หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี
ตามกระแสพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทุกข์เป็นของไม่ควรละ
แต่เป็นของควรต่อสู้ ความทะยานอยากได้สุขหรือไม่อยากให้มีทุกข์ต่างหากเป็นของที่ควรละ
ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ในโลกนี้ ก็ล้วนแล้วแต่ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นเหตุทั้งนั้น

ผู้ที่ไม่เห็นคุณค่าของความเพียรแล้ว อาจคิดว่าความขยันหมั่นเพียรในภารกิจต่าง
ๆ มันเป็นทุกข์ลำบากเหนื่อยยากมิใช่หรือ จริงดังนั้นคนตกน้ำไม่ยอมว่ายมีหวังตายโดยถ่ายเดียว
จะรอดมาได้แต่เฉพาะคนที่ว่ายน้ำได้หมายพึ่งตนเองเท่านั้น

ทุกข์กับความเพียรเท่านั้นที่มีค่ามากในโลกนี้ หากไม่มีทุกข์กับความเพียรเสียแล้ว
ใคร ๆ ในโลกนี้ จะไม่ทำความดีเพื่อพ้นทุกข์ในโลกนี้และโลกหน้า
ตลอดถึงพระนิพพาน

สมาธินี้ถ้าสติอ่อน ไม่สามารถรักษาฐานะของตนไว้ได้ย่อพลัดเข้าไปสู่ภวังค์เป็น
ฌาน ถ้ามีสติสัมปชัญญะแก่กล้าขึ้นเมื่อไรย่อมกลายเป็น สมาธิ
ได้เมื่อนั้น

เมื่ออยู่ใน สมาธิ นั้นเล่า ก็มิไช่ว่าจิตจะโง่เง่าซึมเซอะแต่มันมีความผ่องใส
พิจารณาธรรมอันใด ก็ปรุโปร่งเบิกบาน ฌาน ต่างหาก ที่ทำให้จิตสงบแล้วซึมอยู่กับสุขเอกัคตาของฌาน
ขออย่าได้เข้าใจว่า ฌาน กับ สมาธิ เป็นอันเดียวกัน
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความโง่อันสงบจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ยังดีกว่าความกล้าหลงเข้าไปในกามทั้งหลายเป็นไหน
ๆ

หลักอนัตตา ในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญาอันชอบ
พระองค์มิได้ตรัสว่า อนัตตาเป็นของไม่มีตนมีตัว เป็นของว่างเปล่า
พระองค์ตรัสว่า ตนตัวคือร่างกายของคนเรา อันได้แก่ขันธ์ทั้ง
๕ นี้ มันมีอยู่แล้ว แต่จะหาสิ่งที่เป็นสาระในขันธ์ ๕ นั้นไม่มีดังนี้ต่างหาก
เมื่อสรุปให้สั้น ๆ แล้ว
ผู้ที่ยังยึดอัตตาอยู่ พระองค์ก็สอนให้ประกอบภารกรรมเพื่อประโยชน์แก่อัตตาโดยทางที่ชอบที่ควรไปก่อน
จนกว่าผู้นั้นจะเห็นแจ้งด้วยตนเองว่า สิ่งที่เราถือว่าเป็นอัตตาอยู่นั้น
แท้จริงแล้วมิใช่อัตตา มันเป็นเพียงมายาหรือของไม่เที่ยง เป็นทุกข์
แล้วพระองค์จึงสอน อนัตตา ที่แท้จริง

การเห็นความฟุ้งซ่านของจิตนั้น คือ ปัญญาขั้นต้น

คนใดว่าตนดีคนนั้นยังไม่ดี ใครว่าตนวิเศษวิโสหรือฉลาดเฉียบแหลม
คนนั้นคือ คนโง่

พระพุทธศาสนานี้สอนมีจุดที่รวมได้ มีที่สุดหมดสิ้นสงสัยหมดเรื่อง
ไม่เหมือนวิชาชีพอื่น เขาสอนไม่มีที่สิ้นสุด
จึงว่าพระพุทธศาสนาสอนถึงที่สุด
แต่บุคคลผู้ทำตามนั้น ทำไม่ถึงที่สุด

แท้จริงความนึกคิดมิใช่ทุกข์ แต่การไปยึดความนึกคิดมาเป็นตน
จึงเป็นทุกข์
ผู้ใดทำใจให้ถึงความเป็นกลางได้ ผู้นั้นพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

หลวงปู่ขาว อนาลโย
ให้น้อมเข้ามาค้นคว้ากรรมฐาน ๕ นี้ เกศา ผม, โลมา ขน, นขา เล็บ,
ทันตา ฟัน, ตโจ หนัง ตะจะปริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ
ปูโรนานัปปการัสสะอสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่าง
ๆ นี้แหละ ลืมตาขึ้นมา ให้มันเห็น แล้วตั้งใจทำอยู่อย่างนั้น
ไม่ใช่ทำวันเดียว เดือนหนึ่ง หรือปีหนึ่ง ทำเอาตาย เอาชีวิตเป็นแดน
สนิมเกิดจากเหล็กย่อมกัดเหล็กฉันใด
ความชั่วเกิดขึ้นแล้วย่อมทำลายตัวเอง

จงพยายามให้เรากินกาล อย่าให้กาลกินเรา
วันคืนล่วงไป ๆ อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบเร่งทำความเพียร

ธรรมมีอยู่แต่ขาดอุบายปัญญา
ก็นั่งโง่นอนโง่อยู่อย่างนั้น

ธรรมแม้จะลึกซึ้งคัมภีรภาพเพียงไหน
ไม่เหลือวิสัยบัณฑิตผู้มีความเพียร

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

เวลากิเลสมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นทางกาย เกิดขึ้นทางวาจา เกิดขึ้นทางใจ
รู้ทันมันเดี๋ยวนี้มันก็ดับไปเดี๋ยวนี้แหละ
ตัวสติมันปกครองอยู่เสมอ ถ้ามีสติอยู่ทุกเมื่อ มันบ่ได้คุมมันหละ
ครั้นเกิดขึ้น รู้ทันมันก็ดับ รู้ทันก็ดับ รู้ทันก็ดับ คิดผิดก็ดับ
คิดถูกก็ดับ พอใจไม่พอใจก็ดับลงทันทีที่ตัวสติ

จงภาวนาเอากายเป็นมรรค เอากายเป็นผล จงพากันละอุปาทานทั้งห้า
อนิจจังทั้งห้า ทุกขังทั้งห้า อนัตตาทั้งห้า ละรูปธรรม นามธรรมนี้
วางได้มันก็เป็นธรรมนั่นแหละ วางไม่ได้มันก็ยึดเอารูปธรรมนามธรรมเป็นตัวเป็นตน
มันก็เป็น ธรรมเมา อยู่นั่นเอง

กามนี้มันหมุนรอบโลก มันเป็นเจ้าโลก กามกิเลสนี้แหละที่ทำให้เกิดสงครามต่อสู้กัน
เกิดก็เพราะกาม รักก็เพราะกาม ชังก็เพราะกาม กามกิเลสอุปมาเหมือนแม่น้ำ
ธารน้ำน้อยใหญ่ไม่มีประมาณไหลลงสู่ทะเลไม่มีเต็มฉันใดก็ดี
กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นแหล่งก่อทุกข์ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด
|