หลวงพ่อพุทธทาส


พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งบรมธรรม สำเร็จได้ด้วยใบไม้กำมือเดียว ไม่ต้องเรียนจนจบพระไตรปิฎก หรือไม่ต้องเรียนกันมากมาย ชั่วใบไม้กำมือเดียวว่า ทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ดับทุกข์อย่างไร นี่ก็...กำมือเดียว

พระพุทธองค์ท่านมีการตรัสทั้งภาษาคนและภาษาธรรม ต้องฟังให้ดี เช่นตรัสโดยภาษาคนว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” แต่ตรัสโดยภาษาธรรมว่า “ตัวตนของตนนั้นไม่มี” ดังนี้ ถ้าฟังไม่ดีจะไม่รู้เรื่องและเห็นว่าเป็นคำพูดที่ขัดกัน ถ้ารู้จักฟังโดยหลักภาษาคนภาษาธรรมแล้วจะไม่ขัดกันเลย

พระพุทธองค์ตรัสว่า “แต่ก่อนก็ดี บัดนี้ก็ดี เราบัญญัติแต่เรื่องทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น”
ดังนั้น พวกเราอย่าต้องเสียเวลาในการศึกษาการถามการเถียงกันด้วยเรื่องอื่นที่มิใช่สองเรื่องนี้กันอีกเลย


คนมีใจเดินต่ำ มนุษย์มีใจเดินสูง แล้วจะไม่ต่างกันยิ่งกว่าฟ้าและดินซึ่งหยุดอยู่เฉย ๆ ได้อย่างไร

การมีธรรมะ แท้จริงก็คือสามารถดำรงตนอยู่เหนือปัญหาหรือความทุกข์ทั้งปวง ไม่เกี่ยวกับปริญญาบัตร ฯลฯ พิธีรีตอง หรือหลักปรัชญาชนิดฟิโลโซฟีใด ๆ

จะมีสติสัมปชัญญะสมบุณณ์ที่สุดนั้น จะต้องมีวิธีฝึกไปในทางที่จะคอยเฝ้ากำหนดการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของ เวทนา สัญญา และวิตก

ถ้าใครสามารถเอาความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามากำกับอยู่กับชีวิตประจำวันแล้ว คนนั้นชื่อว่ามีเชื้อต้านทานโรคสูงสุด แล้วอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส นั้นจะไม่เกิดเป็นพิษขึ้นมาได้เราจะมีอยู่ เป็นอยู่อย่างมีความเกษม

อนาคตคือ ความฝัน ปัจจุบันคือภาพมายา อดีตคือ ปัญหาที่สะสมไว้ พระอรหันต์จึงอยู่เนหือความหมายของเวลา

จิตที่คิดจะให้นั้นมันสูงกว่าจิตที่คิดจะเอา

อย่าอยู่ด้วยความหวัง แต่อยู่ด้วยสติปัญญา สติปัญญารู้ว่าควรทำอะไรก็ทำ อย่าไปหวัง ทำให้มันถูกต้อง ผลมันมาเอง ไม่ต้องหวังให้มันกัดกินหัวใจ หวังเมื่อไหร่ก็กัดกินหัวใจเมื่อนั้น
อย่าอยู่ด้วยความหวัง แต่อยู่ด้วยความถูกต้องของการประพฤติการกระทำ

เรื่องกรรมที่ถูกต้องแท้จริงในพระพุทธศาสนา คือ เรื่องกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดำกรรมขาว คือเหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพานส่วนเดียว เพียงแต่สอนว่าทำดี – ดี ทำชั่ว - ชั่ว นั้นยังมิใช่ ของพระพุทธเจ้าแท้ เพราะมีสอนกันอยู่ก่อนพุทธกาล แต่ก็ยังคงเรียกว่า กรรมวาที ได้เหมือนกัน เป็นเรื่องกรรมครึ่งเดียวไม่สมบูรณ์

คนเรานั้น ทุกคนมีร่างกายซึ่งเรียกว่ารูป แล้วก็มีส่วนที่เป็นใจ แยกเป็น จิตส่วนหนึ่ง เป็นเจตสิกส่วนหนึ่ง เป็นจิต นั้นคือ ตัวที่เป็นประธานยืนโรงจนกว่าจะดับจิตในที่สุด
ทีนี้ เจตสิกก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต ปรุงแต่งจิตให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คือปรุงแต่งจิตดวงเดียวนั้น ให้มีลักษณะอาการเป็นสิบๆ อย่างหรือเป็นร้อยๆ อย่าง จะดีหรือชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว แล้วแต่เจตสิก

การฝึกอานาปานสติ
อันดับแรกที่สุด ก็ฝึกที่ตัวลมหายใจ
อันดับถัดไป ก็ฝึกความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการฝึกลมหายใจนั้นอยู่ทุกลมหายใจ
อันดับถัดไป ก็ไปพิจารณาจิตของตัวเองอยู่ทุกลมหายใจ
อันดับถัดไป ก็พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น ที่เกิดขึ้นอยู่กับลมหายใจ ที่เกิดขึ้นอยู่กับเวทนา ที่เกิดขึ้นกับจิต อยู่ทุกลมหายใจ
เพราะฉะนั้น อานาปานสตินี้ มันจึงสูงขึ้นไปเป็นลำดับ กระทั่งหายใจเป็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ทีเดียว กระทั่งมีความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดอยู่ทุกลมหายใจทีเดียว
กระทั่งจิตหลุดพ้น รู้สึกตัวว่าจิตหลุดพ้นทุกลมหายใจเข้าออกทีเดียว
ตลอดสายนี่แหละ เรียกว่า อานาปานสติภาวนา นับขึ้นไปเรื่อยตั้งแต่ลมหายใจ กระทั่งบรรลุมรรคผล

เรียนชีวิตจากชีวิตดีกว่าเรียนจากพระไตรปิฎก ซึ่งบอกเพียงวิธีเรียนชีวิตได้อย่างไร และนำไปเรียนที่ตัวชีวิตเองเมื่อยังไม่ตาย ...นี้คือการเรียนความทุกข์จากความทุกข์ และพบความดับทุกข์ที่ตัวความทุกข์นั่นเอง

จงตายให้มีศิลป์ที่สุด คือ ตายอย่างรู้สึกว่า ไม่มีใครตายมีแต่สิ่งปรุงแต่งเปลี่ยนไป

ธรรมะมิใช่ตัวหนังสือหรือเสียงแห่งการแสดงธรรม แต่เป็นการกระทำหน้าที่ที่ถูกต้องของผู้ปฏิบัติแต่ละคนอยู่ทุกอิริยาบถ ทุกเวลา ทุกสถานที่ อย่างถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน และแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกัน จึงจะเป็นธรรมที่ถูกต้องตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขได้จริง

บัดนี้ ยิ่งเจริญคือ ยิ่งยุ่ง ยิ่งเจริญที่สุดคือ ยิ่งเกินความจำเป็น เพราะปราศจากสติปัญญาอันทำให้เรารู้จักเจริญอย่างถูกต้องพอเหมาะพอดีเป็น มัชฌิมาปฏิปทา จงรู้จักเจริญกันเสียใหม่ในด้านจิตวิญญาณที่อาจดับทุกข์ของตนได้เถิด


หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

เราเห็นธรรมะของจริง จิตใจของเราก็ต้องมีความจริงด้วย การปฏิบัติของเราก็ต้องมีความจริงด้วย

แม้แต่ร่างกายนี้ก็ไม่เป็นของเราเลย พึ่งไม่ได้ แล้วเราจะไปหวังพึ่งทรัพย์พึ่งบุตรเอามาทำอะไร

จิตกับธรรมต้องเป็นอันเดียวกัน เดี๋ยวนี้จิตกับกิเลสมันเป็นอันเดียวกัน ไม่ค่อยจะรับธรรมเข้ามา ธรรมยังรับไม่ค่อยจะได้ แต่กิเลสไม่ต้องทวง
เพราะเหตุนั้น เราพยายามถ่ายเท ให้หลงลืมเรื่องที่ไม่ตรงกับธรรม พยายามใกล้ชิดสนิทกับธรรมให้มาก


งานกรรมฐานการภาวนานี้... เป็นงานชั้นละเอียด
เพราะฉะนั้น เครื่องมือก็ต้องละเอียด สติของเราก็จะต้องละเอียด ความรู้ความระลึกจะต้องรักษาละเอียดไปด้วย เราจะคะนองไม่ได้... อย่างปล่อยให้กิเลสคะนองกาย คะนองวาจา และคะนองใจ

ถ้าเราฉลาด เราจะได้ความสงบในท่ามกลางที่วุ่นวายนี่แหละ

อวิชชาที่จะดับ ก็ดับเพราะเรามารู้จริงอันนี้ เมื่อมันรู้จริงแล้วความไม่รู้จะอยู่ได้อย่างไร... ที่เคยหลงเข้าใจผิดแต่ก่อนว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา พยายามตกแต่งให้มันสะอาด ให้มันน่าเพลิดเพลินยินดี
ถ้ามาดูจริง ๆ แล้วสิ่งที่เราเข้าใจมาแต่ก่อน ล้วนแต่เป็นความเข้าใจผิด ไม่เป็นความจริงโดยธรรม แต่เป็นความจริงสำหรับปุถุชนผู้ยังหนา

การปฏิบัติไม่ควรให้ลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ เป็นคลื่น... คลื่นคืออะไร คือเราปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ เวลาเคร่งภาวนาก็ข่มจิตข่มใจเคร่งเพื่อให้สงบ เวลาออกจากภาวนาก็ปล่อยจิตให้ฟุ้งไป ไม่ระวัง ไม่รักษา ไม่ค่อยจะรู้ตัว ไม่ค่อยจะกำหนดเข้ามา...
เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายพึงรู้ตัว ที่เราปฏิบัติสงบยากเพราะเรารักษาไม่ได้ จิตที่มันลุ่มๆ ดอนๆ เวลาเคร่งก็เคร่ง เหมือนกับจะเอาให้ได้พระนิพพานในวันนั้นเวลานั้น เวลาหย่อนก็หย่อน ปล่อยให้ความมัวเมาเกิดขึ้น อาสวะมันไม่หมดก็เพราะอันนี้เอง ความมัวเมาในอารมณ์ที่ตาเห็น หูได้ยิน... มาจากที่นี้แหละ

เราทั้งหลายเมื่อปฏิบัติถูกต้องแล้ว บัณฑิตทั้งหลายมาคัดค้านไม่ได้ เพราะเราได้กำหนดตัวธรรมแท้ คือ อนิจจัง เราจะเห็นอยู่ในกายนี้ อริยสัจธรรมทั้ง ๔ จะได้เห็นอยู่ในกายนี้ ทุกขังจะได้เห็นอยู่ในที่นี้ ไม่ได้เห็นที่อื่น
ถ้าเรามาเจริญความเห็น (สัมมาทิฎฐิ) ในสิ่งเหล่านี้ให้มากๆ ผลจะปรากฏแก่เราเอง เมื่อผลบังเกิดขึ้นมาแล้ว ธรรมชาติก็รู้เองไม่ต้องบอกก็ได้... อย่าไปหลงคนนั้นพูดอย่างนั้น คนนี้พูดอย่างนี้
เราไม่ควรดูที่ไหน พยานหลักฐานคือกายของเรา เป็นอนิจจังแค่ไหนเราก็รู้ ไม่ได้โกหกใคร ทุกขังเป็นทุกข์ มีโรคภัยไข้เจ็บมากมาย เจ็บป่วยขนาดไหนเราก็รู้ ไม่ได้โกหกใคร มันเป็นความจริงอยู่ตลอดเวลา
การปฏิบัติรู้เห็นความจริงนี่แหละ เรียกว่า เห็นธรรม สภาวะแห่งความจริง เราจะได้รู้จริงเห็นจริง รู้แจ้งแทงตลอด จะได้พ้นทุกข์

 
 
<< หน้าที่ผ่านมา [ หน้า 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 ] หน้าถัดไป >>
  Home