วันเวลาปัจจุบัน 12 ก.ย. 2024, 22:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2013, 15:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ
พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี)

:b44: :b47: :b44:

พระพุทธจริยาตอนหนึ่งๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงให้ปรากฏในสมัยหนึ่งๆ ซึ่งพอจะประมวลกันเข้าในพุทธจริยา ๓ ประการ ได้ดังนี้

พระพุทธจริยาในเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อความตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ นับแต่แรกเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จนถึงเวลาตรัสรู้ และเวลาเสวยวิมุตติสุข อันเป็นเวลา ๖ ปี ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระองค์โดยเฉพาะ เรียกว่า อัตตัตถจริยา ถ้าจะกำหนดด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ ก็จะได้ถึง ๑๗ ปาง โดยนับแต่ปางที่ ๑ คือ ปางอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต จนถึงปางที่ ๑๗ คือ ปางรับสัตตุก้อน สัตตุผง

พระพุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พระประยูรญาติโดยเฉพาะ ซึ่งก็มีส่วนน้อยเรียกว่า ญาตัตถจริยา ถ้าจะกำหนดด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ ก็จะได้เพียง ๔ ปาง คือ ปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ปางโปรดพระพุทธบิดา ปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร และปางโปรดพระพุทธมารดา

พระพุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั่วไป ไม่จำกัดชาติ ชั้น วรรณะ ตลอดเทพดา พรหม ยักษ์ ที่สุดจนสัตว์เดรัจฉาน ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก รวมทั้งการแสดงธรรม การบัญญัติพระวินัยแก่พระสงฆ์สาวก เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนา ในฐานะที่ทรงเป็นพระพุทธเจ้า อันเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ประชากร เรียกว่า โลกัตถจริยา กำหนดด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งตัดจากอัตตัตถจริยา ๑๗ ปางและญาตัตถจริยา ๔ ปาง รวมเป็น ๒๑ ปางออกเสีย คงเหลือ ๔๓ ปาง เป็นส่วนโลกัตถจริยาทั้งสิ้น รวมพระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งแสดงพระพุทธจริยาของพุทธเจ้าทั้งมวลเป็น
๖๖ ปาง

ก่อนแต่จะทราบตำนานของพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั้งหมดนั้น สมควรจะทราบสถานที่และเวลาซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับบำเพ็ญพระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลดังกล่าว อันเป็นมูลฐานสำคัญแห่งการบังเกิดตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ นี้

สถานที่และปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษา

จำเดิมแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในวันเพ็ญเดือน ๖ แล้ว เดือน ๘ ก็เสด็จไปแสดงพระธรรมจักรโปรดพระปัญจวัคคีย์ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แสดงอนัตตลักขณสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ภิกษุอันเป็นพรรษาแรก ซึ่งจัดลำดับกาลได้ดังนี้

พรรษาที่ ๑ ปีระกา ทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันโปรดพระปัญจวัคคีย์ และพระยสกับมิตรสหาย

พรรษาที่ ๒ ปีจอ, พรรษาที่ ๓ ปีกุน และ พรรษาที่ ๔ ปีชวด รวม ๓ พรรษานี้ ทรงจำพรรษาที่พระเวฬุวัน พระนครราชคฤห์ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและเสวกามาตย์ราชบริพาร กับทั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ตลอดบริวาร

พรรษาที่ ๕ ปีฉลู ทรงจำพรรษาที่กุฏาคารสาลา ป่ามหาวัน พระนครไพสาลี

พรรษาที่ ๖ ปีขาล ทรงจำพรรษาที่กูฏบรรพต

พรรษาที่ ๗ ปีเถาะ ทรงจำพรรษาที่ปัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ใต้ร่มไม้ปาริชาติ ในดาวดึงส์สวรรค์ แสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา

พรรษาที่ ๘ ปีมะโรง ทรงจำพรรษาที่เภสกลาวัน (ป่าไม้สีเสียด) ใกล้เมืองสุงสุมารคีรี ในภัคคชนบท

พรรษาที่ ๙ ปีมะเส็ง ทรงจำพรรษาที่โฆสิตาราม ในเมืองโกสัมพี

พรรษาที่ ๑๐ ปีมะเมีย ทรงจำพรรษาที่ภัททสาลมูล ในป่าปาลิไลยวัน อาศัยช้างปาลิไลยกะปฏิบัติบำรุง

พรรษาที่ ๑๑ ปีมะแม ทรงจำพรรษาที่บ้านนารายพราหมณ์

พรรษาที่ ๑๒ ปีวอก ทรงจำพรรษาที่ปุจิมณฑมูล ร่มไม้สะเดา ที่นเรฬุยักษ์สิงอยู่ใกล้เมืองเนรัญชา พรรษานี้ทรงบัญญัติพระวินัยตั้งสิกขาบทไว้เป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุเป็นประถม

พรรษาที่ ๑๓ ปีระกา (รอบที่สอง) ทรงจำพรรษาที่ปาลิยบรรพต

พรรษาที่ ๑๔ ปีจอ ทรงจำพรรษาที่พระเชตวนาราม พระนครสาวัตถี

พรรษาที่ ๑๕ ปีกุน ทรงจำพรรษาที่นิโครธาราม พระนครกบิลพัศดุ์ โปรดพระพุทธบิดาและพระญาติ ตลอดเสด็จห้ามพระญาติวิวาทกันเพราะเหตุแย่งน้ำในสมุทร

พรรษาที่ ๑๖ ปีชวด ทรงจำพรรษาที่อัคคาฬวเจดีย์วิหาร เมืองอาฬวี โปรดอาฬวกยักษ์

พรรษาที่ ๑๗ ปีฉลู, พรรษาที่ ๑๘ ปีขาล และ พรรษาที่ ๑๙ ปีเถาะ รวม ๓ พรรษานี้ ทรงจำพรรษาที่พระเวฬุวนาราม พระนครราชคฤห์

พรรษาที่ ๒๐ ปีมะโรง จนถึงพรรษาที่ ๔๔ รวมเป็น ๒๕ พรรษานี้ ทรงจำพรรษาที่พระเชตวนารามแลที่บุพพารามสลับกัน คือที่พระเชตวนาราม ๑๙ พรรษา ที่บุพพาราม ๖ พรรษา

พรรษาที่ ๔๕ ปีมะเส็ง ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ปีที่เสด็จปรินิพพานทรงจำพรรษาที่เวฬุวคาม ใกล้พระนครไพสาลี ครั้นออกพรรษาแล้ว จึงเสด็จโปรดเวไนยสัตว์ยังนครต่างๆ จนถึงเมืองกุสินารา ในวันเพ็ญกลางเดือน ๖ วิสาขมาส และเสด็จปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา

ประมวลสถานที่พระบรมศาสดาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับบำเพ็ญพุทธกิจโปรดเวไนยสัตว์ นับแต่แรกตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตามบาลีอาคตสถานด้วยประการฉะนี้

บรรดาสถานที่พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ในเทศกาลจำพรรษาก็ดี นอกพรรษาก็ดี ล้วนเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ ด้วยการแสดงธรรมโปรดพุทธเวไนย์เป็นคุณเตือนใจพุทธศาสนิกให้สร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ไว้เป็นอนุสรณ์และใส่ใจสักการบูชา เพราะเหตุนั้นพระพุทธรูปจึงมีปางต่างๆ จะประมวลยกมาแสดงตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเริ่มแต่เสด็จออกทรงผนวชก่อนตรัสรู้ และตรัสรู้แล้ว เสด็จโปรดพุทธเวไนยสัตว์ ตลอดเวลา ๔๕ พรรษา และเสด็จดับขันธปรินิพพาน

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2013, 15:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

ปางที่ ๑
ปางอธิษฐานเพศบรรพชิต
หรือปางมหาภิเนษกรมณ์

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้นตั้งฝ่าพระหัตถ์ตรงพระอุระ เบนฝ่าพระหัตถ์ไปข้างซ้ายเป็นกิริยาสำรวมจิตอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต พระพุทธรูปปางนี้ไม่มีพระรัศมีบนพระเศียร ด้วยนิยมว่าพระรัศมีจะมีต่อเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว

ปางนี้บางตำราก็เรียกว่า ปางมหาภิเนษกรมณ์


พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าบังเกิดเป็นสันตุสิตเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ครั้งนั้นท้าวมหาพรหมและเทวราชในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ชวนกันไปเฝ้ากราบทูลอัญเชิญพระโพธิสัตว์เจ้า ได้จุติลงไปบังเกิดในมนุสสโลก เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า แสดงธรรมสั่งสอนประชากรให้รู้ธรรมและประพฤติธรรม สมดั่งที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก

ครั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทรงพิจารณาดูมหาวิโลกนะ ๕ ประการ คือ ๑. กาลเวลา ๒. ประเทศ ๓. ตระกูล ๔. มารดา ๕. อายุ เห็นว่าอยู่ในสถานะอันสมควรแล้ว ก็ทรงรับคำทูลเชิญ ต่อมาก็เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะชนบท ปรากฏแก่พระนางเจ้าทรงพระสุบินนิมิต เมื่อเวลาราตรี เพ็ญเดือน ๘ ก่อนพุทธศักราช ๘o ปี ว่ามีพญาเสวตรกุญชรชาติชูดอกบัวบุณฑริกมีกลิ่นหอมเข้ามาเฝ้าพระนาง ครั้นพระนางเจ้าตื่นบรรทมแล้ว ได้นำความฝันขึ้นกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะพระราชสวามี ได้รับคำทำนายจากโหราจารย์ว่าจะมีราชโอรสเป็นชาย มีบุญญาภินิหารยิ่งใหญ่ หาผู้ใดเสมอมิได้ พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงสดับก็ทรงโสมนัส โปรดให้แจ้งจัดการบริหารพระครรภ์พระราชเทวีเป็นอย่างดีทุกประการ

ครั้นพระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงพระครรภ์ถ้วนทสมาสแล้ว ได้ทูลลาพระสวามีเสด็จเยี่ยมพระญาติยังเทวทหะนคร โดยพระราชยานสีวิกามาศในวันวิสาขปุณณมี เพ็ญเดือน ๖ ออกจากพระนครกบิลพัสดุ์เวลาเช้า ถึงป่าลุมพินีสถาน อันตั้งอยู่ในระหว่างพระนครทั้งสอง อันเป็นรมณียสถานเสด็จเข้าพักร้อนยังร่มไม้สาลพฤกษ์ ขณะนั้นประจวบลมกัมมัชวาตหวั่นไหวประชวนพระครรภ์ใกล้ประสูติ เจ้าพนักงานก็รีบจัดสถานที่ถวายเท่าที่จะทำได้ พระนางเจ้าได้ประสูติพระราชโอรสในสถานที่อันเป็นมหามงคลนั้นโดยสวัสดี

เมื่อพระกุมารเสด็จจากครรโภทรของพระชนนีแล้ว ได้เสด็จดำเนินไปได้ ๗ ก้าว ดำรัสอาสภิวาจาเป็นมหัศจรรย์ยิ่งว่า

อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺมึ เชฏโฐ เสฏโฐ อนุตฺตโร
อยนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว


ความว่า

ในโลกนี้ เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มีฯ ขณะนั้นโลกธาตุก็บังเกิด ปุพพนิมิตรปาฏิหาริย์ต่างๆ บันดาลให้แผ่นดินไหวเป็นมหัศจรรย์

ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบก็ทรงโสมนัส ได้เสด็จมาอัญเชิญพระราชกุมารพร้อมด้วยพระชนนี แวดล้อมด้วยราชบริวารกึกก้องด้วยดุริยางค์ประโคมแห่เสด็จคืนเข้าพระนครกบิลพัสดุ์ โปรดให้จัดพี่เลี้ยงนางนมพร้อมด้วยเครื่องสูงแบบกษัตริย์บำรุงพระกุมาร กับจัดแพทย์หลวงถวายการบริหารพระราชเทวีเป็นอย่างดี

ครั้งนั้นมีดาบสองค์หนึ่งมีนามว่า กาฬเทวิล แต่มหาชนชอบเรียกว่า อสิตดาบส ได้สมาบัติ ๘ มีฤทธิ์มาก เป็นกุลุปกาจารย์ของพระเจ้าสุทโธทนะได้ทราบข่าวว่าท้าวเธอได้พระราชโอรส จึงได้เดินทางเข้าไปเฝ้าเยี่ยมเพื่อถวายพระพร พระเจ้าสุทโธทนะทรงดีพระทัยเสด็จออกต้อนรับท่านกาฬเทวิลดาบส และโปรดให้เชิญพระกุมารออกมาเพื่อถวายนมัสการท่านกาฬเทวิล แต่พระบาททั้งสองข้างของพระกุมารกลับขึ้นไปปรากฏบนเศียรเกล้าของท่านกาฬเทวิลเป็นอัศจรรย์ ดาบสเห็นดังนั้นก็ตกใจ แต่ครั้นพิจารณาดูลักษณะของพระกุมาร ก็ทราบด้วยปัญญาญาณ มีใจเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใสหัวเราะออกมาได้ด้วยปีติโสมนัส ประนมหัตถ์นมัสการถวายอภิวาทลงแทบพระบาทของพระกุมาร และแล้วท่านดาบสกลับได้คิด เกิดโทมนัสจิตร้องไห้ด้วยความเสียใจในวาสนาอาภัพของตน

พระเจ้าสุทโธทนะทรงแปลกพระทัย ได้รับสั่งถามถึงเหตุการณ์ดีใจและเสียใจ ท่านอาจารย์ได้ทูลพยากรณ์ว่า ที่ดีใจมาก ก็เพราะเห็นว่าพระกุมารเป็นผู้วิเศษ มีลักษณะพระโพธิสัตว์เจ้าบริบูรณ์ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าโดยแท้ จะเปิดโลกนี้ให้สว่างกระจ่างแจ้งด้วยแสงพระธรรม เป็นคุณที่น่ายินดียิ่งนัก แต่เมื่ออาตมารำพึงถึงอายุสังขารของอาตมา ซึ่งชราเช่นนี้แล้ว คงจะอยู่ไปไม่ทันเวลาของพระกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นบรมครูสั่งสอน จึงวิปฏิสารเสียใจ มีอายุไม่ทันได้สดับรับรสพระธรรมเทศนา จึงได้ร้องให้

ครั้นอสิตดาบสถวายพระพรแล้ว ก็ทูลลากลับไป ไปบ้านน้องสาวนำข่าวอันนี้ไปบอกนาลกมานพหลานชาย และกำชับให้พยายามออกบวชตามพระกุมารในกาลเมื่อหน้าโน้นเถิด

ครั้นถึงวันเป็นคำรบ ๕ นับแต่พระกุมารประสูติมา พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ทำพระราชพิธีโสรจสรงพระกุมารในสระโบกขรณี เพื่อถวายพระนามตามขัตติยราชประเพณี โปรดให้ตกแต่งพระราชนิเวศน์ให้วิจิตรงามเป็นพิเศษ ให้ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และเสนามุขอำมาตย์ทั้งปวง และโปรดให้เชิญพระโอรสซึ่งประดับด้วยราชประสาธนาภรณ์งามเพริศพริ้งมาสู่มหาสันติบาตร แล้วเชิญพราหมณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพท ๑o๘ คน ให้เลือกสรรเอาพราหมณ์ผู้ทรงคุณวิทยาประเสริฐกว่าพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ๘ คน ให้นั่งเหนืออาสนะอันสูง แล้วให้เชิญพระกุมารมายังที่ประชุมพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้น เพื่อพิจารณาลักษณะพยากรณ์

ในพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้น ยกโกณฑัญญะพราหมณ์ผู้เดียว ได้พร้อมกันพยากรณ์พระกุมารเป็น ๒ คติ คือ พระกุมารนี้ผิว่าจะสถิตอยู่ในฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผิว่าออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ผู้เดียว ได้พิจารณาเห็นแท้แน่นอนแก่ใจได้ยกนิ้วมือนิ้วเดียว ทำนายเป็นคติเดียวว่า ลักษณะพระกุมารเป็นลักษณะ พระมหาบุรุษพุทธลักษณะโดยส่วนเดียว จะไม่อยู่ครองฆราวาสและจะเสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้

อนึ่ง ได้พร้อมกันถวายพระนามพระกุมาร ตามคุณพิเศษที่ปรากฏ โดยที่พระกุมารมีพระรัศมีโอภาสแผ่ซ่านออกจากพระสรีระกายเป็นปกติ จึงถวายพระนามว่า "อังคีรส" และเพราะพระกุมารต้องพระประสงค์สิ่งใด สิ่งจะต้องพลันได้ดังประสงค์ จึงได้ถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แต่มหาชนนิยมเรียกตามพระโคตร "โคตมะ" ในวันนั้นบรรดาขัติยวงศ์ ศากยราชทั้งหมดมีความปีติโสมนัสยิ่งนัก ต่างได้ทูลถวายพระโอรสองค์ละองค์ ๆ สิ้นด้วยกันเป็นราชบริพารของพระสิทธัตถะกุมาร

ส่วนพระนางเจ้ามายาเทวี เมื่อทรงประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าล่วงไปได้ ๗ วัน ก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพบุตร สถิตอยู่ในดุสิตเทวโลก ตามประเพณีพุทธมารดา พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้มอบการบำรุงรักษาพระสิทธัตถะกุมารให้เป็นภาระแก่พระนางปชาบดีโคตรมี พระเจ้าน้าซึ่งก็เป็นมเหสีของพระองค์ด้วย แม้พระนางปชาบดีก็ทรงมีพระเมตตารักใคร่พระกุมารเป็นที่ยิ่ง เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงพระกุมารเป็นอย่างดี แม้ต่อมาพระนางเจ้าจะทรงมี พระโอรสถึง ๒ พระองค์ คือ นันทกุมาร และรูปนันทากุมารี ก็ทรงมอบภาระให้แก่พี่เลี้ยงนางนมบำรุงรักษา ส่วนพระนางเจ้าทรงเป็นธุระบำรุงพระสิทธัตถะกุมารด้วยพระองค์เอง

ต่อมาวันหนึ่ง เป็นวันพระราชพิธีวัปปมงคล งานแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปแรกนาขวัญในงานพระราชพิธีนั้น ก็โปรดให้เชิญพระกุมารไปด้วย ครั้นเสด็จถึงภูมิสถานที่แรกนาขวัญ ก็โปรดให้จัดร่มไม้หว้าซึ่งหนาแน่นด้วยกิ่งใบอันอยู่ใกล้สถานที่นั้น ให้เป็นที่ประทับของพระกุมาร โดยแวดวงด้วยม่านอันวิจิตร ครั้งถึงเวลาพระเจ้าสุทโธทนะทรงไถแรกนาขวัญบรรดาพระพี่เลี้ยงนางนมที่เฝ้าถวายบำรุงรักษาพระกุมารพากันหลีกออกมาดูพิธีนั้นเสียหมด ปล่อยให้พระกุมารประทับ ณ ภายใต้ร่มไม้หว้าพระองค์เดียว

เมื่อพระกุมารเสด็จอยู่พระองค์เดียว ได้ความสงัดเป็นสุขก็ทรงนั่งขัดสมาธิ เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังปฐมฌานให้บังเกิด เวลานั้นเป็นเวลาบ่ายเงาต้นไม้ทั้งหลายย่อมชายไปตามแสงตะวันทั้งสิ้น แต่เงาไม้หว้านั้นดำรงทรงรูปปรากฏเป็นปริมณฑลตรงอยู่ดุจเวลาตะวันเที่ยง เป็นมหัศจรรย์ เมื่อพี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายกลับมาเห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็พลันพิศวง จึงรีบไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะราช ท้าวเธอได้ทรงสดับก็รีบเสด็จมาโดยเร็ว ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์เช่นนั้น ก็ยกพระหัตถ์ถวายอภิวันทนาการ (ออกพระโอษฐ์ตรัสว่า เมื่อวันเชิญมาให้ถวายมนัสการพระกาฬเทวิลดาบส ก็ทรงทำปาฏิหาริย์ขึ้นไปยืนบนชฎาพระดาบส อาตมาก็ได้ประณตครั้งหนึ่งแล้ว และครั้งนี้อาตมาก็ได้ถวายอัญชลีเป็นวาระที่ ๒) ตรัสแล้วก็ได้อัญเชิญพระกุมารเสด็จคืนเข้าพระนคร ด้วยความเบิกบานพระทัย

ครั้นพระสิทธัตถะกุมารมีพระชนม์เจริญ ควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว พระราชบิดาจึงทรงมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร พระกุมารทรงศึกษาได้ว่องไวจนสิ้นความรู้ของอาจารย์ ต่อมาได้ทรงแสดงศิลปธนูซึ่งถือว่าเป็นวิชาสำคัญกษัตริย์ ในท่ามกลางขัตติยวงศ์ศากยราช และเสนามุขอำมาตย์ แสดงความแกล้วกล้าสามารถเป็นเยี่ยมไม่มีผู้ใดเทียมถึง ให้ปรากฏเป็นอัศจรรย์

ครั้นพระกุมารเจริญด้วยพระชนมพรรษา สมควรมีพระเทวีได้แล้ว พระราชบิดาโปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลัง งดงาม เพื่อเป็นที่เสด็จประทับอยู่ของพระราชโอรสประจำ ๓ ฤดูเป็นที่สบายในฤดูนั้นๆอย่างสมเกียรติ แล้วตรัสขอพระนางยโสธรา แต่นิยมเรียกว่าพระนางพิมพา พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ ในเทวทหะนคร อันประสูติแต่พระนางอมิตา พระกนิฏฐภคินีของพระองค์มาอภิเษกให้เป็นพระชายา พระสิทธัตถะกุมารเสด็จอยู่ยังปราสาททั้ง ๓ นั้น ตามฤดูทั้ง ๓ บำเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรีประโคมขับ ไม่มีบุรุษเจือปน เสวยสุขสมบัติ ทั้งกลางวันกลางคืน จนพระชนม์ได้ ๒๙ ปี มีพระโอรสประสูติแต่พระนางพิมพาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ราหุลกุมาร

วันหนึ่งพระเจ้าสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน โดยรถพระที่นั่งได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะซึ่งเทพยดานิมิตรให้เห็นในระยะทาง ทรงเบื่อหน่ายในกามคุณ ตั้งต้นแต่ได้เห็นคนแก่เป็นลำดับไป

ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคนล่วงพ้นไปได้เป็นอย่างนั้น ก็เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ เห็นผู้อื่นแก่ เจ็บ ตาย ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง ไม่คิดถึงตัวว่าจะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้าง เมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค และในชีวิต เหมือนหนึ่งว่าจะไม่ต้อง แก่ เจ็บ ตาย ขวนขวายหาแต่ของอันมีสภาวะเช่นนั้น ไม่คิดหาอุบายเครื่องพ้นบ้างเลย ถึงพระองค์ก็มีอย่างนั้นเป็นธรรม แต่การจะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างเขา ไม่ควรแก่พระองค์เลย

เมื่อดำริอย่างนั้นแล้ว ก็ทรงบรรเทาความเมา ๓ ประการ กับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได้ จึงทรงดำริต่อไปว่า ธรรมดาสภาวะทั้งปวงย่อมมีของที่เป็นข้าศึกแก่กัน คือ มีร้อนก็มีเย็นแก้ มีมืดก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ คือ แก่ เจ็บ ตาย ๓ อย่างนั้นได้บ้างกระมัง ก็แต่ว่าการที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์ ๓ อย่างนั้น เป็นการยากมาก ยิ่งผู้ที่ยังอยู่ในฆราวาสวิสัยแล้ว จะแสวงหาไม่ได้เลย เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแค้นนัก ทั้งเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง เหตุด้วยความรัก ความชัง ความหลง เป็นดุจทางมาแห่งธุลี ส่วนบรรพชาเป็นช่องว่าง พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้ ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้วก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชาไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติเมื่อทรงแน่พระทัยว่า บรรพชาเป็นอุบายให้แสวงธรรมเป็นเครื่องพ้นทุกข์ได้เช่นนั้น ก็ทรงโสมนัสเสด็จกลับพระราชวัง

ครั้นพระสิทธัตถะทรงน้อมพระทัยเสด็จออกบรรพชาเช่นนั้น ก็ทรงเห็นว่า ทางที่จะให้พระองค์ออกบรรพชาได้นั้น มีทางเดียวคือเสด็จออกจากพระนคร ตัดความอาลัย ความเยื่อใยในราชสมบัติ พระชายา และพระโอรส กับทั้งพระประยุรญาติ ตลอดราชบริพารทั้งสิ้นเสีย ด้วยหากจะทูลพระราชบิดาก็คงจะถูกทัดทาน ยิ่งมวลพระประยุรญาติทราบเรื่อง ก็จะรุมกันห้ามปราม การเสด็จออกซึ่งหน้า ไม่เป็นผลสำเร็จได้ เมื่อทรงตั้งพระทัยเสด็จหนีเช่นนั้นแล้ว ในราตรีนั้นเอง เสด็จบรรทมแต่หัวค่ำ ไม่ทรงใยดีในการขับประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีของพวกราชกัญญาทั้งหลาย ที่ประจงจัดถวายบำรุงบำเรอทุกประการ

เมื่อพระสิทธัตถะทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัด ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอเหล่านั้น นอนกลับเกลื่อนอยู่ภายในปราสาทซึ่งสว่างด้วยแสงประทีปบางนางอ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล บางนางผ้าหลุด บางนางกอดพิณ บางนางก่ายเปิงมาง บางนางบ่น ละเมอ นอนกลิ้งกลับไปมา ปรากฏแก่ พระสิทธัตถะดุจซากศพอันทิ้งอยู่ในป่าช้า ปราสาทอันงามวิจิตรแต่ไหนแต่ไรมาได้กลายเป็นป่าช้าปรากฏแก่พระสิทธัตถะ ในขณะนั้น เป็นการเพิ่มกำลังความดำริในการออกบรรพชาในเวลาย่ำค่ำขึ้นอีก ทรงเห็นบรรพชาในทางที่ห่างอารมณ์อันล่อให้หลงและมัวเมา เป็นช่องที่จะบำเพ็ญปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ทำชีวิตให้มีผลไม่เป็นหมัน ครั้นทรงตกลงพระทัยเช่นนั้น ก็เตรียมแต่งพระองค์ทรงพระขรรค์ รับสั่งเรียกนายฉันนะอำมาตย์ ให้เตรียมผูกม้ากัณฐกะเพื่อเสด็จออกในราตรีนั้น

ครั้นตรัสสั่งแล้วก็เสด็จไปยังปราสาทนางพิมพาเทวีเพื่อทอดพระเนตรพระราหุลกุมารพระโอรสองค์เดียวของพระองค์ เห็นพระนางบรรทมหลับสนิทพระกรกอดพระโอรสอยู่ทรงดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้ายก็เกรงพระนางจะตื่นบรรทมเป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาพระโอรส เสด็จออกจากห้อง เสด็จลงจากปราสาทพบนายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่งไว้พร้อมแล้ว ก็เสด็จขึ้นม้ากัณฐกะมีนายฉันนะตามเสด็จหนึ่งคน เสด็จออกจากพระนครในราตรีกาล ซึ่งเทพยดาก็บันดาลเปิดทวารพระนครไว้ให้เสด็จโดยสวัสดี

เมื่อเสด็จพ้นจากพระนครไปแล้ว พญาวัสวดีมารก็มาขัดขวางทางเสด็จทูลว่าอีก ๗ วัน สมบัติพระเจ้าจักรพรรดิก็จะมาถึงพระองค์แล้ว อย่าเพ่อรีบเสด็จออกบรรพชาเลย พระองค์ตรัสว่าแม้เราก็ทราบแล้ว แต่สมบัติจักรพรรดิหาทำให้ผู้เสวยพ้นทุกข์ได้ไม่ ท่านจงหลีกไปเถิด เมื่อทรงขับพญามารแล้ว ก็ทรงขับม้ากัณฐกราช บ่ายหน้าสู่มรรคาเพื่อข้ามให้พ้นเขตราชเสมาแห่งกบิลพัสดุ์บุรี

ครั้นเวลาใกล้รุ่งปัจจุสมัย ก็บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที ทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกบิลพัสดุ์บุรีแล้ว ก็เสด็จลงจากหลังอัศวราชประทับนั่งเหนือหาดทรายขาวสะอาด รับสั่งแก่นายฉันนะว่า เราจักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิต ในที่นี้ ท่านจงเอาเครื่องประดับกับม้าสินธพกลับพระนครเถิด ครั้นตรัสแล้วก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับ สำหรับขัตติยราชทั้งหมดมอบให้แก่นายฉันนะ ตั้งพระทัยปรารถนาจะทรงบรรพชา ทรงจับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ตัดพระโมลีให้ขาดออกเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง แล้วจับพระโมลีโยนขึ้นไปบนอากาศ ทันใดนั้นสมเด็จอมรินทราธิราชก็ทรงเอาผอบทองมารองรับพระโมลีเอาไว้ แล้วนำไปบรรจุยังพระจุฬามณีเจดียสถานในเทวโลก

ขณะนั้น ฆฏิการพรหมก็นำเอาผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรมาจากพรหมโลกน้อมเข้าไปถวาย พระสิทธัตถะทรงรับเอาแล้วนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ แล้วทรงตั้งพระหฤทัยอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตอันเป็นอุดมเพศแล้วทรงประทานผ้าทรงทั้งคู่ที่เปลื้องออกมอบให้แก่ฆฏิการพรหม ฆฏิการพรหมก็น้อมรับเอาผ้าคู่นั้นไว้บรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ในพรหมโลกสถาน

จบตำนานพระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศบรรพชิตแต่เพียงนี้

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ส.ค. 2013, 15:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

ปางที่ ๒
ปางปัจจเวกขณ์

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตรที่วางอยู่บนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ ทอดพระเนตรลงต่ำ

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้


เมื่อพระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตแล้ว จึงดำรัสสั่งนายฉันนะอำมาตย์ว่า เธอจงเป็นธุระนำอาภรณ์ของฉันกลับเข้ายังกรุงกบิลพัสดุ์ กราบทูลพระชนกและราชมาตุจฉาตลอดขัตติยสกุล ให้ทรงทราบเหตุทุกประการ อย่าให้ทรงทุกข์โทมนัสถึงฉันเลย จงเสวยภิรมย์ราชสมบัติให้เป็นสุขทุกอิริยาบถเถิด เมื่อฉันได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว จึงจะไปเฝ้า จงกราบทูลข่าวสารด้วยประการฉะนี้

นายฉันนะอำมาตย์รับพระราชโองการแล้ว ก็ถวายบังคมลาแทบพระยุคลบาทมิอาจกลั้นโศกาอาดูรได้ ด้วยมิอยากจะจากไปด้วยความเสน่หาอาลัยเป็นที่ยิ่ง ทั้งรู้สึกว่าเป็นโทษหนัก ที่ทอดทิ้งพระสิทธัตถะไว้พระองค์เดียว แต่ก็มิอาจจะขัดกระแสรับสั่งได้ จำต้องจากพระองค์ไปด้วยความสลดใจสุดจะประมาณ นำเครื่องอาภรณ์ของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าพร้อมกับม้ากัณฐกะกลับพระนครกบิลพัสดุ์ พอเดินทางไปได้ชั่วสุดสายตาเท่านั้น ม้ากัณฐกะก็ล้มลงขาดใจตาย ด้วยความอาลัยในพระบรมโพธิสัตว์เจ้าสุดกำลัง

เมื่อนายฉันนะกลับถึงพระนครแล้ว ก็แจ้งข่าวแก่ชาวเมืองที่ตามมามุงถามข่าว และอำมาตย์ผู้ใหญ่ ตลอดจนเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะถวายเครื่องอาภรณ์ของพระบรมโพธิสัตว์ และกราบทูลความตามที่พระบรมโพธิสัตว์ทรงสั่งมาทุกประการ

ครั้นพระราชบิดา พระมาตุจฉา พระนางพิมพา ตลอดขัตติยวงศ์ราชได้สดับข่าวก็ค่อยคลายความโศกเศร้า และต่างก็ตั้งหน้าคอยสดับข่าวตรัสรู้พระสัมโพธิญาณของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าสืบไป ตามคำพยากรณ์ของอสิตดาบสและพราหมณ์ทั้งหลายทูลถวายไว้แต่ต้นนั้น

ส่วนพระบรมโพธิสัตว์เจ้า หลังแต่ทรงบรรพชาเพศแล้ว เสวยบรรพชาสุขอยู่ ณ ป่าไม้มะม่วงตำบลหนึ่ง มีนามว่า อนุปิยอัมพวัน เว้นเสวยพระกระยาหาร ถึง ๗ วัน ครั้นวันที่ ๘ จึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวรควรแก่ภาวะของสมณะเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของทุกคนที่ได้เห็น เมื่อได้อาหารภัตรพอควรแก่ยาปนะมัตแล้ว ก็เสด็จกลับ โดยทางประตูที่แรกเสด็จเข้าไป ตรงไปยังมัณฑวะบรรพต อันมีหน้าผาเป็นที่ร่มเย็นควรแก่สมณวิสัย ประทับนั่งแล้วทรงปรารภจะเสวยอาหารในบาตร ทอดพระเนตรเห็นบิณฑาหารในบาตร ไม่สะอาด ไม่ประณีต หารสกลิ่นอันจะชวนให้บริโภคสำหรับคนที่อดอาหารมาตั้ง ๗ วัน เช่นกับพระองค์ก็ไม่ได้ เป็นอาหารเลวที่พระองค์ไม่เคยเสวยมาแต่ก่อน ก็บังเกิดปฏิกูลน่ารังเกียจเป็นอันมาก เสวยไม่ได้

ลำดับนั้นพระองค์จึงตรัสสอนพระองค์เองว่า สิทธัตถะเอย ตัวท่านบังเกิดในขัตติยสุขุมาลชาติ เคยบริโภคอาหารอันปรุงแต่งด้วยสุคนธชาติโภชนสาลี ทั้งประกอบด้วยสูปพยัญชนะ มีรสอันเลิศต่างๆ ไฉน ท่านจึงไม่รู้สึกตนว่า บัดนี้ท่านเป็นบรรพชิตอยู่ในรูปนี้ และเที่ยวขอเขาโดยอาการของสมณะที่นิยมเรียกว่า บิณฑบาต แล้วอย่างไรท่านจะได้อาหารอันสะอาดประณีตมาแต่ที่ใดเล่า สิทธัตถะ บัดนี้ ท่านควรจะคิดอย่างไรแก่อาหารที่ได้มานี้ ครั้นให้โอวาทแก่พระองค์ฉะนี้แล้ว ก็ทรงมนสิการพิจารณาอาหารบิณฑบาตด้วยธาตุปัจจเวกขณ์ และปฏิกูลปัจจเวกขณ์ ด้วยพระปรีชาญาณว่า ยถา ปจฺจยํ ปวตฺตมานํ ธาตุมตฺตเมเวตํ เป็นอาทิ ด้วยพระสติดำรงมั่นความว่า สรรพสิ่งทั้งหมดย่อมเป็นไปตามปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น ถึงอาหารบิณฑบาตนี้ความจริงก็สักแต่ว่าเป็นธาตุ จะต้องเป็นไปตามปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้นเช่นเดียวกันเป็นต้น แล้วทรงเสวยอาหารบิณฑบาตนั้นโดยปราศจากความรังเกียจ ดุจเทพเจ้าดื่มอมฤตรส และทรงกำหนดในพระทัยว่า ตั้งแต่ทรงผนวชมาได้ ๘ วันเพิ่งได้เสวยภัตตาหารวันนี้

จบตำนานพระพุทธรูปปางปัจจเวกขณ์แต่เพียงนี้

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ส.ค. 2013, 22:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

ปางที่ ๓
ปางทุกกรกิริยา

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองซ้อนกันวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย อุตตราสงค์ (จีวร) อยู่บนพระอังสาเล็กน้อย ข้างขวาหลุดลงมาวางอยู่บนพระเพลา ลางแห่งทำแบบจีวรหลุดลงมาหมด พระกายซูบผอม จนพระอัฐิ พระนหารู ปรากฏชัด

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

นับแต่วาระแรกที่พระบรมโพธิสัตว์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ทรงมีกิริยาสงบแผกจากบรรพชิตในเวลานั้น พระองค์จึงเกิดเป็นบรรพชิตที่สำคัญควรที่ผู้มีปัญญาจะพึงสำเหนียกดูพฤติการณ์ ดังนั้นพวกราชบุรุษจึงนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร ราชาธิบดี แห่งแคว้นมคธให้ทรงทราบ ท้าวเธอจึงรับสั่งให้สะกดรอยติดตามเพื่อรู้ความเท็จจริงของบรรพชิตพิเศษรูปนี้ ครั้นราชบุรุษออกติดตามได้ความจริงแล้ว ก็นำความขึ้นกราบทูลพระเจ้ากรุงมคธให้ทรงทราบ

พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับ ก็มีพระทัยโสมนัสในพระคุณสมบัติทรงพระประสงค์จะได้พบ จึงเสด็จด้วยพระราชยานออกจากพระนครโดยด่วน ครั้นถึงบัณฑวะบรรพตก็เสด็จจากพระราชยาน ทรงดำเนินเข้าไปเฝ้าพระบรมโพธิสัตว์เจ้า เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระอิริยาบถเรียบร้อยอยู่ในสมณสังวรก็ยิ่งหลากพระทัย ทรงเลื่อมใสในปฏิปทายิ่งขึ้น ครั้นได้ทูลถามถึงตระกูล ประเทศ และพระชาติ เมื่อทรงทราบว่าเป็นขัตติยศากยราชเสด็จออกบรรพชา ก็ทรงดำริว่า ชรอยพระบรมโพธิสัตว์จะทรงพิพาทกับพระประยูรญาติด้วยเรื่องพระราชสมบัติเป็นแม่นมั่น จึงได้เสด็จออกบรรพชา อันเป็นธรรมดาของนักพรตที่ออกจากราชตระกูลในกาลก่อน จึงได้ทรงเชื้อเชิญพระบรมโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ ซึ่งพระองค์ยินดีจะแบ่งถวายให้เสวยสมบัติสมพระเกียรติทุกประการ

พระบรมโพธิสัตว์ตรัสตอบขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสาร ที่ทรงมีพระเมตตาแบ่งพระราชสมบัติ พระราชทานแต่พระองค์มิได้มีความประสงค์จำนงค์หมายเช่นนั้น ทรงสละราชสมบัติออกผนวช เพื่อมุ่งหมายพระสัพพัญญุตญาณโดยแท้

พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับก็ตรัสอนุโมทนา และทูลขอปฏิญญากะพระบรมโพธิสัตว์ว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ขอให้ทรงพระกรุณาเสด็จมาแสดงธรรมโปรดด้วย ครั้นพระบรมโพธิสัตว์ทรงรับปฏิญญาแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับพระนคร

ลำดับนั้น พระบรมโพธิสัตว์ก็เสด็จจาริกจากที่นั้น ไปสู่สำนักท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร ซึ่งสร้างอาศรมอยู่ในพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ขอพำนักศึกษาวิชาและปฏิบัติอยู่ด้วย ทรงศึกษาอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุสมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ สิ้นความรู้ของอาฬารดาบส ทรงเห็นว่าธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาจากอาฬารดาบสไปสู่สำนักอุทกดาบส รามบุตร ขอพำนักศึกษาอยู่ด้วย ทรงศึกษาได้อรูปฌานเพิ่มขึ้นอีก ๑ ครบสมาบัติ ๘ สิ้นความรู้ของอุทกดาบส ครั้นทรงไต่ถามถึงธรรมวิเศษขึ้นไป อุทกดาบสก็ไม่สามารถจะบอกได้ และได้ยกย่องตั้งพระบรมโพธิสัตว์ไว้ในที่เป็นอาจารย์เสมอด้วยตน แต่พระบรมโพธิสัตว์ทรงเห็นว่า ธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาออกแสวงหาธรรมวิเศษสืบไป ทั้งมุ่งพระทัยจะทำความเพียรโดยลำพังพระองค์ด้วย ได้เสด็จจาริกไปยังมคธชนบท บรรลุถึงตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ราบรื่น แนวป่าเขียวสด เป็นที่เบิกบานใจ แม่น้ำไหล มีน้ำใสสะอาด มีท่าน่ารื่นรมย์ โคจรคามคือหมู่บ้านที่อาศัย เที่ยวภิกษาจารก็ตั้งอยู่ไม่ไกล ทรงเห็นว่าสถานที่นั้น ควรเป็นที่อาศัยของกุลบุตรผู้มีความต้องการด้วยความเพียรได้ จึงเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น

ฝ่ายโกณฑัญญพราหมณ์ ได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถะกุมารเสด็จออกบรรพชาแล้วก็ดีใจ รีบไปชวนบุตรของเพื่อนพราหมณ์ื ๘ คน ที่ร่วมคณะถวายคำทำนายพระลักษณะด้วยกัน กล่าวว่า บัดนี้พระสิทธัตถะกุมารเสด็จออกบรรพชาแล้ว ตามคำพยากรณ์พระองค์จะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ ไม่มีข้อที่จะสงสัยไปเป็นอื่น ถ้าบิดาของท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็จะออกบรรพชาด้วยกันในวันนี้ ดังนั้นหากท่านปรารถนาจะบวช ก็จงมาบวชตามเสด็จพระกุมารด้วยกันเถิด แต่บุตรพราหมณ์ทั้ง ๗ นั้น หาได้พร้อมใจกันทั้งหมดไม่ ยินดีรับบวชด้วยเพียง ๔ คน โกณฑัญญพราหมณ์ ก็พาพราหมณ์มานพทั้ง ๔ ออกบรรพชา เป็น ๕ คนด้วยกันจึงได้นามว่า "พระปัญจวัคคีย์" เพราะมีพวก ๕ คน คือ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ ชวนกันออกสืบเสาะติดตามพระบรมโพธิสัตว์เจ้าในที่ต่างๆ จนไปประสบพบพระบรมโพธิสัตว์ที่ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม จึงพากันเข้าไปถวายอภิวาทแล้วอยู่ปฏิบัติบำรุงจัดทำธุรกิจถวายทุกประการ โดยหวังว่า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดตนบ้าง

พระบรมโพธิสัตว์ทรงเริ่มทำทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นปฏิปทาที่นิยมว่า เป็นทางให้ตรัสรู้ได้ในสมัยนั้น โดยทรมานพระกายให้ลำบาก อันเป็นกิจยากที่บุคคลจะกระทำได้ด้วยการทรมานเป็น ๓ วาระ ดังนี้

วาระที่ ๑ ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยชิวหาไว้ให้แน่นจนพระเสโทไหลโซมจากพระกัจฉะ ในเวลานั้นได้เสวยทุกขเวทนากล้า เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังมากจับบุรุษที่มีกำลังน้อยที่ศีรษะหรือที่คอ บีบให้แน่นฉะนั้น แม้พระกายจะกระวนกระวายไม่สงบอย่างนี้ แต่ทุกขเวทนานั้นไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่ายได้ พระองค์มีพระสติมั่นไม่ฟั่นเฟือน ทรงบากบั่นทำติดต่อไม่ท้อถ้อย ครั้นเห็นว่าทรงทำอย่างนั้น ไม่ใช่ทางให้ตรัสรู้ได้ จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป

วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ เมื่อลมเดินไม่สะดวกทางพระนาสิกและพระโอฐ ก็เกิดเสียงดังอู้ทางพระกรรณทั้งสองข้างให้ปวดพระเศียร เสียดพระอุทรร้อนในพระกายเป็นกำลัง แม้จะได้เสวยทุกขเวทนากล้าถึงเพียงนั้น แต่ทุกขเวทนานั้นก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่ายได้ มีพระสติไม่ฟั่นเฟือนบากบั่นทำติดต่อไม่ย่อหย่อน ครั้นทรงเห็นว่า การทำอย่างนี้ ไม่ใช่ทางให้ตรัสรู้ได้ จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป

วาระที่ ๓ ทรงอดพระอาหาร ทรงผ่อนเสวย ลดอาหารให้น้อยลงๆ ในที่สุดก็ไม่เสวย จนพระกายเหี่ยวแห้ง พระฉวีเศร้าหมองพระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย เมื่อทรงลูบพระกายเส้นพระโลมามีรากเน่าล่วงจากขุมพระโลมา พระกำลังน้อยลง จะเสด็จไปข้างไหนก็ซวนล้ม วันหนึ่งทรงอ่อนพระกำลังอิดโรยหิวโหยที่สุด จนไม่สามารถจะทรงพระกายไว้ได้ ก็ทรงวิสัญญีภาพล้มลงในที่นั้น

ขณะนั้น เทพยดาองค์หนึ่งสำคัญผิดคิดว่า พระบรมโพธิสัตว์สิ้นพระชนม์แล้ว จึงรีบไปยังปราสาทพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ทูลว่า บัดนี้ พระสิทธัตถะพระโอรสของพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งถามว่า พระโอรสของเราได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือยังเป็นประการใด เทพยดาตอบว่า ยังมิได้ตรัสรู้ ท้าวเธอไม่ทรงเชื่อจึงรับสั่งว่า จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ หากพระโอรสของเรายังมิได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะไม่ด่วนทำลายพระชนม์ชีพก่อนเลย แล้วเทพยดาองค์นั้นก็อันตรธานจากพระราชนิเวศน์ไป

ส่วนพระบรมโพธิสัตว์ เมื่อได้สัญญาฟื้นพระกายกุมพระสติให้ตั้งมั่น ทรงพิจารณาดูปฏิปทาในทุกกรกิริยาที่ทรงทำอยู่ ทรงดำริว่าถึงบุคคลทั้งหลายใดๆ ในโลกนี้จะทำทุกกรกิริยาอย่างอุกฤษฏ์นี้ บุคคลนั้นก็ทำทุกกรกิริยาเสมออาตมะเท่านั้น จะทำยิ่งกว่าอาตมะหาได้ไม่ แม้อาตมะปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ถึงเพียงนี้แล้ว ไฉนหนอจึงยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ ชรอยทางตรัสรู้จะมีเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างนี้แน่ เกิดพระสติหวลระลึกถึงความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางให้ตรัสรู้บ้าง

ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชทรงทราบข้อปริวิตกของพระบรมโพธิสัตว์ ดังนั้นจึงทรงพิณทิพย์สามสายมาดีดถวายพระบรมโพธิสัตว์ สายหนึ่งตึงนัก พอดีดไปหน่อยก็ขาด สายหนึ่งหย่อนนัก ดีดเท่าใดก็ไม่ส่งเสียง สายหนึ่งไม่ตึงไม่หย่อนเกิน พอปานกลาง ดีดเข้าก็บรรลือเสียงไพเราะเจริญใจ พระบรมโพธิสัตว์ได้สดับเสียงพิณ ทรงหวลระลึกถึงพิณที่เคยทรงมาแต่ก่อน ก็ทรงตระหนักแน่ ถือเอาเป็นนิมิตร ทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า ทุกกรกิริยามิใช่ทางตรัสรู้แน่ ทางแห่งพระโพธิญาณที่ควรแก่การตรัสรู้ต้องเป็น มัชฌิมาปฏิปทา บำเพ็ญเพียรทางจิตปฏิบัติปานกลาง ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก จึงใคร่จะทรงตั้งปณิธานทำความเพียรทางจิต ทรงเห็นว่า ความเพียรทางจิตเช่นนั้น คนซูบผอมหากำลังมิได้เช่นอาตมะนี้ ย่อมไม่สามารถจะทำได้ ควรจะหยุดพักกินอาหาร แข้น คือ ข้าวสุก ขนมสด ให้มีกำลังดีก่อน ครั้นตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็กลับเสวยอาหารบำรุงพระวรกายตามเดิม

จบตำนานพระพุทธรูปปางทุกกรกิริยาแต่เพียงนี้

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ส.ค. 2013, 23:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

ปางที่ ๔
ปางทรงสุบิน

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา (สำเร็จสีหไสยา) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระกาย พระหัตถ์ขวาแนบกับพื้นยกหลังพระหัตถ์ขึ้นแนบพระหนุ (คาง) หลับพระเนตร เป็นกิริยาบรรทมหลับ

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

เมื่อพระมหาบุรุษพุทธางกูร บรมโพธิสัตว์เจ้า ทรงเลิกละทุกกรกิริยา เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิต โดยทรงเปรียบเทียบอุปมา ๓ ข้อ ที่พระองค์ไม่เคยสดับและไม่เคยดำริมาก่อนเลย ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่า

สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งยังมิได้หลีกออกจากกาม ยังพอใจรักใคร่ในกามอยู่ ยังละกามไม่ได้ ยังสงบระงับใจไม่ได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้จะพยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติให้เข็มแข็งทนทุกข์ทรมานเพียงใด ๆ ก็ตาม ย่อมจะตรัสรู้ไม่ได้ เหมือนไม้สดที่แช่น้ำอยู่ บุคคลเอามาสีให้เกิดไฟ ย่อมจะไม่ได้ไฟเป็นแน่แท้ ด้วยไฟจะไม่เกิด ต้องเหน็ดเหนื่อยเปล่า เพราะไม้สดแถมแช่น้ำอีกด้วย


อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้หลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังพอใจรักใคร่ในกาม ยังละกามไม่ได้ ยังสงบระงับใจไม่ได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแม้จะพยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติให้เข้มแข็งทนทุกข์ทรมานเพียงใดๆ ก็ตาม ก็ย่อมจะตรัสรู้ไม่ได้ เหมือนไม้สดแม้จะไม่ได้แช่น้ำ บุคคลจะเอามาสีให้เกิดไฟ ก็ย่อมจะไม่ได้ไฟเป็นแน่แท้ ด้วยไฟจะไม่เกิด ต้องเหน็ดเหนื่อยเปล่า เพราะไม้ยังสดอยู่

อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง หลีกออกจากกามแล้ว ละความพอใจในกามได้ ทำใจให้สงบระงับดีแล้ว เมื่อสมณพราหมณ์เหล่านั้นได้พยายามทำความเพียรในทางปฏิบัติ จะได้รับทุกข์ทรมาน หรือหาไม่ก็ตาม ก็ย่อมจะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้ง ที่ไม่ได้แช่น้ำ บุคคลอาจเอามาสีให้เกิดไฟได้เป็นแน่แท้ เพราะเป็นของแห้ง ทั้งอยู่ในที่แห้งอีกด้วย

อุปมาทั้ง ๓ ข้อนี้ ได้เป็นกำลังสนับสนุนพระหฤทัยให้พระมหาบุรุษพุทธางกูรเจ้าทรงมั่นหมายในการทำความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางให้พระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยแน่แท้

ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ภิกษุ ผู้มีความนิยมทุกกรกิริยา เลื่อมใสในลัทธิทรมานกายให้ลำบาก ว่าเป็นทางที่จะให้ตรัสรู้ จึงพากันมาเฝ้าพระมหาบุรุษ เมื่อเห็นพระมหาบุรุษทำความเพียรในทุกกรกิริยาอย่างตึงเครียด เกินกว่าสามัญชนจะทำได้เช่นนั้น ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใส มั่นใจว่าพระองค์จะต้องได้ตรัสรู้โดยฉับพลันและจะทรงพระเมตตาประทานธรรมเทศนาโปรดตนให้ตรัสรู้บ้าง แต่ครั้นเห็นพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยาที่ประพฤติมาแล้ว และเห็นร่วมกันว่า บัดนี้พระองค์คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว ก็เกิดเบื่อหน่ายในอันที่จะปฏิบัติบำรุงอีกต่อไป ด้วยเห็นว่าพระองค์คงจะไม่สามารถบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงพากันหลีกหนีไปเสียจากที่นั้น ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี

พระมหาบุรุษพุทธางกูรเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตมาด้วยดีตลอดเวลา จนถึงราตรีวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เวลาบรรทมหลับ ทรงพระสุบินเป็นบุพพนิมิตรมหามงคล ๕ ประการ คือ

๑. ทรงพระสุบินว่า พระองค์ทรงผทมหงายเหนือพื้นปฐมพี พระเศียรหนุนภูเขาหิมพานต์ พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรในทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งคู่หยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้

๒. ทรงพระสุบินว่า หญ้าแพรกเส้นหนึ่งออกจากพระนาภี สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า

๓. ทรงพระสุบินว่า หมู่หนอนทั้งหลาย สีขาวบ้างดำบ้างเป็นอันมาก ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งคู่ เต็มพระชงฆ์ และไต่ขึ้นมาถึงพระชานุมณฑล

๔. ทรงพระสุบินว่า ฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่างๆ กัน คือ สีเหลือง เขียว แดง ดำ บินมาแต่ทิศทั้ง ๔ ลงมาจับแทบพระบาทแล้วก็กลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น

๕. ทรงพระสุบินว่า เสด็จขึ้นไปเดินจงกรม บนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นมิได้เปรอะเปื้อนพระยุคลบาท


ในพระสุบินทั้ง ๕ ข้อนั้น มีคำอธิบายทำนายว่า

ข้อ ๑. พระมหาบุรุษเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓

ข้อ ๒. พระมหาบุรุษเจ้าจะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยมรรค ผล นิพพาน แก่เทพยาและมนุษย์ทั้งมวล

ข้อ ๓. คฤหัสถ์ พราหมณ์ทั้งหลาย จะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์เป็นอันมาก

ข้อ ๔. ชาวโลกทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทย์ เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะรู้ทั่วถึงธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดผ่องใสไปสิ้น

ข้อ ๕. ถึงแม้พระองค์จะสมบูรณ์ด้วยสักการะวรามิส ที่ชาวโลกทุกทิศน้อมถวายด้วยความเลื่อมใส ก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย


ครั้นพระมหาบุรุษเจ้า ตื่นผทมแล้ว ก็ทรงดำริถึงข้อความในพระมหาสุบินทั้ง ๕ นั้น แล้วทรงทำนายด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้ ก็ทรงเบิกบานพระทัย ครั้นได้ทรงทำสรีรกิจ สะสรงพระกายหมดจดแล้ว ก็เสด็จมาประทับนั่งที่ร่มไม้นิโครธพฤกษ์ ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขปุณณมีดิถีกลางเดือน ๖ ปีระกา

จบตำนานพระพุทธรูปปางทรงสุบินแต่เพียงนี้

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร