Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ปณิธานพระโพธิสัตว อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
บุญชัย
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 29 ก.ค. 2008
ตอบ: 568
ที่อยู่ (จังหวัด): สงขลา

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ย. 2008, 11:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรื่องของพระโพธิสัตว์
ยาน (yanas) หรือเส้นทางซึ่งนำไปสู่การบรรลุโพธิ แบ่งเป็น ๓ ประเภท

๑. สาวกยาน คือ ยานของพระสาวกที่มุ่งเพียงอรหันตภูมิ ซึ่งรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า
๒. ปัจเจกยาน คือ ยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้แก่ ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์ให้บรรลุมรรคผลได้
๓. โพธิสัตวยาน คือ ยานของพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้แก่ผู้มีจิตใจเมตตา ใจคอกว้างขวาง ประกอบด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหันตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวาง และเป็นรู้แจ้งในสุญญตธรรม

อุดมการณ์โพธิสัตว์ มีหน้าที่หลัก ๒ ประการ

๑. โพธิสัตว์นอกจากจะมุ่งช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์แล้ว ยังมุ่งในความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีในโลกนี้
๒. โพธิสัตว์ปรารถนาให้สรรพสัตว์ได้บรรลุนิพพาน โดยตนเองปฏิเสธการเข้าถึงนิพพานของตน เพื่อที่จะได้ยังมีโอกาสรับใช้ช่วยเหลือผู้อื่น แม้ว่าจะต้องยังอยู่ในที่แห่งความทุกข์ยาก เพื่อสร้างคุณความดีช่วยเหลือสรรพสัตว์ ซึ่งนับว่าเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่โดยตั้งปณิธานสำคัญว่า


"ข้าฯจะไม่เข้าสู่ปรินิพพานจนกว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายจะพ้นทุกข์
ข้าฯจะยังคงอยู่ที่นี่ตราบจนวัฏสงสารจะสิ้นสุดลง
แม้ว่าข้าฯยังจะต้องอยู่ที่นี่อีก แม้เพียงชีวิตใดชีวิตเดียว"

ประเภทของพระโพธิสัตว์

ในทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แบ่งพระโพธิสัตว์ออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. พระฌานิโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งกำหนดไม่ได้ว่ามาเกิดในโลกมนุษย์เมื่อใด แต่เกิดขึ้นก่อนกาลแห่งพระศากยมุนีพุทธเจ้า ซึ่งพระโพธิสัตว์เหล่านี้ ท่านได้บรรลุพุทธภูมิแล้ว แต่ทรงมีความกรุณาในหมู่สัตว์ ทรงตั้งพระทัยไม่เข้าสู่พุทธภูมิ ประทับอยู่เพื่อโปรดสัตว์ในโลกนี้ต่อไป ดังเช่น

- พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์แห่งปัญญา ในหัตถ์ขวาทรงถือพระขันธ์เป็นสัญลักษณ์ในการทำลายล้างกิเลสตัณหาและอวิชาทั้งปวง และในหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์บนดอกบัว
- พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ที่ทรงไว้ด้วยความกรุณา และได้ทรงตั้งปณิธานว่าจะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากกิเลสความผูกพันทั้งปวง หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการรื้อสัตว์ ขนสัตว์จากนรก
- พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา จะลงมาจุติในโลกมนุษย์เป็นครั้งคราว เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ให้พ้นภัย ความเมตตาของพระองค์แผ่ไปไกลและลึกแม้กระทั่งในดินแดนนรก ในประเทศจีนพระอวโลกิเตศวรเป็นที่รู้จักกันในปางสตรีคือ "เจ้าแม่กวนอิม" และชาวธิเบตเชื่อว่าองค์ประมุขทไลลามะ เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้
- พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ ทรงปัญญาเป็นเยี่ยม และทรงใช้ปัญญานี้เป็นเครื่อง บั่นทอนอวิชา
- พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ทรงตั้งปณิธานที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ยาก และเจาะจงช่วยโดยเฉพาะแก่เด็กและมิจฉาชน
- พระเมตไตรยโพธิสัตว์ (พระศรีอริยเมตไตรย มหาโพธิสัตว์) เชื่อว่าเป็นองค์อนาคตพุทธเจ้า และจะลงมาตรัสรู้ในกาลข้างหน้า เป็นผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา

๒. มนุษิโพธิสัตว์ คือ ผู้ปฏิบัติตนเพื่อบรรลุเป็นพระโพธิสัตว์ ปฏิบัติตนอยู่ในความบริสุทธิ์ ประกอบการบุญ เจริญศีล ทาน ภาวนา ทำประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ช่วยชีวิตคนและสัตว์โลกให้พ้นจากกองทุกข์ กระทำกัลยาณวัตร และบำเพ็ญกุศลเพื่อบารมีแต่ละชาติไป โดยมุ่งหวังบรรลุพระโพธิญาณในขั้นสุดท้าย เช่น อดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นโพธิสัตว์ จึงเป็นอุดมการณ์ของชาวพุทธมหายาน ที่พยายามดำเนินรอยตามแนวทางพระยุคลบาทสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งทรงเป็นมนุษิโพธิสัตว์ เพื่อให้ได้ถึงพุทธภูมิในที่สุด

และอุดมการณ์โพธิสัตว์นี้ยังมีสมบัติเป็นตัวเชื่อมทำให้ไม่มีช่องว่างมากนักระหว่างบรรพชิตกับฆราวาส เนื่องจากผู้ที่จะเป็นโพธิสัตว์ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นบรรพชิต แม้ฆราวาสเองก็เป็นโพธิสัตว์ได้ (ไม่ใช่ด้วยความอยากจะเป็น) เช่นกัน โดยหัวใจของการเป็นโพธิสัตว์นั้นขั้นแรกต้องมี โพธิจิต คือจิตตั้งมั่น ยึดพุทธภูมิเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต มีศรัทธาในโพธิ หรือความรู้แจ้งว่าเป็นอุดมการณ์สูงสุด และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์

ความกรุณาของพระโพธิสัตว์

มีเรื่องเล่าไว้ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าชาดกอันเป็นเรื่องราวสมัยทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก่อนจะตรัสรู้เป็นพุทธเจ้า เรื่องมีอยู่ว่า จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง มีโอรสสามองค์ พระองค์เป็นพระโอรสองค์สุดท้อง มีพระนามว่าพระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์เป็นเด็กน้อยที่มีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีใจกรุณา ทั้งปฏิบัติต่อสรรพชีวิตเหมือนบุตรของพระองค์

วันหนึ่งพระจักรพรรดิและข้าราชบริพารได้เสด็จประพาสอุทยาน ส่วนพระโอรสทั้งสามไปเล่นในป่า ไม่นานก็พบเสือแม่ลูกอ่อน เสือตัวนั้นไม่มีเรี่ยวแรงเพราะหิวโซ จนกระทั่งคิดจะกินลูกของตน พระมหาสัตว์จึงตรัสถามพระเชษฐาว่า

"เสด็จพี่ เสือต้องกินอะไรถึงจะมีแรง"

"เนื้อสด หรือไม่ก็เลือด" พระเชษฐาทั้งสองตรัสตอบ
"ใครจะให้เนื้อและเลือดของตนแก่แม่เสือ เพื่อให้แม่เสือและลูกๆมีชีวิตรอดบ้าง?" พระมหาสัตว์ตรัสถาม

"ก็ใครล่ะ?" พระเชษฐาตรัสตอบ

พระมหาสัตว์สงสารแม่เสือและลูกน้อยมาก จึงคิดขึ้นว่า "เป็นเวลาช้านานแล้วที่เราท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอย่างไร้ประโยชน์ ความโกรธ โลภ หลง ของเราชาติแล้วชาติเล่า ช่วยเหลือสรรพสัตว์อื่นได้น้อยมาก ในที่สุดโอกาสสำคัญก็มาถึงแล้ว"

ขณะที่พระโอรสองค์อื่นกำลังจะกลับไปหาพระบิดา พระมหาสัตว์ตรัสขึ้นว่า "เสด็จพี่ทั้งสองจงเสด็จกลับก่อน หม่อมฉันจะตามไปทีหลัง" แล้วพระองค์ก็คลานกลับไปหาแม่เสืออย่างเงียบเชียบ จากนั้นจึงนอนกับพื้นต่อหน้าแม่เสือเพื่อเป็นอาหารให้มัน แม่เสือมองมาที่พระมหาสัตว์ แต่อ่อนระโหยจนไม่สามารถเปิดปากได้ ดังนั้นพระองค์จึงหาไม้แหลมมาแทงร่างกายให้เลือดไหล แม่เสือจึงได้เลียกิน และมีเรี่ยวแรงพอที่จะเปิดปากและกินพระมหาสัตว์

พระมหาสัตว์ได้มอบร่างให้แม่เสือเพื่อช่วยลูกน้อย ด้วยอานิสงส์แห่งเมตตาอันยิ่งใหญ่นี้เอง พระองค์จึงได้เกิดใหม่ในภพที่สูงขึ้น และเข้าใกล้การตรัสรู้มากขึ้นเป็นลำดับ จนได้เสวยพระชาติเป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด พระกรุณาของพระองค์แรงกล้ากระทั่งได้ทำให้ทั้งหมดนี้มีกรรมผูกพันต่อเนื่องไปอีกหลายชาติ ซึ่งแม่เสือและลูกน้อยที่ได้กินร่างของพระมหาสัตว์เป็นอาหาร ได้เกิดใหม่เป็นพระปัญจวัคคีย์ อันเป็นสาวก กลุ่มแรกที่ได้ฟังธรรมจากพระองค์หลังจากตรัสรู้ เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าอานิสงส์ของกรุณานั้นช่างยิ่งใหญ่และลึกล้ำยิ่งนัก



คุณลักษณะของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ผู้อยู่ในข่ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นมีองค์ประกอบสำคัญอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะตน ๔ ประการ คือ
๑. อุสสาหะ คือ ประกอบไปด้วยความเพียรอันมั่นคง
๒. อุมมังคะ คือ ประกอบไปด้วยปัญญาอันเชี่ยวชาญหาญกล้า
๓. อวัตถานะ คือ ประกอบไปด้วยพระอธิษฐานอันมั่งคงมิได้หวั่นไหว
๔. หิตจริยา คือ ประกอบไปด้วยเมตตาแก่สัตว์เป็นเบื้องหน้า

คุณลักษณะหรือเรียกว่าคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้เป็นอุปกรณ์หรือวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งที่พระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติตามอย่างมั่นคงจนกว่าจะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายขั้นสูงสุดคือพระโพธิญาณ

ข้อที่ ๑ อุสสาหะ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยความเพียรอันมั่นคงไม่ย่อท้อต่อความลำบากที่เกิดขึ้นในวัตรปฎิบัติของตน เป็นผู้ซื่อตรงมั่นคงต่อเป้าหมายสูงสุด ด้วยความรักความปรารถนาต่อจุดมุ่งหมายสูงสุดคือพระโพธิญาณจึงทำให้พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีความอุสสาหะ ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยคุณธรรมเฉพาะตน ไม่มีจิตคิดสยบต่อมารคือกิเลสเป็นต้น อันเป็นความชั่วที่คอยยั่วยุหรือขัดขวางไม่ให้บำเพ็ญความดีอย่างเต็มที่ เป็นผู้ข้ามพ้นปัญหาต่าง ๆ ด้วยความอุสสาหะยิ่ง และเพราะการจะบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ได้โดยยาก แต่หากพระโพธิสัตว์สามารถข้ามพ้นความยากลำบากนั้นไปได้ด้วยความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ พระโพธิสัตว์ก็สามารถบรรลุถึงความสำเร็จคือความเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างแน่นอน ดังคำอุปมาซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการที่จะได้บรรลุถึงพุทธภาวะที่ปรากฎในอรรถกถาตอนหนึ่งที่ว่า

"ผู้ใดสามารถที่จะใช้กำลังแขนของตนว่ายข้ามห้วงแห่งจักรวาลทั้งสิ้นอันเป็นน้ำผืนเดียวกันหมดแล้วถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้"

ข้อที่ ๒ อุมมังคะ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยปัญญา อันเชี่ยวชาญหาญกล้ารู้จักไตร่ตรองคิดหาเหตุผล อย่างรวดเร็วมีศักยภาพ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลที่ดี ตลอดทั้งรู้จักแยกแยะความดี ความชั่ว ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ถ้าไม่ทำจะมีผลดี ชั่ว มากน้อยแค่ไหน ทำแล้วจะเกิดผลดี เลว ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้มีความกล้าหาญ ตัดสินปัญหา ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมากที่สุด

ข้อที่ ๓ อวัตถานะ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยพระอธิษฐานอันมั่งคงไม่หวั่นไหว คือเป็นผู้มีจิตอันแน่วแน่มั่นคงในสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่คิดละเลิกในสิ่งที่ทำเสียกลางคัน ตราบใดที่ภารกิจอันนั้นยังไม่ถึงที่สุด คือ ความสำเร็จก็ไม่ละทิ้งให้เสียการ อธิษฐานธรรมนี้ย่อมมาพร้อมกับธรรมอีก ๓ ประการ คือ วิริยะ ขันติ และสัจจะ ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นธรรมะที่มีประกอบกันอยู่ เมื่อยกขึ้นข้อหนึ่งก็ย่อมมีอีก ๓ ข้อประกอบอยู่ด้วยเสมอ เมื่อมีความตั้งมั่นในกิจอันใดอันหนึ่งอย่างมั่นคงแล้ว จำต้องกระทำด้วยความมีวิริยะ และอดทนทั้งอดทนต่อการกระทำกิจอันนั้นและอดทนต่อสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ที่อาจเป็นตัวขัดขวางไม่ให้กิจที่กระทำดำเนินไปได้อย่างสะดวก สุดท้ายคือ มีความจริงใจที่จะกระทำกิจให้ลุล่วงจนถึงที่สุด กิจนั้นจึงจะสัมฤทธิ์ผลได้

ข้อที่ ๔ หิตจริยา พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบด้วยเมตตาสัตว์เป็นเบื้องหน้า เป็นผู้ประพฤติประโยชน์ด้วยคำนึงถึงผู้อื่นเสมอโดยไม่เลือกชนิดผู้รับประโยชน์ พระโพธิสัตว์ถือว่าการบำเพ็ญการช่วยเหลือแก่ผู้อื่นนั้นคือภารกิจที่ต้องกระทำตามหน้าที่ คือเป็นการบำเพ็ญบารมีธรรม

คุณลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการ การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ เป็นการสละตนเองเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นทุกชีวิตอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกันเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย คือ ความบริบูรณ์ด้วยปัญญาอันเป็นโลกุตตรสมบัติ คือ พระสัพพัญญุตญาณ



พระโพธิสัตว์ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นหรือองค์ประกอบ ๘ ประการ

๑. ความเป็นมนุษย์ คือ บุคคลผู้ตั้งจิตปรารถนาบรรลุพระโพธิญาณนั้น จะต้องดำรงภาวะเป็นมนุษย์ จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเทวดา ความปรารถนาไม่สามารถสำเร็จได้

๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ คือ แม้จะเกิดเป็นมนุษย์ก็ตามแต่ก็จำกัดเฉพาะเพศบุรุษเท่านั้น จะเป็นสตรี บัณเฑาะก์ หรืออุภโตพยัชชนก(คนสองเพศ) ความปรารถนาก็หาสำเร็จไม่เช่นกัน

๓. เหตุ คือ มีอรหัตตูปนิสัย อันได้แก่ มีความพร้อมหรือมีศักยภาพพอที่จะสามารถบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้ในอัตภาพที่กำลังเป็นอยู่หรือในขณะนั้นหากมีความปรารถนา

๔. การเห็นพระศาสดา คือ การได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแล้วตั้งความปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จะตั้งความปรารถนา ณ สถานที่นอกจากนี้ เช่นโคนต้นไม้เป็นต้นย่อมไม่สำเร็จ

๕. การบรรพชา คือ การต้องครองเพศเป็นบรรพชิตหรือกำลังถือบวชเท่านั้น จะอยู่ในเพศคฤหัสถ์แล้วตั้งความปรารถนาก็ย่อมไม่สำเร็จ

๖. การสมบูรณ์ด้วยคุณ คือ ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ อันได้แก่การได้บรรลุอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ แล้วตั้งความปรารถนาจึงจะสำเร็จได้

๗. การกระทำที่ยิ่งใหญ่ คือ การกระทำบุญอันยิ่งด้วยชีวิต อันได้แก่การได้บริจาคชีวิตถวายแด่พระพุทธเจ้าที่เรียกว่าการกระทำอันยิ่งใหญ่

๘. ความพอใจ คือ มีฉันทะความพอใจอันใหญ่หลวง มีอุตสาหะและความพยายามที่จะบรรลุถึงพระโพธิญาณ คือ ความรักความปรารถนาที่จะบรรลุสัพพัญญุตญาณอย่างแรงกล้า แม้ว่าจะมีอุปสรรคที่ยากต่อการฝ่าฟันก็ไม่ยอมแพ้


บารมี ๑๐ ประการ

บารมีธรรมที่พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์มี ๑๐ ประการ คือ

๑.ทาน ได้แก่ การสละให้ มี ๓ ระดับ คือ
- ทรัพย์สิ่งของภายนอก
- อวัยวะในร่างกายของตน
- ชีวิตตนเอง หรือสิ่งเสมอด้วยชีวิตตน คือ บุตร ภรรยา

๒ ศีล ได้แก่ คุณธรรมเครื่องปราบกิเลสอย่างหยาบ ได้แก่ กิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้ไม่สามารถยับยั้งใจไว้ได้ต้องลงมือกระทำความชั่ว ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา ศีลที่พระโพธิสัตว์รักษามี ๒ คือ
- นิจศีล (ศีล ๕)
- อุโบสถศีล (ศีล ๘)

๓.เนกขัมมะ ได้แก่ การออกจากกาม มี ๒ คือ
- ออกจากกามโดยสละบ้านเรือนออกบวช
- ออกจากกามโดยบำเพ็ญสมาธิจนได้บรรลุญาณ

๔.ปัญญา ได้แก่ ความรอบรู้ ความรู้อย่างลึกซึ้ง มี ๓ คือ
- สุตมยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน
- จินตามยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการคิดพิจารณา
- ภาวนามยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการฝึกจิต อบรมจิต

๕.วิริยะ ได้แก่ ความพากเพียรพยายาม การกระทำอย่างต่อเนื่อง ในทางที่ถูกต้องเรียกว่า สัมมัปปธาน มี ๔ อย่างคือ
- สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น
- ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
- ภาวนาปธาน เพียรทำบุญให้เกิดขึ้น
- อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาการทำบุญไว้ต่อเนื่อง

๖. ขันติ ได้แก่ ความอดทนมี ๓ คือ
- ตีติกขาขันติ ความอดทนแบบอดกลั้นต่ออารมณ์อันไม่พึงประสงค์ต่างๆ
- ตบขันติ ความอดทนด้วยอำนาจตะบะ คือ สมาธิข่มใจ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส
- อธิวาสนขันติ ความอดทนระงับยับยั้งไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นเลยแม้ต้องเอาชีวิตเข้าแลก

๗. สัจจะ ได้แก่ ความจริง ความเที่ยงแท้ หมายถึง ความจริงใจ พูดและทำตามความคิด

๘. อธิษฐาน ได้แก่ ความตั้งมั่น ความมั่นคง ไม่หวั่นไหว ในความคิด กระทำสิ่งใดก็ทำจนบรรลุเป้าหมาย

๙. เมตตา ได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี ด้วยอำนาจคุณธรรม ไม่ใช่รักและปรารถนาดีด้วยอำนาจกามราคะ

๑๐. อุเบกขา ได้แก่ ความวางเฉย ความปล่อยวาง หมายถึง อาการที่จิตเป็นกลาง ไม่ยึดใน ความดีที่ตนเองได้กระทำลงไป และไม่ทุกข์ใจในการทำผิดซึ่งพลาดพลั้งเกิดขึ้น

คุณธรรมหรือบารมีของพระโพธิสัตว์แม้มีถึง ๑๐ ประการแต่เมื่อจัดรวมเข้าด้วยกันแล้วก็มีข้อที่เป็นหลักคลุมข้ออื่นทั้งหมด ๒ อย่าง คือ

๑.กรุณา คือ เห็นแก่ผู้อื่น มุ่งจะบำบัดทุกข์นำสุขมาให้แก่สรรพสัตว์

๒.ปัญญา คือ ฝึกตนยิ่งขึ้นไปด้วยใฝ่รู้ตลอดเวลาให้มีปัญญารู้แจ้งธรรม มองเห็นถูกต้องว่า อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่สรรพสัตว์ที่ตนจะทำประโยชน์ให้ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต), ๒๕๔๒: ๗๙)

ในขณะที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ๑๐ ก็มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือหมู่สัตว์ทั้งปวงให้ได้รับโลกิยสุขเพื่อพระโพธิสัตว์ได้บรรลุความดีคือพระโพธิญาณอันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด แล้วก็คิดหวังจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ได้รับโลกุตตรสุขเช่นที่พระองค์ได้รับ กล่าวคือ แม้ขณะบำเพ็ญบารมีก็ดี แม้ได้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายตามที่หวังแล้วก็ดี ทั้ง ๒ ประการนี้ก็เป็นไปเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั้งสิ้นอันเป็นส่วนของพระกรุณา

การบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการดำเนินไปได้อย่างถูกต้องตามหลักวิธีและเกิดผลสัมฤทธิ์ในที่สุดก็ด้วยเหตุที่พระโพธิสัตว์รู้จักใช้ปัญญาคิดหาเหตุผลไตร่ตรองความเป็นไปของกระบวนการการบำเพ็ญบารมีว่า ในสถานการณ์ที่เผชิญนั้นควรแสดงออกอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสมและเป็นปัจจัยเอื้อให้ได้บรรลุถึงซึ่งพระโพธิญาณ ถ้าสถานการณ์นั้นทำให้พระโพธิสัตว์ไตร่ตรองแล้วว่าการสละชีวิตเท่านั้น จะเป็นทางรอดของสัตว์ผู้เผชิญความทุกข์และถูกหลักการแห่งการบำเพ็ญบารมี พระโพธิสัตว์ก็สามารถทำได้อันเป็นส่วนของพระปัญญา

จริยธรรมของพระโพธิสัตว์ ๑๐ ประการ

๑. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
๒. พระโพธิสัตว์ ครองชีวิตโดยไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีภยันตราย
๓. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตให้บริสุทธิ์
๔. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารมาขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ
๕. พระโพธิสัตว์ คิดว่าจะทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้สำเร็จผลเร็ว
๖. พระโพธิสัตว์ จะคบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้รับผล
๗. พระโพธิสัตว์ จะไม่ปรารถนาว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเองเสมอทุกอย่าง
๘. พระโพธิสัตว์ จะทำความดีกับคนอื่น โดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน
๙. พระโพธิสัตว์ เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนาจะมีหุ้นส่วนด้วย
๑๐ พระโพธิสัตว์ เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียน นินทาแล้ว ไม่ปรารถนาจะโต้ตอบ หรือฟ้องร้อง
 

_________________
ทำดีทุกทุกวัน
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Email
ขันธ์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 ก.ค. 2008
ตอบ: 520

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ย. 2008, 12:57 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เป็นเกร็ดความรู้ที่ มีประโยชน์ และ สนุกครับ
 

_________________
เพราะเอาใจเข้าไปวิพากษ์ จึงมีบาปและบุญ
สรรพสิ่งมันอยู่อย่างนั้นเอง เราเองคือผู้หลงเข้าไปเอาทุกข์
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
บุญชัย
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 29 ก.ค. 2008
ตอบ: 568
ที่อยู่ (จังหวัด): สงขลา

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ย. 2008, 2:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
โมทนาคัรบ
 

_________________
ทำดีทุกทุกวัน
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Email
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง