Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ธรรมะคือความจริงของชีวิต (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 02 ม.ค. 2007, 11:59 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ธรรมะคือความจริงของชีวิต
โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


การศึกษาธรรมะตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา เรามุ่งที่จะศึกษาให้รู้สภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง ศาสนาพุทธ คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องของความจริงของสภาวธรรม เพื่อจะทำความเข้าใจกับท่านผู้ฟัง ธรรมะที่เราถือว่าเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท

๑. สภาวธรรม
๒. ธรรมคำสอน


ธรรมะประเภทที่เป็นสภาวธรรม เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ที่เรายอมรับว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เพราะเหตุว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงรู้ความจริงของสภาวธรรม เช่น รู้อริยสัจธรรมทั้งสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นต้น อันนี้มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นรู้ คนอื่นแม้ว่าจะมีส่วนรู้อยู่บ้างแต่ก็ยังไม่รู้เหตุหรือผลไม่ลึกซึ้งเหมือนพระพุทธเจ้า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นบทความจริงของสภาวธรรมที่จะเป็นไปนั้น พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงทราบ เป็นผู้ทรงรู้ เมื่อก่อนที่พระพุทธเจ้ายังไม่เกิดนั้น การเปลี่ยนแปลงของสภาวธรรมที่เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เขาก็มีการเปลี่ยนแปลงมาก่อนแล้ว แต่ถึงจะมีผู้รู้อยู่บ้างก็ไม่ละเอียดและรู้ไม่ถึงแก่น แต่เมื่อพระพุทธเจ้ามารู้แจ้งเห็นจริงแล้ว จึงเอาแก่นแท้ของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ออกมาตีแผ่ให้ชาวโลกได้รู้ข้อเท็จจริง

คำว่าสภาวธรรมหมายถึงอะไร เราทุกคนมีสภาวธรรมเป็นสมบัติประจำตัวกันอยู่ทุกคน สภาวธรรมอันนั้นคือกายกับใจ กายกับใจคือสภาวธรรม นอกจากกายกับใจจะเป็นสภาวธรรมแล้ว สถานการณ์แห่งสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่เราประสบอยู่ เช่นลมหายใจเข้าออก อันนั้นก็คือสภาวธรรม แม้แต่วิชาความรู้ที่เราเรียนมา จะเป็นแขนงไหนศาสตร์ไหน สิ่งเหล่านั้นคือสภาวธรรม นี่คือสภาวธรรมที่พระพุทธเจ้ารู้แจ้งเห็นจริงมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวธรรมอันเป็นของของเรา คือ กายกับใจ

นอกจากพระพุทธเจ้าจะทรงรู้ความเป็นจริงของมันแล้ว ก็ยังสามารถที่จะทราบความจริงว่าสภาวธรรมนี้มันเกิดมาเพราะอาศัยอะไรเป็นเหตุ ที่เกิดมาเป็นคนอาศัยอะไรเป็นเหตุ อันนี้พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุ ที่ทำให้คนต้องเกิดมาเป็นคนก็เพราะอาศัยว่าคนพยายามรักษาศีล ๕ รักษากรรมบถ ๑๐ และใครทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จริง ผู้นั้นมีสติเที่ยงแท้ก็เกิดมาเป็นคน พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบ เมื่อก่อนพระพุทธเจ้ายังไม่เกิด ยังไม่มีใครเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย พระพุทธเจ้าทรงให้เราพิจารณาให้รู้ซึ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง

บางท่านอาจจะคิดว่า ใครๆ เขาก็รู้กันอยู่ เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงให้มาพิจารณาดูความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่พระองค์ให้พิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็เพื่อเป็นอุบายให้สาธุชนรู้แจ้งเห็นจริงถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่เราได้ยินได้ฟังหรือรู้ๆ กันมานั้นเป็นแต่เพียงรู้ด้วยปัญญาว่าเราจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แต่มันยังไม่ซึ้งถึงจิตถึงใจ จิตใจของเราจึงไม่ยอมรับสิ่งเหล่านั้น เมื่อเราไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น เราก็ฝืนกฎของความเป็นจริง ในเมื่อประสบความแก่เราเกิดทุกข์ เกิดความเจ็บเราทุกข์ เกิดความตายเราทุกข์ หรือคิดว่าเราจะตายเราเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเราไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเราจะเป็นอย่างนั้น แล้วไปฝืนกฎของความเป็นจริง จึงพากันเกิดทุกข์

สิ่งเหล่านั้นพระพุทธเจ้าทรงทราบ ในเมื่อพระองค์ทรงทราบแล้ว จึงนำมาสั่งสอนพุทธบริษัทซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระองค์ท่านให้รู้ถึงสภาพความเป็นจริง เริ่มต้นแต่ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะหนีความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา จะหนีความตายไปไม่ได้ พระองค์ท่านให้พิจารณาอย่างนั้น ก็ต้องการให้พิจารณาถึงความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น การยึดหลักธรรมะและการปฏิบัติธรรมะตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น เรามุ่งที่จะทำจิตใจของเราให้รู้สภาพความเป็นจริง รู้ถึงจิตถึงใจ แล้วจิตจะยอมรับสภาพความเป็นจริง ไม่ฝืนกฎธรรมชาติของสภาวธรรม จิตใจก็ปล่อยวางสบาย เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมาเมื่อใด เราไม่วิตกกังวล เพราะเรารู้ซึ้งเห็นจริงแล้ว อันนี้เป็นสภาวธรรมและความเป็นไปของสภาวธรรม ความเป็นไปของสภาวธรรมส่วนรวมก็คืออนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เป็นธรรมะส่วนสภาวธรรม นับว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง

ธรรมะอีกประเภทหนึ่งคือธรรมคำสอน เมื่อพูดถึงธรรมะคือคำสอน ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง อันนี้พุทธบริษัททั้งหลายมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมทางด้านจิต การปฏิบัติธรรมทางด้านจิตนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการทำตนเป็นผู้มีศีล ศีลเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคุณธรรม เป็นภาคพื้น เป็นการปรับกาย วาจา และใจให้อยู่ในสภาพปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งศีล ๕ เป็นศีลที่ฆราวาสทั่วๆ ไปจะพึงสมาทานปฏิบัติ เป็นหลักใหญ่และเป็นศีลที่สำคัญ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็รวมลงอยู่ในศีล ๕ ข้อ จะเป็นผู้ใดก็ตาม เมื่อตั้งใจสมาทานศีล ๔ ข้อ ทำศีล ๕ ให้บริสุทธิ์แล้ว ก็ตั้งใจทำสมาธิภาวนาเพื่อทำจิตให้สงบ รู้ซึ้งเห็นจริงในสภาวธรรม ไม่เฉพาะแต่เท่านั้น ต้องการให้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ทำได้ ยกตัวอย่างเช่น อุบาสกอุบาสิกาในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็มีหลายท่าน เช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา ท่านเป็นผู้ครองบ้านครองเรือน ก็มีศีลเพียง ๕ ข้อเท่านั้น และท่านปฏิบัติธรรมก็ได้บรรลุพระโสดาบัน

คนในสมัยปัจจุบันนี้มีเพียงศีล ๕ ก็ถือว่าน้อยหน้าต่ำตา ศีลไม่พอ ก็สงสัยว่ามีศีล ๕ ไม่สามารถปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ อย่างนี้ เป็นการเข้าใจผิด ความจริงศีล ๕ ข้อนี้เป็นศีลที่กำจัดบาปกรรม หรือเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรมที่เราจะพึงทำด้วยกาย วาจา ปาณาติบาต เว้นจากการฆ่าสัตว์ อทินนาทาน เว้นจากการเบียดเบียนของที่เจ้าของไม่อนุญาต กาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากการประพฤติผิดในกามมุสาวาท พูดเท็จ สุราเมรัย ดื่มของมึนเมา ถ้าใครสมาทานศีล ๕ ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรมที่ทำที่จะสร้างให้เสวยผลคือไปตกนรกหรือไปทรมานในสถานที่ที่หาความเจริญมิได้นั้น มีแต่การละเมิดศีล ๕ ข้อเท่านั้น ส่วนอื่นซึ่งเราทำลงไปจะได้บาปกรรมอยู่บ้างก็เพียงความมัวหมองภายในจิตใจเท่านั้น แต่ถ้าใครมีศีล ๕ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ มุ่งหวังที่จะทำสมาธิ ปฏิบัติธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่สามารถที่จะมีศีลมากข้อขึ้นไปกว่านั้น ก็อย่าพึงทำความน้อยอกน้อยใจว่าเรามีศีลน้อยเหลือเกิน ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ก่อนที่เราจะเพิ่มศีลของตัวเองให้มากข้อขึ้นไปนั้น ต้องพิจารณาถึงสมรรถภาพของตัวเองว่าสามารถจะรักษาศีลมากข้อได้หรือไม่ เมื่อเรายังไม่มีสมรรถภาพพอ ก็ให้มั่นคงในศีล ๕ เท่านั้น

ฆราวาสโดยทั่วไปมีศีล ๕ แล้ว เรายังประดับตกแต่งใช้เครื่องหอม เครื่องย้อม เครื่องทาได้ ดูหนัง ดูละคร ดูลิเกได้ นอนบนที่นอนที่สูงที่ใหญ่ก็ได้ แต่ถ้าเราไปเพิ่มศีลขึ้นอีก ๓ ข้อ เป็นศีล ๘ เช่น เพิ่มข้อ ๖ ให้งดเว้นจากอาหารมื้อเย็น แต่งดเว้นไม่ได้ เพิ่มข้อ ๗ ให้งดเว้นจากเครื่องหอม น้ำมันหอม เครื่องย้อม เครื่องทา แต่งดเว้นไม่ได้ เพิ่มข้อ ๘ งดจากการขับร้อง ประโคมดนตรี ดีด สี ตี เป่า แต่งดเว้นไม่ได้ การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการเพิ่มบาปให้กับตนเองโดยไม่มีเหตุผล เพราะฉะนั้น การที่จะรักษาศีลให้มากข้อนั้นต้องดูสมรรถภาพของตัวเอง

เมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว บำเพ็ญเพียรภาวนาไป เมื่อเราภาวนาเป็นแล้วศีลนั้นจะเพิ่มขึ้นเอง ไม่เพิ่มแต่ศีล ๘ ศีล ๑๐ เท่านั้น เพียงแค่ศีล ๕ เมื่อมีสมาธิ มีปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม ความเป็นของตัวเองที่เกิดขึ้นในจิตนั่นแหละ ความที่จิตสงบเป็นสมาธิ ความที่มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม สามารถทำจิตให้อยู่ในสภาพปกติได้ จะเป็นอุบายเพิ่มศีลขึ้นไป อย่าว่าแต่เพียง ๒๒๗ ข้อ อีกหมื่นข้อแสนข้อก็เพิ่มได้เมื่อฐานของจิตใจดีแล้ว เพราะการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติจะปรับระดับของตนให้สูงยิ่งขึ้นไปเพียงใด แค่ไหน ก็ให้พิจารณาดูสมรรถภาพของตัวเอง อย่าไปทำอย่างงมงายไม่มีเหตุผลว่ารักษาอุโบสถแล้วได้บุญมาก เมื่อเราไปรักษาอุโบสถ อดข้าวเย็น เกิดทุกขเวทนา เมื่อร่างกายได้อาหารไม่เพียงพอก็อ่อนเพลีย การปฏิบัติธรรมก็ทำไม่ได้เต็มที่ แทนที่จะได้ผลดี ก็เลยขาดทุน ทำให้เกิดโรคทางกาย เช่น โรคกระเพาะ โรคลำไส้ ทนทุกข์ทรมาน รักษากันไปเป็นเวลานานๆ กว่าจะหาย เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เราทำลงไปถือว่าเป็นข้อปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือปฏิบัติยิ่ง อย่าปฏิบัติกันอย่างงมงาย ทำให้มันมีเหตุมีผล พิจารณาดูสมรรถภาพของร่างกายของตัวเองว่ามีความสามารถเพียงใดหรือไม่

เรื่องการปฏิบัติสมาธิ ซึ่งหมายถึงการทำสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งท่านทั้งหลายได้ยินมามากต่อมากแล้ว ในบางครั้งเราอาจจะมีความสงสัยว่าเราจะปฏิบัติอย่างไรแบบไหน จึงจะได้ผลดี เช่น บางคนเคยไปถามว่าอยากจะปฏิบัติให้มันได้ผลเร็วที่สุด มีอุบายวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติให้ได้ผลสำเร็จ ก็ได้บอกเขาเหล่านั้นไปว่า มันไม่มีแล้ว วิธีที่ปฏิบัติให้มันได้ผลเร็วจริงๆ ก็อยู่ที่การตั้งใจทำจริง ทำไปโดยปราศจากความลังเลสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะไปศึกษาวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานตามวิธีของท่านผู้ใดผู้หนึ่ง เช่น ท่านสอนให้ภาวนายุบหนอ-พองหนอ เราก็ต้องปักใจมั่นลงไปว่าเราจะปฏิบัติอย่างจริงจัง จะเรียนจากสำนักวัดปากน้ำ สัมมาอรหัง เราก็ปักใจอย่างจริงจังว่าจะปฏิบัติตามแบบฉบับของท่าน หรือจะไปเรียนกับอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ เราก็ตั้งจิตให้มั่นลงไปว่าเราจะภาวนาพุทโธ ข้อสำคัญก็อยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่ต้องทำจริง เมื่อจะบริกรรมภาวนาอันใดก็ตาม หากตั้งใจให้มันแน่วแน่ลงไปว่า เราจะนั่งสมาธิวันละ ๓ ครั้งๆ ละ ๑ ชั่วโมง แล้วก็ตั้งใจทำให้จริงจังลงไป ผลมันจะเกิดขึ้นเอง

แต่ที่ปฏิบัติไม่ได้ผลเท่าที่ควรนั้น เพราะเราไม่สามารถที่จะตัดความกังวลสงสัยในระเบียบวิธีการที่ปฏิบัตินั้นๆ วันนี้มาหาหลวงพ่อที่วัดนี้ หลวงพ่อสอนให้ภาวนาพุทโธ แต่ถ้าพรุ่งนี้ไปฟังเทศน์วัดมหาธาตุฯ อาจารย์ใหญ่วิปัสสนาท่านอาจจะสอนว่าให้ภาวนาว่า ยุบหนอ-พองหนอ วันหลังไปวัดปากน้ำ หลวงพ่อวัดปากน้ำอาจจะสอนให้ท่อง สัมมาอรหัง สัมมาอรหัง แล้วเราก็จะเกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ...! ทำไมพระสอนไม่เหมือนกัน เมื่อเกิดความสงสัยขึ้นมาอย่างนี้ ใจของเราก็ลังเล เมื่อลังเลแล้ว เราก็ไม่อาจจะจับอะไรมาเป็นข้อปฏิบัติอย่างจริงจัง นี่คือสิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติ ฉะนั้น มีทางเดียวอยู่ตรงที่ว่า ท่านจะปฏิบัติแบบไหน อย่างไร ขอให้ท่านตั้งใจให้มั่นคงลงไปว่าเราจะเอาแบบนี้แหละเป็นเครื่องปฏิบัติ ส่วนคำบริกรรมภาวนาทุกอย่างนั้นเป็นแต่เพียงอุบายฝึกหัดจิตให้ติดอยู่กับคำบริกรรมภาวนาเท่านั้น เป็นอุบายที่จะให้ทราบความรู้สึกนึกคิดที่จิตส่งกระแสฟุ้งซ่านออกไปตามอารมณ์ ให้มารวมอยู่กับคำบริกรรมภาวนาเพียงคำเดียวเป็นเบื้องต้น จุดมุ่งหมายมีอยู่เพียงเท่านี้



.............................................................

คัดลอกมาจาก
http://www.geocities.com/thaniyo/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง