Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลักการบำเพ็ญธุดงควัตร (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
วีรยุทธ
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 24 มิ.ย. 2005
ตอบ: 1790
ที่อยู่ (จังหวัด): สกลนคร

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2007, 4:09 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



16.jpg


หมวด : ธุดงควัตร
เรื่องธุดงควัตร
เทศนาโดย ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี


------------------------------------------------------

1) “การเข้าพรรษาทุก ๆ ปีมาขอให้มีหลักมีเกณฑ์สำหรับพวกประชาชนทั้งหลายก็ดี พระท่านมีหลักมีเกณฑ์ของท่าน เช่น สมาทานธุดงค์ ตั้งแต่มาตั้งวัดนี้ก็สมาทานธุดงค์ เฉพาะในพรรษารับเฉพาะมาถึงเขตวัดเท่านั้น เพื่อทำความมักน้อยในการขบการฉันไม่ให้โลเลไปกับลิ้นกับปากมากกว่าธรรม เวลาเข้าพรรษาพระไม่ได้ไปที่ไหนมาที่ไหน รวมกันอยู่ในเวลา ๓ เดือน ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติประกอบความพากเพียร มีความสัตย์ความจริงประจำตนตามแต่ละราย ๆ ที่จะตั้งกฎกติกาเพื่ออรรถเพื่อธรรมต่อตนเอง สำหรับพระเป็นอย่างนั้น

เช่น บิณฑบาตรับเอาเฉพาะที่มาถึงเขตวัดแล้วก็หยุด ไม่รับต่อไป นั้นเรียกว่าไม่รับอาหารที่ตามมาทีหลัง อย่างนี้ก็เพื่อความมักน้อยในการขบการฉันไม่ให้กังวลมาก นอกจากนั้นท่านยังมีความคิดละเอียดเข้าไปกว่านั้นอีก ได้มามากน้อยเพียงไรท่านจะเอาแต่เพียงเล็กน้อย ๆ เท่านั้น นี่ขยับลงไป นี่ละเรื่องของกิเลสถ้าไม่ดัดอย่างนี้ไม่ได้นะ หาความสุขไม่ได้โลกของเรา โลกร้อนเพราะวิ่งตามกิเลส กิเลสมันไม่มีเมืองพอ ทุกอย่างอยากตลอดเวลา ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัสสัมพันธ์อะไรอยากไปพร้อม ๆ แล้วก็ลากเจ้าของไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีธรรมเป็นเครื่องกำกับ หักเอาไว้ ๆ มันจะเลยเถิด ๆ เหยียบเบรกห้ามล้อ แล้วก็เร่งความเพียรทางด้านจิตใจเข้าเป็นลำดับ

นี่ท่านชำระสะสางสิ่งที่สกปรก ทำการรบกวนและสร้างความทุกข์ให้แก่สัตวโลกตลอดมาก็คือกิเลสเท่านั้น กับธรรมที่เป็นเครื่องชะล้างกัน นอกจากนั้นไม่มี กิเลสไม่กลัวอะไรกลัวแต่ธรรมอย่างเดียว อย่างอื่นไม่มีกลัว สามแดนโลกธาตุเป็นบริษัทบริวาร อยู่ใต้อำนาจของกิเลสทั้งมวล โลกุตรธรรมเหนือกิเลสอีก จึงต้องเอาธรรมมาปราบมาปรามชะล้าง ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่เป็นสุขมนุษย์เราถ้าไม่มีธรรม นี่เคยปฏิบัติอย่างนี้ตลอดมาตั้งแต่อยู่กับพ่อแม่ครูจารย์มั่นเรื่อยมา ปีแรกเป็นปีไปสังเกตดูข้อวัตรปฏิบัติของท่านทุกแง่ทุกมุม ไปศึกษาเอาจริง ๆ นะ ไปดูไปสังเกตทุกอย่าง ท่านทำยังไงต่อยังไง ๆ สังเกตมาหมด นั้นเป็นปีที่ตั้งรากฐานในการเข้มงวดกวดขันต่ออรรถต่อธรรม ที่จะมากำจัดปัดเป่ากิเลสภายในจิตใจของตัวเอง โดยอาศัยครูอาจารย์เป็นแนวทางเดิน

ในพรรษาแรกจะว่ามีธุดงควัตรหรือจะพูดว่าไม่มีก็ได้ เพราะปีนั้นปีสังเกตที่จะสมาทานธุดงค์ข้อใด ๆ แม้เรียนมาตามปริยัติสมบูรณ์แล้ว ไม่มีผู้นำปฏิบัติก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องเอาออกมาทดสอบดูกับท่านพาดำเนินเป็นยังไง ตั้งแต่ปีนั้นมาละ ปีแรกนั้นยังไม่ได้อะไร คอยเก็บไปก่อนคติเครื่องเตือนใจทุกอย่างจากครูบาอาจารย์มีหลวงปู่มั่นเป็นสำคัญ พอได้หลักได้เกณฑ์แล้วปีหลังตั้งปุ๊บเลยสมาทานธุดงค์ ตั้งแต่วันเข้าพรรษาตลอดทะลุ ๆ จนกระทั่งมาทุกวันนี้เฒ่าแก่ เดี๋ยวนี้เฒ่าแก่มันเลยเถิดมันไม่มีธุดงควัตร นี่เราพูดถึงเรื่องเราดำเนินมาอย่างนั้น จริงจังทุกอย่าง จับปุ๊บ ๆ ติดมับ ๆ เลย เคลื่อนคลาดไม่ได้ แล้วก็พาหมู่เพื่อนมาดำเนิน ตั้งแต่อายุก้าวเข้ามาในย่านนี้แล้วเราค่อยปล่อยวางเรื่องของเราแล้ว เพราะสอนหมู่เพื่อนหมดทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเหลือแล้วในพุง สอนหมด ให้พากันดำเนินตามที่สอนและพาดำเนินมาแล้วนี้ เพราะฉะนั้นธุดงค์ข้อนี้จึงมีประจำตลอด สำหรับพระเณรทั้งหลายมีประจำตลอดในพรรษา

ธุดงค์มี ๑๓ ข้อ ธุดงค์ แปลว่าเครื่องกำจัดกิเลส แปลออกแล้ว มี ๑๓ ข้อที่นำมาปฏิบัติ เช่น บิณฑบาตเป็นวัตร ถ้ายังฉันอยู่ต้องไปบิณฑบาตทุกวันเป็นวัตร ไม่ให้ขาด เว้นแต่ไม่ฉัน ไม่ฉันก็ไม่ขาดธุดงค์เพราะไม่ฉัน ถ้ายังฉันอยู่ต้องไปบิณฑบาตมาฉัน ฉันมื้อเดียวเท่านั้น ฉันหนเดียวตลอด แล้วก็ฉันในบาตร นอกจากฉันในบาตรแล้วก็ห้ามรับอาหารที่ตามมาเป็นข้อ ๆ ไปโดยลำดับลำดา เราก็ไม่บรรยายไปมากละ ที่อยู่ในป่าเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง ๆ เช่น ป่าช้า ป่ารกชัฏ ตั้งสมาทานอยู่ในนั้น ๓ เดือนก็ต้องอยู่อย่างนั้นจึงเรียกว่าธุดงค์ เป็นลำดับมา สำหรับวัดนี้ได้ปฏิบัติมาอย่างนั้น

เวลาในพรรษาเร่งความเพียร ไม่ให้มีงานใดเข้ามายุ่งเลย ประกอบความพากเพียรชำระจิตใจ ได้โอกาสหรือเวล่ำเวลาที่จะได้รับการอบรม ครูบาอาจารย์ท่านจะบอก เวลาเท่านั้นประชุมวันนี้ นั่นคือประชุมอบรมธรรมะ ตามปรกติที่เคยปฏิบัติมา ก็ประมาณสักอาทิตย์หนึ่งประชุมหนหนึ่ง หรืออย่างมากก็ ๑๐ วันเว้น ๑๐ วันบ้าง ประชุมทุกระยะ ๆ ตลอดมาอย่างนี้ สอนพระสอนเณร สอนสำคัญที่สุดคือภาคจิตตภาวนา ภาคจิตตภาวนาเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว จึงต้องเน้นหนักทางด้านจิตตภาวนาตลอดเวลา คำว่าจิตตภาวนาท่านสอนว่า ให้ดูหัวใจตัวเอง”

[คัดจากกัณฑ์เทศน์ของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านตาด วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ (เปิดอ่านจาก www.Luangta.com)]


2) (เป็นธรรมบรรยายของท่านพระอาจารย์มหาบัว) “การปฏิบัติต่อธุดงควัตรที่ท่านนับถือเป็นแบบฉบับอย่างฝังใจประจำองค์ท่านและสั่งสอนพระเณรให้ดำเนินตามมีดังนี้

การบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวันมิได้ขาด ถ้ายังฉันอยู่ เว้นจะไม่ฉันในวันใดก็ไม่จำต้องไปในวันนั้น กิจวัตรในการบิณฑบาตท่านสอนให้ตั้งอยู่ในท่าสำรวมกายวาจาใจ มีสติประจำตนกับความเพียรที่เป็นไปอยู่เวลานั้น ไม่ปล่อยใจให้พลั้งเผลอไปตามสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสกับอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งไปและกลับ ท่านสอนให้มีสติรักษาใจตลอดความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่ให้เผลอตัวและถือเป็นความเพียรประจำกิจวัตรข้อนี้ทุก ๆ วาระที่เริ่มเตรียมตัวออกบิณฑบาต หนึ่ง

อาหารที่ได้มาในบาตรมากน้อยถือว่าเป็นอาหารที่พอดีและเหมาะสมกับผู้ตั้งใจจะสั่งสมธรรมคือความมักน้อยสันโดษให้สมบูรณ์ภายในใจ ไม่จำต้องแสวงหาหรือรับอาหารเหลือเฟือที่ตามส่งมาทีหลังอีก อันเป็นการส่งเสริมกิเลสความมักมาก ซึ่งมีประจำตนอยู่แล้ว ให้มีกำลังผยองพองตัวยิ่ง ๆ ขึ้น จนตามแก้ไม่ทัน อาหารที่ได้มาในบาตรอย่างใดก็ฉันอย่างนั้น ไม่แสดงความกระวนกระวายส่ายแส่อันเป็นลักษณะเปรตผีตัวมีวิบากกรรมทรมาน มีอาหารไม่พอกับความต้องการ ต้องวิ่งวุ่นขุ่นเคืองเดือดร้อน เพราะท้องเพราะปาก ด้วยความหวังอาหารมากยิ่งกว่าธรรม ธุดงค์ข้อห้ามอาหารที่ตามส่งมาทีหลังนี้เป็นธรรมหรือเครื่องมือหักล้างกิเลสความมักมากในอาหารได้เป็นอย่างดี และตัดความหวังความกังวลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาหารได้อย่างดีเยี่ยม หนึ่ง

การฉันมื้อเดียวหรือหนเดียวในวันหนึ่ง ๆ เป็นความพอดีกับพระธุดงคกรรมฐาน ผู้มีภาระและความกังวลน้อย ไม่พร่ำเพรื่อกับอาหารหวานคาวในเวลาต่าง ๆ อันเป็นการกังวลกับปากท้องมากกว่าธรรมจนเกินไป ไม่สมศักดิ์ศรีของผู้แสวงธรรมเพื่อความพ้นทุกข์อย่างเต็มใจ แม้เช่นนั้น ในบางคราวยังควรทำการผ่อนอาหาร ฉันแต่น้อยในอาหารมื้อเดียวนั้น เพื่อจิตใจกับความเพียรจะได้ดำเนินโดยสะดวก ไม่อืดอาดเพราะมากจนเกินไป และยังเป็นผลกำไรทางใจอีกต่อหนึ่งจากการผ่อนนั้นด้วยสำหรับรายที่เหมาะกับจริตของตน ธุดงควัตรข้อนี้เป็นธรรมเครื่องสังหารลบล้างความเห็นแก่ปากแก่ท้องของพระธุดงค์ที่มีใจมักจะละโมบโลเลในอาหารได้ดี และเป็นธรรมข้อบังคับที่เหมาะสมมาก ทางโลกก็นิยมเช่นเดียวกับทางธรรม เช่น เขามีเครื่องป้องกันและปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึก ไม่ว่าจะเป็นข้าศึกต่อทรัพย์สินหรือต่อชีวิตจิตใจ เช่น สุนัขดุ งูดุ ช้างดุ เสือดุ คนดุ ไข้ดุ หรือไข้ทรยศ เขามีเครื่องมือหรือยาสำหรับป้องกันหรือปราบปรามกันทั่วโลก พระธุดงคกรรมฐานผู้มีใจดุ ใจหนักในอาหารหรือในทางไม่ดีใด ๆ ก็ตามที่ไม่น่าดูสำหรับตัวเองและผู้อื่น จึงควรมีธรรมเป็นเครื่องมือไว้สำหรับปราบปรามบ้าง ถึงจะจัดว่าเป็นผู้มีขอบเขตและงามตาเย็นใจสำหรับตัวและผู้เกี่ยวข้องทั่ว ๆ ไป ธุดงค์ข้อนี้จึงเป็นธรรมเครื่องปราบปรามได้ดี หนึ่ง

การฉันในบาตรไม่เกี่ยวกับภาชนะอื่นใดจัดเป็นความสะดวกอย่างยิ่งสำหรับพระธุดงกรรมฐาน ผู้ประสงค์ความมักน้อยสันโดษและมีนิสัยไม่ค่อยอยู่กับที่เป็นประจำ การไปเที่ยวจาริกเพื่อสมณธรรมในทิศทางใดก็ไม่ต้องหอบหิ้วพะรุงพะรังอันเป็นความไม่สะดวก และเหมาะสมกับพระผู้ต้องการถ่ายเทสิ่งรกรุงรังภายในใจทุกประเภท เครื่องบริขารใช้สอยแต่ละอย่างนั้นทำความกังวลแก่การบำเพ็ญได้อย่งพอดู ฉะนั้น การฉันเฉพาะในบาตรจึงเป็นกรณีที่ควรสนใจเป็นพิเศษสำหรับพระธุดงค์ คุณสมบัติที่จะเกิดจากการฉันในบาตรยังมีมากมาย คือ อาหารชนิดต่าง ๆ ที่รวมลงในบาตรย่อมเป็นสิ่งที่สะดุดตาสะดุดใจและเตือนสติปัญญามิให้นิ่งนอนใจต่อการพิจารณา เพื่อถือเอาความจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่กับอาหารที่รวมกันอยู่ได้อย่างดีเยี่ยม ท่านเล่าว่า ท่านเคยได้รับอุบายต่างๆ จากการพิจารณาอาหารในขณะที่ฉันมาเป็นประจำ แม้ข้ออื่น ๆ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน ท่านจึงได้ถือเป็นข้อหนักแน่นในธุดงควัตรตลอดมามิได้ลดละ การพิจารณาอาหารในบาตรเป็นอุบายตัดความทะเยอทะยานในรสชาติของอาหารได้ดี การพิจารณาก็เป็นเครื่องถอดถอนกิเลส เวลาฉันใจก็ไม่ทะเยอทะยานไปกับรสอาหาร มีความรู้สึกอยู่กับความจริงของอาหารโดยเฉพาะ อาหารก็เพียงเป็นเครื่องยังชีวิตให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ไม่กลับเป็นเครื่องก่อกวนและส่งเสริมให้ใจกำเริบ เพราะอาหารดีมีรสอร่อยบ้าง เพราะอาหารไม่ดีมีรสไม่ต้องใจบ้าง การพิจารณาโดยแยบคายทุก ๆ ครั้งก่อนลงมือฉัน ย่อมทำให้ใจคงตัวอยู่ได้โดยสม่ำเสมอ ไม่ตื่นเต้น ไม่อับเฉา เพราะอาหารและรสอาหารชนิดต่าง ๆ วางตัวคือใจเป็นกลางอย่างมีความสุข ฉะนั้น การฉันในบาตรจึงเป็นข้อวัตรเครื่องกำจัดกิเลสตัวหลงรสอาหารได้เป็นอย่างดีด หนึ่ง

ท่านถือผ้าบังสุกุลเป็นกิจวัตร พยายามอดกลั้นไม่ทำตามความอยากอันเป็นความสะดวกใจ ซึ่งมีนิสัยชอบสวยงามในความเป็นอยู่ใช้สอยโดยประการทั้งปวงมาดั้งเดิม คือ เที่ยวเสาะแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งไว้ในที่ต่าง ๆ ที่ป่าช้า เป็นต้น เก็บเล็กผสมน้อยมาเย็บปะติดปะต่อเป็นเครื่องนุ่งห่มใช้สอย โดยเป็นสบงบ้าง เป็นจีวรบ้าง เป็นสังฆาฏิบ้าง เป็นผ้าอาบน้ำฝนบ้าง เป็นบริขารอื่น ๆ บ้าง เรื่อยมา บางครั้งท่านชักบังสุกุลผ้าที่เขาพันศพคนตายในป่าช้าก็มีที่เจ้าของศพเขายินดี เวลาไปบิณฑบาตมองเห็นผ้าขาดตกทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง ท่านก็เก็บเอาเป็นผ้าบังสุกุล ไม่ว่าจะเป็นผ้าชนิดใดและได้มาจากที่ไหน เมื่อมาถึงที่พักแล้วท่านนำมาทำการซักฟอกให้สะอาด แล้วเอามาเย็บปะสบงจีวรที่ขาดบ้าง เย็บติดต่อกันเป็นผ้าอาบน้ำฝนบ้าง อย่างนั้นเป็นประจำตลอดมา ต่อมาศรัทธาญาติโยมทราบเข้าต่างก็นำผ้าไปบังสุกุลถวายท่านที่ป่าช้าบ้าง ตามสายทางที่ท่านไปบิณฑบาตบ้าง ตามบริเวณที่พักท่านบ้าง ที่กุฏิหรือแคร่ที่ท่านพักบ้าง การบังสุกุลที่ท่านเคยทำมาดั้งเดิมก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ที่พาให้เป็นไป ท่านเลยต้องชักบังสุกุลผ้าที่เขามาทอดไว้ตามที่ต่าง ๆ ในข้อนี้ปรากฏว่าท่านพยายามรักษามาตลอดอวสานแห่งชีวิต ท่านว่าพระเราต้องทำตัวเหมือนผ้าขี้ริ้วที่ปราศจากราคาค่างวดใด ๆ แล้วจึงเป็นความสบาย การกินอยู่หลับนอนและใช้สอยอะไรก็สบาย การเกี่ยวข้องกับผู้คนก็สบาย ไม่มีทิฏฐิมานะความถือตัวว่าเราเป็นพระเป็นเณรผู้สูงศักดิ์ด้วยศีลธรรม เพราะศีลธรรมอันแท้จริงมิได้อยู่กับความสำคัญเช่นนั้น แต่อยู่กับความไม่ถือตัวยั่วกิเลส อยู่กับความตรงไปตรงมาตามผู้มีสัตย์มีศีลมีธรรมความสม่ำเสมอเป็นเครื่องครองใจ นั่นแลคือศีลธรรมอันแท้จริง ไม่มีมานะเข้ามาแอบแฝงทำลายได้ อยู่ที่ใดก็เย็นกายเย็นใจ ไม่มีภัยทั้งแก่ตัวและผู้อื่น การปฏิบัติธุดงควัตรข้อนี้เป็นเครื่องทำลายกิเลสมานะความสำคัญตนในแง่ต่าง ๆ ได้ดี ผู้ปฏิบัติจึงควรเข้าใจระหว่างตนกับศีลธรรมด้วยดี อย่าปล่อยให้ตัวมานะเข้าไปยื้อแย่งครอบครองศีลธรรมภายในใจได้ จะกลายเป็นผู้มีเขี้ยวมีเขาแฝงขึ้นมาในศีลธรรมอันเป็นธรรมชาติเยือกเย็นมาดั้งเดิม การฝึกหัดทรมานตนให้เป็นเหมือนผ้าเช็ดเท้าจนเคยชิน โดยไม่ยอมให้ตัวทิฏฐิมานะโผล่ขึ้นมาว่าตัวมีราคาค่างวดนี้ เป็นทางก้าวหน้าของธรรมภายในใจโดยสม่ำเสมอ จนกลายเป็นใจธรรมชาติ เป็นธรรมธรรมชาติ ไม่หวั่นไหวเหมือนแผ่นดิน ใครจะทำอะไร ๆ ก็ไม่สะเทือน จิตที่ปราศจากทิฏฐิมานะทุกประเภทโดยประการทั้งปวงแล้ว ย่อมเป็นจิตที่คงที่ต่อเหตุการณ์ดีชั่วทั้งมวล การปฏิบัติต่อบังสุกุลจีวรท่านถือว่า เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยตัดทอนลบล้างตัวมีราคาที่ฝังอยู่ในใจอย่างลึกลับให้สูญซากลงได้อย่างมั่นใจข้อหนึ่ง

การอยู่ป่าเป็นวัตรตามธุดงค์ระบุไว้ ท่านก็เริ่มเห็นคุณแต่เริ่มฝึกหัดอยู่ป่าเป็นต้นมา ทำให้เกิดความวิเวกวังเวงอยู่คนเดียว ตาเหลือบมองไปในทิศทางใดก็ล้วนเป็นทัศนียภาพเครื่องปลุกประสาทให้ตื่นตนอยู่เสมอ ไม่ประมาทนอนใจ นั่งอยู่ก็มีสติ ยืนอยู่ก็มีสติ เดินอยู่ก็มีสติ นอนอยู่ก็มีสติ กำหนดธรรมทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัว เว้นแต่หลับเท่านั้นในอิริยาบถทั้งสี่เต็มไปด้วยความปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่มีพันธะใด ๆ มาผูกพัน มองเห็นแต่ความมุ่งหวังพ้นทุกข์ที่เตรียมพร้อมอยู่ภายใน ไม่มีวันจืดจางและอิ่มพอ ยิ่งพักอยู่ในป่าเปลี่ยวอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทุกชนิด ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านด้วยแล้ว ใจปรากฏว่าเตรียมพร้อมอยู่ทุกขณะ ประหนึ่งจะทะยานเหาะขึ้นจากหล่มลึกคือกิเลสในเดี๋ยวนั้นราวกับนกจะเหาะบินขึ้นบนอากาศฉะนั้น ความจริงกิเลสก็คงเป็นกิเลสและฝังอยู่ในใจตามความมีอยู่ของมันนั่นแล แต่ใจมันมีความรู้สึกไปอีกแง่หนึ่ง เมื่อไปอยู่ในที่เช่นนั้น ความรู้สึกในบางครั้งเป็นเหมือนกิเลสตายลงไปวันละร้อยละพัน ยังเหลืออยู่บ้างประปรายราวตัวสองตัวเท่านั้น เพราะอำนาจของสถานที่ที่พักอยู่ช่วยส่งเสริม ทั้งความรู้สึกโดยปกติและเวลาบำเพ็ญเพียรกลายเป็นเครื่องพยุงใจทุกระยะที่พักอยู่ ความคิดเกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์ร้ายและสัตว์ดีที่มีอยู่ทั่วไปในบริเวณนั้น ก็คิดไปในทางสงสารมากกว่าจะคิดในทางเป็นภัย โดยคิดว่าเขากับเราก็มีความเกิดแก่เจ็บตายเท่ากันในชีวิตที่ทรงตัวอยู่เวลานี้ แต่เรายังดีกว่าเขาตรงที่รู้จักบุญบาปดีชั่วอยู่บ้าง ถ้าไม่มีสิ่งนี้แฝงอยู่ภายในใจบ้างก็คงมีน้ำหนักเท่ากันกับเขา เพราะคำว่า “สัตว์” เป็นคำที่มนุษย์ไปตั้งชื่อให้เขาโดยที่เขามิได้รับทราบจากเราเลย ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง คือสัตว์มนุษย์ที่ตั้งชื่อกันเอง ส่วนเขาไม่ทราบว่าได้ตั้งชื่อให้พวกมนุษย์เราอย่างไรหรือไม่ หรือเขาขโมยตั้งชื่อว่า “ยักษ์” ก็ไม่มีใครทราบได้ เพราะสัตว์ชนิดนี้ชอบรังแกและฆ่าเขา แล้วนำเนื้อมาปรุงเป็นอาหารก็มี ฆ่าทิ้งเปล่า ๆ ก็มี จึงน่าเห็นใจสัตว์ที่พวกมนุษย์เราชอบเอารัดเอาเปรียบเขาเกินไปประจำนิสัย และไม่ค่อยยอมให้อภัยแก่สัตว์ตัวใดง่าย ๆ แม้แต่พวกเดียวกันยังรังเกียจและเกลียดชังกัน เบียดเบียนกัน ฆ่ากันไม่มีหยุดหย่อนและผ่อนเบาบ้างเลย ในวงสัตว์ก็ร้อนเพราะมนุษย์เบียดเบียนและฆ่าเขา ในวงมนุษย์เองก็ร้อนเพราะมนุษย์เบียดเบียนและฆ่ากันเอง ฉะนั้น สัตว์จึงระเวียงระวังมนุษย์ประจำสันดาน ท่านว่าการอยู่ในป่ามีทางคิดทางไตร่ตรองได้กว้างขวาง ไม่มีทางสิ้นสุดทั้งเรื่องนอกเรื่องใน ซึ่งมีอยู่รอบตัวตลอดเวลา ใจที่มีความใคร่ต่อธรรมแดนพ้นทุกข์ จึงรีบเร่งตักตวงความเพียรไม่มีเวลาลดละ บางครั้งหมูป่าเดินเข้ามาหาในบริเวณที่นั้นและมองเห็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ แทนที่มันจะกระโดดโลดเต้นวิ่งหนีเอาตัวรอด แต่เปล่า มันมองเห็นแล้วก็เดินหากินไปตามภาษาของมันอย่างธรรมดา ท่านว่ามันจะเห็นท่านเป็นยักษ์ไปกับมนุษย์ผู้ร้ายกาจทั้งหลายด้วย แต่มันไม่คิดเหมาไปหมด มันจึงไม่รีบวิ่งหนี และเที่ยวขุดกินอาหารอย่างสบายเหมือนไม่มีอะไร ในตอนนี้ผู้เขียนขอแทรกบ้างเล็กน้อยเพื่อเรื่องกระจ่างขึ้นบ้าง อย่าว่าแต่หมูมันกลัวท่านพระอาจารย์มั่นที่อยู่องค์เดียวในป่าเลย แม้แต่วัดป่าบ้านตาด เมื่อเริ่มสร้างวัดใหม่ ๆ และมีพระเณรอยู่ด้วยกันหลายรูป หมูป่าเป็นฝูง ๆ ยังพากันมาอาศัยนอนและเที่ยวหากินอยู่ตามบริเวณหน้ากุฏีพระเณรในเวลากลางคืนห่างจากที่ท่านเดินจงกรมราว ๒-๓ วาเท่านั้น ได้ยินเสียงมันขุดดินหาอาหารด้วยจมูกดังตุ๊บตั๊บ ๆ อยู่บริเวณนั้น ไม่เห็นมันกลัวท่านเลย เวลาท่านเรียกกันมาดูในบริเวณนั้นแทบทุกคืน ทั้งหมูและพระเณรเคยชินกันไปเอง แต่ทุกวันนี้ยังมีเหลือเล็กน้อยและนาน ๆ พากันมาเที่ยวหากินทีหนึ่ง เพราะยักษ์ที่สัตว์ตั้งชื่อให้ดังท่านพระอาจารย์มั่นว่าไว้ เอาไปรับประทานเกือบจะไม่มีสัตว์เหลือค้างแผ่นดินแถบนั้นอยู่แล้วเวลานี้ ต่อไปไม่กี่ปีคงจะเรียบไปเอง ที่ท่านเล่าคงเป็นความจริงในทำนองเดียวกัน เพราะสัตว์แทบทุกชนิดชอบมาอาศัยพระ พระอยู่ที่ไหน สัตว์ชอบมาอยู่ที่นั้นมาก แม้วัดที่อยู่ในเมืองสัตว์ยังต้องมาอาศัย เช่น สุนัข เป็นต้น บางวัดมีเป็นร้อย เพราะท่านไม่เบียดเบียนมัน เพียงเท่านี้ก็พอทราบได้ว่าธรรมเป็นของเย็น สัตว์โลกจึงไม่มีใครค่อยรังเกียจ เว้นกรณีที่สุดวิสัยจะกล่าวเสีย เท่าที่ท่านปฏิบัติมาก่อน ท่านว่าป่าเป็นสถานที่ช่วยพยุงใจได้ดีมาก ฉะนั้น ป่าจึงเป็นจุดที่เด่นของพระผู้มีความใคร่ตอทางพ้นทุกข์ จะถือเป็นสมรภูมิสำหรับบำเพ็ญธรรมทุกชั้น โดยไม่ระแวงสงสัยว่าป่าจะกลับเป็นข้าศึกต่อการบำเพ็ญธรรม ตรงกับอนุศาสน์ที่พระอุปัชฌาย์อบรมสั่งสอนภิกษุผู้อุปสมบทใหม่ ให้พากันเสาะแสวงหาอยู่ป่าตามอัธยาศัย ท่านพระอาจารย์จึงถือธุดงค์ข้อนี้จนวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ นอกจากสมัยที่จำต้องอนุโลมผ่อนผันไปตามเหตุการณ์เท่านั้น เพราะทำให้ระลึกว่าตนอยู่ในป่าซึ่งเป็นที่เปลี่ยวกายเปลี่ยวใจตลอดเวลา จะนอนใจมิได้ คุณธรรมจึงมีทางเกิดไม่เลือกกาล หนึ่ง

