Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ธรรมเป็นของกลาง (หลวงปู่หล้า เขมปัตโต) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 09 พ.ย.2006, 11:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ธรรมเป็นของกลาง
โดย หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ)
ต.หนองสูงใต้ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร



การปฏิบัติพระพุทธศาสนาจะปรารภยากบ้าง เพราะเหตุว่าบารมีอินทรีย์ที่ไม่แก่กล้า ไม่อยู่ในระดับเดียวกัน คล้ายกันกับดอกบัวสี่เหล่าซึ่งมีอยู่ทุกยุค ทุกสมัย ทุกกาล ทุกเวลา มรรค ผล นิพพานก็มีอยู่ทุกกาลทุกเวลา ไม่ล่วงลับดับไปทางใดเลย พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายจะมากกว่าล้านๆ พระองค์ ที่บังเกิดขึ้นเป็นยุคๆ ก็ดี ก็เป็นคำสั่งและคำสอนอันเดียวกัน ไม่ได้ลบล้างและคัดค้านกันเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะบริบูรณ์พร้อมทั้งเหตุและผลพอ ไม่มีขัดแย้งแข่งดีแข่งเด่นกันอันใดเลย เพราะเป็นธรรมาธิปไตยเต็มภูมิแล้ว

และก็เป็นโลกุตตระคำสอนโดยตรง ด้วยไม่มีโลกีย์มาปนเปไปทางใดเลย ถึงจะแจกแยกออกเป็นตอนต้น ตอนกลาง ตอนท้าย ก็แจกออกตามนิสัยวาสนาของกุลบุตรกุลธิดาของท่านผู้ที่จะปฏิบัติให้เข้าใจความหมายของจิตและธรรมไปเป็นชั้นๆ เท่านั้น คิวสุดท้ายที่ประสงค์จงใจก็หวังเพื่อให้พ้นจากกิเลสอาสวะโดยสิ้นเชิงเท่านั้น จะทรงเทศน์สั้นหรือเทศน์ยาวหรือเทศน์ขนาดกลาง ก็ทรงเทศน์ตามวาสนาบารมีอินทรีย์ของผู้ฟังที่แก่กล้ามาแล้ว หรือเทศน์ประการใดขนาดไหนก็เท่านั้น สุดท้ายก็มุ่งหมายให้พ้นทุกข์ในสังสารวัฏโดยด่วน

บรรดาท่านผู้ทรงเจตนาแท้ไม่เทียม ไม่ปลอม ยอมจำนนไม่ถือลัทธิอื่นมาปรนปรือกับพระพุทธศาสนาหรือคลุกเคล้ามอมเมาให้ช้าเวลา เจตนาเพื่อให้พ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติแล้ว (เป็นเครื่องตัดสินส่อแสดงให้รู้ได้ว่า บารมีแก่กล้ามาแล้วหนอ) และก็ปัญหาของเจ้าตัวท่านผู้นั้นก็ไม่มีอะไรมากนัก ปฏิบัติตรงไปไม่สงสัยลังเล ไม่มัวเมาเซในด้านภาวนา ไม่ติดปัญหาอยู่กับนิมิตแขกนอกที่เป็นรูปและอรูป นิมิตเดิมตั้งเป็นประธานอาจารย์เดิม ก็ทรงสติปัญญาจดจ่ออยู่ให้ชัดแจ้งเป็นหลักฐานที่ตั้งทัพ เช่น ลมออกลมเข้า เป็นต้น เอาเป็นแม่เหล็กดึงดูดของกรรมฐานทั้งหลายให้มาอยู่ในวงแขนของพระอานาปานสติ ที่เป็นกรรมฐานเลิศในพระพุทธศาสนา

ทั้งสมถะและวิปัสนากลมกลืนกันไปในขณะเดียว ไม่เกี่ยวกับการส่งส่ายหาให้เคลื่อนที่ เห็นแจ้งชัดกันอยู่ดีๆ พร้อมกับลมออกเข้าแห่งไตรลักษณ์ เห็นติดต่อกันอยู่ในอู่ของพระสติ พระปัญญา ไม่ต้องสงสัยสรรพโลกว่าจะเป็นอื่นนอกไปจากไตรลักษณ์ เห็นประจักษ์ชัดแจ้งเป็นสันทิฏฐิโก ก็ลงโอ* (“ลงโอ” เป็นสำนวนพูดขององค์หลวงปู่หล้า มีความหมายเหมือนคำว่า “อ๋อ” คือเข้าใจแล้ว รู้ชัดแจ้งแล้ว) เบื่อหน่ายคลายหลง ก็ปลงภาระสะสางตัวเหตุ หมดประเภทที่จะทะเยอทะยานในสังขารโลกทั้งปวง สมุทัยก็ดี ตัณหาก็ดี ทุกข์ทางใจก็ดี ก็ไม่มีประตูจะส่งเสริม มรรคก็เจริญไปในตัวแล้ว นิโรธก็แจ้งไปในตัวแล้ว (ไม่ต้องเรียงแบบก็ได้)

มรรคแปดก็กลายเป็นเชือกแปดเกลียวรวมเป็นอันเดียวไปในตัว จะว่าไปครบแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์เป็นมูลกระจายก็ตามทีเถิด สังขารก็ไม่พ้นจะได้หารลงมาหาเอกะสติ เอกะปัญญา ในปัจจุบันอันสมดุลย์กันขณะเดี๋ยวนี้นี่แล ฯ ข้ามทะเลหลงด้วยความไม่หลง ข้ามผู้รู้ด้วยความไม่ติดอยู่ในผู้รู้ ข้ามความลืมตัว ลืมใจ ลืมธรรม ด้วยความไม่ลืมตัว ไม่ลืมใจ ไม่ลืมธรรม ว่าไปเท่าใด ก็กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร พระนิพพานมิได้มายืนยันว่าและไม่ว่าด้วยดอกอนิจจาเอ๋ย ฯ

ทรัพย์ อ่านว่า ซับ ทรัพย์ภายนอกคือ โลกียทรัพย์ ทรัพย์ภายในคือ โลกุตตรทรัพย์ และก็เป็นอริยทรัพย์ที่เจริญก้าวหน้าสูงส่งตรงไปนิพพาน มีศรัทธาทรัพย์ เป็นต้น เชื่อในพระพุทธศาสนาคือ พุทธัมสงฆ์** พร้อมด้วยพระสติปัญญาสมดุลย์กันแบบแยบคาย เป็นนายหน้าหัวจักรเบื้องต้น เมื่อมีทรัพย์เบื้องหน้าเป็นนายกแล้ว ทรัพย์อื่นๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น ผู้ที่เคารพรักปฏิบัติพระพุทธศาสนา ใจย่อมรักษาและพยายามสร้างขึ้นทำขึ้น ให้เกิดให้มีในขันธสันดานดวงใจ เพราะไม่เป็นของหนัก หาบหิ้วได้เหมือนทรัพย์ภายนอก โจรลักปล้นจี้ไปไม่ได้ เพราะเอาฝากคลังมหาสมบัติไว้อยู่ที่เมืองใจ กรุงใจ และก็เป็นทรัพย์สินที่อบอุ่นของใจชั่วนิรันดรด้วย เรียกว่า “ทรัพย์ภายในนี้มั่นคงถาวร”

ท่านผู้ยินดีทรัพย์ภายในก็ คือ ผู้รู้จักทรัพย์และรู้จักคุณค่าของทรัพย์ด้วย บรรดาท่านผู้ไม่ยินดีทรัพย์ภายในก็ตรงกันข้ามไป ไม่ต้องอธิบายไปมากก็ได้ดอก กล่าวต่อไปให้ถึงพริกถึงขิงว่า ทรัพย์ภายนอกที่เป็นสังหาริมทรัพย์ก็ดี อสังหาริมทรัพย์ก็ดี สวิญญาณกทรัพย์ก็ดี อวิญญาณกทรัพย์ก็ดี อันมีอยู่ทรงอยู่ในสรรพไตรโลกาทั้งปวง ย่อมเป็นเมืองขึ้นของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น (ความจริงในส่วนนี้ ไม่ปรารภถึงอีกก็จริงอีกแท้ๆ) พระพุทธศาสนาเต็มภูมิแท้หมายเอาพระนิพพาน แต่มิใช่นิพพานนอกพระพุทธศาสนาที่หมายเอาพรหมโลกเป็นพระนิพพาน

เหมือนเกจิอาจารย์นอกพระพุทธศาสนาที่ยืนยันกัน มิได้ปรารภเข้าข้างกิเลสของผู้เขียน ปรารภเข้าข้างธรรมาธิปไตยอันเป็นธรรมแท้ มีปัญหาสอดเข้ามาว่า มีท่านผู้ใดมาถวายสรรพไตรโลกธาตุเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาเล่า ถ้าผู้เขียนไปล่วงเกินเอาตามอัตโนมัติก็ต้องปาราชิกสิ ตอบเบาๆ ไว้ว่า นั่นเป็นเรื่องของพระวินัย และผู้เขียนมิได้สำคัญตัวว่าได้เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาแต่ผู้เดียว วางไว้ตามธรรมชาติ ปล่อยไว้ให้มนุษย์ เทวดา มาร พรหม ทุกถ้วนหน้าทั่วทั้งไตรโลกา มีอิสระเป็นพระพุทธศาสนาสามัคคีด้วย คล้ายกับทอดผ้าป่าสามัคคี เป็นต้น

ตอบแบบเบาๆ เข้าไปอีกว่า พระพุทธศาสนาเปรียบเทียบของสูง ไม่มีอันใดจะสูงเท่าทัดเทียมถึงได้ ทีนี้เทียบกับของนอกที่ตาเห็นได้ ไม่ต้องเปลืองเวลาทุ่มเถียงกัน เข็มทิศจะมีกี่ล้านๆ ก็ตาม เป็นเมืองขึ้นของทิศเหนือ ชี้ไปทางทิศเหนือโดยไม่รู้ตัว โดยมิได้มีท่านผู้ใดบังคับและถวายให้ชี้ไปในทางทิศเหนือเลย ชี้ไปอยู่ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน และเข็มทิศก็มิได้บ่นพิไรรำพันว่า ข้าพเจ้าเสียเปรียบทิศเหนือมาก เพราะเป็นเมืองขึ้นของทิศเหนือ และทิศเหนือก็ไม่ตะลีตะลานโอหังมังคะโลว่าเข็มทิศทั้งหลายเป็นบ่าวไพร่ เป็นเมืองขึ้นของเรา ชี้มาทางเราโดยไม่มีกลางวันกลางคืน

เทียบพระพุทธศาสนาในทางลึกซึ้ง เพื่อให้สติปัญญาคำนึงได้หลายทาง น้ำห้วยหนองคลองบึงบางต่างๆ ไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ทั้งกลางคืน ทั้งกลางวันฉันใด ทรัพย์สินในสรรพไตรโลกาก็ดี ลัทธิและวิชาใดๆ ในสรรพโลกทั้งปวงก็ดี ก็ไหลลงสู่เป็นทรัพย์สิน เป็นเมืองขึ้นของพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัวทั้งนั้นล่ะ ดังได้ปรารภเรื่องเข็มทิศกี่ล้านๆ ก็เป็นเมืองขึ้นของทิศเหนือที่ชี้ไปเสมอ แต่ด้วยอำนาจของความจริง ไม่หนีจากความจริง ย่อมทรงไว้ซึ่งความจริงตามธรรมชาติแต่ละชั้นแต่ละชั้น สูงขึ้นไปสูงขึ้นไป

แม้ธรรมชาติอันไม่มีกิเลส คือพระนิพพานก็ยิ่งละเอียดมากไม่มีประมาณ สูงแหลมคมลึกซึ้งไม่มีประมาณได้อยู่นั้นแลนา กล้ายืนยันได้ว่าทรัพย์สินในสรรพไตรโลกาเป็นเมืองขึ้นของพระพุทธศาสนา กล้าพูดไม่ประหม่าเลย จะถูกกล่าวตู่ว่าเป็นบ้าเข้าข้างตัว ก็มีที่ปล่อยวาง ว่าเป็นของสักแต่ว่ารู้ตามความเป็นจริงของธรรมอันเป็นจริงในส่วนนี้เรียกว่า “อนัตตา” เมื่ออนัตตาไม่เลยเถิดก็ยิ่งเกิดปัญญา อนัตตามีขอบเขตทรงเดชกำจัด อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ฯลฯ จะขอตอบเบาๆ เข้าไปอีกให้ถึงทุติตะติว่า ทรัพย์ในสรรพไตรโลกธาตุเป็นเศษกระดาษของพุทธสี่จำพวกก็ว่าได้

เพราะท่านได้คลายได้ทอดบังสกุลหรือทอดผ้าป่าไว้ไม่อาลัยต่อผู้ท่องเที่ยวในสังสารวัฏ ผู้มีกิเลสมากก็ของกู ของกู มีความหวังและยึดถือเอามาก ผู้มีกิเลสน้อยก็ยึดถือและมีความหวังเอาน้อย ถึงจะว่าของกู ของกูบ้าง ก็ไม่กำแน่น มีขอบเขตพอจะปล่อยวางได้ และก็แสวงหาทางบริสุทธิ์ มียางอายไม่โลดโผนแบบกินไม่เลือกเพราะมีหิริโอตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาป จะกลายเป็นกลืนกินคมขวานคนพร้าไป และบางรายก็จะกลายเป็นยาพิษเคลือบน้ำตาล ก็ต้องแสวงหาไม่ปีนเกลียวธรรมะของพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งแบ่งเวลาแต่ละวัน แต่ละคืน ปฏิบัติธรรมอันใกล้ชิดติดสนิทใจ

เพื่อให้กิเลสอนุสัยสิ้นไปในขันธสันดานโดยด่วน ในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม (แต่มักเรียกกันว่า ปัจจุบันชาติ) ปัจจุบันชาติอันใกล้ชิด ก็คือปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมเราดีๆ นี้เอง เพราะเหตุว่าจะตัดมรรคผลชันใดๆ ก็ดี ก็ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมเท่านั้น มิใช่จิตอดีตธรรมอดีต มิใช่จิตอนาคตธรรมอนาคต เพราะอดีตล่วงไปแล้ว มีแต่บัญชี อนาคตเล่าก็มีแต่บัญชี เพราะยังไม่มาถึง เมื่อมัวเคี้ยวบดเอื้องอดีตอนาคตอยู่ ปัจจุบันก็พลอยเสียไปด้วย (กลายเป็นนิทานหมากับเงา เสียทั้งเงาและก้อนเนื้อ)



(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ย.2006, 12:03 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ย้อนคืนหลังเพราะยังไม่ได้ปรารภพุทธสี่จำพวก พุทธสี่จำพวกนั้นก็คือ พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายมากกว่าร้อยโกฏิ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เช่นกัน พระสาวกอรหันต์พระสาวิกาอรหันต์ก็เช่นกัน แต่ละจำพวกก็มากกว่าร้อยโกฏิเช่นกัน พระองค์ท่านทั้งหลายเหล่านั้น คายทิ้ง ถ่ายทิ้ง เหมือนน้ำลายและอุจจาระปัสสาวะกับเรื่องทรัพย์ๆ ของสรรพไตรโลกธาตุแล้ว เพราะรู้ชัดปฏิบัติชัดหลุดพ้นไม่อาลัย คือพ้นชัดตัดหลงตรงสู่ที่เมืองใจ ไฟกิเลสดับรอบเมืองใจ เพราะพระสติพระปัญญาเป็นกองดับเพลิง ไฟไหม้เมืองใจก็เอาน้ำเมืองใจดับ ถ้าจะไปเอาเมืองตา เมืองหู เมืองจมูก เมืองลิ้น เมืองกายนั้น เขาโทรเลขด่วนถึงเมืองใจ

มอบความเป็นใหญ่ให้เมืองใจผูกขาดในตัวแล้ว (เขาไม่บอกปัดอะไรกับเมืองใจก็ว่าได้) คำว่า “ทรัพย์หมายความว่าทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายนอกอยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์” ถ้าใดๆ ในโลกล้วนที่เป็นรูปและเป็นนามอยู่เหนือไตรลักษณ์แล้ว ก็ไม่มีประตูจะเบื่อหน่ายคลายเมาหลุดพ้นได้ ที่สอนให้พิจารณากองนามรูปตามเป็นจริงนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้เอากองนามรูปไปพระนิพพานด้วย พิจารณาถอนความหลงคือ อวิชชาให้เป็นวิชชาเพื่อให้เบื่อหน่ายคลายหลุดพ้นแบบแยบคายถี่ถ้วนดับสนิทแบบเย็นๆ ต่างหาก “ใช้เย็นแทนดับ” ไม่ใช่เย็นแบบน้ำแข็งหรือเย็นแบบฤดูหนาวเลย รสชาติธรรมอันดับสนิทเย็นสนิททรงอยู่มีอยู่ มิได้สูญมิได้ดับมิได้ว่างไปจนเลยเถิด “เรียกว่าธรรมอันไม่ตายไม่แปร”

“พระนิพพานไม่ใช่ผู้รู้ เหนือผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมาย” ถ้าหมายอยู่ยังไม่ใช่พระนิพพาน เป็นเพียงความหวังและเจตนากำลังเดินทางใจมรรคใจเท่านั้น ธรรมชั้นนี้เป็นธรรมชั้นสูงมาก มอบให้เจ้าตัวแต่ละรายเป็นผู้มีสิทธิ์เห็นเองรู้เอง จึงเป็นของไม่นอกเหนือ ถ้านอกเหนือไปกว่านี้แล้ว เป็นธรรมหาพรรคหาเสียงภายนอกเหมือนชาวโลกที่อลหม่านกันอยู่ เป็นปัญหาเจ้าโลกแตก ชาวโลกรบราฆ่าฟันกันเพื่อให้โลกแตกและฉิบหาย อ้ายที่แท้ก็คือสร้างเวรภัยคูณทวีหมกไหม้ไว้ในโลก กูที มึงที ไม่จบสิ้น

อนึ่ง ผู้บารมีอินทรีย์ยังอ่อน เป็นดอกบัวอยู่ใต้น้ำ จะมีบทบาทชักจูงให้เคารพรักการปฏิบัติพระพุทธศาสนาสักเพียงใด ก็ย่อมเป็นไปได้ยากเพราะบุญเก่าน้อยนัก ไม่สามารถมีกำลังหนุนและเพิ่มพูนได้ ยังไกลริบหรี่ริบหรี่อยู่จนขอบฟ้า ขอบดิน วิญญาณปฏิสนธิยังปฏิสนธิอยู่กับมืดโลกันตนรก โลกันตนรกขุมมืดในปัจจุบันทันตาไม่ได้อยู่ใต้ดินใต้ฟ้าไกลใกล้อันใด ตั้งอยู่รอบหัวใจของผู้ถือว่า ไม่มีบุญและบาป ไม่มีมรรคผลนิพพาน ตายแล้วก็ถือว่าสูญไปทั้งนั้น ยืนยันอยู่หน้าเดียว ดิ่งลงไป

ความเห็นดิ่งลงไปทางเดียวอันมีน้ำหนักมากกว่าแผ่นฟ้าแผ่นดินแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดมาอธิบายเทศนาถอนออกก็ถอนไม่ได้ ดิ่งลงไปทางดีก็เหมือนกัน ดิ่งลงไปทางชั่วร้ายก็เหมือนกัน เจ้าตัวเท่านั้นจะเห็นชัด อันพร้อมด้วยเหตุผลโดยเฉพาะส่วนตัว การชี้แจงเหตุผลให้กันฟังและผู้จะปฏิบัติตามมันเป็นคนละเหตุผล เป็นคนละรส เป็นคนละชาติ หิวอาหารต้องรับเองฉันเอง หิวนอนต้องนอนเอง ท่านผู้อื่นทำแทนไม่ได้ ไม่เหมือนงานภายนอกเลย

แม้งานภายนอกก็ดี ท่านผู้อื่นทำแทนได้ก็ยังมียิ่งหย่อนอีก บางทีทำดีกว่าเราไปอีก บางทีทำพอเสมอเรา บางทีทำเลวไปกว่าเรา เพราะหลายบางที ถ้าว่าไปปรมัตถ์แล้ว เขาทำให้เราก็คือทำให้เขานั่นเอง เช่น ลูกศิษย์ทำข้อวัตรให้อาจารย์ จะว่าทำถวายอาจารย์โต้งโต้งก็ไม่ถูกอีกล่ะ ก็ข้อวัตรและศีลวัตรของลูกศิษย์จะเจริญแก่ลูกศิษย์ เรียกได้ว่า ลูกศิษย์ทำให้ลูกศิษย์อยู่โดยตรงแล้ว ถ้าลูกศิษย์ไม่ทำถวายเล่า ลูกศิษย์ก็เป็นอาบัติทุกกฏ ไม่ถูกกับพระวินัยของลูกศิษย์อีก

ในตอนนี้ไม่หนีหลักเดิมอยู่แล้ว ทำดีก็ทำให้ตน ทำชั่วก็ทำให้ตน ถ้าหากว่าลูกศิษย์ทำด้วยความไม่พอใจ รสชาติความไม่พอใจนั้นก็อยู่กับหัวใจของลูกศิษย์ ไม่ได้มาเป็นรสชาติอยู่กับหัวใจของอาจารย์เลย แม้อาจารย์จะดักใจทายใจลูกศิษย์ได้ก็ตาม ว่าการทำของเธอทำด้วยไม่พอใจก็ดี ก็เป็นหลังฉากเล็มก้างเขา เขาย่อมรู้ใจเขาก่อนเราทายเขาแล้ว การดักจิตดักใจจึงเป็นทีหลังของผู้ถูกดัก ไม่สำคัญอะไรนัก

การดักจิตดักใจของตนเอง ย่อมเป็นภาวนาอยู่ในตัว ทวนกระแสเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะจะได้รู้ว่าเดี๋ยวนี้มีกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกหรือไม่ล่ะ ถ้ามีหรือไม่มีจะได้รู้ เมื่อรู้ว่ามีจะละด้วยวิธีใดก็จะได้รู้ด้วยวิธีนั้น บรรเทาหรือไม่ก็จะรู้ได้ ขาดไปแล้วไม่กำเริบด้วยวิธีใดก็จะได้รู้ด้วยวิธีนั้น กำเริบขึ้นด้วยวิธีใดก็จะได้รู้ด้วยวิธีนั้น การพิจารณาจิตในจิตนี้ จะปฏิเสธไม่ได้ถ้าปฏิเสธแล้ว การพิจารณาจิตก็ไม่บริบูรณ์จะเป็นจิตบริสุทธิ์ไปได้ยาก เพราะขาดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานย่อมไม่สมบูรณ์

พระอรหันต์จำพวกเดียวจะไม่ลำบากกับจิต เพราะจิตสะอาดดีพอแล้ว จิตมิได้ประกอบกับเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหนือเหตุผลไปแล้วปราศจากโทษ มิได้รักษาจิตคุมจิตอยู่เหมือนคนคุมนักโทษ เมื่อกิเลสคือความหลงไม่เข้าไปยึดถือเอาจิตเป็นตน ตนเป็นจิตแล้ว อุปาทาน อวิชชา ตัณหา สมุทัย ทุกข์ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ สมมุติก็ทรงสมมุติตามเคย ไม่มีใครไปจี้ปล้นไถ่ถอนเอาเป็นเจ้าของ แม้ธรรมฝ่ายวิมุตติก็ทรงวิมุตติตามเคย ไม่มีใครไปจี้ไปปล้นไปลักไถ่ลักถอนให้เป็นกรรมเป็นวิบากเป็นวัฏฏจักร-ฏจกอะไร ก็จบกันไปไม่มีปัญหาของอนิจจาอีก

เราทั้งหลายได้มาประสบพบเห็นพระพุทธศาสนาแล้วพร้อมทั้งตานอกและตาใน คือปัญญา เป็นโชคชะตาอันประเสริฐศรี รักปฏิบัติบวกคูณทวีจนถึงที่สุดทุกข์โดยชอบ มิหวังให้เนิ่นช้าเพราะเหตุว่าเราเป็นมนุษย์เต็มภูมิ มิได้บกพร่อง บ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์อันใดเลย ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต พระบรมศาสดาและพระอริยสาวกทั้งหลายเหล่านั้นก็ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณจัดแจงเตรียมพร้อมบริบูรณ์ไว้ให้พวกเราเรียบร้อยแล้ว เป็นของทิพย์อยู่โดยตรงแล้ว คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชทั้งหลายเหล่านี้

พวกเรามีหน้าที่ทางเดียว คือ สรงน้ำให้สะอาดในสรรพางค์กายทุกส่วนพอควรแล้วตั้งหน้าเสวยหรือบริโภคโดยเคารพเท่านั้น ฝ่ายจิตใจที่สกปรกโสมมด้วยไฟราคะไฟโทสะไฟโมหะนั้นเป็นไฟอันร้อนเผาผลาญกว่าไฟธรรมดา ธรรมวินัยอันจะระงับนั้นแลนา พระองค์และพระอริยะสงฆ์ก็ได้ทรงสั่งสอนและสอนไว้ให้พวกเราเรียบร้อยแล้ว ไม่สูญหายไปไหน



(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ย.2006, 12:07 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนึ่ง มักจะได้ยินบ่อยๆ ว่าการปฏิบัติอัตคัดลำบากจิปาถะสารพัดจะพรรณนาแท้ๆ ถือตรงกันข้าม ถือว่าการทำสกปรกใส่ตัวเป็นของสะดวก ถือว่าการสรงน้ำเป็นของยากนัก การที่เอาความเห็นอย่างนั้นมาเป็นนายหน้าของหัวใจ ความเห็นชนิดนั้นเป็นเครื่องอบอุ่นได้หรือประการใด หรือกลับเป็นภัยของใจไปอีก ผู้ชอบพิจารณาไม่เอามุทะลุออกหน้าก็ตอบตนได้เร็วไว ว่าเป็นภัยของใจตรงๆ ไม่นำทรงใจให้เจริญก้าวหน้า เป็นวิชาเบียดเบียนตนเบียดเบียนใจ ใจไม่เป็นที่พึ่งของใจได้ ตนไม่เป็นที่พึ่งของตนได้ ใจกับตนมีความหมายอันเดียวกัน

เรื่องของหนูพิจารณาดูได้ ให้เทียบกับธรรมะ หนูบางชนิดไม่สร้างรัง แต่ไปอยู่รังเก่าเขา คล้ายกับบุคคลผู้ไม่หนักไปในทางเรียน แต่เมื่อมีคนมาเล่าเรื่องธรรมะของเก่าโบราณให้ฟังบ้างแล้ว ก็พยายามนำเอาไปปฏิบัติเท่าที่ควรจะปฏิบัติได้ และก็ได้รับรสชาติของธรรมะบ้างโดยไม่เปล่าประโยชน์ไปหน้าเดียว เรียกว่าลิ้นรู้จักรสแกง ตามที่จิบน้อยและมากในส่วนเหตุผลที่ตนทำ

หนูบางชนิดสร้างรัง แต่ไม่รู้ว่าหนีไปไหน ไม่พอใจอยู่รังเลยล่ะ คล้ายกับบุคคลผู้เรียนมาแล้วไม่ปฏิบัติตาม เปรียบเหมือนช้อนที่ตักแกงวันยังค่ำไม่รู้รสแกงเสียแล้ว หนูบางชนิดทั้งสร้างรังด้วยทั้งอยู่ด้วย แปลว่า ทั้งเรียนด้วยทั้งปฏิบัติด้วย หนูบางชนิดทั้งไม่สร้างรังด้วย ทั้งไม่แสวงหาที่อยู่เป็นหลักด้วย คล้ายลมพัดนุ่นปลิวไปในทิศทั้งสี่ไม่มีหลักแหล่ง คล้ายกับบุคคลไม่พอใจฟัง ไม่พอใจเรียน ไม่พอใจปฏิบัติ

ฝ่ายเราผู้เขียนและผู้อ่านอยู่ขณะนี้เล่า จะเป็นหนูชนิดไหน ? แบบอะไรก็ดี ก็ขอให้มีอิสระเลือกเอาตามนิสัยประสงค์แต่ละรายของเจ้าตัวตามศรัทธา แต่ถ้าวาสนาบารมีได้เคยสร้างสมทางดีมาบ้างก็เป็นทุนในกระเป๋าใจจะอยู่แบบไม้ลอยน้ำหรือแบบลมพัดนุ่นปลิวไปในทิศทั้งสี่ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด ย่อมต้องสร้างดีบวกดีทวีคูณขึ้นที่ใจ ไม่ลังเลสงสัยเลย ผู้ไม่สงสัยในพระพุทธศาสนาเป็นชาติและชีวาที่มีพระคุณค่า เวลาไม่เปล่าไปเฉยๆ

เขาย่อมเตือนตนเองในทางบุญสุนทาน อยู่แบบมีสง่าผ่าเผย ไม่คับแคบเหมือนบางรายท่านหนักไปทางตระหนี่เหนียวแน่น เอามูลค่ามาบริจาคในคราวจำเป็นหลบหลีกไม่ได้ เพียงสี่ห้าบาทก็เท่ากับลูกตายไปคนหนึ่งแล้ว ผู้เขียนและผู้อ่านก็คงจะเคยเห็นมาบ้าง นอกจากตัวเราไปแล้ว ก็ยอมให้เป็นเรื่องท่านผู้อื่นไปซะ เพราะเป็นบางรายเท่านั้น ตัวเราควรมองตัวเราเองให้มากหลาย จึงจะกลายเป็นคนดีได้ มัวแต่มองท่านผู้อื่นแล้วไซร้ก็จะกลายเป็นคนพาลไปไม่รู้ตัว

เพราะนิสัยคนพาลย่อมเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวัตร โบราณท่านมักกล่าวว่าอุจจาระของตนนั่งดมอยู่พอดม อุจจาระท่านผู้อื่นเล่ามากระทบจมูกเข้าก็เกิดเป็นพิษเป็นภัยขึ้น โลกทั้งปวงย่อมเป็นแบบนี้เป็นส่วนมาก หากโลกทั้งปวงหนักไปในทางสอนตนเองเป็นชั้นที่หนึ่งและเป็นของจำเป็นมากว่าสิ่งใดๆ แล้ว การโต้เถียงเกี่ยงงอน รังเกียจเบียดสีกันก็คงสงบไปในตัวเท่าที่ควร และพระพุทธศาสนาก็ยืนยันว่า “สอนตนดีแล้วจึงสอนท่านผู้อื่น จะได้ไม่เดือดร้อนภายหลัง”

ปรารภน้อยไม่พอบรรยาย ปรารภหลายถูกกล่าวตู่ว่าอวดดี เอาทิฏฐิโลกมาป้อนทิฏฐิของตน “แบกโลกหลังหักตาย” แต่ถ้าไม่บรรยาย ปัญญาก็ไม่กระจ่าง ต่างได้ทวนกระแสดูตน ค้นดูใจว่าได้ผลประการใด การวิจารณ์แบบนี้ได้ความว่าเพิ่มความระอา เพิ่มความเบื่อหน่ายทวีคูณ ไม่เสียดายจะมาพอกพูน เกิด แก่ เจ็บ ตายอีก เป็นมนุษย์สุดจะปลีกให้พ้นความทุกข์

ไม่ยินดีในทุกข์ ไม่ยินดีในสังขาร ไม่ยินดีในกิเลส ไม่ยินดีในชาติๆ ภพๆ ไม่ยินดีใดๆ ทั้งปวงในโลก ไม่ยินดีในอนิจจัง ไม่ยินดีในกองนามรูป ไม่ยินดีในอดีตอนาคต ก็มีความหมายและรสชาติเป็นอันเดียวกัน แต่อาศัยปัจจุบันเป็นเครื่องพิสูจน์ “เพราะเอาศีล สมาธิ ปัญญา รวมเป็นกองพลไว้ที่นี้แล้ว”

พระพุทธศาสนาจะตั้งมั่นคงแน่นหนาได้ในหัวใจของมนุษย์ เทวดา มาร และพรหมได้มั่นคง ก็เพราะทรงศรัทธาอันสมดุลย์กับปัญญาแก่กล้าเรียกว่าเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น เชื่อลงได้สนิทไม่สงสัยคลางแคลง เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อันเป็นพุทธแท้ ธรรมแท้ สงฆ์แท้นั้นทรงอยู่มีอยู่ทุกกาลของโลก เพราะพระองค์ทรงยืนยันว่าเราปรินิพพานล่วงไปแล้วก็ตาม พระธรรมคำสั่งสอนที่เราสอนไว้แล้วบริบูรณ์นั้น จะเป็นพระศาสดาของพวกท่านเต็มภูมิ

ทุกๆ พวกอย่าได้ประมาทเน้อ จงตั้งใจปฏิบัติตามสติกำลังของตน พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่วตามเหตุผลที่ปฏิบัติน้อยและมาก การเชื่อพระพุทธศาสนากับเชื่อเหตุดีผลดีเหตุชั่วผลชั่ว ก็มีความหมายอันเดียวกัน เหตุสัมปทาถึงพร้อมด้วยเหตุ ผลสัมปทาถึงพร้อมด้วยผล รู้รอบคอบในเหตุในผลก็ต้องเลือกเหตุให้แยบคายถี่ถ้วน เมื่อเหตุดีแล้ว ผลไม่ต้องประสงค์ก็ได้รับตามส่วนควรค่าของเหตุ ผู้เชื่อพุทธัมสงฆ์ กับผู้เชื่อเหตุเชื่อผลเป็นใจที่ทรงปัญญา มีหลักเกณฑ์ไม่บกพร่องถูกต้องดี เอาเป็นประมาณได้เป็นเรือนที่มีขื่อมีแป มีขอบเขต ผู้รู้จักขอบเขต รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักเวลา จะเป็นผู้ทรงปัญญาก้าวหน้าแล ก็จะเป็นโลกุตตรปัญญาด้วย ไม่ใช่โลกียปัญญาเหมือนปุถุชนคนหนา

โลกุตตรปัญญาเบื้องต้นก็คือโสดาปัญญา ปัญญาเชื่อพุทธัมสงฆ์ไม่จืดจางและถึงซึ่งพุทธัมสงฆ์ เป็นสรณะตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน ไม่มีการขบถคืน เป็นโลกุตตรศรัทธา เชื่อมั่นไม่ถอยหลัง เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้นเต็มภูมิแล้ว สุปฏิปันโนก็ว่า พระโสดาบันก็เรียก ข้ามปุถุชนคนหนาไปแล้ว ไม่เสียดายอยากจะล่วงละเมิดศีลห้า ไม่เสียดายอยากจะล่วงอบายมุข ไม่เสียดายอยากจะคบมิตรชั่ว ไม่เสียดายอยากจะจองเวรกับท่านผู้ใด ไม่เสียดายอยากจะค้าขายเครื่องประหัตประหารและสัตว์เป็น ไม่เสียดายอยากจะค้าเนื้อสัตว์ที่ตัวฆ่าเพื่อเป็นอาหาร แม้น้ำเมาและยาพิษก็ไม่เสียดายจะซื้อขะขายเลย เพราะเกรงสรณคมณ์มัวหมอง



(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 10 พ.ย.2006, 12:15 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธรรมชั้นนี้ ศีลชั้นนี้ เจตนาชั้นนี้ ปัญญาชั้นนี้ สมาธิชั้นนี้ พุทธศาสนาชั้นนี้ เป็นทรัพย์ภายในเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา มั่นคงและก็จะก้าวหน้าสูงส่งตรงไปนิพพาน ไม่แวะไม่วน ไม่จนมุมทุกๆ ด้าน ความดีคนดีทำได้ง่าย ความชั่วคนดีทำได้ยากแท้ๆ ความชั่วคนชั่วทำได้ง่าย ความดีคนชั่วทำได้ยากแท้ๆ สิ่งเหล่านี้มีประจำโลกอยู่ไม่ขาดเลย ใครทำใครได้ ไม่ว่าทางดีหรือชั่ว ใจพาทำดีไว้ให้เป็นที่อบอุ่นของใจชั่วนิรันดร

ทำดีไว้แข่งกับกิเลสของเจ้าตัว ถ้าจะทำชั่วแดกดันกับกิเลสเจ้าตัว ก็ตรงกับคำว่า เป็นเมืองขึ้นของกิเลส ไม่อยากถอนตัวออกเป็นอิสระเอกเทศ ถอนออกพรวดไม่ได้ทีเดียวก็อดทนพากเพียรพยายาม พยายามละชั่วทำดี ละชั่วทำดีอยู่ที่เมืองใจ อันเมืองใจสงวนไว้ว่าปีนเกลียวธรรมแล้วก็เห็นโทษในทางปีนเกลียว เห็นพระคุณในทางที่ไม่ปีนเกลียว เรามีอิสระทำดีได้ไม่ถึงกับหมดสิทธิ์ไปเปล่าๆ เลย

ดีใดก้าวหน้าไม่มีโทษ ดีนั้นเป็นประโยชน์โปรดใจให้ดีเด่นสูงขึ้น คำว่า “ดี” มีดาษดื่นที่ท่านผู้อื่นสมมุติเข้าข้างกิเลสของตัวเป็นส่วนมากตามความอยากของชาวโลก ดีไปในทางจะข้ามโอฆะแห่งโลกสังสารวัฏเป็นทางของนักปราชญ์ทรงพระปัญญาญาณบัญญัติสมมุติขึ้น ไม่มีรสชาติขมขื่นปะปนเปไว้ให้ระอา ท่านผู้ทรงปัญญาย่อมยอมจำนนไม่เป็นกังวลจะละเมิด เปิดประตูใจรับพุทธัมสงฆ์ ทรงไว้ที่ดวงใจ ถ้ารับไว้ที่อื่น ก็ยิ่งตื่นหาไม่พบ เลยปลอม

ดีในโลกุตตระ ธุระทางผิดก็น้อยลง ใจก็ยิ่งดำรงทรงธรรมก้าวหน้า ก้าวเข้าไปหาอุชุ-ญาย-สามี ฯ เพราะเป็นทางดีไม่มีขวากหนามอันใด ผู้เห็นหนทางในทางใจ พร้อมทั้งใช้ปัญญาอันเห็นชอบ ศรัทธาก็ชวนประกอบ หากพอใจเป็นเอง ไม่มีท่านผู้ใดข่มเหง หากเป็นทิพย์ทางใจ ใจทิพย์ ธรรมทิพย์ ปาฏิหาริย์ทิพย์ก็ว่าได้ไม่ผิด คนเราก็ดี สัตว์ทั้งปวงก็ดีมีปาฏิหาริย์ประจำตัวอยู่แล้ว นกมีปาฏิหาริย์บินได้ ปลามีปาฏิหาริย์ทางดำน้ำ แมลงวันมีปาฏิหาริย์ทางตอมไต่หยอดไข่ขาง บรรดาท่านผู้ทำดีก็มีปาฏิหาริย์ไปทางดี บรรดาท่านผู้ไปทางชั่วก็มีปาฏิหาริย์ไปทางชั่วแท้ๆ กรรมและผลของกรรมเป็นปาฏิหาริย์ทั้งนั้น ส่วนผลลัพธ์ก็ให้ผลตามส่วนควรค่าของเหตุที่สร้างขึ้น เรียกว่า “โลกทิพย์ปาฏิหาริย์”

บรรดาท่านผู้มีกิเลสก็ทรงปาฏิหาริย์และเป็นของทิพย์ โลกทิพย์ มาเกิด แก่ เจ็บ ตายอีก บรรดาท่านผู้พ้นจากอาสวะโดยสิ้นเชิงก็มีปาฏิหาริย์เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ธาตุอันเป็นยอดปาฏิหาริย์เหนือโลกไปไม่มีสิ่งที่จะเทียบได้ ผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนาย่อมรู้จักคุณค่าของปาฏิหาริย์และนอกโลกเป็นมหาทิพย์ ใจทิพย์ ธรรมทิพย์อันทรงอยู่มีอยู่ทุกกาล ปาฏิหาริย์และโลกทิพย์ในทางวัตถุมันไกลกันกับโลกุตตรทิพย์จนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อนอกๆ ตาโลกุตตรปัญญาเท่านั้นจึงจะมองเห็นได้ แม้สมาธิหัวตอที่รักสงบนิ่งอยู่ท่าเดียว เป็น เถรส่องบาตร** (เป็นสำนวนพระกรรมฐานใช้กัน หมายถึงคนที่ทำอะไรตามเขาโดยไม่รู้เหตุรู้ผล) ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ (ธรรมส่วนนี้ทำให้ท่านผู้อ่านผู้ฟังชอบชวนคิด)

ผู้ท่องเที่ยวในสังสารวัฏ เกิด แก่ เจ็บ ตาย กับผู้ท่องเที่ยวในสนามทุกข์ก็ดี ท่องเที่ยวในสนามเวรภัยก็ดี ท่องเที่ยวใน สวนสะทุกข์*** (เป็นศัพท์แสลงที่องค์หลวงปู่หล้าใช้ให้มีความหมายตรงข้ามกับคำว่าสวนสนุก) ก็ดี ท่องเที่ยวเดินสวนสนามป่าโลภ ป่าโกรธ ป่าหลงก็ดี สนามแก่ สนามเจ็บ สนามตายก็ดี สังคมทุกข์ก็ดี สังคมสร้างปัญหาต่างๆ ก็ดี สังคมทะเลหลงใหลก็ดี สังคมหยอกเงาตัวเองและปั้นน้ำเป็นตัวก็ดี เหล่านี้เป็นต้น โดยย่นย่อก็ลงเอยว่ามีความหมายอันเดียวกันทั้งนั้น

บรรดาท่านผู้เห็นโทษ เจ้าตัวน้อมลงมาหาตัวว่าเป็นเพราะเจ้าตัวมาหลง มาไหล มาหลำ**** (เป็นภาษาอิสาน มีความหมายว่า ทำซ้ำๆ) เกิด แก่ เจ็บ ตายในโลกสังสารวัฏอันนี้ แล้วก็รีบเร่งเคร่งครัดปฏิบัติศีลธรรมในพระพุทธศาสนาเร่งรัดตัดตอน ไม่มีเจตนาอาลัยอาวรณ์ในลาภ ยศ สรรเสริญ เยินยอในอามิสใดๆ ภายนอก ความเห็นชอบของบรรดาท่านเหล่านี้ เป็นสาระแก่นสาร เป็นนักปราชญ์และหมอปริญญาโดยแท้ ไม่ต้องไปสอบในสนามหลวงของชาวโลกก็เป็นปริญญาธรรมทิพย์อยู่ในตัวแล้ว แต่ยุคของโลกจรวดโลกดาวเทียมก็เป็นของหาได้ยากนัก เมื่อหาคนนอกได้ยาก ก็ต้องโอปนยิโกลงโอ เข้าปฏิบัติตัวเอง และก็เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ให้หาตนดีกว่าหาท่านผู้อื่น

ในสมัยยุคต้นของพระบรมศาสดาที่พักอยู่ไร่ฝ้าย ที่พวกภัททวัคคีย์ตามหาหญิงแพศยาที่ลักเอาห่อของแล้วลอบหนีไป พวกภัททวัคคีย์ก็ตามหาหญิงแพศยาไปประมาณสามสิบคน ครั้นไปถึงไร่ฝ้ายอันพระองค์ทรงเสด็จพักอยู่ ก็กราบทูลถวายพระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ เห็นหญิงแพศยาที่ลักห่อของ ของพวกเกล้ามาทางนี้หรือไม่หนอ ?

พระองค์ทรงพระมหากรุณาตอบว่า พวกท่านจะหาท่านผู้อื่น หรือจะหาตนดีกว่า ? แล้วก็พากันกราบทูลพระองค์ว่า หาตนนั้นแหละดีกว่าพระเจ้าข้า พระองค์ทรงพระมหากรุณาว่า ถ้าอย่างนั้นพวกท่านจงนั่งลงเถิด ตั้งใจฟังให้ดี เราจักแสดงธรรมแก่พวกท่าน พระองค์ก็ทรงพระมหากรุณาเทศนาเรื่องทาน ศีล เนกขัมมะในการออกจากกามารมณ์และเทศน์อริยสัจสี่ ย่นย่อลงมาก็คือศีล สมาธิ ปัญญาที่ผสมกลมกลืนกัน ผลของการเทศนากัณฑ์นั้น พวกภัททวัคคีย์ซึ่งแปลว่า “พวกเจริญ” ก็ได้ถึงพระโสดาปัตติผลทั้งสามสิบคน แล้วพระองค์ก็ส่งไปประกาศพระศาสนา ครั้งอยู่มาไม่ช้านานก็สำเร็จพระอรหันต์ (ธรรมเทศนาของพระพุทธศาสนาเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจไม่เสียเวลา)

ด้านสมาธิภาวนาในทางพระพุทธศาสนา ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้า-ออกเป็นกรรมฐานเลิศในทางพระพุทธศาสนา และก็เป็นแม่เหล็กดึงดูดกรรมฐานอื่นให้มาอยู่ในวงแขนของอานาปานสติได้ไม่ขัดข้องเลย เว้นไว้แต่ไม่ต้องการดึงมา แม้แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์จะดึงมาเข้ากับลมหายใจออก-เข้าในปัจจบันทันด่วนก็ได้ คือ พร้อมกับลมออก-เข้าอันที่ลมกระทบและถูกต้อง ลมเข้ากระทบที่ใดชัดก็ให้มีสติรู้ไว้ ลมออกกระทบที่ใดชัดก็ให้มีสติรู้แจ้งชัดไว้ไม่ลืม ถ้าจะให้ลมออก-เข้ากระทบเป้าเดียวกันก็ไม่ยาก คือ ลมออก-เข้าจะไม่ผ่านปลายจมูกแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ จ้องสติให้รู้ไว้ที่นั่น ไม่ลืมเลย นี่คือ กรรมฐาน มีหลักและมีอำนาจ

แม้จะมีนิมิตแขกมาเกย มาพาดให้ปรากฏ เป็นแสงพระอาทิตย์ก็ดี แสงดาวก็ดี แสงแก้วก็ดี เหมือนดอกบัวหลวงหรือเหมือนกงจักรก็ดี หรือร่างกายเบา ใจเบา จนปรากฏว่าเหาะไปก็ดี หรืออะไรต่ออะไรนับเป็นล้านๆ ก็ดี อย่าได้ลืมลมออก-เข้าที่ปลายจมูกเป็นหลักไว้ เพราะเป็นเป้าเดิม อาจารย์เดิม กรรมฐานเดิม ถ้าหากว่าลืมเพลินไปทางอื่น ฟุ้งซ่านไปทางอื่นก็กลายเป็นว่าวเชือกขาดเรียกว่า ฐานทัพแตก ใช้ไม่ได้ ต้องเป็นผู้มีสัจจะ ตั้งฐานทัพไว้ให้แน่น มีอธิษฐานไว้ให้ดี ตั้งมั่นด้วยความอดทน มานะ สัจจะ เพียรเพ่งเร่งภาวนา ขยันหมั่นเพียร ฝนทั่งให้เป็นเข็ม ก็ต้องถือว่าเป็นธรรมดาเล็กน้อย ความเพียรเป็นตบะเผากิเลส

เพียรในทางที่ชอบย่นลงมาเป็นสองเพียร ละชั่วทำดีก็ว่า เพียรละบาปบำเพ็ญบุญก็ว่า เพียรขยันละขี้เกียจก็ว่า ผู้จะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร ความเพียรเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ “ความมีศรัทธา มีความเพียร มีสติ มีสมาธิตั้งมั่น มีปัญญารอบรู้ทั้งห้าข้อนี้ เป็นพลังรวมพลเป็นกองทัพที่ทรงพระกำลังมากในธรรมะของพระพุทธศาสนาแข็งแกร่งมาก" ศรัทธาเชื่อในเป้ากรรมฐานที่ตั้งไว้ เพียรประกอบกับกรรมฐานที่ตั้งไว้ สติระลึกไว้ในกรรมฐานที่ตั้งไว้ สมาธิตั้งมั่นในกรรมฐานที่ตั้งไว้ ปัญญารอบรู้ในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้น ผลรายรับก็ต้องปรากฏเองตามส่วนควรค่าที่ทำน้อยและมาก ให้ผลไม่ลำบากไม่นิยมกาลเวลา ไม่เหมือนต้นไม้ผลไม้อันเป็นของนอก

ขอให้สร้างเหตุดีพลีไว้ที่ดวงใจ สิ่งไหนพอที่กายวาจาจะช่วยได้ก็ให้ช่วย ผลรายได้ไม่ต้องบ่นพิไรรำพันหาก็ได้รับตามส่วนควรค่าของเหตุที่สร้างขึ้นแห่งเมืองใจ ก็ได้รับเป็นโลกทิพย์อยู่ที่เมืองใจ ธรรมทิพย์ก็ว่าได้ไม่ผิด จะว่า “ใจ” เป็นบ่อเกิดของความดีความชั่วตามส่วนควรค่าของเหตุที่สร้างขึ้นก็ได้ไม่ผิด เมื่อรักษาและปฏิบัติใจก็เท่ากับปฏิบัติรักษากายวาจา เพราะกายวาจาปล่อยให้ใจเป็นอิสระ เป็นนายหน้าแล้ว ไม่มีอิสระจะเข้าชิงตำแหน่งหาพรรคหาเสียงใดๆ แข่งดีแข่งเด่นได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติจะเรียกสั้นว่า ปฏิบัติใจก็ได้ไม่ผิด ศีลใจ สมาธิใจ ปัญญาใจ แล้วก็กลายเป็นธรรมตัวเดียวที่ทรงไว้กับใจ จะหายก็หายออกจากใจ จะเห็นก็เห็นอยู่ที่ใจ จะสูงหรือต่ำก็ขึ้นอยู่กับใจ พระไตรปิฏกจะจบก็จบลงที่ใจอันทรงไว้ซึ่งปัจจุบัน ปัจจุบันธรรม ปัจจุบันใจ ปัจจุบันธาตุ ปัจจุบันขันธ์ ปัจจุบันสังขาร เรียกได้ใช้ได้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ถ้าทำถูกก็เป็นเมืองขึ้นของพระนิพพานทั้งสิ้น ถ้าทำผิดก็เป็นเมืองขึ้นของนรกเปรตหรือสัตว์เดรัจฉาน ฯ

ขอผู้เขียนและท่านผู้อ่าน หรือทั่วทั้งไตรโลกา ด้วยเดชาพระพุทธศานา จงปราศจากสรรพเวรสรรพภัยแก่กันและกัน เป้นมิตรเป็นสหายกันในธรรมที่ชอบยิ่งๆ ขึ้นไปจนถึงที่สุดทุกข์โดยชอบ โดยด่วนทุกเมื่อเทอญ ฯ



......................................................

คัดลอกจาก
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง