วันเวลาปัจจุบัน 27 เม.ย. 2024, 00:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2009, 18:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ค. 2009, 16:51
โพสต์: 11


 ข้อมูลส่วนตัว


โดยท่านโพธินันทะ บรรยายธรรม
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง
AM เสียงสามยอด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2546 เวลา 8.30-9.00น.





หัวข้อที่ 1: ธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิต

ชีวิตของเราเหมือนน้ำตกที่ไหลมาแล้วก็ถูกชะง่อนหิน, ถูกลมพัดปลิวกระจายแตกเป็นหยดเล็กหยดน้อย, ถูกแบ่งแยกออกจากกัน เหมือนกับชีวิตของเราที่แบ่งแยกออกจากความเป็นหนึ่งเดียว หรือความเป็นองค์รวมกับธรรมชาติ ก็ทำให้เราพบกับความทุกข์ยากในชีวิตต่างๆมากมาย เมื่อเราไม่ตระหนักรู้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลหรือความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง หรือน้ำไม่ตระหนักรู้ในความเป็นหนึ่งเดียวกับแม่น้ำได้ ก็จะมีความกลัวเป็นพื้นฐานของชีวิตจิตใจ แต่น้ำก็ยังเป็นน้ำอยู่เสมอ ไม่ว่ามันจะถูกแบ่งแยกออกเป็นหยดเป็นฟอง ฉันใดชีวิตของเราและความตายก็เป็นสิ่งเดียวกัน ชีวิตของเราแม้ถูกแบ่งแยกออกมา ก็ยังเป็นสิ่งเดียวกับสัจจะสูงสุด

ถ้าได้ตระหนักรู้ความจริงอันนี้ ก็จะไม่มีความกลัวอีกต่อไป แต่เพราะเราติดยึดอยู่กับความรู้สึกของเราเอง ในการดำรงชีวิตอยู่อย่างแบ่งแยกหรืออย่างปัจเจก,เราจึงกลัวตาย,กลัวความสิ้นสุด.เมื่อเราได้กลับคืนสู่ความเป็นธรรมชาติเดิมแท้หรือเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง, ก็จะพบกับสภาวะที่เรียกว่า นิพพานหรือสุญญตาหรือความว่าง จึงพูดว่าได้พบพระนิพพาน เมื่อเราตายก็คือความตายของความรู้สึกที่มีตัวเราที่แบ่งแยกจากสิ่งต่างๆ เราจะไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวเรา, ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน นี่แหละคือความตาย ตายจากความรู้สึกว่ามีตัวเรา เมื่อนั้นเราก็จะสัมผัสกับความว่าง ว่างขณะที่รับรู้สิ่งทั้งปวงอย่าง ไม่อาจให้ค่าว่ามันมีอยู่หรือมันไม่มีอยู่ นี่คือพุทธปรัชญา

ต้องมีความเพียรที่ถูกต้อง ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติคือจะต้องมีความเพียรชนิดที่ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวเรา หรือความเพียรที่อยู่บนฐานของปรีชาญาณ, บนฐานของมิติที่อยู่เหนือโลกหรือบนฐานของความจริง ในทิศทางที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ถ้าเรามีความเพียรเพื่อหวังในผลสำเร็จ มีตัวเราทำความเพียรในผลสำเร็จบางอย่างที่เราหวังไว้ ซึ่งโดยปกติเราจะทำอะไร ก็ต้องการผลสำเร็จ ในชีวิตประจำวันของเรากิจการงานต่างๆ ที่เราทำ มีตัวเราเป็นศูนย์กลาง เราต้องการความสำเร็จในกิจการนั้น เมื่อเราได้, เรามี, เราก็ยึดถือหรือสำคัญมั่นหมายในผลของกิจกรรมนั้น. แต่ถ้าผลสำเร็จด้วยความเพียรที่อยู่บนฐานของสัจจะ หรือบนฐานของความว่าง มันก็จะเป็นความเพียรที่ถูกต้อง เป็นความเพียรที่เรียกว่า วิริยะบารมีหรือเป็นสัมมาวายามะ เป็นความเพียรที่สมบูรณ์คือความเพียรที่อยู่บนฐานของสัมมาทิฐิ ผลที่ได้ก็จะไม่ทำให้เราเกิดความยึดถือในผลงานหรือในความสำเร็จนั้น

การปฏิบัติในชีวิตประจำวันร่วมกับกิจการต่างๆ เปรียบเหมือนกบ กบมันนั่งสมาธิเหมือนกัน มันนั่งเฉยลืมตาแป๋ว มันไม่ได้คิดว่ามันกำลังนั่งสมาธิหรือกำลังทำอะไร นั่นคือการดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันของมันด้วยความสงบ เมื่อมีแมลงผ่านมา มันก็แลบลิ้นแปล๊บไปเอาแมลงมากิน แล้วมันก็นั่งนิ่งเฉย ถ้าเราสามารถทำได้อย่างกบ ในชีวิตประจำวันที่เราจะต้องทำกิจการงาน. กิจกรรมนั้นก็จะเป็นกิจกรรมที่แท้จริง แต่เราไม่ได้ทำอย่างกบในการปฏิบัติ เราคิดว่าเราทำอะไรที่เป็นสิ่งที่พิเศษ เพื่อจะได้อะไร , เพื่อจะได้ความสงบ เมื่อเรานั่งสมาธิหรือเราเดินจงกรม เราคิดว่าเรากำลังทำสิ่งสำคัญ,สิ่งที่พิเศษและก็หวังผลที่จะได้รับความสำเร็จหรือเกิดสติ,เกิดปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่คือเราทำด้วยความหวัง ทำด้วยความรู้สึกว่ามีตัวเราทำ. ไม่เหมือนกับกบที่มันนั่งนิ่งลืมตาแป๋ว มันนั่งด้วยความตื่นตัว เมื่อมีแมลงที่เป็นอาหารของมันผ่านมา มันก็สามารถจับแมลงนั้นมากินได้



แต่เราทำด้วยความรู้สึกว่า มีตัวเราเป็นผู้ทำ ทำด้วยความต้องการ, ทำแล้วหวังผล ความเพียรที่เราทำ จึงไม่ใช่ความเพียรที่ถูกต้อง มันจึงไม่สามารถทำให้จิตของเราตั้งมั่นหรือเป็นสัมมาสมาธิได้ การงานหรือกิจกรรมต่างๆที่เราจะต้องทำในชีวิตประจำวันถ้าเราเป็นหนึ่งเดียวกับการงาน นั่นคือการปฏิบัติที่แท้จริง สมาธิก็จะเกิดในชีวิตประจำวันที่จะต้องทำกิจการงาน ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ นั่นแหละคือการฝึกสัมมาสมาธิ เมื่อเราเป็นเรา ไม่ว่าจะทำอะไรก็เป็นสมาธิ นั่นก็คือทำโดยไม่มีตัวเรา ทำโดยไม่มีผู้ทำ ถ้าทำโดยไม่มีตัวเราทำ หรือมีความเพียรโดยไม่มีผู้เพียร การงานกับเราก็เป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือการปฏิบัติที่แท้จริง ที่ทุกคนดำเนินชีวิตแล้วมีปัญหา เพราะว่ามีตัวเราแยกจากสิ่งที่เราทำ แยกจากสรรพสิ่ง, แยกจากการรับรู้ทางตา, ทางหู,ทางจมูก,ทางลิ้น,ทางกาย มีตัวเราเป็น แบ่งแยกจากสิ่งที่เรารับรู้ รู้ทางประสาทสัมผัส มีตัวเราเป็นศนย์กลางของการรับรู้

ตัวเรานั่นแหละคือปัญหา . ถ้ามันไม่แบ่งแยก.ปัญหาก็ไม่เกิด ไม่ว่างานจะลำบากยากเข็ญสักเพียงใดก็ตาม.ถ้าไม่มีตัวเรา ก็จะไม่มีปัญหาอีกต่อไป เช่นเราปวดฟัน, ปวดขา,อะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันมีตัวเราแยกจากความปวด,มีตัวเราเป็นผู้ปวด, มีตัวเราเจ็บ,เราก็จะต้องมีความอดทน,มีตัวเราเป็นผู้อดทน ปัญหาก็เกิดขึ้น ถ้าเวทนานั้นมันคือตัวเราหรือเป็นหนึ่งเดียวกับเรา. ปัญหาก็จะหมดไป ตัวตนที่จะต้องอดทนก็หมดไป เมื่อเราเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง หรือเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อมปัญหาต่างๆก็จะไม่มีอีกต่อไป การมีชีวิตอยู่จริงๆแล้วนี่ก็คือการอยู่กับปัญหา เป็นหนึ่งเดียวกับปัญหา ในการแก้ปัญหาก็คือการเป็นหนึ่งเดียวกับปัญหา แล้วปัญหาก็จะหมดไป. ที่มันเป็นปัญหาเพราะว่ามีตัวเราแบ่งแยกจากปัญหา



ที่เราดำเนินชีวิตอยู่ทุกวันนี้ หรือปัญหาต่างๆของมนุษย์ของสังคมทั่วโลกเวลานี้ เพราะทุกคนดำเนินชีวิตด้วยความรู้สึกว่าตัวเราเป็นศูนย์กลาง,ดำเนินชีวิตอย่างปัจเจก,ดำเนินชีวิตที่มีตัวเราแบ่งแยกกับสรรพสิ่ง ทุกคนจึงมีปัญหา เมื่อรวมกันมากขึ้นเป็นสังคม สังคมก็มีปัณหา. วิธีแก้ปัญหาก็คือทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับปัญหา ปัญหาก็จะหมดไป เมื่อเกวียนมันไม่วิ่งแล้วเราจะตีอะไร จะตีเกวียน จะตีโค หรือจะตีเรา นี่ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เพราะมันมีการแบ่งแยก มีตัวเราแบ่งแยกจากเกวียน,แบ่งแยกจากโค แต่ถ้าเมื่อใด เรา โค เกวียน มีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน ปัญหาก็จะหมดไป เมื่อรู้ว่าเกวียนมันไม่วิ่ง เราก็จะตีโค ไม่ตีเกวียนหรือไม่ตีตัวเรา นี่คือเราทำด้วยสติปัญญาที่เห็นความจริง

เราไม่สามารถจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งได้ ปัญหาจึงเกิดขึ้นมากมายซับซ้อน เมื่อใดก็ตามถ้าเราเข้าถึงสัจจะหรือรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งได้ ปัญหาก็จะหมดไป เมื่อการแบ่งแยกไม่เกิด,ปัญหาก็ไม่เกิด. ถ้าเราเป็นเรา เกวียน, โค, ตัวเรา ก็จะไม่ต่างกัน เราก็รู้ว่าจะตีอะไร ฉะนั้นการปฏิบัติด้วย ?ทางสายกลาง? ก็คือเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง เราจะต้องบำเพ็ญภาวนาในทุกขณะอย่างต่อเนื่องด้วยความเพียรที่ถูกต้อง,ด้วยความเพียรที่เป็นวิริยะบารมีหรือสัมมาวายามะ สมาธิก็จะเป็นสัมมาสมาธิ,สติก็จะเป็นสัมมาสติ ทั้งสมาธิทั้งสติทั้งคำพูดทั้งการกระทำก็จะสัมมา เมื่อเราเป็นเรา กินก็จงกิน แต่เวลานี้ไม่ได้กินด้วยความรู้สึกว่ากินจริงๆ เรากินอยู่ก็จริง แต่ในขณะที่กินนี่เราคิดไปถึงเรื่องอื่น, คิดไปถึงสิ่งอื่น เลยไม่รู้ว่าที่เรากินมีรสชาติอย่างไร เพราะว่าเราไปคิดเรื่องอื่น จิตใจไปอยู่กับสิ่งอื่น เลยไม่รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังรับรู้ที่ประสาทของลิ้นมันมีรสอย่างไร ฉะนั้นเมื่อเราเป็นเรา จะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงหรือตามที่มันเป็นการปฏิบัติก็อยู่ตรงนั้นแหละ ก็เหมือนกับกบนั่งสมาธิ



การปฏิบัติก็อยู่ในกิจวัตรประจำวันที่เราจะต้องกระทำการงาน,ถ้าเราเป็นหนึ่งเดียวกับการงานการปฏิบัติก็อยู่ที่นั่น เราก็จะรู้แจ้งแทงตลอด แทงตลอดไปถึงสัจจะพื้นฐาน หรือสัจจะที่อยู่เบื้องหลังของข้อเท็จจริง,เบื้องหลังของสรรพสิ่ง เราก็จะบรรลุความเป็นพุทธะหรือเป็นหนึ่งเดียวกับพระพุทธองค์ จะเป็นประโยชน์กับผู้อื่น นี่คือการฝึกสมาธิที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ มีม้าอยู่4ชนิด ตัวที่แย่ที่สุดก็คือตัวที่4 เจ้าม้าตัวแรกเป็นม้าชั้นเลิศเพียงเจ้าของกระตุ้นที่สีข้างมันก็รู้แล้วว่าจะทำอะไร เจ้าม้าตัวที่2 รองลงมาพอยกแส้ยังไม่ทันได้ตีเจ้าม้าตัวที่ 2 ก็รู้ว่าเจ้าของต้องการอะไร ม้าตัวที่ 3 นี้ต้องตีมันจึงจะทำตามความประสงค์ของเจ้าของ เจ้าม้าตัวที่แย่ที่สุดก็คือตัวที่ 4 ตีก็แล้ว ทำอย่างไรก็แล้ว ฝึกไม่ได้เลย.

ลองพิจารณาถึงพระพุทธองค์ดูซิว่าพระพุทธองค์จะมีความรู้สึกเช่นไรต่อม้าตัวที่ 4 นี้ พระพุทธองค์น่าจะทรงสนพระทัยเจ้าตัวที่แย่ที่สุดมากกว่าตัวที่ดี ด้วยว่าพระองค์มีพระมหากรุณา พระองค์ก็จะช่วยม้าตัวที่ 4 ฝึกม้าตัวที่ 4 ด้วยความกรุณาจนม้าตัวที่ 4 เป็นม้าชั้นเลิศได้ หากเราสามารถจะกำหนดจิตใจของเราอย่างพระองค์ ไม่ว่าขบวนการความคิดหรือปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเปรียบเหมือนม้าตัวที่ 4 มันเป็นม้าที่แย่ที่สุด เราก็จะพบกับคุณค่าของม้าตัวที่แย่ที่สุด หรือพบคุณค่าของจิตใจที่มีแต่ปัญหาของเรา เราก็จะเห็นคุณค่าของปัญหาต่างๆเหล่านั้น, ทำให้เราได้พบกับภาวะที่สมบูรณ์ของชีวิต

มันจะทำให้เราได้พบกับรากฐานที่มั่นคงของจิตใจ และจิตของเราก็จะตื่นอยู่เสมอเหมือนกับวัชชพืชที่มันทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ถ้าเรารู้จักใช้มัน แต่ถ้าเราไปตำหนิมัน ไปให้ค่า ตัดสินลงความเห็นว่ามันไม่ดี, ไปทำลายมัน นี่เราไม่รู้จักใช้มัน ไม่รู้จักทำมันให้เป็นประโยชน์ เราก็จะไม่เห็นคุณค่าของมัน จิตใจที่วุ่นวายหาความสงบไม่ได้ของเรานี่แหละเปรียบเหมือนม้าตัวที่ 4 มันจะทำให้เราได้เห็นคุณค่าและทำให้จิตใจของเราเข้าถึงรากฐานของความมั่นคงและทำให้จิตของเราตื่นอยู่เสมอ

ถ้าเรารู้จักใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันเกิดขึ้นมามันก็ย่อมมีเหตุมีปัจจัย เราก็นำสิ่งนั้นมาเรียนรู้มาทำความเข้าใจ มันจะทำให้เราเห็นคุณค่าและมันจะทำให้เรามีจิตที่งอกงามขึ้น เหมือนกับเมฆที่อยู่บนท้องฟ้า เราคิดว่าเมฆมันจะบังดวงจันทร์ เราตำหนิมัน เราว่ามันไม่ดี, ไม่อยากให้มันมี แต่เมฆนั่นแหละจะทำให้เราเห็นดวงจันทร์ที่มีความกลม เห็นดวงจันทร์มันกลมได้ก็เพราะเมฆ บางคนบอกว่าการปฏิบัตินี่ยาก มันยากเหลือเกิน การปฏิบัติแบบนี้ อยู่ๆเราจะมาทำแบบนี้ เราลงความเห็นว่ามันยาก สิ่งที่ยากนี่แหละ เราจะพบกับคุณค่าอันสูงสุดของมัน

บางทีม้าตัวที่ดีที่สุดอาจจะเป็นม้าที่แย่ที่สุดก็ได้ ม้าตัวที่แย่ที่สุดอาจเป็นม้าตัวที่ดีที่สุดก็ได้ จิตใจของเราที่ไม่สงบนี่แหละ เราจะพบคุณค่าและทำให้เรามีความก้าวหน้าทางจิตใจ เปรียบเหมือนม้าที่เราได้ฝึกแล้ว ความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้าเราใช้มันเป็น ก็จะเป็นประโยชน์ ผู้ที่จะดำรงอยู่ในสัจจะได้อย่างต่อเนื่องนั้นได้ มันจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่เวลาในจิตใจ ไม่ใช่ Psychological Time แต่ต้องใช้เวลา Chronological Time เวลาภายนอกที่เราแบ่งแยกเป็นเดือน เป็นปีอันยาวนาน เพื่อที่จะเรียนรู้ความผิดพลาดต่างๆซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เราดำเนินชีวิตอยู่นี่ เพื่อการศึกษาเรียนรู้ความผิดพลาดต่างๆของเรา จนกระทั่งเราจะเข้าใจมันได้ ขณะที่นั่งสมาธิ รู้ไหมว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด อะไรคือสิ่งที่เป็นความจริงที่สุดในขณะที่นั่งสมาธิ




ปัญหาคือตัวเรา หรือการนั่ง ถ้ามีตัวเรานั่งสมาธิก็เกิดปัญหา ถ้าเราสามารถจะเป็นเราได้ปัญหาก็จะหมดไป ก็ย่อมจะพบกับความจริงสูงสุดที่เรียกว่าปรมัตถธรรมหรือสัจจะนั่นเอง นี่คือสิ่งที่เราจะซาบซึ้งในการนั่งสมาธิหรือในการปฏิบัติภาวนา การศึกษาพระพุทธศาสนา ก็คือการศึกษาขบวนความคิดของตัวเรานี่เอง ทุกสิ่งที่มันออกมาจากการพูดหรือการทำทางกายกรรม มันจะต้องออกมาจากความคิดก่อน เมื่อเราเริ่มศึกษาเรียนรู้ตนเอง เราก็เริ่มศึกษาเรียนรู้จากต้นกำเนิดของพฤติกรรมทางวาจาหรือทางกายของเรา นั่นคือเรียนรู้ขบวนการของความคิดหรือเรียนรู้ขบวนการของจิตใจเพื่อที่จะเข้าใจขบวนการความคิดเหล่านั้น

เมื่อเข้าใจแล้ว ขบวนการความคิดมันก็หายไป ใจของเราก็จะเป็นอิสระจากอารมณ์ต่างๆที่ทำให้เกิดความคิดเหล่านั้น เป็นอิสระจากความต้องการ เป็นอิสระจากความยึดถือ ไม่ทำให้เกิดของคู่ต่างๆ การปฏิบัติก็เพื่อให้เกิดปรีชาญาณหรือญาณทัศนะ เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงหรือตามที่มันเป็นหรือมันเป็นของมันเช่นนั้นเอง เมื่อเกิดความเข้าใจ จิตใจของเราอย่างแท้จริง มันก็จะปล่อยวางความยึดถือต่างๆ ในที่สุดจิตใจของเราก็เป็นอิสระจากความยึดถือทั้งปวง

ถ้าจิตของเราเป็นอิสระ พอรับรู้อารมณ์ต่างๆทางทวารต่างๆ ใจเราจะนิ่งเฉยมั่นคง นี่คือสมาธิแล้วเราก็จะเห็นสิ่งต่างๆ มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง นี่เรียกว่า จิตใจของเราเป็นอิสระแล้ว, หลุดพ้นแล้วจากการเป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ,ปัญหาต่างๆที่มันเกิดขึ้น เพราะมันมีตัวเรา เมื่อตัวเราไม่มี, ปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น การดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องคือการดำเนินชีวิตพรหมจรรย์ เป็นการดำเนินชีวิตอย่างเป็นอิสระจากอารมณ์ต่างๆ ในขณะเดียวกันเราก็มีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอะไรก็ได้โดยที่เราไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ความเป็นอิสระหมายถึงจิตใจที่ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ คือพอใจ - ไม่พอใจ

ที่ตกเป็นทาสก็คือเมื่อเรารับรู้แล้วเราจะมีความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ ชอบ ไม่ชอบ เกิดความรู้สึกอยากได้คือความโลภ เกิดความรู้สึกปฏิฆะคือความโกรธ นี่เรายังตกเป็นทาสของอารมณ์ แต่ถ้าเราเป็นอิสระไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ คือเมื่อเรารับรู้แล้วใจของเราไม่เอาสิ่งนั้นมาปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกบวก ความรู้สึกลบ, ให้เกิดความรู้สึกที่เป็นของคู่ๆขึ้นมา นี่คือเราเป็นอิสระจากอารมณ์ต่างๆที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ, จิตที่มีอิสรภาพจะมีคุณภาพ จะแสดงออกเป็นบุคคลิกภาพของความเป็นมนุษย์ที่แท้ ตื่นขึ้นแล้วจากการเห็นโลกในทัศนะใหม่ ในทัศนะที่ผิดไปจากเดิม,
แต่ก่อนนี้เราเห็นสิ่งต่างๆเป็นของคู่ๆ สูง-ต่ำ ดำ-ขาว จากขบวนการของการลงความเห็น แต่ในทัศนะใหม่เมื่อเราเข้าถึงสัจจะแล้ว หรือมีอิสรภาพแล้วนี่ เราจะเห็น สิ่งต่างๆ มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง มันเป็นตามที่มันเป็น เราก็จะรู้ถึงสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นหรือตามความเป็นจริง สิ่งต่างๆหรือความจริงเขาแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา สัจจะหรือ ความจริงแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา แต่จิตใจของเราไม่สงบจากขบวนการของความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล เราจึงไม่สามารถสัมผัสกับสัจจะที่มันแสดงตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลาได้

แม้เราจะไม่รู้,สัจจะก็ทำงานของมันอยู่ ถ้าเราไม่รู้เราก็เป็นปุถุชน ถ้าเรารู้เราก็เข้าถึงสัจจะก็เป็นอริยชน ในการปฏิบัติที่แย่ นั้นก็คือการปล่อยปละละเลย หรือในทางตรงกันข้าม เป็นการปฏิบัติที่เราบังคับควบคุมกำหนดจดจ้องไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความต้องการ นี่คือการปฏิบัติที่แย่ ผลก็จะไม่เกิด สมาธิก็จะไม่เกิด ปัญญาก็จะไม่เกิด เราต้องปฏิบัติอย่างใส่ใจ,ไม่ใช่ปฏิบัติอย่างตั้งใจ เราจะต้องมีพลังของความใส่ใจ รู้ตัวทั่วพร้อมในตัวเราให้มันต่อเนื่อง เราจะพบกับความสงบที่แท้จริง, เป็นความสงบที่สมบูรณ์เหมือนกับปล่อยโคไปกินหญ้าตามทุ่ง นานๆเราก็ขึ้นต้นไม้ดูโคสักที,หรือเหมือนโคแม่ลูกอ่อนเล็มหญ้ามีลูกน้อยตัวหนึ่งวิ่งเล่นไปมา แม่โคเล็มหญ้าไปด้วยก็ชำเลืองดูลูกไปด้วย นี่คือการปฏิบัติในแนว ?ทางสายกลาง?

เหมือนกับที่พระพุทธองค์หลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็เดินทางไปพบปัญจวัคคีย์ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ใจความก็คือชี้ให้เห็นทางสายกลาง สมณะทางสุดโต่งทั้งสองไม่ควรเดิน ให้เดินทางสายกลาง,แล้วท่านอัญญาโกณฑัญญะก็ได้บรรลุธรรมคือได้เห็นทางสายกลาง,ได้เข้าถึงสัจจะ,ได้เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็น,ได้เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง นี่คือทางสายกลาง หรือเหมือนกับที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติและตอบเทวดาที่มาถามว่าพระองค์ปฏิบัติอย่างไรจึงข้ามโอฆะสงสารได้(ในโอฆะสูตร) พระองค์ก็ตอบว่าเราปฏิบัติในขณะที่เรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอน ในอิริยาบททั้ง 4 นี่เราปฏิบัติอย่างไม่พักไม่เพียร ไม่จม-ไม่ลอย



ถ้าจิตของเรายังอยู่ในระดับจิตสามัญสำนึก เราก็จะไม่เข้าใจ ไม่พัก ก็ปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน อ้าวบอกว่าไม่เพียร,ไม่เพียรคือไม่ต้องทำอะไร,เราเลยไม่เข้าใจพระสูตรนี้ พักเพียรเป็นของคู่ ถ้าเราพักก็จม ถ้าเราเพียรก็ลอย ปฏิบัติอย่างไม่พักไม่เพียรไม่จมไม่ลอย ปฏิบัติอย่างไร พักเพียรเป็นของคู่ จมลอยเป็นของคู่ ไม่มีจมไม่มีลอยไม่มีพักไม่มีเพียร ในขณะที่พระองค์ยืน เดิน นั่น นอน ไม่มีของคู่อยู่ในจิตใจเลย คืออยู่เหนือของคู่ จิตที่อยู่เหนือของคู่ก็คือจิตว่าง จิตที่เข้าถึงสัจจะสูงสุด จิตที่เข้าถึงจิตที่ประภัสสร. นั่นเอง

จิตที่เข้าถึง ?ทางสายกลาง? คือจิตที่ไปพ้นแล้วจากสังสารวัฏฏ์ จิตที่พ้นไปจากความรู้สึกว่ามีตัวเราเป็นศูนย์กลาง นั่นแหละคือการปฏิบัติของพระพุทธองค์ 2,500 ปีผ่านไปแล้ว ?สิ่ง?หรือ ?สัจจะ?ก็ยังดำรงอยู่ ที่พระองค์ตรัสว่า ?โยธัมมังปัสสติ โสมังปัสสติ? ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ถ้าเราเข้าถึงทางสายกลางหรือสัมผัสได้กับทางสายกลาง เราได้เห็นธรรมแล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ได้พบพระพุทธองค์แล้ว เป็นหนึ่งเดียวกับพระพุทธองค์แล้ว แม้ชั่วช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น เรียกว่าเราได้ดวงตาเห็นธรรม เราได้เห็นทางที่จะดำเนินไปแล้ว,เห็นหนทางของการปฏิบัติแล้ว

เมื่อใดก็ตาม ถ้าเราหล่นมาจาก ?ทางสายกลาง? (ทางที่ไปพ้นจากของคู่) เราก็ตกไปอยู่บนทางสายคู่ที่เราเคยชินมันมาตั้งแต่เราเริ่มจำความได้ เดี๋ยวนี้เราอายุเท่าไรแล้ว เราก็ยังอยู่กับทางสายคู่ เราอยู่กับการให้ค่าตัดสินลงความเห็นที่เป็นของคู่ๆนั่นคือเราดำเนินชีวิตอยู่บนฐานของจิตที่เป็นเหตุผลหรือเป็นทวิภาวะ จากการสังเกต - ด้วยการเรียนรู้ศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ นี่แหละจะทำให้เราตื่นขึ้นแล้วอยู่เหนือพ้นโลกมายา,พ้นไปจากโลกของของคู่ จิตของเราก็จะพัฒนาไปสู่มิติที่เรียกว่าจิตเหนือสำนึกหรือจิตเหนือโลกหรือโลกุตตรจิต นั่นก็คือสภาวะจิตที่ไม่มีของคู่นั่นเอง ไม่มีกาลเวลา ไม่มีอดีต ไม่มีปัจจุบัน ไม่มีอนาคต นี่คือจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติ ภาวนา



ถ้าเรายังหา ?ทางสายกลาง? หรือสภาวะที่พ้นไปจากความรู้สึกว่ามีตัวเรา,พ้นไปจากการรับรู้อย่างแบ่งแยก (มีสิ่งที่ถูกรู้,มีผู้รู้) ไม่ได้แล้วละก้อ เราก็ยังตกอยู่ในมิติของจิตสามัญสำนึก ที่เปรียบไว้เหมือนเขาวงกต หาทางออกไม่ได้ เรายังหลุดพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์,เรายังหลุดไปจากโลกของคู่ไม่ได้ เราก็ไม่สามารถจะสัมผัสกับความจริงแท้ที่เรียกว่าอมตธรรมได้เลย อมตธรรมเท่านั้นที่จะทำลายอุปาทานเครื่องพันธนาการที่ร้อยรัดจิตใจมนุษย์ให้หลุดพ้นออกไปได้
สัจจะที่เป็นฐานของปรีชาญาณจะทำลายความรู้สึกว่ามีตัวเรา จะทำลายความเห็นต่างๆที่ผิดไปจากความเป็นจริงหรือความเห็นที่วิปลาส ทิฐิวิปลาสต่างๆ เข้าไปสัมผัสกับความจริงแท้ ความจริงที่เราสามารถจะรับรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ด้วยธรรมชาติรู้ของปรีชาญาณที่เห็นในความเป็นเช่นนั้นเองของสรรพสิ่ง ในแต่ละขณะของการดำรงชีวิตอยู่ของเรา นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ หากเรายังไม่สามารถจะเข้าใจประเด็นของการปฏิบัติ การปฏิบัติของเราก็จะไม่กว้าหน้า การปฏิบัติของเราก็ไม่สามารถจะเข้าถึงความเป็นอิสรภาพ, ความเป็นเอกภาพ,และสมบูรณภาพได้เลย

ประเด็นที่อาตมาพยายามชี้แนะให้ญาติโยมเห็นจุดเริ่มต้นก็คือเราต้องเข้าถึงจิตที่ประภัสสร ของเราก่อน สัมผัสถึงจิตที่ยังไม่ได้ปรุงแต่งอะไรของเราก่อน เห็นความบริสุทธิ์หรือเห็นความปกติของจิต จิตบริสุทธิ์ของเรานั่นแหละ เป็นหนึ่งเดียวกับสัจจะสูงสุด ปรีชาญาณที่เกิดจากจิตที่ประภัสสรหรือจิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับสัจจะสูงสุดนั่นแหละจะทำให้ตระหนักรู้,หยั่งรู้สิ่งต่างๆที่เราสามารถจะรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัส ตามที่มันเป็นจริง หากเรายังใช้ปัญญาในระดับเหตุผลยังเห็นสิ่งต่างๆเป็นของคู่ คือเห็นมันเกิดเห็นมันดับ เห็นมันเที่ยงเห็นมันไม่เที่ยง นี่เป็นพวกอัตถิกวาทะ - นัตถิกทิฐิ หรือสัสตทิฎฐิ-อุจเฉททิฐิ ซึ่งมีอยู่ในสมัยพุทธกาล แต่ในทัศนะของพระพุทธองค์ ไม่อาจกล่าวได้ว่าสิ่งทั้งปวงหรือสรรพสิ่ง มีอยู่หรือไม่มีอยู่

นั่นคือความสุดโต่งทั้ง 2 ในทัศนะของพระพุทธองค์ท่านกล่าวเป็นกลางๆว่าถ้าสิ่งนี้มี,มันต้องมีเหตุมีปัจจัย เพราะมีอวิชชาทำให้เกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงทำให้เกิดวิญญาณ เพราะไม่มีอวิชชาจึงไม่มีสังขาร เพราะไม่มีสังขารจึงไม่มีวิญญาณ นี่คือธรรมที่เป็นท่ามกลางในทัศนะของพุทธปรัชญา ไม่ได้ยืนยันว่ามีหรือไม่มี๖อันเป็นความสุดโต่งทั้งสอง) ถ้าเราสามารถจะเข้าถึงด้วยประสบการณ์ เราก็จะซาบซึ้งกับความหมายของชีวิตและความตายว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน

เราก็จะไม่กลัวตายอีกต่อไป เราจะพบความสุขที่แท้จริงที่เรียกว่าความสุขนิรันดร, ความสุขที่บิ่งกว่าสุข ความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยปัจจัยภายนอกก แต่เป็นความสุขที่เกิดจากใจที่มีความรักความเมตตา ความสุขที่เกิดจากปิติ ที่เกิดจากเราได้รวมเป็นเอกภาพเดียวกับสรรพสิ่ง หรือกลับคืนไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง เหมือนน้ำตกที่มันกลับคืนไปสู่อ้อมอกของแม่น้ำ เรากลับคืนไปสู่ธรรมชาติ จาคะสละความรู้สึกว่ามีตัวเรา ไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นทั้งหมดหรือสรรพสิ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด เราก็จะเข้าใจชีวิต,เข้าใจโลก,เข้าใจจักรวาล, เข้าใจธรรมชาติ, เข้าใจความหมายของการดำรงชีวิตอย่างพรหมจรรย์ นี่คือแนวทางการศึกษาการเรียนรู้ที่พระพุทธองค์ทรงวางหลักการไว้หรือให้คำตอบแก่ชาวโลก

ถ้าเราจะดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขแล้ว ให้ดำเนินชีวิตในทัศนะที่เห็นโลกตามความเป็นจริง เห็นโลกมันเป็นเช่นนั้นเองหรือตามที่มันเป็น ไม่ใช่เห็นโลกเป็นของคู่ๆ เห็นโลกสุดโต่งไปในส่วนที่เห็นว่ามันมีอยู่หรือไม่มีอยู่ ถ้าเห็นโลกแล้ว เราไม่อาจกล่าวได้ว่ามันมีอยู่หรือมันไม่มีอยู่ นี่แหละคือทัศนะของพระพุทธองค์ที่เราได้เข้าถึงความจริงสูงสุด หรือได้ไปเป็นหนึ่งเดียวกับสัจจะ นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ ก็จะทำให้เราเกิดบุคคลิกภาพหรือพฤติกรรมในการแสดงออกของสัจจะในความเป็นหนึ่งเดียวหรือที่เรียกว่าวิถีพุทธรรม จากขณะหนึ่งไปสู่ขณะหนึ่ง จากขณะหนึ่งไปสู่ขณะหนึ่ง นั่นคือเราไปพ้นเวลา ไปพ้นอดีต ไปพ้นปัจจุบัน ไปพ้นอนาคต



เคลื่อนไหวจากขณะหนึ่งไปสู่ขณะหนึ่งด้วยความสมบูรณ์ ด้วยความเป็นเอกภาพของความเป็นองค์รวม ของสรรพสิ่งในแต่ละขณะ ถ้าเราสามารถที่จะรักษาจิตใจของเราให้สงบนิ่ง เห็นความสงบ เห็นความนิ่งอยู่ที่ก้นบึ้งของจิตใจของเราได้ตลอดเวลา เราก็จะพบกับความมหัศจรรย์ของชีวิต, พบกับความเร้นลับของชีวิตในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างไปจากมิติที่เราเคยดำเนินชีวิตอยู่บนทางสายคู่ อยู่บนมิติของเหตุผลบนมิติของความรู้สึกว่ามีตัวเราเป็นศูนย์กลางของการดำเนินชีวิต

การปฏิบัติเราจะต้องบรรลุผ่านความรู้สึกว่ามีตัวเราไปสู่อีกมิติหนึ่งที่เป็นมิติของความจริงแท้ ซึ่งเราจะสามารถสัมผัสได้ที่กายยาววาหนาคืบของเรา เป็นสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ คำสอนของพระพุทธองค์มีอยู่ในทุกขณะ, มีอยู่ในทุกอิริยาบท เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากความจริงที่มันแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความจริงที่เกิดจากเหตุปัจจัยหรือความจริงที่ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ความจริงทั้งสองทำงานร่วมกัน เป็นความจริงหนึ่งเดียวหรือเป็นสัจจะหนึ่งเดียว สัมผัสได้ด้วยการตระหนักรู้ของเรา นั่นแหละคือเป้าหมายของการเข้าใจตัวเรา,เข้าใจธรรมชาติ และเราก็จะมีวิถีของการดำเนินชีวิต ในอีกทัศนะหนึ่งซึ่งไม่มีตัวเราเป็นศูนย์กลาง

กิจการงานต่างๆก็จะเป็นการงานที่แท้จริง, เป็นศักดิ์ศรีของการงาน,เป็นคุณค่าหรือคุณภาพของการดำรงชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ที่แท้จริง,เป็นมนุษย์ที่ตื่นแล้วจากการหลับใหล, เป็นมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงแล้วจากทัศนะหรือโลกที่คับแคบเหมือนในกระเปาะไข่ออกมาสู่โลกภายนอก,ออกมาสู่มิติที่ไม่มีขอบเขตจำกัดของธรรมชาติรู้ที่เรียกว่าปรีชาญาณในทุกขณะ เราจะต้องมีความเพียรอย่างถูกต้อง มีความเพียรที่อยู่บนฐานของปัญญาญาณ มีความเพียรอย่างต่อเนื่องที่อยู่บนฐานของสัมมาทิฐิคือการเห็นจิตที่มันสงบนิ่งอยู่ตลอดเวลา มีความเพียรอย่างต่อเนื่องด้วยศรัทธา ด้วยวิริยะ ด้วยความอดทนที่ไม่มีตัวเราเป็นผู้อดทน แล้วเราก็จะเข้าถึงขันติบารมี วิริยะบารมี นี่คือสิ่งที่เราต้องตั้งปณิธานว่าในชีวิตนี้หรือในอัตภาพนี้ เราจะต้อง เป็นหนึ่งเดียวกับความจริง เป็นหนึ่งเดียวกับสัจจะหรือดำรงอยู่ในสัจจะให้ได้ เป็นสาระของชีวิตที่เราต้องเพียรปฏิบัติให้มันได้ในทุกขณะหรือในทุกอิริยาบท หรือในกิจวัตร ในกิจกรรมการงานประจำวันในชีวิตของเรา

การปฏิบัติก็จะไม่ใช่การปฏิบัติอีกต่อไป แต่จะเป็นการดำเนินชีวิตอยู่ในองค์รวม ไม่ว่าเราจะพูด เราจะคิด เราจะทำการงานประกอบอาชีพ มีความเพียร มีสติ มีสมาธิ หรือรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน อยู่ในสัมมาทิฐิ อยู่ในความว่าง เราก็จะได้พบความหมายแท้จริงหรือสาระที่แท้จริงของการที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "ทันโตเสฐโฐ มนุสเสสุ" ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ฝึกตนดีแล้วประเสริฐที่สุด ถ้าเรายังไม่ได้ฝึกตนเลยเราก็ยังไม่พัฒนาศักยภาพของเราเลย เราก็ไม่อาจจะพูดได้ว่าเราเป็นมนุษย์ประเสริฐได้ ถ้าเราได้ฝึกฝนในแนวทางที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางไว้คือทางสายกลาง เราก็จะพบสิ่งเหล่านี้ ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็พูดมาจากประสบการณ์ของการปฏิบัติภาวนา, ประสบการณ์ในแต่ละขณะที่กำลังสัมผัสอยู่ในความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งที่รับรู้ได้หรือตระหนักรู้ได้ในขณะที่พูด ในขณะที่เคลื่อนไหว ด้วยจิตใจที่สงบนิ่งอยู่ก้นบึ้งของจิตใจ นี้คือเป้าหมายหรือสาระของชีวิต เราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เมื่อเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน การปฏิบัติของเราก็ชัดเจน

ท่านใดสนใจคําสอนของท่านโพธินันทะเข้าไปชมได้ที่นี่

ฟังเสียงบรรยายของท่านโพธินันทะ http://www.agalico.com/board/showthread.php?p=28916


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 50 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร