วันเวลาปัจจุบัน 04 ต.ค. 2024, 19:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2015, 13:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและความสำคัญ
ของ
วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
กรุงเทพมหานคร

-----------

วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร หรือที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดมกุฏ”
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม
แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ด้านใกล้ถนนราชดำเนินนอก
นับเป็นวัดที่ ๒ ที่ตั้งอยู่บนริมคลองแห่งนี้บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา


เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ หลังจากทรงลาผนวชในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ แล้ว

ทรงพระราชดำริว่า คลองบางลำพู ซึ่งขุดในคูเมืองนั้นคับแคบ
กับทั้งกระชั้นชิดกับกำแพงเมืองและพระบรมมหาราชวังเดิม
ควรจะขุดคลองขยายคูเมืองด้านทิศเหนือให้กว้างออกไปอีก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้น
เป็นคูเมืองชั้นนอก คือปากคลองทิศใต้ออกริมวัดแก้วฟ้า
ปากคลองทิศเหนือออกปากคลองริมวัดสมอแครง
คือ บริเวณวัดเทวราชกุญชร ในปัจจุบันนี้

เริ่มขุดคลองดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕
โดยมีความกว้าง ๑๐ วา สูง ๖ ศอก
ใช้เวลาขุด ๑๐ เดือน ยาว ๕.๔๘ กิโลเมตร
พระราชทานนามคลองที่จุดใหม่ว่า “คลองผดุงกรุงเกษม”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างวัดมกุฏกษัตริยารามขึ้นเป็นส่วนพระองค์
เพื่อเป็นวัดคู่เคียงกับวัดโสมนัสวิหาร ซึ่งพระองค์เคยมีพระราชกระแสรับสั่ง
ไว้กับสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระราชเทวี ว่า

“จะทรงสร้างวัดถวายสักวัดหนึ่ง”

แต่ยังไม่ทันได้สร้าง
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ก็ประชวรและสิ้นพระชนม์เสียก่อน

เมื่อขุดคลองผดุงกรุงเกษมเสร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ
เพื่อซื้อที่ดินริมคลองผดุงกรุงเกษมที่นางเลิ้งสำหรับสร้างวัด

ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ. ๑๓๙๗
และพระราชทานชื่อวัดตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่า
“วัดโสมนัสวิหาร” ทรงเปิดวัดในปี พ.ศ. ๒๓๙๔

เมื่อทรงสร้างวัดโสมนัสวิหารและทรงเปิดวัดแล้ว จึงมีพระราชดำริว่า
ที่กรุงศรีอยุธยามักจะมัดเรียงอยู่ตามริมคลองมากวัดด้วยกัน
จึงมีพระราชประสงค์จะทรงสร้างวัดส่วนพระองค์ขึ้น
เป็นการคู่เคียงกับวัดโสมนัสวิหารของสมเด็จพระนางเจ้าฯ
ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมบ้าง

จึงทรงเลือกที่ดินที่ติดต่อกับวัดโสมนัสวิหาร
ซึ่งยาวไปตามริมคลองผดุงกรุงเกษมเช่นกัน
ใกล้กับป้อมหักกำลังดัสกร ซึ่งป้อมนี้ถูกรื้อถอนไปนานแล้ว

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อสวนของราษฎรหลายเจ้าของ
รวมเป็นพิเศษผืนใหญ่เพียงพอที่จะสร้างวัดได้ และมีที่ดินสำหรับธรณีสงฆ์ด้วย

เมื่อซื้อที่ดินได้ตามพระราชประสงค์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
เป็นแม่กองงานสร้างวัด ได้วางผังวัดให้คล้ายกับวัดโสมนัสวิหาร

คือ มีคูล้อมรอบที่วัดซึ่งมีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า
โดยกำหนดสร้างกำแพงรอบวัด ภายในคูมีซุ้มประตูข้างละ ๓ ประตู
และแบ่งเป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส

:b44: เขตพุทธาวาส

สร้างมหาวิหารใหญ่ หลังพระวิหารมีพระเจดีย์วิหารคด
ถัดไปจึงมีพระอุโบสถอยู่ในแนวเดียวกัน พระวิหารหันหน้าสู่คลองผดุงกรุงเกษม

ส่วนพระอุโบสถวางขวางพระวิหาร โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ผิดกับวัดโสมนัสวิหารซึ่งหันหน้าขึ้นทางเหนือทั้งพระวิหาร และพระอุโบสถ

ด้านหน้าพระวิหารมีลานกว้างสำหรับเป็นสมาคมและลานจอดรถ

:b44: เขตสังฆาวาส

แบ่งคณะเป็น ๓ คณะ คือ คณะหน้า คณะกลาง และคณะท้าย
ในเบื้องต้นได้สร้างกุฏิเพียงพอสำหรับพระสงฆ์ ๒๐ รูป
และกุฏิที่สร้างมาแต่เดิมที่ทรงสร้างวัดก็ยังเหลืออยู่อีกหลายหลัง

โดยเหตุที่พื้นที่เดิมของวัดเป็นสวนผลไม้ส้มจุก
จึงต้องปรับปรุงสถานที่โดยตัดต้นไม้ออกแล้วขุดคูดังกล่าว

เมื่อปรับที่ดินเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มก่อสร้างพระวิหาร ฐานพระวิหารคด
พระเจดีย์ใหญ่ และพระอุโบสถ แต่การก่อสร้างดำเนินมาค่อนข้างช้า

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๑๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงเสด็จมาทรงวางพระฤกษ์
ทรงเร่งรัดการก่อสร้างบริเวณเสนาสนะให้เสร็จทันก่อนเปิดวัดก่อนวันเข้าพรรษา
พ.ศ. ๒๔๑๑ เสนาสนะทั้ง ๓ คณะ จึงเสร็จตามพระราชประสงค์
เพียงพอสำหรับพระภิกษุ ๒๐ รูปมาอยู่จำพรรษาได้

ส่วนพระวิหารหลวง พระวิหารคด และพระอุโบสถยังคงดำเนินการก่อสร้างต่อมา

ครั้นถึงเดือน ๘ วันขึ้น ๗ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๑๑
ได้ทรงเลือก พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดบวรนิเวศวิหาร
มาเป็น เจ้าอาวาสองค์ปฐม และทรงกำหนดให้มีพระสงฆ์จำนวน ๒๐ รูป
ทรงจัดขบวนแห่พระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหารทางเรือ
โดยลงเรือที่คลองบางลำพูออกแม่น้ำเจ้าพระยา
ไปเข้าคลองผดุงกรุงเกษม เทียบขบวนเรือที่ท่าน้ำวัด

ในวันเปิดวัดคือวันที่พระสงฆ์ไปอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชบริพาร
ได้เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเสนาสนะ
แล้วทรงประเคนเครื่องบริขารสำหรับขึ้นกุฏิใหม่เจ้าอาวาสด้วยพระองค์เอง
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ข้าราชบริพารถวายเครื่องสักการะและไทยทานแก่พระสงฆ์โดยทั่วกัน
เมื่อทอดพระเนตรบริเสวณวัดแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

เมื่อแรกสร้างวัดนั้น ได้พระราชทานนามวัดว่า “วัดมกุฏกษัตริยาราม”
ตามพระปรมาภิไธยในพระองค์
ต่อมาภายหลังปรากฏว่า เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร
จะกราบทูลชื่อวัดอันเป็นพระปรมาภิไธยก็ขัดกระดากใจ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “วัดพระนามบัญญัติ” ไปก่อน
และคำว่าพระนามบัญญัติยังคงปรากฏว่าเป็นชื่อซอย
ในที่ธรณีสงฆ์ของวัดจนกระทั่งทุกวันนี้
มิได้เปลี่ยนแปลงไปตามชื่อวัดอันจะกล่าวต่อไป

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคตแล้ว
ยังคงเรียกชื่อวัดพระนามบัญญัติมาเป็นเวลาถึง ๒ ปี

ครั้นถึงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
จึงทรงประกาศให้เรียกวัดพระนามบัญญัติว่า
“วัดมกุฏกษัตริยาราม” ตามพระราชประสงค์เดิม

เมื่อมีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาอยู่แล้ว
จึงทรงพระราชดำริว่า วัดมกุฏกษัตริยาราม นี้ยังปะปนอยู่กับชาวบ้าน
ไม่เป็นเอกเทศ และไม่เป็นส่วนหนึ่งตามพระวินัย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนครบาลไปลงหลักปักเขต
ที่จะพระราชทานวิสุงคามสีมา
กรมพระอาลักษณ์เขียนคำประกาศวิสุงคามสีมาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
เพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยใจความว่า

“เขตวัดมกุฏกษัตริยาราม เรียกอย่างหนึ่งว่า วัดพระนามบัญญัติ
โดยปักหมุดไว้ทั้ง ๔ ทิศ ภายในที่กำหนดเท่านี้
ทรงพระราชทานอุทิศให้เป็นวิสุงคามสีมา
ยกเป็นแผนกหนึ่งต่างหากจากพระราชอาณาเขต
เป็นที่วิเศษสำหรับพระสงฆ์มาแต่จตุรทิศ
อาศัยใช้สังฆกรรม มีอุโบสถสังฆกรรม เป็นต้น
พระราชทานแต่พุทธศักราช ๒๔๑๑”


ครั้นพระราชทานวิสุงคามสีมาและลงพระปรมาภิไธย
ทรงสงสัยว่าเขตที่ปักนั้นกว้างใหญ่เกินไป
จึงทรงขอให้กรมพระนครบาลไปถอนหลักเก่าแล้วปักใหม่
โดยร่นเข้ามาตามแนวกำแพงวัดโดยรอบทั้งวัด
จึงให้เขียนปิดประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมาเสียใหม่
ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันนั้นเอง เขตนอกกำแพงให้เป็นธรณีสงฆ์
ในประกาศครั้งนั้นมีความว่า

“เราพระเจ้ากรุงสยาม มีความนับถือเลื่อมใสในพระสงฆ์เป็นอันมาก
ถ้าหากพระอารามนี้มีพระสงฆ์ปกครองเป็นเจ้าของสืบๆไปสิ้นกาลนาน
ได้ประพฤติการศาสนพรหมจรรย์โดยซื่อสัตย์
ให้สมควรแก่ลัทธิอันชอบในพระธรรมวินัยอันเป็นเครื่องแสดงความบริสุทธิ์
เราพระเจ้ากรุงสยามจะมีความยินดีเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น

ส่วนกุศลที่สำเร็จด้วยสถาปนาการพระอารามใหม่ครั้งนี้
เราพระเจ้ากรุงสยาม ขออุทิศให้แก่เทพยดามนุษย์บุรุษและสตรี
คฤหัสถ์ บรรพชิตทั้งปวง ใครๆ เห็นชอบด้วยก็จงได้ชื่นชมยินดีอนุโมทนา
แล้วจงเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ
สิริสวัสดิพิพัฒนมงคล สรรพศุภผล ความประสงค์
ซึ่งไม่มีโทษเป็นบาป จงสำเร็จทุกประการเทอญ

ประกาศ ณ วัน ๒ฯ๘ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๑๑ เป็นที่ปีที่ ๑ ในรัชกาลปัจจุบัน”


ต่อมาสร้างเขื่อนริม คลองผดุงกรุงเกษม
สร้างศาลาท่าน้ำ ๓ หลัง ๓ หลัง สร้างพื้นชานวัด ขุดคูวัด ๓ ด้าน
ด้านข้าง ๒ ข้าง และด้านหลังพื้นที่ด้านหน้าวัด
คือ ลานวัดกว้างกว่าวัดโสมนัสวิหารมาก มีเนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่ เศษ
ปลูกต้นประดู่เรียงรายเต็มหมดโดยสร้างความร่มรื่นให้แก่วัด

สร้างกำแพงวัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างตามลำคูด้านละ ๓ เส้นเศษ
ด้านยาวด้านละ ๔ เส้น มีซุ้มมหาสีมาอยู่บนมุมกำแพงมุมละ ๑ ซุ้ม

กำแพงแบ่งระหว่างพุทธาวาสกับสังฆาวาส ๒ ข้าง
พระวิหารยาวตั้งแต่กำแพงด้านหน้าถึงด้านหลังยาว ๓ เส้น ๑๑ วา
สูงใหญ่เท่ากับกำแพงรอบนอก
มีซุ้มประตูอยู่ตรงพระวิหารและหลังวิหารคด มีถนนเชื่อมถึงกันปูหินหยาบ

รูปภาพ
รูปหล่อพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี)
เจ้าอาวาสองค์ปฐมวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร



มีต่อ >>> :b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2015, 13:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระวิหารหลวง วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
ที่มาของรูปภาพ : คุณ Thaagoon Angkurawattananukul


:b44: ปูชนียวัตถุและปูชนียสถาน

พระวิหารหลวง

พระประธานในพระวิหารหลวง มีพระนามว่า “พระพุทธวชิรมงกุฏ”
ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางสมาธิราบ วัสดุสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๙ นิ้ว สูง ๒ ศอก ๑ คืบ ๘ นิ้ว
ประดิษฐานอยู่บนพระบุษบกฐานหินอ่อน ๒ ชั้น

กล่าวกันว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)
เจ้าอาวาสองค์ปฐมแห่งวัดโสมนัส ราชวรวิหาร (วัดโสมนัสวิหาร) ในขณะนั้น
มาเป็นประธานในการหล่อ แต่ในคราแรกยังมิได้ตั้งนาม
ตราบจน พ.ศ. ๒๕๑๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙ ในวาระครบ ๑๐๐ ปีแห่งสถาปนาวัดมกุฏกษัตริยาราม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงได้ทรงถวายพระนามพระประธานองค์นี้ว่า “พระพุทธวชิรมกุฏ”

โดยถือเอานามวัด ซึ่งตั้งตามพระนามเดิมของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ ประกอบกับพระนามฉายาเมื่อทรงผนวชว่า วชิรญาโณ
ผนวกกับการที่วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประทับศึกษาพระปริยัติธรรม
ของพระราชโอรส คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

และของพระราชนัดดา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อีกด้วย

พระนามขององค์พระประธาน “พระพุทธวชิรมงกุฏ” ที่ทรงคิดถวาย
จึงเป็นมงคลนามแห่งพระอารามอย่างยิ่ง


สำหรับพระวิหารหลวงของวัดมกุฏกษัตริยารามนั้นตั้งอยู่ที่ด้านหน้าวัด
หันหน้าออกสู่คลองผดุงกรุงเกษมและถนนกรุงเกษม
เป็นวิหารใหญ่ ๗ ห้อง หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ มีเฉลียงรอบ
สร้างขึ้นบนฐาน ๒ ชั้น มีเสากลมใหญ่ตั้งอยู่บนฐาน
ชั้นล่างรับหลังคามุขลด มีเฉลียงรอบสร้างขึ้นบนฐาน ๒ ชั้น

คือ ฐานพระระเบียงชั้นล่างสูงราว ๓ ศอก ฐานบนสูงราว ๑ ศอกคืบ
มีเสากลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานชั้นล่าง
รับหลังคามุขลดมีเสา ๑ รอบ รวม ๒๘ ต้น

พระวิหารหลวง มี ๕ ประตู คือด้านหน้า ๓ ประตู ด้านหลัง ๒ ประตู
หน้าต่างข้างละ ๗ ช่อง
กรอบหน้าต่างประตูรอบนอกเป็นเป็นลายดอกไม้ด้วยปูนเพชร
ส่วนข้างบนทำเป็นพานแว่นฟ้าซ้อนกัน

ตั้งอยู่บนช้าง ๒ เศียร รองรับเลข ๔ มีพระมหามงกุฎครอบ
มีฉัตร ๙ ชั้นปักอยู่ ๒ ข้าง
ปิดทองประดับกระจกทั้งประตูและหน้าต่าง

ส่วนบานประตูล่างทำด้วยไม้สักหน้าใหญ่ ลงรักปิดทองลายรดน้ำ
หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ
ที่หน้าบันทำเป็นลายกระหนกล้อมมหามงกุฏ
ส่วนข้างบนใช้ปูนปั้นหัวนาคและตัวนาคแทนช่อฟ้าใบระกา

ภายในเสาพระวิหารหลวงมีเสาขนาดใหญ่ข้างละ ๖ ต้น
ข้างล่างประดับด้วยหินอ่อนสูงขึ้นราว ๒ ศอก
ข้างบนถือปูนเขียนลายหลากสี เป็นปริศนาธรรมฉฬภิญญาชาติ
เช่นเดียวกับเสาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

คือ นับตั้งแต่ข้างหน้าคู่แรกสีคราม
คู่ที่ ๒-สีเขียว คู่ที่ ๓-สีแดง คู่ที่ ๔-สีเหลือง คู่ที่ ๕-สีนวล คู่ที่ ๖-สีขาว
มีความหมายเหมือนพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

ทุกเสาเขียนภาพแสดงพฤติกรรมของคน
เช่นเดียวกับในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
คือเสาด้านที่ติดกับประตูซึ่งห่างองค์พระประธาน
มีภาพการทำบาปกรรมต่างๆ เช่น ยิงนก ตกปลา
ใกล้เข้ามาก็มีการเข้าวัดทำบุญบ้าง ใกล้เข้ามาอีกก็บวช

จนกระทั่งถึงต้นเสาที่อยู่หน้าองค์พระประธานเป็นเสาสีขาว
แสดงถึงความประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์จนกระทั่งจิตวิมุตติหลุดพ้น

ส่วนฝาผนังภายในพระวิหารหลวง
มีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามควรที่จะศึกษา
เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ยังคงรักษาสกุลช่างขรัวอินโข่ง

ตลอดถึงวางภาพสีและสีไทยๆ แต่บางภาพเขียนเป็นตึกแบบตะวันตก
ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ อิทธิพลตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยมาก
ดังจะเห็นได้จากจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวงนี้
และอาคารสถานที่ต่างๆ ซึ่งยังคงมีให้อนุชนรุ่นนี้ได้ศึกษา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีจำนวน ๒๐ ภาพ ที่ไม่รวมที่เสาดังกล่าว
ซึ่งแต่ละภาพนั้นจะเป็นการเล่าเรื่องราวต่างๆ

เช่น ภาพที่ ๑ เรื่องกษัตริย์ ๕ พระองค์
ภาพที่ ๒ เรื่องพระนางจุนทีราชกุมาร
ภาพที่ ๓ พระนางสุมนาราชกุมารี
และภาพต่อในเรื่องทวารภาชพราหมณ์ พระเจ้าอชาตศัตรูราชกุมาร
และภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระพุทธบิดา
ประทับ ณ ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม เป็นต้น

ซึ่งแต่ละภาพช่างได้เขียนขึ้นด้วยความวิจิตรบรรจง พิถีพิถันงดงาม
และบ่งบอกถึงสุนทรียภาพที่ทำให้ผู้ชมมีอารมณ์คล้อยตาม
ไปตามความงามของแต่ละภาพอีกด้วย

รูปภาพ
“พระมหาเจดีย์ใหญ่” สีขาวบริสุทธิ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวง ท่ามกลางพระวิหารคด (พระระเบียงคด)
และ “ซุ้มสีมา” ตั้งอยู่บนกำแพงแก้วโดยรอบพระอุโบสถ
ที่คั่นกลางระหว่างสีมาชั้นนอกและสีมาชั้นใน เพื่อมิให้คาบเกี่ยวกัน

ที่มาของรูปภาพ : คุณ Thaagoon Angkurawattananukul

รูปภาพ
“พระมหาเจดีย์ใหญ่” สีขาวบริสุทธิ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร


พระมหาเจดีย์ใหญ่

ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวง ท่ามกลางพระวิหารคด (พระระเบียงคด)
สูง ๒๐ วา รอบองค์พระเจดีย์ใหญ่ ๒๕ วา ฐานพระเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ปัจจุบันได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ นับเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่สีขาวบริสุทธิ์
อันเป็นสง่าราศีแก่กรุงรัตนโกสินทร์อีกวัดหนึ่ง

พระอุโบสถ

ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสหลังพระวิหารคดและกำแพงกั้นเขตหันหน้าสู่ทิศตะวันออก
ตั้งอยู่บนฐาน ๒ ชั้น ฝาผนังพระอุโบสถหนาเกือบ ๒ ศอก ยาว ๗ วา กว้าง ๓ วา
มีหน้าต่างข้างละ ๕ ช่อง ประตูข้างละ ๒ ช่อง
หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ใช้ปูนปั้นเป็นนาคแทนช่อฟ้าใบระกา

หน้าบันพระอุโบสถทั้ง ๒ ข้าง ปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฏ
พระประดิษฐาน ณ ท่ามกลางลวดลายกระหนก
ซุ้มประตูหน้าต่างภายนอกเป็นปูนปั้น ปิดทองล่องกระจกประกอบด้วยลายกระหนก

บนซุ้มประตูหน้าต่างปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฏ
ปิดทองล่องกระจกคล้ายกับที่พระวิหารหลวง มีเลข ๔ ภายใต้พระมหามงกุฏ
ประกอบด้วยลายกระหนกดอกพุดตาน นับว่าออกแบบได้งดงามยิ่ง

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังงดงามมาก
เขียนเป็นตอนๆ ตั้งแต่กรอบหน้าต่างถึงเพดาน
เป็นการเขียนเล่าเรื่องพระอัครสาวก ๑๐ ภาพ
และประวัติของพระอัครสาวิกา คือนางภิกษุณี ๙ ภาพ

โดยภาพจิตรกรรมดังกล่าวได้รับการเขียนอย่างให้อารมณ์คล้อยตาม
ด้วยสีสันอันงดงามเหมาะเจาะ
อาคารบางหลังเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลทางตะวันตก
ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในสภาพที่ยังดีอยู่น่าค้นคว้าศึกษา

สีมา

วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นวัดที่มีสีมา ๒ ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลก
และมีเฉพาะวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นเท่านั้น

สีมาชั้นแรกหรือชั้นนอก เรียกว่า “มหาสีมา”
มีซุ้มสีมาซึ่งตั้งอยู่ที่มุมทั้ง ๔ ของกำแพงรอบวัด
เป็นเครื่องหมายกำหนดเขต ภายในมหาสีมามีซุ้มบอกเขตมหาสีมา
ซุ้มสีมา เป็นลักษณะมหาสีมาแบบสีมาโปร่ง
เป็นมหาสีมาที่ทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ยาวแนบไปตลอดแนวความสูงของกำแพงเช่นกัน
ส่วนปลายทำรูปทรงล้อสีมาแท่ง แต่ทำในลักษณะของสีมาโปร่ง
คือแต่ละด้านเป็นซุ้มคูหาทะลุถึงกันทั้งสี่ด้าน


สีมาชั้นใน เรียกว่า “ขัณฑสีมา”
ตั้งอยู่บนกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ
โดยมีแผ่นหินจำหลักลายดอกบัวแปดกลีบ
แสดงเขตสีมาชั้นในหรือขัณฑสีมา
ประดับอยู่บนพื้นระเบียงตรงมุมทั้ง ๔ ของพระอุโบสถ

กำแพงแก้วและซุ้มสีมาบนกำแพง
เป็นเขตคั่นกลางเพื่อมิให้สีมาชั้นนอก คือ “มหาสีมา”
และสีมาชั้นใน คือ “ขัณฑสีมา” คาบเกี่ยวกันหรือปนกัน
อันจะทำให้สีมาทั้งสองนั้นใช้ไม่ได้
ระยะของช่องว่างที่จะต้องเว้นไว้หรือคั่นกลาง
ระหว่างมหาเสมาและขัณฑเสมา เรียกว่า “สีมันตริก”

พระสงฆ์สามารถประชุมทำสังฆกรรมได้ทั้งที่พระอุโบสถและพระวิหารหลวง
แต่ถ้าทำในพระวิหารหลวงจะต้องให้พระสงฆ์ในวัดมาร่วมในพิธีทุกรูป
มิฉะนั้นถือว่าพิธีสังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะ
ปัจจุบันเพื่อความสะดวกในการดูแลให้ถูกต้องตามพระวินัยกำหนด
ทางวัดจึงทำสังฆกรรมที่พระวิหารหลวงเพียงรับกฐินอย่างเดียว
สังฆกรรมอื่นๆ นอกนั้นกระทำในพระอุโบสถ


เมื่อกล่าวโดยภาพรวม วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง
และท่านเจ้าอาวาสแต่ละองค์ก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์ให้ศาสนสถานทุกชิ้นอยู่ในสภาพเดิม

แต่ในระยะหลังการก่อสร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติมมาก
และเมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ลำดับที่ ๕
ทรงมีพระชนมายุครบ ๑๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ทางวัดมกุฏกษัตริยารามก็ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย
และสร้างศาลาเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นทรงไทย ๓ ชั้น
ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๖ ล้านบาทเศษ เพื่อเก็บพัสดุสิ่งของต่างๆ
ของวัดไว้เป็นเอกเทศเพื่อให้อนุชนได้ศึกษาหาความรู้ตลอดไป


รูปภาพ
สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เจ้าอาวาสองค์ปฐมแห่งวัดโสมนัสวิหาร


มีต่อ >>> :b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2015, 13:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


:b45: พระวิหารหลวง

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

พระพุทธวชิรมงกุฏ
พระประธานในพระวิหารหลวง


พระพุทธวชิรมงกุฏ พระประธานภายในพระวิหารหลวง
วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางสมาธิราบ วัสดุสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๙ นิ้ว สูง ๒ ศอก ๑ คืบ ๘ นิ้ว
ประดิษฐานอยู่บนพระบุษบกฐานหินอ่อน ๒ ชั้น

กล่าวกันว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)
เจ้าอาวาสองค์ปฐมแห่งวัดโสมนัส ราชวรวิหาร (วัดโสมนัสวิหาร) ในขณะนั้น
มาเป็นประธานในการหล่อ แต่ในคราแรกยังมิได้ตั้งนาม
ตราบจน พ.ศ. ๒๕๑๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙ ในวาระครบ ๑๐๐ ปีแห่งสถาปนาวัดมกุฏกษัตริยาราม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงได้ทรงถวายพระนามพระประธานองค์นี้ว่า “พระพุทธวชิรมกุฏ”

โดยถือเอานามวัด ซึ่งตั้งตามพระนามเดิมของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ ประกอบกับพระนามฉายาเมื่อทรงผนวชว่า วชิรญาโณ
ผนวกกับการที่วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประทับศึกษาพระปริยัติธรรม
ของพระราชโอรส คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

และของพระราชนัดดา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อีกด้วย

พระนามขององค์พระประธาน “พระพุทธวชิรมงกุฏ” ที่ทรงคิดถวาย
จึงเป็นมงคลนามแห่งพระอารามอย่างยิ่ง


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ


:b45: พระอุโบสถ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ


มีต่อ >>> :b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2015, 13:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


:b45: พระมหาเจดีย์ใหญ่

รูปภาพ

รูปภาพ

สังฆราชานุสรณ์
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
ประดิษฐาน ณ ด้านหน้าพระมหาเจดีย์ใหญ่


รูปภาพ

รูปภาพ

พระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
พระผู้ทรงสถาปนาวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
ประดิษฐานอยู่ในซุ้มศาลา
หลังชานบันไดทางขึ้นฐานพระมหาเจดีย์ใหญ่


มีต่อ >>> :b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2015, 13:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

กุฏิสุวรรณทัต วัดมกุฏกษัตริยาราม

รูปภาพ

กุฏิศิริสม ๒๔๙๗ วัดมกุฏกษัตริยาราม

รูปภาพ

:b50: :b49: องค์ที่ ๔ จากซ้ายมือ ::
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.๙)
เมื่อครั้งยังทรงเป็น “สามเณร” ขณะทรงหนังสือกับเพื่อนสามเณร
บริเวณลานพระเจดีย์ในพระวิหารคต ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม
บันทึกภาพเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๙


รูปภาพ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม
เมื่อตอนบ่ายของวันที่ ๑๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑


มีต่อ >>> :b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2015, 13:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในคราวเสด็จเยือนประเทศศรีลังกาอย่างเป็นทางการ
ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๐
ตามคำทูลเชิญของรัฐบาลศรีลังกา
เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างพุทธศาสนิกชนทั้งสองประเทศ


โอกาสนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระสาสนโสภณ” ร่วมโดยเสด็จด้วย


รูปภาพ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในคราวเสด็จเยือนประเทศศรีลังกาอย่างเป็นทางการ
ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๐
ตามคำทูลเชิญของรัฐบาลศรีลังกา
เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างพุทธศาสนิกชนทั้งสองประเทศ

:b44: จากภาพ...ทรงปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึก
เมื่อครั้งเสด็จเยือนสวนพฤกษศาสตร์แห่งเปราดีนิยา
(Royal Peradeniya Botanical Garden)
เมืองแคนดี (Kandy) ประเทศศรีลังกา
เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๐


โอกาสนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระสาสนโสภณ”
[องค์ยืนซ้ายมือสุด]

และ “สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต)”
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมกิตติโสภณ
[องค์ยืนขวามือสุด]
ร่วมโดยเสด็จด้วย


รูปภาพ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในคราวเสด็จเยือนประเทศศรีลังกาอย่างเป็นทางการ
ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๐
ตามคำทูลเชิญของรัฐบาลศรีลังกา
เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างพุทธศาสนิกชนทั้งสองประเทศ

:b44: จากภาพ...ทรงเสด็จไปสักการะ “อัมพัตถละเจดีย์”

(อังกฤษ : Ambasthala Dagaba แปลว่า เจดีย์บนเนินมะม่วง)

ซึ่งสร้างขึ้น ณ จุดที่พระมหินทเถระพบกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ
เป็นครั้งแรกขณะพระราชาเสด็จออกมาล่าสัตว์
เมื่อท่านทั้งสองได้พบกัน พระมหินทเถระได้ถวายพระพรว่า...
“บัดนี้ ชมพูทวีปรุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ สะบัดอบอวลไปด้วยลมฤษี
ในชมพูทวีปนั้น มีพระอรหันต์พุทธสาวกเป็นอันมาก ซึ่งเป็นผู้มีวิชชา ๓
และได้บรรลุฤทธิ์ เชี่ยวชาญทางเจโตปริยญาณ สิ้นอาสวะแล้ว”

เมื่อพระเถระทดสอบพระปัญญาของพระราชาแล้ว
ทราบว่าทรงเป็นบัณฑิต จักทรงสามารถรู้ธรรมได้
จึงแสดงจูฬหัตถิปโทปมสูตร ในเวลาจบกถา
พระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารประมาณสี่หมื่น
ดำรงอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ


อัมพัตถละเจดีย์ เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก
สูงประมาณ ๙๐ ฟุต เป็นรูปลอมฟางหรือรูปกรวย
แต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นป่ามะม่วงมาก่อน
(อัมพะ แปลว่า ต้นมะม่วง)
ภายในเจดีย์บรรจุพระอัฐิธาตุของพระมหินทเถระ
พระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช
ผู้เป็นหัวหน้านำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในเกาะลังกา
(ประเทศศรีลังกา ในปัจจุบัน)


โอกาสนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระสาสนโสภณ” ร่วมโดยเสด็จด้วย


มีต่อ >>> :b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มิ.ย. 2019, 13:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b50: :b47: :b49: >> แถวนั่งพื้นหน้าสุด จากซ้าย องค์ที่ ๑, ๓ :
• พระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม) วัดบวรนิเวศวิหาร

• พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) วัดโพธิสมภรณ์


:b50: :b47: :b49: >> แถวที่ ๒ นั่งเก้าอี้ จากซ้าย องค์ที่ ๑-๔ :
• สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


• พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)
เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รูปที่ ๕
- องค์ใส่แว่นตาดำ

• พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี)
เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส รูปที่ ๙


• สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ

:b50: :b47: :b49: >> แถวที่ ๓ แถวยืนจากหน้าสุด
จากซ้าย องค์ที่ ๗, ๘, ๙ :

• พระธรรมวราลังการ (หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ)
วัดศรีสุทธาวาส (วัดเลยหลง)

• พระอริยเวที (หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน

• สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) วัดราชบพิธฯ


:b50: :b47: :b49: >> องค์ที่อยู่เหนือศีรษะของหลวงปู่ศรีจันทร์พอดี :
• พระเทพสุเมธี (ไพบูลย์ อภิวณฺโณ) วัดศรีโพนเมือง

:b50: :b47: :b49: >> แถวที่ ๓ จากหลังสุด องค์ที่ ๒ จากซ้าย
[ยืนถัดจากพระคุณเจ้าองค์ที่ใส่แว่นตา] :

• พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง

องค์ที่ ๔ จากซ้าย :
• พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต)
วัดป่าสุทธาวาส


บันทึกภาพร่วมกัน ณ ด้านหน้าพระอุโบสถ
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)


⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱
ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ทางคณะสงฆ์หลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐
คดีสะเทือนวงการสงฆ์ครั้งประวัติศาสตร์ !!!!

ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้แก่ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนเป็นยิ่งนัก
เมื่อพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ทั้งพระมหานิกายและพระธรรมยุต
ถูกการเมืองแทรกแซง ถูกถอดจากตำแหน่งเจ้าอาวาส
ถูกถอดสมณศักดิ์ ถูกจับกุม และถูกบังคับให้ลาสิกขา

พระมหานิกายที่ดำรงตำแหน่งสูงสุด
[เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองหรือชั้นรองสมเด็จ]
ที่ถูกถอดสมณศักดิ์ คือ
“พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)”
อธิบดีสงฆ์หรือเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ในขณะนั้น
[ต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์
และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช]
ท่านถูกกล่าวหาว่า เสพเมถุนทางเวจมรรค (ทวารหนัก)
คือรักร่วมเพศกับลูกศิษย์ภายในวัด
และทำอัชฌาจาร (ผิดประเวณี) ปล่อยสุกกะ (น้ำกาม)

ส่วนพระธรรมยุตที่ดำรงตำแหน่งสูงสุด
[เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองหรือชั้นรองสมเด็จ]
ที่ถูกถอดสมณศักดิ์ในคราวเดียวกันนั้น คือ

“พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี)”
เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ในขณะนั้น
ท่านถูกกล่าวหาว่า อยู่กับสีกาสองต่อสองในที่ลับหูลับตาหลายครั้ง

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

จึงมีพระบัญชาให้ทั้งสองรูปพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาส
แต่ทั้งสองรูปปฏิเสธ โดยตั้งใจจะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน
“คณะสังฆมนตรี” (เทียบได้กับคณะรัฐมนตรีของฝ่ายอาณาจักร) ในยุคนั้นซึ่งมี
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” เป็นสังฆนายก
จึงมีมติว่าทั้งสองรูปฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
ไม่สมควรทรงเพศบรรพชิต และไม่สมควรดำรงสมณศักดิ์ต่อไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ถอดออกเสียจากสมณศักดิ์
ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นไป

...๑๕ ปีต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระภิกษุหลายรูปพยายามทักท้วง
และยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมให้พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองรูป
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
จึงทรงตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนขึ้นในวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘
ผลการพิจารณาออกมาว่าพระมหาเถระทั้งสองรูปเป็นผู้บริสุทธิ์

ดังนั้น มหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีมติออกคำสั่งที่ ๒/๒๕๑๘
ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๑๘ ให้ระงับอธิกรณ์
(คดีสงฆ์)
ของ “พระอาจ อาสโภ (อดีตพระพิมลธรรม)”
พร้อมกับ “พระปลอด อตฺถการี (อดีตพระศาสนโศภน)”
และให้ถือว่าไม่มีมลทินโทษแต่ประการใด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระมหาเถระทั้งสองรูปกลับคืนมีสมณศักดิ์ดังเดิม
ตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นไป


:b39:

อนึ่ง หลังจากที่อดีตพระพิมลธรรมถูกคุมขังที่สันติบาล
หรือ “สันติปาลาราม” เป็นเวลานานถึง ๕ ปี หรือนับวันได้ ๑,๖๐๓ วัน
(ตั้งแต่วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕
ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙)

เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ เหล่าศิษยานุศิษย์ผู้เคารพนับถือ
พากันประท้วงร้องเรียนถึงความเป็นธรรม
จนนำไปสู่การตัดสินของศาลทหาร
พิพากษายกฟ้องรับรองความบริสุทธิ์ของท่าน
ในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๙ มีใจความในตอนท้ายของคำพิพากษา
(คำพิพากษายาวมาก หนังสือขนาด ๑๖ หน้ายก ถึง ๖๘ หน้า) ว่า


“ตามที่ศาลได้ประมวลวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฟ้อง
และข้อกล่าวหามาหลายข้อหลายประเด็นนี้ มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง
ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ เลย
พอที่จะชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือน่าจะกระทำผิด


การจับกุมคุมขังจำเลยนี้ย่อมเป็นที่เศร้าหมองและน่าสลดใจ
ในวงการคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนมาก ท่านประธานศาลฎีกาก็ดี
พระเถระผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยก็ดี ซึ่งเป็นพยาน
ต่างก็กล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่าจำเลยนี้เป็นผู้ประกอบแต่กุศลกรรม
กระทำกิจพระศาสนาแผ่ไพศาลไปทั้งในและนอกประเทศ
ทั้งในทางปริยัติศาสนา และปฏิบัติศาสนา
มีผลประจักษ์ชัดเป็นหลักฐานมาก ไม่เชื่อว่าได้กระทำผิด
แต่กลับมาต้องถูกออกจากเจ้าอาวาส ถูกออกจากสมณศักดิ์
ถูกจับกุม ถูกบังคับให้สละเพศพรหมจรรย์
นับว่ารุนแรงที่สุดสำหรับพระเถระผู้ใหญ่ที่ปวงชนเคารพนับถือ


พระธรรมโกศาจารย์
(หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ - สาวิกาน้อย) ถึงกับกล่าวว่า
คิดได้อย่างเดียวว่า เกิดขึ้นเพราะความอิจฉาริษยากันในวงการสงฆ์
หรือมิฉะนั้นก็เป็นกรรมเก่าของจำเลยเท่านั้นเอง


พันโทประเสริฐ สุดบรรทัด ผู้ฝักใฝ่ในธรรมผู้หนึ่งกล่าวว่า
ตามที่จำเลยต้องคดีนี้ ได้สืบสวนด้วยตัวเองทราบเบื้องหลังโดยตลอด
แต่จะเบิกความก็เกรงจะกระทบกระเทือนแก่วงการพระภิกษุสงฆ์และพระศาสนา
ขอสรุปว่า มูลกรณีทั้งหลายตามที่ทราบความจริงมา
จำเลยถูกกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรมจริงๆ ไม่ได้กระทำผิดตามกล่าวหา

ดังนั้น ศาลจึงขอให้จำเลยระลึกว่าเป็นคราวเคราะห์หรือกรรมเก่าของจำเลยเอง
หรือมิฉะนั้นก็เป็นการสร้างบาปของคนมีกิเลส ไม่ใช่ความผิดของผู้ใด
แต่เป็นความผิดของสังสารวัฏเอง ศาลนี้รู้สึกสลดใจและเห็นใจจำเลย
แต่เชื่อว่าจำเลยซึ่งอบรมอยู่ในพระศาสนามานาน
คงจะซาบซึ้งดีในอุเบกขาญาณที่ว่า สัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม
ก็จะเป็นกรรมทายาทรับผลของกรรมนั้น
และคงจะตั้งอยู่ในคุณธรรมอันเป็นลักษณะของบัณฑิตในพระพุทธศาสนาสืบไป
อาศัยเหตุผลและดุลพินิจที่ได้วินิจฉัยมา
จึงพร้อมกันพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป”


ลงชื่อ พ.อ.ปาน จันทรานุตร ประธานตุลาการ
ลงชื่อ พ.อ.มณีรัตน์ จารุจินดา ตุลาการพระธรรมนูญ
ลงชื่อ น.ท.โปร่ง ชื่นใจ ร.น. ตุลาการ
พ.อ.มณีรัตน์ จารุจินดา เรียง
พ.อ.อ.ขจาย ขจรเนติยุทธ์ พิมพ์-ทาน
๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๙


:b39:

หลังจากนั้นอดีตพระพิมลธรรมได้นุ่งสบงครองจีวร
พาดสังฆาฏิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นที่ปลื้มปีติโสมนัส
แก่พุทธบริษัทที่มาประชุมฟังการพิจารณาครั้งนี้อย่างคับคั่ง
มีพระภิกษุสามเณรประมาณ ๑,๐๐๐ รูป
คฤหัสถ์ประมาณ ๓๐๐ คน ล้นแน่นศาลไปหมด

จากเหตุการณ์ที่ศาลได้รับรองความบริสุทธิ์
อดีตพระพิมลธรรมแล้วนั้น
ผู้คนต่างศรัทธาต่ออดีตพระพิมลธรรมเป็นอย่างมาก
มีการชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ท่าน เช่น
การขอให้เพิกถอนพระบัญชาความผิดคืน
การขอพระราชทานสมณศักดิ์กลับคืน
ขอคืนตำแหน่งเจ้าอาวาสดังเดิม เป็นต้น

ผลจากความบริสุทธิ์ในครั้งนี้ทำให้พระพิมลธรรม
ได้รับความเจริญงอกงามในทางพระพุทธศาสนา
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะที่
“สมเด็จพระพุฒาจารย์”
และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b8: :b8: :b8: ขอขอบพระคุณที่มา : --->
:b47: :b47: การถอดและการคืนสมณศักดิ์ของ ๒ พระมหาเถระ
พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) และพระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี)
กับ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=57293

:b44: ความอัศจรรย์แห่งสมณศักดิ์ “พระสาสนโสภณ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=50748

:b44: ประวัติและความสำคัญ...วัดบวรนิเวศวิหาร
วัดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในประเทศไทย

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19342


มีต่อ >>> :b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มิ.ย. 2019, 13:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รถพระประเทียบ (รถประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช)
MERCEDES-BENZ (W110) 200D สีเหลือง
เลขทะเบียน ร.ย.ล. 19 (ราชยานยนต์หลวง 19) เป็นรถที่
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
ใช้ประทับแล้วเกิดอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้พระองค์สิ้นพระชนม์


วันสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ในเช้าวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
ทรงรับกิจนิมนต์เสด็จไปเสวยเช้าที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
พอตอนสายก็มีกิจต่อเนื่องเสด็จไปในงานพระราชทานเพลิงศพ
พระครูอุดมสมณคุณ (เติม ทองเสริม) อดีตเจ้าอาวาส
วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง) อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา
อันเป็นเหตุให้ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์สิ้นพระชนม์
โดยในช่วงเย็นยังมีกำหนดที่จะเสด็จไปเผาศพญาติ
ที่วัดเวฬุราชิน ย่านธนบุรี กรุงเทพมหานคร อีกด้วย

เหตุการณ์คราวสิ้นพระชนม์เกิดขึ้นขณะขบวนรถพระประเทียบ
กำลังแล่นไปตามถนนสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา
บนทางหลวงแผ่นดินสาย ๓๔ ในระหว่างขึ้นสะพานแถวๆ ถ.บางนา-ตราด
ระหว่างกิโลเมตรที่ ๑๐-๑๑ ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
มีรถตำรวจทางหลวงแล่นนำขบวน และปิดท้ายขบวนดังเช่นเคย
ทันใดนั้นรถยนต์คันหนึ่งที่ขับสวนทางมาอย่างเร็ว
ก็พุ่งเข้าชนรถพระประเทียบอย่างแรงจนตกถนน
เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันเพราะเกิดขึ้นได้ยากมาก
รถพระประเทียบพลิกคว่ำในสภาพพังยับเยิน
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ถูกนำส่งโรงพยาบาลประจำจังหวัดสมุทรปราการ
แต่เนื่องจากพระอาการหนักมาก
จึงต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลตำรวจ ที่กรุงเทพฯ ทันที
แต่ก็ทรงสิ้นพระชนม์ลงในระหว่างทางนั้นเองเมื่อเวลา ๑๐.๐๕ น.
การสิ้นพระชนม์กะทันหันครั้งนั้น
ทำให้พุทธบริษัททั่วโลกตกตะลึงและเสียดายอาลัยเป็นล้นพ้น


เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ
ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เวลา ๑๐.๐๕ น.
ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน ตรีศก จ.ศ. ๑๓๓๓
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

ทรงดำรงอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ๑๗ ปี
ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ๓ พรรษา
ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ๕๔ พรรษา
ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ๒๗ พรรษา
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๗ พรรษา (๖ ปี กับ ๒๒ วัน)
สิริพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา ๑๑ เดือน ๒ วัน


องค์กรชาวพุทธทั่วโลกเมื่อทราบข่าวเศร้าสลดนี้
ได้ส่งคำไว้อาลัยมายังรัฐบาลและคณะสงฆ์ไทย
รัฐบาลประกาศให้สถานที่ราชการลดธงลงครึ่งเสา ๓ วัน
และข้าราชการไว้ทุกข์ ๑๕ วัน เพื่อถวายความอาลัย
ในขณะที่พระราชสำนักประกาศไว้ทุกข์ ๑๕ วัน
ส่วนพระศพนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบำเพ็ญกุศล
ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)


เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงได้รับพระราชทานพระโกศกุดั่นใหญ่ให้ทรงพระศพ
และได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์
สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
พระราชทานพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทย
เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๑๕

เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔ ณ พลับพลาท้องสนามหลวง
ถึงการสูญเสียพระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย มีความตอนหนึ่งว่า

“ก่อนจะสิ้นปีนี้เอง เหตุการณ์ที่คิดไม่ถึงและไม่น่าจะเกิด ได้เกิดขึ้น
สมเด็จพระสังฆราช ต้องสิ้นพระชนม์โดยปัจจุบัน ด้วยอุบัติเหตุ
ทำความสะดุ้งสะเทือนและความเศร้าสลดใจแก่เราอย่างหนัก

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น ทรงเป็นอภิปูชนียบุคคล ผู้ควรเคารพยิ่ง
เพราะทรงเป็นที่ตั้งแห่งคุณความดี ทรงเป็นตัวอย่างของกัลยาณบุคคล
ผู้บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมและความสะอาดสุจริต ทรงแผ่ความเมตตาแก่คนทุกคน
ไม่เลือกหน้า ทรงเพียรพยายามประกอบกรณียกิจทุกๆ ด้าน
เพื่อเกื้อกูลความสุขของมวลชนทุกหมู่ทุกเหล่า ไม่ว่าชาติศาสนาใด
ด้วยความเที่ยงตรง แน่วแน่และเสียสละ


ท่านทั้งหลายรำลึกถึงพระองค์ท่านดังนั้นแล้ว
ควรที่จะน้อมนำมาคิดให้เห็นแจ้งจริงแก่ใจว่า
ทุกวันนี้ที่บ้านเมืองและตัวท่านมีความสวัสดีอยู่ได้
ก็เพราะมีผู้ที่ถือมั่นในสุจริตธรรม
พยายามปฏิบัติและแผ่ความดีให้เป็นประโยชน์ถึงผู้อื่น

เพราะฉะนั้น ทุกคนจะต้องร่วมกันรักษาความดีงาม
ให้ดำรงมั่นคงอยู่ในแผ่นดิน เพื่อความเป็นปึกแผ่น
ความผาสุกและความก้าวหน้าของประเทศชาติและของคนไทยทุกถ้วนหน้า”


:b49: :b50: :b49:

:b8: :b8: :b8: ขอขอบพระคุณที่มา : --->
:b44: รถพระประเทียบสมเด็จฯ จวน เกิดอุบัติเหตุ !!!
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=57776

:b44: “คณะสังฆมนตรี” ชุดสุดท้ายในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย
ในยุคสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายก

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=49524

มีต่อ >>> :b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มิ.ย. 2019, 13:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: ลำดับเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร

รูปภาพ
พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี)


๑. พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี)
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส : เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๒๕


รูปภาพ
พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร ป.ธ.๗)


๒. พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร ป.ธ.๗)
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส : เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๔๓


รูปภาพ
พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.ธ.๗)


๓. พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.ธ.๗)
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส : เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๔๖๒


รูปภาพ
พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ.๗)


๔. พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ.๗)
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส : เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๘๘

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=50348

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.๙)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



๕. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.๙)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส : เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๕๑๔

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20007

รูปภาพ
พระเทพกิตติเมธี (หิ้น คนฺธาโร ป.ธ.๖)


๖. พระเทพกิตติเมธี (หิ้น คนฺธาโร ป.ธ.๖)
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส : เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๖


รูปภาพ
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.๕)


๗. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร ป.ธ.๕)
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส : เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๕๑

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=54483

รูปภาพ
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.๙)
อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)
อดีตรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=49008

สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.๙) วัดบวรนิเวศวิหาร
ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๖๕


--------------------------------------------

:b44: :: ที่มา :: :b8: :b8: :b8:
---------> สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20007


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2020, 21:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2021, 12:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1013


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2021, 14:51 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร