วันเวลาปัจจุบัน 28 เม.ย. 2024, 09:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2014, 23:06 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๑ ไตรสิกขา ข้อสีลสิกขา
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
(เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
ตรัสสอนให้ตั้งใจศึกษา ไตรสิกขา
บัดนี้ จะกล่าว ไตรสิกขา อันต่อจากคำสอนอนุศาสน์
๘ ประการ เป็นคำสอนที่มีต่อหลัง
จากอุปสมบทเสร็จ ที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระบัญญัติ
ไว้ให้อุปัชฌายอาจารย์รีบบอก เพื่อให้ภิกษุผู้บวชใหม่
ได้ทราบถึง นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔
และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ทรงเพิ่มไตรสิกขา คือให้บอกไตรสิกขาด้วย ซึ่ง
ในคำบอกไตรสิกขานั้น ก็มีใจความว่า พระ
ผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้เห็น ได้ตรัสบอกไตรสิกขาไว้
โดยปริยายคือทางเป็นอันมากว่า พึงศึกษา
อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ตราบเท่า
จะได้ละกิเลส บรรลุถึงนิพพานคือความดับทุกข์
และสีลสิกขาก็อบรมจิตตสิกขา
จิตตสิกขาก็อบรมปัญญาสิกขา
ปัญญาสิกขาก็อบรมจิตให้หลุดพ้นจาก อาสวะ
คือกิเลสที่ดองจิตสันดาน ได้แก่ กามาสวะ
อาสวะคือกาม ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็นนั่นเป็นนี่
อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ความไม่รู้จักสัจจะที่
เป็นตัวความจริง เพราะฉะนั้น ก็ให้ตั้งใจศึกษาในสิกขา
ทั้ง ๓ นี้ ไตรสิกขาดังกล่าวมานี้
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเติม
เข้ามาท้ายอนุศาสน์ทั้ง ๘ ข้อ คือ นิสสัย ๔ อกรณียกิจ
๔ เพราะฉะนั้น จึงจะได้เริ่มอธิบายไตรสิกขานี้ก่อน
จะว่าด้วยคำว่า “สิกขา”
ปฏิบัติไตรสิกขาเพื่อความสิ้นกิเลส
คำว่า สิกขา นี้เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตว่า ศิกษา ใช้
เป็นภาษาไทยว่า ศึกษา ความหมายของคำนี้ก็คือ เมื่อยัง
ไม่รู้ก็เรียนให้รู้ เมื่อเรียนให้รู้
แล้วก็ปฏิบัติไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย
คำว่าศึกษาจึงมีความหมายถึงการเรียน อัน
จะเรียกว่าเป็นภาคทฤษฏีก็ได้ และการปฏิบัติรวมกัน
ไม่ใช่การเรียนอย่างเดียว ดังที่มักใช้พูดกันอยู่
ในภาษาไทย และการปฏิบัตินั้นก็หมาย
ถึงการปฏิบัติเรื่อยไป จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย
จึงจะเรียกว่าสำเร็จการศึกษา
และก็เรียกว่าเสร็จกิจ คือเสร็จการที่
จะพึงกระทำ หรือข้อที่จะพึงกระทำต่อไป
และเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนานั้นก็คือ นิพพาน
อันหมายถึงธัมมะเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น
ซึ่งตามศัพท์นั้นแปลว่า ธัมมะที่ออกจากวานะ
อันแปลว่า กิเลสเป็นเครื่องเสียบแทง กิเลส
เป็นเครื่องร้อยรัด ออกจากวานะ คือสิ้นกิเลส
เป็นเครื่องเสียบแทง สิ้นกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด
และคำว่า วานะ นี้ แปลว่า ลูกศร ก็ได้ ลูกศรที่
เป็นอาวุธที่ใช้ยิงศัตรูหรือสิ่งที่ต้องการยิง
เป็นสิ่งที่มีปลายแหลมคม เสียบแทงศัตรูให้สิ้นชีวิต
ได้ เมื่อถูกที่สำคัญ มาใช้ในทางศาสนาก็หมายถึง
เป็นลูกศรที่เสียบแทงจิตใจ อันหมาย
ถึงกิเลสที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหลาย
เป็นต้นว่า ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก การปฏิบัติ
ในไตรสิกขาจึงมีเป้าหมายสูงสุด สำหรับที่
จะถอนลูกศรคือตัณหาที่เสียบแทงหัวใจนี้
ให้หลุดออก ที่เรียกว่าสิ้นกิเลส
เมื่อสิ้นกิเลสก็สิ้นทุกข์ เป็นจุดเป้าหมายสูงสุด
ในพุทธศาสนา
เป้าหมายของการบวช
และการบวชนี้
ชั้นเดิมมุ่งบวชเพื่อปฏิบัติถอนตัณหานี้ออกจากจิตใจ
บรรลุถึงนิพพาน อันเป็นธัมมะที่
ไม่มีเครื่องเสียบแทงหัวใจดังกล่าว
ในครั้งโบราณมา
ในคำกล่าวขออุปสมบทที่บัดนี้เราขึ้นด้วย เอสาหํ
ภนฺเต จึงได้มีคำว่า นิพฺพาน สจฺฉิกรณตฺถาย
เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ก็คือให้
ถึงภาวะที่ถอนตัณหาที่เสียบแทงหัวใจออก คือสิ้นกิเลส
และกองทุกข์นั้นเอง แต่การบวชในชั้นหลังนี้
ได้มุ่งหวังเพียงเพื่อบวชเรียนให้รู้และปฏิบัติ
สำหรับที่จะครองชีวิตอย่างเป็นสุขในโลก เพราะว่า
ความมุ่งหมายของผู้นับถือพระพุทธศาสนานั้น ก็มี
ผู้ที่มุ่งหมายอย่างสูงสุดและมีผู้ที่มุ่งหมายเพื่อเรียน
เพื่อปฏิบัติ เพียงเพื่อให้อยู่เป็นสุขในโลก และ
ผู้ที่มุ่งหมายประการหลังนี้มีจำนวนมาก
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสั่งสอนผ่อนลงมา
จากที่ทรงสั่งสอนในชั้นแรก ซึ่งโดยมากก็เพื่อ
ให้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดดังกล่าว อันเรียกว่า
ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่ง
ทรงสอนผ่อนลงมาเป็นเพื่อประโยชน์ปัจจุบันบ้าง
เพื่อประโยชน์ภายหน้าบ้าง เพราะฉะนั้น
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจึงจัดได้เป็น ๓ ระดับ
ตั้งแต่เบื้องต่ำขึ้นไปจนถึงสูงสุด
ก็คือเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน อันเรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถ
เพื่อประโยชน์ภายหน้าอันเรียกว่า สัมปรายิกัตถ
และเพื่อประโยชน์อย่างยิ่งคือนิพพาน อันเรียกว่า
ปรมัตถ และได้ทรงแสดงคำสั่งสอนไว้โดยปริยาย
คือทางเป็นอันมาก เพื่อให้บรรลุ
ถึงประโยชน์ดังกล่าว และเมื่อแสดงโดยสรุป
ก็อาจสรุปเข้าในสิกขาทั้ง ๓ เมื่อ
เป็นการสอนเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน
ประโยชน์ภายหน้าก็เป็นสิกขาหรือศึกษาธรรมดา
ถ้าเพื่อประโยชน์อย่างยิ่งอันเป็นปรมัตถดังกล่าว
ก็เรียกว่า อธิสิกขา หรือ อธิศึกษา ที่แปลว่า
ศึกษาอย่างยิ่ง และก็ประมวลเข้าโดยย่อก็คือ ๓
ข้อนี่แหละ คือ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ถ้า
เป็นอย่างยิ่งก็เป็น อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา
อธิปัญญาสิกขา แต่ว่าเมื่อสอนภิกษุโดยมากแล้ว ก็สอน
เป็นอย่างยิ่ง คือที่เป็น อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา
อธิปัญญาสิกขา
สีลสิกขา การศึกษาในศีล
เพราะฉะนั้น ก็จะได้อธิบาย
ในข้อแรกที่เรียกอย่างสามัญว่า สีลสิกขา
อันแปลว่า ข้อที่พึงศึกษาคือศีล แปลว่า การศึกษา
ในศีล ก็หมายความว่า ศีลเป็นข้อที่พึงศึกษา ที่นับว่า
เป็นประการที่ ๑ และการที่เล่าเรียนปฏิบัติ
ในศีลอันเป็นข้อที่พึงศึกษาข้อที่หนึ่งนั้น
ก็เรียกว่าการศึกษาในศีล ศีลนั้นก็เป็นภาษาบาลี
มักจะแปลกันตามศัพท์ว่าปกติ เหมือนดังที่พูดว่า
เป็นปกติธรรมดา แต่โดยความหมายนั้น ศีลก็หมาย
ถึงการปฏิบัติที่เว้นจากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม
ทำตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
ในพระวินัยบัญญัติ คือ
ในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้ นี้
เป็นหลักสำคัญของคำว่าศีล และก็มีทั้งที่เป็น
อาคาริยะ กับ อนาคาริยะ อาคาริยศีล
ก็คือศีลสำหรับผู้ที่ครองเรือน ก็ปฏิบัติตาม
อาคาริยวินัย คือวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติ
ไว้สำหรับผู้ครองเรือน เช่นว่าทรงบัญญัติไว้ ๕
ประการ ก็เรียกว่าศีล ๕ ทรงบัญญัติไว้ ๘
ประการ ก็เรียกว่าศีล ๘ ส่วนอนาคาริยะนั้นก็คือ
อนาคาริยศีล ศีลสำหรับผู้ที่ไม่มีเรือน อันหมาย
ถึงบรรพชิตคือผู้บวช ออกจากเรือนมาเป็นผู้
ไม่มีเรือน ก็ปฏิบัติตาม อนาคาริยวินัย
คือวินัยที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับผู้ไม่มีเรือนคือ
บรรพชิต แบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ ๒ หมวด คือ ที่เป็น
อาทิพรหมจริยกาสิกขา สิกขาวินัยที่
เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ก็ได้แก่สิกขาบทที่มีมา
ในพระปาติโมกข์ บัดนี้ก็มี ๒๒๗ สิกขาบท ที่อ่าน
ในเวลาหลังทำวัตรค่ำ กับ อภิสมาจาริวินัย หรือ
อภิสมาจาริกาสิกขา สิกขาที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับ
เป็นข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อความดีงามต่างๆ
อันควรแก่สมณวิสัย ที่มาในขันธกะทั้งหลาย
มีจำนวนมากที่อ่านในเวลาเช้าหลังทำวัตรเช้า
เพราะฉะนั้น ศีลที่
เป็นหลักก็คือการปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติตามที่กล่าวมา
ปาริสุทธิศีล ๔
และยังได้มีศีลที่ท่านแสดงเอาไว้ประกอบเข้ามา
รวมทั้งข้อที่ปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติดังกล่าวนี้อีก
๓ ข้อ รวมเป็น ๔ ข้อ เรียกว่า ปาริสุทธิศีล ๔ คือ
ศีลที่พึงปฏิบัติให้บริสุทธิ์ ๔ ข้อ ได้แก่
๑. ปาติโมกข์สังวรศีล ศีลคือความสำรวม
ในพระปาติโมกข์ ก็ได้แก่ศีลที่เกิดจากการปฏิบัติ
ด้วยความสำรวม คือความระมัดระวังในอันที่จะเว้น
และในอันที่จะปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติที่มา
ในพระปาติโมกข์ อันหมายถึง
อาทิพรหมจริยกาสิกขา คือวินัยที่
เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ดังกล่าวมาข้างต้น
ท่านใช้คำว่า ปาติโมกข์ คู่กับคำว่า
อาทิพรหมจริยกาสิกขา มีความหมาย
ถึงสิกขาบทบัญญัติอันสำคัญ
เพราะคำว่าอาทิพรหมจริยกา แปลว่า
เบื้องต้นของพรหมจรรย์ หรือ
เป็นหัวหน้าของพรหมจรรย์ก็ได้ และคำว่า
ปาติโมกข์ ก็แปลว่า สิกขาบทที่รักษาผู้สังวร รักษา
ให้พ้นจากทุกข์มีอบายเป็นต้น เพราะฉะนั้น คำทั้ง ๒ นี้
จึงมีความหมายถึงสิกขาบทบัญญัติที่เป็นข้อสำคัญ
๒. อินทรียสังวรศีล ศีลคือความสำรวมอินทรีย์
อันได้แก่มีสติสำรวมใจในเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง
จมูกได้ทราบกลิ่น ลิ้นได้ทราบรส กายได้ถูก
ต้องโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และมโนคือใจ ได้คิด
ได้รู้ธรรมคือเรื่องราวทางใจ ก็เท่า
กับว่ามีสติรักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนคือใจ
นั้นเอง โดยที่ทั้ง ๖ นี้เรียกว่า อินทรีย์ คือเป็นใหญ่
ในหน้าที่ของตน ตาเป็นใหญ่ในหน้าที่ดูเห็นรูป หูเป็น
ใหญ่ในหน้าที่ฟังได้ยินเสียง จมูกเป็นใหญ่
ในหน้าที่ทราบกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในหน้าที่ทราบรส
กายเป็นใหญ่ในหน้าที่ถูกต้องโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูก
ต้อง มโนคือใจ เป็นใหญ่ใน ๕ ข้อข้างต้นนั้นด้วย และ
เป็นใหญ่ในการรู้คิดธรรมคือเรื่องราวต่างๆ ด้วย
เพราะฉะนั้น เมื่อมีสติสำรวม คือระมัดระวังใจ
เมื่อตาเห็นรูปเป็นต้น โดยที่มีสติป้องกันใจ ไม่
ให้ยึดถือสิ่งที่ตาเห็นเป็นต้นนั้น เข้ามาเป็น
ความยินดียินร้ายในใจ ให้เห็นสักแต่ว่าเห็น
ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยินเป็นต้น ไม่ให้เป็นกิเลสไหล
เข้ามาถึงใจ มาท่วมใจ ความที่มีสติคอยสำรวมระวัง
อยู่ดั่งนี้ เรียกว่า อินทรียสังวรศีล
๓. อาชีวปาริสุทธิศีล ศีลอันเกิดจากการเลี้ยงชีวิต
ให้บริสุทธิ์ เช่นด้วยการที่เที่ยวบิณฑบาต
รับอาหารที่เขาใส่บาตรมาบริโภค
หรือบริโภคอาหารที่เป็นอดิเรกลาภ เช่นที่
เขานำมาถวายแก่สงฆ์แล้วก็แบ่งกันโดยที่ไม่เที่ยวขอ
เขา หรือแสวงหาในทางที่ผิดต่างๆ การเลี้ยงชีวิต
ให้บริสุทธิ์ดั่งนี้ก็ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิศีล
๔. ปัจจัยสันนิสสิตศีล ศีลที่อาศัยปัจจัย ก็หมาย
ถึงพิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ ที่บริโภค คือ พิจารณาจีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ ยาแก้ไข ที่บริโภค
ตามบทพิจารณาดังที่สวดในเวลาเช้า ปฏิสงฺขา
โยนิโส .... และแม้ว่าในขณะที่บริโภคไม่
ได้พิจารณา ก็ให้พิจารณาในวันนั้นถึงสิ่งที่
ได้บริโภคไปแล้ว ด้วยบท อชฺช มฺยา .... ที่สวด
ในเวลาทำวัตรค่ำ ท่านแสดงว่า เมื่อบริโภคมิ
ได้พิจารณา และไม่ได้พิจารณาสิ่งที่บริโภคแล้ว
ในวันนั้น การบริโภคนั้นก็ชื่อว่า อิณบริโภค
คือบริโภคเป็นหนี้ แต่ว่าเมื่อได้พิจารณาบริโภค
หรือว่าไม่ได้พิจารณา ก็พิจารณาภายหลังในวันนั้น
ก็ชื่อว่าเป็นการบริโภคที่เป็นปัจจัยสันนิสสิตศีล ไม่
ใช่เป็นการบริโภคหนี้
เพราะฉะนั้น ผู้มุ่งปฏิบัติในศีล ก็ควรปฏิบัติในศีลทั้ง
๔ ข้อนี้ด้วยกัน คือ ปาติโมกขสังวรศีล
อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล และ
ปัจจัยสันนิสสิตศีล หัดปฏิบัติให้ศีลทั้ง ๔ นี้บริสุทธิ์
อยู่เสมอ
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 12:18 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๒ จิตตสิกขา
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
จิตตสิกขา การศึกษาในจิต
จะแสดง จิตตสิกขา คือสมาธิ เพราะว่าสมาธิเกี่ยวแก่จิต
โดยตรง ต้องปฏิบัติทางจิต ฉะนั้น จึงได้เรียกว่า
จิตตสิกขา
คำว่า “จิต” นี้ มีความหมายเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งจิตที่
เป็นธาตุรู้อันเป็นตัวเดิม ไม่มีสรีรสัณฐาน อาศัยอยู่
ในกายนี้ เรียกว่า จิต ที่แปลว่า ธรรมชาติที่
ให้สำเร็จความคิดนึก อีกอย่างหนึ่งจิตที่เป็นอาการ
เรียกว่าความคิด การอบรมจิตเรียกว่า จิตตภาวนา
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปฏิบัติทางจิตไว้เป็นอันมาก
เช่นตรัสสอนว่า ให้อบรมจิต ให้ฝึกจิต ให้ข่มจิต
ให้ทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้ทำจิตให้บริสุทธิ์
การปฏิบัติทางจิตที่พระพุทธเจ้าอบรมไว้นี้
เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าจิตนี้เมื่อเรียกควบกันกับกาย
กายก็เปรียบเหมือนเรือ
จิตก็เปรียบเหมือนอย่างบุคคลผู้ที่แจวเรือ
หรืออีกอย่างหนึ่ง กายเปรียบเหมือนอย่างบ่าว
จิตเหมือนอย่างนาย จิตจึงเป็นผู้ที่สั่งให้กายปฏิบัติอย่าง
ใดอย่างหนึ่ง จิตจึงเป็นผู้นำ แม้ในการปฏิบัติทางศีล
ซึ่งเกี่ยวแก่การปฏิบัติทางกายทางวาจาเป็นที่ตั้ง
ดังศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้
เป็นวินัยสำหรับปฏิบัติ การละเมิดศีล
ไม่เกิดขึ้นลำพังทางจิต
ต้องละเมิดออกไปทางกายทางวาจา จึงจะ
เป็นการละเมิดพระวินัยบัญญัติ เพราะฉะนั้น
การปฏิบัติทางวินัยบัญญัติ เมื่อ
ไม่ละเมิดทางกายทางวาจา ก็ไม่เป็นอาบัติ แม้ว่า
จะละเมิดทางใจ คือใจคิดล่วงละเมิด อาบัติก็
ยังไม้เกิด ต่อเมื่อไปทำไปพูดขึ้น ผิด
จากพระวินัยบัญญัติจึงเป็นอาบัติ ได้มีภิกษุรูปหนึ่ง
ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ไม่สามารถจะ
อยู่ปฏิบัติพระวินัยได้ เพราะว่ามีมากมาย
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามว่า เธอจะสามารถรักษา
ไว้เพียงข้อเดียวได้ไหม ภิกษุรูปนั้นก็กราบทูลว่า
ถ้าข้อเดียวได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นก็
ให้เธอรักษาจิตของเธอ
เมื่อรักษาจิตของเธออย่างเดียวได้
ก็รักษาวินัยบัญญัติทุกข้อไว้ได้” ภิกษุ
นั้นก็ปฏิบัติรักษาจิต จึงได้รักษาวินัยได้ และบวช
อยู่ต่อไปได้ เจริญในพระธรรมวินัยต่อไป
เพราะฉะนั้น การรักษาจิตจึงเป็นข้อสำคัญ
เมื่อรักษาจิตได้ แม้ว่าวินัยบัญญัติจะมากข้อก็รักษาได้
และรักษาปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ นั้นได้
ในข้อนี้ควรจะทราบเพิ่มเติมอีกด้วยว่า
การปฏิบัติพระวินัยไม่ละเมิดทางกายทางวาจา
ตามพระบัญญัติก็ไม่เป็นอาบัติ แม้จะละเมิด
ด้วยใจอย่างเดียว อาบัติก็ยังไม่เกิด แต่แม้เช่นนั้นศีลก็
ไม่บริสุทธิ์ เพราะศีลที่จะบริสุทธิ์นั้นต้องรักษาให้
ได้ถึงใจ คือใจก็ต้องไม่คิดล่วงละเมิดด้วย มีใจ
เป็นปกติ สงบ ไม่คิดละเมิด ศีลจึงจะบริสุทธิ์
เพราะฉะนั้น แม้จะรักษาวินัยได้ บริสุทธิ์ทางวินัย
เพราะไม่ละเมิดทางกายทางวาจา แต่ว่า
ถ้าละเมิดทางใจ ถึงจะไม่เป็นอาบัติทางพระวินัย ก็เป็น
ความไม่บริสุทธิ์ทางใจ เมื่อไม่บริสุทธิ์ทางใจ ศีลก็
ไม่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ศีลนี้จึงมีความหมาย
ถึงจิตใจ คือต้องรักษาถึงจิตใจ รักษากายวาจา
ให้บริสุทธิ์ด้วย และรักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วย
ศีลจึงจะบริสุทธิ์ ปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ ข้อนี้ ก็
ต้องรักษาให้ถึงใจ ให้ใจบริสุทธิ์ ไม่คิดล่วงละเมิด
ศีลจึงมีความหมายถึงใจดั่งนี้ และก็มีความหมายถึงว่า
เมื่อรักษาจิตได้ ก็รักษาศีลทุกข้อได้โดยไม่ยาก
นิวรณ์ ๕
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกสิกขาข้อที่ ๒
ว่า จิตตสิกขา ข้อที่พึงศึกษาคือจิต หรือการศึกษา
ในจิต ก็คือการที่มาปฏิบัติอบรมจิตให้สงบจาก
ความคิดล่วงละเมิดในศีลต่างๆ ให้สงบ
จากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสต่างๆ ที่เป็นตัว
นิวรณ์ คือบังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ กั้นจิตใจไว้ให้ไม่
ได้สมาธิ ให้ไม่ได้ปัญญา
พระพุทธเจ้าตรัสนิวรณ์ดังกล่าวนี้ไว้ ๕ ข้อ คือ
๑. กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม
คือวัตถุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย
หรือว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ที่น่ารักใคร่พอใจทั้งหลาย หรือความพอใจ
ด้วยอำนาจของ กิเลสกาม กิเลสอันเป็นเหตุให้ใคร่
ให้ปรารถนา เป็นต้นว่าราคะ ความติดใจยินดี
๒. พยาบาท ความกระทบกระทั่งของจิต มีอาการ
เป็นความหงุดหงิดเดือดพล่าน โกรธแค้นขัดเคืองจน
ถึงมุ่งร้ายหมายทำลาย
๓. ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย
นิวรณ์ทั้ง ๕ เกิดจากอารมณ์
จิตเมื่อมีนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ ย่อมเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง
เป็นจิตที่อ่อนแอ ไม่ควรแก่การงาน คือไม่สามารถที่
จะทำการงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ได้ โดยเฉพาะคือ
ไม่สามารถที่จะทำการงานที่เรียกว่า
สมถกรรมฐาน ที่ตั้งของการงานคือสมถะ
คือการปฏิบัติทำจิตให้สงบ อันหมายถึงสมาธิรวมอยู่
ด้วย คือทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐาน
ทั้งหลาย และนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ก็เกิดขึ้นจากอารมณ์
คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่น
ถึง อันเป็นเรื่องที่เข้ามาทางตา คือตาเห็น จิตรับ
เป็นอารมณ์ อันเรียกว่า รูปารมณ์
อารมณ์คือรูปบ้าง เข้ามาทางหูคือเสียง จิตรับเข้ามา
เป็นอารมณ์ อันเรียกว่า สัททารมณ์
อารมณ์คือเสียงบ้าง ที่เข้ามาทางจมูกคือกลิ่น จิตรับ
เข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า คันธารมณ์
อารมณ์คือกลิ่นบ้าง ที่เข้ามาทางลิ้นคือรส จิตรับ
เข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า รสารมณ์
อารมณ์คือรสบ้าง ที่เข้ามาทางกายคือโผฏฐัพพะ
สิ่งที่กายถูกต้อง จิตรับเข้ามาเป็นอารมณ์ อันเรียกว่า
โผฏฐัพพารมณ์ บ้าง เป็นอารมณ์คือธัมมะ
คือเรื่องราวที่เข้ามาทางมโนคือใจ จิตรับเข้ามา
เป็นอารมณ์ อันเรียกว่า ธัมมารมณ์
อารมณ์คือเรื่องราวบ้าง อารมณ์ที่จิตรับ
เข้ามาเหล่านี้เอง ที่เป็นที่ตั้งของนิวรณ์ข้อไหน
ก็เกิดนิวรณ์ข้อนั้น ย่อเข้าก็เป็น ๓ คือเป็น ราคะ โทสะ
โมหะ หรือ โลภะ โทสะ โมหะ อารมณ์ที่
เป็นที่ตั้งของราคะ ก็เกิดราคะหรือกามฉันท์
อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของโทสะ ก็เกิดโทสะคือพยาบาท
หรือกุกกุจจะ ความรำคาญใจ อารมณ์อัน
เป็นที่ตั้งของโมหะ ก็เกิดโมหะ ความหลง อันได้แก่
อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ ความรำคาญใจ
วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย กุกกุจจะ คือ
ความรำคาญใจนี้ อาจารย์ท่านจัดเข้าเป็นกองโทสะก็มี
จัดเข้าเป็นกองโมหะคือความหลงก็มี
กำจัดนิวรณ์ด้วยการตั้งจิตในอารมณ์อันตรง
กันข้าม
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ทำสมาธิ
คือหัดทำจิตให้สงบตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว อัน
เป็นอารมณ์ทางกรรมฐาน คือ
เป็นอารมณ์ของทางสมถกรรมฐาน กรรมฐานที่
ให้เกิดสมถะ คือความสงบ ยกจิตจากอารมณ์อัน
เป็นที่ตั้งของกิเลส มาตั้งอยู่ในอารมณ์อัน
เป็นที่ตั้งของสมถะคือความสงบ และอารมณ์อัน
เป็นที่ตั้งของสมถะคือความสงบนั้น
พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติเลือกหาอารมณ์ที่
เป็นปฏิปักษ์กับนิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนั้น เหมือนอย่างแพทย์
ให้ยาให้เหมาะแก่โรค นิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อ
นั้นก็เหมือนอย่างว่าเป็นโรค ๕ ชนิด ก็จะต้องใช้ยา ๕
อย่างสำหรับแก้ไข เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติสมาธิ
นั้น จึงต้องรู้นิวรณ์ที่บังเกิดขึ้น
ในใจของตนว่าข้อไหนบังเกิดขึ้น เช่น กามฉันท์
ความพอใจรักใคร่ในกามบังเกิดขึ้น ก็ให้ถอนใจ
จากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกามฉันท์นั้น มาให้จิตตั้งอยู่
ในอารมณ์อันตรงกันข้าม เช่นว่ากำหนดพิจารณาผม
ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่อุปัชฌาย์บอกให้เมื่อขอบวชนั้น ว่า
เป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาดและไม่งดงาม ไม่
ใช่คิดเอาเองว่าไม่สะอาด ไม่งดงาม แต่ว่า
ความจริงของผม ขน เล็บ ฟัน หนังนั้น ไม่สะอาด
ไม่งดงามอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่
เพราะบุคคลหลงยึดถือว่างดงาม ว่าสะอาด จึง
ได้ปรุงใจให้เกิดกามฉันท์คือความพอใจรักใคร่
เพราะฉะนั้น ก็พิจารณากลับตรงกันข้ามตามความ
เป็นจริง ว่าเป็นของไม่สะอาด ไม่งดงาม จนจิตสงบ
ก็เรียกว่าได้กรรมฐานในข้อนี้
เมื่อพยาบาทบังเกิดขึ้น ก็ให้เจริญ เมตตา
คือคิดปรารถนาให้เป็นสุข ซึ่งตรงกันข้ามกับ
ความคิดโกรธแค้นขัดเคืองมุงหมายล้างผลาญ
เมื่อปลูกเมตตาให้บังเกิดขึ้นในจิตได้
โทสะพยาบาทก็สงบ ก็เป็นกรรมฐาน
เมื่อถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบังเกิดขึ้น ก็
ให้เจริญ พุทธานุสสติ ระลึก
ถึงคุณของพระพุทธเจ้า ทำจิตให้เบิกบานผ่องใส
เลื่อมใสในพระคุณ หรือว่าทำ อาโลกสัญญา
ความสำคัญหมายในความสว่าง ทำจิตใจให้สว่าง
หรือว่าทำจิตใจให้เข้มแข็ง ปรารภความเพียร
แม้ว่าจะต้องฝืนใจ ก็ต้องฝืนใจให้จิตมีความเข้มแข็ง มี
ความเพียร เริ่มจับความเพียร ดำเนินความเพียร
ทำความเพียรให้ก้าวหน้าไปในกิจที่พึงทำ
และเมื่อทำจิตให้เข้มแข็ง ปรารภความเพียรได้
ทำจิตให้สว่างได้ ทำจิตให้เลื่อมใสผ่องใสได้
ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มก็สงบ ก็เป็นกรรมฐาน
เมื่อความฟุ้งซ่านรำคาญใจบังเกิดขึ้น ก็
ให้กำหนดทำกรรมฐานที่รวมใจเข้ามาให้สงบ
ไม่ฟุ้งซ่าน เช่นทำ อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจ
เข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้
ให้จิตรวมอยู่ที่ลมหายใจ ก็จะทำจิตให้สงบได้ ก็
เป็นกรรมฐาน
เมื่อความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ บังเกิดขึ้น ถ้าเป็น
ผู้ที่ศึกษาหาความรู้ก็ต้องศึกษาหาความรู้
ค้นคว้าแก้ข้อสงสัยในข้อที่พึงสงสัยต่างๆ แต่ถ้าเป็น
ความสงสัยเคลือบแคลงในขณะที่ต้องการ
จะปฏิบัติทำใจให้สงบ หรือในข้อที่ไม่ควรสงสัยต่างๆ
ก็ให้เจริญ ธาตุกรรมฐาน
พิจารณากายนี้แยกธาตุออกไป ว่าส่วนที่แข้นแข็งก็เป็น
ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ส่วนที่เหลวก็เป็น อาโปธาตุ ธาตุน้ำ
ส่วนที่อบอุ่นก็เป็น เตโชธาตุ ธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เป็น
วาโยธาตุ ธาตุลม สักแต่ว่าเป็นธาตุ ไม่
ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ความ
เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานั้น
เป็นสมมติบัญญัติสำหรับเรียกกัน และคนทั่วไปก็
ยังมีอุปทาน ความยึดถือ ว่าเป็นตัวเราของเราอยู่
ในสมมติบัญญัติเหล่านี้ด้วย เมื่อมีตัวเราของเราขึ้น
ก็ตัวเราของเรานี่เองเป็นที่ตั้งของความสงสัยต่างๆ
เพราะฉะนั้น เมื่อมาพิจารณาสิ่งที่เป็นที่ตั้งของ
ความยึดถือ สิ่งที่เป็นที่ตั้งของบัญญัติ สมมติต่างๆ
ว่าตัวเรา ของเรา แยกออกไปที่กายนี้ ว่า
เป็นสักแต่ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้น
ธาตุสัญญา ปรากฏขึ้น คือ
ความสำคัญหมายว่าธาตุปรากฏขึ้น อัตตสัญญา
ความสำคัญหมายว่าตัวตนก็หายไป
ความสงสัยเคลือบแคลงที่อาศัย
ความยึดถือว่าตัวเราของเราก็หายไปด้วย ก็สงบ
เป็นกรรมฐาน
ปฏิบัติให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
นี้
เป็นการปฏิบัติทางสมาธิที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอา
ไว้ ให้ดูปัจจุบันและจิตของตัวเอง ว่าจิตปัจจุบันของตัว
เป็นอย่างไรในข้อใดข้อหนึ่งใน ๕ ข้อนี้ ก็
ใช้กรรมฐานที่เหมาะกันนั้น มาพิจารณาแก้
ให้นิวรณ์ข้อนั้นๆ สงบ จิตก็จะสงบตั้งมั่น จะอ่านหนังสือ
จะเรียนหนังสือ จะทำการทำงานอะไรก็สะดวก
จะปฏิบัติทางปัญญาต่อไปก็ได้สะดวก และเมื่อกล่าว
โดยสรุปแล้ว ที่ชื่อว่าสมาธินั้นคือ จิตเตกัคคตา
แยกออกเป็น จิตตะ ก็คือจิต เอกัคคตา ก็คือ
ความที่มีอารมณ์อันเดียว รวมกันเป็น จิตตเอกัคคตา
หรือ จิตเตกัคคตา ก็คือความที่มีจิตมีอารมณ์
เป็นอันเดียว มียอดเป็นอันเดียว มีอารมณ์เป็นอันเดียว
เพราะจิตนี้โดยปกติมีอารมณ์มาก พล่านไป
ในอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาทางตา ทางหู เป็นต้น
มากมายหลายเรื่องสลับซับซ้อนกันจิตจึงพร่า
และเมื่อประกอบกับกิเลสต่างๆ เข้าด้วย บังเกิด
เป็นนิวรณ์ดังกล่าวแล้วก็ยิ่งวุ่นวายหนักเข้า
เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวชัง เดี๋ยวหลง เดี๋ยวง่วง เดี๋ยวฟุ้งซ่าน
เดี๋ยวสงสัย เป็นอันว่าไม่ได้ความสงบ เมื่อไม่ได้
ความสงบ จิตก็ไม่มีกำลังที่จะปฏิบัติการงาน เรียกว่า
ไม่ควรแก่การงาน แม้การงานที่เป็นธรรมดา เช่น
จะไหว้พระสวดมนต์ จะฟัง จะเรียน จะอ่านเป็นต้น ก็
ไม่สำเร็จด้วยดี ต่อเมื่อได้สงบจิตจากอารมณ์
และกิเลสที่เป็นนิวรณ์เหล่านี้ได้ จิตก็มี
ความสงบตั้งมั่น มีกำลัง สามารถทำการงานได้ดี
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติทำสมาธิ คือ
การที่มาตั้งจิตมั่น
ในอารมณ์ของกรรมฐานสำหรับแก้นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้
จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่เสมอ ดังจะพึงเห็นได้เช่นว่า
จะมาฟังโอวาทของอุปัชฌาย์นี้ บางทีก็ไม่อยากจะมา
เกิดง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ก็ต้องระงับ
ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มเสีย ตั้งความเพียรขึ้นในใจว่า
ต้องมา ก็ทำให้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนั้นสงบ ก็มาได้
หรือในขณะที่ฟังอยู่ ก็ง่วงงุนเคลิบเคลิ้มขึ้นมา ก็
ต้องตั้งจิตใจให้มีความเพียร เข้มแข็งขึ้นมา ไม่ยอมง่วง
หรือทำจิตใจให้สว่าง ทำจิตใจให้มีความผ่องใส
ในธรรม ให้มีความเข้าใจในธรรม ง่วงก็หายไป
หรือมีความเคลือบแคลงสงสัย ถ้ามัวสงสัยอยู่
ในข้อที่กล่าวไว้ทีแรก ก็ไม่ฟังในข้อที่กำลัง
จะกล่าวต่อไป ก็เป็นอันว่าไม่ได้ความเข้าใจตลอด ก็
ต้องเก็บความสงสัยนั้นไว้ก่อนฟังต่อไปก่อนให้ตลอด
แล้วอะไรสงสัยก็มาคิดแก้ไขกันใหม่ หรือถ้าเกิด
ความสงสัยนอกเรื่องออกไป ก็ต้องสงบเสีย ว่าไม่
ใช่เวลาที่จะมาสงสัยในนอกเรื่อง เวลามาฟังก็ต้องฟัง
ก็แปลว่าในขณะที่กำลังฟังนี้ ก็ต้องทำกรรมฐาน
ทำสมาธิ ระงับกามฉันท์ ระงับพยาบาท
ระงับถีนมิทธะ ระงับอุทธัจจกุกกุจจะ ระงับวิจิกิจฉา
จิตใจจึงจะสงบตั้งมั่น เรียกว่ามีสมาธิในการฟัง
เมื่อมีสมาธิในการฟังแล้ว ก็ฟังได้ตลอด ฟัง
ได้ยินทุกคำ แล้วจะมีความเข้าใจ นี่
เป็นสมาธิที่กล่าวอย่างง่ายๆ ที่จะต้องปฏิบัติอยู่
เป็นประจำ อันจะทำจิตให้มีความสามารถ ทำจิตใจนี้
ให้ควรแก่การงาน อันนี้แหละเป็น จิตตสิกขา
ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ให้ปฏิบัติเป็นประการที่

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 12:22 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๓ ปัญญาสิกขา
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
ปัญญาสิกขา ศึกษาปัญญา
จะแสดง ปัญญาสิกขา สิกขาหรือศึกษาปัญญา
ปัญญานั้น แปลว่า ความรู้ทั่ว อันหมายความว่า
ความรู้ทั่วถึงเหตุและผล รู้เหตุถึงผล รู้ผล
ถึงเหตุ ตามสัจจะคือความจริง เมื่อมีความรู้ดังกล่าว
ในสิ่งใด ก็ชื่อว่ามีปัญญาในสิ่งนั้น แต่ถ้าเป็น
ความรู้หลง รู้ผิด คือไม่ใช่ความรู้จริง ก็
ไม่เรียกว่าปัญญา แต่ก็มีคำเรียกรู้ถูกต้องว่า
สัมมัปปัญญา ปัญญาชอบ ส่วนรู้ผิด รู้หลง เรียกว่า
มิจฉาปัญญา หรือ มิจฉัปปัญญา ปัญญาผิด
ก็แปลว่าเมื่อแยกเรียกดั่งนี้ ปัญญาก็เป็นคำกลางๆ
แต่ว่าอีกอย่างหนึ่ง ต้องเป็นความรู้ถูกต้องจึงเป็นปัญญา
หรือสัมมัปปัญญานั้นเอง จึงเป็นปัญญา ถ้าไม่
ใช่สัมมัปปัญญา เป็นมิจฉัปปัญญา ปัญญาผิด ก็
ไม่เรียกว่าปัญญา แต่เป็นความรู้หลง รู้ผิด เพราะ
นั้น เมื่อเรียกว่าปัญญาโดยทั่วไป จึงมุ่งถึงในทางดี
อันหมายถึงว่ารู้ถูกต้อง ดั่งที่อธิบายไว้ข้างต้นว่า รู้ทั่ว
ถึงเหตุผลตามสัจจะคือตามที่เป็นจริง คำว่าตามที่
เป็นจริงนั้น เรียกว่าตามสัจจะคือความจริงอย่างนั้นก็
ได้ หรือเรียกอีกอย่างหนี่งว่า ยถาภูตะ ตามที่เป็น
แล้วตามที่มีแล้ว คือว่ามีแล้วเป็นแล้วอย่างไร
ก็รู้อย่างนั้น ไม่ใช่รู้ผิดไปจากที่มีแล้วที่เป็นแล้ว พูด
กันสั้นๆ ก็รู้ตามเป็นจริง ปัญญาดั่งกล่าวนี้เป็นสิกขา
คือเป็นข้อที่พึงศึกษา อันหมายความว่าเรียน
ให้รู้จักปัญญาที่เป็นตัวปัญญาดังกล่าวนั้น
เป็นอย่างไรและก็ปฏิบัติให้ปัญญาดังกล่าวนี้มีขึ้น
เป็นขึ้น
ความรู้ทางอายตนะ ไม่เรียกว่าเป็นปัญญา
ความรู้ที่เกิดทางอายตนะ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก
ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจ ดั่งที่ทุกๆ คน
ได้เห็นอะไร ก็รู้สิ่งที่เห็นนั้นทางตา
เช่นเห็นต้นไม้ก็รู้ว่านี่ต้นไม้ เห็นภูเขาก็รู้ว่านี่ภูเขา
ดั่งที่ทุกคนเมื่อลืมตาขึ้นมาก็เห็นนั่นเห็นนี่อยู่ด้วยกัน
ก็เรียกว่าเป็นความรู้ทางตา ได้ยินเสียงก็รู้ทางหู
เป็นเสียงนั้นเสียงนี้ หรือว่ารู้เสียงที่พูดจากันเป็นภาษา
ก็รู้เรื่องที่พูดจากันนั้น หรือใช้ภาษามาเขียน
เป็นอักษรขึ้นใช้อ่าน เมื่ออ่านภาษาก็รู้ว่าเป็นเรื่อง
นั้นเรื่องนี้ รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้สิ่งถูก
ต้องทางกาย รู้เรื่องราวที่คิดทางใจ นี่ก็เป็นความรู้
เรียกว่าเป็นความรู้ทางอายตนะ
และเมื่อเล่าเรียนศึกษาศิลป์วิทยา ก็มีความรู้
ในศิลปวิทยา เมื่อมาเรียนพุทธศาสนา ก็รู้ธัมมะ
ในพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
เรียนทางหูก็ฟัง เรียนทางตาก็อ่าน
เรียนทางใจก็คือว่าคิดนึกพิจารณา ก็ได้ความรู้
ในสิ่งที่เรียนนี้ นี่ก็เป็นความรู้ ความรู้ดังที่กล่าวมานี้
ก็เรียกว่าเป็นความรู้ทางอายตนะ เรียกว่า วิญญาณ
เรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็คือรู้
เช่นตากับรูปประจวบกัน ก็ได้
ความรู้รูปที่เรียกว่าเห็น เห็นรูป นี่ก็เป็นตัววิญญาณ
เป็นสุข เป็นทุกข์ ก็รู้สุข รู้ทุกข์ รู้เป็นกลางๆ
ไม่ทุกข์ไม่สุข นี่ก็เป็นเวทนา หรือจำได้หมายรู้ นี่ก็
เป็นสัญญา รู้คิดปรุงหรือปรุงคิดไปต่างๆ ก็
เป็นสังขาร นี่ก็เป็นความรู้ทางขันธ์ ๕ ตากับรูป นั่นก็
เป็นรูป รู้สุข รู้ทุกข์ รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข ก็
เป็นเวทนา รู้จำหมาย ก็เป็นสัญญา รู้คิดปรุง
หรือปรุงคิด ก็เป็นสังขาร รู้ที่เรียกว่าเห็น
คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน รู้รูปคือเห็นรูป
ก็เรียกว่าวิญญาณเป็นต้นดังที่กล่าวมา ยังไม่เรียกว่า
เป็นปัญญา
ปริยัติปัญญา ปฏิบัติปัญญา ปฏิเวธปัญญา
มาถึงขั้นความรู้ที่เกิดจากการเรียนต่างๆ
เป็นศิลปวิทยา ตลอดจน
ถึงเรียนพุทธศาสนาดังที่เรียนกันอยู่นี้ ใช้ตาใช้หูก็เป็น
ความรู้ขึ้นมา ดั่งนี้ก็เรียกกันว่าปัญญาเป็น
ปริยัติปัญญา ปัญญาทางปริยัติคือการเรียน
และคำว่าการเรียนนั้นจึงมีความหมายว่าฟัง
แต่โบราณก็ใช้ฟัง ไม่มีตัวหนังสือ
เมื่อมีตัวหนังสือขึ้นก็มีอ่าน ท่องบ่นจำทรง เพ่ง
ด้วยใจอันหมายถึงว่าพินิจพิจารณา ขบเจาะด้วยทิฏฐิ
ความเห็นคือทำความเข้าใจให้ถูกต้อง นี่
เป็นปริยัติปัญญา ปัญญาทางปริยัติ
และเมื่อเรียนรู้แล้วก็ปฏิบัติ
ดังเช่นเมื่อเรียนรู้ศิลปวิทยาแล้วก็นำมาปฏิบัติ
เหมือนอย่างเรียนการช่าง เรียนรู้
แล้วก็มาประกอบสิ่งนั้นๆ ที่เป็นเรื่องของช่าง
เช่นสร้างสิ่งนั้น สร้างสิ่งนี้ สร้างตึกรามบ้านเรือน
เป็นต้น และเมื่อเรียนทางพุทธศาสนา มี
ความรู้ทางปริยัติแล้ว
ก็นำมาปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจ
เช่นเมื่อเรียนรู้จักศีล รู้จักสมาธิ รู้จักปัญญา
ก็นำมาปฏิบัติให้เป็นศีล เป็นสมาธิ
เป็นปัญญาขึ้นที่ตนเอง ก็ได้ปัญญาที่เกิด
จากการปฏิบัตินี้ขึ้นโดยลำดับ และ
โดยเฉพาะพุทธศาสนา
ซึ่งพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ล้วน
เป็นคำสั่งสอนที่ให้ละชั่ว ทำดี ให้ชำระจิตของตน
ให้บริสุทธิ์ผ่องใส เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส
เครื่องเศร้าหมอง คือตัณหา
ความดิ้นรนทะยานอยาก กิเลสกองโกรธกองหลง
หรือกิเลสกองราคะโทสะโมหะให้หมดไปจากจิตใจ
ก็ได้ปัญญาคือความรู้ในการปฏิบัติ อัน
เป็นเครื่องขัดเกลาดังกล่าวนี้ขึ้นไปโดยลำดับ
ดั่งนี้ก็เป็น ปฏิบัติปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการปฏิบัติ
และเมื่อปฏิบัติไปจนถึงที่สุด อันหมาย
ความว่าชำระจิตใจด้วยปัญญา ให้บริสุทธิ์หมดจด
ได้บางส่วนหรือสิ้นเชิง ที่เรียกว่าเป็นมรรค
เป็นผล เป็นนิพพาน ตั้งแต่ชั้นต้นคือ โสดาปัตติมรรค
โสดาปัตติผล จนถึงขั้น อรหัตตมรรค
อรหัตตผล อันเป็นชั้นสูงสุด กำจัดกิเลสได้หมดสิ้น
ก็เรียกรวบยอดว่า ปฏิเวธปัญญา ปัญญาคือ
ความรู้แจ้งแทงตลอด อันหมาย
ความว่าเจาะแทงกิเลสที่หุ้มห่อจิตใจให้หลุดไป
ได้หมดสิ้นให้บรรลุถึงความบริสุทธิ์สิ้นเชิง
เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมี ๓ อันได้แก่ ปริยัติปัญญา
ปฏิบัติปัญญา ปฏิเวธปัญญา
สุตมัยปัญญา จินตามัยปัญญา ภาวนามัยปัญญา
และท่านแสดงปัญญาไว้อีกอย่างหนึ่ง ถึงเหตุที่
ให้เกิดปัญญา ได้แก่ สุตมัยปัญญา ปัญญาที่เกิด
จากสุตะคือการฟัง การอ่าน จินตามัยปัญญา
ปัญญาที่เกิดจากการคิดพินิจพิจารณา
ภาวนามัยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติทำให้มีขึ้น
ให้เป็นขึ้น ปัญญาที่แบ่งเป็น ๓ อย่างที่กล่าวมานี้ ต้อง
เข้าใจว่า สุตะคือการฟัง รวมทั้งการอ่านด้วยนั้น ไม่
ใช่เป็นตัวปัญญา แต่ว่าเป็นทางนำให้เกิดปัญญาได้
จินตาคือการคิดพินิจพิจารณา ก็ไม่ใช่ตัวปัญญา แต่
เป็นทางให้เกิดปัญญาได้
ภาวนาคือการปฏิบัติอบรมต่างๆ ก็ไม่ใช่ตัวปัญญา แต่
เป็นทางให้เกิดปัญญาได้ ดังเช่นสุตะคือการฟัง
อันหมายถึงการดูด้วยตาด้วย สิ่งที่ตามองเห็น สิ่งที่หู
ได้ยิน ไม่ใช่ว่าเป็นความจริงซึ่งเป็นตัวปัญญาไปเสีย
ทั้งหมด หรือจะกล่าวว่าโดยมากไม่เป็นความจริงก็
ได้ ดังเช่นว่าเราเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก
แล้วโคจรไปตกทางทิศตะวันตก ตาเห็นอย่างนี้ก็เป็น
ความรู้ทางตา แต่โบราณมาก็มัก
จะมีปัญญาเรื่องดวงอาทิตย์ขึ้นอาทิตย์ตกกันเพียงเท่านี้
เรามองดูถนนที่เป็นสายตรง ก็จะเห็นว่าถนนที่ยืนอยู่
นั้นกว้าง แต่ถนนที่อยู่ห่างออกไปสุดสายตานั้นเล็กลง
ๆ จนรวมเป็นเส้นเดียว เราแหงนหน้าขึ้นไปบนฟ้า
มองดูดวงดาว ก็เห็นว่าเป็นดวงเล็ก ๆ
ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์นั้นโตกว่า แต่ก็ไม่โตมากนัก
เป็นวงกลมไม่โตเท่าไหร่ โคจรอยู่กลางฟ้า
เราก็เห็นว่าดวงดาวเล็กนิดหนึ่ง
ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์โตหน่อยหนึ่ง แต่ก็ไม่โตมาก
และเราก็เห็นด้วยตาว่าโลกนี้แบนไปโดยรอบ
เป็นโลกแบนๆ อยู่โดยทั่วไป นี่เป็นสิ่งที่ได้ทางตา ทางหู
นี่ก็เป็นสุตะคือการฟัง รวมทั้งการเห็นด้วย แต่ว่า
เพราะการฟังการเห็นดังกล่าวนี้เอง เมื่อมา
ใช้จินตาคือความคิดพินิจพิจารณา และ
ใช้ภาวนาคือการปฏิบัติอบรม คือตรวจสอบต่างๆ
ย่อมจะได้ปัญญาคือตัวความรู้ที่เป็นไปตรงกันข้าม
กับที่ตาเห็น ดั่งเช่นเห็นว่าดวงดาวเล็กระยิบระยับ
อยู่บนฟ้า ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ก็โตขึ้นมา โคจรอยู่
ในฟ้า แต่อันที่จริงนั้นทั้งดวงอาทิตย์ทั้งดวงจันทร์
ทั้งดวงดาวเป็นสิ่งที่โตใหญ่ แต่เพราะอยู่ไกลสายตา
สายตานั้นสามารถที่จะมองเห็นสิ่งที่ไกลออกไปนั้น
เล็กเข้าๆ อันเป็นสมรรถภาพของทางตา เป็นอย่าง
นั้น แต่ว่าไม่ใช่เป็นความจริง ความจริงเป็นของใหญ่
และโลกที่เห็นว่าแบนนั้น เดี๋ยวนี้ก็ว่าไม่ใช่แบน
เป็นโลกกลม กลมเช่นเดียว
กับดวงดาวดวงอาทิตย์ที่เห็นในท้องฟ้า แล้วก็
เป็นดาวดวงหนึ่งที่ลอยอยู่
เหมือนอย่างดวงอาทิตย์จันทร์อังคารเป็นต้นเหมือน
กัน ดวงอาทิตย์ที่เห็นขึ้นทางตะวันออก ตกทางตะวันตก
แต่อันที่จริงนั้นโลกต่างหากที่หมุนไป เป็นการตรง
กันข้ามกับที่ตาเห็น นี่อาศัยจินตาคือความคิด
และภาวนาคือการปฏิบัติอบรม คือ
การทดสอบต่างๆ ก็ได้เป็น
ความรู้ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งที่ตรงกันข้าม ถ้าหากว่า
ความรู้ที่ว่ามานี้ยุติเท่านี้ ก็เป็นปัญญาที่ยุติลง
หรือลงตัว คือเป็นความรู้ทั่วถึงในสิ่งนั้นๆ อย่างนี้
อายตนะ ๖ เป็นทางให้เกิดปัญญา
เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ทุกคนต้องมีความเข้าใจว่า
สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน เป็นต้นนั้น ไม่ใช่ให้ปัญญาคือ
ความจริงที่เป็นตัวสัจจะไปทั้งหมดหรือโดยมาก
เมื่อไปใช้การพิจารณา การที่ทดสอบต่างๆ อันจัด
เข้าในภาวนาคือการปฏิบัติอบรมแล้วจึงจะ
ได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้ อันเป็นความรู้ที่บวกกับสัจ
จะคือความจริง หรือความรู้ที่เรียกว่า ยถาภูตะ
ตามที่เป็นแล้ว มีแล้วอย่างไร นั่นแหละจึงจะ
เป็นตัวปัญญา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินเป็นต้น
ทางตา ทางหู หรือรวมเข้าทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
และทางมนะคือใจ เรียกว่าทางอายตนะทั้ง ๖ นั้น จึง
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ให้สัจจะคือความจริงแก่บุคคล แต่ว่า
เป็นทางให้เกิดปัญญานั่นแหละ เป็นได้แต่ไม่ใช่
เป็นตัวปัญญา คือความรู้เท่าที่ตาเห็น หูได้ยินนั้น ยังไม่
ใช่เป็นตัวปัญญาจะต้องมีจินตาคือการคิด
และภาวนาคือการปฏิบัติอบรมทดสอบต่างๆ
มาประกอบเข้าด้วย จึงจะได้ปัญญาที่เป็นตัว
ความรู้จริงขึ้นโดยลำดับ
ตรัสสอนให้รู้จักกำหนดรู้หรือปริญญา
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอน
ให้รู้จักกำหนดรู้ด้วยความรู้ เรียกว่า ญาตปริญญา
กำหนดรู้ด้วยความรู้ คำว่า ปริญญา นั้น
ท่านมักแปลว่ากำหนดรู้
แต่ตามศัพท์แปลว่ารู้รอบคอบ ปริ แปลว่า
รอบคอบ ญา แปลว่ารู้ รวมกันเป็น ปริญญา
แปลว่ารู้รอบคอบ แต่มักจะแปลกันในทางปฏิบัติว่า
กำหนดรู้ ก็คือกำหนดรู้ให้รอบคอบนั้นเองด้วย
ความรู้ คือว่าด้วยความรู้ที่ได้จากตา ได้จากหู
เป็นการเห็น เป็นการได้ยิน ที่ได้จากจมูก ที่ได้
จากลิ้น ที่ได้จากกาย จากความที่ทราบที่รู้ทางจมูก
ทางลิ้น ทางกาย และทางมโนคือใจ คือที่ได้คิด
ได้รู้ทางใจ ให้กำหนดรู้ความรู้เหล่านี้แหละ
ให้รอบคอบ ดั่งนี้เรียกว่า ญาตปริญญา
แปลว่ากำหนดรู้ด้วยความรู้หรือด้วยการรู้
คือเมื่อรู้ด้วยตาด้วยหูเป็นต้นดังที่กล่าวนี้แล้ว ก็ไม่
ใช่ว่าพอเพียงเท่านั้น ต้องทำความกำหนดรู้
ให้รอบคอบในความรู้ ในการรู้ ตลอดถึง
ในสิ่งที่รู้ และเมื่อได้กำหนดรู้ด้วยความรู้ ดั่งนี้
แล้ว ขั้นต่อไปก็คือว่า ตีรณปริญญา กำหนดรู้
ด้วยการพิจารณา คือพิจารณาสิ่งที่รู้นั้น
ให้รู้จักสภาพคือความเป็นไปของตน ของสิ่งเหล่านั้น
ตามเป็นจริง คือตามที่เป็นแล้วว่าเป็นอย่างไร
และต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติ
ในปริญญาขั้นต่อไป คือ ปหานปริญญา กำหนดรู้
ด้วยการละ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติโดยตรง
ในพุทธศาสนา คือ ละ ฉันทราคะ
ความติดใจยินดีพอใจในทุกๆ สิ่ง ซึ่ง
เป็นการปฏิบัติขัดเกลากิเลสในจิตใจ ละ
ความทุกข์ที่บังเกิดขึ้น
ให้สิ้นไปตามเป้าหมายทางพุทธศาสนา ซึ่งจะ
ต้องมีปหานะคือการละ ละสิ่งที่พึงละไป
โดยลำดับ เพราะฉะนั้น ปริญญาในพุทธศาสนานั้น
จึงมี ๓ ญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยความรู้
ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา
ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละ นี่
เป็นตัวปัญญาในพุทธศาสนา
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 12:27 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๔ สรุปไตรสิกขา
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
ได้แสดง ไตรสิกขา คือ สีลสิกขา จิตตสิกขา
ปัญญาสิกขา มาโดยลำดับโดยปริยาย
คือทางอันหนึ่งที่สำหรับผู้มาใหม่พึงเข้าใจได้ วันนี้จะ
ได้สรุปในสิกขาทั้ง ๓ นี้
พระพุทธาธิบายในอธิสิกขา
พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้อย่างไรในสิกขาทั้ง ๓
นี้ ก็จะได้นำมากล่าวถึงพุทธาธิบายโดยตรง
พระองค์ได้ตรัสอธิบายในสีลสิกขาข้อแรก โดย
เป็นอธิสีลสิกขาสำหรับภิกษุ ว่าภิกษุเป็นผู้สำรวม
ด้วยความสำรวมในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อม
ด้วยอาจาระคือความประพฤติที่ดี
โคจรคือที่เที่ยวไปของกายและของใจที่ดี เห็นภัยโทษ
ในสิกขาบทแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลาย นี้เป็นอธิสีลสิกขา
และตรัสแสดงอธิบายอธิจิตตสิกขา ว่าคือเป็น
ผู้บรรลุถึงฌาน อันได้แก่อัปปนาสมาธิ
สมาธิที่แนบแน่น ที่มีรูปเป็นอารมณ์ ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่
๔ ที่ ๑ นั้นก็คือได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น
อันประกอบด้วยวิตก ความนำจิตเข้ามาตั้งไว้
ในกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง วิจาร ความที่ประคองจิต
ไว้ในกรรมฐานข้อนั้นได้ ปีติ ความอิ่มใจ สุข
ความสบายกายสบายใจ และเอกัคคตา
ความที่มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ที่ ๒
ก็คือละวิตกวิจารเสียได้ ได้ปีติ สุข และเอกัคคตา ที่
๓ ก็ละปีติเสียได้ ได้สุข ได้เอกกัคคตากับอุเบกขา ที่ ๔
ก็คือละสุขเสียได้ ได้เอกัคคตาและอุเบกขา
อธิปัญญาสิขา ก็ตรัสอธิบายไว้ว่า คือได้ปัญญา
หรือญาณ ที่รู้ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์
นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์และตรัส
ไว้อีกปริยายหนึ่งว่า ได้เข้าถึงบรรลุถึง เจโตวิมุตติ
คือความหลุดพ้นทางใจ ปัญญาวิมุตติ คือ
ความหลุดพ้นทางปัญญาอยู่ในปัจจุบัน นี้
เป็นการตรัสอธิบายถึง อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา
อธิปัญญาสิกขา
ไตรสิกขาที่ยังไม่ถึงขั้น
และหากจะมาพิจารณาถึงไตรสิกขาที่ยังไม่ถึงขั้น
นั้น ก็พึงอธิบายได้ว่า การปฏิบัติในศีล
แม้สำหรับภิกษุที่ปฏิบัติอยู่ในปาติโมกข์สังวรศีล
หรือว่าในปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ ที่ได้กล่าวมาแล้ว
แต่การปฏิบัตินั้นยังเป็นขั้นเริ่มต้น หรือ
เป็นขั้นที่ดำเนินอยู่ยังไม่บริบูรณ์ จึงยังไม่
เป็นปาริสุทธิศีล ศีลที่บริสุทธิ์ทีเดียว
ยังมีละเมิดสิกขาบทเล็กน้อย หรือแม้สิกขาบท
ใหญ่ที่ยังแก้ไขได้ แสดงได้ หรือว่าอยู่กรรมก็พ้นได้
ไม่ใช่ถึงอันติมวัตถุคือร้ายแรงถึงที่สุด ถึงขาดจาก
ความเป็นภิกษุ การปฏิบัติในสมาธิก็ยังไม่
ถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ยังเป็นอุปจารสมาธิ
สมาธิที่เฉียดๆ คือได้ความสงบของใจ ใจรวมเหมือนกัน
แต่ยังไม่มั่นคง หรือว่าได้แค่สมาธิที่เริ่มปฏิบัติอัน
เป็นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วครั้งชั่วคราว ก็นับว่า
เป็นจิตตสิกขา และปัญญาคือความรู้ที่อบรมอยู่ ยัง
ไม่รู้ถึงอริยสัจทั้ง ๔ ยังไม่ถึงวิมุตติ ความหลุดพ้นที่
เป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ แต่ก็ได้
ความหลุดพ้นชนิดที่เป็นความหลุดพ้นชั่วคราวหรือ
ความหลุดพ้นในขณะที่ได้สมาธิ
จิตสงบอย่างธรรมดา ก็เป็นปัญญาสิกขาได้
คฤหัสถ์อาจปฏิบัติให้ถึงอธิสิกขาได้
และหากจะถามว่า สำหรับคฤหัสถ์ที่ปฏิบัติไตรสิกขา
ปฏิบัติให้ถึงอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
ได้หรือไม่ ก็ตอบได้ว่าอาจปฏิบัติได้ เช่นว่าคฤหัสถ์
ผู้ที่สมาทานศีล ๕ หรือว่าศีล ๘ แต่ว่ารักษาศีล ๕
ศีล ๘ นี้ให้บริสุทธิ์ ให้เป็น สีลวิสุทธิ ศีลบริสุทธิ์
คือว่าบริสุทธิ์ถึงใจ ใจเป็นศีล ศีลไม่ขาดเป็นท่อน
ไม่ขาดเป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทแก่ใจ ไม่
เป็นทาสของตัณหาของกิเลส ไม่ถูกกิเลสลูบคลำ
หรือไม่เกิดกิเลสในขณะที่รักษาศีล เป็นการที่
จะจับต้องคือดึงศีลให้ขาด และเป็นศีลที่
เป็นไปเพื่อสมาธิ คือหมายความว่าจิตสงบหรือ
เป็นที่ตั้งของสมาธิ ที่จะปฏิบัติสมาธิได้สะดวก
แม้รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ดั่งนี้ ก็
เป็นอธิสีลสิกขาสำหรับคฤหัสถ์ได้
อธิจิตตสิกขาก็อาจที่จะถึงได้ ด้วยปฏิบัติทำสมาธิให้
ถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นจนถึงฌาน
เพราะฆราวาสเมื่อรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์
หรือศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ ก็เป็นพื้นฐานของสมาธิจน
ถึงอัปปนาสมาธิได้เหมือนกัน อธิปัญญาก็อาจปฏิบัติให้
ถึงได้ เพราะเมื่อได้ปฏิบัติในศีล ในสมาธิ จน
ถึงอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขาแล้ว ก็
สามารถอบรมปัญญาให้เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ได้
เพราะว่าฆราวาสนั้นสำเร็จเป็นโสดาบันได้
เป็นสกทาคามีได้ เป็นอนาคามีได้ จนถึงพระอรหันต์
ในขณะที่เป็นฆราวาสก็มี แต่ว่าเมื่อเป็นพระอรหันต์
แล้วก็บวชทันที หรือว่าปฏิบัติปัญญาให้บรรลุ
ถึงวิมุตติคือความหลุดพ้น เป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ได้ เพราะปัญญากับวิมุตตินี้ย่อมเนื่องกัน เมื่อ
ได้ปัญญาที่รู้อริยสัจ ๔ ก็ย่อมได้วิมุตติที่
เป็นเจโตวิมุตติ พ้นทางใจ ปัญญาวิมุตติ พ้นทางปัญญาคู่
กันไป เพราะวิมุตติเป็นผล เพราะฉะนั้น
แม้คฤหัสถ์ก็ปฏิบัติให้ถึงอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา
อธิปัญญาสิกขาได้
ภาวะจิตปกติเป็นอธิสีลสิกขา
และอาจอธิบายอีกอย่างหนึ่งว่า การปฏิบัติในศีลนั้น
เป็นภิกษุก็ปฏิบัติในปาติโมกข์สังวรศีล หรือ
ในปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ ในฐานะภิกษุ เมื่อ
เป็นคฤหัสถ์ก็ปฏิบัติในศีล ๕ ศีล ๘ และเมื่อจะ
เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ได้ปฏิบัติ
ในศีลตามควรแก่เพศของตนดังกล่าว จนถึงจิต
เป็นศีล อันหมายความว่า จิตสงบเป็นปกติ
ไม่คิดละเมิดศีล จิตเป็นตัวศีลคือเป็นตัวปกติ เมื่อจิต
เข้าถึงภาวะของศีลที่เป็นภาวะที่มีความเป็นจิตปกติ
ดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้เข้าถึงภาวะของศีลแท้ที่มีลักษณะ
เป็นอันเดียว คือมีลักษณะเป็นปกติ เป็นศีลที่
ไม่มีสิกขาบทว่ามีกี่ข้อๆ ทั้งหมดรวมอยู่ในความที่จิต
เป็นปกติ เป็นหนึ่ง เป็นอันเดียวกัน ดังผู้ที่ได้เรียน
ได้ปฏิบัติในศีล เช่นภิกษุบวชเรียนปฏิบัติในศีล
ยกเอาข้อที่เป็นข้อ ๑ ก็คือ ปาติโมกขสังวรศีล
ได้ทราบถึงสิกขาบทบัญญัติ ๒๒๗ ที่เป็น
อาทิพรหมจริยกาสิกขา คือเป็นข้อที่พึงศึกษาที่
เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ และก็ได้เรียนได้รู้
ได้ปฏิบัติในศีลที่เป็น อภิสมาจาริกาสิกขา
เป็นข้อที่พึงปฏิบัติเกี่ยวแก่มรรยาทต่างๆ
และก็ตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้องให้บริสุทธิ์ ในทีแรก
นั้นจิตก็ต้องพะวงถึงว่า จะต้องเว้นอย่างนี้ จะต้องทำอย่าง
นั้น แต่ว่าในขณะที่จิตรวมเข้ามาเป็นปกติ ก็แปลว่า
ได้ชื่อว่าได้ปฏิบัติในศีลที่เป็นสิกขาบทเหล่านั้นได้
ทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องนึก ไม่ต้องรู้ในขณะ
นั้นว่าข้อไหนบ้าง เพราะว่าไม่มีจิตคิดละเมิด
ในขณะที่มีภาวะเป็นจิตปกติ ศีลทั้งหมดจึงรวมอยู่
ในภาวะที่มีจิตเป็นปกตินั้น จะเป็น ๒๒๗ สิกขาบท ก็รวม
อยู่ในภาวะที่จิตเป็นปกตินั้น จะเป็นสิกขาบท ๕ สิกขาบท
๘ ที่เรียกว่าศีล ๕ ศีล ๘ ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะ
นั้นลักษณะที่มีภาวะเป็นจิตปกตินี้ ก็เป็นอธิสีลสิกขา
แต่ถ้าจิตยังกวัดแกว่ง ฟุ้งซ่านว่าจะต้องเว้นสิ่งนั้น จะ
ต้องทำสิ่งนี้ หรือว่าได้ละเมิดข้อนั้น ละเมิดข้อนี้
เป็นอาบัติอย่างนั้น เป็นอาบัติอย่างนี้
ขณะที่จิตฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย ละเมิดแม้ทางจิต
อยู่ดั่งนี้ ก็ยังไม่เป็นอธิสีลสิกขา เหมือนดังศึกษาปฏิบัติ
อยู่ คือตั้งใจเว้นในข้อที่ตรัสสอนให้เว้น ทำ
ในข้อที่ตรัสสั่งให้ทำ แปลว่า
ยังตั้งใจปฏิบัติตามคำสั่งคือสิกขาบทของพระพุทธเจ้า
อยู่ ก็ชื่อว่าปฏิบัติอยู่ในสีลสิกขา
มีสติคอยดึงจิตให้นิ่งสงบ
ทางจิตก็เหมือนกัน ที่เป็นจิตตสิกขา เมื่อจิตยังไม่ได้
เอกัคคตาของจิต คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
จิตยังฟุ้งซ่านไปในนิวรณ์ทั้งหลาย ด้วยนิวรณ์
ทั้งหลาย โดยยังเป็นจิตตสิกขา
ในเมื่อตั้งใจปฏิบัติทางจิตอยู่ ไม่ทิ้ง ถึงจิตจะยังมีนิวรณ์
ก็ยังชื่อว่าเป็นจิตตสิกขาได้ ต่อเมื่อจิตสงบจากนิวรณ์
เป็นอันดี เรียกว่าสงบจากกาม สงบจากอกุศลธรรม
ทั้งหลาย โดยที่ได้วิตก คือความที่จิตตั้งอยู่
ในอารมณ์ของสมาธิ หรือการที่นำจิตเข้ามาตั้งไว้
ในอารมณ์ของสมาธิหรือในกรรมฐาน ได้วิจาร
คือความที่คอยประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ดังกล่าว
เมื่อจิตตกออกไปในกาม ในอกุศลธรรมทั้งหลาย
หรือในอารมณ์ทั้งหลายภายนอก เมื่อ
ได้สติขึ้นมาก็นำจิตเข้ามาตั้งไว้ใหม่ ประคองไว้ใหม่
ในทีแรกก็ได้ ขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะ
ในเมื่อมีสติประคองอยู่ แม้ว่าจิตจะดิ้นออกไป ก็มีสติที่
จะคอยนำกลับเข้ามา จิตที่ยังดิ้นอยู่นี้ ก็ชื่อว่า
เป็นขั้นปฏิบัติ ก็ยังปฏิบัติอยู่ในจิตตสิกขา
เป็นจิตตสิกขาขึ้นมาได้เพราะกำลังปฏิบัติอยู่
ข้อสำคัญให้มีสติที่คอยนำจิตกลับเข้ามา ท่าน
จึงเปรียบไว้เหมือนอย่างที่แสดงไว้แล้วว่า
เหมือนอย่างลูกโคที่เจ้าของเอาเชือกผูกคอไว้
แล้วนำปลายเชือกมาผูกไว้กับหลัก ลูกโคก็
จะวิ่งออกไป แต่ก็วิ่งออกไปแค่เชือก คือแต่
ความยาวของเชือกที่ผูกอยู่ และเมื่อออกไปไกลกว่า
นั้นไม่ได้ ก็วิ่งวน วนหลัก เพื่อที่จะหาช่องทางว่า
จะออกไปทางไหนได้ เมื่อยังมีเชือกผูกคออยู่ก็วิ่งไป
ไกลไม่ได้ ก็วิ่งวนหลักอยู่เท่านั้น ในที่สุดเหนื่อย
เข้าก็นอนอยู่ที่โคนหลัก จิตก็เหมือนกัน ในทีแรก
จะวิ่งวนอยู่อย่างนั้น แต่ว่าวิ่งวนหลักในเมื่อมีสติคอยผูก
อยู่ หากไม่มีสติผูกอยู่แล้ว จะวิ่งพ้นหลักออกไป
ไกลหลักออกไป แปลว่าหลุดออกไปเลย
ดั่งนี้แปลว่าไม่มีสติที่คุมอยู่ แต่ถ้ามีสติคอยคุมอยู่แล้ว
สตินั้นก็จะไม่ให้จิตวิ่งออกไปได้ไกล เมื่อจิตหลุดออก
จากหลักคือกรรมฐานที่ตั้งจิตไว้ มีสติขึ้นทันที สติก็
จะนำกลับมาตั้งไว้ใหม่ หลดุออกไปอีกก็มาตั้งไว้ใหม่
ก็แปลว่าในทีแรกนั้นจิตก็วิ่งอยู่นั่นแหละที่จะออกไป
แต่ก็ไม่ไกลหลัก เพราะมีสติคอยดึงอยู่
และเมื่อมีสติคอยดึงอยู่นานๆ เข้าแล้ว จิตก็จะนิ่งสงบ
ได้ แม้เป็นขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วคราว
จิตได้อัปปนาสมาธิจึงเป็นอธิจิตตสิกขา
และเมื่อได้ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วคราวดั่งนี้แล้ว ก็จะ
ได้ปีติคือความอิ่มใจ ได้สุขคือความสบายกายสบายใจ
อันเป็นผลของความสงบใจ
เหมือนอย่างลูกโคที่วิ่งวนหลัก วิ่งไปหนักๆ
เข้าลูกโคก็เหนื่อยลงนอนที่โคนหลัก
และเมื่อนอนที่โคนหลักก็ได้สุข
ความสบายหายเหนื่อยที่เกิดจากการวิ่ง จิตก็เหมือนกัน
เมื่อวิ่งหนักๆ เข้าและมีสติคอยดึงอยู่แล้ว ก็สงบอยู่
กับหลักคือสมาธิ ก็ได้ปีติ ได้สุข คือได้ความสบาย ได้
ความเอิบอิ่มใจ ได้ความสบายความสุข ตอนนี้แหละ
เอกัคคตาของจิต คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
คือจิตสงบอยู่ตัวก็จะเกิดขึ้น ในทีแรกก็จะเป็น
อุปจาระ คือว่าได้เอกัคคตา ความที่มีอารมณ์เดียว
ไม่นานนัก แต่ว่าก็เกินไปกว่าที่เรียกว่าครู่
หรือขณะอันเป็นขณิกสมาธิ ได้นานกว่า แต่
ไม่แนบแน่นทีเดียว ยังไม่แนบแน่น
และเมื่อตั้งใจทำสมาธิให้จริงจังยิ่งขึ้นต่อไป ก็จะ
ได้สมาธิที่แนบแน่นมากขึ้น จนถึงเป็น อัปปนา
ที่เรียกว่าแนบแน่น ซึ่งตั้งต้นแต่ที่เรียกว่า ปฐมฌาน
ฌานที่ ๑ ประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข
และเอกัคคตา แล้วก็ได้ฌานที่แนบแน่นขึ้นไป
ละวิตกวิจารได้ ละปีติได้ ละสุขได้
เหลือแต่เอกัคคตาและอุเบกขา ก็เป็น อัปปนาสมาธิ
อย่างเต็มที่ เป็นขั้นที่เรียกว่า อธิจิตตสิกขา
กำหนดรู้ขันธ์ ๕ หรือนามรูป
และทางปัญญานั้นก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้อธิสีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา การปฏิบัติทำปัญญาสิกขาก็สะดวกขึ้น
น้อมจิตไปเพื่อกำหนดรู้ รู้ที่เป็น ญาตปริญญา
คือกำหนดรู้ด้วยการรู้หรือด้วยความรู้
ที่ท่านแสดงว่าก็คือขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ กองรูป
เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา
สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ
ที่จิตนี้เอง คือว่าดูให้รู้จักว่า นี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา
นี่สังขาร นี่วิญญาณ ที่จิตของตัวนี้เอง ที่ย่อลงรูปก็
เป็นรูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนาม ก็เป็น
นามรูป ย่อสั้นเข้ามาแล้วก็อาจจะพูดง่ายๆ ว่า สิ่งที่รู้
เป็นรูป รู้เป็นนาม สิ่งที่รู้นั้นที่เรียกว่ารูป เมื่อรวม
เข้ามาแล้วก็ได้แก่กายนี้ อันประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ ดิน
น้ำ ไฟ ลม หรือเพิ่มอีกหนึ่งคืออากาศ ช่องว่าง รวม
กันอยู่ และมีตาที่คู่กับรูป มีหูที่คู่กับเสียง มีจมูกที่คู่
กับกลิ่น มีลิ้นที่คู่กับรส มีกายที่คู่
กับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง มีมโนคือใจที่คู่กัน
กับธัมมะ คือเรื่องราวที่ใจรู้ใจคิดต่างๆ ข้อ ๖ นี้ต้องมี
อยู่จึงเป็นกายที่มีชีวิต และจึงจะมีนามต่อไปได้
ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่าเป็นกายหรือเรียกว่าเป็นรูป
คราวนี้เมื่อรูปหรือว่ากายนี้ปฏิบัติหน้าที่
ดังร่างกายของทุกคนเรานี้ที่มีชีวิตอยู่ปฏิบัติหน้าที่
มีหายใจเข้ามีหายใจออก มีอาการยืนเดินนั่งนอน
และมีอิริยาบถประกอบต่างๆ เช่นก้าวไปข้างหน้า
ถอยไปข้างหลัง และเหลียวเป็นต้น และมีอาการ
ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นต้น ที่ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตัว
รวมเข้าก็เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำไฟลมที่ยังประกอบกันอยู่
เพราะฉะนั้น ตาจึงเห็นรูปอะไรได้ หูจึง
ได้ยินเสียงอะไรได้เป็นต้น เหล่านี้ก็เป็นรูป ก็ดู
ให้รู้จักว่านี่รูป แล้วก็ดูให้รู้จักถึงนาม
คืออาการของจิตที่น้อมไปรู้ต่างๆ
อาศัยตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจนี้ คือจิตนี้
ก็น้อมออกรู้เรื่องรูปทางตา เรียกว่าเห็นรูป
เป็นเบื้องต้น นี่เรียกว่าเป็นวิญญาณ
เพราะอาการที่จิตน้อมออกรู้ดังกล่าวนี้
ที่เรียกว่านามนั้น เป็นตัวรู้ทั้งนั้น
ทีแรกเห็นรูปก็คือรู้รูปและก็มีสุขมีทุกข์มี
เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็รู้เหมือนกัน
รู้สุขรู้ทุกข์รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เป็นเวทนา
เป็นสัญญาคือจำได้หมายรู้ ก็จำรูปจำเสียง
ถ้าตาก็เรียกว่าจำรูป นี่ก็เป็นสัญญา ก็รู้เหมือนกัน
รู้จำ แล้วก็คิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ ก็รู้เหมือน
กันคือรู้คิดหรือปรุงคิดต่างๆ ถึงรูปที่จำได้นั้น
เพราะว่าจะไปคิดถึงสิ่งที่จำไม่ได้นั้นไม่ได้ คิดปรุง
ได้เฉพาะสิ่งที่จำได้ เพราะฉะนั้น คิดปรุง
หรือปรุงคิดที่เป็นตัวสังขารนั้นจึง
ต้องมาทีหลังสัญญา สัญญาก็มาทีหลังเวทนา
เวทนาก็มาทีหลังวิญญาณ แต่ว่ามีวิญญาณมาใส่ไว้ท้าย
ในขันธ์ ๕ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณ
นั้นก็มีอธิบายได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือว่าวิญญาณ
นั้นละเอียด ในการยกขึ้นพิจารณา
เมื่อพิจารณาทีหลัง จากหยาบไปหาละเอียดก็สะดวก
อีกอย่างหนึ่งวิญญาณนั้นก็เกิดสืบต่อ
จากสังขารอีกเหมือนกัน คือเมื่อปรุงคิดไป
คิดปรุงไปแล้ว ก็รู้ไปด้วยซึ่งเป็นวิญญาณ
ก็กลับมาหาต้นใหม่ แล้วก็วนไปใหม่ นี้
เป็นอาการของใจหรือจิต จิตที่น้อมออกรู้ทางตา
ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมโน
ใจเองก็เหมือนกัน ก็เป็นแบบเดียวกันดั่งนี้ คือดูให้รู้จัก
นี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา นี่สังขาร นี่วิญญาณ ดังนี่
เป็นญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยการรู้
หรือกำหนดรู้ด้วยความรู้ หรือกำหนดรู้ในสิ่งที่รู้
คือดูให้รู้จักว่านี่เป็นนี่ นี่ต้องได้ข้อนี้ก่อน แล้ว
โดยเฉพาะทางปัญญาทางพุทธศาสนาที่เป็นวิปัสสนานั้น
ต้องการให้กำหนดดูขันธ์ ๕ แล้วย่อเป็นนามรูป
เห็นเกิดดับของนามรูปจึงเป็นอธิปัญญา
แล้วก็มาถึง ตีรณปริญญา
กำหนดรู้ที่การพิจารณา คือพิจารณาดูให้รู้จัก
ความเป็นไปของสิ่งเหล่านี้ ว่ามีเกิดมีดับ รู้จัก
ความเกิดของรูป รู้จักความเกิดของเวทนา รู้จัก
ความเกิดของสัญญา รู้จักความเกิดสังขาร รู้จัก
ความเกิดของวิญญาณ ความดับของรูป
ความดับของเวทนา ความดับของสัญญา
ความดับของสังขาร ความดับของวิญญาณ ซึ่งเกิดดับ
อยู่ทุกอารมณ์ที่มาประสบในปัจจุบัน เมื่อ
ถึงขั้นตีรณปริญญา กำหนดรู้
ด้วยการพิจารณาดั่งนี้ ก็จะดับฉันทะราคะ
ความติดใจด้วยอำนาจของความพอใจ หรือ
ความพอใจติดใจอยู่ในขันธ์ ๕ ในนามรูปได้ ดับ
ความยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราในนามรูปได้ ก็เป็น
ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละ คือเมื่อละ
ได้ก็รู้ ละได้ด้วยแล้วก็รู้ว่าละได้ด้วย
การปฏิบัติดั่งนี้แหละเป็นตัวปัญญาในพุทธศาสนา
รวมความก็คือว่าให้เห็นเกิดเห็นดับของขันธ์ ๕
หรือของนามรูปที่เป็นปัจจุบันธรรม ก็
เป็นอธิปัญญาขึ้นมาได้ ในขณะที่ยังไม่เห็นเกิดดับ คือยัง
ไม่ได้ปริญญาทั้ง ๓ นี้ต่อเนื่องกันไป ก็ยัง
เป็นปัญญาสิกขาธรรมดา ในเมื่อได้ก็
เป็นอธิปัญญาสิกขา ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือ
เป็นบรรพชิตก็เหมือนกัน ปฏิบัติให้ได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น สิกขาทั้ง ๓ นี้จึงเป็นหลักสำคัญ
ในการปฏิบัติทางพุทธศาสนา
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 12:34 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๕ วิมุตติ
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
วิมุตติ ความหลุดพ้นจากอาสวะ
ได้แสดง ไตรสิกขา ไปแล้ว ก็ควร
จะแสดงอีกข้อหนึ่งต่อกันไป คือ วิมุตติ ที่แปลว่า
ความหลุดพ้น หมายความว่าหลุดพ้นจากกิเลส
หลุดพ้นจากทุกข์
พระพุทธเจ้าได้แสดง อริยธรรม ที่แปลว่า
ธัมมะที่ทำผู้ปฏิบัติให้เป็นอริยะ
หรือธัมมะที่พระอริยะแสดงไว้
ธัมมะของพระอริยะ และก็แปล
เป็นชื่อของธัมมะเองก็ได้ว่า ธัมมะที่
เป็นอริยะคือที่เจริญที่ประเสริฐ ดังที่ได้บอก
ไว้เมื่อบอกอนุศาสน์ในตอนท้ายว่า “พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ผู้เห็นเป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ชอบเองพระองค์นั้น ตรัสศีลไว้โดยชอบ
แล้ว ตรัสสมาธิไว้โดยชอบแล้ว ตรัสปัญญาไว้
โดยชอบแล้ว โดยหลายขบวนคือหลายวิธี
เพียงเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้น อันเป็นทางย่ำยี
ความเมาเสีย เป็นทางนำความอยากเสีย
เป็นทางถอนอาลัยขึ้นเสีย เป็นทางเข้าไปตัดวนเสีย
เป็นทางสิ้นแห่งตัณหา เป็นทางฟอกจิต เป็นทางดับทุกข์
ในศีลสมาธิปัญญานั้น สมาธิอันศีลอบรมแล้ว
มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว
มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว
ย่อมพ้นจากอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานโดยชอบ
คือ จาก กามาสวะ อาสวะคือกาม ความอยาก ภวาสวะ
อาสวะคือภพ ความเป็น อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา
ความไม่รู้สัจจะคือความจริงของจริง เพราะเหตุ
นั้นแล เธอพึงศึกษาสิกขาคือศีลยิ่งอย่างเคารพ
พึงศึกษาสิกขาคือจิตยิ่งอย่างเคารพ
พึงศึกษาสิกขาคือปัญญายิ่งอย่างเคารพ
ในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตตรัสประกาศ
ไว้ฉะนี้ พึงให้ถึงพร้อมความไม่ประมาท
ในศีลสมาธิปัญญานั้นเทอญ” ดั่งนี้
วิมุตติ เป็นผลของการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา
เพราะฉะนั้น วิมุตติคือความพ้นนั้น จึง
เป็นผลของการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญามาโดยลำดับ
แล้วก็ตรัสไว้ว่า สมาธิที่ศีลอบรมมีผลใหญ่
มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาที่สมาธิอบรม มีผลใหญ่
มีอานิสงส์ใหญ่ จิตที่ปัญญาอบรมย่อมพ้นจากอาสวะ
คือกิเลสที่ดองสันดานทั้งหลายโดยชอบ คำว่า พ้น
ก็คือวิมุตตินั้นเอง และศีลสมาธิปัญญาทั้ง ๓ นี้ ก็
ต้องอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป สำหรับ
ในพุทธภาษิตที่ยกขึ้นมานี้กล่าวโดยย่อก็คือว่า
ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา
ปัญญาก็อบรมจิต ให้พ้นจากอาสวะคือกิเลสที่ดองจิต
ทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง ก็กล่าวได้ว่า ปัญญาอบรมจิต
จิตก็อบรมศีล เพราะฉะนั้น จึงต่างอบรมซึ่งกัน
และกัน อาศัยซึ่งกันและกันเป็นไปแล้วก็รวมกัน
เข้าอบรมจิตนี้เอง ให้ได้วิมุตติคือความหลุดพ้น
จากอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดาน และวิมุตติคือ
ความหลุดพ้นนั้น เมื่อกล่าวรวมๆ ไป
หรือว่าเมื่อกล่าวดังเช่นยกพุทธภาษิตที่อ้างมานี้ ก็
จะทำให้เห็นว่าเป็นของที่ปฏิบัติให้บรรลุ
ได้ยากอย่างยิ่ง เพราะการที่จะปฏิบัติให้สิ้นอาสวะได้
นั้น ต้องปฏิบัติกันจริงจัง และก็ต้องใช้เวลา
ทั้งหมดเพื่อปฏิบัติ อันยากที่คนโดยมากจะกระทำได้
วิมุตติ ๕
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงวิมุตติลดหลั่น
กันลงมาอีก ซึ่งเมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็น วิมุตติ ๕ อัน
ได้แก่
หนึ่ง ตทังควิมุตติ พ้นชั่วคราว
สอง วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยสะกดไว้
สาม สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด
สี่ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ
ห้า นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป
ตทังควิมุตติ พ้นชั่วคราว
ประการที่หนึ่ง ตทังควิมุตติ พ้นชั่วคราว
แปลตามศัพท์ว่า พ้นด้วยองค์นั้นคือพ้นด้วยองคคุณ
หรือองคสมบัตินั้น อันหมายความว่า พ้นได้ชั่วคราว
ด้วยเหตุที่ปฏิบัติในธัมมะข้อใดข้อหนึ่ง เป็นองคคุณ
หรือองคสมบัติขึ้นในจิต กิเลสก็พ้นไปได้
ในขณะที่ปฏิบัตินั้น เช่นว่าเกิดความกำหนัดขึ้นในกาม
และมาปฏิบัติทำกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งแห่ง
ความสังเวช เช่นนึกถึงความแก่เจ็บตายว่าต้องมี
เป็นธรรมดา หรือว่าปฏิบัติใน กายคตาสติ สติที่ไป
ในกาย เช่นพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าเป็นสิ่ง
ปฏิกูล ไม่สะอาด อสุภะ ไม่งดงาม เมื่อได้
ธรรมสังเวช ความรู้ชัดในธัมมะซึ่ง
เป็นคติธรรมดาขึ้นมา หรือว่าได้ ปฏิกูลสัญญา
ความสำคัญหมายว่าไม่สะอาด อสุภสัญญา
ความสำคัญหมายว่าไม่งดงาม ความกำหนัด
ในกามก็สงบลงไป เมื่ออบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้น
โกรธก็หายไป ดั่งนี้เป็นตทังควิมุตติ พ้นด้วยองค์นั้น
เป็นการพ้นชั่วคราว
วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยสะกดไว้
ประการที่สอง วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยสะกดไว้
ก็หมายถึงว่า ทำสมาธิได้ดีจนถึง อุปจารสมาธิ
สมาธิเฉียดๆ คือใกล้จะตั้งมั่นแนบแน่น หรือได้จนถึง
อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นถึงฌาน ในขณะที่กำลัง
อยู่ในสมาธินี้ กิเลสก็ถูกสะกดไว้ให้สงบไป แต่ว่าไม่
ได้ละไป อาจจะสงบไปได้นานเท่าที่จิตยังอยู่ในฌาน
หรือในความสงบอันเนื่องมาจากฌานนั้น ดั่งนี้เรียกว่า
วิกขัมภนวิมมุติ พ้นด้วยสะกดไว้
สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด
ประการที่สาม สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด
ก็หมายความว่าพ้นด้วยการตัดกิเลสได้เด็ดขาด บาง
ส่วนหรือว่าทั้งหมด คือการพ้นด้วยการตัดกิเลส
ได้เด็ดขาดของท่านที่เป็นโสดาบันบุคคลขึ้นไป
เรียกว่า สมุทเฉทวิมุตติ พ้นด้วยเด็ดขาด
ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ
ประการที่สี่ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ
คือเมื่อตัดกิเลสได้เด็ดขาดแล้วกิเลสก็สงบไป ก็
เป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ใน ๒ ข้อนี้ท่านแสดงว่า
สมุทเฉทวิมุตติอันเป็นข้อที่ ๓ นั้น เป็นการพ้น
ด้วยเด็ดขาด ด้วยอำนาจของมรรคคือ อริยมรรค
ส่วนข้อ ๔ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ หมาย
ความว่าพ้นด้วยอำนาจของผลคือ อริยผล
ตั้งแต่อริยมรรคอริยผลขั้น
โสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล ขึ้นไป
นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป
มาถึงข้อ ๕ นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป ก็หมาย
ความว่า เมื่อตัดกิเลสได้เด็ดขาดด้วยมรรค
และกิเลสสงบไปด้วยผลดั่งนั้นแล้ว ก็
เป็นอันว่าออกไปจากกิเลสได้ตลอดไป เป็นการพ้น
จากกิเลสตลอดไป ก็เข้าในข้อ ๕ เพราะฉะนั้น ข้อ ๕
นี้ท่านจึงแสดงว่าพ้นด้วยออกไปด้วยอำนาจของ นิพพาน
เทียบวิมุตติกับมรรค ผล นิพพาน
ก็เป็นอันว่า ข้อ ๓ สมุทเฉทวิมุตตินั้นพ้นด้วยมรรค ข้อ
๔ ปฏิปัสสัทธิวิมุตตินั้นพ้นด้วยผล ข้อ ๕
นิสสรณวิมุตตินั้นพ้นด้วยนิพพาน ก็อาจจะเทียบได้
กับคนป่วย เมื่อคนป่วยรับประทานยา ยา
นั้นก็แก้โรคที่บังเกิดขึ้นให้หาย โรคก็หายได้ด้วยยา
อาการที่หายได้ด้วยยานี้เทียบกับพ้นด้วยมรรค
และความหายโรคอันเป็นผลของการรักษา
ด้วยยา ก็เทียบกับปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ
และเมื่อหายโรคแล้วร่างกายก็กลับเป็นปกติ
ไม่ปรากฏโรคนั้นขึ้นอีก เหมือนอย่างคนที่มีร่างกาย
เป็นปกติทั่วๆ ไป ดั่งนี้ก็เทียบได้กับนิสสรณวิมุตติ พ้น
ด้วยออกไปคือพ้นด้วยนิพพาน
อีกอย่างหนึ่งเหมือนอย่างการเรียนหนังสือ
ในทีแรกเมื่อกำลังเรียนเพื่อ
ให้อ่านหนังสือออกอ่านหนังสือได้
และเมื่ออ่านหนังสือออก อ่านหนังสือได้
ด้วยการเรียน ก็เหมือนอย่างสมุทเฉทวิมุตติ พ้นจาก
ความไม่รู้หนังสือด้วยการเรียน
คราวนี้การที่อ่านหนังสือได้การที่อ่านหนังสือออก
อันเป็นผลของการเรียนนั้น ก็เทียบได้
กับปฏิปัสสัทธิวิมุตติพ้นด้วยสงบ ก็คือว่าเป็นอันว่าพ้นจาก
ความไม่รู้หนังสือได้ อ่านหนังสือได้ การอ่านหนังสือ
ได้เป็นผล และเมื่อเรียนจบอ่านหนังสือออก
อ่านหนังสือได้ ก็อ่านได้เรื่อยไป เพราะว่า
ความรู้ที่อ่านหนังสือออก อ่านหนังสือได้นั้นยังคงอยู่
ก็อ่านได้เรื่อยๆ ไป ก็เทียบกับข้อ ๕ นิสสรณวิมุตติ
พ้นด้วยออกไป
ได้มีพระพุทธาธิบายเรื่องวิมุตติไว้ดังที่ยกมาเป็น ๕
ข้อดั่งนี้ สำหรับวิมุตติที่สามัญชน
ผู้ปฏิบัติธัมมะทุกท่านทุกคนพึงได้พึงถึงนั้นก็คือ
ตทังควิมุตติ และ วิกขัมภนวิมุตติ ข้อ ๑ ข้อ ๒ ส่วนข้อ ๓
ข้อ ๔ ข้อ ๕ นั้น เมื่อปฏิบัติจนได้มรรค จึง
ได้สมุทเฉทวิมุตติ และเมื่อได้มรรคก็ได้ผลต่อไป
เป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และก็ได้นิพพาน
คือการที่พ้นกิเลสได้ตลอดไป ก็เป็นนิสสรณวิมุตติ
อันเป็นข้อที่ ๕
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 12:50 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๖ บารมี
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
ความหมายของบารมี
จะแสดงเรื่อง บารมี
คำว่าบารมี มาจากคำบาลีว่า ปารมี
คำแปลที่นักภาษาศาสตร์ได้ให้ไว้หลายอย่าง
จะแสดงแต่บางอย่าง คือแปลว่า อย่างยิ่ง มาจากคำว่า
ปรมะ ที่ภาษาไทยเราใช้ว่า บรม
และคำว่าบรมที่แปลว่าอย่างยิ่งนี้ ก็มีใช้ทั้ง ๒ ทาง
ดีอย่างยิ่งก็บรมหรือไม่ดีอย่างยิ่งก็บรม เช่นคำว่า
นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นบรมสุข สุขอย่างยิ่ง
สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา สังขารทั้งหลาย
เป็นบรมทุกข์ คือทุกข์อย่างยิ่ง จึงเป็นคำกลางๆ ใช้ได้
ทั้ง ๒ ทาง คล้ายกับคำบางคำ เช่นแม้คำว่า ธัมมะ หรือ
ธรรม ที่ใช้เป็นกลางๆ เช่นในอภิธรรม กุสลา
ธมฺมา ธัมมะทั้งหลายเป็นกุศล อกุสลา ธมฺมา ธัมมะ
ทั้งหลายเป็นอกุศล อพยากตา ธมฺมา ธัมมะทั้งหลาย
เป็นอพยากฤต อันหมายความว่าไม่พยากรณ์
คือกล่าวออกไปว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลหรือ
เป็นกลางๆ แต่ในพระสูตรทั้งหลายมักใช้หมาย
ความถึงธัมมะที่เป็นส่วนดีคือกุศล เรียกว่าธรรม
หรือธัมมะ ถ้าเป็นฝ่ายไม่ดีเรียกว่าอธรรม
เช่นพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ
อุโภ สมวิปากิโน ธรรมและอธรรมทั้งสอง
หามีวิบากคือผลเสมอกันไม่ อธมฺโม นิรยํ เนติ
อธรรมนำไปสู่นิรยะ คติภพที่ไร้ความเจริญ
ที่มาแปลกันว่านรก ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ ธัมมะให้
ถึงสุคติคือคติการไปหรือที่ไปที่ดี ดั่งนี้ คำว่า บารมี
มาจากคำว่า ปรมะ แล้วมาเป็น ปารมี ไทยเรียกว่า
บารมี แต่ว่ามีความหมายถึงส่วนที่ดีเท่านั้น ไม่หมาย
เป็นกลางๆ เหมือนอย่างคำว่า ปรมะ
เพราะฉะนั้น คำว่าปารมีจึงมี
ความหมายที่แปลอีกอย่างหนึ่งว่า เลิศ อย่างยิ่ง
ก็คือเลิศหรือประเสริฐ
อีกอย่างหนึ่งบารมีแปลว่าถึงฝั่ง อันหมายความว่านำ
ให้ถึงฝั่ง คือจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้น อันหมายความว่านำ
จากฝั่งนี้คือโลก ไปสู่ฝั่งโน้นคือ โลกุตตระ
เหนือโลก พ้นโลก อันหมายถึงนิพพาน
และคำว่าบารมีนี้ ท่านแสดงว่า พระโพธิสัตว์
ได้บำเพ็ญบารมีมาโดยลำดับตลอดเวลาช้านาน
และบารมีที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญนั้น
เมื่อบำเพ็ญมากๆ เข้า ก็เป็นบารมีที่สูงขึ้นๆ
หรือบริบูรณ์ขึ้นเพราะฉะนั้น จึงจัดเป็น ๓ ชั้น
เรียกว่า บารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี
ที่เรียกว่าบารมีในเมื่อแบ่งเป็น ๓ ชั้นดั่งนี้ ก็หมายถึง
เป็นบารมีสามัญ อุปบารมีก็หมาย
ถึงบารมีที่มากยิ่งขึ้น จนถึงใกล้ที่จะตรัสรู้
เป็นพระพุทธเจ้า ปรมัตถบารมี บารมีที่
เป็นปรมัตถ์ คือให้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ก็หมาย
ถึงบารมีที่สมบูรณ์ นำให้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ความหมายของโพธิสัตว์
เพราะฉะนั้น จึงควรทราบคำว่า โพธิสัตว์
ที่เราเรียกว่าพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าเมื่อตรัส
ถึงพระองค์เองในธัมมะที่ทรงสั่งสอน ก็ทรง
ใช้คำเรียกพระองค์เองว่าโพธิสัตว์ เช่นดังที่ตรัส
ไว้มีคำแปลว่า เรา คือพระองค์เอง เมื่อเป็นโพธิสัตว์
ยังมิได้ตรัสรู้ ได้ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนั้น
และคำว่าโพธิสัตว์นี้ มาจากคำว่า โพธิ ที่แปลว่า
ความตรัสรู้ กับ สัตตะ ก็แปลว่า สัตว์
ในคำที่เรียกว่า สัตวโลก และสัตว์
ในคำที่เรียกว่าสัตวโลกนี้หมายถึงทั้งหมด
ทั้งมนุษย์เดรัจฉานในโลกมนุษย์เรานี้ และทั้ง
ผู้ที่เกิดในอบายโลก เช่นในนรก ในกำเนิดเปรต
อสุรกาย และก็หมายถึงตลอด
ถึงเทวดามารพรหมทั้งหมด และที่เรียกว่า ภูตะ
สัมภเวสี ภูตะ ก็คือผู้ที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว เป็นนั่นเป็นนี่
แล้ว สัมภเวสี ก็แปลว่าผู้ที่แสวงหาภพเกิด
ดังเช่นเรียกวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว ซึ่ง
ยังท่องเที่ยวเร่ร่อน ยังไม่ไปเกิดในภพชาติที่แน่นอน
รวมความว่าทั้งหมดนี้เรียกว่าสัตวโลกหรือสัตว์ทั้ง
นั้น อันมีความหมายว่าผู้ที่ยังข้องยังติดอยู่ จึง
ยังซัดส่ายไปในภพชาตินั้นๆ ท่องเที่ยวไปในภพชาตินั้นๆ
กระเสือกกระสนไปในภพชาตินั้นๆ จะเป็นมนุษย์
เดรัจฉาน นรก เปรต อสุรกาย หรือเทวดา มาร
พรหม ก็ตาม เมื่อยังมีความข้องติดอยู่ในโลก คือ
ยังมีกิเลส เป็นต้นว่ามีตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก
ก็จะ
ต้องมีการท่องเที่ยวระเหระหนซัดส่ายไปเกิดตาย
ในภพชาตินั้นๆ เหล่านี้เรียกว่าสัตว์ทั้งนั้น
และสำหรับสัตว์เดรัจฉานนั้น คือเฉพาะ
ก็คือเดรัจฉานที่ตามศัพท์แปลว่าไปขวาง ดังเช่นสัตว์
๔ เท้าทั้งหลาย เวลาเดินไปวิ่งไปก็ไปตามขวาง ไม่
ได้ตั้งตัวขึ้นตรงเดินไป ๒ ขาอย่างมนุษย์ แม้วานรที่ดู
ใกล้มนุษย์ก็จัดว่า ๔ ขาอยู่นั่นเอง เพราะก็ยังไป ๔
ขาไปตามขวาง ไม่ได้ตั้งตัวไปอยู่โดยปกติ ยืน ๒ ขา
ในบางครั้งบางคราว แม้ที่มี ๒ ขา เช่น นก เป็ด ไก่
ก็มีขาออกจากกลางลำตัว เราเรียก
กันว่าสัตว์เดรัจฉาน และเรียกสั้นกันว่าสัตว์
ซึ่งคล้ายๆ กับหมายความว่าจะต้องเป็นเดรัจฉานเท่า
นั้นจึงเป็นสัตว์ แต่อันที่จริงนั้น แม้มนุษย์ทุกคนที่
ยังมีกิเลสอยู่ก็เรียกว่าสัตว์ คือเป็นผู้ข้องผู้ติดอยู่
ในโลก ซึ่งยังซัดส่ายท่องเที่ยวกระเสือกกระสนไป
อยู่ในภพชาติต่างๆ
สุคติและทุคติ
และบรรดาสัตว์โลกดังที่กล่าวมานี้ ท่านผู้ที่เกิดมา
เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสัตวโลกชนิดที่มีปัญญา และนับว่า
เป็นภูมิชั้นที่สูงอยู่ในจำพวกที่เรียกว่า สุคติ
ที่แปลว่าคติที่ดี ต่าง
จากสัตว์เดรัจฉานที่เกิดร่วมโลกกับมนุษย์เหมือนกัน
แต่ก็ยังเรียกว่าเป็น ทุคติ เป็นคติที่ไม่ดี และจัดอยู่
ในจำพวกที่เรียกว่าอบาย อบายภูมิ
ที่แปลว่าภูมิของสัตว์จำพวกที่ปราศจากความเจริญ
ซึ่งได้แก่นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย จัดว่า
เป็นอบายภูมิทั้งหมด แล้วก็เป็นทุคติหรือทุคติภูมิ
ส่วนมนุษย์นั้นจัดเข้าในจำพวกที่เป็นสุคติ เทพพรหม
ทั้งหลายก็เป็นพวกสุคติคือเป็นคติที่ดี
และตามคติทางพุทธศาสนานั้น กำเนิดของสัตว์นั้นก็
ได้มีแสดงไว้ว่ามีกำเนิดหลายอย่าง ที่เกิด
จากครรภ์ของมารดาเช่นมนุษย์
และสัตว์เดรัจฉานบางจำพวก ที่เกิดจากไข่
ก็เช่นพวกสัตว์มีปีกเช่นไก่
และอีกจำพวกหนึ่งเรียกว่าลอยเกิด คือ
ไม่มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด ไม่มีไข่เป็นที่เกิด และ
ไม่มีเถ้าไคลเป็นที่เกิด ได้แก่จำพวกที่เรียกว่า
อทิสสมานกาย มีกายไม่ปรากฏทั้งหลาย
ดั่งที่เราเรียกกันว่าวิญญาณหรือผี เช่นคนตาย เมื่อ
ยังมีกิเลสอยู่ วิญญาณก็ออกจากร่าง
เป็นอทิสสมานกาย มีกายไม่ปรากฏ เมื่อยังท่องเที่ยว
อยู่ก็เรียกว่าสัมภเวสี เช่นยังมีห่วงมีกังวลในญาติ
ในทรัพย์สมบัติเป็นต้น ความห่วงกังวลนั้นก็
เป็นตัวกรรม ที่นำให้
ยังท่องเที่ยววนเวียนหาภพหาชาติเกิดอยู่
หรือว่าไปถือภพชาติเกิดทันที แต่ว่า
เป็นภพชาติที่มีระยะสั้น และจำพวกที่ไปเกิด
เป็นสัตว์นรกเปรตอสุรกาย เป็นเทพเป็นพรหม
ทั้งหลาย ก็เป็นพวกอทิสสมานกาย มีกาย
ไม่ปรากฏแก่ตามนุษย์เท่านั้น พวกนี้เรียกว่าลอยเกิด
ตามศัพท์ก็ว่า โอปปาติกะ อันหมายความว่า
ผุดเกิดขึ้นมาทันทีเป็นภพชาตินั้นๆ
แม้สัมภเวสีที่ว่าแสวงหาภพเกิดนั้น ก็มี
ความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า ก็
เป็นภพชาติอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่เป็นภพชาติระยะสั้น
ที่ยังเนื่องอยู่ด้วยความกังวลอาลัยห่วงใย คือ
เป็นตัวกรรม ผูกพันอยู่กับทรัพย์สมบัติครอบครัว
เป็นต้น เหล่านี้ก็เป็นอีกกำเนิดหนึ่ง
เป็นโอปปาติกะลอยเกิด
การเกิดก็มีหลายชนิดดังที่มีแสดงไว้ดั่งนี้ และก็
เป็นไปตามกรรมคือการงานที่ได้กระทำเอาไว้
กรรมดีก็ให้ไปดี กรรมชั่วก็ให้ไปชั่ว
ดังพระพุทธภาษิตที่ได้ยกมาแล้วข้างต้น
พระโพธิสัตว์ยังเป็นสัตวโลก
พระโพธิสัตว์ก็เป็นสัตว์ที่ยังข้องติดอยู่ในโลก คือยัง
เป็นสัตวโลก และเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ เรียกว่า
เป็นสัตว์มนุษย์ซึ่งเป็นจำพวกที่มีปัญญาสูง
เป็นสชาติปัญญาที่นับเป็นสุคติคือคติที่ดี
เป็นผลของกุศลคือกรรมที่เป็นส่วนดี อันประกอบ
ด้วยปัญญาที่ฉลาด กุศล
นั้นก็แปลอย่างหนึ่งว่าฉลาด
แต่ก็มีคำแปลหลายอย่างเหมือนกัน แปลว่าตัดชั่วก็
ได้ แต่มุ่งถึงปัญญาที่ฉลาด เพราะฉะนั้น เกิดมา
เป็นมนุษย์นี้จึงมีปัญญาติดตัวมาอันเรียกว่า
สชาติปัญญา ปัญญาที่มากับชาติคือความเกิด
สูงกว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย สามารถที่จะ
ใช้ปัญญาที่มากับความเกิดนี้อบรมทวีปัญญาให้มากขึ้น
สร้างความเจริญต่างๆ ให้บังเกิดขึ้นทั้งในภายนอกทั้ง
ในภายใน ในภายนอกก็คือว่าสร้างบ้านเมืองเป็นต้น
ในภายในก็คือว่าอบรมปัญญาในจิตใจที่มีอยู่เป็นพื้น
ให้เจริญยิ่งขึ้นๆ จนถึงเจริญที่สุด ดังพระพุทธเจ้า
ผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ก็
ได้ทรงพัฒนาคุณธรรมทางจิตใจ ซึ่งมีปัญญา
เป็นยอดเป็นส่วนสำคัญนี้ให้เจริญยิ่งขึ้นโดยลำดับ จน
ถึงได้ตรัสรู้พระธรรม เป็น
อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สัมมาสัมโพธิญาณ
ก็แปลว่าความตรัสรู้เองชอบ เป็น สัมมาสัมพุทธะ
ที่แปลว่าผู้ตรัสรู้เองชอบ สัมมา ก็แปลว่าชอบ สัม
หรือ สัง ก็แปลว่า เอง โพธิ ก็ตรัสรู้ สัมมาชอบ สัง
เอง โพธิ ตรัสรู้ รวมเป็น สัมมาสัมโพธิญาณ แปลว่า
ญาณคือความตรัสรู้เองชอบ อนุตตระ ก็แปลว่า
ยอดเยี่ยม ตามศัพท์แปลว่าไม่มีความรู้อื่น
จะยิ่งขึ้นไปกว่า
พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อความตรัสรู้
อันคำว่า ยอดเยี่ยม คือไม่มีความรู้อื่นจะยิ่งไปกว่า
หรือจะเป็นบุคคล ก็จะไม่มีบุคคลอื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า
ไม่ใช่เป็นคำโอ้อวด แต่ว่าเป็นคำจำกัดความ จำกัด
ความว่ารู้ถึงที่สุด จบ เสร็จสิ้น บริสุทธิ์ บริบูรณ์
บริสุทธิ์ก็คือว่าถูกต้อง ไม่มีผิดพลาดที่จะต้องแก้ไข
บริบูรณ์ก็คือว่าเต็มที่ไม่มีบกพร่องที่จะต้องเพิ่มเติม
อนุตตระจึงมีความหมายว่าบริสุทธิ์บริบูรณ์ดั่งนี้
ถ้าหากว่าไม่เป็นอนุตตระ คือไม่มีความรู้อื่นที่
จะยิ่งขึ้นไปกว่า อันหมายความว่ายังมีความรู้
อื่นที่ยิ่งขึ้นไปอีก ก็แปลว่ายังไม่จบจะต้องศึกษาปฏิบัติ
กันต่อไปเพื่อให้จบ ให้รู้เสร็จ ก็ยังเป็นพุทธะไม่ได้
ต่อเมื่อความรู้นั้นจบเสร็จ บริสุทธิ์บริบูรณ์ทั้งหมด
ซึ่งมีอีกคำหนึ่งเรียกว่า สัพพัญญู รู้ทั้งหมด ก็หมาย
ความว่า รู้ครบถ้วนถูกต้องทั้งหมดดั่งที่กล่าวมา
นั้นนั่นแหละ จึงจะเป็น อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ
เป็นญาณ ความหยั่งรู้ ความตรัสรู้เองชอบที่
เป็นอนุตตระ ไม่มีที่จะยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือเป็นสัพพัญญู
รู้หมด จบถ้วนเสร็จกิจ นี่ก็เป็นเพราะกุศลที่นำมา
ให้เกิดเป็นมนุษย์ และมนุษย์ก็ใช้กุศลคือ
ความฉลาดนี้เองสะสมเพิ่มเติมให้ความรู้มากขึ้นๆ
และพัฒนายิ่งขึ้นๆ จนจบเสร็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ทรงพัฒนากุศลที่มีมา
เป็นกำเนิดดังกล่าวนั้นเองในเบื้องต้นขึ้นมาโดยลำดับ
และเมื่อพระองค์ได้ปรารถนา พุทธภูมิ
ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อให้บรรลุถึง
อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ดังกล่าวมานี้ จึง
ได้เรียกว่า โพธิสัตว์ หรือพระโพธิสัตว์
คือสัตว์ที่บำเพ็ญเพื่อโพธิ ความตรัสรู้ หรือเป็นสัตว์ที่
จะตรัสรู้ หรือว่าเป็นสัตตะคือผู้ข้องนั่นแหละ
แต่ข้องอยู่เพื่อโพธิคือความตรัสรู้ ข้องอยู่ในโพธิคือ
ความตรัสรู้
ใน ภยเภรวสูตร แสดงว่า พระบรมศาสดาตรัสว่า
เมื่อทรงเป็นโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้
ทรงมีกายกัมมันตะเป็นต้นบริสุทธิ์ อริยะเหล่าใด
มีกายกัมมันตะเป็นต้น บริสุทธิ์ เสพเสนาสนะป่า ทรง
เป็นผู้หนึ่งแห่งอริยะเหล่านั้น พระสูตรนี้แสดงว่า
ทรงเรียกว่าอริยะสำหรับพระโพธิสัตว์ได้
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 13:05 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๗ บารมี (ต่อ)
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
คำแปลของบารมีและความหมายที่สำคัญ
ได้แสดงมาแล้ว วันนี้จะได้แสดงต่อให้มีความเข้าใจใน
ความหมายของบารมีและสิ่งที่ตรงกันข้าม
บารมีคือคุณธรรมที่นำผู้ปฏิบัติให้พ้นโลก
คำว่า บารมี ที่แปลว่า อย่างยิ่ง หรือที่มีความหมายว่า
เลิศ ประเสริฐ ก็หมายถึงธัมมะ
หรือภูมิชั้นของธัมมะที่เป็นคุณธรรม ที่เป็นความดี
ในจิตใจ ซึ่งได้สั่งสมเพิ่มเติมให้ยิ่งขึ้นๆ คือให้
เป็นอย่างยิ่ง คือให้ยิ่งขึ้นอยู่เสมอ จนถึงบริบูรณ์เต็มที่
ในที่สุด อย่างยิ่งก็คือว่าคุณธรรมที่สั่งสมอบรมให้
เป็นอย่างยิ่ง คือยิ่งขึ้นๆ ดังกล่าวและที่หมาย
ถึงว่าเลิศหรือประเสริฐ ก็โดยที่คุณธรรมที่
เป็นอย่างยิ่งนั้นเป็นของเลิศเป็นของประเสริฐ
เป็นของดีที่สุด และที่แปลว่าให้ถึงฝั่งนั้น ก็หมาย
ถึงคุณธรรมที่นำผู้ปฏิบัติให้ออกจากฝั่งนี้ จนพ้น
จากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้น เป็น
ความหมายทางรูปธรรมหมายถึงฝั่ง ๒
ฝั่งที่มีมหาสมุทร มีห้วงน้ำลึก มีทะเลหลวงคั่น
อยู่กลาง แล้วก็เปรียบสัตวโลกว่าเหมือนอย่าง
ผู้ที่ข้ามจากฝั่งนี้คือโลก หรือว่าความทุกข์
หรือว่ากิเลส ซึ่งนับว่าเป็นฝั่งนี้
เพราะว่าที่ชื่อว่าโลกนี้ ตามความหมาย
ในทางธรรมก็หมายถึงว่าที่ๆ เป็นทุกข์ มีกิเลส มีทุกข์
สัตวโลกอยู่ฝั่งนี้ก็ต้องประกอบด้วยกิเลส ประกอบ
ด้วยความทุกข์ จะพ้นจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้น อันหมายถึง
โลกุตตระ พ้นโลกคือ นิพพาน ก็
ต้องอาศัยคุณธรรมที่ได้สั่งสมอบรมยิ่งขึ้นๆ ที่
เป็นอย่างยิ่งนั้น เหมือนอย่างเป็นเรือสำหรับ
โดยสารข้ามไปจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้น
แล้วก็คุณธรรมที่เหมือนอย่างเรือที่ทำให้ข้ามฟาก
ได้นั้น ก็คือบารมี ที่แปลว่าให้ถึงฝั่งโน้น ให้ถึงฝั่ง
ก็หมายถึงคุณธรรมนั้นเอง
บารมีมาจากกรรม
และบารมีนี้ก็มาจาก กรรม
คือการงานที่บุคคลกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ
ประกอบด้วยเจตนาคือความจงใจ
กรรมที่บุคคลกระทำนั้น กรรมดีก็มี
กรรมชั่วก็มี กรรมดีก็ให้ผลดี กรรมชั่วก็
ให้ผลชั่ว ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ใน
อภิณหปัจจเวกขณะ ที่เราทั้งหลายได้สวดกัน
อยู่ทุกเวลาเช้าว่า กมฺมสฺสโกมฺหิ เรามีกรรม
เป็นของๆ ตน กมฺมทายาโท
เป็นทายาทรับผลของกรรม กมฺมโยนิ
เรามีกรรมเป็นกำเนิด กมฺมพนฺธุ มีกรรม
เป็นเผ่าพันธุ์ กมฺมปฏิสรโณ มีกรรมเป็นที่อาศัย
ยํกมฺมํ กริสฺสามิ จักกระทำกรรมอันใดไว้ กลฺยาณํ
วา ปาปกํ วา ดีหรือชั่ว ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิ จัก
เป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ดั่งนี้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เจตนาหํ ภิกขเว กมฺมํ วทามิ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม
เพราะว่าบุคคลมีเจตนาคือความจงใจแล้ว
จึงกระทำกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง
ทางใจบ้าง” ดั่งนี้
บารมีหมายถึงเก็บดี เก็บถูกไว้ในจิตใจ
เพราะฉะนั้น กรรมที่บุคคลกระทำนี้เอง ถ้า
เป็นกรรมดีก็เป็น บุญกรรม กุศลกรรม ถ้า
เป็นกรรมชั่วก็เป็น บาปกรรม อกุศลกรรม
สุจริตก็จัดเข้าในกรรมดี ทุจริตก็จัดเข้า
ในกรรมชั่ว กรรมที่ทุกคนได้กระทำนี้ ย่อม
ให้ผลในปัจจุบันก็มี ในภายหน้าก็มี ในเวลาที่ถัดไป
จากภายหน้านั้นไปก็มี เหมือนอย่างว่าให้ผลในวันนี้
ให้ผลในวันพรุ่งนี้ ให้ผลในวันที่ถัดจากวันพรุ่งนี้ไป
ให้ผลในภพนี้ ให้ผลในภพหน้า ให้ผลในภพที่ถัดไป
จากภพหน้า กรรมย่อมให้ผลต่างๆ กันดั่งนี้
แต่ว่าเมื่อกรรมให้ผลแล้ว ก็เป็น อโหสิกรรม
คือว่ากรรมที่ได้ให้ผลเสร็จไปแล้ว เพราะฉะ
นั้นกรรมซึ่งเป็นตัวเหตุ และผลของกรรมซึ่ง
เป็นตัวผล จึงมีเวลาที่เสร็จสิ้น
แต่ว่าเมื่อทำกรรมดีไว้บ่อยๆ ก็ย่อมมีความคุ้นเคยอยู่
ในความดี มีความดียังติดอยู่ ดังที่เรียกว่าเป็น นิสสัย
เป็น อุปนิสสัย เป็น วาสนา ยังไม่หมดไป ความคุ้นเคย
ในทางดี ความดีที่ยังเหลืออยู่ติดอยู่ ไม่หมดสิ้นไป
ได้เหมือนอย่างกรรม นี่แหละเรียกว่าบารมี เป็น
ความคุ้นเคยในทางดี อันมา
จากกรรมดีที่ประกอบกระทำ และ
ความดีที่เหลือติดอยู่เป็นความคุ้นเคย
ในทางดีดังกล่าวนี้ ก็เป็นสิ่งที่สั่งสมเพิ่มเติมขึ้นได้
อยู่เสมอ คือยิ่งๆ ขึ้นไปอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น บารมี
จะหมายถึงว่า เก็บดี หรือ เก็บถูก ไว้ก็ได้ เก็บดี เก็บถูก
ไว้ในจิตใจ ไม่หมดสิ้นไป
อาสวะหมายถึงเก็บชั่วเก็บผิดไว้ในจิตใจ
อีกอย่างหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับบารมีก็คือ อาสวะ
ที่แปลว่า ภาวะที่ดองสันดานอันเป็นฝ่ายชั่ว
แม้อาสวะนี้ก็มีลักษณะเก็บแต่ตรงกันข้ามกับบารมี
คือเป็นความเก็บชั่วเก็บผิดเอาไว้ในจิตใจ และก็มา
จากกรรมอีกเหมือนกันที่เป็นกรรมฝ่ายชั่ว
เมื่อกระทำกรรมที่ชั่วที่ผิด เป็นอกุศลกรรม
เป็นบาปกรรมเป็นทุจริตกรรม กรรมที่ชั่วนั้นก็
ให้ผลชั่ว ในปัจจุบันบ้าง ในภายหน้าบ้าง
ในเวลาที่ถัดไปจากภายหน้านั้นบ้าง เหมือนดั่งที่
ได้กล่าวแล้วในเรื่องของกรรมดี
และเมื่อกรรมชั่วให้ผลแล้วก็เป็นอันว่า
เป็นอโหสิกรรม คือว่าแล้วกันไป เพราะฉะนั้น
แม้กรรมชั่วอันเป็นส่วนเหตุและกรรมชั่วซึ่งเป็น
ส่วนผล จึงมีเวลาที่แล้วกันไป จบเสร็จสิ้นกันไป
แต่ว่ากรรมชั่วที่กระทำนั้น ก็ทำให้เกิดความคุ้นเคย
ในกรรมชั่วในความชั่ว เป็นความชั่วที่เก็บสั่งสม
อยู่เช่นเดียวกัน เรียกว่า อาสวะ ที่แปลว่า ดองสันดาน
หรือว่า หมักหมมอยู่ในสันดาน อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า
อนุสัย แปลว่า นอนเนื่อง นอนจมอยู่ในจิต หรือว่าใน
จิตสันดาน คำว่า สันดาน นั้นหมาย
ถึงภูมิพื้นของจิตใจที่มีขึ้นอยู่ และมีสืบเนื่องกันไป ใน
ส่วนกรรมดีนั้นก็เพิ่มเติมบารมี เก็บดีเก็บถูก
เป็นสันดานอยู่ในจิตใจที่เรียกว่าจิตสันดาน หรือว่า
ธรรมสันดาน บารมีจึงเป็นสิ่งที่ประกอบอยู่
ในจิตสันดานเป็นจิตสันดานฝ่ายดี ส่วนอาสวะนั้นก็ก่อ
ให้เกิดสันดานซึ่งเป็นฝ่ายชั่ว ติดต่อกันไปได้เช่นเดียวกัน
ก็เป็นจิตสันดานฝ่ายชั่ว ซึ่งประกอบด้วยอาสวะ
แต่เมื่อพูดเป็นกลางๆ ว่าจิตสันดาน
ความสืบต่อไปของจิต บารมีก็สั่งสมเพิ่มเติมอยู่
ในจิตสันดานส่วนหนึ่ง อาสวะก็สั่งสมเพิ่มเติมอยู่
ในจิตสันดานอีกส่วนหนึ่ง และบารมีนั้นก็มา
จากกรรมดี อาสวะนั้นก็มาจากกรรมชั่ว
นิสสัยและอัธยาศัย
และนอกจากนี้ยังมีคำที่เกี่ยวกับจิตใจดังกล่าวนี้อีก ๒
– ๓ คำ คือ นิสสัย อุปนิสสัย วาสนา คำว่านิสสัย
นั้นแปลว่าที่อาศัย อุปนิสสัยนั้นก็แปลว่าสิ่งที่
เข้ามาอาศัยหรือว่าที่ๆ อาศัยนั้นเองที่แรงขึ้น
ส่วนวาสนานั้นแปลว่าความอยู่ตัว บุคคลที่
ได้ประกอบกรรมดีอยู่บ่อยๆ กรรมดีนั้นก็เข้ามา
เป็นบารมีอยู่ในจิตใจ บารมีบางอย่างมาจากศีล มา
จากทาน เมื่อมาเป็นบารมีอยู่ในจิตใจ
ก็ปรากฏออกมาแสดงออกมาเป็นนิสสัย สีลนิสสัย
ที่แปลว่า อาศัยศีลหรือมีศีลเป็นที่อาศัย
จิตใจที่มีศีลเป็นที่อาศัย ก็ทำให้มีความเอนเอียงของใจ
มีความพอใจชอบรักษาศีล บารมีที่มาจากทานก็ทำ
ให้จิตใจประกอบด้วยทานนิสสัย คือมีทานเป็นที่อาศัย
หรือาศัยทาน ก็ทำให้มีจิตใจเอนเอียงชอบพอใจไป
ในทางทำทาน ชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจาน
อาการที่เอนเอียงไปของใจดังกล่าวนี้เรียกว่า
อัธยาศัย คนที่มีอัธยาศัยชอบรักษาศีล
ก็เรียกว่ามีจิตที่เป็นสีลนิสสัย คนที่มีอัธยาศัยชอบ
ให้ทาน ก็เรียกว่ามีจิตเป็นทานนิสสัย ดังกล่าว
ก็คือมีนิสสัยอยู่ในทาน มีนิสสัยอยู่ในศีล ก็ทำ
ให้มีอัธยาศัยชอบให้ทาน ชอบรักษาศีล ในทางตรง
กันข้าม คนที่ประกอบกรรมชั่วอันทำให้บังเกิด
เป็นอาสวะอยู่ในจิตใจ ดองจิตสันดาน เป็นฝ่ายชั่ว
เก็บชั่วเก็บผิด ก็ทำให้มีนิสสัยไปในทางต่างๆ
เช่นอาสวะที่มาจากฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็ทำ
ให้มีนิสสัยร้ายเรียก ปาณาติบาตนิสสัย
นิสสัยชอบฆ่าสัตว์ ถ้าเป็นอาสวะที่มา
จากกรรมชั่วที่เกิดจากการลักทรัพย์ ก็
เข้าไปดองสันดาน เป็นอาสวะที่ทำให้มีนิสสัยเป็น
อทินนาทานนิสสัย นิสสัยที่ชอบลักทรัพย์
มีการลักทรัพย์เป็นนิสสัย ก็ทำ
ให้มีอัธยาศัยที่ชอบไปในทางฆ่าสัตว์บ้าง ชอบไป
ในการลักทรัพย์เป็นนิสสัย ก็ทำ
ให้มีอัธยาศัยที่ชอบไปในทางฆ่าสัตว์บ้าง ชอบไป
ในการลักทรัพย์บ้างเป็นต้น ตามประเภทของ
ความชั่วที่เข้าไปทำให้เกิดอาสวะ
แล้วก็สร้างนิสสัยตามประเภทของความชั่วนั้นๆ
เช่นเดียวกับในทางดี เมื่อประกอบกรรมที่ดีก็เข้าไป
เป็นบารมี สร้างนิสสัยในทางดีต่างๆ
ตามประเภทของความดีที่กระทำ เพราะฉะนั้น
คนเราจึงปรากฏว่ามีนิสสัยดีบ้าง มีนิสสัยชั่วบ้าง
และนิสสัยดีนั้นก็มีต่างๆ กัน นิสสัยชั่วนั้นก็มีต่างๆ กัน
และบางคนก็มีทั้ง ๒ อย่าง ดีบางอย่าง ชั่วบางอย่าง
และโดยมากก็เป็นเช่นนั้น เพราะว่าบุคคลที่
เป็นสามัญชนทุกคนนั้นก็ได้ประกอบกรรมที่ดี
กันมาบ้าง ที่ชั่วกันมาบ้าง ก็เข้าไปสร้างบารมีไว้บ้าง
สร้างอาสวะไว้บ้างในจิตใจ เข้าไปในสันดานอยู่ในจิตใจ
เป็นสันดานทางดีก็เรียกว่า ธรรมสันดาน หรือ
จะเรียกว่า บารมีสันดาน ก็ได้ ถ้าเป็นทางชั่วก็เป็น
อาสวสันดาน หรือเรียกว่า อธรรมสันดาน ก็ได้
ก็ทำให้ปรากฏเป็นนิสสัยที่ดีอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง
นิสสัยที่ชั่วอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง แล้วก็ปรากฏ
เป็นอัธยาศัยคือความที่เอนเอียงไปของใจ ไป
ในทางดีอย่างนั้นๆ บ้าง ไปในทางชั่วอย่างนั้นๆ บ้าง
ดังที่ปรากฏกันอยู่ในทุกๆ คน
วาสนาแปลว่าความอยู่ตัว
และที่เรียกว่า วาสนา นั้น มักจะพูดกัน
ในภาษาไทยว่ามีวาสนาบารมี หรือมีบารมีวาสนาดี
มีวาสนาไม่ดี ถ้าไม่ดีละก็ไม่ใช้คำว่าบารมี ถ้าดีก็อาจ
จะใช้รวมกันว่าวาสนาบารมีดี ถ้าไม่ดีก็ไม่ใช้บารมี
ว่าวาสนาไม่ดี คำว่าวาสนานั้นแปลว่าความอยู่ตัว มีได้
ทั้งทางกายทั้งทางใจ
คืออาการทางกายที่ทำอะไรบ่อยๆ จนอยู่ตัวก็
เป็นวาสนาทางกาย เช่นว่าเราหัดเขียนหนังสือ
ด้วยมือขวา มือขวาเขียนหนังสือได้ แต่มือซ้ายนั้นไม่
ได้หัดให้เขียนหนังสือ เขียนไม่ได้ เราจะ
ใช้มือซ้ายเขียนหนังสือใช้ไม่ได้เขียนไม่ได้ ไม่สะดวก
ความเขียนหนังสือได้ของมือขวาจึงอยู่ตัว ดั่งนี้เรียกว่า
เป็นวาสนาของมือขวา มือซ้ายไม่มีวาสนา
ในการเขียนหนังสือเพราะว่าไม่ได้หัด ไม่
ได้หัดเขียนบ่อยๆ จนเขียนได้ วานร
เป็นสัตว์ที่มีลักษณะกระโดดโลดเต้น
ไต่ไปตามต้นไม้ ก็เรียกว่าวานรนั้นมีวาสนา
ในการกระโดดโลดเต้น ในการไต่เต้นไปตามต้นไม้
เป็นกิริยาทางกาย ส่วนทางจิตใจนั้นก็เช่นเดียวกัน
จิตใจที่หัดปฏิบัติฝึกใจไปในทางใดจนอยู่ตัวในทางนั้น
ก็แปลว่ามีวาสนาในทางนั้น แต่หมายถึงว่าต้อง
เป็นสิ่งที่ทำบ่อยๆ จนอยู่ตัว เช่นจิตใจที่ปฏิบัติศีล
ได้บ่อยๆ คือตั้งใจปฏิบัติอยู่บ่อยๆ จนศีลนั้นถึงใจ
เป็นปกติของใจ ใจไม่มีเดือดร้อนในการที่จะ
ต้องมีศีล ศีลตั้งอยู่ในจิตใจเป็นปกติ แปลว่าอยู่ตัว
ก็แปลว่ามีวาสนาในศีล ทำสมาธิได้บ่อยๆ อยากจะ
ให้จิตสงบเมื่อไรก็ปฏิบัติได้สะดวก แปลว่าจิตอยู่ตัว
ในสมาธิได้ ก็แปลว่ามีวาสนาในทางสมาธิ นี่
เป็นตัวอย่างของวาสนาทางจิตใจ
วาสนามีได้ทั้งทางกายและใจ
ในการปฏิบัติความดีทุกอย่าง ก็
ต้องเริ่มตั้งแต่การหัดทำ ที่ยังไม่สะดวกยังไม่คล่อง
ก็ยังไม่มีวาสนาคือยังไม่อยู่ตัว จน
ถึงเมื่อสะดวกเมื่อคล่อง และการทำความดีนั้นๆ ยัง
ไม่ขัดข้อง ก็มีวาสนาในการทำความดีนั้นๆ
ทำชั่วก็เหมือนกัน ต้องหัดต้องทำ จะเป็นการฆ่าก็ตาม
การลักก็ตาม ต้องมีการหัดมีการต้องทำบ่อยๆ
โกหกก็เหมือนกัน ต้องหัดโกหกบ่อยๆ มีความถนัด
ในทางที่จะโกหกคน สุราก็เหมือนกัน
ต้องมีการหัดดื่มมาตั้งแต่ต้น ทุกคนทีแรกก็ดื่มสุราไม่
เป็น เมื่อหัดไปๆ แล้วก็ดื่มได้และเมื่อเกิดติดสุราขึ้น
แล้ว ก็เป็นอันว่าอยู่ตัวทีเดียว ต้องดื่มสุราอยู่เสมอ นี่ก็
เป็นวาสนาในทางดื่มสุรา เหล่านี้เป็นวาสนาที่ไม่ดี
ส่วนที่พูดกันในภาษาไทยว่ามีวาสนาไม่มีวาสนานั้น ก็อาจ
จะหมายความว่ามุ่งถึงในทางดี คือว่าไม่ได้ทำความดี
ไว้อย่างเพียงพอ ไม่ได้ทำความดีไว้มากในอดีตปางก่อน
มาในปัจจุบันจึงมีวาสนาคือหมายถึงว่ามี
ความเจริญต่างๆ น้อย เรียกว่าไม่มีวาสนา
และเมื่อทำความดีต่างๆ ไว้มาก ในปัจจุบันก็มี
ความเจริญ ก็เรียกว่ามีวาสนาดี ก็ไปได้เหมือนกันแต่
ยังไม่สมบูรณ์ ถ้าสมบูรณ์ก็เป็นได้ทั้ง ๒
ทางดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะวาสนานั้นมีได้
ทั้งทางกายทั้งทางใจ
ท่านแสดงว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงละได้ทั้งกิเลส
ทั้งวาสนา แต่พระอรหันต์สาวกนั้นละกิเลส
ได้แต่ละวาสนาไม่ได้
ท่านยกตัวอย่างเช่นว่าท่านพระสารีบุตรซึ่ง
เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ละกิเลสได้
แต่ละวาสนาทางกายไม่ได้ เช่นว่าเมื่อท่านเดินไปที่ไหน
พบหลุมพบบ่อ ท่านมักจะชอบกระโดดข้าม
ก็มีแสดงว่าในอดีตชาติท่านเคยเป็นวานร
ท่านมีลักษณะชอบกระโดดโลดเต้น มา
ในปัจจุบันวาสนาที่เคยกระโดดนั้นก็ยังติดมา
หรือว่าพระเถระบางองค์ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว
ละกิเลสได้แล้วแต่ว่าปากร้าย เป็นคนที่ชอบพูดจา
ใช้คำร้ายๆ แรงๆ อย่างคนที่ชอบพูด
ในภาษาชาวบ้านเรียกไอ้เรียกอีอะไรต่างๆ
แม้ว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว
วาสนาที่มีวาจาร้ายดังที่กล่าวนั้นก็ยังไม่หมด
เรียกว่ายังติดมาอยู่ แต่ใจไม่ได้ร้ายไปตามที่พูด นี่
เป็นวาสนาที่เคยทำมาบ่อยๆ มันอยู่ตัว ก็เลยละยาก นี่
เป็นเรื่องของทางกาย แต่ว่ากิเลสทางจิตใจนั้นละ
ได้หมด นี่คือวาสนา
พื้นฐานของจิตใจมาจากการส้องเสพ
นิสสัย อุปนิสสัย วาสนา บารมี อาสวะ ก็มีความหมาย
ถึงภาวะที่เป็นพื้นฐานของจิตใจ อันเนื่องมา
จากกรรมดีกรรมชั่วที่ตนกระทำนั้นเอง
เมื่อทำกรรมดีก็เหลือเป็นบารมีเก็บสะสมไว้
เมื่อทำกรรมชั่วก็เหลือเป็นอาสวะเก็บสะสมไว้
บารมีก็เก็บดีเก็บถูก อาสวะก็เก็บชั่วเก็บผิด ที่
ไม่หมดสิ้นเพิ่มเติมขึ้นอยู่เสมอ และก็ทำให้มาปรากฏ
เป็นนิสสัย อุปนิสสัยต่างๆ เป็นอัธยาศัยต่างๆ
ดีบ้างชั่วบ้าง และทั้งดีทั้งชั่วนั้น สิ่งที่
ได้ประกอบกระทำบ่อยๆ จนอยู่ตัวก็เรียกว่า
เป็นวาสนาที่ละยาก ถ้าไม่อยู่ตัวแล้วละง่ายกว่า ถ้า
อยู่ตัวละยาก ความที่เป็นวาสนาคืออยู่ตัวนั้นก็เกิด
จากทำบ่อยๆ เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปเข้าแล้ว
เหตุเบื้องต้นของทั้งหมดนี้จึงอยู่ที่ เสวนา
คือการส้องเสพ
การที่กระทำอะไรทางกายทางวาจาทางใจเรียกว่าการเสวนาคือการส้องเสพ
ทั้งนั้น ทำกรรมดีก็ส้องเสพกรรมดี
ทำกรรมชั่วก็ส้องเสพกรรมชั่ว เพราะฉะนั้น
เสวนาคือการส้องเสพนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ พระพุทธเจ้า
จึงได้ตรัสไว้เป็นมงคลคาถาที่ ๑ ข้อที่ ๑ และที่ ๒
ทีเดียวว่า อเสวนา จ พาลานํ ไม่ส้องเสพคนพาล
ทั้งหลาย ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ส้องเสพบัณฑิตคือคนดี
ทั้งหลาย เพราะว่าคนพาลคือคนชั่วคนเขลา คำว่า
พาละ นั้นแปลว่า เขลา ไม่ฉลาด หมายถึงคนชั่ว
เพราะการที่คนทำชั่วนั้น ก็เพราะว่ามีความเขลา
ความไม่ฉลาดจึงทำ เพราะฉะนั้น คนพาล
จึงแปลว่าคนชั่ว ตามศัพท์แปลว่าคนเขลา
ถ้าแปลรวมกันก็คือว่าคนเขลาคนโง่คนชั่ว
และก็หมายถึงตนเองด้วยผู้อื่นด้วย ตนเองเมื่อ
เป็นคนเขลาไม่ฉลาดเป็นคนทำชั่วก็ชื่อว่าพาล คน
อื่นก็เหมือนกัน ถ้าเป็นคนที่ทำชั่วไม่ฉลาดก็
เป็นคนพาล ไม่ส้องเสพคนพาลก็คือ ไม่ส้องเสพคน
อื่นที่เป็นคนชั่วคนไม่ฉลาด ทั้งไม่ส้องเสพตนเองที่
เป็นคนชั่ว คนไม่ฉลาด คือต้องปฏิบัติละความชั่วความ
ไม่ฉลาดในตัวเองออกไป บัณฑิต นั้นก็หมาย
ถึงคนดีมีปัญญา คือคนที่ดีด้วย คนที่ฉลาดด้วย
คนดีมีปัญญาตนเองเมื่อเป็นคนดีมีปัญญาก็เป็นบัณฑิต
คนอื่นที่เป็นคนดีมีปัญญาก็เป็นบัณฑิตให้ส้องเสพคน
อื่นที่เป็นคนดีมีปัญญา และส้องเสพตนเองที่
เป็นคนดีมีปัญญา คือต้องสร้างตนเองให้
เป็นคนดีมีปัญญาขึ้นมาด้วย และก็ส้องเสพท่านที่
เป็นคนดีมีปัญญาด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้
เมื่อส้องเสพคนที่ดีก็ทำให้กรรมดี ทำ
ให้เจริญบารมีสร้างนิสสัยอุปนิสสัยวาสนาในทางดี
เมื่อส้องเสพคนชั่วคือคนพาล ก็ทำให้ทำกรรมชั่ว
เพิ่มเติมอาสวะ สร้างนิสสัย อุปนิสสัย อัธยาศัย
ตลอดจนถึงวาสนาในทางชั่ว
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 13:11 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๘ ที่มาของชาดก
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
ได้แสดงความหมายของคำว่า บารมี ที่เกี่ยวโยง
กับอีกหลายคำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปในจิตใจ ซึ่ง
ผู้ศึกษาพุทธศาสนาควรจะต้องทราบ และเมื่อแสดง
ถึงเรื่องบารมี ก็ยังจะต้องทราบถึงเรื่อง
อื่นที่สัมพันธ์กันอยู่อีก คือเรื่อง ชาดก อันกล่าวได้ว่า
เป็นเรื่องที่แสดงถึงจริยาของพระโพธิสัตว์
คือพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนจะตรัสรู้
ได้ทรงปรารถนา พุทธภูมิ และก็
ได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาในชาตินั้นๆ ที่มีเล่าไว้
ในพระไตรปิฏกด้วย
ในอรรถกถาแห่งพระไตรปิฏกด้วย
บาลี คัมภีร์ชั้นแรกในพุทธศาสนา
คำว่าชาดกนั้น ก็มาจากคำว่าชาติคือความเกิด ชาตกะ
ก็คือผู้เกิด หรือหมายถึงเรื่องของผู้เกิดมาในชาตินั้นๆ
และก็มีแสดงว่าเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าเอง
โดยมาก เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ทรงเกิดมาในชาตินั้นๆ
ทรงบำเพ็ญพระบารมีอย่างนั้นๆ
และก็มีเรื่องของพระสาวกหลายท่านเกิดร่วมบำเพ็ญบารมี
กันมาด้วย หรือปรารถนาเป็นพระพุทธสาวก
ก็บำเพ็ญบารมีของพระพุทธสาวกมาในชาตินั้นๆ
ในเบื้องต้นก็ควรจะทราบว่า คัมภีร์
ในพุทธศาสนาอันหมายถึงว่าที่จารึกลงเป็นตัวอักษร
ซึ่งมีประวัติว่าเริ่มต้นจารึก
ให้บริบูรณ์ที่ลังกาทวีป ในสมัยสังคายนาที่ทำ
ในลังกาทวีปครั้งหนึ่ง หลัง
จากพุทธปรินิพพานหลายร้อยปีที่เล่าไว้
ในพุทธประวัติแล้ว คัมภีร์ที่
เป็นคัมภีร์ชั้นแรกอันแสดงว่าเป็นพุทธพจน์
หรือพุทธภาษิตเป็นส่วนใหญ่และก็มีสาวกภาษิต
หรือแม้เทวดาภาษิต ซึ่ง
เป็นภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองหรือว่าที่
เข้าทางแห่งพุทธศาสนารวมอยู่ด้วย และแม้ภาษิตที่ไม่
เข้าทางพุทธศาสนาที่มีผู้มากราบทูล
พระพุทธเจ้าก็ตรัสแก้ คือมีทั้ง ๒ อย่าง คืออย่างที่ไม่
เข้าทางพุทธศาสนาโดยตรงหรือผิดทางพุทธศาสนา
และที่พระพุทธเจ้าตรัสแก้ให้เข้าทางพุทธศาสนา ก็มี
อยู่เป็นอันมากเหมือนกัน ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นแรกที่จารึก
ไว้ คัมภีร์ชั้นแรกนี้เรียกว่า บาลี จากภาษามคธว่า
ปาลิ คำว่า ปาลิ หรือ บาลีนี้ เดิมไม่ได้
เป็นชื่อของภาษา แต่ว่าเป็นชื่อของคัมภีร์ ซึ่งหมายถึงว่า
เป็นคัมภีร์ชั้นแรกที่ได้จารึก
เป็นตัวอักษรรวบรวมเอาไว้ และก็มีความหมาย
ถึงว่า เป็นที่รวมพุทธพจน์เป็นต้นดังกล่าว ซึ่ง
เป็นหลักฐานในขั้นแรกอันเป็นขั้นสำคัญ คือรวมไว้
ในชั้นแรกให้เป็นหลักฐานอันสำคัญ
เป็นขอบเขตของพุทธศาสนา ว่าพุทธศาสนาซึ่ง
เป็นขั้นสำคัญนั้นย่อมรวมอยู่ในขอบเขตอันนี้
คือที่จารึกกันไว้นี้ทั้งหมด เหมือนอย่างคันนาที่
เป็นขอบเขตของนา คำว่าบาลีมีความหมายดั่งนี้ ไม่ใช่
เป็นชื่อของภาษา แต่เป็นชื่อของคัมภีร์ที่เป็นชั้นแรก
เป็นหลักสำคัญดังกล่าว
อรรถกถา ฏีกา และคัมภีร์อื่นๆ
กถา คือถ้อยคำที่แสดงเนื้อความของบาลี
คืออธิบายบาลีเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย เรียกว่า
อรรถกถา นับเป็นคัมภีร์ชั้น ๒ และ
ยังมีถ้อยคำที่อธิบายขยายความอรรถกถา
นั้นออกไปอีก เรียกว่า ฏีกา เป็นคัมภีร์ชั้น ๓ และก็
ยังมีกถาคือถ้อยคำอธิบายฏีกานั้นออกไปอีก เรียกว่า
อนุฏีกา เป็นคัมภีร์ชั้น ๔ และก็ยังมีคัมภีร์ที่มี
ผู้รวบรวมรจนาขึ้นไว้เป็นพิเศษอีกเป็นอันมาก เช่นว่า
วิสุทธิมรรค และคัมภีร์อื่นๆ ที่รจนาขึ้นจนถึง
ในปัจจุบัน เช่นทางวินัยก็ วินัยมุขเล่ม ๑ วินัยมุขเล่ม ๒
วินัยมุขเล่ม ๓ เป็นต้น ก็เรียกว่าเป็น ปกรณ์พิเศษ
คำว่า ปกรณ์ นั้นก็หมายถึงคัมภีร์ที่ผู้รจนา
ได้กระทำขึ้น ปกรณ์ก็มาจากคำว่ากระทำขึ้นมา
รวบรวมขึ้นมา เพราะฉะนั้น ตำราในพุทธศาสนานี้
จึงมีมาก แต่ที่
เป็นคัมภีร์ชั้นแรกก็เรียกว่าบาลีดั่งที่กล่าวมานั้น
บาลียังหมายถึงภาษาที่จารึกพระพุทธวัจนะด้วย
และในการที่จารึกตัวอักษรซึ่งเป็นพระพุทธวัจนะ
เป็นต้น อันเป็นขั้นสำคัญขั้นแรกดังกล่าวมานั้น
และที่เรียกว่าบาลีนั้นใช้ภาษามคธที่เรียกกันว่า
มาคธี แปลว่า ภาษามคธ คือภาษาของชาวมคธ
มคธรัฐในครั้งนั้นแต่เพียงภาษาเดียว เป็นฝ่าย
เถรวาท จารึกใช้ภาษามคธ
แต่ว่าพุทธศาสนาของอีกฝ่ายหนึ่งอันเรียกว่า
อาจริยวาท ซึ่งเรียกฝ่ายนั้นเองว่า มหายาน
ใช้ภาษาสันสกฤต
ส่วนของฝ่ายเถรวาทคือฝ่ายที่ประเทศไทยเรานับถือ
กันอยู่นี้ ใช้ภาษามคธจารึกพระพุทธวัจนะ เพราะฉะ
นั้น ต่อมาจึง
ได้พลอยเรียกภาษาที่จารึกพระพุทธวัจนะที่
เป็นขั้นบาลีนี้ว่าเป็นภาษาบาลีไปด้วย คำว่าบาลีนั้น
จึงกลายเป็นคำเรียกที่หมาย
ถึงภาษาที่จารึกพระพุทธวัจนะไปด้วย ดังที่เรียก
กันว่าภาษาบาลี และคนไทยเราโดยมาก
นั้นเมื่อเรียกว่าภาษาบาลีก็รู้จักกัน และภาษาที่
ใช้จารึกพระพุทธวัจนะและที่สวดมนต์
กันเรียกว่าภาษาบาลี จะเรียกว่าภาษามคธมักจะไม่
เข้าใจ แต่อันที่จริงนั้นเป็นภาษามคธ
หรือมาคธีดังที่เล่ามา ทำนองเดียว
กับที่ไทยเราเรียกภาษาที่จารึก
ในศิลาจารึกของพระร่วงว่า ภาษาพระร่วง
ก็คือภาษาไทยนั้นแหละ แต่เป็นภาษาสมัยนั้น
ก็เรียกว่า ภาษาศิลาจารึกพระร่วง ก็เข้าใจกัน
เพราะฉะนั้น คัมภีร์ในบาลีจึงมีมากดังกล่าวมานี้
ธรรมกับวินัย
และเมื่อจะสรุปเข้าแล้ว สำหรับคัมภีร์ที่
เป็นบาลีที่จารึกครั้งแรกลงเป็นตัวอักษร
นั้นก็แบ่งเป็น ปิฏก ๓ คือ วินัยปิฏก สุตตันตปิฏก
อภิธรรมปิฏก ดังที่เข้าใจกัน และ
ยังมีคำที่แบ่งพระคัมภีร์พระไตรปิฏกนี้ในชั้นเดิม
ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือคำว่า ธรรมวินัย
พระธรรมวินัย คือพุทธศาสนานั้น
ในชั้นแรกพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่
เป็นคำสอน ตั้งแต่ปฐมเทศนาเป็นต้นมา และต่อมาเมื่อ
ได้มีผู้เข้ามาบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนามากขึ้น และมี
ความประพฤติที่ไม่ถูกต้องบังเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าจึง
ได้ทรงบัญญัติพระวินัยอัน
เป็นคำสั่งที่สั่งห้ามการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรนั้นๆ
และสั่งอนุญาตคือว่าให้ทำการที่เหมาะที่ควรนั้นๆ
ดังที่ได้มีปรากฏอยู่ในพระวินัยบัญญัติ มีทั้งห้ามและ
ทั้งอนุญาต และคำว่าอนุญาตนั้นก็หมายความว่าต้องทำ
ด้วย เช่น อนุญาตคือให้เข้าพรรษา ออกพรรษา
ให้อธิษฐานไตรจีวรครอง ให้วิกัปอดิเรกจีวร
ให้พินทุผ้านุ่งผ้าห่มที่จะใช้ เหล่านี้เป็นต้น
ล้วนเรียกว่าอนุญาต แต่คำว่าอนุญาตนั้นหมายความว่า
ต้องทำตามที่ตรัสให้ทำนั้น แล้วก็ที่ทรงห้ามก็ต้อง
ไม่ทำ เป็นคำสั่ง ส่วนคำสอนนั้นไม่เป็นคำสั่ง
เป็นคำแนะนำตักเตือนต่างๆ ก็สุดแต่ผู้ฟังจะปฏิบัติหรือ
ไม่ปฏิบัติ จะทำหรือไม่ทำ หรือว่าจะปฏิบัติ
ได้เพียงไร จะทำได้เพียงไร ตามศรัทธา
และปัญญาของแต่ละบุคคล
พุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ในชั้นแรกพุทธศาสนาจึงแบ่งออก
เป็นธรรมกับเป็นวินัย ก่อนจะมีวินัย
นั้นก็มีแต่ธรรมอย่างเดียว คือเป็นคำสอน
เมื่อทรงบัญญัติวินัยขึ้น จึงมีวินัยซึ่งเป็นคำสั่ง
เพราะฉะนั้น เราจึงแปลคำว่าศาสนาว่าคำสั่งสอน
คำสั่งก็หมายถึงวินัย คำสอนก็หมายถึงธรรม
ก่อนแต่มีวินัยคำว่าศาสนาก็แปลว่าคำสอนอย่างเดียว
และคำว่าศาสนานี้ก็มีมาตั้งแต่ครั้งต้นพุทธกาล
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์
ในวันเพ็ญ กลางเดือนมาฆะ คือเดือน ๓ ของไทยเรา
โดยมาก แก่พระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูปที่ตรัสว่า “
สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม
สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว เอตํ
พุทฺธานสาสนํ นี้เป็นศาสนาคือคำสอนของพระพุทธะ
ทั้งหลาย” พระพุทธเจ้าทรงใช้คำ ศาสนา
มาเองตั้งแต่ต้นศาสนาแล้ว คำบาลีนั้นว่า สาสนะ นี้
เป็นสาสนะคือคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย แต่ว่ามา
ถึงภาษาไทย ไทยเราเอาคำว่าสาสนะนี้มาใช้ แต่เรา
ไม่ชอบคำสั้นๆ เราต่อสระอา เข้าไปเองเป็น ศาสนา
และเอา ส สะกดเข้าไปกับ สา ด้วยเป็นศาสนา เรา
ไม่ชอบคำว่า สา-ส-นะ ไทยเราถนัดชอบว่า สาส-ส-นา
เป็นคำเรียกในภาษาไทย แต่คำเดิมนั้น สาสนะ ไม่ใช่
ศาส-ส-นะ สา-ส-นะ มาเป็นไทยว่า ศาสนา
เอาสระอาต่อเข้าไป เราชอบคำยาวๆ ลงท้าย
แล้วก็แปลว่าคำสอน แต่เมื่อมีพระวินัยขึ้น
แล้วก็แปลว่าคำสั่งสอน อย่างเดี๋ยวนี้เรา
ใช้แปลพุทธศาสนาว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
๔ สิงหาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 13:18 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๙ ชาดก (ต่อ)
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
พระไตรปิฏก
พระพุทธศาสนานั้น เมื่อแยกออกเป็นพระธรรม
และพระวินัยดั่งที่ได้แสดงมาแล้ว ก็ได้ปรากฏ
ในพระพุทธวัจนะเมื่อมีพระวินัยแล้วโดยมากว่า “
ในธรรมวินัยนี้” พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้คำนี้
และพระพุทธสาวกก็ได้ใช้คำนี้ในการแสดงธรรม
ทั่วๆ ไป ตลอดจนถึงเมื่อใกล้จะปรินิพพาน ก็
ได้จัดตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์
เมื่อพระองค์ทรงล่วงไป ดังที่
ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า โย โว อานนฺท เป็นต้น
ที่แปลความว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัย
ใดที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย
ธรรมวินัยนั้นเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย
โดยกาลล่วงไปของเรา” ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น
พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลนั้น
ในระยะต้นมีหนึ่งคือพระธรรม
และเมื่อทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นก็มีสอง คือ
พระธรรม ๑ พระวินัย ๑ ที่เราแปลว่า
พระธรรม คำสอน พระวินัย คำสั่ง
และแปลคำว่า พุทธศาสนา ว่า
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือ
แปลศาสนาว่าคำสั่งสอน และแม้
ในครั้งทำสังคายนาที่ ๑ และทำสังคายนาที่ ๒ ซึ่ง
ยังติดอยู่มาในพระ ไตรปิฏก ก็แสดงว่าท่าน
ได้ทำสังคายนาพระธรรมซึ่งเป็นคำสอน
และพระวินัยซึ่งเป็นคำสั่ง
ต่อมาตั้งแต่สังคายนาครั้งที่ ๓ จึง
ได้เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคือ อภิธรรม เพราะฉะนั้น จึงมี ๓
โดยเรียงพระวินัยไว้เป็นที่ ๑ พระวินัย
พระสุตตันตะ และพระอภิธรรม ที่เรียกกันว่า
พระไตรปิฏก ปิฏก นั้นแปลว่า ตะกร้า ไตรปิฏก
คือ ตะกร้า ๓ ใบ อันหมายความว่าเป็นหมวดใหญ่ ๓
หมวด ซึ่งเป็นที่บรรจุไว้รวมไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา
เป็นพระวินัยหมวดหนึ่ง พระสุตตันตะ
หรือพระสูตรหมวดหนึ่ง
และพระอภิธรรมอีกหมวดหนึ่ง ก็เป็นพระ
ไตรปิฏก จารึกเป็นตัวอักษร ที่ถือ
เป็นตำราพุทธศาสนาหรือคัมภีร์พุทธศาสนา
ในชั้นแรกจนถึงบัดนี้
คำสอนของพระศาสดา ๙ หมวด
อนึ่ง ในครั้งพุทธกาลนั้นเอง เมื่อแบ่งพุทธศาสนาออก
เป็นธรรมและวินัย ก็ยังมีการแบ่งออกไปตั้งแต่
ในครั้งพุทธกาลนั้นเป็น ๙ หมวด เรียกว่า
นวังคสัตถุศาสน หรือ นวังคสัตถุศาสนา แปลว่า
คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ อันได้แก่
หนึ่ง สุตตะ คือระเบียบคำที่แสดงเนื้อความ
ได้เรื่องหนึ่ง ได้แก่ อุภโตวิภังคนิทเทส ขันธก ปริวาร
อันหมายถึงพระวินัยบัญญัติ
อธิบายพระวินัยบัญญัติที่จารึกไว้ในพระวินัยปิฏก
และสูตรทั้งหลายในสุตตนิบาต เป็นต้นว่า
มงคลสูตร รัตนสูตร นาลกสูตร ตุวฏกสูตร
พระพุทธพจน์แม้อื่นที่เรียกชื่อว่าสูตร
ก็นับว่าสุตตะเหมือนกัน
สอง เคยยะ คือระเบียบคำที่เป็นจุณณิยบท
คือร้อยแก้วบ้าง คาถาหรือร้อยกรองบ้าง ปนกันอยู่
ได้แก่ สคาถวรรคในสังยุตตนิกายแม้ทั้งหมด
สาม เวยยากรณะ คือระเบียบคำที่
เป็นจุณณิยบทล้วน คือเป็นร้อยแก้วล้วน ไม่มีคาถา
หรือร้อยกรองปน และอภิธรรมปิฏกทั้งสิ้น
แม้พระพุทธพจน์อื่นที่ไม่สงเคราะห์ด้วยองค์ ๘
ก็จัดว่าเวยยากรณ์ด้วย
สี่ คาถา คือระเบียบคำที่ท่านประพันธ์ผูกเป็นคาถา
คือเป็นร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา
เถรีคาถา และคาถาล้วนๆ ในสุตตนิบาต ซึ่ง
ไม่เรียกชื่อว่าสูตร
เมื่อครั้งรจนาคัมภีร์สมันตปาสาทิกา
ห้า อุทาน
คือระเบียบคำที่พระพุทธเจ้าทรงอาศัยโสมนัสสญาณ
เป็นต้น เปล่งออกเป็นคาถาโดยมาก
เป็นจุณณิยบทก็มีบ้าง ได้แก่สูตร ๘๒ สูตรในอุทาน
หก อิติวุตตกะ
คือระเบียบคำที่อ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้
ๆ ได้แก่ สูตร ๑๑๐ สูตร ซึ่งเป็นไปโดยนัย เป็นต้นว่า
วตฺตํ เหตํ ภควตา .... ในอิติวุตตกะ
เจ็ด ชาตกะ
คือระเบียบคำที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงบูรพจารีต
คือจารีตอันได้แก่ความประพฤติในบูรพกาล
ได้แก่ชาดก ๕๕๐ เรื่อง มี อปัณณกชาดก เป็นต้น
แปด อัพภูตธัมม คือระเบียบคำกอรป
ด้วยอัจฉริยภูตธัมม ได้แก่สูตรที่ประกอบ
ด้วยอัจฉริยภูตธัมมทั้งหมด ซึ่งเป็นไปโดยนัย เป็นต้นว่า
จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อจฺฉริยา อพฺภูตธมฺมา อานนฺเท ...
เป็นต้น
เก้า เวทัลละ คือระเบียบคำถามที่มีผู้ถาม ได้
ความรู้แจ้งและความยินดีแล้วถามต่อๆ ขึ้นไปดังเช่น
จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร
สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร
ชาดกเป็นวิธีสอนอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า
ทั้ง ๙ นี้ได้มีแบ่งมาตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล เรียกว่า
นวังคสัตถุศาสน์ ก็เป็นการแยกปิฏกทั้ง ๓ หรือ ปิฏก
๒ คือธรรมวินัยนั่นแหละ ออกไปโดยลักษณะต่างๆ
ของวาจาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอน แบ่งเป็น ๙
และชาดกนั้นก็รวมอยู่เป็นข้อที่ ๗ ที่พระพุทธเจ้า
ได้ตรัสแสดงความประพฤติของพระองค์เป็นต้น
ในบุรพกาล และชาตกะ หรือชาดกที่มา
ในพระไตรปิฏก อันเป็นคัมภีร์แรกในพุทธศาสนา
นั้น มีแสดงไว้เป็นคาถาที่เป็นคำสอนโดยมาก
ที่มีแสดงเรื่องประกอบอยู่ด้วย ก็มีในชาดกที่
เป็นชาดกใหญ่ๆ แต่ก็ไม่ละเอียดมาก แต่ก็ผูก
เป็นคาถาคือเป็นคำที่ร้อยกรอง เป็นคำฉันท์
ในภาษาบาลีเป็นพื้น ส่วนเรื่องราวที่เป็น นิทาน คือ
เป็นเรื่องราวแสดงถึงบุคคลบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง
เป็นต้น ในชาตินั้นๆ มีแสดงไว้
ในคัมภีร์อรรถกถาของชาดกซึ่งพระอาจารย์
ได้รวบรวมเรียบเรียงขึ้นในชั้นต่อมา และเรื่อง
ในชาดกทั้งปวงนี้ก็นับถือว่าเป็นคำสั่งสอนหมวดหนึ่ง
ในพุทธศาสนา รวมเข้าใน นวังคสัตถุศาสน์
ดั่งที่กล่าวมา ท่านผู้ที่มีวิจารณ์ก็มีวิจารณ์
ในทางที่เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง เช่นในชาดกทั้งปวงนั้นก็มี
อยู่หลายเรื่องที่แสดงถึงสัตว์เดรัจฉาน เช่นว่านกพูด
ได้ พูดกันเอง หรือว่าพูดกับคนได้ ดั่งนี้เป็นต้น แต่ว่า
ถ้าพิจารณาจับเอาสารัตถะคือเนื้อความ ก็จะเห็น
ได้ว่าเรื่องชาดกนี้คือเป็นนิทานต่างๆ เช่นนกพูด
ได้ดังกล่าวนั้น ได้มีแสดงกันไว้ในครั้งโบราณกาล
แม้นิทานอีสปซึ่งมีอ่านเรียนกันเมื่อ
เป็นนักเรียนชั้นประถมนั้น ก็เป็นเรื่องที่คล้ายคลึง
กัน และก็เมื่อเล่าเรื่องไปแล้ว ก็แสดง
เป็นสุภาษิตคือคำสอนที่ได้จากเรื่องนั้นๆ เพราะฉะนั้น
จึงเป็นเรื่องที่ยกขึ้นมาเพื่อสอน แต่ว่าจะแสดงในคำสอน
โดยตรงทีเดียว ก็อาจจะไม่เหมาะสมแก่บางบริษัท
หรือบางบุคคล แต่ถ้าหากว่าผูกเรื่องเล่าเป็นนิทาน
และก็แสดงคำสอนต่อท้ายโดยสาธกด้วยเรื่อง
ในนิทานที่เล่ามานั้น มาผูกเป็นคติเตือนใจบุคคล
เพราะฉะนั้น ชาดกจึง
เป็นวิธีหนึ่งของการแสดงคำสอนของพระพุทธเจ้า
ทรงแสดงชาดกสอนให้เหมาะแก่คดีโลก
และอีกประการหนึ่ง
พระพุทธเจ้าทรงแสดงคำสอนโดยตรง
มุ่งคดีธรรมโดยตรง
แต่เมื่อมีเรื่องทางคดีโลกที่น่าจะ
ได้ทรงแสดงคำสั่งสอนให้เหมาะแก่คดีโลก แต่ว่า
ถ้าไปทรงสอนอย่างนั้นโดยตรง ก็ไม่ใช่เป็นฐานะ
โดยตรงที่พระองค์จะทรงสอนได้ จึง
ได้ทรงแสดงชาดกเล่าเป็นอดีตนิทาน
ว่าเมื่อครั้งก่อนนั้นได้มีเรื่องที่บังเกิดขึ้นอย่างนั้นๆ
และให้เกิดผลอย่างนั้นๆ เป็นคำสอนให้ผู้ฟังที่
ต้องการจะปฏิบัติทางคดีโลกได้ฟัง
และก็รับไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ได้
ซึ่งลักษณะของเรื่องดังที่กล่าวมานี้ก็มีเรื่องที่
จะเล่าให้ฟังได้หลายเรื่อง ที่ทรงสอนตรงๆ ไม่ได้
ต้องทรงเล่าชาดกซึ่งเป็นนิทานเก่าให้ฟัง
แต่ว่าต่อมาท่านได้ถือว่าชาดกทั้งปวงนั้น
เป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเมื่อยังทรง
เป็นพระโพธิสัตว์ คือเป็นผู้ที่
ได้ปฏิบัติพระบารมีเพื่อพระโพธิญาณคือเพื่อ
ความตรัสรู้ ได้ทรงเกิดเป็นบุคคลเป็นต้นในชาติ
นั้นๆ และได้ทรงปฏิบัติอย่างนั้นๆ
เป็นการทรงบำเพ็ญพระบารมีสืบต่อกันมา
๗ สิงหาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 13:32 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๑๐ ชาดก (ต่อ)
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
สุตตะหรือสูตร
นวังคสัตถุศาสน์ ที่ได้แสดงแล้ว แบ่งเป็น ๙ ก็
เป็นการแบ่งลักษณะของพระธรรมวินัย
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าออกไป
โดยลักษณะของถ้อยคำนั้นเอง แต่ว่าส่วนใหญ่นั้น
คำที่มีความหมายกว้างที่สุด คลุมอยู่มากที่สุด
ก็คือคำว่า สุตตะ หรือ สูตร
ในบัดนี้ภาษาไทยเราก็นำเอาคำนี้มาใช้
เช่นว่าหลักสูตรของชั้นเรียน ชั้นการศึกษาต่างๆ
และสูตรต่างๆ ของวิชาการต่างๆ เรานำเอาคำนี้มา
ใช้มาก แม้ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่ง
เป็นพุทธศาสนานั้น ก็ใช้คำนี้คลุมไปมากที่สุด
อย่างพระวินัยทั้งสิ้นก็เรียกว่า สูตร แม้พระ
อภิธรรมปิฏก ท่านอาจารย์ที่ท่านเป็นผู้สรุปก็สรุป
เข้าในสูตรเหมือนกัน ก็นับว่าเข้าใน
ส่วนหนึ่งของสุตตันตปิฏก และใน สุตตันตปิฏก ทั้งสิ้น
ก็รวมเข้าในคำว่าสูตรทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนั้น
จึงรวมเข้าได้ในคำว่าสูตรคำเดียว แม้จะแบ่งเป็น ปิฏก
๓ วินัยปิฏก สุตตันตปิฏก อภิธรรมปิฏก ก็นับเข้า
ในคำว่าสุตตะหรือสูตร เพราะต่างก็
เป็นสูตรอันหนึ่งๆ ทั้งนั้น
เหมือนอย่างที่ภาษาไทยเราเรียกว่าสูตร
เช่นหลักสูตรเป็นต้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อ
ต้องมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา หลักเกณฑ์นั้นก็เป็นสูตร
ที่นำมาใช้ในภาษาไทยนั้นก็ตรงกับความหมายเดิมที่
ใช้มาแต่เดิม ดังที่สรุป นวังคสัตถุศาสน์ นั้นเข้าในคำว่า
สุตตะ หรือ สูตร ได้ทั้งหมด ปิฏก ๓ ก็นับเข้าในสูตร
ได้ทั้งหมด และก็เป็นสูตรหนึ่งๆ
เป็นหลักสูตรอันหนึ่งๆ ที่เมื่อวางเป็นหลัก
เป็นเกณฑ์ขึ้นไว้ ก็เป็นสูตรอันหนึ่งๆ
ชาดกอยู่ในหมวดที่เป็นสูตรเล็กน้อย
และชาดกนั้นก็เป็นองค์อันหนึ่งใน นวังคสัตถุศาสน์ ดังที่
ได้ปรารภกล่าวแล้วและคำว่าชาดกนี้ ก็มีแสดงไว้
ใน สุตตันตปิฏก ในหมวด ขุททกนิกาย คือหมวดที่
เป็นสูตรเล็กน้อย เพราะว่าชาดกนั้นมีมากที่
ได้กล่าวแล้วว่า ๕๐๐ เศษ และชาดกหนึ่งๆ ก็แสดงไว้
ใน สุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย นั้น
ตั้งแต่คาถาหนึ่งขึ้นไปจนถึงมากคาถา คาถาหนึ่ง
นั้นก็หมายถึงว่า เป็นคำที่ประพันธ์ขึ้นเป็นฉันท์บาลี คือ
เป็นคำร้อยกรอง คาถาหนึ่งมี ๔ บาท และฉันท์ที่ใช้
เป็นพื้นเรียกว่า ปัฐยาวัตร บาทหนึ่งมี ๘ คำ ๔ บาทก็
เป็นคาถาหนึ่ง เช่น มงคลสูตร ที่สวดกัน อเสวนา จ
พาลานํ นี่บาทหนึ่ง ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา บาทหนึ่ง ปูชา
จ ปูชนียานํ บาทหนึ่ง เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ บาทหนึ่ง
โดยปกตินั้นในการพิมพ์ ๒ บาทก็เป็นหนึ่งบรรทัด ๔
บาทก็เป็น ๒ บรรทัด ก็เป็นคาถาหนึ่ง ชาดก ๕๐๐
กว่าเรื่องนั้น เริ่มตั้งแต่เรื่องหนึ่งมีคาถาเดียว
ก็ยาวขึ้นไปๆ มีสองคาถา สามคาถา แล้วจึงมากคาถา
แต่ว่าโดยมากนั้นไม่ได้แสดงเรื่องนิทานแสดงไว้แต่
ธัมมีกถา คือถ้อยคำที่เป็นคำสอน เพราะฉะนั้น จึง
ต้องมีอรรถกถาคือถ้อยคำที่แสดงเนื้อ
ความเล่านิทานของชาดกนั้นๆ
ชาดกเป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์
และชาดกทั้งหมดนี้ก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็
เป็นเรื่องที่แสดงว่าได้มีมาแล้วในอดีตกาลนานไกล
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะได้ทรงอุบัติขึ้น ก็
เป็นนิทานแบบนิทานสุภาษิตของอีสปที่เรียนอ่านกันเมื่อ
เป็นเด็กๆ นั้น ในปัจจุบันนี้การใช้
เป็นหลักสูตรเรียนของนักเรียนอย่างนิทานสุภาษิตดังกล่าว
ก็มุ่งแสดงเรื่องเล่าเรื่องเป็นนิทาน และ
ในตอนท้ายก็ผูกเป็นภาษิตคำสอนขึ้น มุ่งสอนมากกว่าที่
จะมุ่งให้เชื่อในเรื่องที่แสดงเหล่านั้น ดังที่ได้กล่าว
แล้วว่า นกกับคนพูดกันได้ อะไรเป็นต้นเหล่านี้
แต่ทางพุทธศาสนานั้น เล่านิทาน
เป็นนิทานสุภาษิตก็เรียกว่าเป็นชาดก ซึ่ง
เป็นวิธีสอนอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า
เพราะเมื่อเล่านิทานแล้ว ก็ลงท้าย
ด้วยสุภาษิตคือคำสอน อันเรียกว่าธัมมีกถา มุ่งที่คำสอน
นั้นเป็นหลักใหญ่ แต่ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ที่ปรากฏ
อยู่ในคัมภีร์ชั้นบาลีนั้น มีแต่คำสุภาษิตคือที่
เป็นคำสอน โดยมากไม่มีเรื่องที่เป็นนิทาน เรื่องที่
เป็นนิทานนั้นมาแต่งขึ้นในภายหลังโดยมาก
สำหรับชาดกที่ประกอบด้วยคาถามากๆ คือ
เป็นเรื่องแสดงเป็นเรื่องยาวๆ ก็มี
อย่างที่ไทยเราเรียกกันว่าพระเจ้าสิบชาติ ที่แสดง
ถึงว่าพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีในชาติ
นั้นๆ ๑๐ ชาติที่เป็นชาติใหญ่ๆ มาจนถึงชาติที่
เป็นพระเวสสันดรที่เมืองไทยเรานิยมเอามาเทศน์กัน
และต่อจากพระชาติที่เป็นพระเวสสันดรนั้น ก็มา
ถึงพระชาติสุดท้ายที่มาทรง
เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ
และพระนางสิริมหามายา
ทรงพระนามว่าสิทธัตถะกุมาร ที่มีแสดงอยู่
ในพุทธประวัตินั้น ทั้ง ๑๐ ชาตินี้
ได้มีแสดงเรื่องที่เรียกว่าเป็นนิทานไว้เป็นส่วนใหญ่
ด้วย แต่นอกจากนั้นแล้วแสดงเรื่องที่เป็นนิทานไว้สั้นๆ
ถ้ายิ่งที่มีคาถาน้อยเช่นว่าเรื่องหนึ่งมีคาถาเดียว
คือมีแต่คำสุภาษิตข้างท้ายเท่านั้น เรื่องไม่มีนี่มีมาก
และก็มาแสดงเป็นยุติไว้ว่า เรื่องที่เป็นชาดกทั้งปวงนั้น
ล้วนเป็นเรื่องที่แสดงพระพุทธเจ้าเมื่อ
เป็นพระโพธิสัตว์ ทรงถือกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์บ้าง
เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้างในชาตินั้นๆ ที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน
นั้นที่คนไทยรู้จักมากก็คือ ฉัททันตชาดก
ที่เล่าเรื่องช้างฉัททันต์ พระมักจะนำมาเทศน์
ในสมัยก่อนนั้นมาก คนไทยก็รู้จักกันมากมาในสมัยก่อน
ในบัดนี้อาจจะไม่ค่อยรู้จักกัน
แต่เรื่องพระเวสสันดรนั้นยังรู้จักกันมาก
ทรง
เป็นพระโพธิสัตว์เมื่อตั้งปรารถนาโมกขธรรม
มาถึงพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเรา
ทั้งหลาย ท่านเริ่มเป็นพระโพธิสัตว์มาตั้งแต่เมื่อไหร่
ถ้าจับเอาแต่เพียงในชาติปัจจุบันของพระองค์ คือเมื่อ
เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ
และพระนางสิริมหามายา
มีพระนามว่าสิตธัทถะราชกุมาร
ก็มาปรากฏว่าทรงเริ่มปรารถนา โมกขธรรม
ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น ตั้งแต่เมื่อ
ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตรเห็นคนแก่คนเจ็บคนตาย
และสมณะ ที่เรียกว่าเทวทูตทั้ง ๔
จึงทรงพิจารณาน้อมเข้ามาถึงพระองค์ว่า ทุกคน
ผู้เกิดมาในโลกก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถึงจะ
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์พระราชาเอกในโลก
ที่นับว่าเป็นผู้มียศสูงสุดในโลก ก็ต้องแก่ต้องเจ็บ
ต้องตาย เพราะฉะนั้น ชีวิตจึงเป็นของไม่ยั่งยืน
ทรัพย์ยศเป็นต้นก็เป็นสิ่งไม่ยั่งยืน เพราะต้องแก่
ต้องเจ็บต้องตาย และก็ทรงพิจารณาว่า
เมื่อมีแก่มีเจ็บมีตาย ก็จะต้องมีธัมมะที่ทำให้ไม่แก่ไม่เจ็บ
ไม่ตาย เหมือนอย่างมีมืดก็มีสว่าง มีร้อนก็มีเย็นคู่กัน
จึงทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรม
เป็นเครื่องหลุดพ้นจากแก่เจ็บตาย และก็ทรงเห็นว่า
ธรรมดังกล่าวนี้เป็นของลุ่มลึก เมื่อครองชีวิตอยู่
ในฆราวาส ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้พบได้
ทรงเห็นสมณะอันเป็นเทวทูตที่ ๔ ก็
ได้ทรงพอพระทัยในสมณเพศว่า
เป็นเพศที่ตัดกังวลทางโลกได้ทั้งหมด อาจที่
จะปฏิบัติแสดงหาโมกขธรรมได้ จึงน้อมพระทัยไป
ในการบวชเพื่อจะพบโมกขธรรมเรื่องก็น่า
จะเริ่มแสดงได้ว่า
เป็นพระโพธิสัตว์ตั้งแต่เมื่อตั้งปรารถนาที่
จะทรงพบโมกขธรรมนั้น แล้วก็เรื่อยไปจน
ถึงเสด็จออกทรงผนวช
ทรงปฏิบัติแสดงหาโมกขธรรม จนถึงได้ตรัสรู้
เป็นพระพุทธเจ้า
คำว่า บารมี ปรากฏเฉพาะในชาดก
แต่ว่าในพระสูตรที่แสดงพระพุทธประวัติ
คือที่พระพุทธเจ้า
ได้ตรัสพระพุทธประวัติของพระองค์เอง ในการที่
ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔
ทรงปฏิบัติเพื่อโมกขธรรมต่างๆ จนถึงตรัสรู้นั้น
ไม่ได้มีใช้คำว่าบารมี
และมาเมื่อทรงแสดงปฐมเทศนา ก็ไม่ได้มี
ใช้คำว่าบารมี จนถึงพระธรรมเทศนาต่อๆ มาที่
เป็นพระสูตรสำคัญๆ ก็ไม่มีคำว่าบารมี
พระสูตรที่แสดงไว้เป็นพระสูตรยาวใน ทีฆนิกาย
ไม่พบคำว่า บารมี เป็นพระสูตรปานกลางใน
มัชฌิมนิกาย พบคำว่าบารมีในบางพระสูตร ใน
ความหมายว่าเลิศ พระสูตรที่ประกอบกันที่เป็น
สังยุตตนิกาย พระสูตรที่แสดงธัมมะเป็นข้อๆ
ที่เรียกว่า อังคุตตรนิกาย พระสูตรที่เป็นหมวด
เล็กน้อยเรียกว่า ขุททกนิกาย มาถึงพระสูตร
เล็กต่างๆ นี้แหละ
จึงมาแสดงเรื่องชาดกเรื่องบารมีต่างๆ
แต่ครั้นเมื่อมามีชาดก รวมเข้าในหมวด ขุททกนิกาย
ดังกล่าวนั้น จึงได้มีอรรถกถาแสดงเรื่องราว
ซึ่งย้อนหลังไปนานไกล ตั้งแต่พระโพธิสัตว์เริ่มขึ้น
คือเริ่มทรงเป็นพระโพธิสัตว์
และทรงบำเพ็ญบารมีสืบต่อมา
คำว่า บารมี ที่พบในบางพระสูตรในมัชฌิมนิกาย คือ
มหาสกุลุทายิสูตร เล่ม ๑๓ ว่า
อภิญฺญาโวสานปารมิปฺปตฺตา
บรรลุบารมีที่สุดอภิญญา
สคารวสูตร เล่ม ๑๓ ว่า
ทิฎฺฐธมฺมาภิญฺญาวานปารมิปฺปตฺตา
บรรลุบารมีที่สุดอภิญญาในธรรมที่เห็นแล้ว (
ปัจจุบัน)
อนุปทสูตร เล่ม ๑๔ ว่า วสิปฺปตโต ปารมิปฺปตฺโต
อรรถกถาอธิบายว่า วสิปฺปตฺโต คือ จิณฺณวสิตปตฺโต
บรรลุความมีวสี (ชำนาญ) ที่ประพฤติแล้ว
ปารมิปฺปตฺโต คือ นิปฺผตฺติปตฺโต บรรลุ
ความสำเร็จ
นิธิกัณฑสูตร ขุททกนิกาย เล่ม ๒๕ ว่า
ปฎิสมฺภิทา วิโมกฺขา จ ยา จ สาวกปารมี
ปจฺเจกโพธิ พุทฺธภูมิ สพฺเพเมเตน ลพฺภติ
ปฏิสัมภิทา วิโมกข สาวกบารมี ปัจเจกโพธิ พุทธภูมิ
ทั้งหมดได้ด้วยบุญนิธินี้
ในบุคคลปัญญัตติ ในอภิธรรม พบใช้คำว่า
สาวกปารมี
๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 13:52 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๑๑ กำเนิดพระโพธิสัตว์ และ
ความเริ่มต้นของบารมี
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
พระชาติแรกของพระโพธิสัตว์
จะได้เล่าชาดกที่พระอรรถกถาจารย์
คือพระอาจารย์ผู้แต่งถ้อยคำอธิบายเนื้อ
ความของพระไตรปิฎก ได้แสดงไว้
ถึงพระชาติของพระพุทธเจ้า ย้อนหลังกลับไป
ในอดีตชาตินานไกล ถึงพระชาติแรกที่ทรงใช้ชื่อว่า
พระโพธิสัตว์ มีความย่อว่า
ในนครหนึ่งชื่อว่าอมรวตีนครหรืออมรนคร
ได้มีกุลบุตรผู้หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่ง
ชื่อว่าสุเมธหรือสุเมธะ เป็นผู้มีความฉลาด
รูปร่างงดงาม และ
เป็นบุตรคนเดียวของพราหมณ์ที่
เป็นเศรษฐีมีทรัพย์มาก เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไป
แล้ว จึง
ได้ครอบครองทรัพย์สมบัติของมารดาบิดาที่สืบมรดก
กันมาหลายชั่วคนมากมาย แต่สุมเธบัณฑิตนั้น เมื่อได้
เป็น
ผู้รับมรดกครอบครองทรัพย์สมบัติมากมายดั่งนั้น
แล้วแทนที่จะมีความยินดีและเสวยสุขอยู่
ในฆราวาสวิสัย กลับมีความเบื่อหน่ายในความ
ไม่เที่ยงของชีวิต ที่ทุกชีวิตเมื่อมีเกิด ก็
ต้องมีแก่มีเจ็บมีตาย จึงปรารถนาที่จะพบ
ความสุขที่ยิ่งไปกว่าความสุขอันเกิดจากความไม่เที่ยง
ได้มีดำริว่า ทุกอย่างย่อมมีคู่กันอยู่ คือมีทุกข์ก็มีสุข
มีภพชาติก็ย่อมไม่มีภพชาติ มีร้อนก็มีเย็น มีไฟที่เผาใจ
ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ
ก็ย่อมมีธัมมะที่ดับไฟทั้ง ๓ กองนี้คือ นิพพาน
มีบาปก็ย่อมมีบุญ มี กัลยาณธรรม หรือ
กัลยาณกรรม กรรมงาม มีชาติคือความเกิด
ก็ย่อมมีอชาติคือไม่เกิด
สมณสุข ๘ ประการ
และได้มองเห็นความสุขของสมณะอันเรียกว่า
สมณสุข ความสุขของสมณะคือผู้ที่ออกบวช
เป็นสมณะคือผู้สงบ ว่าย่อมมีความสุข ๘ ประการคือ
หนึ่ง ไม่มีการต้องหวงแหนรักษาทรัพย์สมบัติ
สอง ออกเที่ยวบิณฑบาต รับข้าวที่เขา
ใส่บาตรมาบริโภคดำรงชีวิตได้อย่างไม่มีโทษ
สาม ฉันบิณฑบาต บริโภคบิณฑบาตที่ได้มาอย่างมี
ความสุขเย็น
สี่ ไม่ต้องรับการเบียดเบียนต่างๆ จากรัฐ
คือบ้านเมือง
ห้า ไม่ต้องมีฉันทราคะ คือความติดใจพอใจในพัสดุที่
เป็นอุปกรณ์ทั้งหลาย
หก ไม่ต้องถูกปล้นสดมภ์
เจ็ด ไม่ต้อง สังสัคคะ คือเกี่ยวข้องวุ่นวายกับใคร
แปด ไม่ต้องถูกกระทบกระทั่งในทิศทั้ง ๔
ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น สุเมธบัณฑิตจึ่งได้บริจาคทรัพย์สมบัติ
ทั้งหมดที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาหลายชั่วคนนั้น
แก่คนขัดสนยากจนทั้งหลาย แล้วก็ออกบวชเป็นดาบส
ได้ชื่อว่าสุเมธดาบส อยู่ในอาศรมในป่า ดำรงชีวิต
เป็นสมณะคือผู้สงบ ปฏิบัติบำเพ็ญตบะอบรมจิตใจ จน
ได้บรรลุถึงสมาธิอย่างสูง ถึงฌาน อภิญญา
และเมื่อสุเมธดาบสนั้นกำลังบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า
เมื่อได้ออกมาพบกับประชาชนในวันหนึ่ง
คือมีประชาชนเป็นอันมากกำลังประชุมกันทำทาง
ก็ไต่ถาม ประชาชนก็
ได้แจ้งแก่ท่านว่าพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า
ทีปังกร จะเสด็จมาถึงเมืองอมรวดี จะเสด็จ
เข้าสู่รัมมกนครที่ประชาชนเหล่านั้นได้อาศัยอยู่ จึง
ได้พากันออกมาทำทางเพื่อให้พระพุทธเจ้า
และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้เดินทาง
เข้าสู่รัมมกนคร และก็ได้ปันกันทำทาง
ฝ่ายท่านสุเมธดาบสครั้น
ได้ยินพระนามว่าพระพุทธเจ้า
ก็เกิดปีติโสมนัสว่าพระพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้ว
ในโลก จึงได้ขออาสาทำทางด้วย
ฝ่ายชาวเมืองรัมมกนครก็ได้แบ่งที่
ให้ท่านสุเมธดาบสทำทางตอนหนึ่ง อัน
เป็นทางที่ยากลำบาก เพราะมีลำธารน้ำไหลผ่าน
จะต้องมีการถมดินนำหินออกเป็นต้น
ท่านสุเมธดาบสก็รับทำทางตอนนั้น
และท่านก็ลงมือทำทาง
ด้วยกำลังร่ายกายของท่านเอง ไม่ใช้ฤทธิ์ทางใจ
ท่านขนดินเองมาถมที่นั้น จนใกล้จะเสร็จเหลือทางที่
เป็นร่องน้ำ
อยู่อีกแห่งเดียวชั่วขนาดตัวคนก็พอดีพระพุทธเจ้าทีปังกรเสด็จมา
ถึงพร้อมกับพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ท่านจึง
ได้นอนลงไปตรงร่องทางที่ยังขาดนั้น
โดยนอนคว่ำหน้าลง เพื่อเป็นทาง
ให้พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร
และพระอรหันต์ทั้งหลายเสด็จดำเนินผ่านไป
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรได้เสด็จมา
ถึงที่ๆ ท่านสุเมธดาบสนอนคว่ำหน้าทอดกาย
เป็นทางถวายนั้น ท่านสุเมธดาบส
ได้มองเห็นพระรัศมีที่เปล่งปลั่งของพระพุทธเจ้าก็เปิดปีตีโสมนัส
และก็ได้มีความดำริว่า หากว่าตนจะบวช
เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าทีปังกร ก็อาจ
จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ว่าท่านได้เลื่อมใส
ในความเป็นพระพุทธเจ้า จึงได้ตั้งความปรารถนาที่
จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทีปังกรนั้น
ได้รับพระพุทธพยากรณ์และเริ่ม
ได้ชื่อว่าพระโพธิสัตว์
พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร
ได้ทรงทราบถึง
ความปรารถนาของท่านสุเมธดาบส จึง
ได้ทรงเล็งพระญาณไปในอนาคต ก็ได้ทรงทราบ
ด้วยพระญาณว่า ท่านผู้นี้ปรารถนา
เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ก็จะสำเร็จ
เป็นพระพุทธเจ้าได้ตามความประสงค์ ท่านจะมา
เป็นพระพุทธเจ้าคือพระโคดมพุทธเจ้า
ผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายในศาสนานี้ ก็
ได้มีพระพุทธทำนายขึ้นโดยมีพระวาจาตรัสขึ้น
ว่าท่านผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต
พระอรหันตสาวกทั้งหลายและประชาชนทั้งปวง
ก็ได้ยินพระพุทธพยากรณ์นี้ทั่วกัน ครั้นทรงตรัส
เป็นพุทธพยากรณ์แล้ว
ก็ทรงย่างพระบาทขวาเสด็จผ่านไป
พระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
และอาการที่ได้ย่างพระบาทขวาเสด็จผ่านไปนั้น
พร้อมทั้งพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็ได้ชื่อว่า
ได้ทำประทักษิณ เป็นการที่พระพุทธเจ้าทีปังกร
ได้ทรงแสดงยกย่องท่านสุเมธดาบส
ท่านสุเมธดาบสเมื่อได้รับพุทธพยากรณ์
จากพระพุทธเจ้าทีปังกรดั่งนั้น ก็เริ่มได้ชื่อว่า
พระโพธิสัตว์ คือเป็นสัตวโลก เป็นสัตตะ ผู้ข้อง
เป็นสัตตะ ผู้กระเสือกกระสนแสวงหาโพธิ คือ
ความตรัสรู้ หรือพระโพธิญาณ
เป็นพระพุทธเจ้าตั้งแต่นั้นมา
อภินิหารหรือคุณสมบัติ ๘ ประการ
และท่านแสดงสรุปว่า บุคคลที่จะ
ได้รับพุทธพยากรณ์ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่
จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคตนั้น
ย่อมประกอบด้วยอภินิหาร คือคุณสมบัติที่จะเป็นเหตุ
ให้ประสบความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ๘ ประการ
คือ
๑. เป็นมนุษย์
๒. ประกอบด้วยเพศ คือเป็นบุรุษเพศ
๓. ประกอบด้วยเหตุ คือคุณสมบัติที่เป็นส่วนเหตุ อาจที่
จะบรรลุอรหัต คือความเป็นพระอรหันต์ในชาติ
นั้นได้
๔. ได้เฝ้าพระศาสดาคือได้เฝ้าได้พบพระพุทธเจ้า
ได้รับพระพุทธพยากรณ์
จากพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
๕. ได้บรรพชาคือได้ออกบวช ดังท่านสุเมธดาบสก็
ได้ออกบวชเป็นดาบส
๖. ได้ประกอบด้วยคุณสมบัติคือ อภิญญาสมาบัติ อัน
เป็นสมาธิอย่างสูง
๗. ได้มี อธิการ คือการกระทำที่
เป็นการทำอย่างยิ่งถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งได้เฝ้าได้เห็น
ได้ประทานพุทธพยากรณ์นั้น คือ
ได้สละชีวิตถวายพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้
ดังท่านสุเมธดาบสนั้นได้นอนทอดกายถวายให้เป็นถนน
เพื่อพระพุทธเจ้าและพระสาวกจะ
ได้ทรงพระพุทธดำเนิน ดำเนินผ่านไป
๘. ได้มี ฉันทะ คือความพอใจที่จะเป็นพระพุทธเจ้า
ในอนาคต
คุณสมบัติเหล่านี้เรียกว่า อภินิหาร ที่
ได้แก่คุณสมบัติที่จะนำให้ประสบ
ความสำเร็จตามที่ตั้งใจปรารถนา มี ๘
ประการดังกล่าว
พุทธการกธรรม หรือ บารมี
และเมื่อสุเมธดาบสได้รับพุทธพยากรณ์
จากพระพุทธเจ้าทีปังกร ว่าจะได้ตรัส
เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต ได้เริ่มชื่อว่า
เป็นพระโพธิสัตว์ตั้งแต่นั้นมาแล้ว ก็
ได้นั่งขัดบัลลังก์คือขัดสมาธิ ในเมื่อพระพุทธเจ้า
พระสาวกทั้งหลาย และประชาชนทั้งหลาย
ได้ผ่านไปหมดแล้ว เหลือท่านสุเมธดาบสอยู่เพียง
ผู้เดียว ได้พินิจพิจารณาว่า เมื่อได้ตั้งความปรารถนา
เป็นพระพุทธเจ้า และได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะ
เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะปฏิบัติอย่างไร
จะมีธัมมะอะไรที่จะปฏิบัติเป็นเครื่องกระทำให้
เป็นพระพุทธเจ้าได้ อันเรียกว่า พุทธการกธรรม
คือธัมมะซึ่งเป็นผู้ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าซึ่งจะ
ต้องบำเพ็ญสั่งสมไปโดยลำดับ จนกว่าคุณธรรมที่
เป็นพุทธการกธรรมนี้จะสมบูรณ์ อันทำให้สำเร็จ
เป็นพระพุทธเจ้า จึง
ได้เรียกพุทธการกธรรมที่ท่านสุเมธดาบสดำริว่าคืออะไรบ้าง
ที่เมื่อปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
จะพึงปฏิบัติว่า บารมี คำว่า บารมี จึงบังเกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ในความหมายนี้ คือเป็นคุณธรรมที่มิใช่ว่า
จะปฏิบัติให้สำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่จะ
ต้องปฏิบัติสืบต่อกันไปตลอดกาลนาน ธัมมะที่จะ
ต้องปฏิบัติให้สืบเนื่องกันไปดั่งนี้เรียกว่าบารมี ที่
ให้คำแปลไว้ว่า อย่างยิ่ง อันหมายความว่าปฏิบัติให้ยิ่งๆ
ขึ้นไปโดยลำดับจนถึงบริบูรณ์
บารมี ๓ ชั้น
เพราะฉะนั้น จึงได้มีการแบ่งบารมีไว้เป็น ๓ ขั้น คือ
ขั้น บารมีธรรมดา ขั้น อุปบารมี ขั้น
ปรมัตถบารมี ขั้นบารมีธรรมดา
นั้นก็คือขั้นที่เริ่มปฏิบัติ ที่มีผิดบ้าง ถูกบ้าง
บกพร่องบ้าง แล้วก็แก้ไขกันไป จนการปฏิบัตินั้นถูก
ต้องมากขึ้น เข้าทางมากขึ้น ก็เป็นอุปบารมี
และเมื่อปฏิบัติจนถึงสมบูรณ์ คือเต็มที่สุด เปี่ยมที่สุด
เป็นปรมะคืออย่างยิ่งจริงๆ ก็เป็นปรมัตถบารมี
คำว่าบารมีนี้จึงบังเกิดขึ้นจาก
ความหมายดังที่กล่าวมานี้ และก็มีความหมาย
อื่นที่ท่านเพ่งเอาศัพท์นี้อาจจะแปลออกไป
ได้เช่นว่าบรรลุถึงฝั่ง อันหมายความว่า เมื่อยัง
ไม่สำเร็จก็ยังอยู่ในฝั่งนี้ เมื่อสำเร็จก็แปลว่า
ถึงฝั่งโน้น คือฝั่งที่ปรารถนาเอาไว้ ดังท่านสุเมธดาบส
นั้น เมื่อปรารถนาพุทธภูมิก็ยังอยู่ในฝั่งนี้ คือยัง
ไม่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า และก็ปฏิบัติไปๆ
ซึ่งคุณธรรมที่จะทำให้
เป็นพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวมานั้น ถ้าสำเร็จ
เป็นพระพุทธเจ้าก็แปลว่า
ถึงฝั่งโน้นคือฝั่งที่ปรารถนาเอาไว้ แปลว่าบรรลุ
ถึงความสำเร็จในที่สุด และก็มีคำแปลอย่าง
อื่นอีกที่เพ่งเอาคำหรือศัพท์แสง แล้วก็แปลกันไป แต่
ความหมายก็เป็นอย่างที่ว่ามานี้
และคำนี้ก็บังเกิดขึ้นอย่างนี้
บารมี ๑๐ ประการ
ท่านสุเมธดาบสก็ได้ดำริว่าจะมีอะไรบ้างที่
เป็นคุณสมบัติอันเป็นพุทธการกธรรม คือธัมมะที่ทำ
ให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะว่าเมื่อปรารถนาจะ
เป็นพระพุทธเจ้า ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ก็ไม่
ใช่ว่าจะเป็นขึ้นมาเองเฉยๆ จะต้องปฏิบัติ
ในคุณธรรมที่จะทำให้บังเกิด
ความสำเร็จดังปรารถนาได้
ทาน การให้
ประการแรกท่านก็คิดถึง ทาน ว่าจะต้องปฏิบัติ
ในทาน คือการให้ การสละให้ จะต้องปฏิบัติในทานนี้
ด้วยการสละให้ จนถึงให้ได้ทุกอย่าง ให้ได้ทั้งหมด
เหมือนอย่างเทหม้อน้ำคว่ำลง น้ำที่อยู่ในหม้อน้ำนั้น
เมื่อตักให้ ตักให้ น้อยบ้างมากบ้าง ก็แปลว่าตัก
ให้จนหมด เบื้องต้นก็หัดให้ ตักให้ แบ่งให้ดังกล่าวนั้น
เหมือนอย่างตักน้ำจากหม้อน้ำให้ หัดทำการให้นี้ ปฏิบัติ
ในทานข้อนี้ให้ได้เรื่อยๆ ไป จนถึงสามารถให้
ได้ทุกอย่าง เหมือนอย่างเทหม้อน้ำคว่ำให้หมดกันทีเดียว
ศีล ความงดเว้น
เมื่อท่านพบเห็นว่าทานนี้จะเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่ท่าน
จะพึงปฏิบัติ ท่านก็ดำริต่อไปถึงข้ออื่น ยังมีข้อ
อื่นอีกไหม ก็มาพบถึงข้อ ๒ คือ ศีล จะต้องรักษา ศีล
ตั้งแต่ศีลที่เป็นอย่างต่ำ จนถึงศีลที่เป็นอย่างสูง คือ
เป็นผู้ที่สามารถมีวิรัติ คือความงดเว้นจาก
ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจที่ผิด ได้ไป
โดยลำดับ และมีความรักศีล ไม่ต้องการที่
จะละเมิดศีล เหมือนอย่างจามรีรักษาขน
เนกขัมมะ การออก
ต่อไปท่านก็นึกถึงข้อ ๓ ก็พบ เนกขัมมะ คือการออก
ได้แก่การออกจากกาม ไม่ติดอยู่ในกาม จน
ถึงการออกที่เป็นการออกบวช มองเห็นเครื่องผูกพัน
ทั้งหลายอันเกิดจากกามนั้น เหมือนอย่างเรือนจำ
นักโทษที่อยู่ในเรือนจำก็ย่อมไม่ต้องการที่จะอยู่
ในเรือนจำ ก็ย่อมปรารถนาที่จะออกจากเรือนจำ
ฉันใดก็ดี เมื่อยังอยู่ในกามโลกทั้งหลาย
ก็ปรารถนาที่จะออก
จากกามโลกเหมือนอย่างอยากออกจากเรือนจำ
ปัญญา ความรู้ทั่วถึงเหตุผลตามเป็นจริง
ต่อไปท่านก็นึกถึงข้อ ๔ ก็พบ ปัญญา คือความรู้ที่
เป็นปัญญา คือความรู้ทั่วถึงเหตุผลตามเป็นจริง
หรือรู้ความจริงตามเหตุและผล ศึกษา
ค้นคว้าไต่ถามผู้ที่คิดว่าจะให้ความรู้ได้ทั่วไป ไม่มีเว้น
เหมือนอย่างภิกษุที่ถือธุดงค์ข้อ สปทานจาริก
คือเที่ยวรับบาตรไปโดยลำดับ ไม่มีข้าม
วิริยะ ความเพียร
ต่อไปท่านก็นึกถึงข้อต่อไป ก็พบข้อ ๕ คือ วิริยะ
ความเพียร คือมีความเพียร พยายามไม่ท้อถอย
มีเริ่มต้นดำเนินไปก้าวหน้า ไม่มีถอยหลัง มี
ความกล้าหาญในการประกอบกระทำ
เหมือนอย่างสีหราชทุกอิริยาบถ
ขันติ ความอดทน
ท่านก็คิดถึงข้อต่อไป ก็พบข้อ ๖ คือ ขันติ ความอดทน
คือปฏิบัติทำความอดทนให้
สามารถถอดทนคือรับที่ตั้งของความทุกข์เป็นต้น
ได้ทุกอย่าง เหมือนอย่างแผ่นดินรับรองของที่
เขาทิ้งลงไปได้ทุกอย่าง ไม่ว่าของสะอาดไม่สะอาด
สัจจะ ความจริง
ท่านก็คิดข้อต่อไปว่าจะมีอะไรอีก ก็พบข้อ ๗ คือ สัจจะ
คือความจริง เช่นจริงวาจา ไม่พูดมุสา แม้
จะถูกฟ้าผ่าขมองเพราะพูดจริง ท่านก็ยอมที่จะ
ไม่พูดเท็จ ต้องพูดจริง เหมือนอย่างดาวโอสธี
คือดาวประจำรุ่งที่ไม่ละวิถี
อธิษฐาน ความตั้งจิตมั่น
ท่านก็คิดต่อไปว่าจะมีอะไรอีก ก็มาพบข้อ ๘ คือ
อธิษฐาน อันได้แก่ความที่ตั้งจิตมั่นใน
ความปรารถนาที่ตั้งไว้ ไม่คลอนแคลน
กลับกลอกเปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างภูเขาที่
ไม่หวั่นไหวด้วยลมที่พัดมาแต่ทิศทั้ง ๔
เมตตา ความปรารถนาสุข
ท่านก็คิดต่อไปอีกว่าจะมีอะไรอีก ก็พบข้อ ๙ คือ เมตตา
คือความที่มีจิตมีเมตตาปรารถนาสุข
ดับโทสะพยาบาท เหมือนอย่างน้ำที่แผ่ความเย็นให้แก่คน
ทั้งหมด ไม่ว่าดี ไม่ว่าชั่ว แผ่ความเย็นให้เหมือนกันหมด
อุเบกขา ความมีจิตมัธยัสถ์เป็นกลาง
ท่านก็นึกต่อไปว่าจะมีอะไรอีก ก็พบข้อ ๑๐ คือ อุเบกขา
อันได้แก่ความที่มีจิตมัธยัสถ์เป็นกลาง ไม่ลำเอียงไป
เพราะอคติต่างๆ ตั้งมั่นอยู่ในความมัธยัสถ์เป็นกลาง
เหมือนอย่างแผ่นดินที่ตั้งอยู่ในความเป็นกลาง
ในเมื่อใครๆ เขาทิ้งของที่สะอาดบ้าง
ไม่สะอาดบ้างลงไป แผ่นดินก็ไม่ว่ากระไร มีความ
เป็นกลางในทุกสิ่งที่เขาทิ้งลงไปในแผ่นดินนั้น
เมื่อท่านพบถึง ๑๐ ข้อดั่งนี้ ท่านก็รู้สึกว่ามีเพียง ๑๐
ข้อนี้ เป็นคุณธรรมที่ท่านผู้ปรารถนา
เป็นพระพุทธเจ้าจะต้องปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ธัมมะทั้ง
๑๐ ข้อนี้จึงได้เรียกว่า พุทธการกธรรม ธัมมะที่ทำ
ให้เป็นพระพุทธเจ้า และเรียกว่า บารมี
วันนี้ได้เล่าถึงกำเนิดแห่งพระโพธิสัตว์และ
ความเริ่มต้นของบารมี ที่แสดงไว้
ในคัมภีร์อรรถกถา
๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 14:10 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๑๒ ชั้นของบารมี
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
สรุปความหมายของบารมี
ได้แสดงถึงกำเนิดพระโพธิสัตว์และบารมี ก็
จะแสดงเรื่องชั้นของบารมี การใช้คำว่าบารมีใน
ความหมายหลายอย่าง และตามที่ได้กล่าวแล้วว่า
คำว่า บารมี นี้ ไม่มีในพระสูตรใหญ่ๆ
ในพระสุตตันตปิฎก แต่ก็ได้มีในบางพระสูตรซึ่งใช้
ในความหมายว่า เลิศ ก็อย่างยิ่งนี่แหละ
แต่ว่าอย่างยิ่งชนิดที่เป็นอย่างยิ่งที่สุด และได้พบใน
นิธิกัณฑสูตร แสดงถึงอานิสงสผลของ บุญนิธิ
คือบุญที่บุคคลผู้กระทำได้กระทำเหมือนอย่างฝังเอา
ไว้ ซึ่งมีสรุปอานิสงส์ของบุญซึ่งใช้ศัพท์ว่า
ให้สำเร็จสาวกภูมิ แต่ว่าไม่ใช้คำว่า สาวกภูมิ ใช้คำว่า
สาวกปารมี ปัจเจกภูมิ และ พุทธภูมิ เพราะฉะนั้น
เมื่อพิจารณาดูความหมายของคำนี้ ก็กล่าวได้ว่า ได้มี
ความหมายที่ใช้ในพระสูตรบางพระสูตร ที่เป็น
มัชฌิมนิกาย คือที่เป็นพระสูตรอย่างกลาง ใช้คำที่มี
ความหมายว่า เลิศ คือที่สุด คือเมื่อ
ได้แสดงธรรมที่ปฏิบัติมาโดยลำดับ
ผู้ปฏิบัติเมื่อปฏิบัติมาโดยลำดับดังที่แสดงไว้แล้ว ก็จะ
ได้บรรลุถึงบารมีคือที่สุด เมื่อเป็นที่สุดจริงๆ
ก็ย่อมจะเป็นมรรคผลนิพพาน
และมรรคผลนิพพานนั้นก็มีเป็นชั้นๆ ถ้า
เป็นที่สุดจริงๆ ก็ต้อง
เป็นมรรคผลนิพพานชั้นอรหัตมรรค
อรหัตตผล นิพพาน เพราะฉะนั้น จึ่งไม่ได้หมาย
ความว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ดำเนินมา
โดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น เมื่อปฏิบัติมาจนถึงผลที่สุด
แล้ว ผลที่สุดนั่นแหละจึงเรียกว่าบารมี แม้คำว่า
สาวกบารมี ในนิธิกัณฑสูตรนั้น ก็แสดงไปด้วยกัน
กับปัจเจกภูมิ พุทธภูมิ อันมีความหมายว่าเป็นข้อปฏิบัติที่
ให้บรรลุถึงความเป็นสาวก คือพระอรหันตสาวก
ให้บรรลุถึงความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ให้บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่ง
ในพระสูตรดังกล่าวนี้ คำว่าบารมีกับภูมิใช้มี
ความหมายเสมอกัน ถ้าหมายถึงภูมิที่ให้
เป็นพระพุทธเจ้า ให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
เป็นพระอรหันตสาวก ก็ย่อมมีความหมายถึงที่
เป็นอย่างสูงสุด คือเป็นที่สุดดังที่กล่าวนั้น
บารมีที่มีความหมายว่าเลิศ คือที่สุด
เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความหมายของบารมีตามที่ใช้
ก็สรุปลงได้เป็น ๒ คือบารมีที่มี
ความหมายว่าเลิศคือที่สุด อันหมายความว่าผลที่สุด
และแปลว่าอย่างยิ่งก็ได้ คือเป็นอย่างยิ่งจริงๆ
เป็นอย่างยิ่งที่เป็นยิ่งที่สุด ที่เป็นเลิศก็เป็นเลิศที่สุด
ความหมายดังกล่าวนี้พบใช้ในบางพระสูตร ไม่พบ
ใช้มากแห่งนัก และก็ใช้หมายถึงเป็นเลิศที่สุดสำหรับ
เป็นพระสาวกด้วย ใช้อย่างเดียวกับภูมิดังที่อ้างมานั้น
สาวกปารมี ปัจเจกภูมิ พุทธภูมิ แต่ทำไมจึงใช้ปารมี ไม่
ใช้สาวกภูมิ ก็เพราะว่าพระสูตรที่กล่าวมานี้
เป็นคาถา ถ้าใช้สาวกภูมิก็ไม่เป็นคาถาที่ถูกต้อง คือไม่
เป็นฉันทคาถาที่ถูกต้องสำหรับตรงนั้น เมื่อใช้ปารมี
จึงจะถูกต้อง ลงได้พอดี ส่วนคำว่าปัจเจกภูมิ พุทธภูมิ
นั้นเหมาะที่จะใช้ภูมิ เพราะรวมเข้าในบาทเดียว ซึ่งทำ
ให้เห็นว่ามีความหมายเสมอกัน และทำให้สันนิษฐานว่า
มีความหมายถึงที่เป็นอย่างยิ่งที่สุด เรียกว่าเลิศ
หรือประเสริฐที่สุด สำหรับที่จะ
เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ที่จะ
เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า และก็เมื่อ
ใช้สำหรับพระสาวกดั่งนั้น ก็แสดงว่าได้มี
ใช้สำหรับพระสาวก ติดอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นด้วย
แล้ว
บารมีที่หมายถึงคุณธรรมที่สั่งสมมาโดยลำดับ
และโดยที่คำว่าบารมีมีที่ใช้น้อยในพระสูตร
ในพระไตรปิฎกดังกล่าว และพบที่ใช้ก็มี
ความหมายถึงว่า อย่างยิ่งที่สุด เลิศ
หรือประเสริฐที่สุด จึงทำให้เข้าใจว่า คำว่าบารมีนี้
ได้มีมาเริ่มใช้แม้ในครั้งพุทธกาลนั้นเองก็
ในช่วงหลัง และก็ในความหมายว่าเลิศที่สุด
อย่างยิ่งที่สุด ดังกล่าวนั้นมาก่อน
และต่อมาเมื่อมีแสดงถึง พุทธวงศ์ จึงได้ใช้ใน
ความหมายเป็นบารมี ๑๐ ที่ได้แสดงมาแล้ว และก็
ไม่ได้มีความหมายว่า อย่างยิ่งที่สุด เลิศที่สุด แต่มี
ความหมายว่า เป็นคุณธรรมที่ได้ปฏิบัติสั่งสมมา
โดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ก็เรียกว่าบารมีขึ้นมา
โดยลำดับ จึงเป็นคำกลาง ที่หมาย
ถึงคุณธรรมที่ปฏิบัติสั่งสมขึ้นมา เพื่อให้บรรลุ
ถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจ เพราะฉะนั้น จึง
ต้องแบ่งบารมีเป็น ๓ ชั้น เป็นชั้นบารมีธรรมดา
ชั้นอุปบารมี บารมีที่สูงขึ้น ใกล้จะถึงอย่างยิ่งที่สุด
กับปรมัตถบารมี บารมีที่เป็นอย่างยิ่งที่สุด
เพราะฉะนั้น คำว่า ปรมัตถบารมีนี้ ก็มีความหมายได้
กันกับคำว่าบารมีที่ใช้ในตอนต้น
ในบางพระสูตรดังกล่าวที่มีความหมายว่าเลิศที่สุด
อย่างยิ่งที่สุดแต่อย่างเดียว แต่ครั้นมาใช้ในความหมาย
เป็นคุณธรรมที่ปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นมา
เพื่อบรรลุซึ่งเป้าหมายอย่างสูง
เรียกว่าบารมีมาตั้งแต่ขั้นต้น จึงต้องแบ่งเป็น ๓
ชั้นดังที่กล่าวมานั้น ความหมายจึงต้องต่างกันออกไป
การแบ่งชั้นของบารมีตามสิ่งที่เสียสละ
เป็นประมาณ
และเกณฑ์ในการแบ่งนั้น ที่มีแสดงเอาไว้ ก็มุ่ง
ถึงข้อที่ทำนั้น เป็นการเสียสละอย่างธรรมดา
หรืออย่างพิเศษขึ้นไป หรือว่าอย่างยิ่งที่สุด
คือตั้งเกณฑ์เอาไว้ว่า อย่างเช่น ทานบารมี
หรือแม้บารมีข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน ต้องเสียสละทั้งนั้น
ในการปฏิบัตินั้นเมื่อต้องเสียสละแค่ทรัพย์สมบัติ ก็
เป็นบารมีธรรมดา เมื่อ
ต้องเสียสละอวัยวะร่างกาย ก็เป็นอุปบารมี เมื่อ
ต้องเสียสละชีวิต ก็เป็นปรมัตถบารมี
การปฏิบัติของบุคคลก็ดี ของสัตว์เดรัจฉานก็ดี
ซึ่งเล่าไว้ในชาดกนั้นๆ ซึ่งมีตั้ง ๕๐๐ กว่าเรื่อง เมื่อ
ต้องเสียสละอย่างไหนแห่ง ๓ อย่างนั้น
ก็เรียกว่าบุคคลหรือสัตว์ในเรื่องนั้น
ได้บำเพ็ญบารมีในขั้นนั้นขั้นนั้น
เช่นเสียสละเพียงทรัพย์ก็เป็นบารมีธรรมดา
เสียสละอวัยวะร่างกายก็เป็นอุปบารมี เมื่อเสียสละ
ถึงชีวิตก็เป็นปรมัตถบารมี แม้แสดงถึงชาติที่
เป็นกระต่าย ซึ่งในชาดกเรื่องนี้กระต่ายได้สละชีวิต
ให้ร่างกายเป็นอาหาร ก็เรียกว่าปฏิบัติ
ในปรมัตถบารมี ถือเอาสิ่งที่เสียสละเป็นประมาณ
ไม่ได้ถือเอาคุณธรรมที่ปฏิบัติใกล้พระโพธิญาณ
เป็นเกณฑ์
เพราะว่าการปฏิบัติบารมีของพระโพธิสัตว์
นั้นเพื่อพระโพธิญาณ เพื่อที่จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้า
ดังที่ได้เล่ามาแล้วในเรื่องสุเมธดาบสซึ่ง
เป็นชาติแรกแห่งพระโพธิสัตว์ คือที่จะตรัส
เป็นพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเรา
ทั้งหลายในบัดนี้ ตามที่แสดงเอาไว้
ท่านสุเมธดาบสนั้นเมื่อ
ได้ตั้งปรารถนาพุทธภูมิต่อพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร
แล้ว ก็เริ่มพิจารณาหาธรรมปฏิบัติที่จะทำให้
เป็นพระพุทธเจ้า
อันเรียกว่าพุทธการกธรรมดังที่เล่าแล้ว
ท่านก็พิจารณาเห็นตั้งแต่ข้อทานขึ้นไปจนถึงข้ออุเบกขา
เป็นที่สุด รวมเป็น ๑๐ ข้อ ว่า ๑๐ ข้อนี่แหละจะ
เป็นพุทธการกธรรม ท่านพิจารณาค้นหาขึ้นเอง
แล้วก็ปรากฏแก่ใจของท่านเองด้วยอภิญญาของท่าน
พระพุทธเจ้าทีปังกรไม่ได้ตรัสสั่งสอนอย่างไรไว้
จุดมุ่งก็คือพระโพธิญาณหรือพุทธภูมิที่จะ
เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ท่านจึงเริ่มปฏิบัติ
ในธรรมปฏิบัติ ๑๐ ข้อนี้เรื่อยมา สืบชาติกันมา
โดยลำดับ และชาติต่างๆ ที่มาเล่าไว้กว่า ๕๐๐ ชาติ
นั้น ก็ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จะเป็นบารมีประเภทไหน
ก็มุ่งเอาข้อที่สละได้ในชาตินั้นๆ เป็นเกณฑ์ แม้
เป็นกระต่าย เมื่อสละชีวิต ให้ร่างกายเป็นอาหาร
เขาได้ ก็เป็นปรมัตถบารมีได้ ไม่ได้มุ่งเอาว่าข้อปฏิบัติ
นั้นจะสูง ใกล้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง
และแม้ที่แสดงว่าในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดร
อันเป็นพระชาติสุดท้ายในเมืองมนุษย์
เมื่อพระเวสสันดรสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไปเกิด
เป็นเทพในชั้นดุสิต จุติในชั้นดุสิตนั้น แล้วจึงมาบังเกิด
เป็นสิทธัตถะราชกุมารตามที่แสดงไว้
แม้ทานที่พระเวสสันดรให้เป็นอันมาก
จนนับถือว่าพระเวสสันดรเป็นชาดกแห่งทานบารมี
ทานที่พระเวสสันดรได้บริจาคทั้งปวงนั้น ก็ไม่นับว่า
เป็นปรมัตถบารมีเพราะไม่ได้สละชีวิต
กระต่ายเสียอีกซึ่งบังเกิดในชาติที่ห่างไกล แต่ว่า
ได้สละชีวิตให้ร่างกายเป็นอาหารเขา ก็ยัง
ได้รับยกย่องว่าเป็นปรมัตถบารมี
เพราะถือเกณฑ์ดังที่กล่าวนั้น
การแบ่งชั้นของบารมีตามภูมิธรรมที่ได้ปฏิบัติ
คราวนี้เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว ก็ควรจะเห็นว่า
เมื่อแบ่งบารมีเป็น ๓ ขั้นดั่งนี้แล้วเกณฑ์ที่จะนับว่า
เป็นบารมีขั้นไหนนั้นควรจะมุ่งเอาคุณธรรมที่
ได้ปฏิบัติสั่งสมมาเพื่อพุทธภูมิ ได้สูงขึ้น สูงขึ้น ใกล้
ความเป็นพระพุทธเจ้าเข้ามาจนถึงเป็นพระพุทธเจ้า
คุณธรรมซึ่งได้ปฏิบัติมาในชาติที่ห่างไกลยัง
ไม่สูงมาก ยังไกลที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าก็
เป็นบารมีธรรมดาเรื่อยมา จะสละอะไรก็ตาม
และเมื่อภูมิสูงขึ้นๆ จนใกล้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ก็
เป็นอุปบารมี คือเข้าพรมแดนของพุทธภูมิ และเมื่อ
ถึงขั้นที่จะให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ทันที นั่นก็
เป็นปรมัตถบารมี ถ้าจัดอย่างนี้แล้วก็จะ
เข้าลำดับของธรรมปฏิบัติที่สูงขึ้นโดยลำดับ
คราวนี้หากจะเทียบกับในพุทธประวัติ
เอาปัจจุบันชาติของพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระพุทธเจ้า
นั้น เมื่อได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔
ทรงเริ่มปรารถนา โมกขธรรม นั่นก็เริ่มว่า
เป็นพระโพธิสัตว์ และก็เริ่มเป็นบารมีที่
ได้ทรงขวนขวายที่จะสละออก เป็น เนกขัมมะ จนถึง
ได้สละออก แล้วก็แสวงหาทางปฏิบัติ เข้าศึกษา
ในสำนักของดาบสทั้ง ๒ เมื่อเห็นว่าไม่
ใช่ทางก็ออกมาทรงทำทุกกรกิริยา เมื่อเห็นว่าไม่
ใช่ทางก็ทรงเลิก แล้วก็มาระลึกได้ถึง
อานาปานสติ ที่ทรงได้เมื่อเป็นพระกุมาร
ตามเสด็จพระราชบิดา
และพระกุมารน้อยก็ประทับนั่งใต้ต้นหว้า
ในขณะที่พระราชบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะทรงทำพิธีแรกนาขวัญ
ก็ทรงกำหนดลมหายใจเข้าออก ทรงบรรลุ
ถึงปฐมฌาน แต่เมื่อเสร็จจากพระราชพิธีนั้นแล้ว
ปฐมฌานที่ทรงได้นั้นก็เสื่อมไป ก็ทรงระลึกได้
ถึงเรื่องราวที่เล่ามานี้ จึงได้เคยเทศน์เคยแสดงมา
แล้วว่า ในที่สุดพระพุทธเจ้าก็
ได้ทรงพบพระองค์เองเป็นพระอาจารย์
คือพระองค์เองซึ่งเป็นพระกุมารนั่งประทับ
ใต้ร่มหว้าได้ปฐมฌานนั้น ก็ทรงพิจารณาเห็นว่า
การปฏิบัติให้จิตได้ความสงบอย่างบริสุทธิ์ดั่งนั้น
จะพึงเป็นทางแห่งความตรัสรู้ได้ จึง
ได้เริ่มทรงจับปฏิบัติทางสมาธิอันบริสุทธิ์ดังกล่าว
นี่ก็เป็นอุปบารมีเรื่อยขึ้นมา แปลว่าเข้าทางที่ถูก
เข้าทางมรรคมีองค์ ๘ จนได้พระญาณทั้ง ๓
ในราตรีที่ตรัสรู้ จนถึง อาสวักขยญาณ
ญาณที่ทำอาสวะให้สิ้นไป นี่แหละเป็นปรมัตถบารมี
มาเป็นพระพุทธเจ้าขึ้น นี่จัดเทียบ
เป็นนิทัสสนอุทธาหรณ์ ว่าเกณฑ์จัดของบารมีน่าจะ
เป็นดั่งนี้ คือถือเอาภูมิธรรมปฏิบัติที่สูงขึ้นๆ และ
ถ้าหากว่าจะถือตามที่พระอาจารย์ท่านได้เล่าเรื่อง
และเป็นมาในคัมภีร์พระไตรปิฎกก็มี คืออย่าง
ในจริยาปิฎกในพุทธวงศ์ดังกล่าวนั้น ย้อนไปจน
ถึงพระชาติที่เป็นสุเมธดาบสก็ได้ ก็เริ่มจากนั้นมา ก็
เป็นอันว่าได้สั่งสม สละโน่นบ้าง สละนี่บ้าง
สละทรัพย์บ้าง สละร่างกายบ้าง สละชีวิตบ้าง
สละลูกสละเมียบ้าง เรื่อยมา เรื่อยมา เรื่อยมา
จนถึงตรัสรู้ นั่นแหละก็เป็นบารมี อุปบารมี
ปรมัตถบารมีมาโดยลำดับ จนถึงที่สุดจะตรัสรู้
นั่นแหละจึงเป็นปรมัตถบารมี แล้วก็ตรัสรู้
มรรคมีองค์ ๘ ก็คือบารมี
และหากว่าจะสรุปเข้าใน มัชฌิมาปฏิปทา
มรรคมีองค์ ๘ ก็สรุปเข้าได้ ก็มรรคมีองค์ ๘
นั่นเองคือบารมี ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาจนถึง
ได้ตรัสรู้ ปฏิบัติทีแรกก็เป็นบารมี ยิ่งขึ้นๆ ก็
เป็นอุปบารมี จนถึงยิ่งที่สุดก็เป็นปรมัตถบารมี ก็
ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 14:24 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๑๓ ทานบารมี
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
อธิบายทบทวนคำว่าโพธิสัตว์
จะแสดงบารมีที่ ๑ ทานบารมี
เรื่องคำว่าบารมีได้แสดงมาแล้ว จน
ถึงกำเนิดแห่งบารมี และกำเนิดแห่งพระโพธิสัตว์ที่
ได้เล่ามาแล้ว และก็ขอซ้ำย้ำความตอนที่ว่า คำว่า
โพธิสัตว์ นี้ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า
ผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายเอง
ว่าเมื่อทรงเล่า
ถึงเรื่องของพระองค์เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ก็ทรง
ใช้คำว่า เมื่อทรงเป็นโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้
ได้ทรงปฏิบัติอย่างนั้นๆ แต่ก็ทรงแสดง
ถึงข้อปฏิบัติของพระองค์เมื่อเป็นโพธิสัตว์ดังกล่าว
ในพระชาตินั้นเอง เช่นเมื่อทรงเล่า
ถึงทรงปรารถนา โมกขธรรม เมื่อ
ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ทรงมุ่งที่จะ
ได้พบโมกขธรรม จึงได้เสด็จออกทรงผนวช
แล้วทรงแสวงหาโมกขธรรมด้วยวิธีต่างๆ
ดังที่เล่ามาแล้ว แต่ก็ได้มีคัมภีร์ชาดกที่อยู่
ในพระไตรปิฎกนั้นเอง ได้เล่า
ถึงอดีตชาติของพระองค์ สำหรับชาดกนี้ ประพันธ์
เป็นคาถาฉันท์ปัฐยาวัตร
และชาดกที่มีคำสรุปธัมมีกถาที่เราเรียกว่า สุภาษิต
อย่างนิทานอีสปที่ลงท้ายว่าเป็นภาษิตคำสอน
ในชาดกสั้นๆ โดยมากก็มีเพียงธัมมีกถา คือภาษิต
หรือสุภาษิตที่เป็นคำสอนดังกล่าวเท่านั้น ในเมื่อ
เป็นชาดกยาวๆ จึงได้มีการเล่าเรื่องประกอบด้วย
แต่พระอรรถกถาจารย์ก็ได้มาอธิบายเพิ่มเติม
ทั้งหมดด้วยคำร้อยแก้วให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และก็อ้างว่า
เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเอง
ถึงอดีตชาติของพระองค์เอง จับตั้งแต่เมื่อ
เป็นสุเมธดาบสหรือสุเมธะดาบส ได้ทรงปรารถนา
พุทธภูมิ
ในที่จำเพาะพระพักตร์แห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรตามที่เล่ามา
แล้ว และต่อจากนั้นมาได้มีพระชาติเป็นมนุษย์ก็มี
เป็นสัตว์เดรัจฉานก็มี เป็นเทพก็มี ซึ่งทุกๆ
ชาติก็บำเพ็ญบารมีเพื่อ โพธิญาณ คือเพื่อ
ความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อเนื่องกันมา
โดยปฏิบัติอยู่ใน พุทธการกธรรม ธัมมะที่ทำให้
เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งสุเมธดาบสได้พิจารณาว่า
ถ้าปรารถนาพุทธภูมิแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไร จึง
จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็
ได้พิจารณาเห็นข้อปฏิบัติ ๑๐ ประการที่เรียกว่า
บารมี หรือเรียกว่า พุทธการกธรรม ก็
ได้มาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงเป็นสุเมธดาบสนั้น
ชาดกเป็นเรื่องเล่าแสดงบารมี
เพราะฉะนั้น ในการแสดงบารมีทุกข้อ ก็
จะมีการเล่าเรื่องชาดกนั้นๆ มาประกอบ อัน
เป็นเรื่องที่ท่านเล่าไว้แสดงไว้
ว่าทรงแสดงบารมีข้อนั้นๆ และได้บำเพ็ญบารมีข้อ
นั้นๆ อย่างธรรมดาบ้าง อย่างยิ่งขึ้นไปบ้าง
อย่างยิ่งที่สุดบ้าง อันจำแนกว่า บารมีธรรมดา
อุปบารมี และ ปรมัตถบารมี ดังที่ได้กล่าวมา
แล้ว และธัมมะทั้ง ๑๐ ข้อที่พระโพธิสัตว์ในชาตินั้นๆ
ได้บำเพ็ญนั้น ก็เป็นข้อที่เมื่อมองดูตามเหตุผล
ด้วยสายตาอย่างสามัญ ก็อาจจะเห็นได้ว่า ดูจะ
เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และเมื่อได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า
แล้ว ก็ได้ทรงสอนธัมมะเหล่านี้ในหมวดธรรม
ทั้งหลายเป็นอันมาก
และก็ทรงอธิบายตามเหตุผลอันพอเหมาะพอควรที่บุคคล
ทั่วไปปฏิบัติได้ แต่ว่าที่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิบัติเองนั้น
บางทีก็รู้สึกว่าได้ทำหนักไปหรือเกินไปเป็นอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้น เมื่อฟังเรื่องชาดกเกี่ยวกับบารมีดังนี้
ก็พึงเข้าใจว่าเมื่อพระโพธิสัตว์
ได้ทรงบำเพ็ญธัมมะเหล่านี้ ที่เล่าไว้ในชาดกนั้นๆ ก็
เป็นข้อปฏิบัติที่ผู้มุ่งโพธิญาณเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าเท่า
นั้นจะพึงกระทำได้ อันแสดงถึง
ความที่มีน้ำใจที่เด็ดเดี่ยว เพราะว่ามี
ความมุ่งหมายพระโพธิญาณ คือมุ่งหมายที่จะตรัสรู้
เป็นพระพุทธเจ้า ส่วนบุคคลทั่วไปมิได้มี
ความมุ่งหมายดั่งนั้น เพราะแม้ผู้ที่มุ่งหมาย
เป็นพระสาวก ก็บำเพ็ญ สาวกการกธรรม
คือธัมมะที่ทำให้เป็นพระสาวก ซึ่ง
ในบางพระสูตรก็เรียกว่าบารมีเหมือนกัน
ก็เรียกว่า สาวกบารมี ดังที่ได้เล่ามาแล้ว
การบำเพ็ญธัมมะเหล่านี้ก็หย่อนลงมา แต่ก็มี
ความมุ่งหมายที่จะเป็นพระพุทธสาวกต่อไปข้างหน้า
ทานของท่านอกิตติดาบส
สำหรับข้อ ๑ คือทาน ได้แก่ การให้ การบริจาค
การให้การบริจาคนี้ สำหรับพระโพธิสัตว์
ได้บำเพ็ญมา ท่านได้ให้ ได้บริจาคทรัพย์บ้าง
อวัยวะร่างกายบ้าง ชีวิตบ้าง บุตรภรรยาบ้าง มา
ในชาตินั้นๆ เป็นอันมาก แก่ผู้มาขอ ผู้ที่ต้องการอัน
เป็นการยากที่ผู้อื่นจะพึงทำได้ ดังที่มีเรื่องเล่าไว้
ในนิทานชาดกบางเรื่องที่จะยกมาเล่า
เรื่องการที่ทรงทำงาน เรื่องหนึ่งว่า
ในกาลล่วงไปแล้วนานไกล ได้มีดาบสผู้หนึ่งชื่อว่า
อกิตติ บำเพ็ญตบะอยู่ในป่า ได้ฉันใบไม้ที่เกี่ยวเก็บ
จากป่าเป็นอาหารประจำวัน ไม่มีน้ำมัน เกลือ
และเครื่องปรุงอื่นๆ
วันหนึ่งก็เที่ยวหาฉันเพียงครั้งเดียว ได้มีพราหมณ์
ผู้หนึ่งมาขอที่ประตูอาศรม อกิตติดาบสก็ได้ให้
ทั้งหมด แล้วไม่ไปแสวงหาใหม่อีกในวันนั้น
เข้าอาศรมบำเพ็ญ ตบธรรม ให้กาลเวลาล่วงไป
ด้วย ปีติสุข วันรุ่งขึ้นพราหมณ์ก็ได้มาขออีก ดาบสก็
ได้ให้อีก ได้เป็นดั่งนี้ตลอดเวลานานวัน ดาบสได้
ให้อาหารประจำวันแก่พราหมณ์ทุกครั้งเรื่อยมา
ไม่หวั่นไหวต่อชีวิต และดำรงอยู่ได้ด้วยปีติสุข
ในตบธรรม เมื่อพราหมณ์
นั้นเห็นว่าอกิตติดาบสมีกำลังใจเข้มแข็ง
ไม่ยอมสละทานจริง ก็แสดงตน
ให้ปรากฏว่ามาทดลองกำลังใจ
ทานของสังขพราหมณ์
อีกเรื่องหนึ่ง พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า สังขะ
สวมรองเท้าและกั้นร่ม
เดินทางไปบนภูมิภาคอันร้อน
ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเดินสวนทางมา
เห็นว่าท่านเป็นบุญเขตอันอุดม จึงสละร่ม
และรองเท้าถวาย ไม่คำนึงถึงภูมิภาคร้อนที่ตนจะ
ต้องเดินต่อไป
ทานของพระเจ้าธนัญชยะ
อีก เรื่องหนึ่ง พระราชาทรงพระนามว่า ธนัญชยะ
ในกรุงอินทปัตถ
ได้พระราชทานช้างเผือกแก่พราหมณ์ที่มาขอ
จากกาลิงครัฐ เพราะรัฐนั้นเกิดฝนแล้งทำนาไม่ได้
เกิดอดอยากกันขึ้น และเห็นว่าในแคว้นอินทปัตถฝนดี
อาหารสมบูรณ์เพราะมีช้างเผือก ฉะนั้น ถ้า
ได้ช้างเผือกมาก็คงจะเกิดความสมบูรณ์เหมือนอย่างนั้น
แต่ครั้นได้ช้างเผือกมาแล้ว ฝนก็ยังคงไม่ตก
จึงนำช้างไปถวายคืน และทูลถามถึงวิธีปฏิบัติ
พระเจ้าธนัญชยะก็ตรัสบอกว่า ทรงปฏิบัติใน
กุรุธรรม คือ ศีล ๕ และได้ทรงชักนำ
ให้ประชาชนปฏิบัติในกุรุธรรมนั้นด้วย
ทางกาลิงครัฐก็ทูลขอกุรุธรรม ก็
ได้พระราชทานกุรุธรรมไป ชาวกาลิงรัฐพา
กันปฏิบัติในกุรุธรรม จึงเกิดความสมบูรณ์ขึ้น
ทานในชาดกอื่นๆ
อีกเรื่องหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า
มหาสุทัสนะ ในกุสาวดีนคร พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ
มหาโควินทะ เป็นปุโรหิตของพระราชา ๗ พระองค์
พระเจ้าเนมิราชในกรุงมิถิลา พระจันทกุมาร
ซึ่งทรงรอดพ้นจากการถูกฆ่าบูชายัญ ท่านเหล่านี้
ได้บำเพ็ญมหาทานแก่ยาจกวนิพกทั่วไป
พระเจ้าสีวิราชในกริฐนคร ได้มีพระหฤทัยมุ่งมั่น
ในทาน
ได้ประทานดวงพระเนตรแก่พราหมณ์ที่มาทดลองขอ
เป็นที่ประจักษ์ว่ามีพระหฤทัยมั่นคงเพื่อสละได้จริง
ทานของกระต่ายบัณฑิตโพธิสัตว์
เรื่องกระต่ายโพธิสัตว์ เรียกว่า สสบัณฑิต ซึ่ง
ได้ไปเที่ยวอยู่ในป่า จนถึงมีสัตว์ป่าหลายจำพวก
เป็นมิตรสหายเที่ยวไปด้วยกัน มุ่งจะทำทาน
ได้มีพราหมณ์คนหนึ่งมาทดลองขอ ไม่มีทรัพย์สิ่งอื่น
จะให้ จึงยอมสละให้อวัยวะร่างกายของตนทุก
ส่วนเพื่อเป็นภักษาของพราหมณ์
ทานในเวสสันดรชาดก
อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่รู้จักกันทั่วไป
คือเรื่องเวสสันดรชาดกหรือมหาชาติแสดง
ถึงพระเวสสันดร พระโอรสของพระเจ้าสญชัย
และพระนางผุสดีในสีวิรัฐ ซึ่งเป็นนครเชตุดร
เป็นราชธานี พระเวสสันดรมีพระชายาพระนามว่า
มัทรี มีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า ชาลี
พระธิดาองค์หนึ่งพระนามว่า กัณหาชินา
พระเวสสันดรมีพระอัธยาศัยแนบแน่นอยู่ในทาน
เป็นอย่างยิ่ง ทรงดำริจะบริจาคทาน ทั้ง
ได้ทรงเริ่มบริจาคทานมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
เหมือนอย่างเป็นเด็กชอบเล่น ก็เล่นทำทาน แต่
เป็นการกระทำทานจริงแก่คนยากจนขัดสนเรื่อยมา
และทรงมีปกติขัดคนที่มาขออะไรไม่ได้ จะ
ต้องประทานให้ทุกๆ อย่าง ได้มีพราหมณ์
จากกาลิงครัฐมาทูลขอช้างเผือก
ในวันหนึ่งขณะที่ทรงช้างเผือกนั้นเสด็จประพาส
ในนคร ก็
ได้พระราชทานช้างเผือกแก่พราหมณ์เหล่านั้นไป
ชาวเมืองสีพีพากันโกรธแค้น พากันมาประชุม
กันกราบทูลพระจ้าสญชัย
ให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากประเทศ
พระเวสสันดรได้ทรงขออนุญาตทำทาน
ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง จัดให้มีครบทุกอย่าง
แล้วเสด็จทรงรถออกจากกรุงพร้อม
กับพระนางมัทรี และพระชาลีพระกัณหาชินา ก็
ยังมีพราหมณ์ตามไปทูลขอรถขอม้า ก็ประทานให้
ต้องอุ้มพระโอรส
และพระนางมัทรีก็ทรงอุ้มพระธิดา
เสด็จไปประทับ ณ เขาวงกต ต่อมาก็
ยังมีพราหมณ์ชูชกตามไปทูลขอพระโอรสธิดา ก็
ได้ตัดพระหฤทัยประทานให้อีก และ
ได้มีพราหมณ์อีกผู้หนึ่งมาทูลขอพระนางมัทรี ก็
ได้ประทานให้อีก แต่พราหมณ์ผู้นั้นได้ถวายคืน
และทูลห้ามมิให้ประทานแก่ผู้อื่นต่อไป ฝ่ายชูชก
ได้พาพระชาลีและพระกัณหาชินาเข้าไป
ในนครเชตุดร ได้พาไปเฝ้าพระเจ้าสญชัย
ในพระราชสำนัก พระเจ้าสญชัย
ได้ทรงไถ่พระราชนัดดาทั้ง ๒ องค์ไว้ และ
ได้เสด็จไปทรงรับพระเวสสันดรพระราชโอรส
และพระนางมัทรี กลับสู่พระนคร
เหตุการณ์ก็กลับเรียบร้อย
เรื่องชาดกต่างๆ เหล่านี้ แม้จะถือว่า
เป็นเพียงนิทานที่นำมาเล่าอ้าง แต่ก็เป็นนิทานที่
ให้คติเกี่ยวกับทานซึ่งมีผลหลายอย่าง ทั้งได้มี
ผู้วิจารณ์กันไปหลายอย่าง การวิจารณ์ก็วิจารณ์
กันไปด้วยเหตุผลอย่างสามัญ
แต่เรื่องเหล่านี้ควรวิจารณ์
ด้วยเหตุผลอย่างวิสามัญ เพราะท่านนำมาเล่า
เป็นนิทานสาธกเฉพาะพระโพธิสัตว์พุทธางกูรว่า
พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ได้ทรงบำเพ็ญทานมา
แล้วอย่างยิ่งยวดเพียงไร จึงไม่ใช่เรื่องที่จะฟังถือ
เป็นนิทานสาธกได้โดยทั่วไป
ทานที่เป็นกรรม กับทานที่เป็นบารมี
ทานนี้มี ๒ ประเภทก่อน คือทานที่เป็นกรรม
กับทานที่เป็นบารมี ทานที่ทำคราวหนึ่งๆ เป็นทานที่
เป็นกรรม เพราะเป็นกิจการที่ทำ ทานที่
เป็นกรรมนี้แหละที่เก็บสั่งสมเป็นสันดานแห่งทาน
ในจิต เป็นทานที่เป็น ทานบารมี ทานบารมีนี้
ยังแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ
ทานบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละทรัพย์
ดั่งคำของมหาโควินทพราหมณ์โพธิสัตว์ว่า “ทรัพย์
และข้าวจะเป็นสิ่งที่เราเกลียดชังก็หามิได้ เราจะ
ไม่มีการสั่งสมก็หามิได้ (แต่) พระสัพพัญญุตญาณ
เป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงให้ทรัพย์ที่ดี”
ทานอุปบารมี ได้แก่ ทานที่บำเพ็ญ
ด้วยการสละอวัยวะ เช่น ดวงตาและโลหิต
ดังพระดำรัสของพระเจ้าสีวิราชโพธิสัตว์ว่า “
ดวงตาทั้ง ๒ จะเป็นสิ่งที่เราเกลียดชังก็หามิได้
แม้ตนของเราก็มิใช่เป็นสิ่งที่เกลียดชัง (แต่)
พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น
เราจึงได้ให้ดวงตา”
ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ ท่านที่บำเพ็ญ
ด้วยการสละชีวิต
ดังเช่นคำของกระต่ายบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า “เราได้
ให้ผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก หทัย เส้นเอ็น ไส้พุง
สิ้นสกนธกายแก่พราหมณ์”
ทานที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเป็นจาคะ
พระพุทธเจ้าได้ทรงมีพระสันดานอันบริสุทธิ์
ปราศจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น ดังคำว่า “
วิสุทฺธธมฺมสนฺตาโน” แปลว่า ผู้มีสันดานอันบริสุทธิ์
และความบริสุทธิ์นี้เกิดจากการปฏิบัติขัดเกลา
ด้วยพระองค์เองมาโดยลำดับ มลทินทาที่ทำ
ให้จิตสันดานเศร้าหมองไม่บริสุทธิ์อย่างหนึ่งก็คือ
โลภะ ความโลภอยากได้ และ มัจฉริยะ
ความตระหนี่ ซึ่งเป็นอาการสืบเนื่องมาจาก ตัณหา
ความดิ้นรนทะยานอยาก และ อุปาทาน ความยึดถือ
ซึ่งเป็น กิเลสานุสัย จมแน่นอยู่ในสันดาน พระโพธิสัตว์
ผู้ปรารถนาในพุทธภูมิ ย่อม
สามารถปฏิบัติสละสิ่งที่จิตใจเกี่ยวเกาะยึดถือได้ทุกๆ
อย่างเพื่อพระโพธิญาณ ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้จึง
เป็นเรื่องสาธกให้เห็นคติปฏิบัติของพระพุทธเจ้าเมื่อ
เป็นพระโพธิสัตว์ ว่าทรงสามารถตัดพระหฤทัยสละ
ได้ทุกอย่าง ทั้งทรัพย์ทั้งอวัยวะร่างกาย
ทั้งชีวิตเพื่อพระโพธิญาณ ในข้อนี้
ได้มีคาถาบทหนึ่งแปลความว่า “พึงสละทรัพย์
เพราะเหตุแห่งอวัยวะอันประเสริฐ เมื่อ
จะรักษาชีวิตก็พึงสละอวัยวะ นรชนเมื่อระลึก
ถึงธรรม ก็พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ และชีวิตแม้
ทั้งสิ้น” และในเย็นวันที่จะตรัสรู้ ท่านแสดงว่า
ได้ทรงตั้งพระหฤทัยอย่างแน่วแน่เพื่อพระโพธิญาณ
โดยความว่า “เนื้อและเลือดทั้งหมดจะเหือดแห้งไป
เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที ยัง
ไม่บรรลุคุณวิเศษที่จะพึงได้
ด้วยกำลังเรี่ยวแรงของบุรุษ ก็จักไม่ลุกขึ้น
จากที่นั่งนี้” ดั่งนี้ ตามเรื่องที่แสดงมานี้
ทานที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญย่อมเป็น จาคะ
คือการสละเพื่อพระโพธิญาณรวมไปด้วยกัน
เพราะทรงเห็นว่าสิ่งที่ทรงสละบริจาคนั้นเป็นสิ่ง
เล็กน้อย ส่วนสิ่งที่ทรงมุ่งหมายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่
การสละสิ่งเล็กน้อยเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้
เรียกว่าจาคะโดยตรง ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัส
ไว้ว่า “ธีรชนเมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์
ก็พึงสละสุขพอประมาณ” ฉะนั้น
ความสำคัญของการสละบริจาคนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่
จะพึงบริจาคเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่สิ่งที่ประสงค์
เมื่อสิ่งที่ประสงค์สำคัญกว่า ก็พึงสละสิ่งอื่นๆ เพื่อให้
ได้สิ่งที่ประสงค์นั้น การสละดังกล่าวนี้เป็นสิ่งจำ
เป็นแก่ผู้มุ่งประโยชน์ที่ใหญ่กว่าสำหรับทุกๆ คน แม้
ในเรื่องทั่วๆ ไป เป็นต้นว่า สละทรัพย์เพื่อให้ได้วิชา
ความรู้ สละส่วนเล็กน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ผู้ที่
ไม่ยอมสละในคราวหรือในสิ่งที่ควรสละ ย่อมไม่
ได้สิ่งที่ประเสริฐกว่า หรืออาจจะเสียสิ่งที่มี
อยู่ไปเสียอีก
ตรัสสอนให้ทำทานอย่างมีขอบเขตและเหตุผล
ส่วนทานโดยทั่วไปนั้น เป็นการให้เพื่ออนุเคราะห์
ผู้ที่ควรอนุเคราะห์ซึ่งขาดแคลน
หรือเพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์
เป็นการผูกมิตรไมตรีจิต
หรือเพื่อบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นการบูชาคุณ
หรือตอบแทน หรือเป็นการบำเพ็ญบุญในบุญเขต
พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ได้ตรัสสอน
ให้ทำทานอย่างมีขอบเขตและเหตุผล ดังเช่นที่ตรัส
ไว้ว่า ทรงสรรเสริญการเลือกให้
และทรงแสดงสมบัติของทานไว้ ๓ ประการ ได้แก่
เจตนาสมบัติ ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือมีเจตนาดี
วัตถุสมบัติ ถึงพร้อมด้วยวัตถุ ได้แก่ วัตถุ
เป็นของที่ควรให้ เป็นประโยชน์แก่ผู้รับตามสมควร
ปฏิคาหกสมบัติ ถึงพร้อมด้วยปฏิคาหก คือผู้รับเป็น
ผู้ที่ควร และตรัสสอนให้ทำทานเป็นบุญ คือให้เป็น
ความดีที่เป็นเครื่องชำระล้างความชั่ว ให้เป็นกุศล
คือเป็นความฉลาด นอกจากนี้ยังได้ตรัสให้ทำทานที่
เป็น สัปปุริสทาน ได้แก่ ทานของคนดีคนฉลาด เช่น
ให้ถูกกาลสมัย มิได้ทำตนเองให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่น
ให้เดือดร้อน ในสังฆมณฑลก็ได้มี
ให้ภิกษุพิจารณาเนืองๆ ว่า มีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น
ควรทำตนให้เขาเลี้ยงง่าย
และทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามขอจากคนที่มิใช่ญาติ
มิใช่ปวารณา แม้เช่นนั้นก็ให้รู้จักประมาณ
ให้มีสันโดษ มักน้อย ในเรื่องชาดกต่างๆ ได้แสดง
ให้เห็นว่า พวกนักขอได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่างๆ
เป็นอันมาก
อามิสทานและธรรมทาน
อนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงว่า ทานมี ๒
อย่าง คือ อามิสทาน การให้อามิส ได้แก่
ให้พัสดุสิ่งของต่างๆ ๑ ธรรมทาน การให้ธรรม ๑
และตรัสว่าทานทั้ง ๒ นี้ ธรรมทานเป็นเลิศ
พิจารณาดูตามเหตุผลก็จะพึงเห็นความสำคัญได้ว่า
ความทุกข์ยากขาดแคลนนั้นมี ๒ อย่าง ได้แก่ ทางกาย
และทางจิตใจ อามิสทานเป็นเครื่องแก้
ความทุกข์ยากขาดแคลนทางกาย เหมือนอย่างเมื่อ
ต้องการอาหาร ผ้านุ่งห่ม และได้สิ่งเหล่า
นั้นมาบริโภคใช้สอย ก็แก้ความขาดแคลน ก็ทำให้เกิด
ความสุขทางกาย ส่วนธรรมทานเป็นเครื่องแก้
ความทุกข์ยากขาดแคลนทางจิตใจ เหมือนอย่าง
ในขณะที่จิตใจเกิดทุกข์ร้อน เมื่อ
ได้ธรรมที่เหมาะสมมาดับทุกข์ ก็ทำให้จิตใจเกิด
ความสุข นอกจากนี้ธรรมทานยัง
เป็นเครื่องแก้กิเลสทางจิตใจ และแก้
ความประพฤติชั่วร้ายเสียหายได้
ทำจิตใจที่หิวกระหายด้วยโลภ ตัณหา ให้รู้จักอิ่ม
ให้รู้จักเต็ม ให้รู้จักเพียงพอ ธรรมอย่างเดียวเท่านั้น
เป็นเครื่องแก้กิเลสและทุจริตได้ จึงทำให้เกิด
ความสุขทางกายได้ด้วย เพราะเมื่อคนมีธรรม พา
กันเว้นทุกจริต ตั้งอยู่ในสุจริตพา
กันประกอบการอาชีพและการงานต่างๆ ด้วย
ความขยันหมั่นเพียรในทางที่ชอบก็จะเกิด
ความสุขสมบูรณ์ทั่วๆ ไป ดังเรื่อง
ในกุรุธรรมชาดกให้คติสาธกว่า ชาวกาลิงครัฐ
ได้รับพระราชทานช้างเผือกไป ก็แก้
ความขาดแคลนไม่ได้ ต่อเมื่อ
ได้รับพระราชทานกุรุธรรม คือศีล ๕ ไปปฏิบัติ
จึงแก้ความขาดแคลน เกิดความสุขสมบูรณ์ขึ้นได้
ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “
สพฺพทานํ ธมฺฒทานํ ชินาติ” แปลว่า การ
ให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง
แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ได้ทรงให้สิ่งทั้งปวงมา
โดยลำดับ จนถึงทรงให้ธรรมในที่สุด
ธรรมทานของพระองค์คือพระพุทธศาสนา
ซึ่งพุทธบริษัทได้รับไว้ และได้ให้สืบต่อกันมา ซึ่ง
ได้ดำรงมั่นอยู่ในโลก เป็นเหตุ
ให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลและความสุขตราบเท่า
ถึงทุกวันนี้
๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 14:29 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๑๔ ที่มาของทศพิธราชธรรม
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
จะแสดง ทศพิธราชธรรม คู่กันไปกับ
ทศบารมี โดยที่พุทธศกนี้
เป็นปีที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า
องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก
เจริญพระชนมพรรษามาครบ ๕ รอบนักษัตร
คือ ๖๐ คณะสงฆ์ได้ประกาศให้วัด
ทั้งหลายแสดงธรรมเทศนาทศพิธราชธรรม
ในวัดนี้จึงได้จัดให้ผลัดกันแสดงพระธรรมเทศนา
ในวันพระ วันพระละ ๑ บท และ
ในการโอวาทนวกภิกษุศกนี้ จึง
ได้กำหนดสอนทศบารมีคู่กันไปกับทศพิธราชธรรม
ทศพิธราชธรรมแสดงไว้ในมหาหังสชาดก
ทศบารมีก็คือบารมี ๑๐ ได้แสดงไป ๑ ข้อ
แล้วคือข้อทาน จึง
จะจับแสดงทศพิธราชธรรมเริ่มแต่ข้อ ๑ ให้คู่กันไป
และก็จะแสดงที่มาของทศพิธราชธรรมให้ทราบ
ไว้ก่อน ว่าคำสอนเรื่องนี้มา
ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาคัมภีร์ไหน เรื่องอะไร
ทศพิธราชธรรมนี้ได้พบที่มาในคัมภีร์ชาดกชื่อว่า
มหาหังสชาดก ที่แปลว่า ชาดก เรื่องใหญ่ที่แสดง
ถึงหงส์ เพราะว่าได้มี ๒ ชาดกเกี่ยวกับเรื่องหงส์
ชาดกเรื่องหงส์ที่สั้นกว่า เรียกว่า จุลลหังสชาดก
ส่วนชาดกแสดงเรื่องหงส์ที่ยาวกว่า เรียกว่า
มหาหังสชาดก ทศพิธราชธรรมมา
ในชาดกหลังนี้คือ มหาหังสชาดก ซึ่งมี
ความหมายตามคาถาซึ่ง
เป็นพระบาลีที่อ้างพระพุทธเจ้าตรัสเล่าเอง
กับมีคำอธิบายประกอบอันเรียกว่า อรรถกถา
สำหรับที่มาในพระบาลีนั้น
แสดงถ้อยคำที่พูดโต้ตอบกันเป็นต้นขึ้นมา โดยที่
ไม่มีเรื่องประกอบติดต่อกัน ไม่มีเรื่องเล่า
เป็นการเริ่มต้นว่าเป็นมาอย่างไร พระอาจารย์
ผู้อธิบายที่เรียกว่า อรรถกถาจารย์ จึง
ได้เรียบเรียงประกอบ และเมื่อเรียบเรียงแล้ว
ก็ได้ยกเอาคาถาที่
เป็นพระบาลีที่อ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสเอง
นั้นมารับรองเข้าเป็นตอนๆ ไป
เหมือนดังแต่งกระทู้ที่พระอาจารย์ให้บทกระทู้มา
ก็มาแต่งบรรยายไป ก็ยกเอาพระพุทธภาษิต
ในพุทธศาสนภาษิตที่มีความสัมพันธ์กันเข้ามารับรอง
แต่ก็ให้อยู่ในแนวของกระทู้บทตั้ง ลงท้ายก็สรุปเข้า
ในกระทู้บทตั้ง ข้อความที่เป็นบทกระทู้นั้น ที่
เป็นบทตั้งก็ดี ที่เป็นบทที่อ้างเข้ามารับรองก็ดีก็เป็นข้อ
ความสั้นๆ แต่ว่าอธิบายของผู้แต่งกระทู้นั้น
เป็นอธิบายของผู้แต่งกระทู้เอง แต่ก็ให้อยู่
ในขอบเขตของบทกระทู้ พระอาจารย์
ผู้แต่งอธิบายพระบาลีชาดกก็ดี พระบาลีอย่าง
อื่นก็ดี ก็เป็นเช่นเดียวกัน ท่านอธิบายประกอบ
เข้ามาสั้นบ้างยาวบ้าง แต่สำหรับ
ในชาดกนี้ท่านเล่าเรื่องประกอบเข้ามามากทีเดียว
ถ้าไม่เช่นนั้นความก็ไม่ติดต่อกัน
คือเมื่ออ่านแต่พระบาลี ก็จะทราบแต่ข้อ
ความที่โต้ตอบกันอันอยู่ในคลองธรรมที่ต้องการ
แต่ว่าทำไมจึงมาโต้ตอบกัน เริ่มขึ้นมาอย่างไรนั้นไม่
ได้เล่าไว้ พระอาจารย์ท่านจึงมาเล่าเอาไว้
สำหรับที่จะแสดงในที่นี้ ก็จะ
ได้เล่าไปตามที่พระอรรถกถาจารย์ได้เล่าไว้
แต่สรุปให้สั้นเข้า และก็จะนำเอาคาถา
ในพระคัมภีร์ชาดกที่อ้างว่าเป็นพระพุทธเจ้าตรัส
เข้ามาประกอบ และสาระสำคัญนั้นก็
อยู่ที่พระบาลีชาดกที่อ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัส
ส่วนเรื่องนิทานนั้นเป็นเรื่องเล่าประกอบเข้ามา
เป็นของพระอรรถกถาจารย์
เนื้อความย่อของมหาหังสชาดก
เมื่อกล่าวรวมกันดังกล่าวแล้ว ก็มีความโดยย่อว่า
ในอดีตกาลในเมืองพาราณสี
พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระนามว่า สังยมะ
หรือว่า สังยมนะ หรือว่า สัญยมนะ
มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า เขมา ในกาล
นั้นพระโพธิสัตว์กำเนิดเป็นหงส์ทอง
คือหงส์ที่มีขนสีทอง มีหมู่หงส์บริวารเป็นอันมาก
อาศัยอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ
นามของพระยาหงส์โพธิสัตว์มีชื่อว่า ธตรัฏฐ เมื่อ
จะเรียกในฐานะเป็นหัวหน้าฝูงหงส์ ก็เรียกว่า
พระยาหงส์ธตรัฏฐ และได้มีหงส์ทองอีกหนึ่ง
เป็นอัครมหาเสนาบดีชื่อว่า สุมุขะ หรือ สุมุข ในครั้ง
นั้นพระเทวีของพระเจ้ากรุงพาราณสีที่มีพระนามว่า
เขมา ได้ทรงพระสุบินคือฝันว่ามีพระยาหงส์ทอง ๒
ตัวมาจับอยู่ที่พระราชบัลลังก์แสดงธรรมกถา
ด้วยเสียงอันไพเราะ พระเทวีประทานสาธุการ
สดับธรรมกถายังมิทันอิ่มเอิบในการสดับธรรม
ราตรีก็สว่าง พระยาหงส์ทั้ง ๒ จึงพา
กันออกไปทางช่องพระแกล พระนางก็รับสั่งห้ามว่า
อย่าเพ่อไป และตรัสแก่นางพระกำนัลทั้งหลายให้
ช่วยกันจับ เมื่อตื่นพระบรรทม และนางกำนัล
ได้ยินรับสั่งก็พากันแย้มสรวลว่าหงส์ที่ไหนกัน
พระนางจึงทรงทราบว่าทรงพระสุบินไป
แต่แม้เช่นนั้นก็ทรงดำริว่า
พระยาหงส์ที่มีสีประดุจทองคำคงจะมีอยู่ในโลกนี้ จึง
ได้ทูลพระราชาพระเจ้ากรุงพาราณสีว่าทรงตั้งครรภ์
มีอาการแพ้ครรภ์ ต้องการที่จะได้เห็นหงส์ทอง
ได้ฟังหงส์ทองแสดงธรรม พระราชาจึงได้ตรัส
ให้สืบว่ามีหมู่หงส์อาศัยอยู่ที่ไหนพวกพราหมณ์ก็
ไม่ทราบ แต่ก็ทูลว่าพวกพรานคงจะทราบ จึง
ได้โปรดให้เรียกพวกพรานป่ามาตรัสถาม
พรานคนหนึ่งก็กราบทูลว่า ได้ทราบต่อๆ กันมาว่า
หงส์เหล่านั้นอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ในประเทศหิมวันต์
พระราชาก็ตรัสถามว่า จะพอรู้อุบายที่
จะจับหงส์เหล่านั้นได้หรือไม่
พวกพรานก็ทราบทูลว่าไม่ทราบ จึง
ได้ทรงปรึกษากับพราหมณ์บัณฑิต
พราหมณ์บัณฑิตก็กราบทูลว่า ไม่จำเป็นที่จะ
ต้องไปจับที่เขาคิชฌกูฏ ขอให้ทรงขุดสระใหญ่ชื่อ
เขมะ ทางทิศเหนือแต่พระนคร ให้เต็มด้วยน้ำ
ปลูกธัญชาติต่างๆ ให้นายพรานผู้ฉลาดคนหนึ่ง
อยู่ประจำรักษา อย่าให้หมู่มนุษย์เข้าไปใกล้ และ
ให้ประกาศเป็นเขตให้อภัยแก่สกุณชาติต่างๆ ที่
จะมาหากินที่สระนั้น พระราชาก็ได้ตรัส
ให้ปฏิบัติตามที่บัณฑิตนั้นได้กราบทูลแนะ ก็ได้ตรัส
ให้นายพรานผู้ฉลาดผู้หนึ่งมามอบให้เป็น
ผู้ที่รักษาสระ นายพรานนั้นเรียกตามภาษาบาลีว่า
เนสาท หรือเนสาทะ เขาชื่อ เขมกะ ก็เป็น
ผู้รักษาสระเขมะนั้นมา สกุณชาติทั้งหลายก็พา
กันลงสู่สระนั้น และก็ชักชวนกันต่อๆ ไปว่า
เป็นสระที่ไม่มีภัย ก็ทราบไปจนถึงหมู่หงส์
หมู่หงส์ก็พากันมาหากินในสระนั้น จน
ถึงพระยาหงส์ธตรัฏฐกับเสนาบดีที่ชื่อว่าสุมุขะ ทั้ง ๒
ซึ่งเป็นหงส์ทองด้วยกันก็มาหากินที่สระนั้นด้วย
และเมื่อพรานผู้รักษาสระได้เห็นหงส์ทองลงมา ก็
ได้เฝ้าดูอยู่ถึง ๖ – ๗ วันว่ามาจับที่ไหน
และเมื่อสังเกตที่ได้แน่นอนแล้ว ก็วางบ่วงดักไว้ใต้น้ำ
พระยาหงส์ทองนั้นมาก็ลงไปในน้ำตรงบ่วงนั้น
ก็ติดบ่วงของนายพราน พระยาหงส์ทองพยายามที่
จะสลัดบ่วงให้หลุด แต่บ่วงนั้นก็กัดขาผ่านหนัง
เส้นเอ็นจนถึงกระดูก ก็ไม่หลุด พระโพธิสัตว์จึง
ได้หยุดเพราะเกรงว่าขาจะขาด ส่วนเสนาบดีหงส์ที่
เป็นหงส์ทองด้วยกันที่ชื่อว่า
สุมุขะเมื่อเห็นเจ้านายของตนติดบ่วงจึงได้เข้าไปหา
ส่วนฝูงหงส์ที่เป็นบริวารก็พากันบินหนีไปทั้งหมด เมื่อ
เข้าไปถึงพระยาหงส์ธตรัฏฐก็ถามว่า ทำไมจึงไม่หนีไป
ขอให้รีบหนีไปเสีย หงส์เสนาบดีสุมุขะก็ตอบว่าไม่ไป
จะอยู่ช่วย พระยาหงส์ก็บอกให้หนีไปหลายหน
หงส์เสนาบดีสุมุขะก็ไม่ยอมหนีไป บอกว่าจะอยู่ช่วย
ฝ่ายนายพรานที่มองเห็นโดยตลอดเพราะได้ดักดูอยู่
ซ่อนดูอยู่ จึงเดินเข้าไป ครั้นเห็นหงส์เสนาบดีซึ่ง
ไม่ติดบ่วงยืนอยู่ด้วย ก็แปลกใจว่าทำไมจึงไม่หนีไป
หงส์เสนาบดีก็กล่าวว่า เพราะเจ้านายของตนติดบ่วง
ตนจะขอตายแทน ขอให้จับเอาตัวหงส์เสนาบดีคือตัว
เขาไปแล้วปล่อยเจ้านายเขาไป
ฝ่ายนายพรานก็ใจอ่อน ก็บอกว่า ถ้าเช่นนั้นก็
จะปล่อยไปทั้ง ๒ ฝ่ายพระยาหงส์กับหงส์เสนาบดี
นั้นก็ตอบว่า ถ้าหากว่านายพรานนี้ดักหงส์และนก
ทั้งหลายเพื่อประโยชน์ของตน ก็
จะขอรับทักษิณาอภัยคือการปล่อยนกทำบุญ แต่ว่า
ถ้าหากว่าท่านมาดักหงส์ด้วยมีคำสั่งมาจากผู้อื่น ไม่
ใช่ของตนเอง ท่านก็ไม่มีอิสระที่จะปล่อยเราทั้ง ๒
เสีย เพราะฉะนั้น ก็ขอให้นำเราทั้ง ๒ ไป แต่ไม่จำ
เป็นที่จะต้องใส่กรง ให้เราทั้ง ๒ นี้จับไปที่กระเช้า ๒
ข้างที่เป็นคานให้ท่านหาบไป นายพรานนั้นก็หาบกระ
เช้าที่หงส์จับ ๒ ข้าง นำหงส์ไปถวายพระราชา
ฝ่ายพระราชาเมื่อได้เห็นหงส์ก็มีความดีใจ
และก็บอกว่าให้พักอยู่ระยะหนึ่งก็จะปล่อยไป และ
ให้พระยาหงส์จับอยู่ในที่อันสมควร และก็
ได้พระราชทานอาหารเป็นต้น ฝ่ายพระยาหงส์นั้นก็
ได้ทูลแก่พระราชาเป็นการปฏิสันถารว่า
พระองค์ไม่มีพระโรคาพาธ ทรงสำราญดีอยู่
ทรงปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม
หรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เราไม่มีโรคาพยาธิ
มีความสำราญดี
และเราก็ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้
โดยธรรม พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า โทษอะไรๆ
ไม่มีอยู่ในอำมาตย์ของพระองค์ละหรือ
และอำมาตย์เหล่านั้นไม่มีอาลัยชีวิต
ในประโยชน์ของพระองค์ละหรือ
พระราชาก็ตรัสตอบว่า โทษอะไรๆ ไม่มี
ในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้น
ไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของเรา
พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า พระมเหสี
ซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง
มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ประกอบ
ด้วยพระโอรสพระรูปพระโฉมพระยศ
เป็นไปตามอัธยาศัยของพระองค์ละหรือ
พระราชาก็ตรัสตอบว่า พระมเหสี
ซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง
มีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรงประกอบ
ด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉมและพระยศ
เป็นไปตามอัธยาศัยของเรา พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า
พระองค์มิได้ทรงเบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครอง
ให้ปราศจากอันตรายแก่ที่ไหนๆ โดยความ
ไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอละ
หรือ พระราชาก็ตรัสตอบว่า เรามิ
ได้เบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศ
จากอันตรายแต่ที่ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด
โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอ
พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า
พระองค์ทรงยำเกรงสัตบุรุษ ทรงเว้นอสัตบุรุษ
พระองค์ไม่ทรงละทิ้งธรรม
ไม่ทรงประพฤติคล้อยตามอธรรมละหรือ
พระราชาก็ตรัสตอบว่า เรายำเกรงสัตบุรุษ
เว้นอสัตบุรุษ ประพฤติคล้อยตามธรรม
ละทิ้งอธรรม พระยาหงส์ก็ทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์
พระองค์ทรงพิจารณาเห็นชัดซึ่งพระชนมายุอัน
เป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่หรือ พระองค์ทรงมัวเมา
ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ไม่สะดุ้งกลัวปรโลกหรือ
พระราชาก็ตรัสตอบว่า เราพิจารณาเห็นชัด
ซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่ เราตั้งอยู่แล้ว
ในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก
เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้คือ
ทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน
ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน
ความอดทน ความไม่พิโรธ คือความกระทำไม่ให้ผิด
แต่นั้นมีปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อยย่อมเกิดแก่เรา ดั่งนี้
เมื่อพระราชาได้ตรัสตอบดั่งนี้แล้ว
พระยาหงส์ก็ถวายอนุโมทนาแก่พระราชา และก็
ได้พระราชทานทรัพย์แก่นายพราน ทรง
ให้พระยาหงส์กับเสนาบดีพระยาหงส์พักอยู่
ทรงพระราชทานเลี้ยงดูให้มีความสุข
แล้วก็ทรงปล่อยพระยาหงส์และหงส์เสนาบดีนั้น
ให้กลับไปสู่ภูเขาคิชฌกูฎ
พระราชาในอดีตกาลทรงตั้งอยู่
ในทศพิธราชธรรม
เนื้อความในมหาหังสชาดกมีดั่งที่เล่ามานี้ และเรื่อง
ทศพิธราชธรรม ก็มาจากคำตอบ
หรือพระราชดำรัสตอบของพระราชาตอนที่ว่า
เราตั้งอยู่ในธรรม ๑๐ ประการ จึง
ไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรง
อยู่ในตนเหล่านี้ คือ ทาน ศีล ปริจจาคะ
การบริจาค อาชชวะ ความซื่อตรง มัททวะ
ความอ่อนโยน ตบะ ความเพียร อักโกธะ ความ
ไม่โกรธ อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน ขันติ ความอดทน
อวิโรธนะ ความไม่ทำให้ผิด รวมเป็น ๑๐ ประการ
นำเล่าเรื่องมหาหังสชาดกนี้ก็เพื่อให้ทราบว่า
ที่มาของทศพิธราชธรรมมาจากชาดกเรื่องนี้
ซึ่งธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ ก็ออกมา
จากพระโอษฐ์ของพระเจ้ากรุงพาราณสีที่ตรัสตอบแก่พระยาหงส์
เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่สาธกให้เห็นว่า พระราชา
ในอดีตกาลนั้นที่ทรงเป็นบัณฑิต ทรงตั้งอยู่
ในธรรม ก็ย่อมทรงตั้งอยู่ในธรรม ๑๐
ประการนี้ ที่บัดนี้เรียกกันว่า ทศพิธราชธรรม
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเล่าเรื่องชาดกนี้ คือ
มหาหังสชาดก ว่าแม้พระราชาซึ่งเป็น
ผู้ปกครองแผ่นดินในอดีตกาลก็ทรงตั้งอยู่
ในทศพิธราชธรรม คือทรงปกครองโดยธรรม
ก็คือโดยทศพิธราชธรรม
๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2014, 14:38 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๑๕ ทศบารมีและทศพิธราชธรรม
ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
พุทธศาสนาทำให้รู้จักบารมีและทศพิธราชธรรม
ได้แสดงที่มาของ ทศพิธราชธรรม
ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้า
ได้ทรงเล่ามหาหังสชาดก แสดงทศพิธราชธรรม
ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก
และสำหรับทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์
และบารมีสำหรับพระโพธิสัตว์ ที่
ได้ทรงบำเพ็ญสั่งสมคุณสมบัติที่เป็น
พุทธการกธรรม คือธัมมะที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า
สำหรับประเทศไทย คนไทย เมื่อ
ได้รับนับถือพระพุทธศาสนา ได้มีพระเถระ
ผู้มาประกาศพระพุทธศาสนาพร้อมกันเป็นหมู่ แม้ว่า
จะเป็นหมู่เล็ก อันจะพึงเรียกได้ว่าเป็นพระสงฆ์
หรือแม้ว่าจะมาเพียงรูปเดียวหรือ ๒ รูปก็ตาม
ก็ย่อมจะได้นำพระพุทธศาสนามาสั่งสอน และ
โดยเฉพาะเมื่อได้จารึกพระพุทธศาสนา
เป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกขึ้นที่ลังกา
ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๔ คัมภีร์ชาดกนี้ก็รวม
อยู่ในพระไตรปิฎกนั้นด้วย และก็ปรากฏว่า
ได้มีพระสงฆ์ มีพระเถระจากลังกา
เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
เช่นที่แสดงว่ามีพระเถระผู้
เป็นปราชญ์มาขึ้นที่นครศรีธรรมราช และก็
ได้เดินทางเข้ามาถึงกรุงสุโขทัยซึ่งเป็นราชธานี
ในครั้งนั้น ก็ได้นำพระพุทธศาสนามาเผยแพร่ จน
ถึงปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินสมัยสุโขทัย
คือพญาลิไท ได้ทรงศึกษารอบรู้
ในพระพุทธศาสนา จนถึงทรงรจนา
ไตรภูมิพระร่วง ขึ้น ซึ่งเป็นที่นับถือว่า
เป็นวรรณคดีเรื่องแรกของคนไทย
และก็ทรงผนวชเป็นภิกษุอยู่เป็นเวลาหลายเดือน
เพราะฉะนั้น ความรู้จักบารมี
และทศพิธราชธรรม ก็น่าจะมีแก่คนไทยทั้งฝ่ายที่
เป็นพระ และทั้งฝ่ายที่เป็นฆราวาสมาตั้งแต่
ในสมัยเก่าก่อนเหล่านั้น
มีหลักฐานเรื่องชาดกก่อนสมัยสุโขทัย
และก็มีปรากฏในหลักฐาน เช่นเป็นศิลาจารึก
เป็นลายลักษณ์อักษรที่ยังมีเหลืออยู่ถึงในปัจจุบัน
แสดงว่าในสมัยนานไกลที่พระพุทธศาสนาเริ่ม
เข้ามาสู่ประเทศไทย เอาเป็นว่าก่อนสมัยสุโขทัย
ก็มีหลักศิลาจารึกเรื่องชาดกบำเพ็ญบารมี
คือพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีที่แสดงไว้ในชาดกต่างๆ
อยู่แล้ว และเมื่อจับแต่สมัยสุโขทัย
ความรู้เรื่องพุทธศาสนาก็คงจะมากขึ้น
เพราะสมัยเมื่อก่อนแต่นั้นที่เป็นที่เชื่อกันว่า พระโสณะ
พระอุตตระ
ได้แผ่พระพุทธศาสนามาทางสุวรรณภูมิ
ซึ่งไทยเราก็เข้าใจว่านครปฐม
เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในสุวรรณภูมิ
และอาจจะเป็นเมืองหลวง ท่านทั้ง ๒ ที่เดินทาง
เข้ามาเผยแผ่นั้น ครั้งนั้นจะมีคนไทยอยู่ในถิ่นนี้หรือ
ไม่ ก็ยังไม่อาจรับรองกันได้
เพราะว่ามีประวัติที่แสดงว่า คนไทยเราอพยพมา
จากเมืองจีนเผ่าไทยน้อยก็มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางนี้ เผ่าไทย
ใหญ่ก็ไปทางเชียงตุงเป็นต้น ด้านทางใกล้พม่านั้น
และถ้าเป็นเช่นนั้น ขณะที่ยังอยู่ที่โน่น
พระพุทธศาสนาก็ปรากฏว่าได้แผ่ไปทางโน้น
ในสมัยต่อจากสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้น เพราะฉะนั้น
อาจจะรับพุทธศาสนาตั้งแต่ที่โน่นมาแล้ว หรือ
ถ้าหากว่าจะมีคนไทยอยู่ที่นี่บ้างในครั้งนั้น ก็อาจจะ
ได้รับจากสายพระโสณะ พระอุตตระ แต่ในครั้ง
นั้นยังไม่ได้จารึกพระพุทธวัจนะเป็นตัวอักษร
พระเถระที่นำพระพุทธศาสนามาเผยแพร่ ท่าน
จะจำได้ทั้ง ๓ พระไตรปิฎกหรือไม่ก็ไม่อาจทราบ
ได้ แต่ก็กล่าวได้แต่เพียงว่า ท่านจำมาได้เท่าไหร่
รู้มาเท่าไหร่ ท่านก็มาเผยแพร่ได้เท่านั้น
ถ้าหากว่าท่านอาจจำมาได้หมด ก็คงอาจจะเผยแพร่
ได้หมด ถ้าจำมาไม่หมด ก็คงจะเผยแพร่ได้เท่าที่จำได้
เพราะฉะนั้น ท่านจะเผยแพร่มาได้จน
ถึงคัมภีร์ชาดกต่างๆ หรือไม่ ก็ไม่อาจจะทราบได้
แต่ว่าสมัยเมื่อได้จารึกพระไตรปิฏกเป็นตัวอักษร
แล้ว
และพระเถระลังกาท่านก็ขยันมาแผ่ศาสนาเหมือน
กัน เมื่อท่านมากับคัมภีร์ ท่านก็อาจที่จะเผยแพร่
ได้หมดทั้งทางพระวินัย ทั้งทางพระสุตตันต
ทั้งทางพระอภิธรรม ดังที่ปรากฏ
ในไตรภูมิพระร่วงสมัยสุโขทัย ซึ่งก็มีอภิธรรมปน
อยู่เป็นอันมาก แสดงว่าพระองค์ผู้ทรงรจนานั้น
ได้ทรงมีความรู้พระไตรปิฏกตลอดถึงอภิธรรม
ในอดีตมีความนับถือบารมียิ่งกว่าราชธรรม
แต่ว่าเมื่อแยกเอาจำเพาะบารมีกับทศพิธราชธรรม
ก็สรุปกล่าวได้ว่า ทศพิธราชธรรมนั้นได้
เป็นที่รู้จักและปฏิบัติกันมา ในสมัยอยุธยา
นั้นมีลายลักษณ์อักษรปรากฏแน่นอน แต่
ในสุโขทัยก็น่าจะได้ทราบและได้ปฏิบัติมาแล้ว
ส่วนบารมีนั้นได้เป็นที่รู้จักกันมาก่อนนั้น
ได้มีศิลาจารึกเรื่องพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี
ก็แปลว่าได้มีความรู้เรื่องชาดกต่างๆ กัน แต่ว่าจะรู้
ทั้งหมดถึง ๕๐๐ กว่าเรื่องหรือไม่ก็ไม่อาจจะทราบ
ได้ และจะรู้ได้ตลอดจน
ถึงชาดกที่มีทศพิธราชธรรมนี้ด้วยหรือไม่ก็ไม่อาจ
จะทราบได้ แต่ว่ากล่าวได้ว่า พระมหากษัตริย์
ผู้ครองประเทศไทย
ได้ปฏิบัติทศพิธราชธรรมมาช้านาน และ
ในขณะเดียวกันก็ทรงปฏิบัติในพระบารมีทั้ง ๑๐ นั้น
ด้วย และก็เป็นที่นับถือพระมหากษัตริย์ว่า
เป็นเหมือนอย่างพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง
ซึ่งบำเพ็ญบารมีเพื่อพุทธภูมิ
ความนับถือพระมหากษัตริย์
เป็นเหมือนอย่างพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งดังกล่าวนี้
ได้มีมาช้านาน และก็แสดงว่า ได้นับถือบารมี ๑๐
นี้ยิ่งกว่าทศพิธราชธรรม
คือพระมหากษัตริย์เองก็ทรงนับถือบารมีว่า จะพึง
ต้องทรงปฏิบัติเพื่อพุทธภูมิยิ่งกว่าทศพิธราชธรรม
ได้เป็นมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้
การปฏิบัติหนักไป
ในทางราชธรรมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔
มาถึงรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงเป็นปราชญ์พระองค์หนึ่ง
ในพระพุทธศาสนา ได้ทรงผนวชอยู่ในพุทธศาสนา
เป็นเวลานานปี ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกพร้อม
ทั้งอรรถกถาฎีกาทั้งหลาย ได้ทรงปรับปรุง
ความประพฤติของพระภิกษุสงฆ์ให้ถูก
ต้องตามพระวินัยบัญญัติ และทรงปฏิบัติธรรม
โดยเฉพาะกรรมฐาน กรรมฐานที่สอนกันว่า
ให้บริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ ก็ปรากฏ
ในหนังสือพระราชประวัติว่า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงปฏิบัติ จน
ถึงเวลาจะสวรรคตก็ทรงปฏิบัติบทนี้ ดังที่มีเขียนไว้
ในจดหมายเหตุตอนสวรรคตว่า ในราตรีที่
จะเสด็จสวรรคตนั้น ได้ทรงบรรทมเบื้องขวา
และก็มีผู้ได้ยินเสียงทรงบริกรรมดังๆ ว่า พุทโธ
พุทโธ พุทโธ จนพระสุรเสียงนั้นเบาเข้าๆ จนสงบหยุด
เสด็จสวรรคต เพราะฉะนั้น ก็กล่าวได้ว่า
แบบภาวนาพุทโธนี้
เป็นแบบที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงปฏิบัติ
อยู่และเมื่อทรงผนวชก็เป็นพระอาจารย์
เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระอาจารย์กรรมฐานที่ออกไปตั้งคณะปฏิบัติ
ในภาคอีสานเป็นต้น
ซึ่งพระเถระฝ่ายธรรมยุตที่ภาคอีสานก็ได้ปฏิบัติ
ใช้บริกรรม หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ นี้
เรียกว่า พุทโธ พุทโธ นี้เป็นหลักกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่า
พระอาจารย์กรรมฐานพระองค์แรกที่ทรงสอน
ก็คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อทรงผนวช
อยู่ก็ทรงเป็นอุปัชฌาจารย์ของพระเถระภาคอีสาน
ที่ออกไปตั้งคณะปฏิบัติทางภาคอีสานดังกล่าว มาตั้งแต่
ในครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ นั้น และก็ปฏิบัติสืบกันมา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เอง
ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทสวดภาษาบาลีต่างๆ ไว้
เป็นอันมาก เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ ที่เราสวดกัน
อยู่ และยังพระราชนิพนธ์เรื่องภาษาบาลีที่
เป็นประวัติศาสตร์ไว้ก็มี จดหมายเหตุต่างๆ ก็มี
และมีอีกเรื่องหนึ่งที่ได้ทรงไว้ว่า ไม่
ได้ทรงปรารถนาพุทธภูมิ เพราะเมื่อตั้ง
ความปรารถนาขึ้นก็ทำให้ฟุ้งซ่าน เพราะ
เป็นตัณหาฟุ้งซ่าน ดั่งนั้น ก็ทรงปรารถนาเพื่อ
จะปฏิบัติเพื่อธรรมที่สุดทุกข์เท่าที่จะพึงเป็นไปได้
พระมหากษัตริย์ที่สืบพระราชสันติวงศ์ต่อมาจึง
ได้ปฏิบัติหนักไปในทางทศพิธราชธรรม แต่
ในขณะเดียวกันก็ทรงปฏิบัติบารมีธรรม แม้
ไม่ปรารถนาพุทธภูมิ
ก็ปฏิบัติบารมีธรรมประกอบไปด้วย
ความนิยมว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์
และเพราะเหตุที่ได้มีความนิยมกำหนดว่า
พระมหากษัตริย์เมื่อเป็นพระมหากษัตริย์ขึ้นแล้ว
ก็เหมือนอย่างเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง
ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อพระโพธิญาณ ซึ่ง
ความนิยมดั่งนี้เป็นมานานดังที่กล่าวมาข้างต้น
เพราะฉะนั้นจึงได้มีถ้อยคำที่เกี่ยว
กับพระมหากษัตริย์นั้น มีคำว่า พุทธ พุทธ ประกอบ
อยู่ด้วยเช่นคำกราบบังคมทูล ที่หมายถึงบุคคล
ผู้กราบบังคมทูลเองก็ใช้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า
คำรับก็พระพุทธเจ้าข้า รัชกาลที่ ๕
ก็ถวายพระนามว่า พระพุทธเจ้าหลวง เมื่อ
ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปถวายรัชกาลที่ ๑
และรัชกาลที่ ๒ ก็ได้ถวายนามพระพุทธรูปว่า
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สำหรับรัชกาลที่ ๑
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย สำหรับรัชกาลที่ ๒
เป็นนามของพระพุทธรูปซึ่งบัดนี้ได้ประดิษฐานอยู่
ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ
เข้าไปหันหน้าไปทางพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระแก้วมรกต
พระยืนทรงเครื่ององค์ใหญ่ที่ประทับ
อยู่ทางด้านขวามือ หรือด้านทิศเหนือ
ก็คือพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ที่ประดิษฐานทางด้านซ้ายมือหรือด้านทิศ
ใต้ก็คือพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เป็นนามพระพุทธรูป และก็ได้โปรด
ให้นำนามพระพุทธรูปนี้มาเป็นพระปรมาภิไธย
ในรัชกาลที่ ๑ และในรัชกาลที่ ๒ ด้วย เพราะฉะ
นั้น เมื่อพูดว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็เป็นที่
เข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ ๑
เมื่อพูดว่าพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็เข้าใจว่า
เป็นรัชกาลที่ ๒ พระนามของพระพุทธรูปทั้ง ๒ นี้
ก็มาเป็นพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ทั้ง ๒
รัชกาล คือ ที่ ๑ และที่ ๒ นั้น และนอกจากนี้ยัง
ได้นำคำว่าบารมีมาใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ เช่น
“ทรงเปี่ยมด้วยพระบารมี” “มีพระบารมีเป็นที่พึ่ง
” “พระบารมีแผ่ไพศาล” เหล่านี้เป็นต้น และคำ
อื่นๆ ก็เป็นความนิยมของประเทศไทยเรา
ของคนไทยเราที่
ได้เทิดทูนยกย่ององค์พระมหากษัตริย์มาตั้งแต่เก่าก่อน
และก็เป็นประโยชน์ที่ทำให้องค์พระมหากษัตริย์
ได้ทรงสำนึกพระองค์ว่า เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์
หรือเป็นเหมือนพระโพธิสัตว์ ก็จะ
ต้องทรงบำเพ็ญบารมี มีทานศีลเป็นต้น
แก่ประชาชน และโดยเฉพาะก็จะ
ต้องทรงยกย่องรักษาพระพุทธศาสนา
อุปถัมภ์บำรุงรักษาพระสงฆ์ ตลอดจน
ถึงวัดวาอารมทั้งหลาย ว่าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์
แล้ว ก็จะต้องทรงทิ้งพระพุทธศาสนาไม่ได้ จะ
ต้องทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
รักษาพระพุทธศาสนา ตลอดจน
ถึงพระสงฆ์วัดวาอาราม ทุกๆ อย่างที่เนื่อง
ด้วยพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น
จึงปรากฏว่าวัดวาอารามที่เป็นหลักฐาน มี
ความมั่นคงงดงามในพุทธศาสนา ย่อม
เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง
หรือทรงอุปถัมภ์บำรุงเป็นส่วนใหญ่
และพระสงฆ์ที่รวมกันอยู่
เป็นสังฆสามัคคีตามพระธรรมวินัย ก็
เพราะมีพระมหากษัตริย์ได้ทรงอุปถัมภ์
ทรงแต่งตั้งเจ้าคณะปกครองสงฆ์
ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา
และทรงฟื้นฟูพระธรรมวินัย
ทรงออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อ
ให้พระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย
และเพื่อให้พระสงฆ์ได้ประกาศพระพุทธศาสนา
สั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม
ตลอดจนถึง
เป็นครูอาจารย์ประสาทศิลปวิทยาแก่กุลบุตร
ทั้งหลาย
และทรงทำการสังคายนาพระธรรมวินัย
จารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พิมพ์
เป็นหนังสือเป็นต้น
และพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ทรง
เป็นปราชญ์ในพุทธศาสนา
ก็ทรงรจนาหนังสือทางพุทธศาสนา
ดังเช่นพญาลิไทรจนาไตรภูมิพระร่วง
ในครั้งกรุงสุโขทัย เพราะฉะนั้นถวายให้พระเจ้า
อยู่หัว พระมหากษัตริย์ท่านเป็นพระโพธิสัตว์
ทรงบำเพ็ญพระบารมีก็เป็นประโยชน์ดั่งนี้
และเมื่อทรงบำเพ็ญพระบารมีนั้น ก็เป็นอันว่า
ได้ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมไปด้วยกัน
เพราะธัมมะทั้งคู่นี้ก็มีข้อธรรมที่ตรงกันบ้าง ต่าง
กันบ้างโดยพยัญชนะ แต่โดยเนื้อความแล้วก็เข้ากัน
ได้ทุกข้อ แต่ว่าทางบารมีนั้น
มุ่งพระโพธิญาณสำหรับพระโพธิสัตว์
ทศพิธราชธรรม
นั้นมุ่งสำหรับปกครองประชาชนปกครองบ้านเมือง
๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๐
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้
เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (
เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล
๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม
นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ
ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 103 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร