วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 18:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ต.ค. 2012, 10:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความเข้าใจพื้นฐาน

คำว่า การปฏิบัติธรรม ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีความหมายค่อนข้างจะถูกจำกัดคับแคบลงมาก และบางครั้งก็ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่สู้จะตรงกับความจริง หรือ แม้ว่าจะตรงก็ไม่เท่ากับความจริง ไม่พอดีกับความจริง อย่างที่บอกตอนต้นว่าออกจะคับแคบไป

เราเข้าใจความหมายการปฏิบัติธรรมอย่างไร เวลานี้เมื่อพูดถึงการปฏิบัติธรรม หลายท่านจะนึกถึงการไปนั่งทำสมาธิ การปลีกวิเวกออกไปจากสังคม ไปอยู่ในที่สงบเงียบ แล้วก็บำเพ็ญเพียรทางจิตใจ ฝึกทำกรรมฐานอย่างที่เรียกว่าจิตตภาวนา คำว่า ปฏิบัติธรรมที่เราใช้ในปัจจุบันมักจะใช้ในความหมายแคบๆอย่างนี้ ก็จึงเป็นเรื่องที่เราควรจะมาพูดกัน ทำความเข้าใจกันตั้งแต่ต้น เพื่อให้มีความแจ่มชัดเกี่ยวกับเรื่องถ้อยคำ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 26 ต.ค. 2012, 11:40, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ต.ค. 2012, 10:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปฏิบัติธรรมคืออย่างไร


คำว่า ปฏิบัติธรรม นั้น หมายความว่าอย่างไร ปฏิบัติธรรม ก็คือ เอาธรรมาปฏิบัติ เอาธรรมาใช้ เอามาใช้ดำเนินชีวิตทำการทำงาน คือเอาธรรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงนั่นเอง เมื่อปฏิบัติธรรมก็หมายถึงว่า เอาธรรมาใช้ในชีวิตจริงหรือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ถ้ายังไม่ได้ใช้ ก็ไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติ


ว่าถึงตัวคำว่า ปฏิบัติ เองนี้ เดิมนั้นแปลว่า เดินทาง มาจากภาษาบาลี ของเดิมนี้ มีคำคล้ายๆกันอีกคำหนึ่ง คือ ปฏิปทา


ปฏิปทา แปลว่าอะไร จะเห็นได้ในคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา ที่เราแปลกันว่า ทางสายกลาง มัชฌิมา แปลว่า สายกลาง และปฏิปทา แปลว่า ทาง ทางคืออะไร ทางนั้นคือ ที่ที่จะเดิน คำว่า ปฏิปทา ก็คือที่ที่จะเดิน

คำว่า ปฏิปทา กับคำว่า ปฏิบัตินี้ เป็นคำเดียวกัน รากศัพท์อันเดียวกัน ถ้าเป็นกริยา มีรูปเป็นปฏิปชฺชติ เช่นในคำว่า มคฺคํ ปฏิปชฺชติ แปลว่า เดินทาง

เพราะฉะนั้น ปฏิปชฺชติ มาเป็น ปฏิบัติ หรือเป็น ปฏิปทาก็ตาม ก็แปลว่า การเดินทาง หรือแปลว่า ทางที่เดิน ถ้าเป็นการเดินทางก็นิยมใช้ในรูปว่า ปฏิปตฺติ หรือไทยใช้ว่า ปฏิบัติ ถ้าเป็นทางที่เดินก็นิยมใช้ ปฏิปทา เพราะฉะนั้น เราเอาถ้อยคำสำหรับสิ่งที่เป็นรูปธรรมนั่นเอง มาประยุกต์ใช้ในทางนามธรรม


การเดินทางตามปกตินั้น เป็นการเดินทางภายนอก เป็นการเดินทางด้านวัตถุ เอาเท้าเดิน หรือแม้มีรถแล้ว เอารถวิ่งไป ตลอดจนไปด้วยเครื่องบิน ก็เรียกว่า เป็นการเดินทาง

ทีนี้ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ชีวิตก็เป็นการเดินทางชนิดหนึ่ง แต่เรามักเปลี่ยนคำพูดจากเดินมาเป็นดำเนิน ที่จริงเดินกับดำเนินนั้น ก็ศัพท์เดียวกันนั่นแหละ เดินก็แผลงมาจากดำเนิน แล้วก็มีการดำเนินชีวิต ในการดำเนินชีวิตนั้น ก็เหมือนกับว่า เราเอาชีวิตนี้ไปเดินทาง หรือว่าการเป็นอยู่ของเรานั้นเปรียบเสมือนทาง ถ้าเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ก็เรียกว่าเดินทางชีวิตอย่างถูกต้อง คือดำเนินชีวิตได้ดี ถ้าเดินทางชีวิตไม่ถูกต้อง ก็เรียกว่าดำเนินชีวิตที่ผิด

ในเมื่อปฏิปทา หรือปฏิบัตินี้ แปลว่า การเดินทางและเทางที่เดิน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมก็ คือ เอาธรรมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือเอามาช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องหรือเอามาช่วยในการเดินทางชีวิต เพื่อให้การดำเนินชีวิตนั้นเป็นไปด้วยดี


หมายความว่า ถ้าเราไม่เอาธรรมมาใช้ การเดินทางชีวิตของเราก็อาจจะผิด อาจจะเขว อาจจะพลาด อาจจะหลง อาจจะไปในทางที่เกิดความเสื่อความพินาศ แทนที่จะเป็นทางแห่งความสุขความเจริญ เราก็เลยเอาธรรมาช่วย เอาธรรมมาปฏิบัติ ก็คือเอาธรรมมาใช้ช่วยให้การเดินทางชีวิตนี้ถูกต้องเกิดประโยชน์ขึ้น

พูดง่ายๆจึงว่า การปฏิบัติธรรมคือการเอาธรรมมาใช้นั่นเอง ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเรา


เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมก็จึงเป็นเรื่องกว้างๆ ไม่เฉพาะการที่จะปลีกตัวออกจากสังคม ไปอยู่ที่วัด ไปอยู่ที่ป่าแล้วก็ไปนั่งบำเพ็ญสมาธิอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่แค่นั้น อันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เป็นการพยายามนำธรรมมาใช้ในขั้นลึก ในการที่จะฝึกฝนจิตใจอย่างจริงๆจังๆ

ถ้าจะเรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ การปลีกตัวไปปฏิบัติแบบนั้นก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติแบบ intensive เป็นการปฏิบัติแบบเข้มข้น หรือลงลึกเฉพาะเรื่อง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 09 พ.ย. 2012, 14:27, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ต.ค. 2012, 10:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ที่จริง การปฏิบัติธรรมต้องมีตลอดเวลา เรานั่งกันอยู่ในที่นี้ ก็ต้องมี การปฏิบัติธรรม คือ เอาธรรมมาใช้ เมื่อปฏิบัติสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง ก็เป็นการปฏิบัติธรรม

เมื่อทำงานหรือทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง ตั้งใจทำให้ดี ให้เกิดคุณประโยชน์ ให้สำเร็จความมุ่งหมายที่ดีงาม ก็เป็น การปฏิบัติธรรม

ดังนั้น ถ้าตนมีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน แล้วศึกษาเล่าเรียนอย่างถูกต้อง มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเล่าเรียน เล่าเรียนให้ได้ผล ก็เป็นการปฏิบัติธรรม เช่น เล่าเรียนโดยมีอิทธิบาท ๔
มีฉันทะ พอใจรักในการเล่าเรียนนั้น
มีวิริยะ มีความเพียร ใจสู้
มีจิตตะ เอาใจใส่ รับผิดชอบ
มีวิมังสา คอยไตร่ตรอง ตรวจสอบ ทดสอบ ทดลองให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป อย่าง่นี้ก็เรียกว่าการปฏิบัติธรรม

หรือในการทำงานเหมือนกัน เมื่อมีอิทธิบาท ๔ เอาอิทธิบาท ๔ มาใช้ในการทำงานนั้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรม

แม้แต่ออกไปในท้องถนน ไปขับรถ ถ้าขับโดยรักษากฎจราจร ขับเรียบร้อยดีไม่ประมาท มีความสุภาพ หรือลึกเข้าไป แม้กระทั่งว่า ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด มีความผ่องใสสบายใจ ในเวลาที่ขับรถนั้นได้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในระดับต่างๆ

แล้วแต่ว่าใครจะสามารถเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือในการทำกิจหน้าที่นั้นๆ ให้ได้ผลแค่ไหนเพียงไร ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมทีแท้จริงนั้น ต้องมีอยู่ตลอดเวลา เพราะเราทุกคนมีหน้าที่ต้องดำเนินชีวิตให้ดีงามถูกต้อง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ต.ค. 2012, 15:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แม้การนั่งฟังปาฐกถานี่ก็มีการปฏิบัติธรรม ในมงคล ๓๘ ก็มีข้อปฏิบัติที่ว่า กาเลน ธมฺมสฺสวนํ การฟังธรรมตามกาลเป็นอุดมมงคล นี่ก็เป็นธรรมข้อหนึ่ง เมื่อตั้งใจฟัง ฟังเป็น ใช้ความคิดพิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่รับฟังนั้น ทำให้เกิดปัญญาขึ้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมทั้งนั้น

เป็นอันว่าการปฏิบัติธรรมนี้ เป็นเรื่องที่กว้างขวางมาก หมายถึงการนำเอาธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต หรือการทำกิจทำงานทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ทำทุกเรื่องทุกอย่างให้ถูกต้อง ให้ดี ให้เกิดผลเป็นประโยชน์นั่นเอง เป็นการปฏิบัติธรรม

แต่เราเอาคำว่าปฏิบัติธรรมมาใช้ในความหมายแคบๆเฉพาะการปฏิบัติธรรมที่มุ่งเน้นจะฝึกฝนกันอย่างจริงจังในทางจิตใจและสงวนคำว่าปฏิบัติธรรมไว้ใช้ในความหมายนั้น หรือนิยมใช้กันในความหมายนั้น

ถ้าจะพูดให้ถูก ต้องบอกว่าปฏิบัติธรรมด้านนั้น ด้านนี้ การที่เราปลีกตัวไปทำกรรมฐาน ไปบำเพ็ญสมาธิ ก็คงจะเรียกว่าปฏิบัติธรรมด้านจิตตภาวนา อย่างนี้ได้ คือเรียกให้เต็ม

แต่ถ้าจะพูดสั้นๆเพื่อให้เข้าใจกันเอง โดยใช้คำนั้นต่อไป ก็ต้องใช้อย่างรู้กัน คือ ใช้ในความหมายที่ถือว่าเข้าใจกันอยู่แล้ว หรือละไว้ในฐานเข้าใจ นี่เป็นข้อที่หนึ่งที่ควรจะทำความเข้าใจกัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2012, 19:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การศึกษา กับการปฏิบัติ ไม่ใช่คนละอย่าง



ต่อไป ประการที่สอง ธรรมนั้นเมื่อเราเอาใช้ เอามาลงมือทำ ก็จะมาเข้าคู่กับธรรมที่ยังไม่ได้เอาใช้ ยังไม่ได้เอามาทำ

ตอนที่ยังไม่เอามาใช้ ไม่เอามาทำ ธรรมนั้นก็เป็นเพียงธรรมที่ได้ฟังมา ได้เล่าเรียนมา ธรรมที่ยังไม่ได้ใช้ไม่ลงมือทำ ยังเป็นเพียงสิ่งที่รับฟังมา เล่าเรียนมานี่ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง
ตอนที่เอามาใช้เอามาทำเรียกว่า ปฏิบัติ ตอนที่ยังไม่ได้ใช้ไม่ได้ทำ เป็นเพียงเล่าเรียน จะเรียกว่า อะไร
หลายท่านคงจะบอกว่า การปฏิบัตินี้คู่กับการศึกษา เมื่อเอามาใช้เอามาทำเป็นการปฏิบัติ ยังไม่ได้ใช้ยังไม่ได้ทำก็เป็นเพียงการศึกษา อันนี้ก็เป็นปัญหาอีกแล้ว

คำว่า การศึกษานี้ ในเมืองไทยนำมาใช้เป็นคำคู่กับการปฏิบัติ ศึกษาหมายความว่าเล่าเรียน ยังไม่ได้ทำ เข้าใจกันว่าถ้าศึกษา ก็คือยังไม่ได้ทำ เพียงเล่าเรียนมา เมื่อปฏิบัติก็คือเอาสิ่งที่ศึกษานั้นมาลงมือทำ ความเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้องอีก

คำว่าศึกษานั้นเดิมไม่ได้คู่กับการปฏิบัติ อันนี้จะต้องแยกจากความหมายที่แท้จริง ความหมายที่เข้าใจกันในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ให้คำว่า ศึกษาคู่กับคำว่า ปฏิบัติ นั้น เป็นเรื่องของสังคมไทย เป็นเรื่องของภาษาไทยที่กลายหรือเพี้ยนไปเท่านั้น

คำที่คู่กับปฏิบัติ เป็นเพียงความรู้ที่เล่าเรียนรับฟังมานั้นมีศัพท์เฉพาะของมันอยู่แล้ว เรียกว่าปริยัติ
คำที่คู่กับปฏิบัติ ก็คือ ปริยัติ ปริยัติคือเล่าเรียนมา แล้วปฏิบัติก็เอามาลงมือทำ แต่ทำไมการศึกษาจึงกลายความหมายมาเป็นการเล่าเรียน

การศึกษาเดิมนั้น มีความหมายกว้าง ตั้งแต่เรียนรู้ไปจนกระทั่งฝึกหัด ลงมือปฏิบัติ ปฏิบัตินี้ในแง่หนึ่ง ก็คือ ฝึกหัดเพื่อทำให้เป็น และทั้งหมดตลอดกระบวนการนั้น เราเรียกว่า การศึกษา

อาจจะเป็นไปได้ว่าในสมัยหลังๆ นี้ การศึกษาได้เน้นในด้านการเล่าเรียนหนังสือ อ่านตำราหรือคัมภีร์มากไป ความหมายของการศึกษาก็เลยแคบลง เหลือเป็นเพียงเล่าเรียนตำราไป พอเหลือเพียงเล่าเรียนตำรา ก็ไปได้แก่ปริยัติ แต่ที่จริงคำว่าศึกษานั้นมีความหมายเท่ากับปริยัติและปฏิบัติรวมกัน

คำว่า การศึกษานั้นที่จริงมีความหมายคลุมตั้งแต่ปริยัติมาจนถึงปฏิบัติอย่างไร คือ รวมทั้งเล่าเรียนให้รู้ แล้วก็มาฝึกทำให้เป็น ตลอดกระบวนการนี้เรียกว่า ศึกษา

แม้แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตอนที่เริ่มมีการศึกษาแผนปัจจุบันกันใหม่ๆ ก็ปรากฏว่าได้มีการหลงเพี้ยนในความหมายของการศึกษา จนกระทั่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวิชรญาณวโรส ต้องทรงเขียนชี้แจงว่า การศึกษานั้นไม่ใช่หมายถึงการเล่าเรียนตำราเท่านั้น แต่หมายถึง การสำเหนียก ทำให้เป็นในอาชีพนั้นๆ ในเรื่องนั้นๆ แม้แต่เด็กอยู่กับบ้านเรียนรู้แล้วก็หัดทำงาน ทำไร่ไถนาก็เรียกว่าการศึกษาทั้งสิ้น ทรงเขียนอธิบายไว้ในทำนองนี้

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาทำความเข้าใจกันว่า คำว่าการศึกษานั้น ที่จริงไม่ได้คู่กับคำว่าปฏิบัติ แต่ปัจจุบันนี้เราใช้ลงตัวแล้ว ก็เลยกลายเป็นจำเป็นต้องใช้แบบยอมๆตามกันไป

แต่สำหรับผู้ที่ได้รับทราบแล้ว ก็ควรทำความเข้าใจ และใช้อย่างรู้ทัน คือรู้ว่าใช้กันไปอย่างนั้นเองตามนิยม แต่ความหมายที่แท้จริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 09 พ.ย. 2012, 14:28, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2012, 21:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


ความหมายที่แท้จริงนั้น ปฏิบัติคู่กับปริยัติ ถ้าเป็นเพียงความรู้จากการเล่าเรียน ท่องจำอ่านตำรา เป็นธรรมที่ฟังเขามาอย่างนั้น ก็เป็นขั้นปริยัติ
ถ้าเป็นการเอามาลงมือฝึกหัดทำ ก็เป็นขั้นปฏิบัติ ทั้งปริยัติและปฏิบัติ ๒ อย่างนี้ รวมกันเรียกว่า การศึกษา

นี้เป็นเรื่องที่ ๒ ที่อยากจะพูดในที่นี้ เมื่อมีปริยัติคู่กับการปฏิบัติ รวมเข้าเป็นการศึกษาแล้ว การเล่าเรียนก็โยงต่อมาถึงการลงมือทำ


ทีนี้ เมื่อลงมือทำแล้วก็จะเกิดผลขึ้นมา เป็นผลจากการศึกษา ผลจากการศึกษาที่ถึงขั้นปฏิบัติแล้ว ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ปฏิเวธ


เราต้องแยกว่าการศึกษามี ๒ ขั้น คือ การศึกษาในขั้นปริยัติกับการศึกษาขั้นปฏิบัติ เมื่อผ่านการศึกษาขั้นปริยัติมาแล้วก็ต่อด้วยการศึกษาขั้นปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วก็จะส่งผลเป็นปฏิเวธ ปฏิเวธก็เป็นอันดับที่ ๓ คือเป็นผลจากการปฏิบัตินั่นเอง


เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา ท่านจึงมีคำใช้ ๓ คำ เรียงลำดับกันว่า ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ถ้าใช้ ๒ ก็เหลือศึกษา และปฏิเวธ
ในพระไตรปิฎก บางแห่งท่านใช้ศึกษาคู่กับปฏิเวธเลย เพราะศึกษานับรวมทั้งปริยัติ และปฏิบัติไปแล้ว จึงก้าวไปถึงปฏิเวธได้เลย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ต.ค. 2012, 08:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


ในการใช้คำว่า การศึกษาในปัจจุบัน ถ้าจะเข้าถึงความหมายที่แท้จริงจะต้องให้คำว่า การศึกษานี้คลุมไปถึงการฝึกหัด การลงมือทำ หรือการปฏิบัติด้วย

เป็นอันว่า ตอนนี้เราได้มาถึงความหมายของศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กัน ๓ คำ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

ปริยัติ เป็นขั้นเล่าเรียน รับฟังผู้อื่นมา โดยเฉพาะสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ซึ่งสืบต่อกันมาในพระไตรปิฎก และเรามีครูอาจารย์แนะนำบอกกล่าว เอามาท่องมาบ่น มาสอบสวนทบทวนกัน ทั้งหมดนี้เรียกว่า ปริยัติ

เมื่อเอาสิ่งที่ได้เล่าเรียนนั้นมาลงมือทำ ก็เป็นปฏิบัติ การปฏิบัติก็คือตัวศีล สมาธิ ปัญญา หรือถ้าขยายสำหรับคฤหัสถ์ นิยมใช้คำว่า ทาน ศีล ภาวนา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ย. 2012, 13:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวแท้ของการปฏิบัติอยู่ที่ไหน


เริ่มด้วยชุดแรกก่อน ที่เรียกว่า ปฏิบัติ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คำว่าปฏิบัติ จะต้องมีความหมายครบ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ปัจจุบันนี้ เรามักใช้คำว่า ปฏิบัติ โดยเน้นไปที่สมาธิกันมาก

ศีล สมาธิ ปัญญานี้ เราจะเห็นว่าเรียงจากข้างนอกไปหาข้างใน

ศีล อยู่ที่ตัวของเราที่มองเห็น คือ ตัวของเราที่แสดงออกมาภายนอก ทางกาย และทางวาจา ถ้ากระทำทางกาย ก็เป็นกายกรรม ถ้าเป็นต้านวาจาคือคำพูด ก็เป็นวจีกรรม แม้ว่าทั้งหมดนั้นจะออกมาจากใจ คือ เจตนา แต่การกำหนดศีลนั้น กำหนดที่พฤติกรรมซึ่งแสดงออกมาทางกายและวาจา อยู่ที่ตัวเราที่ต่อกับภายนอก


ข้อต่อไป คือ สมาธิ ลึกเข้าไปข้างในมองไม่เห็น ไม่อยู่ที่ตัวข้างนอก ไม่มองเห็นที่กายวาจา แต่อยู่ที่จิตใจ

แล้วสุดท้ายก็ คือ ปัญญา เป็นขั้นที่อาศัยจิตนั่นแหละทำงาน เมื่อใช้จิตนั้นทำงานให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลาย ก็เกิดปัญญาขึ้น เป็นส่วนที่มาเสริม เพื่อปรับปรุงคุณภาพของจิตใจ แล้วจิตใจที่มีความรู้มีปัญญา ก็เอาความรู้นั้นมาใช้ปรุงชีวิตด้านกายวาจา อีกต่อหนึ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 09 พ.ย. 2012, 14:29, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ย. 2012, 14:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชุดที่ ๒ เน้นสำหรับคฤหัสถ์ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ชุดทาน ศีล ภาวนา นี้จะเห็นว่า เน้นส่วนภายนอกมากขึ้น เริ่มจากทาน ทานนี้ไปจับที่ของนอกตัวเลย ศีลยังอยู่ในตัว แต่ทานนี่ออกไปที่ของนอกตัว เป็นการเอาสิ่งของไปให้แก่ผู้อื่น การเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน พอถึงศีลก็มาอยู่ที่ตัว จากของนอกตัวแล้วมาอยู่ที่ตัว เสร็จแล้วก็ถึงภาวนาก็เข้าไปในตัว

ภาวนาก็เข้าไปในตัวก็ไปแยกเป็น ๒ ส่วน คือ ด้านจิตที่เป็นสมาธิ กับด้านปัญญา ได้แก่สมาธิและปัญญามารวมเข้าด้วยกันเป็นภาวนา

คำว่าภาวนานั้น หมายถึงทั้งภาวนาที่เป็นการฝึกอบรมด้านจิต ซึ่งเรียกว่าจิตตภาวนา และภาวนาที่เป็นการฝึกอบรมด้านปัญญา ที่เรียกว่าปัญญาภาวนา
ภาวนาจึงแบ่งเป็น ๒ คือ จิตตภาวนา กับ ปัญญาภาวนา พูดง่ายๆก็คือ เป็นสมาธิ และปัญญานั่นเอง


เพราะฉะนั้น ๒ ชุด คือ ทาน ศีล ภาวนา กับ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ ที่จริงก็เรื่องเดียวกัน แต่ชุดหนึ่งเน้นด้านภายนอก เน้นด้านหยาบ จัดเป็น ทาน ศีล ภาวนา โดยขยายด้านนอกเป็น ๒ อย่าง คือ ทาน กับ ศีล
เอาข้างใน ๒ อย่างคือ สมาธิ และปัญญา ไปยุบเป็นภาวนาอย่างเดียว

ส่วนชุดศีล สมาธิ ปัญญา นั้น เอาด้านใน คือ ภาวนาไปแยกละเอียดเป็นจิตใจ (สมาธิ) กับ ปัญญา แต่ด้านนอก คือ ทานกับศีลนั้นรวมเป็นอันเดียว เพราะว่าศีลนั้นหลักการก็คืออยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม ส่วนทานก็เป็นองค์ประกอบในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม ก็เลยมารวมอยู่ในคำว่า ศีล

เพราะฉะนั้น เมื่อท่านได้ฟังคำว่า ทาน ศีล ภาวนา กับ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ ก็ให้ทราบว่าที่จริงเป็นระบบอันเดียวกัน แต่เราแยกเพื่อให้เห็นจุดเน้นที่ต่างกัน

สำหรับคฤหัสถ์จะเน้นด้านนอก จัดเป็น ทาน ศีล ภาวนา

แต่สำหรับพระสงฆ์จะเน้นด้านใน วางหลักเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 02 พ.ย. 2012, 21:06, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ย. 2012, 19:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนึ่ง ชื่อเรียกก็คล้ายๆกัน ชุด ศีล สมาธิ ปัญญา หลายๆท่านก็พอรู้จักว่า ไตรสิกขา ไตร แปลว่า ๓ สิกขา คือ การศึกษา รวมเป็นไตรสิกขา แปลว่า การศึกษา ๓ อย่าง

ส่วนชุด ทาน ศีล ภาวนา เรียกชื่อต่างไปนิดหนึ่งว่า ปุญญสิกขา หรือ บุญสิกขา ก็คือ การฝึกฝนในเรื่องความดี หรือการฝึกหัดทำความดีนั่นเอง ปุญญ = ความดี สิกขา = การฝึกอบรม คือ การฝึกฝนปฏิบัติอบรมในเรื่องความดี การทำให้คนเจริญงอกงามขึ้นในความดีต่างๆ ด้วย ทาน ศีล ภาวนา
รวมแล้วทั้ง ๒ ชุดก็เป็นอันเดียวกัน ต่างกันที่จุดเน้นดังกล่าว

ดังกล่าวมานี้ จะเห็นได้ทันทีว่า ในเรื่องการศึกษานั้น สาระสำคัญของมันมาปรากฎเด่นที่การปฏิบัติ เพราะว่า การศึกษานั้นคือ สิกขา ซึ่งหมายถึง ไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ ทาน ศีล ภาวนานั้น และสิกขา หรือการศึกษา ๓ อย่างนั้นแหละที่ท่านบอกว่าเป็นการปฏิบัติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ การศึกษาอยู่ไหน ก็อยู่ที่ตัวการปฏิบัติ คือ อยู่ที่ทาน ศีล ภาวนา อยู่ที่ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องของการกระทำทั้งนั้น

ฉะนั้น การศึกษาต้องเน้นที่การปฏิบัติ ไม่ใช่ความหมายที่ว่าเพียงมาเล่าเรียนตำรับตำรา นี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันในเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้เท่าทันแล้ว ต่อไป เราสามารถใช้ตามที่นิยมกันได้ ถึงแม้จะใช้คำว่า ปฏิบัติธรรม โดยรู้ตามเขาว่าจะไปทำสมาธิก็เอา แต่เรารู้ว่าที่จริงนั้นความหมายมันกว้าง หมายถึงเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตทั้งหมด ในการกระทำทุกอย่าง หรือเมื่อพูดว่า ศึกษา และ ปฏิบัติ ก็ต้องรู้ว่า ที่จริง ศึกษานั้นคลุมปฏิบัติอยู่แล้ว


ต่อ
viewtopic.php?f=2&t=43774

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 42 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร