วันเวลาปัจจุบัน 17 ก.ย. 2024, 09:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


• ศาสนวัตถุสำคัญอื่นๆ ภายในวัด

รูปภาพ
บริเวณศาลาทิศรอบพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข)

รูปภาพ
หอระฆัง ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธไสยาส (พระวิหารพระนอน)


หอระฆัง เป็นสถานที่ต้องสร้างประจำไว้ที่วัดเพื่อเป็นสัญญาณบอกเวลา
และในความหมายพุทธปรัชญาหมายถึง การตื่นและรู้สัจธรรม
ตลอดทั้งให้ความรู้สึกแห่งสันติสุข เขตพุทธาวาสของวัด มีหอระฆัง ๒ หอ
คือด้านเหนือและด้านใต้ ขนาบพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑-๔
ด้านใต้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ส่วนด้านเหนือสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓
เป็นสถาปัตยกรรมจตุรมุขยอดทรงเจดีย์ย่อไม้สิบสอง
ประดับด้วยกระเบื้องเครื่องถ้วยลวดลายหลากสี ฐานสูงก่อทึบ
มีบันไดและกำแพงล้อมรอบลานประทักษิณ

รูปภาพ
สระจระเข้


ภายใน สระจระเข้ มีสระน้ำก่ออิฐถือปูน ตรงกลางสระมีภูเขาและบันไดเวียนเดินขึ้นได้
บนยอดเขามีพระเจดีย์ขนาดเล็กประดิษฐานอยู่องค์หนึ่ง เป็นที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ
ทางด้านตะวันออกของสระมีตึกหลังหนึ่ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๓ ชาวบ้านเรียกว่า ตึกฝรั่ง มีลักษณะคล้ายเก๋งจีนปัจจุบันนี้
โดยรอบขอบสระจระเข้ปรับปรุงเป็นสวนปลูกพรรณไม้ในวรรณคดีไทย ไม้หอม ดูร่มรื่น

ตึกฝรั่ง เป็นทรงจีน หลังคาเป็นแบบฝรั่ง มีจิตรกรรมฝาผนังฝรั่งสิบสามห้าง
เดิมเคยเป็นที่เรียนหนังสือของเจ้าฟ้าและเชื้อพระวงศ์รุ่นโต

รูปภาพ

รูปภาพ
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง


(มีต่อ ๑๕)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
จารึกวัดโพธิ์ติดอยู่บนเสาพระระเบียงคดชั้นในรอบๆ พระอุโบสถ


• จารึกวัดโพธิ์

ในช่วงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ พระอารามหลวงประจำรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๓ นั้น
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ ชึ่งสมควรจะเล่าเรียน
เป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจตราแก้ไข ใช้ของเดิมบ้าง
หรือประชุมปราชญ์ผู้รู้หลักในวิชานั้นๆ ให้แต่งขึ้นใหม่บ้าง

ในส่วนของ “จารึกวัดโพธิ์” นั้น ได้เริ่มมีขึ้น
ในช่วงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่อีกครั้ง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
โดยการบูรณะในครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงมีพระราชประสงค์
ให้พระอารามแห่งนี้เป็น “มหาวิทยาลัย” สำหรับประชาชนทั่วไป
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเอาองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทย
และสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ เช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี
และวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั้งหลาย ฯลฯ
มาจารึกลงบนแผ่นหินอ่อนจำนวน ๑,๓๖๐ แผ่น
ประดับไว้ตามบริเวณผนัง-เสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ
พระวิหาร พระวิหารคด และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัด

รูปภาพ
จารึกวัดโพธิ์บนศาลาราย


ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงกล่าวไว้ในคำนำหนังสือ ‘ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน’
ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. ๒๔๖๒
ว่า
“...ในการที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ มีพระราชประสงค์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง
ซึ่งจะให้เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชนไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์
ถ้าจะเรียกอย่างทุกวันนี้ ก็คือจะให้เป็นมหาวิทยาลัย
เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์หนังสือไทย
การเล่าเรียนส่วนสามัญศึกษาที่มีเรียนอยู่ตามวัดทั่วไป
แต่ส่วนวิสามัญศึกษาอันจะเป็นวิชาอาชีพของคนทั้งหลายยังศึกษาได้แต่ในสกุล
ผู้อยู่นอกสกุลโดยเฉพาะที่เป็นพลเมืองสามัญไม่มีโอกาสที่จะเรียนได้
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ ซึ่งสมควรจะเล่าเรียน
เป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจตราแก้ไข ใช้ของเดิมบ้าง
หรือประชุมผู้รู้หลักในวิชานั้นๆ โดยมาก เพื่อคนทั้งหลายไม่เลือกว่า
ตระกูลชั้นใดๆ ใครมีใจรักวิชาอย่างใด ก็ให้สามารถเล่าเรียนได้จาก
ศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ จึงมีหลายอย่าง ทั้งเป็นความรู้ส่วนวรรณคดี
โบราณคดี และศัสตราคมต่างๆ เป็นอันมาก และได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษา...”


รูปภาพ
จารึกเกี่ยวกับจุดต่างๆ บนร่างกายมนุษย์


จารึกทั้งหมดในวัดโพธิ์จากหนังสือ ‘ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน’
(คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกสมโภชหิรัญบัฏ
และฉลองอายุวัฒนมงคล ๘๕ ปี พระธรรมปัญญาบดี พ.ศ. ๒๕๔๔)
เมื่อแบ่งประเภทออกแล้วก็นับได้หลายหมวดด้วยกัน ดังนี้

หมวดประวัติ ได้แก่ จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑,
จารึกครั้งรัชกาลที่ ๑ จดหมายเหตุเรื่องว่าด้วยพระบรมธาตุมาแต่เมืองน่าน,
การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนถอดจากโคลงดั้นฯ, พระพุทธเทวปฏิมากร,
พระพุทธโลกนาถ, พระพุทธมารวิชัย, พระพุทธชินราช, พระพุทธชินศรี,
พระพุทธปาลิไลย, พระพุทธศาสดา, พระพุทธไสยาสน์,
รายการแบ่งด้านปฏิสังขรณ์ถอดจากโคลงดั้นฯ,
โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน
(พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
และโคลงบอกด้านการปฏิสังขรณ์

รูปภาพ
จารึกเกี่ยวกับจุดต่างๆ บนร่างกายมนุษย์


หมวดพระพุทธศาสนา ได้แก่ จารึกเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ องค์
ติดไว้ที่เชิงผนังหน้าต่างระหว่างพระอุโบสถ
เนื้อหาอธิบายถึงประวัติของพระเถระแต่ละรูป เหตุที่ออกบวช
และคุณสมบัติพิเศษที่ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
ของพระเถระแต่ละองค์ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ฯลฯ,
จารึกเรื่องพระสาวิกาเอตทัคคะ ๑๓ องค์
ที่อยู่เชิงผนังหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์,
จารึกเรื่องอุบาสกเอตทัคคะ ๑๐ คน, จารึกเรื่องอุบาสิกาเอตทัคคะ ๑๐ คน,
จารึกเรื่องอสุภ ๑๐ และญาณ ๑๐, จารึกเรื่องฎีกาพาหุง ๘ บท,
จารึกเรื่องพระพุทธบาท, จารึกเรื่องธุดงค์ ๑๓, จารึกเรื่องพาหิรนิทาน,
จารึกเรื่องอรรถกถาชาดก, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑,
จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๒, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๓,
จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๔, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๐,
จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๒, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๓,
จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๖, จารึกเรื่องศาลาการเปรียญ,
จารึกเรื่องเวสสันดรชาดก, จารึกเรื่องมหาวงษ์,
จารึกเรื่องนิรยกถา และจารึกเรื่องเปรตกถา

รูปภาพ
จารึกวัดโพธิ์ติดอยู่บนเสาพระระเบียงคดชั้นในรอบๆ พระอุโบสถ


หมวดวรรณคดี ได้แก่ จารึกเรื่องรามเกียรติ์, จารึกนิทานสิบสองเหลี่ยม
ที่จารึกไว้ที่คอสอง เฉลียงศาลาล้อมพระมณฑปทิศตะวันตก
(ปัจจุบันศาลาแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของมีค่าของวัด),
จารึกตำราฉันท์วรรณพฤติ, จารึกตำราฉันท์มาตราพฤติ,
จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร,
จารึกโคลงกลบท ที่ติดอยู่ตามพระระเบียงของพระอุโบสถ
และจารึกโคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ ที่เป็นแผ่นหินอ่อนอยู่รอบพระอุโบสถ

หมวดทำเนียบ ได้แก่ จารึกทำเนียบตราตำแหน่งสมณศักดิ์,
จารึกทำเนียบหัวเมืองขึ้นของกรุงสยามและผู้ครองเมือง
และจารึกโคลงภาพคนต่างภาษา จารึกอยู่ตามผนังเฉลียงสกัดศาลารายรอบวัด
เพื่ออธิบายลักษณะ อุปนิสัย บ้านเมืองชาวต่างประเทศที่ชาวสยามคุ้นเคย

รูปภาพ
แผ่นจารึกรูปร่างสวยงามพบเห็นได้ทั่วไปในวัดโพธิ์


หมวดประเพณี ได้แก่ จารึกเรื่องรามัญหุงข้าวทิพย์, จารึกเรื่องมหาสงกรานต์,
จารึกเกี่ยวกับริ้วกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นต้น

หมวดสุภาษิต
ได้แก่ จารึกฉันท์กฤษณาสอนน้อง
อยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์หลังเหนือ,
จารึกฉันท์พาลีสอนน้อง อยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ทิศใต้,
จารึกสุภาษิตพระร่วง, จารึกฉันท์อัษฎาพานร และจารึกโคลงโลกนิติ
มีจำนวน ๔๒๐ บทด้วยกัน อยู่ที่ผนังด้านนอกศาลาทิศพระมณฑป

หมวดอนามัย ได้แก่ จารึกโคลงภาพฤาษีดัดตน
เป็นท่าดัดตนทั้ง ๘๐ ท่าที่จะแก้การปวดเมื่อยของอวัยวะต่างๆ
และจารึกอาธิไท้โพธิบาทว์ เป็นต้น

รวมทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปั้นรูปสลักหินฤาษีดัดตน
ในท่าต่างๆ จำนวนทั้งหมด ๘๐ ท่า สำหรับอธิบายประกอบตำรับตำรา

รูปภาพ
จารึกเกี่ยวกับโคลง กลอน ฉันท์ต่างๆ


การบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่ในครั้งนั้น
ใช้เวลาไปถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน จึงแล้วเสร็จ
ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้วัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็น “มหาวิทยาลัย” เท่านั้น
แต่ยังทำให้วัดโพธิ์ในตอนนั้นดูงดงามจนกวีเอก
อย่าง “สุนทรภู่” ถึงกับเอ่ยชมออกมาเป็นบทกลอนว่า

“.....เห็นวัดโพธิ์โสภาสถาพร
สง่างอนงามพริ้งทุกสิ่งอัน
โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง
ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์.....”


เรียกได้ว่าพระองค์ทรงพัฒนาวัดนี้ในทุกด้านอย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว
ซึ่งในรัชกาลต่อมาๆ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้โปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา
ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญมาตลอดทุกรัชกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

รูปภาพ
โคลงกลอักษร “กลโคลงพรหมภักตร์”


จารึกทั้งหมดนี้จึงเป็นความรู้ด้านศาสนา วิชาการวรรณคดี
โบราณคดี การแพทย์ ประวัติศาสตร์ และอีกหลายสาขา
ซึ่งทรงมุ่งหวังให้ยั่งยืนและเผยแพร่ให้ประชาชนศึกษาได้อย่างเสรี
เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชน โดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ
ยศถาบรรดาศักดิ์ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีหนังสือ ไม่มีโรงเรียน
การเล่าเรียนส่วนใหญ่จะมีสอนให้อยู่ตามวัดต่างๆ หรือตามบ้านผู้ดีมีสกุลเท่านั้น
พระอารามแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
เพิ่มเติมจากการเล่าเรียนวิชาสามัญศึกษาที่มีอยู่ตามวัดทั่วไป
แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า ๑๗๘ ปี วัดโพธิ์ก็ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้สรรพวิทยา
เห็นได้จากความรู้เกี่ยวกับโยคะศาสตร์และตำราการนวดแผนโบราณวัดโพธิ์
เป็นที่รู้จักแพร่หลายออกไปทั่วโลกในปัจจุบัน

รูปภาพ
จารึกโคลงกลอักษร “โคลงรวงผึ้ง”


(มีต่อ ๑๖)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
จารึกวัดโพธิ์บนศาลาราย


• มรดกความทรงจำแห่งโลก

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก
ประเทศไทย โดยคุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานคณะกรรมการฯ

จึงได้เสนอต่อคณะกรรมการองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization)
หรือ องค์การยูเนสโก (UNESCO) จนกระทั่งมีมติรับรองให้ขึ้นทะเบียน
จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นเอกสาร
“มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World)
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒
ในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากที่คณะกรรมการแห่งชาติฯ
ได้มีการเสนอต่อคณะกรรมการองค์การยูเนสโก ไปเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๐
ซึ่งได้มีการรับรองแล้วในที่ประชุมใหญ่องค์การยูเนสโก ประเทศออสเตรเลีย

ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกวิเคราะห์แล้วเห็นว่า
จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
ไม่ได้ให้ผลกระทบต่อหลายประเทศในโลก
แต่มีความสำคัญควรได้รับการขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาค
เนื่องจากองค์ความรู้ในสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ ของจารึกดังกล่าว
มีความสำคัญระดับสากล และมีวิชาหลากหลายที่เป็นสากลด้วย
โดยเฉพาะเรื่องการแพทย์แผนโบราณ การบริหารกายเพื่อบำบัดโรค
เช่น ตำราแพทย์ วิชาฤาษีดัดตน เป็นต้น

รูปภาพ
เอกสารการขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


คำว่า “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World) คือ
มรดกเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (Documentary Heritage)
ที่เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแห่งโลก แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด
การค้นพบ และผลงานของสังคมมนุษย์ เป็นมรดกตกทอดจากสังคม
ในอดีตให้แก่สังคมปัจจุบัน ที่จะสืบสานส่งต่อให้แก่สังคมในอนาคต

“มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World)
นี้จะแตกต่างจาก “มรดกโลก” (World Heritage) ที่เรารู้จักกันดี
ตรงที่ “มรดกโลก” นั้นเป็นมรดกที่ประกอบไปด้วยแหล่ง (sites)
หรือสถานที่ ทั้งที่เป็น ‘แหล่งธรรมชาติ’ หรือ ‘แหล่งทางวัฒนธรรม’
ที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น เช่น อนุสรณ์สถาน เมือง ฯลฯ แต่ต้องเป็นแหล่ง
ที่มีคุณค่าเป็นเอก เป็นสากล สมควรที่ทั่วโลกจะช่วยกันปกป้องรักษา
ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักชื่นชมสืบไป
ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกได้ประกาศอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลกขึ้น
โดยประเทศที่ร่วมเป็นภาคี ตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการตาม
นัยของอนุสัญญา เพื่ออนุรักษ์และดำเนินการเกี่ยวกับมรดกโลก

รูปภาพ
จารึกในพระวิหารพระพุทธไสยาส

รูปภาพ
จารึกที่ติดอยู่ใต้ภาพวาดจิตรกรรมในวิหารพระพุทธไสยาส

รูปภาพ
ดูภาพจิตรกรรมฝาผนังควบคู่กับการอ่านจารึก


ประเทศไทยมี ‘แหล่งธรรมชาติ’ ที่ขึ้นทะเบียน “มรดกโลก”
(World Heritage) แล้ว ๒ แห่ง ได้แก่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร
จังหวัดอุทัยธานี-กาญจนบุรี-ตาก
และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ
จังหวัดสระบุรี-นครนายก-นครราชสีมา-ปราจีนบุรี-สระแก้ว และบุรีรัมย์
โดยเฉพาะด้านตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าบันทายฉมอร์
ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองภูมิทัศน์ของราชอาณาจักรกัมพูชา

ส่วน ‘แหล่งทางวัฒนธรรม’ มี ๓ แห่ง ได้แก่
มรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จังหวัดสุโขทัย,
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากับเมืองบริวาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

ส่วนมรดกความทรงจำแห่งโลกนั้นจะต้องเป็นมรดกทางเอกสาร
หรือข้อมูลความรู้ที่บันทึกไว้ หรือประกาศถ่ายทอดออกมา
แต่ทั้งมรดกความทรงจำแห่งโลกและมรดกโลกนั้น
ต่างก็เป็นงานขององค์การยูเนสโกเหมือนกัน
โดยมรดกความทรงจำแห่งโลกชิ้นแรกของไทยคือ
‘ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑’ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐาน
ทางประวัติศาสตร์สำคัญ ที่บันทึกและประกาศข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
และนโยบายของรัฐโบราณให้สาธารณชนรับทราบ และมีผลต่อประวัติ
ของโลกนอกพรมแดนวัฒนธรรมของไทย ทำให้เข้าใจความสำคัญ
ของการปกครอง การค้าขาย การติดต่อแลกเปลี่ยนกับชาติต่างๆ
ในช่วงเวลาของยุคสุโขทัย มีความสมบูรณ์ในตัวเอง
นับเป็นเอกสารสาธารณะที่หาได้ยากยิ่ง
ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖
ต่อมาก็คือ ‘จารึกวัดโพธิ์’ ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน

รูปภาพ
บริเวณเขาฤาษีดัดตน (รูปสลักหินฤาษีดัดตนจากเดิม ๘๐ ท่า ปัจุบันเหลืออยู่ ๒๔ ท่า)


โดยได้มีการส่งมอบเอกสารการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก
มายังคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย
ต่อมา ฯพณฯ นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ร่วมกับ นายพงศกร อรรณนพพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ได้มีการนำเอกสารนี้ถวายแด่ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร)
เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ และ พระราชเวที (สุรพล ชิตญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ในวันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ อันตรงกับ
วันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พร้อมกันนี้ทางวัดได้จัดงานรับเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก ควบคู่กันไปกับ
งานบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเป็นผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการจารึกองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทย
และสรรพวิทยาการต่างๆ ไว้โดยรอบพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาราย ในวัดโพธิ์แห่งนี้

สำหรับ ‘แผนงานของยูเนสโกว่าด้วยความทรงจำแห่งโลก’
(Memory of the World Program) นั้น เป็นแผนงานที่องค์การยูเนสโก
กำหนดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๕
โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนจากทั่วโลก
มาประชุมหารือร่วมกัน แผนงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และ
การเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของโลกที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกไว้ในรูปแบบใดๆ และไม่ว่าจะผลิตในประเทศใด
ถือว่าเป็นแหล่งรวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึง
ความหลากหลายทั้งในด้านของวัฒนธรรม และความคิดริเริ่มของมนุษยชาติ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
รูปสลักหินฤาษีดัดตน


(มีต่อ ๑๗)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระรูปเขียนสีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



• รัตนกวีแห่งวัดโพธิ์

นอกจากโคลงกลอนต่างๆ แล้ว
วัดโพธิ์ยังมีตำนานของกวีเอกชั้นเยี่ยมอยู่ ณ วัดแห่งนี้ด้วย นั่นก็คือ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)
“รัตนกวีแห่งวัดโพธิ์”
ซึ่งเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๒๘
ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
และ เจ้าจอมมารดาจุ้ย (ธิดาพระราชาเศรษฐี เป็น ‘พระสนมโท’
ต่อมาได้เลื่อนเป็น “ท้าวทรงกันดาล” ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้รักษาการคลังใน
เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
นับว่าเป็นพระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ทรงดำรงตำแหน่ง
สมเด็จพระสังฆราช อันเป็นพระประมุขสูงสุดทางฝ่ายสงฆ์


สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์
หรือเจ้าอาวาสของวัดโพธิ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๖-๒๓๙๖
ในระหว่างนั้น พระองค์ได้ทรงนิพนธ์หนังสือต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก

ทั้งบทร้อยกรองและร้อยแก้ว ไม่ว่าจะเป็นโคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ
ลิลิตตะเลงพ่าย กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ปฐมสมโพธิกถา
และอีกมากมายหลากรูปแบบหลายรสหลายเรื่องด้วยกัน
ที่ล้วนแล้วแต่มีค่ายิ่งในวงการวรรณกรรม
งานพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สามารถจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

♥ งานพระนิพนธ์ร้อยกรอง
(๑) ประเภทโคลง มี ๕ เรื่อง
- โคลงกลบท
- โคลงจารึกศาลาราย และโคลงจารึกหน้าศาลาพระมหาเจดีย์
- โคลงภาพคนต่างภาษา
- โคลงภาพฤาษีดัดตน
- โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน

(๒) ประเภทร่าย มี ๒ เรื่อง
- ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
- ร่ายทำขวัญนาคหลวง

(๓) ประเภทลิลิต มี ๒ เรื่อง
- ลิลิตตะเลงพ่าย
- ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค

(๔) ประเภทฉันท์ มี ๘ เรื่อง
- สรรพสิทธิ์คำฉันท์
- กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
- ฉันท์กล่อมช้างพัง และกาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง
- ตำราฉันท์มาตราพฤติ
- ตำราฉันท์วรรณพฤติ
- สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย
- จักรทีปนีตำราโหราศาสตร์
- ฉันท์สังเวยกลองวินิจฉัยเภรี

(๕) ประเภทกลอน มี ๑ เรื่อง
- กลอนเพลงยาวเจ้าพระ

♥ งานพระนิพนธ์ร้อยแก้ว
(๑) ปฐมสมโพธิกถา ฉบับภาษาบาลี
มีต้นฉบับอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ เป็นพระคัมภีร์ใบลานจำนวน ๓๐ ผูก
ผูกละประมาณ ๒๔ หน้า เมื่อปริวรรตเป็นอักษรไทยและแปลออกมาแล้ว
จะเป็นหนังสือหนาประมาณ ๒,๑๖๐ หน้า หรือประมาณ ๒๗๐ ยก
ซึ่งเป็นหนังสือพระพุทธประวัติฉบับที่มีขนาดหนาที่สุดในโลก
(๒) คำประกาศบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔
(๓) พระราชพงศาวดารสังเขป และพระราชพงศาวดารย่อ
(๔) คำฤษฏี
(๕) พระธรรมเทศนาพระราชพงศาวดารสังเขป

เจ้าอาวาสหรืออธิบดีสงฆ์ของวัดโพธิ์ที่สำคัญๆ อย่าง
สมเด็จพระพนรัตน หรือสมเด็จพระวันรัตน
ซึ่งเป็นอาจารย์ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ก็เป็นผู้ชำระหรือผู้เขียนพระราชพงศาวดาร
และส่วนกวีเอกผู้มีผลงานระดับโลกอย่างสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ก็จะมีผลงานหลายชิ้นด้วยกัน ท่านบวชเป็นสามเณรก็ที่วัดนี้
เป็นพระภิกษุก็ที่นี่ ขึ้นเป็นพระราชาคณะ จนกระทั่งเป็น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า และสิ้นพระชนม์ก็ที่นี่ ไม่เคยไปอยู่วัดไหน

เพราะฉะนั้นผลงานทั้งหมดของท่านสร้างขึ้นที่นี่
ด้วยพระอัจฉริยภาพและผลงานของพระองค์ที่ทรงสร้างไว้เหล่านี้
ทำให้ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization)
หรือองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องและถวายพระเกียรติคุณ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ในฐานะปูชนียบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก
ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓
ตามมติที่ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๒๕
ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม-๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒
และชักชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมฉลองเนื่องใน
วันคล้ายวันประสูติครบ ๒๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

พระมหาสมณเจ้าฯ............................จอมกวี โลกเฮย
ยูเนสโกสดุดี...................................ปราชญ์เจ้า
ผู้นำศาสนจักรศรี..............................สังฆราช
พระอัจฉริยะประจักษ์กล้า....................ประดุจแก้วมณี



• พระตำหนักวาสุกรี

“พระตำหนักวาสุกรี” เป็นพิพิธภัณฑ์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ปัจจุบัน พระตำหนักวาสุกรีซึ่งท่านเคยประทับ ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาสของวัดโพธิ์
ก็ยังคงอยู่และยังรักษาสภาพไว้อย่างดียิ่ง โดยภายในพระตำหนักจะมี พระโกศทรงฝรั่ง
เป็นบุษบกซึ่งบรรจุพระอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และมีพระรูปหล่อของพระองค์
รวมทั้ง ยังมีข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อีกมากมายของพระองค์ที่ทางวัดโพธิ์ได้เก็บรักษาไว้

บริเวณหน้าบุษบกที่บรรจุพระอัฐิไว้นั้นมีกระดานจารึก กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
ที่สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงนิพนธ์ไว้ด้วยพระองค์เอง
และเชื่อว่าทุกคนคงเคยท่องจำกันติดปากมาแล้วเมื่อสมัยเรียนหนังสือ ความว่า

“พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
ความดีก็ปรากฏ กิติยศฤาชา
ความชั่วก็นินทา ทุรยศยินขจร”


รูปภาพ

รูปภาพ
พระโกศทรงฝรั่ง บรรจุพระอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ประดิษฐาน ณ พระตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม


รูปภาพ

รูปภาพ
แม้มากด้วยพระชันษาถึง ๙๐ ปี แต่ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ก็ยังเสด็จไปทำสามีจิกรรมสักการะสมเด็จพระสังฆราชในอดีตอยู่เสมอ
ดังในภาพข้างต้นนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ เสด็จไปทรงสักการะ
พระอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ณ พระตำหนักวาสุกรี



(มีต่อ ๑๘)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“ยักษ์วัดโพธิ์” ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข)


• ยักษ์วัดโพธิ์-นายทวารบาล

“ยักษ์” เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่ง มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี
เป็นความเชื่อของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ
โดยเชื่อว่ายักษ์มีหลายระดับขึ้นอยู่กับบุญบารมี ยักษ์ชั้นสูงจะมีวิมานเป็นทอง
มีรูปร่างสวยงาม ปกติไม่เห็นเขี้ยว เวลาโกรธจึงจะมีเขี้ยวงอกออกมา
ยักษ์ชั้นกลางส่วนใหญ่จะเป็นบริวารของยักษ์ชั้นสูง
ส่วนยักษ์ชั้นต่ำที่บุญน้อยก็จะมีรูปร่างน่ากลัว ผมหยิกตัวดำผิวหยาบ นิสัยดุร้าย

จะเห็นได้ว่าในวัดวาอารามต่างๆ มักจะมียักษ์มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของวัด
หรือโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นยักษ์แบกพระเจดีย์ในวัดพระแก้ว
รูปปั้นยักษ์แบกองค์พระปรางค์ในวัดแจ้ง หรือยักษ์วัดโพธิ์ เป็นต้น
ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เทศน์สั่งสอนยักษ์ให้ลดทิฐิมานะ
ยักษ์ที่ได้ฟังและเข้าใจในพระธรรม จึงได้กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา
หรืออีกนัยหนึ่งก็หมายถึง ผู้แบกสรวงสวรรค์ และทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสถูปสถาน
และอาคารศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้มั่งคงและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา


สำหรับยักษ์ประจำวัดโพธิ์ หลายคนคงเคยได้ยินตำนานกำเนิดท่าเตียน
ที่เล่าปากต่อปากกันมาว่า บริเวณท่าเตียนอันเป็นพื้นที่โล่งเตียนนั้น
เป็นผลจากการต่อสู้ของ “ยักษ์วัดแจ้ง” กับ “ยักษ์วัดโพธิ์”
โดยมี “ยักษ์วัดพระแก้ว” เป็นผู้ห้ามทัพ


ตำนานกำเนิดท่าเตียน มีว่า ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์
และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งหรือวัดอรุณฯ ฝั่งตรงข้ามนั้น
ทั้ง ๒ ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งทางฝ่ายยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงิน
จึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง พร้อมทั้งนัดวันที่จะนำเงินไปส่งคืน
เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืน ยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่ายหนี้ เบี้ยวเอาเสียดื้อๆ
ยักษ์วัดแจ้งเมื่อรอแล้วรอเล่าจนทนไม่ไหว
จึงตัดสินใจข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืน แต่ยักษ์วัดโพธิ์ไม่ยอมให้

ดังนั้น ในที่สุดยักษ์ทั้ง ๒ ตนจึงเกิดการทะเลาะถึงขั้นต่อสู้กัน
แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตมหึมาและมีกำลังมหาศาลของยักษ์ทั้ง ๒ ตน
เมื่อต่อสู้กันจึงทำให้ต้นไม้ในบริเวณนั้นถูกยักษ์ทั้งสองเหยียบย่ำจนล้มตายลงหมด
หลังจากที่เลิกต่อสู้กันแล้วบริเวณที่ยักษ์ทั้งสองประลองกำลังกันนั้น
จึงราบเรียบเป็นหน้ากลองกลายเป็นสถานที่ที่โล่งเตียนไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย
ซึ่งตามตำนานเรื่องเล่าดังกล่าวยังสรุปไม่ได้ว่า ยักษ์วัดไหนเป็นฝ่ายชนะ


ครั้นเมื่อพระอิศวร (พระศิวะ) ได้ทราบเรื่องราวการต่อสู้กัน
ทำให้บรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในบริเวณนั้นเดือดร้อน
จึงได้ลงโทษโดยการสาปให้ยักษ์ทั้ง ๒ กลายเป็นหิน
แล้วให้ยักษ์วัดโพธิ์ ทำหน้าที่ยืนเฝ้าหน้าพระอุโบสถ วัดโพธิ์
และให้ยักษ์วัดแจ้ง ทำหน้าที่ยืนเฝ้าพระวิหาร วัดแจ้ง เรื่อยมา

ส่วนฤทธิ์จากการสู้รบของยักษ์ทั้งคู่ที่ทำชุมชนละแวกนี้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง
ทำให้ชาวบ้านพากันเรียกว่า “ท่าเตียน” เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
“ยักษ์วัดโพธิ์” มีเพียง ๒ คู่ ๔ ตนเท่านั้น คือ
ยักษ์กายสีแดง, ยักษ์กายสีเขียว, ยักษ์กายสีเทา และยักษ์กายสีเนื้อ
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป หรือหอไตรจตุรมุข
“ยักษ์วัดโพธิ์” ตัวจริง มีลักษณะเช่นเดียวกับยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์


รูปภาพ
ยักษ์กายสีแดง มีชื่อว่า “พญาแสงอาทิตย์”

รูปภาพ
ยักษ์กายสีเขียว มีชื่อว่า “พญามัยราพณ์”


เมื่อคาดคะเนจากตำนานการต่อสู้ ยักษ์ทั้งสามน่าจะมีขนาดใกล้เคียงกัน
หลายคนเลยเข้าใจผิดคิดว่า
“ลั่นถัน นายทวารบาล”
หรือตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่ที่ยืนถือศาสตราวุธ
เฝ้าซุ้มประตูเข้า-ออกในเขตพุทธาวาสของวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)
ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดรวม ๓๒ ตัวนั้น
คือ ยักษ์วัดโพธิ์
แต่โดยแท้จริงแล้ว “ยักษ์วัดโพธิ์” มีเพียง ๒ คู่ ๔ ตนเท่านั้น คือ
ยักษ์กายสีแดง, ยักษ์กายสีเขียว, ยักษ์กายสีเทา และ ยักษ์กายสีเนื้อ
ประติมากรรมรูปร่างเป็นยักษ์ไทย เขี้ยวแหลมโง้ง มือทั้งสองกุมไม้กระบองเป็นอาวุธ
ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะคล้ายกับยักษ์ในวรรณคดีสำคัญเรื่องรามเกียรติ์
เช่นเดียวกับ “ยักษ์วัดพระแก้ว” หากแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก
เล็กจนสามารถตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข) ได้


ส่วนประวัติการสร้างเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้รื้ออสูรที่ยืนเฝ้าประจำประตูทั้ง ๔ ประตูของวัดออกไป
แล้วนำ “ลั่นถัน นายทวารบาล” หรือรูปตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่มาตั้งแทน
กาลนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปยักษ์ปูนปั้นขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑๗๕ เซนติเมตร
จำนวน ๘ ตน ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข)
ทั้ง ๔ ด้าน ด้านละ ๑ คู่ เพื่อให้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาหอพระไตรปิฎก
(พระมณฑปหรือหอไตรจตุรมุข ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก เรียกว่าหอพระไตรปิฎกก็ได้)

เมื่อครั้งทำระเบียงพระมหาเจดีย์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข) ออกไป ๒ ซุ้ม
ปัจจุบันจึงปรากฏรูปยักษ์วัดโพธิ์เหลืออยู่เพียง ๒ คู่ ๔ ตนเท่านั้น คือ

ยักษ์กายสีแดง มีชื่อว่า “พญาแสงอาทิตย์” กับ ยักษ์กายสีเขียว มีชื่อว่า “พญามัยราพณ์”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ยักษ์กายสีเทา มีชื่อว่า “พญาขร” กับ ยักษ์กายสีเนื้อ มีชื่อว่า “พญาสัทธาสูร”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ


ส่วนซุ้มประตูทางเข้าฯ ด้านที่รื้อออกไป ๒ ซุ้มนั้น
แต่เดิมเป็นยักษ์มีชื่อว่า “สหัสเดชะ” กับ “ทศกัณฐ์”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
และยักษ์มีชื่อว่า “อินทรชิต” กับ “สุริยาภพ”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

คนโบราณเชื่อว่ายักษ์ที่ยืนเฝ้าซุ้มประตูมีอิทธิฤทธิ์ในการขับไล่ภูตผีปีศาจทั้งหลาย
จึงมีหน้าที่ปกปักรักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันมีค่าที่อยู่ด้านใน

รูปภาพ
“ยักษ์วัดโพธิ์” ตัวจริง ในภาพคือ ยักษ์กายสีเขียว มีชื่อว่า “พญามัยราพณ์”

รูปภาพ
“ลั่นถัน นายทวารบาล” หรือตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่ ๒ ตัว
ที่ยืนถือศาสตราวุธเฝ้า “ซุ้มประตูทรงมงกุฏ” หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “ยักษ์วัดโพธิ์”



ชมยักษ์แล้วต่อไปลองชมเปรตดูบ้าง ตามธรรมดาคนทั่วไปอาจจะเคยได้ยิน
แต่แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ฯ ซึ่งเป็นเพียงตำนานเล่าขานต่อๆ กันมา
สำหรับเปรตวัดโพธิ์ถึงไม่ได้เล่าขานเป็นตำนาน
แต่หากใครที่อยากเห็นก็สามารถพาสองตามาพิสูจน์ได้
โดยภาพจิตรกรรมฝาหนังรูปเปรตในนรกภูมิทั้ง ๑๒ จำพวกนั้น
ปรากฏให้เห็นบริเวณเหนือเสาบนคานศาลาการเปรียญ

(พระอุโบสถหลังเก่าของวัดโพธารามในสมัยกรุงศรีอยุธยา) งานนี้รับรองว่า
ไม่มีน่ากลัว ไม่มีหวาดเสียว แต่หากเงยคอดูนานเกินไปก็อาจมีอาการเมื่อยเอาง่ายๆ

อนึ่ง สำหรับภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดโพธิ์นั้น
มีแบบต่างๆ ที่สวยสดงดงามมากมาย แต่หากถ้าเป็นเรื่องรามเกียรติ์
ฉบับในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ลูกเล็กเด็กแนวที่ไหนก็รู้ว่า
ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เป็นที่เหมาะจะศึกษามากที่สุด
เพราะมีภาพที่สวยงามและค่อนข้างสมบูรณ์กว่าที่อื่นๆ
แต่หากศึกษาลึกลงไปแล้วอาจเกิดอาการงงได้
เพราะตอนหนึ่งถึงตอนสามของเรื่องกลับไม่ปรากฏที่ผนังภายในวัดพระแก้ว
ซึ่งอาจจะมีแฟนพันธุ์แท้เพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าแท้จริงแล้ว
ต้นกำเนิดภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้งสามตอนที่หายไปนั้น
อยู่ที่ผนังด้านในศาลารายโดยรอบพระมณฑปของวัดโพธิ์นั่นเอง

รูปภาพ
“นายทวารบาล” ตุ๊กตาสลักหินรูปฝรั่งถือกระบอง
ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระวิหารพระพุทธไสยาส (พระวิหารพระนอน)



• ซุ้มประตูทรงมงกุฏ

ซุ้มประตูทรงมงกุฏ เป็นซุ้มประตูทางเข้าวัด
ประดับกระเบื้องที่ตัดเป็นรูปกลีบดอกไม้เรียงกัน ลดหลั่นสีสันสดสวย
งานกระเบื้องเครื่องถ้วยลวดลายสีสันต่างๆ นำมาตัดด้วยคีมเหล็ก
และเล็มจนมนเป็นกลีบดอกไม้แล้วนำมาเรียงเป็นลวดลายดอกไม้
ประดับอยู่ตามพุทธสถานต่างๆ ในวัดนี้นับเป็นประณีตศิลป์ที่เป็นอยู่ทั่วไป
ซุ้มประตูทางเข้าเขตพุทธาวาสของวัดมีทั้งหมด ๑๖ ประตู
เกร็ดประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า งานสถาปัตยกรรมเครื่องยอดทรงมงกุฎนี้
เป็นรูปแบบที่รัชกาลที่ ๓ ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ

ครั้นเมื่อลอดซุ้มประตูทรงมงกุฎเข้าไปทุกประตู
แล้วหันหลังกลับจะเห็น ตุ๊กตารูปสลักศิลาหน้าตาเป็นจีน
มือถือศาสตราวุธ ยืนเฝ้าด้านซ้ายขวาเรียกว่า “ลั่นถัน นายทวารบาล”
รูปตุ๊กตาศิลปะจีนนั้นจะเห็นตั้งประดับอยู่มากมายหลายแห่งทั่ววัด

รูปภาพ
“ซุ้มประตูทรงมงกุฏ” ซุ้มประตูเข้า-ออกวัด
ซึ่งมี “ลั่นถัน นายทวารบาล” ยืนถือศาสตราวุธเฝ้าซุ้มอยู่



(มีต่อ ๑๙)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 14:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระธรรมรัตนากร (หลวงพ่อสีนวล ปญฺญาวชิโร ป.ธ.๙)
เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร รูปปัจจุบัน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์
ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
และพระบรมมหาราชวัง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
เปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ นาฬิกา
สำหรับชาวต่างชาติจะต้องซื้อบัตรเข้าชมคนละ ๒๐ บาท
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย
สุภาพสตรีห้ามสวมกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเข้าไปเที่ยวชมภายในวัด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ ๐-๒๒๒๕-๙๕๙๕, ๐-๒๒๒๑-๑๓๗๕,
๐-๒๒๒๖-๐๓๓๕, ๐-๒๒๒๒-๗๘๓๑ โทรสาร ๐-๒๒๒๖-๐๓๗๐, ๐-๒๒๒๒-๙๗๗๙

ความสำคัญของวัด : พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร
(เป็น ๑ ใน ๖ พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร ของไทย)


:b47: :b47: พระอารามหลวง และวัดประจำรัชกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19072

สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย

เจ้าอาวาส : พระธรรมรัตนากร (สีนวล ปญฺญาวชิโร ป.ธ.๙)
เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร รูปปัจจุบัน

พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร เจริญพานิช ป.ธ.๔)
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (มหานิกาย)

ประวัติเจ้าอาวาส :


:b44: พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=23317

เว็บไซต์ : http://www.watpho.com/

การเดินทาง : หากเดินทางโดยรถประจำทางธรรมดา มีรถผ่าน สาย ๑,
๓, ๖, ๙, ๑๒, ๒๕, ๓๒, ๔๓, ๔๔, ๔๗, ๔๘, ๕๓, ๖๐, ๘๒, ๙๑, ๑๒๓
รถประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ. ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๒, ๒๕, ๔๔, ๙๑
สำหรับเรือด่วนเจ้าพระยา สามารถขึ้นฝั่งที่ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือท่าเตียน
หรือท่าเรือปากคลองตลาด แล้วเดินเข้าประตูทางถนนท้ายวังได้

แผนที่ : -


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

รูปภาพ

รูปภาพ
พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร) อดีตเจ้าอาวาส


๑. เว็บไซต์ : http://www.watpho.com/
๒. หนังสือ “ตำนานวัดโพธิ์”
๓. หนังสือ “พระพุทธปฏิมาวัดโพธิ์”. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง ๒๕๕๕.
๔. หนังสือ “วัดโพธิ์ มรดกความทรงจำแห่งโลก”. ผู้เขียน ว.อำพรรณ

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 14:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร