พระอาจารย์ชยสาโร
การพัฒนาชีวิตของเรา ต้องดำเนินทั้งภายนอกด้วย ทั้งภายในด้วย
ถ้าหากว่าเรามัวพัฒนาแต่เรื่องภายนอกโดยไม่คำนึงหรือละเลยสิ่งภายใน
การพัฒนานั้นจะขาดความสมดุล แล้วในที่สุดจะไม่ประสบความสำเร็จ

เราพึ่งพระรัตนตรัยตลอดชีวิตได้โดยไม่ต้องสงสัย ที่พึ่งนอกจากนั้น
เป็นที่พึ่งที่ทรยศ จะช่วยเราจริง ๆ ไม่ได้
แม้ว่าเราจะพึ่งมันได้เป็นบางครั้งบางคราว แต่ว่าถึงที่สุดแล้วมันก็จะหนีจากเรา
มันจะพลัดพรากจากเราไป เพราะมันเป็น สังขาร หมด
เราจึงพยายามปฏิบัติเพื่อบรรลุสิ่งที่เรียกว่า วิสังขาร สิ่งที่อยู่เหนือความเกิด
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

เพราะเรากลัวตัวเอง กลัวอยู่กับตัวเอง ก็ต้องเดินออกนอกอยู่ตลอดเวลา
ซัดส่ายไปตามอารมณ์ภายนอกอยู่ตลอดเวลา เลยเป็นทาสของสิ่งภายนอกอยู่ร่ำไป
สิ่งภายนอกขึ้นๆ ลงๆ เราก็ขึ้นๆ ลงๆ ตามความเคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านั้น
จิตใจของเราก็ไหวกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา ไหวกระเพื่อมจนกระทั่งเราถือความวุ่นวายว่าเป็นความปกติ

บางทีการเคลื่อนไหวและการกระทำการงานต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สมควร
แต่บางคราวการอยู่นิ่งและการงดเว้นจากการกระทำก็เหมาะสมกว่า

ถึงแม้ว่าการปฏิบัติของเรานั้น ยังไม่ถึงขั้นที่ว่า การปฏิบัติชอบ
ก็อย่างน้อยที่สุด ขอให้เรา ชอบปฏิบัติ เสียก่อน

เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติ ธรรมะก็เป็นแค่ปรัชญาอันลึกซึ้งที่น่าสนใจ
แต่ในโลกที่เป็นจริง พอกิเลสเกิดขึ้น เราก็ทนต่อกิเลสไม่ได้
มันฉุดลากไปเลย ความรู้ของเรามันหายไปไหนก็ไม่รู้

การจะฆ่ากิเลสหรือนิวรณ์นั้นต้องเข้าใจคำว่า ฆ่า นั้นว่าหมายถึง
การรู้เท่าทัน ฆ่าด้วยการรู้เท่าทัน

การปฏิบัติทุกขั้นตอน อย่าไปปฏิบัติเพื่อจะเป็นเพื่อจะเอาเพราะจะเป็นการปฏิบัติที่เป็นการพายเรือในอ่าง
ไม่เป็นการปฏิบัติที่จะข้ามไปฝั่งโน้น

ถ้าจะฟังเทศน์แต่ความจริงล้วน ๆ พระจะต้องขึ้นธรรมาสน์พูดแต่คำว่า
เกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ คงไม่มีใครอยากฟัง ฟังไม่กี่ครั้งก็เบื่อ
ผู้แสดงธรรมจึงต้องชูรสบ้าง หาอะไรมาประกอบการอธิบายเพื่อให้มันน่าฟัง
แต่แท้จริงแล้วความรู้เกี่ยวกับโลกที่ลึกซึ้งที่สุดก็สักแต่ว่าความเข้าใจในเรื่อง
การเกิด และ การดับ
นักปฏิบัติผู้สามารถรู้แจ้งในการเกิดและการดับของสังขารย่อมเบื่อหน่ายในการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย
และย่อมน้อมจิตไปเพื่อสิ่งที่อยู่เหนือการแตกสลาย

เมื่อเราเห็นด้วยตนเองและเข้าใจเรื่องกิเลสแล้ว เราจะเห็นความทุกข์หลายๆ
อย่างในชีวิตเรานี้ไม่จำเป็นเลย มันไม่ได้เกิดเพราะดวงไม่ดี
หรือเพราะกรรมเก่า แต่เกิดเพราะความคิดผิดของเราต่างหาก

เราต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้เราปฏิบัติเพื่ออะไร เราปฏิบัติเพื่ออยากเอาอยากเด่นไหม
หลวงพ่อชาท่านก็สอนเสมอว่า อย่าปฏิบัติเพื่อจะเอาอะไร อย่าปฏิบัติเพื่อจะได้อะไร
อย่าเป็นพระพุทธเจ้า อย่าเป็นพระอรหันต์ อย่าเป็นพระอนาคามี
อย่าเป็นพระสกิทาคามี อย่าเป็นพระโสดาบัน อย่าเป็นอะไรเลย เป็นแล้วมันเป็นทุกข์

อย่าเป็นอะไรเลย สบาย ความสบายอยู่ตรงที่เราไม่ต้องเป็นอะไร
เราไม่ต้องเอาอะไร ภาวนาจนไม่มีความรู้สึกว่าได้กำไรหรือขาดทุนจากการปฏิบัติ
มีความรู้สึกราบรื่น สิ่งภายนอกขึ้นๆ ลงๆ แต่เราก็ไม่ขึ้นๆ ลงๆ
ตาม เราอยู่ด้วยความวางเฉยของผู้รู้เท่าทัน อาการแห่งความสุขก็มีอยู่
แต่มันอยู่ข้างนอกมันไม่ได้เข้าไปถึงใจของเรา

จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต อันนี้เป็นหลักสำคัญมาก ท้องฟ้าไม่ใช่เครื่องบิน
เครื่องบินไม่ใช่ท้องฟ้า ท้องฟ้าก็อยู่อย่างนั้นแหละ เมฆก็ผ่านไปผ่านมา
เครื่องบินก็ผ่านไปผ่านมา เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว
อันนี้เป็นอากาศ แต่ว่าอากาศไม่ใช่ท้องฟ้า ท้องฟ้าไม่ใช่อากาศ

จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวพอใจ
เดี๋ยวไม่พอใจ อันนี้ก็เป็นอารมณ์ แต่อารมณ์ไม่ใช่ใจ ที่ว่าวันนี้ใจไม่ดี
ใจไม่สบาย ความจริงไม่ใช่เรื่องของใจนี่ ใจมันนิ่ง ความยินดีและความยินร้าย
ความพอใจและความไม่พอใจเป็นเรื่องของอารมณ์ต่างหาก ให้รู้จักแยกจิตออกจากอารมณ์
ยอมให้อารมณ์เป็นอารมณ์ ให้จิตเป็นจิต นี่เราจะมีความสบายอยู่ตรงนี้

การภาวนาคือ การลดความโง่ของตัวเอง ผู้ที่หาว่าไม่มีเวลาภาวนา
คือผู้ที่ถือว่าไม่มีเวลาลดความโง่ของตัวเอง

ผู้ที่มีสติกำหนดรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นผู้ที่รู้สึกสดใสและเป็นผู้ไม่กระสับกระส่าย
กระวนกระวายที่จะแสวงหาความสุขและความมั่นคงจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นลาภ
ยศ สรรเสริญ สุข หรือจะเป็นความรักความเคารพจากคนอื่น
ทีนี้ เราไม่มีความรู้สึกว่าเราขาดอะไร ไม่ต้องการอะไรจากใครในโลก
เราไม่มีความรู้สึกว่าเรามีอะไรเกิน จะมีแต่ความรู้สึกว่ามันพอดี
ตรงนี้แหละจิตเป็นธรรม

เราไม่ต้องไปแสวงหาความแปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ให้มารู้จัก
มาตระหนักกับสิ่งที่มันมีอยู่แล้วตามธรรมดา ๆ นั่นแหละ ปัญญาไม่ได้เกิดจากสิ่งผิดปกติ
แต่มันเกิดจากการรับรู้อย่างทะลุปรุโปร่งต่อสิ่งปกติ

ท่านเว่ยหลาง
...เมื่อสิ่งเหล่านี้ มีอยู่ในเราแล้ว เรื่องของมันก็คือ ทำให้เห็นแจ้งออกมา
ไม่ใช่เที่ยววิ่งแสวงหา

ก็การที่เพียงแต่พูดกันถึงอาหาร ย่อมไม่อาจบำบัดความหิวได้ฉันใด
ในกรณีของบุคคลผู้เอ่ยถึงปรัชญาแต่ปาก ก็ไม่อาจขจัดความมืดบอดได้ฉันนั้น

เราอาจพูดกันถึงเรื่อง สุญญตา (ความว่าง) เป็นเวลาตั้งแสนกัลป์ก็ได้
แต่ว่าลำพังการพูดอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เราเห็นแจ่มแจ้งในจิตเดิมแท้ได้

ในขณะที่คนที่ไร้ปัญญากำลังพากันท่องนามของอามิตาภะและอ้อนวอนขอให้ได้เกิดในแดนบริสุทธิ์อยู่นั้น
คนฉลาดก็พากันชำระใจของเขาให้สะอาดแทน เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าไดตรัสไว้ว่า
เมื่อใจบริสุทธิ์ แดนแห่งพระพุทธเจ้าก็บริสุทธิ์พร้อมกัน

การเถียงกันย่อมหมายถึง ความดิ้นรนจะเป็นฝ่ายชนะ ย่อมเสริมกำลังให้แก่ความยึดมั่นถือมั่นว่า
ตัวตน และย่อมจะผูกพันเราไว้กับความยึดถือ ด้วยความสำคัญว่าตัวตน
ว่าสัตว์ ว่าชีวะ ว่าบุคคล

ในการฝึกความนึกคิดของตัวเองปล่อยให้อดีตเป็นอดีต ถ้าเราเผลอให้ความคิดของเราที่เป็นอดีต
ปัจจุบัน และอนาคต มาจัดติดต่อกันเป็นห่วงโซ่แล้ว ก็หมายถความว่าเราจับตัวเองใส่กรงขัง

ผู้ที่สามารถรักษาจิตของตนไว้ไม่ให้ปั่นป่วนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมชนิดไหนหมด
นั่นแหละ ชื่อว่าได้บรรลุถึงสมาธิ

ไม่ว่าสถานการณ์อันใดจะเข้ามาแวดล้อมใจ ก็ไม่ถูกทำให้เปื้อนด้วยวัตถุกามารมณ์อันน่าขยะแขยงด้วยความทะเยอทะยานอยากและตัณหา
นั่นแหละ คือคุณชาติอันประเสริญสุดของการได้มาเป็นคน
|