ธุดงควัตรข้อรุกขมูลคือร่มไม้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ท่านอาจารย์มั่นเล่าว่าขณะที่จิตของท่านจะผ่านโลกามิสไปได้โดยสิ้นเชิง คืนวันนั้นท่านก็อาศัยอยู่รุกขมูลคือร่มไม้ ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวต้นเดียว ตอนสำคัญนี้จะรอลงข้างหน้าตามลำดับของการเที่ยวจาริกและการบำเพ็ญของท่าน จึงขออภัยท่านผู้อ่านทั้งหลายโปรดรออ่านข้างหน้า วาระนี้จำจะเขียนไปตามลำดับความจำเป็นก่อน เพื่อเนื้อเรื่องจะไม่ขาดความตามลำดับ การอยู่ใต้ร่มไม้ซึ่งปราศจากที่มุงบังและเครื่องป้องกันตัวย่อมทำให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ จิตที่ตั้งความรู้สึกไว้กับตัวย่อมเป็นทางถอดถอนกิเลสไปทุกโอกาส เพราะกาย เวทนา จิต ธรรม หรือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่เรียกว่า “สติปัฏฐานและสัจธรรม” อันเป็นจุดที่ระลึกรู้ของจิตแต่ละจุดนั้น ย่อมเป็นเกราะเครื่องป้องกันตัวเพื่อทำลายกิเลสแต่ละประเภทได้อย่างมั่นเหมาะ ซึ่งไม่มีที่อื่นใดจะยิ่งไปกว่า ฉะนั้น จิตที่ระลึกรู้อยู่กับสติปัฏฐานหรืออริยสัจ เพราะความเปลี่ยวและความกลัวเป็นเหตุ จึงเป็นจิตที่มีหลักยึดเพื่อการรบชิงชัยเอาตัวรอดโดยสุคโต ตามทางอริยธรรมไม่มีผิดพลาด ผู้ประสงค์อยากทราบเรื่องของตัวอย่างละเอียดทั่วถึงโดยทางที่ถูกและปลอดภัย จึงควรแสวงหาธรรมและสถานที่เหมาะสมเป็นเครื่องพยุงทางความเพียร จะช่วยให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าธรรมดาที่ควรจะเป็นอยู่มาก ดังนั้น ธุดงควัตรข้ออยู่รุกขมูลจึงเป็นธรรมเครื่องทำลายกิเลสได้เป็นอย่างดีเสมอมา ที่ควรสนใจเป็นพิเศษข้อหนึ่ง

ธุดงควัตรที่เกี่ยวกับการเยี่ยมป่าช้าเป็นธุดงค์เครื่องปลุกเตือนพระและหมู่ชนมิให้ประมาทในเวลามีชีวิตอยู่ โดยเข้าใจว่าตัวจะไม่ตาย ความจริงก็คือคนที่เริ่มตายเล็กตายน้อยตามไปอยู่ทุกเวลานั่นเอง เพราะคนที่ตายจนถึงกับย้ายบ้านใหม่ไปปลูกสร้างกันอยู่ที่ป่าช้าจนดาษดื่นแทบจะหาที่เผาและที่ฝังกันไม่ได้ ก็ล้วนแต่คนที่เคยตายเล็กตายน้อยมาแล้ว เช่น พวกเราผู้ยังมีชีวิตอยู่นี่เอง จะเป็นคนแปลกหน้ามาจากที่ไหน พอจะเห็นว่าเราเป็นคนที่แปลกกว่าเขา แล้วประมาทว่าตนจะไม่ตาย ที่ท่านสอนให้เยี่ยมญาติพี่น้องผู้เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ก็เพื่อเตือนไม่ให้หลงลืมญาติพี่น้องอันดั้งเดิมในป่าช้านั่นเอง เพื่อจะได้ท่องบ่นไว้ในใจว่า เรามีความแก่ เจ็บ ตายอยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน ไม่มีใครจะกล้าอุตริเย่อหยิ่งตัวว่า จะไม่เกิด แก่ เจ็บ ตายได้ เมื่อสายทางแห่งวัฏฏะที่ตนยังท่องเที่ยวเรียนสูตรอยู่ยังไม่จบ พระซึ่งเป็นเพศที่เตีรยมพร้อมแล้วเพื่อความหลุดพ้นจึงควรศึกษามูลเหตุแห่งวัฏฏทุกข์ที่มีอยู่กับตน คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งภายนอกคือการเยี่ยมป่าช้าอันเป็นที่เผาศพ ทั้งภายในคือตัวเองอันเป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝังหรือบรรจุอยู่ในตัวตลอดเวลา ทั้งเก่าและใหม่จนนับไม่ครบและแทบเรียนไม่จบ ให้จบสิ้นลงด้วยการพิจารณาธรรมสังเวชโดยทางปัจจเวกขณะ คือ องค์สติปัญญาเครื่องทดสอบ แยกแยะหามูลความจริง ไม่นิ่งนอนใจทั้งนักบวชและฆราวาสที่ชอบเข้าเยี่ยมทั้งป่าช้านอกและป่าช้าในตัวเอง โดยการพิจารณาความตายเป็นต้น เป็นอารมณ์ย่อมมีทางถอดถอนความเผลอเย่อหยิ่งในวัยในชีวิตและในวิทยฐานะต่าง ๆ ออกได้อย่างน่าชม ไม่ชอบผยองพองตัวในแง่ต่าง ๆ ตามนิสัยมนุษย์ซึ่งมักมีความพิสดารประจำใจอยู่เป็นนิตย์ ทั้งจะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัวและพยายามแก้ไขไปเป็นลำดับ มากกว่าจะไปเห็นโทษคนอื่นแล้วนำมานินทาเขา ซึ่งเป็นการสั่งสมความไม่ดีใส่ตนประจำนิสัยมนุษย์ที่ชอบเป็นกันอยู่ทั่วไป เหมือนโรคระบาดเรื้อรังชนิดแก้ไม่หายหรือไม่สนใจจะแก้ นอกจากจะเพิ่มเชื้อให้มากขึ้นเท่านั้น ป่าช้าเป็นสถานที่อำนวยความรู้ความฉลาดให้แก่ผู้สนใจพิจารณาอย่างกว้างขวาง เพราะคำว่าป่าช้าเป็นจุดใหญ่ที่สุดของโลก ทุกคนทุกเพศทุกวัยและทุกชาติชั้นวรรณะจำต้องประสบด้วยกันจะกระโดดข้ามไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่คลองเล็ก ๆ พอจะก้าวข้ามไปอย่างง่ายดายโดยมิได้พิจารณาจนรู้รอบขอบชิดก่อน ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ท่านข้ามไป แม้เช่นนั้นก็ปรากฏว่า ท่านต้องเรียนวิชาจากสถาบันใหญ่ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จนเชี่ยวชาญทุก ๆ แขนงก่อน แล้วจึงโดดข้ามไปอย่างสบายหายห่วง ไม่ต้องติดบ่วงแห่งมารอยู่เหมือนพวกที่ลืมตนลืมตาย ไม่สนใจพิจารณาเรื่องของตัวคือมรณธรรมอันขวางหน้าอยู่ ซึ่งจะต้องโดนในไม่ช้านี้ การเยี่ยมป่าช้าเพื่อพิจารณาความตายจึงเป็นทางผ่อนคลายหายกลัวทั้งเรื่องของตัวและเรื่องของคนอื่นได้อย่างไม่มีประมาณ จนเกิดความอาจหาญต่อความตาย ทั้ง ๆ ที่โลกกลัวกันทั่วดินแดน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ได้เป็นไปในวงของนักปฏิบัติธรรมมาแล้ว มีพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมเสร็จแล้วจึงประกาศพระโอวาทเกี่ยวกับการพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไว้ทุกแง่ทุกมุม เพื่อหมู่ชนผู้มีความรับผิดชอบในตนและผู้เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาหาทางแก้ไข บรรเทาความมัวเมาเขลาปัญญาของตนขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นเวลาที่พอดิบพอดี ยังไม่สายเกินไป เมื่อสิ้นลมหายใจจนไปถึงสถาบันใหญ่แล้ว ต้องนับว่าหมดหนทางแก้ไข มีอยู่เพียงอย่างเดียวคือ ถ้าไม่เผาก็ต้องฝังเท่านั้น จะพาไปรักษาศีลภาวนาทำบุญสุนทร์ทานอย่างแต่ก่อนนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเห็นคุณของการเยี่ยมป่าช้า ว่าเป็นสถานที่ที่ให้สติปัญญารอบรู้กับเรื่องของตนตลอดมา ท่านจึงสนใจเยี่ยมป่าช้านอกและป่าช้าในอยู่เสมอ แม้พระบางองค์ที่เป็นลูกศิษย์ท่านก็ยังพยายามตะเกียกตะกายปฏิบัติตามท่าน ทั้ง ๆ ที่ตนเป็นพระที่กลัวผีมาก ซึ่งเราไม่ค่อยได้ยินกันในคำว่าพระกลัวผีและธรรมกลัวโลก แต่พระองค์นั้นได้เป็นพระที่กลัวผีเสียแล้ว

ท่านเล่าให้ฟังว่า พระองค์หนึ่งเที่ยวธุดงค์ไปพักอยู่ในป่าใกล้กับป่าช้า แต่เจ้าตัวไม่รู้ว่าถูกโยมพาไปพักริมป่าช้า เพราะไปถึงหมู่บ้านนั้นตอนเย็น ๆ และถามถึงป่าที่ควรพักบำเพ็ญเพียร โยมก็ชี้บอกตรงป่านั้นว่าเป็นที่เหมาะ แต่มิได้บอกว่าเป็นป่าช้า แล้วพาท่านไปพักที่นั้น พอพักได้เพียงคืนเดียว วันต่อมาก็เห็นเขาหามผีตายผ่านมาที่นั้นเลยไปเผาที่ป่าช้า ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักท่านประมาณ ๑ เส้น ท่านมองตามไปก็เห็นที่เขาเผาอยู่อย่างชัดเจน องค์ท่านเองพอมองเห็นหีบศพที่เขาหามผ่านมาเท่านั้นก็ชักเริ่มกลัว ใจไม่ดี และยังนึกว่าเขาจะหามผ่านไปเผาที่อื่น แม้เช่นนั้นก็นึกเป็นทุกข์ไว้เผื่อตอนกลางคืนอยู่อีก กลัวว่าภาพนั้นจะมาหลอกหลอนทำให้นอนไม่ได้ตอนกลางคืน ความจริงที่ท่านพักอยู่กลับเป็นริมป่าช้า และยังได้เห็นเขาเผาผีอยู่ต่อหน้าซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลเลย ท่ายิ่งคิดไม่สบายใจและเป็นทุกข์ใหญ่ คือทั้งจะคิดเป็นทุกข์ในขณะนั้น และคิดเป็นทุกข์เผื่อตอนกลางคืนอีก ใจเริ่มกระวนกระวายเอาการอยู่ นับแต่ขณะที่ได้เห็นศพทีแรก เมื่อตกกลางคืนยิ่งกลัวมาก และหายใจแทบไม่ออก ปรากฏว่าตีบตันไปหมด น่าสงสารที่พระกลัวผีถึงขนาดนี้ก็มี จึงได้เขียนลงเพื่อท่านผู้อ่านที่เป็นนักกลัวผี จะได้พิจารณาดูความบึกบึนที่ท่านพยายามต่อสู้กับผีในคราวนั้น จนเป็นประวัติการณ์อันเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียมีอยู่ในเนื้อเรื่องอันเดียวกันนี้ พอเขากลับกันหมดแล้ว ท่านเริ่มเกิดเรื่องยุ่งกับผีแต่ขณะนั้นมาจนถึงตอนเย็นและกลางคืน จิตใจไม่เป็นอันเจริญสมาธิภาวนาเอาเลย หลับตาลงไปทีไร ปรากฏว่ามีแต่ผีเข้ามาเยี่ยมถามข่าวถามคราวความทุกข์สุกดิบต่าง ๆ อันสืบสาวยาวเหยียดไม่มีประมาณ และปรากฏว่าพากันมาเป็นพวก ๆ ก็ยิ่งทำให้ท่านกลัวมาก แทบไม่มีสติยับยั้งตั้งตัวได้เลย เรื่องเริ่มแต่ขณะมองเห็นศพที่เขาหามผ่านหน้าท่านไปจนถึงกลางคืน ไม่มีเวลาเบาบางลงบ้างพอให้หายใจได้ นับว่าท่านเป็นทุกข์ถึงขนาดที่จะทนอดกลั้นได้ นับแต่วันบวชมาก็เพิ่งมีครั้งเดียวเท่านั้นที่ต่อสู้กับผีในมโนภาพอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง ท่านจึงพอมีสติระลึกได้บ้างว่า ที่เราคิดกลัวผีก็ดี ที่เข้าใจว่าผีพากันมาเยี่ยมเราเป็นพวก ๆ ก็ดี อาจไม่เป็นความจริงก็เป็นได้ และอาจเป็นเรื่องราววาดมโนภาพศพขึ้นมาหลอกตนเองให้กลัวเปล่า ๆ มากกว่า อย่ากระนั้นเลย เพราะถึงอย่างไรเราก็เป็นพระธุดงคกรรมฐานทั้งองค์ ที่โลกให้นามว่าเป็นพระที่เก่งกาจอาจหาญเอาจริงเอาจัง และเป็นพระประเภทที่ไม่กลัวอะไร ๆ ไม่ว่าจะเป็นผีที่ตายแล้ว หรือเป็นผีเปรต ผีหลวง ผีทะเลอะไร ๆ มาหลอกก็ไม่กลัว แต่เราซึ่งเป็นพระธุดงค์ที่โลกเคยยกยอสรรเสริญอย่างยิ่งมาแล้ว ไม่กลัวอะไร แล้วทำไมจึงมาเป็นพระที่อาภัพอับเฉาวาสนา บวชมากลัวผี กลัวเปรต กลัวลม กลัวแล้ง อย่างไม่มีเหตุมีผลเอาได้ เป็นที่น่าอับอายขายหน้าหมู่คณะ ซึ่งเป็นพระธุดงคกรรมฐานด้วยกัน เสียเรี่ยวแรงและกำลังใจของโลกที่อุตส่าห์ยกยอให้ว่าเป็นพระดีพระไม่กลัวผีกลัวเปรต ครั้นแล้วก็เป็นพระอย่างนี้ไปได้ เมื่อท่านพรรณนาคุณของพระธุดงค์และตำหนิตัวเองว่าเป็นพระเหลวไหลไม่เป็นท่าแล้ว ก็บอกกับตัวเองว่า นับแต่ขณะนี้เป็นต้นไป ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน เรามีความกลัวในสถานที่ใด จะต้องไปในสถานที่นั้นให้จงได้ ก็บัดนี้ใจเรากำลังกลัวผีที่กำลังถูกเผา ซึ่งมองเห็นกองไฟอยู่ในป่าช้านั้น เราต้องไปที่นั้นให้ได้ในขณะนี้ ว่าแล้วก็เตรียมตัวครองผ้าออกจากที่พัก เดินตรงไปที่ศพซึ่งกำลังถูกเผาและมองเห็นอยู่อย่างชัดเจนทันที พอออกเดินไปได้ไม่กี่ก้าว ขาชักแข็ง ก้าวไม่ค่อยออกเสียแล้ว ใจทั้งเต้นทั้งสั่น ตัวร้อนเหมือนถูกแดดเผาเวลากลางวัน เหงื่อแตกโชกไปทั้งตัว เห็นท่าไม่ได้การจึงรีบเปลี่ยนวิธีใหม่ คือเดินแบบเท้าต่อเท้าติด ๆ กันไป ไม่ยอมให้หยุดอยู่กับที่ ตอนนี้ท่านต้องบังคับใจอย่างเต็มที่ ทั้งกลัวทั้งสั่นแทบไม่เป็นตัวของตัว เหมือนอะไร ๆ มันจะสุด ๆ สิ้น ๆ ไปเสียแล้วเวลานั้น แต่ท่านไม่ถอยความพยายามที่จะก้าวไปให้ถึงแบบเอาเป็นเอาตายเข้าว่ากัน สุดท้ายก็ไปจนถึง พอไปถึงศพแล้ว แทนที่จะสบายตามความรู้สึกในสิ่งทั่ว ๆ ไปว่า “สมประสงค์แล้ว” แต่เวลานั้นปรากฏว่าตัวเองจะเป็นลมและลืมหายใจไปจนแล้วจนรอด จึงข่มใจพยายามดูศพที่กำลังถูกเผาทั้ง ๆ ที่กำลังกลัว แทบจะเป็นบ้าเป็นหลังไปอยู่แล้ว พอมองเห็นกระโหลกศรีษะผีที่ถูกเผาจนไหม้และขาวหมดแล้ว ใจก็ยิ่งกำเริบกลัวใหญ่ แทบจะพาเหาะลอยไปในขณะนั้น จึงพยายามสะกดใจไว้ แล้วพานั่งสมาธิลงตรงหน้าศพห่างจากเปลวไฟเผาศพพอประมาณ โดยหันหน้ามาทางศพเพื่อทำศพให้เป็นเป้าหมายของการพิจารณา บังคับใจที่กำลังกลัว ๆ ให้บริกรรมว่า เราก็จะตายเช่นเดียวกับเขาคนนี้ ไม่ต้องกลัว เราก็จะตาย ไม่ต้องกลัว เราก็จะตาย กลัวไปทำไม ไม่ต้องกลัว ขณะที่นั่งบังคับใจให้บริกรรมภาวนาความตายอยู่ด้วยทั้งความกระวนกระวาย เพราะกลัวผีนั้น ได้ปรากฏเสียงแปลกประหลาดขึ้นข้างหลัง เสียงบาทย่างเท้าดังเข้ามาเป็นบทเป็นบาทเหมือนมีอะไรเดินมาหาท่าน ซึ่งกำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ และเดิน ๆ หยุด ๆ เป็นลักษณะจด ๆ จ้อง ๆ คล้ายจะมาทำอะไรท่าน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คิดขึ้นในขณะนั้น ก็ยิ่งทำให้ใจกำเริบใหญ่ ถึงขนาดจะวิ่งหนีและร้องออกมาดัง ๆ ว่า ผีมาแล้ว ช่วยด้วย ถ้าเทียบทางวัตถุก็ยังอีกเส้นผมเดียวที่ท่านจะออกวิ่ง ท่านอดใจรอฟังไปอีกก็ได้ยินเสียงค่อย ๆ เดินมาข้าง ๆ ห่างท่านประมาณ ๓ วา แล้วก็ได้ยินเสียงเคี้ยวอะไรกร้อบแกร้บ ยิ่งทำให้ท่านคิดไปมากว่า มันมาเคี้ยวกินอะไรที่นี่ เสร็จแล้วก็จะมาเคี้ยวเอาศรีษะเราเข้าอีก ก็เป็นอันว่าเราต้องจบเรื่องกับผีตัวร้ายกาจไม่ไว้หน้าใครอยู่ที่นี้แน่ ๆ พอคิดขึ้นมาถึงตอนนี้ ท่านอดรนทนไม่ไหว จึงคิดจะลืมตาขึ้นดูมัน เผื่อเห็นท่าไม่ได้การจะได้เตรียมวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด ดีกว่าจะมายอมจอดจมให้ผีตัวไม่มีความดีอะไรเลยกินเปล่า เมื่อชีวิตรอดไปได้เรายังมีหวังได้บำเพ็ญเพียรต่อไป ยังจะมีกำไรกว่าการเอาชีวิตของพระทั้งองค์มาให้ผีกินเปล่า พอปลงตกแล้วก็รีบลืมตาขึ้นมาดูผีตัวกำลังเคี้ยวอะไรกร้อบ ๆ อยู่ขณะนั้น พร้อมกับเตรียมตัวจะวิ่งเพื่อตัวรอดหวังเอาชีวิตไปจอดข้างหน้า พอลืมตาขึ้นมาดูจริง ๆ สิ่งที่เข้าใจว่าผีตัวร้ายกาจ เลยกลายเป็นสุนัขบ้านออกมาเที่ยวเก็บกินเศษอาหารที่เขานำมาเพื่อเซ่นผู้ตายตามประเพณี ซึ่งไม่สนใจกับใครและมาจากที่ไหน คงเที่ยวหากินไปตามภาษาสัตว์ซึ่งเป็นผู้อาภัพทางอาหารประจำชาติตามกรรมนิยม ส่วนพระธุดงคกรรมฐาน พอลืมตาขึ้นมาเห็นสุนัขอย่างเต็มตาแล้ว เลยทั้งหัวเราะตัวเอง และคิดพูดทางใจกับสุนัขตัวไม่รู้ภาษาและไม่สนใจกับใครนั้นว่า แหม! สุนัขตัวนี้มีอำนาจวาสนามากจริง ทำเอาเราแทบตัวปลิวไปได้ และเป็นประวัติการณ์อันสำคัญต่อไปไม่มีสิ้นสุด ทั้งเกิดความสลดสังเวชตนอย่างยิ่งที่ไม่เป็นท่าเอาเลย ทั้ง ๆ ที่ได้พูดกับตัวเองแล้วว่า จะเป็นนักสู้แบบเอาชีวิตเข้าประกัน แต่พอเข้ามาเยี่ยมศพในป่าช้า และได้ยินเสียงสุนัขมาเที่ยวหากินเท่านี้ก็แทบตั้งตัวไม่ติด และจะเป็นกรรมฐานบ้าวิงเตลิดเปิดเปิงไปจนได้ ยังดีที่มีพระธรรมท่านเมตตาไว้ให้รออยู่ประมาณผมเส้นหนึ่ง พอรู้เหตุผลต้นปลายบ้าง ไม่เช่นนั้นคงเป็นบ้าไปเลย โอ้โฮ! เรานี้โง่และหยาบถึงขนาดนี้เชียวหรือ ควรจะครองผ้าเหลืองอันเป็นเครื่องหมายของศิษย์พระตถาคตผู้องอาจกล้าหาญไม่มีใครเสมอเหมือนอีกต่อไปละหรือ และควรจะไปบิณฑบาตจากชาวบ้านมากินให้สิ้นเปลืองของเขาเปล่า ๆ ด้วยความไม่เป็นท่าของเราอยู่อีกหรือ เราจะปฏิบัติต่อตัวเองที่แสนต่ำทรามอย่างไรบ้าง จึงจะสาสมกับความเลวทรามไม่เป็นท่าของตนซึ่งแสดงอยู่ขณะนี้ ลูกศิษย์พระตถาคตผู้โง่เขลาและต่ำทรามขนาดเรานี้จะยังมีอยู่ให้หนักพระศาสนาต่อไปอีกไหมหนอ ขนาดมีเราเพียงคนเดียวเท่านี้ก็นับว่าจะทำพระศาสนาให้ซวยพอแล้ว ถ้าขืนมีอีกเช่นเรานี้พระศาสนาคงแย่แน่ ๆ ความกลัวผีซึ่งเป็นเรื่องกดถ่วงให้เราเป็นคนต่ำทรามไม่เป็นท่านั้น เราจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร รีบตัดสินใจเดี๋ยวนี้ ถ้ารอไปนานก็ขอให้เราตายเสียดีกว่า อย่ามายอมตัวให้ความกลัวผีเหยียบย่ำบนหัวใจอีกต่อไปเลย อายโลกเขาแทบไม่มีแผ่นดินจะให้คนหนักพระศาสนาอยู่ต่อไปอีกแล้ว พอพร่ำสอนตนจบลง ท่านทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ถ้าไม่หายกลัวผีเมื่อไร จะไม่ยอมหนีจากที่นี้อย่างเด็ดขาด ตายก็ยอมตาย ไม่ควรอยู่ให้หนักโลกและพระศาสนาต่อไป คนอื่นยังจะเอาอย่างไม่ดีไปใช้อีกด้วย และจะกลายเป็นคนไม่เป็นท่าไปหลายคน และหนักพระศาสนายิ่งขึ้นไปอีกมากมาย นับแต่ขณะนั้นมา ท่านตั้งใจปฏิบัติต่อความกลัวอย่างกวดขัน โดยเข้าไปอยู่ป่าช้าทั้งกลางวันกลางคืน ยึดเอาคนที่ตายไปแล้วมาเทียบกันตน ซึ่งยังเป็นอยู่ ว่าเป็นส่วนผสมของธาตุเช่นเดียวกัน เวลาใจยังครองตัวอยู่ก็มีทางเป็นสัตว์ เป็นบุคคลสืบต่อไป เมื่อปราศจากใจครองเพียงอย่างเดียว ธาตุทั้งมวลที่ผสมกันอยู่ก็สลายลงไป ที่เรียกว่าคนตาย และยึดเอาความสำคัญที่ไปหมายสุนัขทั้งตัวที่มาเที่ยวหากินในป่าช้าว่าเป็นผีมาสอนตัวเองว่า เป็นความสำคัญที่เหลวไหลจนบอกใครไม่ได้ ไม่ควรเชื่อถือว่าเป็นสาระต่อไปกับคำว่าผีมาหลอก ความจริงแล้วคือใจหลอกตัวเองทั้งเพ การกลัวก็กลัวเพราะใจหลอกหลอนตัวเอง ทุกข์ก็เพราะความเชื่อความหลอกลวงของใจจนทำให้เป็นทุกข์แบบจะเป็นจะตายและแทบจะเสียคนไปทั้งคนในขณะนั้น ผีจริงไม่ปรากฏว่ามาหลอกหลอน เราเคยหลงเชื่อความคิดความมั่นปั้นเรื่องหลอกลวงต่าง ๆ ของจิตมานาน แต่ยังไม่ถึงขั้นจะพาตัวให้ล่มจมเหมือนครั้งนี้ ธรรมท่านสอนไว้ว่า สัญญาเป็นเจ้ามายานั้น แต่ก่อนเรายังไม่ทราบความหมายชัดเจน เพิ่งมาทราบเอาตอนจะตายทั้งเป็นและจะเหม็นทั้งที่ยังไม่เน่า ขณะกลัวผีที่ถูกเข้าสัญญาหลอกและต้มตุ๋นนี้เอง ต่อไปนี้สัญญาจะมาหลอกเราเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แน่นอน เราจะต้องอยู่ป่าช้านี้จนกว่าเจ้าสัญญาที่เคยหลอกตายไปเสียก่อน จนไม่มีอะไรมาหลอกให้กลัวผีต่อไปถึงจะหนีไปที่อื่น เวลานี้เป็นเวลาที่เราจะทรมานสัญญาตัวปลิ้นปล้อนหลอกลวงเก่ง ๆ นี้ให้ตายไป จนได้เผาศพมันเหมือนเผาศพผีตายดังที่เราเห็นเมื่อวานเสียก่อน เมื่อชีวิตยังอยู่ อยากไปที่ไหนเราถึงจะไปทีหลัง ตอนนี้ถึงขั้นเด็ดขาดกับสัญญา ท่านก็เด็ดจริง ๆ และทรมานถึงขนาดที่สัญญาหมายขึ้นว่า ผีมีอยู่ ณ ที่ใด และเกิดขึ้นในขณะใดท่านต้องไปที่นั้น เพื่อดูและรู้เท่ามันทันที จนสัญญาเผยอตัวขึ้นไม่ได้ในคืนวันนั้น เพราะท่านไม่ยอมหลับนอนเอาเลย ตั้งหน้าต่อสู้กับผีภายนอก คือสุนัขซึ่งเกือบเสียตัวไปกับมัน พอได้เงื่อนและได้สติ ท่านก็ย้อนกลับมาต่อสู้กับผีภายในให้หมอบราบไปตาม ๆ กัน นับแต่ขณะที่รู้ตัวแล้ว ความกลัวผีไม่เคยเกิดขึ้นรบกวนท่านได้อีกตลอดทั้งคืน แม้คืนต่อมา ท่านก็ตั้งท่ารับความกลัวนั้นอย่างแข็งแกร่งต่อไป จนกลายเป็นพระองค์กล้าหาญต่อหลาย ๆ สิ่งขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ แต่เรื่องก็เป็นความจริงจากท่านมาแล้ว จนเป็นเรื่องฝังใจและตั้งตัวได้เพราะผีเป็นเหตุแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ความกลัวผีจึงเป็นธรรมเทศนากัณฑ์เอกโปรดท่านให้กลายเป็นพระอันแท้จริงขึ้นมาองค์หนึ่ง ถึงได้นำมาแทรกลงในประวัติของท่านพระอาจารย์มั่น เผื่อท่านผู้อ่านได้นำไปเป็นคติต่อไป คงไม่ไร้สาระไปเสียทีเดียว เช่นกับประวัติของท่านผู้เป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นประวัติที่ให้คติแก่โลกอยู่เวลานี้ ฉะนั้น การเยี่ยมป่าช้าจึงเป็นความสำคัญสำหรับธุดงควัตรประจำสมัยตลอดมา หนึ่ง

การถือไตรจีวรคือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร ท่านพระอาจารย์มั่นถือปฏิบัติมาแต่เริ่มอุปสมบทไม่ลดละ จนถึงวัยชราจึงลดหย่อนผ่อนตามธาตุขันธ์ที่ต้องการความบำรุงมากขึ้นทุกระยะที่ท่านปฏิบัติเช่นนั้น โดยเห็นว่าพระธุดงคกรรมฐานครั้งนั้นไม่อยู่ประจำที่นัก นอกจากในพรรษาเท่านั้น ต้องเที่ยวไปในป่านั้น ในภูเขาลูกนี้อยู่เสมอ การไปก็ต้องเดินด้วยเท้าเปล่า ไม่มีรถราเหมือนสมัยนี้ มีบริขารมากน้อยต้องสะพายไปเอง ช่วยตัวเองทั้งนั้น ของใครของเรา ช่วยกันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างมีพอกับกำลังของตัว จะมีมากกว่านั้นก็เอาไปไม่ไหว ทั้งเป็นความไม่สะดวก พะรุงพะรังอีกด้วย จึงมีเฉพาะที่จำเป็นจิรง ๆ นานไปก็กลายเป็นความเคยชินต่อนิสัย แม้ผู้มีมาถวายก็ให้ทานผู้อื่นไป ไม่สั่งสมให้เป็นการกังวล เพราะสมณะเรามีความสวยงามอยู่กับการปฏิบัติดีและไม่สั่งสม เวลาตายไป ให้มีแต่บริขารแปด ซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับพระเท่านั้น เป็นความงามอย่างยิ่ง เมื่อมีชีวิตอยู่ก็สง่าผ่าเผยด้วยความจนแบบพระ เวลาตายก็เป็นสุคโต ไม่มีอารมณ์กับสิ่งใด อันเป็นเกียรติอย่างยิ่งของพระผู้ตายด้วยความจน มนุษย์และเทวดาสรรเสริญ ธุดงควัตรข้อนี้จึงเป็นเครื่องประดับสมณะให้งามตลอดอวสานข้อหนึ่ง



ธุดงควัตรเหล่านี้ ท่านเคยปฏิบัติมาเป็นประจำไม่ลดละ ปรากฏว่าเป็นผู้คล่องแคล่วชำนิชำนาญในทางนี้อย่างยากจะหาผู้เสมอได้ในสมัยปัจจุบัน และได้อบรมสั่งสอนพระเณรผู้มาศึกษาอบรมด้วยธุดงควัตรเหล่านี้ คือ ท่านพาอยู่รุกขมูลร่มไม้ ในป่า ในเขา ในถ้า เงื้อมผา ป่าช้า ซึ่งล้วนเป็นสถานที่เปล่าเปลี่ยวน่ากลัว พาบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่พารับอาหารที่มีผู้ตามมาส่งทีหลัง ข้อนี้คณะศรัทธาเมื่อทราบอัธยาศัยท่านแล้ว เขามีอาหารคาวหวานอย่างไร ก็พากันจัดใส่บาตรถวายท่านไปพร้อมเสร็จ ไม่ต้องไปส่งให้ลำบาก พาฉันสำรวมในบาตร ไม่มีภาชนะชนิดสำหรับใส่อาหาร ทั้งคาวหวานรวมลงในบาตรใบเดียว พาฉันมื้อเดียวคือวันละหนมาเป็นประจำจนอวสานสุดท้าย

เวลาท่านประชุมให้โอวาทแก่พระเณรตอนกลางคืน จะได้ยินเฉพาะเสียงท่านที่ให้โอวาทเท่านั้น เสียงจากพระเณรแม้จะอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฏในขณะนั้น กระแสเสียงและเนื้อธรรมที่ท่านให้โอวาทแก่พระเณร รู้สึกซาบซึ้ง จับใจ ไพเราะ ทำให้เคลิ้มไปตามกระแสธรรมจนลืมเนื้อลืมตัว ลืมความเหน็ดเหนื่อย ลืมเวล่ำเวลา ไม่รู้สึกกับสิ่งอื่นใดในขณะนั้น นอกจากกระแสธรรมกับใจสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่อย่างเพลินตัว ไม่รู้จักอิ่มพอเท่านั้น การประชุมครั้งหนึ่ง ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง เพราะถือเป็นการทำความเพียรทางสมาธิและปัญญาอันเป็นภาคปฏิบัติอยู่กับการฟังในขณะนั้นด้วย พระธุดงค์มีความเลื่อมใสในอาจารย์และในการฟังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจารย์ผู้คอยให้โอวาทตักเตือนและการฟังถือเป็นเส้นชีวิตจิตใจแห่งการปฏิบัติทางภายในของพระธุดงค์จริง ๆ ท่านจึงมีความเคารพรักต่ออาจารย์มาก แม้ชีวิตก็ยอมสละได้

ท่านพระอาจารย์มั่นเที่ยวจาริกและอบรมสั่งสอนในที่ต่าง ๆ เกือบทุกจังหวัด เริ่มผ่านไปแต่จังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลฯ นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองคาย เลย หล่มสัก เพชรบูรณ์ และข้ามไปเวียงจันทน์ ท่าแขก ประเทศลาว กลับไปมาหลายตลบในแต่ละจังหวัด จังหวัดที่มีป่ามีเขามาก ท่านชอบพักอยู่นานเพื่อการบำเพ็ญเป็นแห่ง ๆ ไป เช่นทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวจังหวัดสกลนคร มีป่ามีเขามาก ท่านจำพรรษาอยู่แถบนั้น คือจำพรรษาที่หมู่บ้านโนสว่าง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แถบนั้นมีแต่ป่าแต่เขา พระธุดงค์จึงมีประจำมิได้ขาดตลอดมาจนทุกวันนี้ เพราะท่านเหล่านี้ชอบป่าชอบเขามาก เวลาท่านเที่ยวจาริกในหน้าแล้ง ที่พักหลับนอนโดยมากก็เป็นร้านหรือแคร่เล็ก ๆ ปูด้วยฟากที่ทำด้วยไม้ไผ่สับแผ่ออกเป็นแผ่นแบน ๆ ยาวประมาณ ๑ วา กว้าง ๒ หรือ ๓ ศอก สูงประมาณ ๒ ศอก เฉพาะแต่ละรูปอยู่ห่างกันตามแต่ป่าที่ไปอาศัยกว้างหรือแคบ ถ้าป่ากว้างก็อยู่ห่างกันออกไปประมาณ ๒๐ วา มีป่าคั่น มองไม่เห็นกัน ถ้าป่าแคบและอยู่ด้วยกันหลายรูป ก็ห่างกันราว ๑๕ วา แต่โดยมากตั้งแต่ ๒๐ วาขึ้นไป อยู่น้อยองค์ด้วยกันเท่าไรก็ยิ่งอยู่ห่างกันออกไปมาก พอได้ยินเสียงไอหรือจามเท่านั้น

ถ้ามีพระขี้กลัวผี หรือกลัวเสือไปอยู่ด้วย ท่านมักจะให้อยู่ห่าง ๆ หมู่เพื่อนเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการฝึกทรมานให้หายพยศความขี้ขลาดของตัวเสียบ้าง จนมีความเคยชินต่อป่าดงพงลึกและสัตว์เสือหรือผีต่าง ๆ ที่จิตไปทำความสำคัญมั่นหมายสิ่งนั้น ๆ มาหลอกตัวเอา ถ้าไปอยู่ใหม่ ๆ ต่างองค์ก็นอนกับพื้นดินไปก่อน ท่านว่าหน้าเดือน ๑-๒ ซึ่งเป็นฤดูฟ้าใหม่ฝนเก่าประปนกันนี้รู้สึกลำบากอยู่บ้าง เวลาฝนตกต้องเปียกและตากฝนทุกปี บางครั้งนอนตากฝนตลอดคืนจนกว่าจะหยุด กลดก็สู้ไม่ไหว เพราะทั้งฝนทั้งลม ต้องทนหนาวตัวสั่นอยู่ในกลดนั่นแล ตามองไม่เห็น จะหนีไปไหนก็ไม่ได้ ถ้ากลางวันก็ค่อยยังชั่วบ้าง แม้จะเปียกก็พอมองเห็นนั่นเห็นนี่ และคว้านั่นคว้านี่มาช่วยปิดบังฝนได้บ้าง ไม่มืดมิดปิดตายเสียทีเดียว ผ้าสังฆาฏิและไม้ขีดไฟซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ต้องเก็บไว้ในบาตร เอาฝาปิดไว้ให้ดี ส่วนจีวรเอาไว้สำหรับห่มกันหนาวขณะฝนกำลังตก มุ้งที่กางไว้กับกลดต้องลดลงเพื่อกันฝนสาดเวลาลมพัดแรง ไม่เช่นนั้นก็เปียกหมด ตกตอนเช้าไม่มีผ้าห่มบิณฑบาตก็ยิ่งแย่ใหญ่ พอตกเดือน ๓ เดือน ๔ หรือเดือน ๕ อากาศเริ่มร้อนขึ้น ก็ขึ้นบนภูเขา หาพักตามถ้ำหรือเงื้อมผา พอบังแดดบังฝนได้บ้าง

ถ้าไปตอนเดือน ๑-๒ ซึ่งพื้นที่ยังไม่แห้งดี ก็ทำให้เป็นไข้และชนิดจับสั่นที่เรียกกันว่ามาเลเรีย ซึ่งใครเป็นเข้าแล้วไม่ค่อยหายเอาง่าย ๆ เสียเวลาตั้งหลาย ๆ เดือนกว่าจะหายขาด หรือบางทีก็กลายเป็นไข้เรื้อรังไปเลย คิดอยากไข้เมื่อไรก็เป็นขึ้นมา ชนิดที่เขาเรียกว่า “ไข้พ่อตาแม่ยายหน่ายเกลียดชัง” รับประทานได้ แต่ทำงานไม่ได้ คอยแต่จะไข้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าแต่พ่อตาแม่ยายใคร ๆ ก็คงจะเบื่อหน่ายเหมือนกัน ไข้ประเภทนี้ไม่มียารับประทาน ในสมัยโน้นใครเป็นเข้าต้องปล่อยให้หายไปเอง ไข้ที่น่าเข็ดหลาบ ประเภทนี้ผู้เขียนเอง (ท่านพระอาจารย์มหาบัว) เคยถูกมาบ่อยที่สุด เวลาเป็นขึ้นมาแล้วก็ต้องปล่อยให้หายไปเอง เช่นกัน เพราะไม่มียารักษา ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าเรื่องพระธุดงค์เป็นไข้ป่า ไข้มาเลเรีย นับแต่องค์ท่านลงไปถึงลูกศิษย์ บางองค์ถึงกับตายไปก็มี ฟังแล้วเกิดความสงสารสังเวชท่านและคณะของท่านมากมาย รอดตายมาแล้วถึงได้มาสั่งสอนธรรมพอเป็นร่องรอยแก่คณะลูกศิษย์ได้ยึดถือและปฏิบัติตามท่าน”

[คัดจากงานเขียนธรรมะของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ในหนังสือ ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ฉบับพ.ศ. ๒๕๔๔ หน้า ๔๐–๔๕ )

------------------------------------------------------

ที่มา
http://www.luangta.com/salawatpa/content_show.php?content_id=183
 

_________________
ท่านสามารถฟังวิทยุเสียงธรรมหลวงตามหาบัวได้ทั่วประเทศ
และโทรทัศน์ดาวเทียมเสียงธรรมทั้งภาพและเสียงได้แล้วที่
http://www.luangta.com
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง