้ยก็จริงแหล่ แต่ทว่าใจเป็นคน ถึงแม้ว่าสัตว์ทุกตัวก็มีสภาพเช่นเดียวกัน จะคิดว่ามีใจเหมือนคนเฉพาะพระโพธิสัตว์น่ะไม่ได้ สัตว์ทุกประเภทอย่าลืมว่าจิตใจก็คือจิตใจคนจะถือว่าอยู่ในอบายภูมิ เพราะกรรมชั่วบังคับให้มีสภาพอยู่ในสภาพของสัตว์ย่อมมีความปรารถนาไม่สมหวัง เป็นทุกข์เพราะเขาลงโทษจากการกระทำความชั่วมาก่อน สำหรับพญาเหี้ยพอออกจากโพรง ออกมาเห็นท่านดาบสห่ม จีวรสีรักนั่งหลับตาก็มีความเลื่อมใสว่าท่านผู้นี้มีกำลังใจสูง บำเพ็ญพรตปรากฏเพื่อความบริสุทธิ์ของจิต ฉะนั้น เหี้ยเมื่อเวลาจะไปหากินก็เดินย้อนมาที่ดาบสก่อนมาถึงตรงข้างหน้าแล้วก้มศีรษะลงกับพื้น 3 ครั้งเป็นการแสดงความเคารพต่อผ้ากาสาวพัสตร์ หลังจากนั้นหน่อพระบรมวงศ์โพธิสัตว์จึงได้ไป เวลาจะกลับเข้าที่อยู่ไซร้ก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน ทำอย่างนี้อยู่หลายวัน ปรากฏว่า ในกาลนั้นในวันต่อมา ดาบสผู้ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ แต่ว่ามีใจเลวกว่าสัตว์ คือ พระเทวทัต เกิดมีความรู้สึกว่าเราอยู่ในป่านี้ กินแต่หัวเผือกหัวมัน ลูกไม้ ใบไม้ หรือรากไม้ อาหาร ที่มีรสอร่อยไม่ปรากฏกับตนเองเลย เพราะว่าเจ้าเหี้ยตัวนี้มันอ้วนดี ถ้าเราได้กินจะมีรสอร่อยมาก ฉะนั้นเวลาตอนกลางวันที่เหี้ยยังไม่กลับมาจากการหากิน ดาบสทรชนคนนั้นก็ไปเก็บเอาเครื่องเทศเครื่องแกง เอาเครื่องแกงมาเก็บห่อเข้าไว้ เอาไว้ใกล้ๆ วันรุ่งขึ้นเช้าก่อนพญาเหี้ยจะออกมา ก็นั่งหลับตาเข้าสมาธิ แต่ว่าเอากระบองไว้ในจีวร เอามือกุมไว้ใกล้ ตั้งใจว่าวันนี้ถ้าเจ้าเหี้ยตัวนี้มาหมอบก้มหัวต่อหน้าเราเมื่อไร เราจะตีให้มันตายแล้วก็จะแกงกิน ก็เป็นการบังเอิญอย่างยิ่ง ขึ้นชื่อว่าพระโพธิสัตว์จะเกิดเป็นอะไรก็มีความฉลาด ฉะนั้นในเวลาตอนเช้า องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ซึ่งเป็นพญาเหี้ยโผล่ศีรษะออกมาจากโพรง ตั้งใจจะเข้าไปนมัสการดาบสทรยศคนนั้น แต่ว่าสมเด็จพระทรงธรรมซึ่งเป็นพญาเหี้ยมองไปแล้ว เห็นตาของดาบสหลับไม่สนิทเหมือนวันก่อน สมเด็จพระชินวรจึงได้มาคิดว่า ดาบสคนนี้น่าจะมีการทุจริตคิดมิชอบ มองแล้วไม่น่าไว้ใจ ก็ผลุบหัวเข้าไปในโพรงใหม่ สำหรับเทวทัตกำลังหรี่ตาจ้องมองอยู่ เห็นสมเด็จพระบรมครูไม่โผล่หัวออกมา ก็นึกในใจว่าเจ้าเหี้ยตัวนี้ระยำ ไม่ออกมาตามเคย แต่ก็ไม่เป็นไรเดี๋ยวมันก็มา ก็ทำท่าหลับตาไม่สนิทตามแบบนั้นพอวาระที่ 2 สมเด็จพระทรงธรรมก็โผล่มาจากโพรงอีก ก็เห็นตาเทวทัตหลับไม่สนิทอีกก็ผลุบเข้าไปใหม่ ทีนี้ดาบสเทวทัตเจ็บใจ คิดว่าไอ้เจ้าเหี้ยตัวนี้น่ากลัวมันจะรู้ว่ากูจะฆ่ามัน พอออกมาคราวนี้ไม่ทันที่มันจะผลุบเข้าไป จะคว้าไม้ขว้างกบาลให้มันตาย เราจะกินเนื้อมัน ก็เป็นการพอดีที่องค์สมเด็จพระทรงธรรมเป็นพญาเหี้ย โผล่ศีรษะมาเป็นวาระที่ 3 จ้องมองพระเทวทัตเห็นหลับตาไม่สนิท พอสมเด็จพระธรรมสามิสรจะผลุบศีรษะเข้า เทวทัตก็คว้าไม้ขว้างไปทันที แต่ด้วยความไวของสมเด็จพระชินสีห์ เทวทัตข้างไม่ถูก เผอิญโพรงไม้มันอยู่ใกล้แม่น้ำพอเทวทัตเอาไม้ขว้างไป สมเด็จพระจอมไตรหลบมันก็ไม่ถูก ท่านจึงได้โผล่หัวออกมา ท่านกล่าวว่า “สมณะท่านทรงผ้ากาสาวพัสตร์ คือ ผ้าย้อมน้ำฝาดเป็นธงชัยของพระอรหันต์ แต่ว่าจิตใจของท่านนั้นเลวกว่าจิตใจของเรา ซึ่งเป็นเหี้ยเสียอีก” นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ เราจะคิดว่าเป็นสัตว์ต่ำทรามเสมอไปน่ะไม่ได้ คือจิตใจเป็นคน การที่องค์สมเด็จพระทศพลตรัสว่า แม้แต่สัตว์ก็สามารถจะไปนิพพานได้เป็นความจริง
เพราะว่าถ้าสัตว์ทั้งหมดเข้าชำระกฎของกรรมเดิมหมดสิ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้ก็กลับมาเกิดเป็นคน สามารถบำเพ็ญกุศลเข้าถึงนิพพานได้
และการที่จะเข้าถึงนิพพานนี้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสไว้เป็น 4 แบบด้วยกัน คือ
แบบที่ 1 สุกขวิปัสสโก
แบบที่ 2 เตวิชโช
แบบที่ 3 ฉฬภิญโญ
แบบที่ 4 ปฏิสัมภิทัปปัตโต
สำหรับแบบที่ 1 นี่ชื่อว่าง่ายแต่ทำยาก คือ ปฏิบัติแล้วไม่เห็นอะไร เหมือนคนเอาผ้าดำผูกตาเดิน ถ้าจะกล่าวกันไปก็เหมือนกับที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายทำกันอยู่เวลานี้ ถ้าไม่เลิกก็ถึงนิพพานเหมือนกัน ก็ได้แก่
1. ทาน 2. ศีล 3. ภาวนา ทำใจแบบสบายสบาย
เพราะว่ากิเลส 3 ประการนี้ถ้าตัดได้เมื่อไรก็ถึงนิพพานเมื่อนั้น
ทาน การให้ ที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายถวายกับพระก็ดี ให้แก่คนยากจนก็ดี ให้แก่คนที่มีความลำบากก็ดี ให้แก่สัตว์เดรัจฉานก็ดี ก็ชื่อว่าเป็นทาน และการให้ทาน ถ้ามีความมุ่งหมายอย่างอื่น จะพลาดจากนิพพานไปนิดหนึ่ง
แต่ก็ไม่มากนักถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท ตั้งใจโดยเฉพาะเพื่อตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน คิดว่าการให้ทานตัวนี้เราให้เพื่อตัดโลภะ ความโลภที่อยู่ในจิตของเรา มันเป็นสิ่งสกปรก เราให้ไปไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ในชาติปัจจุบัน
สำหรับท่านผู้รับ เขาจะนำไปใช้ เขาจะนำไปทิ้งมันเป็นเรื่องของเขา แต่กำลังใจของเราตัดเยื่อใยในความผูกพันในทรัพย์สมบัติเกินไป ไม่ให้มีในจิต
อย่างนี้สมเด็จพระธรรมสามิสตรัสว่า ชื่อว่า การชนะความโลภ เป็นการตัดกิเลสตัวสำคัญ ตัดรากเหง้าได้รากหนึ่ง
ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล การรักษาศีลนั้นถ้าจะว่ากันตามประเพณีก็ประโยชน์น้อยเต็มที ถ้าจะรักษากันได้จริงๆ ละก็จะต้องรู้พื้นฐานของศีล พื้นฐานที่เราจะมีศีลได้น่ะมีอะไรอยู่บ้าง จับตัวนี้ให้มันอยู่เพราะศีลเป็นตัวตัดโทสะ ความโกรธ คือตัดกิเลสตัวที่ 2
ถ้าสักแต่ว่าสมาทานมันก็ไม่ต่างกับนกแก้วนกขุนทองที่เขาสอนพูด ประโยชน์มันมีเหมือนกันแต่ไม่ได้ 1 ใน 100 ถ้ารักษากันให้ดีละก็ไปนิพพานได้ จงจำได้ว่าศีลที่จะมีขึ้นกับใจได้ต้องอาศัยเหตุ 3 ประการ คือ
1. เมตตา ความรัก
2. ความกรุณา ความสงสาร
3. สันโดษ ยินดีเฉพาะของที่เรามีอยู่โดยเฉพาะ
หมายความว่า ของที่เราหามาได้เองโดยชอบธรรมนั่นเรายินดี เราไม่ยินดีในทรัพย์สินของคนอื่นที่เราจะลักจะขโมย
รวมความว่าการรักษาศีลน่ะ ศีลจะทรงอยู่ได้จริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่ารักษาต้องมี
1. เมตตา ความรัก จิตคิดไว้เสมอว่าเราจะเป็นมิตรที่ดีของคน และสัตว์ทั่วโลก จะไม่เป็นเวรเป็นภัยกับใคร จะไม่เป็นศัตรูกับใคร
จะคบหาสมาคมกับบุคคลอื่นเหมือนคบหาตัวเอง เราจะรักคนอื่นเหมือนกับเรารักตัวเราเอง เวรภัยมันก็ไม่มี
ประการที่ 2 จิตคิดสงสารหวังจะเกื้อกูลให้มีความสุข คิดว่าถ้าเราสงสารตัวเราเท่าไร เราก็สงสารเขาเท่านั้น เว้นไว้แต่เรื่องผิดระเบียบวินัยประเพณี ก็ต้องลงโทษกันตามระเบียบ ประเพณี
อย่างพระพุทธเจ้าทรงลงโทษพระ เพราะความเมตตาปรานี เกรงว่าจะเลวไปกว่านั้น อันนี้เขาไม่ถือว่าเป็นความโกรธ
และข้อที่ 3 สันโดษ ยินดีเฉพาะทรัพย์สินที่เรามีอยู่โดยชอบธรรม และยินดีเฉพาะคนรักที่เรามีอยู่โดยชอบธรรม ไม่ล่วงเกินคนรักของบุคคลอื่น
การรักษาศีล ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทรักษาศีลด้วยเหตุ 3 ประการอย่างนี้ โทสะความโกรธมันก็ลดลง เพราะว่าทุกวันเมื่อเราตื่นขึ้นมา เราก็ตั้งใจเว้นความโกรธอยู่แล้ว
ความรักเป็นการตัดความโกรธ ความสงสารเป็นการตัดความโกรธ ความสันโดษเป็นเหตุตัดความเดือดร้อนจากความโกรธของบุคคลอื่น
การรักษาศีลได้ดีองค์สมเด็จพระชินสีห์กล่าวว่า
ค่อยๆ รักษาไปเรื่อยๆ ทำใจสบายๆ กิเลสคือความโกรธก็ค่อยๆ ลดไปในที่สุดมันก็จะหมดไปเอง เป็นการปฏิบัติด้านสุกขวิปัสสโก
3. ภาวนามัย ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่าเป็นเรื่องของภาวนา ด้านสุกขวิปัสสโก นี้มีฌานเบื้องต้นไม่สูง เริ่มใช้อารมณ์พิจารณาตั้งแต่ขณิกสมาธิ คือยามปกติเราให้ทานก็คิดว่า
คนที่เราให้ทานทุกคน เมื่อเขารับทานมาแล้วเขาก็มีความสุขในการบริโภคทาน
แต่ว่าเราผู้ให้ทานก็ดี เขาผู้รับทานก็ดี คนทั้งหลายทั้งหมดนี้ไม่อยู่ตลอดกาลตลอดสมัยเกิดขึ้นเมื่อไรค่อยๆ เสื่อมไปทุกวันๆ ในที่สุดก็ตายเหมือนกัน ผู้ให้ทานก็ตาย ผู้รับทานก็ตายแต่ว่าเกิดขึ้นมาชีวิตอย่างนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่า
ชาติ ปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ เราเกิดมาเราต้องทำมาหากิน ต้องบริหาร แล้วก็มีความหิว ความกระหาย ปวดอุจาระ ปวดปัสสาวะ มีความหนาว ความร้อนเกินไป อาการทั้งหมดนี้มันเป็นทุกข์ เราผู้ให้ทานก็ทุกข์ ผู้รับทานก็ทุกข์ ไม่มีใครที่มีความสุข เมื่อความแก่เข้ามาถึงเราก็ทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเข้ามาเราก็ทุกข์ มีความปรารถนาไม่สมหวังเข้ามาก็ทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเข้ามาถึงเราก็ทุกข์ ความตายจะเข้ามาถึงมันก็ทุกข์
รวมความว่าเรากับเขาต่างคนต่างมีทุกข์ เรากับเขาต่างคนต่างไม่มีความจีรังยั่งยืน เรากับเขาต่างคนต่างตาย จะเป็นคนก็ดี จะเป็นสัตว์ก็ดี วัตถุธาตุก็ดี ในโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ นี้เป็นด้านวิปัสสนาญาณควบสมถะ ของสุกขวิปัสสโก และต่อไปถ้าจิตคิดอีกว่า ถ้าเรายังหวังความเกิดเป็นมนุษย์ก็ดีเป็นเทวดาก็ดีพรหมก็ดี เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้หาที่สิ้นสุดไม่ได้ ฉะนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงตรัสว่า
สถานที่พระนิพพานเป็นแดนที่มั่นคงเป็นแดนอมตะ เรายอมเชื่อพระ ทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน คือทำลายความโลภด้วยการให้ทาน ทำลายความโกรธด้วยศีล คือมีเมตตาปรานีเป็นที่ตั้ง ทำลายความหลงด้วยปัญญา ให้เห็นจริงว่าโลกนี้ไม่เที่ยง ผู้ที่เกิดมาแล้วก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ในที่สุดกระทั่งจิตของเรานี้ก็ปลอดปราศจากกิเลสทั้ง 3 ประการ คือ โลภะ ความโลภ ไม่มี โทสะความโกรธไม่มี โมหะความหลงไม่มี อย่างนี้ชื่อว่าเป็น
“นิพพานัง ปรมัง สุญญัง”
นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง ว่างจากกฎของกรรม ว่างจากเวียนว่ายตายเกิด คือว่างจากความเดือดร้อน ว่างจากความโลภ ว่างจากความโกรธ ว่างจากความหลง จิตก็มุ่งตรง คือ “นิพพานัง ปรมัง สุขัง”
ถ้าต้องการเห็นผี เปรต เทวดาฝึกทิพยจักษุญาณได้ฌาน 1 ฌานนี้ก็เห็นผี เทวดาได้
ถ้าต้องการเห็นพรหมต้องภาวนาได้ฌาน 4 ฝึกทิพยจักษุญาณแจ่มใสจะเห็นพรหมได้
ถ้าต้องการเห็นนิพพาน ต้องเจริญวิปัสสนาญาณบรรลุพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำ โลกียฌานที่ฝึกได้จะกลายเป็นโลกุตตระฌาน + อริยมรรค อริยผล เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนะ แปลว่าหลุดพ้นกิเลสด้วยญาณเป็นเครื่องรู้พระโสดาบันได้เห็นนิพพานรู้เข้าใจได้ดี ถ้าสำเร็จอรหัตตผลก็ถอดจิตไปนอนเล่นบนนิพพานได้ตามสถานที่ของตนบนพระนิพพาน
นิพพานกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าจักรวาลหลายพันเท่า นิพพานเงียบสบายคล้ายพรหมแต่มีวิมานวิจิตรพิสดารงดงามมากกว่า ร่างทิพย์นิพพานละเอียดแจ่มใสงดงามเบาบางคล้ายเพชรเป็นประกายพรึกมีรัศมีสดสวยสว่างมากกว่าพรหมอย่างเทียบไม่ติด มีความสุขที่สุดอย่างไม่มีอะไรเปรียบ เพราะความรู้สึกอย่างอื่นไม่มี มีแต่จิตปรารถนาจะสงเคราะห์ช่วยเหลือคน สัตว์ เทพ พรหม ท่านที่นิพพานแล้วท่านก็มาสอนคน เทพเทวดา พรหม มีมากมายอยู่ตลอดเวลา ถ้าฝึก มโนมยิทธิก็จะสามารถสัมผัส ทางจิตกับพระที่ท่านเข้าพระนิพพานได้
ในเมื่อเชื้อสายความเร่าร้อนไม่มี จิตก็เป็นสุข อย่างนี้ท่านเรียกว่า นิพพานตัดกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ คือ นิพพานดิบ จิตเป็นนิพพานยังมีกายขันธ์ 5 หลงเหลืออยู่
ต่อจากนั้นไปองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ตรัสถึง ด้านเตวิชโช คือ ด้านวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณ
ถ้าจะปฏิบัติให้เข้าถึงพระนิพพานได้รวดเร็ว และได้มากกว่า มีกำลังดีกว่า ก็อย่างที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้าได้ มโนมยิทธิ ต่างคนต่างไปถึงพระนิพพานแล้ว ไม่มีความสงสัยในคำสอนขององค์พระประทีปแก้ว คือ
คนที่ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็มีศีลบริสุทธิ์ เขาเรียกว่า พระโสดาบัน หรือพระสกิทาคามี
แต่ต้องระวังให้ดีนะ ให้ศีลมันบริสุทธิ์จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ศีล 5 มีศีล 5 บริสุทธิ์ เรียกว่าเข้าถึง สีลัพพตปรามาส คือตัดตัวนี้ได้
ถ้าไม่มีความสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าสวรรค์มีจริงเราเจอะสวรรค์แล้ว พรหมโลกมีจริงเราเจอะพรหมโลกแล้ว พระนิพพานมีจริงเราเจอะพระนิพพานแล้ว นรกเปรต อสุรกายมีจริง เราพบแล้วทั้งหมด เป็นอันว่าทุกคนไม่สงสัยในคำสอน ขององค์สมเด็จพระสุคต
ถ้าไม่สงสัยคำสอนอย่างหนึ่ง มีศีล 5 บริสุทธิ์อย่างหนึ่ง จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง อย่างนี้ท่านเรียกว่า พระโสดาบัน หรือ สกิทาคามี การปฏิบัติในแบบ มโนมยิทธิ ได้กำไรกว่าสุกขวิปัสสโกมาก
หลังจากนั้น ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทมีความมั่นใจในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทุกวันตามเวลาสมควร ต่างคนต่างเอาจิตเข้าไปตั้งไว้ที่นิพพานตามปกติตามเวลา จิตจะว่างจากกิเลส ถ้าเราไปอยู่ที่นั่น 1 ชั่วโมง จิตจะว่างจากกิเลส บริสุทธิ์จริงๆ 1 ชั่วโมง 10 วัน 10 ชั่วโมง 100 วัน 100 ชั่วโมง 1,000 วัน 1,000 ชั่วโมง ไม่ช้าจิตใจก็จะมีความชุ่มชื่นมีความเชื่อมกับการว่างจากกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน ตายเมื่อไรก็ถึงนิพพานเมื่อนั้น
เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน อาตมาภาพเทศนามาใน นิพพานกถา ก็ขอยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้
ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้ อาตมาภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัยมีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ทั้ง 3 ประการ ขอจงดลบันดาลให้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน มีแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล และจงเจริญไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง 4 ประการมีอายุวรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณหากทุกท่านปรารถนาสิ่งใดก็ขอให้สิ่งนั้นสมปรารถนาจงทุกประการ
http://www.praruttanatri.com/
 
เพื่อนนิพพาน
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 09 มี.ค.2007, 10:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สงสาร ชาวพุทธ สมัยนี้จังเลย
 
เรอศักดิ์
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 09 มี.ค.2007, 11:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรียนเพื่อนนิพพาน
ทดลองศึกษาและปฏิบัติ์ให้รู้ให้เห็นจริงตามหลักของศาสนาพุทธเพื่อความสุขในปัจบันและอนาคต ในศาสนาพุทธสามารถให้คำตอบได้ทุกด้าน วิทยาศาสตร์ สังคม จิตรวิทยา
 
ตุ้ย
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 09 มี.ค. 2007
ตอบ: 7

ตอบตอบเมื่อ: 09 มี.ค.2007, 10:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เพื่อความเข้าใจที่ถูกนะครับ

ปรากฏการณ์ภาพนิมิต

ภาพนิมิตนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ

๑. เกิดจากสัญญาภาพที่เป็นอดีตที่เก็บไว้ที่สมอง

‘’’’’’’’’’’’’’’ ระดับพลังงานภายในอะตอมที่อยู่ในระดับพลังเดียวกัน มันสามารถเชื่อมต่อพลังกันได้ เมื่อจิตเรามาเข้าถึงแสงสว่างของธาตุรู้ที่ฐานอารมณ์ แสงจากธาตุรู้จากฐานอื่น เช่น ฐานสมอง ฐานใจ ที่เป็นที่เก็บภาพต่างๆ ไว้มันสามารถไหลเข้ามาหาได้ ภาพเหล่านี้จะมีลักษณะเหมือนกับ ฟิล์มสไลด์ หรือ ฟิล์มภาพยนตร์ แสงจากธาตุรู้ก็เหมือนกับแสงจากเครื่องฉายภาพ ตามปกติเมื่อเรานึกคิดถึงสิ่งใดภาพในใจในความคิดมันก็ปรากฏขึ้นอยู่แล้ว แต่ในขณะที่เราอยู่ใน ตติยฌานนี้ แสงมันมีมากและจิตเราอยู่ในภาวะจิตละเอียดเท่ากับแสงสว่าง เมื่อจิตเราข้องติดหรือประทับใจในภาพใดๆ ก่อนหน้าที่เรามานั่งทำสมาธิ
‘’’’’’’’’’’’’’’ และยังคลายความยึดติดไม่ได้ ภาพเหล่านี้มันจะค่อย ๆ ไหลเข้ามา เมื่อเข้ามาแล้ว ก็เหมือนกับ ฟิล์ม มาเจอกับแสงจากเครื่องฉาย ก็จะฉายเป็นภาพนิมิตให้เราได้เห็นทันที

๒. เกิดจากการนึกจินตนาการ ปรุงแต่ง

‘’’’’’’’’’’’’’’เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะคือ เมื่อจิตเข้าถึงแสงสว่างแล้ว หลงเพลินกับแสงนึกปรุงแสง รวมแสงเป็นภาพต่างๆ ขึ้น อีกกรณีหนึ่ง เป็นกระบวนการที่เกิดต่อเนื่องจากนิมิตที่เกิดจากสัญญา และเป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อย คือเมื่อเห็นภาพนิมิตขึ้นมาแล้วก็ปรุงแต่งภาพนิมิตที่เห็นนั้นให้เป็นไปตามที่จิต ต้องการเห็น เช่น ย่อ ขยาย เพิ่มจำนวน เพิ่มความใสสะอาด เป็นต้น

๓. เกิดจากการส่งจิตไปรู้สิ่งต่างๆ

‘’’’’’’’’’’’’’’เมื่อจิตเรามาเข้าถึงแสงสว่างของธาตุรู้ภายในตัวเรา จิตเราจะมีกำลังมาก ธาตุรู้เราก็มีกำลังมาก เราสามารถเชื่อมโยงแสงสว่างจากธาตุรู้ที่อยู่ภายนอกตัวเราได้ เพราะเป็นระดับพลังเดียวกัน และธาตุรู้นี้เป็นสิ่งสากล เราสามารถใช้กำลังจิต กำลังของธาตุรู้ที่มีความเข้มข้นนี้ให้ทำงานให้เต็มที่โดยการส่งออกไปหาสิ่งต่างๆ ที่เราอยากรู้อยากเห็น สามารถขยายขอบเขตความสามารถในการรู้ของจิตเราได้ คือ หากอยากรู้อยากเห็นสิ่งใด กำหนดนึกไป ภาพสิ่งที่เราอยากเห็นจะมาปรากฏ เราจะเหมือนมีจอโทรทัศน์ในตัวเราเลยทีเดียว , สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลตัวเราได้ , สามารถรู้ความรู้สึกนึกคิด ของคนอื่น สัตว์อื่นได้ , มองทะลุวัตถุได้ , เห็นอดีต อนาคต , เห็นภพภูมิอื่น เป็นต้น

‘’’’’’’’’’’’’’’ ภาพนิมิตทั้งหลายนี้ บางทีก็เป็นจริง บางทีก็ไม่เป็นจริง ตามความปรุงแต่งและ บงการของอนุสัยกิเลสภายในใจของเรา หากเรายังอยู่กับภาพนิมิตอยู่ จิตก็ยังไม่เข้าถึงความสงบอย่างที่สุด และตัวนิมิตนี้เองที่อาจจะมาทำให้จิตถอนตัวจากความสงบได้ด้วย การฝึกจิตจะไม่ก้าวหน้า ดังนั้นหากเราต้องการความสงบกว่าเดิมเราต้องละจากภาพนิมิต จากแสงสว่าง เพื่อเข้าสู่ความสงบที่ลึกกว่าต่อไป สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ตุ้ย
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 09 มี.ค. 2007
ตอบ: 7

ตอบตอบเมื่อ: 09 มี.ค.2007, 10:41 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คงจะทราบแล้วนะครับ คนที่นิมิตเหนพระนิพพานเปนสถานที่ เหนพระพุทธเจ้า กำลัง สนทนากับเรา เหนสิ่งต่างๆ เกิดจากการปรุงของใจทั้งสิ้น
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
รักษิต
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 25 ก.พ. 2007
ตอบ: 3

ตอบตอบเมื่อ: 13 มี.ค.2007, 8:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เฮ้อ ผมก็ไม่มีอะไรจะพูดอีกครับ ต้องอุเบกขาซะแล้ว คนเราเมือถึงเวลาก็คงจะรู้เองตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาของเขาเถียงไปก็จะเป็นบาปกันเปล่าวๆเอาเป็นว่าขอน้อมกราบ ขออโหสิกรรม หากคำพูดใดใดต้องระคายเคืองนักธรรมหรือผู้กำลังปฏิบัติท่านใดในทุกทุกระดับ เพราะเจตนาแท้จริงนั้นไซร้เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เท่านั้น ผิดถูกจึงไม่ใช่สาระสำคัญสิ่งสำคัญนั้นมีเพียงใครตั้งใจปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอมิขาดสายผลที่ได้ก็จะตามมาเอง และขออนุโมทนาสาธุกับทุกท่านที่มีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Email
เรอศักดิ์
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 14 มี.ค.2007, 10:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผมเคยอ่านและฟังมาว่าพระอริยเจ้าท่านได้พบ แดนพระนิพพาน-พระพุทธเจ้า เช่น
หลวงพ่อสด
หลวงพ่อฤษีลิงดำในหนังสือและเสียง ในชุดปฎิทาท่านผู้เฒ่า
http://www.praruttanatri.com/
หลวงปู่มั่น
http://www.dhammajak.net
และยังมีองค์อื่นอีกลองหาอ่านและฟัง
ในศาสนาพุทธมีสิ่งที่ให้พิสูตรคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้
 
akegato
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 05 ก.พ. 2007
ตอบ: 4

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ค.2007, 10:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พึ่งเห็น กระทู้นี้

ก็อย่างว่าแหละครับ ใครมีจริต แบบไหน ปฎิบัติมาแบบไหน ก็ต่างคนต่างปฎิบัติกันไป คนที่รู้ที่เห็นก็มีอยู่ ส่วนคนที่ไม่รู้ไม่เห็นมีอีกเหมือนกัน เพราะวิธีการปฎิบัติมันแตกต่างกัน จะให้บรรลุผลแห่งการปฎิบัติ เหมือนกัน ก็คงไม่ได้ ผลของการปฎิบัติเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน

คนที่รู้ที่เห็นจริง เค้าก็พูดในสิ่งที่เห็น

ส่วนคนที่ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นตามเค้า ก็เคยได้ลองทำดูหรือยัง ก่อนจะไปบอกว่า ที่เค้าพูดนะผิด ถ้าลองแล้ว ไม่จริงก็ค่อยว่ากัน อย่าพึ่งตัดสิน จากเพียงการอ่านหรือการฟัง ควรจะตัดสินด้วยการปฎิบัติ

เจริญในธรรม สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
pal_bh
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 15 ก.ค. 2007
ตอบ: 19

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.ค.2007, 3:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อย่าเป็นตาบอด (บอดแต่กำเนิด) คลำช้างเลยครับ
ตาบอดไม่เคยเห้นช้างเลย ได้แต่คิดว่า เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนี้ ฯลฯ


พระนิพพาน รู้ได้ยาก เห้นได้ยาก ไปได้แต่พระอรหันต์ ฯลฯ

ถ้าอยากรู้ อยากเห้นว่า เป้นสถานที่หรือไม่ ปฏิบัติให้ได้เหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนพระสาวก ก็จะทราบ ก็จะเห้นเหมือนพระองค์ เหมือนท่าน เข้าใจเรื่องพระนิพพาน เหมือนพระองค์ เหมือนท่านเองครับ
เป้นพระอรหันต์แล้ว ก้จะถึงบางอ้ออออ เองครับ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง