วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 13:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 43 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 18:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จากหนังสือเล่มนี้ พิมพ์หลายครั้งปกจึงต่างกัน

รูปภาพ

ธรรมะสำหรับผู้พิพากษา ก็คือธรรมะอันเดียวกับที่รักษาชีวิต และสังคมมนุษย์ ที่ต้องใช้สำหรับทุกคนนั่นเอง แต่ผู้พิพากษาเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ เพราะถือว่าผู้พิพากษาเป็นตุลา คือเป็นตราชูของสังคม

ในการที่จะรักษาสังคมไว้นั้น ท่านผู้พิพากษาเป็นแบบอย่างในขั้นปฏิบัติการเลยทีเดียวว่า เราจะต้องรักษาสังคม ให้อยู่ดี มึความสุขความเจริญโดยเฉพาะมีความมั่นคงอยู่ได้ ด้วยความเป็นธรรม ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของจิตใจที่มีพรหมวิหาร ๔ ประการ อันมีอุเบกขาลงไปอยู่ในธรรม ที่มีปัญญาบอกให้แล้วก็ออกสู่ปฏิบัติการด้วยสมานัตตตา ซึ่งเป็นที่แสดงออกของอุเบกขา แล้วก็มั่นใจแน่ว่าแนบสนิทอยู่กับธรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ก่อนเข้าเรื่องดูความหมายศัพท์ "ตุลา" ก่อน

ในพระไตรปิฏก ตอนที่บรรยายอุเบกขาบารมีของพระโพธิสัตว์ ท่านก็อธิบายด้วยคำว่า “ตุลา” คือบอกว่า พระโพธิสัตว์นั้น ไม่ว่าจะประสบอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) หรืออนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) เขาจะทำร้าย หรือจะเอาใจ ก็ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง อยู่ในธรรม เที่ยงตรง คงที่ สม่ำเสมอ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 18:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สี่ความหมายของ "ตุลาการ" ส่องถึงงานสำคัญของผู้พิพากษา

รูปภาพ

ในแง่ความหมายของถ้อยคำ ที่โยงไปถึงธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ ในที่นี้ ขอกล่าวไว้ ๔ ความหมาย

๑. "ตุลา" แปลว่า เที่ยงตรง คงที่ เท่ากัน สม่ำเสมอ ความหมายนี้มีในพระไตรปิฎก ท่านใช้อธิบายการบำเพ็ญอุเบกขาบารมีของพระพุทธเจ้าว่า พระโพธิสัตว์ถืออุเบกขา ดำรงอยู่ในธรรม โดยมีความสม่ำเสมอ คงที่ เป็นอย่างเดียวกัน ไม่เอนเอียงไหวโอนขึ้นๆลงๆ ไปกับความชอบใจหรือขัดใจ ใครจะนอบนบเคารพไหว้หรือใครจะด่าจะหยามเหยียด ใครจะบำเรอสุข หรือใครจะก่อทุกข์ให้ เหมือนดังผืนแผ่นดิน ซึ่งไม่ว่าใครจะใส่ฝังของดีมีค่าของสะอาดหรือใครจะเทราดสาดของสกปรกลงไป ก็คงที่สม่ำเสมอทั้งหมด (เช่น ขุ.ทุทฺธ.๓๓/๑๘๒/๔๓๒...) ทั้งเป็นกลาง และเป็นเกณฑ์ คือ ไม่เอนเอียง ไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่เข้าใคร ออกใคร และถือธรรมดำรงธรรมมีธรรมเป็นมาตรฐานที่จะยึดเป็นแบบหรือใช้ตัดสิน ความหมายนี้ จะเห็นว่าตรงกับเรื่องอุเบกขา

๒. "ตุลา" แปลว่า ตาชั่ง ตราชู คันชั่ง ในแง่นี้ งานของผู้พิพากษา คือ การเป็นเครื่องวัด เป็นเกณฑ์วัด หรือเป็นมาตรฐานที่ตัดสินความถูกต้อง หรือเป็นเหมือนผู้ถือ ผู้ยก ผู้ชูคันชั่ง (ภาษาบาลีใช้คำว่า "ตุลาธาร" คือผู้ทรงไว้ซึ่งตุลา) ซึ่งทำหน้าที่ชั่งวัด เบื้องแรกย่อมรู้ความยิ่งหรือหย่อน ขาดหรือเกิน ถูกหรือผิด แล้วก็จะต้องประคองธำรงรักษาให้ตราชั่งเสมอกัน เท่ากัน ให้คันชั่งเที่ยง ตรงแน่ว เสมอกันเป็นนิตย์

๓. "ตุลา" แปลว่า ตราชู นี้ ในพระไตรปิฎกบางแห่ง หมายถึง บุคคลที่เป็นตัวแบบ เป็นเกณฑ์วัด หรือเป็นมาตรฐาน (ในข้อก่อน หมายถึงงาน ข้อนี้หมายถึงบุคคล) เช่น พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระสาวกในพุทธบริษัททั้ง ๔ (เช่น องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๗๖/๒๒๒) เริ่มด้วยบรรดาภิกษุสาวก ว่ามีพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เป็นตุลา ส่วนในหมู่ภิกษุณีสาวิกา ก็มี พระเขมา และพระอุบลวรรณา เป็นตุลา แล้วในหมู่อุบาสกสาวก ก็มีตุลา ๒ คน (จิตตะคฤหบดี และหัตถกาฬวกะ) เช่นเดียวกับในหมู่อุบาสิกาสาวิกา ก็มีอุบาสิกา ๒ คน เป็นตุลา (นางขุขชุตตรา และเวฬุกัณฎกีนันทมารดา)

ผู้พิพากษา ในฐานะตุลาการ เป็นตุลา คือ เป็นตราชู เป็นตัวแบบ เป็นมาตรฐานซึ่งตั้งไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ที่คนทั้งหลายจะพึงพัฒนาตนหรือ ประพฤติปฏิบัติตัวให้เสมอเสมือน คือมีธรรมเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น จะเรียกว่าเป็นยอดสุดของสังคมก็ได้

๔. "ตุลา" นั่นแล ได้มาเป็น "ตุลาการ" ซึ่งแยกศัพท์ได้ ๒ อย่าง คือ เป็น ตุลา+อาการ หรือ ตุลา+การ


อย่างแรก ตุลา+อาการ แปลว่า ผู้มีอาการดังตุลา หมายความว่า มีความประพฤติ มีการปฏิบัติตัว หรือดำเนินงานทำกิจการเหมือนเป็นตุลา ในความหมายอย่างที่กล่าวแล้ว คือ เหมือนเป็นตราชู ตาชั่ง ที่รักษา ตัดสิน และบอกแจ้งความถูกต้องเที่ยงตรง

อย่างที่สอง ตุลา+ การ แปลว่า ผู้ทำตุลา (ผู้ทำดุล) หรือผู้สร้างตุลา (ผู้สร้างดุล) หมายความว่า เป็นผู้ทำให้เกิดความเท่ากัน เสมอกัน ความลงตัว ความพอดี ความสมดุล หรือดุลยภาพ ซึ่งในที่นี้มุ่งไปที่ความยุติธรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 19:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อย่างไรก็ดี ตุลา หรือดุล นี้ มีความหมายกว้างออกไปอีก คือ ธรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความถูกต้องชอบธรรม หรืออะไรในทำนองนี้ก็ตาม เมือยังดำรงอยู่ ยังเป็นไปอยู่ในชีวิต และสังคม ก็จะทำให้มีดุล คือทำให้ชีวิตและสังคมอยู่ในภาวะที่มีความประสานสอดคล้อง ลงตัว พอดี มีดุลยภาพ ซึ่งหมายถึงความมั่นคงมีสันติสุข ผู้พิพากษาเป็นตุลาการ คือเป็นผู้สร้างดุลนี้ให้แก่สังคม

ตุลา ดุล หรือ ดุลยภาพ นี้ สำคัญอย่างไร เห็นได้ไม่ยากว่า ดุลยภาพนี้แหละ ทำให้มีความมั่นคง และทำให้ดำรงอยู่ได้ยั่งยืน เช่น เราสร้างอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างหนึ่งขึ้นมา ถ้าส่วนประกอบทั้งหลายประสานสอดคล้อง เข้ากัน ลงตัว พอดี ที่เรียกว่าได้ดุล ก็จะเป็นหลักประกันในขั้นพื้นฐานว่าอาคารหรือสิ่งก่อสร้างนั้น จะมั่นคงดำรงอยู่ได้ดี แต่ถ้าเสียดุล เช่น แม้จะมีเสาที่แข็งแรงมาก แต่เสานั้นเอนเอียง แค่นี้ อาคารเป็นต้นนั้น ก็อาจจะพังลงได้ง่ายๆ

ธรรม ทำให้ทุกอย่างเข้าที่ ลงตัว ได้ดุล หรือมีดุลยภาพ ในเมื่อธรรมนั้นกว้างขวางซับซ้อนนัก แต่ธรรมนั้นก็อยู่ในระบบสัมพันธ์ถึงกันทั้งหมด หลักธรรมต่างๆ ที่ท่านจัดไว้ ก็เป็นระบบย่อยที่โยงต่อไปทั่วถึงกันในระบบรวมใหญ่ เมื่อพูดถึงหลักธรรมสักชุดหนึ่ง ก็จึงโยงถึงกันกับธรรมอื่นได้ทั่วทั้งหมด และในที่นี้ ก็ได้ยกหลักธรรมสำคัญชุดหนึ่งมาเน้นย้ำไว้แล้ว คือ หลักพรหมวิหาร ๔

หลักพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นระบบแห่งดุลยภาพครบบริบูรณ์อยู่ในตัว เราจะต้องปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมสังคมให้ถูกต้องอย่างได้ดุลตามระบบนั้น ดังที่ได้อธิบายแล้วว่า ยามเขาอยู่ดีเป็นปกติ เราเมตตา ยามเขาทุกข์ เรากรุณา ยามเขาสุขสำเร็จ เรามุทิตา ยามเขาจะต้องรับผิดชอบตามธรรม เราอุเบกขา

การปฏิบัติทางสังคมอย่างถูกต้องครบตามสถานการณ์เหล่า นี้ เป็นการรักษาดุลยภาพอยู่ในตัวแล้ว แต่หลักพรหมวิหาร ๔ นี้ ยังเป็นระบบพิเศษที่สร้างดุลยภาพกว้างออกไปอีกชั้นหนึ่งด้วย คือข้อที่ ๔ นอกจากเป็นตัวดุลให้อีกสามข้ออยู่ในภาวะพอดี เป็นระบบดุลยภาพในชุดของมันเองแล้ว มันยังเป็นภาวะได้ดุลหรือภาวะมีดุลยภาพของจิตใจ อันเป็นฐานที่จะสร้างดุลยภาพชีวิต และดุลยภาพของสังคมทั่วทั้งหมดด้วย

เมื่อ พูดให้จำเพาะ จับที่หลักพรหมวิหาร ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาโดยตรง ก็อาจจะให้ความหมายของ "ตุลาการ" ได้อย่างสั้นๆว่า คือ ผู้สร้างดุลให้แก่สังคมด้วยพรหมวิหาร ๔ ประการ

เมื่อผู้พิพากษา ปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการเต็มตามความหมายทั้ง ๔ ดังที่กล่าวมา ก็ย่อมรักษาธรรม และดำรงสังคมไว้ได้ แต่มิใช่เฉพาะผู้พิพากษาเท่านั้น มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ในการรักษาความดีงามให้แก่สังคม รักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม และรักษาสังคมให้ดำรงอยู่ในธรรม เพราะฉะนั้น ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามธรรมนี้ โดยมีผู้พิพากษา คือตุลาการ เป็นตราชู เป็นแบบอย่างให้
สถานะที่ว่านั้น เท่ากับอกไว้ในที่นี้ ถึงความสำคัญองผู้พิพากษาคือตุลาการ ว่าเป็นมาตรฐานของสังคม และในเมื่อธรรมเป็นสิ่งสูงสุด เมื่อพิพากษาเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาธรรม จะเรียกผู้พิพากษาว่าเป็นบุคคลในระดับยอดสุดของสังคม ก็ย่อมได้

สังคมนี้จะอยู่ได้ ถ้าตุลาการยังเป็นหลักให้ ถึงแม้สังคมจะเสื่อมลงไปแค่ไหนๆ ถ้าตุลาการยังมั่นอยู่ ถึงอย่างไร ก็ยังมีความหวัง แต่ถ้าที่มั่นนี้หมดไป สังคมก็ล่มสลายแน่ เพราะฉะนั้น จึงต้องช่วยกันรักษาไว้

ในที่สุดก็เป็นการย้ำถึงสถานะของผู้พิพากษาตุลาการ ที่ท่านเป็นบุคคลที่เรียกว่าสำคัญสุดยอดในสังคมที่จะต้องเป็นแบบอย่างดังที่ บอกแล้วว่า เราเรียกว่าตราชู

ในสังคมทุกยุคทุกสมัย จะต้องมีตุลา และเราก็ได้นำเอาคำนี้มาใช้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะต้องทำให้สมจริง ดังที่เรามีตุลาการอยู่ และก็ขอให้เรามีต่อไป

ขอให้ตุลาการ อยู่ยั่งยืนนาน ยั่งยืนทั้งในสถานะแห่งระบบการและยั่งยืนด้วยหลักการ คือ ธรรมที่ทำให้เกิดความเป็นตุลาการทีแท้จริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 19:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กระทู้นี้จะเห็นความหมายศัพท์ที่เคยยินได้ฟังบ่อยๆ แต่ยังไม่เข้าใจชัด เช่น ธรรม, วินัย, เจตนา, ปัญญา, สภาวะ, (สภาวธรรม) จริยะ, (จริยธรรม) บัญญัติ, (บัญญัติธรรม) ศีล, (แดนพฤติกรรม) สมาธิ, (แดนจิตใจ) ปัญญา, (แดนปัญญา) พรหมวิหาร, (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) ฯลฯ

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 19:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เข้าเนื้อหา


ผู้พิพากษาเป็นตราชู ดำรงตนอยู่ในธรรม ดำรงธรรมไว้แก่สังคม


เราถือกันว่า ผู้พิพากษาเป็นผู้ทรงไว้ ซึ่งความยุติธรรม เป็นตราชู ซึ่งทำหน้าที่ที่เรียกว่าดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม

เมื่อจะดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม ตัวผู้พิพากษาเองก็ต้องมีธรรมเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม หรือรักษาธรรมด้วยตนเอง และจะให้เป็นอย่างนั้นได้ ก็ต้องชัดเจนว่า ธรรมที่ผู้พิพากษาจะต้องมีนั้นคืออะไร ผู้พิพากษาจะต้องตั้งอยู่ในธรรมอะไร หรือว่าธรรมสำหรับผู้พิพากษานั้นคืออะไร

เมื่อพูดถึงธรรมที่บุคคลนั้นบุคคลนี้ หรือคนประเภทนั้นประเภทนี้จะต้องมี โดยทั่วไปก็จะนึกกันถึงความประพฤติดีปฏิบัติชอบ การเป็นอยู่หรือดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตามหลักที่เรียกว่าศีลธรรมบ้าง จริยธรรมบ้าง

สำหรับผู้พิพากษา ซึ่งทำงานสาธารณะ ค้ำชูสังคม ก็แน่นอนว่าต้องมีธรรมอย่างที่เรียกว่า ศีลธรรม หรือจริยธรรมนั้น และต้องมีไม่ใช่แค่ในขั้นธรรมดาเท่านั้น แต่ต้องมีในระดับที่อาจจะเรียกว่า เข้มงวด เป็นพิเศษทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดอย่างจำเพาะ ธรรมในระดับความประพฤติศีลธรรมทั่วไป ยังไม่ถือว่าเป็นธรรมสำหรับผู้พิพากษา แต่เป็นเพียงธรรมสำหรับบุคคลที่จะมาเป็นผู้พิพากษา หรือเป็นธรรมสำหรับผู้พิพากษาในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งในสังคม หรือเป็นพลเมืองคนหนึ่ง

หมายความว่า ความประพฤติตามหลักศีลธรรมทั่วไป เป็นเพียงส่วนประกอบ แต่เหนือนั้นขึ้นไป ผู้พิพากษายังมีธรรมสำหรับการทำหน้าที่เฉพาะของตนอีกต่างหาก และธรรมสำหรับการทำหน้าที่เฉพาะของผู้พิพากษานั่นแหละ ที่เรียกว่า “ธรรมสำหรับผู้พิพากษา”

แม้โดยการเปรียบเทียบ งานของผู้พิพากษาก็มิใช่อยู่ในวงความประพฤติทางศีลธรรมทั่วไป ความประพฤติที่อยู่ในศีลธรรมเป็นเพียงพื้นฐานที่รองรับการทำงานของผู้ พิพากษาเท่านั้น แต่ธรรมสำหรับการทำงานของผู้พิพากษาตรงๆแท้ๆ อยู่ที่เจตนา กับ ปัญญา

ตัวงานของผู้พิพากษาพูดได้ว่า อยู่ที่ธรรมสำคัญ ๒ อย่าง คือ เจตนา กับ ปัญญา ขยายความว่า ถ้าพูดกว้างๆ ก็เป็นเรื่องของการรักษาจิตใจ กับการมีและใช้ปัญญา แต่ในที่นี้ ที่ใช้คำว่าเจตนา ไม่พูดว่าจิตใจ ก็เพราะว่า เรื่องของจิตใจอยู่ที่เจตนา เพราะเจตนาเป็นหัวหน้า และเป็นตัวแทนของแดนจิตใจทั้งหมด เจตนาเป็นตัวนำ ตัวทำการ เป็นตัวเลือก ตัวตัดสินใจ

เจตนา จะตัดสินใจเลือกทำการใด และอย่างไร ก็มีแรงจูงใจต่างๆ มีสภาพจิต เช่น อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ความสุข ความทุกข์ ความขุ่นมัว ความผ่องใส ตลอดจนคุณสมบัติ เช่น คุณธรรมและบาปธรรมทั้งหลาย อันมากมายในแดนของจิตใจนั้น คอยหล่อเลี้ยงปรุงแต่งคอยสนอง หรือมีอิทธิพลต่อเจตนา แต่ในที่สุดก็ต้องสำเร็จด้วยเจตนานี้แหละ เพราะฉะนั้น ในด้านจิตใจ งานของผู้พิพากษาอยู่ที่การรักษาและตั้งเจตนาให้ถูกต้อง

ปัญญา คือความรู้เข้าใจ ตั้งแต่รู้ข้อมูล รู้ข้อเท็จจริง เข้าถึงความจริง รู้หลักและรู้ตัวบทกฎหมาย รู้หลักการตัดสินคดี ฯลฯ พูดรวบยอดก็ คือ รู้ธรรม

ถึงแม้เจตนาจะตรง แต่เจตนานั้นจะเลือกตัดสินได้ถูกต้อง เจตนาจะต้องอาศัยแสงสว่าง การบอกทาง การให้ตัวเลือก และการแก้ไขปัญหาด้วยปัญญา

เพราะฉะนั้น บนพื้นฐานแห่งความประพฤติที่ดีงามมีศีลธรรม ผู้พิพากษาจะต้องใช้และต้องจัดการธรรมสำคัญ ๒ อย่าง คือ เจตนา กับ ปัญญา ให้ดีให้พร้อมและให้ทำงานอย่างได้ผลดีที่สุด

เรื่อง เจตนา กับ ปัญญา บนพื้นฐานแห่งความมีศีลธรรมนี้ ควรจะพูดขยายความอีกข้างหน้า

นี่คือธรรมสำหรับผู้พิพากษา แต่ยังไม่หมดเท่านี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 20:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จะตัดสินให้เป็นธรรม ต้องรู้ธรรมที่เป็นเกณฑ์ตัดสิน

ธรรมสำหรับผู้พิพากษายังมีความสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่มีชื่อตรงเลยว่า "ธรรม"

อย่างที่พูดแต่ต้นว่า ผู้พิพากษาเป็นผู้ทรงไว้ ซึ่งความยุติธรรม เป็นผู้ดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม เป็นตราชูของธรรม ต้องเป็นคนมีธรรม ต้องตัดสินให้เป็นธรรม ฯลฯ อะไรๆก็ธรรม

เมื่อ พบคำว่า ธรรมในข้อความต่างๆ มากมาย บางทีก็สงสัยหรือ อย่างน้อยก็ชักไม่ชัดว่า คำว่า "ธรรม" ในข้อความต่างๆเหล่านั้น มีความหมายเหมือนกันหรือต่างกัน ถ้าต่างกัน ในแต่ละแห่งมีความหมายว่าอย่างไร

เฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อหน้าที่ของผู้พิพากษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรม หรือเป็นการกระทำต่อธรรมและเพื่อธรรมโดยตรง ถึงกับเป็นผู้ดำรงธรรม และทำให้เกิดความเป็นธรรม ฉะนั้น ผู้พิพากษาจะต้องมีความชัดเจน ในเรื่องธรรมว่าธรรมคืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นความหมายรวม หรือความหมายเฉพาะที่

ถ้า เปิดหาความหมายในพจนานุกรม พอดูแล้ว ก็อาจจะงงไปเลย อย่างน้อยก็อาจจะรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ต้องจดจำ และทำท่าจะจำไม่ไหว

ผู้ พิพากษาซึ่งอยู่กับธรรมนั้น ต้องให้ถึงขั้นที่ว่า พอเห็น พอพูดถึงหรือได้ยินคำว่า "ธรรม" ก็มองเห็นความหมายทุกแง่มุมทะลุปรุโปร่งไปเลย

การที่จะเป็นอย่างนั้น ได้ ผู้พิพากษาจะต้องมีความรู้เข้าใจในเรื่องธรรมอย่างทั่วตลอด คือรู้ระบบแห่งธรรม อย่างน้อยก็รู้ระบบที่ใกล้ตัวที่สุด คือระบบแห่ง สภาวธรรม (ที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า สัจธรรม) จริยธรรม และบัญญัติธรรม

ธรรมชุดที่ ๒ นี้ สัมพันธ์โดยตรง กับ ธรรมชุดแรกที่พูดถึงก่อนแล้ว คือ ต้องมีปัญญาที่รู้เข้าใจเข้าถึงธรรมเหล่านี้ และเจตนาที่ต้องมุ่งให้ได้ผลตามธรรมเหล่านี้ หรือให้เป็นไปตามธรรมเหล่านี้

เป็นอันว่า ธรรมสำหรับผู้พิพากษา พูดไว้ที่นี่ ๒ ชุด คือ

ธรรมชุดที่ ๑ คือ ปัญญา กับ เจตนา

ธรรมชุดที่ ๒ ธรรมในระบบแห่ง สภาวะ จริยะ และ บัญญัติ

แค่ สองชุดนี้ก็พอ เพราะครอบคลุมธรรมทั่วทั้งหมดแล้ว ชุดแรก อยู่ที่ตัวผู้พิพากษา ชุดหลังอยู่รอบตัวข้างนอก และเป็นจุดหมายของชุดแรก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 20:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โยงธรรมเข้าสู่คน

เป็นธรรมก็ถูกต้องตามความจริง ถูกต้องตามความจริง ก็ดีงาม

ก่อนที่จะพูดถึงธรรมสำหรับผู้พิพากษา ๒ ชุดนั้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สักหน่อย ก็มาพูดคุยกันในข้อปลีกย่อยต่างๆ เกี่ยวกับธรรม ให้เป็นเรื่องเบาๆเป็นพื้นไว้ ก่อนจะพูดเรื่องที่ยากขึ้นไป

เราบอกว่า ผู้พิพากษาเป็นผู้ทรงไว้ ซึ่งความยุติธรรม เป็นตราชูอันทำหน้าที่ที่เรียกว่าดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคมนั้น

"ธรรม" นี้ แปลกันมาว่า ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม

ความหมายที่เป็นหลักเป็นแกนของธรรมนั้น ก็คือ ความจริง หรือสภาวะที่เป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นๆ เป็นธรรมดา

มนุษย์เรานั้น ต้องการสิ่งที่เกื้อกูลเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตน แต่สิ่งทั้งหลายที่จะเกื้อกูลเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่คนแท้จริง จะต้องสอดคล้องกับความจริง มิฉะนั้น ก็จะไม่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ได้แน่แท้ยั่งยืน

สิ่งที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่มนุษย์แท้จริง เรียกว่า เป็นความดีงาม

ความดีงาม จึงอยู่สอดคล้อง คือถูกต้องตามความจริง

ความจริง เป็นหลักยืนตัว ความดีงาม เป็นคุณค่าที่มนุษย์ต้องการ ความถูกต้องเป็นความสัมพันธ์ที่น่าพอใจ ระหว่างคุณค่าที่มนุษย์ต้องการ กับความจริงที่เป็นหลักยืนตัวนั้น

ที่ว่าผู้พิพากษาดำรงธรรมนั้น เราเน้นความหมายในแง่ของการรักษาความถูกต้อง ทำให้เกิดความถูกต้อง หรือพูดให้ตรงว่า ทำความถูกต้องให้ปรากฏ และความถูกต้องที่ว่านั้นก็ขึ้นอยู่กับความจริง แล้วความจริงและความถูกต้องนี้ก็พ่วงความดีงามมาด้วย

ถ้าไม่มีความจริง ไม่มีความถูกต้อง ความดีงามก็ไม่แท้ไม่จริง เหมือนอย่างที่คนหลอกลวงก็สามารถทำให้คนรู้สึกว่า เขาเป็นคนดีได้ แต่แล้วในเมื่อไม่ถูกต้อง ไม่ตรงความจริง พอขาดความจริงเท่านั้น ที่ว่าดีก็หมดความหมายไป กลายเป็นไม่ดี ดังนั้น ความจริงและความถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ทีนี้ ความจริงนั้น มีอยู่เป็นสภาวะของมันเอง หรือเป็นธรรมดาของธรรมชาติ และความถูกต้องก็อยู่กับความจริงนั้นด้วย แต่เมื่อเรื่องมาถึงคน หรือว่าเมื่อคนไปเกี่ยวข้องกับมัน ก็มีข้อผูกพันขึ้นมา ซึ่งทำให้คนเกิดมีเรื่องในภาคปฏิบัติว่า

๑.จะทำอย่างไร ให้ความจริงนั้นปรากฏขึ้นมา เพราะว่า บางทีความจริงมีอยู่ แต่ความจริงนั้นไม่ปรากฏ

๒.จะทำอย่างไร ให้คนดำรงอยู่ในความจริงนั้นได้ จะได้มีความถูกต้องที่จะตรึง หรือรักษาความดีงามไว้ และ

๓.จะทำอย่างไร ให้คนทำการได้ถูกต้องโดยสอดคล้องกับความจริงนั้น เพื่อให้คนอยู่กับความดีงาม ซึ่งเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเขา

นี่เป็นเรื่องใหญ่ทั้งนั้น ตอนนี้ก็จึงเหมือนกับว่า ในเรื่องธรรมนี้ เรามอง ๒ ด้าน คือ

หนึ่ง มองด้านความเป็นจริง หรือตัวสภาวะก่อนว่า ความจริงเป็นอย่างไร แล้วก็

.สอง บนฐานของความจริงนั้น มองว่า เราจะทำอย่างไรให้มนุษย์นี้ ดำเนินไปกับความจริงนั้น โดยอยู่กับความจริง แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริง

ต้องครบทั้ง ๒ ขั้น ขาดขั้นใดขั้นหนึ่งไม่ได้ ทั้งนั้น

บางทีเราจะเอาขั้นที่ ๒ คือ จะให้คนปฏิบัติถูกต้อง แต่เราไม่รู้ว่า ความจริง คือ อะไร มันก็ไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีหลักยันอยู่เป็น ๒ ด้าน คือ ด้านสภาวะที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ และด้านที่คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับความจริง

อย่างไรก็ตาม ตามที่ใช้กันอยู่นั้น "ความจริง" มีความหมายค่อนข้างหลวมๆ ไม่เคร่งครัดนัก คือไม่จำเป็นต้องถึงกับเป็นความจริงตามสภาวะของธรรมชาติ แต่รวมทั้งความจริงตามที่มนุษย์ตกลงยอมรับกันด้วย เช่น หลักการ และข้อที่ตกลงยึดถือกันมาเป็นพวกสมมติสัจจะต่างๆ ดังนั้น ความดีงาม ความถูกต้อง บางทีจึงวัดเพียงด้วยความสอดคล้องกับความจริงระดับนี้ก็มี

สำหรับ บุคคลทั่วไป เอาเพียงว่า ถ้ารักษาปฏิบัติทำความดีงาม ตามที่บอกกล่าวเล่าสอนกันมา ก็ใช้ได้ หรือนับว่าเพียงพอ เมื่ออยู่กับความดีงามแล้ว ก็ถือว่าดำรงความจริง และความถูกต้องพร้อมไปในตัวด้วย

แต่สำหรับผู้ทำหน้าที่ในการรักษาธรรมนั้น จะต้องเข้าถึงธรรมทั้งระบบ

เริ่มด้วยด้านหนึ่ง คือ ด้านความจริง และความจริงก็ต้องลงไปถึงความจริงตามสภาวะของธรรมชาติด้วย

ที่พูดไปแล้ว ก็เป็นระบบของธรรมนั่นเอง แต่ใช้ภาษาง่ายๆ และยังค่อนข้างจะหลวม ทีนี้ ก็จะเดินหน้าไปดูให้ถึงระบบของธรรมทั้งหมด ให้ชัดยิ่งขึ้นอีกที

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 20:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมเป็นกฎธรรมชาติ มีอยู่ของมันตามธรรมดา


ธรรม ในความหมายที่ ๑ ซึ่งเป็นความหมายหลัก เป็นพื้นฐาน ก็คือความจริง การที่เราศึกษาธรรมกัน ก็ศึกษาเพื่อหาเพื่อรู้ความจริงนี่แหละ คือทำอย่างไรจะรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงได้

ทางพระบอกว่า ความจริงมีอยู่ของมันตามธรรมดา อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ขอยกคำบาลีมาให้ดูว่า

อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ฐิตาว สา ธาตุ ธมฺมฏฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา...

แปล ว่า ตถาคต (คือพระพุทธเจ้า) ทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่อุบัติก็ตาม ธาตุ (สภาวะหรือหลักแห่งความจริง) นั้น คือ ความดำรงอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปแน่นอนแห่งธรรม ก็ตั้งอยู่อย่างนั้นเอง.....ตถาคตตรัสรู้ ค้นพบธาตุนั้น ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่าย ว่าดังนี้ๆ

ยกตัวอย่าง เช่น หลักไตรลักษณ์ คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด สิ่งทั้งหลายก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของมันอยู่อย่างนั้น แต่ มนุษย์ทั้งหลายไม่รู้ความจริงนี้ พระพุทธเจ้าได้พัฒนาปัญญาขึ้นมาจนกระทั่งได้รู้เข้าใจความจริงนั้น เรียกว่าตรัสรู้ หรือค้นพบแล้ว จึงทรงนำมาเปิดเผยแสดงอธิบาย

"ธรรม" ในความหมายที่ ๑ คือความจริงนั้น มีความหมายต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง จะเรียกว่าธรรมชาติ หรืออะไรก็ตาม ก็มีความจริงเป็นอย่างนั้น และมันก็เป็นไปตามความจริงนั้น เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย บางทีเราเรียกธรรมในความหมายนี้ว่า "กฎธรรมชาติ" (ที่ชาวบ้านใช้ "กฏแห่งกรรม" อันเดียวกัน แต่เข้าใจคลาดเคลื่อนจากของเดิมเค้า)

เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ และสิ่งทั้งหลายก็เป็นไปตามความจริงนั้น หรือตามกฎธรรมชาตินั้น เรื่องก็โยงมาถึงมนุษย์คือคนเรานี้ว่า เราก็ต้องการผลดีต่างๆ เช่นว่า เราต้องการให้ชีวิตของเราดี ตลอดไปถึงว่า เราต้องการให้สังคมของเราดี มีความเจริญมั่นคง อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข แต่การที่ชีวิตจะดี สังคมจะดี อะไรๆ จะดี ทุกอย่างนี้ ก็ต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงนั้น

ดังเช่น ความจริงมีอยู่อย่างหนึ่งว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุอย่างไรก็ทำให้เกิดผลอย่างนั้น ผลเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยของมัน เมื่อเราทำชีวิตให้ดี ทำสังคมให้ดี เราจะทำอย่างไร เราจะให้เกิดความเจริญงอกงาม ก็ทำหรือส่งเสริมเหตุปัจจัยนั้น และในทางตรงข้าม เหตุปัจจัยไหนจะทำให้เกิดความเสื่อมความเสียหาย ก็ป้องกันแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยนั้น

รวมความย้ำว่า เราก็ปฏิบัติจัดการไปตามความจริงนั้น โดยป้องกันแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลร้าย แล้วก็ไปทำหรือส่งเสริมเหตุปัจจัยที่จะนำมาซึ่งผลดี อันนี้ก็คือต้องปฏิบัติไปตามความจริง

ก็จึงเป็นอันว่า มนุษย์ต้องรู้ความจริง แล้วก็เอาความรู้ในความจริงมาใช้ประโยชน์ โดยนำมาปฏิบัติการให้เป็นไปตามความจริงนั้นแล้วก็จะได้ผลตามต้องการ

จากหลักความจริงนี้ จึงเป็นเหตุให้เราต้องพัฒนามนุษย์ คือให้มนุษย์ศึกษา (สิกขา) เพื่อจะได้รู้ความจริง และปฏิบัติได้ผลผลตามความจริงนั้น

"ธรรม" คือความจริง ที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ เวลาพระพุทธเจ้าตรัสธรรมะ พระองค์ทรงใช้คำว่า "แสดง" หมายความว่า ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ก็เอามาแสดง ให้คนทั้งหลายรู้ด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 20:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีที่พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัย คือ พระองค์ตรัสรู้ธรรม แล้วจึงบัญญัติวินัย

คนอยู่ในกำกับของกฎธรรมชาติ จะอยู่กันให้ดี ก็บัญญัติ "วินัย" เป็นกฎมนุษย์ขึ้นมา

ทีนี้ เราจะเอาความจริงนั้น มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เรา ต้องการให้สังคมของเราเป็นอย่างไร ต้องการให้ชีวิตของเราเป็นอย่างไร เรามองเห็นว่า อ้อ...ต้องทำอย่างนี้นะๆๆ ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเกิดผลดีขึ้นมา เราต้องการให้มีการปฏิบัติอย่างนั้น ซึ่งสอดคล้องกับความจริงในทางที่เกิดผลดี

พร้อมกันนั้น เราก็ไม่ต้องการให้เกิดการปฏิบัติตรงข้ามที่จะเป็นเหตุปัจจัยนำมาซึ่งความเสื่อม

ถึงตอนนี้ เราก็เลยอาจจะมาตกลงกัน หรือว่าใครมีอำนาจ หรือได้รับความเชื่อถือศรัทธา ก็มาพูดกัน บอกกันว่า เออ...พวกเรา เอาอย่างนี้นะ เพื่อให้สังคมของเราดี เพื่อให้ชีวิตของพวกเราดี เราทำกันอย่างนี้นะๆ เราละเว้น ไม่ทำอย่างนั้นๆนะ

แล้วก็ เพื่อให้แน่นอนมั่นใจว่าจะทำจะปฏิบัติกันจริงจังตามนั้น ก็วางลงไปเป็นกฎ เป็นกติกา เป็นระเบียบ ให้ยึดถือปฏิบัติกันในสังคมในครอบครัว จนกระทั่งในชีวิต ว่าต้องทำอย่างนี้ๆ ต้องไม่ทำอย่างนั้นๆ

ยิ่ง กว่านั้น ก็ยังสำทับให้หนักแน่นแม่นมั่นยิ่งขึ้นไปอีกว่า ถ้าขัดขืน หรือฝ่าฝืน ไม่ทำตาม หรือละเมิดข้นนั้นๆ สังคมคือคนด้วยกันนี้จะลงโทษอย่างนั้นๆ

(ตาม ความจริงของ กฎธรรมชาติ ก็จะเกิดผลร้าย ซึ่งเรียกเป็นบุคลาธิษฐานว่า ธรรมชาติจะลงโทษอยู่แล้ว แต่โทษตามธรรมชาตินั้น คนอาจจะไม่เห็นชัดเจน ไม่ทันใจ หรือซับซ้อนเกิดกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจ คนด้วยกันก็ลงโทษเสียเลยให้ได้ผลในทางปฏิบัติจนพอใจ)

อันนี้ก็เลยกลายเป็นการจัดตั้งวางแบบแผน ระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา ตลอดจนกฎหมายขึ้นมา

กฎกติกา ระเบียบ แบบแผน ตลอดจนกฎหมาย ที่จัดตั้งวางลงไปให้ถือปฏิบัติกันนี้ เรียกรวมๆ ตามภาษาพระเป็นคำเดียวว่า "วินัย"

ส่วนการกระทำในการจัดตั้งวาง หรือกำหนดลงไป เรียกว่า "บัญญัติ"

ก็จึงมี "วินัย" คือ กฎกติกา ข้อบังคับ ระเบียบ แบบแผน ฯลฯ ตลอดจนกฎหมาย ที่คนเรานี้เอง "บัญญัติ" ขึ้น คือจัดตั้งสั่งการหรือตกลงกันวางกำหนดหรือตราลงไว้

นี้ก็มาเข้าคู่กับ "ธรรม" คือความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ (หรือตามกฎธรรมชาติ) ที่เป็นของมันอย่างที่มันเป็นอยู่ และเป็นไปนั้น ซึ่งท่านรู้หรือค้นพบแล้ว ก็นำมา "เทศน์" คือ แสดง ให้รู้ให้เข้าใจกัน

รวม ความว่า เป็นเรื่องของคน หรือสังคมมนุษย์ที่มีการบัญญัติ กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมาย (วินัย) ขึ้นมา เพื่อจะให้ความจริงที่ มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ (ธรรม) นั้น เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมมนุษย์ หรือว่าเพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติให้สอดคล้องกับความจริงของธรรมดาในทางที่จะ เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตนเอง

ทีนี้ ในด้านของมนุษย์นั้น เมื่อจะให้สมความประสงค์ของตน ก็ต้อง จัดการให้มีหลักประกันที่จะให้ "วินัย" ได้ผลจริง ดังนั้น เมื่อบัญญัติกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย ฯลฯ ขึ้นมาแล้ว ก็จึงต้องพัฒนาระบบ กระบวน การ และมาตรการต่างๆ มากมายขึ้นมารับทอดต่อจากกฎหมาย เป็นต้น ที่ตนได้บัญญัติขึ้นนั้น จึงเกิดมีการบริหารการปกครองให้เป็นไปตาม กฎหมายที่ได้บัญญัติ ตลอดมาถึงกระบวนการพิจารณาตัดสินโทษ และการลงโทษผู้ที่ขัดขืน และผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นต้น ที่ได้บัญญัติเหล่านั้น

ระบบ กระบวนการ และมาตรการเหล่านี้ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของบัญญัติทั้ง หมด (อย่างที่ปัจจุบันจัดเป็น นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวม ทั้งกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น) ทางพระเรียกรวมคำเดียวว่า "วินัย"

ถึงตรงนี้ ก็เป็นอันได้มีคำคู่ว่า "ธรรมวินัย" ซึ่งประกอบด้วย

๑. ธรรม คือ ความจริงที่เป็นอยู่เป็นไปตามธรรมดาของธรรมชาติ

๒. วินัย คือ ข้อที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมาให้พวกตนปฏิบัติให้ถูกต้อง

แต่วินัยในภาษาไทย มีความหมายไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ จึงต้องขอให้ทำความเข้าใจให้ชัด โดยแยกออกจากความหมายในภาษาไทย (ในภาษาไทย วินัยมีความหมายแคบลงไปมาก)

ธรรม เป็นความจริง ที่เป็นอยู่เป็นไปตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้าจึงทรงเพียงนำมาแสดงตามที่มันเป็น แต่วินัยเป็นเรื่องที่ทรงจัดตั้ง วาง หรือตราขึ้นให้คนปฏิบัติ ศัพท์สำหรับวินัย ก็เลยเรียกว่า บัญญัติ

ใน ธรรมชาติมีธรรมอยู่เอง แต่คนบัญญัติวินัยขึ้นมา และ ๒ อย่าง นี้ ต้องสอดคล้องซึ่งกันและกัน คือ วินัยต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม

หมาย ความว่า คนต้องรู้ความจริงว่าเป็นอย่างไร แล้วบัญญัติกฎกติกาที่พวกตนจะต้องปฏิบัติให้ตรงตามความเป็นจริง เพื่อจะให้ได้ผลขึ้นมาตามความเป็นจริงนั้น

เมื่อจับหลักธรรม กับ วินัยได้แล้ว ก็จะมองเห็นว่า พระพุทธศาสนาทั้งหมดก็มีเท่านี้เอง

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงใช้คำเรียกพระศาสนาของพระองค์สั้นๆ ซึ่งเป็นคำสรุปพระพุทธศาสนาอยู่ในตัวว่า "ธรรมวินัย"

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 20:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รู้ธรรมยังไม่พอ จะจัดชีวิต-สังคมให้ดีจริง ก็ยังไม่ได้ หันไปจัดการกับธรรมชาติ ก็พลาดมาแทบพัง

ถ้ามนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจความจริงของธรรมชาติเพียงพอ เรียกว่า ปัญญาเข้าไม่ถึงความจริงนั้น ถึง แม้ว่า เขาจะต้องการผลดีโดยมีเจตนาดี เช่น ปรารถนาดี มีเมตตา เป็นต้น แก่สังคมของตน แล้วพยายามบัญญัติจัดตั้งวางกฎ กติกา ระเบียบ แบบแผนขึ้นมา ให้คนทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อบัญญัตินั้นไม่สอดคล้องกับความจริงแท้ มันก็คือความผิดพลาด แล้วก็ไม่ได้ผลจริง จึงต้องให้สองอย่าง นี้สัมพันธ์และสอดคล้องซึ่งกันและกัน

ตกลงว่า หนึ่ง ความจริง ที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ เรียกว่า "ธรรม" และ

สอง อาศัยความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้น มนุษย์เรานี้แหละ ก็มาบัญญัติจัด วางกติกา ระเบียบ แบบแผน ขึ้นในสังคม เพื่อให้ มนุษย์ปฏิบัติโดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น ในทางที่จะเกิดผลดีแก่ชีวิต และสังคมของตน เรียกว่า "วินัย"

พระ พุทธศาสนา ก็จึงมีหลักใหญ่อยู่ ๒ อย่างเท่านี้ แล้วก็เรียกพระพุทธศาสนาว่า "ธรรมวินัย" เท่านี้เอง เป็นชื่อที่สั้นที่สุด และเป็นชื่อเดิมด้วย

ส่วนคำว่า "พระพุทธศาสนา" เป็นคำที่ใช้กว้างๆ ซึ่งแต่เดิมนั้น ก็หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นด้านหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งระบบของพระพุทธศาสนา และก็มองภาพรวมได้ไม่ชัด ไม่เหมือนคำว่า พระธรรมวินัย

เพราะฉะนั้น สำหรับพระเวลาใช้คำที่เป็นทางการหรือเป็นหลักฐาน ก็จะใช้คำว่าพระธรรม วินัย ซึ่งชี้ตรงไปที่ตัวหลักเลย และเห็นกันชัดออกมาเลยว่ามี ๒ อย่างนี้นะ มารวมกันเป็นหนึ่ง

ทั้งที่มี ๒ อย่าง แต่เวลาเรียกรวมกันว่าพระธรรมวินัยนี่ ท่านใช้เป็นคำเอกพจน์ คือ ๒ อย่าง รวมกันแล้วกลายเป็นหน่วยอันหนึ่งอันเดียว

เหมือนอย่างชีวิตเรานี้ ที่มีรูป กับ นาม เวลารวมกันแล้ว ท่านเรียกว่า นามรูป เป็นชีวิตอันหนึ่งอันเดียวหน่วยเดียว ประกอบด้วยด้านนาม กับ ด้านรูป หรือด้านร่างกาย กับ ด้านจิตใจ แต่คำที่เรียกรวมกันนั้น เป็นคำเอกพจน์ นี่คือ นามรูปเป็นหน่วยรวม อันเดียวคือชีวิต เหมือนกับธรรมวินัยเป็นหน่วยรวมอันเดียว คือ พระพุทธศาสนา

ที่ว่ามานี้ เป็นหลักการใหญ่ ที่เหมือนกับเป็นเครื่องเตือนใจเราว่า มนุษย์จะต้องพยายามเข้าถึงความจริงอยู่เสมอ การบัญญัติ จัดตั้ง วางและเปลี่ยนแปลง ระเบียบ แบบแผน กฎเกณฑ์ ต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับความจริง เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทั้งลึกลงไปในธรรมชาติที่เป็นพื้นฐาน และในสังคมที่อยู่บนฐานของธรรมชาติ


ความ เป็นจริงในธรรมชาติ เป็น ความเป็นจริงพื้นฐาน จะพูดว่า ความจริงในชีวิตและในสังคมมนุษย์ ตั้งอยู่บนฐานของความจริงของธรรมชาติ หรือว่าชีวิตและสังคมต้องเป็น ไปตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ก็ถูกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงหนีไม่พ้นว่า ถ้ามนุษย์จะให้ชีวิตและสังคมของตนอยู่ดีมีสุข ได้ มนุษย์ก็ต้องพยายามเข้าให้ถึงความจริงของธรรมชาติ หรือธรรมดานี้

อาการ เป็นไปที่เป็นความจริงของธรรมชาตินั้น มอง รวมๆ แล้ว ก็เป็นระเบียบ เป็นระบบ ซึ่งมนุษย์ที่ต้องการจะเป็นอยู่ให้ดีและทำอะไรให้ได้ผล ก็ต้องทำให้เป็นระเบียบ เป็นระบบตามนั้น ตั้งแต่จะกิน จะทำงาน จะนอนไปตามวันเวลาที่ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ โคจร ต้องทำการกสิกรรมไปให้ถูกลำดับและระบบของฤดูกาล เป็นต้น

เพื่อจะ เป็นอยู่ให้ดีและทำอะไรได้ผลยิ่งขึ้น มนุษย์ที่ฉลาดก็มาพยายามคิด บัญญัติจัดตั้งวางระเบียบระบบชีวิตและสังคมของตน มากขึ้นๆ

อย่าง ไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ ถ้าเราไม่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติแล้วบัญญัติจัดตั้งวางระเบียบระบบของ ชีวิตของสังคมให้สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้นแล้ว กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมายอะไรต่างๆนั้น ก็เป็นไปได้ยากที่จะได้ผลดี ที่แท้ก็คือ มันจะไม่สำเร็จผลจริง

แม้ในยุคอุตสาหกรรม ที่มนุษย์มุ่งจะเอาชนะธรรมชาติ จะไม่ยอมขึ้นต่อธรรมชาติ ก็ยังต้องรู้ความจริงธรรมชาติในด้านที่จะเอาชนะนั้นให้มากที่สุด และต้องทำให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติในเรื่องนั้น

เพียงแต่ว่า นั่นเป็นการพยายามรู้ด้วยท่าทีแบบศัตรู หรือเป็นปฏิปักษ์ คือใช้วิธีล้วงความลับ เพื่อเอาความจริงของศัตรูมาใช้จัดการมัน โดยทำตามความจริงนั้นแหละ แต่ทำในทางที่ย้อนทางหรือยักเยื้องให้เข้ากับความต้องการของตน (เหมือนคนเอาความรู้เกี่ยวกับการไหลของน้ำมาใช้ทำเขื่อนกั้นน้ำ)

แม้ จะประสบความสำเร็จไม่น้อย แต่ปัญหาก็มักเกิดขึ้น เพราะมนุษย์รู้ความจริงในเรื่องนั้นไม่เพียงพอ หรือรู้ครบถ้วนเฉพาะในเรื่องนั้นด้านนั้น แต่ไม่รู้ไปถึงเหตุปัจจัยข้างเคียงที่สัมพันธ์โยงต่ออกไป คือ ระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยในสิ่งทั้งหลาย ที่โยงกันทั่วตลอด (ระบบปัจจยาการ)

ดังนั้น บ่อยครั้ง แม้จะได้ผลที่ต้องการแล้ว แต่พร้อมนั้น หรือบางครั้งทีหลังจากนั้น เร็วบ้าง ช้าบ้าง ก็เกิดผลพ่วงอย่างอื่นตามมา ที่มักไม่ได้คาดคิด ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องร้ายแรง ทำให้ผลดีที่ได้มานั้นไม่คุ้มกัน อย่างปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ที่นับวันดูจะยิ่งรุนแรงจนแทบไม่เห็นทางแก้

เรื่องเบี่ยงเบนและ ข้างเคียงจะไม่พูดมาก พูดแค่รวมๆว่า แม้จะก้าวหน้าในการพิชิตธรรมชาติมามากมายจนบัดนี้ มนุษย์ก็ยังเอาชนะธรรมชาติไม่ได้ แต่ตรงข้าม มนุษย์ได้เริ่มเปลี่ยนท่าทีหันมาขออยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 20:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สังเกตความหมายเจตนา

ปัญญาก็ต้องรู้ชัดแจ้งตรงความจริง เจตนาก็ต้องตั้งถูกต้องตรงความดี

กลับไปพูดเรื่องการที่มนุษย์จะบัญญัติจัดตั้งวางระบบชีวิต และสังคมของตนให้ได้ผลดี รวมแล้ว มีข้อสำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. ปัญญา ที่รู้จริง คือ ต้องมีปัญญารู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ รู้ธรรมชาติตามที่มันเป็นของ มัน หรือรู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น อันเป็นความรู้ขั้นที่ ่๑ เรียก สั้นๆว่า รู้ธรรม

๒. ปัญญา ที่รู้จัด คือ ปัญญา ที่ ทำให้สามารถนำเอาความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้น มาดำเนินการจัดสรร สังคมมนุษย์ ตั้งต้นแต่การดำเนินชีวิต ให้ได้ผลดี ด้วยการบัญญัติจัดตั้ง วางกฎกติกาบนฐานแห่งความจริงของธรรมชาตินั้น เป็นความรู้ขั้นที่ ่๒ ที่ อาศัยปัญญา เรียกสั้นๆว่า รู้วินัย

พระพุทธเจ้าที่ทรงเป็นบุคคลพิเศษ ก็เพราะมีปัญญาทั้ง ๒ ด้าน เชื่อมต่อโยงทอดกันเป็น ๒ ขั้น คือ

๑. มีปัญญา รู้สภาวธรรม (หรือสัจธรรม) คือความจริงของธรรมชาติ หรือความจริงที่ดำรงอยู่ตามธรรมดา

๒. มีปัญญา รู้วินัยบัญญัติ (หรือบัญญัติธรรม) คือรู้จักบัญญัติ จัดตั้งวางระเบียบระบบต่างๆ ที่จะ ช่วยให้คนอื่น หรือให้หมู่ชนจำนวนมาก พัฒนาชีวิตพัฒนาตัวขึ้นมาจนเข้า ถึงความจริงแห่งธรรมเหมือนกับพระองค์ได้ เช่น ตั้งสังฆะ บัญญัติวินัย ให้มีวัด วางระบบการฝึกการศึกษาสั่งสอนเผยแผ่ธรรมให้ได้ผล

เมื่อมีปัญญาความรู้ความสามารถครบทั้ง ๒ ขั้นนี้ จึงเป็นพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า สัมมาสัมพุทธได้

ถ้า มีแค่ปัญญารู้ความจริงของธรรมชาติ รู้แล้วก็เกิดผลต่อตนเอง คือรู้ เข้าใจความจริง ทำให้จิตใจของตนหยุดพ้นเป็นอิสระ แต่ขาดความสามารถที่ จะไปสอนคนอื่น ที่จะไปจัดตั้งวางแบบแผนจัดสรรชุมชนให้คนหมู่ใหญ่ได้ ประโยชน์ด้วย ได้ประโยชน์เฉพาะแก่ตัวเอง ก็เรียกว่าเป็นพระปัจเจกพุทธะ

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปัญญา ๒ ระดับ คือ ระดับรู้ธรรม กับ ระดับบัญญัติวินัยนี้ เป็นเครื่องเตือนใจมนุษย์อย่างที่กล่าวแล้วว่าขั้น แรก เราจะต้องพยายามเข้าถึงความจริงของธรรมชาติอยู่เสมอ มิฉะนั้น การจัดตั้งวางระบบระเบียบแบบแผนในสังคมมนุษย์ ก็จะไม่สอดคล้องเข้า กันกับความจริงของธรรมชาติ ซึ่งก็คือรวมไปถึงความจริงที่เป็นไปในชีวิตและ สังคมของเราเองด้วย แล้วการบัญญัติจัดตั้งนั้นก็จะเอาคืนแท้จริงไปได้

อย่าง ไรก็ตาม คนเรานี้ เมื่อจะทำอะไรก็ตาม ไม่ใช่จะมีเพียงความรู้ ที่ใช้ในการทำการนั้นเท่านั้น แต่เรามีความคำนึ่งถึงจุดหมายที่ตนต้องการ และ "ตั้งใจ" ที่จะให้การกระทำของตนเกิดผลลุถึงจุดหมายนั้นด้วย

สำหรับท่านที่มีปัญญา เข้าถึงความจริงถ่องแท้ และมีปัญญารู้ว่าควรหรือ จะต้องทำอะไรให้เป็นอย่างไร และจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไรแล้ว ใจก็ เพียงตั้งไปตามความรู้นั้น ทำเหตุปัจจัยที่ความรู้บอกให้ตรงไปตรง มา ความตั้งใจก็จึงไม่บทบาทพิเศษอะไร

แต่มนุษย์ทั่วไป ที่เรียกว่าปุถุชนนั้น นอกจากปัญหาว่า เขามีปัญญาที่รู้ความจริงถ่องแท้หรือไม่แล้ว ก็ยังมีปัญหาที่ความตั้งใจอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาที่ความตั้งใจนี้แหละมักเป็นเรื่องใหญ่ยิ่ง จนบางทีทำให้ลืมมองเรื่องความรู้ไปเลย ทั้งที่ตัวแท้ของเรื่องมีแต่ปัญญาเท่านั้น

ปัญหาเกี่ยวกับความ "ตั้งใจ" ของปุถุชนนั้น โยงไปถึงปัญหา ความต้องการ คือ เขามีความ ต้องของเขาเอง อาจจะเป็นความต้องการเพื่อตัวเขาเองบ้าง เพื่อคนหรือ เพื่อพวกของเขาบ้าง เพื่อข้ามเพื่อขัดหรือกั้นคนอื่นพวกอื่นบ้าง เป็นต้น ซึ่งทำให้เขาตั้งใจทำการไปเป็นไปตามความต้องการนั้น ดี บ้าง ร้ายบ้าง ไม่ใช่แค่ตรงไปตรงมาตามความรู้

ความ "ตั้งใจ" ของคนทั่วไปนี้ มีชื่อเฉพาะว่า เจตนา หรือเจตจำนง การกระทำของมนุษย์ทั้งหลาย ก็มาจากเจตนา และรวมศูนย์อยู่ที่เจตนานี้แหละ

การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนานั้น ท่านเรียกว่า "กรรม"

จะ เป็นกรรมที่ออกมาทางกาย หรือพูดออกมาทางวาจา ก็ตาม ก็เริ่มต้นด้วยการคิดข้างในใจ โดยมีความตั้งใจที่เรียกว่าเจตนานี้ ดังนั้น เมื่อเรียกแบบรวมตลอดทั้งกระบวน ก็บอกว่า เจตนานั่นเอง เป็นกรรม

กรรม หรือลึกลงไปคือเจตนานี้ เป็นธรรมชาติหน่วย สำคัญในตัวมนุษย์ เป็นปัจจัยตัวแปรที่มนุษย์นำตัวเข้าไปร่วมผันแผกกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยใน ธรรมชาติทั้งหมด

ถึงตอนนี้ เมื่อพูดถึงกระบวนการบัญญัติจัดตั้งในสังคมมนุษย์และกล่าวถึงองค์ประกอบที่ เกี่ยวข้องให้ครบ ก็จึงต้องพูดว่า มี ๒ อย่าง คือ

๑. ปัญญา ที่รู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แยกเป็น ๒ ขั้น

ก) ปัญญา ที่รู้จริง (หรือรู้แจ้ง) หยั่งเห็นธรรมชาติตามที่มันเป็นจริง เช่น ระบบและกระบวนความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัยในสิ่งทั้งหลาย

ข) ปัญญา ที่รู้จัด มองเห็นว่าจะจัดสรรดำเนินให้ระบบ และกระบวนแห่งปัจจยาการนั้น เป็นไปในทางที่จะเกิดผลดี เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์นี้ ได้อย่างไร

๒. เจตนา คือ ความตั้งใจในการกระทำ ที่จะให้เป็นไปเพื่อผลที่พึงเกิดพึงมีพึงเป็นตามที่ปัญญารู้ตรงไปตรงมา อย่างบริสุทธิ์ หรือเพื่อสนองความต้องการของตน ที่ดีหรือร้าย อย่างใดอย่างหนึ่ง

พึงระลึกไว้เสมอว่า ในชีวิตประจำวันและสังคมมนุษย์นี้ เจตนาเป็นเจ้า บทบาทใหญ่ โดยมนุษย์ คือ โลกแห่งเจตจำนง และเป็นไปตามกระบวนของเตจำนง คือ กรรม

เจต จำนงเป็นแกนนำของอารยธรรม มนุษย์สร้างอารยธรรมทั้งหมดขึ้นด้วยเจต จำนง หรือพูดให้เต็มว่า เจตนาอาศัยปัญญาสร้างอารยธรรมขึ้นมา (คำพระว่า โลกอันจิตนำไป เป็นไปตามกรรม)

เจตนาหรือเจตจำนงนั้นกำกับและครอบคลุมเรื่องจริยธรรม (ที่จะพูดต่อไป) และเรื่องบัญญัติธรรมทั้งหมด

จะ ต้องตระหนักไว้อย่างแม่นใจว่า เจตจำนงหรือเจตนานี้ ก็เป็นธรรมชาตินั่นเอง มันเป็นธรรมชาติในตัวมนุษย์ เช่นเดียวกับปัญญา เป็นต้น ทีพามนุษย์เข้าไปเป็นส่วนร่วมอันสำคัญในปัจจยาการ คือ กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ

เอาละเป็นอันว่า เมื่อมองไปที่พระพุทธเจ้า เราได้หลักใหญ่ คือ

๑. มีปัญญา ที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

๒. มีปัญญา ที่จะจัดตั้งจัดการให้มนุษย์ได้รับผลดี บนฐานของความเป็นจริงนั้น

จะต้องพยายามให้การกระทำของเราสำเร็จผล ด้วยปัญญาสองขั้น ที่บริสุทธิ์ตรงไปตรงมาอย่างนี้


เป็น ธรรมดาว่า มนุษย์ที่ดำเนินชีวิตและทำการทางสังคมกันอยู่นี้ ก็ต้องทำต้องดำเนินไปตามความจริงของกฎธรรมชาติ ในเรื่องเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ทั้งนั้น แต่จะทำด้วยความรู้ ตรงความจริง หรือไม่ แล้วก็ได้ผลหรือไม่ได้ผลไปตามเหตุปัจจัยเท่าที่รู้และทำหรือไม่ทำอย่างไร นั้น

ถ้ารู้ธรรม ชัดเจนสว่างแจ้ง ก็รู้ว่าอย่างไรดีงามเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ชีวิต และสังคมแท้จริง ก็ทำตามเจตนาให้ตรงที่จะเกิดผลดีนั้น

ถ้าไม่รู้หรือรู้ไม่พอ ก็ทำไม่ได้ตรงความจริง หรือพอจะรู้ แต่ตั้งใจ ทำไม่ให้ตรงที่จะดี ก็เลยทำไม่ตรงธรรม คือ ไม่ตรงความจริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 20:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บัญญัติจะดีได้ ปัญญาก็ต้องเต็ม เจตนาก็ต้องตรง

ที นี้ พอเราเข้ามาดูความเป็นไปในขั้นที่เป็นเรื่องราวเป็นกิจการของสังคมมนุษย์ ตั้งแต่งานนิติบัญญัติ เป็นต้นไป จะเห็นว่าถึงกับมีบุคคล ผู้ทำหน้าที่ในเรื่องนี้ทีเดียว คือ มีผู้เป็นเจ้าการใหญ่ ที่ต้องพิจารณาว่า ทำอย่างไรจะจัดตั้งวางตรา ระเบียบ แบบแผน บทบัญญัติ กฎหมาย ที่เป็นกติกาของสังคมขึ้นมา ให้เกิดผลดีแก่สังคมประเทศชาติได้

ถึงตอนนี้ เราต้องบอกว่า ผู้ที่จะเป็นนักนิติบัญญัตินั้น

หนึ่ง จะต้องมีปัญญา ทั้งปัญญาที่รู้ความจริง และปัญญาที่จะสามารถมาจัดตั้งวางระเบียบแบบแผนให้แก่สังคม

แค่ข้อหนึ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก มันเป็นตัววัดเบื้องแรก เริ่มด้วยบอกว่า คนที่จะมาเป็นนักนิติบัญญัติ ที่ดี ทำงานได้สำเร็จนั้น ต้องมีปัญญารู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ ตั้งต้นแต่ความต้องการของชีวิตมนุษย์ ต้องรู้ว่าชีวิตมนุษย์ที่เป็นอยู่ดีคืออย่างไร ชีวิตมนุษย์ควรจะเป็นอย่างไร ชีวิตมีจุดหมายเพื่ออะไร สังคมที่ดีเป็นอย่างไร ตามที่เป็นจริง โดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ อะไรต่างๆเหล่านี้

แค่ปัญญา ที่รู้ความจริงในขั้นตามที่มันเป็นของธรรมชาตินี้ บุคคลที่จะเป็นนักนิติบัญญัติได้จริง ก็จะต้องเป็นมนุษย์ที่ล้ำเลิศทีเดียว แต่ก็จำเป็นต้องเลิศอย่างนั้น มิฉะนั้น จะมาจัดตั้งวางระบบระเบียบแบบแผนให้เกิดผลดีที่พึงหมายให้แก่สังคมได้อย่าง ไร ในเมื่อตัวเอง ก็ไม่รู้จริงว่า อะไรเป็นของดี

แล้วไม่แค่ นั้น ยังต้องรู้ต่อไปอีกว่า ทำอย่างไร จะให้เกิดผลดีที่ต้องการนั้น เหตุปัจจัยมันเป็นอย่างไร และจะทำเหตุปัจจัยนั้นๆให้เกิดผลได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่มาก จึงพูดได้เลยว่า ถ้าปัญญาไม่ถึงขั้นอย่างพระพุทธเจ้า จะมาวางแบบแผนนิติบัญญัติให้สังคมดี ย่อมเป็นไปได้ยาก

จึงต้องตั้งอุคมคติไว้เลยว่า คนที่จะมาทำงานหรือดำเนินการให้เรื่องนิติบัญญัตินี้ได้ จะต้องมี ทั้งปัญญาที่เข้าถึงความจริงอย่างที่ว่าแล้ว และปัญญาที่จะมาจัดตั้งวางระบบ ต้องเก่งกาจด้วยทั้ง ๒ ขั้น

แต่ มิใช่เท่านั้น สอง ยังมีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่ในตัวมนุษย์ที่จะต้องจัดการอย่างสำคัญ คือ เจตนา ที่เป็นตัวกำหนดในเรื่องจริยธรรม

พอมาถึงขั้นจัดทำดำเนินการของมนุษย์ ปัญญาก็มาประสาน กับ เจตนา หรือเจตจำนงนี้เพิ่มเข้ามาอีกตัวหนึ่ง

แน่ละ เจตนาของมนุษย์ ผู้จะวางระเบียบแบบแผน หรือกติกาบุคคล และกติกาสังคม ก็ต้องมุ่งเพื่อจุดหมายที่ดีแน่นอนอยู่แล้ว คือ เพื่อให้ชีวิตดี ให้คนทั้งหลายอยู่กันด้วยดี มีความสัมพันธ์ที่ดีไม่เบียดเบียน ซึ่งกันและกัน ให้สังคมดี เจริญมั่นคง พัฒนาอย่างดี มีความสงบสุข อะไรต่างๆเหล่านี้

เจตนาที่ว่านี้ จะต้องมีอยู่อย่างแนบแน่ว กับ จุดมุ่งหมาย เป็นความมุ่งมั่นที่แรงกล้า เด็ดเดี่ยว อยู่ในใจของผู้ที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติ ในการจัดตั้งวางระเบียบ ตรากฎหมาย กำหนดกติกาสังคม โดยมีใจที่ตั้งมั่นในเมตตาการุณยธรรม มีความปรารถนาดีต่อชีวิตและสังคม ใฝ่สร้างสรรค์อย่างจริงใจ

เจตนา นี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเข้ามาสู่แดนที่บอกแล้ว ว่าเราเรียกกันถือกันเป็นจริยธรรม ครอบคลุมมาถึงบัญญัติธรรม

เป็น อันว่า ต่อจากข้อที่หนึ่ง คือ ปัญญา ก็ต้องมีเป็นหลักใหญ่ ก็มาถึงข้อสอง คือต้องมีเจตนาดี ที่ประกอบด้วยคุณธรรม มีเมตตา กรุณา เป็นต้น ที่บริสุทธิ์สะอาด ไม่มีความปรารถนาที่เห็นแก่ตน เช่น ไม่มีความโลภที่จะหาผลประโยชน์ให้แก่ตน ไม่มีโทสะที่จะขัดเคืองคิดมุ่งร้ายจะหาทางทำลายหรือกลั่นแกล้งใคร ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นแอบแฝงใดๆ

นี้คือองค์ประกอบจำเป็น อันขาดมิได้ ซึ่งนักนิติบัญญัติต้องมีอย่างแน่นอน หนึ่ง ปัญญาที่เข้าถึงความจริง ทั้งสองขั้น แล้วก็ สอง เจตนาที่เที่ยงตรง บริสุทธิ์ สะอาด

ถ้าอย่างนี้ ก็จะได้ผลดีที่สุดในการบัญญัติจัดตั้งวางกำหนดระเบียบแบบแผนกฎกติกาให้แก่สังคม ก็แค่ ๒ ตัวเท่านั้นเอง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 20:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญญาที่ใสสว่าง & เจตนาที่ใสสะอาด ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต้องยึดเป็นสำคัญตลอดไป


ก่อนหน้า เราพูดถึงหลักใหญ่ ๒ อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย ตอนนี้เรามาถึงคุณสมบัติในตัวคนที่จะจัดกิจดำเนินการ ก็มี ๒ อย่าง คือ ปัญญา กับ เจตนา

สองตัวนี้ เอาไปใช้เป็นมาตรฐานวัดเรื่องของมนุษย์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าในกิจการอะไรทั้งสิ้น คือ หนึ่ง ต้องมีปัญญารู้ความจริง สอง ต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์

เจตนาที่บริสุทธิ์ คือ ตั้งใจดี ประกอบด้วยคุณธรรม มุ่งเพื่อจุดหมายที่แท้ เพื่อผลที่ดี ม่งมั่นปรารถนาดี จะเรียกว่ามีอุดมคติ หรือมีอุดมการณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็อยู่ในเรื่องเจตนานี่ทั้งหมด

นี่แหละสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะไปทำอะไร ก็ต้องมีให้ครบสองอย่าง

ถึงจะมีปัญญา แต่ถ้าเจตนาไม่ดี ทั้งที่มีความรู้ความเข้าใจเห็นความจริง แต่เจตนามีโลภะ จะเอาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเจตนาประกอบด้วยโทสะ คิดจะประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือประกอบด้วยความหลง เป็นต้น การจัดการในเรื่องนิติบัญญัติ ก็เสียหายไม่ถูกต้อง

ถึงจะมีเจตนาดี บริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าไร้ปัญญา ก็ผิดพลาดเสียหาย อาจเกิดผลร้ายโดยไม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างน้อยก็ไม่สำเร็จผล

จึงต้องให้ปัญญาที่สว่าง กับ เจตนาที่สะอาด มาร่วมประสานบรรจบกัน

ตอนนี้ก็จึงเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาว่า เราจะทำอย่างไร ที่จะให้บุคคลผู้เข้าสู่แดนของเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่การบัญญัติกฎหมาย คือขั้นนิติบัญญัตินั้น มีปัญญาและเจตนาที่ดีที่สุด

ถึงผู้ทำงานด้านอื่น ที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมาย ก็จะต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกันทั้งนั้น

ดังที่รู้กันดี ส่วนประกอบหรืออำนาจสำคัญ ๓ ประการ ของรัฐ จะเป็นนิติบัญญัติ หรือบริหาร หรือตุลาการ ก็อยู่กับเรื่องของกฎกติกาสังคมนี่เอง

เริ่มที่ฝายนิติบัญญัติก็มาตกลงกัน ใช้ความรู้ที่ถึงธรรมถึงความจริงแท้ มาบัญญัติจัดตั้ง วางระเบียบแบบแผนกฎกติกาขึ้นไว้ ด้วยเจตนาที่ดี ที่บริสุทธิ์โปร่งใสสุจริต เพื่อธรรมเพื่อความดีงามเพื่อประโยชน์สุขที่แท้

แล้วทีนี้ ครั้นถึงฝ่ายบริหาร ก็มาปฏิบัติจัดกิจดำเนินการตามระบบระเบียบแบบแผนกฎกติกานั้น ทำให้การทั้งหลายในรัฐเป็นไปตามกฎกติกา เช่น กฎหมายที่ตั้งไว้ โดยจะต้องประกอบด้วยปัญญาที่ใสสว่าง และมีเจตนาที่บริสุทธิ์ใสสะอาดเช่นเดียวกัน

แล้วก็มาถึงขั้นสุดท้าย ที่ฝ่ายตุลาการจะวินิจฉัยตัดสินกรณี ละเมิดฝ่าฝืนผิดพลาดคลาดเคลื่อนขัดแย้ง ให้คดีความทั้งหลายยุติลงได้ตามกติกา เช่น ตามกฎหมายที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเกิดความวิปลาสคลาดเคลื่อน หรือแม้แต่เคลือบแคลงสงสัยขึ้น ณ ที่ไหนจุดใด แม้แต่ในขั้นนิติบัญญัติ หรือในขั้นของฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ก็อาจวินิฉัยตัดสิน ทำให้ข้อสะดุดขัดแย้งระงับลง เหมือนพยุงยกการทั้งหลายให้กลับเข้าไปอยู่ในที่ตั้งอันถูกต้องชอบธรรม ทั้งนี้ ฝ่ายตุลาการนั้น ก็จะต้องประกอบด้วยปัญญาที่ใสสว่าง และมีเจตนาที่ใสสะอาดเช่นเดียวกัน


เรื่องปัญญารู้ความจริง ที่อยู่ในแดนของสภาวธรรมหรือสัจธรรม ก็ได้พูดมาเป็นหลักพอแล้ว ทีนี้ เรื่องเจตนา ที่บอกแล้วว่าเข้ามาในแดนของจริยธรรม และบัญญัติธรรม ก็แน่นอนว่ามีเรื่องที่จะถกเถียงกันให้ได้ความที่ชัดเจนมากขึ้นต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2016, 20:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แทรก

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเพศใดภาวะใด การกระทำที่นึกขึ้นภายหลัง แล้วต้องเสียใจนั้นควรเว้นเสีย เพราะฉะนั้น แม้จะประสบความทุกข์ยากลำบากสักปานใด ก็ต้องไม่ทิ้งธรรม มนุษย์ที่ยังมีอาสวะอยู่ในใจนั้น ย่อมจะมีวันพลั้งเผลอประพฤติผิดธรรมไปบ้าง เพราะยังมีสติไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อได้สติภายหลังแล้ว ก็ต้องตั้งใจประพฤติธรรมสั่งสมความดีกันใหม่ ยิ่งพวกเรานักบวชด้วยแล้ว จำเป็นต้องมีอุดมคติ การตายด้วยอุดมคตินั้น มีค่ากว่าการเป็นอยู่โดยไร้อุดมคติ"

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 43 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 80 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร