วันเวลาปัจจุบัน 01 พ.ย. 2024, 06:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดประจำรัชกาลที่ ๘
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

• ประวัติของวัดสุทัศนเทพวราราม
• ศาสนสถานและศาสนวัตถุอันงดงามล้ำค่า

- พระอุโบสถ
- พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ : พระประธานในพระอุโบสถ
- พระวิหารหลวง
- พระศรีศากยมุนี : พระประธานในพระวิหารหลวง
- ภาพศิลาสลักศิลปะแบบทวารวดี
- ถะ (สถูปเจดีย์หิน)
- เก๋งจีนหน้าพระวิหารหลวง
- เขาพระสุเมรุและป่าหิมพานต์
- ศาลาการเปรียญ
- พระพุทธเสฏฐมุนี : พระประธานในศาลาการเปรียญ
- พระวิหารคด (พระระเบียงคด)
- พระตำหนักสมเด็จ
- สัตตมหาสถาน
- ตุ๊กตาจีน
- พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๘
- รอยพระพุทธบาทจำลอง
- ซุ้มเสมายอดเจดีย์
- เกยโปรยทาน

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
เสาชิงช้ากับวัดสุทัศนเทพวราราม ความงามที่ยืนอยู่คู่กันมานาน


• ประวัติของวัดสุทัศนเทพวราราม

วัดประจำรัชกาลที่ ๖-๘...ไม่สร้าง แต่บำรุง

ตามพระราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาว่า
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดเสด็จสวรรคต
ก็จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารไปประดิษฐานไว้ที่วัดใดวัดหนึ่ง
อันทรงสร้างหรือทรงเกี่ยวข้อง และถือเป็นวัดประจำรัชกาล

อย่างใดก็ตามในทางนิตินัย วัดประจำรัชกาลได้สิ้นสุดลง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
โดยได้มีพระราชดำริว่า พระอารามหลวงในกรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมากแล้ว
และการสร้างวัดนั้นก็เพื่อประโยชน์ในทางศึกษาของเยาวชนด้วย
เพราะการศึกษาของไทยแต่โบราณกาลมาก็เริ่มที่วัด
ดังนั้น จึงทรงสถาปนา โรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือในปัจจุบัน
คือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ขึ้นเพื่อแทนการสร้างวัดประจำรัชกาล
และให้ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์

การกำหนดว่าวัดใดเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๘
เพื่ออาราธนาเจ้าอาวาสวัดนั้นมาในงาน
พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน
เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ จึงเป็นการกำหนดโดยทางพฤตินัยเท่านั้น


ครั้นมาถึงในสมัยรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
ก็ไม่ได้มีการสร้างวัด เพียงแต่บำรุงเท่านั้น เนื่องจากมีช่วงรัชสมัยที่สั้นมาก


รูปภาพ
ซุ้มประตูทางเข้าวัดสุทัศนเทพวราราม

(มีต่อ ๑)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ความงดงามของวัดสุทัศนเทพวราราม ในยามราตรี


วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสุทัศนเทพวราราม
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร ฝ่ายมหานิกาย
ตั้งอยู่ ณ แขวงราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
มีชื่อเรียกกันเป็นสามัญหลายชื่อตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
อาทิเช่น วัดพระใหญ่, วัดพระโต
ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะพระพุทธรูปสำคัญของวัดคือพระศรีศากยมุนี
หรือ “วัดเสาชิงช้า” ซึ่งเรียกตามสถานที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับเสาชิงช้า
ด้านหน้าเทวสถานของพราหมณ์บริเวณใจกลางพระนคร


วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
รัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๕๐
เพื่อให้เป็นวัดที่สำคัญที่ตั้งอยู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร
ซึ่งการสร้างวัดเป็นไปตามตำรับมหาพิชัยสงคราม
ดังมีปรากฏข้อความอยู่ในบันทึกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี
ที่กล่าวว่า มีพระบรมราชโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร
ให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง โดยให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่
ณ เมืองโศกโขไทย ชลอเลื่อนลงมากรุง ประทับท่าสมโภช ๗ วัน ฯลฯ
โดยเริ่มจากการกำหนดพระฤกษ์ขุดรากพระวิหารหลวง
ในวันจันทร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๓๕๐


เมื่อการก่อสร้างพระวิหารหลวงและสร้างฐานชุกชีเสร็จแล้ว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี
จากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย
มาประดิษฐานบนฐานชุกชีพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม
และพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส”

กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงตั้งพระทัยให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต)
ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย
แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม
จึงเรียกกันว่า วัดพระโต, วัดพระใหญ่ หรือ วัดเสาชิงช้า บ้าง

จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ
และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารหลวงด้วยพระองค์เอง
แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ

การก่อสร้างวัดมาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพธาราม”
ปรากฏในจดหมายเหตุว่า “วัดสุทัศนเทพธาราม”


รูปภาพ
ม้าหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ตั้งอยู่บริเวณมุมฐานประทักษิณพระวิหารหลวง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง “ม้ากัณฐกะ” ที่นำพาเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช


และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหารหลวง พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ
ให้คล้องกันว่า “พระศรีศากยมุนี” , “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์”
และ “พระพุทธเสฏฐมุนี”
ตามลำดับ

และทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม”
อันหมายถึง สุทัสสนนครหรือสุทัศน์เทวนคร บนเขาพระสุเมรุ
ศูนย์กลางของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ประทับของพระอินทร์


อนึ่ง บริเวณที่ตั้งของวัดสุทัศนเทพวรารามนั้น
อยู่เกือบกึ่งกลางของกรุงเทพมหานคร อันเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ
ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลและศูนย์รวมของสรรพสิ่งที่น่าสนใจ
รูปแบบการก่อสร้างของศาสนาสถานและศาสนวัตถุภายในวัด
มีทั้งคติธรรมปริศนาธรรมสัญลักษณ์ที่ต้องขบคิดตีปัญหาให้เข้าใจ
การวางผัง การก่อสร้างก็ทำอย่างเป็นระบบเป็นระเบียบสวยงาม
ที่เป็นจุดเด่นและศรีสง่าแก่บ้านเมืองเป็นยิ่งนัก


รูปภาพ
ความงดงามของ “พระวิหารหลวง” วัดสุทัศนเทพวราราม
ลานประทักษิณชั้นล่างซึ่งกว้างที่สุดจะล้อมพระวิหารหลวงไปจนถึงพระระเบียงคด


รูปภาพ
ด้านหน้า “พระวิหารหลวง” มี “เก๋งจีน” ประดับอยู่ที่ลานประทักษิณชั้นล่าง

(มีต่อ ๒)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ด้านหน้าพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม


• ศาสนสถานและศาสนวัตถุอันงดงามล้ำค่า

กล่าวกันว่าในทางสถาปัตยกรรมนั้น วัดสุทัศนเทพวรารามได้รับคำยกย่องว่า
เป็นวัดที่มีการออกแบบ วางแผนผังกลุ่มอาคารและตัวอาคาร
ได้สัดส่วนงดงามที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ และมีศิลปวัตถุมีค่าอยู่มากมาย อาทิ


:b44: พระอุโบสถ

เป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ยาวสวยงามที่สุดในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้น เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ สำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๓๘๖
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบสถาปัตยกรรมไทย
ขนาดกว้าง ๒๒.๖๐ เมตร ยาว ๗๒.๒๕ เมตร
เป็นอาคารสูงใหญ่มาก มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับหลังคาทั้งหมด ๖๘ ต้น
หลังคา ๔ ชั้น และขั้นลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวเป็นพื้น คั่นกรอบด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง

หน้าบันมุขหน้าและหลังเป็นไม้แกะสลักลายประดับกระจกสี
ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออก
สลักเป็นรูปพระอาทิตย์ประทับนั่งในบุษบกบนราชรถเทียมราชสีห์
มีคติความเชื่อว่า พระอาทิตย์เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่โลกในเวลากลางวัน
พระวรกายเป็นสีแดงสวมเทริดทรงน้ำเต้ากลม
พระหัตถ์ช้ายถือดอกบัวบาน หมายถึงการห้ามอุปัทวอันตรายทั้งปวง
ส่วนพระหัตถ์ขวาถือดอกบัวตูม หมายถึงการอำนวยพร

ด้านหลังหรือด้านทิคตะวันตก
สลักเป็นรูปพระจันทร์ประทับนั่งในบุษบกบนราชรถเทียมม้า
มีคติความเชื่อว่า พระจันทร์เป็นเทพเจ้าผู้ให้แสงสว่างแก่โลกในเวลาตอนกลางคืน
พระวรกายสีขาว สวมเทริดทรงน้ำเต้ากลม พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์
การสลักหน้าบันเป็นรูปพระอาทิตย์และพระจันทร์ หมายถึงว่า
พระอาทิตย์และพระจันทร์เวียนรอบเขาพระสุเมรุคือพระวิหารหลวง

ผนังพระอุโบสถได้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชั้นครู
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นภาพพระพุทธประวัติของพระสมณโคดม
พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒๘ และภาพพระปัจเจกพระพุทธเจ้า
ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดที่พระพิชัยมหามงกุฎ
ที่มีลักษณะค่อนข้างแปลกและงดงามมาก

โดยรอบพระอุโบสถมี ‘ซุ้มเสมายอดเจดีย์’ ทั้งหมด ๘ ซุ้ม
คือเป็นซุ้มเสมาที่ทำเรือนซุ้มเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยอดซุ้มทำเป็นรูปทรงอย่างเจดีย์
มีใบเสมา ๒ ใบ เรียกว่าเสมาคู่ เป็นหินสลักรูปช้าง ๓ เศียรชูงวง
แต่ละงวงถือดอกบัวตูม ๓ ดอก และดอกบัวบาน ๒ ดอก
เกสรดอกบัวบานเป็นรูปสัตว์ เป็นรูปนกนั้น หมายถึงพระอาทิตย์
และเป็นรูปกระต่ายนั้น หมายถึงพระจันทร์
สันนิษฐานว่า หมายถึงรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว
ส่วนดอกบัวตูม ๓ ดอก หมายถึงสร้างโดยรัชกาลที่ ๓ สมัยยังทรงพระชนม์

บนกำแพงแก้วมีเกยทางทิศเหนือ ๔ เกย ทิศใต้ ๔ เกย
ทำด้วยหินอ่อนสีเทา สำหรับใช้ในงานพระราชพิธี
ประทับโปรยทานแก่พสกนิกร เรียกว่า “เกยโปรยทาน”

สำหรับซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ
บานประตูด้านนอกเป็นภาพจิตรกรรมรูป “ครุฑยุดนาค”

ซึ่งเป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๒
มาจากพระนามเดิมว่า ฉิม และคำว่าวิมานฉิมพลีเป็นที่พำนักของครุฑ
พญาแห่งนก จึงทรงใช้ครุฑเป็นตราประจำพระองค์แทนพระบรมนามาภิไธย

บ้างก็กล่าวว่า ในเวลานั้นรัชกาลที่ ๒ ทรงนิยมเรื่องรามเกียรติ์
และทรงเทียบพระองค์เป็นพระราม (หรือพระนารายณ์อวตาร)
แม้แต่พระราชโอรสยังพระราชทานนามว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ
(ต่อมาคือรัชกาลที่ ๔) ตามชื่อพระมงกุฎในเรื่องนี้
จึงทรงใช้ครุฑซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์ เป็นตราประจำพระองค์


รูปภาพ
พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม
มีขนาดใหญ่ยาวสวยงามที่สุดในประเทศไทย


รูปภาพ
หลังคา ๔ ชั้น และหางหงส์ของพระอุโบสถ

รูปภาพ
ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ (บานประตูด้านนอก)

รูปภาพ
ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ (บานประตูด้านใน)

รูปภาพ
“ภาพทวารบาล” บนบานประตูพระอุโบสถ

รูปภาพ
ซุ้มหน้าต่างพระอุโบสถ

รูปภาพ
ภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ในกรอบเหนือบานหน้าต่างและประตูพระอุโบสถ

รูปภาพ
ป้ายคำเตือนด้านข้างพระอุโบสถ

(มีต่อ ๓)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b44: พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ : พระประธานในพระอุโบสถ

หล่อขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐ ศอก ๘ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

(ปางชนะมาร, ปางสะดุ้งมาร, ภูมิสปรรศมุทรา - Bhumisparsa Mudra)
ประดิษฐานบนฐานชุกชีสูง ปั้นลายปิดทองคำเปลวประดับกระจกสี

เบื้องหน้า “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” พระประธานในพระอุโบสถ
ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงสีพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแทนพระศรีศาสดา
ที่อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
สร้างด้วยปูนปั้นลงสี นั่งพนมมือกำลังฟังพระบรมโอวาท
จากพระพุทธองค์ชึ่งประทับเป็นองค์ประธานอยู่ตรงกลาง

ส่วนขนาดของรูปหล่อพระอสีติมหาสาวกทั้ง ๘๐ องค์นั้น
เป็นขนาดซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดคำนวณขึ้น


รูปภาพ
พระภิกษุสงฆ์กำลังทำสังฆกรรมภายในพระอุโบสถ

รูปภาพ

รูปภาพ
พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานในพระอุโบสถ

รูปภาพ

รูปภาพ
เบื้องหน้า “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” พระประธานในพระอุโบสถ
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงสีพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์
นั่งพนมมือกำลังฟังพระบรมโอวาทจากพระพุทธองค์

(มีต่อ ๔)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b44: พระวิหารหลวง

ตั้งอยู่แถบเหนือของเขตพุทธาวาส หันหน้าออกสู่ถนนบำรุงเมือง
เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ สำเร็จเรียบร้อยในรัชกาลที่ ๓
ลักษณะรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
โดยถ่ายทอดแบบมาจากพระวิหารวัดมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด ๕ ห้อง กว้าง ๒๓.๘๔ เมตร ยาว ๒๖.๒๕ เมตร
โครงสร้างหลังคาเป็นจั่วมีหลังคาประธาน ๑ ตับ มีชั้นซ้อน (หลังคามุข)
ทางด้านหน้าและด้านหลังข้างละ ๑ ชั้น
และมีหลังคาปีกนกลาดลงจากหลังคาประธานข้างละ ๓ ตับ


หลังคามุขทางด้านหน้าและด้านหลัง มืหลังคาปีกนกลาดลงข้างละ ๒ ตับ
มีเสารับมุขเป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน ๑๒ ต้น ทั้งสองด้านรวม ๒๔ ต้น
และเสานางเรียงด้านข้าง ด้านละ ๖ ต้น รวมทั้งหมดจึงเป็นเสา ๓๖ ต้น
เสานางเรียงและเสารับมุขหัวเสาเป็นปูนปั้นรูปบัวแวงปิดทองประดับกระจกสี
ชายคามีคันทวย รับเชิงชายหลังคาหัวเสาละ ๒ ตัว ด้านละ ๖ ตัว
รวมทั้งหมด ๔ ด้าน มีจำนวน ๒๔ ตัว


แนวฝาผนังด้านนอก มีเสานางแนบด้านละ ๖ ต้น
มีบัวหัวเสาเช่นเดียวกับเสานางเรียง หน้าบันพระวิหารหลวงมี ๒ ชั้น
คือ หน้าบันจั่วหลังคาประธาน เป็นไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก
เป็นลายกระหนกเครือวัลย์ออกช่อเทพนม ตรงกลางเป็นกรอบซุ้ม
ภายในกรอบซุ้มมีรูปพระอินทร์ประทับอยู่ในเวชยันตรวิมาน
ประดิษฐานอยู่เหนือกระพองช้างเอราวัณ

หน้าบันมุข มีรูปแบบคล้ายหน้าบันจั่วหลังคาประธาน
แต่ตรงกลางหน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ

ในกรอบซุ้มด้านหน้าและด้านหลังของพระวิหารหลวง
มีประตูทางเข้าด้านละ ๓ ช่อง ด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง
ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มบันแถลงที่ช้อนกัน ๒ ชั้น
เป็นปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสี


รูปภาพ
บานประตูพระวิหารหลวง
ที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


รูปภาพ

รูปภาพ
“พระพุทธสุนทรมณี” พระพุทธรูปภายในพระวิหารหลวง

รูปภาพ
พระหัตถ์ขวา “พระพุทธสุนทรมณี”

รูปภาพ
พระหัตถ์ซ้าย “พระพุทธสุนทรมณี”


บานประตูพระวิหารหลวงเป็นไม้แผ่นเดียวงดงามตลอดทั้งแผ่น
ขนาดกว้าง ๑.๓๐ เมตร สูง ๕.๖๔ เมตร หนา ๐.๑๖ เมตร
จำหลักลายต้นพฤกษาที่สลักลึกมีกิ่งก้านเกาะเกี่ยวซ้อนกันอย่างงดงาม
เป็นศิลปกรรมฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ที่ทรงกำหนดลักษณะลายแบบวิธีแกะสลัก และทรงเริ่มจำหลักด้วยพระองค์เอง
บานประตูนี้เป็นของเดิมที่ถูกไฟไหม้เสียหายไปส่วนหนึ่ง
ปัจจุบันบานประตูนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ส่วนลายหน้าต่างเดิมเป็นลวดลายจำหลักรูปแก้วชิงดวงปิดทองประดับกระจกสี
ได้รับการแก้ไขในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โดยทำเป็นลวดลายปูนน้ำมันปั้นปิดทองคำเปลว
รูปต้นไม้เขามอและสัตว์ป่าปิดลายแก้วชิงดวง

ผนังด้านในของพระวิหารหลวงเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง
เรื่องอดีตพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ มีศิลาจารึกกล่าวถึงประวัติของ
พระพุทธเจ้าองค์นั้นๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ ส่วนจิตรกรรมที่เสา ๘ ต้น
เป็นภาพเรื่องไตรภูมิโลกยสันฐาน มีศิลาจารึกกำกับไว้ทุกต้น
ภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ถือว่างดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เสาพระวิหารหลวงต้นหนึ่ง
เป็นภาพพระอินทร์และหมู่บริวารกลายเป็นอสูรเพราะไปเสพย์สุรา
จึงถูกมาคมานพกับสหาย ๓๒ คนจับพระอินทร์พร้อมบริวาร
ทุ่มลงมายังอสูรพิภพ กลายเป็นอสูร
ส่วนมาคเทวบุตรได้เสวยทิพย์สมบัติในสุทัสสนนครแทน

ฐานประทักษิณ (ฐานไพที) ล้อมพระวิหารหลวงมี ๓ ชั้น คือ
ชั้นบนสุดเริ่มจากฐานปัทม์ของพระวิหารหลวงถึงแนวเสานางเรียง
ฐานประทักษิณชั้นต่อมาเป็นที่ตั้งของ ถะ (สถูปเจดีย์หิน)
ซึ่งเป็นเครื่องศิลาจีนรายรอบพระวิหารหลวงทั้ง ๔ ด้าน จำนวน ๒๘ ถะ
หมายถึง อดีตพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสรู้ในโลกนี้ ๒๘ พระองค์
ต่อลงมาเป็นลานประทักษิณชั้นล่างที่กว้างที่สุดไปจนถึงพระระเบียงคด

ฐานประทักษิณ (ฐานไพที) แต่ละชั้นจะมีพนักกั้น
มีช่องซุ้มสำหรับตามประทีปตลอดแนวพนักกั้นทุกชั้น
ในเวลามีงานนักขัตฤกษ์ หรือการเฉลิมฉลองตอนกลางคืน
จะตามประทีปเทียนไฟตลอดแนวช่องพนักกั้นพระวิหารหลวง
จะเป็นภาพที่วิจิตรแปลกตาอีกแบบหนึ่ง


รูปภาพ

รูปภาพ
ซุ้มบานประตูพระวิหารหลวง

รูปภาพ
บานหน้าต่างพระวิหารหลวง

รูปภาพ

รูปภาพ
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารหลวง

รูปภาพ
พระพุทธรูปภายในพระวิหารหลวง

รูปภาพ
พระวิหารหลวง

รูปภาพ
พระวิหารหลวง ในยามราตรี

(มีต่อ ๕)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b44: พระศรีศากยมุนี : พระประธานในพระวิหารหลวง

นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดที่ใหญ่กว่าพระพุทธรูปหล่อองค์อื่นๆ
ชึ่งปรากฏในประเทศไทย ในยุคก่อน ๒๕ พุทธศตวรรษ
เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย
มีพระพุทธลักษณะงดงาม สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย
ขนาดหน้าตักกว้าง ๖.๒๕ เมตร (หรือ ๓ วา ๑ คืบ)

มีศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวอ้างถึงว่า พระมหาธรรมราชาลิไท
กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๑๙ ปีครองราชย์) แห่งกรุงสุโขทัย
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้น และทำการฉลองในปีพุทธศักราช ๑๙๑๔

ข้อความในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงเป็นหลักฐานของข้อสันนิษฐาน
ที่ว่าพระศรีศากยมุนีสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ตอนหนึ่งมีว่า
“...กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป
มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม...”
ซึ่งหมายถึงพระศรีศากยมุนีในวัดมหาธาตุซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเดิมนั่นเอง


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงเห็นว่าถ้าทิ้งไว้ที่เดิมก็จะต้องตากแดด ตากฝน ทำให้ชำรุด
จึงให้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ โดยทรงมีพระราชดำริจะสร้างพระอาราม
ที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยประดิษฐานไว้กลางพระนคร เมื่อชลอพระศรีศากยมุนีมาถึงกรุงเทพฯ
แล้วให้ประทับท่าสมโภช ๗ วัน แล้วจึงทรงชักเลื่อนองค์พระทางสถลมารค
และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินตามขบวนแห่พระ
ในรัชสมัยของพระองค์ทำได้เพียงอัญเชิญองค์พระขึ้นตั้งไว้
สำหรับตัว “พระวิหารหลวง” นั้นได้ลงมือก่อสร้างขึ้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

พระพุทธลักษณะพระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ
พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าปางมารวิชัย และพระหัตถ์ช้ายหงายวางบนพระเพลา
ครองจีวรห่มเฉียงชายสังฆาฏิยาวลงมาถึงระดับพระนาภี
มีปลายเป็นสองแฉกเขี้ยวตะขาบ ลักษณะพระองค์ค่อนข้างสั้น
บั้นพระองค์เล็ก พระอังสาใหญ่ หัวพระถันโปน
ลักษณะพระพักตร์และพระเศียรที่ปรากฏ
คือพระรัศมีเป็นเปลวสูงตั้งอยู่บนพระอุษณีษะ
รูปมะนาวตัด เส้นพระศกขมวดเล็กแบบก้นหอย
พระพักตร์รูปไข่เกือบกลม พระขนงโก่งแยกออกจากกัน
ระหว่างพระขนงมีพระอุณาโลมคั่นอยู่
พระนาสิกงุ้มพระโอฐอมยิ้มเล็กน้อย พระหนุกลม

พระศรีศากยมุนีประดิษฐานบนฐานชุกชีแบบฐานลายแข้งสิงห์
ตลอดทั้งฐานชุกชีประดับลายปูนปั้น เป็นลายดอก ลายเถา ลายเทศ
ปิดทองคำเปลวประดับกระจกสีทั้งหลัง

ตรงใต้ฐานพระศรีศากยมุนีที่ผ้าทิพย์ได้บรรจุ
พระบรมราชสรีรางคาร (ขี้เถ้าที่เหลือนอกจากกระดูก)
ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘

ส่วนด้านหลังบัลลังก์พระศรีศากยมุนีมีแผ่นศิลาสลัก เป็นศิลปะแบบทวารวดี
เป็นรูปสลักปิดทอง ปางยมกปาฏิหาริย์ และปางประทานเทศนาในสวรรค์
เป็นของเก่าและหาดูได้ยาก กล่าวได้ว่าเป็นงานศิลปะที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก


พระเทพปฏิภาณวาที (สุนทร ญาณสุนฺทโร ป.ธ. ๕)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ได้กล่าวว่า
“พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดที่ใหญ่ที่สุดในสมัยสุโขทัย
มีความงามอย่างน่าอัศจรรย์ ต่อเมื่อผู้ใดมีความทุกข์ใจ
หากได้มากราบไหว้ และมองพระพักตร์แล้ว
ความทุกข์ของคนนั้นจะปลาสนาการสิ้นไป เกิดเป็นความสุขอย่างน่าอัศจรรย์
ข้อนี้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเอง”


รูปภาพ
พระศรีศากยมุนีองค์จำลอง ด้านหน้าประตูทางเข้าพระวิหารหลวง

รูปภาพ
สาธุชนมาร่วมสวดมนต์-ปฏิบัติธรรม ภายในพระวิหารหลวง

รูปภาพ
พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง

รูปภาพ
“พระหัตถ์ขวา” ของพระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง

รูปภาพ
สาธุชนต่างพากันมาสักการะ “พระศรีศากยมุนี” ด้านหน้าพระวิหารหลวง
ด้วยธูป ๓ ดอก เทียน ๒ เล่ม และดอกบัวหรือพวงมาลัย อย่างคับคั่งด้วยใจศรัทธา


รูปภาพ
ธรรมมาสน์เทศน์ภายในพระวิหารหลวง

รูปภาพ
พระเทพปฏิภาณวาที (สุนทร ญาณสุนฺทโร ป.ธ. ๕)

(มีต่อ ๖)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


พระศรีศากยมุนี
พระประธานในพระวิหารหลวง


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

(มีต่อ ๗)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“ภาพศิลาสลัก” ศิลปะแบบทวารวดี
ด้านหลังฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี ในกรอบลายใบเทศ


:b44: ภาพศิลาสลัก ศิลปะแบบทวารวดี

ภาพศิลาสลัก ติดประดับอยู่ด้านหลังฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี
(หรือด้านหลังบัลลังก์พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง)
เป็นภาพสลักนูนต่ำปิดทอง ขนาดสูง ๒.๔๐ เมตร กว้าง ๐.๙๕ เมตร
อยู่ในกรอบลายใบเทศ ปิดทองประดับกระจกทั้ง ๔ ด้าน
ภาพศิลาสลักแผ่นนี้นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของวัดชิ้นหนึ่ง
มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ศิลปะสมัยทวารวดี
สันนิษฐานว่าอาจย้ายมาจากจังหวัดนครปฐม
การสลักแบ่งภาพพระพุทธประวัติเป็น ๒ ตอน คือปางยมกปาฏิหาริย์
และปางเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์


ภาพตอนล่างเป็นภาพพระพุทธประวัติ ปางยมกปาฏิหาริย์
ซึ่งเป็นภาพที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงกลาง
มีพระอินทร์และพระพรหม ยืนถือแส้อยู่ทั้งสองข้าง
ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระพุทธเจ้า มีดอกบัวขนาดใหญ่รองรับ
ดอกบัวนี้ประคองอยู่โดยพระยานาคซึ่งมีร่างกายเป็นมนุษย์
แต่มีเศียร เป็นนาค ๗ เคียรแผ่พังพานอยู่เบื้องหลัง
พระยานาคนี้สมมติว่าอยู่ใต้บาดาลอันเป็นสถานที่
รองรับก้านบัวชึ่งเป็นแกนของมนุษยโลก
ใต้บัลลังก์ด้านหนึ่งของพระองค์มีบรรดาเจ้านาย
ซึ่งเสด็จมาแสดงความชื่นชมในปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์

และอีกด้านหนึ่งก็คือนักบวชที่พ่ายแพ้
นักบวชเหล่านี้ก็คือพวกดาบสเปลือยกายและดาบสเกล้าผมสูง
ชึ่งไม่อาจจะต่อสู้กับอิทธิปาฎิหาริย์ของพระพุทธองค์ได้


เหนือนั้นขื้นไปมีเหล่าเทวดากำลังประนมหัตถ์
แสดงคารวะต่อพระพุทธองค์อยู่ด้วยความเคารพ
เบื้องหลังบัลลังค์ คือ ต้นมะม่วงที่เกิดจากปาฏิหาริย์
มีกิ่งก้านรองรับพระพุทธรูปปางต่างๆ
พระพุทธรูปเหล่านี้แสดงปางด้วยพระหัตถ์ขวาหรือพระหัตถ์ซ้าย
เพื่อให้ได้สัดส่วนกันเป็นคู่ๆ

ภาพตอนบนขึ้นไปเป็นภาพพระพุทธประวัติ
ปางเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ซึ่งเป็นภาพที่พระพุทธเจ้ากำลังประทับบนบัลลังก์ในสวรรค์
มีพระอินทร์และพระพรหม ยืนถือแส้อยู่ทั้งสองข้าง
เบื้องหลังทางด้านขวาของพระพุทธองค์ พระพุทธมารดากำลังประทับอยู่
แวดล้อมด้วยเทวดาองค์อื่นๆ จากสวรรค์ชั้นต่างๆ มาชุมนุมกัน
เพื่อฟังพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแด่พระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์


รูปภาพ
“ภาพศิลาสลัก” ศิลปะแบบทวารวดี
ด้านหลังฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี ในกรอบลายใบเทศ

(มีต่อ ๘)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ
ถะ (สถูปเจดีย์หิน) รอบพระวิหารหลวงทั้ง ๔ ด้าน


:b44: ถะ (สถูปเจดีย์หิน)

ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ (ฐานไพที) ชั้นที่ ๒ ที่ล้อม พระวิหารหลวง
เป็นเครื่องศิลาจีนรายรอบพระวิหารหลวงทั้ง ๔ ด้าน จำนวน ๒๘ ถะ
ซึ่งหมายถึง อดีตพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสรู้ในโลกนี้ ๒๘ พระองค์



:b44: เก๋งจีนหน้าพระวิหารหลวง

เครื่องศิลาสลักจีนเก๋ง ตั้งอยู่บนลานประทักษิณชั้นล่าง
ด้านหน้าพระวิหารหลวง มีลักษณะเป็นปราสาทแบบจีน
ตั้งอยู่บนตั่งขาสิงห์ ล้อมรอบด้วยตุ๊กตารูปสัตว์ ฉากหลังเป็นเขามอ
เครื่องสลักศิลาชุดนี้เดิมตั้งอยู่บนลานประทักษิณชั้นบน
ต่อมาได้ย้ายลงมาตั้งบนลานประทักษิณชั้นล่าง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
จากลักษณะที่ตั้งเดิม หมายถึง วิมานไพชยนต์ของพระอินทร์
แห่งเมืองสุทัสสนนคร บนเขาพระสุเมรุศูนย์กลางแห่งจักรวาล



:b44: เขาพระสุเมรุและป่าหิมพานต์

ตั้งอยู่บนลานประทักษิณชั้นล่าง ด้านหลังพระวิหารหลวง
เป็นภูเขาที่สลักจากศิลาจีน มีรูปฤาษี ตุ๊กตาจีน
และตุ๊กตารูปสัตว์ที่สลักศิลาจีนเช่นกัน ประกอบอยู่โดยรอบ
สมมุติเป็นเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล
เขาลูกนี้เดิมเป็นฉากสำหรับแสดงโขนกลางแปลง
ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายพระอารามแห่งนี้
เพื่อเทียบให้เป็นคติแก่จักรวาลกับพระวิหารหลวง


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
“เก๋งจีน” ด้านหน้าพระวิหารหลวง

รูปภาพ
“เขาพระสุเมรุและป่าหิมพานต์” ด้านหลังพระวิหารหลวง

รูปภาพ
รูปฤาษี ตุ๊กตาจีน และตุ๊กตารูปสัตว์สลักศิลาจีน โดยรอบ “เขาพระสุเมรุและป่าหิมพานต์”

(มีต่อ ๙)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b44: ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญหรือที่โบราณเรียกว่า ศาลาโรงธรรม
สร้างขึ้นเมื่อจุลศักราช ๑๒๑๖ (พ.ศ. ๒๓๙๗) ในสมัยรัชกาลที่ ๓
ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
เป็นศาลาทรงไทยโบราณ มีหลังคา ๒ ชั้น มีเฉลียง ๒ ลด
รอบมุงด้วยกระเบื้องดินเผา หน้าบันปั้นปูนลายดอกไม้
ผนังก่ออิฐถือปูน หน้าบันไดมีสิงโตหินประจำ
รอบศาลาการเปรียญมี ศาลาราย ก่ออิฐถือปูน
หลังคาทรงไทย มีเฉลียงรอบ มุงกระเบื้องดินเผา ๖ หลัง



:b44: พระพุทธเสฏฐมุนี : พระประธานในศาลาการเปรียญ

เป็นพระพุทธรูปพระประธานในศาลาการเปรียญ
พุทธลักษณะเป็นศิลปรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย
ขนาดหน้าตัก ๔ ศอก ๔ คืบ ๔ นิ้ว วัสดุทองเหลือง
หล่อในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
เมื่อปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ (พุทธศักราช ๒๓๘๒)


ในยุคสมัยที่สังคมโลกเริ่มตื่นตัวใส่ใจ
กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นปัจจุบัน
การนำวัสดุที่ยังใช้ได้กลับมาใช้อีก
เป็นหนทางหนึ่งที่มีการรณรงค์กันทั่วไปในเมืองไทย
ของเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้วก็มีแนวความคิดในการทำเช่นว่านี้
และปรากฏวัตถุพยานมาจวบจนถึงทุกวันนี้

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีประกาศห้ามสูบฝิ่นและมีการปราบปรามฝิ่นอยู่เนืองๆ
ทรงปราบเรียบตั้งแต่ภาคกลางลงไปจนกระทั่งถึงภาคใต้
ในการปราบปรามครั้งใหญ่ที่สุดคราวหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๒
เป็นการกวาดล้างฝิ่นในภาคใต้ตั้งแต่เมืองปราณบุรีถึงนครศรีธรรมราช
และอีกด้านหนึ่งของฝั่งทะเลคือตะกั่วป่าถึงถลาง
สามารถจับฝิ่นดิบเข้ามาได้ถึง ๓๗๐๐ กว่าหาบ ฝิ่นสุก ๒ หาบ
สำหรับตัวฝิ่นนั้นโปรดเกล้าฯ ให้เผาทำลายที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์
เหลือแต่กลักฝิ่นซึ่งทำด้วยทองเหลืองอยู่จำนวนมาก
จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาหล่อพระพุทธรูปได้พระขนาดหน้าตักถึง ๔ ศอก
นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ วัดสุทัศนเทพวราราม
ครั้งนั้นพวกขี้ยาได้กลิ่นคงแทบขาดใจตาย
ต่อมารัชกาลที่ ๔ ทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธเสฏฐมุนี”
หรือที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อกลักฝิ่น”

จากบรรจุภัณฑ์ของสิ่งผิดกฎหมายกลายมาเป็นพระพุทธรูป
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดีที่คงอยู่
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชามาเกือบสองร้อยปี
นับว่าเป็นการใช้ประโยชน์วัสดุอย่างคุ้มค่าและยืนยงอย่างแท้จริง


รูปภาพ

รูปภาพ
พระพุทธเสฏฐมุนี พระประธานในศาลาการเปรียญ

(มีต่อ ๑๐)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b44: พระวิหารคด (พระระเบียงคด)

สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ล้อมพระวิหารหลวงทั้ง ๔ ด้าน ความกว้าง ๘๙.๖๐ เมตร ความยาว ๙๘.๘๓ เมตร
ระหว่างกลางพระวิหารคดแต่ละด้าน มี ประตูซุ้มจตุรมุข
หน้าบันลำยองไม้แกะจำหลักลาย ปิดทองประดับกระจกสี
เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ พื้นหลังเป็นลายกนกก้านออกช่อหางโต

บานประตูพระวิหารคดเป็นบานไม้ขนาดใหญ่
มี ทวารบาล เป็นลายรดน้ำรูปเซี่ยวกางยืนบนหลังกิเลน
เชิงบานเป็นภาพสัตว์หิมพานต์ต่างๆ
เช่น นรมฤค กินรี ราชสีห์ คชสีห์ นกหัสดี นกเทศ เหมราช ฯลฯ
ภาพหลังบานประตูเป็นภาพเขียนสีน้ำมันรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์

ด้านนอกเป็นผนังทึบกั้นเป็นกำแพงโดยตลอด
ภายในพระวิหารคดเป็นโถง เสารับจั่วหลังคาเปิดเข้าหาพระวิหารหลวง
ในพระวิหารคดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ๑๕๖ องศ์
ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยบ้างเฉพาะที่มุมของพระวิหารคด

พระพุทธรูปเหล่านี้ประดิษฐานบนฐานชุกชี ปิดทองคำเปลว
ประดับกระจกสีพื้นฝาผนังด้านหลังของพระพุทธรูป
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นเป็นลายดอกไม้ร่วง
หมายถึงดอกมณฑารพหรือดอกมณฑา ดอกไม้ทิพย์แห่งสรวงสวรรค์
ที่ตกมาบูชาเฉพาะพระพุทธเจ้า แทรกภาพดอกไม้ด้วยนก
และสัตว์ปีกบนพื้นแดงคร่ำหรือสีคราม ชุ้มประตูพระวิหารคคทั้ง ๔ ชุ้ม
และมุมพระวิหารคดทั้ง ๔ มุมเป็นหลังคาทรงจตุรมุข
แต่ละจุดจะมีหน้าบัน ๒ ด้าน คือชุ้มประตูจะมีหน้าบันด้านนอกและด้านใน


รูปภาพ
“ซุ้มประตูจตุรมุข” ระหว่างกลางพระวิหารคด (พระระเบียงคด) แต่ละด้าน


ส่วนมุมของพระวิหารคดที่มีแนวพุ่งตรงมาชนกันเลยออกไปเป็นรูปกากบาท
มีหน้าบันด้านนอก ๒ บานลายหน้าบันทั้งหมดเป็นรูปเดียวกัน
คือแกะสลักไม้ปิดทอง กลางกรอบแกะเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
พระอินทร์เป็นเทพองค์หนึ่งในบรรดาเทพที่ช่วยปกปักรักษาป้องกันภัย
ประจำทิศทั้ง ๔ เรียกว่า จตุโลกบาล มีดังนี้ คือ

พระอินทร์ เทพประจำทิศตะวันออก
พระวรุณ เทพประจำทิศตะวันตก
พระยม เทพประจำทิคใต้
ท้าวกุเวร เทพประจำทิศเหนือ


พระอินทร์เป็นเทพที่พิทักษ์รักษาพระพุทธคาสนารักษาคุณงามความดี
ประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ปกครองเมืองสุทัสสนนคร
ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ พระอินทร์มีชื่อเรียกหลายชื่อ
แต่ที่คุ้นเคยกันมาก คือ ท้าวสักกเทวราชพระอินทร์ ท้าวมัฆวาน เป็นต้น

ผิวกายพระอินทร์เป็นสีเขียว มีวัชระและธนูเป็นอาวุธใช้ประหารศัตรู
หรือพวกอสูรที่มาทำลายโลก และมีร่างแหเพื่อเอาไว้ขังศัตรูที่จับมาได้
พระอินทร์มีเทพบริวารองค์หนึ่ง ที่ในเวลาปกติแล้วจะมีร่างเป็นเทพผู้ชาย


รูปภาพ
ทวารบาลอันสวยงามที่บานประตูพระวิหารคด (พระระเบียงคด)
เป็นรูปเซี่ยวกางยืนบนหลังกิเลน


แต่ถ้าพระอินทร์จะเสด็จประพาสที่ใดจึงจะแปลงร่างเป็นช้างใหญ่มีสามเศียรเรียกว่า
ช้างเอราวัณ เป็นพาหนะให้ประทับ ศิลาอาสน์ของพระอินทร์มีชื่อเรียกว่า บัณฑุกัมพล
มีความยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๔๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์
ยุบลงเหมือนฟองน้ำขณะประทับนั่งและฟูขึ้นเหมือนเดิมเมื่อลุกขึ้น
แต่ถ้าขณะที่พระอินทร์ประทับอยู่ ศิลาอาสน์ร้อนหรือแข็งกระด้าง
ก็แสดงว่าจะต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ พระอินทร์จะสิ้นอายุ พระอินทร์จะสิ้นบุญ
สัตว์อื่นที่มีอานุภาพกว่าอยู่บริเวณนั้น เพราะเดชแห่งศีลของสมณพราหมณ์
ที่บำเพ็ญตบะเพื่อวัตถุประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือ
มีเหตุการณ์เดือดร้อนเกิดขึ้นในมนุษยโลก ซึ่งพระอินทร์จะต้องเสด็จลงมาแก้ไข

พระนารายณ์หรือพระวิษณุเป็นเทพเทวราชที่ปกป้องคุ้มครองภัยได้ทั้ง ๓ โลก
สามารถปราบยุคเข็นได้ ที่ประทับของพระองค์เรียกว่า ไวกูณฐ์นาถ
อยู่ใต้เกษียรสมุทร เป็นทองทั้งแผ่น มีอาณาเขต แปดหมื่นโยชน์ วิมานเป็นแก้ว
เสาและช่อฟ้าใบระกาเป็นเพชรพลอย ในเวลาปกติพระองค์
จะบรรทมบนบัลลังก์ หลังพญาอนันตนาคราช

ในเวลาเสด็จประพาสที่ใดมีครุฑเป็นพาหนะ พระนารายณ์มี ๔ กร
อาวุธมี ๕ อย่าง คือ สังข์ จักร คฑา ธนู และพระขรรค์
มีสีกายที่เปลี่ยนไปตามความดีและความชั่วของมนุษย์ที่สะท้อนไปหา เช่น

ถ้ามนุษย์ประกอบกรรมดีที่สุดพระองค์มีกายสีขาว
ถ้ามนุษย์มีความดี สามในสี่พระองค์มีกายสีแดง
ถ้ามนุษย์มีความดี สองในสี่พระองค์มีกายสีเหลือง
ถ้ามนุษย์มีความดี หนึ่งในสี่พระองค์มีกายสีดำหรือสีดอกอัญชัน
ในเวลาพระนารายณ์เสด็จไปปราบหมู่มารต่างๆ
พระองค์จะทรงแปลงเพศหรืออวตารเป็นรูปต่างๆ เช่น

มัสยาวตาร เป็นปลา
กูรมาวตาร เป็นเต่า
วราหาวตาร เป็นหมู
นรสิงหาวตาร เป็นครึ่งคนครึ่งสิงห์
วามนาวตาร เป็นพราหมณ์วามน
ปรศุรามาวตาร เป็นปรศุราม
รามจันทราวตาร เป็นพระราม
กฤษณาตาร เป็นพระกฤษณะ
พุทธาวตาร เป็นพระพุทธเจ้า
กัลกยาวตาร เป็นกัลกีในอนาคต


รูปภาพ
พระวิหารคด (พระระเบียงคด)

รูปภาพ
พระพุทธรูปปางสมาธิ รอบพระวิหารคด

รูปภาพ

รูปภาพ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย (องค์กลาง) ที่มุมของพระวิหารคด

(มีต่อ ๑๑)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


“พระพุทธรูปปางสมาธิ”
รอบพระวิหารคด (พระระเบียงคด) ทั้ง ๔ ด้าน


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

(มีต่อ ๑๒)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระรูปหล่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


รูปภาพ

รูปภาพ
หลังกลาง : พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ) คณะ ๖

:b44: พระตำหนักสมเด็จ

อยู่ที่คณะ ๖ ติดกับเขตพุทธาวาสบริเวณพระอุโบสถ สร้างเป็นอาคารชั้นเดียว
แต่มีขนาดใหญ่และสูงกว่ากุฏิอื่นๆ ก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม
หลังคามุงกระเบื้อง โครงสร้างภายใน เช่น พื้นเพดาน ประตูหน้าต่างเป็นไม้
ภายในเป็นห้องโถงใหญ่ขนาด ๓ ห้อง ไม่มีผนังกั้น
สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
คราวเดียวกับการสร้างพระอุโบสถ โดยมีหมู่กุฏิล้อมตัวตำหนัก
ด้านทิศตะวันออก ด้านทิศตะวันตก และด้านทิศใต้

พระตำหนักสมเด็จแห่งนี้มีความสำคัญคือ
เคยเป็นที่ประทับและที่อยู่จำพรรษาของสมเด็จพระสังฆราช
องค์พระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทยคือ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ทรงครองวัด ในระหว่างปีพุทธศักราช พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๗

รวมทั้ง เคยเป็นที่พำนักและที่อยู่จำพรรษาของ
สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะผู้มีชื่อเสียงหลายรูป
จากการกอปรกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ
เป็นอธิบดีสงฆ์ของวัดสุทัศนเทพวนารามมาโดยลำดับ

อนึ่ง วัดสุทัศนเทพวรารามแห่งนี้ไม่มีพระเจดีย์องค์ประธานเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ
เนื่องจากมี “สัตตมหาสถาน” หรือสถานที่เสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้า ๗ แห่ง
ที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทับหลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ก่อนออกเสด็จเผยแผ่พระศาสนา ซึ่งถือว่าเป็น “อุทเทสิกเจดีย์” ประดิษฐานแทน

โดยตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสทางทิศตะวันออก นอกกำแพงของพระวิหารคด (พระระเบียงคด)
สถานที่แห่งนี้เคยใช้เป็นที่เวียนเทียนในวันวิสาขบูชาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕
แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปจัดงานรอบพระวิหารหลวงแทน เนื่องจากบริเวณเดิมคับแคบเกินไป

:b50: :b49: หมายเหตุ : อุทเทสิกเจดีย์ (อ่านว่า อุท-เท-สิ-กะ-เจ-ดี)
หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเจตนาอุทิศเจาะจงต่อพระพุทธเจ้า
มิได้กำหนดว่าเป็นอะไร ถ้ามิใช่พระธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ และพระธรรมเจดีย์แล้ว
ก็ถือว่าเป็นอุทเทสิกเจดีย์ทั้งสิ้น เช่น พระพุทธปฏิมากรหรือพระพุทธรูป,
รอยพระพุทธบาทจำลอง, พุทธบัลลังก์, พระธรรมจักร,
พระเครื่องหรือพระพิมพ์, ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และสัตตมหาสถาน ฯลฯ
ทั้งนี้เพื่อยังความปีติศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็นให้เกิดกุศลจิต
จึงน้อมนำเอาเงิน ทอง ศิลา โลหะ และไม้แก่น มาสร้างเป็นอุทเทสิกเจดีย์


(มีต่อ ๑๓)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2017, 08:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สัตตมหาสถาน
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

ปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของวัดสุทัศนเทพวราราม คือ สัตตมหาสถาน
เป็นสถานที่เสวยวิมุตติสุขที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ๗ แห่ง
ที่ได้ทรงประทับหลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ พุทธคยา ก่อนออกเสด็จไปเผยแผ่พระศาสนา
โดยแต่ละแห่งเป็นสถานที่รอบๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์
เป็นเวลาแห่งละ ๑ สัปดาห์ รวม ๗ สัปดาห์ หรือ ๔๙ วัน


พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างจำลองขึ้นแทนพระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก
ติดกับถนนอุณากรรณ เรียงเป็นแถวแนวทิศเหนือ ทิศใต้
ในสมัยรัชกาลที่ ๓, รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕
บริเวณสัตตมหาสถานนี้ใช้เป็นที่สำหรับเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา

ในปัจจุบันพิธีเวียนเทียนในวันวิสาขบูชาใช้บริเวณพระวิหารหลวงแทน
เนื่องจากบริเวณเดิมคับแคบเกินไป

อนึ่ง วัดสุทัศนเทพวรารามแห่งนี้เป็นวัดหลวงที่ไม่มีหรือไม่ปรากฏ
พระเจดีย์องค์ประธาน (พระธาตุเจดีย์) เช่นเดียวกับวัดอื่นๆ
เนื่องจากมี “สัตตมหาสถาน” ซึ่งถือว่าเป็น “อุทเทสิกเจดีย์” ประดิษฐานแทน
โดยตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสทางทิศตะวันออก
นอกกำแพงของพระวิหารคด (พระระเบียงคด)


:b50: :b49: หมายเหตุ : อุทเทสิกเจดีย์ (อ่านว่า อุท-เท-สิ-กะ-เจ-ดี)
หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเจตนาอุทิศเจาะจงต่อพระพุทธเจ้า
มิได้กำหนดว่าเป็นอะไร ถ้ามิใช่พระธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ และพระธรรมเจดีย์แล้ว
ก็ถือว่าเป็นอุทเทสิกเจดีย์ทั้งสิ้น เช่น พระพุทธปฏิมากรหรือพระพุทธรูป,
รอยพระพุทธบาทจำลอง, พุทธบัลลังก์, พระธรรมจักร,
พระเครื่องหรือพระพิมพ์, ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และสัตตมหาสถาน ฯลฯ
ทั้งนี้เพื่อยังความปีติศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็นให้เกิดกุศลจิต
จึงน้อมนำเอาเงิน ทอง ศิลา โลหะ และไม้แก่น มาสร้างเป็นอุทเทสิกเจดีย์


รูปภาพ
ต้นโพธิ์ลังกา - พระรัตนบัลลังก์
รูปปั้นพญามาร-เสนามาร ด้านข้างพระรัตนบัลลังก์


รูปภาพ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ประดิษฐานบนพระรัตนบัลลังก์ หรือโพธิบัลลังก์
ใต้ต้นโพธิ์ลังกา หรือ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์”


รูปภาพ
รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม ด้านหน้าพระรัตนบัลลังก์


:b44: สัตตมหาสถาน ประกอบไปด้วย

(๑) ต้นโพธิ์ลังกา
นำกิ่งพันธุ์ต้นโพธิ์มาจากประเทศศรีลังกาที่เมืองอนุราธปุระ มาปลูกไว้
สมมุติเป็น “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ที่ประทับตรัสรู้ ปลูกอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน
ใต้ต้นโพธิ์ลังกามีพระรัตนบัลลังก์ หรือโพธิบัลลังก์ (บัลลังก์แห่งต้นโพธิ์)
ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
(ปางชนะมาร, ปางสะดุ้งมาร, ภูมิสปรรศมุทรา - Bhumisparsa Mudra)
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ
พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า)

รวมทั้ง มีรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปปั้นพญามาร รูปปั้นเสนามาร
รูปร่างหน้าตาต่างๆ กัน ตั้งอยู่ด้านหน้าพระรัตนบัลลังก์ หรือโพธิบัลลังก์
ตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
ได้เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุขภายใต้ร่มโพธิ์เป็นเวลา ๗ วันเป็นสัปดาห์ที่ ๑


รูปภาพ

รูปภาพ
เก๋งจีน - พระอนิมิสเจดีย์


(๒) เก๋งจีน
ศิลาจีนสลักเป็นรูปปราสาท ตั้งอยู่บนฐานสูงมีบันไดทางขึ้น
รอบผนังฐานปั้นลายนูนต่ำรูปท้องฟ้า ก้อนเมฆ และเทวดารำล่องลอยอยู่บนฟ้า
ด้านหน้าเก๋งจีนเป็นรูปปั้นช้าง รูปปั้นสิงโต และรูปจำลองพระอนิมิสเจดีย์
(ศาลาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงนำมาจากประเทศจีน)
เก๋งจีนนี้สมมุติเป็น “พระอนิมิสเจดีย์” ที่ประทับยืนทอดพระเนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ์
ตามพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากเสวยวิมุตติสุขเป็นเวลา ๗ วัน
จึงเสด็จออกจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
พระองค์ได้ไปประทับที่พระอนิมิสเจดีย์ แล้วหันกลับมาประทับยืน
เพื่อเพ่งดูพระรัตนบัลลังก์ บัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ประทับตรัสรู้
โดยมิได้กะพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน เป็นสัปดาห์ที่ ๒
เพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นควงไม้ที่พระองค์ประทับตรัสรู้
พระองค์ทรงประทับอยู่ที่พระอนิมิสเจดีย์เป็นเวลา ๑ สัปดาห์
ภายในเก๋งจีนนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตร
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า
พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ข้างหน้าระหว่างพระเพลา (ตัก)
พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมอยู่บนพระหัตถซ้าย
อยู่ในพระอาการสังวรทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์


รูปภาพ
แผ่นศิลาปูนบนฐานสี่เหลี่ยมสูง - พระรัตนจงกรมเจดีย์


(๓) แผ่นศิลาปูนบนฐานสี่เหลี่ยมสูง
แผ่นศิลาปูนนี้สมมุติเป็น “พระรัตนจงกรมเจดีย์”
ตามพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อประทับยืนเพื่อเพ่งดูต้นมหาโพธิ์ ๗ วัน
แล้วจึงทรงเนรมิตที่จงกรมขึ้นระหว่างต้นมหาโพธิ์กับพระอนิมิสเจดีย์
แล้วเสด็จจงกรม ณ ที่ตรงนี่ตลอด ๗ วัน เป็นสัปดาห์ที่ ๓
บนแผ่นศิลาปูนประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จจงกรม
หรือพระพุทธรูปปางจงกรมแก้ว
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับยืน
พระบาทขวาก้าวเหยียบพื้น พระบาทซ้ายยกส้นขึ้น
ปลายพระบาทจรดพื้น แสดงพระอาการก้าวเดินจงกรม


รูปภาพ
ศาลาศิลาทรงโรงแบบจีน - พระรัตนฆรเจดีย์


(๔) ศาลาศิลาทรงโรงแบบจีน
ศิลาจีนสลักเป็นรูปอาคารหรือเรือน
เป็นอาคารหรือเรือนอีกหลังหนึ่งที่มีฐานเตี้ยกว่าหลังแรก (เก๋งจีน)
สมมุติเป็น “เรือนแก้ว” หรือ “พระรัตนฆรเจดีย์”
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับยืน
พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก)
พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายเป็นกิริยารำพึง

ตามพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากเสด็จจงกรม ๗ วัน
แล้วทรงเนรมิตเรือนแก้วขึ้นทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นมหาโพธิ์
แล้วพระองค์ประทับนั่งพิจารณาพระอภิธรรมตลอด ๗ วัน เป็นสัปดาห์ที่ ๔


รูปภาพ
ต้นไทรบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน - ต้นอชปาลนิโครธ

รูปภาพ
รูปกระบือสลักจากศิลาจีนบริเวณต้นไทร - ต้นอชปาลนิโครธ


(๕) ต้นไทรบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน
ใต้ต้นไทรประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามมาร
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ
พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก)
พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ (อก)
แสดงอาการห้ามธิดาพญามารทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางราคา นางอรดี

มีรูปกระบือสลักจากศิลาจีน ๔ ตัว และรูปปั้นธิดาพญามาร
คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี ตั้งอยู่บริเวณต้นไทร
ต้นไทรนี้สมมุติเป็น “ต้นอชปาลนิโครธ”
ตามพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากทรงพิจารณาพระอภิธรรม
พระองค์ได้เสด็จไปทางทิศตะวันออกแห่งต้นมหาโพธิ์
ประทับนั่งใต้ควงไม้ไทร อันเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะ
เพื่อเสวยวิมุตติสุขเป็นเวลา ๗ วัน เป็นสัปดาห์ที่ ๕
ได้มีพญานาคมาอาราธนาให้เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน แต่ทรงปฏิเสธ
พระองค์ทรงให้รอจนกว่าพุทธบริษัทสี่จะสืบพระศาสนาก่อน


รูปภาพ
อ่างรูปสี่เหลี่ยมสลักด้วยศิลาจีนปลูกบัว ใต้ต้นจิก - ต้นมุจลินทพฤษ์

รูปภาพ
ต้นจิกบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน - ต้นมุจลินทพฤษ์


(๖) ต้นจิกบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน
ใต้ต้นจิกประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบบนขนดพญานาค
มีพญานาคแผ่หัวเป็นพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกพระเศียรของพระพุทธรูป

มีอ่างรูปสี่เหลี่ยมสลักด้วยศิลาจีนปลูกบัวใส่ปลาและเต่าในอ่าง
ต้นจิกนี้สมมุติเป็น “ต้นมุจลินทพฤษ์”
ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ ๖
พระพุทธองค์เสด็จไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นมหาโพธิ์
ประทับนั่งใต้ควงไม้จิก เพื่อเสวยวิมุตติสุขเป็นเวลา ๗ วัน
ตลอดสัปดาห์มีฝนตกตลอด พญานาคมุจลินทร์จึงแผ่พังพาน
ปกพระเกษกันฝนและลมมิให้ต้องพระวรกาย
ครั้นฝนหายแล้ว ก็คลายขนาดจำแลงเพศเป็นมานพ
ยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์


รูปภาพ

รูปภาพ
ต้นเกดบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน - ต้นราชายตนพฤกษ์


(๗) ต้นเกดบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางฉันสมอ
พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ
พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก)
พระหัตถ์ขวาถือผลสมอ หงายพระหัตถ์วางบนพระชานุ (เข่า)

ด้านข้างมีศิลาจีนสลักรูปม้าเทียมเกวียน
ต้นเกดนี้สมมุติเป็น “ต้นราชายตนพฤกษ์”
ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ ๗ นี้
พระพุทธองค์เสด็จออกทางทิศใต้ของต้นมหาโพธิ์ ไปยังต้นราชายตนะ
ประทับเสวยวิมุตติสุขเป็นสัปดาห์สุดท้าย
ณ ที่นี้ พระองค์ทรงได้ปฐมอุบาสก ๒ คน ชื่อตปุสสะและภัลลิกะ
ซึ่งเดินทางมาค้าขาย เห็นพระองค์เข้าเกิดความเลื่อมใส
จึงนำข้าวสัตตุผงและข้าวสัตตุก้อนซึ่งเป็นเสบียงเดินทางถวาย
พ่อค้าทั้งสองคนได้แสดงตนเป็นอุบาสก อ้างพระพุทธกับพระธรรมเป็นสรณะ
นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา แล้วเดินทางค้าขายต่อไป


รูปภาพ
ศิลาจีนสลักรูปม้าเทียมเกวียน ด้านข้างต้นเกด - ต้นราชายตนพฤกษ์

(มีต่อ ๑๔)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร