วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 07:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2009, 19:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การเจริญสมาธิตามหลักอิทธิบาท



อิทธิบาท แปลว่า ธรรมเครื่องให้ถึงอิทธิ (อิทธิ ความสำเร็จ, ฤทธิ์) หรือ

ธรรมที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ หรือ แปลง่ายๆว่า ทางแห่งความสำเร็จ มี ๔ อย่าง คือ

-ฉันทะ ความพอใจ

-วิริยะ ความเพียร

-จิตตะ ความคิดจดจ่อ

-วิมังสา ความสอบสวนไตร่ตรอง

แปลให้จำง่ายตามลำดับว่า

-มีใจรัก

- พากเพียรทำ

- เอาจิตฝักใฝ่

-ใช้ปัญญาสอบสวน


อิทธิบาทนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสพัวพันไว้กับเรื่องสมาธิ เพราะอิทธิบาทเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดสมาธิ

และนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นจุดหมายของสมาธิ

สมาธิเกิดจากอิทธิบาทข้อใด ก็มีชื่อเรียกตามอิทธิบาทข้อนั้น

โดยนัยนี้จึงมีสมาธิ ๔ ข้อ -

(สํ.ม.19/1150/343)

คือ

๑. ฉันทะสมาธิ - สมาธิที่เกิดจากฉันทะ หรือ สมาธิที่มีฉันทะเป็นใหญ่

๒. วิริยะสมาธิ -สมาธิที่เกิดจากวิริยะ หรือ สมาธิที่มีวิริยะเป็นใหญ่

๓. จิตตะสมาธิ - สมาธิที่เกิดจากจิตตะ หรือ สมาธิที่มีจิตตะเป็นใหญ่

๔. วิมังสาสมาธิ - สมาธิที่เกิดจากวิมังสา หรือ สมาธิที่มีวิมังสาเป็นใหญ่


อนึ่งสมาธิเหล่านี้ จะเกิดมีควบคู่ไปด้วยกันกับความเพียรพยายาม ที่เรียกว่า ปธานสังขาร

ปธานสังขาร แปลว่า สังขารที่เป็นตัวความเพียร หรือ ความเพียรที่เป็นเครื่องปรุงแต่ง

แปลง่ายๆ ว่า ความเพียรที่เป็นแรงสร้างสรรค์ หรือ ความเพียรสร้างสรรค์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 31 มี.ค. 2011, 17:45, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 19:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สมาธิเกิดจาก ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือ

จากความมีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน ได้อย่างไร

มีแนวความเข้าใจ ดังนี้


๑ . ฉันทะ ความพอใจ ได้แก่ ความมีใจรักในสิ่งที่ทำ และพอใจใฝ่รักในจุดหมายของสิ่งที่ทำนั้น

อยากทำสิ่งนั้นๆให้สำเร็จ อยากให้งานนั้นหรือสิ่งนั้นบรรลุถึงจุดหมาย

พูดง่ายๆว่า รักงานและรักจุดหมายของงาน


พูดให้ลึกลงไปในทางธรรมว่า ความรักความใฝ่ใจ ปรารถนาต่อภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์

ซึ่งเป็นจุดหมายของสิ่งที่กระทำ หรือ ซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วยการกระทำนั้น

อยากให้สิ่งนั้นๆ เข้าถึง หรือ ดำรงอยู่ในภาวะที่ดี ที่งดงามที่ประณีต ที่สมบูรณ์ที่สุดของมัน หรือ

อยากให้ภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ ของงานนั้น เกิดมีเป็นจริงขึ้น

อยากทำให้สำเร็จผลตามจุดหมายที่ดีงามนั้น


ความอยากที่เป็น ฉันทะ นี้เป็นคนละอย่างกันกับความอยากได้สิ่งนั้นๆ มาเสพเสวย

หรือ อยากเอามาเพื่อตัวตนในรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ตัณหา

ความอยากที่เป็นฉันทะนั้น ให้เกิดความสุข ความชื่นชมเมื่อเห็นสิ่งนั้นๆ งานนั้นๆ บรรลุความสำเร็จ

เข้าถึงความสมบูรณ์ อยู่ในภาวะอันดีงามของมัน หรือ

พูดแยกออกไปว่า ขณะเมื่อสิ่งนั้นหรืองานนั้นกำลังเดินหน้าไปสู่จุดหมาย ก็เกิดปีติ เป็นความเอิบอิ่มใจ

ครั้นสิ่งหรืองานที่ทำบรรลุจุดหมาย ก็ได้รับความโสมนัส เป็นความฉ่ำชื่นใจ ที่พร้อมด้วยความรู้สึก

โปร่งโล่ง ผ่องใส เบิกบาน แผ่ออกไปเป็นอิสระไร้ขอบเขต


ส่วนความอยากที่เป็นตัณหา ให้เกิดความสุข ความชื่นชมเมื่อได้สิ่งนั้นมาให้ตนเสพเสวยรสอร่อย

หรือ ปรนเปรอความยิ่งใหญ่พองขยายของตัวตน

เป็นความฉ่ำชื่นใจที่เศร้าหมอง หมกหมักตัว กีดกั้นกักตนไว้ในความคับแคบ และ

มักติดตามมาด้วยความหวงแหนห่วงกังวล เศร้าเสียดาย และหวั่นกลัวหวาดระแวง



:b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41:
:b41: :b41: :b41:



ผู้ศึกษาธรรม และผู้ปฏิบัติธรรม พึงทำความเข้าใจความอยากที่เป็น "ฉันทะ" กับความ

อยากที่เรียกว่า "ตัณหา" ให้ดี

ไม่ยังงั้นจะเข้าทางของตัณหาที่ไม่ให้กระทำ คือว่า ตัณหามี 2 หน้า

หน้าที่หนึ่งจะกระทำต่อเมื่อตนได้เสพเสวยเวทนาอันอร่อย (สุขเวทนา)

อีกหน้าหนึ่ง จะหยุดคือไม่กระทำ เพราะเมื่อกระทำแล้วจะทำให้ตนพรากจากสุขเวทนาที่กำลังเสวยอยู่

หรือกระทำแล้วจะประสบทุกขเวทนา ประสบความยากลำบากจึงหยุดเสียไม่กระทำ ไม่เคลื่อนไหว

ประเด็นนี้นักศึกษาธรรมและนักปฏิบัติธรรม พึงทำความเข้าใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 20 ต.ค. 2009, 07:37, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 19:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว



ความหมาย หรือ การกระทำระหว่างฉันทะ กับ ตัณหา มีผู้เข้าใจผิดพูดผิดกันบ่อยๆ

ดังนั้น พึงดูตัวอย่างการทำที่เป็น ฉันทะ จากตัวอย่างต่อไปนี้ดีๆ

แล้วอาจเข้าใจ การทำที่เป็นตัณหา ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม ดังนี้




เมื่อเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่ง อยู่ตามลำพัง เด็กนั้นอาจกำลังเขียนภาพอย่างประณีตบรรจงด้วยใจรัก

ตั้งใจให้ภาพนั้นดีงามสมบูรณ์ที่สุด หรืออาจกำลังเอาของเล่นที่เป็นชิ้นส่วนมาประกอบกันเข้า

เป็นรูปร่างต่างๆ อย่างระมัดระวังให้เรียบร้อยดีที่สุดของรูปร่างที่หมายใจไว้นั้น

เด็กนี้ มีความสุขเมื่องานเขียนหรืองานต่อชิ้นส่วนนั้นดำเนินไปด้วยดี มีความสำเร็จทีละน้อยๆ

ไปเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อการงานเขียนหรืองานต่อชิ้นส่วนนั้นเสร็จบรรลุเป้าหมาย

เขาจะดีใจมีความสุขมากอาจถึงโลดเต้น


เด็กนี้ ทำงานนั้นด้วยจิตใจแน่วแน่ ตั้งมั่น พุ่งตรงต่อจุดหมาย เขามีความสุขด้วยงาน และ

ความสำเร็จของงานนั้นเอง เป็นความสุขที่มิใช่เกิดจากการเสพเสวยรสสิ่งใด ไม่จำเป็นต้องอาศัยอามิส

ตอบแทน และ ไม่จำเป็นต้องมีใครอื่นมาคอยดูคอยชมพะนอตัวตนของเขา คือไม่ต้องอาศัยรางวัล

ทั้งที่เป็นกามและที่เป็นภพ แต่เมื่อทำสำเร็จแล้ว เขาอาจอยากเรียกให้ใครๆมาดู หรือเอาภาพนั้น

ไปอวด (เผื่อแผ่) ให้คนอื่นได้ชื่นชมกับความดีงามความประณีตสมบูรณ์ของภาพหรือรูปที่เขาต่อขึ้น

นั้นบ้าง

ในกรณี เช่นนี้ ถ้าผู้ใหญ่ที่ดูหรือรับการอวดนั้นจะแสดงความชื่นชมต่อความดีงามสมบูรณ์ของภาพ

หรือสิ่งนั้นด้วย หรือแสดงความเอาใจใส่ต่อคุณค่าของสิ่งนั้นตามสมควร หรือ เสริมบ้างว่า

น่าทำอย่างนี้อีก และหนุนให้ทำดียิ่งขึ้นไป ก็น่าจะเป็นการถูกต้องเพียงพอ

แต่การที่จะชมหรือเอาใจใส่เกินเลยไปจนกลายเป็นการหันจากความดีงามความสำเร็จของงาน

ไปเป็นการพะนอ (ความยึดมั่นใน) ตัวตนของเด็กในรูปใดรูปหนึ่ง น่าจะไม่เป็นการถูกต้อง

เพราะจะกลายเป็นการแปรฉันทะของเด็กให้กลาย เป็น ตัณหา

เปลี่ยนจากกุศลธรรม เป็นอกุศลธรรมไป อาจเป็นการสร้างนิสัยเสียให้แก่เด็ก

คือ เมื่อเกิดฉันทะขึ้นเมื่อใด ก็จะเกิดตัณหาตามมาด้วย ทำให้ฉันทะของเด็กนั้นเป็นปัจจัย

ของตัณหาสืบต่อไป

การฝึกอบรมเด็กในลักษณะเช่นนี้ คงจะมีอยู่ไม่น้อย ถ้าสังคมเป็นเช่นนี้ คนที่จะมีความสุขได้

ด้วยฉันทะจะมีน้อยลง และคนที่จะมีความสุขได้ต่อเมื่อมีการสนองตัณหา จะมีจำนวนมากขึ้น

และสังคมก็จะเดือดร้อนมากขึ้น

การที่เด็กอยากชวนคนอื่นมาชื่นชมสิ่งที่พบเห็นหรืออยากอวดแสดงนั้น ไม่จำกัดเฉพาะสิ่งที่เป็น

ความสำเร็จของเด็กเองเท่านั้น แต่จะมีต่อสิ่งทั้งหลายโดยทั่วไป ทั้งที่เป็นของมนุษย์ปรุงแต่ง

และที่เป็นธรรมชาติ แม้แต่เม็ดหินกรวดทราย ใบหญ้า และแมลงเล็กๆ ที่เขามองเห็นความดีงาม

สมบูรณ์แฝงอยู่ ความรู้สึกเช่นนี้จะเห็นได้ไม่ยากแม้ในผู้ใหญ่ทั่วไป เมื่อมองเห็นธรรมชาติอันงดงาม

ผลงานที่ประณีตน่าชื่นชม แสดงออกของคนซึ่งทำได้อย่างยอดเยี่ยมสมบูรณ์เป็นต้น

คนมักจะอยากชวนคนอื่นให้มาดูมาชมมาสร้างความรู้สึกที่เป็นกุศลอย่างที่ตนได้รับด้วย

ในการที่เขาชวนใครๆนั้น เขามิได้ต้องการจะเสพเสวยอะไร หรือจะเอาอะไรเพื่อตนเลย

คนที่ได้มองเห็นคุณค่าความจริงแท้ของธรรม ก็จะมีความรู้สึกทำนองเดียวกันนี้

อันทำให้ธรรมมีคุณสมบัติเป็น เอหิปัสสิโก คือชวนให้เชิญกันมาดู

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 19:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าสามารถปลุกเร้าฉันทะให้เกิดขึ้นอย่างแรงกล้า เกิดความรัก ในคุณค่าความดีงาม

ความสมบูรณ์ของสิ่งนั้น หรือ จุดหมายนั้นอย่างเต็มที่แล้ว

คนก็จะทุ่มเทชีวิตจิตใจ อุทิศให้แก่สิ่งนั้น

เมื่อรักแท้ก็มอบใจให้ อาจถึงขนาดยอมสละชีวิตเพื่อสิ่งนั้นได้ เจ้า ขุนนาง เศรษฐี

พราหมณ์ คนหนุ่มสาวมากมายในพุทธกาล ยอมสละวัง ทรัพย์สมบัติ และโลกามิสมากมาย

ออกบวชได้ ก็เพราะเกิดฉันทะในธรรม

เมื่อได้สดับซาบซึ้งคำสอนของพระพุทธเจ้า

แม้คนทั้งหลาย ที่ทำงานด้วยใจรักก็เช่นเดียวกัน

เมื่อมีฉันทะ นำแล้วต้องการทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ให้สำเร็จผลอย่างดีที่สุดของสิ่งนั้น ของงานนั้น

ไม่ห่วงพะวงกับสิ่งล่อเร้าหรือผลตอบแทนทั้งหลาย

จิตใจก็มุ่งแน่วแน่มั่นคงในการดำเนินสู่จุดหมาย เดินเรียบสม่ำเสมอ ไม่ซ่านไม่ส่าย

ฉันทสมาธิ จึงเกิดขึ้นโดยนัยนี้ และพร้อมนั้นปธานสังขาร คือ ความเพียรสร้างสรรค์

ก็ย่อมเกิดควบคู่มาด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 19:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


2. วิริยะ ความเพียร ได้แก่ ความอาจหาญ แกล้วกล้า บากบั่น ก้าวไป ใจสู้ ไม่ย่อท้อ

ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรค และ ความยากลำบาก เมื่อคนรู้ว่า สิ่งใดมีคุณค่าควรแก่การบรรลุถึง

ถ้าวิริยะเกิดขึ้นแก่เขาแล้ว แม้ได้ยินว่า จุดหมายนั้นจะลุถึงได้ยากนัก มีอุปสรรคมาก หรืออาจใช้เวลา

ยาวนานเท่านั้นปี เท่านี้เดือน

เขาก็ไม่ท้อถอย กลับเห็นเป็นสิ่งท้าทายที่เขาจะเอาชนะให้ได้ ทำให้สำเร็จ เช่น

นักบวชนอกศาสนาหลายท่านในสมัยพุทธกาล เมื่อสดับพุทธธรรมแล้วเลื่อมใส ขอบรรพชาอุปสมบท

ครั้นได้รับทราบว่า ผู้เคยเป็นนักบวชนอกศาสนา จะต้องประพฤติวัตรทดสอบตนเองก่อน

เรียกว่าปริวาส (ติตถิยปริวาส) เป็นเวลา 4 เดือน

ใจก็ไม่ท้อถอย

กลับกล้าเสนอตัวประพฤติทดสอบเพิ่มเป็นเวลา ถึง 4 ปี (ดูเรื่องอเจลกัสสปะ)


ส่วนผู้ขาดความเพียร อยากบรรลุความสำเร็จเหมือนกัน

แต่พอได้ยินว่า ต้องใช้เวลานานเป็นปีก็หมดแรง ถอยหลัง

ถ้าอยู่ระหว่างปฏิบัติก็ฟุ้งซ่าน จิตใจวุ่นวาย ปฏิบัติได้ผลยาก

คนที่มีความเพียร เท่ากับมีแรงหนุน เวลาทำงาน หรือ ปฏิบัติธรรมก็ตาม จิตใจจะแน่วแน่

มั่นคง พุ่งตรงต่อจุดหมาย

สมาธิก็เกิดขึ้นได้ เรียกว่า วิริยสมาธิ

พร้อมทั้งปธานสังขาร คือ ความเพียรสร้างสรรค์เข้าประกอบคู่ไปด้วยกัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 19:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


3.จิตตะ ความคิดจดจ่อ หรือ เอาใจฝักใฝ่ ได้แก่ ความมีใจผูกพัน จดจ่อ เฝ้าคิดเรื่องนั้น

ใจอยู่กับงานนั้น ไม่ปล่อย ไม่ห่างไปไหน

ถ้าจิตตะ เป็นไปอย่างแรงกล้า ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือ งานอย่างใดอย่างหนึ่ง

คนผู้นั้น จะไม่สนใจไม่รับรู้เรื่องอื่นๆ

ใครพูดอะไรเรื่องอื่นๆ ไม่สนใจ

แต่ถ้าพูดเรื่องนั้นงานนั้น จะสนใจเป็นพิเศษทันที

บางทีจัดทำเรื่องนั้น งานนั้น ขลุกง่วนอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่เอาใจใส่ร่างกาย การแต่งเนื้อแต่งตัว

อะไรเกิดขึ้นก็ไม่สนใจ เรื่องอื่นเกิดขึ้นใกล้ๆ บางทีก็ไม่รู้ ทำจนลืมวันลืมคืน ลืมกินลืมนอน

ความมีใจจดจ่อฝักใฝ่เช่นนี้ ย่อมนำในสมาธิเกิดขึ้น จิตจะแน่วแน่ แนบสนิทในกิจที่ทำ

มีกำลังมากเฉพาะสำหรับกิจนั้น เรียกว่าเป็นจิตตสมาธิ

พร้อมนั้นก็เกิดปธานสังขาร คือ ความเพียรสร้างสรรค์ร่วมสนับสนุนไปด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 19:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


4 . วิมังสา ความสอบสวนไตร่ตรอง ได้แก่ การใช้ปัญญาพิจารณาหมั่นใคร่ครวญตรวจตรา

หาเหตุผล และตรวจสอบ ข้อที่ยิ่งหย่อน เกินเลยบกพร่อง หรือ ขัดข้องเป็นต้นในกิจที่ทำ

รู้จักทดลอง และค้นหาทางแก้ไขปรับปรุง

ข้อนี้ เป็นการใช้ปัญญาชักนำสมาธิ ซึ่งจะเห็นได้ไม่ยาก

คนที่มีวิมังสาชอบคิดค้นหาเหตุผล ชอบสอบสวนทดลอง เมื่อทำอะไร ก็คิดพิจารณาทดสอบไป

เช่นคิดว่า ผลนี้เกิดจากเหตุอะไร

ทำไมจึงเป็นอย่างนี้

ผลคราวนี้ เกิดจากปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบเหล่านี้เท่านี้

ถ้าชักองค์ประกอบนี้ออกเสีย จะเป็นอย่างนี้

ถ้าเพิ่มองค์ประกอบนี้เข้าไปแทน จะเกิดผลอย่างนี้

ลองเปลี่ยนองค์ประกอบนั้นแล้ว ไม่เกิดผลอย่างที่คาดหมาย เป็นเพราะอะไร จะแก้ไขที่จุดไหน ฯลฯ

หรือในการปฏิบัติธรรม ก็ชอบพิจารณาใคร่ครวญสอบสวนเช่นว่า ธรรมข้อนี้ๆ มีความหมายอย่างไร

มีความมุ่งหมายอย่างไร ควรใช้ในโอกาสอย่างใด ควบคู่สัมพันธ์กับข้อธรรมอื่นข้อใด

ปฏิบัติธรรมคราวนี้ ไม่ค่อยก้าวหน้า

อินทรีย์ใดอ่อนไป

อินทรีย์ใดเกินไป

คนสมัยปัจจุบันอยู่ในสภาพอย่างนี้ ขาดแคลนธรรมข้อใดมาก จะนำธรรมข้อนี้เข้าไป ควรใช้วิธีอย่างใด

ควรเน้นความหมายด้านไหน เป็นต้น

การคิดหาเหตุผล และ สอบสวนทดลองอย่างนี้ ย่อมช่วยรวมจิตให้คอยกำหนด และติดตามเรื่อง

ที่พิจารณาอย่างติดแจตลอดเวลา เป็นเหตุให้จิตแน่วแน่ แล่นดิ่งไปกับเรื่อง ที่พิจารณา

ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก และมีกำลัง

เรียกว่าวิมังสาสมาธิ ซึ่งก็จะมีปธานสังขาร คือ ความเพียรสร้างสรรค์ เกิดมาด้วย

เช่นเดียวกับสมาธิข้ออื่นๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 19:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความจริงอิทธิบาท 4 อย่างนี้ เกื้อหนุนกัน และมักมาด้วยกัน เช่น

เกิดฉันทะ มีใจรัก แล้วก็ทำให้พวกเพียร

เมื่อพากเพียร ก็เอาใจจดจ่อ ใฝ่ใจอยู่เสมอ และเปิดช่องให้ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง


แต่ที่แยกพิจารณา แต่ละข้ออย่างนี้ ก็ด้วยถือเอาภาวะที่เด่นเป็นใหญ่ เป็นตัวนำ

เป็นตัวชักจูงข้ออื่นๆ ในแต่ละกรณี เช่น

เมื่อฟังธรรมด้วยกัน

คนหนึ่ง

ชอบศึกษาธรรม ฟังด้วยความรักความพอใจในธรรม อยากรู้อยากเข้าใจธรรม ให้ยิ่งๆขึ้นไป-

(หรือแม้เพียงแต่ชอบใจธรรม ที่แสดงในคราวนั้น หรือ ชอบผู้แสดงคราวนั้น)

จึงฟังด้วยจิตแน่วแน่ ก็มีฉันทะเป็นตัวเด่น ชักนำสมาธิและกุศลธรรมอื่นๆ


อีกคนหนึ่ง

มีนิสัย หรือความรู้สึกเกิดขึ้นในขณะนั้นว่า เมื่อพบอะไรที่พึงทำ ก็ต้องสู้ต้องเอาชนะ

ต้องเข้าเผชิญและทำให้สำเร็จ จึงฟังด้วยความรู้สึกว่า เป็นสิ่งท้าทาย

จะต้องพยายามเข้าใจให้ได้ ก็มีวิริยะเป็นธรรมเด่น


อีกคนหนึ่ง

มีนิสัยเอาใจใส่รับผิดชอบ ไม่ว่าอะไรที่ตนเกี่ยวข้อง ก็จะต้องใส่ใจเอาจิตจดจ่อติดตาม

จึงตั้งใจฟัง เอาจิตติดตามเนื้อความไป ก็มีจิตตะเป็นใหญ่


อีกคนหนึ่ง

คิดจะตรวจสอบว่า ธรรมที่แสดงนั้น จริงหรือไม่ ดีหรือไม่ หรือจะค้นหาเหตุผลในธรรมที่ฟัง

ฟังไป ก็คิดใคร่ครวญพิจารณาสอบสวนไป ใจจึงแน่วแน่อยู่กับธรรมที่ฟัง ก็มีวิมังสาเป็นใหญ่


ด้วยเหตุนี้ บางแห่ง ท่านจึงเรียกอิทธิบาท 4 นี้ว่า เป็นอธิบดี หรือ อธิปไตย 4 โดยกำหนดเอาภาวะ

ที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า ในกรณีนั้นๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 19:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สาระของการสร้างสมาธิ ตามหลักอิทธิบาท ก็ คือ เอางาน สิ่งที่ทำ หรือ จุดหมายที่ต้องการ

เป็นอารมณ์ของจิต

แล้วปลุกเร้าระดม ฉันทะ วิริยะ จิตตะ หรือ วิมังสา เข้าหนุน สมาธิก็เกิดขึ้นและมีกำลังแข็งกล้า

ช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุข และบรรลุผลสำเร็จด้วยดี


โดยนัยนี้ ในการปฏิบัติธรรมก็ดี

ในการเล่าเรียนศึกษา หรือ ประกอบกิจการงานอื่นใดก็ดี

เมื่อต้องการสมาธิ เพื่อให้กิจที่ทำนั้น ดำเนินไปอย่างได้ผลดี

ก็พึงปลุกเร้าและชักจูงอิทธิบาท 4 อย่างนี้ ให้เกิดเป็นองค์ธรรมเด่นนำขึ้นสักข้อหนึ่ง

แล้วสมาธิความสุขสบายใจและการทำงานที่ได้ผล ก็เป็นอันหวังได้เป็นอย่างมากว่า

จะเกิดมีตามมาเอง

พร้อมกันนั้น การฝึกสมาธิ หรือ การปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่งก็จะเกิดมีขึ้นในห้องเรียน ในบ้าน ในทุ่งนา

ในที่ทำงาน และ ในสถานที่ทุกๆ แห่ง

(อ่านเอาความรู้ถึงตรงนี้ก็พอ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 20 ก.ค. 2011, 14:50, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 20:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จะนำข้อความจากบาลี มาเป็นเครื่องทบทวนความเข้าใจ

เริ่มตั้งแต่ความหมายของคำว่า อิทธิไปทีเดียว


อิทธิ แปลว่า ความสำเร็จ

“คำว่า อิทธิ หมายความว่า ความสำเร็จ ความสัมฤทธิ์ การสำเร็จ การสำเร็จด้วยดี

การได้ การได้จำเพาะ การถึง สมบัติ การถูกต้อง การประจักษ์แจ้ง

การบำเพ็ญให้ถึงพร้อม ซึ่งธรรมเหล่านั้น”

(อภิ. วิ. 35/508/293)



อิทธิ แปลว่า ฤทธิ์ อย่างที่เรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์

“ภิกษุทั้งหลาย อิทธิ เป็นไฉน ? (กล่าวคือ) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมประกอบฤทธิ์ต่างๆ

ได้มากมายหลายอย่าง คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้

ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่าง

ก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนดินก็ได้

เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ใช้มือจับต้องลูกคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีกำลังฤทธิ์

เดชมากมายถึงเพียงนี้ก็ได้ ใช้อำนาจทางกายถึงพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่า อิทธิ” *

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 20:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขยายความ คห.บนที่มีเครื่อง *



* คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวถึงอิทธิหรือฤทธิ์ไว้ ๑๐ ประเภท ฤทธิ์อย่างที่แสดง

ในพุทธพจน์นี้ เป็นประเภทที่ ๑

ฤทธิ์ ประเภทที่ ๑๐ ได้แก่ ความสำเร็จเพราะประกอบถูกต้องในเรื่องนั้นๆ

และข้อสุดท้ายในประเภทที่ ๑๐ ได้แก่ ฤทธิ์ คือ การละกิเลสได้หมดสิ้นด้วยอรหัตมรรค

(ขุ.ปฏิ.31/679-694/589-601)

วิสุทธิมรรค นำมาอธิบายพิเศษในด้านอิทธิปาฏิหาริย์ (วิสุทธิ.2/212-244) แต่ก็ได้อ้าง

ความหมายแง่อื่นๆไว้ด้วย เช่น ความสำเร็จที่เกิดจากศิลปะในยุทธวิธี หรือ แม้แต่การ

ไถหว่าน ก็เป็นฤทธิ์ในประเภทที่ ๑๐ (วิสุทธิ. 2/211)

ดังนั้น อิทธิบาท จึงใช้เพื่อความสำเร็จได้ ในกิจทุกอย่าง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 20:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุกับคุณกรัชกายด้วยครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 20:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




A5657007.jpg
A5657007.jpg [ 45.63 KiB | เปิดดู 5656 ครั้ง ]
"ภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาทเป็นไฉน ?

มรรคาใด ปฏิปทาใด ย่อมเป็นไปเพื่อการได้อิทธิ เพื่อประสบอิทธิ มรรคา ปฏิปทานี้ เรียกว่า อิทธิบาท"


"การเจริญอิทธิบาท เป็นไฉน ?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท ที่ประกอบด้วยฉันทะสมาธิ และ ปธานสังขาร

ย่อมเจริญอิทธิบาท ที่ประกอบด้วยวิริยะสมาธิ และ ปธานสังขาร

ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตะสมาธิ และ ปธานสังขาร

ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิ และ ปธานสังขาร นี้เรียกว่า อิทธิบาทภาวนา”

(สํ.ม. 19/1175-6/355)

"ภิกษุทั้งหลาย หากว่า ภิกษุอาศัยฉันทะ จึงได้สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิต มีอารมณ์หนึ่งเดียว นี้เรียกว่า

ฉันทสมาธิ ภิกษุนั้น ยังฉันทะให้เกิดขึ้น พยายามระดมความเพียร ประคับประคองตั้งจิตไว้

เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันชั่วร้าย ที่ยังไม่เกิดขึ้น...

เพื่อละอกุศลธรรมอันชั่วร้าย ที่เกิดขึ้นแล้ว...

เพื่อความเกิดขึ้น แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังไม่เกิดขึ้น...

เพื่อความตั้งอยู่ได้ ไม่เลือนหาย เพื่อภิยโยภาพ เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ

เพื่อบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้ เรียกว่าปธานสังขาร

ฉันทะนี้ด้วย

ฉันทะสมาธิด้วย

ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย

นี้เรียกว่า อิทธิบาท ที่ประกอบด้วยฉันทะสมาธิ (สมาธิที่เกิดจากฉันทะ)

และปธานสังขาร (ความเพียรสร้างสรรค์ )

(มีต่อ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 05 ก.ค. 2010, 19:57, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2010, 19:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(ตั้งแต่วิริยะไปตัดถ้อยคำที่ซ้ำกันออก)


“หากว่า ภิกษุอาศัยวิริยะ จึงได้สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว

นี้เรียกว่า วิริยะสมาธิ...

วิริยะนี้ด้วย

วิริยะสมาธินี้ด้วย

ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย

นี้เรียกว่าอิทธิบาท ที่ประกอบด้วยวิริยะสมาธิ และ ปธานสังขาร


"หากว่า ภิกษุอาศัยจิตต์ จึงได้สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว นี้เรียกว่า จิตตะสมาธิ...

จิตตะนี้ด้วย

จิตตสมาธินี้ด้วย

ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย

นี้ เรียกว่าอิทธิบาท ที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิ และ ปธานสังขาร"


"หากว่า ภิกษุอาศัยวิมังสา จึงได้สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว นี้เรียกว่า วิมังสาสมาธิ...

วิมังสานี้ด้วย

วิมังสาสมาธินี้ด้วย

ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย

นี้ เรียกว่าอิทธิบาท ที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิ และ ปธานสังขาร"

(สํ.ม.19/1150-3/343-6 )


“ปฏิปทา ที่ให้ถึงอิทธิบาทภาวนา เป็นไฉน ? มรรคามีองค์ 8 ประการ อันเป็นอริยะนี้แหละ กล่าว คือ

สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ปฏิปทา ให้ถึงอิทธิบาทภาวนา"

(สํ. ม. 19/1177/355)


“ภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาท 4 อย่างเหล่านี้ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อการไปจากที่มิใช่ฝั่ง

(มิใช่จุดหมาย) สู่ที่อันเป็นฝั่ง (คือ จุดหมาย)"

(สํ. ม. 19/1108/326)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 16 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร