วันเวลาปัจจุบัน 28 เม.ย. 2024, 05:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ส.ค. 2023, 09:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


คุณค่าของเวลา
พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

รูปภาพ

ท่านสาธุชนทั้งหลาย วันนี้จะพุดถึงเรื่องการประหยัด
ต่อจากที่เคยพูดไปแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓
เมื่อเอ่ยถึงคำว่าประหยัด คนส่วนมากก็นึกถึงคำว่ากินอย่างประหยัด
แต่ถ้าจะพูดว่าประหยัดเวลา รู้สึกว่าจะไม่ชินหู
คำว่า เวลา หมายถึง กาล สมัย หรือขณะหนึ่ง ยามหนึ่ง
แบ่งออกเป็นวินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว
วันเวลาที่ว่านี้ถ้ารู้จักใช้ก็ได้ประโยชน์อย่างมหาศาล
ถ้าไม่รู้จักใช้ก็จะเป็นเสมือนดาบที่คอยประหารชีวิตและร่างกายอยู่ตลอดเวลา
โคลงโลกนิติบทหนึ่งแสดงว่า

รูปชายหญิงทั่วท้อง ธาตรี
เป็นภักษ์แก่เดือนปี สุดสิ้น
อัฐิถมทั่วปถพี รายเรี่ย
ประเทศเท่าปีกริ้น ร่างพ้นฤๅมี


โดยใจความว่าหญิงชายทั้งหลายไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้
ล้วนแต่เป็นอาหารของวันเดือนปีทั้งสิ้น ที่สุดของชีวิตจะต้องทิ้งกระดูกไว้ทั่วแผ่นดิน
ไม่มีส่วนใดของแผ่นดินแม้ประมาณเท่าปีกริ้น
ที่จะไม่มีกระดูกของมนุษย์และของสัตว์ทิ้งไว้
ผลทั้งนี้มีเหตุสืบเนื่องมาแต่อำนาจของเวลานั่นเอง

กล่าวได้ว่าเครื่องประหารชีวิตสัตว์ ที่ประหารได้สนิทแนบเนียน
แม้สัตว์ที่ถูกประหารก็หารู้สึกตัวไม่ เครื่องประหารนั้นคือ “วันเวลา”
ท่านผู้รู้กล่าวว่า “เวลาจะเปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่างให้ปรากฏ” คำกล่าวนี้เป็นความจริง
สิ่งที่เร้นลับทั้งหลายที่ยังปรากฏเป็นของเร้นลับอยู่ เพราะยังไม่ถึงกาลเวลา
ดูแต่ร่างกายของคนเราเป็นตัวอย่าง จากความเป็นเด็กทารกที่นอนอยู่บนเบาะ
จนกระทั่งแก่หง่อม นอนทอดถอนหายใจคอยความตาย
ความจริงของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงให้เราเห็นโดยลำดับนั้น เพราะอำนาจของเวลาทั้งสิ้น

ถ้าจะเปรียบเวลาเหมือนกับไฟ ร่างกายของมนุษย์และสัตว์ก็เปรียบได้กับฟืน
ผู้ใดปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปโดยไม่ได้ทำประโยชน์
ก็เปรียบได้กับการที่ปล่อยให้ไฟเผาบ้านเรือนวอดวายเสียหาย
แต่ถ้าผู้ใดรักษาเวลา ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยไร้ประโยชน์
ก็เท่ากับผู้นั้นใช้ฟืนเป็นเชื้อไฟหุงต้มข้าวปลาอาหาร
แม้ฟืนจะหมดไปแต่ก็ได้ประโยชน์จากฟืนนั้น

เวลาทำลายได้เพียงรูปวัตถุ หาได้ทำลายความดีที่เกิดขึ้นพร้อมกันนั้นไม่
ท่านกล่าวว่า “เวลาและกระแสน้ำไม่คอยใคร”
ทำไมท่านถึงได้เปรียบเวลาเหมือนกระแสน้ำ
ขอให้ท่านผู้อ่านจงนึกถึงกระแสน้ำที่กำลังทอดกระแสยาวเหยียดอยู่ในแม่น้ำ
กระแสของน้ำจะไม่มีเวลาหยุดยั้ง จะไหลอยู่ตลอดเวลา
ไม่เลือกว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน
แม้จะทำเขื่อนกั้น น้ำก็จะแทรกซึมซอกซอนหาทางไหลอยู่ตลอดเวลา
“กระแสน้ำไม่ยอมหยุดไหล ฉันใด เวลาก็จะไม่มีระยะหยุดเพื่อคอยใคร ฉันนั้น”

ดังนั้น เวลาที่ผ่านไปแล้วจึงเรียกกลับคืนมาอีกไม่ได้
เมื่อพูดถึงเรื่องเสียแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่เสียไปแล้วทำให้เสียใจเท่ากับการเสียเวลา
เพราะการเสียอย่างอื่นยังพอที่จะมีทางหามาชดเชยได้
เช่น เสียเงินเสียทองก็ยังจะมีโอกาสทำมาหาได้อยู่
แต่การสูญเสียเวลาเป็นการสูญเสียที่ไม่มีโอกาสจะหามาชดเชยได้อีก
มิหนำซ้ำการเสียเวลายังหมายถึงการสูญเสียประโยชน์
เช่น เสียโอกาสในการเรียน เสียโอกาสในการทำความดี
เสียเกียรติยศชื่อเสียงพร้อมกันไปด้วย
จึงไม่ควรให้เวลาสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ วันเวลาเป็นสิ่งที่มีขอบเขตจำกัด
ชั่วโมงหนึ่งมีไม่มากไปกว่า ๖๐ นาที วันหนึ่งมีไม่มากไปกว่า ๒๔ ชั่วโมง

คำที่ว่า “ประหยัดเวลา” นั้นจะประหยัดอย่างไร
ความข้อนี้จะเข้าใจได้ดีต้องคิดถึงคำว่า “ประหยัดทรัพย์”
การประหยัดทรัพย์มิได้หมายความว่าไม่ให้ใช้ทรัพย์ ได้มาเท่าไรก็ให้เก็บไว้ให้หมด
หามิได้ ท่านหมายถึงให้ใช้ทรัพย์ให้ได้ประโยชน์ คุ้มค่ากับทรัพย์ที่เสียไป
แม้จะต้องเสียทรัพย์อย่างมากมาย แต่ก็ได้ประโยชน์คุ้มค่ากับทรัพย์ที่เสียไป
ก็ยังจัดว่าประหยัดอยู่นั่นเอง

ตรงข้ามกับผู้ที่มีทรัพย์แล้วเก็บไว้ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อะไร
หาได้ชื่อว่าเป็นผู้ประหยัดไม่ ท่านเรียกบุคคลประเภทนี้ว่าผู้มี “มัจฉริยะ”
คือความตระหนี่เหนียวแน่น เป็นเหตุถ่วงความเจริญทั้งส่วนตนเองและคนอื่น
ความตระหนี่เป็นมลทินทางใจ ทำให้ใจคับแคบเศร้าหมอง
ประหนึ่งสนิมที่เกิดแต่เหล็กแล้วกัดเหล็กให้กร่อนไป
การใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ฉันใด
การประหยัดเวลาก็หมายถึงการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ฉันนั้น

มงคลสูตร เป็นสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสถึงสิ่งที่เป็นมงคล
คือเหตุที่จะนำความสุขความเจริญมาให้ ทั้งหมดมี ๓๘ ข้อ
มีอยู่ ๓ ข้อที่พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงการใช้กาลเวลาว่าเป็นมงคล

ประการที่ ๑ อนากุลา จ กมฺมนฺตา การงานที่ไม่มีอากูล
ประการที่ ๒ กาเลน ธมฺมสฺสวนํ การฟังธรรมตามกาล
ประการที่ ๓ กาเลน ธมฺมสากจฺฉา การสนทนาตามกาล


มงคลทั้งสามประการนี้มีความเกี่ยวข้องกับการใช้เวลาโดยตรง
การประกอบการงานโดยไม่อ้างกาลเวลาว่าเช้าหรือบ่าย
ไม่อ้างดินฟ้าอากาศว่าร้อนนักหนาวนัก
มุ่งประกอบการงานให้สำเร็จเรียบร้อย ให้ทันกับกาลเวลา
ไม่ยอมให้งานคั่งค้างอากูล ไม่ถือเอากิเลสความเกียจคร้านของตัวเองเป็นเกณฑ์
แต่ถือเอาประโยชน์ของการงานเป็นใหญ่ ชื่อว่าผู้ประหยัดเวลา

อีกประการหนึ่ง ชีวิตของคนเราย่อมเป็นไปตามจังหวะของเวลา
ตอนต้นของชีวิตเรียก “ปฐมวัย”
ตอนกลางเรียก “มัชฌิมวัย” ตอนปลายเรียก “ปัจฉิมวัย”
ในวัยทั้งสามนี้จะประกอบกรรมสิ่งใดจึงจะเหมาะกับวัย
ในคำโคลงโลกนิติท่านแสดงไว้ว่า

ปางน้อยสำเหนียกรู้ เรียนคุณ
ครั้นใหญ่ย่อมหาทุน ทรัพย์ไว้
เมื่อกลางแก่แสวงบุญ ธรรมชอบ
ยามหง่อมทำใดได้ แต่ล้วนอนิจจังฯ


ความว่าสิ่งที่ควรทำในปฐมวัยคือการศึกษาหาความรู้
สิ่งที่ควรทำในมัชฌิมวัยคือการประกอบการงานอาชีพ
ตั้งตนเป็นหลักฐาน มีงานมีทรัพย์ตามสมควรแก่สภาพ
สิ่งที่ควรทำในปัจฉิมวัยคือการแสวงบุญ ได้แก่การทำความดี
หลังจากนั้นร่างกายแก่หง่อม หมดเรี่ยวแรง งกๆ เงิ่นๆ
ไม่อาจจะประกอบการงานใดๆ ทั้งสิ้น อยู่รอความตายไปวันหนึ่งๆ

ผู้ที่ประกอบการงานให้เหมาะสมกับวัยตามที่กล่าวมา
ชื่อว่าผู้ทำงานให้เหมาะกับกาล ไม่ปล่อยให้กาลผ่านไปโดยไร้ความหมาย
เป็นผู้ปฏิบัติตนตามมงคลในข้อที่ว่าทำงานตามกาล
งานใดควรทำในกาลไหนก็ทำให้เหมาะกับกาลนั้น ไม่ให้สับสนกัน
การงานทุกชนิดที่ได้ผลคุ้มค่าล้วนแล้วแต่ต้องทำให้เหมาะกับกาลทั้งนั้น
เช่น กาลใดควรพูด กาลใดควรฟัง กาลใดควรกิน กาลใดควรนอน
ก็ต้องกระทำให้เหมาะสมกับกาลนั้นๆ
ถ้าทำให้ผิดกับกาล ย่อมไม่ได้ผล ทำให้เสียเวลา
ชื่อว่าไม่ประหยัดเวลา ทำให้เวลาสูญเสียไปโดยไร้ประโยชน์
ผู้ที่เกิดมาแล้วไม่ได้ทำประโยชน์ท่านเรียกว่า “โมฆบุรุษ”
คือคนที่ว่างจากความดี หาค่ามิได้ เสียชาติเกิด
เบื้องหน้าแต่ตายทำลายขันธ์แล้วย่อมมีทุคติอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

อีกประการหนึ่งการที่จะทำเวลาให้มีค่าต้องทำงานให้มีระเบียบ
คืองานไหนทำก่อนทำทีหลัง ตามความจำเป็นของงาน
การที่จะทำงานให้เป็นระเบียบได้ ต้องมีแผนการหรือมีโครงการ
คุณหลวงวิจิตรวาทการได้แนะไว้ในปาฐกถาเรื่องการประหยัดของท่านว่า
“ในตัวเราเอง ในชีวิตการงานของเราก็จำเป็นต้องมีแผนการ
เราจำเป็นต้องกะแผนการทุกปี ทุกเดือน ทุกสัปดาห์ และทุกวัน
สำหรับงานประจำวัน ทุกคืนก่อนจะหลับเราต้องกะแผนการว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร
กะไว้ให้เต็มวัน แล้วพยายามทำให้ได้ตามแผนการที่ตั้งไว้
ถ้าจะผิดไปบ้างก็ให้ผิดพลาดน้อยที่สุด
ถ้าทำได้อย่างนี้เราจะมีความเจริญก้าวหน้าในธุรกิจหน้าที่การงาน
ทั้งในชีวิตปัจจุบันและในอนาคต
และหน้าที่การงานของเรา คนที่สามารถทำงานได้หลายอย่าง
และผลิตผลงานออกมาได้อย่างน่าพิศวง คือคนที่รู้จักวางกำหนดแผนงาน
สมมติว่าเรามีงาน ๕ ชิ้น ที่จะต้องทำให้เสร็จภายในวันนี้
เราก็มาพิจารณางานทั้ง ๕ ชิ้นนั้น
และกำหนดว่างานชิ้นใดควรจะทำก่อนทำหลัง นี้เป็นเทคนิคของการทำงาน”

ข้าพเจ้าพอใจวิธีการทำงานของท่าน
จึงยกข้อความดังกล่าวมาเพื่อท่านผู้ฟังได้รับรู้และพิจารณา
เพื่อเป็นแนวทางแห่งการประหยัดเวลา

คุณค่าของชีวิตขึ้นอยู่กับการรู้จักคุณค่าของเวลา
รู้จักทำเวลาให้เป็นประโยชน์ รู้จักถือเอาสาระทุกขณะเวลาที่ผ่านไป
ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ชื่อว่าการประหยัดเวลา
ผู้ที่รู้จักประหยัดเวลาจะได้รับความสุขใจตลอดกาลแห่งชีวิต
แม้ตัวจะตายจากโลกนี้ไปแล้ว เกียรติคุณความดีจะยังคงอยู่คู่กับเวลา


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก : หนังสือ เครื่องหมายของคนดี
โดย พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล) พิมพ์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๙

หมายเหตุ : พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล)
มีสมณศักดิ์ชั้นสุดท้ายเป็นที่ พระพุทธพจนวราภรณ์


:b50: :b50: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่จันทร์ กุสโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20885

:b50: :b50: รวมคำสอน “หลวงปู่จันทร์ กุสโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=50386


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 151 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร