วันเวลาปัจจุบัน 01 พ.ค. 2025, 19:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ธ.ค. 2024, 09:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7820

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสฺรํสี)

รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


รูปภาพ
พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร
:b44: :b47: :b44:

การปวารณาไม่ครบ ๓ เดือน

ใน “หนังสือธรรมจักษุ ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗” ได้ให้รายละเอียดของจดหมายพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสฺรํสี) ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระนิโรธรังสี ถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ และทรงมีลายพระหัตถ์ตอบ โดยมีรายละเอียดข้อซักถามในพระธรรมวินัยที่น่าสนใจดังนี้

“วัดถ้ำขาม บ้านคำข่า ต.บ้านไร่
อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

๒๖ กันยายน ๐๗

เรียน ท่านเจ้าคุณสาสนโสภณ ที่นับถือ

ด้วยปีนี้ผมได้ลาท่านเจ้าคณะภาคไปจําพรรษาที่ถ้ำขาม เพื่อทําความสงบพักผ่อนร่างกาย โรคเส้นประสาทมันรบกวนผมนัก นานมาแล้วเพื่อนๆ ของผมเคยปรารภการปวารณาไม่ครบ ๓ เดือน แต่ผมก็ไม่ได้สนใจ มาปีนี้ผมเกิดสนใจเรื่องนี้ขึ้น ผมเชื่อแน่ว่าพระจำนวนมิใช่น้อยทีเดียวคงจะเป็นทำนองเดียวกันกับผมนี้ โดยเฉพาะวันปวารณาปีนี้ซึ่งจวนจะมาถึงอยู่แล้ว คือถ้าปวารณาถือวันอุโบสถ (ปักข์) เป็นใหญ่แล้ว นับวันอยู่จำพรรษาก็จะได้เพียง ๘๘ วันเท่านั้น ขาด ๓ เดือนไป ๒ วัน หากปวารณากลางวันก็จะขาดไปอีก ๑ วันรวมเป็น ๓ วัน เพราะวันเข้าพรรษาอย่างน้อยก็ต้อง ๒ ทุ่มเลยไปแล้ว เรื่องนี้นับกันอย่างไร ขอได้อธิบายให้เหตุผลให้ผมหายสงสัยด้วย อย่าได้อ้างการเคยทำกันมา เมื่อก่อนผมสงสัยอะไรที่เกี่ยวด้วยพระธรรมวินัย เคยเรียนถามท่านเจ้าคุณพรหมมุนี (ผิน) บัดนี้ตัวท่านไม่มีแล้ว

ฉะนั้นผมจึงได้เรียนถามมายังท่านเจ้าคุณ หวังว่าคงให้ความกระจ่างแก่ผมด่วนก่อนปวารณานี้ เพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และโปรดส่งไปยังพระพิศาลศาสนกิจ วัดสุทธิมงคล บ้านโคกสุวรรณ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ด้วยความนับถือ
พระนิโรธรังสี”


ครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงมีลายพระหัตถ์ตอบความว่า

“วัดบวรนิเวศวิหาร

๑ ตุลาคม ๒๕๐๗

กราบเรียน ท่านเจ้าคุณนิโรธรังสี ทราบ

ได้รับหนังสือของใต้เท้าทราบความตลอดแล้ว รู้สึกยินดีที่ใต้เท้ายังระลึกถึงเรื่องนี้ กระผมก็ได้เคยสนใจและได้เคยปรารภพูดกันแล้ว จึงกราบเรียนได้ทันที คำว่า สามเดือนนั้นไม่ใช่นับเอา ๙๐ วัน โดยคิดแบ่งเดือนละ ๓๐ วัน เพราะเดือนทางจันทรคติตามที่นับกันแม้ในทางโลกนั้น เดือนคู่ ๓๐ วัน เดือนคี่ ๒๙ วัน ฉะนั้นแม้ในทางโลก ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่งเดือน ๘ หลัง จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ก็ยังไม่ครบ ๙๐ วัน เพราะเดือน ๙ มี ๒๙ วันเท่านั้น และถ้าถึงสิ้นเดือน ๑๑ ในเดือน ๑๑ เอง ก็มี ๒๙ วัน

ฉะนั้นถ้านับอย่างทางโลกว่าขึ้นค่ำหนึ่งเป็นต้นเดือน ตั้งแต่เดือน ๙ ถึงเดือน ๑๑ สามเดือนนี้ก็ได้ ๘๘ วัน เพราะมีเดือนคี่ถึง ๒ เดือน ส่วนทางวินัยนับวันพระจันทร์เต็มดวงเป็นวันสิ้นเดือน วันปาฏิบท (แรมค่ำหนึ่ง) เป็นวันขึ้นเดือนใหม่ จึงเข้าพรรษาเมื่อวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะล่วงไปแล้ววันหนึ่ง คือวันปาฏิบทซึ่งเป็นวันย่างเข้าวัสสานฤดูหรือย่างเข้าเดือนสาวนะ และวันออกพรรษานั้นย่อมปวารณาในวันเพ็ญที่สามถัดจากวันปาฏิบทอธิษฐานพรรษานั้น จึงตกวันเพ็ญเดือนอัสสยุชะ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๑ ของไทยเรา เมื่ออยู่ด้วยกันผาสุก สงฆ์ปรารถนา ก็โปรดให้เลื่อนไปปวารณาออกพรรษาได้อีกเพ็ญหนึ่ง ในวินัยใช้คำว่า อาคม โกมุทิยา จาตุมาสินิยา ปวาเรยฺย พึงปวารณาในวันเพ็ญเป็นที่เต็มสี่เดือนเย็นที่บานแห่งดอกโกมุทที่จะมา คือเพ็ญเดือนกัตติกา ตรงกับเพ็ญเดือน ๑๒ ของไทยเรา และถ้าเข้าพรรษาหลังก็ย่อมปวารณาในวันเพ็ญเดือนกัตติกานี้

ฉะนั้นการนับ ๓ เดือนจึงนับตามวันเพ็ญเป็นสำคัญ เมื่อเข้าพรรษาในวันปาฏิบทถัดจากวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ถึงวันเพ็ญเดือนสาวนะ นับเป็นเดือนที่หนึ่ง ถึงวันเพ็ญเดือนโปฏฐปทะ (เดือน ๑๐) นับเป็นเดือนที่สอง ถึงวันเพ็ญเดือนอัสสยุชะ (เดือน ๑๑) นับเป็นเดือนที่สาม เมื่อครบสามเพ็ญแล้วก็ครบสามเดือน

คำว่าเดือนนั้น แม้ในภาษาไทยเองแปลว่าพระจันทร์ก็ได้ อย่างคำว่า “ดาวเดือน” ๓ เดือนก็คือ ๓ พระจันทร์ หมายถึง ๓ พระจันทร์เพ็ญ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า วันเพ็ญเดือนอัสสยุชะ คือเดือน ๑๑ นี้ตกวันไหน ตามตำราปักขคณนาว่าตกวันอังคารที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๗ ซึ่งเป็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ในศกนี้ วันปักข์ขาด เพราะในวันออกพรรษา สูตรปักขคณนาว่าดังนี้ สัมพยุหะที่ ๖ พยุหะที่ ๒ สมุหะที่ ๕ วรรคที่ท้ายปักข์ที่สุด วันเพ็ญจึงตกวัน ๑๔ ค่ำ ในวินัยแสดงว่าวันปวารณามี ๒ คือ วัน ๑๔ ค่ำหนึ่ง วัน ๑๕ ค่ำหนึ่ง ตามตำราจันทรคติของบ้านเมืองจะไม่มีวันปวารณาในวัน ๑๔ ค่ำได้เลย เพราะข้างขึ้นจะต้องมี ๑๕ วันทั้งนั้น ส่วนตามตำราปักขคณนามีได้ทั้งสองอย่าง เหมือนอย่างปีนี้ข้างขึ้นของเดือนอัสสยุชะ คือเดือน ๑๑ มี ๑๔ วัน เป็นปักข์ขาด รวมความว่า เตมาสํ คือนับมาได้ ๓ เพ็ญจากวันปาฏิบทที่อธิษฐานเข้าพรรษา เมื่อวันเพ็ญที่สามตกวัน ๑๔ ค่ำ เป็นวันปักข์ขาดตามตำราปักขคณนา ก็ทำปวารณาออกพรรษาได้โดยไม่ต้องสงสัย

ขอถวายความเคารพอย่างยิ่ง
พระสาสนโสภณ”

===============

:b8: :b8: :b8: ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูล : page เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ

:b50: :b49: รวมคำสอน “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43000

:b50: :b49: สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ กับ วงศ์พระกรรมฐาน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=43517

:b50: :b49: มาปวารณากันเถิด (พระไพศาล วิสาโล)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=83&t=54503

:b50: :b49: •• รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันออกพรรษา” ••
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=83&t=45497

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2025, 16:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7820

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ได้เสด็จมาทรงกราบนมัสการ
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
เมื่อวันพุธที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๓
ณ วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
ก่อนที่จะเสด็จไปปฏิบัติศาสนกิจทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓


:b42: ------------------------------ :b42:

พระผู้เจริญพร้อม
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


“เรื่องปฏิบัติสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงทำให้ดู
ช่วงว่างจากพระกรณียกิจจะเสด็จไปสำนักของครูบาอาจารย์”


วัตรปฏิบัติของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ในช่วงที่สังขารยังอำนวย
เมื่อทรงทราบว่ามีพระสงฆ์ทรงภูมิธรรมอยู่แห่งหนตำบลใด
จะทรงหาโอกาสเสด็จไปสนทนาธรรมด้วย
แม้เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนา
ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว วัตรปฏิบัตินี้ก็ยังดำเนินอยู่เช่นเดิม

ในราวเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี
พระองค์จะเสด็จไปประทับที่สำนักวัดป่าอย่างน้อยปีละครั้ง
โดยส่วนใหญ่เป็นครูบาอาจารย์ทางสายอีสาน เช่น
เสด็จไปศึกษาและปฏิบัติภาวนากับ
“หลวงปู่ขาว อนาลโย”
ที่วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร
ในช่วงก่อนเข้าพรรษาปี พ.ศ.๒๕๑๙ ทรงมีพระชนมายุ ๖๒ เศษแล้ว
ได้เสด็จไปประทับที่วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร
เพื่อศึกษาธรรมและปฏิบัติภาวนากับ
“หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
วัดแห่งนี้อยู่บนยอดเขา เวลาบิณฑบาตต้องเดินลงเขา
มาที่ศาลารับบิณฑบาตซึ่งอยู่ข้างล่าง ทางเดินเป็นหินที่ค่อนข้างชันและลำบาก
พระเณรจึงกราบทูลพระองค์ว่า ไม่ต้องเสด็จลงไปรับบิณฑบาตข้างล่าง
พระเณรจะรับบิณฑบาตมาถวายเอง แต่พระองค์ไม่ยินยอม
ด้วยทรงเคร่งครัดด้านพระวินัยและข้อวัตร จึงเสด็จลงเขาไปรับบิณฑบาต
จากชาวบ้านร่วมกับพระเณรอื่นด้วยพระองค์เองทุกวัน
ทั้งยังทรงให้ความเมตตาและเป็นกันเองกับพระเณรในวัดเป็นอย่างยิ่ง
ทรงเสวยในบาตร เสวยมื้อเดียว ร่วมกับพระเณรในศาลา
ตลอดจนทรงร่วมทำวัตร นั่งภาวนา เหมือนพระเณรในวัดทุกรูป

เช่นเดียวกับที่วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย ที่เสด็จไปประทับบ่อยครั้ง
เพื่อศึกษาธรรมและปฏิบัติภาวนากับ
“หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
หนึ่งในศิษย์ผู้น่าเลื่อมใสของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
พระองค์ก็เสด็จไปรับบิณฑบาตจากชาวบ้านในหมู่บ้าน
เช่นเดียวกับพระเณรในวัดนั้นเหมือนกัน

และที่วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี พระองค์ก็เคยเสด็จไปประทับบ่อยครั้ง
เพื่อศึกษาธรรมและปฏิบัติภาวนากับ
“หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”

นอกจากนี้พระองค์ยังเคยเสด็จไปวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
และสนทนาธรรมกับ
“หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”

ทางเหนือ พระองค์เสด็จไปกราบนมัสการ “หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ”
ที่วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่

ทางใต้ พระองค์เสด็จไปสนทนาธรรมกับ
“ท่านพุทธทาสภิกขุ”
ที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี

เหล่านี้เป็นเหตุให้พระเถระฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า) เหล่านั้น
มักเอ่ยชื่นชมและยกย่องถึงพระองค์อยู่เสมอ เช่น
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
มักจะบอกกับคนกรุงเทพฯ ที่ไปกราบนมัสการท่านที่วัดว่า
“ไม่จำเป็นต้องมากราบท่านถึงที่วัดก็ได้ เพราะหนทางไกลและลำบาก
ถ้าอยากกราบพระดี ให้ไปกราบสมเด็จฯ วัดบวรฯ ก็ได้”


หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้เคยกล่าวชื่นชมและยกย่อง
ถึงพระองค์ไว้ว่า “สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศนั้น
ท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมอันเที่ยงแท้ต่อมรรคผลนิพพานแล้วน๊ะ”


เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม แห่งวัดป่าโคกมน จ.เลย
ได้เดินทางมาเป็นองค์ประธานในพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป
ณ วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)
โดยมาพักอยู่ที่ศาลา ๑๕๐ ปี เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงทราบ
จึงได้เสด็จมาทรงกราบนมัสการด้วยความอ่อนน้อม และสนทนาธรรมด้วย
ครั้นถึงเวลาอันควร ทรงกราบนมัสการลาหลวงปู่ชอบ
พระอุปัฏฐากหลวงปู่ชอบได้ถือย่ามของพระองค์เดินตามหลังมา
เพื่อไปส่งเสด็จที่พระตำหนักที่ประทับ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ก็ทรงตรัสด้วยเสียงอ่อนโยนว่า
ให้โยมของพระองค์ถือไปส่งเถิด
แล้วขอให้พระรูปนั้นกลับไปดูแลหลวงปู่ชอบดีกว่า
เหตุการณ์ในคราวนั้นทำให้พระอุปัฏฐากหลวงปู่ชอบ
รู้สึกประทับใจในความไม่ถือพระองค์เป็นยิ่งนัก


หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้เคยกล่าวชื่นชมและยกย่อง
ถึงพระองค์ไว้ว่า “สังฆราชองค์นี้ ดีที่สุด”


“สังฆราชท่านเป็นพระสังฆราชผู้ทรงธรรม
ท่านเป็นพระสังฆราชคู่บารมีธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน”


หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ได้เคยปรารภถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ
เมื่อครั้งทรงมาภาวนาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดว่า

“สมเด็จพระสังฆราชนี้
แต่ก่อนท่านเคยมาภาวนาอยู่ที่นี่ (วัดป่าบ้านตาด)
ท่านมาแต่ละทีๆ เป็นอาทิตย์ๆ ท่านมาที่นี่เสมอ
เวลามีโอกาสอันดีท่านก็สนทนาธรรมกับเราเฉพาะสองต่อสอง
ท่านมาบ่อยแหละแต่ก่อน

เวลาคุยธรรมะนี้ท่านเอาจริงเอาจังมาก
เฉพาะกับเราคุยกันสองต่อสอง
ท่านหนักในทางจิตตภาวนาอานาปานสติ
ท่านอยู่เงียบๆ นะ ท่านจะมาแต่ตอนเช้ามาบิณฑบาต
ท่านบิณฑบาตหน้าศาลานี้แล้วก็มาฉันที่นี่แล้วไปเงียบเลย
เช้าวันหลังจะมาพบกันใหม่ ท่านก็ภาวนาเต็มที่ของท่าน”


:b8: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
หนังสือพระประวัติและปฏิปทา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)


-------------
:b8: :b8: :b8: ที่มาของรูปภาพ ::
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ กับ วงศ์พระกรรมฐาน

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=43558
-------------

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2025, 18:06 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2901


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร