ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/ |
|
วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=73&t=54659 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | webmaster [ 06 ต.ค. 2017, 08:45 ] |
หัวข้อกระทู้: | วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
![]() วัดประจำรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร • ประวัติของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม • ประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ฯ ให้ถูก • ทรงอาราธนา “พระสาสนโสภณ” มาเป็นเจ้าอาวาส • การปฏิสังขรณ์พระอารามในสมัยรัชกาลที่ ๕ • การสร้างปราสาทยอดปรางค์แบบขอม • ปูชนียวัตถุ-ปูชนียสถานของวัดราชประดิษฐ์ฯ • ศิลาจารึกวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
เจ้าของ: | webmaster [ 06 ต.ค. 2017, 08:45 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
![]() • ประวัติของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลที่ ๔-๕...สร้างใหม่ด้วยใจศรัทธา วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร หรือวัดราชประดิษฐ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ ตามโบราณพระราชประเพณี และทรงรับเข้าอยู่ใน พระบรมราชูปถัมภ์ของพระกษัตริย์ทุกพระองค์สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ (ตามธรรมเนียมโบราณพระราชประเพณีนั้นมีว่า ในราชธานีหรือเมืองหลวงจะต้องมีวัดสำคัญประจำ ๓ วัดด้วยกัน คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบุรณะ และวัดราชประดิษฐ์ เช่นที่สุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก และพระนครศรีอยุธยา แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดสลักเป็นวัดนิพพานาราม และเปลี่ยนเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ แต่ต่อมามีพระราชดำริว่า ในกรุงเทพฯ ยังไม่มีวัดมหาธาตุ จึงเปลี่ยนชื่อวัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นวัดมหาธาตุ และพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงบูรณะวัดเลียบ ต่อมาได้นามว่า วัดราชบุรณะ ขณะนั้นกรุงรัตนโกสินทร์ยังขาดอยู่เพียงวัดเดียวคือวัดราชประดิษฐ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น นับได้ว่า วัดราชประดิษฐเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญยิ่ง พระอารามหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์) ![]() ![]() สาธุชนมามนัสการพระพุทธสิหังคปฏิมากร พระประธานในพระวิหารหลวง พระราชประสงค์อีกประการหนึ่งในการสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯ นั้นขึ้น ก็เพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ เนื่องจากครั้งยังทรงผนวชอยู่ ทรงเป็นหัวหน้านำพระสงฆ์ชำระข้อปฏิบัติ ก่อตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้น รวมทั้งทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างวัดธรรมยุติกนิกายขึ้น ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระองค์และข้าราชบริพาร ที่ต้องการทำบุญกับวัดธรรมยุติกนิกาย ไม่ต้องเดินทางไปไกลนัก แต่ก่อนหากต้องการจะไปทำบุญกับพระสงฆ์ธรรมยุตต้องไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเมื่อก่อนนั้นการเดินทางจากพระบรมมหาราชวังไปวัดบวรนิเวศวิหาร จะต้องลงเรือที่ท่าราชวรดิษฐ์เข้าไปทางคลองรอบกรุง นับว่าไปลำบาก พระอารามนี้จึงนับเป็นพระอารามแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต เพราะวัดธรรมยุตก่อนๆ นั้น ได้ดัดแปลงมาจากวัดมหานิกายเดิมทั้งนั้น วัดราชประดิษฐ์ฯ จึงเป็นเสมือนวัดต้นแบบของคณะธรรมยุติกนิกาย ที่มีอยู่ในพุทธอาณาจักรบนแผ่นดินไทยนับแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา วัดราชประดิษฐ์ฯ สร้างขึ้นในที่ดินที่เคยเป็นสวนกาแฟอยู่ริมวังของหลวง โดยก่อสร้างใน พ.ศ. ๒๔๐๗ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินจากกรมพระนครบาล เมื่อทรงได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์แล้ว จึงได้ทรงประกาศสร้างวัดธรรมยุตขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ และทรงพระราชทานนามวัดไว้ตั้งแต่กำลังทำการก่อสร้างว่า “วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม” ![]() พระพุทธสิหังคปฏิมากร พระประธานในพระวิหารหลวง มีพระราชประสงค์จะถมพื้นที่ให้สูงขึ้น จึงทรงใช้ไหกระเทียมที่นำมาจากเมืองจีน หรือเศษเครื่องกระเบื้องถ้วย ชาม ที่แตกหักมาถมที่แทนดินและทราย ที่อาจจะทำให้พื้นทรุดตัวในภายหลังได้ (วัสดุดังกล่าวมีเนื้อแกร่ง ไม่ผุ ไม่หดตัว และมีน้ำหนักเบา จึงเท่ากับการใช้เสาเข็มที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ในปัจจุบันนั่นเอง) วิธีการหาไหกระเทียม และเครื่องถ้วยกระเบื้องทั้งหลายเป็นจำนวนมากๆ นั้น พระองค์ทรงใช้วิธีออกประกาศบอกบุญเรี่ยไร ให้ประชาชนนำไหกระเทียมมาร่วมพระราชกุศล โดยเก็บค่าผ่านประตูเป็นไหกระเทียม ไหขนาดเล็ก ขวด ถ้ำชา และเครื่องกระเบื้องอื่นๆ และทรงอนุญาตให้ประชาชนไปดูการนำไหลงฝัง เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่า พระองค์จะทรงใช้ไหกระเทียมเหล่านั้นบรรจุเงินทองฝังไว้ในวัด เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้เปลี่ยนเป็น “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลา ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลี และภาษาไทย ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์รวม ๑๐ หลัก ปรากฏในประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เรื่องประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ให้ถูก อนึ่ง ในอดีตได้มีผู้เรียกวัดราชประดิษฐ์ว่า วัดราชบัณฑิต บ้าง หรือ วัดทรงประดิษฐ์ บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องกับที่พระราชทานนามไว้ จึงทรงกำชับว่า ให้เรียกชื่อวัดว่า “วัดราชประดิษฐ์” หรือ “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” ถึงกับทรงออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า ต่อไปถ้ามีผู้อุตริเรียกชื่อวัดผิดหรือเขียนชื่อวัดไม่ตรงกับที่ทรงตั้งชื่อไว้คือ “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” แล้วให้ปรับผู้นั้นเป็นเงิน ๒ ตำลึง เพื่อเอาเงินมาซื้อทรายโปรยในพระอารามวัดราชประดิษฐ์ ในประกาศฉบับนี้มีข้อความน่าอ่านมาและเป็นฐานในแง่ของประวัติศาสตร์โบราณคดี จึงขอคัดลอกนำมาลงให้อ่านทั้งฉบับ ดังนี้ ![]() ปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์หินอ่อนทรงลังกาองค์ใหญ่ ![]() สถาปัตยกรรมอันวิจิตรงดงามของพระวิหารหลวง (ด้านตะวันตก) (มีต่อ ๑) |
เจ้าของ: | webmaster [ 06 ต.ค. 2017, 08:45 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
![]() ด้านหน้าประตูทางเข้าพระวิหารหลวง • ประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ฯ ให้ถูก ณ วันจันทร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก มีพระบรมราชโองการบารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ข้าทูลฉลองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน ผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกหมู่ทุกกรมทุกพนักงาน และพระสงฆ์สามเณร ทวยราษฎร์ทั้งปวงในกรุงเทพฯ แลหัวเมืองให้ทราบทั่วกัน พระอารามซึ่งทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้จัดซื้อที่ แล้วทรงสถาปนาสร้างขึ้นในทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามไว้ว่า วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ตามธรรมเนียมโบราณซึ่งเคยมีมาในเมืองใหญ่ๆ ที่ตั้งเป็นกรุงมหานคร อย่างเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิษณุโลก และกรุงเก่า คือ มีวัดมหาธาตุ วัดราชประดิษฐ์ และวัดราชบุรณะ เป็นของสำหรับเมืองทุกเมือง และนามชื่อวัดราชประดิษฐ์ในครั้งนี้แต่เดิมเริ่มแรกสร้างก็ได้โปรด ให้เขียนในแผ่นกระดาษปักไว้เป็นสำคัญ ภายหลังโปรดให้จาฤกชื่อนั้นลงในเสาศิลาติดตามกำแพงนั้นก็มี แต่บัดนี้มีผู้เรียกและเขียนลงในหนังสือตามดำริห์ของตนเองว่าวัดราชบัณฑิตบ้าง วัดทรงประดิษฐ์บ้าง เปลี่ยนแปลงไปไม่ถูกต้องตามชื่อที่พระราชทานไว้แต่เดิม ทำให้เป็นสองอย่างสามอย่างเหมือนขนานชื่อขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้สืบต่อไป ห้ามอย่าให้ใคร เรียกร้องและกราบบังคมทูลพระกรุณา และเขียนลงในหนังสือบัตรหมายในราชการต่างๆ ให้ผิดๆ ไป จากชื่อที่พระราชทานไว้นั้นเป็นอันขาด ให้ใช้ว่าวัดราชประดิษฐ์ ฤาว่าให้สิ้นชื่อว่า วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ให้ยั่งยืนคงอยู่ดังนี้ ถ้าผู้ใดได้อ่านและฟังคำประกาศนี้แล้วขัดขืนใช้ผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลงไป จะให้ปรับไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตรา ๒ ตำลึง มาซื้อทรายโปรยในพระอาราม วัดราชประดิษฐ์นั้นแล ประกาศมา ณ วันจันทร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ![]() พระปรางค์ขอม ที่บรรจุพระอังคารของอดีตเจ้าอาวาส (มีต่อ ๒) |
เจ้าของ: | webmaster [ 06 ต.ค. 2017, 08:45 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
![]() พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) หรือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ในกาลต่อมา • ทรงอาราธนา “พระสาสนโสภณ” มาเป็นเจ้าอาวาส หลังจากทรงสร้างเสร็จแล้ว ได้ทรงอาราธนา พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) หรือสามเณรสา ผู้สอบเปรียญ ๙ ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร เป็นสามเณรนาคหลวง สายเปรียญธรรมรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ปีฉลู ทรงกระทำการสมโภชทั้งเจ้าอาวาสและวัดใหม่เป็นเวลา ๓ วัน กล่าวกันว่า ที่ทรงเจาะจงอาราธนา พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกปกครองวัดราชประดิษฐ์ ก็เพราะพระสาสนโสภณ เป็นศิษย์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดมาก เมื่อมีเจ้าอาวาสปกครองวัดเรียบร้อยแล้ว หน้าที่ในการทะนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์และบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม ก็เป็นอันพันไปจากพระราชภาระ แต่ก็มิได้ทรงทอดทิ้ง ยังใฝ่พระทัยในวัดราชประดิษฐ์อยู่เสมอ โดยทรงรับเข้าอยู่ใน พระบรมราชูปถัมภ์เป็นพิเศษยิ่งกว่าวัดหลวงอื่นๆ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ดังความตอนหนึ่งที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงพระราชประเพณีถวายพุ่มพระในวัดต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไว้ว่า “วัดราชประดิษฐ์นั้น ในพระบรมราชาธิบายว่าตั้งแต่สร้างวัด ทูลกระหม่อมก็เสด็จไปถวายพุ่มพระทั้งวัดทุกปี ดูทำนองอย่างเป็นเจ้าของวัด ที่เสด็จไปถวายพุ่มพระวัดราชบพิธทั้งวัดในรัชกาลที่ ๕ ก็ทำตามอย่างวัดราชประดิษฐ์ นั่นเอง...” เมื่อการสร้าง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม สำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกประการ คือทรงซื้อที่สร้างวัดด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เริ่มสร้างวัดราชประดิษฐ์ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๗ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้ประกอบพระราชพิธีผูกพัทธสีมา ในวันที่ ๗-๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๘ และทรงอาราธนาศิษย์เอกผู้ทรงคุณวุฒิ คือ พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) พร้อมทั้งพระอนุจรอีก ๒๐ รูป มาเป็นเจ้าอาวาส และพระลูกวัด ต่อจากนั้น ก็ทรงทะนุบำรุงรับวัดราชประดิษฐ์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นพิเศษยิ่งกว่าวัดหลวงอื่นๆ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ วัดราชประดิษฐ์ก็เจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม นั้น เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นโรงเรือนที่อยู่อาศัยของข้าราชการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงขอซื้อที่เพื่อสร้างวัดธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ เพื่อสำหรับเจ้านาย ข้าราชการ ฝ่ายหน้า-ใน ได้บำเพ็ญกุศลสะดวกขึ้น เนื่องเพราะตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง ![]() “ปาสาณเจดีย์” พระเจดีย์หินอ่อนทรงลังกาองค์ใหญ่ ด้านหน้าประดิษฐานพระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ![]() พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ซึ่งหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ในท่านั่งแสดงพระธรรมเทศนา ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าปาสาณเจดีย์ ![]() = สมณศักดิ์ “พระสาสนโสภณ” หรือ “พระศาสนโศภน” http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=50748 (มีต่อ ๓) |
เจ้าของ: | webmaster [ 06 ต.ค. 2017, 08:45 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
![]() พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม • การปฏิสังขรณ์พระอารามในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อสิ้นสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั่วทั้งพระอาราม เสร็จแล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ บรรจุลงในกล่องศิลาแล้วนำมาประดิษฐานไว้ภายใน พระพุทธอาสน์ ณ พระวิหารหลวง ตามพระกระแสรับสั่งของพระองค์ การอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนๆ ไปประดิษฐานในที่อันสมควรนั้น ก็เพื่อป้องกันมิให้พระบรมอัฐิเหล่านั้นต้องกระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ เพราะว่าในขณะที่พระราชโอรส และพระราชธิดา ผู้ที่ทรงรับแบ่งพระบรมอัฐินั้นไปรักษาไว้ ขณะยังทรงพระชนม์อยู่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าสิ้นพระชนม์ไปแล้วจะขาดผู้รักษาต่อ ด้วยผู้ที่จะมารับมรดกจะนิยมศรัทธาในพระบรมอัฐินั้นๆ หรือไม่ ก็ไม่ทราบได้ อนึ่ง การประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวไว้เป็นที่เป็นทางนั้น ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการบูชา หรือบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายตามอัธยาศัยได้สะดวกอีกด้วย ![]() พระพุทธสิหังคปฏิมากร พระประธานในพระวิหารหลวง ภายในพระพุทธอาสน์เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของรัชกาลที่ ๔ ส่วนด้านหลังคือพระโกศพระศพสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมพระบรมอัฐิ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนๆ จำนวน ๓ รัชกาล บรรจุลงในกล่องศิลาแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ภายในพระพุทธอาสน์ ขององค์พระประธานในพระอุโบสถวัดสำคัญประจำรัชกาล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์นั้นทรงสร้างหรือบูรณะไว้ คือ พระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณราชวราราม พระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ประดิษฐานไว้ที่วัดราชโอรสาราม ส่วนพระบรมอัฐิในพระองค์นั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะให้บรรจุไว้ ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระวิหารหลวง ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ที่พระองค์ได้ทรงสร้างขึ้นดังกล่าวแล้ว ![]() ![]() ตุ๊กตาอับเฉาจีนด้านข้างพระวิหารหลวง (มีต่อ ๔) |
เจ้าของ: | webmaster [ 06 ต.ค. 2017, 08:45 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
![]() “หอไตร” ปราสาทยอดปรางค์แบบขอม • การสร้างปราสาทยอดปรางค์แบบขอม ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทยอดปรางค์แบบขอมขึ้น ๒ หลัง ตั้งอยู่บนลานไพที ด้านตะวันออกและด้านตะวันตกของพระวิหาร ปราสาททั้งสองหลังนี้ มีรูปร่างส่วนสัดคล้ายกันมากและมีขนาดเท่าๆ กัน เดิมที ที่ตรงที่สร้างปราสาททั้งสองหลังนี้ เป็นเรือนไม้ สร้างในคราวเดียวกับการสร้างวัด ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ เรือนไม้ทั้งสองก็ชำรุดทรุดโทรมลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างกรมศิลปากรรื้อสร้างใหม่เป็นปราสาทยอดปราค์แบบขอม สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยลวดลายสวยงามมาก ผู้ออกแบบปราสาทยอดปรางค์แบบขอม กล่าวกันว่าเป็นฝีมือของ พระยาจินดารังสรรค์ ผู้เคยออกแบบและสร้างอนุสาวรีย์รูปปรางค์ ๓ ยอด แบบขอม ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มาก่อน ในส่วนรายละเอียดของปราสาททั้งสองหลังนั้น มีดังนี้ หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออก หน้าบันของซุ้มประดับด้วยรูปปั้นปูนนูน เป็นภาพพระพุทธประวัติ ปางประวัติ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ภายในปราสาทหลังนี้ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก และคัมภีร์ต่างๆ จึงเรียกกันว่า “หอไตร” ส่วนหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกนั้น ยอดปรางค์ประดับด้วยพรหมสี่หน้า หันไปทางทิศทั้งสี่ หน้าบันของซุ่มประดับภาพปูนปั้นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตามวรรณคดีพระนารายณ์จะต้องบรรทมอยู่บนหลังพญานาค แต่ที่หน้าบันของปราสาทหลังนี้กลับเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหลังมังกร เบื้องหลังมีพระลักษมี และเศียรนาคแผ่พังพาน ภายในปราสาทใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ พระบรมรูปยืนเต็มพระองค์ และขนาดเท่าพระองค์จริง จึงเรียกกันว่า “หอพระจอม” ![]() “หอพระจอม” ปราสาทยอดปรางค์แบบขอม ![]() หน้าบันหอพระจอม ประดับภาพปูนปั้นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหลังมังกร (มีต่อ ๕) |
เจ้าของ: | webmaster [ 06 ต.ค. 2017, 08:45 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
![]() ปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์หินอ่อนทรงลังกาองค์ใหญ่ • ปูชนียวัตถุ-ปูชนียสถานของวัดราชประดิษฐ์ฯ วัดราชประดิษฐ์ฯ ถึงแม้จะเป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งมีเนื้อที่ตั้งของวัดอยู่เพียง ๒ ไร่ ๒ งาน กับ ๙๘ ตารางวาเท่านั้น แต่ภายในบริเวณวัดได้บรรจุเอาความสวยงามวิจิตรตระการตาเป็นสง่าภาคภูมิ ไม่น้อยไปกว่าพระอารามหลวงอื่นๆ ที่มีบริเวณพระอารามใหญ่กว่าเลย ดังจะเห็นว่า เมื่อก้าวพ้นประตูวัดทางด้านทิศเหนือซึ่งมีบานประตูเป็นไม้สักสลัก เป็นรูป “เซี่ยวกาง” มีลักษณะเป็นนักรบจีนหนวดยาวหน้าตาขึงขัง นายทวารบาลตามคตินิยมของจีน กำลังรำง้าวอยู่บนหลังสิงห์โต ก็จะเห็น “พระวิหารหลวง” ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นไพที ทรวดทรงทั่วไปสวยงามมาก มีมุขหน้าและหลัง ทั้งหลังประดับด้วยหินอ่อนตลอด หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีส้มอ่อนๆ มีช่อฟ้า ใบระกา ประดับเสริมด้วยพระวิหารหลวง ทำให้เด่นประดุจตั้งตระหง่านอยู่บนฟากฟ้านภาลัย หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นรูปมหาพิชัยมงกุฎบนพระแสงขรรค์ ซึ่งมีพานแว่นฟ้ารองรับมหาพิชัยมงกุฎและพระขรรค์นั้น พานแว่นฟ้าประดิษฐานอยู่บนหลังช้าง ๖ เชือก ทั้งสองข้างประดับด้วยฉัตร ๕ ชั้น พื้นของหน้าบันเป็นลายกนกลงรักปิดทองทั้งหมด ตัวหน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นลวดลายดังกล่าวนั้น นับว่าเป็นหน้าบันที่งดงามวิจิตรพิสดาร เป็นยอดของสถาปัตยกรรมอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างทุกบานประดับรูปลายปูนปั้น ลงรักปิดทองติดกระจกสีเป็นรูปทรงมงกุฎ ตัวบานประตูหน้าต่างสลักด้วยไม้สักเป็นลายก้านแย่ง ซ้อนกันสองชั้นลงรักปิดทองติดกระจกสี ทำให้ดูงดงามยิ่งขึ้น ![]() “ประตูเซี่ยวกาง” ตามคตินิยมของจีน อยู่ด้านหน้าวัด พระประธานในพระวิหารหลวง มีพระนามว่า พระพุทธสิหังคปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีหน้าตักราว ๑ ศอก ๖ นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายใต้ษุษบก ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้หล่อจำลองจากพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากทรงโปรดปรานในพุทธลักษณะและทรงมีพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ จึงอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์ฯ แห่งนี้ และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธสิหังคปฏิมากร” อนึ่ง ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มาบรรจุภายในพระพุทธอาสน์ของ “พระพุทธสิหังคปฏิมากร” ทั้งนี้ แม้วัดราชประดิษฐ์ฯ จะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ “ประตูเซี่ยวกาง” ก็เป็นศิลปะที่ยังคงได้รับอิทธิพลจากจีนอยู่ คำว่าเซี่ยวกาง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เซ่ากัง” ที่แปลว่า ยืนยาม นั่นเอง วัดราชประดิษฐ์ฯ เป็นพระอารามหลวงที่ไม่มีพระอุโบสถ มีเฉพาะพระวิหารหลวงใช้ประกอบพิธีสังฆกรรม ดังนั้น พระวิหารหลวงจึงถือว่าเป็นพระอุโบสถของวัดด้วย ในพระวิหารหลวงมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของขรัวอินโข่ง ที่วาดเป็นรูปเกี่ยวกับพระราชพิธี ๑๒ เดือน นับเป็นภาพวาดที่มีค่ายิ่ง โดยรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วาดไว้ เพราะทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเรื่องราวในอดีต อย่างเช่นพระราชพิธีเดือนอ้าย หรือเดือนธันวาคม จะมีพิธีตรุษเลี้ยงขนมเบื้อง ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว ![]() ซุ้มหน้าต่างพระวิหารหลวง ทรงมงกุฎ ประดับด้วยเครื่องแขวนพวงกลาง ![]() บานหน้าต่างพระวิหารหลวง สลักด้วยไม้สักเป็นลายก้านแย่ง ลงรักปิดทอง ประดับกระจกสี ![]() บานประตูพระวิหารหลวง สลักด้วยไม้สักเป็นลายก้านแย่ง ลงรักปิดทอง ประดับกระจกสี ![]() ซุ้มหน้าต่างพระวิหารหลวง ทรงมงกุฎ นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังจำลองเหตุการณ์ เป็นพระรูปรัชกาลที่ ๔ ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ตามความจริงนั้นพระองค์เสด็จไปที่ตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ซึ่งพระองค์ทรงคำนวนได้อย่างถูกต้อง แต่ในภาพนี้ได้วาดฉากให้เป็นการทอดพระเนตรที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ด้านหลังพระวิหารหลวงมีพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ คือ ปาสาณเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ภายนอกประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อนทั้งองค์ เป็นที่มาของคำว่า ปาสาณเจดีย์ ซึ่งหมายถึงเจดีย์หิน และด้านหน้าปาสาณเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐาน พระรูปหล่อของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ซึ่งหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อน ในท่านั่งแสดงพระธรรมเทศนา ฝีมือช่างชาวสวิส ชื่อ เวนิง ซึ่งการสร้างพระวิหารและมีพระเจดีย์อยู่ด้านหลังนี้ ถือเป็นแบบแผนการสร้างวัดของรัชกาลที่ ๔ เพราะถือว่าเมื่อไหว้พระประธานในพระวิหารแล้ว ก็จะได้ไหว้พระเจดีย์ไปด้วยพร้อมกันในคราวเดียว นอกจากนี้แล้วยังมีสถาปัตยกรรมอื่นๆ ภายในวัดที่สำคัญอันน่าชมยิ่ง เช่น พระปรางค์ขอม ตั้งอยู่บนพื้นไพทีด้านหลังพระวิหารหลวง เป็นปราสาทก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยม มียอดปรางค์แบบขอม ภายในบรรจุพระอังคารของ “สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)” สรีรังคารของ “พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก)” และสรีรังคารของ “พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส)” อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ทั้ง ๓ รูป ด้านข้างถัดจาก “หอพระจอม” ออกไป คือ ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระวิหารหลวง เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ขนาดเล็กของกรีกโบราณ เพดานประดับด้วยดวงตราประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ บริเวณนี้เป็น เขตหวงห้ามสำหรับสตรี หรือเขตสังฆาวาส อันเป็นบริเวณที่ห้ามสตรีผ่านเข้าออกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่ตั้งกุฏิสงฆ์ มีป้ายปิดที่ประตูว่า ห้ามสตรีเพศผ่าน ด้วยเพราะธรรมยุติกนิกายนั้นเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก ![]() ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระรูปรัชกาลที่ ๔ ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ![]() ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระราชพิธี ๑๒ เดือน (มีต่อ ๖) |
เจ้าของ: | webmaster [ 06 ต.ค. 2017, 08:45 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
![]() “หอพระจอม” ที่ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ • ศิลาจารึกวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ด้านหลังพระวิหารหลวงมีซุ้มซึ่งแกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งแผ่น ภายในซุ้มเป็นที่ประดิษฐาน ศิลาจารึก ประกาศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ ฉบับ ฉบับแรกเป็นประกาศการสร้างวัดถวายพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย จารึกในปีพุทธศักราช ๒๔๐๗ ฉบับหลังเป็นประกาศเรื่องงานพระราชพิธีผูกพัทธสีมาวัด จารึกในปีพุทธศักราช ๒๔๐๘ ประกาศทั้ง ๒ ฉบับลงพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อความในศิลาจารึกทั้ง ๒ ฉบับนั้นนับว่ามีความสำคัญ ซึ่งเป็นมหามรดกล้ำค่าที่เป็นมหาสมบัติของคณะธรรมยุติกนิกาย ที่ได้รับพระราชทานตกทอดมาจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ![]() เชิงประตู “หอพระจอม” เป็นยักษ์และลิงแบก ศิลาจารึกตอนบน อิมํ ภนฺเต วิหารารมภูมี สมนฺตโต ปาการมูเลสุ หิฎฺฐกา จยปริจฺฉินฺนํ วิสํคามเขตตฺตํ กตวา ปริจฺฉิชฺชมานํ อาคตานาคตสฺส จาตุทฺทิสฺส ธมฺมยุตฺติกนกายิกสํฆสฺส อนญฺญนิกายิกสส โอโนเชม สาธุ ฯลฯ สุขาย. ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ขอประกาศว่า ที่ภายในพระนครติดต่อไปข้างใต้ จังหวัดตึกดินเก่า ซึ่งบัดนี้เป็นสนามทหาร แลติดต่อข้างด้านตะวันออกหลังวังหม่อมเจ้าดิศช่างหล่อ แลติดต่อข้างเหนือวังกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ แลติดต่อข้างด้านตะวันตกถนนริมคลองโรงสีคิดที่ยาวไปข้างตะวันออก ๓๕ วา กว้างไปข้างเหนือต่อใต้ ๓๑ วา ๓ ศอก เดิมเป็นที่หลวงอยู่ข้างตึกดิน สำหรับพระราชทานข้าราชการที่ต้องพระราชประสงค์ใช้ใกล้ๆ อาศัยอยู่ แลแต่ก่อนมีผู้สร้างโรงธรรมลงในด้านตะวันออกของที่นี้ โรงนั้นได้เป็นที่มีธรรมเทศนา แลทำบุญให้ทานของชาวบ้านอยู่ใกล้เคียงที่นี้ช้านาน แลเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระบดเขียน เหมือนกับเป็นพระอารามวิหารโดยสังเขป ครั้นมาเมื่อแผ่นดินพระบาทพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องพระราชประสงค์ที่นี้เป็นสวนกาแฟ จึงให้ไล่บ้านเรือนที่อยู่ในที่นี้เสียสิ้น เจ้าของโรงธรรมการเปรียญต้องรื้อโรงธรรมไปปลูกที่อื่นเสียด้วย ที่นี้ก็เป็นที่สวนกาแฟมาหลายปีจนแผ่นดินปัจจุบันนี้ แลบัดนี้ไม่ได้ทำสวนกาแฟก็รกร้างว่างเปล่าอยู่ ก็บัดนี้เจ้านายแลข้าราชการข้างหน้าบ้างข้างในบ้าง ซึ่งเคยเป็นศิษย์ศึกษาประพฤติการทำบุญให้ทาน ตามคติลัทธิอย่างธรรมยุติกนิกาย พากันบ่นว่าวัดพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายอยู่ไกล จะทำบุญให้ทานก็ยากไปต้องไปไกลลำบาก ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ข้างล่าง เดิมเป็นครูอาจารย์ต้นลัทธิชำระข้อปฏิบัติต่างๆ ให้เป็นเยี่ยงอย่างในคณะพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย คิดถึงการพระพุทธศาสนาซึ่งตนได้ชำระไว้ มีความปรารถนาจะใคร่ได้พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายนั้นมามีอยู่ในที่ใกล้ที่ตัวอยู่ แลจะให้สมประสงค์ ท่านทั้งหลายชายหญิงทั้งปวงถือชอบใจดังว่าแล้วนั้นด้วย อนึ่งคิดว่าศาลาโรงธรรมการเปรียญก็สมมติว่าเป็นที่ดังหอพระพุทธรูป หรือหอพระไตรปิฎก หรืออาสนศาลาที่ประชุมสงฆ์ เป็นที่นมัสการทำบุญให้ทานของทายกสัปบุรุสผู้มีศรัทธาคล้ายกับอารามวิหาร เป็นที่เจดีย์สถานแลที่อยู่พระสงฆ์โดยสังเขปก็โรงธรรมศาสลาการเปรียญเก่า ซึ่งมีในที่นั้นเจ้าของรื้อไปเสียแล้ว ควรจะปลูกสร้างขึ้นใหม่ด้วย เพราะเหตุดังกล่าวแล้วนั้น ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ท้ายหนังสือนี้ จึงได้คิดจะทำเจดีย์ แลธรรมสภาแลวิหารที่อยู่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย ตามประสงค์ของตน แลท่านทั้งหลายชายหญิงอื่นเป็นอันมากนั้น ในที่นี้ใกล้พระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่อยู่ จึงคิดว่าที่นี้เป็นที่สวนกาแฟของหลวงของแผ่นดินเป็นของกลางอยู่ ไม่ควรจะยกเอามาถวายเฉพาะเป็นของพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายเป็นที่พิเศษได้ เห็นว่าจะเป็นทำให้เสียประโยชน์แผ่นดินไป จึงได้สั่งให้กรมพระนครบาลวัดที่นี้กะลงเป็นตารางละวาแล้วตีราคาตารางละบาท ที่นี้ยาวไปข้างตะวันตกมาตะวันออก ๓๕ วา กว้างไปข้างเหนือต่อใต้ ๓๑ วา ๓ ศอก เป็นตารางวาได้ ๑,๐๙๘ วา ฯข้าฯ มีชื่อจดไว้ให้ท้ายหนังสือนี้จึงได้สละทรัพย์เป็นของนอกจำนวน มิใช่ของขึ้นท้องพระคลัง ๑,๐๙๘ บาท คิดเป็นเงิน ๑๘ ชั่งตำลึงกึ่ง ได้มอบเงินให้กรมพระนครบาลรับไปจัดซื้อที่อื่นที่ต้องการในราชการแผ่นดิน คือที่เป็นที่ตั้งกองรักษาถนนหนทางบางบ้านเมือง ที่ซึ่งจัดซื้อด้วยทรัพย์จำนวนนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์สมันตพงษ์พิสุทธมหาบุรุษย์รัตโนดม สมุห์พระกลาโหม ได้รู้เห็นตรวจตราให้จ่ายเงินจัดซื้อที่อื่นเป็นอันเปลี่ยนที่นี้เสร็จสมควรแล้ว ก็บัดนี้ที่อันนี้ตกเป็นของ ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ผู้เดียว จึง ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ยอมยกที่นี้ให้เป็นส่วนเพื่อกุศลแก่บุตรภรรยาญาติพี่น้อง และบริษัทฝ่ายหน้าฝ่ายใน บันดาที่มีน้ำใจเลื่อมใสศรัทธานับถือปรนนิบัติพระพุทธศาสนา อย่างคติลัทธิพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายทั้งปวงแล้ว จึงพร้อมใจกันด้วยปรึกษากันบ้าง คาดใจกันบ้างขอยอมยกที่นี้ซึ่งได้ก่อคันขึ้นด้วยอิฐ มีหลุมที่ปักเสาสีมานิมิตในทิศทั้งแปดนี้ ให้เป็นส่วนตัดขาดจากพระราชอาณาเขต เป็นแขวงวิเศษเรียกว่า วิสุงคามสีมา มอบถวายแก่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย อันมีในทิศทั้ง ๔ อันมาแล้วก็ดี ยังไม่มาแล้วก็ดี เพื่อว่าในที่กำหนดไว้จะสร้างพระเจดีย์แลที่ตั้งพระปฏิมากร เนื้อที่เท่าใดพระเจดีย์แลชุกชีรอบได้ตั้งลง ที่เท่าใดชุกชีแท่นพระพุทธรูปจะได้ตั้งลง ที่เท่านั้นยกถวายเป็นพระพุทธบูชา แก่สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค ซึ่งเป็นพระบรมศาสดา อันเสด็จปรินิพพานแล้วที่นอกนั้นรอบคอบจังหวัดที่กำหนดแล้ว ขอยกให้เป็นที่อยู่ที่อาศัยประพฤติพรหมจรรย์ แลประพฤติการพระพุทธศาสนาสั่งสอนศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แลทำสังฆกรรมน้อยใหญ่ตามวินัยกิจโดยสะดวกทุกประการ แต่ที่นี้คงขาดเป็นของพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย ผู้เป็นศิษย์ศานุศิษย์ศึกษาตามลัทธิซึ่ง ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ได้เริ่มได้ริได้ชำระตกแต่งตำราขึ้น แลท่านผู้มีปัญญาละเอียดได้ชำระตกแต่งต่อไปนั้น พวกเดียวก็ผู้จะได้อยู่ได้บริโภคที่นี้ต่อไปนั้น ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ท้ายหนังสือนี้ ยอมให้อยู่แต่ท่านผู้ที่คนทั้งปวงรู้พร้อมกันว่าเป็นศิษย์ศึกษาต่อๆ ไปจาก ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ๆ ไม่ยอมให้พระสงฆ์สามเณรพวกอื่น ที่มีใช่ศิษย์ศานุศิษย์ศึกษาสืบไป ฯข้าฯ นั้นเข้าอยู่เป็นเจ้าของเลยเป็นแต่ไปสู่มาหาหรืออาศัย ในกำหนดวันเวลาตามน้ำใจยอมโดยชอบใจของพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายนั้นได้ ก็ถ้าพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายที่อยู่ในที่นี้ก็ดี ที่อื่นก็ดี กลับจิตกลับใจกลับรีดลัทธิถืออย่างพระสงฆ์นิกายอื่นก็ดี เข้ารีตฝรั่งแลศาสนาอื่นก็ดีแล้ว ก็เป็นอันขาดหลุดจากเป็นเจ้าของที่นี้ จะอยู่ในที่นี้ไม่ได้ ก็ถ้าด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายสาบสูญสิ้นไม่มีในแผ่นดิน เมื่อนั้นที่อันนี้จงตกเป็นของพระผู้มีพระภาคพระบรมศาสดาอรหังสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรินิพพานแล้วนั้นเถิด ใครมีศรัทธาจะปรนนิบัตินมัสการพระเจดีย์ ก็จงปรนนิบัตรนมัสการเถิด ใครจะใคร่จำศีลภาวนา ก็จงมาจำศีลภาวนาตามควรแก่ความเลื่อมใสเทอญ เมื่อที่นี้เป็นของพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายดังนี้แล้ว ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ถ้ายังยืนยงคงชีพอยู่ ก็จะอุสาหะสร้างทำพระเจดีย์ แลเรือนพระพุทธปฏิมากรแลโรงธรรมสภา แลกุฏิวิหารที่อยู่พระภิกษุสงฆ์ แลที่ต่างๆ เป็นเครื่องประดับพระอารามทั้งปวงไปตามกำลัง จนบริบูรณ์สถิตธรรมยุตติการาม แต่ที่นี้ใกล้พระราชวัง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินในอนาคตไม่โปรด จะต้องประสงค์ที่นี้ใช้ในราชการแผ่นดินก็ขอให้ซื้อที่อื่นเท่าที่นี้ หรือใหญ่กว่านี้ ด้วยราคาเท่าที่นี้ ในที่ใกล้บ้านคนถือพระพุทธศาสนา ไม่รังเกียจ เกลียดชัง พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายพอเป็นที่ภิกขาจารได้ แลไม่ใกล้เคียงชิดติดกับวัดอื่น เปลี่ยนก่อนจึงได้ของอะไร ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ได้สร้างสถาปนาการลงไว้ในที่นี้ ก็ต้องสร้างใช้ให้ดีให้งามเหมือนกัน จึงควรจะเอาที่นี้เป็นหลวงใช้ในราชการได้ ถ้าจะโปรดให้เป็นวัดที่อยู่พระสงฆ์พวกอื่นเหล่าอื่นก็เหมือนกัน ขอรับประทานให้ซื้อที่ใช้สร้างวัดใช้ก่อน จึงจะเปลี่ยนให้พระสงฆ์พวกอื่นหมู่อื่นอยู่ได้ ถ้าไม่ได้ซื้อที่อื่นสร้างวัดใช้ ไล่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายของ ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้เสียเปล่า พระสงฆ์พวกอื่นเข้ามาอยู่เป็นเจ้าของ เอาอำนาจเจ้านายมาไล่เจ้าของเสียชิงเอา ก็จะเป็นปสัยหาวหารอทินนาทานไป ขอท่านผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินในอนาคต จงโปรดประพฤติตาม ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ทำวัดราชประดิษฐ์นี้สั่งไว้จงทุกประการ จึงจะมีความเจริญสุข ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ได้แผ่ส่วนกุศลถวายแด่เทพยดารักษาพระนครทั้งปวง แลได้ฝากวัดราชประดิษฐ์นี้ไว้แด่เทพยดาให้รักษาอยู่แล้ว ประกาศไว้วัน ๖ ฯ ๑๒ ๑๒ ค่ำ ปีชวด ฉศก พระพุทธศาสนกาล ๒๔๐๗ พรรษา ศักราช ๑๒๒๖ เป็นปีที่ ๑๔ เป็นวันที่ ๔๙๔๕ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ อิทํ มยา ปรเมนฺทมหามกุฎสฺมา สฺยามวิชิเต รชฺชํ การยตา. บันทึกทั้งปวงในกระดาษนี้เป็นสำคัญ แต่สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ![]() ศิลาจารึกวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ศิลาจารึกตอนล่าง ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ขอประกาศเผดียงว่าในที่ภายในพระนคร ฯลฯ ตามควรแก่ความเลื่อมใสเทอญฯ จะว่าวัดสำหรับพระสงฆ์ทั้งแผ่นดินไม่ได้ แต่พัทธสีมานั้นตามพระวินัยจริงๆ จะผูกในบ้านก็ได้ ที่ของใครๆ ก็ได้ ฯข้าฯ ผู้มีชื่อในท้ายหนังสือนี้ ไม่มีสงสัยเลย ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงผูกพัทธสีมาในที่นี้ ด้วยปาสาณนิมิตรคือเสาใหญ่ซึ่งปักไว้ในทิศทั้ง ๘ นี้เถิด เสาทั้ง ๘ นั้น ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ขอถวายเสาศิลาในทิศซึ่งปักไว้ในทิศทั้ง ๘ เพื่อจะให้เป็นนิมิตรมหาพัทธสีมา แลอีกเสาสองต้นประกับกัน เพื่อจะให้เป็นที่สังเกตที่สวดสมมติให้ท่ามกลางรวม ๑๐ ต้นนี้ เป็นของพระสงฆ์ในคณะธรรมยุติกนิกาย ประดับพระอารามนี้ด้วย มอบถวายอีกพร้อมกันทั้งเสาศิลา ๑๐ ต้นปักอยู่ในกลางสอง อยู่ในทิศทั้งแปดอีกแปด เพื่อจะให้เป็นนิมิตรในทิศทั้งแปด แลเป็นสำคัญที่พระสงฆ์ยืนสวดผูกสีมาในท่ามกลางด้วย เพื่อจะได้สมมติสีมา ณ วัน ๖ ฯ ๑๗ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก พระพุทธศาสนกาล ๒๔๐๘ พรรษา จุลศักราช ๑๒๒๗ เป็นปีที่ ๑๕ หรือเป็นวันที่ ๕๑๔๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ อิทํ มยา รญฺญา ปรเมนฺทมหามกุฎสฺมา สฺยามวิชิเต รชฺชํ การยตา. หนังสือนี้ แต่ข้าพระพุทธเจ้า สมเด็จพระปรเมนทรามหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ![]() พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ เท่าพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ หอพระจอม (มีต่อ ๗) |
เจ้าของ: | webmaster [ 06 ต.ค. 2017, 08:46 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
![]() ![]() พระพรหมวัชราจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก ป.ธ.๘) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม รูปปัจจุบัน ![]() ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เข้ากราบนมัสการพระพรหมวัชราจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๘ * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๒ ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ ๐-๒๒๒๓-๘๒๑๕ ความสำคัญของวัด : พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ![]() http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19072 สังกัดคณะสงฆ์ : ธรรมยุต ![]() http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=47044 เจ้าอาวาส : พระพรหมวัชราจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก ป.ธ.๘) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร รูปปัจจุบัน ประวัติเจ้าอาวาส : - เว็บไซต์ : http://www.rajapradit.com/ การเดินทาง : หากเดินทางโดยรถประจำทางธรรมดา มีรถผ่าน สาย ๒, ๖๐ และรถประจำทางปรับอากาศ สาย ๑, ๒, ๕๑๒ แผนที่ : - ![]() สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ![]() ![]() พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมโกศาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ![]() ![]() พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) ในราวปี พ.ศ.๒๔๖๓ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปาโมกข์ อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ![]() ![]() ![]() ป้ายชื่อวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
เจ้าของ: | webmaster [ 06 ต.ค. 2017, 08:46 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
![]() |
เจ้าของ: | webmaster [ 06 ต.ค. 2017, 08:46 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: วัดประจำรัชกาลที่ ๔ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
![]() |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |