วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2012, 13:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

วิธีทำสมถะ
โดย
พระอาจารย์ทูล ขิปปปญโญ
วัดป่าบ้านค้อ ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี


:b44: :b44:

:b42: การเตรียมตัวเดินจงกรม

ในการเดินจงกรมปฏิบัติดังนี้ ทำทางเดินจงกรมให้กว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๑๕ เมตร ปรับพื้นให้เสมอตลอดแนวทาง เพื่อเราจะได้ เดินให้สะดวกโดยไม่มีความกังวล ในขณะที่เรากำลังเดิน หรือจะเดินอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม ก่อนเราจะเริ่มเดินจงกรมทุกครั้ง ให้เราไปยืนอยู่ที่มุมสุด ของทางเดินจงกรมด้านใดด้านหนึ่ง แล้วหันหน้าเข้ามาหาเส้นทาง แล้วให้พนมมือขึ้นในระหว่างอก หรือในระหว่างคิ้ว

แล้วนึกอธิษฐานภายในใจว่า "สาธุ ข้าพเจ้าจะเดินจงกรมภาวนา เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระอริยสงฆ์ บูชาคุณบิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ กับทั้งผู้มีพระคุณทั้งหลาย ขอให้ข้าพเจ้าจงมีสติ มีใจอันสงบ รู้แจ้งเห็นจริง ในอริยสัจธรรม ทั้งหลายด้วยเทอญ

และกุศลผลบุญที่ข้าพเจ้าเดินจงกรมในครั้งนี้ ขอจงเป็นไปในสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงอย่าได้มีกรรมมีเวรแก่กันและกัน ขอให้ท่านทั้งหลาย จงได้รับส่วนบุญจากข้าพเจ้าโดยอนุโมทนาเองเถิด"


เสร็จแล้วเอามือหย่อนลง ตรงหน้า แล้วเอามือขวา จับหลังมือซ้าย ให้อยู่ในท่ายืนรำพึง แล้วกำหนดให้ใจได้อยู่ในความเป็นกลาง ไม่ให้ใจเอนเอียงไปหาอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจใดๆ ทั้งสิ้น และทำอุบายแก่ตัวเองว่า ขณะนี้เราจะเดินจงกรม ความคิดภายนอกใดๆ ให้ปล่อยวางเสียหมด อย่าคิดขึ้นมา เพื่อให้ใจได้ไหวไปตาม เสร็จแล้วกำหนดคำบริกรรมดังนี้

วิธีกำหนดคำบริกรรมมีดังนี้

ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า พุท
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจออกเองยาวๆ นึกว่า โธ

ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า ธัม
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจออกเองยาวๆ นึกว่า โม

ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า สัง
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจออกเองยาวๆ นึกว่า โฆ

ให้กำหนดทำสัก ๓-๗ ครั้ง หรือมากกว่านี้ก็ได้ เพื่อให้เป็นอุบายให้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ได้มารวมอยู่ที่ใจ ต่อไปให้กำหนดเอาเพียงพุทโธคำเดียว และให้พร้อมกันกับเดินจงกรม ดังนี้



เดินจงกรมวิธีที่ ๑

วิธีที่ ๑ ให้ตั้งใจโดยมีสติ ก้าวขาครั้งแรกให้นึกว่าพุท ก้าวขาที่สองให้นึกว่าโธ ให้มีสติกับคำบริกรรม รู้เท่าทันกันกับการก้าวขาทุกครั้งไป ขณะใดที่เรารู้ไม่ทัน ในการก้าวขา ให้ถือว่าขณะนั้นเราเผลอสติ คือ ความตั้งใจไม่พอ และให้ตั้งใจใหม่ต่อไปจนกว่าจะรู้เท่าทันกัน ไม่เดินเร็วนัก ไม่เดินช้านัก คือ ให้เราเดินอยู่ในท่าปกติที่เราเดินไปในสถานที่ต่างๆ นั้นเอง นี้เป็นวิธีเดินจงกรมในสมถะ คือ เอาอิริยาบถเดินเป็นนิมิตเครื่องหมาย เพื่อได้ฝึกสติและฝึกความตั้งใจ เมื่อเดินถึงที่สุดของทางเดินจงกรมแล้ว ให้หมุนตัวกลับข้างขวาทุกครั้งไป



เดินจงกรมวิธีที่ ๒

วิธีที่ ๒ ไม่กำหนดดูในการก้าวขาในเวลาเดินจงกรม ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าเองนึกว่า พุท ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดรู้ลมหายใจออกเองนึกว่า โธ เพื่อให้ความสัมพันธ์ของสติ และคำบริกรรม กับผู้รู้ และความตั้งใจ ให้อยู่ในกรอบเดียวกัน และเพื่อความมั่นคงแน่นหนาในสมถะต่อไป ถ้าหากเรามีความเหน็ดเหนื่อยในการเดินจงกรมแล้ว เราจะยืนกำหนดคำบริกรรมก็ได้ และก็ให้กำหนดเหมือนกัน เพื่อให้อิริยาบถการยืนภาวนาได้ติดต่อ ไม่ขาดวรรคขาดตอน



เดินจงกรมวิธีที่ ๓

วิธีที่ ๓ ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดรู้เห็นกายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นนิมิตเครื่องหมาย จะเป็นกายส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ กายส่วนไหนที่เรามีความถนัดใจ เพ่งดูได้ง่ายให้กำหนดรู้เห็นกาย

ส่วนนั้นๆ เป็นนิมิตของสติ ให้สติกับผู้รู้ได้กำหนดรู้เห็นอยู่ที่กายส่วนนั้นๆ ไม่ให้เผลอ ถึงจะไม่กำหนดรู้เห็นกายส่วนนั้นชัดก็ตาม แต่ก็ให้กำหนดสถานที่ที่เรากำลังเพ่งดูกายส่วนนั้น ให้มีในขอบเขตเพื่อได้จำกัดสถานที่ให้ใจได้อยู่ในกายส่วนนั้นๆ ต่อไป

ในครั้งแรก ความไม่เคยชินในการเพ่งดูกาย ก็ให้เราสมมติกายส่วนนั้นๆ ว่ามีสีสันลักษณะอย่างนั้น รูปพรรณสัณฐานอย่างนั้น และตั้งอยู่ในที่นั้นๆ เมื่อเรากำหนดเพ่งดูกายส่วนนั้นอยู่บ่อยๆ ความเคยชินในการเพ่งดูก็จะติดใจ จะลืมตา หลับตา ก็รู้เห็น ติดใจ อยู่ตลอดเวลา เมื่อเราชำนาญในการเพ่งดูกายส่วนนั้นแล้ว เราจะกำหนดเพ่งดูกายส่วนอื่นๆ ก็จะรู้เห็นอยู่สภาพเดียวกันทั้งหมด เมื่อใจเรารู้เห็นกายชัด ดังได้อธิบายมานี้ ก็จะเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาได้เป็นอย่างดี วิธีนี้ไม่ได้กำหนดดูก้าวขา แต่ให้เอาสมมติกาย ส่วนที่เรากำหนดเพ่งดูอยู่นั้น มาบริกรรม สมมติว่า เรากำหนดดูหนัง ก็ให้คำบริกรรมว่า ตะโจๆ พร้อมกับการเพ่งดูหนังส่วนนั้นๆ ต่อไป ถ้าเราจะกำหนดให้เห็นกระดูส่วนไหน ก็ให้คำบริกรรมว่า อัฐิๆ พร้อมทั้งเพ่งดูกระดูกส่วนนั้นต่อไป หรือให้สมมติว่า ร่างกระดูกเดินจงกรมก็ได้ นี้แล ถ้าเราได้กำหนดเพ่งดูให้ใจรู้กาย เห็นกายส่วนใดส่วนหนึ่งดังได้อธิบายมานี้ ก็จะเป็นพื้นฐานของปัญญาได้ดี ส่วนการพิจารณากาย จะอธิบายในตอนท้ายเพื่อไม่ให้สับสนกัน



เดินจงกรมวิธีที่ ๔

วิธีที่ ๔ ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดรู้อารมณ์ภายในใจ อารมณ์ภายในใจนี้ จะเป็นอารมณ์ประเภทไหนก็ตาม ที่มีความปรากฏ สัมผัสภายในใจอยู่ในปัจจุบันนี้ ให้กำหนดรู้ในอารมณ์นั้นๆ เป็นนิมิตของใจ จะเป็นอารมณ์หยาบๆ ก็ให้กำหนดรู้ ในอารมณ์หยาบๆ จะเป็นอารมณ์ละเอียด ก็ให้กำหนดรู้ในอารมณ์ส่วนละเอียด จะเป็นอารมณ์ทางโลกหรือทางธรรม จะเป็นอารมณ์ที่ชอบใจ หรืออารมณ์ ที่ไม่ชอบใจก็ตาม ถ้าหากเราสลัดออกจากใจไม่ได้แล้ว ก็ต้องกำหนดรู้ แต่อย่าไปกำหนดเอา วัตถุที่ให้เกิดอารมณ์เข้ามาอยู่ที่ใจ ถ้าไปกำหนดเหตุให้ประกอบใจแล้ว ก็จะเป็นอารมณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้นที่ใจได้ เพราะอารมณ์ภายในใจแต่ละอย่าง ย่อมมีเหตุเป็นแดนเกิด ฉะนั้น เราจึงมาทำความเข้าใจกับเหตุของอารมณ์นั้นให้ดี และกำหนดรู้เห็นเหตุของอารมณ์นั้นๆ ให้ชัดและจริงตามเหตุนั้น ว่าเกิดขึ้นที่ไหน ตั้งอยู่ที่ไหน และให้มีสติรู้เหตุกำลังจะขยายตัวออกไปหาจุดต่างๆ เพื่อให้เหตุนั้นได้มีกำลัง

คำว่าเหตุนั้น คือเหตุภายในคือใจเป็นสำคัญ เพราะใจมีเชื้อของเหตุภายใน คือความไม่อิ่มพอแก่ความต้องการ ในสรรพวัตถุ ทั้งหลาย หรือในสรรพอารมณ์ทั้งหลาย ที่ใจยังมีความต้องการ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นอาหารเดิมอาหารหลักของใจมานาน ไม่รู้ว่ากัปกัลป์ไหนๆ เกิดมาชาติภพไหน ก็อารมณ์ภายในใจประเภทนี้เป็นหลัก แม้ชาติปัจจุบันนี้ ก็มี

อารมณ์ประเภทไฟบรรลัยกัลป์กำลังขยายตัวออกมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปติดเชื้อให้มาเร่าร้อน เผาใจอยู่ตลอดเวลา จึงเรียกว่า ธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่ฝังแน่นในส่วนลึกภายในใจ นี้แล จึงเรียกว่าต้นเหตุของอารมณ์ภายใน ส่วน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย เพียงเป็นสิ่งประกอบให้เหตุภายในได้พองตัวขึ้นเท่านั้น เมื่อใจได้สัมผัสเหตุประเภทใด ย่อมติดใจในเหตุนั้นๆ จนไม่ยอมที่จะปล่อยวาง และนำเอามาตรึกตรองครุ่นคิดจนติดใจ จึงเรียกว่าอารมณ์ฝังใจ


อารมณ์อยู่ที่ไหนใจก็อยู่ที่นั่น ถ้าเรากำหนดดูอารมณ์ภายในใจก็เท่ากับเรากำหนดดูใจไปในตัว ใจมีอารมณ์แห่งความโลภก็ให้รู้ ใจมีอารมณ์แห่งความโกรธก็ให้รู้ ใจมีอารมณ์แห่งราคะก็ให้รู้ ใจมีอารมณ์แห่งความลุ่มหลงก็ให้รู้ อารมณ์นี้เองจึงเป็นเครื่องวัดใจได้ดี ถ้ารู้เห็นว่าอารมณ์มีที่ใจแล้ว ก็ต้องมีสติกำหนดรู้ให้เห็นใจไปในตัว อารมณ์เกิดขึ้นที่ใจได้ เราก็ต้องมีสติ กำหนดให้อารมณ์ให้อ่อนกำลังลง และดับไปได้เช่นกัน ข้อห้ามที่สำคัญ เราอย่าส่งใจออกไปนึกถึงเหตุภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความอิจฉาพยาบาท กับใครๆ ทั้งสิ้น ถ้าใจไปนึกหาเหตุของอารมณ์ดังกล่าว ใจก็จะเกิดอารมณ์ที่เป็นพิษขึ้นที่ใจเอง และจะมีความเดือดร้อนเอง ว่าผลของอารมณ์ที่มีในใจเป็นอย่างนี้ ให้เอาสติกำหนดเพ่งดูจุดของอารมณ์นั้นๆ ให้เห็นชัดภายในใจ ไม่นาน อารมณ์ภายในใจ ก็จะอ่อนกำลัง นี้เป็นอุบายวิธีที่เราหนีไม่พ้น เราก็ต้องสู้แบบตัวต่อตัวด้วยกำลังสติ จะแพ้จะชนะก็ให้รู้ดีให้รู้กันในช่วงนี้ นี้สงครามภายในก็ต้องอาศัยสติเข้าแผดเผา จดจ้องแบบไม่หนีหน้ากัน

ก่อนที่เราจะหยุดเดินจงกรมทุกครั้ง ให้เราไปยืนที่มุมสุดของทางเดินจงกรม และหันหน้าเข้ามาหาเส้นทาง พนมมืออธิษฐานภายในใจว่า "สาธุ ข้าพเจ้าได้เดินจงกรมภาวนา เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระอริยสงฆ์ในครั้งนี้ ขอจงเป็นไปเพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้า พร้อมทั้งบิดามารดา ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ ตลอดผู้มีพระคุณทั้งหลาย ทั้งเทพเจ้าเหล่าเทวา สัตว์น้อยใหญ่ เจ้ากรรมนายเวร ขอจงได้รับส่วนบุญ ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้ว ในครั้งนี้ โดยอนุโมทนาเองเทอญ"

เสร็จแล้ว เดินออกจากทางเดินจงกรมโดยมีสติ เพื่อจะเข้าหาที่นั่งสมาธิภาวนาต่อไป เพื่อให้เป็นสายโซ่เชื่อมโยงต่อกันไม่ให้ขาดวรรคตอน

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2012, 14:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: การเตรียมตัวนั่งสมาธิ

การเตรียมตัวนั่งสมาธิภาวนา ทุกครั้งเราต้องจัดสถานที่ที่เราจะนั่งสมาธิให้สะอาดเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดข้องกังวลภายในใจ เสร็จแล้วไหว้พระสวดมนต์จะย่อหรือพิสดาร ก็เอาตามความต้องการของเรา และแผ่เมตตาตนเมตตาสัตว์จบแล้ว ฆราวาสมีวิธีสมาทานศีล ๕ ต่อไป เพราะการสมาทานศีล เป็นอุบายวิธีที่จะรับรองความบริสุทธิ์เฉพาะตนในปัจจุบัน และเป็นอุบายเพื่อไม่ให้ใจได้มีความเศร้าหมอง ในการกระทำทางกายวาจา ที่เป็นอดีตผ่านมาแล้ว

และทำความเข้าใจแก่ตัวเองว่า ปัจจุบันนี้ เรามีศีลอันบริสุทธิ์แล้ว ถึงหากเราได้พลั้งเผลอทำความชั่วทางกายวาจามาแล้วก็ตามนั้น เป็นเรื่องของอดีตที่ล่วงไปแล้ว เราอย่าไปคำนึงเอามาเป็นอารมณ์ ส่วนความดีที่เราได้บำเพ็ญมาแล้ว มีการให้ทาน เคยได้รักษาศีล ได้เจริญเมตตาภาวนา หรือทำความดีในสิ่งใดๆ ก็ตามนี้ให้เราหมั่นสำนึกอยู่บ่อยๆ เพื่อให้ใจเกิดความปีติยินดี และเป็นกำลังให้แก่ใจ เพื่อให้ติดต่อกับในปัจจุบัน ที่เราจะปฏิบัติภาวนาอยู่ในขณะนี้

การสมาทานศีลด้วยเจตนาวิรัติ ให้ศีลมีขึ้นในตนเองขณะนี้ เพราะเราไม่มีเวลาและโอกาสอำนวย ที่จะไปรับศีลจากพระได้ เราก็ต้องสมาทานเจตนาวิรัติเอาศีลด้วยตนเอง เพราะการเจตนาละเว้นจากความชั่วทางกายและวาจานั้นแลเป็นตัวศีล


วิธีสมาทานศีล ๕ มีดังนี้

ให้ว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ ๓ ครั้งต่อไปว่า

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิธัมมัง สะระณัง คัจฉามิสังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

สุราเมระยะ มัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

ถ้าหากผู้ว่าคำบาลีไม่ได้ให้นึกในใจทำเสียงเบาๆ ดังนี้

๑. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการฆ่าสัตว์ทุกชนิด

๒. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการลักเอาสิ่งของของคนอื่น

๓. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการประพฤติผิดจากประเวณี

๔. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการกล่าวความไม่จริง

๕. ข้าพเจ้าจะละเว้นจากการดื่มสุราและยาเสพติดทุกชนิด


ทั้งนี้ เราต้องมีสัจจะ ความจริงใจในตัวเอง ศีลจึงจะตั้งอยู่ได้
สัจจะตั้งไว้อย่างไร ใจก็ต้องรักษาความจริงให้ได้


กล่าวคำสมาทานศีล ๕ ดังนี้

อิมานิ ปัญจะสิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ เจตะนาหัง สีลังวะทามิว่า ๓ จบ เสร็จแล้วกราบ ๓ ครั้ง ถ้าเป็นพระเณรต้องสำรวจดูในศีล วินัย ของตนให้บริสุทธิ์ เพื่อจะไม่ให้เกิดความขัดข้องกังวลใจในภายหลัง

การเดินจงกรม การนั่งสมาธิทั้ง ๒ วิธีนี้เราจะนั่งสมาธิก่อน แล้วเดินจงกรมทีหลังก็ได้ หรือเราจะเดินจงกรมก่อนจึงนั่งสมาธิทีหลังก็ได้ นี้ก็เอาตามความสะดวกของตัวเราเอง หรือไม่สะดวก ในการเดินจงกรม เราจะนั่งสมาธิภาวนาไปเลยทีเดียวก็ได้ เมื่อกล่าวคำสมาทานศีล ๕ แล้วให้ เตรียมตัวนั่งสมาธิภาวนาต่อไป

ผู้ชายนั่งเอาขาขวาทับขาซ้ายผู้หญิงจะนั่งเหมือนผู้ชายก็ได้ หรือจะนั่งพับเพียบตามความถนัดใจก็ได้ข้อสำคัญคือ นั่งในท่าสบาย และทำให้ใจสบายนั่นเองแล้วพนมมือขึ้นในระหว่างอก หรือระหว่างคิ้ว

แล้วนึกอธิษฐานภายในใจว่า "สาธุ ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนา เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระอริยสงฆ์ ฯลฯ"

เหมือนกันกับคำอธิษฐานในวิธีเดินจงกรม เสร็จแล้วเอามือวางลงบนตัก เอามือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรง ดำรงสติให้มั่นคงภายในใจ อย่าส่งใจออกไปหาอารมณ์ภายนอก อันจะทำให้ใจได้เกิดการวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก อันจะทำให้ใจเกิดความหงุดหงิด และเศร้าหมอง ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์นั้นๆ โดยความเผลอตัว ให้ทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ขณะนี้ กายเรานั่งอยู่ที่นี้ และใจเราก็อยู่ที่นี้ขณะนี้ เรากำลังนั่งสมาธิภาวนา อารมณ์ทั้งหลายภายนอกเราก็หยุดคิด เพื่อจะทำให้ใจได้ตั้งอยู่ในท่าปัจจุบันเดี๋ยวนี้ โดยให้เราได้ตั้งใจจริงในการนั่งสมาธิภาวนาต่อไป



นั่งสมาธิวิธีที่ ๑

ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า พุท
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจออกเองยาวๆ นึกว่า โธ

ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า ธัม
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจออกเองยาวๆ นึกว่า โม

ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้ายาวๆ นึกว่า สัง
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจออกเองยาวๆ นึกว่า โฆ

ให้กำหนดทำสัก ๓-๗ ครั้ง หรือมากกว่านี้ก็ได้เพื่อเป็นอุบายให้พุทโธ ธัมโม สังโฆ ได้มารวมอยู่ที่ใจ ต่อไปให้กำหนดเอาเพียงพุทโธคำเดียว ให้หายใจเป็นปกติ ตามที่เราเคยหายใจอยู่ในท่าปัจจุบัน ให้มีสติกำกับคำบริกรรม และรู้เท่าทันกับลมหายใจทุกครั้ง และให้ตั้งอยู่ในท่าเตรียมพร้อมอยู่เสมอ อย่าเผลอตัว

ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเอง นึกว่า พุท
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจออกเอง นึกว่า โธ

ขณะใดที่เราไม่ได้ตั้งใจสูดลมหายใจเข้าเอง นึกว่า พุท แต่ลมหายใจได้ล่วงเข้าไปเสียก่อนในขณะนั้น ก็ให้รู้ตัวเองทันทีว่า ความตั้งใจเราขาด สติรู้ไม่ทัน หรือในขณะใดเราไม่ได้ตั้งใจปล่อยลมหายใจออกเอง พร้อมกับคำบริกรรมในขณะนั้น เราก็เผลอสติและขาดความตั้งใจเช่นกัน

ฉะนั้น จึงให้เราตั้งใจสูดลมหายใจเข้าเอง ให้ตั้งใจปล่อยลมหายใจออกเอง เมื่อเราขาดความตั้งใจเมื่อไร การกำหนดดูลมหายใจก็เผลอตัวทันที และให้เราตั้งใจ ตั้งสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้า พร้อมกับคำบริกรรมเอง และตั้งใจโดยมีสติกำหนดปล่อยลมหายใจออกเอง พร้อมกับคำบริกรรม จนกว่าความตั้งใจ การตั้งสติ จะมีความชำนาญ ถ้าชำนาญแล้ว สติกับผู้รู้และลมหายใจ กับคำบริกรรม ก็จะรู้เท่าทันกันเอง นี้เป็นวิธีที่ฝึกสติแบบรัดกุม

ถ้าเราเผลอตัวเมื่อไร ก็จะรู้ทันทีทีแรกก็รู้สึกว่าจะทำยากอยู่บ้าง แต่ก็ต้องฝึกกันบ่อยๆ เมื่อชำนาญแล้ว ก็จะเป็นธรรมดา การนั่งสมาธิภาวนาทุกครั้งก็คล่องตัว เพราะความเคยชินนี้ เป็นวิธีฝึกสติให้กับผู้รู้ให้โดดเด่น โดยถือเอาลมหายใจเป็นนิมิตเครื่องหมายเมื่อชำนาญแล้ว ต่อไปเราจะตัดคำบริกรรมออก ให้เหลือแต่ความตั้งใจ อันมีสติกับผู้รู้ กำหนดสูดลมหายใจเข้า ปล่อยลมหายใจออกเท่านั้น เพื่อจะให้ใจได้สงบลงสู่ความละเอียดต่อไป และความตั้งใจก็จะเข้มแข็งไปตามๆ กัน

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2012, 14:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


นั่งสมาธิวิธีที่ ๒

วิธีที่ ๒ เราตัดคำบริกรรม คือพุทโธออก ให้เหลือเพียงความตั้งใจอันมีสติ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ลมหายใจหยาบก็รู้ว่าลมหายใจหยาบ และก็กำหนดรู้ลมหายใจหยาบๆ นั้นต่อไป จนกว่าลมหายใจจะมีความละเอียด เมื่อลมหายใจเรามีความละเอียด ก็รู้ว่าลมหายใจละเอียด และให้ตั้งใจดูลมละเอียดต่อไป

จนกว่าลมหายใจจะมีความละเอียดเต็มที่ นี้แลจึงเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ คือ อารมณ์เป็นหนึ่ง เมื่อเรากำหนดลมหายใจละเอียดอยู่อย่างนี้ ก็แสดงว่าใจเรามีความละเอียดไปตามๆ กันด้วย ลมมีความละเอียดก็เพราะใจเรามีความละเอียด ใจมีความละเอียด ลมก็มีความละเอียดไปตามๆ กัน ความละเอียดของใจ ความละเอียดของลมหายใจ มาบรรจบกันเมื่อไร เมื่อนั้นรัศมีของใจก็จะแสดงตัวออกมาทางกายไปในลักษณะต่างๆ กัน เช่น ปรากฏว่า กายเราใหญ่ขึ้นพองขึ้นผิดปกติธรรมดา เช่น ขาแขนลำตัวศีรษะก็จะใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ เหมือนกันกับจะนั่งอยู่ที่ไหน ก็จะตัวใหญ่อยู่อย่างนั้น

ถ้าหากว่าปรากฏเห็นกายใหญ่ขึ้นดังกล่าว ก็ให้เราตั้งสติกำหนดรู้ลมหายใจส่วนละเอียดนั้นๆ ไว้ อย่าให้เผลอ ไม่นานประมาณ ๕ นาที อาการความใหญ่ของกายทุกส่วนก็จะหายไปเอง บางที นั่งภาวนาอยู่ จะปรากฏว่าสูงขึ้นๆ บางทีก็จะปรากฏว่าเตี้ยลงๆ บางทีก็จะปรากฏว่ากายหมุนตัว บางทีปรากฏว่าเอนไปข้างนั้น และเอนไปข้างนี้ ทั้งๆ ที่เรายังมีสติอยู่นั่นเอง จะปรากฏว่ากายเราเป็นลักษณะใดก็ตาม นั่นคืออาการของใจที่แสดงออกมาทางกายเท่านั้น มันเกิดขึ้นเองและก็จะดับไปเอง บางครั้งจะปรากฏว่า ลมหายใจเล็กเข้าทุกทีๆ การหายใจก็จะปรากฏว่า หายใจสั้นเข้าทุกทีๆ ถ้าผู้กลัวตายก็จะถอนตัวออกจากสมาธิทันที ถ้าเป็นเช่นนี้ เราไม่ต้องกลัว นั้นแหละ คือใจเรากำลังจะลงสู่ความสงบเต็มที่ ขอให้เรามีสติ กำหนดรู้ลมหายใจเล็กๆ นั้นไว้อย่าให้เผลอ

ลมหายใจจะเล็กก็รู้ว่าลมหายใจเล็ก ลมหายใจสั้นก็รู้ว่าลมหายใจสั้น และมีสติกำหนดรู้ จนกว่าลมหายใจจะหมดไปในวาระสุดท้าย เมื่อลมหายใจหมดไปแล้ว ก็จะไม่รู้ตัวเองเลยว่าเราอยู่อย่างไร เพราะกายไม่มี แต่ก็รู้อยู่เฉยๆ เท่านั้น บางครั้งก็จะเกิดความสว่างรอบตัว บางครั้งก็จะมีมีความสว่างเป็นวงแคบ บางครั้งก็มีความสว่างรอบตัวอย่างกว้างขวาง คำว่าตัวนั้นหมายถึงผู้รู้ในจิตนั่นเอง แต่ไม่ปรากฏว่ามีกายเลยในขณะนั้น แต่เป็นธรรมชาติรู้และสว่างอยู่รอบด้าน ความเบาใจ ความสว่างภายในใจ ก็จะเจิดจ้าแพรวพราว เป็นน่าอัศจรรย์ใจมาก เราจะหาสิ่งใดในโลกมาเทียบมิได้เลย จะมีความสงบอยู่อย่างนี้นานประมาณ ๑๐ นาที ก็จะถอนตัวออกมาหายใจธรรมดา ความสุขก็จะเกิดขึ้นที่ใจ ไม่มีสุขใดในโลกนี้จะเสมอเหมือน ความเบากาย ความเบาใจ และความสุขกายสุขใจแทบตัวจะลอย ถ้าเป็นในลักษณะความสงบเช่นนี้ ถ้าผู้ไม่เคยคิดพิจารณาด้วยปัญญามาก่อนแล้ว ก็อยากจะอยู่ในความสุขนี้ต่อไป ถ้าใครเคยพิจารณาด้วยปัญญามาก่อนแล้ว ความสงบนี้ก็จะเป็นพื้นฐานของปัญญาได้เป็นอย่างดี และไม่ติดอยู่ในความสงบนี้เลย สมาธิคือความสงบนี้เองก็จะเป็นกำลังอุดหนุนปัญญาให้พิจารณาอย่างรวดเร็ว

และขอย้ำเพื่อทำความเข้าใจกับผู้อ่านสักนิด ขณะนี้ท่านเป็นนักปฏิบัติ มีความมุ่งหวังและตั้งใจว่าเมื่อจิตมีความสงบเต็มที่แล้ว จะมีปัญญาเกิดขึ้นเพื่อจะพิจารณาธรรมต่อไป ใครๆ ก็มุ่งหวังปัญญา จึงได้ตั้งหน้าตั้งใจทำสมาธิหวังความสงบ เพื่อคอยให้ปัญญาได้เกิดขึ้น ผู้ที่ไม่เคยคิดพิจารณาในแง่ธรรมต่างๆ มาก่อน ถึงจะทำความสงบนั้นก็ทำได้ แต่สายทางแห่งความสงบของผู้ที่ไม่เคยมีปัญญามาก่อน ถึงจะสงบลึกจนถึงสมาบัติ ๘ ก็ตาม ผลที่ไดรับก็คือความสุขกายสุขใจ บางทีอาจมีเครื่องเล่นคืออภิญญาญาณ คือมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องอดีต อนาคต และรู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และมีจักขุญาณบ้าง โสตญาณบ้าง คือมองเห็นด้วยตาภายใน หูภายใน หรือแสดงฤทธิ์ในวิธีต่างๆ ได้ หรือรู้วาระจิตของคนและสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นก็จะติดความรู้ในญาณของตนแบบไม่รู้ตัว

ญาณดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้คนคิดว่าตนเป็นพระอรหันต์ได้ง่ายที่สุด เพราะเชื่อในญาณของตัวเอง เช่น ในครั้งพุทธกาล มีพระ ๓๐ รูปไปเจริญสมถะเพื่อความสงบ เมื่อจิตมีความสงบเต็มที่แล้ว ก็มีความสุขใจ ความสุขกาย และรักษาความสงบนั้นได้ติดต่อกันมาหลายวัน ก็มาคิดว่า นี่พวกเราหมดกิเลสตัณหาอวิชชาแล้ว พวกเราได้ถึงขั้นพระอรหันต์แล้ว เพราะราคะตัณหาไม่มี ไปเถอะ ไปกราบนมัสการพระพุทธเจ้าเพื่อจะได้รับพยากรณ์ แล้วพากันเดินมาจวนจะเข้าวัด พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงไปบอกกับภิกษุ ๓๐ รูปนั้น ให้เข้าไปพักอยู่ป่าช้าก่อน ทีหลังจึงเข้ามาหาเรา

พระอานนท์ก็ออกไปดักทางแล้วบอกดังคำที่พระพุทธเจ้ารับสั่ง ภิกษุ ๓๐ รูป ก็พากันไปในป่าช้านั้นๆ เมื่อเข้าไปก็บังเอิญไปเห็นหญิงสาวกำลังนอนตายหงายท้องอยู่แบบสดๆ ร้อนๆ เหมือนกับอาการนอนหลับ ผ้าชิ้นหนึ่งจะปกปิดร่างกายนิดเดียวก็ไม่มี พระ ๓๐ รูปนั้น ก็กรูเข้าไปรุมล้อมดูด้วยความอยากเห็น ต่างองค์ก็ต่างดู ต่างองค์ก็ต่างคิดไปในอารมณ์แห่งความใคร่ ความกำหนัด ไฟของราคะจึงเกิดขึ้นภายในใจจนถึงขีดแดง ผลที่สุดอรหันต์ที่พากันคิดเอาเองก็แสดงตัวร้องโวยวายขึ้นทันทีว่า พวกเรายังมีราคะตัณหาอวิชชาอยู่ จากนั้น ก็พากันเจริญด้วยปัญญา พิจารณาในไตรลักษณ์ พิจารณาไปพิจารณามาด้วยปัญญาธรรมดา เมื่อใจรู้เห็นจริงตามปัญญาธรรมดานี้แล้ว วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น ผลที่สุดก็บรรลุอยู่ในป่าช้านั่นเอง

เห็นไหมละท่าน สมาธิคือความสงบนั้น ก็ยังทำให้เราเข้าใจผิดได้ นี้ในครั้งสมัยที่มีพระพุทธเจ้า ก็ยังมีนักปฏิบัติที่มีความเข้าใจผิด ในผลการปฏิบัติสมถะมาแล้วเป็นจำนวนมากทีเดียว เพราะความสงบนี้ ถ้าไม่มีครูอาจารย์องค์ที่ท่านเคยได้ผ่านไปแล้วเข้าแก้ไข ก็ผิดได้ง่ายเหมือนกัน และติดอยู่ในสมถะโดยไม่มีทางออก ถ้าในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าผู้ภาวนาเป็นเหมือนกับภิกษุ ๓๐ รูปแล้ว ก็จะไม่มีใครๆ เข้าแก้ไขได้เลย และก็จะเป็นอรหันต์ดิบอยู่อย่างนั้นตลอดไปจนถึงวันตาย

เพราะในสมัยนี้ไม่มีซากศพแบบสดๆ ร้อนๆ นอนอยู่ตามป่าช้าเลย จำเป็นก็ทำความสงบไปเรื่อยๆ พากันนั่งคอย นอนคอย ตัวปัญญาให้เกิดมีในใจ นับแต่วันปฏิบัติมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ทำไมปัญญาจึงไม่เกิดขึ้นกับเราหนอ พากันบ่นแล้วบ่นอีก คอยปัญญาแล้วคอยปัญญาอีก ทำความสงบแล้วทำความสงบอีก สงบลึกเท่าไรก็ไม่มีปัญญา จนนักภานาอ่อนใจ ฉะนั้น จะให้ข้อคิดสักนิดเพื่อได้พิจารณาว่า ในครั้งพุทธกาล ที่มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานอยู่ก็ตาม ในสมัยนั้นมีใครบ้าง องค์ไหนบ้าง ที่ทำสมาธิมีความสงบไปหน้าเดียว และได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ นอกจากจะเป็นเหมือนพระ ๓๐ รูปดังได้อธิบายมาแล้วทั้งนั้น

ถ้าหากเราพิจารณาหวนกลับความเป็นมาของพระอริยเจ้าทั้งหลายที่เป็นมา ทุกองค์ก็ล้วนแล้วแต่มีปัญญามาก่อนด้วยกันทั้งนั้น ในสมัยนี้ก็มีครูอาจารย์ผู้ที่ท่านมีความบริสุทธิ์ใจ อันดับแรก ท่านก็พิจารณาด้วยปัญญามาก่อน แล้วจึงทำความสงบ เมื่อจิตถอนออกจากความสงบแล้ว ก็ตั้งใจคิดพิจารณาไปตามสรรพธรรม สรรพสังขาร ทั้งหลายนานาชนิดให้เป็นไปตาม ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ไม่ใช่ว่าจะมานั่งคอยนอนคอยให้มีปัญญาเกิดขึ้นเหมือนกับเราเลย มันจึงไกลกันเหมือนฟ้ากับดิน หรือเหมือนกันกับเราขุดดินเตรียมหลุมมะพร้าวเสร็จแล้ว จะมานั่งคอยนอนคอยให้ต้นมะพร้าวเกิดขึ้นจากหลุมนั้น มันจะเป็นไปได้หรือ ผลไม้ทุกอย่า ต้นไม้แต่ละชนิดที่เราต้องการ จะให้เกิดขึ้นเองโดยเราไม่ต้องหาเชื้อมาปลูกเอง มันจะเกิดขึ้นได้ไหม นี้เพียงให้ข้อคิดนิดเดียวเท่านั้น



นั่งสมาธิวิธีที่ ๓

วิธีที่ ๓ ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดรู้กายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นนิมิตเครื่องหมาย จะเป็นกายส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ กายส่วนไหนที่เรามีความถนัดใจเพ่งดูได้ง่าย ให้เอากายส่วนนั้นเป็นจุดยืนของสติ ให้สติกับผู้รู้ติดอยู่ที่กายส่วนนั้นๆ อย่าให้เผลอ ถึงลมหายใจและคำบริกรรมมีอยู่ ก็ให้เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ถ้าเราไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจและคำบริกรรมแล้ว กายส่วนที่เราเพ่งดูอยู่นั้น ก็จะเลือนลางไป ใจก็จะเขวจากกายส่วนที่เราเพ่งนั้นไป ใจก็จะไม่อยู่ในกายส่วนนั้นเลย

ฉะนั้น จึงให้สติกับผู้รู้ เพ่งดูกายส่วนนั้นๆ อย่างใกล้ชิด จะเป็นตำหนิแผลเก่าๆ ก็ได้ จะเป็นส่วนด้านหน้า หรือส่วนด้านหลังก็ให้เราเลือกหาเอง เพื่อไม่ให้มีความขัดข้องและฝืนความรู้สึกภายในใจ ครั้งแรกก็ให้เราสมมติรู้ตามสีสันและลักษณะกายส่วนนั้นๆ ตามความเป็นจริง ว่ามีลักษณะผิวพรรณอย่างนั้น และอยู่ในที่นั้นๆ ส่วนหนังเป็นที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก ถ้าเรากำหนดดูให้รู้เห็นทั้งหมดนั้นไม่ได้ ก็เพราะว่าความตั้งใจและสติเรายังอ่อน ฉะนั้น จึงให้กำหนดดูกายบางส่วน จะเป็นส่วนเล็กๆ ก็ได้ เพื่อให้ใจได้จดจ่อรู้เห็นในที่แห่งเดียว ให้เหมือนกันกับเราเอาเส้นด้ายสอดเข้ารูเข็ม ถ้าเราไม่ใช้สายตาเพ่งดู ก็จะไม่เห็นรูเข็มและปลายเส้นด้ายนั้นเลย และไม่มีทางจะสอดด้ายเข้ารูเข็มได้ ถ้าหากเราใช้สายตามจดจ่อยู่กับรูเข็ม และปลายเส้นด้านแล้ว เราก็จะสอดด้ายเข้ารูเข็มได้ทันทีนี้ฉันใด

การเพ่งดูกาย ก็อาศัยสมมติให้รู้เห็นกายส่วนที่เราเพ่ง และสถานที่ที่เราจะเพ่งนั้นให้มีส่วนจำกัด ให้มีความตั้งใจด้วยสติจดจ่อลงไปในจุดนั้นๆ โดยจิตนึกว่า มีความสว่างอยู่ในความสำนึกไปก่อน ถ้าชำนาญแล้ว ก็จะรู้เห็นกายส่วนนั้นๆ เป็นธรรมชาติที่รู้เอง ถ้าความเคยชินรู้เห็นกายส่วนนั้นๆ อยู่ ต่อไปเราจะกำหนดให้กายส่วนนั้นๆ เปื่อยเน่าทั้งตัวก็ได้ หรือกำหนดให้หลุดออกไปให้เห็นโครงกระดูกก็ได้ ต่อไปก็จะเป็นพื้นฐานของปัญญาได้ดี

การกำหนดดูกายเพ่งกาย ก็เพื่อให้ใจได้ตั้งอยู่ที่กายส่วนนั้นๆ เพื่อให้ใจได้มีหลัก เหมือนกันกับนกที่บินอยู่ในอากาศ ก็จำเป็นต้องหาต้นไม้เป็นที่จับ เพื่อได้พักผ่อนเอากำลังใจ ก็เหมือนกัน ก็ต้องหากายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของใจ และมีสติกำหนดจดจ่อรู้ในกายส่วนนั้นๆ ใจก็จะไม่ได้คิดโน้นคิดนี้เหมือนกับที่เคยเป็นมา



นั่งสมาธิวิธีที่ ๔

วิธีที่ ๔ ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดรู้อารมณ์ภายในใจให้เห็นชัด วิธีนี้ก็เหมือนกันกับวิธีกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจในขณะเดินจงกรมนั้นเอง แต่เรามากำหนดรู้อารมณ์ในขณะนั่งสมาธิ ย่อมเห็นอารมณ์ได้ชัดเจนมาก เพราะไม่มีการไหวตัวไปมา ความสะเทือนภายในกายไม่มี จึงถนัดใจในการสังเกตดูอารมณ์ในใจได้ง่าย และรู้ละเอียดด้วย อารมณ์แห่งความสุขก็รู้ชัด อารมณ์แห่งความทุกข์ก็รู้ชัด แม้กระทั่งอารมณ์ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ก็มีสติรู้ได้ชัด อารมณ์แห่งราคะตัณหาก็รู้ชัดทั้งนั้น อารมณ์ทั้งหมดนี้เป็นได้ทั้งเหตุ เป็นได้ทั้งผล หมุนไปได้รอบด้าน และหมุนไปได้ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ผลัดกันเป็นเหตุ ผลัดกันเป็นผลอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า สันตติ คือ อารมณ์ดี อารมณ์ชั่วที่สืบทอดให้กันอยู่เสมอ จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นต้นอะไรเป็นปลาย คือหมุนไปเวียนมา ไม่รู้ว่าอารมณ์ใหม่อารมณ์เก่า จึงเข้าใจเอาเองว่าเป็นอารมณ์ใหม่อยู่ตลอดไปและตลอดเวลา จึงเรียกว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้ทางไปทางมาของวัฏจักรนั่นเอง จึงเรียกว่าผู้หลงโลกหลงสงสาร ก็คือมาหลงอารมณ์ภายในใจนี้แหละเป็นเหตุ

อารมณ์ภายในใจนั้นก็ยังไม่เป็นกิเลส ตัวกิเลสตัณหา อวิชชา คือตัวก่อให้อารมณ์รัก อารมณ์ชัง เกิดขึ้นที่ใจ มีในใจ และตั้งอยู่ที่ใจ เหตุนั้นการกำหนดรู้เห็นอารมณ์ภายในใจ ก็เพื่อเราจะได้ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุของอารมณ์ เพื่อให้รู้สายทางที่มาของอารมณ์ได้ชัด และเพื่อจะได้หาวิธีตัดสายลำเลียงและตัดสะพานของกิเลสตัณหาต่อไป ถ้าหากว่าเราไม่รู้เท่าอารมณ์ภายในใจแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเราจะตัดต้นทางได้ด้วยวิธีใด หรือเหมือนกันกับเราต้องการคมมีด เราก็ต้องลับมีด ถ้าไม่ต้องการความร้อน เราก็ต้องดับไฟ ใจมีความทุกข์ เราก็หาวิธีที่จะดับทุกข์ เพื่อไม่ให้ทุกข์เกิด ถ้าใจมีความทุกข์ อารมณ์ของความทุกข์ก็แสดงออกมาจากใจ

ใจอยู่ที่ไหน อารมณ์ของใจก็อยู่ที่นั่น อารมณ์ของใจอยู่ที่ไหน ใจก็อยู่ในที่เดียวกัน ถ้าเราอยากรู้ใจ เราก็ต้องจับอารมณ์ของใจไว้ให้ดี เหมือนกันกับไฟกับความร้อนของไฟ ใจกับอารมณ์ก็อยู่ด้วยกันฉันนั้น การกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจนี้ ไม่ใช่จะกำหนดอยู่นาน เพียงกำหนดรู้อารมณ์ของใจว่า เกิดจากเหตุอันนี้ๆ แล้วก็หยุดมาพิจารณาด้วยปัญญาต่อไป เหมือนเราตรวจเห็นข้าศึก แล้วก็ออกมาตั้งศูนย์ยิงเข้าใส่ให้ถูกข้าศึกทันที เหมือนยิงเนื้อ ก็ไม่ต้องเล็งปืนไว้นาน เมื่อรู้ว่าไฟกำลังก่อตัวเราก็ต้องหาวิธีดับ ฉะนั้น การกำหนดรู้อารมณ์ก็เพื่อจะใช้ปัญญาพิจารณาเพื่อจะตัดสายทางมาของกิเลสตัณหา คือความไม่อิ่มพอในกามทั้งหลายให้หมดไป แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตัดสะพานและทำลายกงกรรมของวัฏจักรให้พินาศย่อยยับ และขาดจากการสืบต่อกันโดยสิ้นเชิง

นี้ก็เพราะมาเห็นจุดเป้าหมายค่ายทัพของกิเลสตัณหา ว่าเกิดจากเหตุอันนี้แล้ว จึงใช้สติปัญญาศรัทธาความเพียรเข้าไประเบิดค่ายให้มันดับไป ทั้งเชื้อชาติโคตรตระกูลสูญพันธุ์โดยไม่มีชิ้นเหลือ เหมือนกันกับเขาทำสงคราม เขาก็ต้องมองหาจุดที่สำคัญ เขาชกมวยก็ต้องมองเป้าที่จะน็อค และหวังชนะด้วยความมั่นใจ ถึงจะแพ้ไปในบางครั้ง ก็ตามแก้มือจนกว่าจะชนะเต็มที่ นี่แหละนักปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติไม่จริง จะถูกกิเลสตัณหาน็อคจนไม่มีประตูจะสู้ ไม่ยอมฟิตซ้อมสติปัญญา ปล่อยให้กิเลสตัณหาเหยียบย่ำเอาจนตัวแบน ฉะนั้น เราเป็นนักปฏิบัติผู้มีศักดิ์ศรี มีความตั้งใจมั่นหมายที่จะทำลายข้าศึกคือกิเลส เราก็ตั้งเข็มทิศหมุนไปให้ตรงในจุดภายในคืออารมณ์ของใจ เพื่อจะได้วางแผนกำจัดชะล้างมลทินของใจให้หมดไป


:b41: :b41: :b41:


คัดลอกเนื้อหาจาก http://www.dharma-gateway.com

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron