วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2012, 12:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


วันอาสาฬหบูชา
วันแห่งพระรัตนตรัยครบองค์ ๓
วันพฤหัสบดีที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘-๘


วันเข้าพรรษา
วันศุกร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘-๘

:b8: :b8: :b8: ขอเชิญชวนเพื่อนๆ สาธุชนทุกท่านร่วมกัน “ปฏิบัติบูชา” (บูชาด้วยการปฏิบัติธรรม) รักษาศีล ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม เวียนเทียน รวมทั้งถวายเทียนพรรษา - หลอดไฟ - ผ้าอาบน้ำฝน - ดอกไม้ธูปเทียน ฯลฯ แด่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษา ตลอดจนตั้งสัจจะอธิษฐานงดเว้นจากอบายมุขต่างๆ และสิ่งที่เป็นบาปอกุศลทั้งปวง เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เนื่องในเทศกาล วันอาสาฬหบูชา ธรรมยาตราคุ้มครองโลก วันแห่งพระรัตนตรัยครบองค์ ๓ และ วันเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ ปีมหามงคล สัมพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

รูปภาพ

:b42: “วันอาสาฬหบูชา” (อ่านว่า อา-สาน-หะ-บู-ชา; บาลี : อาสาฬหปูชา; อังกฤษ : Asalha Puja Day) ย่อมาจากคำว่า “อาสาฬหบูรณมีบูชา” คือ การบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ในวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะ หรือในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ หรือเดือน ๘ (หากตรงกับปีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นเดือน ๘ หลัง) ก่อน “วันเข้าพรรษา” ๑ วัน ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ดังนี้

(๑) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมเทศนา คือเทศน์กัณฑ์แรกของโลก ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เพื่อโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี แคว้นกาสี (หรือ “ธัมมเมกขสถูป” ภายในอาณาบริเวณสารนาถ ในปัจจุบัน)

(๒) เป็นวันที่ “พระอัญญาโกณฑัญญะ” หัวหน้าพระปัญจวัคคีย์ ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน จึงกราบทูลขออุปสมบท โดยพระพุทธองค์ทรงทำการอุปสมบทให้ด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
(พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง) บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกในพระพุทธศาสนาขึ้นครั้งแรกในโลก กล่าวคือ เป็นวันที่เกิดสังฆรัตนะขึ้นครั้งแรกในโลก

(๓) เป็นวันที่พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เกิดขึ้นครบองค์ ๓ เป็นครั้งแรกอย่างสมบูรณ์ บริบูรณ์
(ก่อนหน้านี้มีเพียงพระพุทธและพระธรรมเท่านั้น) เหตุการณ์ในวันอาสาฬหบูชานี้ เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ แล้วสองเดือน

(๔) เป็นวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะ คือ วันเพ็ญเดือน ๘


เท่ากับว่าใน “วันอาสาฬหบูชา” นี้เองที่พระพุทธเจ้าทรงได้รับพระนามว่าเป็น “สัมมาสัมพุทโธ” (เป็นผู้ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง) โดยสมบูรณ์ เพราะมี “พยาน” (พระอัญญาโกณฑัญญะ) ในการตรัสรู้ธรรมโดยชอบ คือรู้ตามพระธรรมของพระองค์แล้ว

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งพระธรรม มีใจความสำคัญกล่าวถึงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการ คือ


>> ก. มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ได้บรรลุถึงจุดหมายในการแสวงหาทางพ้นทุกข์ มิใช่การดำเนินชีวิตสุดโต่ง ๒ ทาง กล่าวคือ บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติที่สุด ๒ อย่างคือ

(๑) กามสุขัลลิกานุโยค คือ การหมกมุ่นอยู่ในกามสุข มัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ถือว่าจะดับทุกข์ได้ด้วยการบริโภคกามให้เต็มเปี่ยม เป็นการหลงใหลเข้าใจผิด ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งเพิ่มกำลังให้กับกิเลส มีแต่โทษหาประโยชน์มิได้เลย

(๒) อัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตนให้ได้รับความลำบาก คอยหวังพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยคิดว่าจะสามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติที่เคร่งครัดจนเกินไป ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งทำให้หลงใหลงมงายมากขึ้นและไม่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์ได้

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละเว้นจากการปฏิบัติผิด ๒ ทางนี้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ตึงเกินไปและหย่อนเกินไป ทรงให้หันกลับมาดำเนินในทางสายกลาง เพราะพระองค์เคยผ่าน ๒ ทางนี้มาแล้ว ทรงเห็นว่าไม่ได้ผลและไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่แท้จริง ทางสายกลางที่ถูกต้องสมบูรณ์นั้นต้องประกอบด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน


>> ข. อริยสัจ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ, สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์, นิโรธ คือความดับทุกข์ และ มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

:b42: รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งคือ “วันเข้าพรรษา” (Buddhist Lent Day) “เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึงพระภิกษุสงฆ์จะต้องอธิษฐานจิตว่าอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอดเวลา ๓ เดือนในระหว่างฤดูฝน โดยไม่ไปค้างแรมในที่อื่น ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ จะต้องไปค้างแรมที่อื่นหลายวัน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ไปได้แต่ไม่เกิน ๗ วัน พระภิกษุสงฆ์ออกจากวัดไปค้างแรมในที่อื่นในระหว่างพรรษาด้วยไปทำกิจที่จำเป็นนี้เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” หรือ สัตตาหะ

กิจที่จำเป็นที่ว่านี้มี ๔ ประการ คือ

๑. เพื่อนสหธรรมิก (เพื่อนพระด้วยกัน) หรือบิดามารดา-ญาติป่วย ไปเพื่อรักษาพยาบาล

๒. เพื่อนสหธรรมิกกระสัน (คือ อยากลาสิกขา) ไปเพื่อระงับห้ามปรามมิให้ลาสิกขา ชี้แจงให้กลับใจ มีอุตสาหะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๓. ไปกิจการของสงฆ์ เช่น ไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมกุฏิวิหารที่ชำรุด

๔. ทายกนิมนต์ไปเทศนาสั่งสอน หรือไปบำเพ็ญกุศล


เดิมในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์จึงต่างพากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อ ทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ต่อมาชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะศากยบุตรไม่ยอมหยุดสัญจรแม้ในช่วงฤดูฝน ในขณะที่พวกพ่อค้าและนักบวชในศาสนาอื่นๆ ต่างพากันหยุดสัญจรในช่วงฤดูฝนนี้ การที่พระภิกษุสงฆ์เที่ยวจาริกสัญจรไปมาในสถานที่ต่างๆ แม้ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูเพาะปลูก อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าและพืชพันธุ์อื่นๆ ของชาวบ้านทำให้ได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็ก สัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย

พระพุทธองค์ได้ทรงสดับแล้ว จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่แห่งเดียวตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ห้ามมิให้เที่ยวจาริกสัญจรไปมา ซึ่งนอกจากพระภิกษุสงฆ์จะไม่ไปเหยียบย่ำข้าวกล้าและพืชพันธุ์อื่นๆ ของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัยอีกด้วย ครั้นพระภิกษุสงฆ์อธิษฐานเข้าพรรษาแล้ว หากมีกิจธุระจำเป็นอันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ แต่จะต้องกลับมายังสถานที่เดิมภายใน ๗ วัน จึงถือว่าพรรษาไม่ขาด


วันเข้าพรรษากำหนดไว้ ๒ ระยะ หรือมี ๒ ช่วง คือ

(๑) วันเข้าพรรษาแรก (ปุริมพรรษา) ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

(๒) วันเข้าพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา) ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไปจนถึงวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันลอยกระทง)

สถานที่สำหรับจำพรรษานั้น พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นสถานที่ที่เหมาะสม ดังนี้
๑) เสนาสนะที่มุงบังมิดชิด
๒) เสนาสนะที่มีบานประตูปิด-เปิดได้
๓) ไม่ใช่ในร่ม (เช่น กลดพระธุดงค์) ตุ่มน้ำ โพรงไม้
๔) เป็นสถานที่เดียวตลอด ๓ เดือน ไม่ใช่หลายสถานที่

เมื่อพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ย่อมได้รับ “อานิสงส์” ตามพระวินัย หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องรักษาพระวินัย ๕ ประการ คือ

๑) จาริกไปที่อื่นได้โดยไม่ต้องบอกลาเพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน ข้อนี้เป็นข้อยกเว้นพิเศษ เพราะตามปกติพระภิกษุจะไปที่อื่นจะต้องบอกลาเพื่อนพระด้วยกัน ถ้าไปไหนไม่ได้บอกลา ปรับอาบัติ (มีความผิดตามพระวินัย)

๒) จาริกไปที่อื่นได้โดยไม่ต้องนำผ้าไตรไปครบชุด มีพระวินัยบัญญัติข้อหนึ่งว่า พระภิกษุจะต้องนำผ้าไตรไปครบชุด หาไม่จะถูกปรับอาบัติ

๓) ฉันอาหารเป็นหมู่คณะและฉันพร่ำเพรื่อ (ในเวลา) ได้ ซึ่งตามปกติห้ามทำอย่างนี้

๔) เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ คือ พระภิกษุสามารถเก็บผ้าจีวรนอกจากผ้าไตรได้

๕) มีส่วนได้ “อดิเรกลาภ” (ลาภพิเศษ) ที่เกิดขึ้นในวัดนั้น

อานิสงส์เหล่านี้ พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาแล้วมีสิทธิได้รับตั้งแต่วันแรกที่ออกพรรษาเป็นเวลา ๑ เดือน และถ้าได้รับกฐินแล้วยืดเวลาไปอีก ๔ เดือน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

===========

:b44: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันอาสาฬหบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45499

:b44: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันเข้าพรรษา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45498

:b47: “สารนาถ” อนุสรณ์สถานแห่งการประกาศพระสัทธรรม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=50869

:b47: ธรรมเมกขสถูป, ธัมมจักกัปปวัตนสูตร, วันอาสาฬหบูชา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=85&t=57752

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2012, 18:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วันวิสาขบูชา
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ถือได้ว่าเป็น วันพระพุทธ

วันอาสาฬหบูชา
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก ถือได้ว่าเป็น วันพระธรรม

วันมาฆบูชา
เป็นวันที่พระสงฆ์มาประชุมพร้อมเพรียงกัน รับฟังหลักการสำคัญ
เพื่อแยกย้ายกันไปเผยแผ่พระศาสนา ถือได้ว่าเป็น วันพระสงฆ์

หมายเหตุ : เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่นๆ ในพระพุทธศาสนา
บางทีเรียก วันมาฆบูชา นี้ว่าเป็น วันพระธรรม
กล่าวคือ เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงประทาน
หลักโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระธรรม
และบางทีเรียก วันอาสาฬหบูชา นี้ว่าเป็น วันพระสงฆ์
กล่าวคือ เป็นวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์สาวกขึ้นเป็นครั้งแรก


• การปฏิบัติบูชา •

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า อามิสบูชา คือการบูชาด้วยสิ่งของ
เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน และอาหาร ฯลฯ แม้จะสำคัญก็ยังเป็นรองปฏิบัติบูชา

ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติธรรม จึงสูงสุดและสำคัญอย่างแท้จริง
เป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ทั้งแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง ทั้งแก่สันติสุขของพหูชน
และเป็นเครื่องสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาที่มั่นคงแน่นอน


เมื่อปฏิบัติบูชามีอยู่ อามิสบูชาก็เป็นกำลังสนับสนุนและพลอยมีความสำคัญ
แต่ถ้าไร้ปฏิบัติบูชา อามิสบูชาก็หมดความหมาย


คัดลอกบางตอนจาก :: หนังสือจาริกบุญ-จาริกธรรม
หนังสือมองวันวิสาขบูชา หยั่งถึงอารยธรรมโลก
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

:b47: :b44: :b47:

:b49: พุทธคุณ ๙ : คุณความดีของพระพุทธเจ้า ๙ ประการ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=27034

:b49: ธรรมคุณ ๖ : คุณของพระธรรม ๖ ประการ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=27033

:b49: สังฆคุณ ๙ : คุณของพระสงฆ์ ๙ ประการ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=27032

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร