วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 13:12 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

อนัตตลักขณสูตร

อิทานิ ปณฺณรสีทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ
ธมฺมีกถา กถิยเต รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตาติอาทิกํ
อนตฺตลกฺขณสุตฺตํ ภาสิสฺสามีติ อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส
อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ.
..........ณ วันนี้เป็นวันปัณณรสีดิถีที่ ๑๕ ค่ำ
แห่งปักขคณนา พุทธบริษัทได้มาสันนิบาตพรักพร้อม
กัน เพื่อจะสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา อัน
เป็นพุทธโอวาทคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อพร้อมด้วยสันนิบาตเสร็จกิจในเบื้องต้นแล้ว ต่อนี้
เป็นโอกาสที่จะฟังพระธรรมเทศนา
พึงตั้งใจคอยกำหนดตามให้สำเร็จประโยชน์ของตน ๆ
คือให้เข้าใจว่าพุทธโอวาทที่เราฟังอยู่บัดนี้
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเราคนเดียว เราคนเดียวจะ
เป็นผู้รับพุทธโอวาทนี้ จะเป็นผู้ปฏิบัติตามให้ได้ให้
ถึงตามพระพุทธประสงค์ เป็นอันได้ชื่อว่าน้อมธรรม
นั้นมาสู่ตน ให้เป็นโอปนยิโก
ความจริงพุทธบริษัทควรแล้วที่จักปรารภ
ถึงลาภอันสำคัญอันตนได้ตนถึงแล้ว คือทุลลภวัตถุ
๔ ประการ เป็นวัตถุหายาก ยากจะพบจะเห็นเนื่องด้วย
ความเป็นเองด้วย จะแต่งเอาตามชอบใจไม่
ได้บางประการ
คือลาภได้แก่ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์นี้ ๑
คือลาภได้แก่ความได้ชีวิตยืนนานมาถึงวันนี้ข้อนี้ ๑
คือลาภได้แก่ความ
ได้สดับตรับฟังพุทธโอวาทศาสนาคำสั่งสอนพระพุทธเจ้านี้

คือลาภที่ได้เกิดทันพุทธศาสนาเหมือน
ได้ประสบพบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ๑
สองประการเบื้องต้นคือความได้อัตภาพเป็นมนุษย์
กับความมีชีวิตอันยืนนานนี้ ได้มาเองได้มา
โดยชอบธรรมแท้ ถึงลาภคือ
ความเกิดทันพระพุทธศาสนาก็ออกจะเป็นเองเหมือนกัน
ที่เราจะแต่งเอาได้
ก็มีแต่การสดับตรับฟังพุทธโอวาทเท่านั้น
เมื่อลาภอันสำคัญทั้ง ๔ อย่าง มาถึงพร้อมในตนแล้ว
กิจอันใดที่ตนปรารถนาก็ควรจะรีบเร่ง
ไม่ควรปล่อยเวลาให้เสียไปเปล่า ๆ ศีล สมาธิ
ปัญญา เป็นทางที่จักปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ส่วนใด
ยังบกพร่องก็รีบขวนขวายให้บริบูรณ์เสีย
เป็นการชอบยิ่ง ด้วยว่ามรรคผลนิพพานซึ่ง
เป็นธรรมระงับดับทุกข์นั้น
เป็นธรรมละเอียดสุขุม ยากที่จะทำให้เกิดให้มีขึ้นได้
แต่ว่าพุทธโอวาทยังประกาศชี้ทางดำเนินปรากฏอยู่
ผู้รับโอวาทท่านก็ได้สำเร็จมาแล้วเป็นตัวอย่าง
ดังพระเบญจวัคคีย์ได้รับเทศนาอนัตตลักขณสูตร
พอจบลงท่านก็ได้สำเร็จ
ส่วนพวกเราก็เชื่อแน่ว่าเป็นจริงอย่างนั้น จึงต้องพา
กันเรียนอนัตตลักขณสูตรจำได้สวดได้
นักปราชญ์ท่านแปลไว้ เอามาเทศน์สู่กันฟังก็เข้าใจ
ความตลอด อาจจะเทศน์ให้ผู้อื่นฟังได้ด้วย แต่เหตุไฉน
จึงไม่พากันได้สำเร็จ ข้อนี้น่าพิศวงนักหนา
บัดนี้จะยกใจความในอนัตตลักขณสูตรนั้นมาแสดงสู่
กันฟังอีก จะเป็นหนังสือผิดหรือพวกเราจะผิด ขอให้
ช่วยกันตรึกตรองให้เกิดความสงสัยขึ้นให้จงได้
เหตุที่เราไม่สงสัย เชื่อเอาเป็นจริง
เป็นจังตามที่ท่านแสดงนั่นแหละเป็น
ความผิดของเราเอง บัดนี้อย่าพากันเชื่อ แต่ให้พา
กันกำหนดตามให้ได้ความทุกข้อ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 13:26 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ดำเนินความในอนัตตลักขณสูตรนั้นว่า
ในสมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ ณ
ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ทรงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ยังพระอัญญาโกณฑัญญะให้สำเร็จโสดาปัตติผล
แล้วทรงสั่งสอนท่านทั้ง ๔
ด้วยธรรมีกถาควรแก่อุปนิสัย ท่านทั้ง ๔
ได้สำเร็จโสดาปัตติผล และได้รับ
เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสร็จแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยของท่านทั้ง ๕
สมควรจะรับธรรมเทศนาได้แล้ว
จึงเรียกประชุม แล้วทรงสั่งสอนให้ได้ความ
ในเบื้องต้นก่อน มีเนื้อความว่า
“รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา” ดูกรภิกษุทั้งหลาย
รูปสภาวธรรมส่วนที่รู้ฉิบหายด้วยเย็นและร้อน
เวทนาสภาวธรรมส่วนที่รับรู้สุข ทุกข์ อุเบกขา
สัญญาสภาวธรรมส่วนที่รับรู้ความจำความหมาย
สังขารสภาวธรรมส่วนที่รับรู้ความปรุงความแต่ง
วิญญาณสภาวธรรม
ส่วนที่รับรู้อารมณ์ตามสัญญาสังขารนั้น ๆ
เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว
“รูปญฺจหิทํ ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าหากว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้
เป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตนจริงแล้ว
“นยิหํ รูปํ” รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณเหล่านี้ ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
ความเบียดเบียน
“ลพฺเภถ จ” อนึ่ง สัตว์ทั้งหลายก็จะพึงได้ในรูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามใจหวังว่า
“เอวํ เม รูปํ โหตุ” รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ ของเราจงเป็นอย่างนี้ อย่าป่วยไข้
อย่าชราชำรุดทรุดโทรมเสื่อมเสียทรวดทรงสีสัณฐาน
อย่าพิบัติเลย
“ยสฺมา จ โข ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุใด รูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมเป็นอนัตตาไม่
เป็นตัวเป็นตน
“ตสฺมา รูปํ อาพาธาย สํวตฺตติ” เหตุนั้น รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
ความเกิดและความฉิบหาย โรคภัยต่าง ๆ
มาเบียดเบียน
“น จ ลพฺภติ รูเป เอวํ เม รูปํ โหตุ เอวํ เม รูปํ มา
อโหสิ” อนึ่งสัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่ได้ในรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นโดยประสงค์ เพราะรูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เป็นอนัตตา จึง
เป็นไปเพื่ออาพาธ และสัตว์ทั้งหลายไม่
ได้ตามปรารถนาด้วยประการฉะนี้
(ตอนที่ ๑ ในพระสูตรนี้ ไม่ได้ทรงแสดงอาการทั้ง
๕ ว่าเป็นขันธ์ แสดงแต่เพียงอาการทั้ง ๕ นั้น
เป็นลักษณะอนัตตาเท่านั้น เข้าใจว่าเอาสกลกายซึ่ง
เป็นสภาวธรรมนี้เป็นอัตตาเป็นตัวยืน ซึ่งไม่ต้องกล่าว
นั้น เพราะอัตตาเป็นพื้นอยู่แล้ว)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 13:31 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอน
ให้รู้ลักษณะอนัตตาให้ได้ความชัดแล้ว
ทรงซักถามทวนดูให้พระผู้
เป็นเบญจวัคคีย์ปฏิญญาตามที่ตนเข้าใจ ตรัสถาม
ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่า
“ตํ กึ มญฺญถ ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่าน
ทั้งหลาย จะสำคัญเนื้อความนั้นเป็นไฉน รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
“อนิจฺจํ ภนฺเต” ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ไม่เที่ยง
“ยมฺปนานิจฺจํ ทุกฺขํ วา ตํ สุขํ วา” ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่ง
นั้นทุกข์หรือสุขเล่า
“ทุกฺขํ ภนฺเต” ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สิ่งนั้นทุกข์
สัตว์ทนยาก
“ยมฺปนานิจฺจํ ทุกฺขํ วิปริณามธมฺมํ” ก็สิ่งใดไม่เที่ยง
เป็นทุกข์มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาแล้ว
“กลฺลํ นุ ตํ สมนุปสฺสิตํ” ควรหรือเพื่อจะตามเห็น
โดยสำคัญซึ่งสิ่งนั้นว่า
“เอตํ มม” นั่นของเรา
“เอโสหมสฺมิ” นั่นเป็นเรา
“เอโส เม อตฺตา” นั่นเป็นตัวของเรา ดังนี้
“โน เหตํ ภนฺเต” ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อันจะตามเห็น
โดยสำคัญซึ่งสิ่งนั้นว่าเป็นของเรา เป็นเรา
เป็นตัวตนของเรา ดังนี้นั้นไม่ควรเลย
(ตอนที่ ๒ นี้ทรงแสดงทุกขสัจด้วยรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ทรงแสดงสมุทัยสัจด้วยความไม่รู้
เท่าสังขาร เข้าใจว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ เป็นตัว)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 13:36 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงซักถาม
ให้พระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๕ ปฏิญญา
ตามที่ตนตรองเห็นฉะนี้แล้ว จึงตรัสสอน
ให้พิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น
โดยยถาภูตญาณทัสสนะ
คือปัญญาที่รู้จริงเห็นจริงตามความ
เป็นจริงอย่างไร ถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น
ด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ ออกเสียจากสันดานว่า
“ตสฺมาติห ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุที่ท่าน
ทั้งหลายได้เห็นลงแน่แล้วว่า รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรไป
เป็นธรรมดา ไม่ควรที่จะเห็นโดยสำคัญด้วยตัณหา
มานะ ทิฏฐิ ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่น
เป็นตัวตนของเรา ดังนี้
เหตุดังนั้น ท่านทั้งหลายพึงพิจารณาซึ่งรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ
ถอนทิฏฐิอุปาทานออกเสียจากสันดาน
“ยงฺกิญจิ” รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอันใด
“อตีตานาคตปจฺจุปฺปนฺนํ” ที่เป็นอดีตล่วงไปแล้ว หรือ
เป็นอนาคตยังไม่มาถึง หรือที่
เป็นปัจจุบันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า
“อชฺฌตฺตํ วา” เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณภายในได้แก่ประสาทรูป ๕ ประสาทเวทนา
๕ ประสาทสัญญา ๕ ประสาทสังขาร ๕
ประสาทวิญญาณ ๕ ก็ดี
“พหิทฺธา วา” หรือเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ ภายนอกได้แก่ที่เหลือออกไปจากภายใน
นั้นก็ดี
“โอฬาริกํ วา” เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ ส่วนหยาบ ได้แก่รูปารมณ์ สัททารมณ์
คันธารมณ์ รสารมณ์ ปฐวี เตโช วาโย ธาตุ
กับประสาทรูป ๕ และประสาทเวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ อย่างละ ๕, ๕ เหล่านั้นชื่อว่า
โอฬาริกรูป โอฬาริกเวทนา โอฬาริกสัญญา
โอฬาริกสังขาร โอฬาริกวิญญาณ นั้นก็ดี
“สุขุมํ วา” เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณละเอียด คือที่เหลือจากส่วนหยาบเหล่านั้น
ชื่อว่า สุขุมรูป สุขุมเวทนา เป็นต้นนั้นก็ดี
“หีนํ วา” เป็นส่วนที่เลวทรามก็ดี
“ปณีตํ วา” เป็นส่วนที่ประณีตก็ดี
“สพฺพํ” รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณทั้งสิ้น
“เนตํ มม” นั่นไม่ใช่ของเรา
“เนโสหมสฺมิ” นั่นไม่ใช่เรา
“น เมโส อตฺตา” นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราดังนี้
“เอวเมตํ ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ” รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านั้น ท่าน
ทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความ
เป็นจริงอย่างไร ดังนี้เถิด
(ตอนที่ ๓ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงสอนทางวิปัสสนา
ให้รู้จักนิโรธสัจ ด้วยการถอนอนัตตาออกจากอัตตา
ให้รู้มรรคสัจ ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ อริยสัจ ๔
เต็มรอบแล้ว)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 13:43 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........เมื่อสมเด็จพระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนทางวิปัสสนานัย
ให้พิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ถอนตัณหา มานะ ทิฏฐิ อุปาทาน ด้วยประการฉะนี้
แล้ว จึงทรงแสดงอานิสงส์แห่งยถาภูตญาณทัสสนะ
นั้นว่า
“เอวํ ปสฺสํ ภิกฺขเว สุตวา อริยสาวโก” ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อได้เห็น
ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะอย่างนี้แล้ว
“รูปสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ” ย่อมเหนื่อยหน่ายทั้งในรูป
ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ
“นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ” เมื่อเหนื่อยหน่ายเกิดนิพพิทาญาณ
แล้ว
อริยมรรคก็เกิดขึ้นประหารกิเลสเครื่องย้อมจิต
ให้ปราศไป
“วิราคา วิมุจฺจติ” เพราะวิราคะ
คืออริยมรรคญาณบังเกิดขึ้นแล้ว อริยสาวก
นั้นก็บรรลุวิมุตติคืออริยผล ด้วยประการฉะนี้
“วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ” ครั้นอริยสาวก
นั้นพ้นพิเศษแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าจิตพ้นพิเศษ
แล้วดังนี้
“ปชานาติ” อริยสาวกนั้นท่านย่อมรู้ประจักษ์
คือเกิดปัจจเวกขณญาณหยั่งรู้ชัดว่า
“ขีณา ชาติ” ชาติความเกิดสิ้นแล้ว
“วุสิตํ พฺรหมจริยํ” พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
“กตํ กรณียํ” กิจที่จำจะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว
“นาปรํ อิตฺถตฺตาย” กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
อริยสาวกผู้บรรลุวิมุตติคือ พระอรหัตผล
ย่อมเกิดปัจจเวกขณญาณหยั่งรู้ด้วยประการฉะนี้
จบพุทธภาษิตเพียงเท่านี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 13:48 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ต่อนี้ไปเป็นคำปรารภถึงภิกษุเบญจวัคคีย์ว่า
“อิทมโวจ ภควา” สมเด็จพระ
ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาอนัตตลักขณสูตรแก่ภิกษุเบญจวัคคีย์ฉะนี้
“อตฺตมนา ปญฺจวคฺคิยา ภิกฺขู” พระภิกษุเบญจวัคคีย์
ทั้งหลายมีใจเป็นของของตน
“ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทุ”
เพลิดเพลินจำเพาะต่อภาษิตแห่งพระ
ผู้มีพระภาคเจ้า
“อิมสฺมิญฺจ ปน เวยฺยากรณสฺมึ ภญฺญมาเน”
ก็แลเมื่ออนัตตลักขณสูตร ไวยากรณภาษิตอันมิ
ได้ระคนด้วยคาถานี้ อันสมเด็จพระ
ผู้มีพระภาคตรัสเทศนาอยู่
“ปญฺจวคฺคิยานํ ภิกฺขูนํ อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตานิ
วิมุจฺจึสุ” จิตแห่งพระเบญจวัคคีย์ก็วิมุตติพ้นพิเศษแล้ว
จากอาสวกิเลสทั้งหลาย มิได้ถือมั่นด้วยอุปาทาน
เป็นอเสขอริยบุคคล ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีภูมิ เอวํ
ก็มีด้วยประการฉะนี้.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 14:16 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จักอธิบายเนื้อความพระสูตรนี้ พอเป็นเหตุสงสัย
ตอนที่ ๑
“รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา”
..........ในพระสูตรนี้เหตุไฉนจึงมิได้พูดถึงขันธ์ ๕
แต่คล้ายกันกับขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณเหมือนกัน แต่มิได้พูดว่าขันธ์ ๕ ?
เหตุที่ไม่พูดถึงขันธ์ ๕ พึงเข้าใจอย่างนี้
ในพระสูตรนี้หมายความต่างกันกับขันธ์ ๕
การที่แสดงในประเภทแห่งขันธ์ ๕ นั้น
ท่านหมายเอาขันธ์เป็นตัวประธาน เอาขันธ์เป็นอัตตา
เป็นตัวยืน ขับไล่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ซึ่งเป็นแต่อาการของขันธ์ ไม่ใช่ตัวขันธ์ซึ่ง
เป็นอนัตตาออกไปเสีย
ส่วนในพระสูตรนี้
ท่านหมายเอาสภาวธรรมคือสกลกายนี้เป็นประธาน
เป็นอัตตา เป็นตัวยืน เป็นคู่ขับไล่รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นแต่อาการของอัตตา
ให้ออกไปเสีย การที่ไม่พูดถึงอัตตาซึ่งเป็นตัวยืนนั้น
เพราะอัตตาเป็นพื้นย่อมรู้ทั่วกันอยู่แล้ว
ในพระสูตรนี้กับขันธ์ ๕ มีเนื้อความต่างกันอย่างนี้
..........ถ้าหากมีผู้ถามว่า ที่ทรงสอนว่า รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธ
ความป่วยไข้ อันสัตว์ย่อมบังคับไม่ได้ตามใจหวัง เพราะ
เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวดังนี้ จะให้เข้าใจความอย่างไร
ส่วนรูปที่ว่าเป็นไปเพื่ออาพาธก็พอจะเข้าใจได้
ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนามธรรม
จะเป็นไปเพื่ออาพาธอย่างไร จตุโวการสัตว์
เหมือนพวกพรหมท่านแสดงว่า ไม่มีอาพาธความป่วยไข้
สิ้นอำนาจกุศลแล้วก็จุติเฉย ๆ
ส่วนอนัตตลักขณสูตรนี้ พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า นามธรรมมีป่วยไข้ จะ
ให้ถือเอาเนื้อความอย่างไร ?
ควรจะแก้ว่า ข้อนี้ต้องพูดกันยืดยาว ถือเอาความยาก
พวกพรหมเขาไม่มีรูประคนอยู่ด้วย เขาก็
ไม่มีอาพาธป่วยไข้ ในที่นี้รูปกับนามเกี่ยวเนื่อง
เป็นอันเดียวกัน ในเบื้องต้นเมื่อยังไม่ถูกสมมติว่าเป็นรูป
เป็นนาม เขาก็มี เจ้าไม่รู้กับเจ้ารู้ คุมเป็นก้อนอันเดียว
กัน เต็มก้อนด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง นั่นแหละ
เป็นตัวสภาวธรรม
ถ้าจะแสดงในประเภทขันธ์ ๕
ก็สมมติก้อนสภาวธรรมนั่นแหละเป็นขันธ์เป็นอัตตา
ถ้าจะแสดงอัตตาก็สมมติก้อนสภาวธรรมนั่นแหละ
เป็นขันธ์เป็นอัตตา ก้อนสภาวธรรม ภายหลังเจ้า
ไม่รู้นั้นถูกเขาสมมติให้เป็นรูปไป ส่วนเจ้ารู้นั้นถูก
เขาสมมติให้เป็นนามไป แต่ความเป็นจริง
จะเรียกรูปก็ถูกนามด้วย จะเรียกนามก็ถูกรูปด้วย
เพราะเขาเกาะกันแน่นเป็นอันเดียวกัน
เมื่อสมมติให้เป็นรูปแล้ว อาการของรูป ควรแจก
ได้เท่าไรก็แจกไป อาการของนามควรแจกได้
เท่าไรก็แจกไป ในตอนต้นแห่งพระสูตรนี้ พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงให้รู้รูปนาม ส่วนรูปยัง
ไม่ทรงแจกอาการ คงแสดงแต่ว่ารูปเท่านั้น
ส่วนนามแจกอาการออกเป็น ๔ คือ เป็นเวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ
ความจริงจะแจกรูปออกไปตั้งร้อยตั้งพันก็ตาม
จะแจกนามออกไปตั้งร้อยตั้งพันก็ตาม ก็
เป็นแต่เพียงสมมติไปตามอาการเท่านั้น ผู้รับสมมติ
ทั้งสิ้นมีอยู่ก้อนเดียว คือเจ้าไม่รู้กับเจ้ารู้ ซึ่งคุมกัน
อยู่ที่เรียกว่าสภาวธรรมเท่านั้น เพราะเหตุนั้น
จะสมมติว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ประการใดก็ตาม ส่วนสภาวธรรมนั้นจะ
ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสมมตินั้นเป็นอันไม่มีเลย
ย่อมเป็นไปตามสภาวะของตนอยู่อย่างนั้น เพราะเหตุ
นั้นสัตว์จึงมิได้ตามใจหวัง
คงได้ความว่าที่สมมติว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณนั้น
คงเล็งเอาอาการของสภาวธรรมอันเดียวกัน
จึงทรงแสดงว่าเป็นไปเพื่ออาพาธเหมือนกัน พึงเข้าใจ
ความตามนัยที่อธิบายมานี้.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 14:30 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ ๒
“ตํ กึ มญฺญถ ภิกฺขเว”
..........ในตอนที่ ๑ ทรงสั่งสอนให้รู้ว่า รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา และ
เป็นไปเพื่ออาพาธ สัตว์ไม่ได้ตามประสงค์เท่านั้น
ครั้นมาในตอนที่ ๒ นี้ ทรงซักถามหาความ
เข้าใจตามที่ตนตรองเห็น ว่าท่านทั้งหลาย
จะสำคัญเนื้อความนั้นเป็นไฉน ? รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง สุขหรือทุกข์
ท่านทั้ง ๕ ทูลตอบว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ด้วย
ตรัสถามต่อไปอีกว่า ก็สิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ควร
หรือที่จะตามเห็นว่า นั่นเป็นของเรา นั่นเป็นเรา นั่น
เป็นตัวตนของเรา
ท่านทั้ง ๕ ทูลตอบว่าไม่ควรเลย
ท่านทั้ง ๕ รู้ความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เพราะรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นไปเพื่ออาพาธความป่วยไข้
รู้ว่าเป็นอนัตตา เพราะบังคับไม่ได้ตามใจหวัง ท่าน
ยังเห็นยิ่งขึ้นไปอีก คือเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ ซึ่งเป็นอนัตตา เข้าใจว่าเป็นอัตตานี้เอง จึง
เป็นทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์แล้วตรองหาเหตุแห่งทุกข์ ก็ได้
ความชัดว่า อวิชชาความไม่รู้ตัวจริง
รู้แต่ตัวปลอมนี้เอง เป็นตัวสมุทัย
ตอนที่ ๒ นี้ เป็นอันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำ
ให้เห็นทุกข์เห็นสมุทัย คือทรงแสดงอริยสัจนั้นเอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 14:39 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ ๓
“ตสฺมาติห ภิกฺขเว”
..........ตอนนี้ทรงสั่งสอนวิปัสสนาภูมิ มีใจความว่า
เพราะเหตุที่ท่านทั้งหลายเห็นลงแน่นอน
ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างไรว่า รูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มี
ความแปรไปเป็นธรรมดา ไม่ควรที่จะเห็น
โดยสำคัญด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า นั่นเป็นของเรา นั่น
เป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้แล้ว พึงพิจารณา
ให้เห็นแจ้งชัดดังนี้ต่อไป
แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแจกรูปออกไปเป็น
๑๑ ประเภท คือเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายใน
เป็นภายนอก เป็นส่วนหยาบ เป็นส่วนละเอียด เป็น
ส่วนเลวทราม เป็นส่วนประณีต เป็นส่วนไกล เป็น
ส่วนใกล้ รูปทั้งสิ้นให้เห็นว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา
ไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้เถิด
ได้ความว่า เมื่อสมมติรูป ๑๑ ประเภทนั้นลง ณ ที่ใด
ก็ต้องสมมตินามทั้ง ๔ นั้นลง ณ ที่นั้น
คงได้ความว่า พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนิโรธสัจ
ด้วยการถอนสังขาร คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณออกจากตัว คือเห็นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว คือไม่มี
ในตัว
ทรงแสดงมรรคสัจ ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ
เป็นองค์วิปัสสนาญาณ ก็เป็นอันทรงแสดงศีลสมาธิ
ด้วย เพราะศีลเป็นภาคพื้นของสมาธิ สมาธิ
เป็นภาคพื้นของปัญญา
เป็นอันทรงแสดงไตรสิกขาเต็มรอบ
ธรรมประเภทใดขาดไตรสิกขา ขาดจตุราริยสัจ
ไม่มีทางที่จะให้ผู้ฟังผู้ปฏิบัติบรรลุมรรคผลได้
ในพระสูตรนี้มีข้อสำคัญอยู่ใน ๓ ตอนเท่านี้ ต่อไป
เป็นแต่ทรงแสดงอานิสงส์ของญาณทัสสนะนั้น
ในท้ายพระสูตรน่าตรองอยู่คำหนึ่งที่ว่า “อิทมโวจ
ภควา อตฺตมนา ปญฺจวคฺคิยา ภิกฺขู” ความว่า พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาอนัตตลักขณสูตรแก่พระเบญจวัคคีย์
ภิกษุเบญจวัคคีย์มีใจเป็นของของตน “ภควโต ภาสิตํ
อภินนฺทุ” เพลิดเพลินต่อภาษิตแห่งพระ
ผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ น่าคิด
คำที่ว่า “อตฺตมนา” มีใจเป็นของของตน
แต่ท่านมักแปลไปเสียอย่างอื่น ถ้าแปลตรง ๆ
อย่างนี้ออกจะแยบคาย แต่เมื่อไม่ได้ฟังพุทธโอวาท
ก็ถือเอาอนัตตามาเป็นอัตตา ครั้นรู้อนัตตา
แล้วก็รู้ว่าใจนี้เองเป็นอัตตา จึงว่า “อตฺตมนา” มีใจ
เป็นของของตน
..........ข้อนี้เป็นแต่ความเห็น สุดแต่ผู้จะเห็นนั้นเถิด
ได้อธิบายพอเป็นทางให้เกิดความสงสัยไว้เพียงเท่านี้
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.
..........................

:b44: ธัมมราชิกสถูป หรือ ธรรมราชิกสถูป
อนุสรณ์สถานแห่งการแสดง “อนัตตลักขณสูตร”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43024

:b44: พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
: สถานที่อันเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39377

:b44: อนัตตลักขณสูตร พระสูตรที่แสดงถึงอนัตตา
(ศ.พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=57842


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร