Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 วิธีปฏิบัติกัมมัฏฐาน (พระมหาวิบูลย์ พุทฺธญาโณ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
RARM
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 28 ก.ค. 2007
ตอบ: 417

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.พ.2008, 5:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำนำ
หนังสือเรื่อง “วิธีปฏิบัติกัมมัฏฐาน” นี้ อาตมาภาพเรียบเรียงขึ้นตามแนวคำสอนของพระพุทธศาสนาว่าด้วยกัมมัฏฐานที่บุรพาจารย์ทั้งหลายท่านสอนสืบต่อกันมา และอาตมาภาพเองได้นำไปใช้ในการอบรมกัมมัฏฐานแก่สาธุชนโดยทั่วไป ทั้งที่วัดโพธิคุณเอง และสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้รับนิมนต์ไปบรรยายและอบรมการฝึกกัมมัฏฐาน
คำว่า “ปฏิบัติกัมมัฏฐาน” ดูจะเป็นคำที่ค่อนข้างจะแปลกหูและดูน่ากลัวสำหรับฆราวาส ความจริงแล้วคำนี้ก็ตรงกับคำว่า “ฝึกสมาธิ” หรือ “อบรมสมาธิ” หรือ “ทำสมาธิ” ที่คุ้นหูพวกเราโดยทั่วไปนั่นเอง เพียงแต่คำว่า “ปฏิบัติกัมมัฏฐาน” จะมีความหมายคลุมทั้งสมถ-กัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐานในขณะที่คำว่า “ฝึก อบรม หรือทำสมาธิ” จะหมายถึงเฉพาะสมถกัมมัฏฐานแต่เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตามวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ก็เป็นเพียงวิธีอานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้า-ออกแต่เพียงประการเดียว เพราะทุกคนต่างก็มีลมหายใจอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเตรียมการมาก และอานาปานสติกัมมัฏฐานนี้ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่า “เป็นยอดแห่งกัมมัฏฐานทั้งปวง”
อาตมาภาพคิดว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจในการปฏิบัติกัมมัฏฐานหรือทำสมาธิได้ตามสมควร เพราะได้พยายามจัดลำดับขั้นตอนในการปฏิบัติไว้อย่างชัดเจนสามารถปฏิบัติตามได้โดยง่าย และภาษาที่ใช้ก็พยายามให้เป็นภาษาที่ห่างวัดพอสมควร ยกเว้นคำบางคำที่เป็นศัพท์เฉพาะ (Technical Terms) ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็จำต้องคงไว้
อาตมาภาพขออนุโมทนาและขอขอบคุณ คุณถนอม บุตรเรือง แห่งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ช่วยจัดลำดับเนื้อความเพิ่มเติมเสริมต่อเนื้อหาบางตอน และจัดทำภาคผนวกให้เพื่อให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ท่านที่ประสงค์จะทราบรายละเอียดของข้อธรรมะที่กล่าวถึงภายในเล่ม มิฉะนั้นแล้ว หนังสือก็คงจะขาดความสมบูรณ์ไปไม่น้อย
สุดท้ายก็ใคร่ขออนุโมทนาและขอขอบคุณพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ร่วมกันบริจาคปัจจัยเป็นค่าจัดพิมพ์หนังสือนี้ เพื่อแจกเป็นธรรมบรรณาการ ในวาระคล้ายวันเกิดของอาตมาภาพในปีนี้
(๕ มีนาคม ๒๕๔๑) ขออานุภาพคุณพระศรีพระรัตนตรัย และขออำนาจบุญกุศลที่พึงเกิดขึ้นจากการที่ท่านทั้งหลายบำเพ็ญธรรมทานในครั้งนี้ จงดลบันดาลให้ทุกท่านประสบแต่สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูน-ผลด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ และเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดไป
ขอให้พระสัทธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว จงสถิตสถาพรปกแผ่อำนวยสวัสดีแก่สัตวโลกทั้งมวลเป็นนิจนิรันดร์ เทอญ ฯ
พุทธญาณภิกขุ
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑




วิธีปฏิบัติกัมมัฏฐาน

๑. ความหมายของคำว่า “กัมมัฏฐาน”
คำว่า “กัมมัฏฐาน” แปลตามตัวว่า “ที่ตั้งของการงาน” ถ้าแปลเอาความก็คือ “ฐานสำหรับการทำงานของจิต” ความหมายว่า “เมื่อจิตทำงานบนฐานนี้แล้วจิตจะมั่นคงขึ้นพัฒนาในทางที่ดีขึ้น สะอาดขึ้น หมดจดขึ้น และผ่องใสขึ้นทั้งนี้เพราะธรรมดาของจิตจะคิดในเรื่องต่าง ๆ (พระท่านเรียกว่า “อารมณ์”) อยู่ตลอดเวลา คิดโลภบ้าง คิดโกรธบ้าง คิดหลงบ้าง ไม่หยุดนิ่ง แต่ถ้าเราสามารถผูกจิตของเราให้อยู่บนฐานที่ท่านกำหนดไว้ และบริกรรมอารมณ์ตามที่ท่านระบุไว้แล้วจิตจะเชื่องและนิ่ง ที่เราเรียกว่า “สงบ” และเมื่อจิตสงบแล้วก็จะมีสภาพที่เรียกว่า
“กัมมนิยะ” (ควรที่จะนำไปใช้งาน) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามปรารถนา (เช่นน้อมไปในทางอิทธิปาฏิหาริย์ก็จะเกิด วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ หรือ อภิญญา ๖ แต่ในทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้น้อมไปทางพิจารณาสังขารว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอันจะนำไปสู่การบรรลุมรรค ผล นิพพาน ในที่สุด)

๒. ประเภทของกัมมัฏฐาน
กัมมัฏฐานในพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. สมถกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานที่เป็นอุบายสงบใจกัมมัฏฐานประเภทที่ ๑ นี้ ตรงกับคำพูดที่เราพูดกันโดยทั่วไปว่า “ทำสมาธิ” นั่นเอง เพราะถ้าเรานำเอาอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานมาบริกรรม จะทำให้จิตเป็นสมาธิ ที่สำนักต่าง ๆ สอนกันโดยทั่วไป โดยเฉพาะสายวัดป่าทั้งหลาย มักจะเป็นสมถกัมมัฏฐาน
กัมมัฏฐานประเภทที่ ๑ นี่มีอารมณ์สำหรับบริกรรม ๔๐ อย่าง (สมัยโบราณท่านเรียกว่า กัมมัฏฐาน ๔๐ ห้อง) ประกอบด้วยกสิน ๑๐ อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูปธรรม ๔ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ และอาหาเร ปฏิกูลสัญญา ๑ แต่ที่นิยมใช้บริกรรม และแนะนำให้บริกรรมคือ อานาปานสติ (กำหนดลมหายใจเข้า-ออก พร้อมกับบริกรรมว่า “พุท” เมื่อหายใจเข้า และ “โธ” เมื่อหายใจออก) ซึ่งเป็นอารมณ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มอนุสติ ๑๐ ที่ท่านนิยมอานาปานสติ ก็เพราะเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องเตรียมการมาก ทุกคนมีลมหายใจอยู่แล้ว นึกอยากจะบริกรรมเมื่อไรก็ทำได้ทันที

๒. วิปัสสนากัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา ในนัยหนึ่งถือเป็นกัมมัฏฐานที่ต่อเนื่องจากสมถกัมมัฏฐาน คือ หลังจากที่ฝึกจิตให้เชื่อง ให้สงบนิ่งแล้ว จิตจะอยู่ในสภาพเป็นกัมมนิยะ (ดังกล่าวแล้วในสมถกัมมัฏฐาน) แล้วน้อมนำจิตนั้นไปพิจารณาสังขาร (ธาตุ ๔ และ
ขันธ์ ๕) ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง (อนิจจตา) เป็นทุกข์ (ทุกขตา) และมิใช่ตัวตนของเรา (อนัตตา) หรือที่พระท่านใช้สำนวนว่า “ยกสังขารขึ้นสู่ไตรลักษณ์“ จนรู้แจ้งเห็นจริง คำว่า “รู้แจ้งเห็นจริง” หมายความว่า “รู้ว่าสังขารทั้งหลายเป็นสักแต่ว่าธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มาประชุมกันเข้าเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นเพียงกลุ่มธรรม (กระบวนการธรรมชาติ) เท่านั้น ดังคำบาลีที่ว่า “สุทธธัมมา ปวัตตันติ กลุ่มธรรมล้วนๆ เป็นไปอยู่”
เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงเช่นนี้แล้ว จิตจะค่อย ๆ คลายหรือถอนจากความยึดมั่นถือมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไม่เป็นทุกข์ (เพราะไม่ว่าจะเกิด
ความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นกับสังขารนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่เราเป็นทุกข์เพราะเราไปยึดมั่นในสังขารนั้น และเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับสังขารนั้น ใจเราก็หวั่นไหวเป็นทุกข์) นี่แหละคือที่สุดแห่งทุกข์
อีกนัยหนึ่งในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ท่านให้ปฏิบัติควบคู่ไปกับสมถกัมมัฏฐานได้เลย เช่นในขณะที่กำหนดลมหายใจเข้า-ออกนั้น ท่านก็ให้พิจารณาะการเกิด-ดับไปในตัวด้วย เช่นเมื่อหายใจเข้าถือว่าเป็นการ “เกิด” หายใจออกเป็นการ “ดับ” (ของสังขาร) ก็จะทำให้เป็นการเกิด-ดับของสังขารตลอดเวลา แต่มีบางสำนักที่ท่านสอนเน้นวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยสอนให้พิจารณาการเกิดดับของนามรูป (ขันธ์ ๕) ไปเลย เพราะในขณะที่เราพิจารณาการเกิดดับของนามรูปอยู่นั้น จิตก็จะเป็นสมาธิไปในตัวด้วย

๓. การเตรียมตัวในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน
ผู้ประสงค์จะบำเพ็ญกัมมัฏฐาน หรือฝึกสมาธิควรจะต้องเตรียมตัวในเรื่องต่อไปนี้
๓.๑ เตรียมกาย ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้เรียบร้อย (ถ้าทำได้) ส่วนในการแต่งกาย ก็ควรเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดในเวลานั่ง จะเป็นชุดสีอะไรก็ได้เท่าที่มีตามสะดวก มิเช่นนั้นจะเป็นภาระในการจัดหาเสื้อผ้าอีก
๓.๒ เตรียมใจ ต้องทำใจให้สบายไร้ความกังวลที่พระท่านเรียกว่า “ปลิโพธ” (มี ๑๐ อย่างดูภาคผนวก) แม้จะมีภาระอะไรหรือความกังวลใจอะไรก็ต้องตัดให้หมด คือไม่ต้องไปคิดถึงมัน ต้องตัดใจในขณะที่จะทำสมาธิ มิฉะนั้นจิตจะไม่สงบ
๓.๓ เตรียมสถานที่ ควรเลือกสถานที่ที่เหมาะสมในตำราท่านบอกว่า ที่เหมาะสมได้แก่ โคนต้นไม้ เรือนว่าง (ไม่มีคนอยู่อาศัย) และถ้ำเป็นต้น ซึ่งเงียบสงัด ปราศจากคนรบกวน สัตว์รบกวน และเสียงรบกวน โดยเฉพาะเสียงท่านถือว่าเป็นอันตรายต่อการฝึกกัมมัฏฐานมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงดังหรือไม่ดังก็ตาม (ท่านบอกว่าเสียงสตรีย่อมเป็นอันตรายต่อบุรุษ และเสียงบุรุษย่อมเป็นอันตรายต่อสตรี)
๓.๔ เตรียมเลือกอาจารย์ อาจารย์ถือว่าจำเป็นแม้จะมีบางคนบอกว่าไม่จำเป็นก็ตาม เพราะการมีอาจารย์จะทำให้เรามั่นใจในขณะปฏิบัติว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะมีคนช่วยเราได้ (ทำให้คลายความกังวลไปได้) หรือถ้าเราสงสัยอะไรจะสอบถามให้คลายความสงสัยได้ เพราะอาจารย์ท่านเคยปฏิบัติมาก่อน ท่านจะแนะนำได้ว่า ถ้ามีปัญหาเช่นนั้นจะแก้อย่างไร หรือถ้ามีอาการอย่างนั้นเกิดขึ้นจะทำอย่างไรต่อไปเป็นต้น (สมัยก่อนท่านเรียกว่า “สอบอารมณ์” อาจารย์จะทำการสอบอารมณ์ของผู้ปฏิบัติทุกคนก่อนที่จะปฏิบัติต่อไปในแต่ละวัน) ถ้าหากไม่ปฏิบัติในสำนักอาจารย์ อย่างน้อยก็ต้องขอกัมมัฏฐานจากท่าน และเมื่อมีข้อสงสัยจะได้ถามปัญหาคลายความสงสัยได้
๓.๕ ท่าการนั่ง ในตำราท่านบอกว่า “นั่งขัดสมาธิขาขวาทับขาซ้าย ตั้งตัวตรง “ ซึ่งถือเป็นท่ามาตรฐาน แต่ในปัจจุบันการนั่งขัดสมาธิเป็นความลำบากมากสำหรับคนสมัยใหม่ ก็อนุโลมให้นั่งในท่าที่เหมาะสม หรือนั่งบนเก้าอี้หรือตั่งได้ แต่อย่านั่งพิงจนน่าเกลียด เพราะสบายเกินไปอาจทำให้นอนหลับได้ ส่วนมือนั้นในตำราท่านไม่ได้กำหนดไว้ แต่ท่านให้ยึดเอาการวางพระหัตถ์ของพระพุทธรูปปางสมาธิเป็นแบบ คือวางมือขวาทับมือซ้าย หัวนิ้วมือซ้าย-ขวาจรดกัน สำหรับ “ตา” นั้น ก็ควรหลับตามากกว่าลืมตา เพราะถ้าลืมตาเราจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ผ่านเข้ามาเยอะ ทำให้กำหนดอารมณ์ที่เรากำลังบริกรรมอยู่นั้นได้ลำบาก

๔. ขั้นตอนการปฏิบัติกัมมัฏฐาน
ขั้นที่ ๑ กล่าวคำขอขมาพระรัตนตรัยว่า“อุกาสะ ระตะนัตตะเย ทะวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ เม ภันเต”
จากนั้นให้กล่าวคำบูชาเจดีย์พระศรีมหาโพธิและพระธาตุว่า
“วันทามิ ภันเต เจติยัง สัพพัง สัพพัตถะฐาเน สุปะติฏฐิตัง สารีริกะธาตุง
มะหาโพธิง พุทธะรูปัง สักการัฏฐัง อะหัง วันทามิ ธาตุโย
อะหัง วันทามิ สัพพะโส
อิจเจตัง ระตะนัตตะยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง
วันทามิ ทูระโต อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส
อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง พุทธะธัมมะธาตุโย สีเส เมติฏฐันตุ ธาตุโยฯ
และกล่าวคำขอขมาเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่งว่า
กายกรรมสาม วจีกรรมสี่ มโนกรรมสาม ที่ตัวข้าพเจ้าได้สบประมาทพลาดพลั้งทั้งต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี มีเจตนาก็ดี ไม่มีเจตนาก็ดี ที่ได้พลั้งพลาดกระทำกรรมอันน่าติเตียน ต่อองค์พระ-พุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า มารดา บิดา ครูบาอาจารย์ และเพื่อนสัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าขออโหสิกรรม ซึ่งกรรมนั้นๆ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่าได้เกิดเป็นเวรเป็นภัยข้าพเจ้าเกิดชาติหนึ่งภพใด ขอให้มีอุปนิสัยสั่งสมอบรมแต่กรรมดี สร้างบารมีใส่ตน ให้พ้นภัยพาล ลุล่วงบ่วงมาร ในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้น เทอญฯ
ขั้นที่ ๒ ตั้งใจกล่าวคำเข้าถึงไตรสรณาคมน์และสมาทานศีลห้า หรือศีลแปด ตามกำลังให้บริบูรณ์เสียก่อน
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ
ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

“อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ” (ว่า ๓ จบ)
ถ้าสมาทานศีล ๘ ให้เปลี่ยนศีลข้อ ๓ คือ กาเมสุฯ ที่ขีดเส้นใต้ไว้เป็น
อะพรหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
แล้วเพิ่มอีก ๓ สิกขาบท ต่อจากข้อ สุราเมระยะฯว่า
วิกาละโภชะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะ มาลาคันธะวิเลปะนาธาระณะมัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
และเปลี่ยนคำสมาทานจากศีล ๕ ที่ขีดเส้นใต้ไว้เป็นสมาทานศีล ๘ ว่า
“อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ” (ว่า ๓ จบ)
(จบไตรสรณาคมน์ และสมาทานศีล เพียงเท่านี้)

ขั้นที่ ๓ เมื่อขอขมาโทษ และถือเอาไว้ด้วยดี ซึ่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พร้อมด้วยศีลตามกำลังของตนเรียบร้อยแล้ว ควรสวดมนต์โดยเริ่มต้นด้วยบทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนจบ และสวดมนต์ต่อด้วยคาถาชินะบัญชร และกะระณียะเมตตะสูตร เป็นต้น เมื่อจบแล้วตั้งใจอุทิศส่วนกุศลด้วยบทกรวดน้ำ บท “อิมินา” เพื่อเป็นการเตรียมใจของเราให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้สะดวกขึ้น เมื่อสวดมนต์กรวดน้ำจบแล้ว ก่อนเริ่มทำพระกัมมัฏฐานจะเป็นสมถกัมมัฏฐาน หรือวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม ให้ตั้งใจกล่าวคำมอบชีวิตบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า
“อิมาหัง ภันเต ภะคะวา อัตตะภาวัง ภะคะวะโต ปะริจจะชามิ”
แปลเอาความว่า “ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบถวายอัตตภาพร่างกายพร้อมด้วยจิตใจดวงนี้ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระองค์จะเสด็จปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม ข้าพระพุทธเจ้า ขอประพฤติธรรมอันเป็นนามกายของพระองค์คือ สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ขอดวงจิตของข้าพระพุทธเจ้าจงตั้งมั่นในองค์ฌานสมาบัติทั้ง ๘ ที่ประดับพร้อมด้วย อภิญญา ๖ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ เพื่อกระทำให้แจ้ง มรรค ผล พระนิพพาน นิพพานะปัจจะโย โหตุ”
ถ้าหากจะเรียนพระกัมมัฏฐาน ในสำนักอาจารย์ผู้ใดผู้หนึ่ง ก็ควรกล่าวมอบกายให้ท่านด้วยการกล่าวว่า
“อิมาหัง ภันเต อาจะริยะ อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิ”
แปลความว่า “ข้าแต่อาจารย์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบอัตตภาพร่างกายนี้แก่ท่าน ขอท่านอาจารย์จงฝึกหัดและแนะนำตามธรรมวินัย อันสมควรเถิด”
(การมอบอัตตภาพแก่อาจารย์ผู้ฝึกนั้นจะเป็นความดีทั้งฝ่ายตนและฝ่ายอาจารย์ ฝ่ายตนเมื่อลังเลสงสัยในปฏิปทาเรื่องปฏิบัติก็จะได้ซักถามท่านได้แบบศิษย์ ฝ่ายอาจารย์ก็สะดวกใจในการแนะนำพร่ำสอนทั้งการปฏิบัติ และบอกอรรถธรรมอันสุขุมลึกซึ้งอันเป็นสัทธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ด้วยความสะดวกใจ เพราะไม่ต้องระแวงแคลงใจกัน จะเป็นผลดีไม่เป็นผลเสีย เพราะถ้ามิเช่นนั้น ในกรณีที่ศิษย์บางรายทำอะไรไม่ถูกทั้งศีลอันเป็นคำสั่งแลธรรมอันเป็นคำสอน พอครูบาอาจารย์ตักเตือนแนะนำก็พาลไม่พอใจ บางรายถึงกับโกรธเคืองไปก็มี ครูบาอาจารย์ก็ควรจะวางเฉยเสีย เพราะถือว่าเขามาโดยเหตุอื่น ไม่ใช่มาเพื่อธรรม เพื่อวินัย อันจะพัฒนาจิตใจให้เจริญไปตามวิถีธรรมอันเป็นมรรคผลอันถูกต้อง การมอบกายแด่ครูบาอาจารย์ก็เป็นส่วนดีทั้งตนเอง ทั้งอาจารย์ผู้ฝึกแนะนำดังกล่าวแล้ว)

ขั้นที่ ๔ ก่อนภาวนาควรทำใจให้มีพรหมวิหารธรรมเสียก่อน คือการแผ่เมตตาให้ตน

(เมตตาพรหมวิหาร)
อะหัง สุขิโต (ตา) โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขเถิด
อะหัง นิททุกโข (ขา) โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากความทุกข์
อะหัง อะเวโร (รา) โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากเวร
อะหัง อัพพะยาปัชโฌ (ฌา) โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากความอาฆาต
พยาบาท
อะหัง อะนีโฆ (ฆา) โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากความทุกข์
กายทุกข์ใจ
อะหัง สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ ขอให้ข้าพเจ้า จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

(กรุณาพรหมวิหาร)
สัพพะทุกขา ปะมุจจามิ ขอให้ข้าพเจ้าจงพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

(มุทิตาพรหมวิหาร)
ลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉามิ ขอให้ข้าพเจ้าจงอย่าพรากจากสมบัติ
อันตนได้แล้ว

(อุเบกขาพรหมวิหาร)
กัมมัสสะโกมหิ (กัมหิ) เรามีกรรมเป็นของของตน
กัมมะทายาโท (ทา) เรามีกรรมเป็นมรดก
กัมมะโยนิ เรามีกรรมเป็นแดนเกิด
กัมมะพันธุ เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์พวกพ้อง
กัมมะปะฏิสะระโณ (ณา) เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสามิ เราทำกรรมใดไว้
กัลยาณัง วา เป็นกรรมงามที่เป็นกุศลก็ตาม
ปาปะกัง วา เป็นกรรมชั่วอกุศลก็ตาม
ตัสสะทายาโท (ทา) ภะวิสสามิ เราจักเป็นผู้รับมรดกของกรรมนั้นสืบ
ไป ฯ

ขั้นที่ ๕ การปฏิบัติกัมมัฏฐาน ในที่นี้จะแนะนำการบำเพ็ญสมาธิตามวิธีอานาปานสติ คือตั้งจิตกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างมีสติ ซึ่งเป็นวิธีที่ท่านถือว่า “เป็นยอดแห่งกัมมัฏฐานทั้งปวง” และเป็นวิธีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ จนกระทั่งได้ตรัสรู้อนุตรสัมมา-สัมโพธิญาณ วิธีการมีดังต่อไปนี้
วิธีที่ ๑ วิธีนับลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งมีสองแบบคือ นับคู่ กับ นับเดี่ยว (ท่านให้นับได้ไม่เกิน ๑๐)
นับคู่ นับถึง ๕ แล้วก็วนมานับหนึ่งใหม่ แล้วนับเพิ่มทีละหนึ่ง แล้วก็ย้อนกลับใหม่ ทำอย่างนี้จนถึงสิบแล้วเริ่มตันนับหนึ่งไปถึงห้าใหม่ วนกลับไปกลับมา จนจิตเป็นสมาธิหรือนับเป็นคู่ๆ เหมือนข้างบนแต่นับไปจนถึง ๑๐ แล้วกลับมาเริ่มนับ ๑ ใหม่ และนับต่อไปจบถึง ๑๐ แล้วย้อนมานับ ๑ ใหม่ กลับไปกลับมาจนจิตเป็นสมาธิ

เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก
๑ ๑ ๒ ๒ ๓ ๓ ๔ ๔ ๕ ๕ เข้า ออก
๑ ๑ ๒ ๒ ๓ ๓ ๔ ๔ ๕ ๕ ๖ ๖ เข้า ออก
๑ ๑ ๒ ๒ ๓ ๓ ๔ ๔ ๕ ๕ ๖ ๖ ๗ ๗ เข้า ออก
๑ ๑ ๒ ๒ ๓ ๓ ๔ ๔ ๕ ๕ ๖ ๖ ๗ ๗ ๘ ๘ เข้า ออก
๑ ๑ ๒ ๒ ๓ ๓ ๔ ๔ ๕ ๕ ๖ ๖ ๗ ๗ ๘ ๘ ๙ ๙ เข้า ออก
๑ ๑ ๒ ๒ ๓ ๓ ๔ ๔ ๕ ๕ ๖ ๖ ๗ ๗ ๘ ๘ ๙ ๙ ๑๐ ๑๐

นับเดี่ยว คือ หายใจเข้า-ออกนับหนึ่ง เข้า-ออกนับ ๒ จนถึง ๕ แล้วย้อนกลับมานับหนึ่งใหม่เหมือนกับการนับคู่แบบที่ ๑

เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ เข้า ออก
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ เข้า ออก
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ เข้า ออก
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ เข้า ออก
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ เข้า ออก
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐
หรือ นับเหมือนข้างบนแต่นับไปจนถึง ๑๐ แล้วกลับมาเริ่มนับ ๑ ใหม่ และนับต่อไปจนถึง ๑๐ แล้วย้อนมา ๑ ใหม่ กลับไปกลับมาจนจิตเป็นสมาธิ

วิธีที่ ๒ ให้บริกรรมคำว่า “พุทโธ” หรือคำอื่นๆ ก็ได้เช่น ยุบ-หนอ พองหนอ เป็นต้น โดยเมื่อหายใจเข้าบริกรรม ”พุท” หายใจออกบริกรรม “โธ” หรือหายใจออก “ยุบหนอ” หายใจเข้า “พองหนอ” บริกรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะรวมเป็นสมาธิ

๕. คำอธิบายประกอบ
ในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ผู้ปฏิบัติจะต้องตั้งใจมีสติเครื่องระลึกมั่นคง ยกดวงจิต ที่มีกิจ คิด รู้ รับ จำ ขึ้นสู่องค์พระกัมมัฏฐานกองใดกองหนึ่ง ในฝ่ายสมถกัมมัฏฐานตามที่ท่านประมวลไว้มี ๔๐ อารมณ์ด้วยกัน วิปัสสนากัมมัฏฐานก็กำหนดดูรูปนามที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นอารมณ์ ข้อสำคัญสติคือธรรมเครื่องระลึก เมื่อยกจิตขึ้นสู่อารมณ์พระ-กัมมัฏฐานแล้ว อย่าเผลอหรือหลงลืมสติเป็นอันขาด เมื่อสติไม่เผลอหรือหลงลืม จิตจะเริ่มตั้งมั่นที่เราเรียกว่า สมาธิและสัมปชัญญะซึ่งเป็นองค์ธรรมที่สืบเนื่องต่อจากสติ จะเกิดเป็นความพรั่งพร้อมในสมาธิ คือ ความสงบ นั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวเด่นชัดที่ท่านเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ คือ ความที่จิตเป็นเลิศคือเป็นเอกนั่นเอง
พระกัมมัฏฐานที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญมาตั้งแต่ต้นจนบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ และพระองค์ทรงสรรเสริญว่าสะดวกสบาย และเป็นธรรมชาติก็คือ “อานาปานสติ” คือถ้าผู้ปฏิบัติฝึกกระทำให้ครบวงจรของอานาปานสติก็เป็นการทำตามมหาสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ให้สมบูรณ์นั่นเอง ในการปฏิบัติผู้ปฏิบัติจะต้องดำรงสติให้มั่น เอาจิตกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเพ่งจิตไปตามลมหายใจ ลมหายใจเข้ายาวรู้ หายใจออกยาวรู้ หายใจเข้าสั้นรู้ หายใจออกสั้นรู้ ข้อสำคัญอย่าเผลอสติหรือหลงลืมสติ ต้องควบคุมจิตด้วยสติเครื่องระลึกให้ชัดเจน
เมื่อควบคุมจิตด้วยสติให้รู้อยู่อารมณ์เดียวที่ลมหายใจ จิตไม่เตร็ดเตร่เที่ยวฟุ้งซ่านไปที่อื่น จิตเริ่มสงบเป็นสมาธิจิตที่เริ่มเบาสบาย ลมหายใจก็พลอยละเอียดสุขุมไปด้วย เมื่อลมหายใจมีลักษณะเช่นนั้นก็จะกำหนดยาก ท่านจึงแนะนำให้กำหนดอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ท่านให้กำหนดดูฐานที่ลมกระทบคือจงอยจมูกเหนือริมฝีปากบนก็ได้ หรือที่ทรวงอกเป็นภายในก็ได้ หรือที่สะดือภายในอันเป็นที่สุดของลมก็ได้ ฐานใดกำหนดแล้วจิตสงบสบาย ไม่เผลอ ก็ให้กำหนดดูในฐานนั้น เพราะลมหายใจเข้า หายใจออกก็จะผ่านฐานทั้งสามนี้เหมือนกันหมด ให้กำหนดเพ่งดูหรือเฝ้าดูหรือเฝ้าดูจิตอยู่ตรงฐานนั้น โดยไม่ต้องตามลมไปตลอดสายของลม เมื่อเพ่งจิตด้วยสติเครื่องระลึกเด่นชัด จิตจะบริสุทธิ์

๖. วิธีปฏิบัติด้วยการสร้างมโนภาพ
ในการปฏิบัติวิธีนี้ ผู้ปฏิบัติจะสร้างมโนภาพขึ้นมาเป็นเครื่องหมายให้จิตเพ่ง เช่น สร้างมโนภาพเป็นหยดน้ำใสๆ หรือดวงดาวที่สว่างๆ ดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ก็ได้ แล้วเพ่งดูหรือเฝ้าดูอยู่ที่มโนภาพนั้น จนเกิด “อุคคหนิมิต” (ภาพที่ติดตา หรือติดที่ใจ) เมื่อเกิดนิมิตนี้ขึ้นมา ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามประคองจิตให้เพ่งดูอยู่ด้วยมีสติที่นิมิตนั้น
ข้อสำคัญอย่าให้ความอยากรู้อยากเห็นอะไรอย่างอื่นเกิดขึ้น ขอให้เพ่งจิตรู้อยู่ที่นิมิตนั้น จนสามารถทำได้ทั้งหลับตาและลืมตา ทำจนสว่างชัดเจน บังคับให้เล็กได้ ใหญ่ได้ ส่งไปในที่ใกล้ได้ ไกลได้ ถ้าทำสำเร็จ ก็จะเป็นปฏิภาคนิมิต (ภาพที่คล้ายคลึงกับภาพที่ติดตาหรือติดใจ) จิตก็เป็นปฐมฌาน ตามปรารถนา เพียงเท่านี้ก็สามารถถอยจิตมาพอให้มีวิตกวิจารในองค์ฌาน อยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ นำมากำหนดดูรูปก็คือ กาย นาม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จนปรากฏไตร-ลักษณญาณ คือความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ค่อยแจ่มชัดขึ้นในดวงจิต นิวรณ์ ก็จะค่อยดับหายไป ตั้งแต่ กามะฉันทะนิวรณ์ พยาปาทะนิวรณ์ ถีนะมิทธะนิวรณ์ อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ และ วิจิกิจฉานิวรณ์ จิตจะมีแต่ญาณ คือความรู้ชอบ ทัสสนะ ความเห็นชอบเป็นไปตามองค์มรรคชัดเจน แจ่มแจ้งขึ้น จะได้รับอานิสงส์คือความเย็นใจสบายจิต จิตจะมีความบริสุทธิ์ คือ “ปริสุทโธ บริสุทธิ์” “สมาหิโต จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามกระแสของโลภะ โทสะ โมหะ จนเกิดเป็นตัวทิฏฐิ-มานะอันทรมานเผาผลาญจิตใจให้เราร้อน” “กัมมะนิโย จิตเหมาะควรที่จะทำงานอันละเอียดอ่อน เท่ากับพัฒนาจิตให้เหมาะควรทั้งงานโลก งานธรรม อันจะนำความสงบเย็นมาให้แก่ชีวิตและจิตใจ” นี่เป็นอานิสงส์การเจริญพระกัมมัฏฐาน

๗. สิ่งที่ควรปฏิบัติหลังจากเจริญสมาธิ
การเจริญสมาธิภาวนา ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นบุญเป็นกุศลยิ่งใหญ่มาก คนโบราณท่านบอกว่า การทำจิตให้เป็นสมาธิแม้ชั่วขณะช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น จะมีอานิสงส์ถึงขั้นปิดประตูอบายภูมิ คือจะไม่ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานเป็นเปรต เป็นอสุรกาย และเป็นสัตว์นรก ดังนั้น หลังจากบำเพ็ญสมาธิแล้ว ก็ควรแผ่เมตตาให้กับเพื่อนสัตว์ด้วยกันด้วยบทว่า
“สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วย กันทั้งหมดทั้งสิ้น
อะเวรา จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกัน
เลย
อัพยาปัชฌา จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกัน
และกันเลย
อะนีฆา จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กาย
ทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปริหะรันตุ จงเป็นผู้มีความสุขกายสุขใจ รักษาตน
ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด”

อีกแบบหนึ่งจะแผ่เป็นบาลีล้วนแบบอนุโลมและปฏิโลมก็ได้ ว่า
สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ
สัพเพ สัตตา นิททุกขา โหนตุ
สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ
สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ
สัพเพ สัตตา อะนีฆา โหนตุ
สัพเพ สัตตา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ
สัพเพ สัตตา อะนีฆา โหนตุ
สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ
สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ
สัพเพ สัตตา นิททุกขา โหนตุ
สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ

หลังจากนั้นก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์และญาติมิตร ตลอดจนคนที่จองเวรเราที่เรียกว่าเจ้ากรรมนายเวร ด้วยบทที่ว่า

“อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย”

แปลว่า “ขอผลบุญที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วนี้ จงสำเร็จประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว และยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ขอบรรดาญาติทั้งหลายจงมีแต่ความสุขโดยทั่วกัน เทอญฯ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง