Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ขอเชิญฟังพระธรรมเทศนาพระอาจารย์อารยะวังโส อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
oratch
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 31 พ.ค. 2008
ตอบ: 98

ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.ย. 2008, 7:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ดิฉันได้รับฟังจากญาติธรรมว่า พระธรรมเทศนาของหลวงพ่อพระอารยะวังโส
ในงานบำเพ็ญกุศลศพหลวงปู่พระพุทธพจนวราภรณ์
เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๑
ณ พระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่
มีความลึกซึ้งกินใจมาก จึงได้ติดต่อขอไฟล์ถอดเทปจากทางวัด
และได้รับเมตตาจากหลวงพ่อให้โยมอุปฐากส่งไฟล์มาให้
ขอขอบคุณ คุณรจนา วานิช สำหรับไฟล์ถอดเทป

ดิฉันนำอักษรถอดเทปของหลวงพ่อลงไว้ในกระทู้นี้

หมายเหตุ อ่านเรื่องเกี่ยวกับ พระพุทธพจนวราภรณ์ ได้ที่
กระทู้ ท่านเจ้าประคุณ พระพุทธพจนวราภรณ์
ละสังขารแล้วด้วยโรคชรา 18:33 น. วันที่ 11/7/2551
http://larndham.net/index.php?showtopic=32386&st=109
 


แก้ไขล่าสุดโดย oratch เมื่อ 09 ก.ย. 2008, 8:02 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
oratch
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 31 พ.ค. 2008
ตอบ: 98

ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.ย. 2008, 7:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สังขาร...ธรรม

ธรรมเทศนาเนื่องในงานบำเพ็ญกุศลศพ
หลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์
๙ สิงหาคม ๒๕๕๑
ณ พระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่
โดย พระอาจารย์อารยะวังโส
วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย จังหวัดลำพูน


นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ ครั้ง)
ยมกํ นามรูปญฺจ อุโภ อญฺโญญฺญนิสฺ สิตา เอกสฺมึง ภิชฺชมานสฺมึ อุโภ ภิชฺชนฺติ ปจฺจยาติฯ



ความว่านามรูปคือกายใจนี้อันเป็นของคู่กันไป อาศัยกันไป อีกฝ่ายหนึ่งสลายไปก็ต้องสลายไปตามกัน เป็นการประกาศให้รู้เห็นกฎของความเป็นธรรมดา บัดนี้อาตมาจะแสดงพระธรรมเทศนาเพื่ออนุโมทนากุศล ทักษิณานุปาทานที่คณะเจ้าภาพอันมี หม่อมหลวงสราลี กิติยากร และคณะศรัทธาศิษยานุศิษย์วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ตลอดจนศรัทธาสาธุชนผู้ศรัทธาในพระพุทธพจนวราภรณ์หรือหลวงพ่อของเรา ได้มาเป็นเจ้าภาพกองการกุศลครั้งนี้ โดยมุ่งหมายโดยเฉพาะสำคัญยิ่งคือ การบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศไปแด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ หรือ หลวงปู่จันทร์ กุสโล ของทุกๆ ท่าน บัดนี้เป็นผู้ถึงซึ่งมรณภาพไปแล้ว ตามสมควรแก่เวลาการบำเพ็ญกุศลของหลวงพ่อในคืนนี้ ซึ่งได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงคืนนี้รวมแล้ว ๒๔ คืน ซึ่งในแต่ละคืนก็มี ผู้มีจิตศรัทธาอันเป็นบุญเป็นกุศล เป็นเมตตาธรรม เป็นอปาจยนธรรม ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพมาตามลำดับเพื่อฟังเทศน์ฟังพระอภิธรรม


ในคืนนี้มีคณะศรัทธาธรรมทั้งบรรพชิตและฆราวาสมาร่วมประชุมกัน เพื่อแสดงถึงความเคารพ สักการบูชาต่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อของเรา อันนับว่าเป็นปูชนียบุคคลที่ทรงคุณค่ายิ่ง ควรแก่การแสดงความเคารพสักการบูชาดุจดังตามพระบาลีที่ว่า “ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” ซึ่งนับอยู่ในอุดมมงคลธรรมอันเป็นเลิศควรแก่การประพฤติปฏิบัติ กล่าวได้ว่าหลวงพ่อของเรานั้นเป็น พระมหาเถระ รัตตัญญุภาค คือผู้มีอายุพรรษามาก ล่วงกาลผ่านวัยมามากจนถึง ๙๑ พรรษาอายุขัย จึงวางร่างนี้ไว้หรือปลงละสังขารไป เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เวลาของคณะแพทย์ลงความเห็นว่า ๑๘.๓๓ น. แต่เวลาการปลงสังขาร หรือละสังขารของหลวงพ่อตามความเข้าใจของอาตมานั้นคงอยู่หลัง ๑๐.๔๕ น.ไปแล้ว จนถึงเวลา ๑๘.๓๓ น. ของเวลาดังกล่าว เพราะวันนั้นอาตมาได้มีโอกาสถวายความเคารพสักการะ พร้อมทั้งพระเถรานุเถระทั้งหลายที่มาประชุมพระสังฆาธิการพร้อมกัน และในส่วนหนึ่งอาตมาได้มีโอกาสอธิษฐานธรรมขณะที่ยืนอยู่ใกล้ๆเตียงของท่านช่วงเวลาประมาณ ๙ โมงกว่า ขณะที่อธิษฐานธรรมและอธิษฐานสวดบริกรรม พระธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสุตตังเพื่อบูชาคุณของท่าน และในความรู้สึกของอาตมานี้คือการส่งท่านด้วยพระธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสุตตัง อันเป็นพระธรรมจักร เป็นบทธรรมอันยิ่งใหญ่ในการประกาศหลักธรรมหลักการในพระพุทธศาสนา ซึ่งกาลครั้งนั้นในเช้าของวันดังกล่าวที่ได้มีโอกาสถวายความเคารพ ได้สัมผัสอย่างหนึ่งคือจิตใจของท่านมีความสว่างใส ขอพูดเป็นการสัมผัสว่าเป็นความสว่างใส นั่นหมายความว่าจิตของหลวงพ่อเรานั้น มีความมั่นคง เปี่ยมล้นด้วยอำนาจแห่งธรรม มีคุณค่ายิ่ง อาตมาเชื่อว่า หลวงพ่อคงเดินทางจากไปอย่างมีคุณค่า ตามระดับญาณวิถีของท่าน ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่ามีคติของความสุขโดยธรรมในเบื้องหน้าแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตาม แม้หลวงพ่อจะถึงซึ่งความสำเร็จในบุญกิริยา ที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติไว้ดีแล้ว ดุจถึงแล้วซึ่งสมบัติทั้งปวงอันเป็นไปเพื่อความสุขโดยธรรมในเบื้องหน้า จึงเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราทั้งหลายควรแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตา เพื่อระลึกถึงพระคุณในองค์ท่านที่ได้กรุณาอบรมสั่งสอนมาโดยตลอดอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ดั่งประจักษ์พยานปรากฏแจ้งต่อสายตาของทุกๆ คน จึงควรอย่างยิ่งที่ได้มากระทำบำเพ็ญบุญกุศล ทักษิณานุปาทานจิต เพื่ออุทิศวิบากสมบัติ คือบุญกุศลที่ได้กระทำในครั้งนี้ ส่งไปถวายหลวงพ่อและน้อมนำมาเป็นอนุสติธรรม เตือนจิตเตือนใจตนเอง ให้เห็นความจริงที่ปรากฏจากศพของหลวงพ่อที่วางไว้ให้ดู ประกาศยอมรับหลักความจริงตามหลักพระพุทธวจนะที่ว่า

หนฺถทานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิโว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺมาเทถ อยํ ตถาคตสฺส ปจฺฉิมวาจา

ความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมเถิด” นั่นเป็นพระปัจฉิมวาจาคือปัจฉิมโอวาทของพระตถาคตเจ้าในครั้งสุดท้าย ซึ่งถือได้ว่าเป็นยอดแห่งธรรม ประชุมธรรมทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อยู่ในความหมายธรรมดังกล่าวคือความไม่ประมาท หลวงพ่อเราได้วางร่างไว้ให้พวกเราทั้งหลายได้ดูเป็นเนติฉบับ เป็นต้นแบบ ให้เห็นความจริงในกฎแห่งพระไตรลักษณ์ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง นามรูปัง เป็นเช่นนี้เอง เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ที่สุดเบื้องหน้าของทุกคน ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ แม้พวกเราทั้งหลายก็คือความตาย ซึ่งสอดคล้องกับภาษิตที่พระนำมาใช้ในการกล่าวบังสุกุลที่ว่า

อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูป สโม สุโขฯ


ความว่า สังขารทั้งหลายนั้นไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความสงบและละสังขารได้เป็นสุขอย่างยิ่ง หากสาธุชนพิจารณาในพระสัทธรรมจะพบคำว่า สังขารเป็นความหมายธรรมที่สำคัญที่ควรพิจารณาเข้าใจให้แจ่มแจ้ง ซึ่งหากแปลตามความหมายของไวยพจน์ก็ได้ความว่า สังขารคือสิ่งที่อาศัยสภาวธรรมปรุงขึ้น แต่งขึ้น จะเป็นอุปาทินนก หรือจะเป็นอนุปาทินนก คือที่มีใจครองหรือไม่มีใจครองก็ตาม หรือจะเป็นปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร หรือจะพูดรวมอยู่ใน กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับการแจกแจงไปตามเหตุและปัจจัยในธรรมแต่ละฝ่ายนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหมายธรรมของสังขาร ซึ่งเมื่อมาพิจารณาตามธรรมอ้างถึงพระบาลีตามที่ยกขึ้นมากล่าวอ้าง ไม่ว่าจะแจกแจงสังขารในรูปแบบใด ก็สรุปรวมให้เห็นว่าควรพิจารณาให้เห็นโทษของสังขารว่าเป็นธรรมดาของสังขาร อันเป็นไปและอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นหรือตั้งขึ้นมาด้วยอำนาจของการต่อเติมปรุงแต่งของสภาวธรรมอันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้นๆ และต้องแปรปรวน ไม่เที่ยง แตกดับ หักทำลาย ไม่คงทน ไม่ยั่งยืน ไม่มีความหมายความเป็นตัวตนบุคคลเราเขาให้เห็น และด้วยการเดินเข้าสู่กระบวนการกฎเกณฑ์ธรรมชาติตามที่กล่าว จึงเป็นปรากฏการณ์ความทุกข์เป็นลักษณะผล จึงกล่าวว่าเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์ จึงสรุปได้ว่าสังขารทั้งหลายจึงเป็นทุกข์ อันปรากฏในพระบาลีที่ว่า
สพฺเพ สงฺขารา อนิจจํ สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขํ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อันเป็นจุดสรุปยอดแห่งธรรม เป็นสิ่งที่ศรัทธาสาธุชนทั้งหลาย ต้องมนสิการให้แจ่มแจ้ง เพื่อความรู้แจ้งในความจริงอันปรากฏอยู่ในลักษณะธรรมที่ปรากฏอยู่แล้วว่า เราทั้งหลายนี้ก็อยู่ในกฎเกณฑ์ความจริงดังกล่าวว่าไม่เที่ยง แปรปรวน แตกดับ เมื่อรู้เข้าใจเช่นนี้เราจึงต้องยอมรับคำกล่าวที่แสดงไว้ว่า เตสํ วูป สโมสุโข คือความสงบระงับในสังขารเป็นสุขอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นความหมายหนึ่งของพระนิพพานอันหมายถึงความสิ้นทุกข์นั้นเอง


(ยังมีต่อ....)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
oratch
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 31 พ.ค. 2008
ตอบ: 98

ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.ย. 2008, 8:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ดังนั้น พระพุทธศาสนาของเราจึงสอนให้มีปัญญาอันเกิดขึ้นตามหลักวิปัสสนาญาณ เพื่อเพิกถอนซึ่งสังขารความปรุงแต่งจากจิตของตน โดยสังขารที่ปรากฏอยู่ดับไป ซึ่งจะมีวิสังขารปรากฏแห่งธรรมเกิดขึ้น ตามการรู้แจ้งในธรรมอันเป็นแก่นสาร เป็นไปตามหลักอริยสัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว ดังนั้นในพระพุทธศาสนาของเราจึงสอนให้รู้จักทำจิตใจให้สงบ อบรมจิตให้เกิดความสะอาด ซึ่งจะมีปรากฏการณ์แห่งความสว่างเกิดขึ้น อันเป็นไปเพื่อให้เราทั้งหลายนั้น มีความเข้าใจในความจริง ระงับความปรุงแต่งคือสังขาร อันเป็นตัวชี้ให้เห็นถึงความจริงว่า เพราะมีความปรุงแต่ง เราจึงมีความทุกข์ คำกล่าวที่ว่า จักขุได้เกิดขึ้น ญาณได้เกิดขึ้น ปัญญาได้เกิดขึ้น วิชชาและแสงสว่างได้เกิดขึ้น ในความหมายธรรม ในพระธัมมจักกัปปวัตตนสุตตังนั้น เป็นความหมายธรรมที่ชี้ให้เห็นการพัฒนาการของจิต ไปสู่ความสงบระงับ อันนำไปสู่ปัญญาเป็นตัวยอดสุด คือ เพื่อนำไปสู่ความสว่าง ที่หมายถึงการหมดสิ้นซึ่งอวิชชาหรือกำจัดความมืดที่ปกคลุมจิตใจให้สิ้นไปแล้วนั้นเอง เราทั้งหลายจึงควรประพฤติปฏิบัติเพื่ออบรมจิตให้เข้าใจและยอมรับในความจริง เพื่อจะได้เห็น เพื่อจะได้ผล เพื่อจะได้พ้นจากความลุ่มหลง ออกมาจากความมืดมัว ทวนกระแสวิถีแห่งโลกียะ ออกมาจากเมฆหมอก อกุศลกิเลส ดังพระบาลีที่กล่าวว่า

ปภสฺ สรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจโข อาคนฺ ตุเกหิ อุปกฺ กิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฐํ

ความหมายว่า ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เหลื่อมประภัสสร แจ้งสว่างมาแต่เดิม แต่อาศัยอุปกิเลส เครื่องเศร้าหมอง เป็นอาคันตุกะมาเยือนสัญจรมาปกคลุมห่อหุ้ม จึงทำให้จิตนี้มิส่องแสงสว่างก็คือมืดมิด จากพระคาถาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ผิดไปจากฐานะอันควรแก่การที่เราทั้งหลาย ที่ควรจะเพียรประพฤติปฏิบัติเพื่อนำตนออกมาจากความเศร้าหมองหรือระงับซึ่งสังขารได้ เพราะด้วยความหมายธรรมดังกล่าวที่ชี้แจงแสดงให้เห็นเหตุปัจจัยชัดแจ้งว่า ดวงจิตดังกล่าวของทุกคนนั้นเป็นจิตที่มีความสว่างไสว เป็นจิตของตัวรู้ มีความสะอาด แต่เพราะอำนาจของอุปกิเลสที่เข้าถือครองปกคลุมอยู่ จึงทำให้มืดมิดและอับปัญญา ในพระพุทธศาสนาจึงสั่งสอนให้นำพาจิตออกมาจากความเศร้าหมอง ระงับสังขารความปรุงแต่ง และละตัดให้ขาดซึ่งสายร้อยรัดมัดยึดโดยจะต้องมั่นคงตั้งมั่นตนดำรงอยู่ในองค์ศีล พระวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ และฝึกฝนพากเพียร อบรมจิตให้รู้จักสงบตั้งมั่น เพื่อเป็นบาทวิถียกจิตเข้าสู่การทำปัญญาให้แจ้ง ตามลำดับภูมิจิตในหลักวิปัสสนาญาณ ซึ่งปรากฏเป็นหลักธรรมในพุทธศาสนาที่เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ อันเป็นไปเพื่อความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรม ซึ่งน้อมนำสั่งสอนโดยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ด้วยวิถีธรรมดังกล่าวนั้น ให้เราได้เห็นความจริงของความสงบระงับจากสังขารความปรุงแต่งนั้น ซึ่งเราทั้งหลายเมื่อพิจารณาเห็นความจริงดังกล่าวแล้วนั้น จึงต้องมีสติปัญญาพิจารณาเข้าไปหาความจริงในฐานแห่งรูปนามขันธ์ ๕ นี้ หรือเพื่อให้เห็นความจริงในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม และรู้จักเลือกเฟ้นธรรม เพ่งพิจารณาธรรมจนแจ่มแจ้ง จนละวางคลายออกมาจากความยึดมั่นยึดถือได้อย่างแท้จริง อันนำไปสู่ความสงบแห่งสังขาร เพื่อให้ถึงซึ่งวิชชาและวิมุตติอันให้เกิดความรู้เท่าสังขาร ซึ่งได้แก่การละสังขารให้ดับ หรือสังขารระงับหยุดไป อันได้แก่พระนิพพานนั่นเอง คำว่าเตสํ วูป สโม สุโข สังขารเหล่านั้นจะเข้าถึงซึ่งความสงบระงับเป็นนิพพานสุขดังนี้ เพราะฉะนั้นการที่พวกเราทั้งหลายได้มาซึ่งการบำเพ็ญบุญกุศลศพของหลวงพ่อของเรานั้น สิ่งสำคัญยิ่งคือการพิจารณาหาความจริงในความหมายแห่งธรรมที่ปรากฏอยู่ในหีบศพดังกล่าวนี้ ว่าเบื้องหน้าแท้ทุกคนนั้นคือเดินสู่ที่หมายเป็นอันเดียวกันคือความตาย แต่สำหรับหลวงพ่อของเรานั้น อาตมาเชื่อมั่นว่าท่านตายอย่างไม่ตาย ที่อาตมายกมากล่าวโดยภูมิปัญญาน้อยนิด แต่กล้าประกาศคำพูดดังกล่าวเพราะเห็นจริงตามธรรมที่ปรากฏซึ่ง วันนั้นก่อนท่านละสังขารจิตท่านสว่างมาก อาตมาได้มีโอกาสบูชาครูครั้งยิ่งใหญ่ด้วยการสาธยายบทพระธัมมจักกัปปวัตตนสุตตังในจิตอาตมาประมาณ ๔๐ – ๕๐ นาที (โดยประมาณ) โดยการยืนเข้าสมาธิอยู่ข้างเตียงหลวงพ่อ โยมรามซึ่งเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดของหลวงพ่อคนหนึ่งก็ได้พูดขึ้นมาดังๆ ว่า “ขณะนี้เครื่องวัดชีพจรของหลวงพ่อหรือเครื่องวัดการเต้นของหัวใจซึ่งจากเดิมอยู่ที่ ๗๐ บัดนี้ได้สูงขึ้น ๒๐๐ กว่า เมื่อพระอาจารย์อารยะวังโสกำลังแผ่เมตตาให้หลวงพ่ออยู่” จริงๆ แล้วอาตมาได้สวดอธิษฐานธรรมบูชาด้วยเจตนาเพื่อต้องการส่งหลวงพ่อด้วยธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเกิดสำนึกรู้ขึ้นโดยธรรมขณะยืนเข้าสมาธิข้างเตียงของหลวงพ่อเพื่อน้อมถวายท่าน เพราะขณะนั้นท่านวางร่างอยู่อย่างสงบและยังมีจิตถือครองอยู่ดุจเหมือนคล้ายว่าไม่สามารถที่จะรับรู้อะไรได้มากนักในทางกายภาพ แต่จิตของหลวงพ่อนั้นยังเข้มแข็งยังสมบูรณ์ยิ่ง ดังนั้นการบูชาด้วยการปฏิบัติจึงมีความสำคัญยิ่งด้วยประการที่กล่าวมามากกว่าอามิสบูชาทั้งหลาย ตรงตามที่พระพุทธองค์กล่าวไว้ จากห้วงเวลาที่ผ่านมาหลายครั้งเมื่ออาตมาเข้ามาเยี่ยมหลวงพ่อที่โรงพยาบาล ท่านกล่าวว่า ตาย ตาย ตาย ก่อนอาตมากลับ ซึ่งท่านได้แสดงให้เห็นถึงการระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์ธรรม เป็นมรณสติอยู่ตลอดเวลา หลวงพ่อไม่เคยประมาท ดั่งที่ปรากฏตามที่กล่าวมาโดยย่อโดยเฉพาะการดำรงตนมั่นคงอยู่ในพระธรรมวินัยของหลวงพ่อ ตามความเหมาะกับฐานานุรูปของท่านซึ่งควรแก่เราทั้งหลายทั้งพระภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา การที่จะระงับสังขารความปรุงแต่งได้นั้น ต้องมั่นคงดำรงอยู่ในพระธรรมวินัย คือมีศีล มีธรรม มั่นคงอยู่ในสิกขาบทน้อยใหญ่ สิ่งใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบัญญัติว่าสิ่งนี้ห้ามกระทำ ในฐานะพุทธบริษัทที่มีความสมบูรณ์โดยคุณสมบัติ ทั้งพระสงฆ์ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกา นั่นคือสิ่งที่เราต้องปฏิบัติ ต้องไม่ล่วงละเมิดในการกระทำนั้น สิ่งใดที่บัญญัติพุทธานุญาตว่าให้กระทำเถิด สิ่งนั้นเราทั้งหลายควรจะกระทำและประพฤติปฏิบัติให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป

หลวงพ่อเป็นแบบฉบับของครู เป็นแบบฉบับของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ดี เป็นต้นแบบของพระสงฆ์ในเขตพระพุทธศาสนา เป็นพระมหาเถระที่ได้รับความเคารพยกย่องบูชา ทั้งในวงการพระสงฆ์และในวงการของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ด้วยปฏิปทาขององค์ท่านนั้นตั้งมั่นดำรงอยู่ในธรรม สงบระงับ และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แม้ในปัจฉิมกาลสุดท้ายของท่าน หลายครั้งที่อาตมาเดินทางเข้ามากราบท่านตามเวลาที่พอจะอำนวย ตามเหตุการณ์ที่พึงจะกระทำได้ ท่านมีสติครองการรับรู้นั้นได้ดียิ่งนัก และมีการสอดส่องอารมณ์ตนอยู่ตลอดเวลา อาจจะมีใครมากล่าวว่าท่านอายุมากแล้ว หลงๆ ลืมๆ คงเป็นเรื่องของความเข้าใจไม่ถูกต้องและออกจะปรามาสธรรมเพราะในความจริงหลวงพ่อท่านยังจดจำ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ดีมาก ไม่เคยปรากฏว่าท่านจะหลงลืมเรื่องสำคัญใดๆ เลย จึงไม่เป็นความจริงตามคำกล่าว อาตมาไม่เชื่อเป็นเช่นนั้นเลยในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดในฐานะ “ตุ๊หลวงของหลวงพ่อ” ที่ท่านได้สร้างมากับมือของท่าน ซึ่งในห้วงเวลาช่วงที่อาตมารับภาระสร้างวัดป่าพุทธพจน์ฯ ตามบัญชาของท่าน ต้องกล่าวออกตัวก่อนว่าอาตมาไม่ใช่พระนักสร้าง และไม่ได้อยากจะสร้าง แต่เมื่อพระอุปัชฌาย์คือหลวงพ่อท่านบัญชาว่า ให้ไปรับภาระสร้างวัดที่ลำพูน ให้ไปเป็นตุ๊หลวงที่นั่น อาตมาก็รับบัญชาดังกล่าวไป จนสำเร็จลุล่วงด้วยดีครบถ้วนด้วยองค์ธรรมของความเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ซึ่งการที่สามารถสร้างให้สำเร็จลุล่วงได้เร็วนั้นเพราะท่านเป็นกำลังใจ ให้กำลังธรรม และให้ข้อแนะนำคำสั่งสอนในทุกครั้งทุกเรื่องและทุกกาลเมื่อท่านเมตตาเดินทางไปพักไปอยู่ที่วัด เพราะวัดป่าพุทธพจน์ฯ ซึ่งเป็นวัดของท่าน มาจากชื่อของท่าน โดยเหตุผลข้อหนึ่งก็คือน้อมถวายเพื่อบูชาคุณท่าน ท่านจึงตั้งกติกาว่าจะไปพักที่วัดทุกเดือนๆ ละครั้งโดยมีความหมายธรรมหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือเพื่อให้อาตมาได้อยู่วัด เพราะอาตมามักจะจาริกไปในที่ต่างๆ ตามข้อปฏิบัติของอาตมาซึ่งถือว่าเป็นพระป่า และโดยเฉพาะการจาริกปฏิบัติธรรมอยู่ในชมพูทวีป เพื่อประพฤติปฏิบัติธรรมตามรอยบาทพระบรมศาสดาจารย์ ท่านจึงมีอุบายไปพักที่วัดทุกๆ เดือน อาตมาจึงต้องกลับวัดทุกๆ เดือน เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับอาตมาก็คือ ท่านอบรมอาตมาอยู่ตลอดเวลาในทุกๆเรื่องอย่างมีอุบายวิธีที่ชาญฉลาดของท่าน ซึ่งสิ่งใดก็แล้วแต่ที่ไม่ถูกต้อง หลวงพ่อจะอบรมตลอดเวลา ทั้งการสวดมนต์ ทั้งการแสดงธรรม ทุกอย่างในจริยาวัตรต่างๆ ของความเป็นพระ แต่ไม่ได้สอนตรงๆ แบบการสอนในห้องเรียน ท่านมีอุบายการสอน ท่านมีวิธีการที่แยบคาย โดยการปฏิบัติให้ดู บอกให้รู้ ชี้ให้เห็น นี่เป็นยอดอุบายการสอนของครูที่เป็นแบบฉบับในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระบรมครูของเราคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นยอดพุทธวิธีในการสั่งสอนสัตว์ของพระองค์ท่าน หลวงพ่อเดินตามรอยบาทธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง แม้ในวัยชราดังกล่าวนั้นท่านไม่ได้เหน็ดเหนื่อย ความไม่เหน็ดเหนื่อยดังกล่าวนั้นเพราะจิตใจของท่านมีความสงบ ความสงบจากสังขารการปรุงแต่งนั้นจึงมีผลปรากฏให้เห็นตามที่กล่าว ซึ่งอาตมาเชื่อมั่นว่าท่านสงบแล้ว ส่วนจะเข้าถึงญาณวิถีระดับใดนั้น ละสังโยชน์ขาดสะบั้นอย่างสิ้นเชิงอะไรก็แล้วแต่ นั่นเป็นเรื่องภูมิธรรมของท่าน อาตมาไม่มีสิทธิ์ไปพยากรณ์บอกกล่าวใดๆ อาตมาเชื่อมั่นว่าแม้ในวัยบั้นปลายของท่าน ด้วยความสงบระงับจากความปรุงแต่งตามที่ปรากฏ ท่านมีความสุขแล้วโดยธรรมและละสังขารอย่างสงบจริงๆ นั้น ท่านไม่ได้เลอะเลือนตรงไหนเลย ท่านมั่นคงดำรงอยู่ในวิถีแห่งพระธรรมวินัยอันถูกต้องเหมาะควรทุกประการ

(ยังมีต่อ.....)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
oratch
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 31 พ.ค. 2008
ตอบ: 98

ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.ย. 2008, 8:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ครั้งสุดท้ายที่อาตมาได้กราบท่านในห้องไอซียูที่โรงพยาบาล ตอนนั้นไม่สามารถจะพูดได้แล้ว เพราะหมอได้ต่อท่อร้อยสายไปทั้งตัวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ท่านรับทราบได้ในวันนั้นคืออาตมามากราบท่าน เพื่อเรียนให้ท่านได้ทราบว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ จะเสด็จมาฟังธรรมที่วัดป่าพุทธพจน์ฯ เป็นการส่วนพระองค์ อาตมาเห็นว่าจำเป็นต้องมากราบให้ท่านได้อนุโมทนา ได้รับทราบเพราะถ้าหลวงพ่ออยู่ หลวงพ่อคงจะต้องไป หลวงพ่อเป็นผู้ที่มีปฏิสันถารอันเยี่ยมยอดมาก เป็นผู้ที่มีความกรุณาอันยิ่งใหญ่มาก เป็นผู้ที่สละตนให้กับพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือสงเคราะห์อนุเคราะห์ศรัทธาสาธุชนมากมายและ โดยเฉพาะการปลุกปั้นอาตมาขึ้นมาให้เป็นตุ๊หลวงเป็นพระสงฆ์ที่ดีมีคุณภาพ มีคุณธรรม หลวงพ่อท่านได้มองอาตมามาตั้งแต่สมัยแรกๆ โดยเมื่อท่านได้พบเห็นอาตมา และต่อมาอาตมาได้นำใบสุทธิไปให้ท่านลงนาม ท่านได้ดูรูปถ่ายของอาตมาสลับกับการมองหน้าอาตมาและกล่าวว่า “เหมือนหลวงปู่แหวนเลย...เน้อ! อยู่ให้นานเหมือนหลวงปู่...เน้อ! ” ต้องบอกว่าอาตมาบวชเข้ามาในพระศาสนานั้น ไม่ได้เตรียมตัวมาเป็นเจ้าอาวาสใดๆ เลย แต่ด้วยหลวงพ่อเป็นเหตุให้อาตมาต้องรับภาระ และต้องทำด้วยความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน จึงรับภาระดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ด้วยความผูกพัน ระหว่างท่านกับอาตมาและวัดป่าพุทธพจน์ฯ ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นร่องรอยครั้งแรกท่านก็ต้องเข้าไปสู่วิถีที่จะต้องให้กำลังใจ ให้กำลังธรรม สั่งสอน บอกกล่าวทุกอย่างทุกประการ

วันหนึ่งท่านไปนอนจำวัดอยู่ในห้องกุฏิของอาตมา เมื่อไปทุกครั้งอาตมาก็ต้องสละกุฏิที่พักเดิมให้ครูบาอาจารย์หลวงพ่อได้ใช้ ท่านจะเห็นม้วนเทปบันทึกการแสดงธรรมของอาตมา ซึ่งมีเทปธรรมะมากมายในพรรษาปี 2545 ณ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชยซึ่งในขณะนั้นเป็นสำนักปฏิบัติธรรมพุทธพจนวราภรณ์ สาขาของวัดเจดีย์หลวงฯ เมื่อก่อนที่วัดอาตมาจะบันทึกเทปเมื่อแสดงธรรมเพื่อให้ศรัทธาสาธุชนทั้งหลายได้ฟังกัน ท่านก็พูดเปรยๆ ว่า เหมือนหลวงปู่สิม เพราะหลวงปู่สิมชอบแสดงธรรมเหมือนกัน ท่านกล่าวว่าทราบไหมว่าการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าวางหลักการไว้อย่างไร และท่านได้ยกอนุปุพพิกถามากล่าว ซึ่งอาตมาก็ได้แสดงให้ท่านฟังว่าในหลักการการแสดงธรรมเป็นเช่นนี้ ท่านบอกถูกต้อง หลายๆ ครั้งด้วยจิตที่สงบของท่านจากความปรุงแต่ง มีสติอันบริสุทธิ์ และเมื่อท่านมาใช้ที่พักของอาตมา บนเตียงตั่งต่างๆ ที่อาตมาใช้นั่งกรรมฐานในบางแห่งบางที่ท่านจะเห็นอาตมาเขียนบาลีไว้บนเตียงตั่ง ท่านถามนี่อะไร อาตมากล่าวบอกว่า “เมื่อกระผมเข้าภาวนาลึก มนสิการธรรมอยู่ เกิดบาลีอุทานเกิดขึ้นในจิต เกิดข้อธรรม เกิดบาลีเกิดขึ้น เกรงว่าจะจำไม่ได้เมื่อถอนสมาธิจึงหรี่ตาออกมาเล็กน้อย เพื่อจดจำไว้” เพราะอำนาจจิตที่ลึกเข้าไปในความหมายธรรมนั้น ถ้าเราถอนสมาธิออกมาแล้วและไม่ใคร่ครวญให้ละเอียด ไม่ถึงสัก ๕ นาทีที่เราจดจำแม่นนั้นจะลืมเหมือนกับเราโยนก้อนหินลงไปในน้ำ จอกแหนทั้งหลายกระจายออก พอหมดคลื่นดังกล่าวจอกแหนก็จะปิดกลบเหมือนเดิม จิตทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เพราะธรรมทั้งหลายที่ลุ่มลึกเข้าไปในความหมายธรรม เมื่อถอนสมาธิออกมาสักระยะหนึ่งไม่มาก ๕-๑๐ นาที ที่ท่องสอดส่องเมื่อกี้แม่นยำด้วยประโยคอันยาวทั้งหมดก็จะจบ ได้แต่สาระแก่นธรรมว่าโดยข้อสรุปเท่านั้นเอง จึงจดเป็นบาลีและอะไรที่อุบัติเกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติไว้ ท่านได้อ่านได้ดู หลายครั้งอาตมาได้ขออนุญาตยกธรรม และแสดงให้ท่านได้รับฟังสั้นๆ เพื่อท่านจะได้ตรวจสอบ เพราะหลวงพ่อมีภูมิธรรมความรู้ที่แจ่มแจ้ง ซึ่งท่านจะช่วยตรวจสอบ ช่วยอนุเคราะห์ สงเคราะห์แนะนำ พระน้อยๆ รูปหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ซึ่งท่านพยายามปลุกปั้นขึ้นมาให้รับภาระและรับผิดชอบในพระพุทธศาสนาให้มีความรู้ความเข้าใจ มีข้อประพฤติอย่างถูกควรตามพระธรรม และโดยเฉพาะการรับภาระในการสั่งสอนศรัทธาสาธุชนทั้งหลาย ที่วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ชื่อดังกล่าวนี้เป็นชื่อที่ท่านเป็นผู้ตั้งขึ้นมา และวัดดังกล่าวนี้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการอนุญาต มีการจดทะเบียนชื่อวัดถูกต้องทั้งหมด ผ่านกระบวนการอนุญาตของทางฝ่ายราชการทั้งหลายอย่างถูกต้องและยกฐานะขึ้นมาเป็นวัดอย่างรวดเร็วมา บัดนี้ผ่านขั้นตอนของการขอพระราชทานวิสุงคามสีมาเรียบร้อยแล้ว เดิมทีอาตมาตั้งใจว่าอย่างน้อยๆ ในปัจฉิมกาลของท่านก่อนละสังขารอยากให้หลวงพ่อได้อยู่ในพิธีการเป็นประธานตัดลูกนิมิต ยกช่อฟ้าพระอุโบสถ เพื่อสนองบุญคุณของท่านในปัจฉิมวัยในปัจฉิมกาล แต่ด้วยความที่ประมาทเรื่องกาลเวลาไปเล็กน้อยจึงยังไม่สามารถที่จะทำตรงจุดนั้นได้ตามความประสงค์ เพราะมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบดูแลประสานงาน แต่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ จึงไม่อยากกล่าวโทษใคร คิดว่าเป็นความบกพร่องของตนเอง แต่อย่างไรก็ตามหลวงพ่อได้เห็นได้รับรู้รับทราบทั้งหมดทั้งหลายของวัดป่าพุทธพจน์ และท่านมีความภาคภูมิใจเพราะวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน หลวงพ่อเป็นชาวลำพูน วัดดังกล่าวนี้อยู่ในสมัยปัจฉิมวัยของท่านและตั้งขึ้นมาตามนามชื่อฐานาของท่าน ทั้งนี้เพื่อสืบทอดสายปฏิบัติตามปฏิปทาของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตะเถระ อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง และเพราะอาตมาเป็นพระปฏิบัติจึงเป็นหน้าที่ซึ่งถูกต้องโดยธรรมตามความตั้งใจของหลวงพ่อ และจากที่อาตมายกเรื่องขึ้นมาดังกล่าวทั้งหมดนี้เพื่อให้เห็นว่า ในปัจฉิมกาลของท่าน ท่านไม่ได้อยู่นิ่งเฉยสงบเหมือนคนแก่ทั่วๆ ไป หลวงพ่อยังตรวจแบบก่อสร้าง หลวงพ่อยังตรวจเอกสารทั้งหลาย หลวงพ่อยังเป็นที่พึ่งพิง เป็นที่พักพิง และให้หลักการเรียนรู้ทางธรรมะสั่งสอน

มีอยู่ครั้งหนึ่งอาตมานำพระสวด อาตมาก็จะสวดเร็วไปตามวิถีของอาตมาที่คุ้นเคยกับการสวดเร็วๆ จากที่เคยอยู่ในสำนักในสายของพระปฏิบัติ ท่านก็ไม่ค่อยจะถูกอกถูกใจเท่าไร แต่ความไม่ถูกอกถูกใจของหลวงพ่อไม่ได้แสดงความโกรธ ความเกลียด หรือความไม่ชอบ ท่านนิ่งสงบ หลวงพ่อเมื่อมีอะไรที่สะดุดเล็กน้อยก็จะนิ่งสงบ ไม่เหมือนเราๆ ทั้งหลายที่จะแสดงออกมาด้วยความเกรี้ยวโกรธ หรือไม่ชอบทั้งทางวาจาและทางกาย แต่หลวงพ่อจะสงบ ไม่เคยเห็นหลวงพ่อพูดว่าใครให้เจ็บช้ำน้ำใจ ไม่เคยเห็นหลวงพ่อพูดอย่างไร้สาระ มีสาระธรรมเสมอแม้ในอารมณ์ขันของท่าน และเมื่ออาตมาต้องพาท่านมาถึงที่พักที่รับรองที่วัดป่าพุทธพจน์ฯ ท่านบอกว่า “อารยะวังโสนั่งลง ไหนสวดมนต์ใหม่ซิ” อาตมาก็นึกในใจอยู่แล้วว่าท่านต้องมีอะไรจะพูดด้วยเพราะท่านมองนิ่งอย่างผิดปกติซึ่งอาตมาต้องสวดมนต์ให้ท่านฟัง สวดแล้วท่านก็ปรับพยัญชนะ อักขระ ปรับทำนอง แล้วให้กำลังใจว่าสวดดีแล้วตามที่กล่าว จะเห็นได้ว่าเรื่องใดๆ ก็แล้วแต่ ท่านไม่เคยมองผ่าน ไม่มองเป็นของเล็กน้อย และจะให้การแนะนำสั่งสอนอบรมตามควร และตามกำลังที่พึงจะรับได้ไม่หักหาญน้ำใจ ไม่ใช้เกินกำลัง อาตมาจึงขอยกบูชาว่า หลวงพ่อเป็นพ่อผู้ให้กำเนิดทางธรรมอย่างแท้จริง ที่สำคัญยิ่งเป็นพ่อที่เรากราบได้อย่างแนบสนิท เพราะความสะอาดด้วยศีลธรรมของท่าน ความมากไปด้วยเมตตากรุณา ทุกครั้งที่อาตมาออกมาจากการปฏิบัติในป่าหรือลงมาจากภูเขา จะต้องเดินทางมาวัดเจดีย์หลวงเพื่อมากราบหลวงพ่อท่านก่อนที่จะไปสู่การปฏิบัติต่อเนื่องหรือไปสู่สำนักเล็กๆ ที่จะปฏิบัติต่อไปโดยได้กราบที่เท้า ท่านเอาเท้าขึ้นแตะศีรษะเพื่อที่จะให้เป็นมงคล เป็นข้อปฏิบัติในสายพระกรรมฐาน ซึ่งในสมัยของครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่ท่านก็ทำเช่นนี้

ตามความเดิมแห่งวิถีชีวิต อาตมาไม่ได้รู้จักกับหลวงพ่อมาก่อน เมื่ออาตมาต้องบวชในพระพุทธศาสนาโดยตั้งใจว่าจะบวชตลอดชีวิต หลวงปู่ของอาตมารูปหนึ่งในสายของหลวงปู่มั่นเป็นพระอาจารย์ใหญ่องค์หนึ่ง สอดส่องว่าจะหาพระอุปัชฌาย์ที่ไหนหนอให้กับอาตมา เลือกองค์นั้นก็ไม่ได้องค์นี้ก็ไม่ได้ เพราะท่านรู้ภูมิธรรมภูมิจิตของพระสงฆ์ดีว่าแต่ละองค์เป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อหาข้อสรุปไม่ได้อาตมาก็เอ่ยขึ้นมาว่า ถ้าหลวงพ่อวัดเจดีย์หลวงล่ะ ท่านบอกว่าได้เลย ท่านบอกว่าขณะนี้หลวงพ่อวัดเจดีย์หลวงไม่สบาย อยู่ที่วัดป่าดาราภิรมย์เพิ่งออกจากโรงพยาบาลมีลักษณะเป็นอย่างนั้นๆ ท่านรู้หมด และอนุญาตให้อาตมาเดินทางไปพบได้เลย เมื่ออาตมาเดินทางไปพบหลวงพ่อโดยส่งตัวมาจากหลวงปู่ใหญ่องค์หนึ่งซึ่งปัจจุบันได้ละสังขารไปแล้ว และเมื่อหลวงพ่อท่านรู้ ท่านก็ได้เมตตารับอนุเคราะห์และสงเคราะห์อย่างยินดียิ่ง เกื้อกูลเต็มกำลัง พระสงฆ์รูปหนึ่งที่เป็นพระผู้ใหญ่บอกว่า “ถ้าส่งมาจากหลวงปู่รูปนี้แล้ว รับรองได้ว่าถูกคัดมาอย่างมีคุณภาพเพราะเคยไปพักอาศัยกับหลวงปู่จึงรู้ปฏิปทาของพระสายปฏิบัติโดยเฉพาะของหลวงปู่ได้" จากความเดิมซึ่งอาตมาเลือกหลวงพ่อโดยที่ไม่ได้รู้จัก มาเป็นพ่อทางธรรม (พระอุปัชฌาย์) นั่นหมายความว่าความเกี่ยวเนื่องในวาสนาบารมีในอดีตที่ผ่านมาย่อมเกี่ยวข้องกัน ดุจดังเช่นท่านทั้งหลายที่มีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวข้องในสายทางธรรม กับพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ในสายปฏิบัติหรือกับบุคคลทั้งหลาย “สิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้เกิดสิ่งนี้จึงเกิด สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ” นี่เป็นหลักความจริงในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติซึ่งเป็นพระสัทธรรมที่กล่าวไว้ ที่ประกาศไว้ อันเป็นหลักธรรมในปฏิจจสมุปบาทธรรม ให้เห็นเหตุเห็นปัจจัยอันเป็นเหตุและเป็นผล เป็นปรากฏการณ์ของความจริงว่าต้องเป็นเช่นนี้ (และเป็นเช่นนี้เองเพราะมีเหตุมีปัจจัยอย่างนี้

การสู่วิถีธรรมดังกล่าวนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราทั้งหลายควรที่จะพิจารณาให้ลึกซึ้ง ให้เห็นความจริงจากหลักธรรมที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า ดุจดังเช่นที่อาตมายกขึ้นกล่าว เพื่อให้เห็นปฏิปทาของท่านและเห็นเส้นทางธรรมของอาตมา และสำคัญยิ่งคือบัดนี้เราทั้งหลายมาบำเพ็ญกุศล เพื่ออุทิศบุญกุศลน้อมถวายแด่หลวงพ่อ และเป็นไปเพื่ออุทิศให้กับญาติสายโลหิตทั้งหมดทั้งหลายของเราที่ล่วงลับไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อยังสอนพวกเราอยู่แม้กระทั่งวันนี้คือ การวางร่างนี้ไว้อย่างสงบนิ่ง อาตมามั่นใจว่าสามารถใช้คำว่าท่านละสังขารได้อย่างเต็มปากเต็มจิต ความหมายคำว่าละสังขารคือ สังขารสงบระงับ คือความสิ้นทุกข์ ยกคำดังกล่าวไว้บูชาพระผู้ซึ่งทรงธรรม หลวงพ่อทรงธรรม ทรงคุณ และไปอย่างสงบ ระงับซึ่งสังขารอย่างแท้จริง ส่วนจะเป็นวิถีธรรมอันใดญาณวิถีระดับใดนั้น นั่นเป็นเรื่องสภาวธรรมของหลวงพ่อ อาตมาเชื่อว่านี่คือความจริงที่ท่านทั้งหลายพึงควรศึกษา เรามาทำบุญกุศลในงานศพดังกล่าวนี้ สิ่งหนึ่งคือยกศพขึ้นมาเป็นครู ชี้แจงแสดงให้เห็นว่าจากเบื้องหลังคือการเกิด และสู่เบื้องหน้าทั้งหมดทั้งหลายนั้นของทุกคนคือความตาย แต่หลวงพ่อนั้นเป็นผู้ตายอย่างไม่ตาย เพราะสงบระงับซึ่งสังขารความปรุงแต่งตามที่กล่าวมา เราทั้งหลายจึงควรเอาเป็นแบบอย่าง เป็นแบบฉบับ โดยการศึกษาหลักธรรมและประพฤติปฏิบัติตามธรรม น้อมนำมาพิจารณาว่าธรรมอันใดเป็นไปให้เกิดความสงบระงับซึ่งสังขารธรรมทั้งหลาย ธรรมอันนั้นแหละ เราขอบูชาจากพระพุทธพจนวราภรณ์ ผู้ทรงไว้คุณศีล คุณธรรม คุณทางปัญญา ที่บอกว่ากล่าวว่า แม้ท่านอยู่ในวัยชรา ๙๑ ความเลอะเลือนไม่เคยปรากฏกับหลวงพ่อให้อาตมาได้เห็น เฉพาะในส่วนที่อาตมาได้สัมผัสจนถึงวาระสุดท้าย แม้สุดท้ายที่ท่านพูดไม่ได้ กล่าวไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล ไอซียู ในมือข้างหนึ่งที่ยกมาลูบศีรษะอาตมาด้วยเมตตา เหมือนเมตตาเด็กน้อยคนหนึ่ง พ่อเมตตาลูก พยายามสื่อสารบอกอาตมา พูดไม่ได้ก็เขียนใส่กระดาษ และเขียนไม่ปรากฏเป็นอักษร อาตมาก็แปลไม่ออกว่าเขียนว่าอะไร นั่นเป็นกระดาษการเขียนให้อาตมาครั้งสุดท้าย และหลังจากนั้นแม้จะได้พบอีก ท่านก็วางร่างนิ่งสงบ อยู่ในการรักษา ไม่สามารถสื่อสารส่งอะไรต่างๆ ออกมาได้อีกแล้วจนวาระสุดท้าย แต่โดยวิถีธรรมที่ปรากฏแม้สุดท้ายแห่งเวลาขณะอยู่บนเตียงท่านยังรับรู้รับทราบด้วยจิตที่สงบ จึงกล่าวได้ว่าหลวงพ่อจากไปด้วยความสงบปราศจากความปรุงแต่ง เตสํ วูป สโมสุโข ความสงบระงับจากสังขารเป็นความสุขอย่างยิ่ง อาตมาจึงเชื่อมั่นว่าหลวงพ่อของเรานั้น ไปสู่วิถีธรรมอันสูงและมีสัมปรายภพเบื้องหน้านั้นคือความสิ้นทุกข์อย่างแท้จริง ควรแก่เราทั้งหลายนั้นได้ดู ได้เห็น ยกขึ้นมาเป็นครู และประพฤติปฏิบัติตามรอยธรรม จดจำตามคำสั่งคำสอนขององค์ท่าน สำคัญยิ่งคือ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะที่สุดคือความตาย ตามที่เราสวดและกล่าวเสมอว่า “เรานั้นมีความตาย จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้”
(ยังมีต่อ.....)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
oratch
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 31 พ.ค. 2008
ตอบ: 98

ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.ย. 2008, 8:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อเราตั้งจิตอย่างนั้นขึ้นมาให้เห็นว่า เรานั้นมีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ สังขารนี้ไม่เที่ยงแปรปรวนจึงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นยึดถือ การจะเข้าสู่ความไม่ควรเข้าไปยึดมั่นยึดถือดังกล่าวนั้น เราก็น้อมเข้าสู่จิต ตั้งจิตนั้นให้สงบ และระลึกรู้อยู่ที่ว่า เรามีความตายเป็นอารมณ์ แม้เราเบื้องหน้าก็ต้องตายเช่นเดียวกับหลวงพ่อ สำคัญยิ่งคือเราควรสงบจากสังขารความปรุงแต่งเช่นเดียวกับท่านเช่นเดียวกัน ความสงบได้นั้น ต้องทำจิตเราให้มีความตั้งมั่น มีสติควบคุมจิต มีความรู้ชอบในทางกาย และจิตที่ตั้งมั่นนั้นสอดส่องเข้าไปหาความหมายในอำนาจแห่งธรรม เห็นความจริงในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม หรือในรูปนามนี้ว่า สรรพธรรมทั้งหลายล้วนแล้วแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง เลือกเฟ้นธรรม พิจารณาให้ลึกซึ้งในอำนาจธรรมที่เกิดขึ้นในจิตจนแจ่มแจ้งเห็นความจริงในรูปนามขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๔ ว่าเป็นสรรพธรรมอันหนึ่งที่ก่อเกิดขึ้นไม่ควรยึดมั่นยึดถือ การเข้าไปสู่วิถีธรรมดังกล่าวนั้นได้นั่นแลจึงจะนำไปสู่ความสงบระงับได้อย่างแท้จริงบนวิถีธรรมที่ต้องประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม ที่มีสติระลึกรู้ชอบอยู่ตลอด มีความเพียรชอบอยู่ตลอดในการระลึกรู้ชอบนั้น และมีกำลังธรรมอันเกิดขึ้นในการประพฤติปฏิบัติ ยกอำนาจอิทธิบาท พละ อินทรีย์ โพชฌงค์ ขึ้นมาประมวลประชุมธรรมลงอยู่ในดวงจิตของเรา เพื่อให้เกิดญาณทัสนาวิสุทธิ รู้แจ้ง รู้จริง เพื่อดับทุกข์ให้สิ้น โดยใช้ฐานะของความเป็นมนุษย์นี่ประเสริฐสุด นี่แหละเป็นที่ประกอบกรรมทำความดี ซึ่งสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดของความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง

เราทั้งหลายจึงควรน้อมนำธรรมเข้าสู่จิต เพื่อบูชาธรรม การบูชาธรรมเป็นการบูชาอันสูงสุด แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็บูชาธรรม แม้หลวงพ่อของเราก็บูชาธรรม ผู้บูชาธรรมจึงนำธรรมะมาแสดงบอกกล่าวว่า ท่านทั้งหลายพึงบูชาธรรมเถิด บัดนี้เราทั้งหลายพึงบูชาธรรมเถิด ธรรมดังกล่าวคือความไม่ประมาท เพราะทุกคนมีความตายเป็นเบื้องหน้า เห็นความจริงอันเป็นปรากฏการณ์ว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจํ
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขํ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ และสรรพธรรมทั้งหลายนั้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ตัวตนบุคคลเราเขา น้อมกลับมาหาความจริงในธรรมทั้งปวง เราก็เป็นธรรมอันหนึ่ง เราก็เป็นสังขารอันหนึ่ง รูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็นสังขารอันหนึ่ง มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ และมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
ดุจดั่งที่หลวงพ่อได้วางร่างไว้ให้ดูในหีบศพดังกล่าว อาตมามาเกือบทุกวัน มานั่งภาวนาในยามบ่ายยามเย็นเพื่ออุทิศถวายด้วยการปฏิบัติบูชาแด่หลวงพ่อของอาตมา

จึงขอชักชวนท่านทั้งหลายว่า ในช่วงเวลาสั้นๆ สัก ๔-๕ นาที พึงสำรวมจิตให้มั่นคงดำรงรู้ไว้โดยอำนาจธรรมว่า เรามีความตายอย่างนี้เช่นเดียวกัน จะหนีความตายไปไม่พ้น ยอมรับหลักความจริงอันเป็นกฎธรรมชาติดังกล่าวว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ท่านทั้งหลายมางานศพนี้ ไม่สูญเปล่า เพราะมาแล้วได้เห็นความจริงว่า นามรูปํ อนิจฺจํ ได้เห็นความจริงว่า นามรูปํ อนัตฺตา นามรูปนี้ไม่เที่ยง นามรูปนี้เป็นทุกข์ นามรูปนี้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ตัวตนบุคคลเราเขา วันนี้หลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์นั้นเป็นเพียงแค่สมมุติ แต่เป็นสมมุติที่ไปสู่คำว่า วิมุตติธรรม ด้วยจิตนั้นบริสุทธิ์ และวางร่างไว้ในหีบดุจท่อนไม้แลท่อนฟืนอันเป็นสัจธรรมความจริงตามที่กล่าว ไม่มีส่วนใดเลยที่บ่งบอกว่า ท่านเป็นพระพุทธพจนวราภรณ์ ให้เราหลงเหลือไว้อีก เพราะรูปดังกล่าวนั้นคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันประชุมกันไว้ บัดนี้แตกสลาย ลมดับ ไฟดับ น้ำเน่า ดินพัง หมอต้องฉีดยากันเน่า เปิดหีบไว้เล็กน้อยเพื่อกลิ่นเหม็นจะได้โชยออกไป เรามากราบศพ แต่ศพดังกล่าวนั้นมองเข้าไปในความหมายแห่งธรรม คือ พระอนิจจัง พระทุกขัง พระอนัตตา แล้วก็ปลงศพ ปลงคือ ละ วาง คลายออกจากความยึดถือ เข้าใจในความจริงดังกล่าว ตามที่ประกาศไว้ในพระพุทธวจนะ ที่กล่าวไว้ว่า สพฺพ ธมฺมา อนตฺตา เราจะพบกฏความจริงของความเป็นธรรมชาติ ว่าธรรมทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นเช่นนี้เอง เป็นตามเหตุตามปัจจัย สพฺพ ธมฺมํ นาลํ อภินิเวสาย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น การรู้เข้าใจในความแจ่มแจ้งดังกล่าวนั้น ยังให้เราคลายออกจากความยึดถือ การคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่น จึงทำให้จิตเราสลัดสู่ความเป็นจิตที่มีความสว่าง ออกมาจากความมืด และพบกับความจริงตามสัจธรรม เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์ และนั่นคือการเข้าสู่ความระงับสังขารได้อย่างแท้จริง ขอทุกท่านได้สำรวมจิต กายวาจา ใจ บูชาธรรมเพื่อการพร้อมในการอุทิศบุญกุศลให้กับหลวงพ่อตามเจตนาของทุกคนที่ต้องการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตาแด่องค์ท่าน

บัดนี้อาตมาใคร่ขอตั้งจิตอธิษฐาน เพื่ออุทิศบุญกุศลที่ได้ประพฤติปฏิบัติ พร้อมทั้งศรัทธาสาธุชนทั้งหลายที่ได้มาบำเพ็ญบุญกุศลศพในครั้งนี้ ขออำนาจบุญกุศลใดที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาถึง ณ กาลบัดนี้ และด้วยอำนาจธรรมที่ปรากฏบังเกิดขึ้นจากการบูชาพระธรรมเทศนา จึงขอพร้อมใจกันตั้งอธิษฐานจิต ขอน้อมอุทิศแด่หลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ อันเป็นไปเพื่อที่สุดของความสิ้นทุกข์ ด้วยจิตเจตนาของความกตัญญูกตเวทิตา เหมาะควรแก่เวลา อิมินา กต ปุญฺเญน ขออำนาจกุศลทักษิณาทาน ที่คณะเจ้าภาพได้กระทำบำเพ็ญให้เป็นไปในวันนี้ ซึ่งมีหม่อมหลวงสราลี กิติยากร คุณเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน และคณะศรัทธาทุกๆ คน ที่ไม่ได้เอ่ยชื่อเอ่ยนามในคณะศิษย์ศรัทธาวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชยก็ดี สาธุชนผู้มีความเคารพสักการบูชาในหลวงพ่อ จงยังความสำเร็จแด่หลวงพ่อในการอุทิศบุญกุศล ขอให้หลวงพ่อได้ทราบและได้อนุโมทนา สำเร็จเป็นปัตตานุโมทนามัย ในสัมปรายภพสมเจตนาปรารภอุทิศบุญกุศลทุกประการ จึงขอจบการแสดงธรรมในกาลบัดนี้ สมควรแก่ธรรม เหมาะควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

เทศนาธรรม โดยพระอาจารย์อารยะวังโส
พระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่
วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๑
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง