หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ใครจะบริกรรมภาวนากรรมฐานบทไหนอย่างไร เมื่อสภาวะจิตสงบสู่ความเป็นสมาธิ ย่อมมีลักษณะเดียวกันหมด เพราะฉะนั้นเราอย่าเอาตำรามาคัดค้านกัน ให้เอาสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ... มาเปรียบเทียบกัน เราจึงจะลงเอยกันได้

สมาธิอันใดที่ไม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องชีวิตประจำวัน หนีไปอยู่ที่หนึ่งต่างหากของโลกแล้ว สมาธิอันนี้ ทำให้โลกเสื่อม และไม่เป็นไปเพื่อทางตรัสรู้มรรคผลนิพพานด้วย

ความจริงโลกนะ เป็นอารมณ์ของจิต ในเมื่อจิตตัวนี้รู้ความจริงของโลกแล้ว มันจะปลีกตัวไปลอยเด่นอยู่เหนือโลก แล้วมันอาศัยโลกนั่นแหละเป็นบันไดเหยียบไปสู่จุดที่อยู่เหนือโลก

ถ้านักปฏิบัติท่านใดปฏิบัติแล้วมัวแต่ไปนับขั้นสมาธิ ขั้นญาณ ขั้นฌาน สิ่งรู้สิ่งเห็นทั้งหลาย ก็ไปติดอยู่ที่ตรงนั้น
เพราะฉะนั้น จะเป็นความรู้ที่เรียกว่า ปัญญาในสมาธิ ก็ตามเป็น นิมิต ที่เกิดขึ้นก็ตาม ท่านให้กำหนดหมายเพียงแค่เป็นอารมณ์จิตเท่านั้น จะไปยึดเอาสิ่งนั้นเป็นของดีของวิเศษไม่ได้

การบำเพ็ญสมาธิจิตเพื่อให้เกิดสมาธิ สติ ปัญญา มีหลักที่ควรยึดถือว่า “ทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้ สติให้มีสิ่งระลึก” จิตนึกรู้สิ่งใดให้มีสติสำทับเข้าไปที่ตรงนั้น

ขอให้ถือคติว่า สมาธิหรือการปฏิบัติธรรมอันใด ถ้าหากมันเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส เป็นไปเพื่ออิทธิฤทธิ์...
พึงเข้าใจว่ามันเป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งออกนอกหลักพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ใครทำกรรมใดไว้จะได้รับผลขอกรรมนั้นแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปทำพิธีตัดกรรมก็เป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า

การปฏิบัติตามแนวของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง อยู่ที่การสร้างจิตของตัวเองให้มีพลังเข้มแข็ง มีสติสัมปชัญญะรู้รอบอยู่ที่ตัวเองสามารถยืนหยัดอยู่ในความเป็นอิสระได้ตลอดกาล ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไร

สอนสมาธิ ต้องสอนสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ความรู้เห็นอะไรที่เขาอวด ๆ กันนี่ อย่าไปสนใจเลย ให้มันรู้เห็นจิตของเรานี่ รู้กายของเรา

ภาวนาให้จิตสงบได้รู้ธรรมเห็นธรรมได้ภายในบ้าน จะมีคุณค่าดียิ่งกว่านิมนต์พระไปสวดมนต์ตั้งหมื่น ๆ องค์

สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นไม่สามารถที่จะดึงใจของเราไปทรมานให้เกิดทุกข์ขึ้นได้

อดีตเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว อนาคตก็เป็นสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดังนั้นเรามาสนใจอยู่ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันดีไหม


พระอาจารย์บุญกู้ อนุวฑฺฒโน

ขณะเรากำลังมีชีวิตอยู่นี้ ร่างกายกับจิตใจยังอยู่รวมกัน แต่สักวันหนึ่งมันจะพลัดพรากจากกันไป ร่างกายเป็นรูปคือ วัตถุธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ จึงต้องหาเลี้ยงเขาด้วยเงินทองอันเป็นโลกียทรัพย์มีปัจจัย ๔ เป็นต้น
จิตใจเป็นนาม คือ วิญญาณธาตุ กอปรด้วย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงต้องเลี้ยงเขาด้วยบุญกุศลอันเป็นอริยทรัพย์ มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น
ผู้ใดมุ่งเลี้ยงเฉพาะแต่ร่างกาย หรือบำรุงแต่จิตใจเพียงอย่างเดียวความเจริญของชีวิตย่อมขาดตกบกพร่องไป
หากผู้ใดเข้าใจเลี้ยงทั้งร่างกายและบำรุงจิตใจไปพร้อมกันความเจริญของชีวิตย่อมเพิ่มพูนยิ่งขึ้น ยังมีชีวิตอยู่ก็สบาย ตายไปก็ต้องเป็นสุข

หลัก “๕ พอ” ...ข้อปฏิบัติประจำวันของตน ๆ
๑. ให้มีศีลธรรมพอดี
๒. ให้มีวิชาพออาศัย
๓. ให้มีปัจจัยพอใช้
๔. ให้มีอนามัยพออยู่
๕. ให้มีบุญกุศลพอเพียง

การทำลายน้ำใจคนเป็นบาปเหลือหลาย
การให้กำลังใจคนเป็นบุญมหาศาล

ไม่มีใครช่วยให้เราพ้นเกิดตายได้
จะต้องใช้วิชาพระ ละเกิดตายด้วยตนเอง

มีพระเครื่องแขวนที่คอก็ดี
แต่ควรมีพระรัตนตรัยแขวนที่ใจไว้ด้วย

อยู่ที่ไหน ไปที่ใด นั้นไม่แน่
ขอเพียงแค่ ทำแต่ดี มีจิตใส
อยู่ก็ดี ไปก็ดี ไม่มีภัย
จงตั้งใจ ไว้อย่างนี้ มีแต่คุณ

การสังวรเป็นอาภรณ์ของสมณะ
สัมมาคารวะเป็นอาภรณ์ของคฤหัสถ์

ปฏิสนธิ จุติ มิกำหนด
อย่ากำสรด ถึงคราว ก้าวออกหนอ
ดีไว้พอ ก่อให้ ไปสุคโต
อย่าไปโง่ ยึดมั่น การผันแปร

แก่แต่หวาน ด้วยการ ไม่ประมาท
เจ็บป่วยอาจ บำราศง่าย เมื่อใจแข็ง
ตายเป็นตาย ไม่หวั่น มั่นบุญแรง
พรากจากแหล่ง แห่งใด ย่อมไปดี

อันสังขาร ร่างกาย นั่นไม่เที่ยง
สุดบ่ายเบี่ยง บั้นปลาย ต้องตายหนอ
จงทำดี แต่วันนี้ อย่ารีรอ
รู้จักพอ ก่อสุข ทุกสถานเอย

 
<< หน้าที่ผ่านมา [ หน้า 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 ] หน้าถัดไป >>
  Home