วันเวลาปัจจุบัน 27 เม.ย. 2024, 01:41  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2011, 13:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

จตุรารักขกรรมฐาน
โดย...ท่านอาจารย์ พระมหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโต

บรรยาย ณ วัดภัททันตะอาสภาราม
ตําบลหนองไผ่แก้ว อําเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี



วันนี้เป็นกรณีพิเศษ มีธรรมบรรยายค่อนข้างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นเรื่องเป็นราว เพื่อสนองศรัทธา โยคีที่มาเข้าคอร์ส โดยปรกติแล้วการจัดคอร์สต่าง ๆ ก็จะมีการบรรยายธรรมะ ถ้ามีอาจารย์รูปเดียวก็เหมาเลย ทุกวัน ฟังจนเบื่อ แต่ถ้ามีหลายรูป ก็โชคดีหน่อย เดี๋ยวองค์นั้นมา เดี๋ยวองค์นี้มา คราวนี้โยมทั้งหลายที่เป็นตำรวจก็โชคดีหน่อย อาตมากับท่านเจ้าอาวาสก็ผลัดกัน หนึ่งก็เพื่อปลูกศรัทธา ประการที่สอง ก็เพื่อให้เกิดปัญญา ในที่นี้หมายถึงสุตตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการฟัง และจินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิด พิจารณาบทธรรมะที่เราได้ฟังแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์แก่เราในการคิด พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อีกประการหนึ่งซึ่งค่อนข้างสำคัญก็คือ การแนะนำวิธีการปฏิบัติ จะมีการแก้ไข การสอบอารมณ์ เมื่อมีการบรรยายธรรมะ ก็จะเก็บเอาสาระ ข้อบกพร่อง ที่ได้จากการสอบอารมณ์ มาอธิบาย ไขความข้องใจกับโยคี เป็นจุดสำคัญ เพราะว่าเวลาสอบอารมณ์ โยคีมีมากด้วยกัน ถ้าจะมาอธิบายว่า เพราะอย่างนั้นจึงเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ก็จะเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่มีเวลา เวลาน้อย ครูบาอาจารย์ส่วนมากก็จะอาศัยช่วงเวลาของการบรรยายธรรมะ ท่านอาจารย์ก็จัดให้มีช่วงเวลาของการบรรยายธรรมะ หลังจากที่มีการสวดมนต์เสร็จแล้ว ที่จะนำข้อบกพร่องของโยคี ขณะที่สอบอารมณ์ มาทำความเข้าใจ มาย้ำ มาเน้น ก็เรียกว่าเป็นประโยชน์สำหรับเรา ในวันนี้สำหรับผู้ที่เข้าปฏิบัติใหม่ ที่เข้าอบรมในครั้งนี้ ก็ถือว่าพวกเรา โยมทั้งหลายเป็นผู้ที่โชคดี โชคดีก็หมายถึงได้สร้างกุศลครบวงจร ปรกติอยู่ที่บ้าน อย่างเก่งก็แค่ให้ทาน ศีลนี่ ไม่ทำผิดก็จริง แต่ว่าไม่ได้ตั้งใจรักษา ก็ถือว่าไม่ได้บุญ เพราะจิตไม่สะอาด ยิ่งมานั่งภาวนา มานั่งพองหนอ พองหนอ พุทโธ พุทโธ คงไม่ต้องพูดถึง ก็จะทำได้แค่ให้ทานนาน ๆ ครั้ง ยิ่งโยมผู้ชายก็ยิ่งยาก งานให้ทานก็ให้แม่บ้านทำ เราก็หาเงินให้แม่บ้านเป็นคนทำบุญ แต่ว่ามาคราวนี้ เราถือว่าเราได้ทำบุญครบทั้งสามอย่าง หนึ่งคือการให้ทาน ก็คือได้ทำบุญค่าน้ำ ค่าไฟทั้งหลายก็แล้วแต่ ประการที่สอง ก็ได้รักษาศีล ต้องตั้งใจรักษาด้วย ไม่ตั้งใจไม่ได้ ความตั้งใจตรงนี้ก็นับว่าเป็นส่วนสำคัญ ต้องตั้งใจ ถึงจะเป็นบุญ ศีลเกิดขึ้นจากความตั้งใจ และภาวนามัย ได้เจริญภาวนาด้วย พองหนอ ยุบหนอก็ดี การแผ่เมตตาก็ดี ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานในพระพุทธศาสนา เรียกว่าทำบุญครบวงจร ทั้งให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เรียกว่า ทานก็ให้ ศีลก็รักษา ภาวนาก็เจริญ เมื่อทำครบทั้งสามอย่าง เวลาให้ผลก็จะให้ทั้งสามอย่าง เกิดมาในชาตินี้ก็ได้ ชาติหน้าก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไป เป็นคนที่มั่งมีศรีสุข ร่างกายสมบูรณ์ เป็นผู้หญิงก็สวย ผู้ชายก็หล่อ ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่มีเวรมีภัย มีสติปัญญาครบบริบูรณ์ ไม่ใช่ว่า รวย หน้าตาดี แต่ว่าไม่ฉลาด ก็ไม่ครบสมบูรณ์ แต่ถ้าเราทำบุญครบทั้งสามอย่าง คือให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เรียกว่าครบวงจร เมื่อผลของสิ่งเหล่านี้ส่ง เราก็ค่อนข้างที่จะดี ไม่ว่าจะทรัพย์สิน เงินทอง ฐานะ รูปร่างหน้าตา สติปัญญา ขอให้โยมที่เข้าคอร์สก็ดี ที่มาอบรมก็ดี ยังไม่ได้ฟังก็ขอให้ฟังไว้ ที่ฟังแล้วก็คงจะย้ำไปอีกว่า เป็นโชคอันดี เป็นลาภอันประเสริฐ ที่เราได้มาปฏิบัติตรงนี้ ได้สร้างกุศลถึงสามอย่าง ก็เป็นสิ่งที่ดี ให้ได้ภูมิใจในที่ตรงนี้ ประการต่อไปก็จะกล่าวในเรื่องจตุรารักขกรรมฐาน คำว่าจตุรารักขกรรมฐานนี้ เป็นกรรมฐานที่ครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพม่า ครูบาอาจารย์ที่พม่าเปิดอบรมเมื่อไหร่ ท่านจะต้องพูดถึงเรื่องจตุรารักขกรรมฐานก่อน ไปปฏิบัติธรรมครั้งแรก ก็ได้ยินเรื่องจตุรารักขกรรมฐาน พอมาเมืองไทย สยาดอท่านมาเปิดอบรม พอมาวันแรกท่านก็พูดถึงจตุรารักขกรรมฐาน คิดว่าพวกเราคงจะได้ยินกันบ้าง พอสมควรโดยเฉพาะพระคุณเจ้าซึ่งคลุกคลีอยู่กับกรรมฐานนี้ คงจะเคยได้ยิน เพราะว่าได้อ่านหนังสือ ในประเทศไทยก็มีกล่าวถึงจตุรารักขกรรมฐานอยู่ คำว่าจตุรารักขกรรมฐานนี้ เป็นเครื่องรักษา ป้องกันโยคี หรือว่าผู้ปฏิบัติธรรมสี่ประการ ก็คือ

หนึ่ง การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เรียกว่าพุทธานุสติ

สอง การพิจารณาร่างกายของเรา เรียกว่าอสุภกรรมฐาน คือเห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม

ประการที่สาม มรณานุสติ การนึกถึงความตาย

ประการที่สี่ การเจริญเมตตา ก็คือการแผ่เมตตา

ทั้งสี่ประการนี้ เป็นเครื่องคุ้มครอง ป้องกันโยคีผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าเราดูตามอานิสงส์แล้ว พุทธานุสติทำให้จิตใจของเรา หรือผู้ปฏิบัติธรรม ไม่สะดุ้ง ไม่กลัว เมื่อมีสภาวธรรมต่างๆ เกิดขึ้น นิมิตก็ดี อะไรก็ดี ก็จะไม่กลัว ใจที่หดหู่ ท้อถอย เมื่อเจริญพุทธานุสติก็แช่มชื่น มีปิติ เมื่อนึกถึงพระพุทธเจ้า

ข้อที่สอง อสุภกรรมฐานนี้จะแก้ตรงไหน จะแก้ ป้องกันจิตของเราไม่ให้ไหลไปสู่กามราคะ ความติดใจในรูป ในเสียง ที่เราถูกต้องสัมผัสมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โยมผู้ชาย หรือโยมผู้หญิงที่เป็นฆราวาส ถ้าไม่ได้เจริญตรงนี้ มาปฏิบัติธรรมก็ร้อนๆ เหมือนกัน แต่ถ้าเราเจริญตรงนี้ก็จะยับยั้งไม่ให้ไหลไปสู่ตรงนั้นได้

มรณานุสติก็เป็นเครื่องป้องกันสติของโยคี ไม่ให้มองไปข้างหน้าบ้าง คิดไปข้างหลังบ้าง มัวประมาทอยู่ ถ้าเจริญมรณานุสติก็จะทำให้เรานั้นตื่นตัว เร่งที่จะทำความเพียรมากขึ้น

เมตตาภาวนาก็เป็นสิ่งป้องกันจิตของเรา ไม่ให้ใครมาทำร้าย อยู่ตรงไหนปฏิบัติธรรมตรงไหนก็ปลอดภัย ทั้งจากคนและจากอสัตว์ ไม่ใช่คน ก็จะอยู่ปลอดภัย มีคนรักคนชอบ ไม่มีคนเกลียด เป็นเครื่องป้องกัน

ทั้งสี่ประการนี้ ในการปฏิบัติวันแรกครูบาอาจารย์ของท่านจะแนะนำให้ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติธรรม จะต้องเจริญจตุรารักขกรรมฐานตรงนี้ก่อน วิธีเจริญจตุรารักขกรรมฐานนั้นก็ไม่ยาก หลายท่านก็อาจจะเคยปฏิบัติมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระคุณเจ้า เรียกว่าทุกกรรมฐานปฏิบัติมาหมดแล้ว ญาติโยมที่ยังไม่เคยเข้ากรรมฐาน หรือเคยแต่วิปัสสนากรรมฐาน เคยแต่พองหนอ ยุบหนอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ก็ยังนึกไม่ออก ก็จะนำวิธีปฏิบัติอย่างย่อ ๆ มาเล่าให้ฟังว่าทำอย่างไร

การเจริญพุทธานุสตินั้น ท่านแนะนำว่าให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระพุทธเจ้าท่านก็ทราบอยู่ ว่าก็มีโดยย่อ อยู่สามประการ พระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ พระคุณทั้งสามอย่างนี้ ย่อลงแล้วก็อยู่ในบทสวดมนต์ที่เราสวดไปเมื่อสักครู่นี้เอง ก็คือ นะโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ อยู่ในหมวดนี้ หมวดแรกที่บอกว่าพระมหากรุณาคุณนั้น ก็ภควโต ภควโตที่ว่านี้แปลว่า เป็นผู้แจกธรรม ผู้สั่งสอน ถ้าพระองค์บรรลุธรรมแล้ว ไม่นำไปสั่งสอนต่อไป ชื่อตรงนี้ก็จะไม่ได้ คำว่าภควา แต่ว่าพระองค์นั้นเป็นผู้แจกธรรม ธรรมะที่พระพุทธองค์ได้แล้วก็นำมาแจกต่อ สั่งสอนต่อ จึงได้ชื่อตรงนี้ เมื่อได้ชื่อตรงนี้แล้ว ก็เรียกว่าพระมหากรุณาคุณ ประการที่สองก็อรหโต เรียกว่าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จากกิเลส เป็นผู้ที่เป็นพระอรหันต์ แสดงพระคุณข้อใด ข้อที่เรียกว่าพระบริสุทธิคุณ ข้อต่อไป สัมมา สัมพุทธัสสะนั้นก็หมายถึง พระปัญญาคุณของพระองค์ ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ไม่ได้ไปเรียนกับใคร ตอนที่พระองค์ยังเป็นกุมาร เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ไปเรียนกับดาบส แต่ไม่ใช่ธรรมะที่บรรลุตรงนี้ เรียกว่าเป็นเบื้องต้น เป็นเรื่องของฌาน แต่ธรรมะที่พระองค์บรรลุจริง ๆ ก็คืออริยสัจสี่ ไม่มีใครสอน ไม่มีใครบอก พระองค์ต้องไปนั่ง ขบคิด ภาวนา ถึงจะได้มาตรงนี้ เรียกว่าได้มาด้วยตัวเอง ไม่มีใครสั่งใครสอน จึงเป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เมื่อเรารู้ถึงคุณพระพุทธเจ้าทั้งสามประการแล้ว เราจะหยิบตัวไหนมาเจริญ มาบริกรรม มาเป็นพุทธานุสติก็ได้ จะว่าอรหโต อรหโต อรหโต บริกรรมไปเรื่อย ๆ ก็ได้ หรือว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ สัมมาสัมพุทธัสสะ สัมมาสัมพุทธัสสะ ก็ได้ ในขณะเดียวกันเราต้องรู้ความหมายด้วย ถ้าไม่รู้ความหมายก็จะเป็นการบริกรรมเฉย ๆ การเจริญตรงนี้ โดยปรกติก็จะใช้เวลาประมาณห้านาที แค่นั้นเอง จะไม่ทำนานมาก ถ้าเราทำบ่อย ๆ พอเรานึกถึงตรงนี้ จะเกิดปีติ ความซาบซ่าน ใจที่ห่อเหี่ยวก็จะกระตือรือร้นขึ้นมา ที่ไม่มีแรง ก็กลับมีแรง ที่กลัวก็ไม่กลัวแล้ว ฉะนั้นการเจริญพุทธานุสติ ก็ให้นึกถึงชื่อทั้งสามชื่อนี้ ชื่อใดชื่อหนึ่งก็ได้ หรือทั้งสามชื่อ ก็แล้วแต่ แต่ว่าให้นึกถึงตรงนี้ รู้ความหมายด้วย มันหมายถึงอะไร พระคุณของพระพุทธเจ้า โยมคนไหนมีศรัทธาจริต นึกถึงตอนไหน ก็จะเกิดน้ำตาจากความปีติ น้ำตาไหล โยมบางท่านร้องไห้ เวลาส่งอารมณ์ นึกถึงพระพุทธเจ้าทีไร มันอดไม่ได้ น้ำตาจะไหล นึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์มีพระคุณอย่างนั้น มีพระคุณอย่างนี้ คือการระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เรียกว่าการเจริญพุทธานุสติ การเจริญพุทธานุสตินี้ก็มีสองแบบ แบบที่หนึ่งกล่าวมาเมื่อสักครู่ แต่มีแบบที่พิสดารออกไปอีก ก็คือพระคุณทั้งเก้า ในบทอิติปิโสที่สวดไปนั่นแหละ ตรงนี้ต้องใช้ความพยายามหน่อย ศึกษานานพอ จากหนังสือสวดมนต์ที่เราทำวัตรก็มี พระพุทธเจ้าทำอะไรบ้าง ก็จับตัวใดตัวหนึ่งมาบริกรรม มาเจริญ เป็นการเจริญพุทธานุสติ ก็ใช้เวลาประมาณห้านาที ช่วงไหนที่เราเกิดอาการ กลัวก็ดี อะไรก็ดี เจริญตรงนี้ก็จะหายจากอาการเหล่านั้น อารมณ์ตรงนั้นได้

ประการที่สอง การเจริญอสุภกรรมฐาน อสุภกรรมฐานนี้ ครูบาอาจารย์สายวัดป่านี้ก็นิยมทำกันมาก เป็นการแก้อารมณ์ เรียกว่าแก้กามราคะ กามฉันทะที่เกิดขึ้นในใจของเรา วิธีการทำไม่ยาก ก็นึกถึงความสกปรกในร่างกายเรา แบบเก่าก็เรียกว่าอสุภกรรมฐานสิบ ที่อยู่ในหลักกรรมฐานสี่สิบ หรือว่าในเรื่องของซากศพเก้าประการ ที่อยู่ในป่าช้าเก้า อยู่ในสติปัฏฐานของเราเช่นกันว่าพิจารณาศพที่ตายวันนี้ ศพที่ตายในวันต่อ ๆ ไป ศพที่เน่า ศพที่ขึ้นอืดแล้ว ศพที่เป็นน้ำเหลือง ศพที่เป็นกระดูก เป็นต้น พิจารณาแล้วว่า คนตายเราไปแล้วก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่จะน่ารัก น่าชอบใจเลย เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว กิเลสที่อยู่ในใจเราก็ค่อยเหี่ยวลง แห้งลง นี่เป็นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็น้อมเข้ามาอยู่ในกายของเรานี้เอา ว่ากายของเรานี้ มีอะไรบ้างที่เป็นของสะอาด พิจารณาดูสิ ว่ากายของเรานี้มีสะอาดตรงไหน ครูบาอาจารย์บางท่านก็อธิบายตรงนี้ ว่ากายสะอาด ไม่สะอาดดูตรงไหน เสื้อผ้าของเราก็ดี จีวรก็ดี อังสะก็ดี เราซักสะอาด ยังไม่เปื้อนเลย พอมาใส่สักวัน สักครึ่งวัน กลิ่นเหงื่อกลิ่นไคล ถอดมาดูก็กลิ่นมันเหม็นเหลือเกิน เสื้อของโยมก็เหมือนกัน ในลักษณะนี้ก็พอจะอนุมานได้เช่นกัน ว่าร่างกายนี้มันไม่สะอาดเลยจริง ๆ ผ้าสะอาดดี แต่ว่าเมื่อมาถูกกายที่ไม่สะอาด ก็กลับเป็นของไม่สะอาดไป พระคุณเจ้าที่เคยสวดบทธาตุ ธาตุกรรมฐานตอนเช้าก็จะมีส่วนนี้ ส่วนที่ว่ากายมันไม่สะอาดอย่างไร อาหารดี ๆ อร่อย ๆ มองดูข้างนอก น่ากินเหลือเกิน พอเข้าไปในปากแล้ว คายออกมา ทำไมเป็นของไม่สะอาดไปได้ หรือว่าไม่คายออกมา ออกจากตัวของเราไปก็กลายเป็นของไม่สะอาด แสดงว่าตัวของเรานี้เป็นสิ่งที่ไม่สะอาดจริง ๆ เราก็น้อมใจพิจารณา พิจารณากลับไปกลับมา ก็คือการเจริญอสุภกรรมฐานแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งก็คือต้องดู พิจารณาว่าร่างกายของเรานี้ มีสิ่งอะไรที่ไม่ดีไหลออกมาบ้าง มีขี้อะไรออกจากตา ขี้ตาก็ไหลจากตา ขี้มูกก็ไหลออกจากจมูกทั้งสองข้าง ขี้ฟัน ขี้ปาก ขี้อะไรต่าง ๆ ก็จะไหลออกจากที่ตรงนั้น ปัสสาวะก็จะไหลออกจากช่องหนึ่ง อุจจาระก็จะไหลออกจากอีกช่องหนึ่ง ทั้งเก้าช่องนี้ ไม่มีช่องไหนหอม มีแต่ช่องที่เหม็นเท่านั้น เมื่อเราพิจารณากลับไปกลับมา กามราคะที่มีอยู่ เกิดขึ้นนั้น ก็ค่อย ๆ จืดจางไป เบาไป หายไป เพราะเมื่อตัวเราพิจารณาอยู่ เห็นอย่างนี้แล้ว ของคนอื่นก็คงไม่ต่างกันหรอก ใครที่บอกว่าสวย ใครที่บอกว่าหล่อ เมื่อเราพิจารณากลับไปกลับมาแล้วก็เห็นเป็นอย่างนี้หมด ตกที่ไม่สวยไม่งาม ตรงนี้จะทำให้เรานั้น แก้กิเลสตรงนั้นได้ กามราคะ บางทีปฏิบัติธรรมไป เกิดขึ้นมา ป้องกันไว้ก่อน ทำตรงนี้ก็จะหายไป กรรมฐานตรงนี้ บางทีก็ต้องมาแก้ในส่วนของวิปัสสนาเหมือนกัน กำหนดแล้วว่าราคะหนอ ราคะหนอ ก็ไม่ลง ก็ไม่ยอม ยังเป็นอยู่ ก็ต้องมาพิจารณาอสุภกรรมฐานแก้ พิจารณาดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการแก้อารมณ์ได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีวิธีต่าง ๆ อีกหลายวิธี ในเรื่องของอสุภกรรมฐาน ไม่ใช่ว่าจะมีแค่นี้ หากท่านให้พิจารณาว่า ร่างกายของเรานี้เป็นรังของโรคบ้าง ร่างกายของเรานี้เป็นส้วมที่ไม่ได้ล้างบ้าง ใครมีอายุสิบปี ก็มีส้วมที่ไม่ได้ล้างมาสิบปี ใครมีอายุยี่สิบปี ก็มีส้วมที่ไม่ได้ล้างมายี่สิบปี หรือว่าร่างกายของเรานี้เป็นเหมือนป่าช้า เป็นที่ทิ้งของซากศพ ซากปู ซากไก่ ซากหมู ลงปากของเรา ไปอยู่ในท้องตั้งไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ พอนึกได้อย่างนี้ก็เกิดความไม่งามขึ้นมาในที่ตรงนั้น ความรู้สึกชอบก็จะหายไป นี่ก็เป็นส่วนที่เราควรที่จะพิจารณา เพราะว่ากามราคะนี้มีด้วยกันทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นโยม แม้แต่พระก็ไม่เลือก เพราะว่ากิเลสก็ยังมีในใจอยู่ เมื่อเรามาเจริญอสุภกรรมฐานตรงนี้ เป็นเครื่องป้องกันจิตของเรา ไม่ให้กามราคะเกิดขึ้นได้

ประการต่อไป มรณานุสติ การพิจารณามรณานุสติ ก็คือการระลึกถึงความตาย เมื่อสักครู่เราก็ได้สวดมนต์ไปบทหนึ่ง ถ้าจำได้มีอยู่ว่า คนเราทุกคนจะตายด้วย ตายแล้วด้วย จักตายด้วย หมายถึงว่า ที่ตายไปแล้วก็มีไม่น้อย ที่กำลังจะตายนี้ก็มี ไม่กี่วันก็มีอีกจำนวนไม่น้อย เรามีความตายเป็นเบื้องต้นเหมือนกันหมด เรียกว่าใครเกิดมาแล้วก็ไม่รอดพ้นไปจากตรงนั้นได้ วิธีพิจารณานั้นบางทีก็ใช้คำบริกรรมว่า มรณัง มรณัง มรณัง บางทีก็เราจะต้องตายแน่ เราจะต้องตายแน่ เราจะต้องตายแน่ ระลึกไปจนกระทั่งจิตของเราเกิดความสังเวช แสดงว่าจิตของเราก็จะเริ่มคลายจากความยึดมั่นถือมั่น ความโกรธก็จะเบาลง ก็เป็นส่วนหนึ่ง ท่านบอกว่าบางทีนึกแล้ว นึกไม่เป็นก็ทนที่จะทำให้จิตใจเรานั้นมีกำลังที่จะทำความดีมากยิ่ง ๆ ขึ้น แต่กลับตรงกันข้าม นึกถึงตรงนี้แล้วเท้าก็อ่อน เขาเรียกว่าตีนอ่อน มืออ่อน จะตายอยู่แล้ววันพรุ่ง อย่าไปทำอะไรเลย ไหน ๆ ก็จะตายแล้ว อยากจะทำอะไรก็ทำไม่เต็มที่ นี่ก็คิดผิด คิดไม่ถูก พิจารณามรณานุสติไม่เป็น คิดแล้วทำความเห็นไม่ถูกต้อง คนที่คิดเป็น คิดแล้วต้องกระตือรือร้น ท่านอุปมาว่า เหมือนคนที่ไปยืมของเขามา ยืมจอบก็ดี ยืมเสียมก็ดี เพื่อมาขุด มาดายหญ้าที่บ้าน ต้องรีบทำให้เสร็จ ๆ เพราะว่าเจ้าของเขาจะมาทวงคืน ตรงนี้ฉันใด ร่างกายก็ฉันนั้น เพื่อพิจารณาแล้วว่าชีวิตของเรานี่น้อยนัก ไม่กี่วันก็จะตายแล้ว มีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ก็รีบทำเสีย ทานก็ดี ศีลก็ดี เจริญภาวนาก็ดี หรือว่าไม่ได้ทำก็ให้รีบทำ ก็จะทำให้เราตื่นตัว เมื่อพิจารณาถึงขนาดนี้แล้ว จิตก็ยังไม่ตื่นตัว ท่านบอกว่าให้พิจารณาถึงความตายในลักษณะต่าง ๆ กัน อย่างประการแรก ท่านบอกว่าให้นึกถึงว่าความตายเหมือนกับเพชฌฆาต ที่เดินถือดาบตามหัวเรามา สบโอกาสเมื่อไหร่ก็ฟันคอเราเมื่อนั้น หมายความว่าเมื่อเราถึงที่ตายก็จะตายในทันที เหมือนเพชฌฆาตที่คอยตามเราไป จะเข้าห้องน้ำก็ตามไป จะไปศาลาก็ตามไป ไปบิณฑบาตก็ตามไป จะเข้าคลับเข้าบาร์ก็ตามไป จะประหารเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ให้นึกเช่นนี้ แล้วเราจะไม่เป็นผู้ที่ไม่ประมาท

ประการต่อไปให้นึกถึงว่าความตายเป็นวิบัติของร่างกาย สมบัติที่เราได้มา พอตายเมื่อไหร่ ท่านบอกว่าสิ้นหมดเลย มีเงิน มีทอง มีบ้านลูกหลาน สิ้นไปทันที ไม่เหลืออะไรเป็นของเราสักอย่าง ท่านบอกว่าวิบัติทันที ถ้าความตายเกิดขึ้น ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ก็ไปตามเราไม่ได้ ความสุขต่าง ๆ ที่เรามีก็ตามเราไปไม่ได้ มีแต่บุญแต่บาปเท่านั้นที่ติดตัวเราไป ถ้านึกถึงตรงนี้ นึกถึงวิบัติของความตายว่าจะตามเราไปก็จะเกิดความกระตือรือร้น ว่าตอนนี้เรายังมีโอกาสอยู่ มีชีวิตอยู่ที่จะทำความดี นึกถึงอย่างนี้บุคคลที่มีปัญญาก็จะกระตือรือร้น ตื่นตัว ไม่จดจ้อง ไม่ขี้เกียจ ทำงานของตนได้

อีกประการหนึ่ง ท่านว่าให้นึกถึงคนในอดีต ทั้งคนที่มีบุญมาก มีปัญญามาก มีฤทธิ์มาก มีอำนาจมาก มีใครบ้างที่รอดพ้นจากความตาย คนที่มีบุญมากก็คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีบุญมากที่สุด เป็นเนื้อนาบุญของโลก แต่ก็หนีความตายไปไม่ได้เช่นกัน หนีความตายไม่ได้ในที่สุด คนที่มีทรัพย์สมบัติมาก ๆ ก็เช่นกัน เศรษฐีต่าง ๆ ไม่มีใครจะหนีจากความตายไปได้เลย คนที่มีฤทธิ์มากที่สุดก็คือพระมหาโมคคัลลานะ มีฤทธิ์มาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ โจรห้าร้อยมาล้อมตั้งหลายครั้ง จะฆ่าให้ตายก็ไม่ตาย แต่แล้วก็หนีไม่พ้น คนมีฤทธิ์มากก็หนีไม่พ้น คนมีอำนาจมาก พระเจ้าจักรพรรดิต่าง ๆ พระเจ้าอโศกก็ดี เป็นเจ้าจักรพรรดิในแคว้นชมพูทวีปทั้งหมดเลย ไม่สามารถรอดพ้นจากความตายได้ มานึกถึงที่ว่าคนที่มีบุญก็ดี มีฤทธิ์ก็ดี มีอำนาจมากมายก่ายกองก็ไม่สามารถรอดพ้นจากตรงนี้ไปได้ แล้วเราล่ะ เป็นคนธรรมดา ๆ นี้เอง บุญก็ไม่มี ฤทธิ์ก็ไม่มี อำนาจก็ไม่มี ไม่พ้นจากความตายไปได้แน่นอน พอนึกได้อย่างนี้ก็จะตื่นตัว ระมัดระวัง ทำแต่ความดี เพราะว่าความตายเป็นของไม่แน่นอนจริง ๆ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่งก็ให้นึกถึงว่า ความตายจะเกิดขึ้นกับเราในทุกขณะเลย หายใจเข้าแล้ว ไม่หายใจออกก็ตายแล้ว กินอาหารลงไปแล้ว อาหารไม่ย่อยก็ตายแล้ว หรือว่าธาตุของเราไม่สม่ำเสมอกัน ก็มีโอกาสที่จะตายได้ เดินไปเดินมาก็มีโอกาสที่จะโดนงูฉกก็ได้ โดนตะขาบกัดก็ได้ กินอาหารแล้วไม่ย่อย สำลักตายก็มี ในพระไตรปิฎกท่านจะพูดถึงมรณานุสติค่อนข้างชัดเจน ก็คือนึกถึงความตาย ว่าเกิดได้ทุกขณะเลย ไม่ว่าที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะเกิดมรณานุสติขึ้นมาได้

หรือไม่ก็พิจารณาอีกอย่างหนึ่ง ก็คือพิจารณาว่าความตายนี้จะมีได้ทุกสถานที่ อายุก็ไม่เกี่ยง ว่าจะอายุมาก อายุน้อย ที่บ้านก็ดี ที่ทำงานก็ดี กลางถนนก็ดี มีสิทธิ์ที่จะตายได้ทั้งนั้น และไม่เลือกวันเวลาด้วย ว่าจะเป็นเวลาค่ำ เวลาเช้า เวลาใดก็แล้วแต่ ตายได้ทั้งนั้น เมื่อคิดแล้วก็นึกได้ว่า โอกาสที่จะตายตรงนี้มีมากกว่าจะรอดอีก จะทำให้เราประมาทไม่ได้

ไม่อย่างนั้น ก็นึกถึงความตายว่า ชีวิตของเรานี้เป็นชีวิตที่น้อย มนุษย์ของเราเดี๋ยวนี้ อย่างเก่งก็ร้อยปี โดยปรกติแล้ว 75 ปีก็ต้องตายแล้ว เรียกว่าอายุหมด หมดอายุแล้วก็ต้องไป

หรือมาพิจารณาเป็นประการสุดท้าย ท่านบอกให้พิจารณาขณะของการตาย อาจารย์ท่านได้พูดถึง วันนั้นในเรื่องของว่า การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ จิตของเรานั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ละขณะ ๆ เราตายแล้ว แต่ว่ามันเกิดขึ้นมาใหม่อีก ถ้าจิตดับไปแล้ว ไม่เกิดขึ้นมาก็ถือว่าตายไปแล้ว นึกถึงอย่างนี้ก็คิดว่าชีวิตของเรานี้ช่างน้อยจริง ๆ สิ่งที่ได้ก็จะเป็นคนไม่ประมาท

ฉะนั้นการเจริญมรณานุสตินี้ กำจัดความฟุ้งซ่าน คิดจะไปทำนั่นทำนี่ ก่อสร้างตรงนั้นตรงนี้ ในขณะที่จะปฏิบัติธรรมก็ไม่คิดแล้ว เพราะพิจารณาว่าชีวิตของเรานี้มันก็น้อยนะ ความดีต้องพยายาม ถึงจะทำทรัพย์สมบัติมากเท่าไหร่ มีคนรักมากมายเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถที่จะนำติดตัวไปได้ การเจริญมรณานุสติก็ให้เจริญในแนวนี้ คิดกลับไปกลับมา เจริญแล้วเจริญอีก จนใจของเราสงบ เมื่อสงบแล้วก็ยกขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐานได้

อีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นประการสุดท้าย เรียกว่าการเจริญเมตตา ก็คือการส่งความปรารถนาดีไปหาบุคคลอื่น เราเคยได้ยินได้ฟังกัน ก็เฉพาะแต่ว่า เวลาแผ่เมตตาก็แผ่ให้บุคคลอื่น เราก็คิดว่า เอ บุคคลอื่นก็คงจะได้รับเป็นส่วนมาก โดยจริง ๆ แล้วเรื่องของเมตตานี้ มันได้กับตัวเองทั้งนั้นเลย ถ้าเราไปดูเรื่องของการแผ่เมตตาในหนังสือวิสุทธิมรรค ท่านจะบอกว่า มีอยู่ 11 ประการ

ประการแรก ท่านบอกว่าทำให้บุคคลที่เจริญเมตตา ทำความรักให้เกิดในตัวเอง ทำความเมตตาให้เกิดในตัวเองนั้น จะเป็นบุญที่หลับเป็นสุข หนึ่ง ตื่นเป็นสุข สอง สามก็คือไม่ฝันร้าย ทั้งสามประการนี้เป็นอานิสงส์ชุดแรกสำหรับคนที่นอนไม่หลับ นอนแล้วกระสับกระส่าย นอนแล้วพลิกไปพลิกมา ถ้ามาเจริญเมตตาแล้ว จะได้อานิสงส์ในส่วนนี้ได้ ในการสอนกรรมฐาน เราจะเจอบ่อย ๆ ว่าโยคีนอนไม่หลับ เราก็ไปสงสัยว่านอนไม่หลับเกิดจากการไปกำหนดยุบหนอ พองหนอ มากไปหรือเปล่า ไปเพ่งมากเกินไปหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่ใช่หรอกอาจารย์ กำหนดธรรมดา บางทีก็ไม่กำหนด ก็ไม่หลับอีก ผลสุดท้ายก็ต้องใช้เมตตากรรมฐานเข้าแก้ ก็บอกให้โยมแผ่เมตตาแก่ตัวเอง ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย ท่องอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหลับ เมื่อแนะนำไปแล้ว โยมทำตาม จิตใจวางแล้วปรากฏว่าได้ผลพอสมควร วันรุ่งขึ้นต่อไปก็นอนหลับสบายดี เป็นอานิสงส์จริง ๆ เมื่อนอนหลับแล้ว ตื่นก็เป็นสุข เพราะเมื่อนอนหลับสนิท เวลาตื่นก็ตื่นมาสดชื่น ไม่งัวเงีย ระหว่างที่หลับก็เกิดอานิสงส์ไม่ฝันร้ายด้วย ไม่ใช่สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางคืน เหมือนกับผีไล่ ผีอำ แสดงว่าไม่ได้เจริญเมตตา ใครนอนแล้วสะดุ้ง นอนแล้วผีอำ ก็ลองแก้ดู ให้เจริญเมตตากรรมฐานดู ในช่วงที่ตนเองหลับ ก่อนที่จะนอนก็ลองเจริญดู ก็จะได้อานิสงส์ตรงนี้

ประการต่อไป ท่านบอกว่าเป็นที่รักของมนุษย์ เป็นที่รักของอมนุษย์ เทวดารักษา สามข้อต่อไป เป็นที่รักของมนุษย์ก็คือคนด้วยกัน ถ้าเราเจริญเมตตาบ่อย ๆ เขาเห็นหน้าเรา รู้สึกชอบใจเหลือเกิน โยมคนนี้ พระองค์นี้ มีสีหน้าผ่องใส หน้ามีเมตตาจังเลย เกิดความรักขึ้นมา ความรักตรงนี้ไม่ใช่ความรักแห่งกามราคะนะ แต่ว่าเป็นความรักแบบมีความศรัทธามากขึ้น อมนุษย์รักก็หมายความว่ามีความศรัทธา เป็นเทวดาก็ดี เปรตก็ดี ประเภทอื่นก็ดี ก็จะเกิดความรัก ในที่นี้ก็อยากจะกล่าวถึงในธรรมบทนิดหนึ่ง พระพุทธเจ้าเรียนธรรมบทแล้วก็คงพอจะนึกออกว่าเรื่องอะไร ก็เรื่องที่ภิกษุห้าร้อย เรียนกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เข้าไปในราวป่า ในป่าก็มีต้นไม้ใหญ่ เห็นว่าต้นไม้ใหญ่ดีจังเลย น่าผูกกลดปฏิบัติธรรม ไม่มีลางสังหรณ์นิดหนึ่ง ไม่รู้ว่าที่นี้ต้นไม้ใหญ่มักจะมีเทวดาอยู่ ไม่ได้นึกถึงตรงนั้น ไปผูกกลดอยู่ตรงนั้นตรงนี้ พวกรุกขเทวดาอยู่ที่ต้นไม้ก็อุ๊ยพระมาแล้ว มากันเยอะเลย เราก็มีศีลน้อยด้วย จะไปอยู่บนต้นไม้ก็คงไม่ดี มานึกถึงตรงนี้แล้วก็ต้องลงมากันหมด ใครมีลูกก็เอาลูกลงมา ใครมีหลานก็เอาหลานลงมา มาอยู่พื้นดินกัน คิดว่าพระก็คงอยู่ไม่นาน วันรุ่งขึ้นก็ออกเดินทางแล้ว วันรุ่งขึ้นก็ยังไม่ไปสักที มะรืนนี้ก็คงจะกลับ ก็บอกลูกบอกหลานให้ทนเอาหน่อย อยู่กับพื้นดินตั้งเจ็ดแปดวัน รุกขเทวดาก็ทนไม่ไหว ถ้าพระคุณเจ้าจะมาปักหลักตรงนี้ พวกเราก็คงจะแย่แน่ ๆ ก็ปลอมตัวเป็นผีมาหลอกพระ ท่านบอกว่าบางทีก็ทำเป็นเสียงดัง ครางก็ดี อะไรก็ดี พองหนอ ยุบหนอ สะดุ้งไปเลย ต่อไปก็เกิดความกลัว บางทีขณะเดินจงกรมขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หัวกะโหลกก็โผล่ออกมา หรือว่าเดินไปเดินมา มองไปทางนั้นที ทางนี้ทีก็เห็นว่าใครมานั่ง มาเดินอยู่ที่ตรงนั้น พระก็กลัวกัน บางทีทำให้พระองค์นั้นไอบ้าง พระองค์นี้จามบ้าง เกิดเดือดร้อนไปหมด ไม่มีสมาธิ พระทั้งห้าร้อยรูปก็มาประชุมกัน ว่าคงจะอยู่ไม่ได้ กลับไปหาพระพุทธเจ้าดีกว่า พระพุทธเจ้าก็บอกว่าเธอไม่ได้เอาอาวุธไป อาวุธก็คือบทสวดมนต์นั่นเอง ที่เราเคยได้ยินว่า เมตตัญจฺ สรรพโลกัสมิงฺ นั่นเอง พระองค์ทรงให้เรียนบทสวดนี้ แล้วบอกให้เริ่มสวดมนต์ตั้งแต่เข้าสู่ราวป่า ก็ให้สวดมนต์บทนี้ไป พระทั้งหลายกลับไป ก็สวดมนต์บทนี้ไป เจริญเมตตาไป เทวดาทั้งหลายก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ ได้รับกระแสจิตตรงนี้ เกิดความรักพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเลย ยินดีที่จะให้อยู่ นอกจากนั้นยังคอยปกปักรักษาพระด้วย นกก็ดี สัตว์ร้ายทั้งหลายก็ดี ที่จะเข้ามาในบริเวณ เทวดาจะไล่ไปทางอื่น เพื่อให้ที่นั่นเป็นที่สงบ พระทั้งหมดก็ตั้งใจเจริญวิปัสสนากรรมฐาน และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ นี่เป็นตัวอย่างว่า เมื่อเจริญเมตตาแล้วก็จะเป็นที่รักของเทวดา ทำให้เทวดาปกปักรักษากัน สมัยนี้เวลาจะเดินทางไปไหน พระธุดงค์ก็จะเจริญเมตตา หรือว่าสวดมนต์บทว่าเมตตัญจฺ สรรพโลกัสมิงฺ บทกรณียเมตตาสูตร เป็นการแผ่เมตตาส่วนหนึ่ง ทั้งหมดก็หกข้อแล้ว ต่อไปท่านบอกว่าผู้ที่เจริญเมตตา จะไม่ตายด้วยยาพิษ จะไม่ตายด้วยไฟ จะไม่ตายด้วยศาสตราวุธ สามอย่างนี้จะไม่ตาย ตรงนี้มีเรื่องเล่าไว้ ในหนังสือวิสุทธิมรรค ท่านพูดถึงแม่โคลูกอ่อน กำลังยืนให้นมลูกอยู่ คร่อม ลูกก็กินนมอยู่ ขณะนั้นมีนายพรานอยู่ในป่า โผล่ออกมาเห็นลูกวัวพอดี ก็ประสงค์ร้าย พุ่งหอกไปถูกแม่วัว ปรากฏว่าเหมือนกับถูกหิน ถูกตัวแม่วัวก็กระดอนกลับ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าในขณะที่ให้นมอยู่นั้น แม่วัวมีเมตตาจิตต่อลูก ศาสตราวุธก็ทำอันตรายไม่ได้ มีอีกหลายเรื่องในหนังสือธรรมบท ที่ว่าด้วยการเจริญเมตตา นางอุชุตราที่เอาน้ำร้อนลวก มีอยู่หลาย ๆ เรื่อง ถ้านำมาศึกษาและเล่าประกอบก็คงมีอยู่หลายเรื่อง ที่นำมาเล่าเรื่องนี้ก็คือป้องกันศาสตราวุธได้ ไม่ต้องเอาหลวงพ่อมาป้องกันแล้วล่ะ เจริญเมตตานี้ก็สามารถป้องกันได้

อีกข้อหนึ่ง ข้อต่อไป ท่านบอกว่าผู้ที่เจริญเมตตานั้น ใบหน้าผ่องใส คนที่เจริญเมตตาเวลาเห็นใบหน้าก็จะรู้สึกได้ทันที ว่าใครมีเมตตา ใครไม่มีเมตตา ใครน่ากลัว เพราะว่าจิตคนเรามันฉายแสงออกมา และเราก็สามารถรับคลื่นได้ เหมือนคลื่นวิทยุ ใครคิดดี ใครคิดไม่ดี บางทีก็รู้สึก บางทีเรานั่งอยู่ดี ๆ ใครมามองด้วยความประสงค์ร้าย เราก็จะนึกได้ว่าใครกำลังมามองเรา หันไปก็เห็น จ้องด้วยความดีก็ตาม จ้องด้วยความไม่ดีก็ตาม เราก็สัมผัสตรงนั้นได้ บางทีเราก็รู้สึกว่าใครกำลังจ้องเราด้วยสายตาที่ดี บางทีเราก็รู้สึกว่าใครกำลังจ้องเราด้วยสายตาที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็สัมผัสได้ คนที่เจริญเมตตาบ่อย ๆ ใบหน้าผ่องใส ถ้าเป็นโยมผู้หญิงก็บอกว่าไม่ต้องใช้แป้งแล้ว เจริญเมตตาบ่อย ๆ คิดดีกับผู้อื่น ใบหน้าของเราจะผ่องใส ดีกว่าเครื่องสำอางทั้งหลายเยอะเลย

ประการต่อไป เป็นสิ่งที่สำคัญ ครูบาอาจารย์ท่านใช้เมตตาเข้ามาในส่วนนี้ ท่านบอกว่าผู้ที่เจริญเมตตาแล้ว จิตจะเป็นสมาธิได้ง่าย เจริญเมตตาแผลบเดียว จิตจะตั้งมั่นได้ง่าย อาศัยข้อนี้ ครูบาอาจารย์ท่านจึงเอามาเป็นเทคนิคของการปฏิบัติธรรม ถ้าใครฟุ้งซ่านท่านก็จะให้ทำเมตตาก่อน 15 นาทีเท่านั้น บัลลังก์แรกของการปฏิบัติ จิตจะเป็นสมาธิ ยกขึ้นสู่วิปัสสนา พองหนอ ยุบหนอได้ทันที ครูบาอาจารย์สายพม่าจะนิยมกัน ท่าจะแนะนำให้ลูกศิษย์แก้อารมณ์ที่ตรงนี้

อานิสงส์ข้อที่สิบ ท่านบอกว่าเป็นผู้ที่ไม่หลงตาย คือตายแบบมีสตินั่นเอง ย่อ ๆ ว่า คนที่ก่อนที่จะตายจะไม่เห็นสิ่งที่ไม่ดี เห็นวัว เห็นเปลวไฟ คตินิมิตรที่คนที่ก่อนตายจะเห็น จะไม่เห็น คือไม่หลงตาย ตายแบบมีสติ

ประการสุดท้าย ประการที่สิบเอ็ด ท่านบอกว่าคนที่เจริญเมตตา ถ้าได้ฌานจะไปเกิดเป็นพรหม เป็นอานิสงส์ทั้ง 11 ประการของการเจริญเมตตา

เมื่อเรารู้ถึงอานิสงส์ตรงนี้แล้ว การเจริญเมตตาก็ไม่ยาก การเจริญเมตตาก็มีสองประเภท

ประเภทที่หนึ่งก็คือเจริญแบบเจาะจง เจาะจงบุคคล คนนั้นคนนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้ เจาะจงสถานที่ สถานที่ของวัดภัททันตะก็ดี วิเวกอาศรมก็ดี ที่นั่นที่นี่ บุคคลที่อยู่ที่นั่น เรียกว่าเจาะจงกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ โยคีที่อยู่ในศาลานี้ก็เรียกว่าเจาะจง

อีกแบบหนึ่งก็ไม่เจาะจงนั่นเอง ว่าไปทั่ว ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงอยู่เป็นสุข ๆ เรียกว่าแผ่แบบไม่เจาะจง ครอบจักรวาล การแผ่ทั้งสองอย่างนี้ ถ้ากระจายก็เหมือนกับไฟที่กระจายไปทั่ว ไม่สว่างพอ ยิ่งกำลังของเราไม่พอ ยิ่งไม่สามารถทำให้เกิดสมาธิได้ การแผ่เมตตาตรงนี้ ส่วนใหญ่จะแผ่แบบเฉพาะเจาะจง หลักการแผ่เมตตานั้น ท่านบอกว่า

หนึ่ง ต้องแผ่ให้ตัวเองก่อน เพื่อเป็นสักขีพยานว่าตัวเรานั้นรักสุขเกลียดทุกข์อย่างไร คนอื่นก็เช่นกัน เมื่อนึกถึงตรงนี้แล้ว การแผ่ก็ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข ปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ แบบที่เราเคยสวดกัน แต่ให้เป็นภาษาที่ง่าย ๆ สั้น ไม่ยาว ถ้าเลี่ยงภาษาบาลีได้ก็จะดี เพราะอะไรที่บอกว่าเลี่ยง ก็เพราะว่าเราไม่รู้ความหมาย ยิ่งโยมที่เป็นชาวบ้านก็แย่หน่อย มหาเปรียญก็พอรู้บ้าง ก็ว่าได้ อหังสุขิโตโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข อหังสุขิโตโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข นึกอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับน้อมใจไปด้วย เพื่อให้เกิดความเมตตา เพื่อให้ความเมตตาเกิดขึ้นในใจของเรา นึกบ่อย ๆ นึกซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกิดความเมตตาขึ้นในใจของเรา ไม่ต้องไปนึกถึงสิ่งใด แล้วก็เปลี่ยน สักห้านาทีก็เปลี่ยนคำใหม่ ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขกายสุขใจ ว่าไปเรื่อย

เมื่อแผ่ให้ตัวเองแล้ว ต่อไปท่านให้แผ่ถึงบุคคลที่เราเคารพนับถือ บุคคลที่เราเคารพนับถือเบื้องแรกท่านก็ยังจำกัด ว่าต้องเพศเดียวกับเรา ถ้าเป็นผู้ชาย คนที่เราจะแผ่ให้ต้องเป็นผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องเป็นผู้หญิง เพราะอะไร เพราะว่าตอนนั้นจิตใจของเรายังไม่มั่นคง ถ้าไปนึกถึงผู้หญิงก่อนบางทีกามราคะจะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นการแผ่เมตตาในตอนนี้ ต้องเป็นบุคคลที่เพศเดียวกัน ที่แนะนำโยคีก็คือ ถ้าเป็นผู้ชายก็ให้แผ่ให้ในหลวง ถ้าเป็นผู้หญิงก็แผ่พระให้พระราชินี ครูผู้ชาย ครูผู้หญิง การแผ่เมตตาตรงนี้มีเทคนิคอยู่นิดหนึ่ง คือว่า ให้เรานึกถึงคุณงามความดีของบุคคลที่เราจะแผ่ก่อน ประมาณหนึ่งนาที ว่าคนนี้เคยทำความดีอะไรกับเราบ้าง ถ้าไม่เคยทำความดีกับเราก็จริง แต่ว่าทำดีกับประเทศชาติ แก่สังคมส่วนรวม แก่วัด มีศีล มีความดีในด้านอื่น นึกถึงตรงนั้น แล้วเราจะแผ่เมตตาให้ท่านได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่นึกถึงตรงนี้บางทีก็แผ่ไม่ได้เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติสายเมตตากรรมฐานท่านจะหาเทคนิควิธีการมาสอน ถ้านึกถึงแบบนี้แล้วจะปฏิบัติได้ดี ลองปฏิบัติแล้วก็ได้ผลดีจริง ๆ ว่าจะทำให้เมตตาของเรานั้นเกิดได้ดีพอสมควร

เมื่อเราเจริญเมตตาให้กับบุคคลที่เราเคารพนับถือได้แล้ว บุคคลต่อไปก็คือคนที่เรารัก อาจจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ หรือว่าใครต่าง ๆ ที่เรารัก บุคคลต่อไปก็คือบุคคลที่เราเฉย ๆ หรือว่าเป็นศัตรูของเราในต่อไปเกิดเมตตาง่ายขึ้น ในปัจจุบันนี้เราจะได้ยินเสมอว่า โกรธใครก็ให้แผ่เมตตาให้คนนั้น จริง ๆ แล้วแผ่ไม่ได้หรอก ตามหลักของการแผ่เมตตาจริง ๆ เป็นไปไม่ได้ ยิ่งนึกถึงหน้าเขาก็ยิ่งโกรธ ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่า ไม่ให้แผ่เป็นคนแรก คนที่เราเกลียด คนที่เรารัก ศัตรูของเรา ถ้าแผ่ไปแล้วไม่มีกำลังของเมตตา จะกลายเป็นราคะก็ดี เป็นโทสะก็ดี นึกถึงคนที่เราเคยโกรธ แทนที่จะอโหสิกรรมให้เขา กลับโกรธเขามากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเมตตาของเรายังไม่มี ครูบาอาจารย์ท่านจึงให้หลักปฏิบัติไว้ ว่าให้แผ่เมตตาแก่ตนเองก่อน แล้วก็แผ่ให้บุคคลที่เราเคารพนับถือ จนเกิดเมตตาจริง ๆ แล้วถึงจะให้กับบุคคลที่เป็นศัตรูกับเรา บุคคลที่เป็นอริกับเรา บุคคลที่เคยล่วงเกินเรา จะให้ได้ง่าย เมตตาธรรมก็จะเกิดได้โดยง่าย นี่ก็เป็นวิธีง่าย ๆ ในการกำหนด การปฏิบัติ เมตตาตรงนี้ถ้าจะแผ่ในเรื่องของการปฏิบัติจตุรารักขกรรมฐานก็ประมาณ 10 นาที รวมแล้วก็เป็น 25 นาที เราจะทำกรรมฐาน หรือว่าวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะบอกให้โยคีทำจตุรารักขกรรมฐาน ก็คือกรรมฐานที่จะปกป้องจิตใจโยคีของเรา ไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีตรงนั้นตรงนี้ นั่นก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เข้ากรรมฐาน เทคนิคที่ท่านใช้กัน ท่านบอกว่าบัลลังก์แรก ถ้าตื่นตีสี่ ถ้าจิตเราไม่สงบก็ให้ทำจตุรารักขกรรมฐานเสียก่อน 25 นาที เสร็จแล้วก็ทำวิปัสสนากรรมฐาน ถ้ารู้สึกว่าสภาวธรรมดี แก้ไขอารมณ์ต่าง ๆ ได้ดี ท่านก็บอกว่าต่อไป บัลลังก์แรกให้เจริญจตุรารักขกรรมฐานเสียก่อน เป็นกรรมฐานเป็นเครื่องป้องกันจิตใจของเรา จริงอยู่ว่าเป็นสมถกรรมฐาน แต่ก็เป็นเครื่องอุดหนุน ทำให้จิตใจของเราปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ไม่อย่างนั้นเราก็จะฟุ้ง เรื่องนั้นเรื่องนี้ แทนที่จะหนอไปได้ กลับหนอไม่ได้ อาจารย์ท่านจึงอุปมาว่า เมตตากรรมฐานตรงนี้ เหมือนกับบ้านพักริมทาง คนเราเดินทางมาไกล หนอ หนอตลอด มีแต่ปวดตรงนั้น เจ็บตรงนี้ เดี๋ยวก็คิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ จิตใจฟุ้งซ่านไม่มีความสุขเลย เดินไป ๆ เจอร่มไม้ก็ดี เจอบ้านพักเสียหน่อย เข้าไปพักก็คงดี พักเสร็จแล้วก็มีแรง มีแรงแล้วก็มาเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อ ปฏิบัติธรรมต่อได้ ท่านอุปมาเมตตากรรมฐานเช่นนั้น จึงเป็นที่นิยมของพระในสายพม่า เวลามาสอนเจ็ดวัน สอนวันแรกก็จะเป็นเมตตากรรมฐาน สอนสิบวันก็จะเป็นเมตตากรรมฐานสองวัน เพื่อปรับจิตใจของโยคีให้หายฟุ้งซ่าน เสร็จแล้วก็มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จะได้ผลดีกว่า เท่าที่ติดตามสังเกตดูการสอนอย่างนี้รู้สึกว่าจะได้ผล แต่เมืองไทยรู้สึกจะไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ ก็แล้วแต่ครูบาอาจารย์แต่ละท่าน ที่ท่านสอนอยู่ ส่วนใหญ่จะเคยปฏิบัติในแนวนี้ ถ้ามองเป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์อยู่ และเมตตากรรมฐานนี้เป็นเครื่องแก้โทสะ พยาปาทนิวรณ์ได้อย่างดี คนขี้โกรธ ขี้โมโหก็ต้องมาเจริญเมตตากรรมฐานตรงนี้แล้ว เมื่อเจริญแล้วจิตใจก็จะเย็นลง เคยขี้โกรธ ขี้โมโหก็ลดลง การกำหนดก็กำหนดได้ แต่บางครั้งกำหนดไม่ไหว ก็ต้องเอาตรงนี้มาปรับจิตปรับใจของเรา จตุรารักขกรรมฐาน เป็นเครื่องปกปักรักษาเราให้พ้นจากกิเลส ภัยต่างๆ ในการปฏิบัติปรกติก็จะพูดบ่อยๆ เมื่อไปนำปฏิบัติ การนำมาเล่าในตรงนี้ก็เพื่อถวายเป็นความรู้ให้เราได้ใส่ใจว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เป็นกรรมฐานเช่นกัน แต่ไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐาน ดีจริงๆ ก็คือวิปัสสนากรรมฐาน เพราะปฏิบัติแล้วทำให้เราหลุดพ้น ไม่ติดอยู่ที่ตรงนี้ สมถกรรมฐานก็ทำแล้วเกิดความสุข ความสงบ วิปัสสนากรรมฐานก็ทำแล้วเกิดความเห็นแจ้ง ในสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง

ในที่สุดแห่งการบรรยายธรรม เรื่อง จตุรารักขกรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นเครื่องคุ้มครองป้องป้องให้พ้นจากอันตราย ในขณะเข้าปฏิบัติธรรมนี้ ก็พอสมควรแก่เวลา ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย จงคุ้มครองทุกๆ ท่านให้มีสุขภาพแข็งแรง เจริญด้วยพร ๔ ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ เทอญฯ


ที่มา http://www.sati99.com/index.php?lay=sho ... &Id=249672


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 38 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร