ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
เรื่องเล่าที่ “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” วัดบวรนิเวศวิหาร http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=81&t=54933 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | สาวิกาน้อย [ 02 พ.ย. 2013, 06:05 ] |
หัวข้อกระทู้: | เรื่องเล่าที่ “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” วัดบวรนิเวศวิหาร |
![]() “ห้องกระจก” ใต้กุฏิไม้หลังใหญ่ ด้านหน้า “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” ![]() ![]() ![]() เรื่องเล่าที่ “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” พระจริยาวัตรส่วนพระองค์ในสมัยที่ยังมิได้ทรงพระประชวรนั้น ทุกๆ วันสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ จะทรงตื่นบรรทมแต่ก่อนสว่าง เพื่อทำวัตรและนั่งภาวนา เมื่อสว่างแล้วจึงทำกิจส่วนพระองค์อื่นต่อไป โดยจะรับแขกที่มาเข้าเฝ้าในช่วงเช้าราว ๐๗.๓๐ น. ซึ่งพระองค์จะเมตตาให้พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าทั้งไทยและต่างชาติ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดทุกคน หลังจากรับแขกแล้วจะเป็นเวลาเสวย ซึ่งทรงถือธุดงควัตรข้อหนึ่งคือเสวยมื้อเดียวมาโดยตลอด เว้นแต่ทรงพระประชวร สมัยก่อนบางครั้งมีผู้มาเข้าเฝ้าจำนวนมากจนทำให้เลยเวลาเสวย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเรียกสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ว่า “หลวงปู่” ทรงเป็นห่วงในพระพลานามัยของวันสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ จึงทรงมีลายพระหัตถ์เขียนป้ายบอกให้พุทธศาสนิกชนรอก่อนเมื่อถึงเวลาเสวย ซึ่งพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาเข้าเฝ้ากราบนมัสการพระองค์ ณ “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” คณะเหลืองรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร คงจะเคยได้เห็นป้ายอันนี้ที่อยู่ชั้นล่างของพระตำหนักบ้าง เพราะได้ทรงลงพระนามกำกับไว้ด้วย ความว่า “เมื่อถวายภัตตาหารแล้ว ขอเชิญท่านสาธุชนทั้งหลายลงคอยข้างล่างจนฉันเสร็จ ระหว่าง ๘.๐๐ น. - ๙.๓๐ น. สิรินธร. ๒๔ เมษายน ๒๕๒๕” ตามปกติที่ด้านหน้าพระตำหนักคอยท่าปราโมช อันเป็นพระตำหนักที่ประทับ จะมีบาตรของพระองค์ตั้งไว้ เพื่อให้สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกได้นำอาหารที่ได้รับบาตรมาจากประชาชน มาใส่บาตรถวายพระองค์ เป็นการทำอุปัชฌายวัตรและอาจาริยวัตร ดังนั้น เมื่อก่อนที่จะทรงรับแขก จะทรงนำอาหารจากบาตรของพระองค์ มาใส่บาตรพิเศษอีกลูกหนึ่ง ซึ่งทำด้วยหินอ่อน เพื่อให้ลูกศิษย์นำไปถวายบูชาพระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถ และในระหว่างที่เสวย จะทรงให้ลูกศิษย์อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ถวายทุกวัน เป็นเหตุให้ทรงรับทราบข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ในหลายครั้งจะทรงทราบข่าวความทุกข์ของประชาชนจากข่าว และทรงหาทางผ่อนคลายทุกข์นั้น อาทิ เมื่อครั้งประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้เสด็จโดยรถยนต์พระประเทียบ (รถประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช) ออกไปรับบิณฑบาตจากประชาชนตามย่านตลาดหรือชุมชนในเวลาเช้า เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนให้ต่อสู้กับปัญหาทางเศรษฐกิจ ประชาชนผู้มีวาสนาเหล่านั้นไม่ได้รู้ล่วงหน้ามาก่อนว่าจะเสด็จมารับบิณฑบาต ต่างพากันซื้อหาอาหารมาใส่บาตรพระองค์กันอย่างเนืองแน่น เป็นที่ปีติและปลาบปลื้มใจแก่พวกเขาเหล่านั้นอย่างไม่มีวันลืมเลือน ![]() และมีเหตุการณ์น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ในระยะแรกๆ พระองค์ทรงรับแขก ณ ห้องรับแขก (ห้องกระจก) ใต้กุฏิไม้หลังใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระตำหนักคอยท่าปราโมช คณะเหลืองรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ละวันจะมีประชาชนเดินทางมาเข้าเฝ้ากราบนมัสการเป็นจำนวนมาก ทรงสังเกตเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งมานั่งอยู่กับแขกที่มาเฝ้าโดยไม่พูดไม่จาอะไร เมื่อกลุ่มผู้มาเฝ้ากลับ เขาก็กลับด้วย เป็นเช่นนั้นอยู่หลายวัน จนวันหนึ่งเมื่อโอกาสอำนวยเพราะมีคนน้อย สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ จึงถามเขาว่า “เออ ! มีธุระอะไรหรือเปล่า” ทั้งนี้เพราะเห็นเขามานั่งอยู่หลายวัน ชายหนุ่มคนนั้นจึงเล่าถวายว่า เขาทำงานอยู่ท่าเรือแล้วตกงาน เพราะภาวะวิกฤต IMF กลุ้มใจมากไม่รู้จะทำอย่างไร บางวันก็เดินโต๋เต๋อย่างล่องลอย วันหนึ่งผ่านมาทางวัดบวรนิเวศวิหาร เห็นคนเขาเดินเข้ามาทางนี้ ก็เลยเดินตามเขามา เห็นพวกคนเข้ามากราบนมัสการสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ก็เลยตามเข้ามานั่งอยู่ท้ายกลุ่ม มองดูพระพักตร์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ แล้วรู้สึกสบายใจ กระทั่งพวกคนกลับ ก็กลับ นับแต่วันนั้นมาก็รู้สึกว่าสบายใจขึ้น จึงมานั่งอยู่หลายวัน แล้วต่อมาก็ได้งานทำ ก็มีเท่านี้ล่ะครับ เขาเล่าจบก็กราบลาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ หลังจากชายหนุ่มคนนั้นกลับไปแล้ว สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ก็ทรงยิ้ม แล้วตรัสกับศิษย์ผู้สนองงานอยู่ขณะนั้นว่า “เออ ! ไม่ได้ทำอะไรก็ช่วยคนได้” แล้วก็ทรงพระสรวลเบาๆ ![]() คราวหนึ่ง สมัยที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ยังทรงดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระสาสนโสภณ ได้เดินทางไปพำนักปฏิบัติสมาธิภาวนา ณ สำนักวัดป่าในแถบภาคอีสาน อยู่เป็นเวลานานถึงเกือบเดือน คณะศิษยานุศิษย์ได้ถือโอกาสนั้นทำการบูรณะชั้นล่าง ของพระตำหนักคอยท่าปราโมชเสียใหม่ โดยรื้อห้องเล็กๆ สองข้างที่ขนาบห้องกลางอยู่ให้ทะลุต่อกัน กลายเป็นห้องโถงโล่งตลอดทั้งชั้น พร้อมติดโคมไฟผนังและเพดาน ให้ดูสวยงาม สว่างไสว กว้างขวางเหมาะแก่การรับแขกทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย โดยไม่ได้ทูลล่วงหน้าให้ทรงทราบก่อน ในทันทีที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ กลับมาถึงพระตำหนักฯ เห็น “ห้องรับแขกใหม่” แทนที่จะทรงปลาบปลื้มยินดี กลับรับสั่งด้วยเสียงเรียบๆ ว่า “สวยงามเกินไป ที่อยู่อาศัยของพระไม่ควรหรูหรา โคมไฟนี่ก็เกินจำเป็น ไม่ควรเอามาติดในที่อยู่อาศัยของพระ ควรรื้อเอาไปติดไว้ที่โบสถ์หรือวิหาร” ![]() “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” คณะเหลืองรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร ![]() ทรงรับแขกที่บริเวณลานด้านหน้าพระตำหนักคอยท่าปราโมช ในคราวที่ผู้นำคณะสงฆ์แห่งเมียนมาร์เข้าเฝ้าถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติพระชันษา ๙๐ ปี วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ ![]() ![]() คือ พระราชรัตนมงคล (มนตรี อภิมนฺติโก) ส่วนพระคุณเจ้าที่นั่งอยู่ซ้ายมือของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ คือ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (พระดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ![]() ที่ห้องรับแขก พระตำหนักคอยท่าปราโมช ชั้นล่างบ้าง ที่ห้องกระจก ใต้กุฏิไม้หลังใหญ่ ด้านหน้าพระตำหนักคอยท่าปราโมชบ้าง เมื่อประมาณหลังปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ เป็นต้นมา แต่ละวันจะมีประชาชนเดินทางมาเข้าเฝ้ากราบนมัสการเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยทั้งพระตำหนักฯ ชั้นล่าง และในห้องกระจกดังกล่าวคับแคบ จึงเปลี่ยนมาทรงรับแขกที่บริเวณลานด้านหน้าพระตำหนักฯ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง เชื่อมต่อระหว่างพระตำหนักฯ กับกุฏิไม้หลังใหญ่ที่ชั้นล่างเป็น “ห้องกระจก” ![]() ![]() สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงถวายสังฆทานทุกวันจันทร์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ณ ห้องรับแขก พระตำหนักคอยท่าปราโมช ชั้นล่าง วัดบวรนิเวศวิหาร ![]() ![]() ![]() คือ ประตูเข้าห้องทรงงานซึ่งใช้เป็นที่เสวยด้วย (ข) ป้ายที่แขวนอยู่บนตู้เหนือพระเศียรของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ คือ ป้ายลายพระหัตถ์กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเขียนป้ายบอกให้พุทธศาสนิกชนรอก่อนเมื่อถึงเวลาเสวย โดยทรงลงพระนามกำกับไว้ด้วย ความว่า “เมื่อถวายภัตตาหารแล้ว ขอเชิญท่านสาธุชนทั้งหลายลงคอยข้างล่างจนฉันเสร็จ ระหว่าง ๘.๐๐ น. - ๙.๓๐ น. สิรินธร. ๒๔ เมษายน ๒๕๒๕” |
เจ้าของ: | สาวิกาน้อย [ 28 ธ.ค. 2013, 15:32 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เรื่องเล่าที่ “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” วัดบวรนิเวศวิหาร |
![]() บรรยากาศในระหว่างงานบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระศพ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ![]() ![]() ![]() พระตำหนักคอยท่าปราโมช ตั้งอยู่ภายในคณะเหลืองรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร) วัดในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ แทนที่กุฏิไม้เก่าหลังหนึ่ง เพื่อใช้เป็นกุฏิสำหรับพระภิกษุ โดยหม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (ต้นราชสกุลปราโมช) ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์ดวงใจ ปราโมช (เชื้อสายราชสกุลกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข) ทรงมีศรัทธาบริจาคทรัพย์เป็นทุนในการก่อสร้างกุฏิหลังหนึ่งเป็นจำนวนเงิน ๕,๕๐๐ บาท ถวายเป็นเสนาสนะแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต จึงเรียกชื่อพระตำหนักแห่งนี้ว่า “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” และมีเรื่องเล่าว่าในวันฉลองกุฏิ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ทรงกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาประทับบรรทมเป็นปฐมฤกษ์ ๑ คืน คณะเหลืองรังษี แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของวัดรังษีสุทธาวาส ซึ่งอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศวิหาร มีเพียงคลองเล็กๆ ที่คนทั่วไปมักเรียกว่า บ่อเต่า คั่นกลาง ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๖๖ (สร้างก่อนวัดบวรนิเวศวิหาร) และเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชดำริว่า วัดรังษีสุทธาวาสซึ่งอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศวิหารนั้นมีสภาพทรุดโทรมมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมเข้าเป็นวัดเดียวกับวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ในครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค) ทรงครองวัด โดยเรียกส่วนที่เป็นวัดรังษีสุทธาวาสเดิมทั้งหมดว่า “คณะรังษี” เพื่อให้เกียรติสืบมาจนถึงทุกวันนี้ เขตวัดรังษีสุทธาวาสเดิม หรือ “คณะรังษี” ในปัจจุบัน ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดถนนพระสุเมรุ ด้านตะวันออกจรดถนนดินสอ ด้านตะวันตกจรดบ่อเต่าและวัดบวรนิเวศวิหาร ส่วนด้านใต้จรดเขตบ้านเรือนชุมชนตรอกบวรรังษี ในเขตคณะรังษีนอกจากจะมีหมู่กุฏิสงฆ์ที่แบ่งเป็น ๓ คณะย่อยตั้งเรียงกัน คือ คณะเหลืองรังษี คณะแดงรังษี และคณะเขียวรังษีแล้ว ยังมี ตึก สว.ธรรมนิเวศ ซึ่งเป็นตึกอบรมพระกรรมฐาน ตั้งอยู่ภายในคณะเขียวรังษี, พระอุโบสถคณะรังษี, พระวิหารคณะรังษี, อาคารสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในปัจจุบัน), ตึกกวีบรรณาลัย ซึ่งเป็นห้องสมุดของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย, อาคารมนุษยนาควิทยาทาน และหมู่อาคารของโรงเรียนวัดบวรนิเวศทั้งหมด สำหรับบริเวณที่เป็นที่ก่อสร้างพระตำหนักคอยท่าปราโมช ซึ่งแต่เดิมมีกุฏิเก่าสร้างด้วยไม้นั้น เมื่อจะลงมือสร้างกุฏิหลังใหม่ ได้ทำการรื้อกุฏิไม้หลังนั้นไปปลูกใหม่ในที่ดินบริเวณหลังศาลาการเปรียญเก่าของคณะรังษี ซึ่งในปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งของตึกกวีบรรณาลัย ห้องสมุดของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในปัจจุบัน) หลังจากนั้น พระตำหนักคอยท่าปราโมชแห่งนี้ได้กลายเป็นที่ประทับและที่ทรงงานของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระเถระผู้น้อย และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงมีผู้นิยมเรียกว่า “ตำหนักพระสังฆราช” นอกจากเป็นที่ประทับและที่ทรงงานแล้ว ยังทรงพระดำเนินจงกรมเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่ดาดฟ้าของพระตำหนักด้วย ตลอดจนเป็นสถานที่สำคัญซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นที่ศึกษาพระกรรมฐานให้แก่ชาวต่างชาติและบรรดาศิษยานุศิษย์ พระตำหนักคอยท่าปราโมช ถือว่าเป็นพระตำหนักที่สวยงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมตะวันตก เป็นทรงตึกคอนกรีตเสริมเหล็กแบบสมัยใหม่ มีความสูง ๓ ชั้น หลังคาตึกออกแบบเป็นดาดฟ้าเทคอนกรีต โดยรอบอาคารออกแบบให้มีกันสาดคอนกรีตยื่นออกโดยรอบเหนือแนวหน้าต่าง เพื่อป้องกันแดดและฝน ภายในพระตำหนักคอยท่าปราโมช ชั้นล่าง (ชั้น ๑) เป็นห้องรับแขก โดยรอบห้องประดับด้วยตู้ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและตู้หนังสือ มีโต๊ะหมู่บูชาอยู่ตรงส่วนกลางและพระแท่นอาสนะอยู่มุมหนึ่งของห้อง ถัดจากห้องรับแขก เป็นห้องทรงงาน ซึ่งเป็นที่เสวยด้วย มีโต๊ะทรงงานแบบเรียบง่าย มีชั้นวางหนังสือและหนังสือพิมพ์ที่ทรงอ่านและทรงใช้ประจำวัน พร้อมทั้งเก้าอี้ไม้สำหรับประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ ที่ผนังด้านหนึ่งของห้องนี้ประดับภาพเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ประทับยืนท่ามกลางสัตว์ป่าสัตว์ร้ายน่าสะพึงกลัวมากมายสยบหมอบลงแทบเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ โปรดให้เขียนขึ้นตามศุภนิมิตของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ชั้น ๒ ของพระตำหนักประกอบด้วยห้องหน้ามุข ที่ทรงเคยรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสต่างๆ รวมทั้งบุคคลสำคัญอื่นๆ เป็นต้น ต่อจากห้องหน้ามุขเป็นห้องพระ ตั้งโต๊ะหมู่บูชาที่ทรงไหว้พระสวดมนต์และทรงเจริญสมาธิภาวนาประจำวัน หน้าโต๊ะหมู่บูชามีพรมอาสนะผืนเล็กๆ ปูไว้ และมีอาสนะผ้าเก่าๆ ผืนเล็กวางซ้อนอยู่บนพรมอาสนะ ผ้าเก่าๆ ผืนนี้สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงอธิบายให้ศิษย์คนหนึ่งฟังว่า “นี่อาสนะของโยมแม่ ไม่ใช่เอาไว้นั่ง แต่เอาไว้กราบเวลาคิดถึงโยมแม่” ถัดออกมาเล็กน้อย มีอาสนะอีกที่หนึ่งวางไว้สำหรับเป็นที่ประทับนั่งทรงเจริญสมาธิภาวนา ด้านหนึ่งของโต๊ะหมู่บูชา มีรูปของพระชนกและพระชนนี และรูปของป้ากิมเฮงที่เลี้ยงดูสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ มาตั้งแต่เล็กจนทรงบรรพชาเป็นสามเณร ต่อจากห้องพระไปทางด้านใต้เป็นห้องบรรทม ซึ่งแวดล้อมไปด้วยตู้หนังสือ มีเตียงบรรทมเล็กๆ เรียบง่ายตั้งชิดกับผนังห้อง พร้อมโต๊ะวางไฟให้แสงสว่างและกองหนังสือ ห้องนี้เคยเป็นที่ทรงงานค้นคว้าเรียบเรียงพระนิพนธ์ต่างๆ มาก่อน ภายหลังจึงใช้เป็นห้องบรรทม ถัดไปอีกมีห้องเล็กๆ ที่บุด้วยผนังซับเสียง ซึ่งเป็นห้องบันทึกเสียงประจำพระองค์ เพื่อบันทึกเทปสำหรับรายการวิทยุเทศนาธรรมต่างๆ ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต และเรดิโอไทยแลนด์ เป็นต้น ส่วนชั้น ๓ ของพระตำหนักเป็นดาดฟ้า (ชั้นลอย) มีห้องขนาดย่อม ๑ ห้อง เป็นห้องพระและที่ทรงเจริญสมาธิภาวนา แต่เดิมทรงใช้เป็นที่บรรทมด้วยโดยบรรทมบนเตียงไม้ภายใต้มุ้งกลด ก่อนที่จะย้ายลงไปบรรทมที่ชั้น ๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกตัญญุตาต่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ซึ่งทรงเคยเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในคราวเสด็จออกทรงพระผนวชและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระตำหนักคอยท่าปราโมช เพื่อให้มีสภาพคงเดิมเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (The Crown Property Bureau) ได้สนับสนุนงบประมาณและเป็นผู้ดูแลการบูรณะพระตำหนักจนเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๐ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (พระดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งสนองงานสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ตั้งแต่บวชเป็นสามเณร เล่าว่า อย่างที่ทราบกันว่าพระตำหนักคอยท่าปราโมชเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ภายในพระตำหนักจัดไว้อย่างเรียบง่าย ไม่ได้หรูหราอย่างที่ใครหลายๆ คนคิด ชั้น ๑ เป็นห้องโถงกว้าง ชั้น ๒ มีห้องพระและห้องบันทึกเสียงเพื่อใช้สำหรับจัดรายการวิทยุ ส่วนชั้น ๓ เป็นชั้นลอย จะมีห้องพระและห้องบรรทมห้องเล็กๆ พระองค์จะปักกลดไว้ในห้องเพื่อบรรทม ในอดีตที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมายังพระตำหนักคอยท่าปราโมช บริเวณชั้น ๒ หลายครั้ง พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ เล่าอีกว่า สำหรับที่บรรทมของพระองค์ถือว่าเรียบง่ายมาก เป็นตั่งไม้ แต่ด้วยตั่งตัวนั้นสั้นมาก แต่ด้วยพระองค์สูงประมาณ ๑๗๙ เซนติเมตร สมัยก่อนพระองค์เดินตรวจวัด หรือว่าเดินไปพบเศษไม้ หรือว่าโต๊ะหมู่ที่ลูกศิษย์ทิ้งแล้ว พระองค์จะเก็บกลับมาต่อตั่งให้ยาวขึ้น ด้วยความเรียบง่ายของพระองค์ สิ่งของเครื่องใช้ของพระองค์ก็จะเป็นของมือสองเป็นส่วนใหญ่ และช่วงออกพรรษาในแต่ละปี พระองค์จะนำของที่ประชาชนนำมาถวายนำออกมาแจกให้พระลูกวัด สามเณร จับสลาก ส่วนภายในพระตำหนักพระองค์ไม่เคยใช้อะไรที่หรูหรา ในพระตำหนักเพ็ชรมีแต่เก็บของที่พระลูกวัดทิ้งมาซ่อมแซมแล้วใช้ต่อ พระราชรัตนมงคล (มนตรี อภิมนฺติโก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งสนองงานสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ อย่างใกล้ชิดตั้งแต่บวชเป็นสามเณร รวมเวลามากกว่า ๔๐ ปี เล่าถึงสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงประทับที่พระตำหนักคอยท่าปราโมช ว่า อาตมาสนองงานสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร มีหน้าที่คอยเปลี่ยนดอกไม้ ธูปเทียนในห้องพระ สิ่งที่่ประทับใจคือพระองค์ทรงเรียบง่าย พระองค์จะฉันอาหารที่ชั้นล่างของพระตำหนักคอยท่าปราโมช ทุกเช้าท่านจะบิณฑบาตมาก็จะฉันรวม พระองค์จะฉันมื้อเดียวเท่านั้น ส่วนห้องทรงงานของพระองค์ซึ่งอยู่บริเวณชั้นล่างจะมีโต๊ะตัวเล็กๆ และในครั้งสมัยพระองค์ประชวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงพระตำหนักคอยท่าปราโมช เพื่อสร้างลิฟต์อำนวยความสะดวกแด่สมเด็จพระสังฆราช ![]() พลโท Phone Myint รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและการศาสนา พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตแห่งเมียนมาร์ และคณะ เข้าถวายสักการะ ณ ห้องรับแขก พระตำหนักคอยท่าปราโมช ชั้นล่าง วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔ ในคราวอัญเชิญเครื่องสมณศักดิ์ที่ “อภิธชมหารัฏฐคุรุ” อันเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์เมียนมาร์ มาถวายแด่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) นับว่าทรงเป็นพระมหาเถระไทยองค์ที่ ๒ ที่ได้รับพระเกียรติยศเช่นนี้จากคณะสงฆ์เมียนมาร์ สืบต่อจาก “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์” สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงได้รับการถวายเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ ในคราวที่นายกรัฐมนตรีแห่งเมียนมาร์ ได้รับเชิญมาร่วมในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในประเทศไทย ![]() ที่ห้องรับแขก พระตำหนักคอยท่าปราโมช ชั้นล่างบ้าง ที่ห้องกระจก ใต้กุฏิไม้หลังใหญ่ ด้านหน้าพระตำหนักคอยท่าปราโมชบ้าง เมื่อประมาณหลังปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ เป็นต้นมา แต่ละวันจะมีประชาชนเดินทางมาเข้าเฝ้ากราบนมัสการเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยทั้งพระตำหนักฯ ชั้นล่าง และในห้องกระจกดังกล่าวคับแคบ จึงเปลี่ยนมาทรงรับแขกที่บริเวณลานด้านหน้าพระตำหนักฯ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง เชื่อมต่อระหว่างพระตำหนักฯ กับกุฏิไม้หลังใหญ่ที่ชั้นล่างเป็น “ห้องกระจก” ![]() สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระปริยัติกวี” เข้าเฝ้าถวายสักการะ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร ณ ห้องหน้ามุข พระตำหนักคอยท่าปราโมช ชั้น ๒ วัดบวรนิเวศวิหาร เนื่องในงานสมโภชพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระราชาคณะ และบำเพ็ญพระกุศลวันคล้ายวันประสูติครบ ๕ รอบ พระชันษา ๖๐ ปี วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ ![]() สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์และพระอาจารย์ถวายการอบรมพระธรรมวินัย ในคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออกทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในระหว่างวันจันทร์ที่ ๖-วันจันทร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑ ทรงปฏิบัติสมณธรรมรวมเป็นเวลา ๑๕ วัน จึงทรงลาพระผนวช ![]() ![]() เสด็จฯ ไปทรงถวายนมัสการ ดอกไม้ ธูป เทียน และหนังสือ ณ ห้องหน้ามุข พระตำหนักคอยท่าปราโมช ชั้น ๒ วัดบวรนิเวศวิหาร ![]() ความเรียบง่ายภายหลังได้รับพระราชทานสถาปนา เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระญาณสังวร” ทรงออกรับการปฏิสันถารจากพุทธศาสนิกชน ณ ห้องหน้ามุข พระตำหนักคอยท่าปราโมช ชั้น ๒ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ![]() ห้องดาดฟ้า พระตำหนักคอยท่าปราโมช ชั้น ๓ วัดบวรนิเวศวิหาร เคยเป็นที่บรรทมของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้ดำรงสมณศักดิ์ ที่สมเด็จพระญาณสังวร โดยบรรทมบนเตียงไม้ภายใต้มุ้งกลด ต่อมาเมื่อพระชนม์มากขึ้นทรงย้ายมาบรรทมที่ชั้น ๒ ของพระตำหนักฯ ห้องนี้จึงใช้เป็นห้องพระสำหรับทรงไหว้พระสวดมนต์ และเจริญสมาธิประจำวัน ![]() สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงประทับยืนฉายพระรูปด้านหน้าพระตำหนักคอยท่าปราโมช เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ![]() ตึกกวีบรรณาลัย ห้องสมุดของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เดิมเป็นกุฏิไม้หลังเก่าที่ถูกรื้อถอนก่อนลงมือสร้าง “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” ![]() พระอุโบสถคณะรังษี ซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ “วัดรังษีสุทธาวาส” ====== ![]() ![]() ![]() (๑) หนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร, หนังสือศิลปกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร จากเว็บไซต์วัดบวรนิเวศวิหาร http://www.watbowon.com/ (๒) หนังสือ ๙๙ คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช (๓) บทความ...ยล ๒ ตำหนัก “พระสังฆราช” ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จากนิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ ๑๕๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ โดย กองบรรณาธิการ (๔) เกร็ดพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวรฯ เขียนโดย คุณ Pakorn Kengpol (๕) บทสัมภาษณ์พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (พระดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย) และพระราชรัตนมงคล (มนตรี อภิมนฺติโก) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ![]() http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=40263 ![]() http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=46336 ![]() วัดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในประเทศไทย http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19342 ![]() พระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตาม “ศุภนิมิตของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร” ซึ่งสัตว์ป่าสัตว์ร้ายน่าสะพึงกลัวมากมายสยบหมอบลงแทบเบื้องพระยุคลบาท ประดิษฐาน ณ ห้องทรงงาน พระตำหนักคอยท่าปราโมช ชั้นล่าง (ชั้น ๑) วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร) >>> http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=40221 |
เจ้าของ: | สาวิกาน้อย [ 06 มี.ค. 2016, 12:19 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เรื่องเล่าที่ “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” วัดบวรนิเวศวิหาร |
“พระสมเด็จนางพระยา” เสด็จมาที่ “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ จนถึงกับทรงเขียนบันทึกไว้ ![]() ![]() ![]() ![]() วันจันทร์ ที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๙ เวลาประมาณ ๓ ทุ่ม (๒๑.๐๐ น.) ได้ไหว้พระบริกรรมสวดมนต์ที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา ที่กุฏิคอยท่า ชั้น ๒ ตามเคย และนั่งทำสมาธิต่อไปถึง ๔ ทุ่มเศษ ได้ยินเสียงตกกระทบดังกิ๊กที่โต๊ะบูชา คิดว่าคงเป็นก้อนน้ำตาเทียนหล่นจากปลายเทียนที่กำลังจุดบูชามาถูกเชิงของเชิงเทียนหรือจานรอง จึงลืมตาขึ้นดูที่จานรองก็ไม่พบอะไรหล่น ดูเทียนก็ไม่พบก้อนน้ำตาเทียนอะไรติดอยู่ เพราะเป็นพวกเทียนไขที่ไม่ค่อยมีน้ำตาเทียนหรือที่เรียกว่าขี้เทียน จึงหลับตาทำสมาธิต่อไปอีกครู่หนึ่ง จึงเลิก มองไปที่พรมและผ้าที่ปูไว้สำหรับกราบพระ ก็ได้พบพระ (แบบพระนางพระยา) องค์หนึ่งวางอยู่ จึงหยิบขึ้นมาดู เห็นเป็นพระแบบที่เรียกกันว่าพระสมเด็จนางพระยา เป็นดินเผาของเก่างดงามสมบูรณ์ และได้เห็นมีพระบรมธาตุฝังติดอยู่ที่ไหว้พระศอ ๑ องค์ ได้เกิดปีติโสมนัสว่าพระสมเด็จนางพระยาองค์นี้ได้เสด็จมาโดยปาติหาริย์ เป็นพระเทพประทาน ประจักษ์เฉพาะหน้า เป็นการอัศจรรย์เฉพาะหน้าครั้งแรก ได้กราบสำนึกรู้พระมหากรุณาธิคุณในพระพุทธาทิรัตนตรัย และสำนึกในคุณแห่งเทพหากได้อำนวยประทาน แสดงว่าคุณพระมีอยู่ เทพมีอยู่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอานุภาพอภิบาลรักษาพระศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งประเทศชาติไทย ให้วัฒนสถาพรสวัสดี สด. พระญาณสังวร ![]() ![]() ![]() เพจ มูลนิธิพระบรมธาตุ ในสังฆราชูปถัมภ์, Jaruvat Chanposri |
เจ้าของ: | Duangtip [ 11 ธ.ค. 2017, 06:55 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เรื่องเล่าที่ “พระตำหนักคอยท่าปราโมช” วัดบวรนิเวศวิหาร |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |